หลวงพ่อพระราชพรหมยานอธิบายเรื่อง จิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 11 มกราคม 2008.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    [​IMG]
    จิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐานข้อนี้มีความสำคัญมาก เวทนานุปัสสนามหาสติปัฏฐานท่านให้เอาจิตเ้ข้าไปพิจารณาเวทนาเพื่ออาศัยความคล่องของจิต พวกท่านที่หวังดีในการเจริญสมณธรรม จะเป็นพระก็ดี ฆราวาสก็ดี ทุกคนต้องการความสุข ต้องพยายามควบคุมเวทนา คือความรู้สึกของอารมณ์ด้วยสติสัมปชัญญะอย่างหนัก ต้องใช้ให้มาก เพราะความไวของสติสัมปชัญญะมันจะได้มี

    เวทนานุปัสสนานี่เป็นการซ้อม ซ้อมใจเราจริงๆ จำไว้ให้ดีนะ นักปฏิบัติที่พยายามเข้าถึงความดี เขาควบคุมอารมณ์กันตรงนี้ ตรงนี้เอากันหนักหน่อยเพราะอารมณ์ของใจมีสภาพไวยิ่งกว่าลิง ลิงว่าไว มันไวกว่า บางทีนั่งพูดอยู่นี่ บางทีใจย่องไปคิดถึงเรื่องอะไรต่ออะไรแล้ว เยอะแยะนอกรีตนอกรอย ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะอารมณ์ใจมันเร็ว มันเร็วมาก ควบคุมยาก

    ฉะนั้นก่อนที่จะพิจารณาอารมณ์ที่มันจะเกิดกับจิต องค์สมเด็จพระธรรมสามิสรจึงให้พิจารณาอารมณ์ใจไว้เสียก่อนว่ากันถึงเรื่องความสุข ความทุกข์ กับความไม่สุขไม่ทุกข์ ๓ ตัวนี้เท่านั้น ความจริงไม่มีอะไรมาก เวลาเรารู้สึกตัวขึ้นมานึก เอ้อ เวลานี้เราสุขหรือทุกข์ สุขหรือทุกข์เพราะเรื่องอะไร หรือว่าเราไม่สุขไม่ทุกข์เพราะเรื่องอะไร หาเหตุหาผลเข้าไว้ ถ้ารู้ว่าสุขหรือทุกข์ หรือรู้ว่าไม่สุขไม่ทุกข์ ก็นึกว่าไม่เป็นเรื่อง เราจะไปสนใจกับมันเพียงใดก็รู้ว่าไม่เป็นเรื่อง เรื่องความสุขความทุกข์หรือความไม่สุขไม่ทุกข์นี่ไม่เป็นเรื่อง ไม่ช้าเราก็ตาย ตายแล้วก็หมดเรื่องกัน อารมณ์ทั้งหลายใดๆ ที่เราจะเข้าไปยึดถือไม่มี หาความดีอะไรไม่ได้ เป็นอันว่าเลยไม่ยึดถืออารมณ์ใดๆ ทั้งหมด ต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน ว่าเลยไปนิดละมั้ง ว่าถึงนิพพาน ไอ้ตัวธรรมดาน่ะคือตัวนิพพาน

    จำไว้นะที่พระพุทธเจ้าบอกว่าย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือการตั้งขึ้น ความเกิดขึ้นหรือความเสื่อมไปของอารมณ์ ใช่ไหม หมายความว่านี่มันสุขแล้ว พอสุขไปสุขมา ทุกข์เสียอีกแล้ว นี่เราสุขแล้วทุกข์ไปทำไม ไอ้ตัวสุขนี่คือใจมันสบาย ความสุขเสื่อมไป ความทุกข์ก็มาใหม่ ใจมันลงทุกข์นี่เราไม่ชอบ ถือว่ามันต่ำ อันนี้ท่านก็เลยบอกว่าถือเป็นตัวธรรมดา ทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมลง ตัวธรรมดานี่เป็นอารมณ์ของพระอรหันต์เขา พระอรหันต์ที่มีความสุขที่ไม่อิงอามิสได้ก็เพราะอาศัยธรรมดา ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ทีนี้กฎของธรรมดาก็เป็นอารมณ์ของพระอรหันต์ อารมณ์ของพระอรหันต์ ก็คืออารมณ์ของพระนิพพานนั่นเอง ถ้าใครเขาพูดกันถึงเรื่องว่า ใช้คำว่าธรรมดานี่ ต้องมีความเข้าใจเลยว่าเราหมายถึงพระนิพพาน

