หนังสือมุนีนาถทีปนี26 การบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย saksit5455, 4 กันยายน 2011.

  1. saksit5455

    saksit5455 Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 สิงหาคม 2011
    โพสต์:
    198
    ค่าพลัง:
    +59
    พระพุทธสีหนาท

    ธรรมดาพญาไกรสรสีหราช ย่อมมีนิสัยใจคอองอาจ มิได้เกรงกลัวภัยอันพิลึก มิได้สะดุ้งตกใจหวาดเสียว มิได้มีขนพองสยองเกล้าแต่ประการใด เป็นสัตว์โลกที่มีโลหิตและเนื้อแห่งสัตว์อื่นบริโภคเป็นภักษาหาร มีกายใหญ่โอฬารลักษณะไพบูลย์บวรยิ่ง มีสร้อยเกษรเป็นแถวตามคอ มีขนลายพร้อยเป็นวงเวียนทักษิณาวัฏ เกิดมาเป็นอภิชาติ สัตว์ทั้งหลายให้หวั่นไหวพรั่นพรึงมิอาจประทุษร้ายได้ เพราะว่าพญาไกรสรสีหราชนั้นเป็นมฤคาธิบดี หมู่มฤคีทั้งหลายไม่่ว่าใหญ๋และน้อยแต่มาตราสลบซบทรุดอยู่กับที่ ด้วยเกรงเดชแห่งพญาราชสีห์นั้นเป็นกำลัง อีกประการหนึ่ง พญาไกรสีหราชนั้น ปกติประกอบได้ด้วยกำลัง ทั้งประกอบไปด้วยอุตสาหะพยายามซึ่งจะหาสัตว์อื่นเสมอเหมือนมิได้ ย่อมอาศัยอยู่ในไพรสณฑ์อันสงัด เสพซึ่งมฤคชาติเป็นอาหาร ยามเมื่อสายัณห์สมัยเพลาเย็นย่ำสนธยา ราชสีห์ก็ลีลาออกจาที่อยู่อาศัยเหลียวแลไปมาทั้ง ๔ ทิศ แล้วก็ค่อยเข้าไปแอบอยู่ในที่กำบังอันใหญ่ เมื่อจะสำแดงภัยเบียดเบียนฆ่าเสียซึ่งสัตว์ทั้งหลาย หรือจะยังพื้นธรณีดลให้กึกก้อง ก็บันลือออกซึ่งศัพท์สำเนียงเป็นสีหนาทรื่นเริงบันเทิงใจ ขณะเมื่อราชสีห์บันลือสีหนาทออกไปนั้น พลันสัตว์ทั้งหลายซึ่งอยู่ในป่าก็ดี ในคูหาถ้ำทั้งหลายก็ดี หรือในที่อื่นๆ ก็ดี ย่อมมีความสะทกตกใจหวั่นหวาด แม้สกุณชาตินกหนึ่งกำลังผกโผผินบินอยู่บนอากาศ ก็ตกลงมายังพื้นปฐพี สัตว์สี่เท้า สองเท้า เป็นจตุบทวิบาทก็มิอาจจะควบคุมตนให้เป็นปกติได้ย่อมสยบซบล้มลงกับที่ ครานั้น มนุษย์นิกรซึ่งสัญจรเที่ยวไปในอรัญ เมื่อได้ประสพการณ์เห็นฤทธิ์ราชสีห์นั้นแล้ว ย่อมจักต้องเข้าใจโดยอุปมานได้ด้วยปัญญาตนว่า พญาไกรสรราชสีห์นี้มีกำลังอานุภาพมากยิ่งนักหนา ความอุปมาที่ว่านี้ฉันใด

    สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถศาสดาจารย์เจ้า แห่งเราทั้งหลายนี้ พระองค์ทรงมีภัยอันพิลึกไม่เหลือติดในพระหฤทัย มิได้บังเกิดตกพระทัยกลัว และพระโลมาของพระองค์มิได้ลุกชันหวั่นไหวในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ เพราะว่าทรงประกอบไปด้วยพระบารมีเป็นอนันตคุณอดุลล้ำเลิศประเสริฐสุด ซึ่งจะหาสิ่งที่จะชั่งตวงให้เท่าพระคุณบารมีแห่งสมเด็จพระชินสีห์พระพุทธเจ้านั้นหามิได้ ด้วยว่าพระองค์ทรงสั่งสอนสัตว์ทั้งหลายให้ลุถึงคุณวิเศษ สามารถที่จะนำตนให้พ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสารได้หรือแม้อย่างน้อยก็ให้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์เป็นต้น เพราะองค์สมเด็จพระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ก็ทรงบรรลุพระวิมิตเศวตฉัตร ครองสัพพัญญุตญาณสมบัติในโลกุตรราไชยศวรรย์มีพระกายประกอบด้วยลักษณะอันวิจิตร พระองค์สถิตอยู่ในวิโมกข์และพระนิโรธธรรมทรงมีปกติสันโดษซ่อนเร้นในป่าชัฎ คือพระองค์สถิตอยู่ในป่าอันสงัดเงียบ คราเมื่อเสด็จออกจากพระพุทธศาสัย พระองค์ย่อมประกอบไปด้วยพระญาณอันองอาจเสด็จเข้าไปในท่ามกลางพุทธบริษัทด้วยพระพุทธลีลาสง่างามนักไม่มีเสมอสอง แล้วทรงบันลือซึ่งศัพท์สำเนียงทำนองพุทธสีหนาท กล่าวคือทรงประกาศพระสัทธรรมโปรดมนุษย์นิกรร และเหล่าเทพยดาให้มีจิตผ่องใสบริสุทธิ์ ทรงจุดประทีปคือดวงปัญญา ให้เกิดแก่สาวกผู้ฟังทั้งหลายเป็นอันมาก หากผู้ใดมีวาสนาบารมีอบรมมาแก่กล้าบริบูรณ์แล้ว ก็ไม่แคล้วที่จะได้ดื่่่่่่่่่่่่่่่มอมตรสพบเห็นบัญยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมพุทธสัพพัญญูผู้ประเสริฐ ส่วนว่ามนุษย์ผู้ใดเกิดมา ถือมั่นในมิจฉาทิฏฐิ ๖๒ ประการ มีสัสสตทิฐิแลอุจจเแททิฐเป็นต้นอันร้ายกาจครั้นได้ฟังพระพุทธสีหนาทแล้ว เขาก็ละเสียได้ซึ่งทิฐิอันร้ายนั้น ส่วนพวกที่มีทิฐิอันมั่นคงแรงกล้า ตั้งหน้าที่จะเป็นคู่แข่งแห่งพระทศพล ตั้งตนเป็นครูเจ้าหมู่ทั้งหลาย เช่นศาสดาทั้ง ๖ คือ ปูรณกัสสป๑ มักขลิโคสาล๑ อชิตเกสกัมพล๑ ปกุทธกิจจายะนะ๑ สัญชัยเวฬัญบุตร๑ นิครนถ์นาฏบุตร๑ ซึ่งตั้งตนเป็นศาสดาสั่งสอนสาวกให้เป็นมิจฉาทิฐิเป็นอันมาก หากบังอาจมาคัดค้านพระพุทธวจนะในคราใด ครั้นได้ฟังพระพุทธสีหนาทบันลืออก ก็มีหฤทัยหวั่นไหวกลับกลอกสยบซบอยู่ มิอาจที่จะคิดต่อสู้ตอบโต้พระพุทธภาษิตได้ ก็หลบเร้นซุ่มซ๋อนอยู่ส่วนสาวกของสมเด็จพระบรมครูเจ้านั้น ครั้นได้ฟังเสียงบันลือพระพุทธสีหนาท ก็บังเกิดประสาทะเสื่อมใสพยายามปฏิบัติตามไป ก็ได้ได้บรรลุวิมุติธรรมนำตนออกจากทุกข์ได้เป็นอันมาก สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแห่งเราทั้งหลายนั้น ครั้นพระองค์บันลือพระพุทธสีหนาท คือประกาศพระสัทธรรมเทศนาไว้ในโลกเช่นนี้แล้ว ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไป

    ฝ่ายบัณฑิตชนคนมีปัญญาทั้งหลาย ซึ่งเกิดในสมัยต่อมาครั้นได้ยินพระพุทธสีหนาท คือพระโอวาทานุสาสนีอันประกาศสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีผู้ป่าวประกาศสืบกันมาก้องโลกอยู่ ใคร่จะรู้รสอมตธรรม ก็พยายามปฏิบัติตามพระโอวาทานุสาสนีด้วยดวงฤดีเลื่อมใสศรัทธาเชื่อมั่น ครั้นได้ดื่มอมตรสสมดังพระพุทธพจน์ที่ทรงประกาศไว้ ก็ให้ตะลึงงันอัศจรรย์ใจในพระสัพพุญญุตญาณ อุทานออกมาว่า "โอ้...พระพุทธสีหนาท คือสัจธรรมอันล้ำลึกกัน ใครผู้ใดเล่าหนาที่จักมีปัญญาประกาศไว้ได้ นอกจาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงไว้ซึ่งพระสัพพัญญุตญาณแล้วไซร้เป็นอันไม่มี สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติในโลกจริงเป็นแม่นมั่นแล้วหนอ"

    ฝ่ายผู้ที่มีบุญน้อยด้อยวาสนาและมีปัญญาโฉดเขลาเต็มไปด้วยทิฐิมานะ แม้พระพุทธสีหนาทคือพระสัจธรรมคำสั่งสอนอขงสมเด็จพระชินวรพุทธเจ้า ยิ่งกึก้องคฤโฆษอยู่เช่นนี้แล้วก็เป็นผู้มีทิฐิวิบัติ คือถูกทิฐิอันร้ายกาจมาปิดโสตประสาทของตนเสีย กลายเป็นคนหูหนวกไม่สามารถที่จะรับฟังพระสัทธรรมได้ เมื่อไม่ได้ฟังพระธรรมเทศนา การปฏิบัติตามเพื่อดื่มรสอมตธรรมจักมีแต่ที่ไหน เมื่อตนไม่ได้ดื่มรสอมตธรรม ก็เลยไม่รู้ฤทธิ์แห่งพระสัพพัญญุตญาณว่าแสนลึกล้ำมหัศจรรย์พิสดารเพียงใด อย่างนี้ก็ต้องมีความสงสัยอยู่ร่ำไปว่า พระพุทธเจ้าปรากฎขึ้นแล้วจริงฤา?


