อาจารย์ยอด : หลวงพ่อกัสสปมุนี อรหันต์ผู้ทรงฤทธิ์ [พระ] new

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 1 กันยายน 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,358
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    Dhutanga02.jpg
    อาจารย์ยอด : หลวงพ่อกัสสปมุนี อรหันต์ผู้ทรงฤทธิ์ [พระ] new

    Published on Aug 31, 2017
    กดติดตามไว้ กดแชร์ตามอัทธยาศัย มีเรื่องใหม่เล่าให้ฟังทุกเช้าครับ สั่งซื้อ อาจารย์ยอด MP3 ซีดี/แฟลชไดรฟ์ ได้แล้วที่ https://ajarnyordmp3.page365.net
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 1 กันยายน 2017
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,358
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    Angel_both.gif

    หลวงพ่อกัสสปมุนี

    วัดปิปผลิวนาราม ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง

    ตอน ๖ เดือนบนภูกระดึง
    คำทำความเข้าใจ

    หนังสือเรื่อง "๖ เดือนบนภูกระดึง" ซึ่งพิมพ์เป็นครั้งที่ ๖ เล่มนี้ อาตมานึกขึ้นได้ถึงบางท่านบางคน ที่ได้ติงและถามอาตมาด้วยความสงสัยว่า
    "เรื่องที่หลวงพ่อเล่าไว้ในหนังสือเล่มนี้ คงจะต้องมีอีกหลายสิ่งหลายอย่าง ที่หลวงพ่อได้พบได้เห็น แต่ไม่ได้เล่าไว้ ความเข้าใจดังกล่าวนี้เป็นความจริงเพียงใดครับ ?"
    อาตมาก็ตอบว่า
    "นั่นเป็นเรื่องปลีกย่อย หลวงพ่อว่าไม่สำคัญแต่อย่างใด จึงไม่เล่าไว้ เพราะถึงจะบอกเล่าไป อาจจะเป็นเหตุให้ผู้ที่ไม่เชื่อและสงสัย กล่าววิจารณ์หลวงพ่อว่า 'ออกจะมากไป' จึงต้องงดไม่เล่าให้ฟัง "
    อีกประการหนึ่งเท่าที่เล่าไว้ในหนังสือนี้ ก็พอสมควรแล้วอนึ่ง อาตมาขอย้ำว่า เรื่องต่าง ๆ ที่ไม่เห็นด้วยตาบนภูกระดึงนั้น ยังมีอีกหลายอย่างหลายประการ ล้วนเป็นอาจินไตย ฉะนั้นขอให้ทุกท่านและทุกคน จงได้ทราบตามนี้
    หลวงพ่อกัสสปมุนี
    ๙ มีนาคม ๒๕๒๕

    บทที่ ๑

    ลางเบื้องต้นแห่งการเดินทาง
    ออกพรรษาวันที่ ๔ ตุลาดม พ.ศ. ๒๕๐๖ ปวารณาแล้ว ได้อนุโมทนากฐินหลวงแล้ว รออยู่จนถึงวันที่ ๑๒ ตุลาดม พ.ศ. ๒๕๐๖ ฉันเช้าแล้ว ผู้คนเก็บข้าวของเครื่องบริขาร เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการจาริก เช่น บาตรกลด กาน้ำ ย่าม ไม้เท้า ลูกประคำ เสร็จเรียบร้อยแล้วครองห่มดองรัดคต ออกจากกุฏิ น. ๑๘ ไปกราบเท้านมัสการลา เจ้าประคุณสมเด็จพระอุปัชฌายะ (สมเด็จพระวันรัต) ขณะนั้นกำลังอ่านหนังสือบางเรื่องอยู่ พออาตมภาพเข้าไปนั่งคุกเข่า เยื้องมาทางขวาของท่านหน่อยหนึ่ง ท่านวางหนังสือลงบนโต๊ะ หยิบแว่นตาออก พลางเอ่ยทักว่า -
    "จะออกเดินทางรึ ?"
    อาตมภาพพนมมือ กราบเรียนตอบว่า "ครับผมนัดรถที่จะมารับไปส่งที่จังหวัดสระบุรี ๘ โมงเช้านี้”
    "จะไปไหนก่อน ?”
    “เกล้าฯ จะเข้าพักบำเพ็ญอยู่ที่ถ้ำซับมืด หลังสถานีซับม่วงก่อน ไม่เกิน ๒ อาทิตย์ แล้วจะเดินทางต่อไปภูกระดึง จะขึ้นไปบำเพ็ญที่นั่นเป็นเวลานานหน่อยครับผม”
    “เออ ขออนุโมทนาในความเป็นผู้เอาจริงของท่าน แต่อย่าลืมนะว่าจะต้องกลับเข้าวัดก่อนเข้าพรรษา ๑๐ วัน”
    (นี่เป็นคำสัญญาระหว่างเจ้าประคุณสมเด็จอาจารย์ ฯ กับอาตมาภาพก่อนที่จะเข้าอุปสมบทนานมาแล้ว คือ โดยพระวินัยพระที่บวชใหม่จะเที่ยวจาริกไปไหนต่อไหนนานไม่ได้ จะต้องมีพรรษา ๕ ขึ้นไปแล้ว จึงจะปล่อยเดี่ยวได้แต่ทั้งนี้ก็สุดแต่การพิจารณาของท่านอุปัชฌาจารย์ จะพิจารณาว่าเป็นผู้ที่สมควรไว้วางใจปล่อยให้จาริกได้แล้วหรือยัง และเนื่องจากเจ้าประคุณสมเด็จอุปัชฌายะได้ทราบและได้เห็นการปฏิบัติ และวิสัยของอาตมาภาพ แต่ครั้งยังเป็นอุบาสกนุ่งขาวอยู่แล้ว จึงได้วางใจปล่อยอาตมาภาพเข้าป่าไป แต่ก็มีสัญญาว่าต้องเข้าวัดก่อนเข้าพรรษา ๑๐ วัน)

    “ขอให้เดินทางโดยสวัสดี ส่งข่าวมาให้รู้บ้างนะ”
    อาตมาภาพรับบัญชาแล้ว กราบเท้านมัสการลา ถอยหลังออกมาจนพ้นประตู กลับกุฏิ น. ๑๘ ศิษย์ทางบ้านหมี่เอารถมาคอยรับรอคอยอยู่ที่อยู่ที่กุฏิแล้ว อาตมาภาพลาท่านมหาโกศล อยู่เป็นสุข (ขณะนี้ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่พระอมรสุธี) แล้วออกเดินตรงไปจังหวัดสระบุรี เพื่อพบกับคุณไสว จารุศร สรรพสามิตจังหวัดสระบุรี
    ถึงสระบุรีเป็นเวลาเกือบเที่ยง คุณไสว จารุศรรออยู่แล้วพร้อมกับรถแลนด์โรเว่อร์ จำได้ว่ามีคนรถ ๑ คน พนักงานโรงต้ม ๑ คน คุณไสว ๑ เด็กรุ่นหนุ่ม(จำชื่อไม่ได้) ๑ คน อาตมาภาพและสามเณร รวมเป็น๖ คน ออกเดินทางตรงไปยังสถานีซับม่วง เกือบบ่าย ๓ โมง เลี้ยวซ้ายผ่านเข้าที่ตั้งกองทหาร แจ้งความประสงค์ให้ยามรักษาทางเข้า ว่าจะไปยังถ้ำซับมืดของอาจารย์ศิลาเขาก็ปล่อยให้ผ่านไปได้ (ขณะนี้ได้ทราบว่าอาจารย์ศิลาไปเป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดอำเภอสูงเนิน ไม่ทราบชื่อวัดอะไร ใช่หรือไม่ใช่ก็ไม่ทราบ เพียงแต่ได้ข่าวเท่านั้น)
    ถ้ำซับมืดของอาจารย์ศิลานี้ อยู่หลังสถานีซับม่วงประมาณ ๕ กิโลเมตร รถได้วิ่งผ่านไร่มันไปจนถึงสุดทางเกือบถึงศาลาฉัน ก็พากันเดินลงเข้าไป อาจารย์ศิลายังนั่งฉันน้ำร้อนพูดสนทนากับญาติโยมชาวบ้านอยู่ อาตมาภาพนำคณะเข้าไปกราบนมัสการแล้ว แนะนำให้ท่านรู้จักกับคุณไสว จารุศร (อาจารย์ศิลาได้รู้จักกับอาตมาภาพในระยะเวลาที่อาตมาภาพอยู่ในเพศนุ่งขาวแล้ว ได้เคยมาแวะค้างบำเพ็ญธรรมอยู่ ๑๐ วัน)

    พอได้เวลาอันสมควร คุณไสวฯ ก็ลากลับ อาตมาภาพขอให้มารับในวันที่ ๒๖ พ ย. เพื่อเดินทางไปภูกระดึง อาจารย์ศิลาพาอาตมาภาพและสามเณรเข้าถ้ำที่พัก อาตมาภาพอยู่ถ้ำชั้นบนระคับเดียวกับอาจารย์ศิลา ส่วนสามเณรอยู่ถ้ำตอนล่าง ลักษณะของลูกเขาซับมืดนี้เป็นถ้ำเหว ช่องถ้ำแต่ละถ้ำอยู่ตามหน้าผา ต่ำจากระดับพื้นดินเบื้องบนราว ๑๒ เมตร สูงกว่าระดับพื้นจากตีนเขาราว ๘ เมตร แต่ละถ้ำเป็นชนิดถ้ำคูหาเป็นห้อง ๆ ขนาดอย่างกว้างดังเช่นถ้ำที่อยู่ของอาจารย์ศิลา ลึก ๔ เมตร กว้าง ๓ เมตรครึ่งโดยประมาณ ส่วนถ้ำของอาตมาภาพลึก ๓ เมตร กว้าง ๒ เมตร เป็นถ้ำที่ปล่องชอนขึ้นถึงพื้นเบื้องบน มีอากาศเย็นพอสบาย ไม่ว่าหน้าหนาวหรือหน้าร้อน ภายในถ้ำเป็นหินย้อย รูปเหมือนพระสงฆ์ ห่มคลุมออกบิณฑบาต อุบาสกทอง ซึ่งเป็นโยมวัดที่นั่น บอกว่าเป็นถ้ำที่ค่อนข้างขลัง พระที่มาอยู่ถ้าไม่ดีจริง อยู่ไม่ได้นาน ส่วนถ้ำอื่น ๆ ก็ลดหลั่นกันลงไป มีทางเดินเลียบไปตามผนังเหวโดยตลอด ดูงามมาก อาตมาภาพยังจำภาพของถ้ำซับมืดได้จนบัดนี้ และยังนึกเสียดายที่อาจารย์ศิลาได้ละทิ้งไป ปานนี้คงหมดสภาพของความสงบไปแล้ว
    อาตมาภาพได้พำนักพำเพ็ญปฏิบัติธรรมอยู่ ณ ที่นั้นเป็นเวลาเดือนเศษ ได้ออกบิณฑบาตกับอาจารย์ศิลาทุกวัน คือ เดินขึ้นจากก้นเหว เดินลงบิณฑบาตเวลาตี ๕ ครึ่ง ทางเดินเป็นก้อนหินใหญ่น้อยไปตลอดทาง เพราะเป็นเทือกเขาที่ช่างก่อสร้างทางหลวงสายมิตรภาพระเบิดเอาไปถมถนน ถึงสถานีรถไฟซับม่วง เข้าบิณฑบาตในตลาดเป็นเวลา ๗ โมงครึ่ง บิณฑบาตเสร็จออกจากตลาดเป็นเวลา ๘.๑๐ น เดินกลับเลาะลัดผ่านไร่มันและไร่อ้อย ถึงบ่อน้ำซับใกล้เขตถ้ำเป็นเวลา ๑๐.๐๐น. เศษ ลงสรงน้ำชำระเหงื่อไคลพอเย็นใจหายเหนื่อยแล้ว บิดผ้าอาบพับปิดบนศีรษะกันแดด เดินเข้าศาลาฉัน อุบาสกทองโยมวัด จัดแจงแบ่งกับข้าวลงสำรับ บางครั้งก็มีแกงส้มหัวบุกกับมดแดงร้อน ๆ แถมพก เรื่องการบิณฑบาตนี้มีเรื่องที่ควรเล่าสู่กันฟัง คือ. วันหนึ่งตอนเดินทางกลับจากบิณฑบาตที่สถานีซับม่วง มาได้ครึ่งทางผ่านไร่มันสัมปะหลัง ก็มีผู้หญิงชาวไร่ผู้หนึ่ง ร้องนิมนต์มาทางซ้ายว่า
    “ครูบา ฯ นิมนต์ก่อน”
    เราสององค์ก็หยุดคอย พอแกมาถึงก็หยิบข้าวนึ่งใส่ลงในบาตร องค์ละก้อนขนาดใหญ่ แล้วหยิบห่อกับโตขนาดลูกน้อยหน่าสุก ส่งกลิ่นใบยอหอมฟุ้ง เสร็จแล้วแกก็นั่งลงไหว้ ถือขันเดินกลับไป เราสององค์ก็พากันเดินต่อไป ส่วนอาตมาภาพยังคงหอมกลิ่นใบยอ นึกในใจว่า วันนี้ฉันห่อหมกให้อร่อยสักมื้อ อาตมาภาพสายตาสั้น ทั้งศาลาฉันก็ไม่สว่างแจ้งนัก ขณะที่หยิบห่อหมกฉัน หอมกลิ่นใบยอก็จริง แต่ก็แปลกที่เนื้อห่อหมกสีขาวหม่น เวลาเคี้ยวก็ร่วนๆ ลื่น ๆ เผ็ดนิดหน่อย เต็มปะแร่ม ๆ ฉันจนอิ่ม ห่อหมกหมดไปครึ่งห่อ ขณะที่กำลังล้างบาตร อดสงสัยไม่ได้ก็เอ่ยถามอาจารย์ศิลาว่า
    “มันห่อหมกอันหยัง อาจารย์ศิลา มันบ่แม่นห่อหมกปลาแน่ๆ “
    "มันบ่แม่นห่อหมกปลาหรอก ท่านกัสสปะ มันเป็นกุ้งบก" อาจารย์ศิลาตอบยิ้ม ๆ
    อาตมาภาพหยุดเช็ดบาตร กลืนน้ำลายเอื๊อก มองอาจารย์ศิลา ตาค้าง
    "แม่นกุ้งบก เฮ้ดหยัง อาจารย์บ่เว้า ?"
    “ผมเว้าท่านก็บ่สันนะชี” อาจารย์ศิลาตอบพลางหัวเราะชอบใจ ทำให้อาตมาภาพพลอยหัวเราะเฝื่อน ๆ ไปด้วย ที่เกิดมาในชีวิตก็ได้มาชิมเนื้อกิ้งกือตอนอยู่ซับมืดนี่เอง แต่ทำไงได้มันลงไปอยู่ในท้องแล้ว กิ้งกือก็กิ้งกือ กินเข้าไปมันก็กลับออกมาก็หมดเรื่อง ถ้าเป็นคนอื่น ยังไงไม่รู้
    ฉันเสร็จก็ตกเกือบเที่ยง ฉันน้ำร้อนน้ำชาแล้วก็สะพายบาตรขึ้นถ้ำ เข้าสมาธิสงบอยู่ต่อไปจนตกบ่าย ๒ โมงเศษ ออกจากถ้ำเดินจงกรมประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วลงไปฉันน้ำร้อนน้ำชาสนทนากันพอสมควร ถึงเวลาบ่าย ๕ โมงเย็นกลับขึ้นถ้ำ เวลาเดือนหงาย อาตมาภาพชอบออกมานั่งอาบแสงเดือนหน้าถ้ำ ได้ยินรถไฟวิ่งไกล ๆ สามคืนแรก มีงูเห่าดำนอนขดอยู่ใต้แคร่ ตัวขนาดข้อมือยาวเกือบ ๓ เมตร ไม่แสดงอาการคุร้ายอะไร บางครั้งได้ยินเสียงหายใจดัง ฟ่อ ๆ เห็นท่าไม่เหมาะสม เพราะตอนดึกอาตมาภาพลุกออกจากกลดถ่ายเบาเสมอ เดี๋ยวถ้าบังเอิญไปเหยียบเข้าจะเกิดเรื่องไม่งามขึ้น จึงเอ่ยขอร้องให้เขาออกไปนอนที่อื่นก่อน พอตอนค่ำของวันที่ ๔ เข้าถ้ำก้มดูใต้แคร่ ไม่เห็นก็แปลกใจ และให้นึกสงสาร จึงเอาไฟตะเกียงเที่ยวส่องดู ก็เห็นนอนขดอยู่ใต้ซอกหลืบผนังหน้าถ้ำทำให้ต้องนึกเห็นใจเขาอย่างยิ่ง ที่เขาเข้าใจในคำขอร้องและไม่ดื้อดุร้าย แม้จะเป็นอสรพิษ อาตมาภาพได้เอ่ยปากอนุโมทนาและแผ่ส่วนกุศลให้ หมดชาตินี้แล้ว ขอให้ไปเกิดเป็นมนุษย์ และให้มีความประพฤติเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาสืบต่อไปตราบเท่าพระนิพพาน
    อาตมาภาพได้พำนักปฎิบัติบำเพ็ญอยู่กับอาจารย์ศิลาและเพื่อนพระอาจารย์บางองค์ที่จำได้มี อาจารย์สุบิน ฯ ส่วนอีกองค์หนึ่งจำไม่ได้ ได้รับความร่มเย็นพอสมควร แต่ยังไม่เป็นสถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรอย่างจริงจัง เพราะยังเกลื่อนกล่นไปด้วยผู้คนเข้าออกอยู่ จนถึงวันที่ ๒๖ พ.ย. ๒๕๐๖ ฉันเช้าเสร็จพอดี คุณไสว จารุศร มารับ(ท่านผู้นี้เป็นผู้ที่รักษาวาจามั่นคงดีอย่างยิ่ง)
    อาตมาภาพได้นมัสการลาอาจารย์ศิลา \เละอาจารย์สุบิน ขึ้นรถแลนด์โรเว่อร์ ออกจากถ้ำซับมืด เดินทางตรงไปยังชัยภูมิ โดยคุณไสวบอกว่าเป็นทางลัดที่จะถึงอำเภอภูกระดึงได้เร็ว รถได้วิ่งผ่านที่ต่าง ๆ เข้าสู่เขตจังหวัดชัยภูมิ ผ่านตัวจังหวัดไปจนถึงถนนที่กำลังสร้างใหม่แห่งหนึ่ง ไม่ทราบว่าเป็นเขตท้องที่ของอำเภออะไร เป็นเวลา ๕ โมงเย็นเศษ ขณะที่ไปถึงนั้น มีรถ ๑๐ ล้อบรรทุกมัดปอเพียบรถอยู่ ๒ – ๓ คันจอดเรียงกันอยู่ ถามได้ความว่าเพิ่งพากันพ้นมาจากถนนที่ยังเป็นหล่ม และเตือนว่ารถของเราไม่ควรไป เพราะหล่มที่พ้นมาค่อนข้างลึก
    คุณไสว ฯ เห็นว่ารถของเราเป็นรถมีสองเพลา พอจะเร่งเครื่องขับพาให้พ้นหล่มไปได้ จึงสั่งให้ขับต่อไปด้วยความระมัดระวัง แต่เจ้ากรรมไปได้ไม่ไกลนักในราวครึ่งชั่วโมง รถก็ลื่นถลาจมหล่มลงไปครึ่งล้อ คนขับพยายามเร่งเครื่องเดินทั้งสองเพลา ก็ยังไม่มีทางที่จะขึ้นพ้นจากหล่มได้ ต่างคนต่างก็ช่วยกันอย่างเข้มแข็ง หาท่อนไม้ กิ่งไม้ ก้อนหินสอดยัดลงไป แล้วก็ช่วยดันรถให้ถอยหลัง คนขับก็เร่งเครื่องทั้งสองเพลาแต่ก็เปล่าประโยชน์ ล้อรถจมลึกลงไปจนท้องรถนอนพังพาบติดบนสันถนน ล้อทั้ง ๔ ลอย อาตมาภาพลงจากรถ ขึ้นไปยืนอยู่บนดินแห้งริมขอบถนน ส่วนคุณไสว ฯ ก็เดินสั่งการ
    ขณะที่วุ่นกันอยู่นั้น เวลาก็ล่วงเข้ากลางดึกโดยไม่รู้ตัวอย่างรวดเร็ว จนจะเข้าตีสองท้องฟ้าเบื้องบนมืดครึ้ม เสียงพาคำรามมาแต่ไกล ฝนพรมลงมาเป็นฝอย อาตมาภาพยืนนิ่งพิจารณาดูเหตุการณ์ เห็นท่าจะไปไม่รอด จึงยืนนิ่งนึกอธิษฐานประกาศต่อเทพยดาออกไปว่า
    “ดูก่อน ปวงเทพทั้งหลาย ผู้คงอยู่ในธรรมแห่งพระพุทธศาสนา การที่อาตมาภาพด้นดั้นมาครั้งนี้ มิใช่มาเพื่อหาความสนุกสำราญนั้นหามิได้ แต่มาเพื่อแสวงหาถิ่นที่พำนักปฏิบัติบำเพ็ญเพียรเพื่อโมกขธรรม ขอปวงเทพทั้งหลาย ณ ที่นี้ แคว้นนี้โดยรอบ จงได้อนุเคราะห์ช่วยคลี่คลายเหตุขัคข้องครั้งนี้ด้วย”
    ขณะที่ยืนนิ่งนึกอธิษฐานอยู่นั้น เป็นเวลาย่างเข้าตีสองเศษ อาตมาภาพได้ยิน เสียงคนพูดพึมพำมาข้างหน้า คุณไสว ฯ ก็ได้ยิน อาตมาภาพก็บอกคงจะมีคนเดินมา ครู่หนึ่งก็แลเห็นแสงไฟกลมแดงแวบ ๆ ส่องมาตามหนทางแต่ลำแสงไม่ไกล ยังไม่เห็นหัวคนว่ากี่คน ครู่หนึ่งขณะผู้ที่เดินทางมาก็ถึงมีหมดด้วยกันสี่คน แต่เนื่องด้วยอากาศมืด สว่างแต่แสงไฟหน้ารถ จึงพอจะสังเกตเห็นการแต่งตัวได้ว่า แต่งอย่างแบบข้าราชการ จะเป็นทหารหรือพลเรือนไม่แจ้งชัด พอเดินเข้ามาใกล้ แสงไฟที่คล้ายไฟฉายก็หายไป ทั้งสี่คนเดินหลีกอาตมาภาพ ๆ ได้ทักขึ้นว่า
    “อุบาสกทั้งหมดจะไปไหนกัน ?
    "พวกผมจะไปชัยภูมิครับ เสียงคนหนึ่งตอบค่อย ๆ
    “ถ้าเช่นนั้นก็ดีแล้ว อาตมาก็จะกลับไปชัยภูมิ ขอแรงอุบาสกทั้งสี่คนช่วยดันรถให้พ้นจากหล่มที จะเป็นกุศลยิ่ง”
    “ได้ครับ” เสียงคนหนึ่งตอบค่อย ๆ ตามเคย “เอ้า พวกเราช่วยกันหน่อย” พร้อมกันนั้นทั้งสี่คนก็พากันตรงเข้าไปหารถที่นอนพังพาบอยู่บนสันดินถนน เสียงคนหนึ่งบอก พวกเราให้ช่วยกันหากิ่งไม้ ก้อนดินมายัดรองใต้ล้อ เสร็จแล้วก็ให้มารวมพร้อมกันที่หน้ารถ เพื่อช่วยกันออกแรงดัน ซึ่งวิธีการเช่นนี้พวกเราก็ได้ช่วยกันทำมาจนหมดผีมือแล้วก็ไม่ได้ผลอะไร มีแต่จะทำให้รถลอยยิ่งขึ้นในเมื่อล้อหมุนคะกุยเอาดินกระเด็นขึ้นมา แต่คุณไสว ฯ ก็ได้สั่งให้ทุกคนทำตาม พอพร้อมกัน ก็มีเสียงคนหนึ่งบอกขึ้นว่
    “คนขับขึ้นรถ แล้วเร่งเครื่องถอยหลังเต็มที่”
    อาตมาภาพยังจำประโยคนี้ได้ดี คนขับถึงนั่งสตาร์ทเครื่องเต็มที่ แล้วเสียงก็ร้องบอกอีกว่า “เอ้า ดันเต็มที่พร้อมกัน”
    เท่านั้นเอง พอเสียงเร่งเครื่อง และทุกคนออกแรงดัน รถแลนด์โรเว่อร์ก็พุ่งถอยหลังปราดกลับขึ้นสู่ที่แห้งอย่างง่ายดาย พวกเราปล้ำกันมาตั้งร่วมสามชั่วโมง มีแต่จะเข้าตาจน พอที่คนนี้มาช่วย ทุกอย่างก็สำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ แต่ขณะนั้นอาตมาภาพไม่นึกระแวงสงสัยอะไร เพราะรู้สึกโล่งอกโล่งใจ หมดความวิตกกังวล ได้แต่กล่าวอนุโมทนาที่ทั้งสี่คน ที่ได้ช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากหล่มแห่งความลำบากแห่งนี้ได้ แล้วต่างก็พากันขึ้นรถวิ่งย้อนกลับมายังจังหวัดชัยภูมิ โดยคุณไสว ฯ บอกว่าจะแวะหาคุณเชษฎ์ สรรพสามิตจังหวัดชัยภูมิ จะได้ล้างหน้าล้างตาชำระฝุ่นโคลนเสียที รถไปถึงตลาดตอนตีสี่เศษ ยังไม่สว่าง คงมีแสงไฟตามถนนเท่านั้น อาตมาภาพก็หันหลังไปถามคนทั้งสี่ว่า
    “อุบาสกทั้งสี่คนจะลงที่ไหน ?”
    เสียงคนหนึ่งบอกว่า “ลงตรงนี้แหละครับ ผมจะเข้าตลาด”
    คุณไสว ฯ ก็ให้รถหยุด เมื่อทั้งสี่ลงแล้ว ก็กล่าวคำขอบคุณ และกล่าวคำลา อาตมาภาพขณะนั้นก็มิได้ทันคิดอะไร เพียงแต่ตอบว่า
    “อนุโมทนาทุกคนมีกุศลจิต ช่วยเหลือครั้งนี้ ขอให้มีความสุขเจริญยิ่งทุกคน” แล้วเราก็จากกัน อาตมาภาพมิได้สังเกตว่าไปทางไหน ถามพวกที่นั่งด้านหลัง ก็ได้ความว่าทั้งสี่คนเดินเข้าตลาดไป
    อาตมาภาพตำหนิตัวเอง และนึกเสียดายทีหลังว่า ควรที่จะได้เรียกมาที่หน้ารถ ได้รู้จักหน้าตากิริยาท่าทางกันบ้าง แต่ทำไมไม่คิด และไม่เรียก ก็ไม่รู้ ไม่ทราบว่าเพราะอะไรจึงไม่ทำให้คิดเช่นนั้น โดยปกติผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ อาตมาภาพจะขอทำความรู้จักและได้อนุโมทนาให้ทุกรายทุกคนไป แต่มาคราวนี้กลับเฉยเสีย ก็ได้แต่นึกแผ่ส่วนกุศลให้ในใจ ทั้งนี้ก็เพราะแน่ใจว่า ทั้งสี่คนนี้มิใช่ใคร คงจะเป็นท่านผู้มีหน้าที่ในเขตป่าแดนนั้นนั่นเอง ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์ เสียงที่พูดพึมพำมาตามทางจับถ้อยคำไม่ได้ว่าพูดว่าอะไร ประการหนึ่ง แสงไฟฉายที่เป็นแต่เพียงวงกลมแดง ซึ่งผิดกับแสงไฟฉายของผู้เดินทางในเวลาเช่นนั้น ประการหนึ่ง ตลอดจนรูปร่างก็มองแลไม่ถนัด ว่าหน้าคาเป็นอย่างไร ประการหนึ่ง แต่ทุกอย่างก็ได้ผ่านไปแล้ว จึงเป็นบทเรียน ที่เตือนและสอนตัวเองว่า “ต่อไปอย่าละเลย อย่าทำเฉยต่อสิ่งที่ผิดสังเกต”
    ถึงบ้านคุณเชษฐ์ ฯ สรรพสามิตจังหวัดชัยภูมิเป็นเวลาตีห้าครึ่ง อากาศตอนข้างเย็น เจ้าของบ้านและแม่บ้านตื่นแล้ว คุณไสว ฯ ได้แนะนำให้รู้จักโดยบอกว่าอาตมาภาพเป็นพี่ชายของประสาทศิลป์ อาภรณ์ศิริ ขณะนั้นน้องชายอาตมาภาพ เป็นสรรพสามิตจังหวัดอะไรก็จำไม่ได้ พวกเราเข้าห้องน้ำ ล้างหน้าล้างตา ชะล้างโคลนตมที่เปื้อนตามเนื้อตัว คุณเชษฐ์ ฯ และภริยา ได้จัดน้ำชากาแฟถวายเป็นอาหารมื้อเช้ารองท้อง โดยคุณไสว ฯ บอกว่าจะต้องไปส่งอาตมาภาพที่โคราชเสียแล้ว เพราะหนทางที่จะไปโดยรถยนต์จนถึงจังหวัดเลยนั้นขัดข้อง กะถึงโคราชก่อนเพล ไปฉันเพลเอาที่สถานีโคราช แต่อาตมาภาพบอกคุณไสว ฯ ว่า “ไหน ๆ จะฉันแล้วก็ฉันให้อิ่มเสียเลย ไม่ให้เสียศรัทธาเจ้าของบ้าน “
    ฉันเสร็จ อนุโมทนาแล้ว ลาคุณเชษฐ์ ฯ และภริยาเดินทางต่อไปยังโคราช ถึงสถานีรถไฟโคราช ตกเพลเศษ คุณไสว ฯ ซื้อตั๋ว กรุงเทพ ฯ ขอนแก่น ถวายทั้งพระและสามเณร แล้วคอยส่งจนรถไฟเคลื่อนออกเวลาเที่ยงเศษ จึงลากลับ อาตมาภาพได้อนุโมทนาและอวยพร ขอให้คุณไสว จารุศร จงมีความสุข จำเริญยิ่ง ๆ ตลอดชีวิตและแม้บัดนี้อาตมาภาพก็ยังระลึกถึงอุปการะของท่านผู้นี้อยู่ ที่มีน้ำใจศรัทธาอันมั่นคงแน่วแน่ไม่หวั่นไหว ถ้าไม่ได้ท่านผู้นี้คงไปไม่ถึงภูกระดึงแน่

