หลวงพ่อพระราชพรหมยานอธิบายกายานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน : สัมปชัญญบรรพ

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 20 ธันวาคม 2007.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    [​IMG]
    สัมปชัญญะ คือความรู้ตัว ในตอนต้นตั้งแต่อานาปานสติ และอิริยาบถเป็นสติ คราวนี้เป็นสัมปชัญญะ คำว่ารู้ตัว รู้ตัวว่าเราทรงผ้าสังฆาฏิ นี่ตามแบบนา เราทรงบาตร เราทรงจีวร เราฉันข้าว หรือฉันน้ำ เราดื่ม เราเคี้ยว เราลิ้ม เราถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ เราเดิน เรายืน เรานั่งเรานอน เราตื่นหรือเราหลับ เราพูดหรือว่าเรานิ่งอยู่ คือทำความรู้ตัวไว้ทุกอิริยาบถ ทุกอาการ จะเหมือนอย่างนี้หรือนอกจากนี้ก็ตาม จะทำอะไรก็ตาม รู้ตัวอยู่เสมอ ให้รู้ตัวไว้ บางคนพูดแล้วไม่รู้ว่าอะไร นี่แสดงว่าขาดสัมปชัญญะ เวลาจะพูดไม่ได้คิดก่อน อย่างนี้เรียกว่าขาดสติ เมื่อพูดไปแล้วจำไม่ได้เรียกว่าขาดสัมปชัญญะ
    สรุปจากหนังสือมหาสติปัฏฐานสี่ พระมหาวีระ ถาวโร วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี [​IMG]
    <TABLE width="100%" border=0><TBODY><TR><TD vAlign=top width=195>[​IMG]</TD><TD vAlign=top>๏ สัมปชัญญะ ก็มีอาการคล้ายกับข้ออิริยาบถบรรพ ท่านกล่าวว่า ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ เป็นต้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลายข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ คือ ความเป็นผู้รู้ทั่วไปพร้อม รู้ตัว อาการก้าวไปข้างหน้า นี่ว่ากันถึง เดิน ในข้ออิริยาบถที่ผ่านมา รู้ว่าเดิน รู้ว่ายืน รู้ว่านั่ง รู้ว่านอน ตัวสัมปชัญญะนี่รู้อาการ คุมสัมปชัญญะให้ละเอียดลงไป

    เวลาก้าวไปข้างหน้าหรือว่าถอยมาข้างหลังเราก็รู้ รู้ว่านี่ก้าวไปข้างหน้า นี่ถอยมาข้างหลัง เวลาจะเหลียวไปข้างซ้าย เหลียวมาข้างขวา รู้ตัว รู้ว่าเวลานี้กำลังเหลียวซ้าย กำลังเหลียวขวา นี้เวลาจะคู้แขนเข้ามา หรือว่าเหยียดแขนออกไป เราก็รู้
    </TD></TR></TBODY></TABLE>
    เวลาห่มจีวร ทรงผ้าสังฆาฏิ อุ้มบาตร เราก็รู้ รู้ว่าเวลานี้เรากำลังห่มจีวร พาดผ้าสังฆาฏิ อุ้มบาตร นี้เวลากิน เวลาดื่ม เวลาเคี้ยว และลิ้มรส ความจริงไอ้กินนี่รู้ว่ากินนะ แต่ว่าตอนกลืนชักจะไม่รู้ว่ากลืน

    ตอนสัมปชัญญะนี้ไม่มีอะไร เวลายืน เดิน นั่ง นอน ก็เหมือนกันกับอิริยาบถคือให้มีสติสัมปชัญญะรู้ตัวอยู่ว่าเวลานี้เรากำลังยืน กำลังเดิน กำลังนั่ง กำลังนอน ถ้าว่าไปก็เหมือนจะซ้ำกับข้ออิริยาบถ คล้ายกันแต่ว่าตัวนี้ละเอียดลงไป บรรพแรกเป็นแต่เพียงรู้ยืน เดิน นั่ง นอน แต่บรรพนี้รู้การเดิน ก้าวไปข้างหน้ารู้ ถอยมาข้างหลังรู้ เหยียดแขนไปซ้ายรู้ เหยียดแขนไปขวารู้ งอแขนเข้าก็รู้ ห่มผ้าก็รู้ พาดสังฆฏิก็รู้ กลืนก็รู้ กินก็รู้ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะรู้ ท่านว่าอย่างนี้ตัวรู้กัน นี่เรียกว่าใช้สติเข้าควบคุมรู้

