อาถรรพณ์ !!! พิธีกรรมและความเชื่อ เกี่ยวกับหัวโขน

ในห้อง 'วิทยาศาสตร์ทางจิต - ลึกลับ' ตั้งกระทู้โดย mahamettayai, 1 กุมภาพันธ์ 2013.

  1. mahamettayai

    mahamettayai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2012
    โพสต์:
    1,199
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +10,670
    อาถรรพณ์ !!! พิธีกรรม
    และความเชื่อ
    เกี่ยวกับหัวโขน​


    หลายๆ ท่านคงเคยชมการแสดงนาฏศิลป์อย่างโขนกันมาบ้าง ส่วนตัวชอบดูการแสดงประเภทนี้ตั้งแต่เด็กๆ นับว่าเป็นศิลปการแสดงที่มีเสนห์ทั้งเนื้อเรื่อง ทั้งศิลปะด้านการร่ายรำและศิลปะการพากย์ องค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการแสดงโขน คือวงดนตรีปี่พาทย์ ซึ่งต้องทำเพลงหน้าพาทย์ ด้วยเพลงตามขนบของการบรรเลง


    [​IMG]

    ปัจจุบันยิ่งมีการพัฒนาเทคนิคของฉากแสดงประกอบ ทั้ง แสง สี เสียง ทำให้โขนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ก้อเลยจะขอนำเรื่องราวที่น่าสนใจและเรื่องราวความลึกลับอาถรรพณ์เกี่ยวกับหัวโขน ที่บางอย่างก็ไม่อาจจะสามารถอธิบายได้ มาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งหลายๆ ท่านอาจจะได้ยินความอาถรรพณ์กันมาบ้างแล้ว

    [​IMG]

    โขนเป็นนาฏศิลป์ที่มีธรรมเนียมการปฏิบัติในการแสดงหลายอย่าง บางอย่างก็ยังคงใช้กันอยู่ บางอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะหัวโขนซึ่งจัดเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างมากในการแสดงโขน

    เนื่องจากเป็นตัวชี้บ่งถึงบุคลิกและลักษณะนิสัยของตัวละครนั้น ๆ ช่างทำหัวโขนที่จัดอยู่ในงานช่างสิบหมู่ ต้องผ่านการไหว้ครูและครอบครูเช่นเดียวกับนาฏศิลป์ประเภทอื่น ๆ มีความเคารพครูอาจารย์ตั้งแต่เริ่มฝึกหัด ก่อนเริ่มการออกโรงแสดงในแต่ละครั้ง ต้องมีการตั้งเครื่องเซ่นไหว้บายศรีให้ครบถ้วน ในการประกอบพิธีจะต้องมีหัวโขนตั้งประดิษฐานเป็นเครื่องสักการะต่อครูบาอาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว

    พิธีกรรมบวงสรวงและไหว้ครูก่อนและหลังแสดง

    ในการปลูกโรงโขนสำหรับใช้แสดง ก่อนเริ่มก่อสร้างต้องมีการทำพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้ ขอขมาลาโทษในสิ่งต่าง ๆ ที่เคยล่วงเกิน และขออนุญาตบอกกล่าวแก่เจ้าที่เจ้าทางให้รับทราบ เพื่อเป็นการเปิดทางให้แก่ผู้แสดง ช่วยให้ทำการแสดงได้อย่างราบรื่นไม่ติดขัด รวมทั้งปกป้องคุ้มครองและปัดเสนียดรังควานต่อการแสดงให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

    เนื่องจากในการแสดงโขนนั้น หลายต่อหลายครั้งที่มีการแแข่งขันชิงชัยหรือประชันฝีมือซึ่งกันและกัน ซึ่งมีความเชื่อกันว่าฝ่ายตรงข้ามมักมีการใช้ไสยศาสตร์ กลั่นแกล้งโจมตีฝ่ายตรงข้ามให้เสียเปรียบและพ่ายแพ้ เพื่อให้ได้รับชัยชนะในการแสดง ดังนั้นก่อนเริ่มการแสดงจึงต้องมีพิธีถอนอาถรรพณ์ทุกครั้ง

    การออกโรงแสดงก็ต้องตั้งเครื่องให้ครบ ในพิธีต้องมีศีรษะโขนตั้งประดิษฐานเป็นเครื่องสักการะ ก่อนแต่งตัวก็ต้องมีการไหว้ครู เมื่อแต่งเสร็จก่อนจะสวมหัวโขนหรือชฎาก็ต้องไหว้ครู เมื่อการแสดงเลิกแล้ว ผู้แสดงทุกคนจะต้องไหว้เคารพครูอีกครั้ง แล้วเข้าหลังโรงขอขมาลาโทษซึ่งกันและกันไปตามอาวุโส เพราะอาจมีการละเมิดล่วงเกินพลาดพลั้งไปในระหว่างการแสดง

    นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามสำคัญอีกหลายประการ เช่น ห้ามนำเอาอาวุธที่ใช้ในการแสดงมาเล่นนอกเวลาแสดง ห้ามเดินข้ามอาวุธ ห้ามเล่นไม้ตะขาบ (ไม้ที่ตีเพื่อให้เกิดเสียงดังด้วยการตีเบาๆ มักใช้ในการแสดงของตัวตลก) การเก็บหรือวางเครื่องโขนทั้งเวลาแสดง และเวลาเก็บ ต้องแบ่งเป็นสัดส่วน อาวุธต่างๆ ต้องเก็บในที่เหมาะสม หัวโขนยักษ์ ลิง ก็ต้องเก็บไว้คนละด้าน โดยมีหัวพระฤาษีวางคั่นกลาง

    พิธีครอบครู

    ในการแสดงโขนละครผู้ที่ฝึกหัดจนออกแสดงได้แล้วจะต้องผ่านพิธีครอบ โดยในพิธีไหว้ครูโขน-ละครประจำปี ครูจะต้องทำพิธีครอบให้กับศิษย์ หากยังไม่ผ่านพิธีครอบก็จะไม่ออกแสดงโดยเด็ดขาด เพราะหากเกิดเหตุอะไรขึ้นถือว่าผิดครูหรือเพราะแรงครูในพิธีครอบ ครูจะนำหัวโขนหน้าพระภรตฤาษี หน้าพระพิราพ และเทริดมโนห์ราครอบให้ศิษย์

    [​IMG]

    ครูที่จะทำพิธีครอบให้ศิษย์นั้นจะต้องได้รับมอบหมายจากครูเดิมเสียก่อน และจะทำพิธีเองได้ก็ต่อเมื่อครูเดิมเสียชีวิตไปแล้ว หรือได้รับมอบหมายจากครูเดิมให้ทำครอบแทนเป็นคราวๆ ไป หากขาดตัวครูที่จะทำการครอบ หรือทำพิธีต่อหน้าพาทย์เพลงหน้าพาทย์ชั้นสูง หรือเพลงองค์พระพิราพ จะต้องมากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงเป็นประธานพระราชทานการครอบ ดังเช่นในรัชกาลปัจจุบัน

    พิธีครอบครูนี้ถือเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิ์ บริสุทธิ์และสะอาด ในขณะที่ทำพิธีครอบครู ผู้เป็นศิษย์จะต้องมีความสำรวม แสดงความเคารพ หากแสดงอาการลบหลู่ หรือไม่เชื่อถืออาจจะเป็นบ้าหรือเสียสติ ซึ่งโบราณเรียกว่า ต้องครู เพชรฉลูกัน (วิษณุกรรม) หรือผิดครู ต้องแรงครู


    ในพิธีไหว้ครูจะมีการนำหัวโขนหรือศีรษะครู ที่เป็นเสมือนตัวแทนของครูแต่ละองค์มาตั้งประกอบในพิธี การจัดตั้งหัวโขนต่าง ๆ มีหลายรูปแบบเช่น การตั้งแบบรวมกับพระพุทธรูป แบ่งเป็นแบบ 12 หน้า 10 หน้า 8 หน้า 6 หน้า 4 หน้าและ 2 หน้า นิยมจัดให้หัวโขนมีความลดหลั่นเป็นชั้น

    โดยที่ชั้นบนสุดเป็นชั้นของมหาเทพได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหม

    ชั้นสองเป็นชั้นของเทพที่มีความสำคัญต่อโลกมนุษย์และนาฏศิลป์เช่น พระอินทร์ พระวิษณุกรรม พระพิราพ

    ชั้นที่สามเป็นชั้นของหัวโขนหน้ามนุษย์ หน้าลิง และมีศาสตราวุธและเครื่องประดับศีรษะที่ใช้ในการแสดงวางอยู่ตรงกลาง

    และชั้นสุดท้ายเป็นชั้นของหัวโขนหน้ายักษ์ ผู้แสดงทุกคนก่อนแต่งตัวตามตัวละครก็ต้องมีการไหว้ครู

    ภายหลังจากแต่งกายเสร็จแล้ว ก่อนจะทำการสวมหัวโขนหน้ายักษ์ หน้าลิง มงกุฎหรือชฎา ก็จะต้องมีการทำพิธีครอบหัวโขนและไหว้ครูเพื่อแสดงความเคารพ


    การเจาะตาและแก้ไขตาหัวโขน

    โดยปกติเมื่อช่างทำหัวโขนเสร็จแล้ว ช่างจะเจาะตาหัวโขนให้ ซึ่งหากเป็นหัวโขนที่ทำเฉพาะตัวผู้แสดง ช่างผู้สร้างหัวโขนจะมีวิธีการวัดและเจาะตาให้พอดี สามารถมองเห็นได้ชัดเจน แต่ถ้าเป็นหัวโขนที่ใช้ทั่วๆ ไป ช่างอาจจะเจาะตาไว้อย่างกลาง

