สมเด็จโตมหาปราชญ์แห่งรัตนโกสินทร์ ตอน เทศน์ วัดคณิกาผล

ในห้อง 'สมเด็จโต พรหมรังสี' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 16 เมษายน 2015.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    สมเด็จโตมหาปราชญ์แห่งรัตนโกสินทร์ ตอน เทศน์ วัดคณิกาผล
    [​IMG]
    เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยายคุ้น ท้าวแฟง เก็บตลาดเอาผลกำไรได้มาก แกรู้ว่าในหลวงทรงโปรดผู้ทำบุญสร้างวัด แกจึงสร้างวัดด้วยเงินรายได้ของแก สร้างเป็นวัดที่ในตรอกแฟง พระนคร ครั้นสร้างวัดแล้ว แกทูลขอพระราชทานนาม ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานนามว่า วัดคณิกาผล แกจึงนิมนต์มหาโตไปเทศน์ฉลอง มหาโตเทศน์ว่า เจ้าภาพคิดเพื่อเหตุเช่นนี้ ทำด้วยผลทุนรอนอย่างนี้ย่อมได้อานิสงส์สลึงเฟื้อง เช่นตากับยาย ฝังเงินเฟื้องไว้ที่ศิลารองหน้าบันได เงินสลึงเฟื้องหนีไปเข้าคลังเศรษฐี ไปติดอยู่กับเงินก้อนใหญ่ของเศรษฐี ตาจึงขุดตามรอยที่เงินหนีเข้าไปจนถึงบ้านเศรษฐี เศรษฐีจึงห้ามมิให้ขุด ตาก็จะขุดให้ได้ อ้างว่าจะขุดตามเงินอ้ายน้อยไปหาอ้ายใหญ่ เศรษฐีจึงถามว่า อ้ายน้อยคืออะไร ตาก็บอกว่า อ้ายน้อยคือเงินที่เทวดาให้ผมสลึงเฟื้อง เศรษฐีมั่นใจว่า เงินในคลังมีแต่ก้อนใหญ่ๆ ทั้งนั้น เงินย่อยหามีไม่ จึงท้าตาว่า ถ้าขุดตามได้เงินสลึงเฟื้อง เราจะทำขวัญให้ตา หนักเท่าตัว ถ้าขุดตามไม่ได้จะเอาเรื่องกับตา ฐานเป็นคนร้ายบุกรุก ตาก็ยินยอม เลยขุดต่อไปได้พบเงินสลึงเฟื้อง คลานเข้าไปกอดกับเงินก้อนใหญ่ของเศรษฐีอยู่ เศรษฐีก็ยอมให้ตาปรับตามที่ตกลงกันไว้ ครั้นเอาตัวตาขึ้นชั่ง ก็ได้น้ำหนักเพียงแค่สลึงเฟื้อง ตามที่เทวดาเคยชั่งให้ ด้วยผลบุญที่ทำไว้น้อย ตั้งมูลไว้ผิดฐาน ดังเจ้าของวัดนี้สร้างลงไปจนแล้ว เป็นการดี แต่ฐานบุญไม่ถูกบุญใหญ่ ผลจึงใหญ่ไปไม่ได้ คงได้สลึงเฟื้องของเศษบุญเท่านั้น