    รอยพระบาท

    ยังมีพญาคชสารตัวหนึ่ง ซึ่งประเสริฐกว่าช้างทั้งหลายมีกายสูงได้ ๗ ศอก ยาวได้ ๙ ศอก มีหางยาว มีปลายเล็บขาว เป็นช้างมีสีขาวดุจสีหมอก มีกายเต็มดุจบ่ออันมิได้พร่อง มีอายตนะบริสุทธิ์ไพบูลย์ แลดูดุจจอมคีรีที่มีไม้หนุ่มๆ ขึ้นสูงสล้างต่างชนิด คชสารนั่นวิจิตรงดงามเพราะมีเครื่องประดับผูกสอดกาย เป็นเจ้าแห่งฝูงช้างทั้งหลายที่มีอยู่ในธรณี เพราะมีสรีรกายใหญ่โต มีงาอันโอฬารงอนงาม สิริวิลาสดังงอนไถ มีกำลังอาจจะกำจัดเสียได้ซึ่งปัจจมิตร มีฤทธิ์ห้าวหาญมากเชี่ยวชาญในการที่จะโจนเที่ยวไปในทิศต่างๆ พญาช้างนั้นยังหนุ่ม มีกำลังมากมายยิ่งนักหนา ละเสียซึ่งที่อยู่แห่งอาตมาเที่ยวไปในไพรสณฑ์ประเทศเพื่อแสวงหาอาหาร กินหญ้าใบไม้และถอนขึ้นมาทั้งรากด้วยบาทา โน้มน้าวด้วยงวง ยังแมกไม้ทั้งปวงเช่นกอไผ่ อ้อย เถาวัลย์ และพันธุ์พฤกษาอื่นๆ ให้พินาศย่อยยับไปไม่มีชิ้นดีในที่ทั้งสองข้างทางสัญจรเที่ยวไปมาตามสถานห้วยธารละหารเขาลำเนาไพร มีรอยบาทาปรากฎที่ธรณีอ่อนๆ ครั้งนั้น หนุ่มมนุษย์นิกรสัญจรเที่ยวไป เมื่อได้เห็นรอยพญาคชสารตัวประมาณ วิจิตรไปด้วยบุญลักษณ์อันต้องด้วยแบบอย่าง เพียงแต่ได้เห็นรอยบาทาพญาคเชนทรประเสริฐนั่นแล้ว ผู้ที่มีปัญญารอบรู้ในลักษณะคชชาติ มาตรว่าไม่เห็นตัวจริงของพญาคชสาร ก็อาจอนุมานเอาด้วยปัญญาแล้วบอกแก่กันได้ว่า "ดูกรชาวเราเอ๋ย พญาช้างใหญ่ในป่านี้เห็นทีจะมีอยู่เป็นมั่นคง มีรอยบาทาปรากฎเป็นพยานนี่อย่างไรเล่า" อุปมาที่ยกเอามานี่ฉันใด

    สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถศาสดาจารย์เจ้าแห่งเราท่านทั้งหลาย พระองค์ก็ทรงประเสริฐเหมือนพญาคชสารนั้นโดยวิเศษ ด้วยเหตุว่ารอยพระพุทธบาทมีลักษณะวิลาส เป็นมงคล ๑๐๘ ประการ ทรงประดิษฐานไว้เป็นหลักฐาน แต่ประการที่สำคัญนั้นก็คือว่า พระพุทธเจ้าแห่งเราทั้งหลาย ทรงความประเสริฐต่างๆ ไม่ว่าจะเปรียบด้วยสิ่งไร มองในแง่ไหน ก็ประเสริฐไปเสียทั้งนั้น ถ้าจะเปรียบว่าทรงเป็นเหมือนกุญชร ฉัททันต์ พระองค์ก็ประเสริฐกว่า ถ้าจะว่าเป็นพญาไกรสีหราช พระองค์ก็ทรงองอาจประเสริฐกว่า หรือจะว่าข้างบุคคลที่ทรมานอินทรีย์ พระองค์ก็ทรงเป็นบุคคลที่ทรมานอินทรีย์ยอดเยี่ยมประเสริฐกว่าว่าข้างบุคคลผู้ระงับบาปอกุศล พระองค์ก็ทรงเป็นผู้ระงับบาปอกุศลยอดเยี่ยมกว่าคนอื่น คือประเสริฐกว่าจะว่าข้างบุคคลผู้ประกบด้วยอธิษฐาน หรือมีญาณมีเพียรอุตสาหะ มีปัญญา มีฤทธานุภาพรุ่งเรือง มีฌาน มีวสีภาพชำนาญดี มียศ มีเดช มีวิมุติ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมทรงประเสริฐกว่าทั้งนั้น อนึ่ง เมื่อจินตนาการถึงความเป็นอย่างประเสริฐในไตรโลก ไม่ว่าจะเป็นสงฆ์ เป็นโยคี เป็นฤาษี เป็นครู เป็นนักปราชญ์ เป็นพระยา เป็นราชาธิบดี เป็นเจ้าจอมปฐพี จักรพรรดิราช เป็นเทวดา เป็นท้าวสักกะ เป็นพระพรหมผู้วิเศษ ประกอบด้วยสรรพธรรมสรรพคุณเป็นที่พึ่งอาศัย และให้สำเร็จความปรารถนาแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายได้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้า ย่อมทรงเป็นได้อย่างประเสริฐโดยประการทั้งปวงไม่ต้องสงสัย ด้วยว่า พระองค์ทรงเป็นพระบวรดนัย แห่งบรมกษัตริย์โดยพระชาติ แต่แล้วก็ทรงมาละเสียซึ่งกรุงแก้วกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นเมืองกษัตริย์เลิศด้วยวงศ์มหาสมมติ ละเสียซึ่งพระราชบุตรที่เพิ่งจะประสูติในวันนั้น กับสมบัติอันประกอบด้วยสัตตรัตนะทั้งเศวตฉัตร พระองค์ก็ตัดไม่อาลัยใยดี เสด็จหนีออกสู่มหาภิเนษกรมณ์อยู่ในไพรสณฑ์สงัด แสวงหาซึ่งวิชาญาณอันประเสริฐอยู่แทบว่าพระชนม์ชีพจะวางวาย ครั้งสุดท้ายเมื่อพระองค์จะกำจัดเสียซึ่งละอองธุลี กล่าวคือ กิเลสราคะ และจะทรงพรากเสียซึ่งโมหะ มานะ วิจิกิจฉา คือความมัวเมากระด้างและสงสัย อันติตามมานานนักหนา จะทรงถอนเสียซึ่งเถาวลดา คือทิฐิอันร้ายกาจลามกสามานย์ จะทรงทำลายเสียซึ่งเครือวัลย์ กล่าวคือความยินดีในสิ่งที่ชอบใจทั้งปวง จะตัดเสียซึ่งโลภะกับทั้งโทสะทั้งหลาย จะห้ามเสียซึ่งความเวียนว่าย อยู่ในกระแสตัณหา และจะทรงตัดเสียซึ่งวิตก จะปิดเสียงซึ่งมรรคาอันลามกเป็นมิจฉา จะทรงเปิดออกซึ่งมรรคาหนทางแห่งอมตมหานิพพาน ครั้งนั้น พระอังคีรสราชบุรุษ หน่อพุทธางกูรพระองค์จึงเสด็จคมนาการ โดยมรรคาอันเป็นสัมมาปฏิบัติคือพระอัฏฐางคิกมรรค ก็ทรงบรรลุถึงธรรมนคร สำเร็จแก่สรรเพชญดาญาณทรงได้รับการขนานพระนามเป็น สมเด็จพระศรีศากยมุนี โคดมบรมไตรโลกนาถศาสดาจารย์ ครั้นแล้วพระองค์จึงทรงประดิษฐานไว้ ซึ่งพระโพชฌงควรพุทธบาทอันประเสริฐ ๗ ประการคือ
    ๑. สติโพชฌงควรพุทธบาท
    ๒. ธรรมวิจยโพชฌงควรพุทธบาท
    ๓. วิริยโพชฌงควรพุทธบาท
    ๔. ปิติโพชฌงควรพุทธบาท
    ๕. ปัสสัทธิโพชฌงควรพุทธบาท
    ๖. สมาธิโพชฌงควรพุทธบาท
    ๗. อุเบกขาโพชฌงควรพุทธบาท

