วัตถุทานในการทำสังฆทานที่ดี

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย บ้องแบ้ว, 19 กันยายน 2016.

  1. บ้องแบ้ว

    บ้องแบ้ว นางฟ้าผู้น่ารัก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤษภาคม 2010
    โพสต์:
    3,295
    กระทู้เรื่องเด่น:
    105
    ค่าพลัง:
    +5,301
    วัตถุทานในการทำสังฆทานที่ดี

    1. อาหารทานและยา
    ในส่วนของอาหารที่เป็นวัตถุทานนั้น ขอน้อมนำหลักปฏิบัติของพระสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้เป็นพระวินัยเรียกว่า “กาลิก 4 ประการ” ซึ่งเป็นอาหารรวมไปถึงยารักษาโรคมีอยู่ 4 ประเภทได้แก่

    1. ยาวะกาลิก หมายถึง “อาหารคาวหวานทุกชนิด” ที่พระภิกษุสามารถจะฉันรับประทานได้ ยกเว้น “เนื้อต้องห้าม 10 ประการ” ที่ได้กล่าวมา เราสามารถนำไปถวายเป็นสังฆทานแก่ภิกษุได้หรือจะใส่บาตรก็ได้ โดยที่พระภิกษุจะฉันได้เฉพาะตอนเช้าไปจนถึงตอนเที่ยงวันเท่านั้น ไม่ว่าจะฉันมื้อเดียวหรือ ฉันสองมื้อ ถ้าไม่เกินเที่ยงก็ไม่ถือว่าผิดศีล

    ส่วนเวลาใดจึงจะเรียกว่า “เช้า” ที่สามารถฉันอาหารได้ พระพุทธองค์ให้ทรงนับเอาเวลาตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นแล้วมีแสงสว่างพอที่จะมองเห็นลายมือตนเองได้ชัดเจน นอกจากนั้นเมื่อมองไปข้างหน้าในระยะทาง 3 เมตร มองเห็นสีสันของใบไม้มีความแตกต่างกันได้ ก็นับว่าเป็นเวลาเช้าแล้ว ดังนั้นในแต่ละฤดูกาล เวลาเช้าที่บิณฑบาต หรือจะรับประเคนภัตตาหารจึงไม่เท่ากัน

    กรณีที่ผู้จะถวายอาหารทานเป็นสังฆทานโดยใช้วิธี นิมนต์พระภิกษุไปฉันอาหารที่บ้านหรือนอกวัดก็นับได้ว่าเป็นสังฆทานประเภทหนึ่งเช่นเดียวกัน แต่ก็มีข้อควรระวังในการถวายสังฆทานนั้นให้เพิ่มขึ้นก็คือต้อง “ระมัดระวังอย่าได้ออกชื่อโภชนะที่จะถวายเป็นอันขาด”

    เช่นเราจะถวายอาหารเป็น ข้าวต้ม,ข้าวขาหมู,ข้าวหมูกรอบ หรือ “จะทำ” อาหารอย่างนั้นอย่างนี้มาถวายแล้ว แม้วัตถุทานและเจตนาจะบริสุทธิ์แล้วก็ตาม ถ้าตั้งใจออกชื่อให้พระท่านทราบท่านก็จะฉันอาหารนั้นไม่ได้เลย

    โดยเหตุที่ต้องระมัดระวังในการออกชื่ออาหารนั้นก็เพราะ ถ้าได้ออกชื่อไปแล้วกลับไม่มีวัตถุดิบหรือส่วนประกอบของอาหารนั้นนำมาทำเป็นอาหารไม่ได้ ก็จะทำให้ผู้ถวายเกิดความลำบากขึ้น เพราะผู้ถวายได้เสียสัจจะที่ตนเองได้พูดไว้หรือได้ให้สัญญากับภิกษุไว้แล้วจะเป็นการทำให้เกิดความไม่สบายใจขึ้นผลบุญกุศลที่ตั้งใจทำก็จะทำให้ไม่ได้รับผลนั้นเต็มที่

    นอกจากนั้นการออกชื่อโภชนะไว้ก่อนนั้นจะกลายเป็น “อุทิศมังสะ” คือเป็นอาหารที่อุทิศเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุนั้นโดยเฉพาะ เมื่อท่านได้ยินเสียงพูดและได้เห็นอาหารก็จะกลายเป็นการรับรู้ว่าเขาจะทำอาหารอย่างนั้นอย่างนี้มาให้ก่อนทำให้ท่านกลายเป็นผู้มีส่วนรู้เห็นในอาหารไปโดยปริยายจึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่ ผู้ถวายทานที่เป็นอาหารทานเพื่อทำสังฆทานจะออกชื่ออาหารให้พระท่านรับรู้

