เรื่องเด่น อยากให้พวกเรายึดในอปัณณกปฏิปทา (พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 31 ธันวาคม 2017.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    044-7.jpg

    การปฏิบัติของเรานั้น มีหลายท่านที่ห่วงกังวลว่าจะผิดทาง ทำให้เสียเวลาการปฏิบัติ ก็อยากให้พวกเรายึดในอปัณณกปฏิปทา ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้

    อปัณณกปฏิปทา คือ ปฏิปทาที่ปฏิบัติแล้วไม่ผิด ประกอบไปด้วย ๓ อย่างด้วยกัน คือ ๑.อินทรีย์สังวร การสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับนักปฏิบัติใหม่ ๆ นั้น จะเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะว่าสติยังไม่เพียงพอ สมาธิก็ยังไม่เพียงพอ

    เมื่อสติยังไม่เพียงพอก็จะไหลไปตามรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสและธรรมารมณ์ทันทีที่กระทบ เมื่อสมาธิไม่เพียงพอก็ไม่มีกำลังที่จะรั้งให้กลับเข้ามาอยู่กับปัจจุบันธรรมเฉพาะหน้าได้ ดังนั้น..พวกเราจึงจำเป็นที่จะต้องเน้นย้ำในเรื่องสมาธิให้มีความทรงตัวมากกว่านี้ ถ้าสมาธิของพวกเราทรงตัว อยู่กับลมหายใจเฉพาะหน้า ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัสหรือใจครุ่นคิด เราก็จะไม่ไปให้ความสนใจ ไม่ไปให้ความสำคัญตรงนั้น

    ถ้าหากเราไม่ไปให้ความสนใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ที่เข้ามาถึง รัก โลภ โกรธ หลงต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ เราเองก็จะมีความสุขจากใจที่สะอาด เพราะปราศจากกิเลสชั่วคราว ถ้าหากว่านับไปแล้วก็จะเป็นวิขัมภนวิมุติ เป็นการหลุดพ้นอย่างหนึ่ง แต่เป็นการหลุดพ้นเพราะใช้กำลังใจข่มกิเลสเอาไว้

    การสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้นสำคัญมาก เนื่องจากว่าพวกเราที่ปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบันนี้ พอถึงเวลาเลิกปฏิบัติไป ก็ปล่อยให้กำลังที่ตนเองสั่งสมมาได้นั้น สูญสิ้นไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอยู่เสมอ

    ตาเห็นรูปก็ไปยินดียินร้ายกับรูป หูได้ยินเสียงก็ไปยินดียินร้ายกับเสียง เป็นต้น ทำให้กำลังที่เราสะสมได้มาในระหว่างที่ปฏิบัติ นำไปใช้ในการยินดียินร้ายกับสิ่งเหล่านี้ กำลังจึงหมดไปอยู่เรื่อย ทำให้มีต้นทุนไม่พอที่จะต่อสู้กับกิเลส องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์จึงได้แนะนำพวกเราว่าให้สำรวมอินทรีย์ คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของพวกเราไว้ให้ดี

    นอกจากจะเป็นการสั่งสมกำลังของตัวเองเอาไว้ไม่ให้สูญเสียไปแล้ว ยังเป็นการป้องกันไม่ให้รัก โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นได้อีกด้วย พระองค์ท่านตรัสว่า ถ้าเราปฏิบัติในข้อแรกคืออินทรีย์สังวรนี้ได้ ก็ถือว่าปฏิบัติได้ถูกต้องไม่ผิดพลาด

    ข้อที่สองคือ โภชเนมัตตัญญุตา แปลว่า รู้จักประมาณในการกิน ไม่เลือกกิน กินพอดี พอเหมาะ พอควรกับธาตุขันธ์ของตน ถ้าถามว่าเท่าไรจึงจะพอดี ก็ต้องเอาอย่างที่ผู้รู้บางท่านได้แนะนำไว้ว่า ตอนเช้ากิน ๓ ส่วน ตอนกลางวันกิน ๒ ส่วน ตอนเย็นกิน ๑ ส่วน ก็ถือว่าเรารู้จักประมาณในการกิน

