หลวงพ่อฤาษีลิงดำ กับ ธุดงควัตร ตอน ไปสายเมืองกาญจนบุรี

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 19 กุมภาพันธ์ 2016.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    หลวงพ่อฤาษีลิงดำ กับ ธุดงควัตร ตอน ไปสายเมืองกาญจนบุรี
    [​IMG]
    ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย วันนี้วันที่ 16 สิงหาคม 2534 ตอนที่แล้วมาหยุดที่ภูเขาภูกระดึง ตอนที่อยู่ภูเขาภูกระดึงนั่น ก็ปรากฏว่า มีพระอรหันต์ที่มีเนื้อมีหนัง 16 องค์ เป็นปฏิสัมภิทาญาณทั้งหมด ก็มีโอกาสได้ศึกษาธรรมะจากท่าน วิธีปฏิบัติจากท่านทั้ง 16 องค์ แต่ความจริง พระอรหันต์ท่านอยู่แบบสบาย ๆ ไม่ต้องนั่งเครียดนั่งเคร่งอย่างพวกเรา พวกเราต้องเครียด พวกเราต้องเคร่ง

    ท่านอยู่แบบเป็นสุข เดินไปเดินมาบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง ตามสบาย ๆ ของท่าน แล้วท่านก็ไม่กวนใคร จะหาว่าเป็นการรังแกสังคม (เขาเรียกกันว่าอะไร) กินของสังคมเปล่า ๆ ท่านก็ไม่ได้กิน พวกท่านกินข้าวจากเทวดาบ้าง แต่บางองค์ก็อยู่ด้วยธรรมปีติ สิ้นเวลา 7 วันบ้าง 15 วันบ้าง แล้วก็ออก ก็ได้ศึกษาความรู้จากท่าน และวิธีปฏิบัติ แต่ความจริง วิธีปฏิบัติแต่ละท่านที่สอนไม่ยากเลย ท่านสอนแบบง่าย

    ท่านบอกว่า การปฏิบัติที่เป็นแบบยาก ๆ น่ะ มันไม่ถูก มันใช้อารมณ์ไม่ครบถ้วน ถ้าใช้อารมณ์ครบถ้วนมันไม่ต้องยาก ทำแบบนี้ ๆ เหมือนกันหมด องค์ไหนก็องค์นั้น สอนเหมือนกันหมด ถามว่า ถ้าจะเป็นปฏิสัมภิทาญาณ จะทำอย่างไร ท่านก็บอกว่า ไม่ยาก ก็ทำตามนี้แหละ อย่างที่พวกเธอทำนี่ก็เดินแนวเข้าหาปฏิสัมภิทาญาณเหมือนกัน (แต่ว่าไม่ได้ถามท่านว่า ชาตินี้เราจะเป็นอรหันต์หรือเปล่า ไม่ได้ถามท่าน ท่านอาจจะรู้)

    ท่านบอกว่า ถึงแม้ว่าเธอไม่ถาม ฉันก็ทราบ ถ้าเธอถาม ฉันก็ไม่ตอบ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าก็สุดแล้วแต่คน ทาง ถึงแม้ว่าจะไม่ไกล ท่านบอกว่า ไปประเดี๋ยวใจก็ถึง แต่คนนั้นเขาไม่ไป อีกกี่วันก็ไม่ถึง กี่ปีก็ไม่ถึง ทางถึงแม้ว่าจะไกลแสนไกล ถ้าตั้งใจไป หรือไปจริง ๆ เดินไปทุกวัน ก็ใกล้เข้าไปทุกที การบรรลุอรหัตผลถึงขั้นปฏิสัมภิทาญาณ ก็ไม่ใช่ของยาก เป็นของง่าย ๆ ท่านว่าอย่างนั้นนะ

