อริยสัจจากพระโอษฐ์ ตอน ตรัสรู้แล้ว ทรงรำพึงถึงหมู่สัตว์

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 24 สิงหาคม 2017.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,438
    อริยสัจจากพระโอษฐ์ ตอน ตรัสรู้แล้ว ทรงรำพึงถึงหมู่สัตว์
    [​IMG]
    สัตว์โลกนี้ เกิดความเดือดร้อนแล้ว มีผัสสะบังหน้า๑ ย่อมกล่าวซึ่งโรค (ความ เสียดแทง) นั้น โดยความเป็นตัวเป็นตนเขาสำคัญสิ่งใด โดยความเป็นประการใด แต่สิ่งนั้นย่อมเป็น (ตามที่เป็นจริง) โดยประการอื่นจากที่เขาสำคัญนั้น
    ๑. คำว่า “มีผัสสะบังหน้า (ผสฺสปเรโต)” หมายความว่า เมื่อเขาถูกต้องผัสสะใด จิตทั้งหมดของเขายึดมั่น อยู่ในผัสสะนั้นจนไม่มองเห็นสิ่งอื่น แม้จะใหญ่โตมากมายเพียงใด ทำนองเส้นผมบังภูเขา เขาหลงใหลยึดมั่นแต่ใน อัสสาทะของผัสสะนั้นจนไม่มองเห็นสิ่งอื่น; อย่างนี้เรียกว่า มีผัสสะบังหน้า คือบังลูกตาของเขา ให้เห็นสิ่งต่าง ๆ ผิดไปจากตามที่เป็นจริงสัตว์โลกติดข้องอยู่ในภพ ถูกภพบังหน้าแล้ว มีภพโดยความเป็นอย่างอื่น (จากที่มันเป็นอยู่จริง) จึงได้เพลิดเพลินยิ่งนักในภพนั้น. เขาเพลิดเพลินยิ่งนักในสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นภัย (ที่เขาไม่รู้จัก) ; เขากลัวต่อสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์. พรหมจรรย์นี้ อันบุคคลย่อมประพฤติ ก็เพื่อการละขาดซึ่งภพ. สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด กล่าวความหลุดพ้นจากภพว่ามีได้เพราะภพ ; เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์ทั้งปวงนั้น มิใช่ผู้หลุดพ้นจากภพ. ถึงแม้สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด กล่าวความออกไปได้จากภพ ว่ามีได้เพราะวิภพ๑ ; เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์ทั้งปวงนั้น ก็ยังสลัดภพออกไปไม่ได้. ก็ทุกข์นี้มีขึ้น เพราะอาศัยซึ่งอุปธิทั้งปวง. เพราะความสิ้นไปแห่งอุปาทานทั้งปวง ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์จึงไม่มี.ท่านจงดูโลกนี้เถิด (จะเห็นว่า) สัตว์ทั้งหลายอันอวิชชาหนาแน่นบังหน้าแล้ว ; และว่า สัตว์ผู้ยินดีในภพอันเป็นแล้วนั้น ย่อมไม่เป็นผู้หลุดพ้นไปจากภพได้. ก็ภพทั้งหลายเหล่าหนึ่งเหล่าใด อันเป็นไปในที่หรือในเวลาทั้งปวง๒ เพื่อความมีแห่งประโยชน์โดยประการทั้งปวง ; ภพทั้งหลายทั้งหมดนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา.
    ๑. คำว่า “วิภพ” ในที่นี้ ตรงกันข้ามกับคำว่า “ภพ” คือไม่มีภพตามอำนาจของนัตถิกทิฏฐิ หรืออุจเฉท ทิฏฐิโดยตรง คือไม่เป็นไปตามกฎของอิทัปปัจจยตา; ดังนั้น แม้เขาจะรู้สึกว่าไม่มีอะไร มันก็มีความไม่มีอะไรนั้นเองตั้งอยู่ในฐานะเป็นภพชนิดที่เรียกว่า “วิภพ” เป็นที่ตั้งแห่งวิภวตัณหา.
    ๒. คำว่า “ในที่หรือในเวลาทั้งปวง” ตลอดถึงคำว่า “เพื่อความมีแห่งประโยชน์โดยประการทั้งปวง” เป็นคุณบทแห่งค่าอันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นของภพ. ความมีความเป็นอย่างไรก็ตาม ย่อมเนื่องด้วยเวลาที่พอเหมาะ เนื้อที่ที่พอดีประโยชน์ที่น่ารัก มันจึงจะเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ หรือยั่วยวนให้ยึดถือ; ดังนั้น ภพชนิดไหนก็ตาม ย่อมเนื่องอยู่ด้วยสิ่งทั้งสามนี้ แต่แล้วในที่สุดมันก็เป็นเพียงสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาดังที่กล่าวแล้วในพุทธอุทานนั้น
    .เมื่อบุคคลเห็นอยู่ซึ่งข้อนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามที่เป็นจริงอย่างนี้อยู่ ; เขาย่อม ละภวตัณหาได้ และไม่เพลิดเพลินวิภวตัณหาด้วย. ความดับเพราะความสำรอกไม่เหลือ (แห่งภพทั้งหลาย) เพราะความสิ้นไป แห่งตัณหาโดยประการทั้งปวง นั้นคือนิพพาน. ภพใหม่ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้ดับเย็นสนิทแล้ว เพราะไม่มีความยึดมั่น.
    ภิกษุนั้น เป็นผู้ครอบงำมารได้แล้ว ชนะสงครามแล้ว ก้าวล่วงภพทั้งหลายทั้งปวงได้แล้ว เป็นผู้คงที่ (คือไม่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไป), ดังนี้แล.

    ที่มา- อุ.ขุ. ๒๕/๑๒๑/๘๔.

    (ข้อความนี้ เป็นพระพุทธอุทานที่ทรงเปล่งออก ที่โคนต้นโพธิ์เป็นที่ตรัสรู้ เมื่อตรัสรู้แล้วได้ ๗ วัน).
     

แชร์หน้านี้

Loading...