    2.ยามะกาลิก หมายถึง “น้ำปานะ” ซึ่งน้ำปานะนี้ พุทธศาสนิกชนนิยมนำมาถวายเป็นสังฆทานเป็นอันมากหากไม่ทันได้ใส่บาตรในตอนเช้า ซึ่งก็มีปัญหาที่เกิดขึ้นจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าแม้จะเป็นน้ำผลไม้ก็ตามแต่บางชนิดพระท่านก็ไม่อาจฉันได้แม้จะเลยเที่ยงไปแล้ว

    การเลือกน้ำปานะที่เป็นน้ำผลไม้นั้น มีพุทธบัญญัติระบุไว้ว่า ผลไม้ต่างๆที่จะนำมาทำเป็นน้ำปานะได้ต้องเป็นผลไม้ที่มีขนาดไม่ใหญ่ไปกว่าผลส้มเขียวหวาน หรือกำปั้นของมนุษย์,ให้มีเมล็ดและไม่มีเนื้อผลไม้เจืออยู่ เช่น ส้มเช้ง,ส้มเขียวหวาน,กล้วย,มะนาว,องุ่น ฯลฯ หรือผลไม้ใด ๆที่ไม่ใหญ่กว่านั้น

    ผลไม้ที่ไม่ควรนำมาถวายเป็นน้ำปานะเพื่อให้ภิกษุฉันหลังเที่ยง ได้แก่ สับปะรด มะพร้าว แตงโม ซึ่งถือเป็นผลไม้แบบ มหาผล เพราะจัดว่าเป็นอาหาร นอกจากนั้นพระพุทธองค์ยังทรงยกเว้น มะปรางสุก เอาไว้อีกหนึ่งอย่างเพราะ ผลมะปรางสุกมีเนื้อนิ่มเกินไป ไม่ว่าจะนำมากรองแล้วย่อมมีเนื้อติดไปอยู่ดีกลายเป็นอาหารได้ แต่ถ้าเป็นผลมะปรางดิบก็ใช้ได้ไม่มีปัญหา

    3. สัตตาหะกาลิก ข้อนี้ให้จำง่าย ๆว่า “สัตตะ” แปลว่า 7 หมายถึงสิ่งที่จะถวายเป็นสังฆทานแด่พระภิกษุเป็นอาหารนั้นท่านสามารถที่จะ “เก็บไว้ฉันได้ถึง 7วัน” ได้แก่ น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาล เนยใส เนยแข็ง และดาร์คช็อคโกแล็ต ถือเป็นกาลิกที่เก็บไว้ฉันได้หลังเที่ยง และเก็บไว้ได้ไม่เกิน 7 วัน ถ้าเกินแล้วห้ามฉันต้องสละออกให้สามเณรหรือโยมไป

    เหตุที่พระพุทธองค์อนุญาตให้เก็บ สัตตาหะกาลิกไว้ได้เพียง 7 วันก็เพราะว่าในสมัยพุทธกาลถ้าภิกษุรูปใดมีบารมีมากและมีสาธุชนศรัทธานำน้ำผึ้งมาถวายไว้มากก็จะเก็บน้ำผึ้งไว้ฉันบนกุฏิจนเต็ม ที่เหลือจากนั้นก็จะเก็บไว้ใต้กุฏิจนเต็มอีก เมื่อมีปุถุชนที่เป็นคนโลภคนใดผ่านมาและทราบความว่าภิกษุนี้มีน้ำผึ้งมากก็มักจะปล้นเอาและทำร้ายพระภิกษุถึงแก่มรณภาพได้

    การที่พระพุทธองค์ไม่ให้เก็บอาหารใดไว้ฉันเกิน 7 วัน นอกจากจะเป็นกลวิธีในการสอนให้ภิกษุไม่ยึดติดในวัตถุแล้วยังเป็นการป้องกันการเสียสุขภาพจากการบริโภคอาหารที่เก็บไว้นานเกินไปอีกประการหนึ่งนับว่า พุทธบัญญัติของพระพุทธองค์นั้นมีความแยบคายยิ่งนัก

    4. ยาวะชีวิก หมายถึง ยาทุกชนิดที่เป็นยารักษาโรคภัยไข้เจ็บใด ๆโดยที่ยานั้นไม่ได้ผสมกับ สิ่งที่เป็นสัตตาหะกาลิก คือ น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาล สามารถฉันได้ตลอด ฉันได้ทุกเวลา ไม่ว่ายานั้นจะเป็นราก,เปลือก,ใบ หรือแม้แต่ผล เช่น มะขามป้อม สมอไทย สมอภิเภก รากบัว ฯลฯ ถือเป็นยาได้ทั้งหมด

