อจินติตสูตร"เรื่องอจินไตย"

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย theliger, 14 ตุลาคม 2008.

  1. theliger

    theliger เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 เมษายน 2007
    โพสต์:
    735
    ค่าพลัง:
    +219
    วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 18 ฉบับที่ 6529 ข่าวสดรายวัน


    อจินติตสูตร"เรื่องอจินไตย"


    ธรรมะใต้ธรรมาสน์

    ไต้ ตามทาง



    อจินติตสูตร

    "เรื่องอจินไตย"


    "ภิกษุทั้งหลาย เรื่อง 4 อย่างนี้ไม่พึงคิด ใครขืนติดจะพึงมีส่วนเป็นบ้า เรื่อง 4 อย่างคือ พุทธวิสัย ฌานวิสัย กัมมวิปากวิสัย และโลกจินดา

    ภิกษุทั้งหลาย เรื่อง 4 อย่างเหล่านี้และไม่พึงคิด ใครขืนคิดจะพึงมีส่วนเป็นบ้า"


    พุทธวจนะสั้นๆ นี้ ตรัสไว้ใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ขออธิบายประกอบเพื่อเข้าใจง่ายดังนี้

    1.พุทธวิสัย หมายถึงพระปรีชาญาณของพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งเหนือสามัญมนุษย์ธรรมดา เพราะพระองค์ทรงค้นพบสัจธรรมที่ไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน ทรงมี "ทศพลญาณ" (พระญาณอันเป็นกำลังของพระทศพล) 10 ประการ

    ทรงมี "สัพพัญญุตญาณ" (พระญาณหยั่งรู้สิ่งทั้งปวง) ที่คนอื่นไม่มี การทรงแสดงปาฏิหาริย์ (เช่น ยมกปาฏิหาริย์) ก็ดี การที่ทรงพระฉายพระรัศมีไปเสมือนพระองค์ประทับอยู่เฉพาะหน้าบุคคลที่ทรงต้องการโปรดก็ดี ล้วนเป็นพุทธวิสัยทั้งสิ้น

    2.ฌานวิสัย หมายถึงความสามารถพิเศษของผู้ได้ฌานและอภิญญา เช่น ตาทิพย์ หูทิพย์ อันเป็นอำนาจเหนือคนธรรมดา เป็นผลแห่งการฝึกฝนทางจิต สิ่งเหล่านี้มีจริงเป็นไปได้จริง คนที่ไม่เคยฝึกฝน ไม่เคยสัมผัส มัวแต่คิดว่ามันเป็นไปได้อย่างไร ไม่พ้นกลายเป็นคนบ้า เอาแค่ง่ายๆ เรานั่งอยู่ตรงนี้ มีกล้องทีวีจับอยู่ตรงหน้าเรา แต่ภาพและเสียงของเราไปปรากฏในจอสี่เหลี่ยมตามบ้านเรือนต่างๆ ไกลๆ ได้อย่างไร ใครขืนคิดก็ไม่พ้นบ้า เรื่องฌานและอภิญญาลึกล้ำกว่านี้หลายเท่านัก

    3.กัมมวิปากวิสัย การให้ผลของกรรมที่ทำไว้ ไม่ว่าในทางดีหรือทางชั่ว เป็นความอัศจรรย์ กรรมมีกลไกของมันเองโดยเฉพาะมนุษย์ปุถุชนไม่สามารถจะหยั่งคาดได้ รู้แต่เพียงว่ากรรมที่ทำลงไปแล้วนั้นจะให้ผล ส่วนจะได้ผลอย่างไร เมื่อใด ปุถุชนมิสามารถหยั่งคาดได้

    4.โลกจินตา การคิดเรื่องโลก อย่าไปคิดเลยว่า โลกเกิดขึ้นได้อย่างไร จะสิ้นสุดลงเมื่อใด พระจันทร์และพระอาทิตย์เกิดขึ้นได้อย่างไร คิดไปก็ไม่รู้จริงๆ ดอกครับ ที่ใครให้คำตอบไว้ก็คิดเอาเองทั้งนั้น ถูกซักมากๆ เข้าก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน

    "ไม่เป็นไรน่า อย่าคิดมาก เดี๋ยวจะไปกันใหญ่" ใช่หรือเปล่าจอน



    ภิกขุสูตร

    "หมดหวัง-มีหวัง-ไม่หวัง"




    "ภิกษุทั้งหลาย มีคนอยู่ 3 ประเภทคือ 1 ผู้หมดหวัง 2 ผู้มีหวัง และ 3 ผู้ไม่หวัง มีอธิบายอย่างไร

    บางคนเกิดในตระกูลต่ำ เช่น ตระกูลจัณฑาล...มีข้าวน้ำและโภชนะน้อย เป็นอยู่อย่างลำบาก มีผิวพรรณไม่ดี มีโรคมาก เป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขา...เมื่อสดับข่าวว่า บุคคลชื่อนั้นชื่อนี้ได้รับมุรธาภิเษกเป็นกษัตริย์ เขามิได้คิดหวังเลย สักวันหนึ่งตนคงได้รับมุรธาภิเษกเช่นนั้นบ้าง คนเช่นนี้เรียกว่า "ผู้หมดหวัง" (ในทางโลก)