    เลยถามท่านองค์หนึ่ง ถามท่านว่า ที่พระเดชพระคุณบอกว่า มันง่าย เคยนำวิชาความรู้นี้ไปสอนชาวบ้านบ้างหรือเปล่า ใน 15 องค์เงียบ นั่นแสดงว่าทั้ง 15 องค์ ไม่เคยไปสอนใคร อีกองค์ยกมือขึ้น ฉันเคยไปสอนแล้ว เมื่อฉันได้อรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณแต่ความจริง เวลานั้นได้แค่เพียงนักธรรมตรี เพราะฉันอยู่ที่วัดได้แค่นักธรรมตรีและออกธุดงค์ การธุดงค์ก็มาขึ้นกับหลวงพ่อปานเหมือนกัน (ไปเจอะลูกศิษย์อาจารย์เดียวกันเข้า)

    หลวงพ่อปานท่านก็แนะนำให้ฝึกธุดงค์อยู่ 3 เดือนอย่างพวกเธอนี่แหละ (แบบอุกฤษฏ์) การฝึก 3 เดือนนั้น ท่านฝึกแผนการปฏิสัมภิทาญาณโดยตรง ความจริงฉันก็ไม่รู้ เมื่อครบ 3 เดือน ท่านมั่นใจแล้ว ท่านก็ปล่อยออกปฏิบัติ เมื่อมาปฏิบัติธุดงค์อยู่จริง ๆ ได้ 3 ปี อยู่ในป่าเลยไม่กลับบ้านไม่กลับเมือง 3 ปี จึงได้บรรลุอรหันต์ พร้อมปฏิสัมภิทาญาณ ก็ถามท่านว่า

    ในฐานะที่ท่านเป็นอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ ท่านไม่รู้ก่อนหรือว่าไปแล้วเขาจะไม่รับ ท่านบอกท่านรู้ แต่อยากจะลองดูว่า ความรู้ของเราจะตรงตามความเป็นจริงไหม อาจจะเป็นอุปาทานก็ได้ แต่เมื่อเอาเข้าจริง ๆ ความรู้สึกของเราก็ตรงตามความเป็นจริงก็พอใจ มีความพอใจเกิดขึ้นก็กลับมาที่เดิม มาอยู่ที่ตรงนี้ ฉะนั้นถ้าเธออยากจะเป็นอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ จะเป็นชาตินี้ หรือชาติไหนก็ตาม เพราะการปฏิบัติความดี

    มันสืบเนื่องกันทุกชาติ ไม่ใช่ทำชาตินี้ตายแล้วหายไป ชาติหน้าเกิดใหม่ทำใหม่เริ่มต้นใหม่ ไม่ใช่อย่างนั้น มันต่างคนต่างติดต่อกันทุกชาติ ที่เรียกว่า ติดต่อสร้างบารมีต่อกัน ก็เป็นอันว่า ได้รับการศึกษาแล้ว ก็อยู่กับท่านในสถานที่นั้น คราวนั้นอยู่จริงๆ 4 เดือน ปฏิบัติร่วมด้วย ฟังคำอธิบายด้วย รู้สึกชื่นใจมาก และการปฏิบัติก็ไม่มีการเคร่งเครียด เพราะท่านคอยเตือน อารมณ์ใดที่ท่านให้ตั้งใจทำ ก็ทำตามนั้น

    เมื่อเป็นที่พอใจของท่านแล้ว ก็ย้ายไปสู่อารมณ์อื่นที่ท่านต้องการอีก เมื่อย้ายไปแล้วความจริงอารมณ์แรก ถ้าทำได้จริง ๆ และมีอาการทรงตัว อารมณ์ภายหลังก็ไม่หนักนัก เพราะใช้อารมณ์อย่างเดียวกัน เปลี่ยนแต่ลีลาเท่านั้น หากว่าท่านทั้งหลายอยากจะถามว่า ที่ท่านสอนนั้น สอนอย่างไร ก็ขอตอบว่า ไม่ตอบให้ทราบ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะมันจะไปขัดกับคนหลายคนที่เขากำลังสอนกัน

