หลวงพ่อพระราชพรหมยานสอนอริยสัจกับมรณนุสสติกรรมฐาน

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 21 กุมภาพันธ์ 2008.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    [​IMG]
    สำหรับวันนี้ เราก็ว่ากันถึงอริยสัจต่อ อริยสัจ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์นี่เราก็พูดมาแล้ว สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ตัณหาก็พูดมาแล้ว วันนี้ว่ากันถึงมรรคปฏิปทา แต่ความจริงเรื่องมรรคนี่นักปฏิบัติจริงๆ เขาไม่มีกัน เพราะว่าการปฏิบัติพระกรรมฐาน ตั้งแต่เบื้องต้น หรือว่ามหาสติปัฏฐานตั้งแต่เบื้องต้น จนกว่าจะถึงบัดนี้เราก็ปฏิบัติกันมาในมรรคอยู่แล้ว ที่ว่าเรามีมรรคอยู่แล้วก็เพราะว่า เรามีทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเราไม่มีศีล เราก็มีสมาธิไม่ได้ เราไม่มีสมาธิ ปัญญามันก็เกิดไม่ได้

    ทีนี้เรามาเรียนกันในธัมมานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน นับตั้งแต่ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ แล้วก็มาถึงอริยสัจ ความจริง ๓ อย่างนี้เราเรียนซ้ำกัน โพชฌงค์ ๗ ความจริงผมสอนโพชฌงค์ ๖ น่ะ ตกไป ๑ วันนั้นลืมปีติสัมโพชฌงค์ คำว่าปีติก็แปลว่าความอิ่มใจ ก็ไม่สำคัญ เราเรียนกันมาหมดแล้ว ตานี้มาว่ากันถึงมรรค ๘ มรรค ๘ ไปไล่เบี้ยมันเข้ามันก็ยุ่งจะตายไป สัมมาอาชีวะ สัมมาอะไร สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโว เป็นอันว่ามรรค ๘ ถ้ารวมมาโดยย่อก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ใช่ไหม

    เมื่อวานนี้พูดกันไปบ้างแล้ว เมื่อคืนนี้กลับไปที่กุฏิ ตอนหัวค่ำพระท่านมาบอกว่าการสอนศีล สมาธิ ปัญญา บอกว่าให้รู้จักเอาศีลขังตัณหา สมาธิกดคอตัณหา ปัญญาห้ำหั่นตัณหา คือฟันเป็นท่อนเป็นตอน ท่านว่ายังงั้น นี่ผมก็ต้องเรียนมาเหมือนกันนะ คือถ้าเอาตามแบบผมละคุณเรียนไปร้อยปี ไม่ได้อะไรนะ เมื่อคืนท่านมาว่าอย่างนั้น พอตอนเช้ามืดท่านมาบอกอีกจุดหนึ่ง คนที่เห็นอริยสัจนี่ ถ้าเราพูดตามแบบก็เห็นยาก ให้หาจุดปลายทางจริงๆ ก็คือมรณานุสสติกรรมฐาน นึกถึงความตายเป็นอารมณ์

    นี่ก็ไปๆ มาๆ เราก็ทิ้งสมถะไม่ได้ อริยสัจนี่เป็นวิปัสสนาญาณ ถ้าหากว่าเราทิ้งสมถะเสียแล้ววิปัสสนาญาณไม่มีผล ผมเคยบอกมาแล้ว สมถะมีความสำคัญมาก เป็นตัวกล่อมจิตให้ทรงตัวอยู่ ให้จิตมีกำลัง และก็เป็นพื้นฐานของวิปัสสนาญาณ ฉะนั้นถ้าบุคคลใดเก่งสมถะ และมีความคล่องแคล่วในสมถะ สามารถจะเข้าฌานแต่ละระดับได้ตามปกติ คำว่าปกติก็หมายความว่าคิดจะเข้าฌานเมื่อไหร่จิตเข้าเป็นฌานทันที ไม่ยอมเสียแม้แต่เวลาครึ่งของวินาที ครึ่งวินาทีนี่อย่านึกว่ามันเร็ว มันช้าไปนะ แม้แต่นิดหนึ่งของวินาที