     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 1 กันยายน 2017
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,358
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    บทที่ ๒

    ขึ้นภู

    รถไฟถึงสถานีขอนแก่นเวลาเกือบบ่ายสามโมง ลงจากรถไฟ ขึ้นสามล้อถีบตรงไปยงบ้านคุณวีระ พิทักษินาทร ผู้ช่วยคลังจังหวัดขอนแก่น ทั้งคุณวีระ ฯ และคุณจรูญ ฯ ผู้ภริยา ทั้งตื่นเต้นทั้งดีใจที่อาตมาภาพไปถึง จัดแจงห้องพักให้อย่างสบาย วันนั้นเป็นวันพุธ ที่ ๒๗ คุณวีระได้ถามอาตมาว่า
    “ท่านจะโปไหนต่อไป ?”
    อาตมาภาพตอบว่า “อาตมาภาพขอพักค้างคืนเพียงหนึ่งคืน พรุ่งนี้ (วันที่ ๒๘) จะขึ้นไปปฏิบัติธรรมบนภูกระดึง ขอคุณได้ช่วยอนุเคราะห์หารถให้ด้วย”คุณวีระ ฯ รับคำ บอกว่าจะลองไปถามรถที่กองทางหลวงดู เพราะมีรถไปที่อำเภอภูกระดึงทุกวัน แต่ยังไม่ทราบเวลา ว่าแล้วคุณวีระ ฯ ก็ออกจากบ้านไป ส่วนคุณจรูญ ฯ ก็จัดเครื่องดื่มให้ฉัน และสนทนาไต่ถามถึงสุขทุกข์ เพราะเหตุที่ไม่ได้พบกันมานาน พอตกเกือบค่ำอาหารเย็น คุณวีระ ฯ กลับมาบอกว่าพรุ่งนี้มีรถของกองทางหลวงไปส่งของยังอำเภอภูกระดึง รถจะออกราว ๙.๐๐ น. เศษ ให้อาตมาภาพฉันเช้าแล้วจึงค่อยไป ทั้งคุณวีระเองก็จะตามไปส่งด้วย อาตมาภาพได้อนุโมทนาในความอนุเคราะห์ ด้วยกุศลจิตของเธอตรงนี้เป็นอย่างยิ่ง
    รุ่งเช้าวันที่ ๒๘ พ.ย. ๒๕๐๖ ฉันเช้าแล้ว พร้อมทั้งสามเณร ได้ลาคุณจรูญ ฯ ตามคุณวีระ ไปขึ้นรถบรรทุกของกรมทางหลวง จังหวัดขอนแก่น ไปภูกระดึง หยุดพักที่อำเภอท่าแพ พนักงานขับรถและคุณวีระ ลงไปรับประทานอาหารกลางวัน และนำเครื่องดื่มมาให้อาตมาภาพและสามเณรฉันบนรถ วันนี้เป็นวันพฤหัสบดี คุณวีระ ฯ ต้องลาราชการมาส่งอาตมาภาพ ประมาณเกือบบ่ายโมงก็เดินทางต่อไป ถึงอำเภอภูกระดึง ขับรถตรงไปอยู่หมู่บ้านตีนภู เป็นเวลาสี่โมงเย็นพอดี อาตมาภาพหยุดพัก คุณวีระ ฯ ได้จัดหาคนชาวบ้านที่นั่นสองคน เพื่อได้เป็นเพื่อนนำเดินทาง และช่วยแบ่งเบาบริขารบางอย่างแล้วลากลับพร้อมกับรถที่มาส่ง แต่ไม่ลืมถามอาตมาภาพว่า
    “ท่านจะกลับเมื่อไร ?”
    อาตมาภาพตอบว่า จะลงจากภูวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๐๗ และไปพักที่บ้านคุณวีระ ฯ อีกสักสองคืน เพื่อไค้มีเวลาสนทนากัน แล้วคุณวีระก็ลาขึ้นรถกลับไป เวลาบ่าย ๔โมงครึ่ง อาตมาภาพกับสามเณรพร้อมด้วยนายเล้ง ฯ และนายเสิด ฯ ชาวบ้านผู้นำทาง ก็พากันเดินขึ้นภูโดยมิได้มีการลังเล เกรงว่าจะค่ำคืนมืดกลางทางทั้ง ๆ ที่คนทั้งสองและชาวบ้านขอร้อง ขอให้พักสักหนึ่งคืน อาตมาภาพบอกกับพวกเขาว่า
    “อย่าเลย เพราะฉันตั้งใจไว้แล้วว่า จะไม่เปลื้องจีวรครองตราบใดที่ยังขึ้นไม่ถึงยอดภู” เท่านั้น พวกชาวบ้านก็นั่งยองยกมือไหว้ ไม่คัดค้านขอร้องอีก แต่ได้เฉาะน้ำมะพร้าวอ่อนให้ดื่มองค์ละ ๑ ขัน
    การเดินเป็นการเดินค่อนข้างเร็ว จนคนนำทางสองคนประหลาดใจ อาตมาภาพบอกให้เขานำหน้า และให้สามเณรตามหลัง และล้างหน้าล้างเท้าที่ซำกกบอน เดินข้ามทุ่งโล่งและทางน้ำไหลสองแห่ง เดินดิ่งขึ้นไปเรื่อยและหยุดพักที่ลานซำแฮกเพียง ๑๐ นาที เป็นการหยุดพักที่ไม่มีการนั่ง คือ ยืนพิงก้อนหินแล้วก็เดินขึ้นต่อไปขณะนี้ดวงอาทิตย์ลับลงเบื้องหลังภูแล้ว แต่แสงสว่างเรื่อ ๆ ยังมีอยู่ด้านที่อาตมาภาพเดินจึงพอเห็นทางสลัว ๆ นายเล้งและนายเสิดได้แวะเข้าข้างป่า ตัดลำไม้ไผ่แห้งแล้วผ่าซอยตรงปลายจนเป็นซี่ฝอยเล็กๆ จุดลุกเป็นตะบองไต้แสงสว่างส่องเห็นทางพอชัด พากันเดินต่อไป

    เราเดินดิ่งขึ้นไปโดยไม่มีการพูดจากันเลย จนถึงบันไดไม้มีชานเล็ก ๆ ปูอยู่บนปลายบันได คนนำทางสองคนขึ้นไปก่อนแล้วชูคบไฟ อาตมาภาพเดินขึ้นบันไดนำหน้าสามเณร พอถึงชานบันไดก็เดินเลยไปเพื่อให้สามเณรได้ขึ้นมาถนัด แต่นายเล้งได้คว้าบั้นเอวรั้งเอาไว้บอกว่าอย่าไปเลย เดี๋ยวตกเหว เออ... เคราะห์ดีหน่อย เพราะอาตมาภาพสายตาสั้น ทั้งยังไม่เคยทาง ขอบใจนายเล็งที่มือไว คว้าเอาไว้ทัน มิฉะนั้นคงหมอบแหงแก๋อยู่ก้นเหวนั่นเอง