    อันว่าโพชฌงควรพุทธบาท แห่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เจ้าทั้ง ๗ ประการนั้น มีพรรณแลลักษณะอันวิจิตรโสภา เป็นรอยพระพุทธบาทที่ควรจะทอดทัศนา ควรจะยินดี ควรจะเสวยเชยชม ควรจะภิรมย์ปรีดา เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความเกษมสวัสดี เป็นสิ่งที่กระทำให้ไม่มีภัย นำมาซึ่งความสบายอกสบายใจ กระทำมิให้เกิดความเสียหายตกใจ กระทำให้เกิดปรีดา ปราโมทย์ กระทำให้มีอารมณ์แน่วแน่เป็นหนึ่ง เป็นสิ่งที่ควรจะจำเรญ และควรจะจำเริญด้วยดียิ่งนัก ด้วยว่าจะเป็นเหตุให้ความสุข ให้ความเย็น ให้ยศ ให้กำลัง ให้มีสีสันพรรณงามให้มีโภคสมบัติ ให้สำเร็จความใคร่ที่ต้องการ ให้สำเร็จความปรารถนาที่ตั้งไว้ รวมความว่าสามารถจะให้สมบัติทั้งปวงแก่บุคคลผู้บำเพ็ญทุกประการ

    อนึ่ง อันว่ารอยพระวรพุทธบาทแห่งองค์สมเด็จพระสัพพัญญูผู้ประเสริฐนั้น ย่อมทรงไว้ซึ่งความอัศจรรย์ครอบงำเสียได้ซึ่งรอยเท้าอันประเสริฐบรรดามี ไม่ว่าจะเป็นรอยเท้าพญาไกรสรสีหราชก็ดี หรือรอยเท้าพญาคชาชาติ รอยเท้าม้าอาชาไนย รอยเท้าโคอสุภราช รอยเท้ายักษ์ รอยเท้าเจ้าลัทธิ เดียรถีร์ รอยเท้าศาสดาครูสอน รอยเท้าผู้มีเวทย์ รอยเท้าเทพยดา รอยเท้าพระพรหมผู้วิเศษ รอยเท้าผู้สงบระงับแล้ว รอยเท้าฤษี รอยเท้ามุนี รอยเท้าผู้ชำนะ รอยเท้าผู้ประเสริฐและรอยเท้าแห่งท่านที่จัดว่าเป็นผู้อุดมผู้เลิศก็ดี รอยเท้าเหล่านี้ย่อมเป็นรอง กล่าวคือย่อมถูกรอยพระพุทธบาทครอบงำทั้งสิ้น เพราะว่าพระบาทแห่งองค์สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้านี้ เป็นรอยเท้าประเสริฐโดยวิเศษกว่ารอยเท้าทั้งปวง เป็นรอยเท้าที่ถึงซึ่งวิมุติความหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิง เป็นรอยเท้าที่บรรลุผลสูงสุดคือพระอรหัตอันทรงไว้ซึ่งพระอรหาทิคุณ และรอยพระบาทสมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดาเจ้าของเราทั้งหลายนี้ ย่อมเป็นที่แสดงรอยพระบาทแห่งสมเด็จพระบรมโลกนาถสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงมีรอยพระวรพุทธบาทเป็นมหัศจรรย์ดั่งพรรณนามา ครั้นทรงประดิษฐานพระโพชฌงควรพุทธบาทอันประเสริฐสุดเสร็จสิ้นแล้ว ก็เสด็จดับขันธ์นิพพานล่วงไป

