สติปัฏฐาน โดย ท่านพ่อลี ธมฺมธโร

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย เสขะ บุคคล, 28 เมษายน 2015.

  1. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,243
    กระทู้เรื่องเด่น:
    53
    ค่าพลัง:
    +4,024
    a.jpg



    สติปัฏฐาน


    โดย พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์

    (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)



    อธิบายสติปัฏฐาน อันเป็นเครื่องบรรเทากิเลสของผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ดังนี้




    สติปัฏฐาน ๔

    ๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้ระลึกถึงกายนี้หนึ่ง

    ๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้ระลึกถึงเวทนานี้หนึ่ง

    ๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้ระลึกถึงจิตนี้หนึ่ง

    ๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้ระลึกถึงธรรมนี้หนึ่ง

    ผู้เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ให้เกิดเป็นสมาธินั้น ต้องรู้จักคุณธรรม ๓ อย่างนี้เสียก่อน มิฉะนั้นไม่เรียกว่า ผู้ตั้งอยู่ในสติปัฏฐานเลย เพราะว่าความเข้าใจนั้นแคบไป แต่แท้ที่จริงนั้น มีแต่สติเท่านั้นไม่พอในการทำสติปัฏฐานเลย เมื่อไม่พอเช่นนี้ ขืนระลึกถึงรูปกายอยู่แล้ว ก็จะเกิดแต่ความยินดียินร้าย เพราะหน้าที่ของสตินั้นได้แค่ระลึกถึงเท่านั้น ฉะนั้นในการเจริญสติปัฏฐานนั้น จำต้องให้รู้เครื่องประกอบของผู้ระลึกดังนี้ คือ


    ๑. สติ
    ๒. สัมปชัญญะ ความรู้ตัว ไว้ประจำใจก่อน ใช้สติแล่นติดต่อกับอารมณ์ มีรูปกายเป็นต้น แล้วให้แล่นเข้ามาสู่ภายใน คือ ใจของตน
    ๓. อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณาขยายอาการของกายออกเป็นส่วน

    อุปมาอีกว่า กายเราเปรียบเหมือนโรงเลื่อยจักร จิตเปรียบเหมือนเหล็กเพลา สัมปชัญญะเปรียบเหมือนมู่เล่ที่หมุนรอบตัวเพลาอยู่ในสถานที่แห่งเดียว สติเหมือนสายพานคอยผูกอารมณ์กับจิตไว้ไม่ให้เคลื่อนคลาดไปสู่อารมณ์อื่น อาตาปีความเพียรเพ่งพิจารณา เหมือนตัวเลื่อยจักร คอยตัดหั่นท่อนซุงนั้นให้กระจายออกเป็นชิ้นๆ จึงจะสำเร็จประโยชน์ คุณธรรม ๓ อย่างนี้ จำต้องมีประจำตัวอยู่เสมอในการทำสมาธิ จึงจะสำเร็จได้


    ต่อไปนี้ จะแสดงถึงงานที่จะต้องทำ อันเป็นหน้าที่ของอาตาปี ที่เรียกว่าความเพียรเพ่ง และสัมปชัญญะความรู้ดี สติความระลึกได้ จะต้องให้ถูกต้องตามหน้าที่ของตนๆ หน้าที่ของตนที่จะต้องทำนั้นมีอยู่ ๔ อย่าง คือ

    ๑. กาย อันเป็นที่ประชุมของธาตุทั้ง ๔
    ๒. เวทนา ความเสวยอารมณ์ มีสุข ทุกข์ อุเบกขา เป็นต้น
    ๓. จิต ผู้สะสมไว้ซึ่งความดีและความชั่วทั้งหลาย
    ๔. ธรรม สภาพที่ทรงไว้ในตน เป็นต้นว่า กุศลธรรม และอกุศลธรรม อันระคนปนกันอยู่

    ๔ อย่างนี้ เป็นหน้าที่ของผู้จะทำต่อไป


    ข้อ ๑ อธิบายในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน


    อธิบายคำที่ว่า กาย นี้ได้แก่ธาตุทั้ง ๔ ประชุมกันเข้า มีจิตวิญญาณครอบครองอยู่ก็ดี ที่ปราศจากจิตวิญญาณครอบครองแล้วก็ดี แต่ปรากฏแก่ตาได้อยู่ เรียกว่า รูปกาย รูปกายนี้แยกออกเป็น ๓ ประเภท คือ

    ๑. กายใน ได้แก่ กายของตนเอง
    ๒. กายนอก ได้แก่ กายคนอื่น
    ๓. กายในกาย ได้แก่ ชิ้นใดชิ้นหนึ่งของอวัยวะเป็นต้นว่า ลมหายใจ อันเป็นส่วนหนึ่งของธาตุทั้ง ๔ นี้เรียกว่า กายในกาย

    เรื่องของกายจะเป็น ภายในก็ดี ภายนอกก็ดี ก็มีอยู่ว่า ธาตุทั้ง ๔ เท่านั้น เมื่อรู้จักหน้าที่ของตนแล้ว จำเป็นที่จะต้องทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้อง เป็นต้นว่า

    ๑. สัมปชัญญะ ความรู้ตัวอยู่กับที่ คือทำความรู้สึกอยู่กับจิตอันเป็นส่วนภายใน ไม่ต้องไปใช้ที่อื่น
    ๒. สติ ความระลึก จะต้องใช้ทั่วไป เป็นต้นว่า ใช้แล่นเข้าสู่จิตอันเป็นส่วนภายใน แล้วใช้แล่นเข้าไประลึกถึงอารมณ์ มีรูปกายเป็นต้น แล้วคอยประคองอารมณ์กับจิตไว้ไม่ให้เคลื่อนคลาดจากกัน
    ๓. อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณารูปกาย ขยายออกเป็นส่วนๆ ดังนี้

    หน้าที่ของความเพียรเพ่งพิจารณานั้นมีอยู่ ๕ อย่าง คือ


    ให้ตรวจตราพิจารณาเพ่งดูอาการ ๓๒ มี

    เกสา ผม
    โลมา ขน
    นขา เล็บ
    ทันตา ฟัน
    ตโจ หนัง เป็นอาทิ

    ให้ตรวจตราพิจารณาดูจนถี่ถ้วน เมื่อไม่เกิดความสงบในวิธีนี้ ให้เจริญต่อไปในวาระที่ ๒ คือ


    ให้เพียรเพ่งพิจารณาอสุภกรรมฐานโดยประการต่าง ๆ ของร่างกาย เป็นต้นว่า ร่างกายก้อนนี้เป็นที่ประชุมซึ่งสรรพสิ่งทั้งหลาย คือ หน้าที่บรรจุไว้แห่งซากศพ เป็นสุสานประเทศ เช่น ซากโค ซากกระบือ ซากหมู เป็ด ไก่ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม อันเข้าไปผสมบ่มไว้ในกระเพาะ แล้วกรองกลั่นเป็นน้ำเลือด น้ำหนอง เปื่อยเน่า พุพอง ซาบซ่านออกมาตามทวารต่าง ๆ อันมนุษย์ทั้งหลายพากันเยียวยามิได้หยุด เป็นต้นว่า การอาบน้ำขัดสี ซักฟอก กลบกลิ่นมิให้ปรากฏแต่ถึงกระนั้น อ้ายความโสโครกของร่างกายก็ยังแสดงตัวออกอยู่เสมอ เป็นต้นว่า ขี้หู ขี้ตา ขี้มูก ขี้ฟัน ขี้เหงื่อ ขี้ไคล ย่อมไหลซาบซ่านอยู่เสมอ เป็นสิ่งที่โสโครกโสมมด้วยประการต่างๆ เป็นต้นว่า ที่เกิดก็เกิดที่โสโครก ที่อยู่ก็อยู่ที่โสโครก คืออยู่ในป่าช้าผีดิบ หรือยิ่งกว่าป่าช้า ซากผีที่ฝังไว้ในตนแล้ว ดูเป็นร้อยๆ อย่างเสียอีก ตัวคนเราถ้าจะดูตามลักษณะ ก็มีอาการต่างๆ ไม่สม่ำเสมอกัน มีกลิ่นก็เหม็น เป็นสิ่งที่น่าเกลียดน่าชังหนักหนา


    เมื่อพิจารณาอย่างนี้ ถ้าไม่เกิดความสลดสังเวช ก็ให้พิจารณาในวาระที่ ๓ คือ


    ให้เพ่งพิจารณาลมหายใจเข้าออก ลมเข้ายาวก็ให้รู้ตัว ลมออกยาวก็ให้รู้ตัว ทีแรกการทำลมให้ปล่อยใจออกมาตามลมก่อน แล้วให้หายใจเข้าเอาใจเข้ามาตามลมอีก ทำอยู่อย่างนี้สักสองสามครั้ง แล้วจึงตั้งใจไว้เป็นกลาง อย่าออกตามลม อย่าเข้าตามลม จนจิตนิ่งอยู่ รับรู้แต่ลมเข้าลมออกเท่านั้น ทำใจว่างๆ สบายๆ ไว้เฉยๆ จะวางใจไว้ที่จมูกก็ได้ เพดานก็ได้ ถ้าวางไว้ในหทัยวัตถุได้ยิ่งดี แล้วทำจิตให้นิ่งจะเป็นที่สบาย เกิดปัญญาแสงสว่างดับความคิดต่างๆ ให้น้อยลง แล้วเพ่งพิจารณาสังเกตกำหนดอาการของลม ที่มีอาการพองตัวเข้าออกอยู่นั้น เป็นต้นว่า เข้ายาวออกยาว เข้าสั้นออกสั้น เข้ายาวออกสั้น เข้าหยาบออกละเอียด เข้าละเอียดออกหยาบ เข้าละเอียดออกละเอียด ให้เพ่งพิจารณาอาการของลมทั้งหลายเหล่านี้ให้ถี่ถ้วน และอย่าให้จิตเคลื่อนไหลไปตามลม ทำอย่างนี้จนกว่าจะเกิดสงบ

    ถ้าไม่สงบด้วยวิธีนี้ให้เปลี่ยนไปใน วาระที่ ๔ คือ

    ให้เพ่งพิจารณาดูธาตุทั้ง ๔ มีธาตุดิน-น้ำ-ลม-ไฟ เป็นต้น ส่วนใดที่แข็งเรียกว่าธาตุดิน ส่วนใดที่เหลวเรียกว่าธาตุน้ำ ส่วนใดที่พัดไปพัดมาเรียกว่าธาตุลม ส่วนใดที่อบอุ่นเรียกว่าธาตุไฟ แยกธาตุดินออกเป็นกองหนึ่งตั้งไว้ข้างหน้า แยกธาตุน้ำเป็นกองหนึ่งไว้ข้างหลัง แยกธาตุลมเป็นกองหนึ่งวางไว้ข้างซ้าย แยกธาตุไฟกองหนึ่งวางไว้ข้างขวา ตัวเราตั้งตนไว้ตรงกลางแล้วเพ่งพิจารณาดูว่า ร่างกายนี้ เมื่อแยกออกเป็นส่วน ๆ ดังนี้แล้ว ก็เห็นความแตกดับทำลายหายสูญไปเป็นเถ้าที่เรียกว่าตาย โดยอาการเช่นนี้แล้วเกิดความสลดสังเวช


    เมื่อไม่เห็นผลปรากฏขึ้นแล้ว ให้เพ่งพิจารณาในวาระที่ ๕ คือ

    ให้พิจารณาดูว่า ร่างกายนี้เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว จะต้องมีความแก่รุกรานเข้ามาหาตนทุกวิถีทาง ความเจ็บก็จะมีมา ความตายก็จะมีมา ความพลัดพรากจากสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ก็จะมีมาถึงตนจนได้ ร่างกายก้อนนี้ย่อมมีลักษณะปรากฏอยู่เสมอ เป็นต้นว่า อนิจจัง เป็นของไม่เที่ยงมั่นคงถาวร คอยโยกคลอนอยู่เสมอ ทุกขัง เป็นของที่ทนอยู่ได้ลำบาก อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนเราเขา เอามาไม่ได้ เอาไปไม่รอด ตายแล้วย่อมทอดทิ้งเหมือนท่อนไม้และท่อนฟืน หาเป็นสาระแก่นสารมิได้ เมื่อเพ่งพิจารณาด้วยอาการเช่นนี้แล้ว ก็จะเกิดความสลดสังเวชเป็นเหตุจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ


    อาการทั้งหลาย ๕ อย่างที่กล่าวมานี้เป็นหน้าที่ของอาตาปี คือได้แก่ความเพียรเพ่งพิจารณา ต่อสู้ดูสภาพความจริงของรูปกายนี้


    ส่วนตัวสติ ต้องให้ทำงานตามหน้าที่ของตน คือ ให้ระลึกถึงอารมณ์ของกรรมฐาน และระลึกถึงจิตใจของตนอันเป็นส่วนภายใน อย่าได้ส่งไปในสถานที่อื่นนอกจากนี้ ว่าเวลานี้เรามีความรู้สึกตัวอยู่หรือไม่


    ที่เรียกว่าสัมปชัญญะความรู้ดี ให้ตั้งคอยกำหนดสังเกตความรู้สึกตัวว่า เวลานี้จิตใจของเรามีความเคลื่อนไหวพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงไปโดยอาการอย่างไรบ้าง ก็ให้ทำความรู้ตัวอยู่กับที่ประจำใจ

    อาการทั้งหลายที่กล่าวมานี้เป็นการกระทำในส่วนกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน


    กายนี้จะเป็นกายภายนอกก็ตามภายในก็ตาม จำเป็นต้องใช้คุณธรรมทั้ง ๓ อย่างดังว่ามาแล้ว เมื่อทำได้โดยสมบูรณ์นี้แล้ว จึงเรียกว่า เจริญมหาสติปัฏฐาน


    ธรรมดาคนเราสติย่อมมีกันทั่วไป แต่ไม่มีสัมปชัญญะความรู้ตัว สตินั้นจึงตกไปในทางที่ผิด ที่เรียกว่ามิจฉาสติ เมื่อใครทำได้โดยอาการดังกล่าวมานี้ จะต้องเกิดความตั้งมั่นแห่งจิตอย่างไม่ได้อะไรเสียเลย ต้องได้รับความสลดสังเวชอันเป็นเหตุแห่งความสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เป็นบันไดแห่งวิปัสสนาญาณอันเป็นหนทางพระนิพพาน ที่นักปราชญ์และบัณฑิตทรงภาษิตรับรองว่า นิพพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง อธิบายมาในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ด้วยประการดังนี้


    ข้อ ๒ อธิบายในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานต่อไป

    คำที่ว่าเวทนานั้น ได้แก่ ความเสวยอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากอาการกระทำของตัวที่เรียกว่ากรรม ถ้าจะกล่าวโดยประเภทนั้น มี ๓ อย่างคือ


    ๑. เวทนาภายใน
    ๒. เวทนาภายนอก
    ๓. เวทนาในเวทนา

    เวทนาภายในนั้น ถ้าจำแนกตามความรู้สึกที่เป็นอยู่มี ๓ อย่างคือ


    ๑. สุขเวทนา ความสบายปลอดโปร่ง ในจิตใจของตน
    ๒. ทุกข์เวทนา ความทุกข์ ความเศร้าโศก ความหงุดหงิด ดวงจิตเหี่ยวแห้งไม่เบิกบาน
    ๓. อุเปกขาเวทนา ใจเป็นกลางวางเฉยอยู่ในระหว่างสุข ในระหว่างทุกข์ ที่ยังไม่เกิดขึ้น

    เวทนาทั้ง ๓ อย่างนี้เรียก เวทนาภายใน


    ส่วนเวทนาภายนอกนั้นก็มี ๓ อย่างเหมือนกันคือ

    ๑. โสมนัสสเวทนา ความยินดีปรีดา ร่าเริงอยู่ในอารมณ์ภายนอก เป็นต้นว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ที่เกิดจากอายตนะทั้ง ๖ เป็นต้น เมื่อใจได้ถูกต้องดูดดื่มยินดีอยู่ในอารมณ์อันนั้นเรียกว่า โสมนัสสาเวทนา

    ๒. โทมนัสสเวทนา ความคับแค้นน้อยใจ ได้เกิดขึ้นจากอาการที่ได้ประจวบกับอารมณ์ภายนอก เป็นต้นว่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นอาทิ เมื่อปรากฏแก่ตา หู จมูก ลิ้น เป็นต้นแล้ว สิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ถ้าเป็นที่ไม่พอใจของตน เป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา จึงได้เกิดโทมนัสสเวทนาประการหนึ่ง

    ๓. อุเปกขาเวทนา คือ รูป เสียง กลิ่น รส เป็นอาทิทั้งหลายเหล่านั้น ได้ผ่านมากระทบถูกต้องอายตนะภายใน ก็มิได้ยินดียินร้าย ใจเป็นกลางวางเฉยอยู่ เรียกว่า อุเปกขาเวทนา

    ที่เรียกว่า เวทนาภายนอก เพราะเหตุว่า เนื่องด้วยการเกิดจากอายตนะภายนอก


    ส่วนข้อ ๓ เวทนาในเวทนานั้น คือหมายเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของเวทนาทั้งหลายที่กล่าวมานั้น คือ ไม่ต้องเลือก เป็นต้นว่า มีสุขปรากฏแก่ตนเมื่อไร ให้จิตพิจารณาอยู่ในเวทนาอันนั้น เช่นว่า มีสุข ก็ให้ตั้งสติกำหนดระลึกอยู่ในที่นั้น ประคองสุขอันนั้นให้อยู่ในตน ประคองตนให้อยู่ในสุข อย่าให้คลาดเคลื่อนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอื่น และอย่าให้ความปรารถนาใด ๆ เกิดขึ้นในขณะจิตอันนั้น แล้วค่อยใช้อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณาดูความจริงของเขา สัมปชัญญะความรู้ดีให้คอยสังเกตจิตใจให้รู้ตัวอยู่กับที่ อย่าให้กระแสของสมุทัยเกิดขึ้น สมุทัยที่จะเกิดขึ้นในครั้งแรกนั้น เกิดจากความไม่รู้สึกตัวดีแล้วก็มีจิตหวั่นไหว ลักษณะที่ไหวตัวนั่นแหละเรียกว่าตัววิภวตัณหา เมื่อไหวแรงขึ้นมีกระแสจิตเกิดขึ้นแล่นส่ายออกไป กระแสที่ส่ายอยู่นั้นเป็นตัวภวตัณหา เมื่อเจอะสิ่งใดอันเป็นส่วนอายตนะภายนอกแล้วเข้ายึดเอา นั่นเรียกว่าตัวกามตัณหา ฉะนั้นจึงให้ประคองจิตของตนอยู่ในอารมณ์หนึ่ง เรียกว่า สุขเวทนา อย่าเอาอารมณ์อื่นเข้าปะปน ให้ตั้งสติสัมปชัญญะไว้ประจำตน แล้วให้เพียรเพ่งพิจารณา ให้ดูจนรู้ความจริงของเวทนานั้น ๆ ที่เรียกว่าอาตาปี เมื่อทำได้เช่นนี้จึงจะเรียกว่า เป็นผู้เจริญในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน


    ข้อนี้โดยมาก คนเราเมื่อมีเวทนาอันใดเกิดขึ้นแล้ว มักทำความปรารถนาต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น สุขเวทนาได้เกิดขึ้นแก่ตนแล้ว ก็อยากให้สุขนั้นเป็นอยู่คงที่ หรืออยากให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป เลยกลายเป็นเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้น ที่เรียกว่าสมุทัย เลยได้รับผลตรงข้ามกับความต้องการของตน บางทีก็มีทุกข์เวทนาเกิดขึ้น ก็ไม่ต้องการ ดิ้นรนหาความสุขต่อไปเลยกลายเป็นเพิ่มทุกข์ บางขณะใจก็เฉย ๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่ยินดียินร้าย เป็นกลางวางเฉยอยู่เช่นนั้น แล้วก็อยากให้เป็นอยู่เช่นนั้นเป็นนิจ บางทีก็เห็นว่าตนไม่ฉลาด เป็นเหตุให้เกิดความปรารถนาขึ้นอีกได้ แล้วก็ดิ้นรนขวนขวายอยากให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าตนที่เป็นอยู่นั้น เมื่อเป็นเช่นนี้จะเรียกว่าผู้ตั้งอยู่ในสติปัฏฐานไม่ได้ ถึงแม้มีสติระลึกได้อยู่ว่าสุขหรือทุกข์ หรืออุเปกขาก็ตาม แต่ก็ไม่พ้นไปจากความเป็นเช่นนั้น นี่ก็ส่อให้เห็นว่าขาดคุณธรรม ๓ อย่าง ทะนุบำรุงช่วยสนับสนุนสติอันนั้นให้เป็นองค์มรรคขึ้น


    คือให้มีสัมปชัญญะความรู้ดี ประจำใจไว้เป็นเบื้องต้นนี้หนึ่ง (๑) แล้วใช้สติแล่นติดต่ออารมณ์กับจิต อย่าให้จิตเคลื่อนคลาดจากอารมณ์ทั้งนั้น อย่าให้อารมณ์นั้นคลาดเคลื่อนจากจิต ตั้งสติกับอารมณ์นั้น ประคองจิตไว้ในอารมณ์เดียวให้แน่วแน่อยู่ ส่วนอารมณ์นี้เป็นหน้าที่ของอาตาปี คือความเพียงเพ่งพิจารณาตามอาการของเวทนาทั้งหลายที่เป็นภายในและภายนอก สุข ทุกข์ อุเปกขา อาการใดอาการหนึ่ง เช่น ทุกข์เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร เป็นหน้าที่ของความเพียรเพ่งพิจารณา ดูจนกว่าจะรู้จริงนี้หนึ่ง จะเป็นเวทนานอกก็ตาม ในก็ตาม เป็นหน้าที่ของอาตาปี เวทนาทั้งหลายเหล่านั้นปรากฏอยู่ในที่แห่งใด จำจะต้องใช้ความเพียรเพ่งพิจารณาแผดเผาเร่าร้อนอยู่ในที่นั้น นี่เป็นวาระที่ ๑ ของความเพียรเพ่งพิจารณา


    ๒. ให้ดูความเกิดขึ้นแห่งเวทนาอันมีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ต้องสาวไปในที่อื่น ทำความเห็นว่า จะเกิดมาจากเหตุอะไรก็ตาม ให้กำหนดจดจ้องดูอยู่แต่ปัจจุบัน


    ๓. ให้พิจารณาความเสื่อมไปของเวทนานั้น


    ๔. ให้เพ่งดูความดับของเวทนานั้น


    ๕. ทำความรู้ไว้ว่า เวทนานี้มีแต่ความเกิดและความดับ ความทำลายถ่ายเทกันไปด้วยประการต่าง ๆ หาเป็นแก่นสารไม่


    เมื่อใครทำได้ด้วยอาการเช่นนี้ จึงเรียกว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ย่อมเป็นองค์มรรคสมังคีอยู่ในที่นั้น ถ้าจะย่นให้เป็นองค์มรรค ต้องย่นอย่างนี้ คือ

    สัมปชัญญะความรู้ดีคอยประคองจิตอยู่ ทำความรู้ตัวอยู่ ไม่ปล่อยจิตของตนให้แล่นไปสู่อกุศล ทำจิตของตนให้เป็นปรกติอยู่ นี้เรียกว่าศีล


    สติคอยประสานจิตกับอารมณ์ไม่ให้คลาดเคลื่อนไปสู่อารมณ์อื่น นี้เรียกว่าสมาธิ


    อาตาปีความเพียรเพ่งพิจารณาในอารมณ์นั้น ๆ ให้รู้แจ้ง เห็นจริง รู้ได้ทั้งความเกิดความดับ นี้เรียกว่าปัญญา


    คุณธรรม ๓ ประการนี้ต้องให้มีให้เกิดขึ้นพร้อมเพรียงกันในขณะจิตอันใดอันหนึ่ง จึงเรียกว่า มรรคสมังคี แล้วมรรคเหล่านั้นทำงานตามหน้าที่แห่งตน ก็จะรู้แจ้งเห็นจริง โดยไม่ต้องละโน่นทำนี่ ละนี่ทำโน่น ละนอกทำใน ละในทำนอก