    เจ้าของวัดขัดใจโกรธหน้าแดง แกเกือบจะด่าเสียอีก แต่เกรองเป็นหมิ่นประมาท แกประเคนเครื่องกัณฑ์ กระแทกๆ กังกุกกักใหญ่ แกก็ขึ้นไปเชิญเสด็จทูลกระหม่อมพระมาประทานธรรมบอกอานิสงค์บ้างต่ออีกกัณฑ์ ทูลกระหม่อมทรงแสดงถึงจิตของบุคคล ที่ทำกุศลว่า ถ้าทำด้วยจิตผ่องใสไม่ขุ่นมัว จะได้ผลมาก ถ้าทำด้วยจิตขุ่นมัวย่อมได้ผลน้อย ดังเช่นสร้างวัดนี้ ด้วยเรื่องขุ่นมัวทั้งนั้น แต่ท่านหาโตท่านชักนิทานเรื่องทุกคะตะบุรุษที่เคยทำกุศลเศร้าหมองไว้แต่ปุเรชาติ ครั้นมาชาตินี้ ได้อัตตภาพเป็นมนุษย์เหมือนเขา แต่ยากจนจึงได้ไปอ้อนวอนขอเงินเทวดาที่ต้นไม้ใหญ่ เทวดารำคาญจึงชั่งตัวบุรุษนั้นแล้วให้เงินตามน้ำหนัก ครั้นจะให้น้อยก็จะว่าแกล้งให้ ครั้นจะให้มากก็ไม่เห็นมีบุญคุณควรจะได้มาก เทวดาจึงชั่งตัวให้เขาจะได้สิ้นธุระต่อว่าต่อขาน ชั่งให้ตามน้ำหนักตัว เป็นอันหมดแง่ที่จะค้อนติงต่อว่า เรื่องนี้ในฎีกาพระอภิธรรมพระฎีกาจารย์ท่านแต่งไว้ทำฉากให้พระมหาโตตัดสินบุญรายนี้ ว่าได้ผลแห่งบุญจะอำนวยเพียงเล็กน้อย คือท่าน แบ่งผลบุญเป็น ๘ ส่วน คงได้ผลแต่ ๓ ส่วน เหมือนเงิน ๑ บาท แปดเฟื้อง โว่งเว้าหายไปเสีย ๕ เฟื้อง คือ ๕ ส่วน คงได้แต่ ๓ ส่วน นี่ยังดีนักทีเดียว ถ้าเป็นความเห็นของข้าพเจ้าแล้ว คงจะตัดสินให้ได้บุญเพียงสองไพเท่านั้น ในการสร้างวัดด้วยวิธีคิดในใจไว้แต่เดิมเท่านี้ มีดีเท่านี้ เอวัง ก็มี

    (เทศน์ ๒ กัณฑ์นี้ ควรผู้สดับคิดวินิจฉัยเอาเอง)

    อนึ่งในแผ่นดินสมเด็จพระจอมเกล้า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) แต่เมื่อครั้งยังเป็นพระเทพกระวี ได้เคยเทศน์คู่กับพระพิมลธรรม (ถึก) วัดพระเชตุพนเสมอ เป็นคู่เทศน์ที่เผ็ดร้อนถึงอกถึงใจคนฟัง จนความทราบถึงพระกรรณสมเด็จพระจอมเกล้า ทรงนิมนต์เจ้าคุณทั้ง ๒ เข้าไปเทศน์ในพระบรมมหาราชวังครั้งหนึ่ง สมเด็จพระจอมเกล้าทรงติดเงินพระราชทานให้สลึงเฟื้อง พระเทพกระวีไหวทัน หันมาบอกพระพิมลธรรมว่า เจ้าถึกจ๋า เจ้าถึก เจ้าถึกรู้หรือยังฯ พระพิมลธรรมถามว่า จะให้รู้อะไรอีหนาฯ อ้าว ท่านเจ้าถึกยังไม่รู้ตัว โง่จริงๆ แฮะ ฯ ท่านเจ้าถึกถามรุกใหญ่ว่า จะให้รู้อะไรอีก นอกคอกเปล่าๆ พระเทพกระวีว่า จะนอกคอกทำไม เรามาเทศน์กันวันนี้ ในวังมิใช่หรือฯ รับว่า ในวังนั่นซีฯ ก็ในวัง ในคอก ในกำแพงด้วยซ้ำรู้ไหมหละฯ รู้อะไรนะฯ จงรู้เถิด จะบอกให้ว่า ท่านเจ้าถึกนั้น หัวล้านมีศรี ฝ่ายพระเทพกระวีนั้นหัวเหลือง สมเด็จพระบรมบพิตร จึงทรงติดให้สลึงเฟื้อง รู้ไหมฯ พอหมดคำ ก็ ฮาครืนแน่นคึกบนพระที่นั่ง เลยให้รางวัลองค์ละ ๑๐ บาท พ่อจงเอาเงินนี้มาแบ่ง จงจัดแจงให้เข้าใจ พ่อถึกหัวล้าน พ่อโตหัวเหลือง เป็นหัวละเฟื้องสองไพฯ ได้อีกฮา ได้องค์ละ ๑๐ บาท คราวนี้เจ้าจอมคิกคักกันเซ็งแซ่ คุณเฒ่าคุณแก่ยิงเหงือกยิงฟัน อ้าปากกันหวอไปหมด สมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ก็ทรงพระสรวล แล้วถวายธรรมเทศนาปุจฉา วิสัชนาสืบไปจนจบฯ