    ฝ่ายบัณฑิตชนคนมีปัญญาทั้งหลาย ซึ่งเกิดในสมัยหลังต่อมา ครั้นได้พบรอยพระพุทธบาท คือพระสัตตโพชฌงค์นั้นแล้ว ก็มีใจผ่องแผ้วปราโมทย์ไปด้วยความเลื่อมใส รีบดำเนินตามรอยพระบาทไปไม่ชักช้าด้วยการปฏิบัติตามพระโอวาทานุสาสนี เมื่อมีการปฏิบัติชอบ ปฏิเวธ ความบรรลุคุณวิเศษอันเป็นผลของการปฏิบัติก็ย่อมจะปรากฎติดตามมา คราที่นั้นคนปฏิบัติดำเนินตามรอยพระบาททั้งหลายย่อมจะเกิดความอัศจรรย์ใจ ในวิสัยแห่งพระสัพพัญญุตญาณว่า
    โอ้... รอยพระบาทคือพระสัทธรรมอันสำแดงหนทางพ้นทุกข์ ถึงซึ่งความเกษมสานต์คือพระนิพพานนี้ ใครเล่าหนาที่จักมีปํญญาสำแดงไว้ได้ ในไตรภพจบทั้งสามโลกนี้เป็นไม่มี จักมีได้ก็แต่วิสัยแห่งพระสัพพัญญูุตญาณเท่านั้น สมเด็จพระภควันตบรมโลกนาถศาสดาจารย์เจ้า พระองค์ผู้ทรงไว้ซึ่งพระสัพพัญญุติญาณอันประเสริฐ ได้ทรงอุบัติเกิดในโลกนี้จริงแล้วหนอ
    ฝ่ายผู้ที่มีปัญญาโฉดเขลา มัวเมาไปตามโลกธรรม ไม่นำพาต่อคำบัณฑิต ไม่คิดที่จะนำตนห้พ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสาร เพราะเป็นพาลสันดานโง่แลหยิ่งนักหนา ไม่เห็นคุณค่าแห่งพระพุทธพจน์ มีพยศอันร้ายกาจคือทิฐิประจำอยู่ในดวงจิต ทั้งๆ ที่บัณฑิตชนทั้งหลายมีใจกรุณาชี้บอกให้รู้ว่า "พระโอวาทานุสาสนีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วนั้น ยังมีปรากฎ อยู่เปรียบเสมือนรอยพระบาทสำแดงหนทางให้ลุถึงความสุขเกษมสานต์สวัสดีแก่ผู้ที่มีศรัทธาปฏิบัติตามไม่ควรจะมีความประมาทในวัยและชีวิตอันเป็นอนิจจัง จงเชื่อฟังและเร่งรีบปฏิบัติตามเพื่อความสุขสวัสดีของตนเถิด" ก็เกิดคลุ้มคลั่งคัดค้านเอาตามสันดานพาล สุดแต่ทิฐิอันโง่ๆ ของตนจะบันดาลให้คิดไปต่างๆ ล้วนแต่อ้างเหตุที่ตนจะไม่ปฏิบัติตามทั้งสิ้น เช่นว่า "พระพุทธศาสนาเป็นนิยยานิกธรรมนำออกจากทุกข์ได้จริงหรือ? พระนิพพานและมรรคผลอันเป็นคุณวิเศษทางพระพุทธศาสนามีจริงหรือ? พระนิพพานเป็นสุขจริงหรือ? ก็แล้วสุขที่เราได้เสวยอยู่ในนี้มิใช่สุขดอกหรือ? ทุกวันนี้ยังมีบุคคลได้รู้รสพระนิพพานจริงหรือ? ตัวเรานับถือพระพุทธศาสนามานาน ก็ไม่เห็นได้รู้รสพระนิพพานเลย พระนิพพานที่จะปฏิบัติตาม เมื่อการปฏิบัติดำเนินตามไม่มี ปฏิเวธ ความลุถึงคุณวิเศษอันเป็นผลของการปฏิบัติดำเนินตามไม่มี ปฏิเวธความลุถึงคุณวิเศษอันเป็นผลของการปฏิบัติจักมีแต่ที่ไหน ผู้ตาบอดตาใสทำเป็นไม่เห็นรอยพระบาทเหล่านี้ จึงไม่มีโอกาสได้พบอมตรธรรมอันล้ำลึกขององค์สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าหนักเข้าก็เลยลามปามสงสัยไปจนถึงว่า พระพุทธเจ้ามีจริงฤา?

