ศีล สมาธิ ปัญญา พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 12 กรกฎาคม 2013.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,075
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    ศีล สมาธิ ปัญญา


    พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร



    วัดป่าแก้ว บ้านชุมพล อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

    เทศน์เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๑



    การพูดธรรมก็เคยเตือนอยู่แล้ว เรื่องการฟังธรรม พูดธรรม ไม่มีอะไรใหม่ กิเลสก็ไม่มีตัวไหนใหม่คนพูดก็ไม่ใช่คนใหม่ คนฟังก็ไม่ใช่คนใหม่ เกิดจากของเก่า ไม่มีของใหม่ ธรรมของพระพุทธเจ้าที่นำมาสอนโลกก็นำธรรมเก่าที่มีอยู่ประจำสัตว์แต่ไหนแต่ ไรมา แต่ทว่าสัตว์เหล่านั้นไม่ได้ทำ ไม่ได้นำธรรมมาแก้ไขกาย วาจา ใจ ของตัว สัตว์เหล่านั้นจึงได้จมอยู่ในกองทุกข์ตลอดมา

    พระพุทธเจ้าค้นคว้าแสวงหาธรรม พิจารณาธรรม เมื่อทราบแล้วก็นำธรรมที่มีอยู่ในโลกมาสอน ธรรมถึงจะมากมายถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ สรุปให้สั้นที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงสอนสรรพสัตว์ ท่านก็ตรัสเอาไว้ว่า

    สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา

    สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ

    พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์มาตรัสรู้ในโลกนี้ สอนอย่างเดียวกัน ฟังองค์หนึ่งแล้วก็ทั่วถึงไปหมด คือ ท่านสอนให้พวกสัตว์ทั่วไป รักษา กาย วาจา ใจ ให้ห่างไกลไปจากบาป

    ความชั่ว ทางศาสนาถือว่าบาป บาปนั้นพระพุทธเจ้าให้เว้นให้ละ อย่าไปกระทำ เพราะบาปนั้นนำผลมาให้แก่ผู้ทำ ได้รับความเดือดร้อน ความทุกข์ท่านจึงสอนให้เว้น ให้ละ อย่าประมาท นี่คือโอวาทของพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ สอนให้ละบาป ละชั่ว

    สอนให้ยังกุศลให้ถึงพร้อม กุสลสฺสูปสมฺปทา กุศล หมายถึงความฉลาด หมายถึงความดี ทุกสิ่งทุกอย่างหากโง่ จะทำกิจการบ้านช่องก็ไม่สำเร็จ จะพินิจพิจารณาชำระกาย วาจา ใจของตัวให้สุขให้สบายก็ไม่ได้ ท่านจึงสอนให้ฉลาด เรียกว่า กุสลสฺสูปสมฺปทา ฉลาดในการบำเพ็ญความดีคือกุศล ฉลาดรักษากาย วาจา ใจของตนให้พ้นไปจากชั่ว ประกอบกิจที่เป็นสารประโยชน์ให้เกิดขึ้น ยังตัวและคนอื่นให้มีความสุขความสบาย นี่หมายถึงกุศล หมายถึงบุญ คือตัวเองทำไปแล้วก็ไม่ตำหนิตัวเองว่าทำชั่ว ทำเสีย พูดไปแล้ว ก็ไม่ตำหนิคำพูดของตัวที่หลุดออกจากปากตัวไปว่าไม่ได้ใคร่คิดพินิจพิจารณา ไม่มีสติ พูดไป หล่นไป ตกไป โดยไม่ได้เอาใจใส่ ไม่ได้สอบถึงดีชั่ว เหตุผลอะไร ท่านให้พิจารณา การคิดไปก็ทำนองเดียวกันทางชั่วละ ทางดีบำเพ็ญ ให้เกิด ให้มีขึ้น นี่เป็นโอวาทของพระพุทธเจ้า

    ข้อสุดท้ายก็คือ สจิตฺตปริโยทปนํ ชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้วให้ใส ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า สรุปมาด้านปริยัติก็ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็น ไตรสิกขา ควรศึกษา ควรปฏิบัติ

    ศีล คือการรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย สมาธิ คือความตั้งมั่นของใจ ปัญญาคือความรอบรู้ในสังขารทั่วไป ต้องศึกษา ต้องพิจารณาไม่ไม่ว่านั่งหลับตามันเกิดขึ้น พิจารณาให้ทั่ว ให้เข้าใจ เรื่องศีลนั้นไม่ว่าใครทำลงไป ประเทศไหน ศาสนาใดก็ตาม ถ้าทำไปฝ่าฝืนเรื่องของศีลที่พระพุทธเจ้าห้ามกั้นเอาไว้คนนั้นไม่มีใครนิยม ชมชอบ แม้สัตว์ทั่วไปเขาก็รังเกียจ ฉะนั้นจึงควรสงวน ควรรักษา เพราะเป็นทางเกิดโทษเกิดทุกข์แก่ตนและคนอื่น ถ้าไม่รักษา ไม่พิจารณาแก้ไข

