สร้างบุญเอาไว้ดี ย่อมได้เกิดในที่ดี

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย กุศโลบาย, 12 มีนาคม 2014.

  1. กุศโลบาย

    กุศโลบาย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 ธันวาคม 2013
    โพสต์:
    323
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +4,604
    สร้างบุญเอาไว้ดี ย่อมได้เกิดในที่ดี

    [​IMG]

    ในเรื่องของบุญเกี่ยวกับสถานที่ ถ้าหากว่าสร้างบุญไว้ดี ก็ได้เกิดในที่ที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เคารพบูชา บางคนต้องตะเกียกตะกาย...ไปไกล บางคนก็เกิดที่ข้างรั้ววัดนี่เอง

    บุคคลที่สร้างบุญเอาไว้ดี ก็เกิดในที่ที่เหมาะสม อยู่ใกล้พุทธสถานที่สำคัญ หรือว่าใกล้พระพุทธรูปที่สำคัญ นึกถึงนางฟ้าปูทะเล สมัยนางฟ้าปูทะเลเป็นมนุษย์ เธอชอบไปนั่งมองมณฑปแก้ว นั่งมองไปก็สบายใจ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองมีอาชีพขายปู ปรากฏว่าตายไปแล้วไปเป็นนางฟ้า มีวิมานเป็นเพชรทั้งหลังเลย เพราะใจไปยึดมณฑปแก้ว ท่านที่อยู่ใกล้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ก็เลยค่อนข้างจะได้เปรียบกว่าคนอื่น ถ้าเราอยู่ใกล้ มีความเคารพศรัทธาเลื่อมใสจริง ๆ เราสามารถที่จะไปกราบไหว้บูชาได้ทุกวัน

    เรื่องนี้ขอชื่นชมคนพม่าแบบไม่ปิดไม่บังเลย คนพม่าไม่ว่าจะสร้างวัดสร้างเจดีย์อยู่ที่ไหนก็ตาม จะมีคนดูแลปัดกวาดทำความสะอาด และใช้งานอยู่ตลอด ไม่มีการทำแล้วทิ้งแบบของเรา จะสร้างหลังเล็กหลังใหญ่ขนาดไหนก็ตาม เขาเข้าไปไหว้บูชาตลอด อย่างเจดีย์วัดท่าขนุน พวกมอญ พวกพม่าเดินขึ้นไปไหว้อยู่ทุกวัน แต่คนไทยเองจะขึ้นแต่ละทีไปเกี่ยงว่า บันไดตั้งสองร้อยกว่าขั้น พวกชาวมอญ ชาวพม่าเขาขึ้นไปก็จุดธูปจุดเทียน บางทีก็ไหม้องค์พระไปด้วยเพราะไปปักเอาตรงตักพระ แต่นั่นต้องให้อภัย เพราะเจตนาเขาจะเอาบุญ เพียงแต่ว่าเขาจุดเทียนไปแล้ว มาก ๆ เข้า ก็ล้มทับไหม้องค์พระ ก็ดีเหมือนกัน ทำให้พระดูเก่า...ดูขลัง..!

    คนพม่าเวลาสร้างศาสนสถานไว้ที่ไหน ใกล้ไกลก็ตาม เขาไปกราบไหว้ ไปสวดมนต์กันทุกวัน เขาไม่ได้ทำแล้วทิ้งเฉย ๆ เหมือนอย่างเรา ทีนี้ถ้าพวกเราสามารถทำอย่างนั้นได้จะดีมาก ๆ เคยเห็นคุณยายแก่ ๆ พอไปถึงแกก็ตัดเอากิ่งไม้ข้าง ๆ นั่นแหละ มามัดรวม ๆ กันสัก ๗ - ๘ ยอด ทำเป็นไม้กวาด แล้วแกก็เริ่มกวาด พอกวาดเสร็จเรียบร้อย แกก็ไปสวดมนต์ ถ้าเราทำอย่างนั้นได้ทุกวัน เอาแค่หิ้งพระในบ้านเรา ไม้ขนไก่สักอัน ถึงเวลาก็ปัดฝุ่น ปัดฝุ่นเสร็จก็ค่อยสวดมนต์ไหว้พระ ไม่ใช่รอปีหนึ่ง สงกรานต์แล้วค่อยทำความสะอาด บางคนสองปีก็ไม่เคยทำความสะอาดเลย

