สืบสานถิ่นวิถีไทย :การคล้องช้างแต่โบราณ / ช้างกับคนไทย

ในห้อง 'เรื่องผี' ตั้งกระทู้โดย วงกรตน้ำ, 7 มกราคม 2017.

  1. วงกรตน้ำ

    วงกรตน้ำ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 เมษายน 2015
    โพสต์:
    810
    กระทู้เรื่องเด่น:
    12
    ค่าพลัง:
    +2,432
    อาชีพซึ่งสืบต่อกันมาเป็นทอดๆ จากบรรพบุรุษของพวกส่วย ซึ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมเขมรที่อาศัยอยู่ในเขตอีสานใต้

    หมอช้าง คือผู้ที่จะออกไปจับช้าง มีหลายระดับตามผลงานในการจับช้าง “หมอจ่า” คือหมอช้างใหม่ มีผลงานในการจับช้างได้เชือกสองเชือก ระดับต่อไปที่จับช้างได้จำนวนมากขึ้นเรียกว่า “หมอเสดียง” หมอระดับสูงขั้นรองหัวหน้าเรียกว่า “หมอสดำ” และหัวหน้าหมอช้างซึ่งเป็นหมอที่มีอาวุโสและชำนาญในการจับช้างมากที่สุด เรียกว่า “หมอเฒ่า” หรือ “ครูบาเฒ่า” จะเป็นหัวหน้าในการออกไปจับช้างแต่ละครั้ง

    หมอช้างมีเครื่องมือที่ใช้ในการโพนช้างหลายชนิด เครื่องมือหลักๆ ได้แก่ เชือกบาศหรือเชือกปะกำใช้สำหรับผูกมัดช้างหลังจากที่คล้องได้ ทำจากหนังควาย จึงมีความเหนียวและทนทานมาก ไม้คันจามและบ่วงบาศใช้สำหรับคล้องเท้าช้าง ทามคอเป็นเชือกหนังที่ทำเป็นเงื่อนเลื่อนได้ใช้สำหรับรัดคอช้าง หากช้างยิ่งดิ้นมาก เชือกจะรัดแน่นขึ้น ตามช่องเชือกจะมีไม้เสี้ยมเป็นหนามแหลมซึ่งจะทิ่มแทงช้างให้เจ็บปวด ทำให้ช้างป่าต้องสงบลง สะเนงเกล ทำจากเขาควาย ใช้เป่าเป็นสัญญาณในการออกเดินทางไปจับช้างป่า และงก เป็นไม้รูปร่างคล้ายค้อน แต่ตรงกลางหัวค้อนทำเป็นปุ่มแหลมสำหรับควาญช้างใช้ตีท้ายเมื่อต้องการให้ช้างวิ่ง

    การโพนช้างทำได้ปีละ 3 ครั้ง คือระหว่างเดือนพฤษภาคม กรกฎาคมและพฤศจิกายน ในฤดูแล้งไม่เหมาะแก่การโพนช้างเพราะกันดารน้ำ ไม่สะดวกแก่การรอนแรมในป่าและช้างป่าก็มักไปเที่ยวหากินกันไกลๆ นอกจากนี้ อากาศร้อนจะทำให้ช้างอิดโรยและช้างป่าที่จับได้ก็จะบอบช้ำมากจนอาจล้มตายลงได้ ส่วนฤดูหนาว ช้างมักจะตกมัน ไม่เหมาะแก่การโพนช้าง

    ก่อนจะยกขบวนไปโพนช้าง หมอช้างจะต้องทำพิธียกหมอ หาฤกษ์ยามให้ได้วันดีมีโชค โดยมีครูบาเฒ่าเป็นผู้อำนวยการพิธี เมื่อปลูกโรงทำพิธีแล้วจึงก่อไฟขึ้นสามกอง หมอช้างทั้งหลายนั่งล้อมวงกัน ที่กลางวงตั้งเชือกบาศหรือสายปะกำ หลังจากจุดธูปเทียนบูชาพระพิฆเณศวรและสิ่งศักดิ์สิทธิ์และถวายเครื่องกระยาบวชแล้ว ครูบาเฒ่าจะกล่าวคำยกหมอแล้วหมอช้างจะว่าตามพร้อมกัน คำกล่าวโดยย่อคือบูชาครูผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ขอให้มาครอบให้มีความชำนาญในการคล้องช้าง ให้ได้ช้างป่าที่ดี ให้มีโชคลาภและปฏิญาณว่าในการโพนช้างจะไม่ฆ่าไม่ยิงช้าง

    7080603.jpg
    เมื่อกล่าวคำเสร็จแล้ว ครูบาเฒ่าจะพรมน้ำมนต์และให้หมอช้างทุกคนอมน้ำซึ่งผสมด้วยมูลช้างและพ่นลงที่เชือกบาศ เสร็จแล้วมีพิธีขี่ช้างรอบเพิงพิธี ทำท่าคล้องช้างและกล่าวคำที่เป็นมงคลต่างๆ แล้วจึงทำพิธีหุงข้าวที่กองไฟทั้งสามกอง หลังจากนั้น หมอช้างยกขันล้างหน้า ผ้าขาวและเงินหกสลึงให้เป็นสิทธิ์แก่ครูบาเฒ่าแล้วเตรียมออกเดินทาง โดยนำเชือกบาศ เครื่องใช้ต่างๆ และเสบียงอาหารขึ้นหลังช้าง หมอช้างขึ้นขี่คอช้าง ควาญขี่ท้ายช้าง เสียงเป่าสะเนงเกลจะดังกังวานไปทั่วหมู่บ้านเมื่อขบวนช้างเริ่มออกเดินทางเป็นทิวแถวจากหมู่บ้านไปสู่ป่าเขาลำเนาไพร

    ก่อนออกเดินทางครูบาเฒ่าแนะนำภรรยาของหมอช้างที่อยู่ทางบ้านให้ถือเคล็ดไม่ตัดผม ไม่ใส่น้ำมันผมและไม่แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่ ตลอดจนพวกหมอช้างและควาญช้างก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับภรรยา ถ้าใครมีผ้าใหม่ ก็มักเอาไฟจุดให้เป็นรูเสีย ถ้าฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามนี้ ถือว่าเป็นลางไม่ดี นอกจากนี้ หมอควาญช้างจะต้องพูดกันด้วยภาษาโพนซึ่งฟังดูคล้ายภาษามอญหรือเขมร จะพูดภาษาไทยธรรมดาไม่ได้

    เมื่อเดินทางถึงป่า ต้องทำพิธีเซ่นสรวงเจ้าป่าและผีปะกำก่อน คือเอาเชือกบาศหรือเชือกปะกำของช้างต่อทุกตัววางกองที่กลางแจ้ง แล้วจุดธูปเทียนบูชาพร้อมด้วยเครื่องกระยาบวช เมื่อบูชาเสร็จแล้ว ต้องทำพิธีเสี่ยงคางไก่ อธิษฐานแล้วจึงถอดกระดูกคางไก่ออกตรวจดู ถ้าคางไก่ยาวเรียวงอนอย่างงาช้าง ข้อกระชั้น ก็จะทำนายว่ามีโชคชัย แต่ถ้าคางไก่หักหรือข้อห่าง ทำนายว่าจะไม่ประสบโชคหรืออาจถูกช้างป่าทำอันตรายได้ จากนั้น ก็เลือกสถานที่พักแรมซึ่งมักเลือกที่ใกล้หนองน้ำที่มีหญ้าหรือใบไม้พอให้ช้างต่อกินและต้องไม่ห่างจากที่ที่จะไปโพนช้าง