    เมื่ออาศัยคุณธรรม ๓ ประการนี้พร้อมแล้ว จะไปทำในอารมณ์ใดก็ตาม อดีต อนาคต ปัจจุบัน สุข ทุกข์ อุเบกขา อาการใดก็แล้วแต่ เมื่อสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมแล้ว ย่อมแล่นเข้าไปถึงกันหมด จึงได้เปรียบไว้ในเบื้องต้นว่า จิตเปรียบเหมือนเหล็กเพลาจักร สัมปชัญญะเปรียบเหมือนมู่เล่หมุนตัวอยู่ประจำที่ของตน สติเหมือนสายพานคอยประสานอารมณ์กับจิตมิให้คลาดเคลื่อนเปลี่ยนแปลง อาตาปีเหมือนเลื่อยจักรชักไปคอยมาตัดรอนอารมณ์นั้น ๆ ให้กระจายออกเป็นส่วน ๆ นี้เรียกว่า ภควา ผู้มีปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงเช่นนั้น จึงเรียกได้ว่าเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยการทำสติปัฏฐานในข้อนี้


    ข้อ ๓ อธิบายในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    คำที่ว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น จำแนกออกโดยอาการ ๓ อย่างดังนี้

    ๑. จิตภายใน
    ๒. จิตภายนอก
    ๓. จิตในจิต

    จิตภายในนั้น ได้แก่ลักษณะที่มีความเป็นอยู่เฉพาะมโนทวาร ไม่ประสานติดต่อกับอารมณ์ภายนอก

    จิตภายนอกนั้นได้แก่ ความเกี่ยวข้องสัมปยุตกันด้วยอารมณ์ภายนอก มีรูปเป็นต้น

    จิตในจิตนั้น ได้แก่การหยิบยกเอาส่วนใดส่วนหนึ่งตามอาการของจิตที่เป็นอยู่ ทั้งภายในและภายนอกก็ได้

    ส่วนลักษณะของจิตที่เป็นอยู่ภายในนั้นมี ๓ อย่างคือ

    ๑. ราคะจิต จิตประกอบด้วยราคะความกำหนัดยินดี

    ๒. โทสะจิต ได้แก่ความหงุดหงิดเกิดขึ้น อันเป็นส่วนภายใน

    ๓. โมหะจิต จิตที่มืดมนกลุ้มอกกลุ้มใจอยู่ จะพิจารณาเอาเรื่องอะไรก็ไม่ได้ โดยย่อก็คือได้แก่ความหลงนั่นเอง

    ทั้ง ๓ อย่างนี้เรียกว่าจิตภายใน


    จิตภายนอก นั้นท่านก็แยกออกเป็น ๓ อย่างเหมือนกัน คือ


    ๑. ราคะจิต

    ๒. โทสะจิต

    ๓. โมหะจิต


    แต่ที่เรียกว่าภายนอกนั้น เพราะสิ่งทั้งสามเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมแล่นออกไปสู่อารมณ์ทั้งหลายภายนอก อันเป็นบ่อเกิดแห่งความกำเริบของจิตทั้งหลายเหล่านั้น มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น มิได้รู้แจ้งเห็นจริงในอายตนะทั้งหลายเหล่านั้น รู้ไปต่าง ๆ อันผิดจากความเป็นจริง เป็นต้นว่า ไม่งามเห็นว่างาม ไม่เที่ยงเห็นว่าเที่ยง เป็นทุกข์เห็นว่าสุข ไม่ใช่ของของตนเห็นว่าเป็นของตน เหล่านี้เรียกว่าจิตภายนอก


    จิตในจิต คือได้แก่การหยิบยกเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของจิตทั้งหลายที่กล่าวมานั้น ตัวอย่างเช่น บางครั้งก็มีราคะ บางครั้งก็มีโทสะ บางครั้งก็มีโมหะ

    ในคราวใดสมัยใด จิตทั้งหลายเหล่านั้นได้เกิดขึ้นแก่ตนแล้ว ก็ตั้งใจหยิบยกเอาจิตดวงนั้น ๆ เข้าไว้ แล้วให้ตั้งสัมปชัญญะความรู้สึกตัวประจำใจไว้ ตั้งสติแล่นติดต่อในอารมณ์นั้น ๆ ให้มั่นคง อย่าส่งไปในอารมณ์อื่น และอย่าให้ความปรารถนาใด ๆ เกิดขึ้นในขณะจิตอันนั้น แล้วใช้ อาตาปี คือความเพียรเพ่งพิจารณาอยู่ในอารมณ์นั้น อย่าหวั่นไหวจนกว่าจะรู้ความเป็นจริงของเขา

    ความจริงของนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วยิ่งกำเริบก็มี เสื่อมน้อยถอยไปก็มี เกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่งแล้วก็เสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา หาเป็นแก่นสารมิได้ ตั้งใจเพ่งพิจารณากันอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ ถึงแม้ว่ากิเลสเหล่านั้นจะมีปรากฏอยู่ ถ้าหากว่าเราเป็นผู้มีสัมปชัญญะความรู้ตัว สติความระลึกได้ อาตาปีความเพียรเพ่งพิจารณา เมื่อคุณธรรม ๓ ประการนี้มีประจำอยู่ในตนเอง อกุศลจิตทั้งหลายเหล่านั้น ก็ไม่มีโอกาสที่จะเจริญงอกงามขึ้นได้ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีอยู่ในพื้นแผ่นดินที่ถูกครอบเสียด้วยภาชนะ เป็นต้นว่าหม้อหรือกะลาที่เขาครอบไว้ซึ่งพันธุ์ผักกาดที่กำลังงอกขึ้นใหม่ ถ้ามนุษย์ไม่หยิบยกกะลานั้นออกแล้ว พืชพันธุ์ทั้งหลายเหล่านั้นก็ไม่มีทางเจริญเติบโตขึ้นได้ มีแต่ที่จะเหี่ยวแห้งตายไปถ่ายเดียวเท่านั้น ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติก็ควรที่จำต้องใช้สัมปชัญญะความรู้ตัวประจำจิตนั้น ๆ ไว้ สติค่อยแล่นระลึกอยู่ในอารมณ์นั้น อาตาปีเพียรเพ่งแผดเผา กิเลสเหล่านั้นก็จะเบาบางห่างไกลไปจากใจของตนทุกเมื่อ


    จิตทั้งหลายที่กล่าวมา เปรียบเหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดและถั่วเขียว สติเปรียบเหมือนกะลา สัมปชัญญะเปรียบเหมือนบุคคลผู้หว่านเมล็ดพันธุ์ อาตาปีความเพียรเพ่งพิจารณา อุปมาเหมือนแดดอันเป็นเครื่องเผาผลาญให้พืชพันธุ์ย่อยยับดับสูญ

    ที่กล่าวมานี้พูดถึงจิตฝ่ายชั่ว


    ส่วนจิตฝ่ายดีนั้นก็มีตรงกันข้าม เช่น

    วิราคจิต จิตที่คลี่คลายออกมาจากความกำหนัดยินดี

    อโทสะ คือจิตปราศจากความหงุดหงิดงุ่นง่าน อันเป็นบ่อเกิดแห่งความเสียหาย

    อโมหจิต จิตที่ปราศจากความลุ่มหลงมัวเมา เข้าใจผิดไปต่าง ๆ

    นี้เป็นส่วนกุศลจิตอันเป็นรากเหง้าแห่งความดีทั้งหลาย เมื่อเกิดมีแก่ตนแล้วก็ให้รักษาไว้ แล้วคอยกำหนดไว้จะตรวจดูภูมิภาคของตน จะได้รู้ว่าจิตใจของตนนั้นอยู่ในภูมิอันใด ถ้าจะกล่าวตามภูมิของจิตแล้วก็มีอยู่ ๔ อย่าง อันเป็นภูมิภาคแห่งความดีคือ

    ๑. กามาวจรภูมิ
    ๒. รูปาวจรภูมิ
    ๓. อรูปาวจรภูมิ
    ๔. โลกุตตรภูมิ

    ๑. กามาวจรภูมินั้น มีจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น แล้วแล่นเข้าไปติดต่ออารมณ์ทั้งหลายอันเป็นกุศล เป็นต้นว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งกุศล เมื่อตนได้ประสบอารมณ์นั้น ๆ แล้วก็เกิดโสมนัสยินดีปรีดาร่าเริงอยู่ด้วยอารมณ์เหล่านั้น มีรูปเป็นต้น แต่รูปในที่นี้ หมายเอารูปอันเป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมอย่างเดียว จึงเรียกว่า กามาวจรกุศล ถ้าย่นย่อภูมิชั้นแห่งกามาวจรสวรรค์มาไว้ในตนแล้ว ดังนี้ คือ รูปอันเป็นที่ตั้งแห่งกุศลนั้น เป็นสวรรค์ชั้นหนึ่ง เสียงที่เป็นกุศลชั้นหนึ่ง กลิ่นที่เป็นกุศลชั้นหนึ่ง รสที่เป็นกุศลชั้นหนึ่ง สัมผัสที่เป็นกุศลชั้นหนึ่ง ธรรมารมณ์ภายในที่เกิดกับใจชั้นหนึ่ง รวมลงเป็นสวรรค์ ๖ ชั้น นี้เรียกว่า กามาวจรภูมิ


    ๒. รูปาวจรภูมิ คือจิตนั้นเกิดจากความวิตก เกิดขึ้นในรูปอันเป็นอารมณ์แห่งกรรมฐานอันใดอันหนึ่ง แล้วขยายอาการของรูปอันนั้นออกไปเป็นส่วน ๆ ที่เรียกว่าวิจาร และคอยระวังจิตของตน อย่าให้เคลื่อนคลาดจากอารมณ์อันนั้น จึงเรียกว่า เอกคตารมณ์ เมื่ออารมณ์และจิตเป็นหนึ่งเช่นนี้แล้ว อารมณ์นั้นก็กลายเป็นของเบาใจ มีภาระน้อย ปล่อยความกังวลเสียได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ปีติความอิ่มใจ ความสุขสบายใจอันเป็นผลย่อมเกิดขึ้น เมื่อจิตประกอบด้วยองค์เช่นนี้เรียกว่า ปฐมฌาน รูปาวจรจิตในเบื้องต้น


    ๓. อรูปาวจรภูมิ คือจิตปล่อยจากรูปอันเป็นส่วนรูปารมณ์นั้นแล้ว แต่ยึดถือในส่วนอารมณ์ที่ละเอียด อันเป็นประเภทแห่งนามธรรม เป็นต้นว่า อากาสานัญจายตนฌาน คือความเพ่งในที่ว่าง ๆ โล่ง ๆ รู้ ๆ อยู่ว่าไม่มีรูปใดรูปหนึ่งผ่านเข้ามาปรากฏ ฉะนั้นจึงไม่สามารถรู้ได้ทั่วถึง เป็นแต่เข้าไปรู้หลบตัวอยู่ภายใน ไม่ใช่เข้าไปรู้อยู่ด้วยทำงานสำเร็จ เข้าไปรู้อยู่ด้วยอาการหลบหลีก คือ เห็นแก่โทษที่เกิดขึ้นแต่ส่วนภายนอก ไม่เห็นว่าโทษนั้นฝังอยู่ภายใน จึงเข้าไปหลบอยู่ทำความรู้ แต่ส่วนตัวก็สำคัญว่าตนหมดกิเลสไปบ้าง เพราะสำคัญที่ว่างนั้นเป็นพระนิพพาน นี้เรียกว่า อรูปาวจร ภูมิในเบื้องต้น อันเป็นส่วนแห่งโลกีย์

    ถ้าใครต้องการที่จะรู้ดีรู้ชอบแล้ว จิตดวงนี้เป็นโลกีย์หรือโลกุตตระนั้นอย่างนี้ คือ ให้สังเกตเมื่อทำความรู้เข้าไปสงบอยู่แล้วก็มีความสุขสบายคล้ายกับว่าไม่มีกิเลสเจือปน ถ้าปล่อยจิตดวงนั้นให้เป็นอยู่ตามธรรมดาแล้วก็เกิดกิเลสกำเริบขึ้นได้อยู่ตามธรรมดา เหตุนั้นจึงเรียกว่าเป็นแต่โลกีย์ บางทีก็ทรงตัวอยู่ได้ไม่เสื่อม ด้วยอำนาจแห่งความเพียร บางทีก็เกิดความสงสัยลังเลขึ้นในความรู้ของตนนั้นอีก เป็นต้นว่า ลูบคลำคร่ำครวญอยู่เสมอ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็อย่าพึงเข้าใจว่าเป็นความรู้อันแท้จริง