    ก็มีสำนักหลายๆ สำนักที่กำลังปฏิบัติอย่างเคร่งเครียด เขาทำถูก ไม่ใช่เขาทำผิด แต่ว่าอารมณ์เท่านั้นแหละ บรรดาท่านพุทธบริษัท อารมณ์ที่ปฏิบัติเท่านั้นเอง ที่ตึงเกินไป หรือว่าหย่อนเกินไป ใช้อารมณ์ถูกต้อง หรือไม่ถูก ตรงเป้าหมายไหม หรือว่าเฉียดเป้าหมาย เป็นอันว่า อยู่กับท่าน 4 เดือนเศษ ก็จะลาท่านกลับ ท่านก็บอกว่าฉันรู้สึกพอใจมากที่คุณทั้ง 3 ทำทุกอย่างตามที่ฉันสอน

    และก็มีผลทุกอย่างตามที่ฉันสอน แต่ว่าจงอย่าลืมตัว จงอย่าคิดว่า เราเป็นพระอรหันต์ เวลานี้ยังไม่ใช่พระอรหันต์ เป็นแต่เพียงว่า เรียนรู้วิธีการพระอรหันต์เท่านั้น ให้กลับไปวัด ไปทำเสมอ ๆ ไปสู้กับคน (คำว่า สู้กับคน ก็หมายถึงว่าสู้กับอารมณ์) กลับไปถึงวัด พวกคุณจะถูกชาวบ้านโจมตี พระด้วยกันจะโจมตี จงทำอารมณ์ให้สบาย ขณะที่อยู่ในป่ามีอารมณ์เยือกเย็นฉันใด เมื่อเข้าไปถึงอารมณ์ที่ไม่ต้องการไม่ต้องใจของเรา

    ให้มีอารมณ์เยือกเย็นฉันนั้น ทำให้เหมือนกับอยู่ในป่า ป่า หรือบ้านให้มีสภาพเหมือนกัน ป่าสงัด แต่อยู่ในวัด ก็ต้องสงัดเหมือนป่า อยู่กับชาวบ้านก็ต้องสงัดเหมือนป่า คิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกไม่มีอะไรเหลือ คนที่พูดให้ขัดคอเรา ไม่ถูกใจเรา เขาเหล่านี้ก็ตาย เขาเคยพูดอย่างนี้มานับอสงไขยกัปไม่ถ้วน และเขาก็ลงนรกนับไม่ถ้วน เขาไม่เข็ด ปล่อยเขาไป อย่าไปโต้เถียงเขา ถ้าโต้เถียงเขา

    เขาจะโกรธมาก เขาจะบาปมากขึ้น เราก็ทำเฉยๆ เสีย บรรดาท่านพุทธบริษัท เป็นอันว่า ขอลาท่านกลับ แต่บรรดาท่านพุทธบริษัทก็อย่าเพิ่งคิดนะว่า อาตมาเป็นอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณยังไม่ได้บอก เพราะว่าการกลับมาวัด กลับมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ภาระอื่นก็หนักกรรมฐานก็อ่อนไปหน่อย หย่อนไปนิด แต่ไม่เลิก เวลาที่ทำได้จริงก็คือ เวลานอน กับเวลาทำวัตร เวลานอน ว่างจากการดูตำรา

    ก็ใช้อารมณ์พิจารณา เวลาทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น เวลานั้นใช้กำลังเต็มที่ ปากก็สวดไปใจก็นึกไปตามภาษาบาลีที่สวด (ภาษาบาลีที่สวด ถ้าแปลได้ มีประโยชน์มาก เป็นวิปัสสนาญาณเยอะแยะ สอนไว้ได้ดีมาก) ก็รวมความว่า หลังจากนั้นมา รุ่งอีกปีหนึ่ง ก็นัดกันว่า หลังจากสอบไล่เสร็จ เดือน 4 แล้ว เดินทางเข้าป่าต่อไป การเป็นเปรียญของเราไม่มีประโยชน์ ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าการเรียนเปรียญ

    ไม่ใช่หมายถึง มรรคผล พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงแนะนำว่า เป็นเปรียญชั้นนั้น ชั้นนี้ จะมีมรรคผลเท่านั้นเท่านี้ ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าเราเป็นเปรียญ 9 ประโยค เราก็ไม่ใช่พระอรหันต์ ถ้าบังเอิญไม่ได้ปฏิบัติ และแถมไม่ใช่ผู้ทรงฌานเสียด้วย ดีไม่ดี จะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไป เอาอย่างนี้ดีกว่า เราเรียนกันแค่พอรู้ภาษาบาลี พอรู้บ้าง เล็ก ๆ น้อย ๆ ให้รู้ว่าภาษาบาลีเป็นอะไร มุ่งมั่นปฏิบัติดีกว่า ก็ชวนกันออกเดินทางธุดงค์ต่อไป

