หลวงพ่อพระราชพรหมยานอธิบายมหาสติปัฏฐาน ๔ : เวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 8 มกราคม 2008.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    [​IMG]
    เวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน คำเวทนานี้แปลว่า การเสวยอารมณ์ พระพุทธเจ้าท่านว่าไว้ กถญฺจ ภิกฺขเวภิกฺขุ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งอื่นยังมีอยู่อีก เวทฺนาสุ เวทฺนานุปสฺสี วิหรติ ย่อมพิจารณาเห็นเวทนา คำว่าเวทนานี้ ท่านแปลว่าอย่างนั้น ท่านแปลว่า ความเสวยอารมณ์ ถ้าพูดกันแบบไทยๆ ไอ้คำว่าเสวยนี่ ก็แปลว่ากิน คนก็เลยกินอารมณ์เข้าไป ไม่ต้องกินข้าวแล้ว คำว่าเสวยอารมณ์ ก็หมายความว่า อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจเรา มันมีอยู่เป็นปกติ

    ท่านบอกว่าย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ คือว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ท่านว่ายังไง ดูตามของท่านไป ว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เมื่อเสวยสุขเวทนาก็รู้ชัดอยู่ว่าบัดนี้เราเสวยสุขเวทนา เมื่อเสวยทุกขเวทนาก็รู้ชัดอยู่ว่าบัดนี้เราเสวยทุกขเวทนา เมื่อเสวย อทุกฺขมสุขํ เวทนํ เวทิยมาโน เพื่อนก็เลยแปลบอกว่า เมื่อเสวย อทุกขมสุขเวทนา เป็นอันว่า เมื่อเราไม่ได้เสวยทุกข์หรือเสวยสุขเวทนา อันเป็นอุเบกขา คืออารมณ์เฉยเราก็รู้ชัดอยู่ว่าเวลานี้อารมณ์ของเราเฉยๆ ไม่มีสุขหรือมีทุกข์ใดๆ

    ต่อไป เมื่อเสวยสุขเวทนาที่มีอามิส คำว่า อามิส แปลว่าสิ่งของ คือมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้ามาเจือ เช่น กามคุณ ก็รู้ชัดว่า เวลานี้เราเสวยสุขเวทนาที่มีอามิส หรือว่าเสวยสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส ก็รู้ชัดอยู่ว่า เวลานี้เราเสวยสุขเวทนาที่มีอามิส หรือว่าเสวยสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส หรือว่าเมื่อเสวยทุกขเวทนาที่มีอามิส ก็รู้ชัดอยู่ว่าเราเสวยทุกขเวทนาที่มีอามิส หรือเมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็หมายความว่า จิตใจมันเฉยๆ ไม่มีสุขหรือไม่มีทุกข์ เพราะมีอามิสหรือว่าไม่มีอามิส ก็รู้อยู่ว่า เวลานี้เราเสวยอทุกขมสุขเวทนาที่มีอามิสหรือว่าไม่มีอามิส ท่านว่ายังงั้น

    ดังนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาทั้งภายในและภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือความเกิดขึ้นในเวทนาบ้าง นี่พอบอกว่าเห็นเวทนาเป็นธรรมดา นี่จัดเป็นวิปัสสนาญาณ ตอนต้นเป็นสมถะ อันนี้มหาสติปัฏฐาน นี่พระพุทธเจ้าควบวิปัสสนาญาณอยู่ตลอดเวลา ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดาคือความเสื่อมไปบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดาทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปบ้าง ก็หรือว่าสติมีเวทนา มีอยู่ ก็ไปตั้งอยู่เฉพาะหน้า แต่เพียงสักแต่ว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักแต่ว่าเป็นที่อาศัยระลึก ย่อมไม่ติดอยู่ ย่อมไม่ยึดถืออะไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาเนืองๆ นี้แล้ว