    อากาศขณะนี้ค่อนข้างเย็นจัด เดินมาเกือบจะสุดทาง เหงื่อไม่มีเลย เราเดินวกเลี้ยวไต่ขึ้นไปอีกไม่นานราว ๒๐ นาทีก็ถึงลานหินปากภู นั่งพักเหนื่อย ดูนาฬิกาประจำย่าม เห็นเป็นเวลา ๑๙.๓๐ น. (ทุ่มครึ่งเท่านั้น) ใช้เวลาเดินขึ้นภูเพียง ๓ ชั่วโมง คนนำทางทั้งสองคนก็ออกปากประหลาดใจ ไม่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอะไรนัก นายเล้งและนายเสิดแบกกลด และสะพายบาตรเดินตรงไปยังที่ทำการของทหารอากาศ (โทรคมนาคม) ครู่หนึ่งก็มีพันจ่าอากาศ และจ่าอากาศสองคนเดินออกมาอย่างเร่งรีบ นั่งลงไหว้แล้วนิมนต์ให้เข้าไปพักในห้องที่ทำงาน แล้วช่วยหยิบย่ามและร่วมยาเดินนำหน้าไป ตอนนี้อากาศเย็นจัด พอเข้าไปข้างในก็อุ่นสบายเพราะความร้อนจากเครื่องไฟฟ้า ประตูหน้าต่างปิดหมดทุกบาน ทหารทั้งหมดที่มีอยู่ประจำขณะนั้นสามนาย คือ พ.อ.อ. อารมณ์ สอนสมสุข จ.อ. ณรงค์ สื่อสวน อีกคนหนึ่งนึกชื่อไม่ออก พ.อ.อ. อารมณ์ ฯ เป็นหมอประจำค่าย (ที่เรียกกันในหมู่ทหารว่า “ริ้งก์ โทรคมนาคม” ) นิมนต์อาตมาภาพและสามเณรให้นั่งบนเตียงทหาร ชงโอวัลตินร้อนไม่ใส่นมถวายองค์ละถ้วย ชดสองสามอึกหมดถ้วย ค่อยอุ่นอกขึ้น เปลื้องรัดอกและสังฆาฏิออกแล้ว เอนตัวลงจำวัดโดยไม่ต้องล้างหน้าล้างเท้าอะไรทั้งนั้น เพราะมันหนาวเย็นแลค่อนข้างล้า เสียงเครื่องไฟฟ้าที่เดินแม้จะดัง ก็ไม่นึกว่าหนวกหูอะไร ทั้งพระทั้งเณรหลับไปอย่างง่ายดาย ส่วนคนนำทางสองคน นอนอยู่ห้องครัวด้านนอก
    รุ่งเช้า วันที่ ๒๙ พ.ย. ๒๕๐๖ ความหนาวดูเหมือนจะเพิ่มขึ้น ล้างหน้ากับน้ำอุ่น พอฉันเสร็จก็ครองจีวรห่มดองเตรียมเดินทางต่อไป ถามหมออารมณ์ ฯ ว่า มีกุฎิที่พอจะพักบ้างไหม หมออารมณ์ ฯ และทุกคนขอให้อาตมาภาพอยู่ที่ริ้งก์อีก ๒-๓ วัน แต่อาตมาภาพบอกว่า เป็นสถานที่ราชการ ไม่เหมาะต่อการปฏิบัติ ที่นี่มีผู้คนไปมาเสมอ อย่าให้อยู่เลย หมออารมณ์ ฯ บอกว่ามีกุฏิมุงสังกะสีหลังเล็กๆ อยู่หลังหนึ่ง ห่างจากที่นี้ราวสองกิโลเมตรครึ่ง หลวงพ่อพอจะเดินบิณฑบาตเช้าได้ ขอให้นิมนต์มารับบิณฑบาตที่ริ้งก์ทุกวัน พวกผมจะได้ทำบุญ ว่าแล้วก็ออกเดินนำหน้า แม้แดดจะสว่างแจ้ง แต่ก็ไม่ร้อน ตลอดทางเดินยังมีน้ำแฉะ ทั้งน้ำค้างและน้ำฝน บุ้งตัวเป็นขนสีดำเกลื่อนไปหมด เราพากันเดินผ่านแมกไม้และผ่านช่องเขาย่อม เรียกกันว่า “ประตูโขง” ไม่นานนักก็แยกทางขวาตรงไปยังพะลานหินกว้าง เห็นมีกุฏิเล็ก ๆหลังคามุงสังกะสีอยู่หลังหนึ่ง มีป้ายเขียนติดไว้บนหน้าจั่วหลังคาว่า “นายทองดี ศิริพูล ศรัทธาสร้างถวายพระโพธิวงศาจารย์” (พ.ศ. อะไรจำไม่ได้) นายทองดี ฯ ผู้นี้อยู่ขอนแก่น มีศรัทธาเลื่อมใสในภิกษุโพธิวงศาจารย์มาก แต่ภิกษุรูปนี้มิได้รักษาศรัทธาของอุบาสกผู้สร้างให้ยั่งยืน คือลาสิกขา (สึก) ไปมีเมีย ดูเป็นที่น่าสังเวชใจ มาภายหลังขณะที่อาตมาภาพกำลังพำนักอยู่ ก็ยังมีหน้าขึ้นมารื้อเอาสังกะสีที่มุงหลังกาโรงต้มน้ำร้อนไปเสียอีก โดยอ้างว่าได้ขอต่ออุบาสกทองดี ฯ แล้ว อาตมาภาพได้ว่ากล่าวว่าของเหล่านี้เป็นของสงฆ์ ผู้สร้างได้อุทิศถวายแล้ว แม้ฉันก็ยังกำลังอาศัยบำเพ็ญอยู่ แกมารื้อเอาไปโดยมาอ้างว่าผู้สร้างยกให้แล้วนั้นก็ไม่ควร แกกำลังจะทำกรรมอันเป็นบาป คิดดูให้ดี แต่เขาก็ไม่ฟังรื้อเอาไปจนได้

    ขณะเราไปถึง มีภิกษุชาวอีสานรูปหนึ่งอาศัยอยู่ก่อนแล้ว กำลังนอนหลับแบหลาอย่างสบายทีเดียว เม็ดข้าวสุกเกลื่อนหน้ากุฏิ อ่างน้ำซีเมนต์หน้ากุฏิก็มีข้าวสุกนอนอยู่ก้นอ่าง พวกเราเดินเข้าไปก็ไม่รู้สึก อยู่ในลักษณะกินแล้วนอน หมออารมณ์ ฯ เข้าไปปลุกและบอกว่า หลวงพ่อท่านจะมาอยู่ด้วย ภิกษุรูปนั้นลุกตื่นขึ้นนั่ง แต่ยังงัวเงีย พอได้ยินหมออารมณ์ ฯ บอกเช่นนั้น ก็ตอบว่า
    “นิมนต์ครับ พรุ่งนี้ผมจะลงแล้ว” ว่าแล้วก็ฉวยบาตร จีวร และย่ามลงไปในถ้ำใต้ดิน ซึ่งกว้างพอนอนได้ มีพระพุทธปฏิมาหน้าตักกว้าง ๑ ศอก ประดิษฐานอยู่ ๑ องค์ หมออารมณ์ ฯ เข้าไปกวาดในกุฏิ เสียงบ่นว่าอยู่อย่างสกปรก พอกวาดเรียบร้อยแล้ว นายเล้งและนายเสิด ก็เอาบาตร กลด กาน้ำ ทั้งของอาตมาภาพและของสามเณร เข้าไปวาง หมออารมณ์ ฯ บอกว่า
    “ผมจะสั่งให้ทางป่าไม้เอาเสื่อหมอนและผ้าห่มมาถวายหลวงพ่อและเณร เพราะบนนี้หนาวมากครับ กระผมขอปวารณา มีอะไรใช้กระผมได้เลยครับ” ว่าแล้วก็กราบลาไป ส่วนนายเล้งกับนายเสิดเลยไปนอนค้างที่บ้านป่าไม้ ห่างจากกุฏิราว ๑ กิโลเมตร พอมองเห็นกัน อาตมาภาพสั่งให้ขึ้นมารับลงจากภูวันที่ ๒๒ พ.ค. ทั้งสองมีอัธยาศัยดี
    อาตมาภาพกับสามเณร จัดแจงเช็ดถูปัดกวาดจนสะอาดเรียบร้อย ผูกกลดกางเสร็จแล้ว เอาเสื่อขาด ๆ ที่พิงอยู่ข้างฝาปู แล้วใช้ผ้าอาบปูทับอีกครั้งหนึ่ง กุฏินี้ทำเป็นสองตอน ยาว ๓ เมตรครึ่ง กว้าง ๑ เมตรครึ่ง ตอนในที่อาตมาภาพนอน เป็นตัวห้อง ฝาไม้ มีประตู ๑ บาน หน้าต่าง ๒ บาน ตอนนอกเป็นสังกะสีสองด้าน ด้านหน้าทำเป็นปังกั๊ม มีไม้ค้ำอันเปิดปิดทั้งแผง พอเปิดแล้วก็เอาไม้ค้ำยันตั้งไว้ เวลาปิดยกไม้งับเข้ามาแล้วหมุนไม้กลอนขวางคานธรณีประตูขัดได้ แต่ก็ไม่สนิท ลมพัดเข้าได้ ตอนนอกนี้คราวแรกให้สามเณรนอนชั่วคราวก่อนเพราะยังไม่คุ้นที่ จะปล่อยให้ไปนอนที่อื่นคนเดียวไม่ได้

    อันที่จริงบริเวณพะลานหินแห่งนี้กว้างพอดู มีโรงครัวไฟหลังคามุงสังกะสี ฝาเป็นแฝกอยู่ต่ำไปทางช่องหิน มีเตาเก่า ๆ อยู่ ๑ เตา รอบ ๆ พะลานมีกุฏิมุงด้วยพงสองหลัง กว้างเมตรครึ่ง ยาวสองเมตร หลังหนึ่ง และกว้าง ๑ เมตร ยาว ๑ เมตรหลังหนึ่ง เรียงกันไป ห่างกันราว ๘ เมตร มีมณฑปพระพุทธบาทจำลองเล็ก ๆ สูง ๑ เมตร ๑ องค์ เจดีย์พระบรมธาตุสูง ๑ เมตร ๑ องค์อ่างน้ำก่อซีเมนต์ยาวประมาณ ๕ เมตร กว้าง ๓ เมตร ๑ อ่าง ใต้พื้นเจดีย์ลงไปเป็นถ้ำเล็กที่ได้กล่าวข้างต้น ขณะนี้ภิกษุชาวอีสานรูปนั้นได้กลับขึ้นมาดูอาตมาภาพจัดกุฏิ นั่งลงแล้วถามว่า
    “ท่านอาจารย์มาแต่ไหนครับ ?”
    “มาจากกรุงเทพ ” อาตมาภาพตอบ
    “ท่านมีชื่อว่าอย่างไรครับ ?”
    “กัสสปมุนี เธอจะอยู่กับเราอีกกี่มื้อเล่า ?”
    ภิกษุรูปนั้นพนมมือตอบว่า “พรุ่งนี้กระผมจะขอนมัสการลาลงจากภูแล้วครับ”
    คืนนี้นอนขดตัวเป็นกุ้งแห้ง เอาจีวรซ้อนกับสังฆาฏิ แล้วพับทบอีกชั้นหนึ่ง ก็ยังหนาวเยือกเย็นจับหัวใจอยู่นั่นเอง นึกสงสารสามเณรที่ติดตามมา เพราะยังเด็กเพียง๑๒ ขวบเท่านั้น แต่ก็อดทนดี สมเป็นเด็กบ้านนอกที่ได้รับความตรากตรำมาแล้ว (สามเณรรูปนี้รักและศรัทธา ไว้วางใจในอาตมาภาพมาก สู้ติดตามมาจากวัดเขาวงกฏ อำเภอบ้านหมี่) พื้นกระดานแสนจะเย็น เสื่อขาดกับผ้าอาบที่ปูรองนอนไม่ให้ความอบอุ่นอะไรเลย แต่ยังดีกว่าที่นอนกระดานเปล่า
    รุ่งเช้าวันที่ ๓๐ พ.ย. ๒๕๐๖ เก็บมุ้งกลด เปิดกุฏิล้างหน้า พอ ๗ โมงเช้า ครองจีวรออกเดินกับสามเณรไปยังริงก์ทหารอากาศเพื่อรับบิณฑบาต ระยะทาง ๒ กิโลเมตรครึ่ง ใช้เวลาเดิน ๓๕ นาที ความหนาวเย็นทำให้ปลายนิ้วเท้าชาจนรองเท้ากระเด็นหลุดก็ไม่รู้สึก ก้มลงมองดูเห็นเดินเท้าเปล่า ต้องหวนย้อนกลับไปหารองเท้าอีก ตลอดทางเต็มไปด้วยบุ้งขนดำจับยอดหญ้าเต็มไปหมด ต้องคอยระวัง ถึงริงก์ทหารอากาศประมาณ ๘ โมงเช้าเศษ กำลังอยู่ในครัวหุงต้มกัน แต่ได้ทำเตียงปูอาสนะไว้รอท่าเรียบร้อยแล้ว การทำครัวเป็นฝีมือผู้ชายล้วน ๆ อาตมาภาพและสามเณรได้ขึ้นนั่ง วางบาตรไว้ตรงหน้า รอจนกว่าจะจัดทำเสร็จ สังเกตดูเห็นว่า ทุกคนมีความเข้าใจในการปฏิบัติพระเป็นอย่างดี มองดูการแต่งตัว ทุกคนสวมเสื้อโอเว่อร์โค้ทคลุมถึงข้อเท้า สวมหมวกขนสัตว์ ส่วนเรามีแต่จีวรห่มซ้อนสังฆาฏิ หัวก็โล้น ไม่มีอะไรคลุม สอบถามความหนาวในวันนี้ว่า ต่ำกว่าศูนย์ ๕ องศาเซ็นติเกรด มิน่าจึงทำให้นอนขดตัวและสะดุ้งเพราะความเย็นตลอดคืน พ.อ.อ. หมออารมณ์ ฯ และคณะจัดอาหารใส่บาตร คาวอย่างหวานอย่างพออิ่ม บอกว่าคงจะมาในราวอีก ๒ วัน เสื่อและผ้าห่ม หมอน ทางป่าไม้คงจะเอาไปถวาย อาตมาภาพอนุโมทนา ยถาสัพพี... แล้วก็สะพายบาตรลากลับมาฉันที่กุฏิ เป็นเวลา ๙ โมงเศษ ฉันเสร็จก็ตกในราว ๑๐ โมงเช้า สามเณรเก็บบาตรล้างและเช็ดผึ่งแดด อาหารที่เหลือฉันก็โปรยแจกนกกะทา พูดถึงนกกะทาบนภูกระดึงตอนที่อาตมาภาพขึ้นไปอยู่มีมากจริง ๆ ตอนเช้าร้องแซ่ไปหมด ทั้งกิริยาอาการก็น่ารักและเชื่องเร็ว เวลาไปบิณฑบาตมักเดินนำหน้า ก้นบิดไปบิดมา ท่าทางเหมือนนกเขานกพิราบเราดี ๆ นี่เอง นึกไปว่าคนที่ชอบกิน ชอบดัก ชอบฆ่าแกง ดูเขาช่างมีใจโหดอำมหิตจริง ถ้าจะกินแต่ไข่ก็พอทำเนา อาตมาภาพถามสามเณรขณะเช็ดบาตรว่า
    “เณร พอทนได้ไหม เมื่อคืนนี้เป็นอย่างไร ?”
    “พอทนได้ครับ หลวงพ่อ ยังไม่หนาวเท่าไรนัก” สามเณรตอบอย่างมั่นคง
    อาตมาภาพก็เบาใจ แต่ยังเด็กนักจะวางใจไม่ได้ เพราะความต้านทานของร่างกายไม่เหมือนผู้ใหญ่ แต่ก็พอคลายวิตก เพราะหยูกยาและหมออารมณ์ ฯ ยังมี ความเป็นอยู่เช่นนี้ได้ดำเนินเรื่อยมา พอตกบ่ายก็พากันเดินพิเคราะห์พิจารณาไปตามทางที่ได้ทำไว้บนภู เพื่อให้มีความคุ้นเคยกับสถานที่และรู้จักทำเล คืนวันที่ ๒ ธ.ค. ๒๕๐๖ ขณะที่จำวัด ตกเวลาราวเที่ยงคืนมีศีรษะคนเพียงต้นคอกลิ้งขึ้นมาทับอยู่บนหน้าด้านซ้ายของอาตมาภาพ เพราะนอนตะแคงขวา ผมหงอกประปราย ทรงสูง อาตมาภาพผลักกระเด็นไป พูดว่า
    “อะไรกันวะ ทำอะไรไม่เข้าเรื่อง” ศีรษะนั้นก็หายไป ตอนเช้าบิณฑบาตที่ริงก์ตามเคย เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้วก็บอกเรื่องนี้ให้หมออารมณ์และจ่าณรงค์ฟัง ทั้งสองหัวเราะ แล้วหมออารมณ์ ฯ ก็เล่าว่า
    “ก่อนหน้าหลวงพ่อมาสัก ๑๐ กว่าวันนี่เอง ได้มีคนขึ้นมาตายในกุฏินี้คนหนึ่ง ไม่ทราบว่ามาจากไหน ตอนที่รู้นั้นก็เพราะพวกป่าที่เดินผ่านไปมาขึ้นลงภู ได้กลิ่นเหม็นเข้าก็พากันเข้าไปดู เห็นศพกำลังขึ้นอืด เหม็นฟุ้งอยู่ก็ตกใจ พากันมาบอกพวกผม ผมก็พาไปหากำนันผู้ใหญ่บ้านและตำรวจขึ้นมาดู อาการที่นอนนั้นนอนหงายมีชองบุหรี่เกล็ดทองอยู่ข้างๆ นิ้วมือขวาคีบบุหรี่ สันนิษฐานว่า สิ้นใจตายก่อนสูบบุหรี่หมด เพราะนิ้วมือมีรอยไฟบุหรี่ไหม้ คงตายมาหลายวันแล้ว ค้นดูกระเป๋าเสื้อกางเกงก็ไม่เห็นมีอะไร เป็นคนแปลกหน้า สงสัยว่าคงจะเป็นคนร้ายหลบขึ้นมาช่อน กำนัน ตำรวจ และพวกป่าไม้ ได้ช่วยกันเผาในป่าหลังกุฏินี่แหละครับ แล้วก็ช่วยกันทำความสะอาด เช็ดล้างกุฏิจนหมดกลิ่น. และพระองค์ที่ลงไปก็เพิ่งมาค้างได้ ๒ คืน ก็พอดีหลวงพ่อมาอยู่แทนนี่แหละครับ ตอนที่หลวงพ่อจะมา ผมจะบอกก็ไม่กล้าบอก” พูดแล้วก็หัวเราะทั้งสองคน

    อาตมาภาพก็พลอยหัวเราะด้วย แล้วพูดวา

    “นั่นปะไร ถึงได้มาลองดี แต่ไม่ดุร้ายอะไร น่าสงสาร งั้นหลวงพ่อจะจัดการให้เอาเอง ทีนี้คงไปสบายไม่ต้องห่วง” เมื่อเสร็จใส่บาตรแล้วก็กลับกุฏิ
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,358
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    บทที่ ๓

    ความหนาวจัด และ ทิพอุปัฏฐาก

    ความหนาวจัดบนภูกระดึงในเดือนธันวากม ๒๕๐๖ ได้เพิ่มขึ้นทุกๆ คืน จนเหลือที่จะทนได้ด้วยเครื่องใช้นุ่งห่มหลับนอนเท่าที่มีมา นอนหลับๆ ตื่นๆ หดตัวหนาวสั่นอย่างทรมาน แต่ก็พยายามอดทนและอดกลั้นด้วยขันติเป็นอย่างยิ่ง ถึงจะอยู่ภายในกุฏิ แต่หลังคาสังกะสีไม่มีฝ้า น้ำค้างซึมเข้าไปภายในสังกะสีหยดแหมะ ๆ รดหลังคากลด พื้นห้องรอบกลดเปียกชุ่มไปหมด นาฬิกาประจำย่ามที่วางไว้ข้างนอก ตัวเรือนเปียกน้ำค้างอ่อนยอบแยบลง พิจารณาดูภาพเหดุการณ์แวดล้อมแล้วเหลือที่จะทนทานจริงๆ เพิ่งมารู้รสในครั้งนี้ว่า ความหนาวบนภูกระดึงหนาวเย็นถึงขนาดนี้เทียวหนอ ทนต่อไปจนกว่าจะทนไม่ได้

    จนถึงคืนวันที่ ๑๓ ธ.ค. ๒๕๐๖ ความหนาวยิ่งรุนแรง ต้องนอนขดปวดเมื่อยและหนาวเหน็บ นึกถึงสามเณรที่นอนอยู่ตอนนอก ร้องถามออกไปว่า

    “เณรเอ๊ย หนาวมากไหม ?”

    “หนาวเหลือเกินครับ ทำไมหนาวยังงี้ก็ไม่รู้ ผ้าไม่มีห่มเลย” เสียงเณรตอบตามความรู้สึกของเด็ก น่าสงสารไม่ควรมาทรมานด้วยเลย

    อาตมาภาพนอนนึกว่า เอ ทำยังไงดี ทางป่าไม้ว่าจะเอาผ้าห่ม หมอน มาให้ จนป่านนี้ไม่เห็นวี่แววเลย ต้องหนุนย่ามต่างหมอน เอาบาตรกั้นมุ้งกลดตอนหัวนอนได้จีวรและสังฆาฏิเป็นผ้าชันฟอไร้ท์ พอถูกความเย็นก็เลยทลายเป็นผ้าแช่น้ำแข็งเราดี ๆ นี่เอง. ต้องลุกขึ้นนั่งขัดสมาธิทำความสงบแน่นิ่งคือไป ไม่ต้องนอนนอน กลางวันก็พอทำเนา แต่พอกลางคืน แย่ทุกที.