    สมาธิ ความตั้งมั่นของใจ ก็เป็นเรื่องทุกคนควรจะตั้งมั่น ควรจะศึกษากัน จะทำอะไร ถ้าหากไม่มีใจตั้งมั่น เหลาะแหละ เหลวไหล จับจด คนนั้นทำอะไรก็ไม่สำเร็จลุล่วงไปให้ จิตใจหวั่นไหว จิตใจวอกแวก จิตใจเอนเอียง เป็นจิตใจที่ไม่ตั้งมั่น จิตใจขาดสมาธิ อะไรเกิดขึ้นจากภายนอกภายใน หวั่นไหววอกแวก โกรธง่าย โลภง่าย หลงง่าย หาความจดจำแน่นอนไม่ได้ หาความตั้งมั่นไม่ได้ ตัวของตัวเองก็ไม่สบาย คนอื่นเห็นเขาก็ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ เพราะเป็นคนที่เหลาะแหละ เหลวไหล นี่หมายถึงสมาธิทั่วไป

    สำหรับคนจะทำการทำงานอะไร ถ้าขาดสมาธิเสียอย่าง การงานนั้นก็ไม่สำเร็จลุล่วงได้ หรือสำเร็จไปก็ไม่เรียบร้อย ถ้ามีสมาธิเสียอย่าง จะทำการงานอะไร การงานนั้นถึงจะยุ่งยากลำบาก ก็เรียบร้อยลุล่วงไปได้ นี่คือความตั้งมั่นของใจ หมายถึงสมาธิทั่วไป

    สมาธิในการปฏิบัติอรรถธรรมทางศาสนาชำระใจของตัว เป็นสมาธิทำนองเดียวกัน คืออบรมจิตใจให้ตั้งมั่น ไม่ว้าวุ่นเกี่ยวข้องกับสัญญาอารมณ์ต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นมา ผ่านมา ถือว่าอารมณ์ส่วนนั้นไม่ยังประโยชน์ให้แก่ตัว ได้รับความสุขความสบายได้ เราเคยคิด เคยปรุง เคยติด เคยข้องในสัญญาอารมณ์นั้น ๆ จิตใจไม่มีวันสุขสงบได้

    เราจึงฝึกสอนจิตของตัวเอง ให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ คือ มั่นอยู่ในการละการบำเพ็ญ ละอารมณ์ที่ชั่วมาเกี่ยวข้อง เกาะยึดอารมณ์ที่ดีเอาไว้เพื่อใจตั้งมั่นลงรวม ถ้าหากลงรวมได้ชั่วนิดหน่อยท่านเรียกว่า ขณิกสมาธิ รวมลงไปถอนขึ้นมาแต่ไม่เป็นจิตธรรมดา ยังตกอยู่ในภวังค์ ยังอยู่ในอรรถในธรรม ออกรู้สิ่งต่าง ๆ เรียกว่า อุปจารสมาธิ คือจรไป อัปปนาสมาธิ หมายถึงใจขาดจากสัญญาอารมณ์ทั้งหมด แน่วแน่นิ่งสงบ ไม่เกี่ยวเกาะกับสัญญาอารมณ์อะไร ผู้ฝึกผู้อบรมทุกคนเมื่อเคยผ่านก็พอทราบได้ว่าอัปปนาเป็นอย่างไร ขณิกะ อุปจาระ เป็นอย่างไร นี่คือสมาธิทางด้านฝึกอบรมใจของตัวเอง

    ปัญญา ความรู้ทั่วทุกสิ่งทุกอย่างตามเป็นจริงของมัน ไม่มีอะไรสงสัย ไม่มีอะไรข้องใจ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างบ่งบอกอยู่ตามจริงของมัน ในโลกนี้ที่เราถือว่าไม่เที่ยง เพราะสัญญาของเราไม่เที่ยง มันเห็นสิ่งนั้นไม่เป็นไปตามความต้องการของตัว แต่ความจริงแล้วสิ่งทั่วไปในโลกเป็นไปตามธรรมชาติของมัน คือ มันเที่ยงในของไม่เที่ยงนั่นเอง อย่างเกิดแก่เจ็บตายมันเที่ยงแต่ไหนแต่ไรมา ไม่มีพระพุทธเจ้าองค์ใดจะแก้ไขได้

    คนที่เห็นความเกิดแก่เจ็บตายเป็นของเที่ยง ก็เพราะปัญญาพิจารณาสิ่งนั้น ๆ ตามเป็นจริงของมัน เมื่อมันแปรผันไปอย่างไร ก็เห็นความจริงเป็นอย่างนั้น แต่ผู้รู้ภายในแปรผันไปหรือไม่ ท่านจะทราบ จะเข้าใจด้วยปัญญาของท่าน

