หลักสูตรพระพุทธศาสนา

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย klu, 4 ตุลาคม 2006.

  1. klu

    klu เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 พฤษภาคม 2006
    โพสต์:
    361
    ค่าพลัง:
    +1,320
    หลักสูตรพระพุทธศาสนา

            อาตมาเคยพูดเรื่องมหาสติปัฏฐานสูตรบ้าง เคยพูดเรื่องกรรมฐานถึงวิชชาสาม อภิญญา ๖ บ้าง แล้วก็เลยพูดเรื่องไตรภูมิบ้าง เมื่อพูดไปพูดมาบรรดาท่านทั้งหลายก็เลยเกิดอาการสงสัย ว่าการเจริญพระกรรมฐานเพื่อหวังผลตามนั้นจะทำกันยังไง แล้วก็ถามกันมามากมายว่าปฏิบัติแบบไหนจึงจะถูกตามที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ นี่เป็นความต้องการของบรรดาท่านพุทธบริษัท

            อาตมาเองก็หนักใจว่าทำไมหนอบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทจึงมีความสงสัยในธรรมะของพระพุทธเจ้าอยู่ หลายท่านมีจดหมายมาหา ว่ากันเป็นร้อยนะ ไม่ใช่ว่ากันเป็นราย ๆ เพราะหลาย ๆ จังหวัดด้วยกัน แต่เรื่องการตอบปัญหานี่ซีบรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายแย่หน่อยเพราะว่าไม่มีเวลาตอบ วันหนึ่ง ๆ อยู่ที่วัดก็หาโอกาสหยุดไม่ได้อยู่แล้ว บางวันนอนใจสั่นริก ๆ เพราะเหนื่อย แต่ว่าเหนื่อยเพราะคนดีก็เต็มใจเหนื่อย เพราะว่าคนแบบนี้เป็นผู้มุ่งธรรมะ แต่เหนื่อยอีกประเภทหนึ่งคือเหนื่อยคนไม่เป็นเรื่อง ประเภทมาหาพระแล้วก็บอกว่าจะดูไอ้นั่น จะดูไอ้นี่ จะดูเนื้อคู่บ้าง จะดูโชคชะตาราศีบ้าง ประเภทนี้เหนื่อยใจแต่ไม่ทำให้ ด้วยไม่มีความจำเป็น หมอดูอาชีพเขาถมไปเรื่องอะไรที่จะมากวนพระ

            จดหมายก็ดี คำถามที่ถามมาเองก็ดี มีความหมายเสมอกัน คือต้องการว่าจะเจริญพระกรรมฐานแบบไหนจึงจะตรงตามอัธยาศัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้และทรงรับรองอย่างมีเหตุมีผล ไม่ใช่บอกว่าปฏิบัติกันเพียงอุปนิสัย นี่ซี ตรงนี้มันยาก บอกมาเสียด้วยว่าตามแบบฉบับน่ะไม่เอา ขอเอาเฉพาะความรู้ ความรู้สึกของท่าน อีอันนี้ไม่ไหวละโยมเอ๋ย ตามใจไม่ได้ ถ้าตามแบบพระพุทธเจ้าไม่เอา เอาตามแบบอาตมาแล้วละก็เสร็จ อาตมาทำให้ละก็มีหวังแน่ ตายแล้วต้องไปอยู่กับหลวงพี่ หลวงพี่อะไร ? หลวงพี่พระเทวทัตไงล่ะ ถ้าขืนทำแบบนั้น ก็แสดงว่าอาตมาเองเป็นเจ้าของศาสนา เป็นการประกาศตนเป็นพระพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่ง อย่างนี้ตายแล้วไม่ไปนิพพาน เห็นจะไปอเวจีกันแน่ แต่ถ้าจะมาถามว่าแบบนี้พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ที่ไหนก็จะค้นให้ ค้นพบก็บอกค้นไม่พบก็ไม่บอก

            มาเรื่องการเจริญพระกรรมฐานเพื่อเป็นการตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานที่พระพุทธเจ้าทรงรับรอง ถ้าหากท่านบรรดาพุทธบริษัทมีความเห็นว่าคือการปฏิบัติความดีในพระพุทธศาสนา เช่นการให้ทานบ้าง การรักษาศีลบ้าง ฟังเทศน์บ้าง เจริญภาวนาบ้าง ทำเป็นเพียงอุปนิสัย แล้วก็ตั้งใจไว้เท่านั้น อาตมาก็เห็นจะต้องพูดว่าขาดทุน ความจริงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าน่ะมีเขตจำกัด พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระเจ้าจะได้บอกว่าอะไร ๆ เป็นเรื่องของพระเจ้าไปหมด ใครทำอะไรก็ทำไว้เพื่อคอยพระเจ้ามาโปรด แต่ว่าของเรานี่เป็นพระพุทธเจ้าไม่ใช่พระเจ้า กัมมัง สัตเต วิภัชชติ พระพุทธเจ้ากล่าวว่ากรรมย่อมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์ ฉะนั้นความดีหรือความชั่วมันอยู่ที่เรา พระพุทธเจ้าตรัสอีกว่า อักขาตาโร ตถาคตา ตถาคตเป็นแต่เพียงคนบอก เมื่อบอกแล้วเธอทำก็ได้ผล ถ้าเธอไม่ทำก็ไม่ได้ผลเป็นเรื่องของพวกเธอเอง นี่พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระเจ้าที่จะมายกใครไปสวรรค์ ไปนิพพาน ไปพรหม อันนี้พระพุทธเจ้าไม่ทรงรับรอง บอกว่าต้องทำเอง เรื่องของการทำเองนี่ พระพุทธเจ้าทรงสอนมีขอบเขต ไม่ใช่ว่าสอนส่งเดชให้ทำเป็นเพียงแต่อุปนิสัย ถ้าครูบาอาจารย์องค์ใดท่านสอนแบบนี้ละก็อย่าเรียนกับท่านเลยนะ

            จะนำคำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้าตรัสกับนิโครธปริพาชก เรื่องท้าทายในด้านการสอนพระศาสนามาเล่าให้ฟัง คือนิโครธปริพาชกเขาเป็นคณาจารย์ใหญ่คนหนึ่ง เขาหาว่าพระพุทธเจ้านี่น่ะโง่ ไม่มีปัญญา เขาท้าว่าอยากจะถามว่าสอนแบบไหนบรรดาสาวกของท่านจึงรับรองมรรคผล แล้วก็ได้บรรลุมรรคผล อันนี้องค์สมเด็จพระทศพลตรัสไว้เป็นระเบียบดีมากที่บรรดาท่านพุทธบริษัทควรปฏิบัติตาม นี่ญาติโยมคงจะอยากถามว่าหลวงตาหัวล้านที่พูดนี่น่ะปฏิบัติตามนั้นบ้างหรือเปล่า อันนี้บอกเลยว่าปฏิบัติแน่ เพราะว่าปฏิปทาแบบนี้หลวงพ่อปานท่านสอนมาตั้งแต่บวชวันแรก สอนว่าแบบฉบับที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ประพฤติปฏิบัติมีอยู่ในสูตร ๆ หนึ่งที่เรียกกันว่าอุทุมพริกสูตร อยู่ในพระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ รัชกาลที่ ๗ ท่านพิมพ์แจกตามวัดเล่มที่ ๑๑ หน้า ๔๑ จำไว้ให้ดีนะ

            เรื่องราวก็มีว่า เอกะทิวะสัง หรือว่า ตัสมิง สมเย ในสมัยหนึ่งก็ยังได้ นี่พระอานนท์ท่านกล่าวไว้ในพระสูตร บอกว่าในวันหนึ่งมีสาวกของพระพุทธเจ้าท่านหนึ่งมีนามว่าสัณฐาน คหบดี เป็นฆราวาส เป็นคนมีสตางค์ ไอ้มีสตางค์นี่ความจริงมันมีกันทุกคน แต่ว่าคหบดีนี่มีสตางค์ค่อนข้างมาก แต่ยังไม่ถึงขั้นเศรษฐี ท่านมีความเคารพในพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกมาก วันนั้นท่านมีความคิดถึงองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมไปด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์ อยากจะไปสนทนาธรรม อยากจะไปฟังเทศน์ เมื่อเวลาว่างจากกิจ นิดหนึ่งท่านก็ออกจากบ้าน แต่มันก็เป็นการบังเอิญจริง ๆ เวลานั้นเป็นเวลาเที่ยงวันพอดี เห็นอากาศร้อนจัด ทีนี้ด้วยมารยาทความเป็นผู้ดีของท่านสัณฐานคหบดี ท่านมีความคิดขึ้นมาในใจว่าเวลานี้เป็นเวลาเที่ยงแล้ว ใกล้จะบ่ายอากาศร้อนจัด เป็นเวลาที่องค์สมเด็จผู้ทรงสวัสดิโสภาค คือพระพุทธเจ้า และบรรดาพระอรหันตสาวกทั้งหลายกำลังจะพักผ่อนกัน ถ้าหากว่าเราไปหาท่านเวลานี้มันก็จะไม่เป็นเรื่องเพราะท่านกำลังจะพักแล้วเราจะไปกวนท่านมันน่าจะไม่ดี

            นี่ท่านฟังแล้วก็จำตรงนี้ไว้ด้วยนะ ว่าคนดีเขาทำยังไงเขาประพฤติปฏิบัติกันยังไง เวลาไปหาพระน่ะควรจะเลือกเวลา ถ้าเวลาเที่ยงวันพระฉันข้าวใหม่ ๆ ให้ท่านมีเวลาพักบ้าง เวลาตอนเย็นพระจะทำวัตรสวดมนต์อย่าไปหาพระ เวลาค่ำคืนควรงดเว้นเด็ดขาด อย่าถือว่าพระเป็นทาสฉัน จะไปหาเมื่อไหร่ก็ได้ ความจริงคนที่มีวิสัยนรกแบบนี้มีเยอะไปหาพระไม่เลือกเวลา ไปแล้วก็จะเลือกใช้เอาตามปรารถนา แล้วก็ต้องทันใจนะ ถ้าไม่ทันใจบางทีก็โกรธ คนประเภทนี้เคยปล่อยให้โกรธกลับบ้านไปนับไม่ถ้วนแล้ว พระนี่แปลว่าประเสริฐ อีกอย่างหนึ่งสมณะแปลว่าผู้สงบ ท่านมาสร้างความไม่สงบให้เกิดแก่พระ แล้วประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนามันจะไปได้ตรงไหน

            เมื่อท่านสัณฐานคหบดีพิจารณาว่าเวลานี้ไม่สมควรจะไปเผ้าพระพุทธเจ้าและพระสาวกเพราะเป็นเวลาพักผ่อน ครั้นจะกลับเข้าบ้าน เอ๊ะ มันก็ไม่เป็นเรื่อง คนเรานี่กลับเข้าบ้านแล้วธุระมันก็มาอีก ดีไม่ดีจะเกิดไม่พบพระพุทธเจ้ากันละวันนี้ ในที่สุดท่านก็เลยตัดสินใจ บ้านยังไม่เข้า ไปหาพระพุทธเจ้าก็ยังไม่ไป เพราะเวลาที่เดินมานั้นมาตรงเข้ากับสถานที่ ๆ นิโครธปริพาชกอาศัยเป็นวัด เรียกว่าอุทุมพริการาม ถ้าแปลเป็นภาษาไทย ก็เรียกว่าวัดดอกบัวนะ แต่ว่าที่วัดนั้นจะมีดอกบัวหรือเปล่าบาลีก็ไม่ได้บอกไว้ ท่านนิโครธปริพาชกกับท่านสัณฐานคหบดีรู้จักกันมานานเพราะว่าสำนักนี้ตั้งอยู่ใกล้บ้าน แล้วก็ถึงก่อนพระพุทธเจ้า จึงคิดว่าทางที่ดีควรแวะเข้าไปคุยกับคณาจารย์วัดนี้เสียก่อนก็ยังดี จึงแวะเข้าไปในวัดดอกบัวอุทุมพริการาม

            เวลานั้นท่านนิโครธปริพาชกสมภารใหญ่ พร้อมไปด้วยบริวารที่เป็นปริพาชก แล้วก็ชาวบ้านที่เป็นบริวารอีก ๓๐๐ คนเศษกำลังนั่นสนทนากันอยู่ เมื่อท่านสัณฐานคหบดีเข้าไปถึงที่แล้ว ก็ทำสัมโมทนียกถา คือว่ากล่าววาจาทักทายปราศรัยกันด้วยความดีในฐานะที่เคยสนิทสนมกันตามสมควร แล้วก็นั่งลงในที่อันสมควร ขณะที่นั่งคุยอยู่กับสมภารใหญ่ มองมามองไป เห็นบรรดาสาวกที่เป็นปริพาชกทั้งหลายไม่มีความเรียบร้อย เล่นซูซี้ ซูกซน เฮฮา จู้จี้จุกจิก เล่นกอดกันบ้าง ปล้ำกันบ้าง ส่งเสียงเอะอะโวยวายบ้าง ท่านสัณฐานคหบดีฟังแล้วก็รู้สึกแคลงใจ รวมความว่าไม่พอใจ จึงกล่าวว่า ท่านนิโครธ สำนักของท่านนี่มันเลวจริง ๆ ลูกศิษย์ท่านไม่เป็นเรื่องเลย ไม่มีการสำรวม สู้สำนักพระสมณโคดมไม่ได้ พระทุกองค์เรียบร้อย สงบเสงี่ยม เวลาเข้าไปคล้าย ๆ กับไม่มีคน ติที่ไหนไม่ติ ดันไปติต่อหน้าประชาชนที่เป็นฆราวาสตั้ง ๓๐๐ คน ยังงี้ถ้าคนไม่ได้เป็นพระอรหันต์ละใครเขาจะทนได้ ในเมื่อท่านนิโครธปริพาชกได้ฟังท่านสัณฐานคหบดีสรรเสริญองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงพระโทสะ ศัพท์นี้มันไม่ถูกหรอก พูดมันส่งเดชไปตามวิสัยคนไม่เป็นเรื่อง นี่พระอรหันต์ปริพาชกเขามีโกรธ แต่พระอรหันต์ในพระพุทธศาสนาไม่มีโกรธ ที่แสดงท่าโกรธแบบลิเกก็มี ความจริงไม่ได้โกรธแต่ว่าทำท่าเหมือนโกรธ เพื่อจะให้บุคคลนั้นละพยศจากความชั่วที่ตัวกระทำอยู่ในฐานะที่เป็นครู เพราะพูดดี ๆ แล้วลูกศิษย์ไม่ฟังก็ต้องแสดงท่าโกรธกันพักหนึ่ง สำหรับท่านนิโครธปริพาชกท่านโกรธจริง ๆ

