เรื่องเด่น หลวงพ่ออุตมะปะทะโจร!! โจรคิดว่าสายลับจะเอาไปยิงทิ้ง ด้วยบุญบารมีเพราะมีสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งช่วยไว้

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 30 กันยายน 2017.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    วินาทีชีวิต...หลวงพ่ออุตมะปะทะโจร!! โจรคิดว่าสายลับจะเอาไปยิงทิ้ง ด้วยบุญบารมีรอดมาได้เพราะมีสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งช่วยไว้

    290901-1.jpg
    “หลวงพ่ออุตตมะ” คือพระมอญผู้มีฉายาว่า “อุตตมรมฺโพ” แปลว่า “ผู้มีความภาคเพียรอันสูงสุด” สอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยคที่สำนักวัดสุการี เมืองสะเทิม ประเทศพม่า เมื่อปี ๒๔๘๒ จากนั้นก็ธุดงค์ไปทั่วภาคตะวันออกเฉียงใต้ของพม่าและภาคเหนือของไทย มีเรื่องเล่าถึงการยึดมั่นในสัจจะอธิษฐานว่าครั้งหนึ่งหลวงพ่อไปปักกลดอยู่ในที่ห่างไกลจากผู้คนไม่ปลอดภัย มีชาวบ้านที่หากินทางล่าสัตว์และหาปลามานิมนต์ให้ไปพักกับเขาในหมู่บ้าน แต่หลวงพ่อตอบปฏิเสธไปว่า
    “โยมกลับไปเถอะ อาตมาอธิษฐานมาธุดงค์แล้ว อันตรายยังไงอาตมาก็อธิษฐานไปแล้ว อันตรายยังไม่เกิด แต่อธิษฐานเกิดแล้ว อาตมาไม่อยากเสียอธิษฐาน จะอันตรายยังไงก็แล้วแต่บุญบารมีของอาตมาเถิด”
    ทุกเหตุการณ์ที่หลวงพ่อเผชิญอันตราย ได้แสดงถึงความเด็ดเดี่ยวเชื่อมั่นในธรรมะอย่างไม่หวั่นไหว

