เรื่องเด่น วิธีใช้วัตถุมงคลให้เกิดประโยชน์สูงสุด - พระอาจารย์เล็ก วัดท่าขนุน

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย NAMOBUDDHAYA, 11 มีนาคม 2017.

  1. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,100
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,003
    ค่าพลัง:
    +69,973
    17203012_1774162872609097_3167043938507862521_n.jpg




    วิธีใช้วัตถุมงคลให้เกิดประโยชน์สูงสุด

    วันนี้มีผู้ถามเกี่ยวกับเรื่องของการใช้เครื่องรางของขลังให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ซึ่งจะว่าไปแล้วในเรื่องของวัตถุมงคลหรือเครื่องรางของขลังนั้น โบราณาจารย์ท่านสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นการสอนให้เราปฏิบัติใน ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง

    เพราะว่าการใช้วัตถุมงคลจะมีข้อห้ามข้อปฏิบัติต่าง ๆ ซึ่งสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็คือศีล มีคาถาในการอาราธนา นั่นคือการที่ให้เราสร้างสมาธิให้เกิดขึ้น ส่วนปัญญานั้น ถ้าเราเห็นทุกข์เห็นโทษว่า การดำรงชีวิตอยู่มีแต่โทษภัยที่น่ากลัว ทำให้เราหาวัตถุมงคลมาคุ้มครองตนเอง ขึ้นชื่อว่าการเกิดมาในโลกนี้ที่เต็มไปด้วยเภทภัยต่าง ๆ ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของเราอีกแล้ว ถ้าหมดอายุขัยตายลงไปก็ดี หรือว่าเกิดอุบัติเหตุอันตรายใด ๆ ถึงแก่ชีวิตก็ดี เราขอไปอยู่ที่พระนิพพานแห่งเดียว ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ถือว่าท่านใช้ปัญญาในการใช้เครื่องรางของขลังหรือวัตถุมงคลด้วย

    ส่วนตัวของอาตมาเองนั้นมักจะใช้ในลักษณะของการจับภาพวัตถุมงคลเป็นกสิณ ถ้าตามที่เคยทำมา เมื่อถึงเวลาก็จะตั้งรัตนบัลลังก์ขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตัวรัตนบัลลังก์นั้นประกอบขึ้นมาจากแหวนจักรพรรดิและมีดหมอชาตรี เบื้องบนก็คือธงมหาพิชัยสงคราม หลังจากนั้นก็กราบอาราธนาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปฐมเสด็จประทับนั่งยังรัตนบัลลังก์นั้น

    หลังจากนั้นก็อาราธนาวัตถุมงคลอื่น ๆ ที่ติดตัวอยู่ อย่างเช่นว่า พระสมเด็จคำข้าวอาราธนาไว้ที่หน้าผาก พระสมเด็จหางหมากอาราธนาไว้ที่ปาก พระหลวงปู่ปานเอาไว้ที่หน้าอก พระรอดเอาไว้ที่ท้อง เป็นต้น

    เมื่อถึงเวลาภาวนาไป ถ้ากลัวกำลังใจจะฟุ้งซ่าน ก็ค่อย ๆ กำหนดภาพวัตถุมงคลแต่ละจุด อย่างเช่นว่า หายใจเข้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปฐมสว่างครอบคลุมกายของเราเอาไว้ หายใจออกภาพของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปฐมสว่างครอบคลุมกายเรา หายใจเข้าพระสมเด็จคำข้าวสว่างขึ้น หายใจออกพระสมเด็จคำข้าวสว่างขึ้น หายใจเข้าพระสมเด็จหางหมากสว่างขึ้น หายใจออกพระสมเด็จหางหมากสว่างขึ้น เป็นต้น

    ถ้าหากสภาพจิตของเราจดจ่ออยู่เช่นนี้ นอกจากจะเป็นการปลุกเสกวัตถุมงคลไปในตัวแล้ว ยังเป็นการที่สภาพจิตของเราเกาะอยู่กับคุณพระรัตนตรัย ไม่ฟุ้งซ่านไปกับนิวรณ์ต่าง ๆ ดังนั้น..ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายพกวัตถุมงคลชนิดใดชนิดหนึ่งก็ตาม ท่านก็สามารถที่จะทำเช่นนี้ได้ ถ้ากำหนดภาพหลาย ๆ อย่างให้ชัดเจนพร้อมกันไม่ได้ ก็ให้ท่านทั้งหลายกำหนดทีละอย่างเดียวก่อน เมื่อได้ชัดเจนแจ่มใสแล้วค่อยขยับไปอย่างที่สอง อย่างที่สาม จนเกิดความคล่องตัวแล้ว ต่อให้เราพกวัตถุมงคลอยู่เป็นสิบ ๆ อย่าง เราก็สามารถกำหนดภาพให้ชัดเจนเอาไว้ได้ เท่ากับว่าเราปฏิบัติในกสิณในพุทธานุสติ ในสังฆานุสติ

    คำว่า "กสิณ" ก็คือการกำหนดภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาพของวัตถุที่เป็นองค์กสิณก็ดี ภาพของพระก็ดี ถือว่าจัดอยู่ในหมวดกสิณทั้งนั้น พุทธานุสติก็คือวัตถุมงคลส่วนใหญ่เป็นภาพพระพุทธอยู่แล้ว สังฆานุสติก็คือวัตถุมงคลบางอย่างที่เป็นรูปของครูบาอาจารย์ที่เราเคารพกราบไหว้เป็นปกติอยู่ ถ้าระลึกถึงคำสอนของท่านก็ได้ในส่วนของธัมมานุสติด้วย ถ้าหากว่ามีข้อห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดอยู่ก็ถือว่าเป็นสีลานุสติด้วย ดังนี้เป็นต้น

    ถ้าทำดังนี้ก็จะได้ชื่อว่าท่านทั้งหลายใช้วัตถุมงคลหรือเครื่องรางของขลัง ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้อย่างที่ญาติโยมได้ถามมา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันเสาร์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗
    ภาพและที่มา : เว็บวัดท่าขนุน

    -------------------------------------------------------------

     
  2. Wheeler990

    Wheeler990 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มกราคม 2010
    โพสต์:
    972
    ค่าพลัง:
    +6,012
    สวัสดีครับ มาเพิ่มเติมให้ครับ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงกัน ^__^

    กรรมฐาน 40 (แบ่งเป็น 7 หมวด) มีดังนี้

    (1.) กสิณกรรมฐาน 10 อย่าง***

    (2.) อสุภกรรมฐาน 10 อย่าง

    (3.) อนุสสติกรรมฐาน 10 อย่าง***

    (4.) พรหมวิหารกรรมฐาน 4 อย่าง

    (5.) อรูปกรรมฐาน 4 อย่าง

    (6.) อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 อย่าง

    (7.) จตุธาตุววัฏฐาน 1 อย่าง

    >>> (รวมทั้ง 7 หมวดเป็น 40 อย่างพอดี) <<<

    หมายเหตุ : กสิณต่างๆ อยู่ในหมวด (1.) กสิณกรรมฐาน 10 อย่าง*** ในส่วนของ พุทธานุสติ ,ธัมมานุสสติ ,สังฆานุสสติ และสีลานุสสติ อยู่ในหมวด (3.) อนุสสติกรรมฐาน 10 อย่าง***
     
  3. Wheeler990

    Wheeler990 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มกราคม 2010
    โพสต์:
    972
    ค่าพลัง:
    +6,012
    @@@ พระกรรมฐาน 40 กอง (! ภาคทฤษฎี) @@@

    การที่จะเรียนปฏิบัติกรรมฐาน 40 วิธี ผู้ปฏิบัติ หรืออาจารย์ผู้สอนศิษย์ ควรจะรู้อารมณ์อุปนิสัยของตนเอง หรือลูกศิษย์เสียก่อน ถ้าไม่แน่ใจว่ามีจริตอะไรมากกว่าจริตอื่นๆ ใน 6 จริต ก็ให้เรียนพระกรรมฐานแบบกลางๆ เหมาะกับอุปนิสัยจริตทุกอย่าง นักปฏิบัติเพื่อฌานโลกีย์ หรือเพื่อมรรคผลนิพพานก็ตาม ควรรู้อาการ หรืออารมณ์ หรือจริตอุปนิสัยของจิต เพราะเป็นผลดีมีกำไรในการปฏิบัติเพื่อการละกิเลสตัณหาอุปาทานได้รวดเร็ว สมาธิก็ตั้งมั่นวิปัสสนาญาณจะแจ่มใส มรรคผลนิพพานก็ปรากฏเร็วไว เรื่องกรรมฐานกับจริตมีความสำคัญมาก ถ้าไปปฏิบัติไม่ถูกจริตจะไม่ก้าวหน้าทางธรรม ทำให้ถึงจุดหมายปลายทางพระนิพพานช้ามาก คือ ต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป...

