สร้างบุญเอาไว้ดี ย่อมได้เกิดในที่ดี

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย tamsak, 1 กุมภาพันธ์ 2010.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. tamsak

    tamsak ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กันยายน 2004
    โพสต์:
    7,857
    กระทู้เรื่องเด่น:
    22
    ค่าพลัง:
    +161,173
    ในเรื่องของบุญเกี่ยวกับสถานที่ ถ้าหากว่าสร้างบุญไว้ดี ก็ได้เกิดในที่ที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เคารพบูชา บางคนต้องตะเกียกตะกายไปไกล บางคนก็เกิดที่ข้างรั้ววัดนี่เอง


    บุคคลที่สร้างบุญเอาไว้ดี ก็เกิดในที่ที่เหมาะสม อยู่ใกล้พุทธสถานที่สำคัญ หรือว่าใกล้พระพุทธรูปที่สำคัญ
    นึกถึงนางฟ้าปูทะเล สมัยนางฟ้าปูทะเลเป็นมนุษย์ เธอชอบไปนั่งมองมณฑปแก้ว นั่งมองไปก็สบายใจ ทั้งๆ ที่ตัวเองมีอาชีพขายปู ปรากฏว่าตายไปแล้วไปเป็นนางฟ้า มีวิมานเป็นเพชรทั้งหลังเลย เพราะใจไปยึดมณฑปแก้ว ท่านที่อยู่ใกล้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ก็เลยค่อนข้างจะได้เปรียบกว่าคนอื่น ถ้าเราอยู่ใกล้ มีความเคารพศรัทธาเลื่อมใสจริงๆ เราสามารถที่จะไปกราบไหว้บูชาได้ทุกวัน

    เรื่องนี้ขอชื่นชมคนพม่าแบบไม่ปิดไม่บังเลย คนพม่าไม่ว่าจะสร้างวัดสร้างเจดีย์อยู่ที่ไหนก็ตาม จะมีคนดูแลปัดกวาดทำความสะอาด และใช้งานอยู่ตลอด ไม่มีการทำแล้วทิ้งแบบของเรา จะสร้างหลังเล็กหลังใหญ่ขนาดไหนก็ตาม เขาเข้าไปไหว้บูชาตลอด อย่างเจดีย์วัดท่าขนุน พวกมอญ พวกพม่าเดินขึ้นไปไหว้อยู่ทุกวัน แต่คนไทยเองจะขึ้นแต่ละทีไปเกี่ยงว่า บันไดตั้งสองร้อยกว่าขั้น พวกชาวมอญ ชาวพม่าเขาขึ้นไปก็จุดธูปจุดเทียน บางทีก็ไหม้องค์พระไปด้วยเพราะไปปักเอาตรงตักพระ แต่นั่นต้องให้อภัย เพราะเจตนาเขาจะเอาบุญ เพียงแต่ว่าเขาจุดเทียนไปแล้ว มากๆ เข้า ก็ล้มทับไหม้องค์พระ ก็ดีเหมือนกัน ทำให้พระดูเก่า...ดูขลัง..!

    คนพม่าเวลาสร้างศาสนสถานไว้ที่ไหน ใกล้ไกลก็ตาม เขาไปกราบไหว้ ไปสวดมนต์กันทุกวัน เขาไม่ได้ทำแล้วทิ้งเฉย ๆ เหมือนอย่างเรา ทีนี้ถ้าพวกเราสามารถทำอย่างนั้นได้จะดีมากๆ เคยเห็นคุณยายแก่ๆ พอไปถึงแกก็ตัดเอากิ่งไม้ข้างๆ นั่นแหละ มามัดรวมๆ กันสัก ๗ - ๘ ยอด ทำเป็นไม้กวาด แล้วแกก็เริ่มกวาด พอกวาดเสร็จเรียบร้อย แกก็ไปสวดมนต์ ถ้าเราทำอย่างนั้นได้ทุกวัน เอาแค่หิ้งพระในบ้านเรา ไม้ขนไก่สักอัน ถึงเวลาก็ปัดฝุ่น ปัดฝุ่นเสร็จก็ค่อยสวดมนต์ไหว้พระ ไม่ใช่รอปีหนึ่ง สงกรานต์แล้วค่อยทำความสะอาด บางคนสองปีก็ไม่เคยทำความสะอาดเลย