    ถ้าจะพูดถึงความรู้อันมีมากอย่างเช่น มโนใจก็รู้ จิตก็รู้ วิญญาณก็รู้ ปัญญาก็รู้ สัมปชัญญะก็รู้ วิชชาก็รู้ อวิชชาก็รู้ รวมลงที่ว่ามานี้ ล้วนแต่หมายเอาความรู้เป็นฐานด้วยกันทั้งสิ้น ต่างกันแต่ลักษณะที่รู้ เมื่อไม่รู้จักแยกอาการของรู้แล้ว รู้นั้นก็สับกันได้ บางทีก็อาจจะเอาความรู้ผิดมาเป็นความรู้ถูก บางทีก็อาจจะเอาความรู้ที่เป็นอวิชชามาเป็นวิชชา บางทีก็เอาความรู้ที่ติดสมมติมาเป็นวิมุตติ ฉะนั้นผู้ปฏิบัติควรไตร่ตรองพลิกแพลงให้รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง ว่าความรู้อันใดเป็นความรู้อันแท้จริง ความรู้อันใดเป็นความรู้ที่ไม่จริง ความรู้ที่ไม่จริงนั้นสักแต่ว่ารู้ แต่ละไม่ได้ ความรู้ที่จริงนั้น เมื่อเข้าไปรู้ในสิ่งใดย่อมละได้

    นี้พูดมาในส่วนภูมิภาคแห่งจิตทั้งหลาย ทั้ง ๓ อย่างนี้เรียกว่า โลกียภูมิ


    ๔. โลกุตตรภูมินั้น นับแต่ขั้นแรก คือ ได้แก่

    โสดาปตฺติผล โสดาปตฺติผลในเบื้องต้นท่านก็ดำเนินมาในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นส่วนโลกีย์ อันเป็นภาคพื้นเหมือนกัน แต่ท่านเป็นผู้ได้รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ ในครั้งแรก จึงจะได้ละสังโยชน์ ๓ ประการออกจากตนเสีย ดวงใจของท่านนั้นจึงได้หลุดเข้าไปในกระแสของนิพพาน

    ที่เรียกว่าสังโยชน์ทั้ง ๓ นั้นคือ


    ๑. สกฺกายทิฏฺฐิ ความเห็นเป็นเหตุให้ถือว่าก้อนกายนี้เป็นของตน


    ๒. วิจิกิจฉา ความลังเลเป็นเหตุให้ไม่แน่ใจในความดีที่เราเชื่อถือกันคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีความจริงหรือไม่


    ๓. สีลพฺพตปรามาส ความลูบคลำอยู่ในสิ่งที่ตนประพฤติปฏิบัติอยู่นั้น

    ถ้าจะกล่าวให้สั้น ก็ได้แก่การที่ยึดถือความดีทั้งหลายอันเป็นส่วนของกิริยาภายนอก เป็นต้นว่า รักษาศีล หรือทำข้อวัตรปฏิบัติ ก็ยึดถือเอาแต่อาการของกายของวาจาเท่านั้น เป็นต้นว่า ศีลก็รักษากันแต่สิกขาบท สมาธิก็ได้แต่กิริยานั่งโด่อยู่เท่านั้น ไม่สามารถที่จะปลดเปลื้องกิริยาทั้งหลายเหล่านั้นออกจากตนได้ ยังคอยยึดเอาความดีอันเกิดจากกิริยานั้นอยู่ ถ้าได้ทำกิริยาเช่นนั้นแล้วก็ดีใจ ถ้าพลาดพลั้งไม่ได้ทำตามกิริยานั้นแล้วใจก็เสีย เป็นต้นว่า ศีลก็จะเอาจากพระ ศีลแปดหรืออุโบสถก็ยึดถือกันอยู่แต่วัน คืน ปี เดือน ยึดเอาความได้ความเสียอยู่แค่กิริยาภายนอกอันเป็นลัทธิเคยชิน หาเข้าถึงศีลธรรมไม่ อย่างปฏิบัติได้ก็แค่สีลพฺพตุปาทาน ถือกันแต่ลัทธิ ถือประเพณี ถือสมมติว่าดี เหล่านั้น ยึดมั่นมิได้ปล่อยวางลูบคลำอยู่เสมอ จึงเรียกว่า สีลพฺพตปรามาส เป็นเครื่องกั้นแห่งความดี เป็นต้นว่า ทาน ศีล ภาวนา ที่เคยถือกันมาว่า วัน ๘ ค่ำ วัน ๑๕ ค่ำ นั้นแหละเป็นบุญ

    ส่วนโสดาที่ท่านได้ละขาดแล้วหาถือเช่นนั้นไม่ คือใจท่านไม่ข้องอยู่ในลัทธิประเพณี คือศีลของท่านไม่มีสิกขาบทเสียแล้ว คือเข้าถึงตัวจริงของศีลเสียแล้ว ศีลก็ปราศจากกาลเวลา ไม่เหมือนปุถุชน ปุถุชนนั้น จะต้องมอบหมายความดีให้กิริยาภายนอกอยู่ เป็นต้นว่าศีลอยู่กับวัน ๘ ค่ำ อยู่กับวัน ๑๕ ค่ำ อยู่ในพรรษา อยู่ในเดือนปีเช่นนี้แล้วก็ยึดถือกันอย่างมั่นคง ถ้าใครทำไม่ถูกตามประเพณีลัทธินั้นๆ แล้วก็หาว่าไม่เป็นศีลเป็นธรรม ในที่สุดก็เลยหาโอกาสทำความดีได้ยาก นี่แหละจึงเรียกว่า ไม่รู้จักหลักเกณฑ์แห่งความดีทั้งหลาย


    ส่วนโสดานั้นศีลธรรมได้แล่นเข้าไปบรรจุอยู่ในกายใจทั้งหมด ปลดเปลื้องออกเสียได้ซึ่งลัทธิที่โลกเขานิยมว่าดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ ดีจริงนั้นท่านได้เห็นปรากฏอยู่ในใจของท่านเอง ดีก็อยู่ที่ตรงนี้ ชั่วก็อยู่ที่ตรงนี้ หามีอยู่ตามกิริยาภายนอกไม่ สมได้กับพุทธภาษิตว่า "มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจทั้งสิ้น"

    นี้แลชื่อว่าโสดา อุปมาเปรียบเหมือนบุคคลที่แจวเรือถูกร่องลงแหล่งแห่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีแต่ที่จะลอยไปสู่ปากน้ำสมุทรสาคร กล่าวคือ อมตนฤพานนั้นถ่ายเดียว กิริยาที่จะต้องไหลไปสู่มหาสมุทรนั้นมีอยู่ ๓ ประการ คือ


    ๑. โสดาชั้นต่ำ เปรียบเหมือนคนที่นอนถ่ายเกกจับตะกูดเรือไว้เฉย ๆ เรือนั้นก็แล่นไปถึงช้า นี้จำพวกหนึ่ง


    ๒. มือจับแจว ขาเกาะตะกูดแล้วก็แจวไป นี้พวกหนึ่ง


    ๓. เรือนั้นใส่เครื่องยนต์ มีคนถือพวงมาลัยแล่นไปถึงจุดหมายอย่างเร็วนี้ อุปมาฉันใด พระอริยโสดาเหมือนบุคคลที่แจวเรืออยู่ ๓ จำพวกนั้นนี้แหละ เรียกว่าบุคคลที่เข้าถึงกระแสแห่งพระนิพพานที่เรียกว่าโลกุตตรภูมิในเบื้องต้น


    ถ้าจะย่นย่อหัวข้อแห่งสังโยชน์ทั้ง ๓ ก็ดังนี้ ยึดถือก้อนกายเป็นของของตนเรียกว่า สกฺกายทิฏฐิ คือ กิริยาของกายนี้หนึ่ง


    เรียกว่า สีลพฺพตปรามาส ไม่รู้จักแยกกายออกจากจิต ไม่รู้จักแยกจิตออกจากกิริยานี้หนึ่ง


    จึงเป็นเหตุไม่รู้แจ้งเห็นจริง จึงเกิดความลังเลใจไม่แน่นอน เรียกว่า วิจิกิจฺฉา


    ที่แสดงออกมานี้เป็นส่วนความเห็น ฉะนั้นผู้ฟังทั้งหลายให้ไตร่ตรองดูอีก


    นี้แสดงมาในส่วนโลกุตตรภูมิของจิตทั้งหลายที่เป็นฝ่ายอกุศลจิต เมื่อรู้จักจิตทั้งหลายที่เป็นไปด้วยอาการเช่นนี้แล้ว การใช้คุณธรรม ๓ อย่างมาเป็นเครื่องมือ คือ ทำสติและสัมปชัญญะ อาตาปีความเพียรเพ่งพิจารณาทั้ง ๓ ประการนี้เข้าประจำจิตนั้นไว้ ที่จะรู้ได้ต้องใช้อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณาอันเป็นส่วนปัญญา คือ ให้รู้จักความเกิดขึ้นดับไป ถอนออกและตั้งอยู่และสงบเข้าไป ต้องใช้การกำหนดพิจารณาอยู่เป็นนิจจึงจะรู้ได้ในความเกิดและความดับของจิต และธรรมชาติของจิตที่ไม่เกิดไม่ดับก็จะรู้ได้


    รู้ความเกิดและความดับของจิตอันเป็นส่วนอดีตนี้ก็เรียกเป็นวิชาชั้นหนึ่ง น่าจะเรียกได้ว่า ปุพฺเพนิวาสานุสฺสติญาณ


    รู้จักความเคลื่อนเลื่อนไปแห่งภูมิจิตอันเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ น่าจะเรียกได้ว่า จุตูปปาตญาณ


    รู้จักแยกจิตออกจากอารมณ์ แยกอารมณ์ไว้ส่วนหนึ่ง แยกกระแสจิตที่แล่นไปไว้ส่วนหนึ่ง แยกสภาพของจิตไว้ส่วนหนึ่ง ที่รู้ได้เช่นนี้น่าจะเรียกได้ว่า อาสวกฺขยญาณ


    อารมณ์เป็นกามาสวะ กระแสจิตที่แล่นไปเรียกว่าภวาสวะ ที่ไม่รู้จักสภาพของจิตเรียกว่าอวิชชาสวะ




    ถ้าจะพูดในส่วนอริยสัจจ์ ๔ แล้วต้องพูดได้ดังนี้ คือ


    อารมณ์เป็นส่วน ทุกข์สัจจ์


    จิตที่แล่นเข้าไปหลงอารมณ์เป็น สมุทัยสัจจ์


    จิตที่เข้าไปรู้แจ้งเห็นจริงในอารมณ์ทั้งหลาย และกระแสจิตที่แล่นอยู่และสภาพจริงของจิตเดิมรู้ได้เช่นนี้เรียกว่า มรรคจิต


    ปล่อยวางสภาพของอารมณ์และกระแสจิต และสภาพจิตอันนี้ ปล่อยได้ไม่ยึดถือนี่แหละเรียกว่า นิโรธสัจจ์




    จิตประกอบด้วยคุณธรรม ๓ อย่างมี


    สัมปชัญญะ ความรู้ตัวดี


    อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณา


    สติ ความระลึกได้


    เมื่อคุณธรรมเหล่านี้แก่กล้ามีกำลังมากขึ้นแล้ว สัมปชัญญะกล้าเป็นตัว วิชชาวิมุตติ สติกล้าเรียก ญาณ อาตาปีกล้าเรียกว่า วิปัสสนาญาณ ตัวปัญญากำหนดรู้ทุกข์สัจจ์ คอยห้ามความยินดียินร้ายในอารมณ์ญาณหยั่งรู้สมุทัย วิชาความรู้แจ้งแทงตลอดแห่งจิตเมื่อรู้ได้โดยอาการเช่นนี้เรียกว่า รู้ถูก




