หลวงพ่อฤาษีลิงดำ กับ ธุดงควัตร ตอน เรียนกรรมฐานกับหลวงพ่อเนียม ตอนที่ ๑

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 4 กุมภาพันธ์ 2016.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,438
    หลวงพ่อฤาษีลิงดำ กับ ธุดงควัตร ตอน เรียนกรรมฐานกับหลวงพ่อเนียม ตอนที่ ๑
    [​IMG]
    วันนี้ตรงกับ วันที่ 26 มิถุนายน 2533 บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท หลังจากกลับมาจากวัดหลวงพ่อโหน่งแล้ว ก็อยู่วัดไม่นานนัก ถ้าจะถามถึงวิธีปฏิบัติ ก็ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทโปรดทราบ การปฏิบัติปฏิบัติกันแบบสบาย ๆ แต่สิ่งที่มีความสำคัญอยู่อย่างหนึ่งก็คือว่า

    พระพุทธรูป หรือว่ารูปพระพุทธเจ้าอย่าให้ห่างจากใจ เราจะคุยกับใครก็ตามจะทำอะไรก็ตาม เว้นไว้แต่ว่าเอาใจไปเรียนหนังสือ ดูหนังสือ ฟังสวดมนต์ ถึงแม้ว่าฟังสวดมนต์ อย่าเอาใจห่างจากพระพุทธรูป หรือว่ารูปพระพุทธเจ้า ก็รวมความว่า จับรูปพระเป็นอนุสสติเป็นอันดับแรก และต่อมา เจริญวิปัสสนาญาณ การเจริญวิปัสสนาญาณนี่ไม่ได้ทำจริงจัง

    คำว่า ไม่ทำจริงจัง ก็หมายความว่า ไม่ใช่ไปนั่งเครียดใช้อารมณ์ธรรมดา ๆ ตามที่ท่านสอนมา เรานั่งอยู่ที่ไหน ก็เห็นทุกข์ที่นั่น ตามอริยสัจ การนั่งก็เป็นทุกข์ การนอนก็เป็นทุกข์ การยืนก็เป็นทุกข์ การเดินก็เป็นทุกข์ ค่อย ๆ เห็นทุกข์ อย่าเห็นแรงนัก

    และเวลาเห็นคนก็จงอย่าดูเฉพาะผิวภายนอกของคน หรือดูผิวภายนอกก็อย่าดูเฉพาะที่สะอาด แต่เนื้อแท้จริง ๆ ร่างกายของคนเต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก ค่อย ๆ เห็น แต่บางทีมันก็ย่องไปเห็นคนสวยเหมือนกัน สาว ๆ บางทีก็เห็นสวย แต่ถ้าดูนาน ๆ ชักเริ่มไม่สวย ทั้งนี้ก็เพราะว่าจิตมันชินนึกเห็นโน่น นึกเห็นนี่ นึกเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามสภาพความเป็นจริง ก็เลยคิดว่า ไม่สวยถ้าจะถามว่า อย่างนี้ หลวงพ่อปานชมว่า ดี หรือยัง ก็ต้องตอบตามความเป็นจริงว่าหลวงพ่อปานยังชมว่า ยังใช้ไม่ได้

    ต่อมาไม่ช้าไม่นานเท่าไรนัก ท่านก็บอกว่า ต่อแต่นี้ไปเธอจงไป วัดน้อย ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ในเขตของอำเภอบางปลาม้า วัดน้อยอยู่ในเขตอำเภอบางปลาม้า ใกล้อำเภอท่าพี่เลี้ยง (อำเภอท่าพี่เลี้ยง ก็คือ อำเภอเมือง) ใกล้จะสุดเขตอำเภอบางปลาม้า หลวงพ่อเนียม อยู่ในฐานะ อาจารย์ของหลวงพ่อปาน

