หลวงพ่อชา สุภัทโท...ศิษย์โดยตรงของหลวงปู่มั่น.

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย โลกุตตระ, 23 กรกฎาคม 2010.

  1. โลกุตตระ

    โลกุตตระ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    2 กุมภาพันธ์ 2010
    โพสต์:
    448
    ค่าพลัง:
    +2,624
    ชีวประวัติพระโพธิญาณเถระ (ชา สุภัทโท)

    ชาติภูมิ

    พระโพธิญาณเถร นามเดิม ชา ช่วงโชติ เกิดเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑ ณ บ้านจิกก่อ หมู่ที่ ๙ ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี บิดาชื่อ นายมา มารดาชื่อ นางพิม ช่วงโชติมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๑๐ คน


    ปฐมศึกษา

    สมัยนั้นการศึกษายังไม่เจริญทั่วถึงหลวงพ่อจึงได้เข้าศึกษา ที่ ร.ร. บ้านก่อ ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เรียนจบ ชั้น ป. ๑ จึงได้ออกจากโรงเรียน เนื่องจากหลวงพ่อมีความสนใจ ทางศาสนา ตั้งใจจะบวชเป็นสามเณร จึงได้ขออนุญาตจากบิดามารดา เมื่อท่านเห็นดีด้วยท่านจึงนำไปฝากไว้ที่วัด


    ชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์

    ในขณะนั้นหลวงพ่อมีอายุ ๑๓ ปี เมื่อโยมบิดาได้นำไปฝากกับท่านเจ้าอาวาส และได้รับการฝึกหัดอบรมให้รู้ระเบียบการ บรรพชาดีแล้ว จึงอนุญาตให้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ โดยมีพระครูวิจิตรธรรมภาษี (พวง) อดีตเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม เป็นพระอุปัชฌาย์

    เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ก็ได้ท่องทำวัตรสวดมนต์ เรียนหนังสือพื้นเมือง (ตัวธรรม) และได้ศึกษานักธรรมชั้นตรี อยู่ปฏิบัติครูบาอาจารย์เป็นเวลา ๓ พรรษา เนื่องจากมีความจำเป็นบางอย่างจึงได้ลาสิกขาออกไปทำงานช่วยบิดามารดาตามความสามารถของตน ตั้งอยู่ในโอวาทของบิดามารดามีความเคารพบูชาในพระคุณของท่าน พยายามประพฤติตนเป็นลูกที่ดีของท่านเสมอมา

    ครั้นอยู่ต่อมาอีกหลายปี ไม่ว่าจะทำงานอะไรอยู่ที่ไหนความสนใจในการอุปสมบทเพื่อศึกษาธรรม ดูเหมือนคอยเตือนให้มีความสำนึกอยู่เสมอ คิดอยากจะบวชเป็นพระ ได้ปรึกษากับบิดามารดา เมื่อตกลงกันดีแล้ว บิดาจึงนำไปฝากที่วัดบ้านก่อใน (ปัจจุบันเป็นที่ธรณีสงฆ์เพราะร้างมานานแล้ว) และได้อุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดก่อใน ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ เวลา ๑๓.๕๕ น. โดยมี

    ท่านพระครูอินทรสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์
    ท่านพระครูวิรุฬสุตการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
    พระอธิการสวน เป็นพระอนุสาวนาจารย์

    เมื่ออุปสมบทแล้ว พรรษาที่ ๑-๒ จำพรรษาอยู่ที่วัดก่อนอก ได้ศึกษาปริยัติธรรมและสอบนักธรรมชั้นตรีได้


    ออกศึกษาต่างถิ่น

    เมื่อสอบนักธรรมตรีได้แล้วเนื่องจากครูบาอาจารย์หายาก ที่มีอยู่ก็ไม่ค่อยชำนาญในการสอน จึงตั้งใจจะไปแสวงหาความรู้ต่างถิ่น เพราะยังจำภาษิตโบราณสอนไว้ว่า

    ออกจากบ้าน ฮู้ห่มทางเที่ยว เรียนวิชา ห่อนสิมีความฮู้

    ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ จึงได้ย้ายจากวัดก่อนอก ไปศึกษาปริยัติธรรมที่วัดสวนสวรรค์ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี และอยู่ที่นี่ ๑ พรรษา และได้พิจารณาเห็นว่า เรามาอยู่ที่นี่เพื่อศึกษาก็ดี พอสมควรแต่ยังไม่เป็นที่พอใจนัก ได้ทราบข่าวว่า ทางสำนักต่างอำเภอมีการสอนดีอยู่หลายแห่งซึ่งมีมากทั้งคุณภาพและปริมาณ จึงชวนเพื่อนลาท่านเจ้าอาวาสแจ้งความประสงค์ให้ท่านทราบ

    ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เดินทางจาก อ.พิบูลมังสาหาร มุ่งสู่สำนักเรียนวัดหนองหลัก ต.เหล่าบก อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ได้พักอาศัยอยู่กับท่านพระครูอรรคธรรมวิจารณ์ ได้ถามจากเพื่อนบรรพชิตก็ทราบว่า ท่านสอนดีมีครูสอนหลายรูป มีพระภิกษุ สามเณรมากรูปด้วยกัน ระยะที่ไปอยู่เป็นฤดูแล้ง อาหารการฉัน รู้สึกจะอด เพื่อนที่ไปด้วยกันไม่ชอบจึงพูดรบเร้า อยากจะพาไปอยู่สำนักอื่น หลวงพ่อพูดว่า ทั้งๆ ที่เราก็ชอบอัธยาศัยของครูอาจารย์ที่วัดหนองหลักแต่ไม่อยากจะขัดใจเพื่อน จึงตกลงกันว่า ถ้าไปอยู่แล้วเกิดไม่พอใจหรือไม่ถูกใจแล้วจะกลับมาอยู่ที่หนองหลักอีก จึงได้เดินทางไปอยู่กับท่านมหาแจ้ง วัดเค็งใหญ่ ต.เค็งใหญ่ อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี ได้อยู่จำพรรษาศึกษานักธรรมชั้นโทและบาลีไวยากรณ์ แต่ตามความรู้สึกเท่าที่สังเกตเห็นว่าท่านมิได้ทำการสอนเต็มที่ ดูเหมือนจะถอยหลังไปด้วยซ้ำ ตั้งใจไว้ว่าเมื่อสอบนักธรรมเสร็จ ได้เวลาสมควรก็จะลาท่านมหาแจ้ง กลับไปอยู่ที่วัดหนองหลัก เมื่อสอบแล้วและผลการสอบตอนปลายปีปรากฏว่า สอบนักธรรมชั้นโทได้

    ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ จึงย้ายจากวัดเค็งใหญ่ มาอยู่กับหลวงพ่อ พระครูอรรคธรรมวิจารณ์ วัดหนองหลัก ต.เหล่าบก อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ตั้งใจศึกษาทั้งนักธรรมชั้นเอกและเรียนบาลีไวยากรณ์ซ้ำอีก ทั้งพอใจในการสอนการเรียนในสำนักนี้มาก


    งดสอบเพื่อผู้บังเกิดเกล้า

    ทั้งๆ ที่ปีนี้ (๒๔๘๖) เป็นปีที่หลวงพ่อเองเกิดความภูมิใจ สนใจในการศึกษา มุ่งหน้าบากบั่นขยันเรียนอย่างเต็มที่ และได้ตั้งความหวังไว้ว่า เมื่อผลการสอบตอนปลายปีออกมาจะพาให้ได้รับความดีใจ

    หลังจากออกพรรษา ปวารณาและกาลกฐินผ่านไป.....ก็ได้รับข่าวจากทางบ้านว่าโยมบิดาป่วยหนัก หลวงพ่อก็เกิดความ ลังเลใจ พะว้าพะวง ห่วงการศึกษาก็ห่วง ห่วงโยมบิดาก็ห่วง แต่ความห่วงผู้บังเกิดเกล้ามีน้ำหนักมากกว่าเพราะมาคิดได้ว่า โยมบิดาเป็นผู้มีพระคุณอย่างเหลือล้น เรามีชีวิตและเป็นอยู่ มาได้ก็เพราะท่าน สมควรที่เราจะแสดงความกตัญญูให้ปรากฏ เสียการศึกษายังมีเวลาเรียกกลับมาได้ แต่สิ้นบุญพ่อเราจะขอได้จากที่ไหน...ความกตัญญูมีพลังมารั้งจิตใจให้คิดกลับไปเยี่ยม โยมพ่อเพื่อพยาบาลรักษาท่าน.....ทั้งๆ ที่วันสอบนักธรรมก็ใกล้ เข้ามาทุกที แต่ยอมเสียสละถ้าหากโยมพ่อยังไม่หายป่วย และ นึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสไว้ว่า ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี

    ด้วยความสำนึกดังกล่าว จึงได้เดินทางกลับบ้าน เมื่อถึงแล้วก็ได้เข้าเยี่ยมดูอาการป่วย ทั้งๆ ที่ได้ช่วยกันพยาบาลรักษาจนสุดความสามารถ อาการของโยมพ่อก็มีแต่ทรงกับทรุด คิดๆดูก็เหมือนตอไม้ที่ตายแล้ว แม้ใครจะให้น้ำให้ปุ๋ยถูกต้องตามหลัก วิชาการเกษตรสักเพียงใด ก็ไม่สามารถทำให้มันแตกหน่อเจริญ งอกงามขึ้นมาได้

    ดังนั้น เมื่อได้ทราบว่ามีพระอาจารย์ด้านวิปัสนาอยู่ทางทิศใดจึงไปนมัสการอยู่เสมอ การกลับจากภูค้อนี้คณะที่ไปด้วยกันได้รับความลำบากเหน็ดเหนื่อยมาก จึงมีสามเณร ๑ รูป กับอุบาสก ๒ คน เห็นว่าตนเองคงจะไปไม่ไหวจึงลากลับบ้านก่อน ยังมีเหลือแต่หลวงพ่อกับพระอีก ๒ รูป เดินทางต่อไปโดยไม่ยอมเลิกล้มความตั้งใจเดิมแม้จะลำบากสักปานใดก็ต้องอดทนหลายวันต่อมา จึงเดินทางถึงสำนักของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต สำนักวัดป่าหนองผือนาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร วันแรกพอย่างเข้าสู่สำนักสมองดูลานวัดสะอาดสะอ้าน เห็นกิริยามารยาทของเพื่อนบรรพชิต ก็เป็นที่น่าเลื่อมใสและเกิดความพอใจมากกว่า ที่ใดๆ ที่เคยผ่านมา

