ลักษณะของอุเบกขา

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย tamsak, 10 มีนาคม 2016.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. tamsak

    tamsak ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กันยายน 2004
    โพสต์:
    7,857
    กระทู้เรื่องเด่น:
    22
    ค่าพลัง:
    +161,173
    ถาม : อุเบกขาพรหมวิหารเป็นอย่างไรครับ ?

    ตอบ : ถ้าอุเบกขาที่ทำถึงที่สุดเลยก็คือ ปล่อยวางแม้แต่สังขารร่างกายของเรา ซึ่งถ้าทำอย่างนั้นได้ ก็ต้องเป็นพระอรหันต์ไปเลย ที่เขาเรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ ปล่อยวางในการปรุงแต่งทั้งปวง เห็นสักว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่นสักแต่ว่าได้กลิ่น ได้รสสักแต่ว่าได้รส สัมผัสสักแต่ว่าสัมผัส หยุดการคิดเพราะเห็นโทษในสิ่งทั้งปวง นับว่าเป็นอุเบกขาที่แท้จริง

    ถาม : แล้วกระแสแผ่ออกไปจะมีผลอย่างไรครับ ?

    ตอบ : ถ้าบางคนไม่สังเกต บางทีท่านนั่งอยู่ก็ไม่เห็นท่าน เหมือนกับว่าท่านวางหมดทุกอย่างแล้ว จุดที่ท่านอยู่ก็เลยเหมือนกับไม่มีอะไรเลย ถ้าคนไม่สังเกตบางทีไม่เห็นท่านหรอก

    ถาม : ตอนแรกคิดว่าอุเบกขาจะไม่มีการแผ่ออกไปอีก ?

    ตอบ : แผ่ได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าลักษณะของการทำไปถึงอุเบกขาแล้ว ส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยปัญญามากเป็นพิเศษ เพราะมีปัญญาตั้งแต่รู้ว่า ในเมื่อเราแก้ไขไม่ได้ ดิ้นรนไปก็ไร้ประโยชน์..ใช่ไหม ? ปัญญาขั้นต้นก็ไล่ไปสิ ไล่ไปจนกระทั่งถึงเห็นทุกข์เห็นโทษก็เลยปล่อยวาง ไม่ไปแตะต้อง ทุกข์โทษเหล่านั้นก็ไม่เกิดขึ้น

    ถาม : แล้วอุเบกขาจะเป็นฐานให้เข้าถึงอรูปฌานได้ไหมครับ ?

    ตอบ : ถ้าเป็นอุเบกขา กำลังใช้ได้ แต่ถ้าจะทำอรูปฌาน อย่างน้อยๆ ต้องจับภาพกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ยกเว้น อากาสกสิณ หรือถ้าไม่มีความคล่องตัว ก็ต้องเว้น อาโลกกสิณ ไปด้วย

    ถาม : ถ้ามีความคล่องตัวในอาโลกกสิณ ?

    ตอบ : อาโลกกสิณจับเป็นดวงกสิณได้ยากเพราะอาศัยแสงสว่างเป็นดวงกสิณ

    ถาม : แล้วถ้ามีความคล่องตัวก็จะแยกได้ ?

    ตอบ : สามารถแยกได้ แต่คราวนี้ถ้าไม่มีความคล่องตัวก็เว้นไปเลย ไปจับกสิณที่อาศัยรูปชัดๆ แทน คราวนี้พอจับกสิณแล้ว กำลังสมาธิที่ได้มาจากพรหมวิหาร ก็จะช่วยให้ดวงกสิณมั่นคงได้เร็ว จับติดตาได้ง่าย แล้วระดับการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นเร็ว เพราะว่าสมาธิทรงตัวแล้ว

    ถาม : แปลว่าต้องเปลี่ยนกองกรรมฐาน ?

    ตอบ : ให้กลับมาใช้คำภาวนากับจับรูปก่อน แต่ว่าสมาธิก็เท่าเดิมที่เราเคยทำได้ ในเมื่อพื้นฐานสมาธิมี เรื่องนี้ก็ง่ายแล้ว

    ถาม : แต่จริงๆ พรหมวิหารก็เป็นตัวสนับสนุนกันใช่ไหมคะ ? ถ้าเราแผ่เมตตาไปด้วยสมาธิจะรวมตัวเร็ว อันนั้นคือเราเจริญพรหมวิหาร ?

    ตอบ : เรื่องของพรหมวิหาร ๔ ช่วยให้กำลังใจไม่แห้งแล้ง เกิดความชุ่มชื่นเบิกบาน ทำแล้วไม่อิ่ม ไม่เบื่อ ไม่หน่าย ถ้าไม่มีพรหมวิหาร ๔ คอยช่วยอยู่ บางทีก็รู้สึกแห้งแล้งอย่างไรไม่รู้ แล้วก็พาให้เบื่อไปเอง


    เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี ต้นเดือนตุลาคม ๒๕๕๗
    โดย พระครูวิลาศกาญจนธรรม (พระอาจารย์เล็ก สฺธมฺมปญฺโญ),ดร.

    .
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 10 มีนาคม 2016
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...