    กรรมฐาน 40 (แบ่งเป็น 7 หมวด) มีดังนี้

    1. กสิณกรรมฐาน 10 อย่าง

    2. อสุภกรรมฐาน 10 อย่าง

    3. อนุสสติกรรมฐาน 10 อย่าง

    4. พรหมวิหารกรรมฐาน 4 อย่าง

    5. อรูปกรรมฐาน 4 อย่าง

    6. อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 อย่าง

    7. จตุธาตุววัฏฐาน 1 อย่าง

    (รวมทั้ง 7 หมวดเป็น 40 อย่างพอดี)

    @@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

    +++ หมวด กสิณกรรมฐาน 10 อย่าง +++

    กสิณ แปลว่า เพ่งเป็นสภาพหยาบ สำหรับให้ผู้ฝึกจับให้ติดตาติดใจ ให้จิตใจจับอยู่ในกสิณใดกสิณหนึ่งใน 10 อย่าง ให้มีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว จิตจะได้อยู่นิ่งไม่ฟุ้งซ่าน มีสภาวะให้จิตจับง่ายมีการทรงฌานถึงฌาน 4 ได้ทั้งหมด กสิณทั้ง 10 เป็นพื้นฐานของอภิญญาสมาบัติ

    กสิณทั้ง 10 อย่าง *แบ่งออกเป็น 2 จำพวก คือ

    *จำพวกที่หนึ่ง* คือ กสิณกลาง มี 6 อย่าง คนทุกจริตสามารถฝึกกสิณได้ทั้ง 6 อย่าง เพราะเหมาะกับทุกอารมณ์ ทุกอุปนิสัยของคน

    1. ปฐวีกสิณ: จิตเพ่งดิน นึกถึงภาพดิน ภาวนาว่า ปฐวี กสิณังๆๆๆ

    2. เตโชกสิณ: จิตเพ่งไฟ นึกถึงภาพไฟ ภาวนาว่า เตโช กสิณังๆๆๆ

    3. วาโยกสิณ: จิตเพ่งอยู่กับลม นึกถึงภาพลม ภาวนาว่า วาโย กสิณังๆๆๆ

    4. อากาสกสิณ: จิตเพ่งอยู่กับอากาศ นึกถึงอากาศ ภาวนาว่า อากาส กสิณังๆๆๆ

    5. อาโลกสิณ: จิตเพ่งอยู่กับแสงสว่าง นึกถึงแสงสว่าง ภาวนาว่า อาโลก กสิณังๆๆๆ

    6. อาโปกสิณ: จิตนึกถึงน้ำเพ่งน้ำไว้ ภาวนาว่า อาโป กสิณังๆๆๆ

    *จำพวกที่สอง* คือ กสิณเฉพาะอุปนิสัย หรือเฉพาะจริตมี 4 อย่าง สำหรับคนโกรธง่าย คือ พวกโทสะจริต

    7. โลหิตกสิณ: เพ่งกสิณ หรือนิมิตสีแดงจะเป็นดอกไม้แดง เลือดแดง หรือผ้าสีแดงก็ได้ทั้งนั้นจิตนึกภาพสีแดงแล้วภาวนาว่า โลหิต กสิณังๆๆๆ

    8. นีลกสิณ: ตาดูสีเขียวใบไม้ หญ้า หรืออะไรก็ได้ที่เป็นสีเขียว แล้วหลับตาจิตนึกถึงภาพสีเขียว ภาวนาว่า นีล กสิณังๆๆๆ

    9. ปีตกสิณ: จิตเพ่งของอะไรก็ได้ที่เป็นสีเหลือง ภาวนาว่า ปีต กสิณังๆๆๆ

    10. โอทากสิณ: ตาเพ่งสีขาวอะไรก็ได้แล้วแต่สะดวก แล้วหลับตานึกถึงภาพสีขาว ภาวนาโอทา กสิณังๆๆๆ จนจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งไม่วอกแวกไม่รู้ลมหายใจภาพกสิณชัดเจน

    หมายเหตุ ให้เลือกภาวนากสิณใดกสิณหนึ่งให้ได้ถึงฌาน 4 หรือฌาน 5 กสิณอื่นๆ ก็ทำได้ง่ายทั้งหมด พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าจิตเข้าถึงฌาน 4 พอถึงฌานที่ 5 ก็เป็นจิตเฉยมีอุเบกขาอยู่กับภาพกสิณต่างๆ ที่จิตจับเอาไว้

    @@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

    +++ หมวด อสุภะกัมมัฏฐาน 10 อย่าง +++

    อสุภะกรรมฐาน ที่องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแนะนำไว้สำหรับคนที่มีนิสัยรักสวยรักงาม หรือราคะจริตเพื่อจะได้ทำลายล้างกิเลสความหลงคิดว่ากายคน บ้านช่อง เรือนโรง โลกนี้สวยสดงดงาม ถ้าหากนักปฏิบัติพิจารณา อสุภกรรมฐานได้จนจิตเป็นหนึ่ง คือ เอกัคตารมณ์ หรืออารมณ์เป็นหนึ่งเดียวจนเป็นฌาน 4 เป็นปกติก็เป็นเหตุปัจจัยเข้าถึงพระอนาคามี ได้โดยง่าย และถึงอรหัตผลได้รวดเร็ว อสุภกรรมฐาน คือ พิจารณากายคน สัตว์เป็นซากศพทั้งหมด 10 ชนิด คือ หลังตายแล้ว 10 วันนั่นเอง

    11. อุทธุมาตกอสุภ: หลังตายวันที่ 1 ซากศพตัวแข็ง เย็นชืด ขาดธาตุไฟธาตุลม

    12. วินีลกอสุภ: หลังตายวันที่ 2 ซากศพเริ่มบวมพอง เป็นสีเขียว

    13. วิปุพพกอสุภ: หลังตายวันที่ 3 ซากศพพองมากขึ้น ชักมีกลิ่นตุๆ จากเน่ามีหนองบวม

    14. วิฉิททกอสุภ: หลังตายวันที่ 4 พิจารณาซากศพเนื้อหนังปริ ลิ้นจุกปาก น้ำเลือด น้ำหนองไหล ออกทั่วตัว เพราะเนื้อหนังเริ่มแตกแยก

    15. วิกขายิตกอสุภ: หลังตายวันที่ 5 เหม็นส่งกลิ่นตลบ เพราะแขนขากระจุยกระจายแตกแยกหมด

    16. วิกขิตตกอสุภ: ศพหลังตายวันที่ 6 ซากศพเรี่ยราดไม่เป็นชิ้นเป็นท่อนเหม็นเน่า

    17. หตวิกขิตตกอสุภ: ศพหลังตายวันที่ 7 มีแมลงวัน หนอน มดชอนไชกินซากศพ

    18. โลหิตกอสุภ: ศพหลังตายวันที่ 8 ซากศพเหลือน้อยแต่กลิ่นเหม็นมากมีเลือด น้ำ หนอง เนื้อเน่าเละเทะ

    19. ปุฬุวกอสุภ: ศพหลังตายวันที่ 9 ซากศพกระจัดกระจายไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ส่งกลิ่นมากจนทนไม่ไหว

    20. อัฏฐิกอสุภ: ศพหลังตายวันที่ 10 เหลือแต่ฟันและกระดูก แขน ขา กะโหลกมีกลิ่นเหม็น ไม่มีหน้าตาเหลืออยู่ เพราะโดนหนอนแมลงกัดกิน มีแมลงวันบินเต็มไปหมดเพราะกลิ่นเหม็นเน่าคลุ้งกระจาย

    การเจริญอสุภกรรมฐาน ไม่ใช่ให้ภาวนา หรือไปนั่งจ้องยืนจ้องซากศพที่โรงพยาบาล หรือป่าช้า แต่ท่านให้ใช้ความจำภาพซากศพที่เห็นแล้ว ใคร่ควรพินิจพิเคราะห์ดูว่าตัวเราที่ยังหายใจอยู่ พูดได้อยู่ มันก็ไม่แตกต่างอะไรกับซากศพที่ตายแล้ว เพราะร่างกายเราก็เหม็นเน่าทุกวันต้องชำระล้างอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ล้างเอาความเน่าเหม็นออก ต้องสระผมเกือบทุกวันถ้าไม่สระหัวก็เหม็น ให้จิตใจรู้ตลอดเวลาว่าร่างกายเรา และเขาไม่มีใครสะอาดเหม็นกันหมดทั้งโลก คนกับสัตว์ไม่แตกต่างกันเหม็นเน่าเหม็นคาวเหมือนกัน เกิดแก่เจ็บตายเหมือนกันคิดไว้อย่างนี้ตลอดเวลาท่านเรียกว่าจิตทรงฌานในอสุภกรรมฐาน ใครเจ็บป่วยไข้ก็รักษาพยาบาลเป็นการระงับทุกขเวทนา คิดไว้เสมอว่าเราเขาคือซากศพ ต่างก็สกปรกเช่นกันจะไปหลงรักผูกพันกันอะไรกันนักกันหนา จิตเลิกผูกพันตัวเราตัวเขา จิตก็เบาสบาย ความหนักใจก็ไม่มี ใครจะตายก็เห็นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าทุกคนเป็นศพที่พูดได้ เดินได้พอจิตออกจากร่างกายเรา เรียกว่า ศพที่ตายแล้ว

    @@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

    +++ หมวด อนุสสติกัมมัฏฐาน 10 อย่าง +++

    อนุสสติ แปลว่า จิตใจตามระลึกนึกถึงไว้อย่างเสมอ 1 อย่าง อนุสสติ 10 อย่างนี้เป็นกรรมฐานที่เหมาะกับนิสัยอารมณ์ของนักปฏิบัติศรัทธาจริต มี พุทธานุสสติ ,ธรรมานุสสติ ,สังฆานุสสติ ,สีลานุสสติ ,จาคานุสสติ ,เทวตานุสสติ ,กรรมฐานสำหรับผู้มีนิสัยพุทธจริต เชื่อยากต้องพิสูจน์ด้วยตนเองก่อนจึงเชื่อ คือ มรณานุสสติ กับนึกถึงความสุขใจในพระนิพพานเป็นอารมณ์ คือ อุปสมานุสติ ส่วนผู้ที่มีนิสัยชอบคิดวิตกกังวลสารพัดอย่าง มีกรรมฐานเหมาะสำหรับนักคิดวิตกกังวลไปทั่วโลก คือ อานาปานานุสสติ จิตตามติดรู้กำหนดลมหายใจเข้าออก แทนที่จะคิดฟุ้งซ่านกับปัญหาทั่วโลกก็มาติดตามดูลมหายใจเข้าออกของตนเองจะเป็นบุญกุศลจิตจะสุขสบายทั้งกายและใจ และผู้ที่ชอบรักของสวยงามนอกจากกสิณภาวนา 10 อย่าง ของอสุภกรรมฐานทั้ง 10 แบบแล้ว ยังมี คือ กายคตานุสสติกรรมฐาน พิจารณาร่างกายตามความเป็นจริง ว่ามีแต่สิ่งสกปรกเหม็นคาว เหม็นเน่าจากตัวเอง และผู้อื่นตลอดเวลา ไม่มีใครสวยงามจริง สกปรกกันทั้งหมดในโลก โดยจะแจงละเอียดหมวด อนุสสติกัมมัฏฐาน 10 อย่าง เป็นข้อๆ ดังนี้