            พอท่านสัณฐานคหบดีพูดจบ ท่านก็เลยย้อนออกมาว่า นี่ ตาฐาน ! แกมานั่งบูชาหลวงพ่อแกเรื่องอะไร หลวงพ่อแกคือพระสมณโคดมน่ะรึที่แกชมว่าดี แกดูเสียให้ดีซี พระสมณโคดมน่ะสู้หน้าสู้ตาใครบ้าง หลบชาวบ้านเข้าไปอยู่ป่าคล้าย ๆ กับโคตาบอด ไอ้โคตาบอดน่ะมันไม่กล้ารวมหมู่กับโคทั้งหลาย เกรงว่าเขาจะทำร้ายเอา เกรงว่าเขาจะข่มเหงเอาเพราะว่าไม่มีทางสู้ชาวบ้าน ไม่มีทางสู้ใครได้ ก็พระสมณโคดมที่หลบเข้าไปเพราะอะไรรู้ไหม ? ท่านสัณฐานคหบดีนั่งฟังเฉย ดูซิว่าอีตาแก่คนนี้แกจะเพ้ยว่ายังไงบ้าง ตานิโครธแกก็พูดต่อไปว่า พระสมณโคดมน่ะเป็นคนไม่มีปัญญา เพราะว่าเอาปัญญาของตนเองไปทิ้งไว้เสียที่โคนต้นโพธิ์ เอาเข้านั่น ! บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนฟังแล้วก็จำไว้นา ฟังเรื่องของคนที่ไม่ยอมมองดูตัวว่าชั่วหรือดี เลยหาว่าองค์สมเด็จพระชินสีห์เอาปัญญาไปทิ้งไว้ที่โคนต้นโพธิ์ ยังงี้คนที่มีปัญญาเขาก็ฟังรู้ ไอ้เรื่องสติปัญญามันเป็นความรู้สึกของจิต มันจะไปหล่นอยู่ที่ไหนเล่าพ่อเจ้าประคุณเอ๋ย มันไม่ใช่วัตถุ นี่เพราะอาศัยอารมณ์โทสะมันเกิดขึ้นแก่จิต ตามธรรมดาคนที่มีโทสะเกิดขึ้นมันก็มีความโง่เข้ามาสิง ความฉลาดหายไป อย่างนี้น่ากลัวจะไม่ใช่เรียกอรหันต์แล้ว ต้องเรียกว่ากังหัน เพราะมันหมุนไม่หยุด ถ้าอรหันต์ละก็หยุดหมุน ท่านก็พูดว่าปัญญาหล่นหายเสียหมดแล้ว ฉะนั้นจึงไม่กล้าเข้าสู่สมาคม นี่พระสมณโคดมมาที่นี่นะ แกคอยดูซี ฉันจะถามปัญหาข้อเดียวให้นั่งก้มหน้าเป็นหอยโข่งเลย จะทำสภาพเหมือนกับว่าคว่ำหม้อเปล่าลงกับพื้นดิน แสดงว่าเขาถามปัญหาข้อเดียวเท่านั้นแหละ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตอบไม่ได้ ต้องนั่งนิ่งเพราะไม่มีปัญญา

            ในเมื่อท่านสัณฐานคหบดีได้ฟังยังงั้นก็คิดในใจ ความจริงใจท่านไม่ได้โกรธอย่างปริพาชก นี่เพียงแค่ฆราวาส คนมีลูกมีเมีย แต่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้ายังมีอารมณ์ดีกว่านิโครธปริพาชกผู้เป็นเจ้าสำนัก นี่อาตมาพูดนะ จะว่าเข้ากับท่านสัณฐานคหบดี หรือเข้ากับพระพุทธเจ้าก็ตามใจ เวลาพูดนี่ไม่ได้เข้ากับใคร ถือตนเป็นกลาง เราก็มานั่งเปรียบเทียบกัน ท่านนิโครธปริพาชกฟังท่านสัณฐานคหบดีท่านโกรธ ตานี้ท่านสัณฐานคหบดีฟังท่านนิโครธปริพาชกประณามพระพุทธเจ้าไม่ได้โกรธ อย่างนี้บรรดาท่านพุทธบริษัทเห็นไหมว่าใครดีกว่ากัน ความโกรธที่เกิดขึ้นเป็นอำนาจของกิเลส เพราะจิตใจของบุคคลเป็นทาสของกิเลสตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรมมันก็มีทั้งความโลภ ความโกรธ ความหลง เห็นไหมล่ะ ถ้าจิตใจของใครเป็นอิสระไม่เป็นทาส ไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ ไม่มีความหลง ก็แสดงว่าอำนาจกิเลสตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรมไม่สามารถบังคับจิตใจของท่านผู้นั้นได้ จิตใจของท่านผู้นั้นเป็นอิสระ อย่างนี้ ถ้าพวกเราที่รับฟังแล้ว เห็นใครเขาโกรธ ก็ไม่ควรโกรธตอบเพราะว่ารู้สภาพของเขาแล้วว่าคนที่เขาโกรธเรานั่นน่ะ เขาไม่ได้โกรธเอง มีเจ้านายเขาบังคับให้โกรธ เจ้านายของเขาคือกิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรม เนื้อแท้จริง ๆ เขาไม่อยากจะโกรธ เพราะการโกรธเป็นโทษมาก เป็นการทำลายมิตร คนเราถ้าทำลายมิตรก็มีแต่ศัตรู คนที่มีศัตรูต้องมีการหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา จะหลับก็ไม่สนิท จะตื่นอยู่ก็ต้องระวังภัย จะไปอยู่ไหนก็ต้องนั่งเหลียวหน้าเหลียวหลัง เกรงอันตรายจะเกิดขึ้นจากศัตรู นี่คนที่มีศัตรูเพราะอำนาจความโกรธมันจะดีที่ไหน ความจริงคนทุกคนต้องการความสุข ต้องการความเป็นมิตรกับคนทั้งโลก แต่ทว่าอาศัยกิเลสตัณหา อุปาทานอกุศลกรรมเข้ามาบังคับจิตให้ไปโกรธกับชาวบ้านเสีย แสดงว่าท่านที่มีความโกรธ หรือมีความโลภ หรือมีความหลงก็ดี ท่านเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรม ในเมื่อเรารู้ว่าเขาโกรธก็ตาม เขาโลภก็ตาม เขาหลงก็ตาม มันไม่ได้เป็นไปตามสภาวะความจริงของจิตเพราะอาศัยนายสั่ง เราก็ไม่ควรจะไปโกรธทาสหรือโกรธบ่าว ควรจะตำหนินายเขาหรือฆ่านายเขาเสียให้ตาย คือฆ่าต้นเหตุ เมื่อนายมันตายแล้วลูกน้องมันก็ไม่โกรธอีก ไม่โลภอีก ไม่หลงอีก เพราะอะไร เพราะไม่มีนายบังคับ คำว่า ฆ่าในที่นี้ไม่ใช่ฆ่าคน ให้ฆ่ากิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม วิธีฆ่าเขาฆ่ายังไงค่อยฟังกันต่อไป

            ท่านสัณฐานคหบดีฟังด้วยอาการดุษณี แปลว่า นิ่ง ๆ เฉย ๆ ไม่โกรธ แต่ในใจว่าขอให้องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาที่นี่ ถ้าองค์สมเด็จพระชินสีห์เสด็จมาแล้วนิโครธปริพาชกตัวสำคัญที่ท้าทายสมเด็จพระภควันต์ในวันนี้จะต้องจ๋อง หมายความว่าไม่มีทางสู้
            ในระหว่างนั้น องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จประทับบรรทมอยู่ที่บนเขาคิชฌกูฏ ทรงได้ยินเสียงคนสองคนพูดกันด้วยอำนาจทิพโสตญาณ สงสัยไหมล่ะทิพโสตญาณมันเกิดขึ้นได้ยังไง เป็นเรื่องของอภิญญา ไม่อธิบายนะ ถ้าขืนอธิบายก็ยุ่งเพราะคนพูดเองไม่ได้อภิญญา เวลานี้ชาวบ้านด่าไม่เคยโกรธ เพราะอะไร เพราะด่าอยู่ที่บ้านไม่ได้ยิน ไม่โกรธ ถ้ามาด่าให้ได้ยิน ท่าไม่แน่นักเหมือนกัน บางทีอารมณ์จิตมันยังอยากเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทานขึ้นมาบ้างก็ได้

            เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรได้ฟังเขาพูดกันด้วยอำนาจทิพโสตญาณ องค์สมเด็จพระพิชิตมารก็ทรงดำริในพระราชหฤทัยว่า เวลานี้สองคนเขาพูดกัน โต้กันใหญ่ แล้วก็โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการท้าทายขอให้พระสมณโคดมมาที่นี่ เราจะคว่ำหน้าเสียเหมือนกับคว่ำหม้อเปล่าลงกับดิน ทำให้เป็นคนก้มหน้า พูดอะไรไม่ได้ องค์สมเด็จพระจอมไตรฟังแล้วไม่ยักโกรธ นี่ลูกศิษย์ก็ไม่โกรธ อาจารย์ก็ไม่โกรธ แต่ทรงดำริว่า ทางที่ดีตถาคตควรจะไปเพราะการที่ท่านนิโครธปริพาชกบอกว่า "ถ้าพระสมณโคดมมาที่นี่" เป็นการแสดงอาการนิมนต์ ถ้าไม่นิมนต์ก็ไม่ไป นี่เขาพูดนิมนต์นี่ เขาไม่ได้นึกนิมนต์ ต้องไป เมื่อดำริแล้วองค์สมเด็จพระจอมไตรก็เหาะมาจากเขาคิชฌกูฏ มาเต็มอัตราศึกคือเหาะมาเสียด้วย พอเข้ามาใกล้สำนักของท่านปริพาชกใกล้ ๆ กับกำแพงวัด ก็เหาะลงมาที่พื้นดิน เดินจงกรม คือ เดินไปเดินมา เดินมาเดินไป เดินอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ

            เวลานั้นลูกศิษย์ของนิโครธปริพาชกยังเล่นกลแสดงละครกันอยู่ คือ เจี๊ยวจ๊าว เกรียวกราว โวยวาย เอะอะ ซิกซี้ เล่นปล้ำกัน กอดกัน ตามปกติวิสัยของปริพาชก เมื่ออาจารย์ใหญ่เห็นองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา จึงสั่งให้บริวารทั้งหมดงดการเล่น ยังงี้เรียกว่าผักชีโรยหน้า สั่งลูกน้องทั้งหมดบอกให้เงียบ อย่าเล่น อย่าอึกทึกครึกโครมคราม นั่งเฉย ๆ หายใจได้แต่ว่าอย่าหายใจแรง เขาสั่งแบบนี้หรือเปล่าก็ไม่ทราบ ตามใจปากมันอยากจะพูด หายใจได้ แต่อย่าหายใจแรง อย่าพูดนะ ใครอย่าเอะอะโวยวายนะ พระสมณโคดมมาอยู่ใกล้ ๆ วิหารแล้ว ในเมื่อลูกศิษย์ลูกหาของเขาเงียบแล้วเขาก็พูดต่อไปกับท่านสัณฐานคหบดีว่าขอให้พระสมณโคดมมานั่งตรงนี่ซิ เขาเอาอาสนะมาปูไว้ ถ้าพระสมณโคดมนั่งตรงนี้ละ เราจะถามปัญหาข้อเดียวให้นั่งก้มหน้าคล้าย ๆ กับคว่ำหม้อเปล่าลงกับพื้นดินฉะนั้น แน่ะ เอาอย่างนั้นด้วย เป็นอันว่าเขาเก่งมาก

            เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ยินเสียงพูดอย่างนั้นก็ถือว่าเขานิมนต์ให้เข้าใจ เอาละซีเจอะคนจริงเข้าแล้ว เสด็จเข้าไปในวิหาร ท่านนิโครธปริพาชกก็นิมนต์ให้องค์สมเด็จพระพิชิตมารเสด็จประทับบนอาสนะที่จัดไว้ แล้วตัวของเขาเองก็ลงมานั่งอีกอาสนะหนึ่งซึ่งต่ำกว่า นี่รู้สึกว่าจริตเขาดีเหมือนกัน เพราะเห็นว่าองค์สมเด็จพระบรมครูเป็นลูกของพระเจ้าแผ่นดินเลยยอมนั่งต่ำกว่า นี่ความจริงมันไม่เข้าท่า เรื่องของพระนี่จะไปยอมลดราวาศอกให้แก่ชาวบ้านนั้นมันไม่ถูก เขาจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ก็ตาม ต้องนั่งมีอาสนะต่ำกว่าพระเสมอไป นี่ตัวเขาเองเขาถือว่าเป็นอรหันต์แล้วก็เป็นคณาจารย์ใหญ่ ถือว่าพระพุทธเจ้าไม่มีความรู้อะไร แต่กลับยอมลดตัวนั่งลดอันดับลงมาต่ำกว่า เมื่อองค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงนั่งแล้วจึงมีพระพุทธฎีกาตรัสถามว่าปริพาชกและสัณฐานคหบดี นี่เธอกำลังคุยกันเรื่องอะไรล่ะ นี่เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าและเป็นวิสัยของพระอรหันต์ บรรดาท่านพุทธบริษัทฟังแล้วก็จำไว้ให้ดีนะ วิสัยของพระพุทธเจ้าก็ดี วิสัยของพระอรหันต์ก็ดี ถึงจะรู้ว่าใครเขาทำดีหรือทำชั่ว แต่ถ้าตัวเขาไม่บอกก็เลยทำเป็นไม่รู้ แล้วคนที่เครียดอยู่ในศีลจะหาว่าเป็นการมุสาวาทเสียอีกล่ะ เอากันให้เหมาะ ๆ ดูแค่พอดี ๆ นะ การปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าดูแค่พอดี อย่าให้มันเลยดีไป ถ้าเลยดีไปละมันจะไม่พบดี ครั้นองค์สมเด็จพระชินสีห์ตรัสถาม นิโครธปริพาชกก็ทูลตามความเป็นจริง เพราะว่าจะไม่พูดตามความเป็นจริงก็ไม่ได้ ท่านสัณฐานคหบดีนั่งเป็นพยานอยู่ เขาจึงได้กราบทูลองค์สมเด็จพระบรมครูว่า พวกข้าพเจ้าทั้งสองกำลังนั่งคุยกันว่าพระองค์นี่ไม่มีความรู้อะไร ที่ต้องอยู่ป่าอยู่เขาก็เพราะว่าเอาปัญญาไปทิ้งไว้ที่โคนต้นโพธิ์ ทำตนเหมือนโคตาบอดหลบชาวบ้านอยู่ ถ้าหากว่ามาในสถานที่นี้ ข้าพเจ้าจะถามปัญหาเพียงข้อเดียวให้องค์สมเด็จพระบรมครูตอบไม่ได้ นั่งนิ่งคล้าย ๆ กับเอาหม้อคว่ำหน้า หม้อดินเปล่า ๆ คว่ำลงกับพื้นดิน องค์สมเด็จพระมหามุนินทร์ฟังแล้วก็แย้มพระโอษฐ์ ทรงถามว่านิโครธ เธอพูดอย่างนั้นเพื่อความประสงค์อะไร นิโครธก็บอกว่าข้าพเจ้าต้องการอย่างเดียวคือความจริงเท่านั้นว่าพระองค์สอนสาวกของพระองค์ด้วยธรรมใด ที่สาวกของพระองค์ปฏิบัติตามแล้วมีผลตามนั้น