    7080604.jpg
    ครั้นถึงเวลาเช้า หมอช้างและควาญช้างจะต้องออกสำรวจดูว่าช้างป่าออกหากินที่ใดบ้าง โดยตรวจดูร่องรอยตามชายป่าดงที่ใกล้หนองน้ำหรือที่มีหญ้า เมื่อทราบว่าช้างป่าออกหากินที่ใดแล้ว ตอนพลบค่ำหมอช้างและควาญช้างก็นำช้างต่อออกเดิน เมื่อเข้าใกล้ช้างป่าแล้ว ช้างต่อจะแสดงอาการให้ทราบ โดยยกงวงชูไปทางทิศที่ช้างอยู่ หมอช้างและควาญจะเตรียมการโพนช้างโดยใช้เถาวัลย์ถูบ่วงบาศเพื่อให้ลื่นและรูดง่าย ผูกบ่วงบาศติดกับคันจาม ควาญถืองกตีช้างต่อ ช้างต่อจะรู้ตัวทันทีว่าจะต้องผจญศึกหนัก มักจะเกิดความกลัวจนถ่ายปัสสาวะถ่ายมูลอยู่บ่อยๆ ยิ่งใกล้เข้าไป ก็ยิ่งถ่ายมาก

    ถ้าบังเอิญลมพัดหวน จนกระทั่งช้างป่าได้กลิ่นแปลกปลอม ช้างป่าตัวที่เป็นแม่โขลงจะทิ้งงวงลงที่ดินเสียงดังปร๋อง ช้างป่าตัวอื่นๆ พอได้ยินเสียงแม่โขลงทำอาการดังนั้น ก็จะยืนสงบนิ่งไม่กินหญ้า หูแทบจะไม่กระดิกเพื่อคอยระวังศัตรู เมื่อแม่โขลงแน่ใจว่าเป็นกลิ่นคนก็จะร้องแอ๊กๆ ขึ้น แล้วรีบออกเดินนำโขลงเข้าดงไป ช้างต่อไม่สามารถตามเข้าไปได้

    แต่หากช้างต่อเข้าใต้ลม ช้างป่าจะไม่ได้กลิ่นและสามารถเข้าไปได้ใกล้มาก พอช้างป่าได้กลิ่นหรือเห็นคนก็จะออกวิ่งหนี หมอช้างก็จะไสช้างต่อออกวิ่งไล่ตาม ในระหว่างที่ไล่ตามช้างป่าอยู่นี้ หมอช้างจะต้องตรวจดูโขลงช้างว่าช้างตัวใดบ้างที่พอจะคล้องได้ ส่วนมากมักเลือกช้างพลายสูงขนาด 3 ศอกเศษ งาพ้นพรายปากประมาณหนึ่งฝ่ามือ เมื่อต้องการตัวใด หมอช้างก็จะนำช้างต่อวิ่งไล่ไปอย่างกระชั้นชิด

    ในระหว่างที่ไล่ติดพัน จะมีอันตรายรอบด้าน เช่น ต้องต่อสู้กับแม่โขลงบ้าง กับช้างป่าที่จะคล้องบ้าง หรือบางทีช้างป่าวิ่งไล่ตามมาข้างหลัง ก็จะเอางวงกวาดคนบนหลังช้างต่อลงดินหมด หมอช้างและควาญช้างจึงต้องระวังตัวรอบด้าน ถ้าเห็นช้างป่าไล่มาข้างหลัง ต้องหันช้างต่อเข้ารับ โดยช้างต่อจะช่วยป้องกันคนที่อยู่บนหลังได้เป็นอย่างดี

    เมื่อช้างต่อวิ่งไล่ทันช้างป่าตัวที่จะคล้องได้ระยะพอเหมาะแล้ว หมอช้างจะใช้ไม้คันจามที่ผูกติดกับบ่วงบาศยื่นสอดเข้าไปใต้ท้องช้างระหว่างเท้าหลังกับเท้าหน้า ในขณะที่หมอช้างโน้มตัวจะคล้องช้างป่านี้ ควาญช้างจะต้องคอยตีช้างต่อให้วิ่งเร็วเท่ากับช้างป่า เมื่อดูระยะให้พอเหมาะกับการคล้องแล้ว จะสอดไม้คันจามเข้าไปใต้ท้องช้างให้บ่วงบาศอยู่ระดับพื้นดิน ได้ระยะกับเท้าหลังของช้างป่าที่จะก้าวสอดเข้าไปเพราะบ่วงบาศนั้นดัดปลายงอนคอยรับเท้าช้างที่จะสอดลงไปอยู่แล้ว

    7080605.jpg
    พอคล้องติด หมอช้างจะกระชากเชือกบาศให้บ่วงรูดเข้ากระชับกับเท้าช้าง แล้วเอี้ยวตัวไสช้างต่อให้เบนไปข้างซ้ายขวางตัว เพื่อให้เชือกปะกำบนหลังช้างที่ม้วนอยู่คลี่กระจายออก พอถึงปลายเชือกก็จะเบนช้างต่อกลับตรงกันข้ามกับช้างป่าเพื่อให้มีกำลังดึงปลายเชือกที่ผูกติดกับทามที่คอช้างต่อ กล่าวกันว่าเมื่อหมอช้างคล้องติดแล้วเอี้ยวตัวเบนช้างต่อนั้นเป็นท่าที่สง่างามน่าดูนัก แต่ถ้าทำไม่ถูกท่า อาจถูกเชือกบาศที่ช้างป่าวิ่งดึงไปนั้นกวาดตกจากหลังช้างต่อได้

    เมื่อช้างป่าถูกดึงตึงแล้วก็จะล้มลุกคลุกคลานและดึงอยู่ตลอดไป ถ้าช้างป่าที่ถูกคล้องเป็นช้างขนาดใหญ่กว่าเกณฑ์ที่กำหนด ก็จะต้องคล้องอีกเท้าหนึ่งด้วยจึงจะอยู่ ช้างป่าที่ถูกคล้องนั้นดึงด้วยกำลังเท้าเพื่อดิ้นรนสู่อิสรภาพ แต่ก็ย่อมสู้ช้างต่อซึ่งดึงด้วยสายทามที่ผูกติดกับคอไม่ได้

    ในขณะที่ลูกช้างป่าถูกคล้องติดนั้น แม่ช้างหรือแม่โขลงมักจะเข้ามารังควานช้างต่อ หรือไม่ก็จะวิ่งร้องไปรอบๆ ช้างที่ถูกคล้อง ถ้าช้างต่อเป็นช้างใหญ่มีกำลังมาก แม่ช้างหรือแม่โขลงก็จะเกรงกลัวหนีไป แต่ถ้าขนาดตัวย่อมสักหน่อย ก็ต้องเตรียมต่อสู้กับแม่โขลงหรือแม่ช้าง

    เมื่อช้างป่าหนีไปหมดแล้ว ก็ต้องนำปลายเชือกที่ผูกช้างป่าไปผูกกับต้นไม้ค้างไว้หนึ่งคืน และคอยดูแลไม่ไห้ช้างโขลงมารบกวน เมื่อเห็นว่าช้างป่าหมดกำลังดึงแล้ว จึงนำช้างป่ากลับไปที่พัก ในการนำช้างป่ากลับที่พักแรมในป่านั้น หมอช้างสองคนจะขี่ช้างต่อคนละเชือกเข้าเทียบขนาบช้างป่าแล้วช่วยกันเอาทามคล้องคอช้างป่า การโยนทามคล้องคอช้างป่านั้นมิใช่ของง่ายเพราะช้างป่าจะไม่ยอมให้คล้องโดยดี เมื่อคล้องทามที่คอได้แล้ว ต้องผูกให้แน่น แล้วเอาเชือกบาศผูกติดกับสายทามคอช้างต่อ ใช้กำลังช้างต่อดึงให้ออกเดินทางกลับที่พักแรม