    แต่สำหรับนักปฏิบัติแล้วก็ถือว่าตอนเช้ากิน ๒ ส่วน กลางวันกิน ๑ ส่วน ตอนเย็นไม่กินเลยก็ได้ นี่เป็นการประมาณในการกินของตนเอง ด้วยการจำกัดให้สภาพร่างกายของเรารับเอาอาหารการกินลงไปแค่พอยังอัตภาพไว้เพื่อปฏิบัติธรรมเท่านั้น ไม่ได้กินเพื่อความอ้วนพีของร่างกาย ไม่ได้กินเพื่อความผ่องใสของผิวพรรณ ไม่ได้กินเพื่อไปกระตุ้นกิเลสให้เกิดขึ้นโดยการหาสิ่งบำรุงต่าง ๆ มากิน เป็นต้น

    ในข้อนี้เรายังต้องแฝงเอาไว้ด้วยการปฏิบัติในอาหาเรปฏิกูลสัญญา ก็คือพิจารณาอาหารเป็นปกติว่า มีพื้นฐานมาจากความสกปรก เรากินเข้าไปหรือไม่กินเข้าไปเราก็ตายแน่นอน แต่ที่เรากินเข้าไปก็เพื่อระงับความกระวนกระวายของร่างกาย เพื่อให้สามารถที่จะใช้ร่างกายปฏิบัติธรรมในส่วนที่ตนเองต้องการได้ เราจะไม่เลือกกิน ไม่ใช่ว่าที่ไหนเขาบอกว่าดี เราก็เสาะแสวงหา ตะเกียกตะกายไปหามากินให้ได้ ถ้าอย่างนั้นเรียกว่าไม่มีโภชเนมัตตัญญุตา

    การที่เราจำกัดเรื่องการกินนั้น ก็เพราะว่าถ้าร่างกายหนักไปด้วยอาหารก็จะง่วงซึม ทำให้ภาวนาไม่ดี ถ้าร่างกายปลอดโปร่งจากอาหาร เลือดลมเดินสะดวก การภาวนาจิตก็จะทรงตัวตั้งมั่นได้ง่าย และโดยเฉพาะว่าถ้าเราเว้นจากอาหารมื้อค่ำ ก็จะทำให้เราปราศจากความกังวล ไม่ต้องเสียเวลาไปเสาะแสวงหามาอีก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่าถ้าหากว่าเราปฏิบัติในโภชเนมัตตัญญุตา ก็เรียกว่าเราปฏิบัติไม่ผิด

    ข้อที่ ๓ ข้อสุดท้ายของอปัณณกปฏิปทาก็คือ ชาคริยานุโยค คือ การปฏิบัติธรรมของผู้ตื่นอยู่ คำว่าผู้ตื่นอยู่ในที่นี้ ก็คือการมีสติระลึกรู้อยู่เสมอ การที่จะมีสติระลึกรู้อยู่เสมอแล้วป้องกันไม่ให้กิเลสเข้ามากินใจเราได้ ก็คือการระลึกถึงอานาปานุสติ เอาสติกำหนดจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออกอย่างที่พวกเราปฏิบัติกันอยู่ในขณะนี้

    ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเราอยู่กับลมหายใจเข้าออก อยู่กับปัจจุบันตรงหน้า ตอนนี้ เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ส่งจิตวุ่นวายฟุ้งซ่านไปในเรื่องอดีตที่ผ่านมาหรือเรื่องอนาคตที่ยังมาไม่ถึง จนกระทั่งท่านทั้งหลายสามารถที่จะปฏิบัติให้จิตของตนก้าวเข้าสู่ระดับปฐมฌานละเอียดขึ้นไป ถ้าอย่างนั้น ท่านสามารถที่จะเป็นผู้ตื่นได้แม้กระทั่งเวลาที่หลับอยู่

    เพราะสภาพจิตที่ละเอียด จะรับรู้อาการภายนอกทั้งหมด นอนอยู่ก็รู้ว่าตัวเองนอน หลับอยู่ก็รู้ว่าตัวเองหลับ กรนอยู่ก็รู้ว่าตัวเองกรน มีสิ่งใดเกิดขึ้นรอบข้างก็รับรู้อยู่ แต่ว่าไม่ไปใส่ใจในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ยกเว้นว่าบางอย่างมีความเกี่ยวเนื่องกันที่เราต้องไปจัดการให้เรียบร้อย ก็จะคลายสติออกมาอย่างระมัดระวัง