    รุ่งเช้าวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๐๖ ไปบิณฑบาตที่ริ้งก์ได้บอกให้หมออารมณ์ ๆ รู้ แกก็ได้แต่บ่นว่า

    “เอ, ขัคข้องอะไร น่าจะเอามาให้ ๑๐ วันกว่าแล้ว ผมจะไปเตือนอีกครับ”

    อาตมาภาพรับอาหารบิณฑบาต เสร็จแล้วก็กลับหลังจากฉันภัตรแล้ว สามเณรรับบาตรไปจัดการเทอาหารและล้างที่หน้ากุฏิ ส่วนอาตมาภาพจับไม้เท้าออกไปเดินจงกรมที่พะลานหินกลางแจ้งหลังกุฏิ ลานจงกรมบนพะลานหินหลังกุฏิ อาตมาภาพใช้เดินบริหารแข้งกลับไปกลับมาทุกวัน เริ่มแต่ ๑๐.๐๐ น. ถึง ๑๑.๐๐ น. ความยาวระหว่างหัวจงกรมกบสุดจงกรม ๑๓๓ ก้าว ไปมาจึงเป็น ๒๖๖ มีตะไคร่น้ำจับอยู่บางแห่ง ถูกอาตมาภาพย่ำเหยียบทุกวันจนตะไคร่น้ำหายไป แลเห็นเป็นรอยทางเดินแทน

    วันนี้อาตมาภาพขึ้นเดิน เริ่มแต่หัวจงกรม (หัวจงกรมเป็นหินนูนสูงราว ๑ ฟุต) ไปจนสุดทางจงกรม เดินไปก็คิดนึกไปว่า จะทนสู้ความหนาวบนนี้ต่อไปอีกไหวหรือ เพราะความหนาวเพิ่มรุนแรงขึ้นทุกวัน วันนี้ถามที่ทหารอากาศก็บอกกว่า ลบ ๐ ลงมา ๕ แล้ว ถ้ามันลบลงมาถึง๑๐ หรือ ๑๕ เรามิแข็งตายหรือ สงสารแต่สามเณร เพราะยังเด็กนัก จะทนได้สักกี่วัน เดินจงกรมแล้วก็ครุ่นคิดวิตกไป จนถึงหัวจงกรมรอบที่สอง พอหันตัวกลับจะลงเดินเป็นรอบที่สาม ก็ต้องชะงักงันอยู่กับที่ เพราะสิ่งที่มิได้นึกฝัน ไม่ได้คิดว่าจะเป็นไปได้ในชีวิต ก็ได้ปรากฏขึ้นอย่างที่ตัวเองก็บอกไม่ได้ อธิบายไม่ถูก คือ พออาตมาภาพหันตัวกลับ จะก้าวลงเดินรอบที่สาม ก็เห็นสตรีคนหนึ่งเดินผ่านหน้าในอาการก้าวเดินเนิบ ๆ แต่ลอยตัว สูงพ้นจากพื้นพะลานหินประมาณสันมือลอดได้ มือพนมอยู่หว่างอกที่ตึงอิ่ม หันหน้ามองมายังอาตมาภาพด้วยควงตาอันดำขลับสดใสเป็นประกาย อาตมาภาพยืนตะลึง มองตามสองมือจับหัวไม้เท้ายันไว้ข้างหน้า จนเธอเดินมาหยุดยืนเยื้องมาทางขวามืออาตมาภาพเล็กน้อย ( เธอเดินผ่านหน้าอาตมาภาพจากซ้ายมาขวา) ห่างกันราว ๒ วา ต่ำกว่าหัวจงกรมที่อาตมาภาพยืน เราคงยืนจ้องกันอย่างนั้นอยู่สัก ๒ – ๓ อึดใจ

    ใบหน้า แววตา ริมฝีปาก ที่งามน่าพิศ แม้จะไม่มีอาการยิ้มอย่างคนธรรมคา แต่ก็แสดงให้เห็นว่ายิ้มอย่างละมุนละไม ทรวดทรงองค์เอวนิ้วเท้านิ้วมือ ลำแขนดูเพรียวเต็มอิ่มไปด้วยผิวที่ผุดผ่องนวลกระจ่าง ขณะนั้นดวงอาทิตย์กำลังส่องแสงกล้า เพราะเป็นเวลา ๑๐.๐๐ น.เศษ แต่ถึงกระนั้นก็ดูเหมือนทั่วร่างของเธอมีประกายระยิบ ออกมากระทบกับแสงอาทิตย์ อาภรณ์เครื่องแต่งตัวอาตมาภาพพอจะจดจำได้ คือ ผ้าที่นุ่งเป็นเหมือนฝ้ายลายทองเป็นตารางคล้ายร่างแห ระหว่างช่องตารางดูคล้ายกับมีเพชรเม็ดสีต่าง ๆ ผนึกติดไว้เต็ม เชิงปลายผ้าคลุมสูงจากข้อเท้าในราว ๑ คืบ ข้อเท้าสวมกำไลเป็นเม็ดรอบแวววาว สังเกตไม่ได้ว่าเป็นอะไร เชิงผ้าเป็นลวดลายกนกหนากว้างขึ้นมาราวคืบเศษดูระยิบระยับ ผ้าด้านหน้าพับซ้อน รัดด้วยเข็มขัดอ่อนดูคล้ายแก้วปนทองเป็นประกายเลื่อมแวววับ หัวเข็มขัดนูนโต ตรงกลางหัวเข็มขัดฝังคล้ายบุษราคัมเม็ดขนาดหมากสง ท่อนตัวห่มสไบเฉียงสีเดียวกับผ้านุ่ง คือสีเขียวตองอ่อนปนทอง เป็นการห่มเฉียงอย่างแนบเนียนไม่มีรอยย่นรอยจีบอะไร พราวระยับไปทั่วร่าง ข้อมือมีกำไลเช่นเดียวกับข้อเท้าทั้งที่สวมที่ต้นแขน ตอนขลิบริมขอบบนและล่างของกำไลเป็นกนกคล้าย ๆ กนกเปลว คือ เป็นหยัก ๆ ปลายแหลมงอนขึ้น เวลาถูกแสงแดดดูเป็นเงาวับๆ นิ้วที่เรียวงามสวมแหวนทั้งสี่นิ้วทั้งสองข้าง ปลายนิ้วเรียวจนถึงเล็บงามมาก นิ้วเท้าก็เช่นเดียวกัน บนศีรษะประดับด้วยกรอบหน้าคล้ายละคร แต่เป็นชั้นช้อนขึ้นไปตามลำดับ ๓ ชั้นแต่ละชั้นเป็นกิ่งไหวแพรวพราว คล้ายเส้นลวดดอกไม้ไหว เวลาไหวกระเพื่อมดูพร่างพราวคล้ายฝนพรม ตัวกรอบหน้าคล้ายทองปนแก้วช้องหูที่ครอบรอบใบหู คล้ายเอาเส้นไหมทองคำที่เป็น เงางามมาทำเป็นร่างแหอย่างหนาครอบติดเอาไว้ ดูงามประหลาดอย่างยิ่ง แต่ไม่เห็นเบื้องหลังของเธอ ว่าเส้นผมจะงามเพียงไร ได้จัดเกล้าไว้ หรือปล่อยยาวปะหลังก็ไม่ทราบ คงเห็นแต่ข้างหน้า เพราะยืนประจันหน้ากันอยู่ท่ามกลางแสงแดด เรือนร่างเพรียวระหงอวบอิ่ม ช่วงไหล่ผายผึ่งต้นแขนอวบเต็ม เอวคอดกลม สะโพกผายกลม แล้วเรียวเรื่อยลงไปจนถึงข้อเท้า หลังเท้านูนงาม นิ้วเท้ากลมเรียงเป็นลำดับ ไม่มีปุ่มโปน หรือ ข้อต่อ ข้อกระดูกอย่างเราสามัญมนุษย์เลย

    อาตมาภาพอธิบายไม่ถูกว่าเธองามเพียงไร สง่าอย่างมีอำนาจอย่างไร งามจริง ๆ งามอย่างไม่มีอะไรในโลกมนุษย์จะเปรียบ งามอย่างสตรีอายุวัย ๒๕ กลิ่นหอมกระจายโชยมาถูกจมูกกล้ายกลิ่นกุหลาบอ่อน ๆ ปนแป้งร่ำทำให้สดชื่นใจ อาตมาภาพใจเต้นระทึก ตะลึงกันอยู่อย่างนั้น สายตาคงจับประสานกัน ดูเหมือนเธอจะยิ้มละไมที่เห็นอาการกิริยาของอาตมาภาพเช่นนั้น ครั้นแล้วอาตมาภาพก็ต้องประหลาดอัศจรรย์ใจอีก ที่เห็นร่างของเธอค่อย ๆ ยอบต่ำลง ๆ แต่มือคงพนม และสายตาคงจ้องมองอยู่เช่นนั้น กายยอบต่ำลงนั้นไม่มีอาการเอนเอียงแต่อย่างใด ต่ำลง ๆ จนเป็นอาการในท่าคุกเข่า คือ เข่าซ้ายจดพื้น (\แต่ไม่ถึงพื้นหินคงลอยอยู่เหนือพื้นพะลานหินขนาดสันมือลอด) เข่าขวายกชัน ผ้าที่นุ่งคงเป็นระเบียบ ไม่ย่น ไม่ถลก อย่างที่สามัญชนกระทำกัน อาตมาภาพคงจ้องมองนิ่งอยู่อย่างนั้น สองมือจับหัวไม้เท้าแน่น ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไป ครั้นแล้วเสียงแว่ว แต่กังวานแจ่มใสน่าฟังจากเธอพูดขึ้นก่อนว่า

    “มีอะไรบอกโยมเถอะ ดูมาหลายวันแล้วรักเหมือนลูกของโยมจริง ๆ “.

    เสียงที่ออกมานั้น แม้จะรู้ว่าผ่านออกมาจากริมฝีปาก แต่ก็เห็นริมฝีปากเผยอนิด ๆ เท่านั้น อาตมาภาพได้สติเมื่อได้ฟังคำพูดที่ได้พูดนำขึ้นก่อน ด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะ แสดงออกถึงความเมตตา แต่ก็ยังนึกไม่ออกว่าจะพูดอะไร เธอก็พูดอีกว่า

    “มีอะไรบอกโยมเถอะ จะจัดการให้”

    อาตมาภาพระงับความระทึกใจเป็นปกติแล้ว ก็ตอบเธอว่า “ อากาศหนาวทนไม่ไหวจริง ๆ คุณโยม อาตมาทนไม่ไหว”

    คราวนี้ใบหน้าและริมผีปากยิ้มละไมอิ่มเอิบ ดวงตาที่มองจ้องจับเป็นประกายสดใสกระจ่าง เสียงเธอพูดย้ำอีกว่า

    “มีอะไรบอกโยมก็แล้วกัน”

    อาตมาภาพรู้สึกตัว ได้คิด จึงอนุโมทนาที่เธอให้ความเมตตา แล้วถามว่า

    “อาตมาจะเรียกคุณโยมว่าอย่างไร ?”

    “เรียกโยมว่า “วิสาขา” โยมอยู่ปกครองที่นี่มาหมื่นปีเข้านี่แล้ว ขอให้ท่านจงปฏิบัติต่อไปตามเวลาที่กำหนด โยมขอนมัสการลาท่าน” พูดแล้วเธอก็ลุกขึ้น แต่เป็นการลุกขึ้นอย่างลอยตัว คือ ค่อยๆ เคลื่อนตัวตรงขึ้นจนยืนตรงมือยังคงพนมอยู่อย่างนั้น งามมาก ถามจริง ๆ ใบหน้ายิ้มผ่องใสกระจ่างทั่งเรือนร่าง อาตมาภาพได้แต่กล่าวพึมพำอนุโมทนาให้พรเธอเบาๆ ขอให้เธอมีความอิ่มเอิบสุขสำราญในทิพสมบัติ และทิพอำนาจ ตราบเท่าพระนิพพานที่ได้มีเมตตากุศลจิตอนุเคราะห์อาตมาภาพครั้งนี้ อาตมาภาพเพ่งพินิจมองดูเห็นเรือนร่างอันงามล้ำเฉิดฉาย ค่อย ๆ จางหายไปในท่ามกลางแสงแดด เป็นการเลือนหายจางลงๆ แต่ยังคงอยู่ในอาการเดิม สายตาอันดำขลับเป็นประกายเงางามคงจ้องจับจนหายลับไป สามเณรล้างบาตรเสร็จกำลังคว่ำบาตรผึ่งแดด และตากผ้าเช็ดบาตร เวลาล่วงไปในราว ๑๐ นาที อาตมาภาพถือว่าเป็นเวลาอันมีคุณค่า อย่างไม่มีอะไรมาแลกเปลี่ยนกันได้ในชีวิตคน นับแต่เกิดจากครรภ์มารดาจนกระทั่งมาบวชเป็นภิกษุจนถึงวันนี้ ความสุขใจ ความอิ่มใจ ความผ่องใสมันเต็มเพียบพร้อมอย่างบริบูรณ์ในขณะนั้น คงยืนพินิจอยู่กลางแสงแดดโดยไม่รู้สึกร้อน หรือ หนาว อย่างที่เป็นอยู่เมื่อแรก คงมองไปเบื้องหน้าที่ร่างของคุณโยมวิสาขาได้เลื่อนหายไปอยู่อย่างนั้น ไม่ทราบว่านานเท่าไร จนสามเณรยืนพนมมืออยู่ข้าง ๆ พูดว่า

    “หลวงพ่อครับ วันนี้ทำวัตรเช้า หรือเปล่าครับ ?”

    จึงได้รู้สึกตัว เหลียวมองดูสามเณร สามเณรเงยหน้ามองอาตมาภาพ ยิ้มอย่างเด็ก ๆ เอ่ยว่า

    “วันนี้ไม่ค่อยหนาวนะครับ ผมดูหลวงพ่อสบายกว่าทุกวัน”

    “เออ จริงซีนะเณร” อาตมาภาพตอบ “ไปทำวัตรกันเถอะ สายแล้ว

    โดยปกติอาตมาภาพฉันแล้ว ออกไปเดินจงกรม ๆ แล้วก็กลับเข้ากุฏิทำวัตรเช้า กับสามเณรทุกวัน (ตอนเย็นเวลา ๕ โมงเย็น ทำวัตรเย็น) อากาศวันนี้อุ่นพอสบาย พอตกราวบ่ายโมง พวกคนงานป่าไม้สามคน หอบเสื่อ หมอน ถังน้ำ กาน้ำ ขันอาบน้ำ ไม้กวาด และเชือก เอามาให้ อาตมาภาพแกล้งพูดสัพยอกว่า

    “ทนหนาวแทบตายมาสิบกว่าวัน คอยที่นอนหมอน เสื่อของพวกเธอ”

    พวกนั้นพนมมือตอบว่า“ เสื่อมันขาดครับ ต้องเย็บปะ แล้วผ้าห่ม ที่นอนก็เหม็นอับไม่ได้ถูกแดดมานานต้องตากต้องเย็บกันหลายผืนครับ เลยทำให้หลวงพ่อต้องทนหนาวหลายวันหน่อย”

    “หน่อยอะไร แทบตายทีเดียว”

    พวกนั้นหัวเราะชอบใจ ช่วยกันจัดแจงปูเสื่อปูที่นอน วางหมอน ไม้กวาด กาน้ำ ไว้กับที่เรียบร้อยแล้วก็ลากลับไป เป็นอันหมดกังวลกันที คุณโยมวิสาขาได้ทดลองอาตมาภาพเป็นอย่างดี การจำวัดในคืนนี้ตลอดจนวันลงจากภูอากาศพอสบายจนชาวบ้านเชิงภู และพวกดูแลป่าไม้ออกปากว่า ปีนี้ไม่หนาวเลย

    วันหนึ่ง มีทหารอากาศ ๒ นาย จากกองบินจังหวัดอุดร ฯ นำสัมภาระบางอย่างมาที่ริ้งก์ เป็นเรืออากาศตรี ๒ นาย จำชื่อไม่ได้ ได้มาแวะที่กุฏิ เมื่อสนทนาไต่ถามกันพอสมควรแล้ว คนหนึ่งก็เอ่ยถาม จะเป็นเชิงลองหรือถามจริง ๆ ก็ไม่ทราบ คือ ถามว่า

    “หลวงพ่อครับ ท่านที่เป็นจ้าวเขาเป็นผู้หญิง หรือชายครับ ?”.

    อาตมาภาพก็ตอบออกไปโดยไม่ลังเลว่า

    “เป็นผู้หญิง”

    ทั้งสองคนหันหน้าพยักให้กัน เอ่ยว่า

    “จริงแฮะ หลวงพ่อท่านว่าถูกเป๋งเลย”

    “อะไรกัน ถูกเป๋งยังไง ?” อาตมาภาพถามด้วยความสงสัย

    “คือยังงี้ครับ” คนหนึ่งเล่า “คือไม่นานมานี้ พวกผมได้ขึ้นมาบนภู แวะค้างที่บ้านป่าไม้ ตอนค่ำก็พูดคุยกันและถามกันว่า จ้าวภูที่นี่เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เพื่อนผมเขาก็ว่าเห็นจะต้องเป็นผู้ชาย ผมก็ว่าไปอย่างสนุกว่า ถ้าเป็นผู้ชายเราก็จะถวายเครื่องสังเวย ดอกไม้ ธูปเทียน แต่ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะถวายด้วยดอกบัวตูม ผมก็พูดไปอย่างสนุกเล่น ๆ เท่านั้นแหละครับ แต่ที่ไหนได้พอดึก ขณะที่ผมนอนหลับ จะฝันก็ไม่ใช่จะตื่นก็ไม่เชิง แต่เห็นผู้หญิงคนหนึ่งแต่งตัวสวยมาก แหวกฝาห้องตรงเข้ามาเอาเท้าเหยียบอกผมอย่างแรงจนหายใจไม่ออก ผมพยายามดิ้น อึกอักเท่าไร ก็ดิ้นไม่หลุด เหยียบแน่นจริงๆ คิดว่าตายแน่ ตกใจก็ตกใจ พอนึกถึงคุณพระขึ้นมาได้ ก็ภาวนาว่า “พุทโธ พุทโธ” นั่นแหละครับ ถึงได้ยกเท้าออกจากหน้าอกผม สองมือท้าวสะเอว มองถมึงทึงพูดออย่างโกรธว่า
    “มึงอยากพูดชั่วนัก ระวังปากของมึงให้ดี” พูดแล้วก็หายไป นั่นแหละครับผมถึงว่า หลวงพ่อพูดถูกเป๋งทีเดียวจ้าวเขานี้ก็คือ “จ้าวแม่ภูกระดึง”
    อาตมาภาพหัวเราะต่อท้ายให้ว่า
    “ดีแล้ว รู้จักเสียบ้างก็ดี จะได้ไม่ประมาท ถูกเหยียบดีกว่าถูกกระทืบ” สองคนหัวเราะ ยกมือไหว้บอกว่า
    “เข็ดละครับ อกแทบพัง”
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,358
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    บทที่ ๔

    สิ่งที่ไม่เคยเห็น

    ในราวกลางเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๐๗ ตอนค่ำประมาณ ๒ ทุ่ม ขณะที่อาตมาภาพกำลังนั่งเจริญสมาธิอยู่ในกุฏิ ได้ยินเสียงคนเดินอยู่รอบกุฏิ ฟังดูคิดว่าคงจะมีใครคนหนึ่งมาหา แต่ก็ไม่ได้ยินเสียงเรียก และมีเสียงไอก็ถามออกไปว่า

    “นั่นใคร มาเดินอยู่ทำไม ?”