    ในเวลากลางคืนจะต้องผูกช้างป่าไว้กับต้นไม้ ครูบาเฒ่าทำน้ำมนต์รดช้างป่าเพื่อปัดรังควาน ในตอนเช้าก็ผูกเชือกติดกับคอช้างต่อพาออกไปหากิน ช้างป่าที่ผูกติดกันนี้เรียกว่า ลูกคอ และจะต้องค่อยฝึกหัดไปวันละเล็กวันละน้อยจนกว่าจะเชื่องและใช้ขับขี่ได้

    7080606.jpg
    การจับช้างป่าอีกวิธีหนึ่งคือการคล้องช้าง คือการต้อนช้างป่าเข้ามาในคอกหรือที่เรียกว่า เพนียด แล้วเลือกคล้องเอาตามความต้องการ ก่อนที่จะต้อนช้างป่าเข้าเพนียดได้นั้น จำเป็นต้องส่งช้างต่อเข้าไปในป่าประมาณ 11-12 เชือก ช้างต่อเป็นช้างพังทั้งสิ้นและได้รับการฝึกหัดในการล่อช้างป่าไว้แล้วเป็นอย่างดีและยังมีช้างนำอีกหลายเชือก บนหลังช้างจะมีกิ่งไม้มัดใหญ่ซึ่งมีควาญช้างซ่อนตัวอยู่

    เมื่อช้างต่อเข้าไปถึงป่าที่มีช้างป่า ช้างพลายป่าจะเข้าคลอเคลียกับช้างต่อ ควาญช้างก็จะให้สัญญาณแก่ช้างที่ขี่อยู่นั้นให้กลับโดยบ่ายหน้าตรงเข้าสู่เพนียด ช้างต่อจะค่อยๆ เดินไปช้าๆ แวะกินใบไม้ใบหญ้าตามทางไปอย่างปกติ ช้างป่าก็จะตามกระชั้นเรื่อยมาวันละเล็กวันละน้อย พอถึงเพนียด ก็จะเดินนำหน้าโขลงเข้าเพนียดไปก่อน ช้างป่าทั้งหลายก็จะติดตามเข้าไป เมื่อช้างทั้งหมดเข้าไปในเพนียดแล้ว บานประตูก็จะเลื่อนปิดขังช้างไว้ข้างในเพนียด

    ต่อจากนั้น ช้างพลายก็จะถูกกันไปไว้ตอนหนึ่ง ส่วนช้างพังจะถูกปล่อยออกไปทีละเชือกจนเหลือน้อยลง ช้างพลายป่าจะโกรธวิ่งวนไปรอบๆ เพนียดเพื่อหาทางออก แต่เมื่อออกไม่ได้ก็จะเกิดต่อสู้กันเอง ทันใดนั้นประตูคอกเล็กจะเปิดออกและมีช้างพลายเชื่องๆ เชือกหนึ่งมาล่ออยู่นอกคอก

    7080607.jpg
    ช้างป่ากำลังโกรธก็จะวิ่งถลันเข้าไปในคอกเล็กเพื่อต่อสู้กับช้างต่อนั้น แต่พอช้างป่าเข้าไปในคอกเล็กยังไม่ทันสุดตัว ประตูคอกเล็กก็จะปิดลงทันที ช้างป่าจะกลับตัวก็ไม่ได้เพราะคอกเล็กพอดีกับตัว ครั้นแล้วหมอช้างก็จะเอาเชือกเข้าไปคล้องเท้าหลังของช้างป่าไว้ แล้วควาญช้างก็จะช่วยกันดึงเชือกที่ผูกเท้าช้างอยู่นั้นจนกระทั่งช้างป่าออกมาพ้นเพนียดและใช้ช้างต่อสองเชือกเข้าขนาบซ้ายขวา ควาญช้างจะใช้เชือกผูกช้างทั้งสามเข้าด้วยกันแล้วพาช้างป่าเดินไป การคล้องช้างนี้จะเลือกคล้องเฉพาะตัวที่ต้องการเท่านั้น นอกนั้นจะปล่อยไป

    ควาญช้างจะต้องพาช้างป่าไปอาบน้ำในแม่น้ำ แล้วเอาเชือกสวมคอล่ามขาเอาปลายเชือกอีกด้านหนึ่งสวมไว้กับเสาตะลุงในโรงช้าง ช้างป่าที่ถูกล่ามจะทุรนทุรายเดินไปรอบๆ เสาตะลุงจนเหนื่อยจึงจะสงบนิ่ง ควาญช้างจะต้องคอยดูแลอาบน้ำช้างป่าทุกวันและทรมานให้กินอาหารแต่เพียงเล็กน้อยพอประทังชีวิตจนกระทั่งซูบผอมลง เรี่ยวแรงก็ลดถอยลงไปด้วย จึงจะฝึกให้เชื่องเหมือนช้างเลี้ยงเชือกอื่นๆ ได้ภายในหนึ่งเดือน หลังจากนั้นก็จะได้กินอาหารเต็มที่จนอ้วนพีอย่างเดิม

    ปัจจุบัน การคล้องช้างเพนียดได้เลิกไปแล้ว คงเหลือแต่เพนียดคล้องช้างซึ่งทางการยังคงรักษาไว้ในสภาพเดิม และมีการแสดงจับช้างในเพนียดให้แขกเมืองได้ชมเป็นครั้งคราวโดยเอาช้างบ้านมาแสดงแทน แต่ความสนุกตื่นเต้นระทึกใจคงจะไม่เท่าเทียมกับชมการคล้องช้างป่าในเพนียดในอดีตกาล



    ช้างเผือกประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

    [​IMG]

    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประกอบพระราชพิธีสมโภชโรงช้างต้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2547 ณ โรงช้างต้น วังไกลกังวล ทรงพระราชทานอ้อยแก่ พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ
    พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เป็นช้างพลายเผือกโท เกิดในป่าเขตจังหวัดกระบี่ [3]เมื่อประมาณ พ.ศ. 2494 [1] ถูกคล้องได้ที่ บ้านหนองจูด ตำบลดินอุดมอำเภอลำทับ [4] จังหวัดกระบี่เมื่อ พ.ศ. 2499 โดยนายแปลก ฟุ้งเฟื่องและนายปลื้ม สุทธิเกิด(หมอเฒ่า) เป็นลูกช้างติดแม่อยู่ในโขลงช้างป่า พร้อมกับช้างอื่นๆ อีก 5 เชือกคือ พังสาคร พลายทอง พังเพียร พังวิไล และพังน้อย [5] โดยในตอนนั้นพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ได้ชื่อว่า "พลายแก้ว" [1] มีความสูง 1.60 เมตร เมื่อพระราชวังเมือง (ปุ้ย คชาชีวะ)ได้ตรวจสอบคชลักษณ์แล้วพบว่าเป็นช้างสำคัญ จึงนำมาเลี้ยงไว้ที่สวนสัตว์ดุสิต เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500

    พลโทบัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยได้นำช้างพลายแก้วขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501เพื่อประกอบพิธีขึ้นระวางเป็นช้างต้น

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้กำหนดพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างเผือกประจำรัชกาล ณ โรงช้างต้นพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502เป็นปีที่ 13 ในรัชกาลปัจจุบัน

    พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เติบโตขึ้นโดยการดูแลขององค์การสวนสัตว์ ที่สวนสัตว์ดุสิต และมีอาการดุร้ายมากขึ้นจนควาญช้างควบคุมไม่ได้ จึงต้องจับยืนมัดขาทั้งสี่ไว้กับเสา เป็นที่เกรงกลัวของบุคคลทั่วไป จนกระทั่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถมีพระราชเสาวณีย์ โปรดเกล้าฯ ให้นำพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เข้าไปยืนโรงในโรงช้างต้น ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐานซึ่งอยู่ตรงกันข้ามถนน เมื่อ พ.ศ. 2519 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชได้บันทึกไว้ว่า

    ในขณะที่นำคุณพระจากสวนสัตว์ดุสิตไปยังสวนจิตรลดา ซึ่งเพียงแต่มีถนนคั่นอยู่สายเดียวนั้น คุณพระก็อาละวาดอย่างหนัก ไม่ยอมออกเดิน เอางวงยึดต้นไม้จนต้นไม้ล้ม จนแทบจะหมดปัญญาเจ้าหน้าที่

    กว่าจะนำคุณพระจากเขาดินไปถึงประตูสวนจิตรลดา ซึ่งมองเห็นกันแค่นั้น ก็กินเวลาหลายชั่วโมง ต้องใช้คนเป็นจำนวนมากถือปลายเชือกที่ผูกไว้กับขาคุณพระทั้งสี่ขา คอยลากคอยดึง และดูเหมือนจะต้องใช้รถแทรกเตอร์เข้าช่วยขนาบข้าง เสี่ยงอันตรายกันมากอยู่ แต่ในที่สุดก็นำคุณพระไปยังประตูพระราชวังได้

    พอได้ก้าวเท้าเข้าไปในบริเวณพระราชวัง คุณพระก็เปลี่ยนไปทันที จากความดุร้ายก็กลายเป็นความสงบเสงี่ยม เดินอย่างเรียบร้อยไปสู่โรงช้างต้น และเข้าอยู่อย่างสงบเรื่อยมา [6]

    ปัจจุบัน พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ย้ายไปยืนโรง ณ โรงช้างต้น วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเคลื่อนย้ายคุณพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เมื่อวันที่ 17-18 มีนาคม พ.ศ. 2547พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีสมโภชโรงช้างต้น เมื่อวันที่24 มีนาคม พ.ศ. 2547

    เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี พ.ศ. 2549 ทรงมีกระแสพระราชดำรัสให้จัดสร้าง คชาภรณ์ หรือเครื่องทรงช้างต้นชุดใหม่ พระราชทานแก่พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เนื่องจากคชาภรณ์ชุดเดิมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ เมื่อ พ.ศ. 2502 มีสภาพเก่า และมีขนาดเล็กเกินไป โดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมรับสนองพระบรมราชโองการจัดสร้างเครื่องคชาภรณ์ชุดใหม่ ด้วยงบประมาณ 4 ล้านบาท ใช้ทองคำ 96.5 % หนักกว่า 5,953 กรัม ประกอบด้วย[7][8]

    • ผ้าปกพระพอง ทำด้วยผ้าเยียรบับ
    • ตาข่ายแก้วกุดั่น ทำด้วยทองคำ ร้อยลูกปัดเพชรรัสเซีย จำนวน 810 เม็ด
    • พู่หู จำนวน 1 คู่ ทำจากขนจามรีนำเข้าจากทิเบต
    • พระนาศ หรือผ้าคลุมหลัง ทำจากผ้าเยียรบับ
    • กันชีพ ทำด้วยผ้าสักหลาดปักดิ้น
    • เสมาคชาภรณ์ หรือ จี้ทองทำรูปใบเสมา เขียนลายนูนรูปพระมหามงกุฎครอบอุณาโลม
    • สร้อยเสมาคชาภรณ์ หรือสร้อยคอทองคำ
    เรียบเรียงจากหนังสือ ช้างไทย โดย สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2540 สำนักพิมพ์มติชน.

    บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย เทพฤทธิ์ พิณนาคิเลย์

    คำสำคัญ (keywords): เทพฤทธิ์ การจับช้างป่า เล่าขานตำนานไทย
    หมายเลขบันทึก: 307651
    เขียน: 7 ปีที่แล้ว
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 7 มกราคม 2017
  2. devotee57

    devotee57 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 ธันวาคม 2014
    โพสต์:
    228
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +556
    ยาวจัง เดี๋ยวจะรีบตามมาอ่าน ชอบช้างแต่กลัวช้างT_T ขอไปทำงานก่อนจ้า
     
  3. วงกรตน้ำ

    วงกรตน้ำ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 เมษายน 2015
    โพสต์:
    810
    กระทู้เรื่องเด่น:
    12
    ค่าพลัง:
    +2,432
    pee-nangchang1.jpg

    วิธีเล่นผีนางช้าง

    ผู้เข้าผีนางช้างต้องเป็นผู้ชาย นั่งหมอบที่พื้น มีหนังวัวรองใช้ผ้าขาวม้าผูกทำเป็นงวง และใช้ผ้าขาวม้าอีกผืนหนึ่งมัดที่เอวของผู้ที่เป็นผีนางช้าง ให้พี่เลี้ยง(ควาญช้าง) ถือไว้เพื่อควบคุมผีนางช้าง ก่อนที่จะเชิญผีนางช้างเข้าต้องมีการร้องเพลงเซ่นผีนางช้างโดยให้ผู้เข้าผีนางช้างพนมมือใบตองกรวยบรรจุเครื่องเซ่นไหว้ ประกอบด้วย หมาก 1 คำ เทียนไข 1 เล่ม เมื่อร้องเพลงเซ่นผีเสร็จ จะร้องเพลงเข้าผีนางช้างต่อไป โดยมีดนตรีไทยประกอบจังหวะ เมื่อเสียงโทนดังรัวผีนางช้างจะเข้าและไล่ตีคน และจะกินทุกอย่างที่มีคนส่งให้กิน เช่น กล้วยก็จะกินทั้งหวี เมื่อจะให้ผีนางช้างออก ใช้วิธีให้ควาญช้างตะโกนเรียกชื่อที่หู

    เพลงเชิญผีนางช้าง

    นางช้างเอย มาตกเต่าร้าง

    ช้างกินใบไผ่ วัวกินหญ้า

    ช้างมาถลาไป ผู้หญิง ผู้ชาย

    มาชายลาเฮ เฮบัวลอย

    เขาซักผ้าอ้อย สาวน้อยวนเวียน

    ให้รอคอเขียน เสมียนคอลาย

    มือถือหัวควาย โห่หิ้ว

    การเล่นผีในลักษณะนี้ของชาวไทยเบิ้ง นิยมเล่นกันในเทศกาลตรุษ สารท สงกรานต์ และยามว่างงาน สถานที่เล่นอาจจะเป็นบริเวณวัด หรือทางสามแพร่ง หรือที่ศาลเจ้าพ่อ และขณะที่ร้องเพลงเชิญผีจะต้องมีการตีโทนประกอบจังหวะด้วย

    ขอขอบคุณข้อมูลจาก ภูธร ภูมะธน. 2541. "มรดกวัฒนธรรมไทยเบิ้ง ลุ่มแม่น้ำป่าสัก" หน้า 326 และขอขอบคุณ ข้อมูลจากนางละมูล พูลหลำ วันที่ 3 กันยายน 2554
     