    นอกจากนั้น คำสอนที่สรุปลงมาจาก สพฺพปาปสฺส ๓ ข้อ ลงมาสู่ไตรสิกขา มาสู่ กาย วาจา ใจ ของพวกเราอีก พระพุทธเจ้าสอนศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี คือสอนกายกับจิต ไม่ได้ไปสอนเอาที่อื่น ทุกคนมีกายมีจิตที่จะพินิจพิจารณา ไม่ว่ากลางวัน กลางคืน ยืน เดิน นั่ง นอน สิ่งเหล่านี้ติดอยู่กับตัวเราตลอดวันตลอดคืน ตลอดเวลา ไม่ได้หายหน้าหายตาไปไหน ไม่ควรจะลูบจะคลำหา เพราะมันมีอยู่พิจารณาดูตลอดเวลา

    เราจึงฝึกสอนจิตของตัวเอง ให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ คือ มั่นอยู่ในการละการบำเพ็ญ ละอารมณ์ที่ชั่วมาเกี่ยวข้อง เกาะยึดอารมณ์ที่ดีเอาไว้เพื่อใจตั้งมั่นลงรวม ถ้าหากลงรวมได้ชั่วนิดหน่อยท่านเรียกว่า ขณิกสมาธิ รวมลงไปถอนขึ้นมาแต่ไม่เป็นจิตธรรมดา ยังตกอยู่ในภวังค์ ยังอยู่ในอรรถในธรรม ออกรู้สิ่งต่าง ๆ เรียกว่า อุปจารสมาธิ คือจรไป อัปปนาสมาธิ หมายถึงใจขาดจากสัญญาอารมณ์ทั้งหมด แน่วแน่นิ่งสงบ ไม่เกี่ยวเกาะกับสัญญาอารมณ์อะไร ผู้ฝึกผู้อบรมทุกคนเมื่อเคยผ่านก็พอทราบได้ว่าอัปปนาเป็นอย่างไร ขณิกะ อุปจาระ เป็นอย่างไร นี่คือสมาธิทางด้านฝึกอบรมใจของตัวเอง

    ปัญญา ความรู้ทั่วทุกสิ่งทุกอย่างตามเป็นจริงของมัน ไม่มีอะไรสงสัย ไม่มีอะไรข้องใจ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างบ่งบอกอยู่ตามจริงของมัน ในโลกนี้ที่เราถือว่าไม่เที่ยง เพราะสัญญาของเราไม่เที่ยง มันเห็นสิ่งนั้นไม่เป็นไปตามความต้องการของตัว แต่ความจริงแล้วสิ่งทั่วไปในโลกเป็นไปตามธรรมชาติของมัน คือ มันเที่ยงในของไม่เที่ยงนั่นเอง อย่างเกิดแก่เจ็บตายมันเที่ยงแต่ไหนแต่ไรมา ไม่มีพระพุทธเจ้าองค์ใดจะแก้ไขได้

    คนที่เห็นความเกิดแก่เจ็บตายเป็นของเที่ยง ก็เพราะปัญญาพิจารณาสิ่งนั้น ๆ ตามเป็นจริงของมัน เมื่อมันแปรผันไปอย่างไร ก็เห็นความจริงเป็นอย่างนั้น แต่ผู้รู้ภายในแปรผันไปหรือไม่ ท่านจะทราบ จะเข้าใจด้วยปัญญาของท่าน

    นอกจากนั้น คำสอนที่สรุปลงมาจาก สพฺพปาปสฺส ๓ ข้อ ลงมาสู่ไตรสิกขา มาสู่ กาย วาจา ใจ ของพวกเราอีก พระพุทธเจ้าสอนศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี คือสอนกายกับจิต ไม่ได้ไปสอนเอาที่อื่น ทุกคนมีกายมีจิตที่จะพินิจพิจารณา ไม่ว่ากลางวัน กลางคืน ยืน เดิน นั่ง นอน สิ่งเหล่านี้ติดอยู่กับตัวเราตลอดวันตลอดคืน ตลอดเวลา ไม่ได้หายหน้าหายตาไปไหน ไม่ควรจะลูบจะคลำหา เพราะมันมีอยู่พิจารณาดูตลอดเวลา

    สิ่งใดเกิดมาให้รู้ตามเป็นจริงของมัน ให้เข้าใจด้วยปัญญา ชำระจิตที่ข้องติดต่าง ๆ ให้ตกไป ใจจะสบาย ใจจะสงบ นี่คือทางชำระจิตใจของตัว ถ้าหากเราจะไปงมเรียนอันนั้นก่อน เรียนอันนี้ก่อน ให้ทั่วถึงเข้าใจหมดในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงบัญญัติเอาไว้ ก็ไม่มีโอกาสเวลาที่จะชำระใจและเรียนได้ กิเลสตัณหาก็ไม่เคยตกหล่นออกไปจากใจ มีแต่สัญญาที่จำมาเท่านั้น ว่าเราได้ชั้นนั้นชั้นนี้ ตรีโทเอก มหาบาเรียนอะไรต่ออะไร แต่กิเลสที่สิงอยู่ในใจไม่เคยตกหล่นออกไป ยิ่งจะเกิดทิฏฐิ กิเลสขึ้นอีก ว่าเราเคยเรียนมา จะมาดูถูกนินทาประมาทเราไม่ได้