    หลังจากกลางเดือน 4 เสร็จแล้ว พอแรมค่ำหนึ่งเดือน 4 ก็เดินทางเข้าหาหลวงพ่อจงขึ้นธุดงค์ใหม่ หลวงพ่อจงหัวเราะ ฮิ ๆ ท่านถามว่า จะไปไหนปีนี้ บอก ปีนี้จะไปทิศตะวันตกครับ ท่านบอกว่า เออ..ก็เจอะอีกแบบหนึ่งนะ คราวนี้ไปเจอะ 2 แบบ ถามว่า แบบอะไรครับ ท่านบอก ฉันไม่บอกหรอก เธอไปก่อนก็แล้วกัน เธอจะรู้เอง ก็ตัดสินใจว่า ต้องไป จะพบแบบไหนก็เอากัน ก็ลาท่านไป

    เดินออกไปทาง จังหวัดสุพรรณบุรี ไปข้ามที่ประตูน้ำบางยี่หน และเดินเลาะคลองไปถึง (จำชื่อไม่ได้ ใกล้ ๆ บางใหญ่) ก็ข้ามฟากตัดไปพระแท่นดงรัง ระหว่างไปที่พระแท่นดงรัง ก่อนที่จะถึง ก็ไปถึงศาลาหลังหนึ่ง เขาปลูกอยู่กลางทุ่งมันเป็นป่าละเมาะ ก็ปักกลด เมื่อปักกลดเสร็จ มองบนศาลา เห็นกลดเยอะ มีกลดตั้ง 10 กลดกว่า มีบาตร มีกลดเยอะแยะวางอยู่ ก็สงสัยว่า ที่นี่คงมีพระธุดงค์มาพักมาก

    และเวลานี้ท่านไปไหน อาจจะเข้าไปอาศัยวัดต่างๆ เพื่อพักอาศัยชั่วคราวก็ได้ จึงทิ้งกลด ทิ้งบาตรไว้ (แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น) พอปลักกลดเสร็จ ตามระเบียบของการธุดงค์ ปักกลดแล้วห้ามถอน จะเป็นตายร้ายดีอย่างไรก็ตาม ห้ามถอนเด็ดขาด ก็เป็นอันว่า เมื่อปักกลดเสร็จ อาบน้ำเสร็จ บ่อน้ำอยู่ใกล้ๆ ก็มีชาวบ้าน 3-4 คนมายกมือไหว้ด้วยความเคารพ

    บอก ท่านขอรับ อย่าปักกลดที่นี่เลยขอรับ ถ้าปักกลดจริงๆ นิมนต์ไปปักกลดใกล้ ๆ บ้านผม หมู่บ้านผมอยู่ที่โน่น ห่างจากนี่ไปประมาณหนึ่งกิโลเมตร เป็นหมู่บ้านหลายหลัง ถามว่า ทำไมล่ะโยม เพราะตามธรรมดา พระปักกลดแล้วถอนไม่ได้ มันเป็นระเบียบ โยมก็เลยบอกว่า อย่างนี้หลายองค์มาแล้วครับ ท่านเห็นกลดบนศาลาไหมบอกว่า เห็น ถามว่า พระไปไหน

    เธอก็บอกว่า พระนี่ เสือกินหมด ถามว่า เสือกินที่ไหน บอกว่า ปักกลดที่นี่แหละครับ ที่ท่านปักนี่แหละ เสือก็มาลากพระไปกิน พวกผม ตอนเช้ามาใส่บาตร ไม่เห็นพระ เห็นแต่รอยเลือด และรอยเสือ ก็เข้าใจว่า เสือเอาไปกิน ก็เอากลดเอาบาตรไปเก็บไว้ และพระคุณเจ้าก็เช่นเดียวกัน ทั้ง 3 องค์ เกรงว่าจะไม่พ้นความเป็นเหยื่อเสือ ก็บอกว่า โยม ไม่เป็นไร เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน อาตมาปักแล้วถอนไม่ได้