  4. กิ่งสน

    กิ่งสน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2012
    โพสต์:
    1,068
    ค่าพลัง:
    +2,327
    ชอบดูสารคดีที่เกี่ยวกับช้างเหมือนกัน แต่มีเรื่องที่เคยโง่โง่มาแล้ว คือ เมื่อครั้งหนึ่งมีคนมอบขนหางช้างให้แล้วไม่ค่อยรู้เรื่อง ประมาณเอามาให้ฉันทำไมนึกว่างาช้างเท่านั้นที่มีคุณค่า มารู้ทีหลังว่าขนหางช้างสามารถไล่หรือปัดสิ่งที่ไม่ดีได้ เชื่อนะเก็บใส่ถุงไว้ พอเหลือบไปดูท่านหัวหน้าทั้งหลาย เอาใส่กรอบเลี่ยมทองกันเลยนะท่าน:D
     
  5. วงกรตน้ำ

    วงกรตน้ำ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 เมษายน 2015
    โพสต์:
    810
    กระทู้เรื่องเด่น:
    12
    ค่าพลัง:
    +2,432
    เห็นเดี๋ยวนี้นำมาทำกำไรหางช้างกันมากมาย มีขายในเฟสก็เยอะ แต่ของแบบนี้มีเคล็ดในการนำมาบ้างไหมคะ เห็นอย่างนอเร็ด ก็ต้องเป็นนอที่เจ้าตัวหักติดต้นไม้เอง ฆ่าเอามาใช้ไม่มีดี ยกเว้นแค่ราคา
     
  6. กิ่งสน

    กิ่งสน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2012
    โพสต์:
    1,068
    ค่าพลัง:
    +2,327
    คือว่าช้างตัวนั้นต้องตายแล้วถึงได้มา เลยไม่ค่อยนิยมสักเท่าไร และจะดูดีมีราคาถ้าเป็นช้างเผือก
     
  7. วงกรตน้ำ

    วงกรตน้ำ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 เมษายน 2015
    โพสต์:
    810
    กระทู้เรื่องเด่น:
    12
    ค่าพลัง:
    +2,432
    หลวงปู่ขาว กับ ช้างใหญ่เข้ามาหากลางดึก


    หลวงปู่ขาวได้เล่าเหตุการณ์ระทึกใจเมื่อตอนอยู่เชียงใหม่ ดังนี้

    คืนหนึ่งในระหว่างพรรษาเวลาดึกสงัด หลวงปู่นั่งภาวนาอยู่ในกุฏิหลังเล็กๆ ที่ชาวบ้านสร้างถวาย ปรากฏมีช้างใหญ่เชือกหนึ่ง เป็นช้างบ้านที่เจ้าของเขาปล่อยให้หากินตามลำพังในป่าแถบนั้น ซึ่งไม่ทราบว่ามันมาจากไหน เดินเข้ามาในบริเวณที่หลวงปู่พัก แล้วตรงเข้ามายังกุฏิของท่าน ด้านหลังกุฏิมีหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งขวางอยู่ ช้างจึงไม่สามารถเข้าถึงตัวหลวงปู่ได้ มันใช้งวงล้วงเข้ามาในกุฏิจนถึงกลดและมุ้งบนศีรษะของท่านที่กำลังนั่งภาวนาอยู่

    เสียงสูดลมหายใจของมันดังฟูดฟาดๆ จนกลดมุ้งไหวไกวไปมา และพ่นลมเย็นไปถึงศีรษะของท่าน หลวงปู่นั่งนิ่งหลับตาบริกรรม พุทโธ-พุทโธ อยู่อย่างฝากจิตฝากใจ ฝากเป็นฝากตายกับพุทโธจริงๆ ไม่มีที่อิงอาศัยอื่น

    ช้างใหญ่ยังยืนคุมเชิงอยู่อย่างนั้น โดยไม่หนีไปไหน นานๆ จะได้ยินเสียงลมหายใจ และสูดกลิ่นท่านอยู่นอกมุ้งกลดครั้งหนึ่ง แล้วก็เงียบไป มันทำอยู่เช่นนั้นเป็นเวลาถึงสองชั่วโมงเศษ จากนั้นก็เดินเลี่ยงไปด้านตะวันตกของกุฏิ เอางวงล้วงเข้าไปในตะกร้ามะขามเปรี้ยวที่แขวนกับต้นไม้ ที่โยมเขาเอามาไว้ขัดฝาบาตร

    เสียงมันเคี้ยวมะขามดังกร้วมๆ ด้วยความเอร็ดอร่อย หลวงปู่คะเนเอาว่า เมื่อเจ้าท้องใหญ่พุงโลกินมะขามในตะกร้าหมดแล้ว มันคงเดินมาที่กุฏิอีก คราวนี้อาจเข้าถึงตัวท่าน และอาจเข้าบดขยี้ท่านก็เป็นได้

    หลวงปู่คิดว่าท่านน่าจะออกไปพูดกับมันให้รู้เรื่อง มันคงรู้ภาษาคนดี เพราะมันอยู่กับคนมานาน มันคงจะยอมฟังคำพูดของท่าน “หากมันฝืนทะลึ่งพรวดพราดเข้ามาจะฆ่าเรา ก็ยอมตายเสียเท่านั้น”

    หลวงปู่คิด “แม้เราจะไม่ออกไปพูดกับมัน เมื่อมันกินมะขามหมดแล้ว มันก็ต้องเข้ามาหาเราจนได้ ถ้ามันจะฆ่าเราก็ต้องตาย หนีไม่พ้นอย่างแน่นอน เพราะเป็นเวลาที่ค่ำคืน ตาก็มองไม่เห็นทางอะไรด้วย”

    ออกไปพูดกับช้างให้รู้เรื่อง

    เมื่อหลวงปู่ตกลงใจอย่างนั้นแล้ว ก็ออกจากกุฏิมายืนแอบโคนต้นไม้ด้านหน้า แล้วพูดกับช้างว่า“พี่ชาย น้องขอพูดด้วยสักคำสองคำ ขอพี่ชายจงฟังคำของน้อง น้องขอพูดด้วยเวลานี้”

    พอช้างได้ยินเสียงหลวงปู่พูดด้วย มันยืนนิ่งไม่ไหวติง จากนี้ท่านก็เริ่มกล่าวคำหวานต่อไปว่า

    “พี่ชายเป็นสัตว์ของมนุษย์ในบ้านนำมาเลี้ยงไว้เป็นเวลานาน จนเป็นสัตว์บ้าน ความรู้สึกทุกอย่าง ตลอดทั้งภาษามนุษย์ที่เขาพูดกัน และพร่ำสอนพี่ชายตลอดมานั้น พี่ชายรู้ได้ดีทุกอย่าง ยิ่งกว่ามนุษย์บางคนเสียอีก

    ดังนั้น พี่ชายควรจะรู้ธรรมเนียมและข้อปฏิบัติของมนุษย์ ไม่ควรทำอะไรตามใจชอบ เพราะการทำบางอย่าง แม้จะถูกใจเรา แต่เป็นการขัดใจมนุษย์ ก็ไม่ใช่ของดี เมื่อขัดใจมนุษย์แล้ว เขาอาจทำอันตรายเราได้ ดีไม่ดีอาจถึงตายได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์แหลมคมกว่าบรรดาสัตว์ที่อยู่ร่วมโลกกัน สัตว์ทั้งหลายจึงกลัวมนุษย์มากกว่าสัตว์ด้วยกัน ตัวพี่ชายเองก็อยู่ในบังคับของมนุษย์ จึงควรเคารพมนุษย์ผู้ฉลาดกว่าเรา ถ้าดื้อดึงต่อเขา อย่างน้อยเขาก็ตี เขาเอาขอสับลงที่ศีรษะพี่ชายให้ได้รับความเจ็บปวด มากกว่านั้นเขาอาจฆ่าให้ตาย พี่ชายจงจำไว้ อย่าลืมคำที่น้องสอนด้วยความเมตตาอย่างนี้”