    290901-2.jpg
    อีกเรื่องที่หลวงพ่ออุตตมะชอบเล่าให้ฟัง และยังจำไม่ลืม เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นราว ๔ โมงเย็น หลวงพ่อเดินธุดงค์ไปถึงต้นน้ำตะไลอ่อง ใกล้ชายแดนไทย-พม่า ด้านกาญจนบุรี บังเอิญไปเผชิญหน้ากับ ๒ โจรกระหร่าง ทั้งๆที่หลวงพ่อห่มเหลืองเป็นพระ ไอ้โจรยังเอาปืนจ่อบังคับให้ท่านยกมือขึ้น แล้วเข้ามาดึงบาตรและกลดของท่านโยนทิ้ง ค้นจีวรหาอาวุธ เมื่อไม่พบก็ตะคอกถามว่าเป็นสายลับให้พม่าใช่หรือไม่ ท่านก็บอกว่าไม่ใช่ ท่านเป็นพระมอญ ไอ้โจรกลับบอกว่า อุตตมะองค์นี้ใช่ไหมที่เรียกพวกหัวหน้าพม่ามาประชุมที่เจ้าคะเล หลวงพ่อก็บอกว่าพวกนั้นเป็นหัวหน้ามอญ ไม่ใช่พม่า แต่ไอ้โจรก็ไม่ฟัง จับท่านมัดมือไพล่หลังด้วยเถาวัลย์แล้วจะพาไป หลวงพ่อบอกจะพาไปไหนก็ไม่ว่า ช่วยเอาบาตรไปด้วยเถิด เพราะชีวิตท่านอยู่ในบาตร โจรคนหนึ่งยอมหยิบบาตรสะพายบ่าไปให้ หลวงพ่อได้ยินเสียงพระบัวเข็มของท่านที่อยู่ในบาตรกระทบบาตรดังกริ๊งๆไปตลอดทาง
    โจรทั้งสองพาหลวงพ่อไปพบหัวหน้าชื่อ “ภารตะ” รายงานว่าจับพระตัวการสำคัญได้รูปหนึ่ง หลวงพ่อเล่าว่าภารตะไม่ได้ชำเลืองมองท่านแม้แต่น้อย สั่งให้นำไปยิงทิ้งตรงที่เคยประหารชีวิตพระมาแล้ว ๓-๔ รูป กำชับให้ยิงตอนหลัง ๓ ทุ่ม จะได้ไม่มีใครได้ยินเสียงปืน พวกโจรพาหลวงพ่อไปที่น้ำตก ชี้ให้ดูจีวรพระที่ห้อยไว้ ๔ ผืน บอกว่าพระพวกนี้เป็นสายลับให้พม่าจึงถูกยิงทิ้ง จากนั้นโจรก็ให้ท่านปีนขึ้นไปบนห้างริมน้ำตกที่ทำด้วยไม้ไผ่ ๔ เสา มีบันได ๑๐ ขั้น บนสุดของห้างมีพื้นแคบๆพอนั่งยองๆได้เท่านั้น เพื่อยิงแล้วร่างที่ถูกยิงจะได้ร่วงลงน้ำ แล้วถูกสายน้ำพัดหายไป
    ก่อนขึ้นห้าง หลวงพ่อขอร้องโจรมอบบาตรให้ท่านเอาขึ้นไปด้วย เพราะถึงอย่างไรพวกโจรก็ไม่ได้ใช้บาตรอยู่แล้ว พวกโจรยอมให้ แล้วบังคับให้ท่านปีนขึ้นไปทั้งๆที่มือถูกมัดจับขั้นบันไดไม่ได้ พวกโจรก็ดันท่านขึ้นไปจนได้ หลวงพ่อขึ้นไปนั่งยองๆบนห้าง
    โจรได้ถอดขั้นบันไดออกหมด แล้วสำทับท่านว่า “ห้ามลงมานะ” ซึ่งหลวงพ่อก็รับคำ จากนั้นพวกโจรก็หายตัวไป
    จาก ๖ โมงเย็นที่ถูกจับมาไว้บนห้างจนถึง ๓ ทุ่ม ไม่ได้ยินเสียงผู้คนเลย น่าจะไม่มีใครเฝ้า แต่ท่านก็ไม่หนี ระหว่างที่รอความตายนั้นหลวงพ่อก็สวดมนต์ต่างๆเท่าที่จะนึกออก ท่านว่าเป็นการสวดตาย คือสวดอำลาเป็นครั้งสุดท้าย ขณะที่เริ่มสวดมหาสมัยสูตร เถาวัลย์ที่มัดมือท่านไว้ยังแน่นอยู่ พอสวดเรื่อยๆเถาวัลย์ก็หลุดออกเอง ท่านจึงเป็นอิสระ ขณะนั้นราว ๒ ทุ่ม หลวงพ่อเปิดฝาบาตรควานหาพระบัวเข็ม แล้วนำขึ้นวางบนฝาบาตร พนมมือสวดนะโมพุทธายะ บูชาพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ไปเรื่อยๆ จนถึง ๓ ทุ่มก็ไม่ได้ยินเสียงใดๆ ตอนแรกท่านคิดว่าถ้าจะไต่ลงก็ทำได้ แต่รับคำเขาไปแล้วว่าจะอยู่บนนี้ ถ้าหนีไปก็จะเป็นการเสียสัจจะ อีกทั้งยังเป็นการขโมยตัวเอง ซึ่งถ้าเสียสัจจะแล้ว ชีวิตที่เหลืออยู่ก็จะไม่บริสุทธิ์ ท่านจึงตัดใจไม่หนี
    ราว ๓ ทุ่มมีโจรคนหนึ่งเอาไม้ลูกบันไดมาเสียบ แล้วปีนขึ้นมาเอาไฟฉายส่องดู พอเห็นหน้าท่านก็โผเข้ามากอดแล้วกราบท่าน พร้อมทั้งบอกขณะที่น้ำตานองว่า
    “หลวงพ่อนั่นเอง...ผมคิดว่าเป็นโจร หลวงพ่อเป็นพ่อของผม ใครจะมาฆ่าไม่ได้ หลวงพ่อจำผมได้ไหม ผมชื่อปะขิ่น คนที่เป็นฝีดาษถูกทิ้งไว้ที่ป่าช้าเมืองสะเทิม”