    ครั้งหนึ่งเมื่อยังเป็นพระเทพกระวี ได้เข้าไปฉันบนพระที่นั่งแล้วยถาจบ สมเด็จพระจอมเกล้า ทรงสัพยอกว่า ทำไมจึงไปให้เปรตเสียหมด คนผู้ที่ทำจะไม่ให้บ้างหรือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ยถาใหม่ว่า ยถา วาริ วหา ปุราปริม ปุเรนฺติสาครํ เอว เมวอิโตทินนํ ทายกานํ ทายิกานํ สพฺเพสํ อุปกปฺปติ รับสั่งว่า ยถาอุตตริ สัพพีอุตตรอย แล้งทรงรางวัล ๖ บาท สมเด็จเข้าวังทีใด อะไรมิอะไรก็ขยายให้เป็นที่พอพระราชหฤทัย ได้รางวัลทุกคราวฯ

    การจะนิมนต์ สมเด็จไปเทศน์ ถ้ากำหนดเวลาท่านไม่รับ ถ้าไม่กำหนดเวลาท่านรับทุกแห่ง ตามแต่ท่านจะไปถึง คราวหนึ่งเขานิมนต์ท่านไปเทศน์ที่วัดหนึ่งในคลองมอญ สมเด็จไปถึงแต่เช้า เจ้าภาพเลยต้องจัดให้มีเทศน์พิเศษขึ้นอีกกัณฑ์หนึ่ง เพราะกำหนดเอาไว้ว่า จะมีเทศน์คู่ ตอนฉันเพลแล้ว เมื่อสมเด็จไปถึงก่อนเวลา เลยต้องนิมนต์ให้เทศน์เป็นพิเศษเสียก่อนกัณฑ์หนึ่ง พอ ๔ โมงกว่า พระพิมลธรรม (ถึก) คู่เทศน์ก็ไปถึง สมเด็จก็หยุดลง ฉันเพล ครั้นฉันแล้วก็ขึ้นเทศน์ สมเด็จถามท่านเจ้าถึก ท่านเจ้าถึกติด เลยนิ่ง สมเด็จบอกกล่าวสัปปรุสว่า ดูนะดูเถิดจ๊ะ ท่านเจ้าถึกเขาอิจฉาฉัน เขาเห็นฉันเทศน์ ๒ กัณฑ์ เขาเทศน์ยังมิได้สักกัณฑ์ เขาจึงอิจฉาฉัน ฉันถามเขา เขาจึงไม่พูด ถามไม่ตอบ นั่งอม…. ได้ยินว่าทายกเขาจัดเครื่องกัณฑ์ให้ท่านเจ้าถึก ได้เท่ากับ ๒ กัณฑ์ เครื่องเท่ากันแล้ว ท่านเจ้าถึก จึงถามบ้างว่า เจ้าคุณ โทโสเป็นกิเลสสำคัญ พาเอาเจ้าของต้องเสียทรัพย์ เสียชื่อเสียงเงินทอง เสียน้องเสียพี่ เสียที่เสียทาง เสียอย่างเสียธรรมเนียม เสียเหลี่ยมเสียแต้ม เพราะลุแก่อำนาจโทโส ให้คุณให้ทุกข์แก่เจ้าของมากนัก ก็ลักษณะแรก โทโสจะเกิดขึ้น เกิดตรงที่ไหนก่อนนะขอรับ ขอให้แก้ให้ขาว