    ก็ขอยอมตายอย่างพระพวกนั้น ถ้ามันจะตาย ถ้ามันจะไม่ตายก็ไม่ตาย ถ้ามันตายก็ตายตามใจชอบ เมื่อโยมเห็นว่าไม่ถอนจริง ๆ โยมก็เลยบอกว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน คืนนี้พวกผมจะมาประมาณ 10 คน จะนอนอยู่ป่าละเมาะโน้น ถ้าบังเอิญเสือมาจริง ๆ ให้ท่านเคาะฝาบาตรผมจะจัดการกับเสือเอง แล้วญาติโยมก็กลับ หลังจากนั้นก็เอาน้ำมะตูมมาถวาย ถึงเวลาหัวค่ำ ญาติโยมกลับแล้ว ก็เจริญกรรมฐานก็ไม่มีอะไร เดือนหงายจัด

    เพียงแค่แรม 2 ค่ำ เดือน 4 เดือนยังหงายจัดอยู่ แต่ว่าเวลาตอนตี 2 บรรดาท่านพุทธบริษัท ตื่นขึ้นมาตามเวลาเจริญพระกรรมฐาน ปรากฏว่า เจ้าเสือใหญ่ขนาดม้า มันยืนขาวสง่าอยู่ใกล้กลด มันก็ดมฟุดฟิด ๆ ไปรอบ ๆ กลด มันจะหาทางเข้าในระหว่างกลด แต่เข้ามาไม่ได้ ผ่านสายอัพโภกาศไม่ได้ มันเดินรอบ ๆ ไป สัก 2-3 รอบ แล้วมันก็เดินออกไป แล้วก็กลับมาใหม่ทำอย่างนี้ 3 ครั้ง

    ถ้าบรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายอยากจะถามว่า เวลานั้นมีความรู้สึกอย่างไร ก็ขอตอบว่า ความรู้สึกเวลานั้นก็คือ ตั้ง เมตตัญ จะ สัพพโลฯ นึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ครูบาอาจารย์ทั้งหมด แผ่เมตตาจิต และคิดว่า ถ้าเสือกัดเราคราวนี้เสือกัดปั๊บ ทันที เราขอไปนิพพาน ร่างกายมันจะตาย หรือไม่ตายก็ตาม ขอไปนิพพานอย่างเดียว ก็ภาวนา นิพพานัง สุขัง จิตเป็นสุข

    เสือทำท่าอย่างไรก็ช่าง หลับตาไปเลย ไม่ยอมมองเสือใจไปโน่น ใจไปทอดท้ายอยู่พรหม ไปมองดูภาพเสือมันฟุดฟิดโฟไฟของมัน ตามเรื่องตามราวในที่สุด เสือก็กลับไป พอตื่นขึ้นเช้าอาบน้ำอาบท่าเสร็จ ญาติโยมก็นำภัตตาหารมาถวาย ญาติโยมเห็นเข้าก็ดีอกดีใจบอกว่า เจ้าประคุณเอ๊ย หลายองค์แล้วไม่พ้นจากเขตเสือ ญาติโยมก็ถามว่า เมื่อคืนเสือมาหรือเปล่า บอก มา แต่มันไม่ทำอะไร มันเดินวนมาวนไป วนไปวนมา

    มันดูดกลิ่นฟิด ๆ แล้วมันก็กลับไป โยมก็ดีใจคิดว่า เป็นพระที่มีดี เมื่อถวายข้าวเสร็จก็นิมนต์อยู่ 3 วัน ขอทำบุญ 3 วัน ก็รับโยม แต่ว่าก็มีคืนแรก คืนเดียว ที่เจ้าเสือมากวน คืนที่ 2 คืนที่ 3 ไม่มี หลังจากวันที่สามแล้ว ตอนบ่ายก็ถอนกลด เดินไปอีกพักหนึ่ง ก็เจอะลาน ๆ หนึ่งมีหมู่บ้านไม่ไกลนัก (ตอนนี้ยังไม่พ้นหมู่บ้าน) เห็นเป็นบริเวณดี ก็เลยปักกลด มีหนองน้ำใกล้ๆ ปักกลดเสร็จ อาบน้ำอาบท่านเสร็จ ญาติโยมก็มา

