สุจริต ๓

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย งูๆปลาๆ, 17 ตุลาคม 2017.

  1. งูๆปลาๆ

    งูๆปลาๆ นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา

    วันที่สมัครสมาชิก:
    30 สิงหาคม 2017
    โพสต์:
    563
    กระทู้เรื่องเด่น:
    3
    ค่าพลัง:
    +412
    สุจริต ๓ หมายความว่าอย่างไร

    ๑.ประพฤติชอบด้วยกาย เรียกว่า กายสุจริต คือเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม

    ๒.ประพฤติชอบด้วยวาจา เรียกว่า วจีสุจริต คือเว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

    ๓.ประพฤติชอบด้วยใจ เรียกว่า มโนสุจริต คือไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น ไม่เห็นผิดจากครรลองคลองธรรม

    ๑. ประพฤติชอบทางกาย เรียกว่า กายสุจริต หมายถึง เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม

    ๑.๑ เว้นจากการฆ่าสัตว์ ทรมานสัตว์ และเบียดเบียนสัตว์ หมายถึง ตั้งใจไม่ทำความชั่วทางกาย เมื่อไม่ฆ่าสัตว์แล้ว ยังต้องช่วยเหลือชีวิตสัตว์ที่เจ็บป่วยให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน เพื่อจะได้มีชีวิตที่ยืนยาวต่อไป ไม่ทรมานสัตว์ให้ได้รับความทุกข์ทรมาน ไม่เบียนเบียนสัตว์ให้ได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้บัญญัติศีลข้อที่ ๑ เพื่อให้พุทธศาสนิกชน นำมารักษากาย วาจา เพื่อยับยั้งไม่ให้พากายไปประพฤติชั่ว กายจะได้สะอาดบริสุทธิ์ ที่เรียกว่า กายสุจริต

    ๑.๒ เว้นจากการลักทรัพย์ หมายถึงการตั้งใจไม่เอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน แล้วยังต้องประพฤติดีโดยการให้ทาน นำทรัพย์สมบัติเงินทองของตนมาบริจาคแบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูล ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนให้บรรเทา เบาบางความทุกข์ลง หรือบริจาคให้กับผู้ที่ควรให้ หรือนำไปสร้างสาธารณประโยชน์อื่น ๆ เป็นต้น ที่เรียกว่า กายสุจริต

    ๑.๓ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม หมายถึง ตั้งใจไม่นำกายไปทำผิด ไม่เป็นชู้สู่สมกับสามีหรือภรรยาของผู้อื่น มีความซื่อสัตย์ไม่นอกใจในสามีหรือภรรยาของตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้สามีหรือภรรยาผู้อื่นแตกแยกกัน ไม่บังคับขู่เข็ญ หรือเป็นธุระจัดหาหญิง เป็นนายหน้าในการค้าประเวณี นอกจากนั้นยังต้องส่งเสริมให้สามีภรรยา รักใคร่ปรองดอง อยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่น และมีความสุข ที่เรียกว่า กายสุจริต

    การประพฤติชอบทางกาย เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม ทั้ง ๓ ประการ เรียกว่า กายสุจริต

    ๒. ประพฤติชอบทาง วาจา เรียกว่า วจีสุจริต หมายถึง เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

    ๒.๑ เว้นจากการพูดเท็จ หมายถึง ตั้งใจจะไม่พูดปดหลอกลวงเอาทรัพย์สมบัติเงินทองของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่พูดปดหลอกลวงเพื่อทำร้ายทำลายชีวิตผู้อื่น พูดแนะนำให้มีความสามัคคีรักใคร่ปรองดองกัน พูดเชิญชวนให้ร่วมกันบริจาคทรัพย์เป็นทานให้แก่ผู้ที่เดือดร้อน หรือผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ ที่เรียกว่า วจีสุจริต