    รู้ไปทำไมความมุ่งหมายให้เรารู้ไปทำไม ไอ้ตัวรู้นี่ ให้เราทรงใจไว้เป็นสมถะภาวนา ถ้าเรารู้การกิน การเดิน การนั่ง การนอน ก้าวไปข้างหน้าก็ตาม ถอยมาข้างหลัง เหยียดแขนออก คู้แขนเข้า เหลียวซ้ายแลขวา ถ้าเรารู้ได้อย่างนี้แสดงว่าสัมปชัญญะตัวรู้ตัวของเราดีมาก ถ้ารู้ได้จริงๆ แบบนี้ละก็ใกล้พระนิพพานเต็มที จำไว้นะ ถ้ารู้แบบนี้ ผมมั่นใจว่าพวกท่านใกล้พระนิพพานเต็มที ทำไมว่าอย่างนั้น เพราะว่าเรารู้อยู่ เมื่อรู้แบบนี้ได้ก็รู้อารมณ์ แต่นี่ยังไม่ถึงเวลาจะพูดเรื่องอารมณ์เดี๋ยวจะฟั่นเฝือ เอารู้แค่นี้ก่อน

    พหิทฺธา วา กาเย กายานุปสฺสี วิหรติ เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว ก็พิจารณาเห็นกายในกาย ภายในและภายนอก ก็หมายความว่า เห็นตัวเรา เห็นบุคคลอื่น เราก้าวไปข้างหน้า ถอยมาข้างหลังเราก็รู้ คนอื่นเค้าเดินไปเดินมาเราก็รู้ เรากินข้าว เราถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เราดื่ม เราเคี้ยว เรายืน เราเดิน เรานั่ง เรานอน รู้ตัวทุกอิริยาบถ นี้แสดงว่าสติก็สมบูรณ์สัมปชัญญะก็สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ถ้าสติสัมปชัญญะสมบูรณ์แบบนี้ละ ตกนรกไม่เป็น ทำไมจึงว่าอย่างนั้น นี่เราว่ากันส่วนดีนะ ถ้าส่วนเลวละ มีสติสัมปชัญญะแบบนี้ คอยอิจฉาริษยาชาวบ้านเขา คอยคิดประทุษร้ายชาวบ้านเขา คอยกลั่นแกล้งเขา ก็เลยขึ้นสวรรค์ไม่เป็นเหมือนกัน

    ทีนี้เราว่ากันส่วนดี เมื่อสัมปชัญญะสมบูรณ์แบบนี้ มาหาธรรมดาอีกแล้ว ตอนท้ายท่านลงธรรมดาไว้เสมอ ว่าเราย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือเห็นความเกิดขึ้นในกายบ้าง นอกกายบ้าง ว่านี่เราเดินอยู่อย่างนี้ เรายืน เรานั่ง เรานอน เรากิน เราเคี้ยว ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ห่มผ้า นุ่งผ้า เรามันมีจริงสำหรับเรา แต่อาการอย่างนี้มันไม่ทรงตลอดกาลตลอดสมัย เพราะตอนหนุ่มๆ หน่อย ร่างกายแข็งแรงมันก็ยืนคล่อง เดินคล่อง นั่งคล่อง นอนคล่อง กินคล่อง ห่มผ้าคล่อง นุ่งผ้าคล่อง ทำอะไรก็กระฉบับกระเฉงทุกอย่าง

    ตัวธรรมดามันมีว่ามีความเสื่อมเป็นปกติ พอแก่ลงมาก็ดี ความป่วยไข้ไม่สบายปรากฏ ตัวคล่องหายไปแล้ว ทำอะไรมันก็ลำบากไปทุกอย่าง ท่านบอกว่า ความเกิดขึ้นในกายเป็นของธรรมดา คือ ความเสื่อมนั่นเอง อาการที่เกิดขึ้นกับกาย กายเราที่ยืนได้ ก้าวไปข้างหน้า ก้าวมาข้างหลัง เหลียวซ้าย แลขวา คู้แขนเข้ามา เหยียดแขนออก อะไรเหล่านี้เป็นต้น ที่มีการคล่องตัวธรรมดามันมีมา นี่แกทำคล่องได้ในสมัยที่มีร่างกายสมบูรณ์แบบ กำลังวังชายังดี ไม่ช้า ฉันจะจัดการกับแกให้แกมีกำลังตกไป การเสื่อมปรากฏเราก็นั่งนึกอยู่ ต้องคิดไว้ตลอดเวลาว่านี่มันจะเสื่อมนะ เวลานี้ความเสื่อมอะไรมีอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คืออารมณ์ อารมณ์ที่เรานึกว่าอย่างนี้เดี๋ยวมันเผลอ การเผลอมันเป็นอาการของตัวเสื่อม จำไว้ด้วยนะ