    พอถึงตอนเย็นจึงได้เข้าไปกราบนมัสการพร้อมศิษย์ของท่านและฟังธรรมร่วมกัน ท่านพระอาจารย์ได้ซักถามเรื่องราวต่างๆ เช่น เกี่ยวกับอายุ พรรษา และสำนักที่เคยปฏิบัติมาแล้ว หลวงพ่อชาได้กราบเรียนว่ามาจากสำนักอาจารย์เภา วัดเขาวงกฏ จ.ลพบุรี พร้อมกับเอาจดหมายที่โยมอินทร์ฝากมาถวาย ท่านพระอาจารย์มั่นได้พูดว่า ดี.....ท่านอาจารย์เภาก็เป็นพระแท้องค์หนึ่งในประเทศไทย ต่อจากนั้น ท่านก็เทศน์ให้ฟังโดยปรารภ ถึงเรื่องนิกายว่า ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง ซึ่งเป็นเรื่องที่หลวงพ่อสงสัยมาก่อนนั้นแล้ว ต่อไปท่านก็เทศน์ เรื่องสีลนิเทส สมาธินิเทส ปัญญานิเทส ให้ฟังจนเป็นที่พอใจและหายสงสัย และท่านได้อธิบายเรื่อง พละ ๕ อิทธิบาท ๔ ให้ฟัง ซึ่งขณะนั้นศิษย์ทุกคนฟังด้วยความสนใจมีอาการอันสงบเสงี่ยม ทั้งๆ ที่หลวงพ่อและเพื่อนเดินทางมาด้วยความเหน็ดเหนื่อยตลอดวัน พอได้มาฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว รู้สึกว่าความเมื่อยล้าได้หายไป จิตใจลงสู่สมาธิธรรมด้วยความสงบมีความรู้สึกว่าตัวลอยอยู่บนอาสนะ นั่งฟังอยู่จนกระทั่งเที่ยงจึงเลิกประชุม

    ในคืนที่ ๒ ได้เข้านมัสการฟังเทศน์อีก ท่านพระอาจารย์มั่นได้แสดงปกิณกะธรรมต่างๆ จนจิตเราหายความสงสัยมีความรู้สึกซึ่งเป็นการยากที่จะบอกคนอื่นให้เข้าใจได้

    ในวันที่ ๓ เนื่องจากความจำเป็นบางอย่าง จึงได้กราบลาท่านพระอาจารย์มั่นเดินทางลงมาทางอำเภอนาแก และได้แยกทาง กับพระบุญมี (พระมหาบุญมี) คงเหลือแต่พระเลื่อมพอได้เป็นเพื่อนเดินทาง ไม่ว่าหลวงพ่อจะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิอยู่ ณ ที่ใดๆ ก็ตาม ปรากฏว่าท่านพระอาจารย์มั่นคอยติดตามตักเตือนอยู่ตลอดเวลา พอเดินทางมาถึงวัดโปร่งครองซึ่งเป็นสำนักของพระอาจารย์คำดี เห็นพระท่านไปอยู่ป่าช้าเกิดความสนใจมาก เพราะมาคิดว่าเมื่อเป็นนักปฏิบัติจะต้องแสวงหาความสงบ เช่น ป่าช้า ซึ่งเราไม่เคยอยู่มาก่อนเลย ถ้าไม่อยู่คงไม่รู้ว่ามีความ เหมาะสมเพียงใดเมื่อคนอื่นเขาอยู่ได้เราก็ต้องอยู่ได้ จึงตัดสินใจจะไปอยู่ป่าช้า และชวนเอาพ่อขาวแก้วไปเป็นเพื่อน

    ..............................................................................

    หลวงพ่อชา เล่าว่าได้พบหลวงปู่มั่น
    แล้วเกิดความประทับใจ และได้ฝากเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น

    หลวงพ่อชา สุภัทโท พบท่านพระอาจารย์ใหญ่หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และได้ฝากเป็นศิษย์ท่าน และได้แนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องตามธรรมวินัย ดังเรื่องราวที่หลวงปู่ชาได้เล่าถ่ายทอดให้พระเณรได้ฟังต่อไปนี้

    ในระหว่างที่จำพรรษาที่วัดเขาวงกฏ หลวงพ่อชาได้ฟังเรื่องราวของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต จาก โยมคนหนึ่ง ซึ่งเคยไปนมัสการหลวงปู่มั่น ที่สำนักวัดป่าหนองผือนาใน ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร และได้เกิดความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงปู่มั่น และตั้งใจว่าจะต้องไปศึกษาแนวทางการปฏิบัติจากท่านหลวงป่มั่น เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงพ่อชาพิจารณาเห็นว่า พระถวัลย์มีความสนใจในการศึกษาตำรับตำรา จึงปรารภ เรื่องวิถีชีวิตกันระหว่างเพื่อน พระถวัลย์ตกลงใจจะไปเรียนปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ หลวงพ่อกับคณะ พระภาคกลางรวมกันสี่รูป จึงออกเดินทางย้อนกลับมาที่อุบลราชธานี พักอยู่ที่วัดก่อนอกระยะหนึ่ง แล้วจาริกธุดงค์มุ่งหน้าไปจังหวัดสกลนครเพื่อไปยังเสนาสนะวัดป่าหนองผือนาใน เพื่อรับการอบรมธรรมจากหลวงปู่มั่น

    ระหว่างการเดินทางไปสำนักหลวงปู่มั่น ได้แวะสนทนาและศึกษาตามสำนักต่างๆ ที่จาริกผ่านไปเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ และเปรียบเทียบแนวทางปฏิบัติของแต่ละสำนัก การเดินทางครั้งนั้น ผู้ร่วมทางบางคนในคณะเกิดท้อถอย เพราะมีความเหน็ดเหนื่อย และยากลำบากมาก ต้องเดินลัดเลาะป่าเขา เดินตามทางเกวียน ประกอบกับเป็นผู้ไม่คุ้นเคยต่อการเดินทางไกลนัก พระบางรูปจึงขอแยกทางกลับคืนถิ่นเดิม หลวงพ่อกับพระ อีกสองรูปที่ไม่เลิกล้มความตั้งใจ ได้ออกเดินทางต่อ ในที่สุดก็ถึงสำนักของ หลวงปู่มั่น เสนาสนะวัดป่าหนองผือนาใน