    เมื่อจัดการสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเรียบร้อยแล้ว ก็ดึงเอาอารมณ์ของตนเองกลับเข้าไปสู่จุดปลอดภัย ก็คืออยู่กับอารมณ์เฉพาะหน้า ตอนนี้ เดี๋ยวนี้ต่อไป การที่เราเป็นนักปฏิบัตินั้น ถ้าเข้าไม่ถึงชาคริยานุโยคคือการปฏิบัติธรรมของบุคคลที่ตื่นอยู่ คือหลับและตื่นมีสติระลึกรู้เท่ากัน ถ้าอย่างนั้นเรายังเอาดีได้ยาก

    เพราะว่าหลายต่อหลายท่านเวลากลางวันสามารถที่จะระงับยับยั้งไม่ให้รัก โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นกับตัวเองได้อย่างดียิ่ง แต่เวลาที่นอนหลับ สติขาดลง รัก โลภ โกรธ หลงก็กินอย่างเต็มที่ กินเราตอนตื่นไม่ได้ก็ไปกินเราตอนหลับ พาให้เราฝันวุ่นวายไปหมด

    ท่านที่ไม่เคยละเมิดศีลข้อกาเมฯ ก็ฝันว่าละเมิดศีลข้อกาเมฯ ท่านที่ไม่เคยละเมิดศีลข้อปาณาติบาตก็ฝันว่าละเมิดศีลข้อปาณาติบาต เป็นต้น แต่ถ้าเราสามารถจะปฏิบัติได้จนถึงระดับตื่นและหลับรู้ได้เท่ากัน กิเลสก็ไม่สามารถที่จะกินใจของเราได้ สติ สมาธิของเราจะดำเนินต่อเนื่องไปตลอด

    เมื่อสติไม่ขาดช่วงลง ความผ่องใสของจิตมีมาก ปัญญาก็จะเกิดมากขึ้น เห็นทุกอย่างได้ชัดเจน แหลมคม เมื่อเห็นสาเหตุของการเกิดทุกข์ได้ สมาธิที่ทรงตัวอยู่ก็มีกำลังมากเพียงพอที่จะตัดละซึ่งสาเหตุนั้น ช่วยให้เราหลุดพ้น ได้มรรคผลแต่ละระดับตามกำลังที่ตนเองทำได้

    ดังนั้น..ถ้าหากว่าใครปฏิบัติในข้อชาคริยานุโยค องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่าปฏิบัติได้ไม่ผิดแล้ว

    ลำดับนี้ก็ให้ทุกท่านเอาใจจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออกเฉพาะหน้า อย่าให้จิตคลาดไปสู่อารมณ์อื่น ให้อยู่กับปัจจุบันธรรม คือตอนนี้ เดี๋ยวนี้ คือลมหายใจเข้าออกพร้อมกับคำภาวนาของเรา ใครสามารถส่งจิตไปกราบพระบนพระนิพพานได้ให้ส่งจิตไปกราบพระบนพระนิพพาน

    ท่านใดที่ส่งจิตไปกราบพระไม่ได้ ให้นึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ที่เรารักเราชอบมากที่สุด จะเป็นพระบูชาหรือพระเครื่องก็ได้ ตั้งใจว่านั่นเป็นองค์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าหากว่าเราสิ้นชีวิตลงไป ขอไปอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพานเท่านั้น

    ถ้ายังมีลมหายใจ มีคำภาวนาอยู่ ก็ให้กำหนดดูลมหายใจ และกำหนดคำภาวนาไป ถ้าไม่มีลมหายใจ ไม่มีคำภาวนา ก็ให้เอาสติจดจ่อตั้งมั่นอยู่กับพระนิพพานหรือว่าภาพพระที่เราจับเอาไว้ จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

    พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันอาทิตย์ที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๔



    ที่มา วัดท่าขนุน
     
  2. Apinya Smabut

    Apinya Smabut นิพพานังสุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มิถุนายน 2014
    โพสต์:
    1,397
    กระทู้เรื่องเด่น:
    57
    ค่าพลัง:
    +2,628

แชร์หน้านี้

Loading...