    เราจำได้ หลักของธรรม แต่โลภ โกรธ หลงในใจเป็นอย่างไรนั้น เราไม่ได้ชำระสะสางของเรา มีแต่จำเอาจากตำรับตำรามาเป็นสมบัติของตัว อ่านเท่าไรมันก็ไม่หาย เพราะไม่ใช่ตัวยา ถ้าหากเราพินิจพิจารณาชำระใจอยู่ตลอดเวลา เรื่องตำรับตำราภายนอกไม่ต้องไปเกี่ยวข้อง เพราะศีลก็คือการรักษากาย วาจา กาย วาจาอยู่ที่ไหน เราอยู่ที่ไหน กายวาจาก็อยู่ที่นั้น เรารักษาได้ เพื่อความบริสุทธิ์ กายไม่ไปทำสิ่งที่ชั่วที่พระพุทธเจ้าห้ามกั้นเอาไว้ วาจาก็ไม่ไปพูดสิ่งที่ชั่วที่เสีย มันก็เป็นศีลอยู่ในตัว ถ้าหากว่าไปศึกษาเรื่องของศีล ๕ ก็ดี, ศีล ๘ ก็ดี, ๑๐, ๒๒๗ หรือพระวินัย ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ มันไม่มีวันมีเวลา ใจจะสงบใจจะสบายได้

    เราต้องรักษาภายใน ต้องปฏิบัติภายใน ดูกายดูใจอยู่ นี่คือผู้ปฏิบัติ ผู้รักษาใจให้ผ่องใส ใจให้สงบ ใจให้สบาย อย่าไปถือว่าเราไม่ได้เรียนอะไรมา จะไปปฏิบัติภาวนาไม่ได้

    พระพุทธเจ้าสอนพวกสาวกทั่วไป สาวกเหล่านั้นได้ไปศึกษาอะไรมา จบพระไตรปิฎกมาแล้วหรือ ถึงค่อยมาปฏิบัติ ไม่มีใครเคยศึกษา เคยเล่าเรียนมา ศีล มีมาจากไหน สมาธิ ปัญญา มีมาจากไหน ก็มีอยู่ในกายในใจ เท่านั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนลงที่กายที่ใจ ให้พิจารณาขับไล่สิ่งที่ชั่วที่เสียให้ตกให้หลุดออกไป เมื่อสิ่งชั่วที่เสียตกหลุดออกไป ความสกปรกหลุดออกไป ความเสียหายตกออกไป ความดีเกิดขึ้นแทน ความสะอาดก็เกิดแทน ความฟุ้งซ่านรำคาญต่าง ๆ ตกออกไป ความสงบก็เกิดขึ้น มันเป็นคู่กันอยู่อย่างนั้น นี่คือการพิจารณาภายใน การชำระกายใจของตัว

    คนใดที่ตรวจตราพิจารณาชำระตัวอยู่อย่างนั้น มีสติรักษาอารมณ์ของใจอยู่ตลอดเวลา จะทำการทำงานก็ตาม จะเดินไปที่ไหนก็ตาม จะนั่งอยู่ที่ไหนก็ตาม มีสติ มีมากเท่าไหร่ไม่เป็นภัย สำหรับสติมีมากก็ยิ่งดี จะทันเหตุการณ์ อะไรเกิดขึ้น เพียงคิดปรุงภายในมันก็ทราบว่าอันนี้เป็นอกุศล เป็นทางชั่วทางเสีย อันนี้เป็นฝ่ายกุศล ยังความสุขความสบายมาให้ มันทราบ มันก็เลือกคัดจัดเอาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์

    เหมือนกันกับคนตาดี อันนี้ไม่ดีมันก็ไม่จับต้องไม่เอามา ส่วนคนตาบอดมองไม่เห็น มันจับได้ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ไฟก็ยังเหยียบได้ ถึงร้อนไหม้ขนาดไหนก็ยังเหยียบได้ เพราะไม่เห็น มันถึงไปเหยียบพวกหนามก็เหยียบได้เพราะตาไม่เห็น คนตาดีไม่อย่างนั้น เห็นไฟก็ต้องเว้น เขาไม่ไปเหยียบ พวกหนามก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นภัยอันตราย เขาไม่ไปเหยียบไปทำ ไม่เหมือนคนตาบอด