            ทรงตอบว่า นิโครธ เธอมีทิฏฐิอย่างหนึ่ง (หมายความว่ามีความเห็นอย่างหนึ่ง) แล้วเราเองก็มีความเห็นอย่างหนึ่ง เธอจะมาถามจริยาที่เราสอนลูกศิษย์ลูกหาของเราว่าเราสอนแบบไหนลูกศิษย์ของเราจึงยืนยันพรหมจรรย์ แล้วก็มีมรรคผลตามที่เราสอน อันนี้มันเป็นของไม่ยาก เธอมาถามสตางค์ในกระเป๋าตถาคต (นี่เป็นวาทะของอาตมาเองนะ พระพุทธเจ้าไม่เคยพูดเรื่องสตางค์) อันนี้เปรียบเทียบให้ฟังว่าเธอมาถามสตางค์ในกระเป๋าของเราทำไมเราจะไม่รู้ ทางที่ดีเธอควรจะถามสตางค์ในกระเป๋าคนอื่นซีให้เราตอบ ยังงี้มันจะยากกว่า นี่เปรียบเทียบให้ฟังแต่ว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่พูดอย่างนั้น ท่านพูดแบบนี้ว่า การที่เธอถามลัทธิประเพณี หรือแบบแผนแห่งการสอนลูกศิษย์ว่าเราสอนแบบไหนลูกศิษย์ของเราจึงยืนยันพรหมจรรย์และมีมรรคผลตามนั้น อันนี้เป็นของไม่ยากเพราะเป็นเรื่องของเราเอง ทางที่ดีเธอควรถามว่าครูบาอาจารย์ของเธอน่ะสอนกันแบบไหน เรารู้เรื่องของพวกเธอบ้างไหม แล้วแบบฉบับที่ครูบาอาจารย์ของพวกเธอสอนน่ะมันเป็นยังไง มีอะไรบ้างควรจะถามแบบนี้ ในเมื่อองค์สมเด็จพระชินสีห์ตรัสแบบนั้น บรรดาปริพาชกอันธพาล คือลูกศิษย์ของนิโครธปริพาชกทั้งฆราวาสและบรรพชิตก็ส่งเสียงเอะอะโวยวายว่าพระสมณโคดมนี่แปลก เขาถามอย่างนี้ไม่ตอบ แอบไปตอบอย่างโน้นมันจะใช้ได้ที่ไหน นี่ว่ากันตามภาษาไทยแท้นะ เมื่อลูกศิษย์ลูกหาเอะอะโวยวาย นิโครธปริพาชกก็ให้ลูกศิษย์ของตนสงบ แล้วจึงได้ถามต่อไปว่า ถ้าอย่างนั้นขอพระองค์ตรัสว่า ตโปชิคุจฉะ คือ กิริยาที่เกลียดบาปในสำนักของข้าพเจ้าก็ดี ในสำนักบรรดาปริพาชกทั้งหลายเหล่าอื่นก็ดี ดียังไง ไหนขอพระสมณโคดมจงบอกไปตามที่ท่านรู้ นี่ว่ากันแบบใจความ

            องค์สมเด็จพระบรมครูจึงได้มีพระพุทธฎีกาว่าถามแบบนี้น่ะดี เอาละเมื่อเธอถามมาเราจะตอบ นี่ตามบาลี วันนี้กางบาลีนะ ตอนนี้ต้องกางบาลีเพราะจำมาไม่ได้หมด เวลาแปลภาษาบาลีถ้าเวลากระชั้นชิดแบบนี้ มันพลาดไปบ้างก็ขออภัยด้วย ต่อจากนั้นองค์สมเด็จพระจอมไตรจึงได้ตรัสว่านี่แน่ะนิโครธ คนที่ทำความเพียร(ภาษาบาลีท่านเรียกว่าตบะ) คนที่ทำความเพียรเพื่อเป็นเครื่องเผาบาป แต่เป็นการทรงไว้ซึ่งทุกขกิริยา ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นอัตกิลมตานุโยค เป็นการทรมานตนโดยไร้ผล หาประโยชน์มิได้ ตามลัทธิของพวกเธอและครูบาอาจารย์ของเธอ แล้วก็ครูของครู ครูของครูเธอ เป็นลำดับขึ้นไปหลายสิบชั่วคนแล้วเขาปฏิบัติกันอย่างนี้ เราจะพูดให้ฟัง คือว่าหนึ่ง ไม่ยอมนุ่งผ้า นี่ประเภทที่เขาเรียกกันว่าชีเปลือย เดินแก้ผ้าโทง ๆ ๆ ไปอวดเชปทุกอย่างอย่างนี้ก็มี แล้วก็อีกประการหนึ่งไม่รักษามารยาทใด ๆ เรียกว่าปล่อยมันไปตามเรื่อง จะเอะอะโวยวาย เอะอะมะเทิ่งประเภทไหน จะหกคะเมนเกนเก้ยังงี้ก็ได้ ไม่สงวนมารยาท นี่ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็เช็ดอุจจาระด้วยมือ (คือเวลาถ่ายอุจจาระมาแล้ว ไม่หาภาชนะอื่นมาสำหรับเช็ด ใช้มือเช็ด ดีเหมือนกันลดค่าครองชีพ) แล้วก็ไม่ยืนรับบิณฑบาตที่เขาบอกว่าจงมาข้างนี้ (นี่หมายความว่าเขายืนคอยใส่บาตรอยู่ พอเดินเข้าไปใกล้ เขาบอกว่านิมนต์เจ้าข้า นิมนต์มารับทางนี้น่ะไม่เอา แน่ะ เคร่งเสียด้วย) แล้วก็ไม่รับบาตรที่เขาบอกว่า จงหยุดก่อน (นี่หมายความว่าเวลาเดินไป คนเขาออกมาทำท่าจะไม่ทัน เห็นท่าจะไม่ได้เรื่อง เดี๋ยวจะต้องวิ่งตามใส่บาตร ก็ลงนั่งยกไหว้บอก หยุดก่อนเจ้าข้า นิมนต์ก่อนเจ้าข้า อันนี้เขาไม่ยอมรับ) ต่อไป ไม่รับบิณฑบาตที่เขานำมาให้เฉพาะ(หมายความว่าเขาทำให้เฉพาะอยู่ที่วัดหรืออยู่ที่สำนัก เขาทำมาแล้วบอกว่านี่ผมทำมาถวายหลวงพ่อขอรับ แบบนี้ฉันเคร่ง ไม่เอา) อีกข้อหนึ่งไม่รับบิณฑบาตที่เขากระทำไว้โดยเฉพาะตัว (นี่หมายความว่าเวลาจะใส่บาตร เขาเตรียมไว้ว่าหลวงตาองค์นั้นถ้ายังไม่มาไม่ใส่ให้ใคร ถ้าหลวงตาองค์นั้นมาเมื่อไรถึงจะใส่ให้) ข้อต่อไป ไม่ยินดีต่อการนิมนต์ (ใครนิมนต์ไปฉันที่บ้าน สวดมนต์เช้าสวดมนต์เย็น ไม่เอา ทำท่าเคร่งว่าฉันเป็นคนมักน้อย) แล้วข้อต่อไป ไม่รับบิณฑบาตจากปากหม้อข้าว (เอาเข้ายังงั้น หมายความว่าข้าวที่ยังไม่ตัก ที่เขาหุงใหม่ ๆ น่ะ ถ้าไปตักข้าวจากปากหม้อมาใส่บาตร อันนี้ไม่เอา) ข้อต่อไปไม่รับจากปากกระเช้า (หมายความว่าเวลาที่เขาทำไร่ทำนาน่ะ เขาหาบใส่กระเช้าไปส่งกัน เขาเห็นพระตั้งใจจะถวายท่าน ก็เลยตักข้าวที่เขายังไม่ได้ตักไว้ก่อนที่มีอยู่ในกระเช้ามาใส่บาตรให้ อันนี้ไม่เอานี่เคร่งจัด เก่งมาก) ข้อต่อไป ไม่รับในระหว่างแกะ (หมายความว่าคนใส่บาตรยืนอยู่ ถ้าบังเอิญแกะมีอยู่นี่ไม่รับ) แล้วข้อต่อไปไม่รับในระหว่างครก (ถ้าคนใส่บาตรยืนอยู่ระหว่างครกซ้อมข้าวไม่รับ) แล้วข้อต่อไป ไม่รับในระหว่างสากตำข้าว ไม่รับในระหว่างไม้ค้อน ไม่รับบิณฑบาตของคน ๒ คนที่กำลังกินกันอยู่ ไม่รับบิณฑบาตของหญิงมีครรภ์ ไม่รับบิณฑบาตของหญิงแม่นม ไม่รับบิณฑบาตของหญิงที่ไปสู่ระหว่างบุรุษ ไม่รับบิณฑบาตที่เขาจำกัดไว้ ไม่รับบิณฑบาตที่มีสุนัขยืนอยู่ด้วย ไม่รับบิณฑบาตในที่มีแมลงวันเกาะอยู่ (สะอาดจัง) แล้วข้อต่อไป ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มน้ำที่มีแกลบ นี่ว่ากันถึงเรื่องไม่ ๆ นะ ถ้าฟังกันแล้วนะ รู้สึกว่าเขาเคร่งครัดมาก

            นักบุญประเทศไทยเวลานี้ที่ประกาศตนเป็นพุทธศาสนิกชน ชอบขลัง นี่บังเอิญไปเจอะพระเดินแก้ผ้าเข้า บางทีก็จะชอบเหมือนกัน แล้วบางทีไปเจอะเอาพระชั้นดีเอามือเช็ดอุจจาระด้วยตนเองแล้วเอามาล้างให้มันสะอาดบางทีก็อาจจะชอบเหมือนกัน เคยเห็นมาแล้ว และเคยได้ยินบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทปรารภบอกว่าแหม พระวัดนั้นน่ะเคร่งจัง ฉันข้าวเวลาเดียว นี่ เห็นพระฉันข้าวเวลาเดียวก็เห็นเป็นของอัศจรรย์ ความจริงมันก็เรื่องธรรมดา ๆ ไม่เห็นมันมีอะไร บางทีก็บอกว่าพระวัดโน้นน่ะ แหมท่านดีจริง ๆ กับข้าวกับปลาอาหารการบริโภค ทุกอย่างที่ส่งไปท่านสำรวมฉันกันไปหมด มีแกงกี่อย่าง มีต้มกี่อย่าง มีผัดกี่อย่าง มีเครื่องจิ้มกี่อย่างเทลงไปในจานเดียวกันแล้วก็ฉัน ดูท่าทางท่านเคร่งครัดดีบางทีก็บอกว่า โอ๊ะ พระวัดโน้นน่ะดีจัง แหมเนื้อสัตว์ก็ไม่ฉัน ฉันแต่เจอย่างเดียว นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท ท่านพุทธศาสนิกชนของเราเวลานี้ท่านเป็นคนตื่นแล้ว หมายความว่าเป็นคนไม่หลับ แต่บางคนตื่นเสียจนไม่มีโอกาสจะหลับ หมายความว่าไปเห็นพระฉันข้าวเวลาเดียวเข้าเห็นว่าเป็นการปฏิบัติเป็นอัจฉริยะ เลิศ ประเสริฐ เคร่งครัด ความจริงนั่นไม่ใช่ของแปลกอะไร มันเป็นของธรรมดา ๆ จะกินข้าวเวลาเดียวหรือกินข้าว ๒ เวลา มันไม่ใช่เรื่องของมรรคผล มรรคผลที่เราจะพึงได้น่ะมันเรื่องของจิตใจ ไม่ใช่เรื่องของการกินข้าว แล้วบางทีไปพบพระที่เป็นมังสวิรัติไม่ฉันเนื้อปลา ไม่ฉันเนื้อสัตว์ทั้งหมด ฉันเจ บอกว่าเป็นของอัศจรรย์ถือว่าเป็นของวิเศษ เป็นผู้มีกามราคะอันตกแล้ว นี่ที่เชื่ออย่างนั้นก็เชื่อเพราะความโง่ ไม่ใช่มีใครฉลาด พระเทวทัตเคยขอพรให้องค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าขอจงห้ามพระทั้งหมดจงอย่าบริโภคเนื้อสัตว์ เพราะว่าถ้าพระบริโภคเนื้อสัตว์ บรรดาชาวบ้านก็จะฆ่าสัตว์ถวายพระ เป็นการส่งเสริมบาป ขอให้พระทุกองค์ฉันเจ พระพุทธเจ้าไม่ยอมอนุญาต เพราะเห็นว่าเป็นการลำบากแก่ชาวบ้าน ชาวบ้านจะต้องทำอาหารเป็น ๒ แบบ เขากินเนื้อเราไม่กิน เวลาเขาถวายก็ต้องจัดอาหารใหม่ ดีไม่ดีพระนั่นแหละจะอดตายเพราะหาอาหารเจไม่ได้เลยไม่ต้องกินกัน มันไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร พระต้องทำตนเป็นคนเลี้ยงง่าย เรื่องกินเจแบบนี้อาตมาเคยพิสูจน์มาแล้ว ๓ ปี อะไรที่เขาว่าดีก็ลองทดลองมา นี่ไม่ใช่คุยโม้นา เดี๋ยวนี้ยังกินมะเขือจิ้มน้ำปลาถั่วได้แบบสบาย ๆ เพราะล่อมาจนชิน มะเขือดิบ ๆ นี่แหละ ดีไม่ดีเอาหัวหอมที่เขาใส่พริกนั่นน่ะ มาจิ้มกับเกลือฉันได้แบบสบาย ๆ จะพิสูจน์กันก็ยังได้ ฉันเจมาจนชิน ๓ ปี ไม่เห็นว่า โลภะ โทสะ โมหะ มันลดไปสักนิดหนึ่งนี่ มันดีเท่าไรก็ดีเท่านั้น

            ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ที่แล้วมา พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับนิโครธปริพาชกในด้านจริยาของบรรดาปริพาชก หรือที่เรียกว่าเดียรถีย์ทั้งหลาย คำว่าเดียรถีย์นี้ อย่าพึงไปตำหนิกันว่าชั่วนะ เราเองก็จัดว่าเป็นเดียรถีย์เหมือนกัน คือว่าถ้าเราเคารพเฉพาะพระพุทธศาสนา ศาสนาอื่นเราไม่เคารพ อันนี้เราก็เป็นเดียรถีย์ของศาสนาอื่น เพราะคำว่าเดียรถีย์นี่แปลว่าภายนอก หมายความว่า นอกขอบเขตของวงจำกัดในนั้น เราไม่นับถือศาสนาของเขา เราเป็นคนนอกวงของเขา เราก็เป็นเดียรถีย์ของเขา ไม่น่าจะโกรธ ถ้าใครเขามาเรียกเราว่าเดียรถีย์ กิริยาที่เขาให้แล้วไม่รับของบรรดาปริพาชกและเดียรถีย์ทั้งหลายมีหลายแบบด้วยกันตามที่กล่าวมา แต่ทุกแบบองค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตำหนิว่าไม่ใช่เป็นเรื่องดี การไม่ดื่มสุราเมรัยนี่ ความจริงก็ชื่อว่าดี แต่ว่าที่เขาไม่ดื่มนั้นก็เพื่อจะทำให้ชาวบ้านเห็นว่าเขาเป็นคนวิเศษ ไม่ได้ทำด้วยจิตเป็นกุศล ไม่ใช่เนื้อแท้ของจิต นี่พระพุทธเจ้าจึงทรงตำหนิว่าไม่ใช่ดี ถ้าจะดีจริง ๆ ละก็เราไม่ต้องทำเพื่ออวดชาวบ้าน ไอ้ที่แล้ว ๆ มาที่กล่าวมาทั้งหมดน่ะ มันเป็นกิริยาอวดชาวบ้านทั้งนั้น ไม่ได้ทำเพื่อมรรคเพื่อผล เป็นการปฏิบัติภายนอก เป็นการปฏิบัติเกี่ยวกับร่างกายไม่ใช่จิตใจ ส่วนจิตใจที่ทำแบบที่อวดว่าตนเป็นคนดีกลายเป็นมานะไป มานะตัวนี้ ไม่ได้แปลว่าขยัน แต่แปลว่าถือตัวถือตน ทะนงตนว่าเป็นผู้วิเศษ คนเราถ้าลงคิดว่าตัวเองวิเศษเสียแล้วก็ขึ้นชื่อว่าความสกปรกมีมาก เพราะตามธรรมดาท่านผู้วิเศษจริง ๆ ท่านไม่ได้เห็นว่าอะไรเป็นของดีเลยในส่วนของร่างกายในส่วนที่เป็นทรัพย์สิน กิริยายังไงเป็นไปเพื่อความสะดวกไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม ไม่เป็นการเบียดเบียนตนและคนอื่น ท่านทำทุกอย่าง อย่างกับคนมีครรภ์เขาใส่บาตรนี่มันเรื่องอะไรที่จะไม่รับคนมีลูกเขาใส่บาตร ทำไมจึงจะไม่รับ มองเห็นง่าย ๆ ไม่เห็นเสียหายตรงไหน ในเมื่อจิตใจเขาปรารถนาจะตัดโลภะความโลภในจิต ทำไมจึงไม่รับ ไอ้ที่ไม่รับก็เพราะทำเบ่งตนเป็นคนเคร่งไม่ใช่อะไร นี่แสดงว่าภายนอกทำท่าจะดี แต่ส่วนภายในนี้สกปรกเหลือหลาย ใช้ไม่ได้

            ทีนี้ มาว่ากันต่อไปถึงเรื่องการรับบ้าง พระพุทธเจ้าตรัสต่อไปอีกว่าตบะสำหรับการปฏิบัติเพื่อเป็นการเผาผลาญกิเลสมีอยู่แบบหนึ่งคือการรับ มี หนึ่ง รับบิณฑบาตเฉพาะเรือนหลังเดียวก็กินข้าวคำเดียว ฮึ่ ฟังเขาดู ดูซีเขาทำกัน ถ้าหากว่าไปบิณฑบาตเฉพาะบ้านหลังเดียวนะ กินข้าวคำเดียว รับบ้านสองหลังกิน ๒ คำ ๗ หลังกิน ๗ คำ นี่มันได้อะไรขึ้นมา มันได้แค่ทางกาย ทำให้กายลำบากมันได้อะไรขึ้นมา ต่อไป เลี้ยงชีวิตด้วยอาหารที่หญิงคนเดียวให้ แน่ ! หมายความว่ากินเฉพาะของหญิงคนเดียวให้ คนอื่นให้ไม่กิน แล้วก็เลี้ยงชีวิตด้วยอาหารที่หญิงสองคนให้ก็มี สามคนให้ก็มี เจ็ดคนให้ก็มี คนอื่นให้ไม่กิน ดูเขาไป แล้วมันจะเป็นอรหันต์กันตรงไหนนี่ ปรารภในเรื่องของทางกายเท่านั้น จิตใจไม่ได้คิดไม่ได้มุ่ง ไม่ได้สร้างความสะอาดให้แก่จิต ต่อไป กินอาหารวันละ ๑ ครั้งก็มี ๒ ครั้งก็มี ๗ ครั้งก็มี ๑๕ ครั้งก็มี ไอ้นี่มันกินยังไงตั้งวันละ ๑๕ ครั้ง ฟังไป กินแต่ผักดองก็มี กินแต่ข้าวตังก็มี กินแต่ลูกเดือยก็มี กินแต่ข้าวนก กินแต่ข้าวเม็ดเล็ก ๆ สั้น ๆ กินแต่ข้าวเย็น กินแต่ข้าวหัก กินแต่ยางไม้ก็มี กินแต่หญ้าก็มี นี่แย่หน่อย ไปแย่งอาชีพควาย นี่ไม่เป็นเรื่อง กินแต่ขี้โคก็มี เอ๊ะนี่ถ้าจะล่อขี้วัวเข้าไปแล้ว กินแต่ลูกไม้หัวเผือกหัวมันป่า กินแต่ผลไม้หล่นเองอย่างนี้ ญาติโยมที่กำลังตื่นอยู่ไปเห็นเข้าละความเลื่อมใสแหง ขนาดเจอะพระกินข้าวหนเดียว กินเจ กินสำรวมยังเลื่อมใสเสียเต็มประดาแล้ว ไปโดนแบบนี้เข้ามิเลื่อมใสใหญ่รึ

            ตานี้ก็มาถึงเรื่องนุ่ง นุ่งแต่ผ้าป่านก็มี ผ้าเปลือกปอก็มี ผ้าห่อศพก็มี ผ้าที่เก็บมาจากกองหยากเยื่อก็มี ผ้าเปลือกไม้ก็มี หนังสัตว์ก็มี หนังเสือก็มี ผ้ากรองด้วยหญ้าคาก็มี กรองด้วยเปลือกปอก็มี กรองด้วยขนไม้ก็มี ทอด้วยผมคนก็มี ทอด้วยขนสัตว์ ทอด้วยขนปีกนกเค้า โอ้โฮแย่ จะไปหานกเค้าที่ไหนเล่าพ่อคุณ

            เรื่องอื่นก็มี ถอนผมและหนวด นั่งกับพื้นอย่างเดียว นั่งยอง ๆ อย่างเดียว นอนบนหนามก็มี นอนบนแผ่นกระดาน นอนบนที่ปูด้วยหญ้า นอนตะแคงข้างเดียว ไม่อาบน้ำ อยู่แต่ในที่แจ้ง นั่งตามแต่จะได้ กินอาหารแปลก ๆ อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง เป็นกิจวัตรก็มี

            เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถึงตรงนี้ก็ถามนิโครธว่า นี่แน่ะนิโครธ เราขอถามเธอว่าเมื่อเป็นอย่างนี้ ตโปชิคุจฉะ บริบูรณ์หรือไม่บริบูรณ์ ก็มันเป็นลัทธิของเขานี่ เขาก็เลยกราบทูลว่าบริบูรณ์พระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า นี่แน่ะนิโครธ ถึงจะว่ากิริยาเกลียดบาปบริบูรณ์อย่างนี้ เราก็กล่าวว่าไม่เป็นเรื่อง มีอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองอยู่มาก ไม่บริสุทธิ์เลย ใครที่กินแต่ผักไม่กินละจำให้ดีนะ เพราะอะไร เพราะว่ากิริยาอย่างนี้เป็นอัตตกิลมถานุโยค เป็นการทรมานตน เมื่อการทรมานตนเกิดขึ้นมันก็เกิดความลำบาก มีแต่ความเร่าร้อน บรรดาท่านพุทธบริษัทก็ช่วยคิดด้วยว่ากิริยาที่ปริพาชกเขาปฏิบัติกันแบบนี้น่ะ เขาปฏิบัติปลดใจกันตรงไหน กิเลสน่ะมันมีที่ใจนะ ถ้าปลดกิเลสจากใจเสียตัวเดียวกิเลสจากกายมันก็ไม่มี พระพุทธเจ้าทรงตำหนิว่าไม่บริสุทธิ์มีอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองอยู่มาก ถ้าท่านเป็นพุทธสาวก เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเราละก็ ตามที่กล่าวมานี้ อย่าไปหยิบเอามาใช้เข้านะ ถ้าไปหยิบมาใช้มันจะเกิดไม่พบดี แล้วท่านจะไปหาดีได้ที่ไหน

            ทีนี้ตอนต่อไป องค์สมเด็จพระจอมไตรยังพูดอีก ยังไม่หมดนี่ พระพุทธเจ้าของเราเป็นสัพพัญญูจริง ๆ เรื่องของเขาก็รู้ ไม่ใช่รู้แต่เรื่องของตัว พระองค์ตรัสต่อไปว่านี่ นิโครธปริพาชก เรื่องนี้มันไม่บริสุทธิ์นา ถึงแม้จะทำครบถ้วนสมบูรณ์มันก็ไม่ดี แล้วทำกันไปทำไม นิโครธจึงทูลถามองค์สมเด็จพระจอมไตรว่าอย่างไรเล่าพระเจ้าข้าจึงจะถือว่าการปฏิบัติเพื่อเป็นการละบาปเกลียดบาปจึงจะบริบูรณ์ดี อันนี้องค์สมเด็จพระชินสีห์ตรัสตอบไว้ว่า นี่แน่ะนิโครธ ผู้ทำความเพียรแล้วยึดมั่นในความเพียรของตัว ดีใจในความเพียรนั้น มีความดำริเต็มไปด้วยความเพียรนั้น หมายความว่าไม่เอาของใครละ อันนี้เป็นอุปกิเลสอย่างหนึ่ง ผู้ทำความเพียรยกตนข่มบุคคลอื่นก็เป็นอุปกิเลสอย่างหนึ่ง ระวังนะ ไอ้เรื่องข้าดีกว่าแกนะ แกจะมาสู้ข้าไม่ได้นะ สำนักแกเป็นสำนักสมถะ สำนักข้าเป็นสำนักวิปัสสนา ข้าหนึ่งนาแกอย่ามาแข่งกะข้า อย่างนี้เป็นอุปกิเลสนะ อุปกิเลสแปลว่าเข้าถึงความเศร้าหมองของจิต ก็หมายความว่าไม่มีทางจะมองเห็นพระนิพพานยังไงล่ะ ดีไม่ดีย่องไปนรกนั่นแหละ ต่อไป ผู้ทำความเพียรดีใจด้วยลาภสักการะและสรรเสริญอันเกิดด้วยความเพียรก็เป็นอุปกิเลสอย่างหนึ่ง นี่ระวังไว้ วางใจให้มันดีเฉย ๆ ไอ้ตรงดีไม่ดีนี่มันไม่ได้อยู่ที่ลาภ ไม่ได้อยู่ที่สรรเสริญ มันอยู่ที่การปลดใจให้บริสุทธิ์ ต่อไป ผู้ทำความเพียรยกตนข่มผู้อื่นด้วยลาภสักการะที่เกิดด้วยความเพียรนั้น ก็เป็นอุปกิเลสอย่างหนึ่ง นี่หมายความว่าข่มชาวบ้านนะ โอ๊ย ลูกศิษย์ลูกหาฉันเยอะ ลาภสักการะฉันเยอะใคร ๆ ก็ชอบฉัน แกจะมาสู้ฉันได้รึ นี่อย่างนี้พระพุทธเจ้ากล่าวว่าสร้างกิเลส ทีนี้พวกทำความเพียรมัวเมาด้วยลาภสักการะและสรรเสริญ อันเกิดด้วยความเพียรนั้น เป็นอุปกิเลสอีกอย่างหนึ่ง คือว่าเมาด้วยลาภสักการะ ต่อไปผู้ทำตบะเลือกอาหารว่าสิ่งนี้สมควรแก่เรา สิ่งนี้ไม่สมควรแก่เรา แล้วทิ้งสิ่งที่ตนเห็นว่าไม่สมควรเสีย ติดอยู่ในสิ่งที่ตนเห็นว่าสมควร อ๋อ ข้อนี้หมายความเช่นอย่างว่า นี่ เวลานี้ฉันกินเจนะ แกอย่าเอาอาหารคาวมาให้ฉันกิน หรือว่าฉันกินของสดคาว แกอย่าเอาอาหารเจมาให้ฉันกิน ท่านกล่าวว่าไม่เห็นโทษในสิ่งนั้น ไม่มีปัญญาสละสิ่งนั้น เป็นอุปกิเลสอย่างหนึ่ง คือหมายความว่าเรื่องอาหารนี้มันไม่สำคัญ ถ้าไม่เป็นโทษเสียอย่างเดียวล่อดะเข้าไปเลย คือสมณะต้องทำตนเป็นบุคคลผู้เลี้ยงง่าย กินเพื่อยังอัตภาพให้เป็นไป จะมานั่งเลือกกันยังไง เลือกแบบนั้นก็หมายความว่าเอาจิตเข้าไปพัวพันกับกิเลส เป็นโทษท่านว่าอย่างงั้น ข้อต่อไปผู้ทำความเพียรยึดมั่นในความเพียรเพราะเห็นแก่ลาภสักการะ สรรเสริญ ที่พระราชา มหาอำมาตย์ พราหมณ์ คหบดี เดียรถีย์จะสักการะบูชาเรา ด้วยอุปกิเลส ข้อต่อไปผู้ทำตบะคือความเพียรรุกรานพราหมณ์หรือสมณะอื่นว่าเจ้านี่ทำไมถึงมีอาชีพมากนักกินไม่เลือก คือกินพืชอันเกิดจากราก เกิดจากลำต้น เกิดจากผล เกิดจากยอด ฟันของเจ้านี่เคี้ยวไม่รู้จักหยุดหย่อน แต่ยังกล่าวตนว่าเป็นสมณะ ดังนี้ท่านกล่าวว่าเป็นอุปกิเลส อีกอย่างหนึ่ง นี่คือนั่งค่อนขาดชาวบ้านเขา คิดอิจฉาริษยาเขาว่ามันมีถิ่นเยอะนักนี่ เจ้านี่กินดะไม่เลือก ไม่เหมือนเรา ไม่ค่อยมีจะกิน เอ้าต่อไป ผู้ทำความเพียรได้เห็นสมณะหรือพราหมณ์คนใดคนหนึ่งมีผู้เคารพสักการะนับถือบูชามากในตระกูลทั้งหลายก็คิดว่าพวกนี้สักการะเคารพนับถือบูชาผู้ที่มีการกินมากแล้ว คนตะกละก็มีมากอยู่แล้ว ไม่เคารพสักการะเรานับถือเรา อย่างนี้พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเป็นอุปกิเลส เห็นไหมล่ะอิจฉาชาวบ้านเขา มีหรือเปล่าก็ไม่รู้ บางทีใครเป็นลูกศิษย์ฉันแล้วแกอย่าไปอยู่กับคนอื่นนา อย่าไปรับฟังคนอื่น ถ้าไปรับฟังคนอื่นละแก เสร็จ ใช้อะไรไม่ได้ ฉันคนเดียวเท่านั้นเป็นผู้วิเศษ ต่อไป ผู้ทำความเพียรนั่งในที่คนทั้งหลายจะพึงเห็น หมายความว่าไปนั่งหลับตาปี๋เพื่ออวดชาวบ้านว่าฉันเป็นนักสมถะ วิปัสสนา นี่เป็นกิเลสเห็นไหม จำไว้ด้วยนะ อีท่านี้เจอะเยอะ ไปนั่งหลับตาอวดชาวบ้านเขา ไปเดินจงกรมอวดชาวบ้านเขา ทำให้มันถูกนา พ่อคุณนา ทีนี้อีกข้อหนึ่งว่า ผู้มีความเพียรเที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย บอกว่าสิ่งนี้เป็นความเพียรของเรานี่เราปฏิบัติแบบนี้นะ ไปอวดชาวบ้านเขา โอ้โฮอีที่ฉันปฏิบัตินี่มันแจ๋วแหวว แกอย่าไปเชื่อคนอื่น นี่ท่านบอกว่าเป็นอุปกิเลสเสียอีกแล้ว อวดก็ไม่ได้ ไปโชว์ก็ไม่ได้ ทำเงียบ ๆ ซีพ่อคุณ มันบรรลุก็บรรลุเองซี ไม่บรรลุก็ช่างมันไปอวดชาวบ้านเขาทำไมล่ะ ข้อต่อไป ผู้ทำตบะซ่อนโทษ คือว่าความเห็นมีอย่างหนึ่งเข้าไว้ เวลาถูกถามว่าสิ่งนี้น่ะ ควรแก่ท่านรึ หมายความถึงสิ่งที่เราไม่ได้ทำ แต่มันดี เลยบอกว่าโอ๊ย สิ่งนั้นน่ะ ฉันทำเป็นปกติ อีกสิ่งหนึ่งทำอยู่ บอกว่าเปล่าฉันไม่ทำหรอก ไอ้แบบเลว ๆ อย่างนั้นฉันไม่ได้ทำ แกล้งกล่าวเท็จเสียอย่างนี้ พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเป็นอุปกิเลสอย่างหนึ่ง ต่อไป ผู้ทำความเพียรมีความโกรธเป็นอุปกิเลสอีกข้อหนึ่ง นี่เราจะละความชั่วนะ ยังมาสร้างความโกรธความเคียดแค้นให้เกิดขึ้น แล้วก็มีความผูกโกรธเข้าไว้ คือเก็บความโกรธไว้นาน ๆ โก้ดี ความโกรธมันเป็นไฟ แล้วก็ไฟประเภทเผาผลาญ ผลาญทั้งจิตใจ ผลาญทั้งร่างกาย คนที่โกรธเขากินไม่ได้นอนไม่หลับ วางแผนการฉันจะประทุษร้ายแก จะแก้มือแก ในขณะที่นอนคิดวางแผนอยู่นั่น คนที่ถูกจองล้างจองผลาญเขายังไม่รู้ตัว ยังนอนหลับสบาย แต่ตัวเองกลับกลายเป็นคนกินไม่ได้นอนไม่หลับ ร่างกายก็ทรุดโทรมลงมา แก่เร็ว ประสาทไม่ดี ร่างกายไม่ปกติ ในที่สุดก็ตาย ต่อไป มีความลบหลู่ดูถูกชาวบ้านชาวเมืองหรือดูถูกคนอื่นว่าใครหนอจะดีเท่าฉัน อย่างนี้พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเป็นอุปกิเลสอีกอย่างหนึ่ง