    คือตามใจความตามมหาสติปัฏฐานสูตรในเวทนานุปัสสนานี้ พระพุทธเจ้าให้ทรงพิจารณาว่า เวลานี้จิตของเรามีความสุขหรือว่ามีความทุกข์ เวทนานี้ก็คืออารมณ์ ตามบาลีท่านแปลว่า ความเสวยอารมณ์ คำว่าเสวยอารมณ์นี่มันฟังไม่ชัด นี้คำว่าอารมณ์ หมายถึงอะไร คำว่าอารมณ์นี่ก็หมายถึงว่า ความรู้สึกของใจ คือความรู้สึกของเรานี้ มันมีความสุข หรือว่ามีความทุกข์ หรือว่าเวลานี้ใจของเราหดหู่ประกอบไปด้วยความทุกข์ หมายความว่า มีความปรารถนาไม่สมหวังบ้าง สิ่งที่ตั้งใจไว้ไม่ปรากฏบ้าง สิ่งที่ตั้งใจไว้ไม่เป็นไปตามตั้งใจบ้าง อย่างนี้เป็นอาการของความทุกข์ อย่างนี้เรียกกันว่า ทุกขเวทนา

    ทีนี้ในมหาสติปัฏฐานสูตร ท่านบอกชัดไว้ว่ามหาสติปัฏฐาน คือ ให้พยายามเอาจิตของเราเข้าไปตั้งในสติสัมปชัญญะตลอดเวลา นี้เรียกว่าตามนึกรู้อารมณ์ จงรู้อารมณ์ของเราว่าเวลานี้อารมณ์เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถ้าอารมณ์มีความสุขก็รู้อยู่ว่าอารมณ์เรามีความสุข อารมณ์ของเรามีความสุขเพราะอาศัยอะไรเป็นปัจจัย อารมณ์ของเรามีความสุขเพราะมีอามิสเป็นปัจจัย คำว่าอามิส หมายว่าสิ่งของ เราจะเรียกกันว่าวัตถุก็ได้ จะเป็นสิ่งที่มีชีวิตก็ตาม หรือว่าไม่มีชีวิตก็ตาม ถ้ามันมีสิ่งใดปรากฏขึ้น เป็นอะไรก็ตามเป็นเครื่องปรากฏเฉพาะหน้า และเป็นเหตุให้เราได้สุข เราได้ทุกข์ อย่างนั้นเราเรียกว่าอามิส อย่างพบคนที่ไม่ชอบใจ ใจมันก็เริ่มไม่สบาย นี้ถือว่าคนเป็นอามิส เป็นเหตุให้เราเกิดความทุกข์ เพราะไม่สบายแปลว่าทุกข์ ความไม่สบายกายก็ดี ความไม่สบายใจก็ดี จัดเป็นทุกข์ อันนี้เราต้องรู้ตัวทุกข์ด้วยนะ

    หรือว่าพบสิ่งของสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตามที่เป็นที่ไม่ชอบใจของเรา จิตมันก็เป็นทุกข์ หรือว่าพบคนที่หน้าตา ไม่เกลียด ไม่โกรธ ไม่เป็นศัตรู แต่กลับมาพูดในสิ่งที่เราไม่ปรารถนา เราไม่ต้องการจะฟัง ใจเราไม่ชอบใจ อย่างนี้ก็ทุกข์ เรียกว่าทุกขเวทนา ทีนี้พระพุทธเจ้าให้พิจารณาจิตของตนว่าเวลานี้จิตของเรามีอารมณ์เป็นอย่างไร มีอารมณ์เป็นสุขหรือทุกข์ มาอีกตอนหนึ่งท่านพูดถึงสุขเวทนา เวลานี้จิตของเราเป็นสุข มันเป็นสุขเพราะว่าอะไร เป็นสุขเพราะว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากระทบ หรือว่าเป็นสุขอยู่เฉยๆ ไม่มีสิ่งอื่นเข้ามากระทบ

    คำว่าสิ่งอื่นก็คืออามิส จะเป็นคนหรือเป็นวัตถุก็ตาม หรือว่าหาคนไม่ได้ หาวัตถุไม่ได้ แต่ปรากฏเป็นเสียงหรือเป็นแสง ถ้าเป็นแสงก็เป็นวัตถุ ถ้าเป็นเสียงก็เป็นวัตถุเหมือนกัน จัดเป็นกาย แต่ว่าเป็นอนุปาทายรูป ทีนี้เรากระทบกับเสียง กระทบกับแสง กระทบวัตถุ กระทบกับคน ทำให้เราเกิดความสุขหรือว่าความทุกข์