    สติก็ทำนองเดียวกัน เรามีอยู่ในจิตในใจของเราจะทำ จะพูด จะคิดอะไร สิ่งที่เป็นภัยอันตรายแก่ตัวและคนอื่นสัตว์อื่น ทราบ ไม่ต้องไปหาที่ไหน เรื่องสติ หาที่ไหนก็ไม่เจอ ถ้าหากไม่ดูที่ตัวของตัว เดี๋ยวนี้มีสติหรือไม่ นึกคิดเรื่องอะไรผิดถูกชั่วดีอย่างไร กำหนดพินิจพิจารณา ดูอยู่ภายใน อย่าไปดูที่อื่น

    ผู้ที่จะหลุดพ้นไปจากโลก จากสงสาร ท่านดูภายใน ชำระภายในของท่าน ไม่ได้ไปงมภายนอกตำรับตำรา หรือหาอันอื่น ทุกข์เกิดขึ้นก็ให้ทราบตามเรื่องของมัน ว่าเป็นทุกข์ ควรกำหนดรู้ไม่ใช่ปฏิบัติได้แล้วหมดทุกข์ ทุกข์หมดไปไม่เป็น เมื่อกายกับจิตยังอาศัยกัน ทุกข์ของขันธ์ยังมีอยู่ตลอดเวลา แต่จิตที่จะไปติดข้อง ไปยึดถือ ไปลุ่มหลง ว่าทุกข์ให้โทษแก่เราอย่างนั้นอย่างนี้ ควรจะให้มันหายออกไป ไม่ควรจะมาบีบบังคับกายใจของเรา ถ้าคิดไปอย่างนั้น คิดไปเท่าไร ก็ยิ่งทุกข์เพิ่มเติมขึ้นไป เพราะสิ่งนั้นมันเป็นของจริงของมัน จะขับไล่มันไปที่ไหน มันไปไม่ได้ ให้กำหนดรู้ตามความเป็นจริงของมันว่านี่คือทุกข์ แต่ผู้ที่ไปรู้ทุกข์ เป็นทุกข์หรือไม่ นั่นแหละเป็นเรื่องที่ควรจะกำจัด เป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติเพื่อทราบตามความเป็นจริง

    ทุกข์ก็ คือเวทนาตัวหนึ่ง จิตผู้มารู้ก็เป็นอีกอันหนึ่ง ไม่ใช่เป็นเวทนาซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป ความรู้นี้จะเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม เฉย ๆ ก็ตาม มันรู้ ตื่นอยู่ หลับอยู่ มันรู้ นี่คือเรื่องของจิต

    จิตมีทางที่จะบริสุทธิ์ได้ ถ้าหากเรามีปัญญาสอนใจ มีความตั้งมั่นของใจ พิจารณาแก้ไข ไม่ใช่ว่ามันจะสกปรกโสมมอยู่เรื่อยไป ไม่ใช่ว่ามันจะติดข้องอยู่เรื่อยไป ท่านจึงให้ฝึก ให้อบรม เรื่องของจิตใจ ถ้าฝึกได้อบรมได้ เรื่องความคลุกเคล้ากันเหมือนก่อนมันไม่มี เราเองทราบในตัวของเรา ไม่ต้องไปหาประกาศนียบัตรที่อื่นมาติดให้ว่าเราเป็นโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์

    ในจิตของเราเป็นอย่างไรนั้น เราทราบดี แต่ก่อนเป็นอย่างไร ฝึกปฏิบัติมาจิตใจเป็นอย่างไร จนตลอดปัจจุบันเป็นอย่างไร ถ้ายังติดข้องสงสัย ก็หมั่นพินิจพิจารณาชำระเรื่อยไป มันหมดได้ ไม่ใช่ไม่หมด ถ้าหากเราพยายามกำจัดมัน จะมากขนาดไหน มันก็หมดได้ ถ้าเราไม่หามาเพิ่มเติมใหม่ คือปิดทางเข้าปล่อยมันออก ความชั่วเสียต่าง ๆ ก็มีเวลาหมด

    ถ้าทางไหลเข้าก็มี ทางไหลออกก็มี มันก็ไม่มีเวลาหมด เพราะมันไหลมาเพิ่มเติมต่อกันอยู่เรื่อย ๆ ถ้ามีแต่ทางออกถ่ายเดียว มันหมด การทำความสะอาดใจ ก็เหมือนกันกับทำความสะอาดวัตถุต่าง ๆ มันสะอาดได้ ขอแต่อย่าประมาท ปล่อยเอาไว้ ไม่ปัดไม่กวาด ไม่ดูแลรักษา ไม่ซักฟอก มันก็สกปรก อย่าเอาของสกปรกไปชะล้างของสกปรก มันไม่สะอาด นี่ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นของสะอาด ชำระสะสางล้างจิตที่สกปรกให้ผ่องใส ให้สงบเย็นได้