    การไปสมัยนั้นจะไปเรือจ้างจะไปเรือเมล์ มันหายากเหลือเกิน ทางที่ดีจริง ๆ ก็ต้องไปธุดงค์ การไปธุดงค์ก็ไม่หนัก เพราะธุดงค์จนชินข้ามฟากจากวัดบางนมโค เดินตัดตรงมาตลาดบ้านแพน เดินตัดตรงไปประตูน้ำเจ้าเจ็ดหลังจากนั้นก็ตัดตรงไปอำเภอบางปลาม้า ใช้เวลาพักเวลากลางวันประมาณ 2 วันก็ถึงวัดหลวงพ่อเนียม

    เรื่องความเป็นมาของหลวงพ่อเนียม ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทอ่านเอาในหนังสือประวัติหลวงพ่อปานก็แล้วกัน แต่ว่าจะพูดถึงวิธีสอนของท่านสักนิดหนึ่ง เพราะในสมัยนั้นไม่ได้พูดถึงวิธีสอนมากมายนัก วิธีสอนของท่านก็คือว่า

    เมื่อวันที่สามผ่านไปแล้ว พอวันที่สี่ก็ปรากฏว่าท่านให้ไปหาในโบสถ์ ทีนี้ ในช่วงนั้นหลวงพ่อเนียมจริง ๆ อายุเห็นจะใกล้ 80 ปี (เรื่องอายุนี่ก็ไม่แน่นอน ไม่ขอยืนยัน) ท่านแก่มาก ท่านนุ่งผ้าอาบผืนเดียว เอาผ้าอาบอีกหนึ่งผืนมาคล้องคอ ไปทางไหนก็มีไม้เท้าคือไม้อันหนึ่ง ไม้เท้า ก็ไม่เป็นรูปไม้เท้า แต่ว่าคืนวันนั้นที่ไปหาหลวงพ่อเนียม ท่านนั่งอยู่หน้าพระพุทธรูป ห่มผ้าเรียบร้อย ทรวดทรงสวยสดงดงาม ผิวเหลืองอร่าม สวย หน้าตาอิ่มเอิบ ท่านมีความหนุ่มคล้ายกับคนอายุประมาณ 28 ปี หรือ 30 ปีที่มีเนื้อเต็ม พอเข้าไปแล้วก็สงสัย เอ๊ะ.. จะใช่หรือไม่ใช่ ความจริงคนแก่ กับคนหนุ่มนี่มันต่างกันมาก

    ในเมื่อสงสัยท่านก็กวักมือเรียกบอกว่า เข้ามาเถอะ เป็นของจริง ไม่ใช่ของปลอมเรื่องขันธ์ 5 อย่าไปสนใจมัน ขันธ์ 5 คือร่างกาย มีสภาพไม่แน่นอน ดีไม่ดีประเดี๋ยวมันก็แก่ประเดี๋ยวมันก็หนุ่ม ประเดี๋ยวมันก็ดำ ประเดี๋ยวมันก็ขาว ช่างมัน อย่าไปสนใจกับขันธ์ 5

    พอจะเข้าไปกราบท่าน ท่านก็ชี้มือบอก ไปกราบพระประธานก่อน เมื่อกราบพระประธานด้วยความเคารพ ขณะที่กราบพระประธาน บรรดาท่านพุทธบริษัท จิตตั้งใจกราบด้วยความเคารพ เมื่อจิตตั้งใจกราบด้วยความเคารพ อารมณ์ของจิตก็ทรงตัวตามปกติที่เคยปฏิบัติมา อารมณ์ใจมันเริ่มเป็นทิพย์ ก็หันมาหาหลวงพ่อเนียม

    ก็ปรากฏว่า หลวงพ่อเนียมเป็นพระซ้อนพระ คือ พระที่สวยจริง ๆ ไม่ใช่หลวงพ่อเนียมเป็นพระที่นั่งคุมหลวงพ่อเนียมอีกทีหนึ่ง แล้วก็กราบท่าน พระที่คุมหลวงพ่อเนียมจะเป็นใคร ก็ช่างเถอะ ขอทิ้งไว้เป็นปริศนาดีกว่า เพราะว่าทุกคนเวลานี้ก็เจริญกรรมฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมาธิในด้านมโนมยิทธิกันมาก ถ้าใช้กำลังใจนิดเดียวก็จะทราบ