    เมื่อความเสื่อมปรากฏ ท่านก็ว่าไปอีกว่า อตฺถิ กาโยติ วา ปนสฺส สติ หรือว่ากายมีอยู่เข้าไปตั้งอยู่เฉพาะหน้าเธอนั้นเพียงสักแต่เพียงว่ารู้ ท่านว่าอย่างนั้น คือว่าไม่ยึดถืออะไรๆ ในรูปด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่อย่างนี้ ท่านบอกแต่เพียงว่า นี่เราใช้สติเข้าไปกำหนดแต่เพียงว่า กำหนดเข้าไว้ ว่านี่เรายืน เราเดิน เรานั่ง เรานอน แต่ว่าภายในไม่ช้าอาการยืน เดิน นั่ง นอน ของเรานี่มันจะสลายตัวไป ทั้งนี้ก็เพราะว่าร่างกายของเรามันจะพัง มันจะมีการสลายตัว มันจะพังหมด จะปรากฏว่าหาอะไรไม่เหลือเลย ไม่ว่าอะไรมันไม่เป็นประโยชน์สำหรับเราทั้งหมดในโลก เราควรจะยึดถืออะไร

    ตอนนี้เป็นวิปัสสนาญาณนะ ตั้งแต่เห็นว่าธรรมดาของมันต้องมีการเสื่อมเป็นปกติ นี่มหาสติปัฏฐานทุกข้อเป็นวิปัสสนาญาณทั้งหมด เราจับเอาตัวรู้ว่ากำลังเดิน ก้าวไปข้างหน้า ถอยมาข้างหลัง ยืนอยู่ คู้แขนเข้า เหยียดแขนออก อะไรเหล่านี้เป็นต้น การกิน การนอน แบบนี้ว่า เอ้อ ทำแบบนี้มันไม่ทรงตัว มันไม่เป็นปกติ ไม่ช้าเลิกทำ ร่างกายมันจะพัง พอมันพังเสียแล้วเราไม่สามารถจะยึดอะไรได้เป็นประโยชน์สำหรับเรา ไม่มีอะไรเลยในโลกนี้ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับเราแล้ว เราจะมานั่งโง่เกิดเพื่อประโยชน์อะไร สิ่งใดในโลกที่เราควรจะยึดถือว่าเป็นเรา เป็นของเรามีไหม

    แล้วก็ลองคิดถึงคนเก่าๆ ปู่ ย่า ตา ทวดเรา บิดามารดาเราที่เคยตายไปแล้ว เวลาท่านอยู่ ท่านบอกว่า ไอ้นั่นก็ของเรา ไอ้นี่ก็ของเรา นะลูกนะหลานนะ จงรักษามันไว้มันจะมีประโยชน์กับเรา บางทีเราทำอะไรพลัดตกแตกนิดเดียว หรือเกือบจะแตก ท่านก็ด่า ก็ว่าไม่รู้จักรักษาของ ว่าทรัพย์สินทั้งหมดเราต้องรักษาไว้เพราะมันเป็นประโยชน์กับเรา แต่ว่าพอท่านทั้งหลายเหล่านั้นตายไปแล้วท่านแบกอะไรไปได้บ้าง แม้แต่ร่างกายเป็นที่รักของท่านก็แบกไปไม่ได้

    นี่เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าสอนให้เราวางภาระเสียให้หมด คิดทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ที่เป็นสมบัติของโลก คือ เรือนร่างของเราก็ดี เรือนร่างของบุคคลอื่นก็ดี ทรัพย์สินทั้งหลายที่มีชีวิต หรือไม่มีชีวิตก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ไม่มีประโยชน์สำหรับเรา เราไม่ต้องการมันอีก เราเกิดเพราะความโง่ ต่อแต่นี้ไปเราเลิกโง่ ทั้งนี้เพราะว่าเราเกิดใหม่ เราก็พบความเสื่อม แบบนี้ ความไม่ดีแบบนี้ การไม่ทรงตัวแบบนี้ ในที่สุดก็สลายตัว