    พยายามกระทำ อย่าไปถือว่า เรายังไม่ถึงคราวถึงสมัย บุญบารมีของเรายังอ่อน ยังต่ำ ถ้าคิดไปแง่นั้น จิตใจก็ไม่มีวันที่จะสงบระงับได้ มีแต่วุ่นวายอยู่เรื่อยไป คอยวันคอยคืนให้มันสุกเองเหมือนผลไม้ มันเป็นไปไม่ได้

    เรื่องของจิตใจ ต้องอาศัยการชำระสะสาง อาศัยตปธรรมแผดเผา มันจึงจะสุก ตปธรรมก็คือ สติ คือ ปัญญา เป็นตปธรรม เผากิเลสที่มีอยู่ในกายในใจ ให้ตกหล่นออกไป ให้หมดออกไป ให้สุข ให้สะอาด อย่าไปหาเรื่องอื่น

    เรื่องของใจ เราจะเอาน้ำในมหาสมุทรมาล้างเพื่อให้สะอาด หมดแม่น้ำทั้งมหาสมุทร มันก็ไม่สะอาดได้ นอกจากสติปัญญาจะไปชำระให้สะอาดเท่านั้น สิ่งอื่นไม่สามารถที่จะชำระจิตให้บริสุทธิ์ให้สะอาด นอกจากธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

    อะไรที่สงสัย อะไรที่ข้องใจ ก็กำหนดพินิจพิจารณาให้สิ่งนั้น ๆ ให้เห็นตามเป็นจริงของมัน อย่าไปฝ่าฝืนความเป็นจริง มันจะเกิดทุกข์ โลภ โกรธ หลง ที่มีอยู่ประจำใจ มีทางชำระสะสางได้ ถ้าหากพิจารณาตามธรรมของพระพุทธเจ้า เหตุใดจึงชำระได้ เพราะใจเห็น ใจมีปัญญา จึงสามารถชำระได้ ถ้าใจไม่มีปัญญาหาสติไม่ได้ในตัวแล้ว ไม่ทราบว่ามันรั่วไหลเข้ามาจากทิศใด เหมือนกันกับสวนที่ไม่มีรั้ว วัวควายหรือสัตว์ต่าง ๆ มันก็เข้าได้สะดวกสบาย

    เราปิดกั้นเอาไว้ สัตว์ที่เคยเข้ามา มาติดรั้วของเรา ก็เข้าไม่ได้ สิ่งที่ปลูกฝังเอาไว้ก็เจริญงอกงาม เรื่องจิตใจก็ทำนองเดียวกัน ศีลคือรั้วกั้นสิ่งปลูกเอาไว้ สมาธิคือสิ่งที่ปลูกสร้างเอาไว้ ปัญญาคือผลเกิดขึ้นจากพืชพันธุ์ที่เราปลูกไว้ มันมีอยู่ในกายใจ ใจ มันไม่มีอยู่ที่อื่น เรื่องเหล่านี้ พิจารณาดูนี้ มันเห็น

    การปฏิบัติจึงเป็นเรื่องสำคัญ พระพุทธเจ้าจะได้รู้ธรรมก็เนื่องจากการปฏิบัติ ครูอาจารย์ท่านที่รู้ธรรมก็เกิดจากการปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติเข้าถึงต้นตอของมัน ก็แก้ไขได้ โลภ มันจะโลภไปที่ไหน อยากได้อะไร คนที่โลภมาก่อนเรา เขาเกิดมาเขาก็มีความอยากได้แสวงหา ว้าวุ่นอยู่ตลอดเวลา แล้วเขาได้อะไรไปไหม กายของเราที่ยึดถือไว้ อยากได้มาบำรุงกายให้สุข ให้สบาย แล้วมันสุข มันสบายตามความมุ่งหวังไหม ถึงเวลาเจ็บไข้ ถึงข้าวของมากมายก่ายกองขนาดไหน มันแก้ไขความเจ็บไข้ตัวของเราได้ไหม มันแก้ไขไม่ได้ ถึงเวลาตายเล่า หอบหิ้ว หาบหามไปได้ไหม สิ่งที่เราแสวงหา เราโลภอยากได้ มันก็ไม่มีอะไรจะหอบหิ้วหาบหามไปได้ มันก็เป็นพยานอยู่แล้ว แล้วเราทำไมจึงไปลุ่มหลง ข้องติดคิดปรุงจนเกินไป หาความสุขความสบาย ความเย็นใจไม่ได้ มีแต่ความอยากอยู่ตลอดระยะเวลา