    แต่ความสุขหรือความทุกข์นี้ พระพุทธเจ้าท่านขมวดท้ายไว้ว่า เนื่องด้วยกามารมณ์ ไอ้คำว่ากามารมณ์นี่ไม่ใช่อามรณ์อยากมีผัวมีเมียเฉยๆ ตีความแบบนั้นไม่ถูก คือ กามารมณ์ กามะแปลว่า ความใคร่ อารมณ์คือความรู้สึกของเรา เกิดความใคร่อยากจะได้สิ่งนั้น อยากจะได้สิ่งนี้ หรือว่าเราไม่อยากได้สิ่งนั้น ไม่อยากได้สิ่งนี้ เพราะเราไม่ชอบใจ สิ่งที่เราอยากได้เป็นอาการของความชอบใจ อารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างนี้ท่านเรียกว่า กามารมณ์ คืออารมณ์ที่มีความอยากเกิดขึ้น

    นี่อารมณ์ที่มีความอยากเกิดขึ้นมันเป็นอารมณ์ที่ทำให้เราสุขใจ หรือว่าทุกข์ใจ อันนี้พระพุทธเจ้าให้ใช้สติคิดไว้เสมอ สิ่งเหล่านี้มันมีอยู่เป็นธรรมดา แต่เราจะมานั่งคิดดูว่าพระพุทธเจ้านี่มานั่งสอนเราทำไม ไอ้เรื่องนี้มันเป็นเรื่องธรรมดาของใจ แต่ความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเราก็เพราะว่า พวกเราลืมคิด ไม่ได้ใช้สติเข้าไปควบคุมอารมณ์ เราปล่อยไปตามเรื่อง มันจะสุขหรือมันจะทุกข์ก็ไม่ได้หาเหตุ ไม่ได้หาผล ไม่ได้ค้นคว้าตามความเป็นจริง

    ทีนี้การที่พระพุทธเจ้าให้รู้อารมณ์ของเรา ว่าอารมณ์ของเรานี่มันเป็นสุขหรือว่ามันเป็นทุกข์ เวลาที่มันมีความสุขหรือว่ามีความทุกข์ มีอะไรที่เป็นเหตุ เป็นปัจจัยหรือเปล่า คือมีอามิส วัตถุ หรือบุคคลเป็นเหตุหรือเปล่า หรือว่าไม่มีอามิส วัตถุ หรือบุคคล เป็นเหตุ จึงเกิดความสุขหรือความทุกข์ ให้ใคร่ครวญ อย่างนี้เรียกว่า พิจารณาเวทนาในเวทนา กำหนดรู้เวทนาในเวทนา หมายความว่า อารมณ์ความสุข หรือความทุกข์น่ะเป็นเวทนา ถ้าตัวสุขเป็นสุขเวทนา ที่เราชอบใจนะ ความทุกข์เป็นทุกขเวทนา เป็นเวทนาตัวนอก ตอนนี้เราก็ไปหาเวทนาในเวทนาอีกทีหนึ่ง คืออารมณ์ในอารมณ์อีกทีหนึ่งว่าอะไรนี่มันสร้างความสุขความทุกข์ใจให้เกิดแก่เรา

    เมื่อเราคิดไปเราก็คิดได้ว่า นี่เราไม่สบายใจ นี่แสดงว่าท่านให้หาเหตุหาผล มีความสุขและความทุกข์เพราะอะไร ท่านให้คิดแบบนี้ทำไม จะได้รู้ว่าแม้แต่อารมณ์ใจของเรานี่ที่เราเกิดมานี่ ความจริงความสุขความทุกข์มันเกิดจากกายก็จริง แต่ทว่าไอ้ทุกข์จริงๆ ใจเป็นตัวรับ