    นี่เราพูดกันด้านธรรมะนะ อย่านึกว่านี่เรามีลูกเป็นธรรมดา มีเมียเป็นธรรมดา มีผัวเป็นธรรมดา อย่างนี้ไม่ใช่นิพพานแล้ว ไปหัวสะพานแล้ว ดีไม่ดีกลายเป็นอันธพาลขึ้นมา ทะเลาะกับผัว ทะเลาะกับเมีย ตีกับลูก นี่กลายเป็นอันธพาลไปไม่ใช่นิพพาน

    ทีนี้เรามาว่ากันถึงเรื่องจิต ตัวนี้สำคัญนะ ตัวจิตนี่สำคัญมาก จิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐานนี่ ท่านให้ฝึกรักษาอารมณ์ ยึดถืออารมณ์ว่าจะเอาจิตเข้ามาควบคุมจิต ตัวนี้สำคัญมาก กรรมฐาน ๒ จุดนี่สำคัญที่สุด คือนักปฏิบัติที่ปฏิบัติได้ดีทุกองค์เข้าถึงจุดนี้ไปถามเถอะ ท่านคล่อง ๒ ตัวนี้ คล่องมาก ถือว่าเป็นปกติของอารมณ์เลย เพราะว่าทำจนชิน อย่านึกว่ามันยาก ความจริงถ้าเราทำจนชินมันก็ไม่ยาก ไม่ว่าอะไรทั้งหมดน่ะถ้าเราทำทำไป ตอนใหม่ๆ มันก็ลำบาก แล้วต่อมาถ้าอารมณ์เกิดความชินเข้าแล้ว มันก็หาความยากไม่ได้

    ทีนี้เราก็มาดูถึงพระบาลีกันต่อว่า กถญฺจ ภิกฺข เว ภิกฺขุ จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี วิหรติ ว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ เมื่อกี้นี้พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา อันนี้เห็นกายในกายมาแล้วนะ แล้วมาล่อเวทนาในเวทนา ทีนี้มาล่อจิตในจิตเข้าอีกแล้ว มันเกิดเป็นจิตซ้อนจิต จิตนี้ก็คือความคิด ว่าดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ จิตมีราคะ ก็รู้อยู่ว่าจิตมีราคะ จิตไม่มีราคะ ก็รู้อยู่ว่าจิตไม่มีราคะ จิตมีโทสะก็รู้อยู่ว่าจิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ ก็รู้ชัดว่าจิตไม่มีโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ชัดว่าจิตมีโมหะ จิตไม่มีโมหะก็รู้ชัดว่าจิตไม่มีโมหะ ว่าแค่นี้ก่อน ว่ายาวๆ ไปเดี๋ยวไม่รู้

    จิตมีราคะ คำว่าราคะแปลว่ารักสวยรักงาม เวลานี้จิตของเรามันมีอุเบกขารมณ์ มีความสบาย หรือว่ารักสิ่งสวยๆ งามๆ อย่างคนชอบสีสวย ชอบผิวสวย แต่หมามันชอบขี้สวยใช่ไหม หรือใครว่าไม่ใช่ หมาเห็นก้อนขี้ไม่ได้ แต่ไปเจอะเอาอุตพิตเข้านึกว่าขี้ หยุดกึก เขาเรียกว่าไอ้ดอกหมาหยุด จิตนี่เราชอบสวยชอบงามหรือเปล่า ให้นั่งพิจารณาให้รู้อยู่ว่าเวลานี้อารมณ์จิตของเราเป็นอย่างไร

    ถ้าจิตเราชอบของสวยของงาม อะไรก็ตามถ้าปรารถนาเรื่องสวยเรื่องงาม ไม่ใช่อาการสักการะอย่างเช่นเราเห็นพระพุทธรูป เขาบอกนี่พระพุทธรูป ถ้าจิตเราสบายยกมือไหว้ใช้ได้ทันที ว่าเป็นพระพุทธปฏิมากรเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าแต่บางคนไม่ใช่อย่างนั้น พอดูพระพุทธรูป เอ๊ะ นี่สมัยไหนหว่า นี่สมัยเชียงแสนหรือสุโขทัย หรืออู่ทอง หรืออยุธยา หรือรัตนโกสินทร์ ถ้าเชียงแสน สุโขทัย ยุคต้นนี้ราคาแพง
    <TABLE width="100%" border=0><TBODY><TR><TD vAlign=top width=160>[​IMG]</TD><TD vAlign=top>นี่จิตจัญไรมาแล้ว จิตมีราคะ พระนี่ลักษณะถูกต้องไหมนี่ หน้าตักแค่นี้ หน้าอกมันต้องแค่นั้น พระเศียรต้องแค่นี้ เอ๊ะ พระองค์นี้ไม่เป็นเรื่อง ปั้นไม่ถูกลักษณะ อันนี้เรียกว่า จิตประกอบไปด้วยราคะ คือปรารถนาความสวย ความงามเป็นสำคัญ ถ้าจิตมีอารมณ์อย่างนี้ก็ถือได้ทันทีว่าจิตเลว

