เรื่องเด่น 'อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ' องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเราไม่ประมาท

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 30 ตุลาคม 2017.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    142874748130487245.jpg


    วันนี้วันพระตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนยี่(๒) ปีมะเมีย

    ขอให้ทุกท่านมีความสุขในธรรม

    องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเราไม่ประมาท ตามปัจฉิมโอวาทที่องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถตรัสเป็นปัจฉิมวาจา วันใกล้จะปรินิพพาน ตรัสแก่พระอานนท์ว่า
    อานันทะ ดูก่อนอานนท์ พระธรรมคำสั่งสอนที่เราสอนพวกเธอนั้น ย่อมรวมอยู่ในความไม่ประมาท แล้วองค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ ตรัสว่า อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม
    นี่เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าสอนให้เราไม่ประมาทในการที่จะละความชั่ว หมายความว่า จงอย่าคิดว่านี่เราไม่ชั่ว พระบาลีที่องค์สมเด็จพระชินศรีสอนไว้บอกว่า อัตตนา โจทยัตตานัง จงเตือนตนด้วยตนเอง นี่ก็หมายถึงว่าพระองค์ไม่ให้เราประมาท จงมองดูความชั่ว มองดูความผิด มองดูความเสียหายของตนเองไว้เป็นปกติ
    ถ้าเรามองความชั่ว มองความเสียหายของตัวไว้แล้ว เราก็มีจะแต่ความดี เราอย่าเป็นคนเข้าข้างตัว เอาพระวินัยมากาง เอาธรรมะมากางเข้าไว้ ดูพระวินัย ดูธรรมะว่าอะไรมันผิดบ้าง แม้แต่นิดหนึ่งก็ต้องตำหนิ เหมือนกับผ้าขาวทั้งผืน มีจุดดำอยู่จุดหนึ่ง ก็ชื่อว่าทำผ้าขาวนั้นให้สิ้นราคา แม้จุดนั้นจะเป็นจุดเล็กเท่ากับปลายปากกาที่จิ้มลงไปก็ตามที เขาก็ถือว่า มีตำหนิ
    นี่เราเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราจะพิจารณาหาความดีของพระองค์ก็ต้องหากันตรงนี้ ว่าพระพุทธเจ้าต้องการให้เรามีจิตบริสุทธิ์ ถ้าจิตบริสุทธิ์แล้วไปไหน
    พระพุทธเจ้ากล่าวว่า
    “จิตเต ปาริสุทเธ สุคติ ปาฏิกังขา ถ้าจิตบริสุทธิ์แล้วอย่างน้อยเราก็ไปสู่สุคติโลกสวรรค์”
    คำว่า สุคติ นี้ก็ยกยอดไปถึงสวรรค์ก็ได้ พรหมโลกก็ได้ นิพพานก็ได้
    นี่เราก็มานั่งใคร่ครวญความดีของพระพุทธเจ้า นั่งนึกเอาว่าพระพุทธเจ้าจะทรงเป็นพระพุทธเจ้าได้ก็อาศัย ตัดความรัก ตัดความโลภ ตัดความโกรธ ตัดความหลง
    ตัดความรัก พระพุทธเจ้ามีพระชายาอยู่แล้ว มีพระราชโอรส คือ พระราหุล พระราชโอรสคลอดในวันนั้น พระชายาก็ยังสาวอายุเพียง ๑๖ ปี แต่องค์สมเด็จพระชินศรี เห็นว่าการครองเรือนเป็นทุกข์ จึงแสวงหาความสุข คือ พระโพธิญาณ ด้วยการออกบวช ทรงตัดความรักความอาลัยเสียได้ ออกจากบ้านในเวลากลางคืน
    ตัดความโลภ พระพุทธเจ้าทรงทราบอยู่แล้วว่า อีก ๗ วัน ตำแหน่งพระเจ้าจักรพรรดิราชจะเข้าถึงพระองค์ แต่พระองค์ก็ไม่อาลัยใยดีในความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช เพราะการเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ก็ต้องแก่ ต้องตาย ต้องเดือดร้อนเหมือนกัน
    นี่องค์สมเด็จพระภควันต์ แม้จะเป็นเจ้าโลก ก็วางทิ้งไปเสียไม่ต้องการ อันนี้เราต้องปฏิบัติตาม ใคร่ครวญตามว่ามันไม่ดี พระพุทธเจ้าจึงวาง ถ้าดีแล้วก็ไม่วาง อะไรที่พระพุทธเจ้าวางไว้ และเป็นสิ่งที่เกินวิสัยที่เราจะครองได้ เราจะมีได้ แต่ว่าองค์สมเด็จพระชินศรีมีแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้ววางเสีย เราก็ต้องวางตาม เพราะของท่านมากกว่าเรา สูงกว่าเรา หนักกว่าเรา ดีกว่าเรา ที่จะพึงมีท่านยังวาง ถ้าเรามีดีไม่เท่าท่าน ทำไมเราจึงจะไม่วาง