    21. พุทธานุสสติกรรมฐาน:

    คือ ให้ระลึกนึกถึงพระคุณความดีขององค์สมเด็จองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ทรงสวัสดิโสภาคย์ มีพระมหาเมตตากรุณาสอนมนุษย์ เทวดา พรหม ให้พ้นจากเวียนว่ายตายเกิด คือ ให้มุ่งพระนิพพานเป็นจุดหมายปลายทางของจิตใจเรา จะภาวนาว่า พุทโธ , อิติสุคะโต , นะโมพุทธายะ , สัมมาอรหัง หรือนะมะพะธะ ก็ดีถูกต้องเหมือนกันหมดไม่ใช่ไปตั้งก๊กเหล่า แบ่งแยกสายพุทโธ สายสัมมาอรหัง อย่างนี้ไม่ถูก ทุกๆ สายเป็นลูกศิษย์ขององค์พระตถาคต เราปฏิบัติเพื่อลดละตัวตน ลดละกิเลส ดังนั้นขอให้ทุกท่านเจ้าสำนักโปรดให้ลูกศิษย์ของท่านเข้าใจอย่าได้ยึดติดว่าสายนั้นสายนี้ สำนักโน้น สำนักนี้ ไม่ใช่จุดพระพุทธประสงค์ขององค์พระจอมไตรโลกนาถศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ายังยึดติดกับสำนักครูบาอาจารย์ ยึดติดคำภาวนาท่านก็จะต้องเป็นทุกข์กับการเวียนว่ายตายเกิดอีกนานกว่าจะได้เข้าใจพระธรรมคำสั่งสอนขององค์พระพุทธชินวรศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยที่เรานึกถึงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านตลอดเวลา ในไม่ช้าจิตใจเราก็ฉลาด สะอาด สุขสบาย กิเลส โลภ โกรธ หลงก็หายไปโดยอัตโนมัติ จากการภาวนาพุทธานุสติกรรมฐาน คือ นึกถึงภาพพระพุทธรูปด้วยยิ่งดี เป็นกสิณทำให้จิตเป็นฌาน ถึง ฌาน 4 ได้ด้วยการจับภาพพระพุทธเจ้าไว้ในจิตใจพอภาพพระพุทธเจ้าเป็นแก้วใสจิตใจท่านก็เข้าถึงฌาน 4 มีสุขสดชื่น มีปัญญาเฉียบแหลม สามารถตัดกิเลสตัณหาอวิชชาได้อย่างรวดเร็ว เป็นอรหันต์ได้ง่ายเร็วไว เป็นกรรมฐานที่ลัดตรง! และง่ายที่สุด! คือ พุทธานุสสติกรรมฐานจิตเราท่านนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าตลอดเวลา จิตเรานั้นก็จะเป็นจิตพุทธะ คือ พระอรหันต์ดังที่องค์พระตถาคตทรงตรัสสอนไว้ดีเลิศประเสริฐเป็นจริงพิสูจน์ได้โดยปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน ของการหลุดพ้นตามวิสุทธิมรรค มีถึง 40 แบบ แถมด้วยแบบมหาสติปัฏฐานสูตรอีก 1 แบบเป็น 41 แนวทาง เข้าถึงอรหัตผลได้ทุกแบบมีทั้งศีล สมาธิ ปัญญารวมอยู่ด้วยกันทั้งหมด ดีเหมือนกัน ดีเท่ากัน แล้วแต่อุปนิสัยของนักปฏิบัติชอบแนวไหน

    22. ธัมมานุสสติกรรมฐาน:

    คือ ตั้งสติระลึกนึกถึงคุณความดีของพระธรรม คำสั่งสอน คือ ข้อห้ามไม่ให้ทำผิดศีล 5 ข้อ คำสอน คือสอนให้มีเมตตากรุณาให้ทำบุญทำทานให้ภาวนาพิจารณาทุกอย่างในโลกเป็นของลำบากยากเค้นในการแสวงหาเงินทองมาซื้ออาหารบ้าน รถ เสื้อผ้าเครื่องใช้ เป็นทุกข์เพราะตนทนเหนื่อยยากได้มาแล้วก็เก่าชำรุดทรุดโทรม ทั้งร่างกายก็มีแต่โรคภัยรบกวนเป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้แน่นอน ในไม่ช้าก็ต้องตายกันหมด เกิดมาเท่าไรก็ตายหมดเท่านั้น ไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของใครเป็นกฎของธรรมชาติ แม้แต่องค์สมเด็จบรมโลกนาถศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระวรกายท่านก็เป็นอนัตตา คือ แตกสลาย นับประสาอะไรกับร่างกายของเราก็ตายอยู่ตลอดเวลา จากวัยเด็ก เป็นวัยผู้ใหญ่ เข้าวัยชรา ไม่มีอะไรดี จิตเราจะขอติดตามองค์สมเด็จพระพิชิตมารไปพระนิพพานในชาตินี้ คิดแบบนี้คือเคารพในพระธรรม หรือท่านจะเลือกเอาพระธรรมแบบไหนก็ได้ทั้งกรรมฐาน 40 แบบ หรือ แบบมหาสติปัฏฐานสูตร ดีเหมือนกันทุกแบบ พระธรรมทั้งหมดที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ 84,000 พระธรรมขันธ์ ย่อลงมาเหลือ 3 อย่าง คือ อธิศีลบริสุทธิ์ ทำให้เป็นพระโสดาบัน, อธิจิตสมาธิภาวนา ทำให้เป็นพระอนาคามี คือ มีฌาน 4 ,อธิปัญญา คือ จิตไม่หลงผูกพันติดในร่างกายตนเอง ทำให้เป็นพระอรหันต์ คุณธรรมทั้งหมดประเสริฐยอดเยี่ยมไม่มีความรู้ใดๆ ดีกว่าสูงกว่านี้ ความรู้ทางพระนิพพานที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารตรัสสอนไว้ สามารถกำจัดความทุกข์ยากลำบากกายใจได้ทั้งที่มีชีวิตอยู่ และเมื่อตายแล้วยิ่งเป็นสุขมากกว่าคน คือ มีเทวดา พรหม พระนิพพานเป็นที่ไปตามบุญบารมีที่ตั้งใจปฏิบัติไว้ตอนเป็นคน หรือสัตว์ และผู้ปฏิบัติธรรมจริงก็จะได้ผลความสุขกายจริง ดังนั้นพระธรรมเป็นปัจจัตตัง ผู้ปฏิบัติธรรมอยู่ย่อมรู้ดี

    23. สังฆานุสสติกรรมฐาน:

    คือ การระลึกนึกถึงความดีของพระอริยสงฆ์สาวกขององค์พระผู้มีพระภาคเจ้าที่ประพฤติปฏิบัติตรงดีจริงตามพระธรรมคำสั่งสอน ตัดกิเลส โลภ โกรธ หลง จิตแน่วแน่มุ่งตรงพระนิพพาน และยังสืบทอดพระธรรมคำสั่งสอนมาถึงปวงชนรุ่นหลังๆ ให้เข้าใจพระธรรมวินัย คือ ศีล เข้าใจพระสุตตันปิฎก คือ สมาธิภาวนา ให้เข้าใจพระอภิธรรมปิฎก คือ ปัญญา ผลจากการที่เราเลื่อมใสศรัทธาในพระอริยสงฆ์ทำให้เรามีปัญญาเป็นบารมี กำลังใจที่เรามีปีติอิ่มเอิบใจ เชื่อมั่นในความดี และโมทนากับบุญบารมีของพระอริยสงฆ์ทุกๆ พระองค์ ตั้งแต่สมัยพุทธกาลเนิ่นมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้จิตใจเราได้สำเร็จมรรคผลตามท่านได้ไม่มีอะไรหนักใจ เรียกว่า เรามีศรัทธาวิมุตติ คือ จิตหลุดพ้นจากกิเลสตัณหาอุปาทาน ด้วยเลื่อมใสศรัทธาในองค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ อย่าง่ายดาย

    24. สีลานุสสติกรรมฐาน:

    คือ การตั้งใจระลึกนึกถึงพระคุณความดีของผู้มีศีล 5 อยู่เป็นปกติสุข คุณของศีล 5 ปิดกั้นประตูนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ผู้ไม่ทำชั่วใน 5 ข้อนั้น ไม่ฆ่าคนไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงละเมิดทางประเวณีกับบุตร ธิดา สามี ภรรยาของผู้อื่น ไม่พูดปด และไม่เสพสิ่งเสพติดให้โทษ มียา ฝิ่น สุรา แถมด้วยไม่เล่นการพนัน แข่งม้า แข่งบอล เป็นต้น ฆราวาสพึงระลึกนึกถึงศีล 5 ข้อไว้มิให้ขาดตกบกพร่อง แม้แต่จะคิดละเมิดข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่ควรคิด ถ้าเผลอทำผิดศีลข้อใดข้อหนึ่งที่เป็นอดีตล่วงมาแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนให้ตั้งใจทำความดีมีศีล 5 ครบ ขอโทษพระรัตนตรัยทุกวันไม่นึกถึงความชั่วที่แล้วมา เพียรภาวนาระลึกนึกถึงศีล 5 ครบในปัจจุบัน เพื่อเป็นพื้นฐานของจิตให้สะอาดสดใสมีพระนิพพานเป็นที่ไปของจุดหมายปลายทางชีวิต คิดถึงศีล 5 ครบทุกวัน จิตจะเป็นฌานมีปัญญาฉลาดอยู่เป็นสุข ก่อนตายศีลจะเป็นสะพานใหญ่ให้อารมณ์สมาธิหลั่งไหลมาในจิต เป็นพื้นฐานให้ได้วิปัสสนาญาณ คือ ทุกข์เห็นโทษของการมี ขันธ์ 5 ร่างกายสกปรก มีจิตใจเลื่อมใสเข้าถึงพระนิพพานในที่สุด ระลึกนึกถึงศีลทำให้ท่านมีอารมณ์สมาธิถึงอัปปนาสมาธิ คือ จิตทรงฌาน คิดถึงศีลตามปกติของท่านถ้าชาวบ้านปกติก็ถือศีล 5 ถ้าอยู่วัดก็ศีล 8 สามเณรก็มีศีล 10 ศีลของพระภิกษุก็มี 227 อานิสงส์ของศีล คือ มีชีวิตอยู่ไม่เดือดร้อน ไม่มีศัตรู มีคนรัก มีเกียรติคุณความดีฟุ้งไปทั่วทิศ เป็นผู้แกล้วกล้าอาจหาญ ใกล้ตายจิตจะผ่องใสเบิกบาน เพราะมีศีลครบ บาปกรรมไม่สามารถมาทำให้จิตเศร้าหมอง ตายแล้วไม่ไปทุกข์ในนรก อย่างน้อยได้ไปเกิดในสวรรค์ อย่างมากไปเสวยสุขเบื้องบนพระนิพพาน

    25. จาคานุสสติกรรมฐาน:

    สมเด็จพระชินศรีศาสดาสัมมมาสัมพุทธเจ้า แนะนำสั่งสอนพวกเราให้บริจาคทาน บำรุงพระศาสนา สงเคราะห์คนยากจน เป็นการเสียสละ ละกิเลส ตัวโลภ ตระหนี่ถี่เหนียวออกไป ให้ทานด้วยความเต็มใจ ยินดีให้ทานด้วยความเคารพมีอาการสุภาพในการให้ มีอาการปลื้มปีติดีใจที่ให้ไปแล้ว จะเป็นใครก็ตามที่เราให้ไปแล้วเราก็พอใจอิ่มใจ เพราะสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญว่าเป็นความดี ผลการให้ทานทำให้เราเป็นสุข เพราะผู้รับทานมีโอกาสเปลื้องทุกข์ ผลการให้ทานเป็นการทำลายล้างความโลภ ละกิเลสที่มาถ่วงไม่ให้เราเข้าถึงพระนิพพาน หมั่นระลึกถึงคุณงามความดี บุญกุศลต่างๆที่เราได้เคยทำไว้เป็นอารมณ์เสมอ ก็จะช่วยให้ผู้ปฎิบัติมีความปิติสุข มีอารมณ์สดชื่นเบิกบานใจ และดำรงตนให้ทรงถึงซึ่งความดียิ่งๆขึ้นไป

    26. เทวตานุสสติกรรมฐาน:

    เทวดา แปลว่า ผู้มีจิตใจดีงาม จิตใจประเสริฐ กรรมฐานนี้ท่านให้มีจิตใจระลึกถึงความดีของเทพเทวดา พรหมเทวดา ท่านมีความดีตอนเป็นคนมี หิริ ความละอายต่อบาป ไม่ผิดศีล 5 ไม่ทำความชั่วทั้งกาย วาจา ใจ โอตัปปะ มีความเกรงกลัวผลของความชั่วจะให้ผล ท่านมีจิตเมตตาปรานีทำบุญให้ทาน ไหว้พระสวดมนต์ ทอดผ้าป่า กฐินให้บริจาคทานแก่ผู้ยากไร้ สมัยองค์พระบรมสุคตศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีเทพเทวดามากราบไหว้ฟังเทศน์ ฟังธรรม โปรยปรายดอกไม้ทิพย์ อาหารทิพย์ ถวายเป็นพระพุทธบูชา มา กราบทูลถามปัญหาธรรมะจากพระพุทธองค์ พระองค์เองทรงปรารภแก่บรรดาพระพุทธสาวก เรื่อง เทวดาเสมอ พระพุทธศาสนายอมรับนับถือความดีของเทพเทวดา พรหม ท่านเป็นพระอริยเจ้าพระอรหันต์มีมากมายกว่ามนุษย์ มีบุญบารมี มากกว่ามนุษย์หลายเท่า ท่านไม่ต้องแบกขันธ์ 5 เป็นทุกข์แบบมนุษย์ ไม่เจ็บป่วย แก่ชราเหมือนมนุษย์ เทวดาพรหมท่านมีความสุขดีกว่ามนุษย์มาก กรรมฐานกองนี้ คือ ให้ระลึกถึงคุณงามความดีของเทพเทวดาทั้งหลายทุกๆท่านเป็นอารมณ์ เพื่อที่ผู้ปฎิบัติจะได้ระลึกเห็นซึ่งความดีของท่านเหล่านั้น แล้วนำไปปฎิบัติในการสร้างบุญ สร้งกุศล และทรงความดีให้ยิ่งๆขึ้นไป เทวตานุสสติกรรมฐานนี้ ถ้าท่านฝึกระลึกนึกถึงพระคุณของเทพเทวดาจนมีอุปาจารสมาธิ คือ สมาธิ ประเดี๋ยวประด๋าว แล้วท่านเจริญวิปัสสนาญาณเห็นโลกร่างกายเป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นของสมมุติสูญสลายกลายเป็นความว่างเปล่าแล้ว จิตจะเข้าถึงมรรคผลได้รวดเร็ว ง่ายดาย เพราะเป็นภูมิธรรมละเอียด มีแนวโน้มเข้าไปใกล้พระนิพพาน คือ พระวิสุทธิเทพได้มาก มีหลายท่านไม่เคยเห็นไม่รู้เรื่องเทพเทวดา ไม่เคารพเทวดา ก็ตั้งหน้าตั้งตาโจมตีต่อต้าน ว่า เทวดา เทพพรหมไม่มีจริงเป็นของหลอกลวง สิ่งที่ตามองไม่เห็นอย่านึกอย่าคิดว่าไม่มี สิ่งที่ตาเห็นชัด อย่าคิดว่ามี เพราะไม่ช้าก็สูญสลายตายหมด ตาเป็นของหยาบ แม้แต่ในที่มืด หรือฝุ่นในอากาศก็มองไม่เห็น เทพเทวดาท่านมีกายทิพย์ใสสะอาดละเอียดกว่ากายผี แล้วตาหยาบของเราจะสามารถเห็นเทวดาพรหม และผีได้อย่างไร เทพเทวดาในโลกนี้มีจำนวนมากกว่าคนหลายเท่า ผี วิญญาณอยู่ในโลกนี้ปะปนไปกับคนก็มีมากมายหลายเท่ามีมากกว่าคน สัตว์เดรัจฉานก็มีมากกว่าคนรวมทั้งสัตว์ในมหาสมุทรในดินในอากาศ แต่คนเราก็คิดว่าคนเป็นใหญ่ในโลกนี้ อันนี้เป็นอวิชชาความหลงที่คนเรายังไม่รู้ความจริงของชีวิตของโลก ก้มหน้าก้มตาหาเงินหาทองเพื่อความอยู่รอดของชีวิตอันน้อยนิด แล้วก็ตายพลัดพรากจากกันไปแล้วย้อนมาเกิดใหม่ เมื่อยังไม่ยกระดับจิตเป็นอริยบุคคลก็ยังไม่มีวาสนาบารมีถึงซึ่งพระนิพพาน

    ดังนั้น ถ้าท่านยอมรับนับถือคุณความดีของเทพเทวดาในไม่ช้าจิตของท่านก็มีหิริ โอตัปปะ มีคุณความดีตามท่านเทพเทวดา ท่านก็มีจิตเป็นเทพเทวดาได้ไม่ยากเลย และท่านเทพเทวดาก็จะติดตามเฝ้ารักษาท่านให้ปลอดภัยจากอันตรายมีชีวิตเป็นสุขทั้งโลกนี้ และโลกหน้า

    27. มรณานุสสติกรรมฐาน:

    มรณานุสสติ เป็นการภาวนาระลึกนึกถึงความตายไว้เป็นอารมณ์ มองเห็นคน สัตว์ ตัวเราเองก็ต้องตายกันหมดทั้งโลกไม่มีใครอยู่ยงคงกระพัน แม้แต่องค์พระโลกนาถศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีทั้งฤทธิ์เดชเป็นผู้วิเศษกว่าใครๆ ในโลก ในสวรรค์ ในพรหม ท่านก็ต้องตาย นับประสาอะไรกับร่างกายเราจะหนีความเจ็บป่วย ความตายพ้น

    *ความตายมี 4 อย่าง ดังนี้*
    1. สมุจเฉทมรณะ ความตายจากกิเลสตัณหา อุปาทานของพระอรหันต์ ท่านจบกิจแห่งพรหมจรรย์หมดกิเลสเป็นสมุจเฉทประหาน คือ การตายของพระอรหันต์ ท่านไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกแล้ว เป็นการตายขาดตอนไม่เกิดอีกเลย