    ถ้าจิตปรารถนาความสวย ความงาม ดูมันเลยว่ามันเลว เพราะที่มันสวยจริงมีไหมในโลกนี้ สีน่ะสดใสอยู่ชั่วขณะเดียว เดี๋ยวมันก็มัวหมอง ไอ้คนเราเป็นหนุ่มเป็นสาวก็เดี๋ยวเดียวเดี๋ยวมันก็แก่ วัตถุต่างๆ ก็เหมือนกัน มีความสดใสอยู่ชั่วเดี๋ยวเดียว ความคร่ำคร่ามันก็ตามมา อะไรสิ่งอะไรในโลกที่สวยจริงๆ มันมีที่ไหน ทิ้งมันเสีย
    </TD></TR></TBODY></TABLE>
    ทีนี้ จิตไม่มีราคะ ก็รู้อยู่ว่าจิตไม่มีราคะ ก็หมายความว่า ถ้าเห็นพระพุทธรูปจะเป็นสมัยไหนก็ตาม หรือว่าจะเป็นพระพุทธรูปแบบไหนก็ตาม เก่า ใหม่ สีอะไรก็ช่าง ถ้าเป็นรูปพระละฉันไหว้ได้สบาย เพราะนี่เป็นรูปแทนองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา เราไหว้รูปนี้ก็เหมือนเราไหว้พระพุทธเจ้า เพราะใจเรานึกถึงพระพุทธเจ้า นี่ถ้าอารมณ์เราเกิดแบบนี้ถือว่าไม่มีราคะ หรือว่าเวลาเห็นของสวยของงามก็คิดว่ามันจะสวยมันจะงามไปได้สักแค่ไหน ประเดี๋ยวมันก็เหลาเหย่ ใช้อะไรไม่ได้ ความเก่าแก่ ความคร่ำคร่ามันมีมา ความทรุดโทรมมันมีมา ประเดี๋ยวมันก็สลายตัว
    ต่อไปที่ว่า จิตมีโทสะ ก็รู้ชัดอยู่ว่าจิตมีโทสะ จิตไม่มีโทสะ ก็รู้ชัดอยู่ว่าจิตไม่มีโทสะ ไอ้โทสะนี่เราก็รู้แล้ว อารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ถ้ามันเกิดขึ้นมาอย่าปล่อยให้มันเลยไป ถ้ามันเกิดมีโทสะยับยั้งใจ บอกนี่ๆ ปกติแกบ้าพอแล้วนะ ไม่ต้องสะสมความบ้าขึ้นมาอีกหรอก ที่แกต้องมาเกิดนี่แกบ้า ทุกข์พอแล้วนะ ทำไมจะมาเสริมกันต่อไปอีกหรือ คนไม่ต้องไปฆ่าเขา สัตว์ไม่ต้องไปฆ่า มันตายทุกคน ความจริงเราก็เป็นคนใหญ่คนโตในโลก มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ใช่ไหม คนในโลกสั่งให้มันตายหมดทุกคนได้ทันที แต่ไม่ใช่เวลานี้ต่อไปมันตายเอง

    เราแช่งคนหมดทุกคนในโลก ใครก็ตามที่เกิดมามันต้องตาย ตลอดจนตัวเราด้วย เราก็ตาย เราไม่ได้แช่งตัวเราหรอก เราแช่งเขาหนักๆ เข้า ไอ้คำแช่งมันตกมาที่ตัวเรา เราก็ตาย เพราะอะไร เพราะมันต้องตายอยู่แล้ว ไม่ต้องไปตีมัน ไม่ต้องไปคิดไปฆ่า ไปด่า ไปตี ให้อารมณ์เสียเปล่าๆ ถ้าหากว่าจิตมีโทสะก็ยับยั้งด้วยอำนาจของเมตตารมณ์ ให้รู้ว่านี่จิตมันเลวเสียแล้ว ใช้ไม่ได้ ไม่เป็นเรื่อง