    พอคิดว่าเราจะเข้าฌานจิตก็เข้าถึงฌานเต็มที่ จะเข้าฌานไหนก็ได้ การทรงฌานจะเป็นการทรงแบบไหนก็ได้ เรียกว่าในกรรมฐาน ๔๐ กอง กองใดกองหนึ่งก็ได้ตามอัธยาศัย นี่ถ้ากำลังจิตเราแบบนี้นะ ถ้าเป็นฌานในส่วนของรูปฌาน แต่นี่ผมมวยหมู่ล่อกรรมฐาน ๔๐ ได้แบบนี้เข้าให้ กรรมฐาน ๔๐ นี่หมายถึงอรูปฌานด้วย ถ้าหากว่าเราสามารถทรงฌานในกรรมฐาน ๔๐ ก็ได้อรูปฌานด้วยคล่องตามอัธยาศัย ตั้งใจเข้าเมื่อไรได้เมื่อนั้น นี่หากว่าเราใช้อรูปฌานเป็นพื้นฐานของวิปัสสนาญาณ

    วิปัสสนาญาณนี่มีตัวเดียว ได้แก่ การพิจารณาขันธ์ ๕ นี่เราเรียนกันมาแล้ว เรื่องขันธ์ ๕ ก็เรียนกันมา อายตนะก็เรียนมา อายตนะ นี่ก็คือขันธ์ ๕ ใช่ไหม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกสูดกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัส ไอ้ใจนึกหลุ่งพล่านไปตามอารมณ์ นี่มันก็ไปเจอะไปชนขันธ์ ๕ นี่มาถึงโพชฌงค์ ๗ โพชฌงค์ ๗ มีสติเป็นต้น ก็ไปชนขันธ์ ๕ ไป นึกอะไรก็ไปใคร่ครวญขันธ์ ๕ กัน

    ตานี้มาถึงอริยสัจ ก็มาเล่นกับขันธ์ ๕ อีก ไอ้ตัณหาตัวนี้ก็เข้าไปอยากได้ขันธ์ ๕ นี่ผมไม่เห็นมีอะไร ผมว่าง่ายจริงๆ ไม่มีอะไรยากเลย มันไม่มีอะไรยากเลย เป็นอันว่าวิปัสสนาญาณ มันมีตัวเดียวคือพิจารณาขันธ์ ๕ ลีลาการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า การสอนของพระพุทธเจ้าทรงมีความฉลาดมาก ใช้ระบบหลายๆ วิธี อัธยาศัยของคนนี้ไม่ตรงกับจุดนี้ก็ไปชนกับจุดนั้น เรียกว่าชนกันเป้าหนึ่งตั้งเป้าไว้หลายๆ เป้าให้มันติดๆ กัน เรายกปืนขึ้นยิงไม่ถูกเป้านี้มันก็ถูกเป้านั้น เป้าใดเป้าหนึ่งจะเป็นเป้าใดก็ตาม ตั้งแต่เราศึกษาขันธ์ ๕ กันมา ถ้าเราเข้าถึงจริงๆ เขาเป็นพระอรหันต์กันนับไม่ถ้วนนะขันธ์ ๕ นี่ แล้วก็เวลานี้ต่อมาเราก็มาเรียน อายตนะ หรือโพชฌงค์ ตัวโพชฌงค์นี่ก็ตัวบรรลุ ตัวอายตนะนี่ก็ตัวบรรลุ