    ให้ช้างรับศีล ๕

    หลวงปู่ได้แผ่เมตตาให้กับช้าง พร้อมทั้งพูดว่า

    “ต่อไปนี้พี่ชายจงรับศีล ๕ น้องเป็นพระจะให้ศีล ๕ แก่พี่ชาย จงรักษาให้ดี เวลาตายไปจะได้ไปสู่ความสุข อย่างต่ำก็มาเกิดเป็นมนุษย์ ผู้มีบุญมีคุณธรรมในใจ ยิ่งกว่านั้นก็ไปเกิดบนสวรรค์ หรือพรหมโลกสูงขึ้นไปเป็นลำดับ

    ดีกว่ามาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เช่นเป็นช้างเป็นม้าให้เขาขับเฆี่ยนตี และขนไม้ขนฟืน ซึ่งเป็นความลำบากทรมาน จนตลอดวันตายก็ไม่ได้ปล่อยวางภาระหนัก ดังที่เป็นอยู่เวลานี้ พี่ชายจงตั้งใจฟัง และตั้งใจรับศีล ๕ ด้วยเจตนาจริงๆ น้องจะบอกให้ดังนี้

    ข้อที่หนึ่ง ปาณาฯ อย่าฆ่าคนฆ่าสัตว์ให้เขาตายด้วยกำลังของตน และอย่าเบียดเบียนคนและสัตว์ด้วยกันมันเป็นบาป

    ข้อสอง อทินนาฯ อย่าลักขโมยของที่มีเจ้าของหวงแหน เช่นมะขามที่พี่ชายเคี้ยวอยู่เมื่อกี้นี้ คนเขาเอามาให้น้องไว้ขัดฝาบาตร แต่น้องไม่ให้พี่เป็นบาปเป็นกรรมอะไรหรอก เพียงบอกให้ทราบว่าเป็นของมีเจ้าของ ถ้าเขาไม่ให้อย่ากิน อย่าเหยียบย่ำทำลายมันเป็นบาป

    ข้อสาม กาเมฯ อย่าเสพสัตว์ที่เขามีเจ้าของหวงแหน มันเป็นบาป ถ้าเสพก็เสพเฉพาะสัตว์ตัวไม่มีคู่ ไม่มีเจ้าของ จึงไม่เป็นบาป

    ข้อสี่ มุสาฯ อย่าโกหกหลอกลวง กริยาแสดงออกต้องตรงต่อความจริง อย่าแสดงเป็นกริยาหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อ มันเป็นบาป

    ข้อห้า สุราฯ อย่ากินของมึนเมามีสุราเมรัยเป็นต้น กินแล้วเป็นบาป ตายไปตกนรกทุกข์ทรมานเป็นเวลานานตั้งกัปตั้งกัลป์ กว่าจะหมดกรรมขึ้นจากนรกแม้พ้นนรกขึ้นมาแล้ว ยังมีเศษกรรมชั่วติดตัวขึ้นมาอีก มาเสวยชาติเป็นเปรต เป็นผี เป็นสัตว์เดรัจฉาน ทรมานตามวิบากของตนที่เคยทำมา กว่าจะได้มาเกิดเป็นคนจึงแสนลำบาก เพราะกรรมชั่วกดถ่วงไว้

    ถ้าเรารักษาศีล ๕ คืองดเว้นจากโทษ ๕ ประการดังกล่าวนี้แล้ว เมื่อจุติกายทำลายขันธ์ไป ก็จะมีสวรรค์เป็นที่ไปสู่สุคติ อันเป็นความหวังหลังจากได้สร้างบุญกรรมเอาไว้ เมื่อถึงคราวจุติจากสวรรค์ ก็จะได้มาเกิดเป็นมนุษย์ รูปสวยรวยทรัพย์ แล้วก็ได้สร้างบารมีใหม่อีกต่อไปจนได้มรรคได้ผล เข้าสู่นิพพาน”

    สาธุ..
     
  8. วงกรตน้ำ

    วงกรตน้ำ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 เมษายน 2015
    โพสต์:
    810
    กระทู้เรื่องเด่น:
    12
    ค่าพลัง:
    +2,432
    เผชิญช้างที่ป่าแม่ปาง


    หลวงปู่ขาวกับหลวงปู่แหวน ได้ไปพักภาวนาในป่าแห่งหนึ่ง เรียกว่าบ้านแม่ปาง อยู่ในเขตจังหวัดลำปาง ก็มีเหตุผจญภัยกับช้างใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

    หลวงปู่เล่าว่า พอผ่านเรื่องช้างจากคราวนั้นแล้วไม่นาน ก็ไปเจอช้างใหญ่อีกครั้งหนึ่งที่แม่ปาง จังหวัดลำปาง คราวนี้เป็นช้างป่าจริงๆ ไม่ใช่ช้างบ้านที่เขาเลี้ยงไว้เหมือนกับคราวก่อน

    เหตุการณ์เกิดในตอนกลางคืน ขณะที่หลวงปู่กำลังเดินจงกรมอยู่ ได้ยินเสียงสัตว์ใหญ่คือช้างบุกเข้ามา เสียงไม้หักปึงปังมาตลอดทาง เมื่อพิจารณาดูแล้วเห็นว่ามันจะต้องมุ่งโฉมหน้ามาทางที่ท่านอยู่อย่างแน่นอน

    เสียงช้างใกล้เข้ามาทุกที ยามกลางคืนดึกดื่นเช่นนั้นไม่รู้ว่าจะหลบหลีกไปทางไหนได้ทัน พลันได้คิดว่าช้างป่าทั้งหลายกลัวแสงไฟ จะก่อกองไฟก็ทำไม่ได้ เพราะผิดพระวินัย (อาจทำให้สัตว์เล็กสัตว์น้อยตายได้ แม้แต่ขุดดิน ถางหญ้า เด็ดใบไม้ ดอกไม้ เก็บผลไม้ ตัดต้นไม้ ก็ทำไม่ได้เช่นกัน)

    เผอิญช่วงนั้นมีคณะทหารมากราบหลวงปู่ แล้วได้ถวายเทียนไขท่านไว้จำนวนหนึ่ง หลวงปู่รีบออกจากทางเดินจงกรม ไปเอาเทียนไขที่อยู่ในกุฏิที่พักมาทั้งหมด มาจุดแล้วเอาไปปักเรียงรายตามทางเดินจงกรม สายตาคนเรามองดูแล้วสว่างไสว แต่ช้างจะมองเห็นในแง่ไหนเราไม่ทราบได้

    พอหลวงปู่จุดเทียนปักไว้เสร็จเท่านั้น ช้างก็มาถึงพอดี ท่านไม่มีทางหลบหลีกปลีกตัว ได้แต่ตั้งจิตอธิษฐานขอบารมีคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ จงช่วยคุ้มครองป้องกันอย่าให้ช้างใหญ่ตัวนี้ทำอันตรายแก่ข้าพระพุทธเจ้าได้

    พออธิษฐานจบ ช้างก็เข้าประชิดทางจงกรมพอดี มันหยุดยืนกางหูผึ่งอยู่ ไม่กระดุกกระดิกอวัยวะส่วนใดๆ อยู่ข้างทางเดินจงกรม ห่างจากหลวงปู่เพียงวาเศษ ท่ามกลางแสงเทียนไฟสว่างไสว ตามแนวทางเดิน ทำให้มองเห็นช้างได้ถนัดชัดเจน