    ๒.๒ เว้นจากการพูดส่อเสียด หมายถึง ไม่พูดเยาะเย้ย ถากถางเสียดสี เปรียบเปรยทำให้เสียชื่อเสียง หรือพูดยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นทะเลาะวิวาทกัน เกิดความแตกแยกขาดความสามัคคีในหมู่คณะ ควรใช้วาจาที่สุภาพอ่อนโยน ไม่ให้กระทบกระเทือนใจผู้ฟัง ให้เกียรติและช่วยกันรักษาชื่อเสียงของหมู่คณะ จะได้อยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ที่เรียกว่า วจีสุจริต

    ๒.๓ เว้นจากการพูดคำหยาบ หมายถึงการใช้วาจาสุภาพไพเราะอ่อนหวาน พูดแต่เรื่องที่ดีมีประโยชน์ ไม่พูดดูถูกเหยียดหยามประณามให้เสียชื่อเสียง หรือหลบลู่ดูหมิ่นผู้อื่น พูดแต่เรื่องที่เป็นสิริมงคล ไม่พูดเปรียบเทียบหรือให้ผู้อื่นรู้สึกเสียใจ ขุ่นเคือง โกรธแค้น อาฆาตพยาบาท ป้องร้าย เป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาทกัน ที่เรียกว่า วจีสุจริต

    .๔ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ หมายถึง ไม่พูดเรื่องไร้สาระ ไม่พูดพล่อย ๆ ไม่พูดเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ ต้องรู้จักกาลเทศะว่า เวลาใดควรพูดเรื่องใด ควรพูดในที่ใด ไม่พูดทำร้ายทำลายชื่อเสียงของผู้อื่นให้เสื่อมเสีย ไม่พูดยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นทะเลาะวิวาทกัน พูดแต่เรื่องที่ดีมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ที่เรียกว่า วจีสุจริต

    การประพฤติชอบทางวาจา เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ๔ ประการดังที่กล่าวมาแล้วนี้ เรียกว่า วจีสุจริต

    ๓. ประพฤติชอบทางใจ เรียกว่า มโนสุจริต หมายถึง ไม่คิดโลภ อยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่คิดอิจฉาริษยา ไม่คิดโกรธอาฆาตพยาบาท ปองร้ายผู้อื่น ไม่เห็นผิดจากครรลองคลองธรรม

    ๓.๑ ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น หมายถึง ผู้ที่มีคุณธรรมประจำใจ คือจิตคิดถึงคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำว่า สันโดษ คือความพอใจในสิ่งที่มี ที่ได้ ที่เป็น ไม่อยากได้ของผู้อื่น เพราะรู้ว่าความโลภ เป็นกิเลส เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ กลับคิดชำระกิเลสความโลภ โดยการแบ่งปันทรัพย์สินเงินทองที่มีให้แก่ผู้ที่ด้อยโอกาส หรือสร้างสาธารณประโยชน์อื่น ๆ เพื่อให้พ้นจากความตระหนี่ ลุ่มหลงมัวเมาในทรัพย์สมบัติ ไม่หลงใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่หลงใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่เรียกว่า มโนสุจริต

    ๓.๒ ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น หมายถึงผู้มีคุณธรรมประจำใจ มีเมตตา คือความรัก มีกรุณา คือความสงสารผู้อื่น ให้อภัยในการทำผิดพลาด ไม่คิดอาฆาตพยาบาทปองร้าย ไม่คิดจองเวรผู้อื่น กลับคิดหาทางช่วยเหลือให้เขากลับตัวกลับใจ เป็นคนดีเท่าที่สามารถจะช่วยได้ เพื่อให้เขามีความสุขกายสุขใจ ที่เรียกว่า มโนสุจริต

    ๓.๓ ไม่เห็นผิดจากครรลองคลองธรรม หมายถึง ไม่ลังเลสงสัยในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม เชื่อเรื่องชาติก่อน ชาตินี้ ชาติหน้ามีจริง เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีกิเลสครอบงำจิต คือความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จิตใจเศร้าหมองและเห็นว่า คำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า สามารถชำระกิเลสให้หมดสิ้นจากจิตใจได้

    การประพฤติชอบทางใจ ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น ไม่เห็นผิดจากครรลองคลองธรรม ทั้ง ๓ ประการนี้ เรียกว่า มโนสุจริต
     

แชร์หน้านี้

Loading...