    ต่อไปนี้จะย้อนกล่าวในเรื่องจิตอีกสักหน่อย คำที่ว่าจิต ๆ นั้นแยกออกโดยอาการ ๓ อย่างคือ


    ๑. สภาพจิตเดิม


    ๒. จิต


    ๓. จิตประสมด้วยอารมณ์


    อาการทั้งหลายเหล่านี้รวมเรียกว่าจิต ถ้าใครไม่รู้เช่นนี้ไม่เรียกว่าเป็นผู้รู้จิตได้ มีแต่จะพูดกันว่าจิตเกิดจิตดับ จิตไม่เกิดไม่ดับ จิตดี จิตชั่ว จิตสูญ จิตไม่สูญ จิตเป็นธรรม จิตไม่ใช่ธรรม จิตพ้น จิตไม่พ้น จิตเป็นนิพพาน จิตไม่ใช่นิพพาน จิตเป็นวิญญาณ จิตไม่ใช่วิญญาณ จิตเป็นใจ ใจไม่ใช่จิต


    ตามพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ แนวทางปฏิบัติมีอยู่สองทางเท่านั้น คือ กายวาจาใจนี้หนึ่ง กายวาจาจิตนี้หนึ่ง สองจุดนี้ในที่สุดก็ไปรวมจุดเดียวกัน จุดที่ประสงค์แท้จริงนั้นก็คือความหลุดพ้น


    ฉะนั้น เมื่อท่านทั้งหลายต้องการทราบความจริงนั้น ๆ จำเป็นอยู่ที่จะต้องปฏิบัติให้เข้าถึงด้วยตนเอง มิฉะนั้นก็จะต้องทุ่มเถียงกันอยู่ไม่เว้นวาย ปัญหาอันนี้ถ้าผู้ใดปฏิบัติไม่รู้แจ้งเห็นจริงแล้ว นักปราชญ์ท่านกล่าวว่า "เสทโมจนคาถา" แปลว่าคำพูดที่เหงื่อไหลขี้ไคลแตก ฉะนั้นจึงมีความประสงค์จะอธิบายสักหน่อยว่า


    สภาพจิตนั้นเป็นสภาพที่รู้อยู่อย่างเดียวนี้หนึ่ง


    กระแสที่คิดแล่นออกมาจากรู้ไปสู่อารมณ์ต่าง ๆ นั้นเรียกว่า จิตนี้หนึ่ง


    เมื่อเข้าไปสัมปยุตกับอารมณ์แล้วหลงอารมณ์นั้น ๆ กลายตัวเป็นกิเลส เป็นเหตุแห่งความเศร้าหมองเรียกว่าจิตผสมนี้หนึ่ง


    ๑.จิต ๒.จิตผสม จิตสองดวงนี้ จะดีก็ตามจะชั่วก็ตาม ต้องเกิด ต้องดับ ต้องทำลายอยู่เป็นธรรมดา ต้นของจิตทั้งสองนี้เป็นสภาพจิตเดิม ย่อมไม่เกิดไม่ดับ เป็นฐิติธรรมประจำอยู่ด้วยอาการเช่นนั้น สภาพจิตเดิมนั้นที่เรียกว่าปภัสสร ผู้แต่งหมายเอาสภาพจิตอันเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ที่เป็นอยู่ตามธรรมดานี้เอง แต่ไม่มีใครสามารถเข้าไปล่วงรู้ เมื่อไม่รู้ย่อมไม่ให้ผลดี ตัวอย่างเช่น พูดกันว่าลิงได้แก้ว ฉะนั้นจึงสมควรแท้ที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าอวิชชา แปลว่า ความรู้มืด ความรู้ไม่จริง สมกับว่า "ปพฺพนฺเต อญาณํ" แปลว่า ไม่รู้เบื้องต้น ได้แก่ ไม่รู้ในสภาพจิตเดิม "ปรนฺเต อญาณํ" แปลว่าไม่รู้เบื้องปลาย คือ ไม่รู้จิตที่ผสมกับอารมณ์แล้ว "มชฺฌนฺติก อญาณํ" แปลว่าไม่รู้ในท่ามกลาง คือ ไม่รู้จักกระแสจิตที่แล่นออกจากสภาพที่รู้เดิม เมื่อเป็นเช่นนี้จิตก็กลายเป็นสังขาร ย่อมปรุงแต่งเสกสรรค์ฟั่นเฟือนไปด้วยประการต่าง ๆ ดังมีอธิบายในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานด้วยประการฉะนี้


    ข้อ ๔ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นแยกออกเป็น ๓ ประเภทคือ

    ๑. ธรรมภายใน
    ๒. ธรรมภายนอก
    ๓. ธรรมในธรรม

    ๑. ธรรมภายใน อธิบายธรรมภายใน ในที่นี้หมายเอาฝ่ายชั่วก็มี ฝ่ายดีก็มี แต่ในที่นี้หมายเอานิวรณธรรมอันเป็นฝ่ายชั่วมี ๕ อย่างคือ

    ๑. กามฉนฺท ความพอใจรักใคร่
    ๒. พยาบาท ความพยาบาท
    ๓. ถีนมิทฺธ ความหงุดหงิดโงกง่วง
    ๔. อุทฺธจฺจ กุกฺกุจฺจ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
    ๕. วิจิกิจฉา ความลังเลใจ

    นิวรณธรรม ๕ ประการนี้ เป็นได้ทั้งส่วนภายในและภายนอก ตัวอย่างเช่น

    ๑. จิตประกอบด้วยกามฉันทะแล้ว คือ เกิดความรักใคร่ ยินดีอยู่แต่ในจิตใจ ยังไม่ได้แล่นเข้าไปกำหนดหมายสัมปยุต (ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง)
    ๒. จิตประกอบไปด้วยความหงุดหงิดไม่ชอบแล้ว แต่มิได้เข้าไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
    ๓. จิตหดหู่หงุดหงิดโงกง่วง เมื่อเกิดขึ้นในทางจิตใจ ยังมิได้แล่นเข้าไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
    ๔. จิตฟุ้งซ่านรำคาญคิดกลุ้มโดยลำพัง ยังมิได้ไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง
    ๕. จิตสงสัยลังเลไม่แน่ใจ คิดอะไรไม่ตลอดเรื่อง แต่ยังไม่ได้เข้าไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เป็นอยู่โดยลำพังตนเองเท่านั้น

    ถ้านิวรณธรรมทั้งหลาย ๕ ประการนี้ มีกำลังยังอ่อนอยู่ ยังไม่ได้แล่นไปเกี่ยวข้องกับอารมณ์ภายนอกแล้ว ฉะนั้นจึงเรียกว่า ธรรมภายในนี้หนึ่ง

    ๒. ธรรมภายนอก ธรรมภายนอกก็แล่นออกมาจากภายในนั้นเอง คือ

    ๑. จิตคิดชอบใจรักใคร่ได้เกิดขึ้นแล้ว แล่นเข้าไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ภายนอก มีรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้นนี้หนึ่ง
    ๒. จิตหงุดหงิดไม่ชอบเกิดขึ้น แล้วแล่นไปกำหนดจดจำไว้ในรูป เสียง กลิ่น รส เป็นอาทิ แล้วเกิดความไม่ปรารถนาในสิ่งเหล่านั้น อยากให้สิ่งเหล่านั้นวิบัติไป
    ๓. จิตหดหู่โงกง่วงได้เกิดขึ้นแล้ว ก็แล่นไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ภายนอก เมื่อกำหนดจดจำได้แล้วก็ยิ่งให้เป็นเหตุเกิดความง่วงหนักขึ้น
    ๔. จิตหงุดหงิดฟุ้งซ่านได้เกิดขึ้นแล้ว ก็แล่นเข้าไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ภายนอก มีรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น เหมือนกัน
    ๕. จิตลังเลไม่ตกลงสงสัยอยู่ได้เกิดขึ้นในใจแล้วปล่อยให้แล่นไปกำหนดหมายเอาในอารมณ์ภายนอก มีรูปารมณ์ เป็นต้น ฉะนั้น จึงเรียกว่า ธรรมภายนอก

    ธรรมเหล่าใดเมื่อเกิดขึ้นในมโนทวารในครั้งแรกเรียกว่าธรรมภายใน เมื่อกำเริบแรงกล้าขึ้นแล้วก็แล่นไปสู่อายตนะภายนอก เรียกว่า ธรรมภายนอก


    ๓. ธรรมในธรรม คำที่ว่าธรรมในธรรมนั้นหมายเอา ส่วนใดส่วนหนึ่งของนิวรณธรรมทั้งหลาย ๕ ประการนั้น เพราะนิวรณ์ทั้งหลาย ๕ ประการนั้นมิได้เกิดขึ้นในขณะจิตอันเดียวกัน ฉะนั้นให้หยิบยกเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของนิวรณ์มากำหนดพิจารณาก็ได้ เป็นต้นว่า กามฉันทะได้เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งสัมปชัญญะประจำจิตใจ ตั้งสติประคองจิตกับธรรมนั้น ๆ อย่าหวั่นไหว อย่าให้ความปรารถนาใด ๆ เกิดขึ้น ทำจิตของตนให้เข้มแข็งอยู่ในสถานที่แห่งเดียว อย่าไปเหนี่ยวอารมณ์อื่นมาแทรกแซง อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณา ก็ให้ใช้เพ่งลงไปเฉพาะอารมณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เมื่อไม่รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนั้นแล้วอย่าละเลิกซึ่งความเพียรของตน เมื่อทำได้เช่นนี้เรียกว่าเป็นผู้เจริญธรรมในธรรม


    ธรรมทั้งหลายที่กล่าวมานี้เป็นฝักใฝ่อกุศลธรรม เป็นเครื่องกีดกั้นเสียซึ่งคุณธรรมอย่างอื่น เป็นต้นว่า ญาณ หรือวิปัสสนาญาณและโลกุตตระเป็นเบื้องหน้า ฉะนั้น ผู้ต้องการความหลุดพ้นไปจากธรรมทั้งหลายนั้นแล้ว จำเป็นจะต้องทำจิตของตนให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิก่อน ที่จะทำจิตให้ตั้งมั่นได้นั้นจะต้องสร้างคุณธรรม ๓ อย่าง ให้เกิดขึ้นในตน คือ


    ๑. สัมปชัญญะ ความรู้ดี ให้มีไว้ประจำใจของตน


    ๒. สติ ความระลึกได้ ให้ประคองไว้ซึ่งจิตของตนกับอารมณ์นั้นๆ ที่เกิดกับตนอย่างใดอย่างหนึ่ง ประคองอารมณ์นั้นให้อยู่กับจิต ประคองจิตไว้อย่าให้เคลื่อนคลาดไปสู่อารมณ์อื่น


    เมื่อเห็นว่าจิตกับอารมณ์เหล่านั้นเชื่องช้า แล้วก็ให้ใช้อาตาปี อันเป็นข้อที่ ๓ ต่อไป คือ ความเพียรเพ่งพิจารณาความเท็จจริงของธรรมทั้งหลายเหล่านั้น


    ถ้ายังไม่รู้แจ้งเห็นจริง อย่าพึ่งละทิ้งซึ่งความเพียรของตน เพ่งพิจารณาจนกำลังปัญญานั้นแก่กล้าก็จะได้รู้ว่าธรรมทั้งหลายเหล่านั้น จะเป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม ธรรมในธรรมก็ตาม ก็จะมีแต่ความเกิดขึ้นและเสื่อมไป ความดับไป หาเป็นสาระแก่นสารมิได้ เพราะธรรมทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสังขตธรรมทั้งสิ้น