            ต่อไป มีความอิจฉาริษยา เห็นใครเขาดีทนอยู่ไม่ไหว ลูกศิษย์ของเราจะไปหาคนอื่นไม่ได้นะ นี่ฟังคำสอนจากฉันแล้ว อย่าไปฟังคำสั่งสอนจากบุคคลอื่น คนอื่นไม่ดีเท่าฉัน ถ้าไปหาคนอื่นเมื่อไรถือว่าคนนั้นไม่ใช่ลูกศิษย์ของฉัน ฮึ่ นี่มันตัวระยำนะ เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีคนมาบอก สำนักเดียวกัน เรียนจากอาจารย์เดียวกัน แต่พออาจารย์ตาย ทุกคนก็เลยตั้งตนเป็นอาจารย์อยู่ในบริเวณเดียวกัน แต่ลูกศิษย์ของคนนี้จะไปหาคนโน้นไม่ได้ ลูกศิษย์ของคนโน้นจะมาหาคนนี้ไม่ได้ ห้าม นี่มันเข้าในริษยาตัวนี้นะ แล้วก็เข้าในความตระหนี่ คือหวงลูกศิษย์ หวงลูกศิษย์ก็หมายความว่าหวงดีหวงลาภสักการะ เกรงว่าลูกศิษย์ไปพบคนอื่นแล้วไอ้ตัวลาภสักการะก็จะหมดไป แบบเดียวกับสัญชัยปริพาชก พวกนี้ไม่เป็นเรื่อง ต่อไปก็ ความโอ้อวด ของฉันแน่กว่า เธอจะไปหาเขาทำไม มีมายา เจ้าเล่ห์ดีไม่ดีทำนั่งหลับตาปี๋ว่าฉันนี่เป็นอรหันต์ เป็นผู้เลิศ ตัวมายามันมีเยอะ ดีไม่ดีทำท่าเหมือนเป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระศรีอาริย์ ต่อไป มีความแข็งกระด้าง ไม่อ่อนน้อม ไม่ยอมก้มหัวให้แก่ใคร คือถือตัวเกินไป ทะนงเกินไป แล้วต่อไป มีความปรารถนาลามก อีตอนนี้ซี ซ่อนไว้ข้างใน ข้างนอกทำความเรียบร้อย ทำความสงบเสงี่ยม ดีไม่ดีชาวบ้านก็นึกว่าเราเป็นพระพุทธเจ้า แต่ไอ้ความในใจน่ะ ลามกทุกประการ ประกอบไปด้วยราคะ ความปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส อย่างนี้เขาเรียกว่าความปรารถนาลามก แล้วก็มีความเห็นผิดประกอบไปด้วยความเห็นว่าโลกมีที่สุด เป็นต้น ไอ้คำว่าที่สุดของโลกนี่หมายความว่าทุกอย่างในโลกมันจะมีการทรงตัว ไม่มีการสลายตัว นี่เรียกว่าโลกมีที่สุด คนเกิดมาหรือสัตว์เกิดมาแล้วนี่มันถึงที่สุดไม่ต้องตายอีก เกิดแล้วไม่ต้องตาย สิ่งอะไรก็ตามที่สร้างขึ้นมาใหม่มันจะไม่เก่าหรือว่าที่เก่ามันจะไม่พัง นี่เป็นความเห็นไม่ตรงตามความเป็นจริง เรียกว่าเห็นผิด โลกะหรือคำว่าโลก ท่านแปลว่ามีอันที่จะต้องฉิบหายไป บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายเห็นไหมว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเกิดมาในโลกแล้วไม่มีการทรงตัว มันทรงเหมือนกัน แต่ว่าทรงไม่จริง ค่อย ๆ เสื่อมไปแล้วในที่สุดก็สลายตัว แม้แต่หินที่ภูเขาก็ยังผุ นี่มันเป็นอย่างนี้โลกไม่มีที่สุดแล้วก็ไม่ยอมสละความเห็นของตัวเสีย ใครว่าก็ไม่ยอมรับฟัง ไม่ยอมเชื่อใครทั้งนั้น

            พระพุทธเจ้าตรัสมาถึงตอนนี้แล้วก็ถามนิโครธปริพาชกว่า นิโครธปริพาชก ตโปชิคุจฉะ หมายความว่ากิริยาที่ทำลายบาป กิริยาที่เกลียดบาปทั้งหลายเหล่านี้มีอุปกิเลสไหม นิโครธทูลตอบว่ามีแน่พระเจ้าข้า (เอาเข้าซี มีแน่แล้วดันทำกันไปทำไม มันลำบากเกือบตาย) ผู้ทำความเพียรย่อมประกอบด้วยอุปกิเลสเหล่านี้ทั้งสิ้น เอ้อ แล้วก็มานั่งสอนกันทำเกลืออะไรล่ะ อาจารย์เองก็ยึดถือปฏิปทาแบบนี้ สอนลูกศิษย์แบบนี้ สอนกันไปสอนกันมาอดเกือบตาย ลำบากกันเกือบตาย แต่ว่าทั้งลูกศิษย์และอาจารย์ก็กลายเป็นคนที่มีจิตเศร้าหมองมันจะมีประโยชน์อะไร ฉะนั้นขอบรรดาท่านพุทธบริษัทจำเข้าไว้นะ สิ่งที่พูดมาแล้วทั้งหมดใช้อะไรไม่ได้เลย แล้วท่านพุทธบริษัทน่ะปฏิบัติเข้าบ้างหรือเปล่า ไอ้แบบใช้ไม่ได้แบบนี้

             สะเก็ดของความดีในพระพุทธศาสนา
            ต่อไปองค์สมเด็จพระจอมไตรก็ทรงแสดง ตโปชิคุจฉะ กิริยาที่เกลียดบาป หรือ กำจัดบาปในพระพุทธศาสนาบ้างว่า นี่แน่ะ นิโครธ ผู้ทำความเพียรในโลกนี้ย่อมยึดมั่นในความเพียรที่ตนทำแล้ว เขาย่อมดีใจ แต่ไม่เต็มความประสงค์ด้วยความเพียรนั้น การที่เขาเป็นอย่างนี้จัดว่าเป็นความบริสุทธิ์อย่างหนึ่ง นี่หมายความว่าผู้ตั้งหน้าตั้งตาสร้างความบริสุทธิ์ของจิตมีความมั่นใจว่านี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ดีใจว่าเราได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าแล้ว แต่ว่ามีความประสงค์ไม่เต็ม ถ้าตราบใดที่จิตยังไม่หมดจากกิเลส ยังติดอยู่ในโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ คือหวังในลาภ หวังในยศ หวังความสรรเสริญ หวังความสุข ในโลกจิตดวงนี้ถือว่ายังสกปรก ยังไม่พอ ท่านกล่าวว่ายังมีความบริสุทธิ์ส่วนอื่นอยู่อีกคือ ผู้ทำความเพียร ซึ่งไม่ยกตนข่มผู้อื่นอย่างหนึ่ง ไม่มัวเมาในความเพียรของตนอย่างหนึ่ง ไม่ยินดีด้วยลาภสักการะและสรรเสริญอย่างหนึ่ง ไม่ยกตนข่มผู้อื่นด้วยลาภสักการะและสรรเสริญประการหนึ่ง ไม่มัวเมาด้วยลาภสักการะและสรรเสริญประการหนึ่ง ไม่เลือกอาหารอย่างหนึ่ง ไม่คิดว่าพระราชา อำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี เดียรถีย์ จะสักการะเราอย่างหนึ่ง ไม่รุกรานพราหมณ์หรือสมณะคนใดคนหนึ่งว่ากินไม่เลือกอย่างหนึ่ง ได้เห็นสมณะหรือพราหมณ์คนใดคนหนึ่งที่มีผู้รัก สักการะเคารพแล้วไม่คิดอิจฉาริษยา ไม่มีความตระหนี่ไม่หวงลูกศิษย์อย่างหนึ่ง การไม่นั่งในที่คนจะเห็นอย่างหนึ่ง การไม่แสดงตนเที่ยวไปในตระกูลให้เขาเห็นว่าตนเป็นผู้ทำความเพียรหรือละกิเลสอย่างหนึ่ง ไม่ปิดบังโทษหรือทิฐิในเวลาถูกถามว่าสิ่งนี้ควรแก่ท่านหรือ ไม่แกล้งกล่าวเท็จอย่างหนึ่ง เวลาที่พระพุทธเจ้าหรือพระสาวกแสดงธรรมก็เห็นดีตามไปด้วยอย่างหนึ่ง ไม่โกรธ ไม่ผูกโกรธ ไม่ลบหลู่ ไม่ตีเสมอ ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่ ไม่มีความโอ้อวด ไม่มีมายา ไม่มีใจกระด้าง ไม่ถือตัวเกินไป ไม่มีความปรารถนาลามก ไม่มีความเห็นผิด ไม่ประกอบด้วยความเห็นว่าโลกนี้มีที่สุด ไม่ยึดมั่นความเห็นของตน สละความเห็นของตนได้ง่าย เหล่านี้ เราขอถามเธอว่า ตโปชิคุจฉะ คือกิริยาที่เกลียดบาปอย่างนี้บริสุทธิ์ หรือไม่บริสุทธิ์ นี่เป็นลัทธิของพุทธศาสนานะ ตานี้ท่านนิโครธก็ตอบว่าบริสุทธิ์แท้พระเจ้าข้า เป็นของเลิศ เป็นของมีแก่นสารด้วยพระเจ้าข้า

            พระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่านี่แน่ะ ท่านนิโครธ ตโปชิคุจฉะ คือกิริยาเกลียดบาปแบบนี้ยังไม่ใช่ของเลิศนะเธอ ไม่ใช่เป็นของที่มีสาระเป็นแก่นสารอะไร อาการเหล่านี้ เป็นเพียงสะเก็ดความดีในพระพุทธศาสนาเท่านั้นเอง

            นี่เราก็มาพูดกัน อย่าพูดดังไปนะ เพราะว่าเราเป็นพุทธสาวก มากระซิบ ๆ กันว่า เออ จริยาที่พระพุทธเจ้าว่ายังเลวอยู่ ยังเป็นแค่สะเก็ดของพระพุทธศาสนาน่ะ เราทำได้หรือยัง ถามใจของตัวเราดูซิ ถ้ายังทำไม่ได้ ก็แสดงว่าเรายังเข้าไม่ถึงสะเก็ดของความดีของพุทธศาสนา ถ้าทำได้ ก็ทำจิตให้ทรงอยู่ในระดับนั้น คือเข้าถึงสะเก็ดของพระพุทธศาสนาแล้ว แล้วก็อย่าดีใจ เพราะว่าสะเก็ดนี่มันหล่นง่าย