    ”ผมเองครับ ชื่อสงบครับ” เสียงตอบ

    อาตมาภาพก็บอกไปว่า “นี่ก็ค่ำมืดแล้ว อาตมาต้องการความสงบ อย่าเพิ่งรบกวนเลย เอาไว้พรุ่งนี้เถอะ”

    “ครับ” เสียงตอบรับ แล้วก็เดินเงียบหายไป

    รุ่งเช้า อาตมาภาพไปรับบิณฑบาตกับสามเณรที่ริ้งก์ ทอ. ตามเคย ได้อาหารพอสมควรแล้ว ก็พากันเดินกลับ มาได้เกือบครึ่งทางก็แลเห็นชายสองคนแต่งตัวอย่างนักท่องเที่ยว กำลังเดินตรงมาข้างหน้า พอใกล้จำกันได้อาตมาภาพก็เอ่ยทักก่อนว่า

    "อ้อ ! คุณวิชากับคุณสงบนั่นเอง คุณมาตั้งแต่เมึ่อไร ?” (ทั้งสองท่านคือ คุณวิชา เศรษฐบุตร อธิบดีกรมโลหกิจ และ คุณสงบ แก้วไพฑูรย์ นายช่างเอกของกรม ฯ )

    ทั้งสองต่างรีบหลีกลงข้างทาง ด้วยความประหลาดใจ ยกมือไหว้ คุณวิชาพูดขึ้นว่า

    “ผมไม่ทราบว่าเป็นท่าน ทราบแต่ที่ทหารอากาศเขาบอกว่า มีหลวงพ่อธุดงค์มาอยู่ ผมมาถึงเมื่อวานเกือบค่ำแล้ว ก็ให้คุณสงบเขามาดู แต่ท่านปิดกุฏิแล้ว เสียดายครับ ถ้าทราบว่าเป็นท่านก็จะได้ฝากของเพิ่มมากกว่านี้ ของผมได้ฝากไว้ที่ป่าไม้ให้ถวายท่านแล้วครับ”

    อาตมาภาพตอบว่า “ไม่ต้องวุ่นวายหรอกท่านอธิบดี ๆ เท่าที่ให้ก็พอแล้ว ขออนุโมทนา และขอให้เดินทางด้วยความสวัสดี” แล้วท่านทั้งสองก็ได้ลาจากไป และทั้งสองท่านนี้ ทางแห่งบุญได้นำมาให้พบกับอาตมาภาพที่วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดียครั้งหนึ่ง ดังที่ได้เล่าไว้ในหนังสือ “ปัญจมาสในชมภูทวีป” แล้ว

    วันนี้หลังจากฉันและทำกิจต่าง ๆ เสร็จแล้ว ก็เป็นเวลาเที่ยงเศษ อาตมาภาพก็นั่งพูดเชิงสนทนาในทางธรรมกับสามเณรในปัญหาต่างๆ ที่ทางธรรมและทางปฏิบัติที่อาตมาภาพได้อบรมไปแล้ว สามเณรก็ตอบและอธิบาย บางอย่างก็สาธยายสวดให้ฟัง พูดจาไปทำให้เพลินนานพอสมควรก็หยุดพัก คิดว่าจะลุกออกเดินยืดเส้นยืดสายเสียที หันไปหยิบไม้เท้าก้าวลง แต่ไม่ทันสังเกตก้าวหมิ่นไปเหยียบเอาขอบม้าเข้า ม้าก็กระตุกไปข้างหน้า ทำให้หน้าคะมำลง อาตมาภาพเอาไม้เท้ายันเก้ ๆ กังๆ เซแซ่ด ๆ ไปพะเอาริมกุฏิ สบงที่นุ่งก็จะหลุด ขณะที่กำลังเก้กังดึงผ้านุ่งจะหลุดอยู่นั้น ก็ได้ยินเสียงหัวเราะกิ๊กใสแจ๋ว ทำเอาอาตมาภาพสะดุ้ง ขายหน้าเต็มที่ พูดกับสามเณรแก้เก้อว่า
    “บ๊ะ ยั้งตัวไม่อยู่ ผ้าผ่อนจะหลุดจนโยมหัวเราะ”
    สามเณรหน้าเหลอรับว่า “นั่นซีครับ หลวงพ่อเสียงใครก็ได้รู้ ผมก็ได้ยิน
    อาตมาภาพตัดบทว่า“ เอาละ ๆ พอดี ขายหน้าจะตาย”
    ตั้งแต่วันนั้นมา ทำให้อาตมาภาพได้สำนึก จะทำอะไรต้องระวังไว้เสมอ เพราะประจักษ์แล้วว่า ณ ที่นั้นแม้จะไม่มีตามนุษย์เห็น แต่ตาอีกคู่หนึ่งหรือหลายคู่คอยเผ้าติดตามดูอยู่ จะทำอะไรสะเพร่าไม่ได้ เพราะเท่าที่ได้ทราบมาว่า ไม่มีพระอาจารย์ใดที่จะอยู่บนภูกระดึงได้นานติดต่อกันถึง ๑ เดือนเลย แม้แต่สัก ๒๐ วันก็ทั้งยาก อย่างมากก็เพียง ๗-๑๐ วันก็ลง เท่าที่เห็นกันก็คือ ความหนาวอย่างเยือกเย็นเข้ากระดูกดำ ๑ ความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว ๑ ความเงียบเหงาอย่างยิ่ง ๑ เสียงลมที่พัดคึ่ก ๆ สนั่นหวั่นไหว ๑ (เวลาดึกเสียงลมน่ากลัวมาก) เวลาฝนตก ทั้งเสียงฝนเสียงลมและเสียงฟ้าผ่าลงมาอย่างกึกก้อง ๑ (เสียงฟ้าผ่านี้ อาตมาภาพได้เห็นกับตา คือ วันหนึ่งฝนตกพรำ ให้สามเณรต้มน้ำริมขอบพะลานหิน ฟ้าได้ผ่าเปรี้ยงลงมา แสงสว่างวาบจนตาพร่า ต้นสนสองใบสูงลิ่วแบะออกเป็นสองซีกตลอดต้น ห่างจากที่อาตมาภาพยืนอยู่ตรงข้ามราวครึ่งกิโลเมตร ซึ่งหนึ่งล้มกระเด็นไป อีกซีกหนึ่งยังยืนต้นอยู่) ๕ อย่างนี้ ถ้ามิใช่ผู้ที่ตั้งใจมั่นในการบำเพ็ญเพียรแล้ว ก็อยู่ไม่ได้นาน ถ้าขึ้นไปพักชั่วครู่ชั่วคราวก็ไม่เป็นไร อาตมาภาพได้ประสบเหตุการณ์แหล่านี้ด้วยสติอันมั่นคง น้อมใจให้มีความผูกพันกับสิ่งเหล่านั้น.อยู่บนนี้ได้เจอฝนลูกเห็บ ที่ชาวบ้านแถบนั้นเรียกว่า ฝนห่าแก้วมันอัศจรรย์จริง ๆ ตกซัดลงมาเป็นก้อนน้ำแข็งขนาดก้อนกรวดเต็มไปทั้งพะลานหิน สามเณรเอาผ้าอาบซ้อนคลุมหัวออกกวาดเก็บใส่ขันอย่างสนุก เหมือนน้ำแข็งทุบ
    ความเงียบก็เงียบชัฎชนิดอย่างที่เรียกว่า อ้างว้าง เยือกเย็น และว้าเหว่ ต้นสนที่สูงลิ่วไม่ใช่สนทะเลยอดแหลมเป็นเจดีย์อย่างที่เราเห็นอย่างเจนตาตามบ้านตามสวนสาธารณะ แต่เป็นต้นสนที่เรียกว่า “สนสองใบ” และ“สนสามใบ” ความสูงตกในราว ๒๐ เมตร เวลาลมพัดแรงเสียงลมตัดผ่านหมู่สน จะดังคึ่ก ๆ เหมือนเสียงรถจักรวิ่งสักร้อยคัน และมีไม่ใช่ต้นสองต้น ทั่วทั้งพื้นยอดภูมีเป็นพัน ๆ ต้นทีเดียว ที่บ้านพักป่าไม้ อาตมาภาพได้ไปเห็นต้นสนที่มหาบพิตรพระราชสมภารเจ้าทั้งสองพระองค์ได้ทรงปลูกไว้ ยังได้อธิษฐานถวายพระพรว่า ขอให้ทรงเป็นปิ่นประเทศอันมั่นคงยั่งยืนดุจต้นสนทั้งคู่ที่ทรงปลูกไว้นี้ ป่านฉะนี้คงจะเติบโตสูงตระหง่านแล้ว ด้วยเวลา๑๑ ปี ที่อาตมาภาพได้จากมา

    ในตอนบ่าย อาตมาภาพชอบพาสามเณรเดินเลาะลัดไปตามแมกไม้ และใต้ต้นหมดดงสนเหล่านี้ด้วยความเบิกบานใจ ทุกวันที่อาตมาภาพเดินกลับบิณฑบาตผ่านเข้ามาทางช่องประตูโขง เสือจะเดินแกะรอยทุกวัน ทีแรกก็ไม่ทราบ มาทราบเอาตอนที่หมออารมณ์เอาของมาให้ตอนสาย พอมาถึงก็อุทานออกมาก่อนว่า
    “หลวงพ่อครับ หลวงพ่อทราบไหมว่าเสือมันเดินแกะรอยตามหลวงพ่อทุกวัน เมื่อกี้ผมก็เจอรอยมาจนพ้นประตูโขง”
    อาตมาภาพเกือบจะลืมบอกรูปร่างลักษณะ พ.อ.อ.หมออารมณ์ สอนสมสุข ผู้นี้ (ระยะนี้คงจะเป็นเรืออากาศแล้ว คือเป็นคนร่างใหญ่ กำลังมาก ทั้งบึกบึน เรื่องความกลัวดูเหมือนจะไม่มีในบุคคลผู้นี้ ลงภู ขึ้นภู ตอนค่ำคืนได้อย่างสบาย เดินก็เร็ว ใจเย็น พูดจามีเมตตาผิดกับรูปร่างทีเดียว พวกป่าไม้และพวกชาวบ้านชอบหมอมาก เอาใจใส่รับใช้อาตมาภาพเป็นอย่างดีตลอดเวลา คราวหนึ่งอาตมาภาพหยุด ไม่ไปบิณฑบาต ๔ วัน ให้สามเณรบิณฑบาตฉันที่บ้านป่าไม้องค์เดียว เพื่อจะบำเพ็ญอยู่อย่างสงบ ไม่ฉัน อุทิศให้แก่คุณโยมวิสาขา และคณะหมู่เทพ และปวงภูตบนภูนี้ พอถึงวันที่ ๕ หมออารมณ์เดินฝ่าหมอกมาแต่เช้า หิ้วกระติกกาแฟมาด้วย อาตมาภาพนั่งอยู่หน้ากุฏิรอสามเณรต้มน้ำร้อน หมออารมณ์มาถึงวางกระติกกาแฟ แล้วก้มลงกราบ บอกว่า
    “ผมเกรงหลวงพ่อจะหิว เพราะท้องว่างมากเกินไป จึงรีบนำกาแฟดำร้อนมาถวายแล้วค่อยไปบิณฑบาต” ว่าแล้วก็รินกาแฟใส่ถ้วย อาตมาภาพรับมาดื่มหมดสองถ้วยรู้สึกว่า ความอุ่นของน้ำกาแฟร้อนไหลเรื่อยลงไปตามลำไส้ จนถึงกระเพาะหน้าท้อง ในราว ๑๐ นาทีรู้สึกถ่วงที่ทวารหนักก็ลุกขึ้น บอกกับหมออารมณ์ว่า เห็นจะต้องไปถ่ายเสียก่อนไปบิณฑบาต พอลุกขึ้นจะตวัดจีวรพาดบ่า ก็มีน้ำหยดออกจากทวาร ก้มลงดูเห็นเป็นน้ำสีดำหยดลงบนพื้นกระดาน ๓-๔ หยด คือน้ำกาแฟนั่นเอง หมออารมณ์ตาลุก อุทานออกมาว่า
    “โอ้โฮ ! ลำไส้ของหลวงพ่อเกลี้ยงเลย”
    อันที่จริง สภาพและบรรยากาศบนภูกระดึงนี้ (หมายถึงในระยะที่อาตมาภาพขึ้นไปบำเพ็ญระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๖-๒๕๐๗ นั้น เหมาะแก่ผู้ประพฤติพรตบำเพ็ญเพียรอย่างยิ่ง) น่ารื่นรมย์ ยากที่จะหาที่ใดเปรียบได้ อาตมาภาพกับสามเณรพากันออกเดินไปตามทางที่การป่าไม้ได้สร้างเลาะไปตามริมขอบภู นั่งพักบนแท่นหินตามหน้าผานกแอ่น มองดูเฮลิคอปเตอร์บินร่อนอยู่เบื้องล่างบ้าง เมฆที่ลอยจับกลุ่มแน่นคล้ายแผ่นดิน ชวนให้น่าลงไปเดิน ลอยนิ่งย่ำลงไป บางวันก็เดินดั้นฝ่าหมอกอันหนาทึบไปทางผาหล่มสัก ห่างจากกุฏิราว ๑๕ - ๑๖ ก ม. ยืนมองลงไปที่เขาว่ากันว่า ถ้าลงจากผานี้ไปแล้วก็เข้าเขตอำเภอหล่มสัก บางครั้งเดินวกมาทางซ้าย นั่งพักดูทิวทัศน์ที่ผาหมากดูก ห่างจากกุฏิราว ๘ ก.ม. ใต้ผาหมากดูกลงไปเป็นที่นอนคอยเหยื่อของเสือ อาตมาภาพลองลงไปดูกลิ่นสาปฟุ้งทีเดียว ธรรมชาติของเสือล่าเนื้อเป็นอาหารทำให้สัตว์พวกนี้รู้จักทำเลที่ชุ่มจับเหยื่อ คือ มองลงไปแล้วจะเห็นภาพข้างล่างได้ทั่วทั้งแถบ แต่ข้างล่างมองขึ้นมาจะไม่เห็นอะไรเลย อาตมาภาพจำได้ว่า ในวันเพ็ญเดือน ๓ คือ วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๐๗ นอนในราวห้าทุ่มเศษ นั่งอยู่ที่โขดหินข้างกุฏิกับสามเณร ดูพระจันทร์ลมเงียบ ท้องฟ้าโปร่ง แสงเดือนสาดสว่างดั่งกลางวัน เสียงนกกระแตร้องแก๊ ๆ ดังมาจากผานกแอ่นและลานพระแก้ว
    ขณะที่นั่งพูดกันเบาๆ เพลินอยู่นั้น ก็ได้ยินเสียงคล้ายเสียงหง่าวแหลมกระหึ่มสะท้านเข้าไปในอก พอสิ้นเสียงทำให้บรรยากาศของบริเวณนั้นเงียบงันน่าสยอง อาตมาภาพจับบ่าสามเณรให้นิ่งคอยฟังให้แน่อีก สามเณรนั่งนิ่งประมาณสัก ๑ นาทีเห็นจะได้ เสียงหง่าวแหลมก้องกระหึ่มก็ดังมาอีก แต่มาทางพงหญ้าคาตรงข้ามหน้ากุฏิ ซึ่งกลุ่มโขดหินบังคั่นไว้ ห่างจากที่เรานั่งไกลโขอยู่ อาตมาภาพแน่ใจว่าเป็นเสียงพยัคฆ์เจ้าป่าแน่ จึงค่อยลุกขึ้นยืนกวาดสายตาเพ่งดูผ่านแนวหว่างต้นสน เพ่งมองกวาดสายตาดูทั่วบริเวณ จนสายตาชินกับความสว่าง ก็แลเห็นสิ่งหนึ่งกำลังเคลื่อนห่างออกไป เป็นก้อนขาวหม่น พงหญ้าคาแหวกกระเพื่อม อาตมาภาพกลั้นหายใจนิ่งเงียบมือซ้ายยันไม้เท้ามือขวาเกาะบ่าสามเณร ส่วนสามเณรตัวเล็กมองไม่เห็น ในท่ามกลางแสงเดือนเช่นนี้ ทำให้สภาพของเสือเปลี่ยนสีกลมกลืนกันได้เป็นอย่างดี นี่เองการหากินในราตรีกาลของสัตว์เพชฌฆาตเหล่านี้ จึงสะดวกอย่างนี้เอง เสียงหง่าวแม้จะกระเดียดไปทางเสียงแมว แต่ก็มีอำนาจร้ายทีเดียวที่สามารถหยุดอาการของป่าให้เงียบงันไปได้อย่างชงัด บางวันก็เดินดั้นเข้าไปนั่งเล่นแถวน้ำตกวังกวาง น้ำตกโผนพบ น้ำตกโผนพบใหม่บางวันก็นังสงบท่ามกลางอากาศโปร่งหน้าพระปฏิมาองค์ใหญ่ เหนือบ้านพักป่าไม้
    การบำเพ็ญของอาตมาภาพมาถึงปีใหม่ เดือนมกราคม ๒๕๐๗ พวกที่รักษาป่าไม้ได้ทำความตกลงกับหมออารมณ์ คือขอให้อาตมาภาพไปรับบิณฑบาตสลับกัน คือ ไปบิณฑบาตที่ริ้งก์ ทอ. วันหนึ่ง แล้วไปบิณฑบาตที่บ้านป่าไม้วันหนึ่ง จนกว่าอาตมาภาพจะลงจากภู อาตมาภาพก็ได้ปฏิบัติตามที่นิมนต์นั้นตลอดมา คือวันนี้ฉันข้าวสุก พรุ่งนี้ฉันข้าวนึ่ง (ข้าวเหนียว) การบำเพ็ญได้ปฏิบัติอย่างเข้มงวด ไม่ว่างเว้น สม่ำเสมอตลอดมา การเอนกายลงนอนกลางวันไม่เลยมีในชีวิตสมณะศากยบุตร เข้ากุฏิเวลา ๑๘.๓๐ น. (คือ ๖ โมงเย็นครึ่ง) หรืออย่างช้าก็ ๓ ทุ่ม เว้นแต่ถ้าเป็นเวลาเดือนเพ็ญ ก็เข้ากุฏิล่าหน่อย ดังที่ได้เล่ามา ตอนนี้ได้ให้สามเณรแยกไปนอนกุฏิทำด้วยฟากหลังคามุงด้วยพง ประตูทำด้วยสังกะสี อยู่โคนไม้ริมพะลานหิน ห่างจากกุฏิอาตมาภาพราว๓๐ เมตร เพราะเห็นว่ามีความคุ้นกับสถานที่และกล้าพอตัวแล้ว เวลาหมอกลงจัดหนาทึบจนมองอะไรไม่เห็น ก็ต้องยืนรอดูส่งจนเห็นสามเณรเข้ากุฏิ ปิดประตูเรียบร้อยแล้ว อาตมาภาพจึงกลับเข้ากุฏิ

    คืนวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ เป็นวันเพ็ญ ขึ้น๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันพฤหัสบดี อาตมาภาพได้เจริญเจโตสมาธิด้วยภวังคจิตที่แน่วสนิทเป็นเวลาจนถึงตี ๒โดยนั่งหันหน้าเข้าฝากุฏิหัวนอน ได้ยินเสียงเรียกเข้าหูอย่างแจ่มชัดว่า
    “พระคุณท่าน โปรดลุกออกมาข้างนอกหน่อย” น้ำเสียงสำแดงคารวะ
    อาตมาภาพประหลาดใจลืมตาขึ้น มองเห็นอุบาสกชรา เส้นผมขาว ใบหน้าผ่องใสเป็นเงากระจ่าง นุ่งผ้าขาวจีบหน้า ห่มเฉียงด้วยผ้าขาวบาง ชายปลิวสะบัดไปตามกระแสลม ถือไม้เท้ายาวเสมอศีรษะ ฝาที่หัวนอนดูเหมือนไม่มี ทั้ง ๆ มุ้งกลดก็บังอยู่ แต่ก็เห็นได้อย่างแจ่มชัด จะเรียกให้ออกไปทำไม อาตมาภาพนึกในใจ ก็มีเสียงเรียกมาอีกว่า
    “ลุกออกมาทางนี้แหละครับ ข้าพเจ้ามาคอยรับท่าน ลุกออกมาเถอะครับ”
    อาตมาภาพไม่ลังเล ความมั่นใจ ความสดชื่นภายในไม่ทราบว่ามีได้เต็มเปี่ยมอย่างไร รู้สึกว่าอุบาสกชราผู้นี้เป็นมิตรสนิท ไว้วางใจได้โดยไม่ต้องคลางแคลง ออกจากมุ้งกลดหยิบไม้เท้าที่พิงไว้มุมฝาหัวนอน ก้าวออกไป พริบตาเดียวก็ไปยืนอยู่ตรงหน้าอุบาสกชรา ผู้มีใบหน้าอิ่มเอิบผ่องใสผู้นั้น กุฏิของอาตมาภาพตั้งอยู่ระหว่างช่องหิน ขอบหินด้านหัวนอนสูงกว่ากุฏิเกือบครึ่ง และห่างกันเกือบ ๑ เมตร แต่อาตมาภาพก้าวข้ามออกไปได้อย่างไร ตัวเองก็ไม่รู้ อธิบายไม่ได้ เพียงแต่ว่าแวบเดียวถึงอุบาสกชราเดินหลีกจากอาตมาภาพพลางพูดว่า
    “นิมนต์ตามข้าเจ้ามา”
    “จะพาอาตมาไปไหนกัน ?”
    “ไปยังที่ท่านผู้เห็นผู้ใหญ่ ณ ที่นี้ประสงค์ให้พระคุณท่านได้เห็น ตามข้าเจ้ามาเถอะ พระคุณท่านเวลาล่วงไปโขแล้ว” ว่าแล้วอุบาสกชราก็เริ่มเดินนำ เยื้องห่างจากอาตมาภาพไปทางขวาเล็กน้อย ห่างกันประมาณเกือบสองวา คืนวันนี้แสงจันทร์ส่องกระจ่างทรงกลด ดาวเต็มท้องฟ้า สะอาดปราศจากเมฆ สรรพสิ่งทุกอย่างรอบข้างอ้างว้าง เงียบสงัด ลมพัดโชยพอสบาย ทำให้ชายจีวรของอาตมาภาพ และผ้าขาวห่มเฉียงของอุบาสกชราปลิวไหวนิด ๆ
    อาตมาภาพทั้งประหลาดใจและอัศจรรย์ใจในการก้าวเดินของเราทั้งสองในตรงนี้เป็นอย่างสุดที่จะพรรณนา เพราะอะไร ? ก็เพราะการก้าวเดินก็เป็นการก้าวเดินอย่างธรรมดา แต่ฝ่าเข้าไม่สัมผัสพื้น แต่ลอยเรื่อยไปข้ามช่องเขา แล้วมาก้าวเดินเหยียบไปบนยอดพงหญ้าคาที่ขึ้นสูง น้ำค้างบนยอดพงเปียกติดฝ่าเท้า อาตมาภาพชำเลืองดูอุบาสกชราผู้นำทาง ก็เห็นมุ่งหน้าเดินในอาการสำรวมปกติ ไม่หันมามองไม่มีการพูดจา อาตมาภาพก็คงสำรวมเดินตามลิ่ว ๆ ไป ประหลาดจริง ๆ ท่านสาธุชนทั้งหลาย มันไม่ใช่อาการเหาะ ไม่ใช่อาการลอยไปเฉย ๆ แต่มันเป็นอาการก้าวเดินอย่างธรรมดา แต่ทว่าคล้ายเลื่อนไถลลอยไปฉะนั้น เบาและนุ่มนวล ไม่มีอาการเกร็งข้อเท้า หรือ ฝืนกล้ามเนื้อน่อง หรือ ขาอ่อนอย่างไร ก้าวเดินไปอย่างสบายและว่องไว อาตมาภาพได้พบ ได้ถูกต้องแล้วในชีวิตนี้ ซึ่งมิคิดว่าจะได้พบ ภายในใจภาวนานึกอนุโมทนาขอบคุณคุณโยมวิสาขา ที่ได้เอื้อเฟื้อและเมตตาถึงปานนี้
    เราพากันเดินเบนเฉียงไปทางขวาเรื่อยไป ใช้เวลาราว ๑๐ นาทีประมาณตีสองเศษ ก็มาหยุดยืนริมชายป่าขอบภูแห่งหนึ่งมองดูทิวทัศน์เบื้องล่างเห็นแต่หมอกบางสลัว แล้วอุบาสกผู้นำทางก็นำเดินลงตามช่องทางเล็ก ๆ พอเดินเรียงเดี่ยว เบื้องบนศีรษะมีพงหญ้าปกคลุมหนาทึบ เราเดินเลี้ยวขวาย่ำลง ๆ ไปเรื่อย ๆ จนมาหยุดยืนบนแผ่นหิน เบื้องหน้าเป็นช่องกว้างประมาณ ๑ วา สูง ๒ ช่วงคน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า คล้ายประตู ภายในสว่างกระจ่างแจ้ง ไม่ใช่แสงตะเกียง ไม่ใช่แสงไฟฟ้า แต่มันสว่างกระจ่างใสคล้ายแสงแก้ว อุบาสกชราผู้นำทางหยุดยืน แขนขวายันประตูมีใบหน้าอันยิ้มระรื่นด้วยคารวะและไมตรี มีกลิ่นคล้ายกลิ่นกระแจะอ่อน ๆ รำเพยมา พลางเอ่ยบอกว่า
    “บัดนี้ขอพระคุณเจ้าผู้เจริญ จงโปรดเที่ยวชมภายใน รัตนคูหานี้ได้โดยอิสระ เสมือนเป็นเจ้าของสถานที่แห่งนี้ข้าเจ้าจะคอยท่านจนกว่าจะกลับ”
    อาตมาภาพมองดูอุบาสกชราด้วยสายตาอันชื่นบาน เราสบสายตากันอยู่ครู่หนึ่ง อาตมาภาพก็ก้าวเดินเข้าไปพื้นในถ้ำราบเรียบ สภาพภายในร่มรื่นแจ่มกระจ่าง แสงสว่างที่สาดไปทั่วนั้น ทำให้ผิวร่างกายอาตมาภาพรู้สึกสดชื่นอ่อนนุ่มไปทั้งร่าง ตัวเบาอย่างผาสุก มันเบาคล้ายกับกระดูกทุกส่วนเป็นโพรง กลิ่นหอมระรื่นชื่นใจอบอวลไปทั่ว ตักเตือนตัวเองว่า
    “อันตัวเรานี้เป็นสมณะ สาวกศากยะบุตร ท่านเห็นว่าเรามีคุณสมบัติพอจะนำมาเหยียบมาเห็นสถานที่แห่งนี้ได้ จึงได้อนุญาตนำให้ได้เห็นได้ชม ใครบ้างที่เป็นมนุษย์ปุถุชนจะได้มีโอกาสดังเช่นเรา ฉะนั้นอย่าเผลอ อย่าผยองร่าเริงว่านี่เป็นของเรา เราดีเหนือกว่าใคร ถ้าคิดนึกเช่นนี้แล้วไซร้ ความหวังได้ซึ่งธรรมวิเศษ หรือการที่จะได้ประสบพบสิ่งอันเป็นมงคลเช่นนี้ ย่อมไม่ใช่ฐานะจะเป็นไปได้”
    อาตมาภาพเดินตรึกรำพึงไปพลาง สายตาก็พินิจพิเคราะห์สถานที่ห้องหับคูหา อันงามรุ่งเรืองตระการตาไปพลาง แสงสว่างพร่างงามนั้นออกมาจากผนังภายในคูหานั้น เหมือนกับฉาบทาไว้ด้วยแก้วมณี หรือว่าผนังนั้นเป็นแก้วมณีเอง เป็นปุ่มเป็นระแหง เป็นช่อ เป็นแผ่นเรียบ เป็นพวงระย้าสลับซับซ้อน ติดพืดกันไปหมดอย่างเป็นระเบียบ ดุจนายช่างวิศวกรอันมีศิลปะที่มือเลิศได้ประดับสลักยึดไว้ ถ้ายืนนิ่งจ้องดูแสงที่ออกมาจากปุ่มจากช่อ ๆ ลฯ เหล่านั้น จะทำอาการวาว ๆ วุบวับ คล้ายกับจะแสดงอาการให้นิ่งพิศ หรือเหมือนกับล้อสายตาเล่นอย่าสนุกฉะนั้น
    เพียงไม่ถึงนาที อาตมาภาพไม่ติดใจ เดินเลยเข้าไปในห้องเบื้องหน้า พอย่างล้ำล่วงเข้าไปก็ต้องยืนนิ่งด้วยความประหลาดพิสดารยิ่งของห้องนั้น มีโต๊ะเท้าสิงห์พื้นไม้สีดำดุจสีนิล ลายทองคำสลักด้วยลวดลายละเอียดยิบ สูงเสมอเอว ยาวประมาณ ๒ วา กว้าง ๑ วา ขาโต๊ะแกะสลักเสลาด้วยลวดลายที่งามเหนือลวดลายที่ได้พบเห็น ขอบโต๊ะก็เช่นกัน แต่ที่มหัศจรรย์อย่างยิ่งก็คือ บนโต๊ะนั้นมีกระถางสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวประมาณ ๑ ศอกคืบ กว้างประมาณคืบครึ่ง สูงจากพื้นโต๊ะที่วางเท่ากับความกว้าง ตัวกระถางเป็นสีมรกตใสจาง ในกระถางมีทองคำแท่งเนื้อเยี่ยมยาวกว่ากล่องไม้ขีดไฟสักสองนิ้วมือเรียง กว้างขนาดกล่องไม้ขีดไฟ วางเรียงเป็นระเบียบเต็มถึงขอบปากกระถาง โต๊ะที่ว่านี้ในห้องนั้นนับดูได้สี่สิบโต๊ะ วางเรียงเป็นหมู่ ๆ ละ๔ โต๊ะ ระหว่างช่องของหมู่ กว้างพอเดินเรียงเดี่ยวได้ตลอดส่วนช่องทางเดินระหว่างหมู่ใหญ่ ต่อหมู่ใหญ่ กว้างพอ ๒ คนเดินเรียงกันได้สบาย อาตมาภาพลองแงะหยิบขึ้นมาดูเห็นความหนาประมาณ ๑ นิ้วฟุต มีน้ำหนักเท่าที่ลองหยั่งดูคงจะหลายสิบบาท เป็นทองคำเนื้อเลิศเหนือกว่าเนื้อเก้าเนื้ออะไรทั้งนั้น อาตมาภาพดูแล้วก็วางลงที่เดิม แล้วลองเอาเล็บหัวแม่มือกดขีดดู ก็เป็นรอยนิ่มเป็นแนวไปตามเล็บ แต่แต่พอยกมือพ้นขึ้นมาได้หน่อย ก็กลับเป็นเนื้อเรียบดังเก่า แปลกแท้ ๆ แล้วก็เดินเลยเรื่อยไปยังอีกหมู่ติดผนัง เพราะสะดุดสายตาที่เห็นภายในกระถางมีเงาพราว ๆ พอถึงก้มลงดูต้องประหลาดใจอีก เพราะเห็นเป็นเม็ดทรายเต็มกระถาง แต่เป็นทรายทอง ทอแสงเป็นเงางามทีเดียว อาตมาภาพลองหยิบขึ้นมาเต็มกำมือ มีน้ำหนักกะไม่ถูก พอกำและบีบแรง ๆ ก็ดังอ๊อด ๆ พอโปรยปล่อยคืนลงกระถางก็กลับเรียบไปตามเดิม แหมแปลกและอัศจรรย์แท้ พินิจมองๆ นึกไปว่า ทองคำที่ว่าดี ว่าแพง บนพื้นโลก อยากได้กันนักแย่งกันหนักหนา เห็นเข้าน้ำลายไหล มันไม่ได้ขี้กะผีกของทองคำที่เห็นนี้เลย ขณะนี้กลิ่นหอมเหมือนดอกพิกุลโชยเข้ามา ชำเลืองมองดูรอบ ๆ ก็ไม่เห็นมีอะไร
    อาตมาภาพเดินผ่านช่องประตูคูหา เข้าไปยังอีกห้องหนึ่ง เป็นห้องกว้างโอ่โถง แสงสว่างเป็นสีชมพูอ่อน แต่สว่างชัด แจ่มแจ้ง เป็นห้องกว้างลึกไกล มีโต๊ะชนิดและขนาดเล็กใหญ่ต่าง ๆ กัน ของที่วางบนโต๊ะแต่ละโต๊ะมีมากมายหลายชนิด ที่เป็นของใหญ่ต้องวางบนพื้นก็มีมากจนลานตาไปหมด มากมายจริง ๆ เป็นต้นไม้ใหญ่เล็กนานาชนิด อาตมาภาพค่อยก้าวเดินไปตามช่องทางอย่างระมัดระวัง ช่องทางแม้จะดูว่าแคบ เกรงชายจีวรจะไปเกี่ยวสิ่งของเข้า แต่ก็ไม่เห็นกระทบเลย โต๊ะใหญ่บางตัว พื้นโต๊ะสีแดงสด ขอบโต๊ะฝังด้วยเพชรเม็ดใหญ่แต่ห่างกันเป็นระยะพองาม ส่องแสงวุบวับเป็นประกาย ปลายขาโต๊ะที่ยันพื้นทำเป็นเท้าสิงห์ เล็บเป็นเงินบ้าง เป็นรูปกลมคล้ายบาตรสีแดงเข้มบ้าง เป็นเหลี่ยมหกเหลี่ยมบ้าง ฯลฯ ขอบโต๊ะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า สี่เหลี่ยมด้านเท่าและกลม และหกเหลี่ยมบ้าง ตั้งสลับกันไป สลักลวดลายอันวิจิตรทั่วทั้งขอบโต๊ะ บางตัวเป็นทองคำฝังด้วยเพชรและมรกตสีรุ้งเม็ดใหญ่ โต๊ะบางโต๊ะเป็นมรกตฝังเพชรและทับทิม ฯลฯวัตถุที่วางบนโต๊ะเป็นต้นไม้กระถางอัญมณีต่างอย่างต่างชนิด ดูคล้ายกับต้นตะโกดัด โมกดัด ต้นเข็มดัด และสนต้นดัด ฯลฯ

    บางต้นกระถางเป็นแก้วมณีทอแสงคล้ายสายรุ้ง ต้นไม้ในกระถางลำต้นเป็นมรกต กิ่งเป็นเพชรประกายวาว ใบเป็นทับทิมสีแดงสด บางกระถางต้นเป็นเพชร กิ่งเป็นมรกต ใบเป็นเพชรทอแสงพราว บางกระถางต้นเป็นนิล กิ่งเป็นเพชร ใบเป็นโกเมน ลูกเป็นไพฑูรย์และบุษราคัม อาตมาภาพสุดที่จะพรรณนานำมาเล่าให้หมดได้ ส่วนต้นใหญ่ที่วางกับพื้นนั้น โคนต้นทำเป็นโขดสูงดำเป็นสีนิล แต่ลำต้นเป็นแก้วมณีส่องแสงเห็นประกายใสกระจ่าง ใบเป็นทองคำ ดอกเป็นทับทิม ลูกเป็นมรกตบ้า เป็นอำพันสีแดงบ้าง บางลูกเป็นสองสีเหลือบกันคล้ายปีกแมลงทับ อาตมาภาพเอามือประคองลูกขึ้นมาดู ก้านของลูกติดกับขั้วต้นแต่บาง ๆ คล้ายจะหลุด แต่ก็ไม่หลุด แล้วปล่อยไว้ตามเดิม อาตมาภาพยืนหันดูทางซ้ายและทางขวาดุจสามัญชนได้มาชมมาเห็นสมบัติของบรมจักรพรรดิ ดูแล้วก็ทำให้ต้องถอนใจใหญ่ รำพึงว่า
    “นี่โยมให้พามาดูทำไม ? เพื่ออะไร ? ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ของเรา แต่ให้เรามาชมเล่นเป็นขวัญตาอย่างนั้นหรือ ?”
    คิดแล้วก็ออกเงินไปยังห้องที่สาม เป็นห้องที่กว้างไกลกว่าห้องที่สองหลายเท่า จะไม่กว้างอย่างไรได้ ห้องนี้เต็มไปด้วยบุษบก ยานุมาศ ราชรถใหญ่น้อย พระแท่นบัลลังก์ ราชอาสน์ ตลอดจนพระเก้าอี้และพระแท่นที่บรรทมและกัมพูฉัตร อันสูงใหญ่ตระหง่านงาม เครื่องราชูปโภคสิ้นทุกชนิด มีวางไว้พร้อมภายในห้องคูหานี้ มันงามเหนือกว่า มโหฬารเหนือกว่า รุ่งเรืองเหนือกว่า พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระที่นั่งอมรินทร์ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หลายร้อยพันเท่า เหลียวดูอะไร มองดูอะไร ดูมันวูบวาบพร่างพราวระยิบระยับไปทั่วทั้งห้อง อันกว้างใหญ่สุดสายตา อะไร ๆ อาตมาภาพไม่ติดใจประทับใจ เท่ากัมพูฉัตร ความสง่างาม ความตระการตา ตลอดจนความรุ่งเรืองที่พร้อมอยู่ในต้นกัมพูฉัตรนี้ ที่ทำให้อาตมาภาพสามารถจะพรรณนาได้ แม้จะนานสักร้อยปีหรือพันปี เป็นความสง่าตระการงามที่อยู่ในความทรงจำจนบัดนี้ มันทำให้อาตมาภาพมีความสำนึกระลึกไปถึงกาลแต่อดีต ที่ล่วงมาแล้วนานแสนนาน มองดูกัมพูฉัตรทำให้หวนระลึกนึกถึงเหตุการณ์ที่เป็นมาแล้ว สลายมาแล้ว แต่กัมพูฉัตรเหตุไฉนมามาอยู่ที่นี่ (ข้อนี้อาตมาภาพเล่าให้คุณโยม เสนาะจุลวัจนะฟังในครั้งนั้นแล้ว ก็คงจะติดใจซักอาตมาภาพอย่างชนิดฟอกเป็นแน่ แต่ขณะนั้นยังมิใช่กาลเวลาจึงรอมาจนบัดนี้)