    ปรากฏว่าที่นี่คนเก่งภาษาบาลีมาก จนกระทั่ง ญาติโยมสาว ๆ ที่ยังเป็นโสด ก็รู้เรื่องพระดี แต่ว่ามีแปลก ในสถานที่อื่นไม่เหมือนที่ตรงนี้ คือ ญาติโยมสาว ๆ เวลาคุยแกใช้สายตาแบบเจ้าชู้ ไอ้ลีลาแบบนั้นใช้เป็นปกติ เผลอไม่ได้ เผลอเป็นใช้ แกตั้งใจใช้มาหลายสาว ก็นึกในใจว่า ที่นี่มันเป็นอย่างไร ก็หันไปถามท่านอินทกะ ถามว่า ที่นี่ทำไมสาว ๆ พวกนี้จึงสนใจแสดงท่าทางแบบนี้

    ท่านก็เลยบอกว่า คนผู้ชายที่นี่ส่วนใหญ่เป็นพระธุดงค์ และก็มาที่นี่ มาสึกเพราะสาว ๆ ประเภทนี้ มากมายเหลือเกิน ไม่ว่าชุดไหนก็ชุดนั้นสึกแน่ เหลือแต่พวกท่านอีก 3 องค์เท่านั้นแหละจะสึก หรือไม่สึก ก็เลยบอกว่า ยังไม่สึก เพราะว่าที่นี่ไม่มีแม่น้ำ ตามปกติชอบอยู่ใกล้แม่น้ำ ถ้าที่นี่มีแม่น้ำ มีเรือจอด มีเรือพายแจว ก็จะสึก นี่หาแม่น้ำไม่ได้

    ท่านอินทกะท่านก็ยิ้ม ท่านบอกว่า น้ำใจอย่างไรเล่า เขามีน้ำใจมาตั้ง 4-5 คน นั่งเพ่งมอง แล้วก็ช้อนตามอง ตะแคงมอง มองแล้วก็ยิ้มให้ ทำไมไม่สนใจกับเขา ก็บอกว่า สนใจแล้ว ตั้งแต่เห็นเธอเดินมาก็สนใจ ท่านอินทกะก็ถามว่า สนใจแบบไหน ก็เลยบอกท่าน บอกว่าสนใจแบบคนพวกนี้ไม่ช้าก็แก่ เมื่อยังไม่แก่ก็มีทุกข์ ทุกข์จากอารมณ์ที่ไม่รัก ทุกข์จากอารมณ์ที่รัก ทุกข์จากความเหนื่อยยากจากการงาน

    ทุกข์ในอาชีพต่าง ๆ ทุกข์ทุกอย่างที่มันเข้ามาถึง และร่างกายมันก็ไม่เป็นสาระ มีอาการ 32 สกปรกโสโครก ข้างนอกถึงแม้จะขัดสีฉวีวรรณอย่างไรก็ตาม มันก็ไม่สะอาดพอ ฝุ่นละอองก็แปดเปื้อน ถึงแม้จะทาขมิ้นให้เหลือง (โดยมากสมัยนั้น เขาชอบทาขมิ้น กับแป้งผสมกัน มันทั้งขาว ทั้งเหลือง ความจริงก็น่าดูเหมือนกัน) ก็รวมความว่า พักอยู่ที่นั่น 2 คืน (เป็นอันว่า หลุดจากเปลาะที่นั่นไป) ตามคำอาราธนาเมื่อหลุดไปแล้ว

    ก็เข้า พระแท่นดงรัง เข้าไปนมัสการพระพุทธเจ้าที่นั่น ที่เขาบอกว่าพระพุทธเจ้านิพพานที่นั่น แต่ความจริงไม่ใช่ ใช่ หรือไม่ใช่ก็ไม่สำคัญ เราถือว่าที่ตรงนี้เป็นที่ชาวบ้านยอมรับนับถือว่า พระพุทธเจ้านิพพานที่ตรงนี้ เมื่อเรากราบลงไป เราก็กราบพระพุทธเจ้า เราไม่ได้กราบหิน นึกถึงพระพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าท่านดีขนาดไหนเป็นอัจฉริยมนุษย์ เป็นลูกกษัตริย์ และเป็นผู้เลิศในการบรรลุมรรคผล