    จะว่ากายมันเกิด แล้วมันแก่ มันเจ็บ มันตาย และไอ้เจ้าใจนี่ล่ะ กายเกิดมาแล้วมันเกิดแก่ลงมา เราไม่ชอบแก่ มันเกิดป่วยไข้ไม่สบาย เราไม่ชอบป่วยไข้ไม่สบาย มันตายเราไม่ปรารถนาให้มันตาย เรานึกว่ากายเป็นทุกข์ แต่ความจริงกายไม่ได้เป็นทุกข์ ใจมันทุกข์ เพราะกายมันมีสภาพเป็นปกติ ถ้ามันทุกข์จริงๆ มันก็ไม่แก่

    อย่างตาเรานี่ถ้ามันรู้ว่ามองอะไรไม่ถนัด ก็จะต้องซื้อแว่นมาใส่ ถ้ามันรู้มันจะต้องเป็นทุกข์อย่างนี้ มันไม่ฝ้า มันไม่ฟาง นี่ความจริงอาการของตามันไม่รู้เรื่อง มันถือกฎธรรมดาของมัน เมื่ออายุมากเข้าแล้วประสาทมันก็เสื่อมโทรมลงไป ไอ้การต้องการในการเห็น การต้องการในการได้ยินจากหู เห็นจากตา รับการสัมผัสจากกาย ได้กลิ่นจากจมูก รู้รสจากกลิ่น อย่างนี้เป็นต้น นี่มันเป็นเรื่องของใจ ไอ้ความสุขความทุกข์นี่มันอยู่ที่ใจ ความจริงมันไม่มีอยู่ในกาย ตามลำพังกายอย่างเดียวตัวนั้นมันไม่ได้สุข มันไม่ได้ทุกข์

    เราจะเห็นว่าคนถ้าตายแล้วนี่ ใครจะเอาไฟไปเผา จะเอามีดไปสับไปฟันก็ไม่เคยโกรธ แต่ทว่าเวลาที่ยังไม่ตาย อย่าว่าแต่เอามีดมาฟันเลย เอาเล็บมาสะกิดหน่อยเดียว บอกว่าเจ็บฉันไม่ชอบใจ ที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร เพราะใจมันเป็นเครื่องรับรู้ นี้ถ้ากายเราเจ็บเพราะเล็บจิก ไอ้อย่างนี้เรียกว่า ทุกขเวทนา เกิดจากอามิส อามิสคือของ ของคือเล็บที่มาหยิกเรา หรือว่าวัตถุอะไรเข้ามากระทบ ตานี้ความสุขที่เกิดขึ้นมา กำลังใจอยากได้ขนม อยากกินขนม อยากนี่ได้ขนมแบบนี้เรามีความสุข เราชอบใจ หรือว่าต้องการวัตถุแบบนี้ เราชอบใจ เกิดความสุข อย่างนี้เขาก็เรียกว่าเกิดความสุขเกิดจากอามิสเหมือนกัน นี่พระพุทธเจ้าให้พิจารณาว่า กำลังใจของเรานี่ ความจริงมันไม่ใช่แม้แต่อารมณ์ ไม่ใช่กาย เพราะอารมณ์นี่ก็ไม่มีสภาพคงที่ มันก็เป็นสุขเป็นทุกข์เหมือนกัน

    ทีนี้มาอีกบทหนึ่งท่านบอกว่า หรือว่ามีความรู้สึกว่าอทุกขมสุข หรือว่าจิตของเราเสวยอารมณ์ที่ไม่มีสุขและไม่มีทุกข์ ไอ้การไม่มีสุขหรือไม่มีทุกข์มันอาศัยอามิสเป็นต้นเหตุ หรือว่าไม่มีอามิสเป็นต้นเหตุ คำว่าอามิสเป็นต้นเหตุ ก็สมมติว่าเราไปนั่งดูพระพุทธรูป เห็นพระพุทธรูปมีความสดสวยงาม ยิ้มอยู่ตลอดเวลา ลักษณะท่าทางของท่านน่าเคารพนับถือ น่าไหว้ น่าบูชา

    แล้วก็พิจารณาไว้ พระพุทธรูปนี้ ความจริงเป็นรูปเปรียบของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงมีความดีมาก เวลานี้สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงเสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานไปแล้ว ความจริงองค์สมเด็จพระประทีปแก้วมีพระองค์เดียว แต่เมื่อพระองค์ทรงนิพพานไปแล้ว กลับหล่อรูปขึ้นมามากทั้งนี้เพราะอะไร เพราะความดีของพระองค์ ความดีสูงสุดที่พระองค์ทรงมีก็คืออะไร คือ พระองค์สามารถตัดกิเลส เป็นสมุจเฉทปหาน