    ประการต่อมา องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงแสวงหาอภิเนษกรมณ์อยู่ในสำนักอาฬารดาบส กับ อุทกดาบสรามบุตร ปฏิบัติในรูปฌานและอรูปฌาน ทั้ง ๒ ประการ จนมีความคล่องแคล่ว มีความชำนาญมาก อาจารย์ยกย่องให้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นครูสอนแทน แต่พระองค์ก็มาพิจารณาว่า เพียงแค่รูปฌาน และอรูปฌาน ทั้ง ๒ ประการนี้ ไม่ใช่หนทางบรรลุมรรคผล สมเด็จพระทศพลจึงได้วางเสีย แล้วออกจากสำนักของอาจารย์นั้น แสวงหาความดีต่อไป
    ในด้านของสมาธินี่ องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงถึงที่สุดถึงสมาบัติ ๘ ก็ยังเห็นว่าไม่เป็นทางที่สุดของความทุกข์ แต่สมาธินี้ก็ทรงไว้ไม่ทิ้ง หาต่อไปให้เข้าถึงที่สุดของทุกข์ คือ ความไม่เกิด
    ต่อมา องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็พบธรรมะที่ประเสริฐ ที่เรียกกันว่า อริยสัจ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ปฏิปทาเข้าถึงความดับทุกข์ แล้วก็ความดับทุกข์
    ทุกข์ ได้แก่ อาการที่ทนได้ยาก ก็คือ การเกิดขึ้นมาแล้วมันเต็มไปด้วยความทุกข์ นี่ เราพูกันมานานแล้ว
    เหตุให้เกิดความทุกข์ ก็คือ ตัณหา ความอยากเกินพอดี ความอยากนี่ต้องใช้คำว่า เกินพอดี ร่างกายมันหิวอาหาร ร่างกายมันอยากกินนํ้า ร่างกายมันปวดอุจจาระปัสสาวะ จะต้องไปส้วม ร่างกายต้องการเครื่องนุ่งห่มตามปกติ ร่างกายต้องการบ้านเรือนตามปกติ เป็นไปตามวิสัย อย่างนี้ไม่จัดว่าเป็นตัณหาตามที่พระพุทธเจ้าตรัส เพราะมันเป็นของพอดี พอใช้ที่เราจะพึงใช้ พึงมีตามความจำเป็นของร่างกาย แต่ว่าความตะเกียกตะกายเกินพอดีไม่รู้จักพอ มีแค่นี้พอดิบพอดีแล้วยังตะกายมากเกินไปทำให้เกิดความลำบาก มีความอยากไม่รู้จักจบ อยากอย่างนี้เรียกว่า ตัณหา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
    ทางดับตัณหาตัวนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่า มรรค
    มรรคนี่มี ๘ อย่าง โดยย่นย่อเหลือ ๓ คือ
    ศีล สมาธิ ปัญญา
    ศีล คือ การระงับกายวาจาให้เรียบร้อย ให้ดำรงอยู่ในความดีตามขอบเขต ที่เราเรียกว่า พระวินัย
    สมาธิ แปลว่า มีอารมณ์ตั้งมั่นอยู่ในความดี คือ ทรงศีล ทรงทานอยู่ จิตน้อมอยู่ในอารมณ์ทั้งสองประการ อย่างนี้ เป็นต้น
    ปัญญา พิจารณาเห็นว่า ธรรมะที่องค์สมเด็จพระทศพล คือ จริยาที่พระองค์ทรงละความรัก ละความโลภ ละความปรารถนาความมักใหญ่ใฝ่สูง ละการเกิด
    นี่องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงปฏิบัติถูกแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วจึงได้เป็นพระอรหันต์ นี่เราปฏิบัติพิจารณาตามประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พูดไปอีกนานมันก็ไม่จบ
    รวมความว่า วันหนึ่งเราก็นั่งใคร่ครวญถึงความดีของพระพุทธเจ้าตามหนังสือที่มีมา จับใจตรงไหนยึดตรงนั้นเป็นอารมณ์ อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็น พุทธานุสสติ การนึกถึงความดีของพระพุทธเจ้า ถ้าปฏิบัติตามนี้สำหรับพุทธานุสสติ และตามคิดแบบนี้จะทรงอารมณ์อยู่ได้แค่อุปจารสมาธิ นี่เป็นแบบหนึ่ง
    และอีกแบบหนึ่ง ไม่ปฏิบัติอย่างนั้น ท่านสอนให้ภาวนาว่า พุทโธ เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ การหายใจกำหนดตามสบายๆ เป็นการควบกับอานาปานุสสติกรรมฐาน ทำอารมณ์ใจให้สบาย จิตใจชื่นบาน นึกถึงความดีขององค์สมเด็จพระพิชิตมาร แล้วจับใจว่า พุทโธ พุทโธ ภาวนาไว้