    ก้าวแรกที่หลวงพ่อเดินเข้าไปเห็นสภาพวัดป่าหนองผือนาใน

    ก้าวแรกที่ย่างเข้าสู่สำนักป่าหนองผือนาใน หลวงพ่อรู้สึกประทับใจในบรรยากาศอันสงบ ร่มรื่นของสำนัก มองดูลานวัดสะอาดสะอ้าน กิริยามารยาทของเพื่อนบรรพชิตในวัดป่านี้เป็นที่น่าเลื่อมใส จึงเกิดความพึงพอใจยิ่งกว่าสำนักใดๆ ที่เคยเห็นเคยสัมผัสมา ยามเย็นวันแรกที่ไปถึง ได้เข้ากราบนมัสการ หลวงปู่พร้อมศิษย์ของท่านเพื่อฟังธรรมร่วมกัน หลวงปู่มั่นท่านได้ปฏิสันถาร สอบถามเกี่ยวกับอายุ พรรษา และสำนักที่เคยได้ศึกษาปฏิบัติ


    หลวงปู่มั่นล่วงรูวาระจิตหลวงพ่อชา

    แปลกมากเมื่อมาถึงวัดป่าหนองผือนาใน หลวงปู่มั่นท่านเทศน์อบรมเรื่องนิกายธรรมยุติ กับมหานิกาย บังเอิญเป็นเรื่องที่หลวงพ่อชาสงสัยมานานเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตลอดการเดินทางมาที่นี่หลวงพ่อชาก็กะว่าจะเรียนถามถึงเรื่องสองนิกายนี้ แต่ยังไม่ได้ทันถามหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านเทศน์เรื่องสองนิกายก่อนเลย ทำให้หลวงพ่อชาขนลุกขนพองปลื้มปิติแปลกใจมาก เพราะท่านเพียงแต่คิดในใจท่านเท่านั้นเอง หลวงปู่มั่นท่านทำไมถึงทราบได้ ทำให้หลวงพ่อชามั่นใจในคุณธรรมปฏิบัติของหลวงปู่มั่นมากเป็นลำดับ จากนั้นท่านก็ให้โอวาทและปรารภถึงเรื่องนิกายทั้งสอง คือ ธรรมยุติและมหานิกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่หลวงพ่อสงสัยอยู่มาก

    หลวงปู่มั่นกล่าวว่า "การประพฤติปฏิบัตินั้น หากถือเอาพระธรรมวินัยเป็นหลักแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง" เมื่อคลายความสงสัยในเรื่องนิกายแล้ว หลวงพ่อได้กราบเรียน ถามปัญหากับหลวงปู่มั่น ซึ่งหวงพ่อถ่ายทอดบทสนทนาของท่านกับหลวงปู่มั่นให้ศิษย์ฟังว่า

    "เกล้ากระผมเป็นผู้ปฏิบัติใหม่... ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร... มีความสงสัยมาก ยังไม่มีหลัก ในการปฏิบัติเลยครับ" หลวงพ่อชาถาม

    "มันเป็นยังไง" หลวงปู่มั่นถาม

    "ผมหาทางปฏิบัติ... ก็เลยเอาหนังสือวิสุทธิมรรคขึ้นมาอ่าน มีความรู้สึกว่า มันจะไปไม่ไหว เสียแล้ว เนื้อความในสีลานิทเทส สมาธินิทเทส ปัญญานิทเทสนั้น ดูเหมือนไม่ใช่วิสัยของ มนุษย์จะทำได้ ผมมองเห็นว่ามนุษย์ทั่วโลกนี้ มันจะทำตามไม่ได้ครับ มันยาก มันลำบาก มันเหลือวิสัยจริงๆ ..." หลวงพ่อชาตอบ

    หลวงปู่มั่นจึงกล่าวให้ฟังว่า.....

    "ท่าน... ของนี้มันมากก็จริงอยู่ ถ้าเราจะกำหนดทุกๆ สิกขาบทในสีลานิทเทสนั้น นะมันก็ลำบาก แต่ความจริงแล้ว สีลานิทเทสก็คือสิ่งที่บรรยายออกมาจากใจของ คนเรานั่นเอง ถ้าหากว่าเราอบรมจิตของเราให้มีความละอาย มีความกลัวต่อ ความผิดทั้งหมด เราก็จะเป็นคนที่สำรวมสังวรระวัง เพราะมีความละอายและ เกรงกลัวต่อความผิด...

    เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็จะเป็นเหตุให้เราเป็นคนมักน้อย และสติก็จะกล้าขึ้น จะยืนเดิน นั่ง นอนอยู่ที่ไหน มันจะตั้งอกตั้งใจมีสติเต็มเปี่ยมเสมอ ความระวัง มันก็เกิดขึ้น...

    อะไรทั้งหมดที่ท่านศึกษาในหนังสือน่ะ มันขึ้นต่อจิตทั้งนั้น ถ้าท่านยังไม่ อบรมจิตของท่านให้มีความรู้ มีความสะอาดแล้ว ท่านจะมีความสงสัยอยู่เรื่อยไป...