    2. ขนิกมรณะ คือการตายของมนุษย์ สัตว์ทุกวันนี้ ตายเล็ก ตายน้อย ตายจากเด็ก เป็นผู้ตายจากวัยผู้ใหญ่เข้าวัยชรา ชีวิตเคลื่อนไป ตายตลอดเวลาทุกลมหายใจเข้าออก ถ้าไม่มีลมหายใจใหม่ อาหารใหม่ น้ำใหม่ ต่อเติมเลี้ยงร่างกาย ร่างกายก็เหี่ยวแห้ง ตายไปร่างกายอยู่รอดได้ทุกวันนี้เพราะมีอากาศ ลมหายใจ น้ำ อาหารใหม่เข้าไปแทนที่ อากาศเก่า น้ำเก่า อาหารเก่าที่สูญเสียหมดไป

    3. กาลมรณะ คือหมดอายุขัย ตายวัยชราแล้วจิตวิญญาณไปรับเสวยผลบุญ ผลบาปทันทีที่ตาย

    4. อกาลมรณะ คือ ตายก่อนถึงวาระเวลาที่ต้องตาย ตายเพราะบาปกรรมมาตัดรอน ตายเพราะภัยธรรมชาติ ตายเพราะสงคราม ตายเพราะโจรผู้ร้าย ตายเพราะโรคระบาด ตายเพราะโดนระเบิด โดยเฉพาะสมัยนี้มีการทำลายล้างตายกันง่ายๆ ตามข่าวโทรทัศน์ ตายฉับพลันทันใด เครื่องบินตกตาย รถทับตาย และตายอีกมากมาย บรรยายไม่จบ ตายแบบนี้เรียกว่า ตายโหง พวกนี้ตายโดยไม่ทันรู้ตัว ตกใจตาย จิตวิญญาณออกจากร่างกายก็กลายเป็นผีสัมภเวสีเร่ร่อนพเนจรไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีบ้าน ไม่มีอาหาร มีแต่ความหิวโหยติดต่อญาติคนรักก็ไม่รู้เรื่องกัน ก็ต้องเป็นผีรออยู่จนถึงวาระที่ต้องตายตอนเป็นคนจึงจะได้ไปเสวยผลบุญ ผลบาปที่ทำไว้เมื่อสมัยเป็นมนุษย์

    28. กายคตานุสสติกรรมฐาน:

    คือ การระลึกนึกถึงร่างกายคน สัตว์ตามความเป็นจริงว่า สกปรก โสโครก ไม่สวย ไม่งาม น่าเกลียด น่ากลัว เหม็นทั้งข้างนอกข้างในร่างกาย

    กรรมฐานเรื่องร่างกายนี้ สำคัญมาก เป็นกรรมฐานพิเศษสุด ผลที่พิจารณากรรมฐานเรื่องกายจะมีจิตถึงปฐมฌาน แต่ถ้ายึดสีแดงสีเลือดของร่างกายภาวนาเป็นกสิณก็มีจิตเข้าถึงฌาน 4 ได้ ในวิสุทธิมรรค ท่านให้พิจารณาอาการ 32 อย่าง ตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ พิจารณากลับไปกลับมาดูให้เป็นจริงจังว่าน่ารักหรือน่ารังเกียจ กายนี้เต็มไปด้วยของสกปรก เหม็นเน่า เหม็นคาว มีตับ ไต ไส้ พุง หัวใจ ซี่โครง เส้นเอ็น เส้นเลือด เส้นประสาทสมอง กระเพาะอาหาร ม้าม ไส้ใหญ่ ไส้เล็ก ไขกระดูก ข้อต่อ พังผืด น้ำเลือด น้ำหนอง ปัสสาวะ อุจจาระ เนื้อ ลอกเอาผิวหนังออกดูไม่ได้สักอย่างเดียว ร่างกายสกปรกต้องชำระล้างอาบน้ำทุกวัน สิ่งที่หลั่งไหลออกจากกายก็เหม็นทุกวัน ผู้ที่เห็นคนหนุ่มสาวว่าหล่อ สวย งาม แต่ไม่ยอมมองสิ่งสกปรกโสโครกที่หลั่งไหลออกจากร่างกาย คนที่หล่อที่สวยส่งกลิ่นเหม็นสาบ เหม็นสาง เลอะเทอะ เปรอะเปื้อน เพราะไม่น่าดู น่าดมต่างก็พยายามปกปิดความจริง ไม่ยอมพูดถึง ไม่ยอมรับรู้ตามความเป็นจริง เพราะอวิชชา ตัณหา อุปาทานปกปิด ตาจิต ตาเนื้อเอาไว้ พยายามโกหกตนเอง และผู้อื่นว่าร่างกายยังสวย ยังสาว ยังหล่อเหลาน่ารักอยู่ แท้ที่จริงร่างกายคน สัตว์มีสภาพเป็นส้วมเคลื่อนที่ ที่เอาอุจจาระ ปัสสาวะไปถ่ายเทไว้ในส้วมทุกวัน แล้วมาประดับตกแต่งตัวเสื้อผ้าอาภรณ์ เพชรนิลจินดาแพงๆ หลอกลวงตนเอง ผู้อื่นว่าสวยสดงดงาม ผู้ที่ได้เห็นร่างกายคน สัตว์ ได้การพิจารณาไม่ฉลาดก็มีความหลงติดอกติดใจหลงใหลใฝ่ฝันในรูปร่างกายคนรักในไม่ช้าก็พบกับความทุกข์ยากลำบากกายใจ เพราะรูปร่างกายแปรเปลี่ยนเป็นเจ็บป่วยพิการ หรือจิตใจปรวนแปรด้วยความเห็นไม่ตรงกัน รักกันไม่นานก็เบื่อ มีโลภ โกรธ หลง หาของดีๆ สวยๆ อันใหม่หาคนรักใหม่ต่อไป

    พระอริยเจ้าท่านฉลาดมองพินิจพิจารณารูปร่างกาย คน สัตว์ ไม่มีใครดี ไม่มีใครงามเต็มไปด้วยของสกปรกเหม็นเลอะเทอะ ท่านไม่สนใจกายใคร เบื่อหน่ายออกบวช เบื่อเพศฆราวาส มองร่างกายแต่ละบุคคลเห็นเป็นสภาพส้วมเคลื่อนที่ มีธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ รวมกันเป็นศพเดินได้ พูดได้ ท่านจึงหมดความหลงใหลใฝ่ฝันในรูปโฉม โนมพรรณ ไม่ใช่ของจริงมิช้าก็เหี่ยวย่นแตกสลายตายกันหมด ตอนเป็นคนก็มองเป็นผีดิบ ตายแล้วกลายเป็นผีสุก องค์พระพิชิตมารศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงย้ำให้เอาจิตใจเราเลิกยึดถือติดในร่างกายตนเองเสียจึงจะพ้นทุกข์ จึงจะมีความสุข คือ พระนิพพาน ต้นเหตุของความทุกข์ คือ การมีขันธ์ 5 ร่างกายดับทุกข์ก็ดับที่ต้นเหตุ คือจิตไม่ติดยึดในร่างกายอีกต่อไป จิตก็เป็นอิสระเสรี ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส คือ ร่างกาย จิตก็มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ตายแล้วก็มีแดนทิพย์นิพพานตลอดกาลเป็นที่เสวยสุขของจิตที่บริสุทธิ์

    29. อานาปานุสสติกรรมฐาน:

    คือ การตั้งสติรู้ตัวอยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ตลอดเวลาที่มีสมาธิภาวนาอยู่ กรรมฐานรู้ลมหายใจเข้าออกนี้เป็นกรรมฐานคลุมกรรมฐานทั้ง 40 กอง จะภาวนากรรมฐานอันใดอันหนึ่งก็ต้องเริ่มด้วยการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเสียก่อน ท่านนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ถ้าไม่กำหนดระลึกรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก การบรรลุมรรคผลจะเข้าถึงช้ามาก หรือท่านจะกำหนดลมหายใจเข้าออกไปกับการพิจารณากรรมฐานร่างกาย กรรมฐานอสุภะ พิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พร้อมกับดูลมหายใจเข้าออกไปด้วย จึงจะได้บรรลุอริยมรรค อริยผลรวดเร็ว อานาปานานุสสตินี้มีสมาธิเป็นผลถึงฌาน 4 สำหรับพุทธสาวก สำหรับท่านที่ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ คือ พระพุทธเจ้าท่านผู้นั้นจะทรงฌานที่ 5 ฌานที่ 4 จิตจะแยกออกจากกายไม่รับรู้ทุกขเวทนาทางกาย มีจิตเป็นสุขอย่างเดียว เป็นเอกัคคตา คือ จิตเป็นหนึ่งนิ่งในฌาน 4 ฌานที่ 5 สำหรับพุทธภูมิพระโพธิสัตว์ คือ ปัญจมฌาน จิตเป็นสุขทรงอยู่ในเอกัคคตารมณ์ อารมณ์เป็นหนึ่ง มีอุเบกขา ความวางเฉยเพิ่มรวมกับอารมณ์เป็นสุขของฌาน 4

    *วิธีปฏิบัติอานาปานุสสติกรรมฐาน*
    1. อยู่ที่ไหน เวลาใด ทำงานอะไร นั่ง เดิน ยืน นอน วิ่ง ขับรถ ล้างจาน ตำน้ำพริก อ่านหนังสือ ดูทีวี พูดจากับใคร ทำได้ทั้งนั้น ทำง่ายๆ ไม่ต้องนุ่งขาว ห่มผ้าเหลือง ไม่ต้องหนีไปอยู่วัด อยู่ป่า อยู่ในบ้านเมืองที่วุ่นวายก็ทำได้ เพราะลมหายใจมีอยู่ในร่างกายเรามาตั้งแต่เกิด เพียงแต่เอาจิตเอาใจรับรู้ลมหายใจเข้าออกสั้นหรือยาว เร็วหรือช้า ให้ติดตามลมหายใจเท่านั้นทำได้ทั้งลืมตา หลับตา ไม่ต้องนั่งนิ่งๆ หรือเดินช้าๆ เราฝึกที่จิตไม่ได้ฝึกหัดเดินหัดนั่ง