    พอกราบท่าน 3 วาระก็เงยขึ้นมา ท่านก็บอกว่า การเจริญพระกรรมฐานของพวกเธอทั้งหมด ที่ทำมาแล้วไม่ผิด ถูกทุกอย่างแต่ทว่าบางอย่างก็มีกำลังอ่อนไป บางอย่างมีกำลังพอดี บางอย่างก็เครียดเกินไป ขอให้พยายามตั้งกำลังใจให้ทรงตัว ให้พอดี ๆ อย่าใช้อารมณ์เครียด

    การเจริญกรรมฐาน จงอย่าถือเอาเวลานั่งสมาธิเป็นสำคัญ ถ้ายังใช้เวลานั่งสมาธิ เป็นสำคัญ ก็ยังถือว่า ยังไกลต่อมรรคผลมาก เพราะขึ้นชื่อว่าความจริง (วิปัสสนาญาณนี่เขาแปลว่า ความจริง ที่แปลว่า รู้แจ้ง เห็นจริง)

    ท่านบอกว่า ขึ้นชื่อว่า ความจริง มันมีอยู่กับเราทุกขณะ ทุกขณะที่เรายังมีลมหายใจเข้าออก เราต้องรู้จักความจริง อย่าถอยหลังไปหาความจริงที่แล้วมา หรือว่าอย่าคิดข้างหน้า ไปหาความจริงที่ยังไม่ถึง

    ตอนนี้บรรดาท่านพุทธบริษัทคงจะงง คำว่า ถอยหลังไปหาความจริงที่แล้วมาหมายถึงว่า มองดูความเป็นหนุ่มเป็นสาวว่า สมัยก่อนเขามีความเป็นหนุ่มเป็นสาว รูปร่างเป็นอย่างนั้น ๆ แต่เวลานี้มันเป็นอย่างไรก็ช่างมันเถอะ อันนี้ก็ไม่ถูก ต้องใช้เวลานี้ และบางคนเขายังแก่ไม่มาก ก็ยังไม่ต้องไปคิดถึงความแก่ข้างหน้า

    คิดแต่เพียงว่า ในขณะนี้เขาจะทรงตัวแบบไหนก็ตาม เขาก็มีทุกข์ ทุกข์เพราะความหิว เพราะความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย การปวดอุจจาระ ปัสสาวะ การประกอบกิจการงาน การป่วยไข้ไม่สบาย ความปรารถนาไม่สมหวัง และความตายจะเข้ามาถึง ทุกอย่างมันทุกข์

    ต่อมาท่านก็สอนด้วยวิธีลัด ท่านบอกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฌานโลกีย์ พวกเธอทั้งหมด มีการคล่องตัวมาก การคล่องตัวในฌานโลกีย์ อย่าทะนงตัวว่าเป็นคนดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฌานโลกีย์มีสภาพไม่แน่นอน ประเดี๋ยวก็ขึ้น ประเดี๋ยวก็ลง เดี๋ยวถอยหน้า เดี๋ยวก็ถอยหลัง ถ้าเวลาร่างกายทรุดตัวลง ฌานโลกีย์จะเสื่อม

    หรือมิฉะนั้น บางทีอารมณ์เผลอ นิวรณ์เข้ากวนใจเมื่อไร อารมณ์ก็เสื่อม เมื่อนั้น (นิวรณ์ คือ ความรักในรูปสวยเสียงเพราะกลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ อารมณ์ไม่พอใจ ความง่วง อารมณ์ฟุ้งซ่านมากเกินไป สงสัยในผลของการปฏิบัติ)