    ในเมื่อองค์สมเด็จพระพิชิตมารพระองค์ทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงสั่งสอนเราโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อย ความยาก ความลำบากอะไรทั้งสิ้น จะต้องนอนกลางดินกินกลางทราย นอนกลางเขา กลางป่า เปียกปอนไปด้วยฝนและน้ำค้าง ฝ่าอันตรายทุกอย่าง ความจริงพระองค์เป็นลูกของพระมหากษัตริย์ และก็จะทรงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิภายใน ๗ วัน แต่ถึงกระนั้น องค์สมเด็จพระทรงธรรมก็ยังทรงสละความสุขมาสอนพวกเรา

    เมื่อเห็นรูปของพระพุทธเจ้า ท่านมีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงยิ้มแย้มแจ่มใส ก็คิดในใจ ว่าการทำใจให้มีจิตสงบอย่างนี้เป็นของดี รูปขององค์สมเด็จพระชินสีห์นี่ ใครจะจับไปโยนน้ำ ไปเผาไฟ ไปจมดิน จมทราย สักเท่าใดก็ตาม เมื่อกลับขึ้นมา ก็ปรากฏว่าหน้าของพระองค์นี้ยิ้มอยู่ตลอดเวลา น่าชื่นใจ ทีนี้อารมณ์ใจเห็นพระพุทธเจ้าก็นึกถึงความดีของพระองค์ นึกถึงพระมหากรุณาของพระองค์ ความสุขเกิดขึ้น เหล่านี้เรียกว่าสุขเวทนา เกิดจากอามิส

    ตอนนี้เราก็คิดต่อไปว่า องค์สมเด็จพระจอมไตร เดิมทีพระองค์มีชีวิตอย่างเรา แต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงยึดถือในโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ ใครจะนินทา ใครจะด่า จะว่า จะสรรเสริญ เป็นประการใด จะมีลาภสักการมากน้อยเพียงใด ลาภไม่มีเพียงใด พระองค์ไม่เคยวิตก เรื่องยศบรรดาศักดิ์เพียงใดพระองค์ไม่เคยปรารถนา เป็นอันว่าองค์สมเด็จพระบรมศาสดามีขนตกอยู่เสมอ คำว่าขนตก ถ้าไปอ่านในบาลีจะมี ขนตกอยู่เสมอ เป็นอันว่าไม่มีขนลุก ขนชัน ไปไหนก็มีจิตใจเป็นปกติ ไม่มีอาการหวาดหวั่นหรือยินดียินร้ายอะไร เราก็ชอบทำใจแบบพระพุทธรูปเสียบ้าง

    เมื่อมีใจก็ทำเหมือนคนไม่มีใจ มีความรู้สึกก็แกล้งทำเหมือนคนไม่มีความรู้สึก มันจะหนาว มันจะร้อน มันจะหิว มันจะกระหาย มันจะมีทุกขเวทนา จะมีสุขเวทนา อย่างไรก็ตาม ถือว่าช่างมัน มันไม่ปรารถนา ชื่อว่าร่างกายไม่มีความสำคัญ ร่างกายนี้มีแล้วก็ไม่มีประโยชน์ มีแต่โทษอย่างเดียว ใจก็เกิดอารมณ์สบาย ไม่ยึดถือวัตถุ หรือว่าอามิส เรียกว่า สี เสียง แสง ใดๆ ทั้งหมด ทำจิตตกมีอารมณ์ปลอดโปร่ง เพราะว่ามีสุขที่ไม่จริง อามิส หรือว่าไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ คำว่าไม่มีทั้งสุขและก็ไม่มีทั้งทุกข์ คำว่าสุขกายเพราะอาศัยกามคุณ คือว่าวัตถุที่เราพึงปรารถนาหรือว่าอารมณ์ที่เราพึงปรารถนา