    2. จิตใจเราเคยท่องเที่ยวคิดถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้จนเคยชิน เคยตามใจจิตใจจนเหลิง มาคราวนี้เราจะบังคับให้รู้แต่ลมหายใจอย่างเดียวมาบังคับปุ๊บปั๊บนั้นเห็นท่าจะยากเย็นเข็ญใจ ที่จิตจะยอมทำตามเรา จิตจะดิ้นรนวิ่งไปคิดอันโน้นอันนี้ตามเดิม กว่าเราจะรู้ตัวจิตก็คิดไปไกลก็คิดได้หลายเรื่องแล้ว ก็ไม่เป็นไรกลับรู้ลมหายใจต่อใหม่ค่อยๆ ทำไปจนมีอารมณ์ชินกับการรู้ลมเข้าลมออกได้วันละ 5 นาทีก็ดีมากแล้ว

    3. ถ้าจะให้ดีมากขึ้นเวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกให้นึกว่า โธ เป็นพระนามขององค์พระพิชิตมารศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า นึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน เป็นบุญบารมีใหญ่ทำให้จิตใจสะอาดสมาธิตั้งมั่น ปัญญาแจ่มใส เข้าใจในพระธรรมคำสั่งสอนได้เร็ว เป็นเหตุให้เข้าถึงอริยมรรคอริยผลทางเข้ากระแสนิพพานได้ง่าย

    4. เพื่อให้จิตใจตั้งมั่นภาวนาดียิ่งขึ้นจิตไม่วอกแวกฟุ้งซ่านไปนอกเรื่องนอกทาง องค์สมเด็จพระพิชิตมาร ทรงสอนให้กำหนดภาพพระพุทธรูปที่ไหนก็ได้ที่เราชอบนึกถึงภาพพระองค์ท่านเป็นสีเหลือง สีเขียว เป็นกรรมฐานทางกสิณอีกเพิ่มเป็น 3 กรรมฐาน นับรวมกันกำหนดรู้ลมเข้าออก นึกถึงพระคุณความดีขององค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จับภาพพุทธนิมิตจำเอาไว้ในจิตในใจ จิตจะเป็นสมาธิเป็นฌานรวดเร็วไม่วิ่งหนีฟุ้งซ่านไปไกลไร้ประโยชน์ จิตเป็นหนึ่งรวดเร็วรวมพลังเอาไว้ตัดกิเลส โลภ โกรธ หลง ออกจากใจให้หมดไปเร็วไว

    5. ปฏิบัติใหม่อารมณ์จะซ่านจะตีกันจะเกิดอาการกลุ้ม บางวันดีบางวันไม่เป็นเรื่องท่านก็สอนให้รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว อย่าเคร่งเครียดอย่าขี้เกียจเกินไป ถ้าไม่ไหวก็เลิก อารมณ์ดีค่อยดูลมหายใจต่อใหม่

    6. เมื่อจิตรู้ลมเข้าออกเป็นปกติใจสบายจิตจะผ่องใสอารมณ์ปลอดโปร่ง จิตจะมีพลังปัญญาพลังบารมีดีมีความฉลาดสามารถแก้ไขปัญหายุ่งยากของชีวิตได้อย่างง่ายดาย ปัญหาทางธรรมก็สละละกิเลสตัณหาอุปทานได้รวดเร็ว จิตเป็นสุขร่างกายแข็งแรงมีโรคภัยน้อย จิตใจดีจิตใจมีคุณธรรม ลาภ ยศ สรรเสริญเจริญสุขก็ตามมาไม่ต้องรอเวลาไปถึงชาติหน้าเมื่อไม่ต้องการโลก สวรรค์ พรหม ก็มีพระนิพพานเป็นที่หวังได้แน่นอน เพราะศีล สมาธิ ปัญญา แท้ที่จริงก็คืออันเดียวกันมีอยู่ด้วยกันพระท่านแบ่งแยกสอนให้เราเข้าใจง่ายเท่านั้น

    7. การรู้ลมหายใจเข้าออกถ้าฝึกแบบกรรมฐาน 40 หรือให้ถึงฌาน 4 ท่านให้เอาจิตจับว่าลมหายใจกระทบ 3 ที่ คือรู้ลมกระทบปลายจมูก รู้ลมกระทบหน้าอก รู้ลมกระทบหน้าท้องพองขึ้น คือ หายใจเข้า ถ้าหายใจออกก็ให้รู้ลมกระทบหน้าท้องยุบลง กระทบหน้าอก กระทบปลายจมูก เมื่อลมหายใจออก

    30. อุปสมานุสสติกรรมฐาน:

    คือ กรรมฐาน ที่ให้นักปฏิบัติระลึกนึกถึงพระคุณความดีความประเสริฐความสุขสงบอย่างยิ่ง พ้นจากบ่วงเวรกรรมเวียนว่าย ตาย เกิด นิพพาน แปลว่า ดับ กิเลส ตัณหา อวิชชา อุปาทาน และอกุศลกรรม ถ้าระลึกถึงพระนิพพาน*บ่อยๆ เป็นอารมณ์ไว้ตลอดเวลาได้ยิ่งดี จิตใจเรา ท่านก็จะว่างจากกิเลส ตัณหา อวิชชา อุปาทาน อกุศลกรรมได้ง่ายๆ เพราะจิตมีทั้งศีล สมาธิ ปัญญาอยู่ในจิตใจเมื่อได้นึกคิดพิจารณาคุณประโยชน์สุขยอดเยี่ยมของพระนิพพาน*

    พระคุณเจ้าหลวงปู่พระพุทธโฆษาจารย์ ผู้รจนาเขียนพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านเป็นพระอรหันต์เยี่ยมยอดขั้นปฏิสัมภิทาญาณชาญฉลาด ท่านอธิบายถึงคุณพระนิพพานโดยท่านยกบาลี 8 ข้อไว้เป็นแนวทางให้เรา ท่านระลึกนึกถึงนิพพาน มีลักษณะ และคุณประโยชน์ ดังนี้

    1. มทนิมฺมทโน การระลึกนึกถึงพระนิพพานทำให้จิตใจเราหมดความมัวเมาในชีวิตที่คิดว่าจะไม่ตายเสียได้

    2. ปิปาสวินโย การระลึกนึกถึงพระนิพพาน คือจิตสะอาด บริสุทธิ์เป็นจิตนิพพานแล้ว บรรเทาความใคร่ ความกระหาย หลงใหลในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสอ่อนนุ่ม คือ กำหนัดยินดีในกามคุณทั้ง 5 ก็หมดสิ้นจากจิตใจ

    3. อาลยสมุคฺฆาโต การระลึกนึกถึงนิพพานทำให้จิตใจสะอาด หมดกิเลส คือ ท่านที่เข้าถึงนิพพานหมดสิ้นกิเลสแล้ว จิตใจท่านย่อมไม่ผูกพันกับกามคุณทั้ง 5 เห็นกามคุณทั้ง 5 ก็เสมือนเห็นซากศพที่เหม็นเน่า

    4. วัฏฏปัจเฉโท การระลึกนึกถึงคุณความดีของพระนิพพาน ทำให้จิตสลัดตัดการเวียนว่าย ตาย เกิด ตัดกิเลสได้หมดสิ้น ไม่มัวเมาในกิเลสทุกชนิด ตัดบาปกรรม พระนิพพานทำให้พ้นทุกข์จากบาปกรรมได้หมดโดยสิ้นเชิง

    5. ตัณหักขโย พระนิพพานดับสิ้นแห่งความอยากตัณหา

    6. วิราโค การระลึกนึกถึงคุณพระนิพพานทำให้ราคะตัณหา ความอยากใน 3 โลกหมด สิ้นไป

    7. นิโรโธ การระลึกนึกถึงคุณของพระนิพพาน ทำให้กิเลสราคะ ตัณหา ความอยากไม่กำเริบ คือ ดับหมดสิ้นสนิท มีความสุข สงบยิ่ง หมดความทุกข์ทั้งปวง

    8. นิพพานัง ดับสิ้นจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรม อำนาจกรรมทั้ง 4 ไม่สามารถจะทำร้ายแก่ท่านที่มีจิตเข้าถึงนิพพานอีกต่อไป

    ท่านสอนให้ระลึกนึกถึงคุณของพระนิพพานทั้ง 8 ข้อ หรือ ข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ตามชอบใจ โดยให้ภาวนาตามลมหายใจเข้าออกด้วย บริกรรมภาวนาว่า นิพพานัง ภาวนาจนจิตเข้าสู่อุปจารฌานได้ถึงที่สุดเป็นอารมณ์พิจารณาเป็นกรรมฐานละเอียดสุขุม มีกำลังไม่ถึงฌาน 1 คุณประโยชน์ภาวนาพิจารณาพระนิพพานมีคุณประโยชน์มาก ทำให้หมด อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กิเลส และอกุศลกรรมได้ง่าย เป็นอริยมรรค อริยผล เป็นคุณสมบัติของพระอริยเจ้าตั้งแต่ พระโสดาบันขึ้นไป เป็นปัจจัยให้จิตเข้าถึงพระนิพพานได้ง่ายๆ

    @@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

    +++ หมวด พรหมวิหาร 4 +++

    31. เมตตา:

    มีจิตรัก ปรารถนาดีต่อคน สัตว์ที่เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย กันทั่วทั้งโลกไม่ได้รัก เมตตาฉันชู้สาว หรือ เมตตา เพื่อหวังผลตอบแทน

    32. กรุณา:

    มีจิตคิดช่วยเหลือ สงเคราะห์ให้พ้นจากความทุกข์ยาก ลำบากกาย ใจ ช่วยตามที่จะช่วยได้

    33. มุทิตา:

    มีจิตพลอยยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี มีความสุข ไม่มีจิตอิจฉา ริษยา มีจิตอ่อนโยน

    34. อุเบกขา:

    มีอารมณ์เฉย เมื่อช่วยเหลือใครไม่ได้ ถือว่ามนุษย์ และสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมของตนเอง และไม่ดีใจเมื่อได้ลาภยศสรรเสริญเจริญสุข ไม่เสียใจเมื่อเสื่อมลาภยศสรรเสริญเจริญสุข เฉยในความเมตตา ไม่ใช่เฉยด้วยใจจืดใจดำ ไม่สนใจ ถ้าทุกท่านมีคุณธรรมทั้ง 4 อยู่ในใจตลอดเวลา พระท่านถือว่าจิตทรงฌานในพรหมวิหาร ตายแล้วจิตออกจากร่างก็มีหวังเป็นเทพชั้นประเสริฐ คือ ชั้นพรหม

    @@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

    +++ หมวด อรูปกรรมฐาน 4 อย่าง +++

    35. อากาสานัญจายตนะ หรืออรูปฌานที่ 1:

    กรรมฐานกองนี้เรียกอีกอย่างว่า สมาบัติ 5 ในวิสุทธิมรรค ท่านกล่าวว่า ผู้ที่จะเข้ากรรมฐานอรูปฌานอากาสานัญจายตนะ ต้องเข้าฌานในกสิณ 10 กองใดกองหนึ่งให้เป็นฌาน 4 ก่อน แล้วขอให้นิมิตกสิณกองนั้นหายไป เพราะตราบใดที่มีรูปอยู่ก็เป็นปัจจัยให้มีความทุกข์ไม่จบสิ้น รูปกายคน กายสัตว์ กายเทวดาใดๆ ก็ตามที่มีก็ไม่คงทน แตกสลายในที่สุด เราไม่ต้องการในรูป กายใดๆ ทั้งสิ้นแล้วละทิ้งรูปนิมิตกสิณที่จับไว้เสีย ถืออากาศเป็นอารมณ์ จนวงอากาศเกิดเป็นนิมิต ที่มีขอบเขตกว้างใหญ่ แล้วอธิษฐานย่อให้อากาศเล็กใหญ่ตามประสงค์ จนจิตรักษาอากาศไว้เป็นอารมณ์ โดยกำหนดจิตใจว่า อากาศไม่มีที่สิ้นสุด จนจิตเป็นอุเบกขารมณ์ คือ อารมณ์เฉยนี้คือ อรูปฌาน 1 หรือ สมาบัติ 5 ต่อจากฌาน 4 เรียกว่า สมาบัติ 5

    36. วิญญาณัญจายตนะ หรืออรูปฌานที่ 2:

    หมายถึง ภาวนากำหนดวิญญาณ ซึ่งไม่มีรูปลักษณ์เป็นอารมณ์ เริ่มด้วยการจับกสิณ 10 เป็นรูปนิมิต ภาวนาอันใดอันหนึ่งก่อนจนจิตเป็นฌาน 4 เปลี่ยนจากกสิณนิมิตเป็นภาพอากาศกสิณแทน จนจิตนิ่งเฉยดีแล้วเปลี่ยนจากอากาศโดยตั้งใจกำหนดจดจำว่าอากาศที่เป็นนิมิตนี้ถึงแม้จะไม่มีรูปก็ตาม แต่ก็ยังหยาบอยู่มาก เราจะทิ้งอากาศเสีย จับเอาเฉพาะวิญญาณตัวรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ เป็นอารมณ์ แล้วกำหนดทางจิตว่า วิญญาณ ความรู้สึกทางอายตนะ 6 ทั้งหลายเวิ้งว้างกว้างใหญ่หาที่สุดมิได้ จิตรู้ว่าวิญญาณกว้างใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุด นามรูป วิญญาณคน สัตว์ ผี เทพ พรหมยังมีความรู้สึกทางวิญญาณ ถ้าจิตติดในรูปวิญญาณของผี เทวดา พรหมก็ยังคงเวียนว่าย ตาย เกิดไม่มีที่สิ้นสุด เราไม่ต้องการมีวิญญาณ เพราะยังไม่หมดทุกข์ ยังมีความรู้สึกทางระบบประสาท ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คิดอย่างนี้ตลอดจนจิตตั้งเป็นอุเบกขารมณ์ วางเฉยอย่างเดียว ท่านเรียกว่า สมาบัติที่ 6

    37. อากิญจัญญายตนะ หรือ อรูปฌานที่ 3:

    ภาวนาต่อจากอรูปฌานที่ 2 คือ วิญญาณัญจายตนะ โดยเข้าฌาน 4 ในวิญญาณ กำหนดวิญญาณไม่มีจุดจบสิ้นแล้ว ถ้าจิตยังติดอยู่ในวิญญาณเพียงไร ก็ต้องเวียนว่าย ตายเกิดไม่มีวันสิ้นสุด เหมือนวิญญาณฉันนั้น เปลี่ยนจากวิญญาณออกไป เราไม่ต้องการอากาศไม่ต้องการวิญญาณ เพราะยังไม่จบการเวียนว่าย ตาย เกิด ยังไม่พ้นทุกข์ คิดว่าอากาศไม่มี วิญญาณไม่มี คือ ไม่มีอะไรเลยแม้แต่น้อยนิด ถ้ามีก็พังสลายเปลี่ยนแปลงไม่มีที่สุด จิตจับเอาความว่างเปล่าไม่มีอะไรเหลือจะได้ไม่มีทุกข์ต่อไป การไม่มีอะไรในอากาศ และวิญญาณปลอดภัยจากทุกข์ภัยอันตราย แล้วกำหนดจิตไม่เอาทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ยึด ไม่ถือ ไม่มีอะไรทั้งหมดในจิต จนจิตเป็นหนึ่ง คือ วางเฉยเป็นอุเบกขารมณ์ เรียกว่า สมาบัติที่ 7

    38. เนวสัญญานาสัญญายตนะ หรืออรูปฌานที่ 4:

    อรูปฌาน 4 หรือสมาบัติ 8 เริ่มจากอรูปฌาน 1 เข้าอรูปฌาน 2 แล้วเข้ารูปฌาน 3 คือ อากิญจัญญายนตนะ จนจิตวางเฉยเป็นหนึ่งเดียวจากความไม่มีอะไรเหลือ แม้แต่น้อยนิด ยังมีเหลือแต่จิตที่ยังมีความจำได้หมายรู้ จำชื่อ จำเพศ จำบิดา มารดา จำคนรัก จำทรัพย์สมบัติตนเองตราบใดที่ยังมีความจำได้หมายรู้ ความรู้สึกสุขๆ ทุกข์ๆ จากการจดจำยังมีอยู่ ถ้าการพลัดพรากจากของที่จำได้ ก็ยังมีความอาลัย อาวรณ์ เสียดาย ก็ทิ้งอารมณ์จิตที่จำอะไรน้อยนิดหนึ่งไม่มีเลยนั้นเสีย แล้วกำหนดจิตเอาว่า ต่อแต่นี้ไปเราจะไม่มีสัญญาความจำ คือ ทำความรู้สึกว่าแม้มีความจำอยู่ก็เหมือนไม่มีความจำ ทำความรู้สึกว่าแท้ที่จริงมีความจำอยู่ก็เหมือนไม่มีความจำ จิตเพิกเฉยไม่ยอมรับรู้ความจำ ทำตัวเหมือนหุ่นเคลื่อนที่ที่ไร้วิญญาณ ไม่มีความรู้สึกใดๆ ในร่างกาย ไม่มีความจำใดๆ ในโลก เพราะความจำทำให้จิตยึดติดกับความจำเป็นเหตุของทุกข์ ต้องมีร่างกาย เวียนว่าย ตาย เกิด ไม่ยอมรับรู้อารมณ์ใดๆ หนาว ร้อน หิว กระหาย เจ็บปวดของร่างกาย จิตไม่รับรู้ คือ ไม่จำร่างกายทั้งรูปนามขันธ์ 5 ว่าเป็นของเรา เพราะจริงๆ แล้วไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของใครเขา ขันธ์ 5 ร่างกายเป็นเพียงหุ่นเคลื่อนที่ ที่จิตเรามาอาศัยชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น จิตไม่ดิ้นรนกระวนกระวายกับความทุกข์กาย ทุกข์ทางเวทนาทางอารมณ์ใจ มีความทุกข์ใจหนักใจในสัญญาความจำ ทุกข์ทางสังขารความคิดดีคิดชั่วทั้งหลาย ความคิดเป็นทุกข์ทางวิญญาณระบบประสาท ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ไม่สนใจอะไรทั้งหมด เพราะไม่ใช่ของจิต มีชีวิตทำเสมือนคนตายด้าน คือ ปล่อยตามเรื่องของร่างกาย ไม่สนใจปล่อยวางร่างกายออกจากจิตทั้งรูป ทั้งนาม จนจิตแน่นิ่งอยู่ในการวางเฉย แบบนี้ท่านเรียกว่าอรูปฌาน 4 หรือสมาบัติ 8

    @@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

    +++ หมวด อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 อย่าง +++

    39. อาหาเรปฏิกูลสัญญา:

    คือ การพิจารณาอาหารทุกชนิดก่อนที่จะตักอาหารเข้าปาก ให้จิตพิจารณาดูรู้ว่าอาหารนั้นมาจากซากพืช ซากสัตว์ ศพที่ตายแล้ว พืชก็มาจากดินจากปุ๋ยหมักเหม็นเน่า แล้วมาปรุงตกแต่ง ถ้าทิ้งไว้ไม่รับประทาน 1 – 2 วันก็เหม็นบูดเป็นของสกปรกที่พอดูได้ก็เพราะเอามาต้ม แกง ผัดตกแต่งสีสันยังดูใหม่ ยังไม่เหม็นบูด เราจะกินอาหารเพียงเพื่อระงับความหิวเป็นทุกข์เท่านั้น เราจะไม่ติดใจใยดีกับสีสัน รสดี หรือไม่ดี เราจะไม่สนใจยึดติดกับอาหารนั้นๆ เพราะถ้าจิตไปติดใจในรสอาหาร เป็นสาเหตุให้จิตหลงรสอร่อย คือ ตัณหา ความอยาก ความพอใจ เป็นกิเลสทำให้จิตต้องมาอยู่ในกรงขังของร่างกายเป็นทุกข์หิวแบบนี้ เวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด

    กรรมฐานนี้สำคัญ คือ พระภิกษุที่ไม่ได้พิจารณาอาหารก่อนฉันอาหารทุกมื้อ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า เป็นผู้ประมาทติดใจในรสอาหารไม่ปฏิบัติสมควรแก่ฆราวาสน้อมนำอาหารมาถวาย จิตพระสงฆ์ที่ไม่พิจารณาอาหารเป็นของสกปรกยังเป็นจิตของปุถุชนคนหนาแน่นด้วยกิเลสไม่ประพฤติธรรมสมกับเป็นเพศบรรพชิตไม่ใช่พระแท้ ท่านเรียกว่าสมมุติสงฆ์ ใจยังไม่เป็นพระแท้ พระที่ปฏิบัติพระกรรมฐานควรพิจารณาอาหารเป็นของสกปรกบำรุงร่างกาย ซึ่งเป็นของสกปรกเช่นกัน ทำอย่างนี้ทุกวัน ทุกมื้อ จิตท่านจะรอดปลอดภัยจากอบายภูมิ ด้วยการทำจิตไม่ติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ของอาหารเป็นการตัดละวางกามคุณ 5 ไปในตัว เป็นกรรมฐานที่ง่ายได้กำไร คือ จิตมีปัญญาเฉลียวฉลาดจะเข้าถึงอริยมรรค ถึงอริยผลได้ง่าย เป็นกรรมฐานของผู้มีปัญญา คือพุทธจริต ทำให้เข้าถึงกระแสพระนิพพานเร็วไว เพราะไม่ติดใจในรสสัมผัสของอาหาร จิตเป็นวิปัสสนาญาณไม่ตกเป็นทาสกิเลส

    เรื่องอาหารนี้ องค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาท่านทรงห้ามไม่ให้ฆ่าสัตว์ทุกชนิดกินเป็นอาหาร เพราะสัตว์ก็มีจิตใจของคนเช่นกัน ท่านไม่ได้ห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ ปลา หมู เป็ด ไก่ กุ้ง ปู เพราะการรับประทานอาหารมังสวิรัติ หรืออาหารเจ ไม่ได้ทำให้คนหมดสิ้นกิเลส พระเทวทัต ได้ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้า ตั้งกฎไม่ไห้พระภิกษุฉันอาหารประเภทเนื้อสัตว์ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่เห็นดีด้วย เพราะไม่เป็นประโยชน์ ไม่สำคัญ พระภิกษุต้องอยู่ง่าย กินง่าย ชาวบ้านกินอะไร ถวายอะไร พระภิกษุก็ฉันได้ไม่ผิดอะไร องค์พระบรมศาสดาทรงห้ามพระภิกษุไม่ให้ฉันอาหารที่คนบอกชื่อประเภทเนื้อสัตว์ก่อนถวาย ท่านห้ามไม่ให้รับ เพราะการบอกชื่ออาหารเป็นโทษแก่พระภิกษุก่อให้เกิดกิเลสตัณหา อยากรับประทานตามชื่อนั้น อาหารที่พระผู้มีพระภาคเจ้า *ทรงห้ามพระภิกษุฉันมี *เนื้อมนุษย์ *เนื้อเสือโคร่ง *เนื้อเต่า *เนื้อช้าง *เนื้อสุนัข *เสือเหลือง *เสือดาว *หมี *งู ท่านให้เว้นเด็ดขาด เพราะมีรสดีเกินไปก่อให้เกิดกิเลสตัณหา ผู้ไม่มัวเมาติดใจในรสอาหาร คือ ผู้ที่ไม่ติดใจในร่างกายจะรสอร่อย หรือไม่อร่อยจะเป็นเนื้อสัตว์ หรือพืชผักก็เป็นของสกปรกทั้งสิ้น อาหารสกปรกบำรุงเลี้ยงร่างกายที่สกปรกเหมือนซากศพเดินได้ พูดได้ แท้จริงจะเป็นเนื้อสัตว์ที่ตายแล้ว หรือพืช ผลไม้ก็คือธาตุดินเหมือนกันก็บริโภคได้ เพื่อปฏิบัติธรรม หรือ เพื่อใช้ร่างกายทำความดีต่อไป เพื่อพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้

    @@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

    +++ หมวด จตุธาตุววัฏฐาน 1 อย่าง +++

    40. จตุธาตุววัฏฐาน 4:

    เป็นกรรมฐานพินิจพิจารณาของผู้มีนิสัยฉลาด คือมีอารมณ์อยากรู้ อยากเห็นอยากพิสูจน์ สำหรับพุทธจริต คือ มีความฉลาดเฉียว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนให้ใคร่ครวญรู้เท่าทันความเป็นจริงของขันธ์ 5 ร่างกาย ว่าร่างกายเป็นโครงร่างสร้างขึ้นจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ถ้าบรรยายตามนักเคมีก็ คือ ธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน แคลเซียม ฟอสฟอรัส ไอโอดีน โปตัสเซียม ธาตุไอโอดีน ซิลิคอน แมงกานิส ซีลีเนียม คลอไรด์ สังกะสี ซิงค์ไอรอน คือธาตุเหล็ก และธาตุอื่นๆ อีกมากมายหลายชนิดอยู่ในร่างกาย รวมเอาง่ายๆ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อยู่ในโลกนี้ประกอบกันแล้วแตกแยกสลายอยู่ตลอดเวลา เรือนร่างที่จิตเราอาศัยอยู่นี้เป็น เสมือนบ้านเช่าที่จิตเรามาอาศัยชั่วคราว บ้านนี้กายนี้แตกสลาย ตายไป จิตใจก็ออกไปหาที่อยู่ใหม่ ตามบุญ ตามกรรม ถ้าไม่รู้ทางบริสุทธิ์ผุดผ่อง คือ ทางพระนิพพานก็เวียนเกิดเวียนตายไม่มีวันจบสิ้น มีที่จบอยู่ที่เดียว คือ พระนิพพาน ร่างกายธาตุ 4 นี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของจิต แต่ร่างกายธาตุ 4 อยู่ใต้กฎของธรรมชาติ คือ อนิจจัง แปรปรวน ทุกขัง แตกแยกเจ็บปวด อนัตตา คือ ไม่อยู่ในอำนาจของใครทั้งสิ้น เป็นกฎธรรมดาของโลกนี้ ทุกอย่างต้องเสื่อมสลายกลายเป็นความว่างเปล่า จิตคิดแบบนี้จนชินเป็นฌาน เป็นทั้งสมถะ และวิปัสสนาญาณ จิตของท่านก็หมดความหลงใหลใฝ่ฝันกับรูปโฉมโนมพรรณของคนสัตว์ ลาภยศสรรเสริญ ไม่ปรารถนาการเกิดเป็นคน ไม่ต้องการเกิดเป็นเทพพรหมเทวดา เพราะจิตยังไม่ถึงที่สุดของความสุขยอดเยี่ยม ท่านมีความต้องการพระนิพพาน ติดตามองค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เดียว ปัญญาบารมีจะเข้ามาในจิตท่านเต็มที่เห็นโลกเต็มไปด้วยความแปรปรวนเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คือ สลายกลายเป็นความว่างเปล่า ท่านเอาชนะตัณหา คือ ความอยากเกิดเป็นคน เทวดา พรหม ท่านมีจุดมุ่งหมายในชีวิต คือ พระนิพพาน ชื่อว่า ท่านจบกิจในพรหมจรรย์มีวิชชาปัญญาดี เพราะไม่ยึดไม่ถือ ไม่โลภหลงรักในธาตุทั้ง 4 อีกต่อไป

    @@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

    (เครดิต: สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ,หลวงปู่มั่น ,หลวงปู่พระพุทธโฆษาจารย์ ,หลวงพ่อพระราชพรหมยาน ,หลวงพ่อสด ,หลวงพ่อโอภาสี ,หลวงพ่อปาน ,หลวงพ่อเชิญ ,หลวงปู่ดู่ ,อ.รวีโรจน์ ,ฯลฯ)
     
  4. fdgjigf

    fdgjigf สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 มีนาคม 2017
    โพสต์:
    1
    ค่าพลัง:
    +1
  5. mrmos

    mrmos Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2016
    โพสต์:
    1,190
    ค่าพลัง:
    +1,095
    sa211.jpg
     
  6. namiohi

    namiohi สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 มีนาคม 2017
    โพสต์:
    64
    ค่าพลัง:
    +26
    สาธุค่ะ ขอบคุณค่ะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...