    เพื่อกันความสงสัยของท่านสาธุชนผู้อ่านว่า ต้นกัมพูฉัตรคืออะไร มีรูปร่างอย่างไร ? อาตมาภาพขอแจ้งรายละเอียดรูปร่างของกัมพูฉัตรเท่าที่จะทำได้ ดังต่อไปนี้
    ๑. ความสูงของฉัตร ตงแต่ฐานโคนที่ตั้งถึงปลายยอด ประมาณ ๓ วา
    ๒. ต้นคันฉัตรทำด้วยทองคำเนื้อสุกปลั่ง เป็นเนื้อสีเหลืองเข้มนับได้ ๑๖ เหลี่ยม ทุก ๆ พื้นของเหลี่ยมฝังประดับด้วยแก้วมณีอันล้ำค่า คือ เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยเพชรขนาดเม็ดข้าวโพดอย่างใหญ่ เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยทับทิมเหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยมรกต; เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยโกเมน เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยไพฑูรย์ เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยมุกดาหาร เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยบุษราคัม เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยนิล เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยมณีสีม่วงสด เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยมณีสีเขียวใบไม้สด เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยแก้วผลึก เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยมณีสีรุ้ง เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยเพทายสีหม่น เหลี่ยมหนึ่งฝังด้วยแก้วมณีสลับสีทุกสีที่บรรยายมาข้างต้น
    ๓. ลักษณะตัวฉัตรเป็นผ้าขาวอย่างหนา เนื้อละเอียด เป็นเงามันระยับ คล้ายกำมะหยี่ กางขึงแผ่กว้าง โค้งคุ้มน้อย ๆ ลากลงมาจนถึงปลายขอบฉัตรอย่างอ่อนช้อย ก้านฉัตรที่ขึงกางตัวฉัตรนับแล้วได้พันก้าน ทำด้วยทองและเงินพันด้วยลวดลายสีต่างๆ เป็นเงาวับ ไม่ทราบว่าเป็นลวดลายเส้นอะไรเพราะอยู่สูง ความกว้างระหว่างขอบ(เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ วาเต็ม)
    ๔. ขอบฉัตรมีระย้าแก้วมณีเงินทอง ห้อยสลับกันอย่างมีศิลป์งดงามยิ่ง เวลาแกว่งก็ทอแสงวูบวาบแวบวับ คล้ายดาวในท้องฟ้า และมีเสียงดังกังวาลใสแผ่วเบา ชวนฟังอย่างยิ่ง
    ๕. พื้นผ้าตัวฉัตรมีเม็ดแก้วติดอยู่ทั่ว คล้ายน้ำค้างมีลวดลายกนกทองโตขนาดเท่าจานรองถ้วยน้ำชา ติดเป็นระยะทั่วพื้นฉัตร
    ๖. ยอดของฉัตรเป็นเจดีย์ คล้ายเม็ดหัวมันฑ์ แล้วมีสามแฉกคล้ายนพสูรย์พุ่งขึ้นไปส่งแสงวับวับ
    ๗. ต้นฉัตรโตประมาณ ๔ กำรอบ
    ขณะที่อาตมาภาพกำลังยืนพิศดู ด้วยความตรึงใจอยู่นี้ ดูคล้ายกับว่าแสงสีต่าง ๆ ได้กระจายออกจากตัวฉัตร ค่อย ๆ ย้อยเลื่อนมาทางที่อาตมาภาพยืน ทำให้อาตมาภาพได้สติ ถอยหลังก้าวเลี่ยงออกไปข้าง ๆ แล้วเลยเดินห่างออกไปทางช่องประตูคูหา ซึ่งอยู่เกือบกึ่งกลางของห้อง หยุดยืนชิดขอบประตู หันมาเงยมองดูฉัตรนั้นอีกครั้ง คราวนี้ฉัตรมีอาการโยกตัวน้อย ๆ ทำให้พวงระย้าที่แขวนอยู่มีเสียงดังสดใสกังวานไพเราะ แผ่วหวิวคล้ายดังเคล้าสายลมมาแต่ไกล เพราะจริง ๆ แสงเมื่อกี้หายไป
    คราวนี้อาตมาภาพหันมาทางประตูที่ยืน. แสงที่ประตูสว่างสดใสคล้ายอาบด้วยสีทอง ทำให้จีวรย้อมฝาดที่อาตมาภาพครองกลายเป็นสีทองเข้ม อาตมาภาพก้าวเดินออกไปแล้วเลี้ยวขวา เพราะเป็นทางบังคับให้เลี้ยวอยู่ในตัว เนื่องจากทางซ้ายมือตัน เป็นผนังถ้ำหินใส คล้ายแก้วสีเหลืองหม่น อาตมาภาพเดินไปเรื่อยๆ มีกระแสลมพัดมาปะทะใบหน้าแต่แผ่วเบา หายใจสูดเข้าจมูกๆ ก็โล่ง หัวอกภายในก็โล่ง เดินเบาหวิวไปอย่างสบาย ปลอดโปร่งอิ่มเอมใจ เรื่อยไปในราวสัก ๑๕ นาที ก็มาหยุดยืนตรงสุดขอบทาง เพราะเห็นเป็นชั้นบันไดหินสามชั้นทอดต่ำลงไป มองไปข้างหน้าเห็นเป็นหนทางคล้ายอุโมงค์มีแสงสว่างสลัวๆ ตามผนังทั้งสองข้างและเพดานเหนือศีรษะ เห็นเป็นแสงประกายระยิบระยับ ทำให้พื้นทางเดินเบื้องล่างสะท้อนนแสง เป็นเงาแวววาว อาตมาภาพยืนพินิจดูสักอึดใจ ก็ได้ยินเสียงพูดอยู่ข้างขวาเยื้องไปข้างหลังว่า
    “นิมนต์เดินลงไปได้ พระคุณท่าน ไม่กี่ร้อยก้าวก็จะขึ้นไปทางฝั่งเวียงจันทน์ เพราะตอนนี้ลอดใต้ลำโขง”
    อาตมาภาพหันไปมองอุบาสกชราผู้พูด เห็นแกยิ้มละไมก็ยิ้มตอบพลางว่า
    “พอละ ท่านอุบาสกที่อุตส่าห์นำมา ขอเจริญพร อนุโมทนาคุณโยมมหาอุบาสิกาวิสาขา ที่ได้มีกุศลจิตอนุเคราะห์ ให้อาตมาภาพได้มาเห็น มาพบสิ่งที่มิได้คาดคิดว่าจะได้เห็น ขอคุณโยมจงมีความผาสุกในทิพสมบัติ ตราบเท่าพระนิพพานเถิด”
    อาตมาภาพหยุดมองดูอุบาสกชรา เห็นยืนพนมมือก้มศีรษะนิดหนึ่งด้วยอาการสำรวมอันงดงาม อาตมาภาพจึงกล่าวต่อไป
    “และขออนุโมทนาต่อท่านอุบาสก ด้วยกุศลเจตนาอันพร้อมด้วยไมตรีจิตของท่าน ขอท่านจงเสวยผลแห่งความเกษมสำราญ ตราบเท่าพระนิพพานเทอญ”
    ในหน้าของอุบาสกชราเปล่งปลั่งผุดผาดขึ้นอย่างประหลาด มือที่พนมนั้นงามผิดมือมนุษย์สามัญ เสียงกล่าวอะไรพึมพำทุ้ม ๆ ในลำคอ แล้วก็เงยขึ้นมองอาตมาภาพด้วยสายตาอันเป็นประกายกระจ่างอย่างชื่นชม อาตมาภาพจึงพูดเตือนขึ้นว่า
    “กลับกันเถอะอุบาสก กี่ทุ่มกี่โมงก็ไม่รู้”
    “เห็นจะตกเข้าตีสี่แหละ พระคุณท่าน โอ ท่านยังจำกัมพูฉัตรของท่านได้ ข้าเจ้ารู้ ข้าเจ้ารู้” อุบาสกชราตอบและอะไรต่ออะไร อาตมาภาพไม่ทันคิด
    เราพากันเดินกลับมา อาตมาภาพไม่เหลียวมองอะไรอีก จำทางเข้าออกได้ดี อึดใจใหญ่ก็ออกมายืนบนลานหินหน้าช่องประตูทางเข้าทีแรก แล้วก็เดินขึ้นกลับมายืนปากทางเบื้องบนริมภู ท้องฟ้ายังคงสว่างสลัว และก็แปลกที่ทำไมมองเห็นกุฏิเป็นสีขาวแต่ไกลได้ชัด ป่านนี้สามเณรคงนอนคุดคู้ ไม่รู้เรื่อง เสียงอุบาสกพูดว่า
    “นิมนต์พระคุณท่านกลับไปเถอะ ข้าพเจ้าจะยืนรอส่งอยู่ที่นี่ จนกว่าพระคุณท่านจะเข้ากุฏิเรียบร้อยแล้ว ขอได้โปรดเข้าทางเก่าที่พระคุณท่านได้ออกมา”
    อาตมาภาพเหลียวดูแวบหนึ่ง เห็นยืนพนมมืออยู่จึงก้าวออกเดิน ทีแรกคิดว่าคงจะต้องเดินไปบนดินอย่างธรรมดา ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น จะต้องไปตามทางที่คดเคี้ยวไกลกว่าสิบกิโลเมตรทีเดียว แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ขามาเดินก้าวลอยมาอย่างไร ก็คงก้าวลอยไปเช่นนั้น ไม่ประหลาดใจอีกต่อไป คงก้าวเดินปลิวไปในระดับเดียวกับตอนขามาแต่ทว่าเร็วกว่า มาถึงหัวนอนกุฏิไม่ถึง ๑๐ นาที หันไปมองยังคงเห็นอุบาสกชราร่างขาวโพลน ยังยืนอยู่ลิบ ๆ อาตมาภาพก้าวผ่านเข้าฝาหัวนอนกุฏิเข้าไปเหมือนไม่มีฝาฉะนั้น แปลกอัศจรรย์ใจ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะพูดจะเปรียบได้อย่างไร พิงไม้เท้าไว้มุมฝาแล้วก็ลองเอามือดันฝาหัวนอนดูให้แน่ใจ มันก็คงเป็นฝาไม้ที่แน่นด้วยตะปูตรึงอยู่นั่นเอง แล้วคราวนี้จะหันออกไปก็ไม่ได้ แล้วออกไปด้วยอำนาจอะไร ? ถ้าไม่ใช่อุบาสกชราผู้เป็นเสมือนเทพอารักษ์ผู้นั้นบันดาล ก็จะมีใครอีกเล่า น้ำหน้าอย่างเราจะมีอะไรขืนดันออกไปหน้าตาก็พังเท่านั้น มุดเข้ากลด หยิบนาฬิกาขึ้นดูเห็นเวลาตีสี่เกือบครึ่ง ใช้เวลาเที่ยวชมสมบัติจักรพรรดิ์ภายในถ้ำแก้วสองชั่วโมง ขัดสมาธิสงบจิตที่หวั่นไหว เจริญภาวนา ดำรงสติสัมปชัญญะตั้งมั่นต่อไป จนถึงตี ๕ครึ่ง เก็บมุ้งกลด พับผ้าห่ม เปิดกุฏิออกไปล้างหน้า
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,358
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    บทที่ ๕

    ไฟไหม้ภู

    ตลอดเวลาที่ได้ปฏิบัติบำเพ็ญเพียรบนภูกระดึงได้รับการดูแลจากคณะทหารอากาศที่ประจำริงก์โทรคมนาคมอันมี พ.อ.อ. หมออารมณ์ สอนสมสุข และ จ.อ. ณรงค์ สื่อสวน เป็นอย่างดี (มาภายหลังได้ทราบว่า พล.อ.ต. เอกชัย มุสิกบุตร เจ้ากรมสื่อสาร ทอ.ได้อุทิศปัจจัยสำหรับซื้ออาหารถวายทุกเดือน) ทั้งทางที่ตั้งที่ทำการของกรมป่าไม้ พวกคณะป่าไม้ตลอดทั้งคนงาน ก็ได้ให้ความอนุเคราะห์โดยสม่ำเสมอ วันนี้ฉันข้าวสุก พรุ่งนี้ฉันข้าวเหนียว พวกที่ขึ้นไปเที่ยว เวลากลับลงจากภูก็ได้ถวายสิ่งของที่เป็นของใช้บ้าง ของขบฉันบ้าง ถวายปัจจัยบ้าง.ซึ่งได้ให้หมออารมณ์ เป็นไวยาวัจกรเก็บรวบรวมไว้ เวลามีพระภิกษุอาคันตุกะมาพักอยู่สี่ห้าวัน เวลาลาลงจากภู ก็ได้ถวายเป็นค่ารถ ค่าเดินทางองค์ละ ๓๐-๔๐ บาทบ้างวันศุกร์ที่ ๗ ก.พ. ๒๕๐๗ พล.ต. ประหยัด อจลคุปต์ และครอบครัว ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์จากกองบินจังหวัดอุดรมาลงที่สนามข้างริงก์ ทอ. เป็นเวลาที่อาตมาภาพและสามเณรนั่งรอรับบิณฑบาตอยู่ พล.ต. ประหยัด และคุณหญิงทองคำ ได้ถวายภัตตาหารเช้า อาตมาภาพเลยต้องฉันเช้าที่ค่าย ทอ.นั่นเอง และก่อนที่ พล.ต. ประหยัดจะเดินทางกลับ น.ท. ธวัชชัย วริยพงษ์ ผบ. ฝูงบินอุดร ๆ ได้นิมนต์อาตมาภาพและสามเณรขึ้นเฮลิคอปเตอร์ชมยอดและหน้าผาขอบภูกระดึงโดยรอบ นับว่าเป็นโอกาสอันประเสริฐอย่างยิ่ง แล้วพล.ต. ประหยัดได้ลากลับเวลาประมาณบ่าย ๓ โมงเศษ

    วันอังคาร ที่ ๑๘ ก.พ. ๒๕๐๗ ไฟได้ไหม้ทุ่งหญ้าคาบนภู ไฟลุกโพลงโชติช่วงทั้งสี่ทิศ เสียงไฟปะทุดังโผงผางน่ากลัว พวกรักษาป่าสิบกว่าคนช่วยกันดับ โดยเอาต้นพง ใบกล้วย ผูกกับไม้ไผ่ เรียงแถวหน้ากระดานฟาดตัดทางไฟ แต่ก็ไม่สามารถจะหยุดยั้งพระเพลิงได้ เพราะลมช่วย เลยต้องโจนหนี ปล่อยให้ไหม้ตามยถากรรม คอยแต่ระวังไม่ให้ลามไปไหม้บ้านพักเท่านั้น ไฟได้โหมไหม้กระจายไปเกือบทั่วภูอย่างรวดเร็ว แล้วลามมาไหม้ล้อมรอบพะลานหินที่อาตมาภาพอยู่เข้าด้วย สามเณรมองดูด้วยความหวั่นใจ พูดว่า

    “เราหนีไปที่ค่าย ทอ. ก่อนเถอะครับ”

    “ไม่ต้องตกใจเณร ที่นี่เป็นพะลานหินกว้าง อย่างมากไฟก็ไหม้แค่พงหญ้าและกุฏิแฝกริมพะลานเท่านั้น รีบไปขนของ ๆ เณรออกจากกุฏิก็แล้วกัน เดี๋ยวไฟจะลามมาถึง”

    สามเณรรีบไปขนผ้าห่ม หมอน เสื่อ และจีวรออกมากองไว้ ขณะนี้ไฟได้ไหม้อย่างกว้างขวาง เปลวไฟและควันเต็มไปหมด เสียงดังเปรี้ยะ ๆ กระหึ่มไปทั่ว อาตมาภาพก็เพิ่งได้ชมไฟไหม้ภูคราวนี้เอง พวกรักษาป่าบอกว่าเป็นเช่นนี้เกือบทุกปี

    ขณะที่ยืนดูเหตุการณ์อยู่นั้น สามเณรจับชายจีวรอาตมาภาพ ชี้ไปข้างหน้าทางกลุ่มหินใต้ดงสน บอกว่า

    “หลวงพ่อครับ ! นั่นคนนุ่งขาวเดินมาหยุดยืนอยู่บนก้อนหินโน่นครับ”

    อาตมาภาพมองตามก็ไม่เห็น จึงถามว่า

    “ไหนกัน ? อยู่ตรงไหน ?”

    “โน่นไงครับ ยังยืนอยู่เฉย นุ่งขาวห่มขาว หนวดผมก็ขาว หลวงพ่อไม่เห็นหรือครับ”

    อาตมาภาพคิดได้ทันที จึงว่า “ เออ ๆ ! คุณโยมอุบาสกคงมาคอยดูเรา ไม่เป็นไรหรอก” สามเณรก็นิ่งไปอาตมาภาพไม่เห็น สามเณรเห็น ขณะนี้พวกกระต่าย นกกระทา กระรอก ได้วิ่งเข้ามาในพะลานหินหลายสิบตัว ดู ๆ ก็น่ารัก น่าสงสารที่ทุกตัวก็กลัวภัย หนีภัยอย่างลนลาน ลืมความกลัวที่มีต่อมนุษย์ นี่เคราะห์ดีที่หนีเข้ามาในบริเวณที่อาตมาภาพอยู่ ถ้าเป็นอย่างบ้านป่าไม้น่ะหรือ คงเข้าทำนองหนีเสือปะจระเข้เป็นแน่ ขอให้ทุกตัวจงมีความปลอดภัย บางตัวหลบเข้าซอกหิน บางตัวปีนขึ้นไปเกาะกิ่งไม้ข้างกุฏิ กระต่ายมุดเข้าใต้ถุนกุฏิ กระต่ายเป็นสัตว์ที่ตกใจง่าย เที่ยววิ่งหัวชุกหัวซุนพล่านไปทั่ว อาตมาภาพมองดูและอดขำไม่ได้ จึงแกล้งพูดออกไปส่ง ๆ ว่า

    “จะวิ่งไปไหนพรรคพวก จะวิ่งไปไหน หมอบอยู่ใต้ถุนตามซอกหินเฉย ๆ เถอะ ไม่มีภัยอะไรหรอก” ดูเหมือนจะรู้ตามสัญชาตญาณ พากันซอกตัวตามซอกหลืบแถบพะลานหิน หมอบนิ่งอยู่ ส่วนไฟก็ยังคงลุกลามล้อมเข้ามารอบพะลานหิน พอหญ้าแห้งริมขอบและใต้ขอบพะลานหินไหม้หมด แต่ที่น่าอัศจรรย์ก็คือ กุฏิทำด้วยพงหญ้าแห้งที่สามเณรอยู่ อีกทั้งโรงครัวต้มน้ำไม่ไหม้เลย แม้ไฟจะลามเลียเข้าไปถึงใต้ถุน คอยจนกระทั่งบ่ายสี่โมงเย็นเศษไฟจึงสงบคงเหลือแต่ควันคุกรุ่น สามเณรขนของเข้ากุฏิตามเดิม

    อาตมาภาพได้เห็นดวงอาทิตย์ตกเวลาเย็น ยืนมอ’ดูด้วยความอัศจรรย์ เพราะถ้าเรายืนอยู่บนพื้นที่ราบ ก็จะเห็นดวงอาทิตย์ตก ลับหายไปตามเส้นขอบฟ้าที่จดกับพื้นดินหรือทิวไม้ ถ้าเป็นชายทะเลก็จะเห็นตกหายลับไปยามเส้นขอบทะเลกับฟ้าจดกัน แต่ขณะที่ยืนบนภูกระดึงจะเห็นดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เลือนหายเข้าไปภายในหลังม่านสีเทาที่พาดเต็มท้องฟ้าทุกวัน ไม่ค่อยเห็นว่าจะตกลับไปตามขอบฟ้าต่ำกว่ายอดภูเขาเลย อยู่บนภูกระดึงตลอด ๖ เดือนก็คงเห็นดวงอาทิตย์ลับไปในลักษณาการอย่างนี้ทุกวัน

    คืนวันหนึ่งตอนหัวค่ำ กำลังนั่งสนทนากับพวกศิษย์และลูกหลานที่ไปจากกรุงเทพ ฯ อยู่หน้ากุฏิ ได้ยินเสียงปืนยิง เสียงเคาะเกราะดังขรมมาจากเบื้องล่าง อันเห็นที่ตั้งหมู่บ้านสีฐานก็พากันหันไปทางเสียง เห็นพระจันทร์ดวงโตเท่ากระด้งกำลังแหว่ง จึงได้รู้ว่าเป็นคืนจันทรคราส จันทรคราสบนภูกระดึงนี้เห็นแจ่มชัดเจนจริง ๆ สว่างนวลปลั่งเป็นสีเงินยวง เห็นคราสกำลังจับอย่างชัดเจน เรานั่งสนทนากันไปพลาง คอยดูจันทรคราสไปพลาง จนคลายออกโดยจับไม่หมด ประมาณสี่ทุ่มคณะที่มาสนทนาจึงลากลับ

    การกินอยู่ขบฉัน พอเป็นไปได้ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ วันนี้ฉันข้าวเจ้าของ ทอ. พรุ่งนี้ฉันข้าวเหนียวของบ้านป่าไม้ เป็นดังนี้เรื่อยมา อยู่มาวันหนึ่งหลังจากฉันแล้วอาตมาภาพได้พูดเล่น ๆ กับสามเณรขณะกำลังเช็ดบาตรว่า

    “เณร เราอยู่บนนี้ ฉันแห้ง ๆ แล้ง ๆ นิ แกงน้งแกงเนื้อไม่ได้แอ้มละนะ จนกว่าจะลงจากภู” สามเณรก็ตอบทั้ง ๆ ที่ก้มหน้าก้มตาเช็ดบาตร

    “ครับ แต่ปลาร้าต้มกับกบเขาย่างก็พอได้นี่ครับ”

    อาตมภาพหัวเราะ เพราะสามเณรชอบต้มกบเขากับปลาร้า ยกชามชดโฮกเลย หลังจากวันที่ปรารภกับสามเณรเว้นได้เพียงวันเดียว ไปบิณฑบาตที่ริงก์ ทอ. จ่าอากาศเอกณรงค์ก็เอาแกงเผ็ดไก่ใส่ขวดลูกกวาดสี่เหลี่ยมมาประเคน บอกว่าพี่หมออารมณ์ ฯ ได้ลงไปตลาดเมื่อวานนี้ อาตมาภาพต้องนิ่งอึ้ง อนุโมทนาแล้วกลับ ต่อจากนั้นมาอีกสามสี่วัน อาตมภาพก็ปรารภกับสามเณรอีกว่า

    “เณร อยู่บนนี้ไม่ได้ฉันของหวานอะไรเลย ฉันแต่ข้าวเหนียวจิ้มน้ำตาลบึกเท่านั้นนิ”

    สามเณรหัวเราะแหะ ๆ ตอบคำเดียวว่า “ครับ” หลังจากที่ปรารภได้สองวัน ก็มีคนเอาขนมอาลัวกับลูกกวาดชนิดอมเปรี้ยวอมหวานสีต่าง ๆ มาให้ ๑ กล่อง กับ ๒ ขวด บอกว่ามีผู้ฝากมาถวาย อาตมาภาพแน่ใจและอิ่มเอิบใจบอกกับสามเณรว่า.