    ภิกษุบางรูป เป็นคนทุศีล มีธรรมทราม ไม่บริสุทธิ์ มีความประพฤติน่ารังเกียจ มีการกระทำที่ต้องปกปิด ไม่ใช่สมณะ ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ปฏิญาณตนว่าประพฤติพรหมจรรย์ เป็นคนเน่าใน มีกิเลสมาก รุงรังดุจหยากเยื่อที่สางได้ยาก เธอได้ฟังข่าวว่าภิกษุนั้น ชื่อนี้ได้บรรลุธรรม หาอาสวะมิได้ มิได้คิดเลยว่าสักวันหนึ่งตนจะต้องเป็นเช่นนั้นบ้าง ภิกษุเช่นนี้เรียกว่า "ผู้หมดหวัง" (ในทางธรรม)

    ยาวคนเกิดในตระกูลกษัตริย์ ได้รับข่าวว่า เจ้าชายชื่อนั้นชื่อนี้ได้รับมุรธาภิเษกเป็นกษัตริย์แล้ว ย่อมมีความหวังว่า สักวันหนึ่งตนต้องเป็นเช่นนั้นบ้าง บุคคลเช่นนี้เรียกว่า "ผู้มีหวัง" (ในทางโลก)

    ภิกษุบางรูป เป็นผู้มีศีล มีธรรมดีงาม ได้ฟังข่าวว่า ภิกษุชื่อนั้นชื่อนี้ได้บรรลุธรรม หาอาสวะมิได้แล้ว ย่อมมีความหวังว่า สักวันหนึ่งตนก็คงได้บรรลุธรรมเช่นนั้นบ้าง ภิกษุเช่นนี้เรียกว่า "ผู้มีหวัง" (ในทางธรรม)

    พระราชาผู้ได้รับมุรธาภิเษกเป็นกษัตริย์แล้ว ได้ยินว่า เจ้าชายชื่อนั้นชื่อนี้ได้เป็นกษัตริย์แล้ว ย่อมไม่คิดอยากเป็นพระราชา เพราะตนได้เป็นก่อนแล้ว พระองค์ไม่จำเป็นต้องหวังอีกต่อไป อย่างนี้เรียกว่า "ผู้ไม่หวัง" (ในทางโลก)

    ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์แล้ว แม้จะได้ยินว่า มีภิกษุชื่อโน้นชื่อนี้ได้เป็นพระอรหันต์ ก็ไม่หวังอยากเป็นเช่นนั้น เพราะตนได้เป็นเรียบร้อยแล้ว อย่างนี้เรียกว่า "ผู้ไม่หวัง" (ในทางธรรม)"

    ข้อความนี้จาก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต สรุปสั้นๆ ว่า ภิกษุทุศีลเป็นคน "หมดหวัง" ภิกษุมีศีลเป็นคน "มีหวัง" พระอรหันต์เป็นคน "ไม่หวัง"

    ใครอยากเป็นคนประเภทไหนก็เลือกเอาเทอญ



    สุขุมสูตร

    จงเอาเยี่ยงเต่า "หดหัวอยู่ในกระดอง"




    พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายวันหนึ่งว่า "เคยมีเรื่องเล่าว่าเต่าตัวหนึ่งเที่ยวหากินอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเล็กๆ สายหนึ่ง ในเวลาเย็นสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเดินผ่านมาพอดี เต่าเห็นสุนัขจิ้งจอกก็รีบหดอวัยวะ 5 ส่วน คือ ขาทั้ง 4 และคอ 1 เข้าในกระดอง นิ่งอยู่

    สุนัขจิ้งจอกก็หยุดนิ่ง คอยจ้องอยู่ว่า เมื่อใดเต่าเหยียดคอหรือขาข้างใดข้างหนึ่งออกมานอกกระดอง เราจะงับมันฟาดให้กระดองแตกแล้วกินเนื้อมันทันที

    เต่าดูเหมือนรู้ความคิดของสุนัขจิ้งจอก ไม่ยอมยื่นขาหรือคอออกมานอกกระดอง นิ่งอยู่เช่นนั้นเป็นเวลานาน

    สุนัขจิ้งจอกสุดจะทนรอได้ จึงหนีไปด้วยความเสียใจ

    ภิกษุทั้งหลาย ตราบใดที่เธอทั้งหลายคุ้มครองอินทรีย์ (คือระวังการแสดงออกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เห็นรูป (คือมองเห็นสิ่งต่างๆ) แล้วไม่มองรวม (คือ ไม่มองภาพรวมแล้วเห็นว่าสวยงามจริง เป็นต้น) ไม่มองแยก (คือ ไม่แยกมองอวัยวะทีละส่วนแล้วเห็นว่าแขนสวย ขาสวย เป็นต้น) ระมัดระวังการแสดงออกทางตา...ได้ยินเสียง...ได้กลิ่น...ลิ้มรส...สัมผัส...คิดคำนึง...แล้วระมัดระวังการแสดงออกทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ "มาร" คือความโลภจ้องอยากได้ของคนอื่น (อภิชฌา) และความเสียใจทุกข์ใจ (โทมนัส) จะไม่มีโอกาสทำให้พวกเธอตกเป็นเหยื่อได้"

    ข้อความนี้อยู่ใน สุขุมสูตร (หรือ กุมโมปมสูตร) ให้ข้อคิดว่า ถ้าเราระวังทุกด้าน มารก็หมดโอกาสทำลาย ดุจเต่าหดหัวและขาอยู่ในกระดอง ปลอดภัยจากถูกสุนัขจิ้งจอกงับ

    แต่ถ้าเป็น "เต่ากระดองแตก" ถึงจะหดหัวหดขาดีอย่างไรก็ไม่มีทางพ้นมือสุนัขจิ้งจอกได้ดอกครับ

    หน้า 31


    ที่มา : http://www.matichon.co.th/khaosod/v...ionid=TURNd053PT0=&day=TWpBd09DMHhNQzB4TkE9PQ==
     

แชร์หน้านี้

Loading...