             เปลือกของความดีในพระพุทธศาสนา
            เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าความดีเพียงเท่านี้ ขึ้นชื่อว่าเป็นเพียงสะเก็ดความดีที่เราสอน ท่านนิโครธจึงได้ทูลถามเอาว่า ด้วยเหตุเท่าใดตโปชิคุจฉะ กิริยาเกลียดบาปจึงจะเป็นของเลิศเป็นของมีแก่นสาร ขอพระองค์ได้โปรดทรงแสดงเถิดพระพุทธเจ้าข้า

            องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงตรัสว่านิโครธ ผู้ทำตบะคือผู้ทำความเพียรเป็นเครื่องเผาบาป ย่อมมีความสำรวมด้วยความสำรวม ๔ อย่าง คือ ในยาม ๔ ยาม ๔ คือ หนึ่ง ไม่ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง และไม่ใช้ให้บุคคลอื่นฆ่า ไม่ยินดีเมื่อคนอื่นฆ่าแล้ว สอง ไม่ลักขโมยด้วยตนเอง ไม่แนะนำให้คนอื่นลักขโมย และไม่ยินดีเมื่อคนอื่นลักขโมยแล้ว สาม ไม่กล่าวคำเท็จด้วยตนเอง ไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นกล่าวคำเท็จ ไม่ยินดีต่อการที่ผู้อื่นกล่าวคำเท็จแล้ว สี่ ไม่หวังกามคุณ ไม่แนะนำให้ผู้อื่นหวังกามคุณ และไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นหวังกามคุณสำเร็จความใคร่แล้ว รู้จักไหมล่ะ กามคุณน่ะ ? ไอ้ตัวฟัดกันไปฟัดกันมา อันนี้ไม่เรียกรักหรอก เรียกว่าฟัดกัน รักกันบ้าง ฟัดกันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง ยิ้มกันบ้าง

            ผู้ทำความเพียรเครื่องเผาบาปนั้น กระทำความเพียรแบบนี้เรื่อยไปแม้ว่าจะเป็นฆราวาสก็ตาม อยู่แต่ในที่สงัด คือในป่า ที่โคนต้นไม้หรือที่ภูเขา ซอกเขา ในถ้ำ ในป่าช้า ป่าใหญ่หรือที่แจ้งหรือจอมฟาง เวลาเสร็จกิจจากการกินข้าวกินปลาแล้ว ตามบาลีท่านบอกว่ากลับจากบิณฑบาต นี่ท่านพูดกับสำนักเดียรถีย์เขาบิณฑบาตเหมือนกัน หลังจากการกินอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้วก็นั่ง ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติอันเป็นเครื่องกำหนดไว้แล้วก็มาพิจารณาละอภิชฌา คือความเพ่งเล็งทรัพย์สินของบุคคลอื่น หรือว่าเพ่งเล็งจิตความดีความชั่วของชาวบ้าน ละความพยาบาทความจองล้างจองผลาญ ป้องกันถีนะมิทธะ ความง่วงที่จะเข้ามายุ่งแล้วก็ละอุทธัจจะ กุกกุจจะ มีอารมณ์ฟุ้งซ่านรำคาญชาวบ้านชาวเมือง ละวิจิกิจฉา ความสงสัยในคุณธรรมที่จะพึงปฏิบัติ ซึ่งทั้ง ๕ ประการนี้ จัดว่าเป็นนิวรณ์ คำว่านิวรณ์นี่ แปลว่าความเลวที่จิตเข้าไปสิง หรือเอามาคบเข้าไว้ ต่อจากนั้นไปก็แผ่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่เรียกว่าพรหมวิหาร ๔ ไปในทิศทั้งปวง นี่ เราขอถามเธอว่า ตโปชิคุจฉะ กิริยาเกลียดบาปอย่างนี้ บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ นิโครธตอบว่ายังไง ? ตอบว่าบริสุทธิ์แท้พระเจ้าข้า เป็นทั้งของเลิศ เป็นทั้งของมีแก่นสารพระเจ้าข้า

            พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า ยังก่อนนิโครธ ความดีเพียงเท่านี้น่ะ ยังไม่ใช่เป็นของเลิศ ไม่ใช่เป็นของมีแก่นสาร ยังไม่มีสาระ นี่เป็นความดีแค่เปลือกที่เราสอนเท่านั้น เอาเข้าแล้วซี แหม ทับกันอย่างแหลกลาญไปเลย

            เมื่อกี้นี้พระพุทธเจ้าท่านพูดมาแบบย่อ เพราะว่าท่านพูดกับคณาจารย์ด้วยกัน ตานี้เป็นเรื่องของหลวงตาหัวล้านพูดกับบรรดาท่านพุทธบริษัทบ้าง พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าพวกเราละยาม ๔ หรือสำรวมในยาม ๔ ยาม ๔ ก็คือ ๑. ไม่ฆ่าสัตว์ ๒. ไม่ลักทรัพย์ ๓. ไม่ประพฤติผิดในกาม ๔. ไม่กล่าววาจามุสาวาท สำหรับเวลานี้ เอาศีล ๕ กันเลยดีไหม ดีไม่ดีจะย่องไปล่อเหล้า ล่อสุราเมรัยกันเข้ามันจะยุ่งนะ แถมนิดหนึ่งไม่เป็นไรหรอก ความดีศีล ๕ ประการ รักษาเป็น ๓ ฐาน คือไม่ละเมิดด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ชาวบ้านเขาละเมิดศีล ๕ แล้วก็ไม่ยินดีในเมื่อชาวบ้านละเมิดศีล ๕ นี่เราแถมอย่างนี้นะ มันดี แถมด้านความดี พระพุทธเจ้าท่านคงไม่ว่า

            ตานี้ มาพูดกันต่อไป เวลากินข้าวกินปลาเสร็จ ว่างจากกิจการอย่างอื่นเราก็ย่องเข้าไปตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้ แล้วก็ละอภิชฌา ตรงนี้ชักยุ่ง ละอภิชฌาคือละความเพ่งเล็งในทรัพย์สินของบุคคลอื่นหรือว่าเพ่งจริยาของบุคคลอื่น ว่าทรัพย์สินของชาวบ้านนี่ราคาแพง เขาไม่มีเงินซื้อ นี่ถ้าแกเผลอเมื่อไรฉันขโมยเมื่อนั้น อันนี้อย่าไปคิด เลิกกัน เราก็ไปคิดเสียว่ามีมากหรือมีน้อยมันก็ตายเหมือนกัน เกิดมาแล้วแก่เหมือนกัน เจ็บเหมือนกัน ตายเหมือนกัน คนที่มีมากก็ตาย คนที่มีน้อยก็ตาย คนจนก็ตาย คนรวยก็ตาย มีอำนาจมากก็ตาย มีอำนาจน้อยก็ตาย มันก็เกิดมาแค่ตายเหมือนกัน เรามีแค่ไหนใช้แค่นั้น กินแค่นั้น หามาได้โดยชอบธรรมเท่าใดพอใจเท่านั้น อย่างนี้เป็นสันโดษ สบายกว่าไม่ต้องนอนสะดุ้งสะเทือน ไอ้การเอาจิตไปเพ่งเล็งในทรัพย์สินของบุคคลอื่นเขาสร้างความไม่สบายให้เกิดแก่จิต ถ้าไอ้ตัวอยากมันเกิดมันก็นอนไม่หลับ นอนไม่หลับก็กินไม่ได้ ถ้าตะเกียกตะกายไปลักไปขโมยเขามาได้ จิตก็ไม่สบาย เกรงว่าเจ้าของเขาจะเห็นเข้า เขาจะพบเข้า เขาจะรู้เข้า สมมติว่าไปขโมยหมวกชาวบ้านเขามาลูกหนึ่งมาสวมหัวเข้าไว้ กับหมวกที่เราซื้อมาเอง สวมหัวของเรา มันมีคุณค่าต่างกัน หมวกที่ขโมยชาวบ้านเขามามันร้อน ใส่หัวเมื่อไรร้อนเมื่อนั้น เวลาเห็นเจ้าของเขาเดินมา จะยืนอยู่ไม่ได้น่ะซี เกรงว่าเจ้าของเขาจะจำหมวกของเขาได้ ต้องหาทางหนี หรือดีไม่ดีก็หาทางเอาหมวกไปซ่อน นี่อภิชฌา เพ่งเล็งในทรัพย์สินของบุคคลอื่นเขา ไม่ดี การเพ่งเล็งในจริยาความดีหรือความชั่วของบุคคลอื่นก็เหมือนกัน ไม่เป็นเรื่อง มันจะดีจะชั่วมันก็เรื่องเขา เราไม่เกี่ยว มาปรับปรุงความดีในด้านจิตใจของเราดีกว่า นี่เรื่องของอภิชฌาพูดแค่นี้

            คราวนี้ ตัวพยาบาท ไอ้ตัวขังความโกรธไว้ มันจะดีอะไรคนเราเป็นศัตรูกับชาวบ้านนี่ไม่เป็นเรื่อง มีแต่ความเดือดร้อน มีแต่ความระแวงสงสัย ต้องหวาดระแวงภัยอยู่เสมอ

            ต่อไป ความง่วงก็เหมือนกัน เวลาเรานั่งสงัด ๆ มันมักจะเกิดความง่วง ถ้าง่วงจริง ๆ ก็ลืมตากว้าง ๆ เอามือขยี้ตา แหงนหน้าดูดาว เอาน้ำล้างหน้ากันความง่วงเสียนิดเดี๋ยวมันก็หมดไป

            อุทธัจจะ กุกกุจจะ ไอ้ตัวฟุ้งซ่านและรำคาญนี่มันอดแทรกไม่ได้ เป็นเรื่องธรรมดาของใจเพราะมันท่องเที่ยวมานาน มันคบกับความชั่วประเภทนี้มานาน จงระงับใจเข้าไว้คิดว่าเพียงชั่วเวลานิดหนึ่ง หนึ่งชั่วโมง ครึ่งชั่วโมงที่เราทำ เราจะรวบรวมกำลังใจให้เป็นใจของเราเอง ไม่ตกอยู่ในอำนาจของอุปาทานหรือกิเลสตัณหา เวลานี้ เราต้องการอะไร พิจารณาขันธ์ ๕ หรือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก หรือว่าใช้คำภาวนาอะไร ควบคุมใจเข้าไว้ว่า เวลาเพียงแค่นี้ แค่เพียงเท่านี้ ถึงจุดนั้นฉันจะทำใจของฉันให้อยู่เฉพาะในจังหวะนี้ อย่างอื่นมาเท่าไร่ฉันไม่เอา ถ้าทำไม่ได้ก็ยอมตาย คือถ้าเราคิดพล่านไปอย่างอื่นก็ตั้งต้นมันใหม่ อย่าให้ใจมันพล่านได้ในเวลาที่กำหนด ถ้าไม่ได้ก็ยอมตายไปกับความพยายามนั้น ตัดสินใจเพียงเท่านี้ เดี๋ยวก็เสร็จ อารมณ์สบาย

            ทีนี้ ตัวที่ ๕ วิจิกิจฉา ความสงสัยในคุณธรรมที่เราปฏิบัติว่าเราทำขนาดนี้มันจะได้มรรคได้ผลเพียงใดหรือไม่ อย่างนี้ก็เลิกสงสัยได้แล้ว เพราะพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง พระองค์เป็นอรหันต์แล้ว แล้วก็สอนลูกศิษย์ลูกหาเป็นพระอรหันต์มานับไม่ถ้วน ไปนิพพานกันนับไม่ถ้วน จะไปนั่งสงสัยทำเกลืออะไร

            ที่กล่าวมาแล้วก็เป็นเรื่องของการละความชั่ว ต่อไปก็เป็นเรื่องของการทำความดีบ้าง

            เมตตา ยอมรับนับถือว่าเราควรจะเมตตาบุคคลอื่นเสมอด้วยตัวเรารักคนอื่นเท่ากับรักตัวเรานะ เราปรารถนาสุข ก็รู้สึกว่าคนและสัตว์ทั้งหมดต้องการสุขเหมือนกัน

            กรุณา สงสาร สงสารตัวเราเพียงใด ก็สงสารคนและสัตว์ทั้งโลกเหมือนกัน เราคิดอภัยให้แก่คนที่มีความผิดเสมอ เรียกว่าอภัยทานในด้านเมตตา กรุณา สงเคราะห์ ถ้าเขามีความทุกข์ เกื้อกูลให้เขามีความสุขตามกำลังที่เราจะพึงทำได้

            มุทิตามีจิตอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยาใคร เห็นไหม เขาได้รับความยินดีเราพลอยดีใจด้วย

            แล้วก็อุเบกขาวางเฉย ไม่ใช่เฉยส่งเดชนะ มีทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา แล้วอุเบกขาวางเฉยเฉยตอนไหน ? เฉยตอนที่ว่ากายเราก็ดี กายบุคคลอื่นก็ดี ได้รับความทุกข์ เนื่องจากขันธ์ ๕ ไม่ดี หรือว่าด้วยอำนาจอกุศลกรรมบีบบังคับ คือความไม่ดีบีบบังคับ เราไม่สามารถจะช่วยให้มันดีขึ้นได้ก็วางเฉย คำว่าวางเฉยในที่นี้หมายความว่าไม่ดิ้นรนถือว่าเป็นเรื่องธรรมดามันหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันก็ต้องเป็นแบบนั้น ไม่ใช่ว่าเฉยเห็นผัวป่วย เมียป่วย ลูกป่วย พ่อป่วย แม่ป่วย นี่ฉันเฉย ฉันถืออุเบกขา นี่มันก็ขาดเมตตากรุณาน่ะซี ไม่ใช่ ต้องเฉยเฉพาะแต่เฉพาะว่าถ้าอาการสิ่งใด เกินวิสัยที่เราจะพึงช่วยได้ เวลานั้นเราก็ช่วยตามหน้าที่ แต่ว่าจิตใจไม่กระสับกระส่าย ไม่เดือดร้อน ถือว่านี่มันเรื่องของธรรมดาเวลาที่ขันธ์ ๕ คือร่างกายของเราจะพังเหมือนกัน ร่างกายของบุคคลอื่นมันจะพังเหมือนกัน มองไปแล้วนี่ช่วยไม่ได้จริง ๆ เอามันไว้ไม่ได้จริง ๆ แล้วก็วางเฉย คิดว่านี่ธรรมดาของมันเป็นแบบนี้นา ในเมื่อกฎธรรมดามันแบบนี้ เราจะไปฝืนธรรมดาได้ยังไง เอาละมันถึงเวลาที่มันจะพังมันก็ต้องพัง ตามใจดีกว่าฝืนใจ เพราะว่าฝืนใจก็ฝืนมันไม่ได้ ตามใจมันเสียเลย แล้วเวลามันจะพังจริง ๆ เราจะทำยังไง ? ก็ต้องคิดว่าพังคราวนี้ให้เป็นพังครั้งสุดท้าย ต่อไปร่างกายของเราจะไม่มีพังอีก คือไม่ต้องการขันธ์ ๕