    นิวรณ์ทั้ง 5 ประการนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเข้าเกาะใจ ฌานก็เสื่อม จงอย่าสนใจในด้านของนิวรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเธอองค์นี้ (ท่านหันมาทางอาตมา) เธอปรารถนาพุทธภูมิก็จริง แต่ทว่า คำว่า พุทธภูมิ หมายถึงว่า การศึกษาวิชาเป็นครู การจะเอาแต่ฌานโลกีย์ อย่างเดียว นี่มันไม่ได้ ต้องใช้กำลังด้านวิปัสสนาญาณ เข้าช่วยให้หนัก ถ้าครูโง่ก็ไม่มีใครเขามาเป็นลูกศิษย์

    นั่นก็หมายความว่า การทรงฌานโลกีย์นี่ยังมีความโง่อยู่มาก ฌาน 1,2,3,4,5,6,7,8 เธอสามารถจะทำเมื่อไรก็ได้ แต่ว่าถ้าจะถามเธอว่า เวลานี้สังโยชน์ 3 เธอละได้ไหม เธอก็ตอบว่า ไม่ได้ สังโยชน์ 5 เธอละได้ไหมเธอก็ตอบว่า ไม่ได้ สังโยชน์ 10 ละได้ไหม เธอก็ตอบว่า ไม่ได้ ฉะนั้นการทรงฌานโลกีย์ ในเมื่อยังไม่สามารถทำลายสังโยชน์ทั้ง 10 ประการได้ จะถือว่าฉลาดไม่ได้ ก็ถือว่าเป็น คนโง่

    ต่อมา ท่านก็แนะนำเรื่องการศึกษาสังโยชน์ 10 ประการ ว่า การศึกษาสังโยชน์ 10 ประการนี่ ความจริงไม่ใช่ของหนัก เป็นของเบา เราต้องทำแบบเบา ๆ อย่างสมัยพระพุทธเจ้าท่านเทศน์ให้คนฟัง คนที่เขาฟังเขามีความฉลาด เขาฟังแล้วเขาก็คิดตาม ในเมื่อคิดตามจิต ก็มีผลตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

    แต่ว่าคนสมัยนี้ พระสมัยนี้หายาก ที่ฟังแล้วคิดตาม มีแต่จำอย่างเดียว ดีไม่ดีก็จำไม่ได้เสียอีกด้วย วิธีคิดตามก็มีง่าย ๆ เป็นของไม่ยาก เมื่อท่านพูดถึงสังโยชน์ 3 ประการ เราก็ต้องจำว่า สังโยชน์ คือ กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดใจ พูดง่าย ๆ ก็คือ ความชั่ว ที่เข้ามาดึงใจไม่ให้เข้าไปถึงความดี อันดับแรกมี 3 อย่าง คือ

    1. สักกายทิฏฐิ

    2. วิจิกิจฉา

    3. สีลัพพตปรามาส

    สำหรับในตอนต้น เราจะตัดสังโยชน์ 3 ก็จงอย่าละเมอเพ้อฝัน ไปนำเอาอารมณ์พระอรหันต์มาใช้ ที่ทำกันไม่ได้จริง ๆ น่ะเพ้อไป แต่ความจริงสังโยชน์ 3 ของพระโสดาบันกับสกิทาคามีเป็นของง่าย นั่นคือ

    1. นึกถึงความตาย ท่านก็หันมาถามว่า พวกเธอทั้งหลายเคยนึกถึงความตายไหมทุกองค์ก็ตอบว่า นึกทุกวันพระเจ้าข้า (เรื่องความตายนี่ต้องนึก ถ้าไม่นึกถึงความตาย ฌานมันเสื่อม อารมณ์จิตมันกำเริบ ต้องเอาความตายเข้าคุมและยอมรับความจริงว่า มันตายจริง)

    ประการที่ 2 เธอมีความสงสัยในพระไตรสรณคมน์ไหม คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ก็ตอบท่านว่า ไม่สงสัย

