วัน วลิต กับตำนานพระนเรศวร

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 11 กุมภาพันธ์ 2007.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,172
    [​IMG]ใครบอกว่า "ประวัติศาสตร์" เป็นยาขม เห็นทีต้องคิดใหม่ ไม่งั้นอาจ "เอาท์" ตกกระแสเอาได้ง่ายๆ

    เพราะเดี๋ยวนี้เดินไปทางไหนก็มีแต่คนพูดถึงภาพยนตร์เรื่องใหม่แห่งสยามประเทศกันทั้งนั้น

    แล้วจะมาแปะป้ายหาว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องน่าเบื่อไปได้อย่างไร

    ชายคนหนึ่งที่มีบทบาทช่วยให้ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นเนื้อเป็น "หนัง" ขึ้นมาได้ ชื่อว่า...

    วัน วลิต

    เขาไม่ใช่ชายในยุคที่สนามบินสุวรรณภูมิมีรันเวย์ร้าวอวดชาวโลก เขาไม่ใช่คนในยุคที่วัยรุ่นมีไอพอดหรือเอ็มพี 3 เป็นอวัยวะที่ 34 ถัดจากโทรศัพท์มือถือ

    แต่เขาเป็นคนเมื่อ 400 กว่าปีก่อนที่ใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ในกรุงศรีอยุธยา

    เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vliet) หรือที่คนไทยออกเสียงชื่อของเขาให้คุ้นลิ้นเป็น "วัน วลิต" เกิดราว พ.ศ.2145 ที่ฮอลันดา

    เติบโตขึ้นได้เข้าทำงานในบริษัท อีสต์ อินเดีย ซึ่งเป็นบริษัทด้านการค้าของฮอลันดาที่เมืองรอตเตอร์ดัม แล้วย้ายไปประจำสถานีการค้าของบริษัทที่เกาะชวา จากนั้นบริษัทก็ส่งตัวเขาไปประจำที่ญี่ปุ่น

    วัน วลิต มาประจำสถานีการค้าของบริษัท อีสต์ อินเดีย ที่กรุงศรีอยุธยาประมาณ พ.ศ.2176 ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง จนถึง พ.ศ.2185 ก็ออกจากกรุงศรีอยุธยา

    ระหว่างที่อยู่ในกรุงศรีอยุธยา วัน วลิต ใช้ความช่างสังเกตสังกาจดบันทึกสิ่งที่พบเห็นและได้ยินอย่างละเอียด กลายเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังในการศึกษาเรื่องราว ชีวิต ความเป็นอยู่ ของผู้คนสมัยนั้น

    อ่านงานบางช่วงบางตอนของวัน วลิต แล้ว แทบจะจินตนาการออกมาเป็นภาพได้เลยก็แล้วกัน

    ผลงานของวัน วลิต เท่าที่แปลแล้วพิมพ์ออกมาเป็นภาษาไทยมีด้วยกัน 3 เล่ม ตามที่ สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร บอกไว้ในหนังสือ รวมบันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของฟาน ฟลีต (วัน วลิต) ว่า

    เล่มแรก คือ "พรรณนาเรื่องอาณาจักรสยาม" (Description of the Kingdom of Siam) เขียนเมื่อปี พ.ศ.2179 เนื้อหาพูดถึงกำเนิดของเชื้อชาติสยาม สถานที่ตั้ง การเมืองการปกครอง พิธีทางศาสนา ชีวิตความเป็นอยู่ของขุนนางและสามัญชน การค้า-สินค้าสำคัญ ฯลฯ

    เล่มสอง "พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ.2182" (The Short History of the Kings of Siam) เขียนขึ้นในปี พ.ศ.2182 บรรยายความเป็นมาของราชวงศ์อยุธยาตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าอู่ทองถึงพระเจ้าปราสาททอง

    เล่มสุดท้าย "จดหมายเหตุฟาน ฟลีต" (Historical Account of Siam in the 17th Century) เขียนในราวปลายปี พ.ศ.2183 ว่าด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองก่อนพระเจ้าปราสาททองขึ้นครองราชย์

    งานที่กล่าวถึง สมเด็จพระนเรศวรมากสุดในบรรดา 3 เล่ม คือ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ.2182

    กลายเป็น "หนึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์" ที่ทีมงาน ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ต้องอ่าน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ สร้างให้ภาพของสมเด็จพระนเรศวรในหนังชัดเจนขึ้น

    วัน วลิต กล่าวถึง "พระนเรศ" ตั้งแต่เสด็จไปเป็นองค์ประกันที่พะโคเมื่อพระชนมพรรษา 13 พรรษา จากนั้นอีก 2 ปีทรงลอบหนีกลับพิษณุโลก

    เขายังเขียนถึงพระปรีชาสามารถของพระนเรศในการรบ การขึ้นครองราชย์ และรัชสมัยของพระองค์ กระทั่งทรงสิ้นพระชนม์ (ใช้ตามคำของวัน วลิต)

    อยากรู้ว่า วัน วลิต บรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้นอย่างไร เห็นทีต้องลองไปหาอ่านกันดู

    แต่อย่าลืมว่า วัน วลิต อยู่ห่างจากยุคของสมเด็จพระนเรศวรหลายสิบปี ข้อมูลที่ได้ยินได้ฟังจึงอาจคลาดเคลื่อน แถมยังมองความเป็นไปในกรุงศรีอยุธยาด้วยสายตาชาวตะวันตก บางครั้งมีอคติ บางครั้งไม่เข้าใจ

    เพราะฉะนั้นต้อง อ่านตา-ไว้ตา ถึงจะสนุก
     

แชร์หน้านี้

Loading...