            ท่านทั้งหลายพิจารณาใจของท่านบ้างหรือเปล่า ว่าความดีขั้นเปลือกของพระพุทธศาสนาที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสมากับนิโครธปริพาชกนั้น เวลานี้ท่านทรงความดีระดับเปลือกได้แล้วหรือยัง ถ้ายังละก็เตรียมตัวเสียนะ ปรับปรุงใจให้เข้าถึงเปลือกก็พอจะไปสวรรค์กันได้ แต่การทรงพรหมวิหารนี้ ถ้าทรงเป็นปกติ ละนิวรณ์ ๕ ได้ ท่านกล่าวว่าเป็นผู้ทรงฌาน เพราะว่านิวรณ์ ๕ประการระงับเมื่อไรฌานเกิดขึ้นเมื่อนั้น ทรงพรหมวิหาร ๔ ไว้ได้เพียงใดฌานของท่านทั้งหลายก็ไม่มีทางเสื่อมไปได้

             กระพี้ของความดีในพระพุทธศาสนา
            เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่ายังก่อนนิโครธ ตโปชิคุจฉะ คือ ปฏิปทาที่เกลียดชังบาปยังไม่มีเพียงเท่านั้น อันนี้ยังไม่ถึงแก่น ยังแค่เปลือกเท่านั้น เขาจึงทูลถามต่อไปว่า ถ้าจะทำให้ถึงแก่นต้องทำยังไงพระพุทธเจ้าข้า พระพุทธเจ้าก็บอกว่าเดี๋ยวก่อน จะพูดให้ฟัง คือว่าในเมื่อบุคคลทำความเพียรไปด้วยความสำรวมในยาม ๔ แล้ว ละนิวรณ์ ๕ ได้แล้ว แผ่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ไปในทิศทั้งปวงแล้ว คราวนี้ได้สำเร็จปุพเพนิวาสานุสสติญาณระลึกชาติหนหลังได้ว่าชาติไหนเราเป็นยังไง ถามว่าอย่างนี้บริสุทธิ์หรือยัง ท่านนิโครธปริพาชกยกมือท่วมหัวว่าการระลึกชาติได้อย่างนี้บริสุทธิ์แท้พระเจ้าข้า เป็นสาระเป็นแก่นสารพระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าทรงตอบว่ายังก่อนพี่ทิด อ้าว ไม่ใช่พระพุทธเจ้าไม่พูดอย่างนั้น ไอ้นี่คนพูดปากมันไถลไปเอง ยังก่อนนิโครธ ยัง ยังไม่ถึงแก่น มีแค่กระพี้ของความดีที่เราสอนเท่านั้นนา

             แก่นของความดีในพระพุทธศาสนา
            พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่านิโครธ ตอนนี้ละ เราจะว่ากันถึงแก่น คือบุคคลผู้ทำความเพียร มีความสำรวมในยาม ๔ คือทรงศีล ๕ บริสุทธิ์นั่นเอง แล้วอยู่ในเสนาสนะอันสงัด ละนิวรณ์ ๕ แผ่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาไปในทิศทั้งปวงได้สำเร็จปุพเพนิวาสานุสสติญาณ แล้วก็ทำทิพจักขุญาณให้ปรากฏ เห็นสัตว์โลกทั้งหลายที่ทำชั่ว ทำดีไปเกิดในทุคติหรือสุคติได้แจ่มแจ้ง อย่างนี้เป็นแก่นสารเป็นสาระ บริสุทธิ์แล้วหรือยัง ? นิโครธปริพาชกยกมือขึ้นท่วมหัวอีก บอกว่า บริสุทธิ์แล้วพระเจ้าข้า เป็นสาระ เป็นแก่นสารจริง ๆ พระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าก็ทรงบอกว่า นิโครธ นี่แหละเป็นสาระเป็นแก่นสารแท้ แต่ว่าแค่แก่นเท่านั้นนา ยังไม่ถึงความดีที่สุด

            มาตอนนี้เอง ท่านพุทธบริษัท บรรดาบริษัทของปริพาชกส่งเสียงอืออึงขึ้นขนาดหนัก บอกว่าพวกเราฉิบหายแล้ว อาจารย์เราก็ฉิบหายแล้ว ฉิบหายด้วยกันหมด คำว่าฉิบหายนี่เป็นศัพท์ภาษาบาลีปกติ ถ้าอะไรไม่ดีไม่สมหวังเขาเรียกกันว่าฉิบหายแล้ว แม้แต่เพียงปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือการระลึกชาติได้ เราก็ไม่มี แล้วเราจะมีทิพจักขุญาณมาจากไหน สัตว์หรือคนตายแล้วจากโลกนี้แล้วไปเกิดที่ไหน มีสุขหรือทุกข์ประการใด คนที่มาเกิดนี้ก็ตาม สัตว์ที่มาเกิดนี้ก็ตาม มาจากไหนเราจะรู้ได้ยังไง อาจารย์เรายังไม่รู้ แล้วพวกเราจะรู้ได้ยังไง พวกเราเป็นผู้ฉิบหายจากความดีเสียแล้ว

            ท่านนิโครธปริพาชกอายหนัก ก้มหน้านิ่ง

            อีตอนนี้ซีบรรดาท่านพุทธบริษัท สมเด็จผู้ทรงสวัสดิโสภาค จึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสต่อไปว่า นิโครธ แค่นี้เป็นความดีขั้นแก่น แต่ว่ายังไม่ถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่องทีเดียว คุณธรรมที่เราสอนพุทธบริษัทของเรามีความดียิ่งกว่านี้ ถ้าหากว่าพวกท่านทั้งหลายมีความประสงค์ดีอย่างนั้น จะศึกษากับเราแล้วก็อาจจะมีผลอย่างช้า ๗ ปี หรือว่า ๗ เดือน หรือว่า ๗ วัน ก็จะมีผลได้ ที่เราพูดอย่างนี้นิโครธ จงทราบว่าไม่ใช่ว่าเราเป็นผู้แสวงหาบริษัท ไม่ใช่เราเป็นผู้แสวงหาลูกศิษย์ลูกหา เราทำ หรือว่าเราพูด เราสอนพุทธบริษัทด้วยการสงเคราะห์ มีความสงเคราะห์ เราไม่หวังในลาภสักการะ ใครจะต้องการไหม ถ้าใครต้องการเราจะสอนให้ บรรดาคนของท่านนิโครธปริพาชกทั้งอาจารย์และลูกศิษย์นิ่งหมด นั่งก้มหน้าลงดิน องค์สมเด็จพระมหามุนินทร์พิจารณาแล้วก็ทรงทราบว่า พวกนี้มารเข้าดลใจเสียแล้ว ถ้าบุคคลเหล่านี้ต้องการเรียนกับเรา ความดีของเขามีเยอะ วิริยะ อุตสาหะ ความตั้งใจจริงของเขาก็มีมาก หากว่าสดับพระธรรมเทศนาอันเป็นขั้นสุดท้าย ที่เรียกว่าวิปัสสนาญาณ พึงเรียนกับเราอย่างช้าเพียง ๗ วันเท่านั้น คนทั้งหลายเหล่านี้ก็จะได้บรรลุมรรคผล เป็นอริยบุคคลขั้นอรหันต์กันหมด แต่ว่าคนพวกนี้ถูกมารเข้าดลใจ ไม่ต้องการ พูดอะไรก็ไม่พูด

            คราวนี้ก็เป็นเรื่องของสาวกขององค์สมเด็จพระบรมครูบ้างละ ใครล่ะ ? ก็ท่านสัณฐานคหบดีที่นั่งอยู่นั่นแหละ ได้พูดขึ้นมาว่า ยังไงล่ะ หลวงพี่นิโครธ หรือว่าล่อตาเถรนิโครธเข้าก็ไม่รู้ ตอนนั้นไม่ได้นั่งฟังอยู่ด้วย ว่ายังไง ท่านนิโครธ ท่านพูดกับเราไว้ ว่าให้พระสมณโคดมมาที่นี่ ท่านจะถามปัญหาเพียงคำเดียว หรือข้อเดียว ให้นั่งก้มหน้านิ่งเหมือนกับคว่ำหม้อเปล่าลงกับพื้นดิน เอาปากลงเอาตูดขึ้น เวลานี้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามาแล้ว เอ้า จ้ำให้สบายซีพ่อคุณ ถามให้สบาย เอาให้อยู่เลย คราวนี้นิโครธปริพาชกยิ่งอายใหญ่ ก้มหน้าใหญ่ ไม่เงยหน้า องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่าคนทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ตั้งใจรับคำสอน องค์สมเด็จพระชินวรณ์จึงคิดในใจว่า เราจะอยู่ทำไม ของดีของเรามีให้เขา เขาไม่เอา เรากลับที่ของเราดีกว่า เมื่อทรงดำริดังนี้แล้ว องค์สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จกลับ เหาะไปเขาคิชฌกูฎให้ดูเสียด้วย ท่านสัณฐานคหบดีเห็นท่าไม่ได้การ ถ้าขืนอยู่อาจจะถูกซ้อมใหญ่ เพราะพวกเขาหลายร้อยคนด้วยกัน เลยกลับบ้านเสียเหมือนกัน เป็นอันว่าเรื่องราวในอุทุมพริกสูตร เนื่องด้วยปริพาชกท้าทายสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องการสอนพุทธบริษัทก็จบลงเพียงเท่านี้

            สรุป
            ในเมื่อบรรดาท่านพุทธบริษัทรับทราบมาแล้วว่าแนวการสอนของพระพุทธเจ้าด้านสะเก็ดของความดีมีอะไรบ้าง อันดับแรกก็ขอให้บรรดาท่านพุทธบริษัทรักษาสะเก็ดไว้ให้ดี ทำอารมณ์ให้เข้าถึงสะเก็ดเสียก่อน ถ้าหากว่าจะนึกว่าตัวดีหรือไม่ดีนี่ พึงจำพุทธภาษิตสักข้อหนึ่งไว้ว่า "อัตนา โจทย์ ตานัง" [ อัตตนา โจทยัตตานัง ] จงโจทย์ตัวเองอยู่เสมอ หาความบกพร่องของตัวเอง เราอย่ามองความดีของตัวเอง ถ้าเรามองแต่ความดีละก็ไอ้ความชั่วมันจะกินมาก ถ้าหากว่าเรามองความชั่วเข้าไว้ไม่ให้มันโผล่ ความดีก็จะมีมาก ถ้ายิ่งหาความชั่วไม่ได้เพียงใดก็จะปรากฏว่ามีความดีบริบูรณ์เพียงนั้น นี่ ความสำคัญอยู่ตรงนี้

            เมื่อเราดูสะเก็ดครบถ้วนแล้วว่าสะเก็ดของความดีเราเข้าถึงแล้ว รักษาสะเก็ดไว้ดีแล้ว ต่อนี้ไปก็เป็นการรักษาเปลือก ทำเปลือกให้ครบถ้วน นี่ ต้องก้าวไปตามแบบนี้ เมื่อเปลือกครบถ้วนแล้ว ตอนนี้ ก็เข้าถึงกระพี้ แต่ตอนนี้เห็นจะต้องพูดกันสักนิดหนึ่งว่าทำยังไงจึงจะเข้าถึงกระพี้

            เรื่องความดีในพุทธศาสนา เรื่องนรกก็ดี เปรตก็ดี อสุรกายก็ดี สวรรค์ก็ดี พรหมโลกก็ดี บรรดานักคิดทั้งหลายหรือบรรดานักพูดทั้งหลายมีอยู่มาก จะว่าหลายร้อยหลายพันมันก็น้อยไป ว่ากันหลาย ๆ ร้อยล้านดีกว่า มีความเห็นว่าเป็นเรื่องปรำปราไร้ประโยชน์ อันนี้ก็ไม่เถียงท่านเหมือนกันถ้าหากว่าท่านเป็นแต่เพียงนักคิดแล้วก็นักอ่านตำรา ตานี้สมมติว่าท่านจะเป็นนักค้นคว้าขึ้นมาบ้าง ดูตัวเอย่างโลกพระจันทร์ โลกพระอังคาร ใครคิดบ้างหรือไม่ว่าฝรั่งจะไปได้ เวลานี้เขาไปได้แล้ว สิ่งที่เราไม่สามารถจะมองเห็น เช่นกระแสไฟฟ้าในอากาศ พูดอยู่ตรงนี้ บรรดาท่านพุทธบริษัทอยู่ตั้งหลายร้อยกิโล หรือหลายสิบกิโลก็ฟังกันได้ เขาพูดมาจากโน่น จากอเมริกา ตรงกันข้ามซีกโลกกับประเทศไทยก็สามารถจะคุยกันได้ ในเวลานี้ฝรั่งไปอยู่ที่โลกพระจันทร์ ก็สามารถจะส่งภาพให้เราดูได้ พูดมาให้เราได้ยิน สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ปรากฏ ไม่ใช่เป็นแต่นักคิดแล้วก็นักพูดอย่างเดียว นั่นเขาเป็นนักค้นคว้าด้านวัตถุ เขาสามารถทำได้