    ประการที่ 3 เธอมั่นใจในศีลไหม ว่า เธอเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ผุดผ่อง ก็กราบเรียนท่าน บอกว่าข้อนี้ไม่มั่นใจ เพราะศีลละเอียดมาก ศีลของพระ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านอภิสมาจาร อภิสมาจารนี่ละเมิดเรื่อย ๆ ท่านบอกว่า อภิสมาจารนี่ไม่เป็นไร มันเป็นเรื่องของจริยาเล็กน้อย ก็ไม่น่าจะสนใจนัก ตั้งใจระวังก็แล้วกัน

    ระวังสิกขาบทที่มีความสำคัญยิ่งกว่านั้นอย่างปาราชิก สังฆาทิเสส นิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ ปาจิตตีย์ เป็นต้น นอกจากนั้นเป็นส่วนปฏิบัติเป็นเรื่องของจริยา อาจจะมีการละเมิดบ้างไม่สำคัญ เลยกราบเรียนท่านบอกว่าถ้าอย่างนั้นก็ไม่หนักใจ

    ท่านบอกว่า ไม่หนักใจจงอย่าคิดว่า ได้นะ จงคิดว่า อันดับแรก ก่อนที่จะทำอะไรเมื่อลืมตาขึ้นมา ก็ดูกำลังใจว่า กำลังใจ เวลานี้ของเรา ต้องการสงัด หรือต้องการคิดการปฏิบัติทางจิต อย่าฝืนกำลังใจ ถ้าลืมตามีความรู้สึกขึ้นมาว่า กำลังใจต้องการคิด ก็ให้มันคิด เพราะกรรมฐานทั้งหมด 40 อย่าง มีอารมณ์คิด 29 อย่าง มีอารมณ์ทรงตัว 11 อย่าง ชอบใจกองไหน ทำกองนั้น

    เวลาที่จะคิดก็เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องคิดเฉพาะกองนั้น เฉพาะกองนี้ จะเป็นกองใด กองหนึ่งก็ได้ อย่าง อสุภกรรมฐานก็ได้ มรณัสสติกรรมฐานก็ได้ กายคตาสติกรรมฐานก็ได้ หรืออะไรก็ได้ตามชอบใจ คิดให้มันถูกว่า เวลานี้ เราคิดนอกเหนือกำลังของกิเลส ฉะนั้น การศึกษาเฉพาะจุดใดจุดหนึ่งก็ถูก แต่ก็แพ้ความดีง่าย ต้องศึกษาให้รอบตัวในกรรมฐาน 40 ใช้ได้ให้คล่องทุกอย่าง

    ท่านถามว่า ในกรรมฐาน 40 เธอหนักใจกองไหนบ้าง ก็กราบเรียนท่านบอกว่ากรรมฐาน 40 ไม่มีอะไรหนักใจเลย เวลานี้ตามความเข้าใจของตัวเองคิดว่า คล่องทุกอย่างท่านตอบว่า ใช่ เธอมีความคล่องจริง แต่อย่าลืมนะว่า เธอยังไม่สามารถทำลายนิวรณ์ได้ นิวรณ์นี่เป็นตัวชั่วร้ายมาก เป็นกิเลสหยาบที่ทำปัญญาให้ถอยหลัง จะต้องพยายามทำลายนิวรณ์ให้ได้ด้วยสังโยชน์ ก็ถามท่านว่า

    ปรารถนาพุทธภูมิ ต้องตัดสังโยชน์ด้วยหรือ ท่านบอกว่า มันก็ไม่มีความจำเป็นว่า ปรารถนาพุทธภูมิ หรือไม่ปรารถนาพุทธภูมิก็ตามต้องตัดสังโยชน์ให้ได้ ถ้าตัดสังโยชน์ 3 ข้อไม่ได้ เราก็ต้องเป็นเหยื่อของอบายภูมิ เรายังมีโอกาสลงนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน มันจะดีหรือ ก็กราบเรียนท่านว่าไม่ดี