    ถ้าหากเรามีปัญญา เราพิจารณา จิตของเราเป็นธรรมจริงจัง มันปล่อยได้ ละได้ ถอนได้ โกรธล่ะก็ทำนองเดียวกัน มันให้สุข ให้ทุกข์อย่างไร ตัวของเราก็ทราบว่ามันมีแต่ทุกข์แต่โทษ ไม่มีความสุขความสบายอะไรให้ โกรธมากเท่าไหร่ ก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ หน้าตาก็ไม่น่าดู เป็นหน้ายักษ์หน้ามารไป พูดออกมาน้ำเสียงที่พูดออกมาก็เป็นเสียงที่เน่าเหม็น ไม่มีความเยือกเย็น ไปเข้าหูใครก็เดือดร้อน ปากเน่าปากเหม็น เพราะความโกรธภายในใจผลักดันออกมา เลยไม่มีคุณค่าสาระอะไรให้ คนที่ไม่โกรธไปเห็นก็สังเวชสลดใจ มันแผดมันเผาขนาดนั้น เขาก็ยังไม่เห็นทุกข์เห็นโทษ เขายังยอมโกรธ ยังยอมยินดี ไม่ชำระสะสาง ท่านคิดไปอย่างนั้น ท่านจึงสลดใจ ถ้าเขาเห็นโทษทุกข์เหล่านั้น เขาก็แก้ไขว่า โกรธนี้เป็นเรื่องทุกข์เรื่องโทษไม่ใช่เรื่องของดีวิเศษอะไร โกรธไปแล้วได้ผลอะไรมา ให้แก่ตัวเองและคนอื่น เมื่อไม่เกิดผลเกิดประโยชน์จะไปโกรธทำไม มันก็สอนใจของตัวได้ นี่คือเรื่องสอนใจ ชำระใจ

    เรื่องความหลงในสิ่งต่าง ๆ ไม่รู้ไม่เข้าใจตามเป็นจริง มันแทรกสิงอยู่ ทั้งโลภทั้งโกรธ ถ้าหากไม่มีหลง มันก็เป็นไปไม่ได้ที่ความโลภจะเกิดขึ้น ความโกรธจะเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นมาได้เพราะความหลงของใจ แต่เราก็ไม่ทราบว่ามันหลงมาจากอะไร

    หลงมาจากขาดสติ หลงมาจากไม่มีปัญญา สามารถที่จะแก้ไขใจถึงอย่างนั้น ถ้ามีปัญญาแก้ไข พอกิเลสเกิดขึ้นมันก็ชำระไปตกไป เพราะใจไม่ยอมรับ มันถือว่าเป็นพิษเป็นภัย เป็นของสกปรก จะเอามาประดับทำไม ของเน่าของเหม็น ของเป็นพิษเป็นภัย มันขับไล่ออกไปได้

    ปัญญาจะเกิดก็เพราะอาศัยพินิจ พิจารณา อาศัยสมาธิของจิต ไม่หวั่นไหวเอนเอียงไปตามเรื่องชอบของใจ บังคับขับไล่สิ่งที่ชั่วที่เสีย ให้สงบให้ตกออกไป ถ้าใจไม่มีสมาธิ ถึงมีปัญญาก็เป็นเรื่องของสัญญาไป ถ้าใจมีสมาธิ ปัญญาก็เป็นปัญญาจริงจัง สามารถฟาดฟัด บั่นทอนเรื่องกิเลสตัณหาต่าง ๆ ให้ตกออกไปได้ จึงเรียกว่าปัญญาไม่ใช่ว่าพูดได้ คิดได้ ทำเป็นในสิ่งนั้น ๆ แต่ทว่าเมื่อมากระทบกับใจ ไม่สามารถที่จะแก้ไขตัวเองได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น มันเป็นสัญญา จำมาจากตำรา จำมาจากลมปากของคนอื่น

    ถ้าเป็นปัญญาจริงจังแล้ว ไม่เป็นอย่างนั้น มันจะไม่มีวันหวั่นไหว ไม่มีวันที่จะเสียไปเพราะความชั่วต่าง ๆ ที่มาเกี่ยวข้อง เราทราบเราเห็น เราเป็นอยู่ในตัวของเรา ความชั่วเราเห็นอยู่แล้วว่าสิ่งนี้ชั่วสิ่งนี้สกปรก ต้องปัดเป่าออกไป ถึงทำอากัปกิริยาภายนอก แต่มันก็ไม่เข้าถึงใจ เพราะใจนั้นถ้าหากมีปัญญาชำระขาดแล้ว มันไม่เป็นไปตามอาการข้างนอก มีขอบเขต ไม่เลยฝั่งฝา ผู้ที่มีธรรม มีปัญญาในใจไม่ใช่ว่าเตลิดเปิดเปิงไป ทำอะไรก็ใจเราบริสุทธิ์อยู่ รักษาแต่ใจถ่ายเดียว ไม่ให้ใจเป็นอย่างนั้น

    มันมีฝั่งมีฝา มีความเหมาะความสม แต่เวลาใช้อากัปกิริยาให้สมกับสิ่งที่มาเกี่ยวข้อง มันก็ใช้ไป ไม่อย่างนั้นมันก็จะไม่เกิดประโยชน์ให้ เพราะสมมุติ เรื่องสมมุติ มันจึงจะให้ถูกกับจริตนิสัยของคนทั่วไปไม่ได้ เพราะสมมุตินั้น บางท่านบางคนชอบอย่างนั้น บางท่านบางคนชอบอย่างนี้