    ตานี้มาตัวอริยสัจ ก็ต้องพิจารณาขันธ์ ๕ มันหนีกันไม่ได้ ทุกข์อะไรมันทุกข์ล่ะ เพราะเราใคร่ครวญ เราพอใจในขันธ์ ๕ มันจึงทุกข์ ตัวทุกข์จริงๆ มันอยู่ที่ใจ ที่เราทุกข์เพราะเราเอาจิตไปยึดไปถือ ถือว่าเป็นเราเป็นของเรา แล้วใจเราก็ไม่ยอมรับนับถือกฎของความเป็นจริง มันเกิดแล้วมันจะแก่ เราก็ดันไปห้ามแก่ไว้ เกิดแล้วจะป่วยไข้ไม่สบาย เราก็ไปดันไปห้ามความป่วยไข้ไม่สบาย จะไปห้ามได้อย่างไรล่ะ ห้ามไม่ได้ ไอ้เราทำแบบนั้นมันก็ทุกข์ ใจเราก็ทุกข์ ทุกข์เพราะร่างกายทรุดโทรม เราไม่อยากให้มันทรุดโทรม

    แล้วเราก็ไม่พยายามศึกษาหาความเป็นจริงว่าร่างกายมันเกิดมาแล้วมันต้องทรุดโทรมเป็นปกติ เคลื่อนไปหาความพังทุกวินาที ความป่วยไข้ไม่สบายมันเกิดขึ้นเป็นปกติ โรคะ แปลว่าเสียดแทง ไอ้การที่เราไม่สบายกายไม่สบายใจก็ชื่อว่าป่วยเรียกว่าโรค โรคทั้งนั้น ที่พูดว่า ชิฆจฺฉา ปรมาโรคา ความหิว เป็นโรคอย่างหนึ่งอันนี้นานๆ หิว เช้ากินอิ่มแล้ว มันก็พักเสียดแทงไปชั่วคราวตอนกลางวันมันจะกินใหม่มันเริ่มหิว มันก็เสียดแทง แต่โรคเจ้าหนี้ทวงมันเสียดแทงทุกเวลา เจ้าหนี้ทวง หรือไม่ทวงก็นึกอยู่เรื่อยกลัวเจ้าหนี้จะมา

    ทีนี้เรามาว่ากันถึงเรื่องทุกข์ ทุกข์น่ะอะไร อะไรมันก็ทุกข์ ทุกข์เพราะตัณหาคือความอยาก นี่เมื่อคืนตอนเช้ามืดท่านมาบอกว่า ถ้าจะพูดเรื่องอริยสัจ มันก็ไปชนกับขันธ์ ๕ ชนกับอายตนะ ชนกับโพชฌงค์มันหนีกันไม่พ้น แต่ทว่าพูดไปเข้าใจยาก ท่านก็เลยบอกว่า ให้ทุกคนจับมรณานุสสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ และจะมีความรู้สึกง่าย มรณานุสสตินี่แปลว่าอะไรเล่า ความจริงตายนี่มันตายทุกวินาทีนะ จิตมันเคลื่อนไป ความเสื่อมโทรมของร่างกายเคลื่อนไป<TABLE width="100%" border=0><TBODY><TR><TD vAlign=top width=185>[​IMG]</TD><TD vAlign=top>มรณานุสสติกรรมฐานนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ท่านบอกว่าถ้าเราไปสอน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถือว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่มีในเรา เข้าใจยาก มันยากจริงๆ ถ้าเรามาคิดกันตัวปลายสุด ไอ้ร่างกายของเรานี่มันตายแน่ นี่มันเห็นชัดดีนะ ก็จริงของท่าน เราก็ตายเขาก็ตาย ในเมื่อตายแล้วมีอะไรบ้างที่เราจะแบกไปได้ นี่เรามานั่งยึดถือว่านี่ก็เป็นของเรา นั่นก็เป็นของเรา สิ่งที่ยังไม่มีอยากให้มีขึ้น ตัณหาแปลว่าความอยาก กามตัณหานั้นอยากได้ในสิ่งที่ไม่พึงจะมี ไม่มีให้มันมีขึ้น
    ที่มา http://www.geocities.com/4465/samadhi/maha445.htm

    </TD></TR></TBODY></TABLE>
     

แชร์หน้านี้

Loading...