    ขึ้นชื่อว่า สังขตธรรมแล้ว ก็ตกอยู่ในสภาพแห่งความจริงคือ อนิจฺจตา เป็นของไม่เที่ยง ทุกฺขตา เป็นทุกข์ ทนอยู่ได้ยาก อนตฺตา ไม่ใช่ตัวตนเราเขา ย่อมเปลี่ยนแปลงแปรผันไปตามธรรมดาธรรมชาติ นักปราชญ์ที่มีปัญญาหายึดเป็นแก่นสารตัวตนไม่ ท่านแลเห็นได้ราวกะว่ากงจักรหรือล้อรถ คนใดเข้าไปเกาะอยู่กงจักรนั้น กงจักรนั้นก็เหยียบบี้บีฑา เพราะฉะนั้น กัลยาณชนผู้หวังความสุขในพระพุทธศาสนาอันแท้จริง ควรเอาคุณธรรมทั้ง ๓ ประการดังกล่าวแล้วนั้น มาไว้ประจำใจของตน ก็จะรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมที่ปราศจากสังขารที่เรียกว่า อสังขตธรรม คือ เป็นธรรมที่แท้ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง เป็นอยู่โดยธรรมชาติ ไม่มีอาการหมุนเวียนเกิดดับ ธรรมอันเป็นอสังขตะนี้ย่อมมีอยู่ตามธรรมดาธรรมชาติ แต่ไม่มีนักปราชญ์ใดในโลกที่จะรู้ได้ นอกจากผู้ที่ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา


    ฉะนั้นผู้ประสงค์พ้นทุกข์อันแท้จริงควรที่จะปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริงเกิดขึ้นด้วยความเพียรของตนเอง เมื่อผู้ปฏิบัติได้ใช้สัมปชัญญะประจำใจแล้วก็จะรู้ได้ถึงสภาพแห่งจิต สติ มีประจำตนอยู่ อาตาปี ความเพียรเพ่งพิจารณาให้มีประจำไว้ในตน จึงจะเป็นผู้ไม่ลุ่มหลงอารมณ์


    ธรรมดาคนเราไม่ค่อยจะรู้สึกสภาพแห่งตน จึงไม่รู้ได้ในธรรมารมณ์อันเป็นส่วนที่เกิดกับตน แล้วก็แล่นเข้าไปยึดอารมณ์ทั้งหลาย จึงกลายเป็นวัฏฏสงสาร เวียนวนอยู่อันไม่มีที่สิ้นสุด จุดหมายวัฏสงสารในที่นี้ จะย่นย่อได้มาไว้เฉพาะตัวตน เป็นต้นว่า ความไม่รู้สภาพแห่งจิตเดิมนั้นเป็นกิเลสวัฏฏ จัดเป็นอวิชชาข้อแรก จึงเป็นเหตุให้เกิดกรรมวัฏฏ ได้แก่สังขาร วิปากวัฏฏเข้าไปเสวยอารมณ์ทั้งหลายกลายเป็นวัฏฏะ ๓ ดังนี้


    จะอุปมาวัฏฏะ ๓ ดังนี้คือ อวิชชาเป็นดุมเกวียน สังขารเป็นกำเกวียน อารมณ์เป็นกงเกวียน อายตนะภายนอกเปรียบเหมือนวัว อายตนะภายในเป็นเครื่องสัมภาระ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เปรียบเหมือนคนขับ ต่อจากนั้นก็ขนของขึ้นใส่ กล่าวคือกิเลสทั้งหลาย แล้วก็จะตีกันไปปฏักจี้เข้าไป วัวก็จะวิ่งแล่นลากกันไป ขึ้นเขาไปด้วย ลงห้วยไปตาม ในที่สุดก็จะกระจายไปคนละแห่ง ที่เรียกว่าตาย เหตุนั้นจำเป็นต้องให้รู้เข้าถึงสภาพแห่งจิตอันเป็นเพลาที่ไม่หมุนไปตามเครื่องสัมภาระทั้งหลายนั้นเรียกว่าวิวัฏฏะ เมื่อใครทำได้เช่นนี้ เป็นหนทางกระชั้นกะทัดรัดไม่เนิ่นช้า


    ตัวอย่างในสมัยโบราณพระภิกษุและอุบาสิกาทั้งหลาย บางทีนั่งเทศน์อยู่ บางทีเที่ยวบิณฑบาตอยู่ บางองค์ก็ดูซากศพอยู่ แต่ทำไมท่านจึงสำเร็จได้ เหตุนี้ก็สันนิษฐานได้ว่า ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ได้ประกอบขึ้นแล้วด้วยคุณธรรมทั้งหลายที่กล่าวมาแล้วนั้น ได้เพียรเพ่งพิจารณาจนเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นในที่นั้น โดยไม่ต้องถอยไปถอยมา ถอยออกถอยเข้า วางไว้โดยธรรมดาธรรมชาติ บางเหล่าก็เข้าใจกันเสียว่า ต้องให้ละอารมณ์ทั้งหมดจึงจะทำจิตได้ แต่แท้ที่จริง จิตก็หลงอารมณ์นั้นแหละส่วนมาก เมื่อหลงที่ตรงไหน ให้พิจารณาที่ตรงนั้น ถ้าไม่แก้ตรงหลงนั้นจะให้ละโดยหลบหนีนั้นเป็นไปไม่ได้ ถึงเป็นไปก็จะกลับมาหลงอารมณ์เก่านั้นอีก


    เหตุนั้นผู้มีปัญญาจะทำภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม ย่อมทำให้ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติได้ทุกสถาน ไม่มีอาการว่านอกผิดในถูก นอกถูกในผิด ในละเอียดนอกหยาบ ความเห็นเหล่านี้ย่อมไม่มีแก่ท่านที่มีปัญญา ปัญญาแปลว่าความรอบรู้หรือความรู้รอบ จึงเรียกว่า ปัญญาสมบูรณ์ รู้รอบนั้น รู้ในก่อนแล้วไปรู้นอก รอบรู้นั้นรู้นอกก่อนแล้วแล่นเข้าถึงใน จึงเรียกว่าผู้มีปัญญา ข้างนอกทำให้เข้าถึงในได้ หยาบทำให้ละเอียดได้ อดีตอนาคตทำให้เข้าถึงปัจจุบันได้ เพราะท่านเป็นผู้ประสมส่วนของมรรคให้เสมอกัน คือ สติ สัมปชัญญะ อาตาปี ทำหน้าที่แห่งตนอันเป็นหนทางพ้นซึ่งทุกข์ทั้งปวง เมื่อใครปฏิบัติได้โดยอาการเช่นนี้ ก็สามารถบรรลุคุณธรรมได้ทุกอิริยาบถ จะมีปรากฏได้แต่สภาวทุกข์ สภาวธรรม เห็นได้เช่นนี้เรียกว่า ยถาภูตญาณ เห็นจริงตามสภาพแห่งความจริงดังนี้


    สรุปใจความย่อหัวข้อแห่งสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้นมีอยู่ ๒ ประเภท คือ รูปหนึ่ง นามหนึ่ง อีกสำนวนหนึ่งเรียกว่า กาย ใจ ถึงจะแยกเป็น ๔ ประเภทก็ตาม สักแต่ว่ากระแสจิตที่แบ่งไปเท่านั้น ถ้าจะกล่าวถึงความประสงค์ในการประพฤติปฏิบัติแล้วก็มีอยู่เท่ากับกายหนึ่ง ใจหนึ่ง


    เมื่อต้องการปฏิบัติให้รวบรัดจริงๆ แล้ว ให้กำหนดกาย พิจารณากายนี้หนึ่ง กำหนดใจ พิจารณาใจนี้หนึ่ง


    กำหนดกายพิจารณากาย ดังนี้ คือให้ทำความรู้สึกไว้ ในกายส่วนใดส่วนหนึ่ง เป็นต้นว่า ลมหายใจ เมื่อกำหนดไว้แม่นยำเช่นนี้แล้ว จึงให้ขยายไปดูในส่วนอื่น ได้แก่การพิจารณาส่วนของร่างกายโดยอาการต่างๆ เวลาพิจารณา จนเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในส่วนของร่างกาย จนจิตนั้นนิ่งสงบนิ่งละเอียดเข้าไปยิ่งกว่าเก่า จะมีอะไรเกิดขึ้นในขณะจิตพิจารณาอยู่นั้น อย่ายึดถือเอาเป็นอันขาด


    ประการที่ ๒ กำหนดใจพิจารณาใจ นั้นคือ ทำความรู้สึกไว้ในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ทำความรู้นั้นให้นิ่งอยู่ เมื่อใจนิ่งพอสมควรแล้ว ให้พิจารณาความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของเขาจนรู้ขึ้นได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงของเขาจะดีก็ตาม ชั่วก็ตามเป็นสักว่าประเภทสังขาร จะมีความรู้ ความคิด ความเห็นอันใดเกิดขึ้นอย่ายึดถือเป็นอารมณ์ ทำความรู้สึกอยู่ในปัจจุบัน เมื่อทำด้วยอาการเช่นนี้ จิตใจของตนก็จะเป็นไปเพื่อความสงบและความรู้แจ้งเห็นจริงได้ในการปฏิบัติ นี้เรียกว่า ดำเนินตามแนวทางสติปัฏฐานทั้ง ๔


    เมื่อทำได้เช่นนี้ก็เป็นหนทางให้เกิดมรรคจิต ถ้ากำลังองค์มรรคสมบูรณ์เกิดขึ้นในขณะใดแล้ว ก็จะปล่อยกันได้ในขณะนั้น การปล่อยนั้นมีอยู่ ๒ สถานคือ


    ๑. ปล่อยอารมณ์ได้ แต่ปล่อยจิตใจของตนไม่ได้


    ๒. ปล่อยอารมณ์ได้ ปล่อยตนได้


    การปล่อยตนได้กับปล่อยอารมณ์ได้ นี้เป็นความรู้จริง ปล่อยอารมณ์ได้ แต่ปล่อยตนเองไม่ได้ นี้เรียกว่าไม่รู้จริง ความรู้ที่แท้จริงนั้นย่อมปล่อยได้ทั้ง ๒ เงื่อน คือวางจิตใจตามสภาพของจิต วางอารมณ์ตามสภาพของอารมณ์ คือธรรมชาติรักษาธรรมชาติ อารมณ์ในที่นี้หมายเอากาย ตนหมายเอาใจ ต้องปล่อยวางไว้ทั้ง ๒ ประการนี้


    เมื่อรู้เข้าถึงโดยอาการเช่นนี้แล้วก็ไม่ใคร่จะวิตกถึงศีล สมาธิ ปัญญาเท่าไรนัก ศีล สมาธิ ปัญญานั้นไม่ใช่สภาพของจิต สภาพจิตไม่ใช่ศีล สมาธิ ปัญญา


    ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นสภาพสังขารธรรมเท่านั้น เป็นเครื่องปราบกิเลสให้ดับเมื่อใด ศีล สมาธิ ปัญญาก็ดับลงไปเมื่อนั้น ศีล สมาธิ ปัญญาเปรียบด้วยน้ำ กิเลสเปรียบเหมือนด้วยไฟ จิตใจเปรียบด้วยคนผู้เอาน้ำไปดับไฟ เมื่อน้ำดับไฟมอดไปแล้ว น้ำก็หายไปในที่นั้นเอง แต่ผู้เอาน้ำไปดับไฟนั้นไม่สูญ ไฟไม่ใช่น้ำ น้ำไม่ใช่ไฟ คนไม่ใช่น้ำ น้ำไม่ใช่คน คนไม่ใช่ไฟ ไฟไม่ใช่คน สภาพจิตที่แท้จริงนั้นไม่ใช่กิเลส ไม่ใช่ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นอยู่ตามสภาพแห่งตน คนที่ไม่รู้สภาพแห่งความจริงก็เห็นว่าตายสูญ หรือนิพพานสูญไปต่าง ๆ เป็นความเข้าใจผิดของบุคคลผู้นั้น ถึงแม้จิตยังไม่ถึงธรรมชั้นสูงเสมอโสดาบันเท่านั้น ท่านก็ย่อมรู้สภาพจิตได้ว่าไม่สูญ เหตุนั้นจึงเกิดศรัทธาอย่างแรงกล้าเชื่อมรรค เชื่อผล แต่ยังไม่พ้นไปจากกิเลสเครื่องเจือปน ถึงจะเจือปนได้ ก็ไม่สามารถที่จะลบล้างสภาพจิตใจของท่านได้ เปรียบเหมือนทองคำตกหล่นอยู่ในธุลีมีเขม่ามลทินเข้าเกาะอยู่ แต่เขม่ามลทินนั้นก็ไม่สามารถกระทำให้ทองคำนั้นกลายเป็นอื่นได้ ผิดจากปุถุชนธรรมดา