    จากข้อสังเกตนี้ ในปัจจุบันหากญาติโยมคนใดต้องการถวาย “ยาน้ำ” เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย ก็ควรตรวจสอบส่วนประกอบในยาน้ำชนิดนั้นดูสักนิดว่า มีส่วนผสมของ “น้ำตาล”อยู่บ้างหรือไม่ ถ้ามีและจำเป็นต้องถวายก็สามารถถวายได้และบอกกล่าวกับภิกษุท่านเสียก่อน ท่านจะได้ทราบว่า ยาที่ท่านรับมาสามารถฉันได้ไม่เกิน 7 วันเท่านั้น

    การเลือกยารักษาโรคที่มีคุณภาพที่จะนำมาถวายเป็นสังฆทานควรเป็นยาที่พระท่านสามารถใช้บำบัดโรคได้จริง เช่น ยาใช้ภายในและยาภายนอกที่มีประสิทธิภาพเช่น ยาพาราเซตามอลแก้ไข้แก้ปวด ยาแก้อักเสบ ยาแก้ท้องเสีย ยาลดกรดเคลือบกระเพาะ เหล่านี้ล้วนเป็นยาใช้ภายในที่มีประโยชน์ โดยวิธีการก็คือไปปรึกษา เภสัชกรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการใช้ยาให้เขาช่วยจัดยาและเขียนหน้าซองหรือวิธีการรับประทานยานั้นให้ได้อย่างถูกต้อง จะได้เกิดความสะดวกกับพระภิกษุได้ใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลในการบรรเทาอาการหรือรักษาได้สูงสุด

    2. ข้าวของเครื่องใช้
    ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของพระภิกษุไม่ต่างจากปุถุชนธรรมดา หากนำไปถวายพระท่านได้ใช้ประโยชน์แน่นอนอันจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ท่านได้ปฏิบัติธรรมได้อีกทางหนึ่ง หากเป็นพระผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้วท่านย่อมไม่ยึดมั่นถือมั่นในวัตถุใดๆที่จะนำมาถวาย คือ ใช้เพียงเพื่อความจำเป็นและก่อประโยชน์สูงสุดแก่พระศาสนาเท่านั้น สิ่งของที่ควรนำมาถวายท่านได้แก่

    1. สบู่ แชมพู ยาสีฟัน แปรงสีฟัน และผงซักฟอก
    ของใช้เหล่านี้ พระท่านต้องใช้งานอยู่เป็นประจำเพื่อชำระร่างกายให้สะอาดและชำระจีวรเครื่องนุ่งห่มของท่านให้สะอาดไม่ต่างจากปุถุชนธรรมดาควรเลือกวัตถุทานเหล่านี้เป็นของที่มีคุณภาพพอสมควรแก่ฐานะของผู้ถวาย โดยเฉพาะ แชมพู นั้นหลายท่านสงสัยว่าเหตุใดพระภิกษุที่โกนศีรษะจะต้องใช้แชมพูด้วย ก็เพราะหนังศีรษะนั้นต้องการได้รับการทำความสะอาดอยู่เสมอไม่ต่างจากปุถุชน และยังเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการโกนผมในวันโกนอีกต่างหาก

    แปรงสีฟันนั้นก็เป็นสิ่งของจำเป็นที่ใช้แล้วหมดไป คือใช้แล้วต้องเปลี่ยนเสมอควรเป็นแปรงที่มีคุณภาพดีอันหมายถึง สามารถใช้แปรงฟันจริงได้ ไม่ใช่แปรงที่มีคุณภาพต่ำที่ขนแปรงแข็งเกินไปจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพปากและฟัน

    2. ใบมีดโกน
    เนื่องจากพระภิกษุต้องโกนผมทุกวันโกนหรือโกนหนวดเคราให้สะอาดอยู่เสมอ ใบมีดโกนก็เป็นเครื่องใช้ที่ต้องหมดไปคือใช้แล้วทิ้งเช่นกัน ควรเลือกที่มีคุณภาพดีเหมาะสมในการใช้งานคือ เหมาะทั้งการโกนผมและการโกนหนวดเคราและขนที่ไม่พึงประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    3. ผ้าไตรจีวร
    ผ้าไตรจีวรนั้น ปกติพระภิกษุที่บวชนาน ๆท่านจะมีใช้ประมาณ 2- 3 ชุด สลับกันใช้และซักทำความสะอาด เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ ผ้าที่ท่านใช้ก็จะสึกหรอเก่าไปตามเวลา ดังนั้นพระท่านจึงต้องมีผ้าจีวรสำหรับนุ่งห่มที่มีความยาวและมีคุณภาพพอที่จะนุ่งห่มได้และมีความหนาพอเหมาะสม โดยท่านนุ่งห่มเพียงเพื่อจุดประสงค์ป้องกันความหนาว ความร้อน และอันตรายจากสัตว์ร้ายต่าง ๆที่จะมากระทบกับร่างกายของท่านเพียงเท่านั้น