    แล้วขณะใดที่จิตผูกพันว่า พุทโธ หรือลมหายใจเข้าออก ขณะนั้นก็ชื่อว่าจิตของเราเป็นสมาธิ การภาวนาแบบนี้สมาธิจะมีอารมณ์สูงเข้าถึงฌานสมาบัติได้
    การพิจารณาว่า พุทโธ ก็จะขอข้ามอารมณ์ต่างๆ ไป ถ้ากำลังใจของเราทรงมั่น ถ้าจะมีนิมิตปรากฏขึ้นโดยเฉพาะ นิมิตต่างๆ ก็คือ ต้องเห็นเป็นพระพุทธรูป หรือว่าเห็นเป็นรูปของพระสงฆ์ แต่มีรัศมีกายผ่องใส อย่างนี้เขาเรียกว่า นิมิตของพุทธานุสสติกรรมฐาน อย่างนี้จับเอาได้
    ถ้านิมิตอย่างนี้ปรากฏขึ้นมาเมื่อไร ในกาลต่อไปข้างหน้า ถ้าเราจะภาวนาว่า พุทโธ ก็ให้จิตน้อมนึกถึงภาพนั้นไว้เป็นปกติ อย่างนี้เรียกว่า เกิดอุคคหนิมิต
    ถ้านิมิตนั้นเปลี่ยนแปลง ทีแรกเราเห็นเป็นพระพุทธรูปดำบ้าง ขาวบ้าง เหลืองบ้าง แต่ไม่แจ่มใส ต่อไปถ้ามีสมาธิ สมาธิสูงขึ้นก็เห็นเป็นพระพุทธรูปใสขึ้น ใหญ่โตขึ้น เปลี่ยนแปลงมีความงดงามกว่า อย่างนี้เรียกว่า อุปจารสมาธิระดับสูง นี่จิตนึกถึงภาพนะ ภาพปรากฏชัดภายในใจ ไม่ใช่ไปนั่งหาภาพที่จะมาปรากฏใหม่
    ต่อไปเมื่อจิตนึกถึงภาพขององค์สมเด็จพระจอมไตร เกิดมีรัศมีกาย มีอารมณ์ผ่องใสแทนที่จะเป็นสีเหลือง หรือสีเขียว สีดำ สีแดง อะไรก็ตาม สีนั้นเปลี่ยนไปทีละน้อยจากเหลืองเข้มเป็นเหลืองอ่อนๆ มีความใส ต่อไปก็เป็นแก้ว แก้วใสเป็นประกายพรึกเต็มดวง หรือคล้ายกับกระจกเงาที่สะท้องแสงพระอาทิตย์ มีความชุ่มชื่น จะนึกให้ใหญ่ก็ได้ จะนึกให้เล็กก็ได้ อย่างนี้เรียกว่าเป็น ปฏิภาคนิมิต นั่นระดับฌาน
    ถ้าจิตจับอยู่แค่นี้จิตใจของเราชื่นบาน จิตจะทรงฌานไปด้วยอำนาจพุทธานุสสติกรรมฐาน จะมีอารมณ์เป็นสุขตลอดกาล แล้วเมื่อได้ภาพอย่างนี้ จงอย่าคลายภาพนี้ทิ้งไป ให้ดำรงภาพนี้เข้าไว้
    ขณะใดจิตยังนึกเห็น ไม่ใช่เห็นเฉยๆ นึกเห็น เห็นภาพอยู่ตราบใด ขณะนั้นเรียกว่า จิตทรงสมาธิ จิตของท่านจะมีแต่ความสุข
    ถ้าหากว่าทำจิตได้ถึงระดับนี้แล้ว ปรากฏว่า ปัญญาก็จะเกิด คำว่า อริยสัจ ก็จะปรากฏขึ้นแก่ใจของบรรดาท่านทั้งหลาย ความรู้เท่าของคำว่า การเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ อย่างนี้มันจะเกิดขึ้นแก่ใจเอง ความเบื่อหน่ายในการเกิดก็จะปรากฏ
    ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระบรมสุคตศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเราไว้บอกว่า นี่เป็นอธรรมเป็นความไม่ดี จิตใจของเราจะเห็นน้อมไปตามกระแสพระสัทธรรมขององค์สมเด็จพระชินศรี ด้วยอำนาจของปัญญาอย่างแจ่มใส
    ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาบอกควรประพฤติปฏิบัติ ควรทำให้เกิดมีขึ้น เพราะธรรมนั้นจะสร้างความชุ่มชื่น คือ ความสุขให้เกิดขึ้นกับใจ
    ใจ คือ ปัญญาของเรา ก็จะเห็นธรรมนั้นได้แบบผ่องใสไม่เคลือบแคลง เกิดเป็นคุณประโยชน์
    การเจริญพุทธานุสสติกรรมฐาน พระอัตถกถาจารย์ กล่าวว่า เป็นกรรมฐานที่สามารถสร้างความดีให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้ง่าย
    สำหรับพุทธานุสสติกรรมฐานโดยย่อ ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อแต่นี้ไป ขอทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาว่า พุทโธ เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา สวัสดี*


    โพสต์โดย achaya



    ที่มา มูลนิธิหลวงพ่อปาน-พระมหาวีระ ถาวโร
     

แชร์หน้านี้

Loading...