    หลวงปู่ท่านว่า ความรู้สึกบอกว่าช้างนั้นตัวใหญ่เท่าภูเขาลูกย่อมๆ นี่เอง ท่านเพียงชำเรืองหางตาดูมัน แล้วข่มใจเดินจงกรมไปมาไม่ แสดงท่าทางสนใจมันเลย ทั้งที่ใจจริงแล้วนึกกลัวมันเต็มที่ ท่านบอกว่าใจเหมือนกับจะขาดลมหายใจไปแล้ว ตั้งแต่เห็นช้างตัวใหญ่เดินรี่เข้ามาหาอย่างผึ่งผายตั้งแต่ทีแรก

    หลวงปู่เดินจงกรมไปมา กำหนดคำบริกรรมว่าพุท-โธ อย่างถี่ยิบ ไม่กล้าส่งใจไปนอกตัว มีความรู้สึกที่เกี่ยวพันกับองค์พุทโธอย่างเหนียวแน่น ที่น้อมระลึกมาเป็นองค์ประกันชีวิตเท่านั้น นอกจากนั้นไม่ได้นึกถึงอะไรเลย

    แม้ช้างตัวที่ใหญ่โตเท่าภูเขาทั้งลูกมายืนอยู่ข้างทางเดินจงกรม ท่านก็ไม่ยอมส่งจิตออกไปหามัน กลัวจิตจะพรากจากพุทโธซึ่งเป็นองค์สรณะ คือที่พึ่งอันประเสริฐสุดในเวลานั้น

    หลวงปู่เดินจงกรมไปมา พุทโธกับจิตกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนใจหายกลัว เหลือแต่ความรู้กับคำบริกรรมพุทโธ ซึ่งกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

    ช้างยังคงยืนคุมเชิงหลวงปู่อยู่ ราวกับภูเขาไม่ยอมกระดุกกระดิกตัว ท่านชำเรืองหางตาดูเห็นหูมันกางผึ่งราวกับจะแผ่เมตตาให้ก็ไม่ยอมรับ เท่าที่เห็นมันเดินเข้ามาหาท่านทีแรก เหมือนดังจะเข้ามาขยี้ขยำท่าน อย่างไม่รีรอแม้ชั่ววินาทีหนึ่งเลย

    แต่ขณะนั้นมันกลับยืนตัวแข็งทื่อราวกับสัตว์ไม่มีหัวใจ พอจิตกับพุทโธเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ท่านก็หายกลัวแถมเกิดความกล้าหาญขึ้นมาอย่างประหลาด สามารถเดินไปหามันอย่างไม่สะทกสะท้านใดๆ ทั้งสิ้น

    แต่ท่านมาคิดอีกแง่หนึ่งว่า การเดินเข้าไปหาช้างป่าซึ่งเป็นสัตว์ดุร้าย อาจเป็นฐานะแห่งความประมาทอวดดีก็ได้ เป็นสิ่งไม่ควรทำ

    หลวงปู่จึงยังเดินจงกรมไปตามปกติ แข่งกับการยืนของช้างอย่างองอาจกล้าหาญ ราวกับไม่มีภัยอันตรายใดๆ เกิดขึ้น ณ ที่นั้น

    นับแต่ขณะช้างป่าตัวนั้นเดินเข้ามายืนอยู่ที่นั่น เป็นเวลาชั่วโมงเศษๆ ไฟเทียนไขชนิดยาวๆ ที่จุดไว้บางเล่ม ก็เหลือสั้นจวนจะหมด ยังมีเปลวเทียนแสงริบรี่เท่านั้น

    พลันช้างหันหลังกลับไปทางเดิมที่มันมา และเที่ยวหากินแถบบริเวณนั้น เสียงหักกิ่งไม้กินเป็นอาหารดังสนั่นป่าทีเดียว

    หลวงปู่ขาวได้เห็นความอัศจรรย์ของจิต และความอัศจรรย์ของพุทโธ อย่างประจักษ์ใจในคราวนั้น เพราะเป็นคราวขับขันจริงๆ ไม่สามารถหลบหลีกปลีกตัวไปที่ไหนให้พ้นได้ นอกจากต้องสู้ด้วยวิธีนั้นเท่านั้น แม้ตายก็ยอมเพราะไม่มีทางเลือกอื่น

    นับแต่เหตุการณ์นั้นมา ทำให้เกิดความมั่นใจว่า ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าจิตกับพุทโธได้เข้ามาสนิทสนมกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยหลักธรรมชาติแล้ว ไม่มีอะไรสามารถทำอันตรายได้อย่างแน่นอน นี่เป็นความเชื่ออย่างสนิทใจของหลวงปู่ตลอดมา

    หลวงปู่บอกว่าช้างตัวนั้นก็เป็นช้างที่แปลกอยู่มาก เวลาเข้ามาถึงที่นั่นแล้ว แทนที่จะแสดงอาการอย่างไรก็ไม่แสดง คงยืนนิ่งหูกางอย่างสงบ เฝ้าดูท่านเดินจงกรมกลับไปกลับมาอย่างไม่แสดงอาการเบื่อหน่าย พอดูเต็มตาและเต็มที่แล้วก็หันหลังกลับทางเก่า แล้วเที่ยวหากินไปตามประสาของมัน และหายเงียบไปเลย มันเป็นสัตว์ที่น่ารักอีกตัวสำหรับท่าน

    หลวงปู่บอกอีกว่า ช้างตัวนี้น่ารักไม่แพ้ตัวที่มากินมะขามเปรี้ยว ตัวนั้นเป็นสัตว์บ้านที่รู้ภาษาคนได้ดี ส่วนตัวหลังนี้เป็นสัตว์ป่ามาแต่กำเนิด อายุคงไม่ต่ำกว่าร้อยปี ไม่อาจรู้ภาษาคนได้ ท่านจึงไม่ได้พูดอะไรกับมัน เป็นแต่เดินจงกรมเฉยอยู่อย่างนั้น

    ช้างตัวหลังที่มาหาหลวงปู่นั้นไม่มีลูกพรวนแขวนคอ และไม่มีเครื่องหมายใดๆ ที่บ่งบอกว่าเป็นช้างบ้าน ทั้งชาวบ้านก็ยืนยันว่าเป็นช้างป่า และเคยเป็นนายโขลงมานาน เฉพาะคราวนี้ทำไมจึงแตกโขลงมาเที่ยวแต่ตัวเดียวก็ไม่ทราบ อาจจะพรากจากโขลงมาชั่วคราวก็ได้

    แม้ช้างตัวนั้นหนีไปแล้ว หลวงปู่ก็ยังเดินจงกรมต่อไป ด้วยความอัศจรรย์ใจ และเห็นคุณค่าของช้างตัวนั้นที่มาช่วยให้จิตท่านได้เห็นความอัศจรรย์ในธรรมเกี่ยวกับความกลัวความกล้า ช้างตัวนี้มาช่วยเสริมให้รู้เรื่องนี้ได้อย่างประจักษ์ใจ หมดทางสงสัย