    หลวงพ่อหวนรำลึกถึงความหลังเมื่อครั้งไปช่วยเขาสร้างกุฏิไม้ที่วัดแมดสะยา พลบค่ำวันหนึ่งหลวงพ่อไปจงกรมในป่าช้า พบเด็กชายคนหนึ่งอายุอายุราว ๘ ขวบ ป่วยเป็นฝีดาษ ฝีกำลังขึ้นทั้งตัว ถูกนำไปทิ้งไว้ เพราะพ่อแม่ของเด็กป่วยตาย ธรรมเนียมของชาวบ้านจะต้องนำคนที่เป็นฝีดาษออกไปให้พ้นหมู่บ้านอย่างน้อย ๒-๓ กิโลเมตร หรือมิฉะนั้นต้องนำไปทิ้งไว้ไนป่าช้า มิให้แพร่เชื้อไปติดผู้อื่น หลวงพ่อเข้าไปดูเห็นเด็กยังไม่ตาย จึงเอาสบงห่อตัวแอบอุ้มเอาไปที่ศาลาพักของท่าน แล้วกระซิบกับเณรว่าอย่าบอกให้ใครรู้ ท่านจัดการต้มน้ำสะเดาป่าให้เด็กทั้งดื่มทั้งอาบ เป็นเวลา ๑๐ กว่าวันเด็กก็หาย ท่านตั้งชื่อให้เด็กน้อยนั้นว่า “ปะขิ่น” แล้วเอาไปฝากเจ้าอาวาสวัดแมดสะยาให้เป็นเด็กวัด
    ปะขิ่นเป็นเด็กวัดแมดสะยาจนอายุ ๑๓ ปี เจ้าอาวาสก็จัดการบวชเณรให้ หลังจากนั้นก็บวชเป็นพระ ช่วงที่ญี่ปุ่นบุกเข้าพม่าเกิดกองโจรต่อต้านขึ้นมากมาย ปะขิ่นเป็นกะเหรี่ยงเผ่าตองซู่ถูกกวาดต้อนไปเป็นโจรกะเหรี่ยงด้วย มีเขตอิทธิพลอยู่ใกล้เขตแดนไทย บัดนี้เด็กนั้นเติบโตเป็นหนุ่ม หน้าตาเปลี่ยนไป หลวงพ่อจึงจำปะขิ่นไม่ได้ แต่ปะขิ่นจำท่านได้ดี
    ปะขิ่นขอให้หลวงพ่อลงจากห้าง แต่ท่านบอกว่ารับปากเขาไปแล้ว ลงไปก็จะเป็นการเสียสัจจะ ปะขิ่นจึงให้ไปตามโจรคนแรกมา สักครู่ก็มีคนมาบอกให้หลวงพ่อลง ท่านถามว่าเขาเป็นใคร โจรผู้นั้นก็ตอบว่า “ผมคือคนที่สั่งให้หลวงพ่ออยู่” หลวงพ่อจึงยอมลง
    ปะขิ่นพาหลวงพ่อไปที่พักของเขาและนิมนต์ให้ท่านพักด้วย หลวงพ่อบอกว่าตอนนี้ฝนไม่ตก ท่านอยู่กลางแจ้งได้ ขอให้ปะขิ่นตามกลดของท่านมาให้ด้วย กลดของหลวงพ่อเป็นกลดอย่างดีมีมุ้ง พวกโจรจึงถือโอกาสเอาไปใช้ ปะขิ่นให้คนไปตามเอามาคืน หลวงพ่อรออยู่จนเที่ยงคืนกว่าจึงได้กลดคืนมา หลวงพ่อปักกลดแล้วห้ามปะขิ่นไม่ให้เข้าในกลด เพราะท่านจะนั่งกรรมฐาน ปะขิ่นบอกว่าเมื่อหัวค่ำก็เกือบจะตายอยู่แล้ว ยังจะนั่งกรรมฐานอีก หลวงพ่อก็บอกว่า“ก็กรรมฐานนี่แหละ...ที่ช่วยเราไว้”
    เช้าวันรุ่งขึ้น พวกโจรที่เป็นลูกน้องของปะขิ่นแห่กันมาหาท่าน รุมล้อมเข้ามาขอของขลัง โดยเชื่อว่าท่านต้องมีอยู่แน่ๆ เมื่อคืนนี้ปืนจึงยิงไม่ออก หลวงพ่อบอกว่าไม่มีก็ไม่มีใครเชื่อ
    ตอนเพลวันนั้น ปะขิ่นนำอาหารมาถวาย มีทั้งกุ้งปลาที่ปล้นมา หลวงพ่อทราบก็ไม่ยอมฉัน ฉันแต่ข้าวคลุกเกลือกับพริกที่พวกโจรปลูกกันเองเท่านั้น หลวงพ่อถามพวกโจรว่ามีกันกี่คน พวกโจรบอกว่าปะขิ่นมีลูกน้องราว ๓๐๐ คน ภารตะมีเกือบ ๕๐๐ คน พอฉันเสร็จหลวงพ่อก็ไปเก็บกรวดก้อนเล็กๆมาไว้เต็มบาตร จากนั้นท่านก็เข้ากลดแล้วบอกให้พวกโจรรับศีล ท่านอธิบายว่าตามปกติพระจะให้ศีลต้องมีตาลปัตร ท่านจึงใช้กลดต่างตาลปัตรโดยมีมุ้งกั้น เมื่อโจรรับศีลเสร็จท่านก็แปลให้ฟังแล้วบอกว่าจะให้ของขลังไว้ป้องกันตัว ถ้าคนไหนปฏิบัติตามศีลได้ ของที่ให้ก็จะศักดิ์สิทธิเหมือนตัวท่าน โจรทั้งหลายรับคำ ท่านจึงแจกกรวดในบาตรให้คนละก้อน พวกโจรต่างรับไปด้วยความศรัทธา
    พอแจกของขลังเสร็จ ปะขิ่นก็บอกว่าหลวงพ่อควรรีบเดินทาง ปะขิ่นจัดลูกน้อง ๑๐ คนเป็นผู้นำทางและคุ้มกันหลวงพ่อมุ่งเข้าสู่เขตแดนไทย โดยต้องใช้เวลาเดินทางไม่หยุดพักถึง ๓ วัน ๓ คืน หลวงพ่อต้องเดินทางข้ามเขาสูงชื่อ “กะลาเอ้ย” แปลว่า “แขกนอน” ความหมายคือปีนเขาไม่ไหว และภูเขา “ตะลกยาง” แปลว่า “เจ๊กกลับ” ความหมายก็คือปีนเขาไม่ไหวเช่นกัน ภูเขานี้ถ้าเดินขึ้นตามธรรมดา เช้าจนเพลก็ไม่ถึงสันเขา แต่พวกโจรมีความชำนาญใช้ทางลัดทำให้ย่นระยะได้มาก จนในที่สุดผู้คุ้มกันก็พาหลวงพ่อเดินทางมาถึงหมู่บ้านนัดเองเตา ที่คนไทยเรียกกันว่า บ้านอีต่อง แปลว่าหมู่บ้านเทวดา เป็นแหล่งเหมืองแร่วุลแฟลมขนาดใหญ่ของตำบลปิล็อค จังหวัดกาญจนบุรี หลวงพ่อได้พบชาย ๒ คน แต่งกายภูมิฐาน ทราบว่าคนหนึ่งเป็นผู้จัดการเหมือง อีกคนเป็นน้องชาย มีเชื้อสายมอญทางพระประแดง จึงไต่ถามความเป็นมาด้วยภาษามอญ และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น