    ดังนั้น ท่านจงรวมธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ที่จิต สำรวมอยู่ที่จิต อะไรที่เกิดขึ้นมา ถ้าสงสัย... ถ้ายังไม่รู้แจ้งแล้วอย่าไปทำ... อย่าไปพูด... อย่าไป ละเมิดมัน" หลวงปู่มั่นแนะนำ

    คืนนั้น.. หลวงพ่อนั่งฟังธรรมร่วมกับศิษย์ของหลวงปู่มั่น เช่นหลวงปู่ขาว หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่มหาบัว หลวงปู่ผาง หลวงปู่แหวน จนกระทั่งถึงเที่ยงคืน จิตใจเกิด ความสงบระงับเป็นสมาธิ ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินทางได้อันตรธานไปสิ้น...

    คืนที่สอง... หลวงปู่มั่นได้แสดงปกิณกธรรมต่างๆ ให้ฟังอย่างละเอียดลึกซึ้ง จนหลวงพ่อคลายความลังเลสงสัยในวิถีทางการปฏิบัติ มีความปลาบปลื้มปิติในธรรมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ในวันที่สาม... หลวงพ่อได้กราบลาหลวงปู่มั่น แล้วเดินธุดงค์ลงมาทาง อ.นาแก จ.นครพนม

    จากการได้พบหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ในครั้งนั้น เป็นประสบการณ์สำคัญที่นำวิถีชีวิตของ หลวงพ่อเข้าสู่กระแสธรรมปฏิบัติอย่างถูกต้องและมั่นคง หลวงพ่อเล่าถึงบรรยากาศของการได้ สัมผัสหลวงปู่มั่น และสำนักป่าหนองผือนาใน แก่พระเณรในเวลาต่อมาว่า...

    "...ที่ผมได้ความรู้ความฉลาด จนได้มาแบ่งปันพวกท่านทั้งหลายนั้น ก็เพราะผมได้ ไปกราบครูบาอาจารย์มั่น... ไปพบท่าน แล้วก็เห็นสภาพวัดวาอารามของท่าน ถึงจะไม่สวยงาม แต่ก็ สะอาดมาก พระเณรตั้งห้าสิบหกสิบขณะฟังการอบรมธรรมจากหลวงปู่มั่น ทุกรูป เงียบ ! กริบไม่มีการไอการจาม นั่งโยกเยกไม่มีเลยขนาดจะถากแก่นขนุน (แก่นขนุนใช้ต้มเคี่ยว สำหรับย้อมและซักจีวร) ก็ยังแบกเอาไปฟันอยู่โน้น.. ไกลๆ โน้น เพราะกลัวว่าจะ ก่อกวนความสงบของหมู่เพื่อน...

    พระเณรที่นั่นพอตักน้ำทำกิจอะไรเสร็จ ก็เข้าทางจงกรม ของใครของมัน ไม่ได้ยินเสียงคุยกันอะไร อะไร นอกจากเสียงเท้าที่เดินเท่านั้นแหละ บางวันประมาณหนึ่งทุ่ม เราก็เข้าไปกราบท่านหลวงปู่มั่นเพื่อฟังธรรม ได้เวลาพอ สมควรประมาณสี่ทุ่มหรือห้าทุ่มก้กลับกุฏิ เอาธรรมะที่ได้ฟังไปวิจัย... ไปพิจารณาปฏิบัติดู

    เมื่อได้ฟังเทศน์ท่านหลวงปู่มั่นแล้ว ไม่รู้เป็นไง มันอิ่มใจ เดินจงกรมทำสมาธินี่... มันไม่เหน็ดไม่เหนื่อย มันมีกำลังมาก ออกจากที่ประชุมกันแล้วก็เงียบ ! บางครั้งอยู่ใกล้ๆ กัน เพื่อนเขาเดิน จงกรมอยู่ตลอดคืนตลอดวัน จนได้ย่องไปดูว่าใคร ท่านผู้นั้นเป็นใคร ทำไมถึงเดิน ไม่หยุดไม่พัก นั่น... เพราะจิตใจมันมีกำลัง..." นี่แหละการได้อยู่ศึกษากับพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ท่านมีคุณธรรมสามารถบอกสอนอบรมแนะนำให้เราปฏิบัติถูกทางตามอรรถตามธรรมเมื่อมรรคผลนิพพาน

    หลังจากกราบลาท่านหลวงปู่มั่นออกจากสำนักหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าหนองผือนาในแล้ว หลวงพ่อกับคณะเดินธุดงค์รอนแรมพักภาวนา ตามป่าเขามาเรื่อยๆ ตามคำแนะนำของหลวงปู่มั่น ในขณะนั้นไม่ว่าจะเดินจงกรม หรือนั่งสมาธิอยู่ที่ใดก็ตามจิตของหลวงพ่อ มีความรู้สึก ราวกับว่า หลวงปู่มั่นคอยติดตามให้คำแนะนำตักเตือนอยู่ตลอดเวลา... เพื่อมิให้ประมาทในธรรมปฏิบัติ


    หลวงปู่มั่นแนะนำให้หลวงพ่อชาไปฝึก
    กรรมฐานพิจารณาอสุภะ ที่ป่าช้าเพื่อขจัดกิเลสในจิตของตน

    หลวงพ่อเกิดความสนใจ ใคร่จะศึกษาดูว่า การอยู่ป่าช้าจะช่วยขัดเกลากิเลสได้อย่างไร หลวงพ่อเล่าถึงประสบการณ์ที่ป่าช้าในครั้งนั้นว่า...