    อย่าคิดว่านี่เป็นพระนี่ได้เปรียบนะ ไม่ต้องทำมาหากินอะไรมาก เช้าก็ถือหม้อออกจากวัดชาวบ้านก็ใส่มาให้ กลับมาแล้วก็สบาย กินแล้วก็นอน นี่คิดอย่างพระนรกนะ ไม่ใช่พระสวรรค์ แต่คิดอย่างนี้ ใจเกิดสบายขึ้นมา อย่างนี้กล่าวว่าจิตตกอยู่มีความสุข เพราะอาศัยกามคุณ คืออารมณ์มีความใคร่ ความทุกข์ใจเพราะอาศัยวัตถุก็เหมือนกัน ทีนี้ความสุขใจที่ไม่ประกอบด้วยวัตถุก็เหมือนกัน ทีนี้ความสุขใจที่ไม่ประกอบด้วยวัตถุหรือไม่ประกอบด้วยอารมณ์อื่นมันเกิดมีความแช่มชื่น มีอารมณ์โปร่งเฉยๆ อะไรจะไป อะไรจะมาก็มีความรู้สึกอย่างเดียวว่า ช่างมัน

    ใครเขาจะด่า ใครเขาจะว่าก็ช่างมัน เราดีของเราเอง เราไม่ได้ดี หรือเราไม่ได้ชั่วเพราะวาจาของเขาพูด มันจะมีของใช้มาก มันจะมีของใช้น้อย ก็ช่างมัน มีมากก็ใช้มาก มีน้อยก็ใช้น้อย ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะเราไม่สนใจกับมัน มันก็ไม่มีประโยชน์ ร่างกายของเรามันจะสวยไม่สวยก็ช่างมัน เสียงจะเพราะหรือไม่เพราะก็ช่างมัน มันจะแก่หรือมันจะป่วยอะไรก็ช่างหัวมัน เพราะธรรมดาของมันเป็นอย่างนั้น ในที่สุดถึงแม้ว่ามันจะตายก็ช่างมัน เรียกว่าไม่ยอมยึดทั้งอารมณ์ซ้ายและอารมณ์ขวา อารมณ์ความสุข หรืออารมณ์ความทุกข์ เราก็ไม่ยึด ปล่อยใจสบาย อย่างนี้ท่านเรียกว่า อทุกขมสุข คือจิตทรงอุเบกขา

    นี่ที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาให้กำหนดไว้อย่างนี้เพื่อให้อารมณ์ของเราเวลานี้มีความสุขหรือมีความทุกข์ ถ้ามีความสุขเราก็รู้อยู่ว่ามีความสุข มีความทุกข์เราก็รู้อยู่ว่ามีความทุกข์ มีความสุขเพราะว่าอาศัยสิ่งอื่นเป็นปัจจัย หรือไม่ได้อาศัยสิ่งอื่นเป็นปัจจัยเราก็รู้อยู่ อาการของความทุกข์ก็เหมือนกัน ตานี้อาการวางเฉยก็เหมือนกัน วางเฉยเพราะว่าเราห้ามสิ่งนั้นเราห้ามสิ่งนี้ไม่ได้ เมื่อห้ามมันไม่ได้ก็เลยไม่ห้าม ปล่อยตามใจมัน อันนี้ว่าวางเฉยเพราะมีอามิส หรือว่าวางเฉยเพราะไม่มีอามิส เฉยขึ้นมาเฉยๆ หรือว่าวางเฉยเพราะจิตตั้งอยู่ในอุเบกขา คือกฎธรรมดาเป็นสำคัญ

