ลักเกลือหนึ่งกำต้องชดใช้หนึ่งเกวียน

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 1 ธันวาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,617
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,017
    speaknicely frombuddha.jpg
    ทุกข์โทษภัยของวจีกรรม
    ในยุคที่การติดต่อข้อมูลข่าวสารต่าง ๆผ่านเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไปมาก การกระทำทางวาจาที่เรียกว่า “วจีกรรม” เป็นกรรมที่มีโอกาสทำผิดพลาดกันได้ง่ายมากขึ้น วจีกรรมนั้นไม่ได้หมายถึงการพูดอย่างเดียว แต่ยังหมายถึง การสื่อสารผ่านตัวหนังสืออีกด้วย ซึ่งพระพุทธองค์ทรงให้หลักในการพิจารณา การพูดไว้ในองค์ของวาจาสุภาษิตว่า

    ๑. ต้องเป็นคำจริง เป็นคำพูดที่ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่บิดเบือนจากความจริง ไม่เสริมความ ไม่อำความ ต้องเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่คำพูดที่ปั้นแต่งขึ้น

    ๒. ต้องเป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดไพเราะที่กลั่นออกมาจากใจที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นคำหยาบคำด่า ประชดประชัน เสียดสี เพราะคำหยาบนั้นฟังก็ระคายหู แค่คิดถึงก็ระคายใจ

    ๓. พูดแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ เกิดผลดีทั้งแก่คนพูดและคนฟัง ถึงแม้คำพูดนั้นเป็นคำจริงและสุภาพ แต่ถ้าพูดแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร กลับทำให้เกิดโทษ ก็ไม่ควรพูด

    ๔. พูดด้วยจิตเมตตา พูดด้วยความปรารถนาดีอยากให้คนฟังมีความสุข มีความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ในข้อนี้ยังหมายถึงว่า แม้พูดจริง เป็นคำสุภาพ พูดแล้วเกิดประโยชน์ก็ตาม แต่ยังต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย ไม่ใช่ถือว่าเรามีความปรารถนาดีแล้ว อยากจะพูดอะไรก็พูด เพราะผู้ฟังอาจรับไม่ได้

    ๕. พูดถูกกาลเทศะ แม้ใช้คำพูดที่ดีเป็นคำจริง คำสุภาพ เป็นคำพูดที่มีประโยชน์ และพูดด้วยจิตที่เมตตา แต่ถ้าผิดจังหวะ ไม่ถูกกาลเทศะ ผู้ฟังยังไม่พร้อมที่จะรับ ก็จะก่อให้เกิดผลเสียได้ เช่น จะกลายเป็นประจานกันหรือจับผิดไป

    พูดถูกเวลา (กาล) คือ รู้ว่าเวลาไหนควรพูด เวลาไหนยังไม่ควรพูด ควรพูดนานเท่าไรต้องคาดผล ที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย

    พูดถูกสถานที่ (เทศะ) คือ รู้ว่าในสถานที่เช่นไร เหตุการณ์แวดล้อมเช่นไร จึงสมควรที่จะพูด หากพูดไปแล้วจะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร

    การพูดหรือการสื่อสารที่ขาดสติพิจารณา พูดเอาสนุกปาก พูดหยาบคาย หรือพูดโดยปราศจากข้อมูลที่แท้จริง ไม่เพียงแต่จะไม่เป็นวาจาสุภาษิต แต่ยังมีทุกข์โทษภัยแก่ผู้ พูดตามหลักกฎแห่งกรรมอีกด้วย ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบว่า กฎแห่งกรรมเป็นกฎธรรมชาติที่ไม่มีผู้ใดฝ่าฝืนได้ เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องปฏิบัติ ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามกฎแห่งกรรม ก็จะเกิดโทษ ชีวิตไม่ได้รับความสุข ดังนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่ากฎแห่งกรรมเป็นเรื่องใหญ และมีหลักกรรมเป็นกรอบในการปฏิบัติ คือ บุคคลทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว เหมือนบุคคลหว่านพืชเช่นไร ย่อมได้รับผลเช่นนั้น

    วจีกรรมที่เป็นอกุศล เป็นทุพภาษิตโดยเฉพาะที่กระทำ การด่าบริภาษต่อเพื่อนพรหมจรรย์ คือ พระสงฆ์และผู้ปฏิบัติธรรมติเตียนพระอริยเจ้า พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า จะต้องประสบกับความฉิบหาย ๑๑ ประการดังต่อไปนี้

    ๑. ไม่บรรลุธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ
    ๒. เสื่อมจากธรรมที่บรรลุแล้ว
    ๓. สัทธรรมของภิกษุนั้นย่อมไม่ผ่องแผ้ว
    ๔. เป็นผู้หลงเข้าใจว่าได้บรรลุสัทธรรม
    ๕. เป็นผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์
    ๖. ต้องอาบัติเศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง
    ๗. บอกลาสิกขา คือ สึกไปเป็นฆราวาส
    ๘. เป็นโรคอย่างหนัก
    ๙. ย่อมถึงความเป็นบ้า คือ ความฟุ้งซ่านแห่งจิต
    ๑๐.เป็นผู้หลงทำกาละ คือ ตายอย่างขาดสติ
    ๑๑.เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก

    เพราะฉะนั้นเมื่อจะพูดหรือจะสื่อสารสิ่งใดก็ตาม จะต้องตระหนักถึงหลักกรรมนี้เสมอ ถึงเวลาเมื่อจะต้องติดต่อสื่อสาร สิ่งสำคัญประการแรก ก็ต้องตั้งสติพิจารณาให้ดีว่า สิ่งที่พูดนั้นมีข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร และเมื่อจะต้องสื่อสารก็ต้องใช้คำพูดที่สุภาพ มีจิตเมตตา ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง และทำในเวลาที่เหมาะสม ถ้าทำได้เช่นนี้ เราก็จะอยู่เป็นสุขไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เพราะวจีกรรมทุพภาษิตที่เราสร้างขึ้น และจะได้ไม่ต้องไปรับผลแห่งวจีกรรม ที่อาจจะเผลอทำผิดพลาดไปเพียงเพราะขาดสติ

    "เมื่อจะต้องสื่อสาร
    ก็ต้องใช้คำพูดที่สุภาพ มีจิตเมตตา
    ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
    และทำในเวลาที่เหมาะสม
    ถ้าทำได้เช่นนี้เราก็จะอยู่เป็นสุข"

    พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ.๙
    * จากหนังสือ GB 102 สูตรสำเร็จการพัฒนาตนเอง
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,617
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,017
    Salt.jpg
    เรื่องสั้นการผิดศีล ลักเกลือหนึ่งกำต้องชดใช้หนึ่งเกวียน

    สมัยหนึ่งมีอุบาสกผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาคนหนึ่ง ได้ปลูกกระท่อมที่เชิงเขาเพื่อใช้เป็นที่บำเพ็ญศีลภาวนาปฏิบัติบำเพ็ญมาได้ 20 กว่าปี ทุกวันนอกจากจะเจริญฌานสมาธิแล้ว เขายังเข้าไปในหมู่บ้านแสดงธรรมโปรดชาวบ้าน ทุกคนต่างยกย่องนับถือว่าเขาเป็นอุบาสกผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรมวิเศษ ทุกครั้งที่เขาเข้าฌานสมาบัติ จะปรากฏเป็นรูปธรรมกายนั่งอยู่บนแท่นดอกบัว ล้อมรอบตัวด้วยรังสีสีทองบริสุทธิ์ สดใสระยิบระยับปราศจากรอบด่างแม้แต่น้อย

    วันหนึ่งขณะที่อุบาสกกำลังทำอาหารอยู่ เกลือที่จะปรุงรสเกิดหมดพอดีจึงไปขอยืมเพื่อนบ้าน แต่เมื่อไปถึงไม่พบเจ้าของบ้านก็คิดว่าจะขอเอาเกลือไปก่อน เมื่อเจ้าของบ้านกลับมาค่อยบอกก็คงไม่เป็นไร จึงหยิบเกลือหนึ่งกำมือไปปรุงอาหาร หลังจากกินอาหารแล้ว ก็เข้าห้องเจริญญานสมาธิ ขณะอยู่ในสมาธิก็ปรากฏรังสีสีทองในกระแสจิต มีกลุ่มแสงสีดีและดอกบัวก็มีจุดด่างดำเมื่อเล็งดูด้วยทิพยจักษุ ก็ทราบว่ากลุ่มแสงสีดำก็คือกลุ่มเกลือ อุบาสกตกใจตื่นจากสมาธิ รำพึงว่า การเกิดความคิดที่ไม่บริสุทธิ์หยิบเอาสิ่งของที่ยังไม่มีใครอนุญาต ก็คือลักขโมยอันเป็นการผิดศีล กระแสจิตก็ได้ก่อกรรมชั่วขึ้นแล้ว แม้ว่าจะเป็นเพียงเกลือเล็กน้อยก็ถือว่าจิตใจเกิดความด่างพร้อยแล้ว อุบาสกรู้สึกสำนึกผิดจึงเข้าไปในเมืองซื้อเกลือหนี่งเกวียน นำไปขอขมาเพื่อนบ้าน เพื่อนบ้านกล่าวว่า "เกลือแค่หนึ่งกำ ทำไมต้องเอามาคืนผมมากมาย" อุบาสกกล่าวว่า ผมเอาเกลือของคุณหนี่งกำ คิดทั้งต้นทั้งดอกแล้ว ก็จะมากมายเท่าภูเขาเลยทีเดียว แค่หนึ่งเกวียนไม่นับว่ามากหรอก หลังจากอุบาสกขอขมาเพื่อนบ้านเสร็จ ก็กลับไปบ้านสารภาพบาปเมื่อเข้าฌานสมาธิอีกที กระแสจิตก็สว่างสดใส และดอกบัวก็ปราศจากจุดด่างดำคืนสู่ปรกติเหมือนแต่ก่อน.
    ******************************************
    ขอบพระคุณที่มา :- https://www.tumsrivichai.com/นิทานสอนใจ/ลักเกลือหนึ่งกำต้องชดใช้หนึ่งเกวียน.html
     

แชร์หน้านี้

Loading...