    การเกิดแต่ละคราวก็เต็มไปด้วยความลำบาก เพราะกว่าจะเกิดจากครรภ์มารดามาได้ก็แสนเข็ญ เกิดมาแล้วกว่าจะโตได้ก็แสนลำบาก กว่าจะช่วยตัวเองได้ ก็ยากเต็มที ต้องทรมาน นอนจมขี้จมเยี่ยวอยู่ตลอดกาลตลอดสมัยนานหลายปี หลายเดือน หลายวัน หิวขึ้นมา พูดไม่ได้ชาวบ้านเขาก็ยังไม่รู้ ต้องร้องไห้ให้ปรากฏ ป่วยไข้ ไม่สบายก็บอกใครเขาไม่ได้ กว่าใครเขาจะเข้าใจเราก็ย่ำแย่ เมื่อโตขึ้นมาแล้วกว่าจะถึงแก่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ เป็นอันว่าการเกิดหาความสุขไม่ได้

    ในเมื่อชาตินี้เรารู้ตัวว่าเกิดไม่มีความสุข ถ้าเราเกิดต่อไปชาติหน้ามันก็เป็นแบบนี้ ฉะนั้นองค์สมเด็จพระมหามุนีจึงสอนว่า ทุกสิ่งในโลกเลิก อย่าคบ ไม่ต้องการมันอีก ถ้าเราใช้คำว่า ไม่ต้องการมันอีกเพียงข้อเดียว นั่นก็คือว่า ความเกิด ขึ้นชื่อว่าความเกิดย่อมไม่มีสำหรับเรา เราไม่ต้องการความเกิดอีก จะเกิดเป็นคนก็ดี เกิดเป็นเทวดาก็ดี เกิดเป็นพรหมก็ดี ในแดนทั้ง ๓ นี้ย่อมเป็นไปในวัฏฏะ คือ วนอยู่ในระหว่างของความทุกข์ เราไม่ต้องการ สิ่งที่เราต้องการ ก็คือพระนิพพาน นี่เรียกว่าสัมปชัญญบรรพ ท่านจัดเข้ามามีทั้งสมถะและวิปัสสนา

    เป็นอันว่า มหาสติปัฏฐานทุกข้อ หรือทุกบรรพทุกตอน ที่องค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนก็มีทั้งสมถะและวิปัสสนาไม่ต้องไปหาที่ไหน ถ้าคนที่ฉลาดจริงๆ พระที่ท่านสอนฉลาดจริงๆ ท่านจับอานาปานุสสติอย่างเดียวแล้วก็ใช้อานาปานุสสติเป็นวิปัสสนาญาณ ตามแนวที่พระพุทธเจ้าสอน อย่างนี้ท่านได้สำเร็จพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ นับไม่ถ้วน

    ท่านทั้งหลายที่เก่งอานาปานุสสติกรรมฐาน สามารถที่จะกำหนดเวลาตายของท่านได้ มีเยอะ นี่ ในสมัยที่ผมเกิดทัน มีเยอะ บอกเวลาตายล่วงหน้าได้เป็นปีๆ แล้วก็บอกวันเดือนปีของการตาย ตลอดจนกระทั่งเวลา มีบางท่านแสดงให้ปรากฏชัดยิ่งไปกว่านั้นบอกว่า นี่ผมเดินจงกรมตรงนี้นะ จากนี้ไปถึงโน่น แล้วก็จากโน่นมาถึงนี่ พอถึงตรงนี้ผมจะตาย พอกลับมาถึงเส้นที่ท่านขีดไว้เท่านั้นตายทันที นี่อำนาจของอานาปานุสสติกรรมฐานเป็นสมถะด้วย แล้วก็วิปัสสนาญาณด้วย สามารถบันดาลให้ท่านที่เข้าถึงจริงๆ เป็นพระอริยเจ้าได้ และก็สามารถกำหนดเวลาตายได้ตามความประสงค์ ยิ่งไปกว่านั้น เวลาที่ป่วยไข้ไม่สบายนี่มีทุกขเวทนา อานาปานุสสติก็เป็นกรรมฐานสำหรับระงับกายสังขาร ระงับทุกขเวทนา
    จบสัมปชัญญบรรพในกายานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน
    [​IMG]
    จากหนังสือ ธรรมะปกิณกะ ๒ (แนวมหาสติปัฏฐานสูตรโดยละเอียด) พระมหาวีระ ถาวโร วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
    ที่มา http://www.geocities.com/4465/samadhi/maha413.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...