    ซึ่งเวลาผู้แสดงนำมาสวมใส่อาจจะมองเห็นไม่ถนัด แต่โบราณถือกันว่าห้ามผู้แสดงเจาะหรือแก้ไขตาโขน เพราะอาจเกิดภัยพิบัติทำให้ตาบอดได้ เนื่องจากผ่านพิธีเบิกเนตรมาแล้ว ต้องให้ช่างที่ทำหัวโขนเป็นผู้เจาะแก้ไข


    [​IMG]


    ความเชื่อถือนี้อาจจะเป็นเพราะว่า หัวโขนส่วนใหญ่ช่างจะใช้เปลือกหอยมุกมาตกแต่งทำเป็นรูปตาของหัวโขน หากผู้แสดงเจาะตาเองอาจจะทำให้หัวโขนเกิดความเสียหายได้ จึงมีข้อห้ามไว้เพื่อให้ช่างผู้ชำนาญเป็นคนทำเอง และหากมีแมลงสาบมาแทะหรือกัดกินสีของหัวโขน โดยเฉพาะส่วนที่เป็นตาของหัวโขน โบราณเรียกว่าต้องธรณีสาร ห้ามนำหัวโขนนั้นไปใช้สวมใส่แสดง ต้องรีบทำน้ำมนต์ธรณีสารมาประพรมแก้อุบาทว์ แล้วนำหัวโขนนั้นไปให้ช่างซ่อมแซมโดยด่วน

    การเก็บหรือการตั้งหัวโขน

    ทั้งในเวลาแสดงและเวลาเก็บรักษาในคลังเก็บเครื่องโขน นิยมแบ่งเก็บเป็นพวกเป็นส่วนสัดไว้ในที่ที่สมควร ไม่ทิ้งเรี่ยราด หัวโขนหน้ายักษ์ หน้าลิง จะต้องเก็บไว้คนละด้านไม่ให้ปะปนกัน มีหัวโขนหน้าฤาษีคั่นระหว่างกลาง

    เคยมีเรื่องประหลาดเกิดขึ้นที่วังจันทรเกษมอันเป็นที่ตั้งกรมมหรสพเดิม ในรัชกาลที่ ๖ และเป็นบริเวณกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบันนี้ ในห้องคลังเครื่องโขนมีตู้กระจกเป็นที่เก็บหัวโขนแบ่งเป็นสองฝ่ายตามแบบอย่าง

    คราวหนึ่งมีผู้อุตริยกหัวโขนหน้าพระฤาษีซึ่งคั่นระหว่างหัวโขนฝ่ายยักษ์กับฝ่ายลิงไปไว้ที่อื่น จะด้วยความเจตนาหรือความหลงลืมก็ไม่อาจทราบ วันรุ่งขึ้นปรากฏว่าบานกระจกตู้เก็บหัวโขนแตกละเอียดเกือบหมด หัวโขนบางตัวตกลงมาฉีกขาด กระจัดกระจายบุบสลาย จอนหูหัก เขี้ยวยักษ์หลุด แต่โดยมากจะเป็นหน้าเสนายักษ์กับหน้าลิงสิบแปดมงกุฎ และส่วนมากหัวโขนหน้ายักษ์จะชำรุดมากกว่าหัวโขนหน้าลิง


    นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามอีกข้อหนึ่ง คือ ห้ามไม่ให้นำหัวโขนตลอดจนเครื่องแต่งตัวโขนมาเก็บรักษาไว้ที่บ้าน ต้องพาไปฝากไว้ที่วัด เพราะถือว่าเป็นของร้อน ห้ามแม้กระทั่งรูปวาดของตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์นำมาไว้ในบ้าน

    แต่ปัจจุบันนี้ข้อห้ามเหล่านี้ก็ไม่หลงเหลืออยู่แล้ว เพราะทั้งช่างผู้ประดิษฐ์หัวโขนก็สร้างหัวโขนเก็บไว้ที่บ้าน การทำจำหน่ายก็แพร่หลาย นักแสดงต่างๆ ก็นิยมเก็บเครื่องแต่งกายไว้ที่บ้านเพื่อความสะดวก ฉะนั้นการเก็บหัวโขนไว้ที่บ้าน ถ้าผู้เก็บรู้จักที่จะเก็บไว้ที่เหมาะสม และผู้ที่เป็นเจ้าของรู้จักปฏิบัติให้ดีก็ให้คุณมากกว่าโทษ


    เรื่องจาก ประเพณีและความเชื่อของหัวโขน
    และ http://dusithost.dusit.ac.th/~u52116940107/kon/index11.html
    ภาพประกอบจาก arthousegroups.com
    และhttp://dusithost.dusit.ac.th/~u52116940107/kon/index11.html
    และอีกหลายๆ เว็บไซต์
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

แชร์หน้านี้

Loading...