    ถ้า จิตไม่มีโทสะ จิตมีอารมณ์สบาย มีจิตให้อภัย ช่างมัน ใครทำเท่าไร ก็ช่างมัน อย่างนี้ก็รู้ รู้ทำไม รู้เพื่อเป็นการวัดอารมณ์ว่าใจเราดีหรือใจเราเลว อามรณ์ใจนะ ถ้าได้จิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐานเมื่อไหร่ ได้เป็นเอกัคคตารมณ์ละ เอาดินสอพองหมายหัวไว้ได้เลย

    นี่เป็นอันว่า เราต้องรู้ใจของเราว่าไอ้ใจของเราถ้ามันเกิดโทสะขึ้นมานี่มันความเลวนี่ มันตัวจัญไร ทำให้เราลงนรก เรายังไม่ทันลงนรกมันก็เผาผลาญความเร่าร้อนให้เกิด คนมีโทสะจัดนี่มันแก่เร็ว อารมณ์โทสะถ้าเกิดขึ้นเมื่อไรก็มีแต่ความโง่ คุณสังเกตดูให้ดี อารมณ์ของโทสะมันสร้างความโง่ให้เกิด สร้างความเร่าร้อน ถ้าจะทำอะไรก็มีแต่เสียท่าเขาอย่างเดียว ถ้าบังเอิญอารมณ์ของเราไม่มีโทสะเราก็ควรจะภูมิใจ อารมณ์ที่มันไม่มีโทสะอาศัยอะไรเป็นปัจจัย แล้วก็รู้เลยถ้าโทสะมันไม่เกิดเมื่อไร แสดงว่าจิตเราประกอบไปด้วยเมตตา

    ถ้าจิตมีราคะ จิตมีโทสะ กำจัดมันทันทีว่าเอ็งเลวแล้ว ถ้าไม่มีราคะ ไม่หลงอยู่ในความสดสวยงดงาม ไม่มีโทสะ ไม่มีความโกรธ ชมมันไว้ว่าเอ็งดีๆ แล้วพยายามหล่อเลี้ยงอารมณ์เหล่านี้ไว้อย่าให้ราคะกับโทสะเกิด แต่มันอดเกิดไม่ได้ ถ้าเรายังไม่ถึงพระอรหันต์นะ แล้วเราก็ต้องยับยั้งใจของเราไว้
    ถ้า อารมณ์มีโมหะ รู้อยู่ว่าอารมณ์มีโมหะ ถ้า อารมณ์ไม่มีโมหะ ก็รู้อยู่ว่าอารมณ์ไม่มีโมหะ ไอ้โมหะนี่แปลว่าความหลง แต่ไอ้โมหะกับอวิชชานี่ผมชอบแปลเหมือนกัน แปลว่าความโง่ คุณอย่าไปแปลอย่างคนอื่นเขา ถ้าคนมันไม่โง่แล้วมันจะหลงได้อย่างไง ถ้าคนไม่โง่มันก็ต้องไม่หลง นี่หลงว่าร่างกายของเรามันจะไม่แก่ ร่างกายของเราจะไม่เจ็บ ร่างกายของเราจะไม่ตาย ของที่รักจะมาอยู่กับเราตลอดกาลตลอดสมัย มันจะไม่จากเราไป นี่เป็นความระยำของจิต คือความโง่