    อุปมาที่พรรณนามานี้ เป็นอุปมากถาที่กล่าวไว้เพื่อจักแสดงให้เห็นว่า องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เจ้าแห่งเราท่านทั้งหลายนั้น ทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลกอย่างเที่ยงแท้มิต้องกังขากันอีกต่อไป และเมื่อพระองค์ได้ทรงอุบัติขึ้นแล้ว ก็ทรงบำเพ็ญพระพุทธกิจประดิษฐานพระบวรศาสนา ยังประชาสัตว์ให้ดื่มรสอมตธรรม พระพุทธเจ้าจริยาอย่างนี้ ย่อมเข้าถึงภาวะเป็นอนัตพุทธคุณอย่างจริงแท้ไม่ต้องสงสัย

    พรรณนาในพระอนันตพุทธคุณ สมควรที่จะยุติลงได้แล้ว จึงขอยุติลงด้วยประการฉะนี้.



    อวสานบท

    เมื่อได้ติดตามศึกษาเรื่องมุนีนาถทีปนีมา ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงบัดนี้ ท่านผู้มีปัญญาก็คงจะเห็นแล้วว่า การที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจักเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกเรานี้สักพระองค์หนึ่งนั้น เป็นการยากนักหนาและพอพระองค์เสด็จมาอุบัติแล้วก็ย่อมทรงไว้ซึ่งพระคุณเป็นอนันต์ สุดจะนับจะประมาณได้จริงหรือไม่ เพราะสมเด็จพระผู้มีพระภาคนั้น พระองค์ทรงไว้ซึ่งพระคุณธรรมเป็นพิเศษ โดยทรงเทศนาโปรดสัตว์โลกทั้งหลาย ให้พ้นจากภัยอันร้ายกาจในวัฏสงสาร ทรงประทานอมตธรรม คือพระนิพพานสมบัติอันเกษมสานต์ปราศจากทุกข์โดยประการทั้งปวงแก่ชาวโลกทั้งหลาย สมแล้วกับพระนามาภิไธยที่ว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ องค์พระศาสดาจารย์เจ้าจอมมุนี ผู้ทรงเป็นที่่พึ่งแห่งสัตว์ทั้งหลายในไตรโลก

    ปัจจุบันนี้ เราท่านทั้งหลายนับได้ว่าเป็นผู้มีโชคอย่างที่สุด เพราะบังเอิญเกิดมาได้พบพระบวรพุทธศาสนา แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าโดยไม่คาดฝัน ใช่แต่เท่านั้นยังประกอบด้วยสัมมาทิฐิมีความเห็นอันถูกต้อง ประกอบรองรับเอาพระพุทธศาสนาไว้เหนือเศียรเกล้า ยึดเอาเป็นที่พึ่งของตนได้นามว่าเป็นพุทธศาสนิกชนคนนับถือพระพุทธศาสนาจึงเป็นอันว่าพ้นจากความวิบัติอย่างใหญ่หลวง ๖ ประการ ตามที่กล่าวมาในตอนต้นโน้นแล้ว ยังจำได้ใช่ไหมเล่า

    เมื่อเราเกิดมาเป็นผู้โชคดีมหาศาลในชาตินี้แล้ว การที่จะนัิ่งนอนใจตกอยู่ในความประมาท ปล่อยให้โอกาสแห่งโชคลาภนี้ ผ่านเราไปเสียเฉยๆ ย่อมเป็นการไม่สมควรยิ่งนัก ทางที่ดีควรจักเร่งรีบกอบโกยเอาสาระสมบัติอันมีอยู่ในพระบวรพุทธศาสนา รีบคว้ารีบยึดเอามาเป็นสมบัติแห่งตัวเราให้จงได้

    ก็สมบัติในพระบวรพุทธศาสนามีอยู่มากมายนักหนาเหลือที่จะพรรณนาให้สิ้นสุดลงได้ แต่สมบัติหนึ่งนั้น นับว่าเป็นสมบัติสำคัญยอดเยี่ยม เพราะเป็นสมบัติประเสริฐเลิศล้ำ สำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนา สมบัติที่ว่านี้ก็คือ พระนิพพานสมบัติ ฉะนั้นเราท่านทั้งหลายก่อนที่จะตาย ควรที่จะตื่นตัวเร่งรีบแสวงหาพระนิพพานสมบัติกันเถิด
    ฮึ!...ทำไมถึงได้มีน้ำใจอหังการ์ ออกปากว่าจะเอาพระนิพพานสมบัติอันสูงสุดถึงเพียงนี้เล่า จะมิเป็นการบังอาจเอื้อมเกินไปฤา?
    ในกรณีนี้ไม่เป็นการบังอาจดอก หากยังไม่เข้าใจจะว่าให้ฟัง คือการที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแห่งเราท่านทั้งหลาย พระองค์ทรงพระอุตสาหะพยายามเฝ้าสร้างสมอบรมพระบารมีมาอย่างแสนจะยากเย็น เป็นเวลานานนักหนาจนกระทั่งได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระบรมศาสดาจารย์สัพพัญญูเจ้านั้น พระพุทธองค์ท่านทรงมีพระประสงค์อะไร? มิใช่ทรงมุ่งหมายเพื่อจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ให้ไปนิพพาน คือทรงปรารถนาเพื่อจะให้สัตว์ทั้งหลายไปพระนิพพานสมบัติด้วยกันดอกหรือ ก็แล้วทีนี้เราท่านทั้งหลายก็คือสาวกขององค์ท่าน หากตั้งมนัสมั่นมุ่งหมายพระนิพพานสมบัติที่พระองค์ทรงประทานไว้ มันจะเป็นการบังคับอาจเอื้อมไปได้อย่างไรโดยที่แท้เป็นการกระทำที่ถูกพระพุทธประสงค์ที่แท้จริงน่ะไม่ว่า

