ลักษณะความเพียร

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย วิญญาณนิพพาน, 15 มีนาคม 2017.

  1. วิญญาณนิพพาน

    วิญญาณนิพพาน ทีมงานอาสาฯ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 เมษายน 2008
    โพสต์:
    22,291
    กระทู้เรื่องเด่น:
    51
    ค่าพลัง:
    +21,002
    ความเพียรมาจากศัพท์บาลีว่า วิริยะ หรือ วายามะ ในคัมภีร์ขุททกนิกาย มหานิทเทส (บาลีเล่ม ๒๙ ข้อ ๙๔๒ ย่อว่า ๒๙/๙๔๒) พระสารีบุตรได้อธิบายว่า

    ความเพียร หมายถึง ความก้าวไปข้างหน้า ความดำเนินไป ความบากบั่น ความพยายาม ความอุตสาหะ ความหมั่น ความออกแรง ความไม่ถอยหลัง ความทรงไว้ ความไม่ย่อหย่อน ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ ความไม่ทอดทิ้งธุระ ความประคอง ธุระไว้วิริยะ วิริยินทรีย์ วิริยพละ สัมมาวายามะ ที่เป็นไปทางจิต

    อรรถกถาสัพพาสวสังวรสูตรกล่าวว่า ความเพียรเป็นสภาวะที่แกล้วกล้า มีความประคับประคองจิตเป็นลักษณะ มีการอุปถัมภ์จิตเป็นกิจ มีความไม่ท้อแท้แห่งจิตเป็นเครื่องปรากฏ

    ความเพียรเป็นคุณสมบัติหรืออาการอย่างหนึ่งของจิต เป็นคุณสมบัติที่เป็นกลางๆ ไม่ดี ไม่ชั่ว ถ้าพากเพียรไปในทางที่ถูก เช่น หาเลี้ยงชีพอย่างสุจริต ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ก็จัดเป็นกุศลธรรม นำความสุข ความเจริญ และความสำเร็จมาสู่ชีวิต ถ้าพากเพียรไปในทางผิด เช่น เสพของมึนเมา เล่นการพนัน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ... ชีวิตก็มีแต่ความทุกข์ ความเดือดร้อน

    อรรถกถารูปาทิวรรค กล่าวถึงความเพียร ๒ ประการ คือ

    ๑. ความเพียรทางกาย ได้แก่ ความเพียรทางกายของภิกษุผู้ชำระจิตจากนิวรณ์ด้วยการเดิน การนั่ง ตลอดวัน กลางคืนพัก ๔ ชั่วโมงในมัชฌิมยาม (สี่ทุ่มถึงตีสอง)

    ๒. ความเพียรทางจิต เมื่อภิกษุผู้พากเพียรผูกใจว่า เราจักไม่ออกไปจากที่เร้นนี้ หรือเราจักไม่เลิกขัดสมาธินี้ ตราบเท่าที่จิตของเรายังไม่หลุดพ้นจากอาสวะ ย่อมถึง พร้อมด้วยความเพียรทางกายและทางจิต

    อรรถกถากายสูตร กล่าวถึงธาตุเพียร ๓ ประการ คือ

    ๑. อารพฺภธาตุ ได้แก่ความเพียรครั้งแรก

    ๒. นิกฺขมธาตุ ได้แก่ความเพียรที่มีกำลังกว่านั้น เพราะออกจากความเกียจคร้าน

    ๓. ปรกฺกมธาตุ ได้แก่ความเพียรที่มีกำลังกว่านั้น เพราะเป็นเหตุให้ก้าวไป
    ข้างหน้าเรื่อยไป

    ปธานสูตร (๒๑/๑๓) กล่าวถึงความเพียร ๔ ประการ คือ

    ๑. สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้อกุศลธรรมเกิดขึ้น

    ๒. ปหานปธาน เพียรละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป

    ๓. ภาวนาปธาน เพียรให้กุศลธรรมเกิดและเจริญยิ่งขึ้น

    ๔. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม

    ในเรื่องความเพียร หลวงวิจิตรวาทการได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าฟังว่า

    ไทยเราได้แปลความเพียรผิดไป คือเราแปลหรือสอนกันว่า ความเพียรหมายถึง "เหนื่อยไปก่อนคงสบายเมื่อปลายมือ" เราพากเพียรทำงานเพื่อหวังผลอย่างเดียว คือ "สบายเมื่อปลายมือ" ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๖ ทรงเรียกว่า "หาความสุขในทาง เกียจคร้าน" เราไม่ได้สอนกันว่า ความเพียรนั้นเป็นลักษณะของมนุษย์ที่ดีซึ่งจะต้องทำไปจนตลอดชีวิต ไม่มีความจำเป็นต้องหยุด ความสุขไม่ได้หมายถึง การอยู่เฉย ๆ โดยไม่ทำอะไร เราควรจะสอนให้คนของเราเข้าใจว่า ความสุขของมนุษย์อยู่ที่การทำงานให้สำเร็จไปเรื่อย ๆ

    http://www.dhammajak.net/book/payayam/payayam01.php
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 17 มีนาคม 2017

แชร์หน้านี้

Loading...