    " ...วันนั้นตอนบ่ายๆ ตั้งใจว่าคืนนี้จะไปภาวนาในป่าช้า พอจะไปจริงๆ ใจชักไม่อยากไป ซะแล้ว ก็บังคับมัน คิดว่าถ้าจะตายก็ยอมตายเพราะมันลำบากนัก มันโง่นัก พูดในใจ อย่างนี้... พอไปถึงป่าช้า ปะขาวแก้วจะมาพักใกล้ๆ ก็ไม่ยอม ให้ไปอยู่ไกล ๆ โน่น ความจริงแล้ว อยากให้มาอยู่ใกล้ ๆ เป็นเพื่อนกัน แต่ไม่เอาเดี๋ยวตัวเองจะอาศัยเขา กลัวนัก ก็ให้มันตาย เสียในคืนนี้ พอค่ำลง เขาหามศพมาฝังพอดี ทำไมถึงเหมาะเจาะอย่างนี้.. คิดอยากจะหนี.. เขานิมนต์ ให้สวดมาติกา ก็ไม่เอา เดินหนีไป... มันกลัว... เดินก็แทบไม่รู้สึกว่าเท้าแตะดิน

    สักพักก็เดินกลับมา เขาเอาศพฝังไว้ใกล้ๆ แล้วยังเอาไม้ไผ่ที่หามศพมาทำเป็นร้านให้นั่ง... จะทำอย่างไรดี... หมู่บ้านกับป่าช้าก็ไม่ใช่ใกล้ๆ กัน ห่างกันตั้งสองสามกิโล พอตะวันตกดิน ใจหนึ่งก็บอกให้เข้าไปอยู่แต่ในกลดท่าเดียว จะเดินไปหาหลุมศพ ก็เหมือนมีอะไรมาดึงขาเอาไว้ ความรู้สึกกลัวกลับกล้ามันฉุดรั้งกันอยู่

    พอมืดสนิทจริงๆ ก็มุดเข้ากลดทันที รูสึกเหมือนมีกำแพงเจ็ดชั้น เห็นบาตรตั้งอยู่ข้างๆ ก็รู้สึกดีใจ ได้อาสัยบาตรเป็นเพื่อน นั่งอยู่ในกลดทั้งคืน ไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย นั่งเงียบอยู่ จะง่วงก็ไม่ง่วง มันกลัว ทั้งกลัวทั้งกล้า นั่งอยู่อย่างนั้นตลอดทั้งคืนเลย พอสว่างขึ้น ก็รู้สึกว่า เรารอดตายแล้ว ดีใจจริงๆ ภายในใจเราอยากให้มีแต่กลางวันเท่านั้น ไม่อยากให้มีเวลากลางคืนเลย อยากฆ่ากลางคืนทิ้ง มันจะได้มีแต่กลางวัน...

    ตอนเช้า ไปบิณฑบาตคนเดียว หมาวิ่งตามหลังมาจะกัด แต่ก็ไม่ไล่ จะกัดก็กัดไปเลย ให้ มันกัดให้ตายซะ หมาก็งับผิดงับถูก โยมชาวภูไท ไม่รู้จักไล่หมา เขาว่าผีมันมากับพระ หมาจึงได้เห่าได้กัด เขาจึงไม่ไล่มัน ช่างมัน ! เมื่อคืนนี้ก็กลัวจนเกือบตายทีหนึ่งแล้ว ตอนเช้านี้หมาจะกัด ก็เลยปล่อยให้มันกัด ซะ ถ้าหากว่าแต่ก่อนเราเคยกัดมัน ก็ปล่อยให้มันกัดคืนซะ แต่มันก็งับผิดงับถูกอยู่อย่างนั้น บิณฑบาตกลับก็ฉัน พอฉันเสร็จ แดดออกมาบ้างรู้สึกอบอุ่นได้เดินจงกรม และพักผ่อน เอาแรงบ้าง คืนนี้จะได้ภาวนาให้เต็มที่ คงไม่มีอะไรน่ากลัว เพราะได้ทดลองมาคืนหนึ่งแล้ว

    พอบ่ายๆ ชาวบ้านหามศพมาอีกแล้ว เป็นผู้ใหญ่เสียด้วย เขาเอามาเผาไว้ใกล้ๆ ด้านหน้า กลด แล้วก็กลับบ้านกันหมด ช่วงหัวค่ำศพที่ถูกเผามีกลิ่นเหม็นตลบอบอวล จะเดินจงกรม ไปข้างหน้าก็ก้าวไม่ออก ที่สุดเลยเข้าไปในกลด... นั่งหันหลังให้กองไฟ ไม่คิดอยากนอนเลย ตาตื่นแข็งอยู่อย่างนั้น ตกดึกประมาณสี่ทุ่ม มีเสียงอยู่ข้างหลังในกองไฟ ดังเหมือนตกลงมา หรือหมาจิ้งจอกมา กินซากศพ แต่ฟังอีกที เหมือนเสียงควายดังครืดคราดๆ ...

    พอสักพัก มีเสียงเหมือนคน เดินเข้ามาหาทางด้านหลัง เดินหนักเหมือนควาย แต่ไม่ใช่... แต่จะเข้ามาก็ไม่เข้า เดินโครมๆ ออกไปทางปะขาวแก้ว นานประมาณครึ่งชั่วโมง เดินกลับมาอีกแล้ว เหมือนคนเดินจริงๆ ตรงดิ่งเข้ามาเหมือน จะเหยียบเราอย่างนั้นแหละ... หลับตาสนิทไม่ยอมลืมตา ให้มันตายทั้งหลับตานี่แหละ มันมาถึงใกล้ๆ หยุดกึก ! ยืนนิ่งอยู่เงียบๆ ข้างหน้ากลด รู้สึกเหมือนกับว่า มันเอามือที่ถูก ไฟไหม้คว้าไปมาอยู่ข้างหน้า...