    ส่วนปุถุชนธรรมดานั้นจะมีจิตใจผ่องใสอยู่บ้าง บางขณะก็ไม่ค่อยจะตายตัว ไม่พ้นไปจากความเศร้าหมองอีก เปรียบเหมือนมีดที่ลับคมแล้วจะทรงตัวอยู่ได้ ก็อาศัยอาบน้ำมันไว้ ถ้าเอาน้ำมันใช้ในกิจการ หรือทิ้งไว้ มีดนั้นอาจกลายเป็นอื่นไปได้


    ฉะนั้นผู้ปฏิบัติควรกระตือรือร้นขวนขวายช่วยตนให้เข้าถึงกระแสธรรมชั้นต่ำจนได้ เพราะว่าคุณธรรมทั้งหมดที่กล่าวมาจะเป็นส่วนสังขตธรรมก็ตาม อสังขตธรรมก็ตาม ย่อมมีปนกันอยู่ทุกรูปทุกนาม แต่ไม่ประเสริฐเหมือนวิราคธรรม วิราคธรรมนั้นได้แก่กิริยาที่แยกสังขตะและอสังขตะออกจากกัน เหมือนแยกแร่ทองคำออกจากก้อนหิน


    ฉะนั้นพระพุทธศาสนาจึงเป็นของลึกซึ้งละเอียดสุขุม ถ้าใครไม่ตั้งใจปฏิบัติจริงแล้ว ย่อมไม่รู้รสเสียเลย จะเปรียบได้เหมือนนายโคบาลที่รับจ้างเลี้ยงโคไม่ได้ดื่มรสแห่งนมโค ฉะนั้นพระพุทธศาสนาท่านก็ชี้ไว้ว่า ปริยัติเรียนรู้คัมภีร์ ปฏิบัติดีรู้ทันกิเลส ปฏิเวธรู้แล้วละวาง ดังนี้



    ที่มา https://sites.google.com/site/smartdhamma/sati_lp_lee
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_5324.JPG
      IMG_5324.JPG
      ขนาดไฟล์:
      71.7 KB
      เปิดดู:
      967
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 29 สิงหาคม 2019
  2. เอกวีร์

    เอกวีร์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 มกราคม 2008
    โพสต์:
    3,979
    ค่าพลัง:
    +3,259
    ภาษาธรรม บางคำศัพท์ จะเป็นอุบายในการ พิจารณาเข้ามาที่กาย

    คำว่า หทัยวัตถุ ไม่ได้หมายถึง " อวัยวะหัวใจ " ถ้าเป็นนักภาวนาทรงฌาณ
    ที่สามารถกำหนดเห็น เวทนาไม่เที่ยง จนเห็นสภาวะ กายกับจิต เป็นคนละส่วน
    กัน .....ตรงนี้ จะมี สภาวะธรรมบางประการ เหมือนเป็นจุดเชื่อม จุดต่อ จุดเข้า
    มารวมกันของ กายกับใจ ....นักภาวนาแนวถอดจิต จะเห็นเป็น จุดและต่อม
    บ้างก็เห็นตรงหัว บางเห็นตรงท้ายทอย แต่ โดยหลักธรรม หากจิตไม่แส่ส่ายไปทางอุปาธิใดๆ

    จะเห็น สภาวะหมุนจี๋ๆๆๆๆๆๆๆ อยู่ตรงกลางอก จึง อุปมาอุปมัย เรียกขานกัน พอให้เข้าใจว่า หทัยวัตถุ

    ตรงการหมุนจี๋ๆๆๆๆ หรือ เพ่งอยู่ตามจุดใดๆ แล้วหาก พรากออกจาก จุดจี๋ๆ นั้นได้ เพราะ
    กำหนดเห็นได้ว่า ไม่เที่ยง และ เป็นทุกขสัจจ จิตจะปล่อยออก โดยที่ยังมี กด(จี๋)อยู่หน่อยๆ

    ถ้าปล่อยจริง จะเกิด ผรณาปิติ อุเพงคาปิติ ซาบซ่านไปหมด กายเบา จิตเบา แทบลอย
    ทั้งกายเนื้อ ไม่ใช่ ถอดเป็นกระสือ หรือ นึกภาพมโนยุกยิ๊ก ไปโน้น ไปนี่

    ถ้าเวทนาดับ นักภาวนาจะไม่ไปหวือหวา หาความจาก ปิติเด็กๆ(ผรณาปิติ อุเพงคาปิติ )
    จะข้ามไปสู่ " ปัสสัทธิ " อันเป็น หนทางเข้าสู่ " โพฌชงค์7 " อันเป็นเป้าหมาย
    ของสติปัฏฐานที่จะทำให้ โพฌชงค์ บริบูรณ์

    ************************************************

    ปล่อยจิตตนไม่ได้ ไม่ควรเน้นกลับไปหาอะไร

    สิ่งที่ควร ก็กำหนดรู้ไปตามความเป็นจริง ที่ใจรับรู้ด้วยความเป็นกลาง(หทัยวัตถุ)
    ไปเลยว่า " ปล่อยจิตยังไม่ได้ "

    ปล่อยจิตได้ ก็กำหนดรู้
    ปล่อยจิตไม่ได้ ก็กำหนดรู้

    สองอย่างนี้ ยังเป็นการภาวนาใน มหาสติปัฏฐาน ( เนื่องกับ อานาปานสติสูตร )
    ในหัวข้อที่มักแปลกันว่า

    " เราจักปล่อยจิต หายใจเข้า "

    บ้างก็แปลกันว่า

    " เราจักกำหนดปล่อยจิต หายใจเข้า "

    บ้างก็แปลกันว่า

    " สำเนียกปล่อยจิตอยู่ หายใจเข้า "


    จะเห็นว่า มีหลายสำนวนแปล หลายคำศัพท์ ที่ใช่สื่อ เป็นอุบาย ให้พิจารณาลงปัจจุบันธรรม

    การเห็นปัจจุบันธรรม ไม่อาจเห็นได้ด้วยการ คิด นึก

    การเห็นปัจจุบันธรรม สามารถเห็นได้ง่ายๆ ทันที ที่กำหนดรู้ ลงมือปฏิบัติ รู้ไม่ถูกต้อง
    ก็กำหนดรู้ว่า รู้ไม่ถูกต้อง ก็จะ ถูกทันที ง่ายๆ พ้นตรรก เพราะเป็น ภาษาปฏิบัติ
     
  3. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,243
    กระทู้เรื่องเด่น:
    53
    ค่าพลัง:
    +4,024
  4. Prasit5000

    Prasit5000 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 พฤษภาคม 2009
    โพสต์:
    302
    ค่าพลัง:
    +228
    ท่านกล่าวถึง สัมปชัญญะน้อยมาก ไม่เน้นเลย เน้นที่จิต และเข้าใจยากครับ
     
  5. เอกวีร์

    เอกวีร์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 มกราคม 2008
    โพสต์:
    3,979
    ค่าพลัง:
    +3,259
    " ฐานจิต " เป็นคำ ทันสมัย พอมีที่หนึ่งใช้ แล้ว คนโจทย์ขาน อีกสักพัก
    ก็จะมีการเอาคำว่า " ฐานจิต " ไปใช้บรรยาย สภาวะธรรม ของตนบ้าง

    เรียกว่า สมมติบัญญัตินั้น มันแปรผันไป ตามกลุ่ม ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง
    คำเดียวกัน เกี่ยวข้องหลายกลุ่ม ก็อาจจะ แปลสับสนกันไปมา

    เพราะ มนุษย์เรา ชอบใช้หลักการตลาดเข้าจับ ไม่ใช่เพื่อธรรมะ


    " ฐานจิต " ถ้าเอาตาม พระธรรมวินัย จิตไม่มีฐาน ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีรส
    ไม่มีกลิ่น ไม่มีไป ไม่มีมา เป็นเพียง " กริยาจิตกระทบรู้ "

    พอเอา สัทธรรมเข้าสอบสวน เราจะ พ้นความแตกต่างในการใช้ ของแต่ละกลุ่ม
    ถอยออกมา เป็นเพียง " การรู้ " รู้ที่คอ รู้ที่หน้าผาก รู้ที่สะดือ รู้ที่ก้น
    เพิก ความแตกต่างทางสัญญาออก จะเหลือแต่ " รู้ "

    ถ้าจำแนกธรรมได้แบบนี้ ก็จะเห็นว่า สายไหนก็ได้ รู้ตรงไหนก็ได้ เพราะ รู้ มันมีเพียงตัวเดียว


    รู้ หรือ ตัวจิต จึงเป็น " ปรมัตถธรรม " อยู่เหนือ " สมมติสัจจ " ที่แต่ละกลุ่ม
    จะเอออวยกันไป ตาม สายบุญ สายกรรม

    ***********************


    ถ้าไม่ก้าวหน้า ให้กลับไปที่ศีล หรือ สติปัฏฐาน

    หากฝึก จนเพิก สมมติตามกลุ่มได้ จะทราบว่า สติปัฏฐานคือตัวศีล

    สติปัฏฐาน เป็นศีลที่เรียกว่า " ศีลพี่เลี้ยง " หรือ อินททีรย์สังวรณ์ศีล

    ส่วน ศีล ที่เป็นการบัญญัติกันตามกลุ่ม จะเป็นเพียง นิสัย หรือ ข้อวัตร
    ย้อนกลับไป ก็แค่ ทำให้ อยู่กับหมู่ได้ แต่อาจจะไม่เกี่ยวอะไรกับ ศีล
    [ ศีล ไม่ใช่วัตร วัตรบางอย่าง ไม่ใช่ศีล อ่านใน พระสูตรได้ ]


    ดังนั้น หากชำนาญในการภาวนาแล้ว ศีลจะเกิดเองในขณะที่เราทำสติปัฏฐาน


    กิเลสนั้น เป็นสิ่งที่จรมา เมื่อจิตเรากระทบผัสสะ ตราบใดยังมีจิต กิเลสก็ต้องขยับ
    และปรากฏใน มโนทวาร

    แต่ผู้เจริญสติปัฏฐาน จะเหมือนมี เขื่อนกั้น ไม่ใช่ อุปกิเลสนั้นย้อมติดจิต จิต
    จึงเห็น กิเลสที่เกิดขึ้นประจำจิต ห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้ แต่ สามารถกั้น แบบรู้เท่า
    เอาทันได้


    เมื่อ รู้เท่าเอาทันได้ จะเรียกว่า พ้นกิเลส พ้นอาสวะ โดยที่ เห็นอยู่ว่า พ้นจาก
    กิเลสอาการไหน อย่างไร [ บุคคลประเภท โคตรภูบุคคล นิยตโพธิสัตว์ จะพ้นกิเลส
    พ้นอาสวะ แต่ ไม่มีการ สิ้นกิเลส ถือว่า กิเลสยังเต็มกบาล ไม่ตัดสักแอะ ]

    เมื่อ รู้ว่าจิตมีปฏิปทาที่ควรประกอบ เพื่อการพ้นกิเลส พ้นอาสวะ กิจนั้นได้ประกอบ
    แล้ว ไม่กำเริบกลับ ตรงนี้จะเรียกว่า สิ้นกิเลส สิ้นอาสวะ เพราะกิจที่ควรทำ ได้ทำแล้ว
     
  6. เอกวีร์

    เอกวีร์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 มกราคม 2008
    โพสต์:
    3,979
    ค่าพลัง:
    +3,259
    เมื่อ ปฏิบัติ สติปัฏฐาน4 ชำนาญ จะเห็นเลยว่า " ผรณาปิติ อุเพงคาปิติ " เป็น
    สิ่งที่มีอยู่ในจิต กุศลแรงกล้า หรือ จิตอกุศลแรงกล้า ตลอดเวลา

    แค่ระลึกได้ว่า ไม่มีอุเพงคปิติในจิต ด้วยอำนาจแห่ง สติปัฏฐาน จะทำให้ ขณะ
    นั้นเกิด อุเพงคปิติ ขึ้น ทันที

    ขอแค่ ระลึกได้ จำได้ในสภาวะธรรม ก็จะ ลัด ด้วยอำนาจแห่งปัญญาญาณ

    แต่......จะต้องมาจำแนก สภาวะที่ เราน้อมจิตให้เกิด อันนี้ มีเจตนาหารเจือ
    หาก น้อมปิติแบบนี้มาใช้ จะยังคงมี " อุปาธิ " ถือว่า โดนขันธมารหลอก
    โดน อภิสังขารมารกระทืบซ้ำ แล้ว พยามารนั่งหัวล่อ !!