    การเลือกซื้อผ้าไตรจีวรมาถวายท่านควรซื้อจากร้านสังฆภัณฑ์ที่ดี และสามารถทดลองแกะตรวจสอบดูคุณภาพของผ้าไตรจีวรที่จะนำมาถวายได้ก็จะเป็นการยืนยันคุณภาพได้ดียิ่งขึ้น พระท่านสามารถนำไปใช้ได้อย่างแน่นอน

    4. เครื่องเขียน สมุด ปากกา ดินสอ
    เนื่องจากในปัจจุบันพระภิกษุต้องเรียนพระปริยัติธรรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางพระธรรมมากมายนอกจากนั้นยังต้องมีการจดกำหนดนัดหมายต่างๆ แต่วัดบางแห่งที่อยู่ตามชนบทไม่ค่อยมีใครถวายเครื่องเขียนเหล่านี้ พระท่านจึงต้องไปเดินหาซื้อเองเสมอซึ่งไม่ใช่กิจของสงฆ์และเป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่พระภิกษุต้องถือเงินทอง (แม้จะไม่ได้จับเงินโดยตรง) เดินไปจับจ่ายซื้อของจำเป็นเหล่านี้

    1. หนังสือธรรมะ สารคดี นิตยสาร หรือที่ให้ความรู้ด้านอื่นๆ
    เนื่องจากพระสงฆ์ มีหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่านจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ที่แตกฉานในหลายๆด้าน ทั้งทางธรรมและรู้ทันข่าวสารบ้านเมืองคือทางโลกด้วย การถวายหนังสือเหล่านี้ จึงถือเป็น “ต้นทุนแห่งธรรมทาน” ที่ดีให้พระท่านได้นำไปต่อยอด กระจายความรู้ดังกล่าวสู่ผู้คนได้อีกมาก

    2. รองเท้า
    รองเท้านั้นโดยข้อปฏิบัติทางวินัยสงฆ์แล้วโบราณจะไม่สวมรองเท้า แต่ในยุคปัจจุบันมีการอนุโลมให้พระภิกษุสวมรองเท้าได้ นอกเหนือจากเวลาบิณฑบาตในตอนเช้าปกติแต่ในพุทธบัญญัติในสมัยพุทธกาลนั้น พระพุทธเจ้าก็อนุญาตให้ภิกษุสวมรองเท้าได้หลายๆชั้นในชนบทที่ห่างไกลพื้นผิวทางมีความขรุขระทุรกันดารดังเช่นที่แคว้นอวันตี ประเทศอินเดีย

    3. น้ำยาทำความสะอาดประเภทต่างๆ
    น้ำยาทำความสะอาดที่ควรนำถวายก็คือ น้ำยาล้างจาน,น้ำยาล้างห้องน้ำ,น้ำยาเช็ดกระจก หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคประเภทต่างๆ เหล่านี้พระท่านก็ต้องใช้ในการทำความสะอาดศาสนาสถานหรืออาคารเรียนที่เป็นที่สำหรับการศึกษาของพระภิกษุสามเณร และดูแลบริเวณวัดให้สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย นอกจากจะช่วยผ่อนแรงในการทำความสะอาด สลายคราบสกปรกต่าง ๆ แล้ว น้ำยาฆ่าเชื้อโรคบางยี่ห้อยังช่วยฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในมูลสัตว์ที่อยู่ในวัดอย่าง มูลนกพิราบ,มูลสุนัขหรือแมว, รวมไปถึง เห็บ หมัด ของสุนัขที่อยู่ในวัดได้อีกด้วย
    ทั้งอาหารและของใช้ต่าง ๆที่เป็นประโยชน์ต่อคณะสงฆ์เหล่านี้ถือเป็นวัตถุทานที่ดีและมีคุณค่าเมื่อทำเป็นสังฆทานแล้วย่อมยังประโยชน์ให้เกิดแก่คณะสงฆ์ได้อย่างสูงสุด ผู้ถวายทานก็มีความสุขอิ่มเอมใจ ผู้รับทานอย่างพระท่านก็โมทนาบุญและอุทิศบุญให้ได้อย่างเต็มที่เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

    ขอบุญใหญ่แห่งสังฆทานที่ถูกต้องนี้จงสำเร็จผลแด่ผู้สร้างบุญทุกท่าน

    ***

    #พระพุทธเจ้า #ธรรม #หนังสือธรรมทาน #ธ.ธรรมรักษ์ #สังฆทาน
     

แชร์หน้านี้

Loading...