    ตายคราวนี้ละ ! พุทโธ ธัมโม สังโฆ ลืมหมด มีแต่ความกลัวอย่างเดียว เต็มแน่นเอี๊ยดอยู่ ในใจ ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยมีความกลัวเหมือนครั้งนี้เลย มันกลัวมาก เปรียบเหมือนกับน้ำ ที่เราเทใส่ในโอ่ง เทใส่มากจนเต็มมันก็ล้นออกมา ความกลัวเหมือนกัน มันกลัวมากจน หมดกลัว แล้วก็ล้นออกมา... ใจหนึ่งเลยถามว่า... ที่กลัวมากกลัวมายนัก มันกลัวอะไร ? กลัวตาย อีกใจหนึ่งตอบ

    แล้วความตายมันอยู่ที่ไหน... ทำไมกลัวเกินบ้านเมืองเขานัก... หาที่ตายดูซิ มันอยู่ไหน ความตายอยู่กับตัวเอง อยู่กับตัวเอง แล้วจะหนีไปไหนจึงจะพ้นมันล่ะ... วิ่งหนี ก็ตาย... นั่งอยู่ก็ตาย เพราะมันอยู่กับเราไปไหนมันก็ไปด้วย เพราะความตายมัน อยู่กับเรา.. กลัวหรือไม่กลัว.. ก็ตายเหมือนกัน หนีมันไม่ได้หรอก...

    พอคิดได้อย่างนี้ เท่านั้น สัญญาพลิกกลับ... ความคิดก็เปลี่ยนขึ้นมาทันที ความกลัว ทั้งหลายเลยหายไป ปานพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ อัศจรรย์เหลือเกิน ความกลัวมาก ๆ มันหายไปได้ ความไม่กลัวมันกลับมาแทนในที่เดียวกันนี้ โอ... ใจมันสูงขึ้น... สูงขึ้นเหมือน อยู่บนฟ้านะ... เปรียบไม่ถูก พอเอาชนะความกลัวได้แล้ว ฝนเริ่มตกทันทีเลย ลมพัดแรงมาก แต่ก็ไม่กลัวตายแล้ว ไม่ กลัวต้นไม้กิ่งไม้มันจะหักลงมาทับ ไม่สนใจมันเลย... ฝนตกลงมาหนักเหมือนฝนเดือนสี่ พอฝนหยุด... เปียกหมดทั้งตัว นั่งนิ่งไม่กระดิกเลย... ร้องไห้...

    นั่งร้องไห้น้ำตาไหลอาบ แก้มลงมาเพราะเกิดนึกไปว่า ตัวเรานี่ทำไมเหมือนคนไม่มีพ่อมีแม่แท้ มานั่งตากฝนยังกับ คนไม่มีอะไร ยังกับคนสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง คนที่เขามีบ้านอยู่ดีๆ เขาคงจะไม่คิดหรอกว่า จะมีพระมานั่งตากฝนอยู่ทั้งคืนอย่างนี้ เขาคงจะนอนห่มผ้าสบาย คิดไปวิตกไป เลยสังเวช ชีวิตของตน ร้องไห้น้ำตาไหลพรากๆ เอ้า... น้ำไม่ดีนี่ให้มันไหลออกมาให้หมด... อย่าให้ มันมีอยู่

    เมื่อคิดได้อย่างนี้... เมื่อชนะความรู้สึกแล้ว ก็นั่งดูจิตดูใจอยู่อย่างนั้น ความรู้เห็นสารพัด เรื่องเกิดขึ้นมา... พรรณนาไม่ได้ คิดถึงพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน... ความทุกข์ที่นั่งตากฝน... ความกลัวที่มันหายไป ความรู้สึกต่อมาเป็นอย่างไร ก็รู้แต่เฉพาะเราเอง ใครอื่นจะมารู้ด้วย... นั่งพิจารณาอยู่ อย่างนี้จนสว่าง จิตมีกำลังศรัทธาขึ้น ส่วางขึ้นมา ลืมตาครั้งแรกมองไปทางไหนเหลืองไปหมด ลุกไปปัสสาวะ เพราะมันปวด ตั้งแต่เมื่อคืน ปวดจนหายปวดไปเฉยๆ ... ปัสสาวะออกมามีแต่เลือด รู้สึกตกใจเล็กน้อย คิดว่าไส้หรืออะไรข้างในคงขาดหมดแล้ว... ขาดก็ขาด... ตายก็ตายไปซิ... ตายเพราะ การปฏิบัติอย่างนี้ก็พอใจตาย แต่ตายเพราะไปทำความชั่วซิไม่ค่อยดี ตายเพราะปฏิบัติ แบบนี้ตายก็ตาย...

    ในใจมันแย้งกันอยู่อย่างนี้ ใจหนึ่งมันเบียดเข้ามาว่าเป็นอันตรายอีกใจหนึ่งมันสู้ มันค้าน และตัดขึ้นมาทันที คืนนั้นฝนตกทั้งคืน วันรุ่งขึ้นจับไข้สั่นไปทั้งตัว แต่ก็อดทนออกไป บิณฑบาตในหมู่บ้าน บิณฑบาตก็ได้แต่ข้าวเปล่าๆ ..."