    290901-3.jpg
    ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ หลังจากที่หลวงพ่อได้สร้างวัดวังก์วิเวการาม อําเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรีแล้ว ปะขิ่นและลูกน้องก็เดินทางมาเยี่ยมหลวงพ่อถึงวัด ปะขิ่น เล่าว่าเขากับภารตะขัดใจกันเรื่องที่เขาพาหลวงพ่อหนี ปะขิ่นจึงได้วางแผนลวงภารตะไปเลี้ยง แล้วให้ลูกน้องลอบยิงตาย ปะขิ่น ยังบอกอีกว่าหลังจากเขารับศีลจากหลวงพ่อแล้ว ก็เลิกเป็นโจร นำลูกน้องเข้ามอบตัวกับรัฐบาล ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้คุ้มกันคนเดินทางและรถบรรทุกสินค้าที่ไปมาระหว่างเมืองทวายและเมืองเยซึ่งมีโจรชุกชุม พวกรถจ่ายค่าคุ้มกันให้คันละ ๕๐ บาท ส่วนชาวบ้านก็พอใจที่ปะขิ่น มาช่วยคุ้มครองให้ปลอดภัยจากโจร การเดินทางค้าขายระหว่างเมืองทั้งสองจึงเพิ่มมากขึ้นจนมีวันละเป็นร้อยๆคัน ทำให้ปะขิ่น และลูกน้องมีรายได้งามกว่าเป็นโจร แถมยังได้รับฉายาจากชาวบ้านด้วยความชื่นชมว่า เป็น “โจรศีลห้า”
    ในวันที่มาเยี่ยมที่วัดวังก์วิเวการาม ปะขิ่นได้นำเงินมาถวายหลวงพ่อด้วย ๕,๐๐๐ บาท และบอกท่านว่า “ผมชนะใจชาวบ้านได้ก็เพราะหลวงพ่อ มิฉะนั้นผมก็ยังคงเป็นเปรตอยู่เหมือนเดิม”
    ท่านหลวงพ่ออุตตมะ ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศ เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่พระราชอุดมมงคลพหลนราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๔ และยังมีตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม และเจ้าคณะอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ทั้งยังเป็นพระที่มีประชาชนชาวไทยทุกภาค ทุกระดับ ทั้งยากจนเข็ญใจจนถึงผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ เคารพนับถือกราบไหว้สักการะฐานะปูชนียบุคคล ในนาม
    “หลวงพ่ออุตตมะ”
    ที่มา FB:ประวัติศาสตร์ชาติไทยก่อนและหลัง ๒๔๗๕ และเรื่องเก่า เล่าสนุก ผู้จัดการออนไลน์ โดย โรมบุญนาค


    เรียบเรียงโดย

    กิตติ จิตรพรหม : สำนักข่าวทีนิวส์
    -----------------------------
    http://www.tnews.co.th/contents/363233

     

แชร์หน้านี้

Loading...