    จำเป็นอย่างไร ที่เราท่านทั้งหลายผู้เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมพุทธเจ้าควรจะปรารถนาเอาพระนิพพานสมบัติ? ก็เพราะว่า บรรดาสมบัติอื่นใดในโลกนี้และโลกหน้า เอาเป็นว่าสมบัติทั้งหมดในจักรวาลนี้ก็แล้วกัน มันไม่เที่ยงแท้แน่นอนและเราอาจะปรารถนาเอาเมื่อใดโดยไม่ต้องพบต้องเจอพระพุทธศาสนาเลยก็ได้ เช่นสวรรค์สมบัติ คือการไปอุบัติเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา เสวยสุขสำราญอยู่ ณ สรวงสวรรค์เทวโลกนั้น กาลที่ว่างจากพุทธศาสนาคือเวลาที่ไม่มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาอุบัติตรัสในโลกนี้ ผู้ที่มีสันดานดี มีจิตใจเป็นบุญเป็นกุศลประกอบกรรมทำความดีอยู่เนืองนิตย์ เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็ไม่แคล้วที่จะได้ไปเกิดในเทวโลกครองสวรรค์สมบัติสมความปรารถนาโดยที่เขาเหล่านั้นไม่ได้มีโอกาสรู้จักพระพุทธศาสนาเลย เช่นนี้ ก็มีมาแล้วมากกว่ามากนักหนา แม้ถึงพระพรหมสมบัติ คือการไปอุบัติเกิดเป็นพระพรหมวิเศษเสวยสุขอันประณีตประเสริฐเลิศยิ่งกว่าเทวดาเป็นเวลานานแสนนานอยู่ ณ พรหมโลกอันโอฬาร ในกาลที่โลกเรายังว่างจากพระพุทธศาสนานั้น ผู้ทีี่สนใจในการเจริญภาวนาเป็นอันดีคือ เหล่าโยคี ฤาษี ดาบส ซึ่งบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์จนได้สำเร็จฌานต่างๆ เมื่อถึงคราววางวายสิ้นชีวิตไปจากมนุษยโลกนี้แล้วก็ไม่แคล้วที่จะได้ไปอุบัติบนพรหมโลก ครองพรหมสมบัติตามอำนาจฌานที่ตนได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยพระพุทธศาสนา ไม่ต้องเป็นเวลาพุทธกาลก็ได้ เช่นนี้ก็มีเป็นธรรมดา ยิ่งสมบัติในภูมิอันเลวทรามต่ำช้า ที่สัตว์ทุกรูปทุกนามพากันจงเกลียดจงชัยนักหนา คือ นรกสมบัติ เปรตสมบัติ อสุรกายสมบัติและเดียรฉานสมบัติ ซึ่งมีอยู่ในอบายภูมิเหล่านี้ด้วย ยิ่งไม่ต้องพิถีพิถัน ไม่ต้องรอกาลรอเวลา ปรารถนาเมื่อใดเป็นได้เมื่อนั้น ขอแต่ว่าให้ขะมีขมันทำบาปทำกรรมเข้าให้จงมากเถิด เป็นครองแน่!

    แต่่ว่าสมบัติที่กล่าวมานี้ท้้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสวรรค์สมบัติที่ปรารถนากันักก็ดี หรือว่าพรหมสมบัติที่จัดว่าประเสริฐก็ดี ล้วนเป็นเพียงโลกียสมบัติ คือเป็นขอที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนเสมอไป จะครองอยู่ได้ก็เพียงชั่วครั้งชั่วครา เฉพาะเวลาที่เรามีสิทธิจะครองได้อยู่เท่านั้น พอถึงกาลหมดบุญหรือหมดฌานแล้ว ก็เสื่อมสลายจะครอบครองอยู่ต่อไปไม่ได้ อันนี้เป็นกฎธรรมดา ถ้าปรารถนาอยากได้ก็ต้องแสงหาด้วยการสร้างกรรมกันใหม่ ได้ประสบสุขบ้างทุกข้างไปตามเรื่อง เป็นการสิ้นเปลืองเวลา พาให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารนี้ไม่มีวันที่จะสิ้นสุดลงเลย แต่ว่าพระนิพพานสมบัตินี้สิ เป็นสมบัติอมตะมีสภาวะแสนสุขประณีตละเอียดยิ่งนัก จักหาสมบัติใดอื่นมาเทียมเทียบมิได้ในไตรโลก เป็นสิ่งสิ้นทุกข์สิ้นโศกไม่มีภัย เป็นวิสัยแห่งสัพพัญญุตญาณเท่านั้น ที่จะควานหานิพพานสมบัตินี่พบได้ ผู้วิเศษอื่นใดในสามภพเจบจบทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ มาตรว่าจะทรงมเหศักดิ์เพียงใด เว้นไว้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงไว้ซึ่งพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ก็อย่าหวังเลยว่า จะสามารถค้นหาพระนิพพานสมบัติเอามาบอกแก่ชาวเราได้ ฉะนั้น ต้องเข้าใจจงดีว่า พระนิพพานอันเป็นสมบัติแก้วนี้ จะมีอยู่ก็แต่เฉพาะในพระบวรพุทธศาสนา และในเวลาที่พระพุทธศาสนายังมีปรากฎอยู่ในโลกเช่นในปัจจุบันทุกวันนี้เท่านั้น กาลใดว่างจากพระพุทธศาสนา คือพระพุทธศาสนาของเราเสื่อมสูญหมดไปจากโลกเมื่อไร พระนิพพานเป็นไม่มีอย่างแน่นอ ด้วยเหตุนี้ จึงควรอนุสรณ์นึกถึงนิพพานสมบัติให้มากๆ หากว่าไม่ต้องการเป็นอาภัพอับโชควาสนา...