    นี่องค์สมเด็จพระทรงธรรมให้รู้ตอนนี้เป็นอารมณ์ของสมถภาวนา นี่รู้ไว้ด้วยนะ ว่าตอนนี้เป็นอารมณ์ของสมถภาวนา รู้ทำไม การตั้งสติเข้าไว้ การรู้ตัวเข้าไว้มันจะได้รู้ว่า เวลานี้มีสุขหรือมีทุกข์ จะได้รู้ชัดว่าคนเราเกิดมานี่ไม่ใช่ว่ามันจะอยู่เฉยๆ ได้ มันจะต้องมีสุขและจะต้องมีทุกข์ และมีอารมณ์เฉยๆ ในบางขณะ เป็นอันว่าแม้แต่อารมณ์ก็หาความแน่นอนไม่ได้
    <TABLE width="100%" border=0><TBODY><TR><TD vAlign=top width=155>[​IMG]</TD><TD vAlign=top>ในตอนท้ายองค์สมเด็จพระจอมไตรให้ถือว่า ความสุขหรือความทุกข์นี่เป็นธรรมดา ธรรมดาของคนที่เกิดมา เราจะไปยอมยึดถือมันเพื่อประโยชน์อะไร อารมณ์ใจที่มีความสุขก็ดี อารมณ์ใจที่มีความทุกข์ก็ดี มันไม่มีสภาวะที่ทรงความแน่นอนได้เลย เราจะมาสุขจริงๆ ก็ไม่ได้ เดี๋ยวมันก็กลับทุกข์ เวลามันทุกข์คิดว่าจะหาความสุขไม่ได้ มันก็ไม่แน่นอนเดี๋ยวมันก็กลับมามีความสุขใหม่ เป็นอันว่าเอาอะไรแน่นอนไม่ได้

    เหตุฉะนั้น องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงเตือนว่า เมื่อเราพิจารณาแล้ว จงพิจารณาสักแต่เพียงว่ารู้ ที่เรารู้แล้ว คำว่ารู้แล้วนี่ สักแต่เพียงว่ารู้ ก็เพียงว่ารู้แล้ว จงอย่ายึดถือว่านี่เป็นความสุข หรือว่าเป็นความทุกข์ที่เราควรจะยึดถือเข้าไว้ แล้วเธอทั้งหลายจงเห็นอาการเหล่านี้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาของบุคคลที่เกิดมาแล้วย่อมมีอารมณ์อย่างนี้ เมื่อมันหาสภาวะความแน่นอนไม่ได้อย่างนี้ เราก็ไม่ควรยึดถือมันไว้เลย
    </TD></TR></TBODY></TABLE>
    คำว่าไม่ยึดถือมันไว้เลยก็หมายความว่าไม่ควรจะยึดถือว่าเราจะทรงมันไว้ต่อไป และเมื่อไม่ยึดถืออารมณ์ แล้วท่านก็เลยสั่งต่อไปว่า ไม่ว่าอะไรทั้งหมดในโลกจงอย่ายึดถือเอา จงอย่าถือแม้แต่อารมณ์นี้ว่ามันเป็นเราเป็นของเรา เรามีในอารมณ์ อารมณ์มีในเรา

    ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะอารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้มันมีแล้วไม่นานเพียงไม่สักกี่วัน มันก็ถึงอาการดับชีพของมัน คือความตายของร่างกาย เมื่อร่างกายตายเมื่อไรแล้ว อารมณ์เหล่านี้มันก็สลายตัวไป

    นี่เป็นอันว่าการเจริญเวทนานุปัสสนาในมหาสติปัฏฐานสูตร องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ใช้สติสัมปชัญญะเข้าคุมอารมณ์ ความจริงมันต้องใช้อารมณ์เอาสติสัมปชัญญะหนักหน่อยนะ ที่หนักก็ไม่เห็นว่าเป็นของแปลก มันเป็นสิ่งที่เราควรจะรู้ ถ้าเราคุมอารมณ์ของเราได้ โดยใช้สติสัมปชัญญะควบคุมอารมณ์ของเราตลอดเวลา เป็นอันว่า ชาตินี้พวกเราทุกองค์ มีหวังได้ในฐานะความเป็นอรหัตผล เพราะอะไรเพราะพระอริยบุคคลขั้นพระอรหันต์นี่ไม่มีอารมณ์เผลอในเรื่องขันธ์ ๕ เป็นอันว่าการพูดเรื่องเวทนาก็ขอยุติไว้เพียงเท่านี้
    จบเวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน
    จากหนังสือ ธรรมะปกิณกะ ๒ (แนวมหาสติปัฏฐานสูตรโดยละเอียด) พระมหาวีระ ถาวโร วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
    ที่มา http://www.geocities.com/4465/samadhi/maha42.htm[​IMG]
     

แชร์หน้านี้

Loading...