            ตานี้เรื่องราวของพระศาสดาเป็นเรื่องนามธรรม นามธรรมนี่ฟังยาก เรามาพูดกันว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ดีกว่า เรื่องของพระศาสนานี่เป็นเรื่องของอารมณ์ นี่เราเข้ามาแก้อารมณ์กัน เรามาสร้างอารมณ์กัน สร้างตรงไหน ? สร้างอารมณ์ให้เข้าถึงความดี การสร้างอารมณ์นี่ขอพูดแต่น้อย ๆ เอากันตรงปุพเพนิวาสานุสสติญาณ การระลึกชาติได้นี่เขาทำยังไงกัน บรรดาท่านพุทธบริษัททรงเปลือกได้แล้วใช่ไหม เป็นอันว่าใช่ก็แล้วกัน คือว่าทรงเปลือกได้แล้ว ตานี้มาเข้าถึงกระพี้ คือปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ไม่มีอะไรยาก คนที่เข้าถึงเปลือกน่ะเขาทรงญาณได้ตลอดวัน ไม่ใช่ทรงญาณเฉพาะเวลา คำว่าทรงหมายถึงว่าอยู่ตลอด ไม่ไปไหน อยู่ตลอดกาล มีฌานตลอดวัน เรียกว่าทรงณาน มีฌานอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก อย่าลืมนะว่าต้องทำกันถึงระดับนี้นะ อารมณ์ดีน่ะ รักษาความดี ณานังแปลว่าความเพ่ง คือตั้งจิตไว้โดยเฉพาะ เราอยู่ได้ตลอดวัน จะใช้เมื่อไรก็ได้ตามสบายใจ เหนื่อยมาร้อนมา ตื่นนอนใหม่ ๆ หิวข้าว กำลังกินข้าว ปวดอุจจาระ ปัสสาวะใช้ได้เลยอย่างนี้เรียกว่าผู้ทรงฌาน ในเมื่อทรงฌานได้แบบนี้แล้วนะ มาฝึกปุพเพนิวาสานุสสติญาณเป็นของง่ายมาก ง่ายตรงไหนล่ะ เราก็ต้องตั้งระดับฌานให้ถึงที่สุด คือฌาน ๔ นะ เข้าถึงฌาน ๔ นะ เมื่อท่านทรงฌาน ๔ จิตเป็นอุเบกขารมณ์ เอกคตาและอุเบกขามีอารมณ์เป็นอันเดียว อุเบกขา เฉยต่ออารมณ์ภายนอกทั้งหมด ทรงอารมณ์อยู่เฉพาะอย่างเดียวแล้วไม่รับสัมผัสอย่างอื่น พอมีอารมณ์จิตสบาย ท่านก็ถอยอารมณ์จิตเข้ามาถึงอุปจารสมาธิ ทรงอยู่ในสมาธิขั้นอุปจาระพอที่จะเห็นอะไรต่ออะไรได้ ก็มานั่งนึกทวนถอยหลังว่าวันนี้ตั้งแต่ตอนเช้าถึงเวลานี้เราทำอะไรมาบ้าง เราพูดอะไรมาบ้าง คิดทบทวนลงไป ทำแบบนี้ทุกวัน ๆ เอาแค่วันหนึ่งให้มันจำได้ทุกคำพูด จำอิริยาบถต่าง ๆ ที่เราทำได้ทั้งหมด แล้วก็ถอยหลังไป ๒ วัน ๓ วัน ถอยลงไปถึงเดือน ถึงหลาย ๆ เดือน ถึงหลาย ๆ ปี และถึงตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ เพราะมีอารมณ์คล่อง ตานี้เราก็ถอยหลังไปถึงชาติที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ แล้วก็ทุก ๆ ชาติตามลำดับชาติ เมื่อมันคล่องดีแล้วก็ทำสลับชาติ คิดขึ้นมาว่าชาติไหนเป็นอะไร อีตอนนี้ความรู้สึกของจิตมันจะเกิดบอกขึ้นมาเอง นี่พูดให้ฟังคร่าว ๆ นะ มาตรงกระพี้แบบนี้มันไม่ยากหรอก อย่างเลวที่สุด ๙๐ วันสบาย ได้แบบสบาย แล้วตานี้ ก็มาเรื่องของทิพจักขุญาณละ

            เรื่องของทิพจักขุญาณนี่ก็เป็นของไม่ยากอีก เพราะหากว่าท่านทรงกระพี้ได้แล้ว จะเข้าถึงแก่นก็รู้สึกว่าจะเป็นของง่ายมาก คือเราก็จับภาพนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น คือนิมิตกสิณ ๓ อย่าง คือเตโชกสิณ โอทากสิณ อาโลกสิณ เตโชกสิณคือ เพ่งไฟ โอทากสิณ เพ่งสีขาว อาโลกสิณ เพ่งแสงสว่าง หรือไม่เอายังงั้น จะเพ่งพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งไว้ก็ใช้ได้ ให้เป็นนิมิต แล้วก็สร้างนิมิตนั้นให้เป็นปฏิภาคนิมิต สีเปลี่ยนเป็นประกายพรึก เมื่อนิมิตสดใสดีแล้ว ถ้าเราอยากเห็นสวรรค์ อยากเห็นนรก ก็คิดในใจว่าขอภาพนิมิตจงหายไป และภาพนั้น (ที่ต้องการเห็น) จงปรากฏ แค่นี้ก็เห็น เห็นแบบสบาย ๆ นี่ว่ากันตามแบบ เห็นแบบสำหรับอาทิกัมมิกะบุคคล คือคนที่ไม่เคยได้ทิพจักขุญาณหรือปุพเพนิวาสานุสสติญาณมาในชาติก่อนมาเริ่มฝึกกัน

            ตานี้มาพูดถึงหลักปฏิบัติจริง ๆ ฌานระดับนี้ยังเป็นฌานโลกีย์ รู้สึกว่ายังไม่มีอะไรน่าหนักใจ สำหรับชาวโลกมันจะมีอะไรหนักใจ ฌานโลกีย์เขาแปลว่า สมบัติของชาวโลก ชาวโลกทุกคนที่เกิดมานี่ จะเป็นชาติไหนภาษไหนก็ตาม มีสิทธิ์เสมอกัน เพราะถ้าเราไม่มีความดี เราก็เกิดมาเป็นคนไม่ได้ เมื่อเรามีความดีอยู่แล้ว เมื่อทรงเปลือกได้ดีแล้วหรือเรียกว่าทรงฌานได้ตลอดวัน ตานี้ เราใช้วิธีรวบรัดกัน รวบรัดว่าปุพเพนิวาสานุสสติญาณก็ดี ทิพจักขุญาณก็ดี หรือจะว่ากันเสีย ๘ ญาณเลยว่า ทิพจักขุญาณ จุตูปปาตญาณ เจโตปริยญาณ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ อตีตังสญาณ อนาคตังสญาณ ปัจจุบันนังสญาณ และยถากัมมุตาญาณ ก็ได้ เมื่อมีเปลือกสมบูรณ์ คือมีฌานแล้ว ตานี้เราก็จับภาพกสิณขึ้นมาสักภาพหนึ่ง อย่างเตโชกสิณก็ดี โอทากสิณก็ดี อาโลกสิณก็ดี ลงจิตมันได้ฌานแล้วจะมีอะไรยาก จับปั๊บก็อยู่ อย่างเลวที่สุด ๗ วันเท่านั้นภาพกสิณก็จะสดใส ทิ้งอุปาทานเสียอย่าไปเชื่อตามภาพเขียนที่เคยเห็น แล้วจะดูนรก ดูสวรรค์ เรานั่งอยู่ตรงนี้อยากเห็นนรกก็ได้ เห็นสวรรค์ก็ได้ เห็นพรหมโลกก็ได้ ทำให้มันคล่อง ให้มันสบาย พอมันคล่องมันสบายดีแล้ว สภาพเห็นดีแล้ว ตานี้จุตูปปาตญาณ ที่ว่าเมื้อกี้นี้เป็นทิพจักขุญาณ คำว่าทิพจักขุญาณ อย่าลืมนะ ไม่ใช่เห็นด้วยลูกตา เห็นด้วยความรู้สึก คือมีความรู้สึกคล้ายตาทิพย์ ไม่ใช่ว่าตานี้เป็นทิพย์

            ในเมื่อเราได้ทิพจักขุญาณแล้ว อันนี้อันเดียวแหละถ้าเอาไปใช้เป็นอารมณ์รู้เรื่องราวของคนและสัตว์ที่ตายไปหรือมาเกิด ท่านก็เปลี่ยนชื่อเป็นจุตูปปาตญาณ ถ้าเจโตปริยญาณ ก็รู้วาระน้ำจิตของตนและคนอื่น เห็นใจตัวเองว่าสะอาดหรือสกปรก ถ้าสกปรกด้วยกิเลสอะไร ใจของเรา จิตของเรา ดูให้มันมาก อย่าไปสนใจกับใจของคนอื่นเขามากนัก เมื่อเราเห็นใจของเราเองได้ เราก็เห็นใจคนอื่น มีความรู้สึกนึกคิดว่าเวลานี้เขาต้องการอะไร มีความสุขหรือมีความทุกข์ มีกิเลสขนาดไหน มีฌานขนาดไหน แค่ฌานโลกีย์นะ เรารู้หมด เพียงแค่ได้ยินชื่อเท่านั้นเราก็รู้แล้วว่าเขาได้อะไร ไม่ต้องเห็นหน้า นี่ เจโตปริยญาณก็มาจากทิพจักขุญาณ

            ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ การระลึกชาติได้ อยากจะรู้ว่าชาติไหนเป็นอะไร ภาพมันก็ปรากฏ

            อตีตังสญาณ เรื่องราวในอดีตของคนและสัตว์ หรือว่าสถานที่ก็แบบเดียวกับปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

            อนาคตังสญาณ เรื่องราวในกาลข้างหน้าของเราหรือของบุคคลผู้อื่นเราก็จะสามารถทราบได้ด้วยอำนาจทิพจักขุญาณอันเดียว

            ปัจจุบันนังสญาณ อยากจะรู้ว่าเวลานี้ใครอยู่ที่ไหน เทวดาองค์นั้นอยู่ที่ไหน พรหมองค์นั้นอยู่ที่ไหน ก็รู้ได้ไม่ยาก

            ยถากัมมุตาญาณ รู้กฎของกรรม คนและสัตว์มีความสุขและความทุกข์เพราะกรรมอะไรเป็นปัจจัย

            นี่ที่พระพุทธเจ้าท่านว่าเข้าถึงแก่น แต่ว่า เมื่อเข้าถึงแก่นแล้วก็ต้องหากระแสของแก่น ขัดแก่นให้มันใส อันนี้องค์สมเด็จพระจอมไตรให้พิจารณาถึงอริยสัจ คือทุกข์และสมุทัย ยากหน่อย

            อริยสัจ ก็ดี วิปัสสนาญาณก็ดี นั่นก็คือการพิจารณาขันธ์ ๕ ได้แก่ร่างกาย ให้พิจารณาร่างกายว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา เราจะไปมัวเมาร่างกายเพื่อประโยชน์อะไร เพราะร่างกาย เกิดแต่ละชาติมันไม่เที่ยง ไม่มีการทรงตัวแล้วก็มีความทุกข์ เพราะการงานทุกอย่าง ทุกข์เพราะอารมณ์กระทบกระทั่ง ในที่สุดก็พังสลายไป ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่หาไว้ เราตายแล้วไม่เคยจะติดตามเราไป เราเชื่อพระพุทธเจ้าไหมล่ะ ถ้าไม่เชื่อก็ลองใช้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณดู เราก็คงจะรู้ว่าเราเกิดมาแล้วกี่ชาติ เป็นอะไรมาบ้าง มีทรัพย์สินเท่าใด มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร มีผัวมีเมียเป็นยังไง มีลูกเป็นยังไง แล้วสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไปไหนหมด นี่ญาณต่าง ๆ เป็นพยานได้ดี ในเมื่อเราได้ญาณต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว ถ้าเราสงสัยเราใช้ญาณเป็นเครื่องพิสูจน์ พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงกล่าวว่า ถ้าทำได้ถึงระดับนี้แล้วอย่างเลว ๗ ปี เป็นพระอรหันต์ มีอารมณ์ดีสักนิด ไม่เกิน ๗ เดือน ถ้ามีอารมณ์ดีมาก ก็ไม่เกิน ๗ วัน

            นี่แหละ บรรดาท่านพุทธบริษัท เรื่องญาณต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงยืนยันเป็นของมีจริง แต่ขออย่างเดียว อย่าให้บรรดาท่านพุทธบริษัทเอาแต่คิดกับอ่านตำราแล้วก็พูด แค่นี้มันใช้ไม่ได้ อย่าลืมว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าทรงใช้อารมณ์เป็นสำคัญ ให้ปรับปรุงอารมณ์ ไม่ใช่ปรับปรุงวัตถุ นี่ต้องเข้าใจไว้ด้วย ถ้าปรับปรุงอารมณ์แล้วมันจะได้อะไรขึ้นมาบ้าง พิจารณากายคตานุสสติกรรมฐานตัวเดียว คือพิจารณาขันธ์ ๕ ร่างกายว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในมัน มันไม่มีในเราให้เข้าใจ แล้วก็ถอยหลังไปดูว่าร่างกายที่เราทิ้งมาแล้วมันเป็นอะไรมาบ้าง เป็นสัตว์บ้าง เป็นคนบ้าง เป็นมาเท่าไหร่ดูให้มันช่ำใจ จะได้เกิดความเชื่อในตัวเอง แล้วก็ท่านที่ไม่ต้องเกิดอีกมีบ้างไหม อันนี้ไม่ยาก ถ้าสร้างอารมณ์เข้าถึงโคตรภูญาณ ถึงแล้วเราจะใช้ทิพจักขุญาณเห็นพระนิพพานได้อย่างแจ่มใสแล้วก็ชัดเจน ถ้าอารมณ์ของท่านยังไม่ถึงโคตรภูญาณเพียงใด อย่าเพิ่งพูดไปนะ เรื่องนิพพาน แล้วถ้ายังไม่ได้ทิพจักขุญาณด้วย ไม่ได้โคตรภูญาณด้วย ขอให้เก็บใส่เซปไว้ดีกว่า เรื่องนิพพานยังไม่ต้องพูดกัน พูดเท่าไรผิดเท่านั้น ไม่ต้องห่วง

            ในเมื่อพิจารณาขันธ์ ๕ คือว่าร่างกายว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราแล้ว และใช้ญาณต่าง ๆ ที่เราได้เป็นเครื่องช่วย ต่อมาอารมณ์มันก็ตัดความสงสัยในคำพระพุทธเจ้าเสียได้ ศีลก็บริสุทธิ์ ต่อมาก็เกิดความเบื่อหน่ายในกามคุณ มีผัวมีเมียมาแล้วเท่าไรมันก็ตายหมด แก่หมด รสชาติไม่เป็นเรื่อง แล้วเราก็มาระงับอารมณ์โกรธ ตัดความมัวเมาในฌานและอรูปฌาณ ตัดมานะ ความถือตัวถือตนว่าคนและสัตว์เสีย อารมณ์มันก็ทรงตัวอยู่ในด้านของสมาธิด้านกุศลตลอดเวลา ในที่สุด ตัดอวิชชาความโง่เสียได้ ไม่อยากเกิดอีกต่อไป เพราะเห็นพระนิพพานแล้ว เห็นว่าพระนิพพานเต็มไปด้วยสภาพของความแจ่มใส

            ที่เล่ามาแล้วถือว่าเป็นการจบหลักสูตรพระพุทธศาสนา ในปฏิปทาของพระพุทธเจ้าที่ทรงยืนยันกับนิโครธปริพาชก ถ้าหากว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทมีความหวังดีแก่ตัวจริง ๆ ควรจะปฏิบัติตามสายนี้จะได้คลายสงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล จงมีแก่บรรดาพุทธศาสนิกชน ทุกท่าน สวัสดี.
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 5 ตุลาคม 2006

แชร์หน้านี้

Loading...