    “แน่ะเณร ! คุณโยมจัดมาให้แล้ว”

    “คุณโยมไหนครับ ?” สามเณรถามซื่อ ๆ

    อาตมาภาพได้คิด จึงนิ่งไม่ตอบ นับแต่นั้นมาอาตมาภาพต้องสำรวมระวังมาก จะคิดจะนึกอะไรต้องมีสติเสมอ เพราะถึงจะไม่มีมนุษย์คนใดรู้เห็น แต่อีกท่านหนึ่งตลอดทั้งบริวารของท่านคอยติดตามเฝ้าระแวดระวังอยู่ทุกฝีก้าว ควรจะทำตนให้สมกับที่ท่านได้เมตตาอนุเคราะห์ นี่แลคือความปลอดภัยและความผาสุกของอาตมาภาพที่ได้ประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญเพียรอยู่บนภูกระดึงตลอดระยะเวลา ๖ เดือน

    ก่อนที่อวสานแห่งเรื่องนี้ ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่เห็นสมควรได้เล่าแจ้งสู่กันฟัง พอเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์คือ ในราวเดือนมีนาคม จะเป็นต้นเดือนหรือกลางเดือนจำไม่ได้แน่ มีมิชชันเนอรี ๒ คน กับลูกชาย ๑ คน จำชื่อได้คนหนึ่งชื่อ มิสเตอร์วาเร้นท์ กับลูกชาย อีกคนจำไม่ได้ว่าชื่ออะไร มิสเตอร์วาเร้นท์ เป็นมิชชันเนอรีประจำจังหวัดเลย ส่วนอีกคนหนึ่งอยู่อุดร ฯ ได้ขึ้นไปเที่ยวพักผ่อนบนภู และได้ขอพักที่ริ้งก์ ทอ.

    อาตมาภาพได้พบบุคคลทั้งสาม ตอนราวบ่ายสามโมงเย็น ขณะที่เดินกลับจากผานกแอ่นกำลังเดินเลี้ยวเข้าทางจะลงไปทางกุฏิ เห็นฝรั่งสองคนกับเด็กขนาด ๑๒ ขวบ คนหนึ่งนั่งและยืนสนทนาพักเหนื่อยที่โขดหินตรงข้ามกุฏิราว ๒๐๐ เมตร ทั้งสองคนพอเห็นอาตมาภาพและสามเณรก็ยืนขึ้นพร้อมกัน คงจะแปลกใจ ไม่คิดว่าจะมีพระภิกษุอยู่ที่นั่น อาตมาภาพได้ถือโอกาสเดินเข้าไปหา เด็กชายนั้นหน้าตาน่าเอ็นดู อาตมาภาพทักขึ้นก่อนเป็นภาษาอังกฤษว่า

    “สวัสดี ท่านสุภาพบุรุษ”

    “สวัสดีครับท่าน ขอขอบคุณ” คนหนึ่งตอบเป็นภาษาไทย

    “ดีจริง คุณพูดไทยได้ชัดดี”

    “ผมเป็นมิชชันเนอรีประจำอยู่จังหวัดเลย และคนนี้อยู่อุดร” แล้วมิสเตอร์วาเร้นท์ แนะนำตนเองและเพื่อน และบุตรชาย

    เราทั้งสามได้สนทนาไต่ถาม และโต้ตอบกันถึงความหมายของศาสนา ความเลื่อมใสและคุณแห่งศาสนา ตอนที่บุคคลทั้งสองซึ้งใจและได้สำนึก ก็คือตอนที่อาตมาภาพได้แสดงจำแนกถึงความต่างกันอย่างตรงกันข้ามในระหว่างพระผู้เป็นเจ้าของเขา กับพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธะของเรา อาตมาภาพแจกแจงว่า พระผู้เป็นเจ้าของเขายังมีรัก โลภ โกรธ และ หลง อยู่อย่างบริบูรณ์เช่นเดียวกับสัตว์ มนุษย์ที่พระผู้เป็นเจ้าอ้างว่าเป็นผู้สร้าง จึงมีคุณภาพและคุณสมบัติไม่ต่างอะไรกัน เว้นแต่จะมีฤทธิ์มีอำนาจมากกว่าเท่านั้น ยังรักยังชอบใจ พอใจคนที่กราบไหว้บูชาตน เกลียดโกรธ ไม่พอใจคนที่ไม่ไหว้ไม่บูชายังโลภในเครื่องสักการะ และถ้อยคำที่พร่ำอ้อนวอน และก็หลงผิดอย่างมากที่สาป หลุยซีเฟอร์ เทวดาองครักษ์ของตนให้ลงไปเป็นซาตานจอมราชาแห่งนรก ให้มาเป็นคู่แข่งกับตน โดยตนเองไม่สามารถจะปราบได้ และยังมีอีกหลายประโยคที่อาตมาภาพได้อุปมาอุปมัยให้คนทั้งสองฟังโดยละเอียด และได้แจกแจงอธิบายว่า พระพุทธเจ้าของเราทรงประหารกำจัดความรัก ความโลภ ความโกรธ และความหลง หมดสิ้นไปจากพระองค์ ใครจะบูชา หรือไม่บูชา ใครจะรักจะเกลียดพระองค์ ก็ไม่ทรงหวั่นไหวแต่ประการใด พระองค์ไม่ทรงมีความรักต่อใคร ไม่โกรธ ไม่เกลียดใคร ไม่ทำร้ายทำลายใคร ทรงมีพระเมตตาแผ่ไปในสรรพสัตว์ทั่วไป ไม่มีประมาณ แม้แต่พระยามารหรือชาตาน ก็ทรงมีพระเมตตาเท่ากัน พระองค์ทรงคัดการสร้างสรรค์ที่จะทำให้สัตว์กลับมาเกิดอีก ไม่ทรงติดในลาภสักการบูชา และการพร่ำอ้อนวอนสรรเสริญใด ๆ เหล่านี้ เป็นพฤติการณ์ที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญ และกำจัดละหมดสิ้นแล้ว และได้ทรงสั่งสอนชี้ทางให้ประชาชาวโลกทั้งหลายได้ประพฤติตาม

    ทั้งสองได้มองอาตมาภาพอย่างพินิจพิเคราะห์ด้วยสายตาที่อ่อนโยนและไมตรี อาตมาภาพดึงเด็กชายที่น่าเอ็นดูมายืนข้าง ๆ (ดูเหมือนจะชื่อ เดวิด หรืออะไรจำไม่ถนัด) ลูบผมที่เป็นสีน้ำตาลละเอียดอ่อน เด็กมองดูอาตมภาพด้วยดวงตาและใบหน้าที่เบิกบานแจ่มใส ตอนสุดท้ายมิสเตอร์วาเร้นท์ ถามอาตมาภาพด้วยน้ำเสียงที่จริงจังว่า

    “พระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างไร ที่จะไม่ให้กลับมาเกิดอีก ?”

    อาตมาภาพมองตรงไปที่ดวงตาทั้งคู่ของเขา ส่วนเพื่อนมีอาการสนใจและตั้งใจฟังคำตอบ อาตมาภาพย้อนถามย้ำเพื่อให้แน่ใจอีกครั้งว่า ;

    “คุณอยากรู้จริง ๆ หรือ ? หรือว่าถามเล่น ๆ “

    มิสเตอร์วาเร้นท์ ก้มศีรษะตอบรับด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “จริงซีครับ ผมอยากรู้เรื่องนี้มานานแล้ว”

    “ถ้าเช่นนั้น ขอให้คุณทั้งสองจงตั้งใจฟังให้ดี”

    อาตมาภาพพูดด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจนและช้า เพราะคนทั้งสองมีความรู้สูง ลักษณะเป็นเวไนยสัตว์

    “พระบรมศาสดาของเราทรงสอนให้ละความยึดมั่น ผูกพัน และความพอใจ”

    “ละความยึดมั่น ผูกพัน และความพอใจในอะไรครับ ?” น้ำเสียงย้อนถามเบาแต่ชัดเจนหนักแน่น

    “ละความยึดมั่น ผูกพัน และความพอใจในสรรพสิ่งทั้งหลายที่ล้อมอยู่รอบข้าง ทั้งที่ใกล้ที่ไกล คือ ในรูปที่ได้เห็น ในเสียงที่ได้ฟัง ในกลิ่นที่ได้ดม ในรสที่ได้กินได้ชิม ในสัมผัสที่คลุกเคล้าถูกต้อง ตลอดจนความนึกคิดใด ๆ สิ้น คุณวาเร้นท์ มนุษย์ทุกคน แม้สัตว์ทั้งหลายในโลก หลงงมยึดมั่น ผูกพันในสิ่งที่ทั้งหลายที่อาตมาได้กล่าวมานั้น จึงต้องวุ่นวายเร่าร้อนอยู่ในโลก ตายแล้วเกิดอีกจนนับเวลานับชาติไม่ได้ ถ้าคุณละได้โดยสิ้นเชิงหมดจด ก็เป็นอันหมดปัญหาของการที่จะกลับมาเกิดอีกพระศาสดาของเราทรงสอนให้รู้เพียงเท่านั้น เป็นการรวบยอดของคำสอนทั้งหลายของพระองค์”

    การสั่งสนทนาได้กินเวลาล่วงเข้าจะบ่ายหกโมงเย็น ทั้งสองก้มศีรษะในกิริยาคำนับพูดว่า

    “ขอบคุณท่านมากที่ได้มาฟังคำพูดอันเป็นที่ทำให้จดจำ ขออภัยท่านชื่ออะไรครับ ?”

    “เรียกอาตมาว่า กัสสปะ ก็แล้วกัน”

    “ผมขอลาท่าน จะหกโมงแล้ว” ยกนาฬิกาข้อมือขึ้นดู “พรุ่งนี้ดื่มกาแฟเช้าแล้ว พวกผมจะลาลงจากภูกลับไปจังหวัดเลย แล้วก็จะส่งลูกชายไปอเมริกา” (ป่านนี้เด็กคนนี้คงจะเป็นหนุ่มใหญ่แล้ว)

    “ขอให้คุณทั้งสองจงเดินทางโดยความราบรื่น และโชคดี ตาหนูเดวิดจะกลับไปอเมริกา ขอจงเดินทางโดยความราบรื่น และขอให้มีปัญญาเป็นเยี่ยมในการเรียนจนสำเร็จการศึกษา”

    แล้วมิชชันเนอรีผู้สุภาพทั้งสองนายก็ได้ลาเดินหลีกไป อาตมาภาพเดินกลับกุฏิ รุ่งเช้าไปบิณฑบาตที่ริงก์ ทอ. ตามเคย พอไปถึงหมออารมณ์ ๆ ก็บอกว่า

    “มิสเตอร์วาเร้นท์และเพื่อนยังรอหลวงพ่ออยู่ แกบอกว่าใส่บาตรถวายฮ้อทดอกหลวงพ่อแล้วจึงจะลาไป” อาตมาภาพได้ฟังแล้วก็ให้มีความอิ่มใจ พอเข้าไปยังเตียงที่ได้เตรียมไว้ให้นั่ง เห็นคนทั้งสองยืนรออยู่แล้ว พอนั่งเรียบร้อย อาตมาภาพเปิดบาตร ทั้งสองก็เอาฮ้อทดอกคนละกล่องวางลงในบาตร แล้วพนมมือพูดว่า

    “ผมนึกถึงท่านตอนรับประทานฮ้อทดอกกับกาแฟเมื่อครู่นี้ จึงรอถวายท่านเท่าที่ยังมีอยู่และจะลงเดี๋ยวนี้แหละครับ”

    อาตมาภาพได้อนุโมทนา และแสดงถึงผลของทานแม้จะน้อย แต่ได้ให้ด้วยน้ำใจยินดีและศรัทรา ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ซึ่งทั้งสองได้ยืนพนมมือรับพรด้วยใบหน้าอันผ่องใส จบแล้วก้มลงอภิวาทน์ แล้วลาออกเดินทางจากภู อาตมาภาพและสามเณรเลยถือโอกาสฉันที่นั่นเลย

    ตลอดระยะ ๖ เดือนที่ได้พำนักบำเพ็ญอยู่บนภูกระดึง ได้มีอุบาสิกาผู้เฒ่า ๒ คน คืออุบาสิกาทองดี อายุ ๖๒ ปีและอุบาสิกาเกี๋ยง อายุ ๕๔ ปี อยู่ตำบลหนองคัน บ้านนาฝ้าย ใกล้วัดชุมพล อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ได้ขึ้นมาทอดผ้าป่าที่อาตมาภาพด้วยแรงศรัทธา วันนั้นเป็นวันเสาร์ที่ ๒๕ เม.ย. ๒๕๐๗ รุ่งขึ้นวันอาทิตย์ที่ ๒๖ เป็นวันอุโบสถ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ได้ขอรับอุโบสถศีล ๘ ค้างคืนอยู่ที่กระท่อมโรงต้มน้ำ ๒ คืน รุ่งขึ้นวันจันทร์ที่ ๒๗ ลาอุโบสถแล้ว อาตมาภาพได้พาไปกินอาหารเช้าที่ริงก์ ทอ. แล้วอุบาสิกาผู้เฒ่าทั้งสองก็กราบนมัสการลาลงจากภู ในระยะนี้ พ.อ.อ. หมออารมณ์ สอนสมสุข ได้ลากลับเข้ากรุงเทพ ฯ ถัดมา จ่าอากาศเอก ณรงค์ สื่อสวน ได้ลากลับเช่นเดียวกัน ประจวบทั้งเป็นเวลาใกล้กำหนดที่อาตมาภาพจะลงจากภูเหมือนกัน ทั้งพวกป่าไม้ที่เคยใส่บาตร และดูแลอยู่เป็นประจำก็พากันลากลับ เพราะรุ่นใหม่จะเปลี่ยนมาอยู่แทน

    อาตมาภาพได้อวยพร ให้ทุกคนเดินทางโดยราบรื่นและขอให้มีชีวิตอันรุ่งเรืองทุก ๆ คน อาตมาภาพคงอยู่ต่อไปอีก จนถึงวันที่ ๒๒ พ.ค. ๒๕๐๗ เก็บของคืนป่าไม้แล้วไปฉันเช้าที่ริงก์ ทอ. ค้าง ๑ คืน เช้าวันที่ ๒๓ พ.ค. ๒๕๐๗ ฉันเช้าแล้วลา พ.อ.อ. มนูญ ฯลฯ หัวหน้าริงก์ ทอ. คนใหม่ ลงจากภูขึ้นรถบัสโดยสารที่ปากทางสามแยกบ้านสีฐานตรงไปยังขอนแก่น มีผู้ศรัทธามาส่งหลายคน อุบาสกที่ถวายค่าโดยสารไม่ทราบว่าชื่ออะไร ถึงขอนแก่นเวลาบ่าย ๔ โมงเย็น นั่งรถสามล้อถีบไปยังบ้าน คุณวีระ พิทักษินาทร ผ้ช่วยคลังจังหวัด คุณจรูญ ฯ ผู้ภริยาดีใจที่อาตมาภาพได้กลับมาพักอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้พักอยู่ ๓ คืน คุณวีระ ฯ ได้พาไปชมวัดและที่ต่าง ๆ หลายแห่ง ขณะนั้นเป็นเวลาที่จังหวัดขอนแก่นกำลังก่อสร้างปรับปรุงเมือง วันที่ ๒๗ พ.ค. ๒๕๐๗ ขึ้นรถไฟกรุงเทพ ฯ - ขอนแก่น กลับกรุงเทพ ฯ เข้าถวายรายงานตัวต่อสมเด็จพระอุปัชฌายะ วัดโพธิ์ ท่าเตียน (ขณะนั้นยังดำรงสมณศักดิ์เป็นที่สมเด็จพระวันรัตยังมิได้ทรงรับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช) พอกราบเท้านมัสการทำวัตรแล้ว คำแรกทรงต่อว่า ว่า

    “หายไปตั้งสี่เดือนกว่า ถึงได้ส่งข่าวมา ไปถึงไหน ไปทำอะไรอยู่”

    อาตมาภาพก็กราบเรียนรายงานให้ทรงทราบ ทรงตั้งพระทัยฟังด้วยพระอาการอันสงบนิ่ง จนอาตมาภาพกราบทูลจบลง (ขณะนั้นอยู่เพียงสองต่อสอง) ทรงยกหัตถ์สาธุการ มีหลายคำที่ทรงรับสั่งอย่างชื่นชม อย่างผู้ที่มองเห็นผลแห่งความหวัง
    และด้วยอานิสงส์ผลที่อาตมาภาพได้ปฏิบัติแล้วโดยเข้มงวด บากบั่นเป็นเวลาถึง ๖ เดือนนั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จอุปัชฌายะ ได้ทรงวางพระทัยมอบให้อาตมาภาพเป็นผู้อบรมพระกรรมฐานพระนวกะรุ่นปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ซึ่งมีด้วยกัน ๕๒ รูป และด้วยเหตุที่อาตมาภาพได้อบรม และให้การฝึกตามแนวทางของอาตมาภาพ ทำให้ภิกษุนวกะเหล่านั้นไม่มีวาสนาที่จะปฏิบัติตามได้ เพราะบางรูปเป็นลมไปบ้าง อาเจียนบ้าง ฯลฯ เหล่านี้จึงพากันไปกราบทูลขอร้องสมเด็จอุปัชฌายะ ที่ไม่สามารถจะทนรับการฝึกอบรมจากอาตมาภาพต่อไปได้ (การฝึกอบรมกระทำในตำหนักสมเด็จ ฯ) ดังปรากฏตามลายลิขิตของท่านเจ้าประคุณสมเด็จอุปัชฌายะได้มีถึงอาตมาภาพข้างล่างนี้

    วัดพระเชตุพน

    ๑๑ สิงหาคม ๐๗
    พระกัสสปมุนี
    ท่านรับภาระช่วยอบรมพระนวกะ นับว่าได้กระทำกิจดีมาก แต่วิชาที่สอนนั้นจะสูงเกินพื้นของพระนวกะ จะทำให้ไม่สงบสมความมุ่งหมาย เพราะเดินไม่ทันผู้สอน
    ผมได้ปรับไว้ตามแนววัดปากน้ำมาหลายวัน คิดว่าวิธีเดินคงต่างกัน และทางสูงมาก คิดว่าเหนือกว่าวัดปากน้ำ จึงขอให้งดการอบรมได้ตั้งแต่พรุ่งนี้ไป จะจัดวัดปากน้ำมาดำเนินการอบรม เพราะผมได้ถางทางไว้บ้างแล้ว ถ้ามีความจำเป็นเกิดขึ้น ก็จะขอให้ทำการอบรมต่อไปในเมื่อโอกาสอันสมควรมาถึง
    สมเด็จพระวันรัต
    อาตมาภาพ ได้เก็บรักษาลายลิขิตอันเป็นเสมือนเอกสารจารึกบนแผ่นมณีอันมีค่านี้ไว้มิได้แสดงให้ใครรู้ ตราบจนกระทั่งบัดนี้ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จอุปัชฌายะได้เสด็จดับขันธ์ไปแล้ว จึงเห็นเป็นการสมควรที่จะเปิดเผยให้ใครตลอดทั้งปวงศิษยานุศิษย์ และผู้ที่เลื่อมใส ได้มีส่วนรับทราบไว้บ้าง อาตมาภาพมิปรารถนาจะโอ้อวด จึงสงวนเก็บนิ่งมาเป็นเวลา๑๐ พรรษาเศษ แต่เพื่อแสดงให้ปวงชนผู้ใฝ่ในธรรมทั้งหลาย ได้ประจักษ์ถึงผลแห่งการปฏิบัติธรรมที่แน่แท้และบากบั่นจริงจัง ย่อมได้รับผลอย่างไร ลายลิขิตของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระอุปัชฌายะฉบับนี้ ได้แสดงหลักฐานถึงความประจักษ์แจ้งของพระองค์ท่าน ที่มีอยู่ต่ออาตมาภาพ


    ขอความสวัสดี ตลอดทั้งความผ่องใสในธรรม จงมีแก่ปวงท่านผู้สาธุกัลยาณชนทั้งหลาย ตลอดกาลนิรันดรเทอญ ฯ


    ขอบพระคุณที่มา :- http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-kassapamunee/lp-kassapamunee-hist-02-01.htm
     
  7. บุรุษไร้เงา

    บุรุษไร้เงา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มกราคม 2007
    โพสต์:
    8,428
    ค่าพลัง:
    +35,035
    องค์ที่อยู่ในคลิป อ.ยอด ที่รูปร่างท่านดูเล็กหน่อยหรือเปล่า
    ถ้าใช่ ลักษณะของพลังงานที่อยู่รอบๆกายท่าน ณ เวลานั้น
    มันฟ้องว่าเป็น สภาวะนิโรธสมาบัติเลยนะครับ...
     

แชร์หน้านี้

Loading...