    ท่านเลยบอกว่า ในเมื่อมันไม่ดี ก็จงเลิกเสีย เลิกคิดว่า พุทธภูมิไม่ควรจะปฏิบัติในสังโยชน์ ต้องมีความเข้าใจว่า พุทธภูมิต้องคล่องทุกอย่าง ตั้งแต่ อานาปานสติถึงสังโยชน์ 10 ต้องมีการคล่องตัว และก็มีอารมณ์ทรงตัว ก็ยอมรับว่า จะปฏิบัติตามนั้น

    ต่อมาท่านก็บอกว่า นี้กำลังใจที่จะเข้าถึงสังโยชน์ 3 ได้ดี ท่านบอก ให้พิจารณาตามนี้ให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า

    1. เราไม่ประมาทในความตาย ข้อนี้พวกเธอทั้ง 3 องค์สบายมาก

    ข้อที่ 2 มีความเคารพในพระไตรสรณาคมน์ ข้อนี้พวกเธอก็สบายมาก เวลานี้เธอสามารถติดต่อกับพระได้แล้วใช่ไหม ก็กราบเรียนท่านว่า ใช่ ถามอะไรพระท่านบอกตรงตามความเป็นจริงไหม ก็ตอบว่า ตรงทุกอย่าง ท่านบอกว่า อย่าลืมนะ อย่าใช้กำลังใจให้มันพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเธอสามารถตัดสังโยชน์ได้ ความละเอียดของจิต จะดีกว่านั้นการพบกับพระ เห็นพระ จะชัดเจนกว่านั้น ความแม่นยำ ความรู้จากพระบอก จะดีกว่านั้น

    และอีกประการหนึ่ง การตัดสังโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นึกถึงความตาย เคารพพระไตรสรณาคมน์ ตั้งใจรักษาศีลเท่านี้ยังไม่พอ จะต้องมีอารมณ์ต้องการพระนิพพานอีกที่เรียกว่า อุปสมานุสสติกรรมฐาน นึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์

    ก็กราบเรียนถามท่านว่า เขาบอกว่า นิพพานสูญ ท่านบอกว่า อย่าคิดตามเขา เวลานี้เธอมีหน้าที่ฟังฉันพูด เธอยังไม่มีหน้าที่ถาม ถ้านิพพานสูญ จะเอาความสุขจากนิพพานมาจากไหน ตามพระบาลีมีอยู่ว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง คำว่า สุขต้องมีอารมณ์รับสัมผัส ต้องการสัมผัส ถ้าไม่สัมผัส จะไม่มีความเป็นสุข หรือเป็นทุกข์อย่างคนนอนหลับ เราจะเรียกว่าสุขก็ไม่ได้ จะเรียกว่าทุกข์ก็ไม่ได้ เพราะมันไม่รู้เรื่องเหมือนกับเขาที่พูดว่า นิพพานสูญ แต่ความจริงนิพพานที่พูดไม่ใช่นิพพานตัวนั้น เป็นนิพพานตัวแท้ที่มีความสุข นั่นก็หมายความว่า นิพพานยังมีสภาพเป็นทิพย์ ทิพย์ยิ่งกว่าพรหม ความเป็นทิพย์อันดับแรกก็คือเทวดา หรือนางฟ้า ( สวรรค์) ทิพย์ที่ 2 ก็คือพรหมทิพย์ที่ 3 ก็คือนิพพาน ทิพย์สูงสุด

    เวลานั้นเราต้องใช้อุปสมานุสสติกรรมฐานเข้าควบคุมใจ คือต้องการนิพพาน เมื่อจิตต้องการนิพพาน จิตมันก็คุมตัว วันหนึ่งเราจะต้องเป็นคนทรงฌานโลกีย์ได้ครบถ้วน ประการที่ 2 ไม่ลืมความตาย ประการที่ 3 เคารพพระไตรสรณาคมน์ ประการที่ 4 มีศีลบริสุทธิ์ ถ้าเป็นอย่างนี้เราจะเข้าถึงก้าวแรก คือการเข้าสู่พระนิพพาน เริ่มเข้าถึงกระแส พระนิพพาน แต่ยังไม่ถึงนิพพาน ถ้าเรียกเหมือนชาวบ้าน เขาก็เรียกว่า เข้ารั้วนิพพาน