    จึงได้บอกว่าเรื่องการปฏิบัติ เขาถือจริงจังขนาดนั้น ให้ความเคารพทุกที่ เขาเห็นว่าเจดีย์หรือศาสนสถานอะไรก็ตาม คือ ตัวแทนของพระรัตนตรัยทั้งหมด ตัวอนุสติของเขาแน่นกว่าของเรามาก เขากราบได้ทุกที่ เขาไหว้ได้ทุกที่ ไม่จำเป็นว่าต้องไปเฉพาะวัดสำคัญ

    ดูแล้วก็เปรียบเทียบ เห็นข้อดีของเขาแล้วเอามาใช้งาน ถ้าหากเป็นข้อด้อยของเราก็พยายามแก้ไข ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็จะก้าวหน้า ตัวนี้แหละสัมมัปปธาน ๔ เพียรสร้างความดี เพียรรักษาความดี เพียรขับไล่ความชั่ว เพียรระมัดระวังอย่าให้ความชั่วเกิดขึ้น

    ไปพระบรมธาตุอินทร์แขวน มีวิธีขึ้นหลายวิธีด้วยกัน อย่างแรกคือ นั่งรถรวดเดียวจากข้างล่างขึ้นไปข้างบนเลย ค่ารถแพงกว่าปกติหนึ่งเท่าตัว เส้นทางทั้งหมด ๘ ไมล์ ราวๆ เกือบ ๑๓ กิโลเมตร

    ไมล์ที่ ๑ - ๗ ถ้าสมมติราคา ๕๐๐ จั๊ต ไมล์สุดท้ายบวกอีก ๕๐๐ จั๊ต หรือไม่เขาก็ส่งเราแค่ไมล์ที่ ๗ แล้วเราก็เดินต่อ ส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธีนี้ คราวนี้ช่วงไมล์สุดท้ายนั้นมีหลายอย่าง อย่างแรกคือเดินขึ้นไปเอง อย่างที่สองก็นั่งแคร่ มีคนหามให้ อย่างที่สามก็ให้เขาแบกกระเป๋าขึ้นไปให้ แล้วเราเดินตัวเปล่า อาตมาเจออย่างที่สี่จนได้ เขาแบกกระเป๋าให้ แล้วคนเดินไปไม่ไหว ท้ายสุดก็เลยเอาคนใส่ตะกร้าไปด้วย เขาเก่งจริงๆ แบกคนไปด้วย..!

    ตอนแรกอาตมาก็คิดว่าเรานั่งแคร่ดีกว่า เพราะว่าตอนนั้นแคร่หาม ๔ คน ราคา ๑,๐๐๐ จั๊ต (สมัยนั้นเทียบเงินไทยเท่ากับร้อยกว่าบาท) กำลังจะเดินไปถามว่า หามแคร่ราคาเท่าไร ก็เจอคนเดินตัดหน้าไป บุคคลนี้เขาใช้ไม้เท้าสองข้าง มีขาอยู่แค่หัวเข่า เขาเอาผ้าพันหัวเข่าเสียหนาเลย เดินขึ้นไปข้างบน พอขยับไปไกลอีกหน่อย ตายละหว่า..คุณยาย ตาบอดด้วย ผมขาวทั้งหัวเลย ให้หลานสองคนจูงเดินขึ้นไป อารมณ์จะนั่งแคร่นี่หายเกลี้ยงเลย เดินดีกว่า ถ้าไม่เดินเสียหมาแน่..! พอเห็นลักษณะอย่างนั้นแล้วทำให้ฮึด ในเมื่อเขาไปได้ เราต้องไปได้

    ถาม : คนที่เดินขึ้นกับคนที่นั่งแคร่ขึ้น ต่างกันอย่างไรคะ ?

    ตอบ : ความมุ่งมั่นต่างกัน คนที่เดินขึ้นแสดงว่าบารมีเขาสูงกว่า เขารู้สึกดีที่ได้เดินขึ้นไปถวายพุทธบูชาต่อองค์พระเจดีย์ ด้วยความเพียรพยายามของตัวเอง จะมีอยู่จำนวนมากด้วยกัน ที่เดินจากที่พักข้างล่างขึ้นไป เขาจะเดินกันตอนกลางคืน เพราะอากาศเย็นสบาย


    พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
    เทศน์ช่วงเย็น ณ บ้านอนุสาวรีย์
    วันอาทิตย์ที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๓



    ที่มา : http://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=1550



    .
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...