    หลังคืนสยองผ่านไป โดยมิรู้ว่าอาคันตุกะลึกลับผู้นั้นคือใคร เหตุใดจึงมาเยี่ยมเยือนด้วย อาการดุร้ายน่ากลัวเช่นนั้น... หลวงพ่อไม่กล่าวถึงมัน ท่านกลับเน้นให้ศิษย์มองเห็นคุณค่าของ การต่อสู้ให้ถึงที่สุด... สู้ชนิดเอาชีวิตเข้าแลก แล้วปัญญาความรู้แจ้งเห็นจริงจะเกิดขึ้นตรงนั้น ดังคำที่หลวงพ่อมักใช้ปลุกใจลูกศิษย์ว่า ไม่ดีก็ให้มันตาย... ไม่ตายก็ให้มันดี !

    เมื่อหลวงพ่อพักบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่ป่าช้าได้เจ็ดวัน ก็มีอาการป่วยหนัก จึงออกมาพัก รักษาตัวที่สำนักท่านอาจารย์คำดี พักอยู่ประมาณ 10 วัน อาการก็ทุเลาลง แม้ร่างกายอ่อนล้า เพราะพิษไข้ แต่จิตใจกลับกล้าแกร่งองอาจยิ่งนัก เพราะได้ฝ่าฟันอุปสรรคคือ ความกลัวตายใน คืนนั้นได้ด้วยความอดทนและภูมิปัญญา

    หลังจากอาการไข้สร่างซาลง มีพละกำลังกลับคืนมา ก็กราบลาท่านอาจารย์คำดี เดินทาง มาพักอยู่ในป่าใกล้บ้านต้อง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม พักอยู่ที่นั่นหลายวัน อาการไข้หาย เป็นปกติ แต่อาการไข้ใจจากไฟราคะ ที่ถูกควบคุมความร้อนแรงไว้ด้วยการหลีกเร้นและภาวนา กลับถูกจุดให้ลุกโชนขึ้นอีกครั้ง โดยม่ายสาวผู้รวยรูปลักษณ์และทรัพย์สิน นางมาถวายอาหาร และ พูดคุยด้วยทุกวัน จนจิตใจหลวงพ่อหวั่นไหวไปตามแรงจริตที่นางแสดงออก ซึ่งส่อถึงความรู้สึกอันพิเศษ เกินขอบเขตที่อุบาสิกาจะพึงมีต่อพระ...

    หลวงพ่อชั่งใจว่าจะเอาอย่างไรดีอยู่หลายวัน กระทั่งคืนหนึ่งขณะนั่งภาวนาพิจารณาไป สังเกตเห็นใจตัวเองเอนเอียงไปทางนางมากขึ้นทุกที จึงตัดสินใจลุกขึ้นเก็บบริขารในกลางดึกของคืนนั้น แล้วเดินไปปลุกปะขาวแก้ว ซึ้งกำลังหลับสบายอยู่ในกลด

    ปะขาวแก้วสะดุ้งตื่น ลุกขยี้ตา ถามอย่างงัวเงียว่า "ไปพรุ่งนี้ไม่ได้หรือครับ"

    "ไม่ ! จะไปเดี๋ยวนี้แหละ" หลวงพ่อตอบอย่างเด็ดขาด เพราะตรึกตรองดีแล้วว่า ถ้าไม่หนี คืนนี้ คงจะเสียทีแก่นางแน่

    หลายปีต่อมา หลังจากหลวงพ่อมาอยู่วัดหนองป่าพงแล้ว ครั้งหนึ่งท่านได้เยี่ยมลูกศิษย์ที่ สำนักสาขาแถวบ้านต้อง ระหว่างพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับญาติโยม ท่านปรารภถึงความหลัง และพูดถึงการปฏิบัติของตัวเองในสมัยก่อนอย่างขำๆ ว่า... "การปฏิบัติของอาตมามันยากหลายแนว แต่แนวที่มันยากนำอีหลีก็เรื่องแม่ออก (เรื่องผู้หญิง) นี่ล่ะ" (ภาษาอีสาน).... (การปฏิบัติของอาตมามันยุ่งยากหลายอย่าง แต่ที่ยากกับมันจริงๆ ก็เรื่องผู้หญิงนี่แหละ)

    คืนหนึ่งในพรรษานั้น หลังทำความเพียรเป็นเวลาพอสมควร หลวงพ่อได้ขึ้นไปพักผ่อนบน กุฏิ กำหนดสติเอนกายลงนอน พอเคลิ้มไปเกิดนิมิตเห็นหลวงปู่มั่น เดินเข้ามาหยุดยืนอยู่ใกล้ๆ แล้วส่งลูกแก้วให้ลูกหนึ่ง พร้อมกับกล่าวว่า... "ชา... เราขอมอบลูกแก้วนี้แก่ท่าน มันมีรัศมี สว่างไสวมากนะ" ในนิมิตนั้น ปรากฏว่าตนได้ลุกขึ้นนั่ง พร้อมกับยื่นมือไปรับลูกแก้วจาก หลวงปู่มั่นมากำไว้ พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นแปลกใจมาก ที่พบตัวเองนั่งกำมืออยู่ดังในความฝัน จิตใจ เกิดความสงบระงับผ่องใส พิจารณาสิ่งใดไม่ติดขัด มีความปลื้มปิติตลอดพรรษา

    หลวงพ่อกล่าวว่าหลวงปู่มั่น ท่านเป็นพระอริยเจ้าชั้นสูงมีภูมิจิตภูมิธรรมท่านสูง สามารถสั่งสอนศิษย์ทุกรูปทุกองค์ให้เข้านิพพานได้ ด้วยบารมีสติปัญญาท่านเฉียบแหลมคมยิ่งนักยากที่จะหาท่านผู้ใดเสมอเหมือนในปัจจุบัน
    ..................................................................................................

    ที่มา http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=4652
     

แชร์หน้านี้

Loading...