    อีกประการหนึ่ง การสังเกตจิต จะสังเกตว่า จิตเราจะมีความเยือกเย็นลง คำด่า คำนินทา จะรู้สึกเฉย ๆ จะไม่กระทบกระเทือนจิตใจมากนัก การกระทบกระเทือนจิตใจก็ต้องมี เป็นธรรมดา แต่ว่ามันเบากว่าเดิม มันช้ากว่าเดิม ไม่ใช่มีอารมณ์ไม่โกรธ อารมณ์โกรธมี แต่เรียกว่าโกรธเบากว่า โกรธเล็กกว่า โกรธช้ากว่า อารมณ์รักยังมี ในเมื่อยังมีอารมณ์รัก อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง จิตก็ยังเลว แต่เราเลวอยู่ในขอบเขตในรั้วพระนิพพาน ดีกว่าเลวภายนอก

    แต่ว่า เรื่องฌานโลกีย์จงอย่าทิ้ง ให้ใช้เป็นกำลังป้องกันความเสื่อมของจิตใจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพบพระพุทธเจ้า พบพระปัจเจกพุทธเจ้า พบพระอรหันต์ พบเทวดา หรือพรหมที่ท่านมีความฉลาด ที่ท่านเป็นพระอริยเจ้าก็มีเยอะ ถามท่าน ปรึกษาหารือกับท่าน มีอะไรสงสัย ถามท่าน ผลที่จะพึงได้ ให้ถามตรงพระพุทธเจ้า อย่างนี้เขาเรียกอะไร เขาเรียกว่า พระโสดาบัน หรือสกิทาคามี หรืออนาคามี หรืออรหันต์ หรือยังไม่ได้อะไรเลย

    อย่างเธอนี้ (ท่านหันมาทางอาตมา) เขายังถือว่า ยังไม่ได้อะไรเลย แม้จะทรงสมาบัติ 8 สมาบัติ 8 มักเป็นของเด็กเล่น เผลอหน่อยเดียว นิวรณ์เกาะใจนิดเดียว สมาบัติก็เจ๊งพัง เป็นของเปราะง่าย แตกง่าย ฉะนั้น จงอย่าหลงสมาบัติ 8 ว่าเป็นของดี และจงอย่าคิดว่าสมาบัติ 8 เป็นของเลว ให้คิดว่า สมาบัติ 8 คือเครื่องป้องกันอันตราย หรือกำลังที่จะเข้าห้ำหั่นศัตรู แต่ยังไม่มีอาวุธ อาวุธของเรา คือ ปัญญา คือ วิปัสสนาญาณ

    วิปัสสนาญาณก็อย่าว่าเพ่นพ่านไป ให้จับสังโยชน์เป็นสำคัญ การเจริญเพ่นพ่านเปะปะไป มันไร้ประโยชน์จริง ๆ บางคนที่บอกว่า เจริญกรรมฐานมาตั้ง 10 ปี ไม่มีผลก็เพราะว่า เขาไม่รู้จักสังโยชน์ 3

    แล้วท่านก็หันหน้าไปหาอีก 2 องค์ว่า 2 องค์นี่ดี เริ่มดีแล้วนะ ดีหน่อย ๆ คือสามารถตัดสังโยชน์ 3 ได้ แต่ว่า เรื่องของฤทธิ์ จงอย่าใช้ในเมื่อไม่จำเป็น เธอ 2 องค์นี่ซนมาก ชอบเล่นโน่น ชอบเล่นนี่ เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง ให้ใช้เฉพาะเวลาที่มีความจำเป็น เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน สมมติว่า ถ้าเราหิวข้าว เราขอข้าวเทวดากินได้ อันนี้ต้องถือเป็นหลักใหญ่ ถ้าวันไหนขอข้าวกินไม่ได้ถือว่าเราเลว
    ที่มา http://palungjit.org/posts/9917844
     

แชร์หน้านี้

Loading...