    ไอ้ตัวนี้เกิดขึ้นมาแล้วจงตั้งหน้าตั้งตาด่ามัน จัดการกับมัน เพราะนี่ความโง่เกิดแล้วเข้าให้พบ ถ้าอารมณ์อย่างนี้ อารมณ์ยึดถืออย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นก็ดี จงรู้ตัวว่านี่ความระยำของจิตเกิดขึ้น หาเหตุหาผล ไอ้ของสวยของคงทนถาวรที่เราคิดว่ามันจะอยู่ตลอดกาลมันจริงไหม อย่างเรามีเครื่องบันทึกเสียงสักเครื่อง ซื้อมาแล้วคิดว่ามันจะไม่เสีย แล้วก็ไปดูของชาวบ้านที่มันเสียมีไหม มีก็ถือว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาห้ามปรามมันไม่ได้ จิตใจมันสบาย อย่างนี้เรียกว่า ไม่มีโมหะ เครื่องจักรกลต่างๆ เกิดเสียขึ้นมา แล้วใจไม่สบาย อย่างนี้เรียกว่ามีโมหะ
    เจ้าราคะ โทสะ โมหะ ทั้ง ๓ ตัวนี้นะ นี่พระพุทธเจ้าท่านสอนแบบสุกขวิปัสสโก ถ้าหากเป็นฝ่ายเตวิชโช ฝ่ายวิชชาสาม นี่เขาใช้เจโตปริยญาณ ดูใจว่าเวลานี้จิตของเรามีอารมณ์เป็นอย่างไร ถ้าจิตมีราคะมีสีแดง ถ้าโทสะสีมันคล้ายๆ น้ำซาวข้าว ถ้าโมหะสีมันดำ เขาใช้จิตดูจิต นี่เราใช้จิตพิจารณาจิต เพราะเราเรียนในสายของสุกขวิปัสสโก ถ้าสายของฉฬภิญโญ เตวิชโช ปฏิสัมภิทัปปัตโต นี่เขาใช้ญาณเป็นเครื่องดูจิต ทุกเวลาตื่นเช้าขึ้นมาก็ดูจิตของเรา ผ่องใสไหม
    <TABLE width="100%" border=0><TBODY><TR><TD vAlign=top width=180>[​IMG]</TD><TD vAlign=top>ถ้ามีสีอะไรนิดเดียวเขาก็จะติเลยว่าเราเลวแล้วฝึกจิตทันที เอาสมถะที่เป็นข้าศึกอารมณ์อย่างนั้นเข้าประหัตประหารทันที แล้วใช้วิปัสสนาญาณควบตีให้แหลกไป ถ้าอารมณ์จิตไม่ผ่องใสเพียงใด เขาจะไม่ยอมเลิก นี่เขาได้เปรียบเราตรงนี้ พวกเราเป็นฝ่ายสุกขวิปัสสโก ก็นั่งพิจารณาจิตเอา ค่อยๆ คิดพิจารณาไป ถ้าควบคุมไปอย่างนี้ทุกๆ วัน ไม่ช้าหรอกก็จะได้ผลสมความปรารถนา จิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐานอย่าทิ้งเชียวนะ ถ้าใครเขาบอกว่าเขาได้ดี แต่ว่าไม่มีการควบคุมจิต ไม่มีการควบคุมเวทนาอย่าไปเชื่อมันเลย ไอ้นั่นมันพวกเทวทัต บางทีใครจะเลวก็เลวเทียบเทวทัต เลวกว่าก็เป็น นางจิญจมาณวิกา เอาเป็นว่าท่านจะได้อภิญญาหรือไม่ได้อะไรเลยก็ลงอเวจีเหมือนกัน</TD></TR></TBODY></TABLE>
    ท่านกล่าวต่อไปว่า จิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่าจิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้อยู่ว่าจิตฟุ้งซ่าน นี่ตัวนี้สำคัญ จิตหดหู่ก็หมายความว่า อารมณ์มันไม่ร่าเริง ไม่ร่าเริงเพราะอะไร เพราะไม่ถูกใจ ไม่สบอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งจึงไม่ร่าเริง พอมีความรู้สึกอย่างนี้ ก็บอกเอ็งระยำแล้ว จะไปสนใจกับมันทำไมสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ จะไปนึกให้ใครเขารักตลอดกาล ให้ใครเขาอยู่กับเราตลอดกาล อย่างนี้มันไม่ได้ แม้แต่เป็นวัตถุก็เหมือนกัน ถ้าอารมณ์ใจมันหดหู่ก็บอกว่านี่เรื่องธรรมดา อย่าไปยุ่งกับมันเลย ไม่ช้าเอ็งก็หมดความรู้สึกจะหดหู่หรือดีใจแล้ว ถ้าจิตมันฟุ้งซ่านอารมณ์ไม่ตั้งอยู่ ก็รู้อยู่ว่านี่ไม่ดีอารมณ์ฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ถ้าอารมณ์ฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ก็จับอานาปานุสสติกรรมฐาน จับลมหายใจเข้าออกเพื่อทรงจิตอยู่