    ไม่มีบุคคลใดสามารถจะสู้ได้ มนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี ไม่สามารถแตะต้องได้ ความรู้ดีเลิศ ตัดกิเลสได้อย่างประเสริฐ มีความสามารถเป็นพิเศษ ยัง นิพพาน แล้วเราล่ะ เรา ไม่ช้าเราก็ตาย ก็เป็นอันว่า ไปไหว้ท่าน แล้วก็ปักกลดที่นั่นหนึ่งคืน หลังจากนั้นก็เดินเข้าดงต่อไปเดินเข้าดงต่อไปก็เข้าป่า คราวนี้ไม่พบใครแล้ว เข้าป่าชัฏตามที่มีความต้องการ ก็ไปเจอะภูเขาลูกหนึ่ง สูงมาก (แต่ความจริง เมืองกาญจน์นี่ ภูเขาเยอะแยะบอกไม่ถูก)

    แต่เขาลูกหนึ่งแปลกสูงหน่อยหนึ่ง และก็มีแสงสีเขียวออก ก็แปลกใจก็คิดว่า ที่นี่อาจจะมีอะไรดีพิเศษก็เลยพากันปักกลด ถ้าถามว่าในฐานะที่เรียนกับพระปฏิสัมภิทาญาณแล้ว ทำไมไม่ใช้ญาณเป็นเครื่องรู้ก็ตอบว่า ญาณเป็นเครื่องรู้เขาใช้เฉพาะเวลากัน เวลาที่มีความจำเป็นจริง ๆ ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ เขาไม่ใช้กัน ดูตัวอย่าง พระมหากัสสป ที่เสียท่าพระอินทร์ ก็เพราะไม่ได้ใช้ พระอรหันต์เขาไม่ใช้กันป้วนเปี้ยนไปหรอก

    ไม่เหมือนพวกทรงฌานโลกีย์ พวกทรงฌานโลกีย์ คล้าย ๆ กับเด็กรุ่นหนุ่ม หรือนักมวยหัดใหม่ อยากจะถ่วง ไปไหนก็ทำท่าจะชกอยู่ตลอดเวลา พระอรหันต์ ก็เหมือนกับแชมป์โลก ไปไหนก็เดินเฉย ๆ สำหรับคณะอาตมานั้น ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ว่าเป็นลูกศิษย์ของพระอรหันต์ ก็ทำลีลาคล้าย ๆ กับอาจารย์ อาจารย์สอนมาแบบไหน ทำแบบนั้นตามปกติคือ ไม่ฝ่าฝืนคุณงามความดีของอาจารย์

    อาจารย์ก็คือ หลวงพ่อปานด้วย หลวงพ่อจงด้วย หลวงพ่อเนียมด้วย หลวงพ่อโหน่งด้วย อย่างนี้เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อาตมาก็เคยไปเรียนกับท่าน ท่านก็สอนดี ความเข้าใจของท่านถูก ท่านสอนถูก ตามความเป็นจริง แต่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทชายหญิง สำคัญผู้รับเท่านั้นแหละ รับไปแล้วจะเข้าใจถูก หรือเข้าใจผิด อันนี้ไม่ทราบ

    เป็นอันว่า ปักกลดเสร็จ ก็ถึงเวลาพอดีเข้าพักผ่อน นอน เริ่มนอนในตอนต้น พักผ่อนอาการเหนื่อย ถึงเวลาหัวค่ำก็เจริญกรรมฐาน ก็ไม่มีอะไร บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ขณะที่เจริญกรรมฐาน ทุกอย่างก็เป็นไปตามปกติหมด ไม่มีอะไรน่าหนักใจ
    ที่มา http://palungjit.org/posts/9918686
     

แชร์หน้านี้

Loading...