    แต่ถ้า จิตไว สติปัฏฐานแจ่มๆ จิตแจ่มใส อุเพงคปิติเกิดเอง แล้ว จิตเราระลึกได้
    ตรงนี้จะ มีคุณภาพกว่า ในการเห็น การเกิด การดับ

    พอเห็นแบบนี้ ก็จะ อ๋อ ปัสสัทธิสัมโพฌชงค์ มันมี รสอย่างนี้ๆ ยกขึ้น
    ทำการรู้เห็นเป็นสิ่งเกิดดับ อีกชั้นหนึ่ง เพื่อไปยัง.............

    ความแน่วแน่ มั่นคงในการ ประกอบการภาวนา ยกวิปัสสนา
    [ จิตถึงฐาน ของแท้ๆ จะอยู่ตรงนี้ จะเป็นเรื่อง สักแต่ว่า ........... ]




    *********************



    การหมุนจี๋ๆ ก็เป็น สมมติบัญญัติ ใช้กับกลุ่มที่ ใช้เวทนานสติปัฏฐาน ถึง ธรรมาน
    สติปัฐาน เป็นตัว จิตถึงฐาน หรือ ฐานหมั่นประกอบเนืองๆ

    คำบัญญัตินั้น อาจจะต่างกันไป แต่ ด้วยตัว ปรมัตถ ก็แค่ " รู้อยู่ที่รู้ "

    ตามเห็น กริยารู้ หรือเห็น วิญญาณขันธ์แสดงอนิจจัง อนัตตา
     
  7. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,243
    กระทู้เรื่องเด่น:
    53
    ค่าพลัง:
    +4,024
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 29 ธันวาคม 2015
  8. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,243
    กระทู้เรื่องเด่น:
    53
    ค่าพลัง:
    +4,024
    [​IMG]

    ..หลักในการปฏิบัติ ก็มีดังนี้คือ

    ๑. กำจัดอารมณ์ที่ชั่วออกจากจิตให้หมด


    ๒. ทำจิตให้อยู่ในอารมณ์ที่ดี


    ๓. อารมณ์ที่ดีต่างๆ ให้ต้อนเข้าไปรวมอยู่ในจุดอันเดียวที่เรียกว่า เอกัคคตารมณ์


    ๔. พิจารณาอารมณ์หนึ่งนั้นให้เป็น อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน สัตว์บุคคล ว่างเปล่า


    ๕. วางอารมณ์ที่ดีและอารมณ์ชั่วไปตามสภาพของอารมณ์เพราะดีและชั่วย่อมอยู่ด้วยกัน มีสภาพเสมอกัน วางจิตไว้ตามสภาพของจิต รู้ไว้ตามสภาพแห่งรู้ รู้นั้น ไม่รู้จักเกิด ไม่รู้จักดับ นั้นแล คือ สันติธรรม

    ดีก็รู้ ดีไม่ใช่รู้ รู้ไม่ใช่ดี ชั่วก็รู้ รู้ไม่ใช่ชั่ว ชั่วไม่ใช่รู้ คือ รู้ไม่ติดความรู้ รู้ไม่ติดสิ่งที่รู้ นั่นแหละคือธรรมชาติธาตุแท้อันบริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนน้ำที่อยู่ในใบบัว ฉะนั้นจึงเรียกว่า อสังขตธาตุ เป็นธาตุแท้

    เมื่อใครทำได้เช่นนี้ ก็จะเห็นของดีวิเศษเกิดขึ้นในใจแห่งตน จะเป็นกุศลวาสนาบารมีของท่านผู้ปฏิบัติในทางสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน จะได้ผล ๒ ประการดังกล่าวมา คือ โลกิยผลที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์อนามัยของร่างกายแห่งท่านและคนอื่นๆทั่วไปในสากลโลกนี้ประการหนึ่ง ประการที่ ๒ จะได้โลกุตรผลอันเป็นประโยชน์อนามัยในด้านจิตใจของท่านมีความสุขความเยือกเย็นและความราบรื่นชื่นบาน ก็จะถึงพระนิพพานเป็นเบื้องหน้า ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย..


    ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
    ที่มา วิธีฝึกสมาธิแบบอานาปานสติ แบบที่ ๑ - ยาใจ
     
  9. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,243
    กระทู้เรื่องเด่น:
    53
    ค่าพลัง:
    +4,024
  10. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,243
    กระทู้เรื่องเด่น:
    53
    ค่าพลัง:
    +4,024
  11. มังกรบูรพา

    มังกรบูรพา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 เมษายน 2008
    โพสต์:
    2,539
    ค่าพลัง:
    +9,407
    คุณเสขะ พอจะอธิบายหรือให้ความเห็นตรงข้อความสีแดง ไหมครับ

    สิ่งที่ผมเข้าใจตอนนี้ก็คือ ปล่อยไปตามอาการ โดยไม่ต้องมีผู้ไปตามรู้อาการ

    มันจะเป็นแบบนั้นหรือเปล่าครับ เพราะผมยังไม่ค่อยเข้าใจความหมายที่หลวงพ่อจะบอก
     
  12. มังกรบูรพา

    มังกรบูรพา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 เมษายน 2008
    โพสต์:
    2,539
    ค่าพลัง:
    +9,407
    ให้อีกหนึ่งความหมายนะครับ คือผมหมายถึง มันจะคิด ก็ปล่อยให้มันคิดไปเรื่อยๆ ตามภาษาของมัน

    ไม่ต้องเอาจิต เอาใจ หรือเอาตัวสติ มานั่งจ้อง หรือกำหนดรู้อะไร ไปกับสิ่งที่เราคิด ประมาณนั้นครับ
     
  13. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,243
    กระทู้เรื่องเด่น:
    53
    ค่าพลัง:
    +4,024
    [​IMG]

    ..หลักในการปฏิบัติ ก็มีดังนี้คือ

    ๑. กำจัดอารมณ์ที่ชั่วออกจากจิตให้หมด


    ๒. ทำจิตให้อยู่ในอารมณ์ที่ดี


    ๓. อารมณ์ที่ดีต่างๆ ให้ต้อนเข้าไปรวมอยู่ในจุดอันเดียวที่เรียกว่า เอกัคคตารมณ์


    ๔. พิจารณาอารมณ์หนึ่งนั้นให้เป็น อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน สัตว์บุคคล ว่างเปล่า


    ๕. วางอารมณ์ที่ดีและอารมณ์ชั่วไปตามสภาพของอารมณ์เพราะดีและชั่วย่อมอยู่ด้วยกัน มีสภาพเสมอกัน วางจิตไว้ตามสภาพของจิต รู้ไว้ตามสภาพแห่งรู้ รู้นั้น ไม่รู้จักเกิด ไม่รู้จักดับ นั้นแล คือ สันติธรรม

    ดีก็รู้ ดีไม่ใช่รู้ รู้ไม่ใช่ดี ชั่วก็รู้ รู้ไม่ใช่ชั่ว ชั่วไม่ใช่รู้ คือ รู้ไม่ติดความรู้ รู้ไม่ติดสิ่งที่รู้ นั่นแหละคือธรรมชาติธาตุแท้อันบริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนน้ำที่อยู่ในใบบัว ฉะนั้นจึงเรียกว่า อสังขตธาตุ เป็นธาตุแท้

    เมื่อใครทำได้เช่นนี้ ก็จะเห็นของดีวิเศษเกิดขึ้นในใจแห่งตน จะเป็นกุศลวาสนาบารมีของท่านผู้ปฏิบัติในทางสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน จะได้ผล ๒ ประการดังกล่าวมา คือ โลกิยผลที่จะทำให้สำเร็จประโยชน์อนามัยของร่างกายแห่งท่านและคนอื่นๆทั่วไปในสากลโลกนี้ประการหนึ่ง ประการที่ ๒ จะได้โลกุตรผลอันเป็นประโยชน์อนามัยในด้านจิตใจของท่านมีความสุขความเยือกเย็นและความราบรื่นชื่นบาน ก็จะถึงพระนิพพานเป็นเบื้องหน้า ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย..


    ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
    ที่มา วิธีฝึกสมาธิแบบอานาปานสติ แบบที่ ๑ - ยาใจ

    ถ้าจะให้อธิบายบายธรรมอันลึกซึ้งของท่านให้ถูกตรง ผมคงสติปัญญาไม่ถึง ปฏิบัติไม่ถึงจริงๆ

    ขอว่าตามทิฏฐิผม ถือว่าแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมุมมองกัน คิดว่าท่านกล่าวถึงส่วนที่เป็นผล เกิดจากเหตุข้างต้นมากกว่านะครับ ท่านกล่าวถึงความจริงของอสังขตธาตุ
     
  14. มังกรบูรพา

    มังกรบูรพา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 เมษายน 2008
    โพสต์:
    2,539
    ค่าพลัง:
    +9,407
    จิตของผม มันเป็นไปตามข้อที่อ้างอิงมานะครับ เป็นมานานมากแล้ว

    ผมเลยไม่แน่ใจว่า ภาษาธรรมมะเค้าเรียกว่าอะไร
     
  15. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,243
    กระทู้เรื่องเด่น:
    53
    ค่าพลัง:
    +4,024
    ที่คุณมังกรบูรพาแลกเปลี่ยนมุมมองมา สำหรับผมเห็นเป็นคนละความหมายกับ อสังขตธาตุ ครับ
     
  16. มังกรบูรพา

    มังกรบูรพา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 เมษายน 2008
    โพสต์:
    2,539
    ค่าพลัง:
    +9,407
    จะรอติดตามอ่านครับ แต่ เดี๋ยวเข้ามาใหม่

    หรือท่านอื่น ๆ มีความเห็นเป็นประการใดครับ
     
  17. มังกรบูรพา

    มังกรบูรพา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 เมษายน 2008
    โพสต์:
    2,539
    ค่าพลัง:
    +9,407
    ขอขยายความให้มันชัดเจนขึ้นนะครับ

    คือในวันหนึ่งๆ ผมจะคิดจากสิ่งหนึ่ง แล้วเปลี่ยนไปอีกสิ่งหนึ่ง แล้วมันก็เปลี่ยนความคิดไปอีกสิ่งหนึ่ง คือความคิด มันเปลี่ยน

    ไปเรื่อย ๆ ๆ ๆ ไม่รู้จักจบ และไม่ยอมหยุดคิด โดยผมไม่มีความตั้งใจที่อยากจะคิด คือมันคิดของมันเอง ว่าอย่างนั้นดีกว่าครับ
     
  18. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,243
    กระทู้เรื่องเด่น:
    53
    ค่าพลัง:
    +4,024
    น่าสนใจครับ เห็นความคิด ปล่อยความคิดได้

    พอจะยกตัวอย่างเช่น อะไรเป็นเหตุปัจจัยของความคิดที่เกิดของคุณมังกรบูรพาบ้างครับ มีราคะ ปฏิฆะ มานะ ฟุ้งซ่าน ความไม่รู้แจ้ง อะไรพวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของเหตุเกิดความปรุงแต่งที่เกิดบ้างไม๊ครับ
     
  19. มังกรบูรพา

    มังกรบูรพา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 เมษายน 2008
    โพสต์:
    2,539
    ค่าพลัง:
    +9,407
    ต้องขอโทษด้วยนะครับ ที่ผมโพสเม้นท์แบบสะเปะสะปะ คือนึกอะไรได้ขึ้นมาก็โพสไปตามนั้น บางครั้งอยู่ดีดี

    มันก็หยุดคิดของมันเอง โดยที่ผมไม่ได้ตั้งใจให้หยุด แล้วบางครั้งมันก็ภาวนาพุทโธของมันเองโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ
     
  20. เสขะ บุคคล

    เสขะ บุคคล เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กรกฎาคม 2008
    โพสต์:
    1,243
    กระทู้เรื่องเด่น:
    53
    ค่าพลัง:
    +4,024
    ตามอัธยาศัยครับวัฏฏะวนก็แบบนี้หละครับ
    ใครพ้น ? ไปได้
     

แชร์หน้านี้

Loading...