    สมเด็จนั่งหลับ กรนเสียด้วย ทำเป็นไม่ได้ยินคำถาม ท่านเจ้าถึกก็ถามซ้ำอีก ๒-๓ ครั้ง สมเด็จก็นั่งเฉย ท่านเจ้าถึกชักฉิว ตวาดแหวออกมาว่า ถามแล้วไม่ฟัง นั่งหลับใน ท่านเจ้าถึกตวาดซ้ำไป สมเด็จตกใจตื่น แล้วด่าออกไปด้วยว่า อ้ายเปรต อ้ายกาก อ้ายห่า อ้ายถึกกวนคนหลับฯ

    ท่านเจ้าถึกมีพื้นฉิวอยู่ก่อนแล้ว ครั้นถูกด่าเสียเกียรติในที่ประชุมชนเช่นนั้น ก็ชักโกรธ ชักฉิว ลืมสังวร จึงจับกระโถนปามาตรงสมเด็จ สมเด็จนั่งภาวนากันตัวอยู่ กระโถนไพล่ไปโดนเสาศาลา กระโถนแตกเปรี้ยงดัง สมเด็จเทศน์ผสมซ้ำ แก้ลักษณะโทโสว่า สัปปรุสดูซิ เห็นไหมๆ เจ้าคุณพิมลธรรมองค์นี้ ท่านดีแต่ชอบคำเพราะๆ แต่พอได้ยินเสียงด่า ก็เกิดโทโสโอหัง เพราะ อนิฐารมณ์ รูปร่างที่ไม่อยากจะดู มากระทบนัยน์ตา เวียงที่ไม่น่าฟังมากระทบหู กลิ่นที่ไม่น่าดมมากระทบจมูก รสที่ไม่น่ากินมากระทบลิ้น สัมผัสความกระทบถูก มากระทบถึงกาย ความคิดที่ไม่สมคิดผิดหมายมากระทบใจ ให้เป็นมูลมารับ เกิดสัมผัสชาเวทนาขึ้นภายใน สำรวมไม่ทันจึงดันออกข้างนอก ให้คนอื่นเขารู้ว่าโกรธ ดังเช่นเจ้าคุณพิมลธรรม เป็นตัวอย่าง ถ้าเขายอท่านว่า พระเดชพระคุณแล้วท่านยิ้ม พอเขาด่าก็โกรธ โทโสเกิดในทวาร ๖ เพราะถูกกระทบกระเทือนสิ่งที่เป็นอนิฐารมณ์ไม่พอใจ ก็เกิดโกรธ แต่โทโสก็ไม่มีอำนาจกดขี่เจ้าของเลย เว้นแต่เจ้าของโง่ เผลอสติ เช่นพระพิมลธรรมถึกนี้ โทโสจึงกดขี่ได้ ถ้าฉลาดแล้ว ระวังตั้งสติไม่พลุ่มพล่าม โทโสเป็นสหชาติเกิดกับด้วยจิต ไม่ได้ติดอยู่กับใจ ถึงเป็นรากเหง้าเค้ามูลก็จริง แต่เจ้าของไม่นำพา หรือคอยห้ามปรามข่มขู่ไว้ โทโสก็ไม่เกิดขึ้นได้ เปรียบเช่นพืชพันธุ์เครื่องเพาะปลูก เจ้าของอย่าเอาไปดอง อย่าเอาไปแช่ อย่าเอาไปหมักในที่ฉำแฉะแล้ว เครื่องพืชพันธุ์ เพาะปลูกทั้งปวงไม่ถูกขึ้นแล้วงอกไม่ได้ โทโสก็เช่นกัน ถ้าไม่รับให้กระทบถูกแล้ว โทโสก็ไม่เกิดขึ้นได้ ดูแต่ท่านเจ้าถึกเป็นตัวอย่าง ตัวท่านเป็นเพศพระ ครั้นท่านขาดสังวรท่านก็กลายเป็นพระ กระโถนเลยพลอยแตกโพละ เพราะโทโสของท่าน ท่านรับรองยึดถือทำให้มูลแฉะชื้น จงจำไว้ทุกคนเทอญ

    หมายเหตุภาพเป็นรูปปั้นของ คุณยายแฟงเจ้าของ วัดคณิกาผล
    ที่มาhttp://palungjit.org/threads/เพียง๑๐๐บาทร่วมบุญปิดสมเด็จพระพุฒาจารย์โต๖๙นิ้ว.548123/
     

แชร์หน้านี้

Loading...