    ช้างตัวนั้นจึงเหมือนช้างเทวบุตรหรือช้างเทพบันดาลก็ไม่น่าจะผิด เพราะธรรมดาช้างในป่า ซึ่งไม่คุ้นเคยและให้อภัยแก่ผู้ใด นอกจากมันจะสู้ไม่ไหวจริงๆ แล้ว จึงรีบวิ่งหนีเอาตัวรอดเท่านั้น แต่ช้างตัวนี้ตั้งหน้าตั้งตาเดินหน้าเข้าหาหลวงปู่ด้วยตัวของมันเอง มิได้ถูกบังคับขู่เข็ญด้วยวิธีใดๆ หรือจากผู้ใด มันเดินตรงเข้ามาหาหลวงปู่ทั้งที่ไฟก็สว่างอยู่รอบด้าน แทนที่มันจะตรงเข้าขยี้ขยำร่างของท่านด้วยกำลังของมัน กลับไม่ทำ หรือแทนที่จะตกใจกลัวไฟรีบหนีเข้าป่า ก็ไม่ไป กลับเดินอย่างองอาจเข้าหาหลวงปู่ พอมาถึงกลับยืนดูหลวงปู่เดินจงกรมไปมาเป็นเวลาตั้งชั่วโมงเศษๆ แล้วมันก็หันหลังกลับไป โดยไม่แสดงอาการกล้าหรือกลัวใดๆ ทั้งสิ้น หลวงปู่บอกว่าเป็นเรื่องที่น่าคิดและน่าพิศวงมาก

    จากคราวนั้นมาไม่ว่าหลวงปู่จะไปหรือพักที่ใด ก็ไม่คิดกลัวอะไรทั้งสิ้น เพราะเชื่อธรรมอย่างถึงใจแต่บัดนั้นเป็นต้นมา สมกับธรรมในบทที่ว่า พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติ ไม่ปล่อยให้ตายจมดินจมน้ำแบบขอนซุงแน่นอน

    paragraph_781.jpg

    หลวงปู่ขาวออกเดินทางไปสมทบกับพระอาจารย์ใหญ่มั่น ในที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลเท่าใดนัก เพื่อร่วมเดินทางไปวิเวกยังสถานที่แห่งหนึ่งชื่อบ้านแม่กะตำ เมื่อคณะพระธุดงค์เดินไปถึงช่องเขาแห่งหนึ่ง ก็เจอช้างใหญ่ตัวหนึ่งยืนกินใบไผ่ขวางทางอยู่ตรงช่องเขานั้นพอดี และเป็นทางเดียวที่จะเดินผ่านไปได้ ถ้าไปทางอื่นต้องปีนเขาสูง ใช้เวลาเดินทางหลายวัน ทางนี้จึงเป็นทางลัดที่สุดที่จะไปบ้านแม่กะตำได้

    หลวงปู่มั่นจึงปรึกษากับศิษย์ว่าจะทำอย่างไร พระรูปหนึ่งอาสาไปตามชาวเขาที่อยู่แถวนั้นให้มาช่วยไล่ช้างให้หลีกทางให้

    ชาวเขาเหล่านั้นปฏิเสธว่า “ฮึฮึ ขะเจ้าก็กลัวตายเหมือนกัน นิมนต์ตุ๊เจ้าไล่เองเถิด”

    หลวงปู่ขาวจึงอาสาไปขอเจรจากับช้าง เพราะท่านเคยผจญกับช้างมาหลายครั้งแล้ว น่าจะพูดกันรู้เรื่อง

    หลวงปู่มั่น จึงบอกว่า “เอ้อ ยังนั้นก็ลองไปดู”

    ช้างกำลังกินใบไผ่และหันหลังให้พระ หลวงปู่ขาวได้เพ่งจิตแผ่เมตตาให้ช้าง แล้วพูดกับช้างว่า

    “ดูก่อนพี่ชาย พ่อมหาจำเริญ ผู้มีกำลังมหาศาล ทั้งสังขารร่างกายก็อ้วนพีดีงาม ส่วนตัวข้าพเจ้านั้นเป็นผู้มีกำลังวังชาเพียงเล็กน้อย ทั้งอยู่ในศีลในธรรม ไม่ได้คิดมุ่งร้ายหมายขวัญต่อใครทั้งหมด ขอพี่ชายผู้มีกำลังมหาศาล จงได้หลีกทางให้พวกข้าพเจ้าผู้น้อยเดินทางไปด้วยเถิด”

    ช้างหันหน้ามาทางหลวงปู่ขาวขยับหูดังพึบพับ แล้วเดินหลบไปข้างทาง เอางาซุกไว้กับกอไผ่สงบนิ่งอยู่ ราวกับจะร้องบอกนิมนต์ว่า “ตุ๊เจ้าไปเถิด”

    หลวงปู่มั่นเห็นเช่นก็บอกพระลูกศิษย์ว่า “ไปได้ ไปได้ ไปได้แล้ว”

    พระทุกองค์จึงเดินเรียงแถวผ่านช้างไปได้อย่างปลอดภัย

    พระอาจารย์มนู เดินรั้งท้ายสุด ปกติท่านกลัวช้างมากอยู่แล้ว บังเอิญตะขอกลดของท่านเกิดไปเกี่ยวอยู่กับกิ่งไผ่ข้างทาง ท่านคิดว่าช้างมันดึงเอาไว้ ไม่กล้าเหลียวหลังไปมอง

    อาจารย์มนูออกแรงกระชากติดๆ กันหลายครั้ง ตะขอก็ไม่หลุด ท่านยิ่งกลัวหนัก จะร้องให้พระองค์อื่นช่วยก็กลัวจะถูกหลวงปู่มั่นตำหนิเอา เพราะพระอาจารย์ท่านไม่ชอบพระธุดงค์ขี้ขลาด ท่านจะว่าเอาแรงๆ

    หลวงปู่บอกว่า พระอาจารย์มนูกลัวช้างถึงกับปัสสาวะราดโดยไม่รู้ตัว ท่านจึงตัดสินใจกระชากกลดเต็มที่ ตะขอหลุด ท่านถึงกับล้มคะมำไปข้างหน้า ท่านหันไปมองข้างหลังเห็นช้างใหญ่ยังยืนสงบนิ่งอยู่ที่เดิม ตะขอไปเกี่ยวกับกิ่งไผ่ต่างหาก

    พระอาจารย์มนูถึงกับละอายใจตัวเอง รีบลุกขึ้นแล้วเดินตามคณะพระธุดงค์ไป ภายหลังได้เล่าให้หมู่พวกที่ร่วมเดินทางได้ฟังกันอย่างขบขันยิ่ง

    ที่มา : ลานธรรมจักร
     
  9. กิ่งสน

    กิ่งสน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2012
    โพสต์:
    1,068
    ค่าพลัง:
    +2,327
    ใครฝันเห็นช้าง จะได้ลูกสาว (เกี่ยวไหม);)
     
  10. วงกรตน้ำ

    วงกรตน้ำ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 เมษายน 2015
    โพสต์:
    810
    กระทู้เรื่องเด่น:
    12
    ค่าพลัง:
    +2,432
    เข้าใจว่าไม่เกี่ยวนะคะ อย่างดิฉันนี่ฝันเห็นเป็นโขลงเลย 555++

    เข้าใจว่าฝันเห็นช้างนี้ ถ้าเป็นหญิงแต่งงานแล้วน่าจะได้บุตรที่มีบุญวาสนาตามลักษณะของช้างนะคะ อย่างพระมารดาของพระพุทธเจ้า ท่านก็ฝันว่ามีช้างเผือกเข้ามาหา ยังได้โอรสเป็นชายเลยค่ะ
    แต่อีกแบบท่านก็ว่า จะได้เดินทาง เปลี่ยนงาน โชคลาภเข้ามาไรงี้ (เดาะนะคะ)
     
  11. bonuszaa118

    bonuszaa118 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 สิงหาคม 2017
    โพสต์:
    122
    ค่าพลัง:
    +44
    ขอบคุณเรื่องราวดีๆค่ะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...