    ข้อต่อไปท่านบอกว่า จิตเป็นมหรคต คือความถึงความเป็นใหญ่ หมายเอาจิตที่เป็นฌาน หรือเป็นอัปปนา หรือพรหมวิหาร ก็รู้ชัดว่าจิตเป็นมหรคต เป็นอันว่าจิตของเรามีสมาธิดีหรือเปล่า ถ้าจิตมีอารมณ์ตั้งมั่นทรงอยู่ในอารมณ์ของสมาธิ เราก็รู้อยู่ว่าเวลานี้จิตทรงอยู่ในอารมณ์สมาธิ ที่ท่านบอกว่าจิตฟุ้งซ่านก็รู้อยู่ว่าจิตฟุ้งซ่าน ถ้ามันหายฟุ้งซ่านจับอยู่ในเฉพาะอารมณ์ที่เป็นกุศล อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างนี้เราเรียกว่าจิตมีสมาธิ เป็นฌานแล้ว ศัพท์บาลีท่านบอกมหรคต

    ต่อไปท่านบอก จิตที่ไม่มีมหรคต คือจิตที่ไม่เป็นฌานสมาบัติแต่ก็รู้อยู่ว่าจิตนี่เรายังไม่ถึงฌานนะ ไอ้ตัวฌานลักษณะเป็นอย่างไร ก็บอกไว้แล้ว ถ้าสงสัยก็ไปดูอย่างนั้น พิจารณาดูว่านี่เป็นฌานหรือไม่เป็น ถ้าไม่เป็นฌานนี่มันใช้ไม่ได้นะ ถึงแค่เป็นฌานเขายังหาว่าเอาดีไม่ได้เลยเพราะฌานโลกีย์มันเสื่อม

    จิตรู้อยู่ว่าอารมณ์อย่างอื่นเยี่ยมกว่า มีอารมณ์อย่างอื่นเยี่ยมกว่า นี่หมายความว่าตามธรรมดาน่ะ เราเป็นคนเฉยๆ ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่เวลานี้ซิกลับมีความปรารถนาอยากจะเป็นคนดีมีศีล อยากจะเป็นคนมีสมาธิ อยากจะเป็นคนมีวิปัสสนาญาณแจ่มใส คิดว่าอัตตภาพร่างกายหรือความเป็นอยู่มันไม่คงทนถาวรต่อไป ไม่ช้ามันก็ตาย ไม่ช้ามันก็สลายตัว เราอยากจะไปพระนิพพานดีกว่า นี่เป็นอารมณ์ที่เยี่ยมกว่า อารมณ์ธรรมดา คือหวังพระนิพพานเป็นอารมณ์

    จิตรู้อยู่ว่าเราไม่มีอารมณ์ที่เยี่ยมกว่า คือยามปกติมันเกิดอารมณ์ขึ้นอีกทางหนึ่งบอกอย่าไปเลยนิพพาน ไปเชื่อหลวงตาที่นั่งพูดนี่ไม่มีประโยชน์ ไปทำไม อยู่ในโลกนี้ดีกว่า มีโขน มีละคร มีหนัง มีความรัก มีก๋วยเตี๋ยว มีบะหมี่กินกันตามสบาย นี่อารมณ์ระยำของใจ มันเกิดขึ้นแบบนี้ เรียกว่าไม่มีอารมณ์ที่เยี่ยมกว่าอารมณ์ปกติ

    จิตรู้อยู่ว่ามีจิตตั้งมั่น หมายความว่าอารมณ์ส่ายที่เป็นอุทธัจจะกุกกุจจะมันไม่มี อารมณ์นอกเหนือจากสมาธิที่เราตั้งใจไว้ไม่มี คือเราตั้งใจไว้ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งคือ อานาปานสติกรรมฐาน อารมณ์ก็ตั้งอยู่เฉพาะเท่านั้น หรือว่าในธาตุ ในปฏิกูล ในสัญญา ในอะไรก็ตาม ในนวสีก็ตาม อารมณ์ตั้งอยู่โดยเฉพาะไม่สอดส่ายไปในอารมณ์อื่นๆ ยิ่งไปกว่านี้ นี่เรียกว่าอารมณ์จิตตั้งมั่น

    จิตรู้ว่าในขณะนี้เรามีอารมณ์จิตไม่ตั้งมั่น นี่ขณะใดที่จิตมันส่ายออกนอกลู่นอกทาง นอกจากอารมณ์ของมหาสติปัฏฐานสูตร หรือความดีใดๆ ที่เราตั้งใจจะทรงไว้ แต่มันก็แลบออกไปเสียแล้วอย่างนี้เรารู้อยู่ ท่านเรียกว่ารู้อยู่ว่าจิตไม่ตั้งมั่น
    ที่มา http://www.geocities.com/4465/samadhi/maha43.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 11 มกราคม 2008

แชร์หน้านี้

Loading...