    จึงได้บอกว่าเรื่องการปฏิบัติ เขาถือจริงจังขนาดนั้น ให้ความเคารพทุกที่ เขาเห็นว่าเจดีย์หรือศาสนสถานอะไรก็ตาม คือ ตัวแทนของพระรัตนตรัยทั้งหมด ตัวอนุสติของเขาแน่นกว่าของเรามาก เขากราบได้ทุกที่ เขาไหว้ได้ทุกที่ ไม่จำเป็นว่าต้องไปเฉพาะวัดสำคัญ

    ดูแล้วก็เปรียบเทียบ เห็นข้อดีของเขาแล้วเอามาใช้งาน ถ้าหากเป็นข้อด้อยของเราก็พยายามแก้ไข ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็จะก้าวหน้า
    ตัวนี้แหละสัมมัปปธาน ๔ เพียรสร้างความดี เพียรรักษาความดี เพียรขับไล่ความชั่ว เพียรระมัดระวังอย่าให้ความชั่วเกิดขึ้น

    ไปพระบรมธาตุอินทร์แขวน มีวิธีขึ้นหลายวิธีด้วยกัน อย่างแรกคือ นั่งรถรวดเดียวจากข้างล่างขึ้นไปข้างบนเลย ค่ารถแพงกว่าปกติหนึ่งเท่าตัว เส้นทางทั้งหมด ๘ ไมล์ ราว ๆ เกือบ ๑๓ กิโลเมตร

    ไมล์ที่ ๑ - ๗ ถ้าสมมติราคา ๕๐๐ จั๊ต ไมล์สุดท้ายบวกอีก ๕๐๐ จั๊ต หรือไม่เขาก็ส่งเราแค่ไมล์ที่ ๗ แล้วเราก็เดินต่อ ส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธีนี้ คราวนี้ช่วงไมล์สุดท้ายนั้นมีหลายอย่าง อย่างแรกคือเดินขึ้นไปเอง อย่างที่สองก็นั่งแคร่ มีคนหามให้ อย่างที่สามก็ให้เขาแบกกระเป๋าขึ้นไปให้ แล้วเราเดินตัวเปล่า อาตมาเจออย่างที่สี่จนได้ เขาแบกกระเป๋าให้ แล้วคนเดินไปไม่ไหว ท้ายสุดก็เลยเอาคนใส่ตะกร้าไปด้วย เขาเก่งจริง ๆ แบกคนไปด้วย..!

    ตอนแรกอาตมาก็คิดว่าเรานั่งแคร่ดีกว่า เพราะว่าตอนนั้นแคร่หาม ๔ คน ราคา ๑,๐๐๐ จั๊ต (สมัยนั้นเทียบเงินไทยเท่ากับร้อยกว่าบาท) กำลังจะเดินไปถามว่า หามแคร่ราคาเท่าไร ก็เจอคนเดินตัดหน้าไป บุคคลนี้เขาใช้ไม้เท้าสองข้าง มีขาอยู่แค่หัวเข่า เขาเอาผ้าพันหัวเข่าเสียหนาเลย เดินขึ้นไปข้างบน พอขยับไปไกลอีกหน่อย ตายละหว่า..คุณยาย ตาบอดด้วย ผมขาวทั้งหัวเลย ให้หลานสองคนจูงเดินขึ้นไป อารมณ์จะนั่งแคร่นี่หายเกลี้ยงเลย เดินดีกว่า ถ้าไม่เดินเสียหมาแน่..! พอเห็นลักษณะอย่างนั้นแล้วทำให้ฮึด ในเมื่อเขาไปได้ เราต้องไปได้

    ถาม : คนที่เดินขึ้นกับคนที่นั่งแคร่ขึ้น ต่างกันอย่างไรคะ ?
    ตอบ : ความมุ่งมั่นต่างกัน คนที่เดินขึ้นแสดงว่าบารมีเขาสูงกว่า เขารู้สึกดีที่ได้เดินขึ้นไปถวายพุทธบูชาต่อองค์พระเจดีย์ ด้วยความเพียรพยายามของตัวเอง จะมีอยู่จำนวนมากด้วยกัน ที่เดินจากที่พักข้างล่างขึ้นไป เขาจะเดินกันตอนกลางคืน เพราะอากาศเย็นสบาย

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม วัดท่าขนุน
    เทศน์ช่วงเย็น ณ บ้านอนุสาวรีย์
    วันอาทิตย์ที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๓
     

แชร์หน้านี้

Loading...