    นิพพานสมบัติ

    เมื่อจะพรรณนาถึงคุณแห่งพระนิพพานสมบัตินั้น ย่อมมีเป็นเอนกอนันต์ สุดที่จักเสกสรรกล่าวขานให้สิ้นสุดลงได้ จะกล่าวไว้โดยอุปมาอย่างย่นย่อดังต่อไปนี้


    คุณแห่งปทุมชาติ

    อันว่าปทุมชาติใบบัวทั้งหลายนั้น ก็ย่อมทรงไว้ซึ่งความสำคัญเป็นสัญลักษณ์พิเศษแห่งตนอยู่อย่างหนึ่ง คือว่า อุทกวารีถึงจะมีมากมายสักเพียงใดก็ตาม ที่จะได้แทรกซึมติดอยู่ในใบปทุมชาตินั้น ย่อมไม่ปรากฎมีเลยในโลก อุปมานี้ฉันใด อันว่าพระนิพพานนั้น ก็มีสภาวะเช่นเดียวกัน จะได้มีบรรดาสรรพกิเลสซึมซาบติดอยู่ แม้แต่สักนิดหนึ่งก็หามิได้ ปราศจากกิเลสร้ายโดยประการทั้งปวงในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ผู้ที่เชื่อฟังพระโอวาทานุสาสนีแห่งองค์สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเฝ้าปฏิบัติย่อมมีโอกาสบรรลุธรรมวิเศษคือพระนิพพานอันเป็นสมบัติอมตซึ่งมีสภาวคุณเห็นปานฉะนี้


    คุณแห่งอุทกวารี

    อันว่าอุทกวารีคือน้ำนั้น ย่อมทรงไว้ซึ่งความสำคัญเป็นสัญลักษณ์พิเศษคือความเย็น สามารถที่จะดับเสียได้ซึ่งความร้อนกระวนกระวายในโลกได้ อุปมานี้ฉันใด พระนิพพานนั้นไซร้ก็มีสภาวะเป็นของเย็นสามารถที่จะดับกิเลสร้าย อันทำความร้อนกระวนกระวายให้ปรากฎขึ้นในดวงหฤทัยของสัตว์ทั้งหลายเสียได้ ฉะนั้น

    อีกประการหนึ่ง ธรรมดาอุทกวารีนั้น เป็นของบริสุทธิ์สะอาดสามารถจะล้างเสียซึ่งมลทินสกปรกได้ และเมื่อใครดื่มเข้าไปแล้ว ย่อมห้ามเสียซึ่งความกระหายน้ำได้รับความชุ่มฉ่ำในดวงฤดีฉันใด พระนิพพานนั้นก็มีสภาวะคล้ายๆ กันนี คือสามารถที่จะล้างเสียซึ่งมลทินกิเลสร้ายอันทำดวงใจสัตว์ทั้งหลายที่สกปรกลามกให้เป็นดวงใจที่สะอาดบริสุทธิ์ และเมื่อพระวรบุตรพุทธชิโนรสผู้ใดได้ดื่มพระนิพพานนั้นเข้าไปแล้ว ย่อมห้ามเสียซึ่งความกระหายกล่าวคือ ความปรารถนาที่จะไปอยู่ในภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เสียได้อย่างแน่นอน มิต้องมีความอาลัยอาวรณ์ ในวัฏสงสารอันมีภัยร้ายกาจสืบไป


    คุณแห่งยาดับพิษงู

    อันว่ายาดับพิษงูโอสถขนานวิเศษที่หมองูผู้ขมังเวทย์ปรุงเอาไว้ ย่อมทรงไว้ซึ่งคุณลักษณะ คือ เมื่ออสรพิษร้ายขบกัดบุคคลใดเข้าแล้ว เขาย่อมได้รับทุกข์คือมีมรณภัยความตายเป็นเบื้องหน้า แต่เมื่อเอายาดับพิษงูกินเข้าไป พิษงูนั้นย่อมเสื่อมหาย เขาย่อมได้รับความสุขสบายไม่ต้องตาย เพราะได้โอสถวิเศษนี้เป็นที่พึ่ง อุปมาข้อนี้ฉันใด พระนิพพานนั้น ก็เปรียบเสมือนโอสถวิเศษ สำหรับดับพิษงู คือกิเลสร้ายอันซาบซ่านอยู่ในดวงใจของสัตว์ทั้งหลาย เป็นพิษร้ายทรมานให้ปวดร้าวอย่างแสนสาหัสอยู่ในวัฏสงสารไม่มีวันสิ้นสุด เม่อชินบุตรสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ใด มีโอสถคือพระนิพพานเป็นที่ตั้ง ได้ดื่มเข้าไปแล้ว ย่อมระงับดับพิษคือกิเลสร้ายให้เคลื่อนคลายหายไปไม่มีเหลือ ได้รับความสุขาสบายและไม่มีวันที่จะถึงซึ่งความตายเป็นอมตนิรันดร์ เพราะว่าพระนิพพานนั้นย่อมรักษาบุคคลที่ได้พระนิพพานไว้มิให้ตาย ดุจยางูรักษาชีวิตของผู้ถูกงูขบกัดไว้ฉะนั้น
    <!-- google_ad_section_end -->
     

แชร์หน้านี้

Loading...