    คนที่ชอบต่ำ ที่มีปัญญาอ่อน เมื่อไปแนะสอน เรื่องสูงเรื่องดี มันก็ฟังไม่ออก คนที่มีนิสัยหยาบ นิสัยชั่วเสีย เราชวนทำดีมันก็ไม่ชอบ จึงมีการตำหนิ อยู่เรื่อยไป ถ้าทำไปตามเรื่องของเขา เราก็เป็นคนชั่วคนเสีย ผู้รู้ ผู้ดีเขาก็ตำหนิอีก มันจึงไม่มีทางหลีก เรื่องนินทาสรรเสริญ ในโลกอันนี้ มันเป็นมาแต่ไหนแต่ไร ข้อสำคัญให้ดูใจตัวเอง ว่าใจของตัวนั้น มันเป็นไปตามที่เราทำ เราพูดหรือไม่ หรือใจของเราบริสุทธิ์อยู่ ให้ดูเสียก่อน

    อย่าทำไปด้วยความโลภความหลง ทำไปด้วยความรู้ ผู้ที่มีสติ มีปัญญาแนะสอนใจของตัว จึงไม่มีทุกข์มีโทษเกิดขึ้น เพราะสิ่งที่เป็นทุกข์เป็นโทษเราชำระ เราไม่ได้กอบโกยเอาสิ่งที่เป็นทุกข์เป็นโทษ เราปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์ อย่างไรมันจะบริสุทธิ์ได้ ฝึกกายฝึกใจของตัว อย่าไปอ้างกาล อ้างเวลา ว่าวันนั้นเดือนนี้เสียก่อน พยายามฝึก พยายามปฏิบัติ

    ที่จะเห็น จะเป็น จะรู้ ก็เพราะเรามีชีวิตเป็นอยู่เท่านั้น ไม่ใช่ตายไปแล้วจึงจะได้รับผล พระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ หรือสวรรค์นิพพานไม่ใช่ตายไปแล้วจึงจะเห็น มันต้องเห็นในปัจจุบันที่เรา ใจสุข ใจสบาย นี่คือทางปัญญา ทางชำระใจ

    คำสอนเหล่านี้ พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ก็ทรงสอนบริษัท พระพุทธเจ้าปรินิพพานไป ครูอาจารย์ที่ท่านประพฤติ ปฏิบัติ ท่านก็แนะสอนกันมา แต่ทว่าเราผู้ได้ยินได้ฟังแล้ว จะนำไปสอนกาย วาจา ใจของตัวอย่างไรนั้น มันเป็นอีกอย่างหนึ่ง

    พระพุทธเจ้าเหมือนแม่ครัว ทำอาหารขึ้นหลายชนิด แล้วแต่ใครชอบรับประทานอะไร อยากรับประทานอะไร มีอาหารทุกประเภทในโรงครัว แต่คนไปแล้ว ไปยืนมอง ๆ ดู สูดแต่กลิ่นเท่านั้น มันจะอิ่มได้หรือ ถ้าไม่ลงมือรับประทาน มันไม่มีวันอิ่ม แม่ครัวจะทำให้มากขนาดไหน มันก็ไม่เป็นสารประโยชน์ให้ร่างกายคนที่ไม่รับประทานอาหาร ก็มีแต่วันจะผ่ายผอม จะล้มตายไปเท่านั้น ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ถึงจะมีมากมายหลายหลวงขนาดไหน มีตำรับตำรา มีครูบาอาจารย์แนะสอนให้ แต่เราไม่นำไปประพฤติปฏิบัติมันก็ไม่เกิดสารประโยชน์ให้ ฉะนั้นทุกคนจึงควรสนใจ ชำระสะสางตัวของตัว หลีกเลี่ยงชั่ว ละชั่ว กระทำบำเพ็ญสิ่งที่ดี ชำระจิตของตนให้ผ่องใส ปราศจากความโลภ โกรธ หลง

    ฉะนั้น พวกเราท่าน เมื่อได้สดับรับฟังธรรม ก็จงนำไปพินิจพิจารณา ฝึกกาย วาจา ใจของตน ต่อแต่นั้นก็จะมีความสุข ความเจริญ

    การอธิบายธรรมเห็นว่าพอสมควรแก่เวลา เอวํ


    คัดลอกจาก http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp-singhthong/lp-singhthong-14.htm
     
  2. ธรรมภูต

    ธรรมภูต เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    3,621
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +2,192
    ข้อสุดท้ายก็คือ สจิตฺตปริโยทปนํ ชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้วให้ใส ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า สรุปมาด้านปริยัติก็ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็น ไตรสิกขา ควรศึกษา ควรปฏิบัติ

    เจริญในธรรมทุกๆท่าน
     

แชร์หน้านี้

Loading...