เจริญสติอย่างคนช่างฝัน

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย ^Lily^, 20 ตุลาคม 2008.

  1. ^Lily^

    ^Lily^ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 ตุลาคม 2008
    โพสต์:
    168
    ค่าพลัง:
    +110
    เจริญสติอย่างคนช่างฝัน

    กรณีเฉพาะตนของ – คาวา
    อาชีพ – เภสัชกร
    ลักษณะงานที่ทำ – ต้องร่วมมือกับแพทย์เพื่อให้คนไข้ใช้ยาอย่างเหมาะกับสภาพความเจ็บป่วย ตลอดจนได้รับความปลอดภัยสูงสุด สิ่งที่ต้องทำเป็นประจำคือการพูดคุยทั้งกับแพทย์และผู้ป่วย ความจริงดิฉันเป็นคนชอบพูดคุยกับใครต่อใครนะคะ แต่ลักษณะงานที่ทำอยู่บางครั้งก็ซ้ำซากน่าเบื่อ เช่นต้องพูดให้คนป่วยเข้าใจว่าการใช้ยาอย่างสม่ำเสมอมีความสำคัญอย่างไรกับการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บของพวกเขา บางครั้งดิฉันอาจได้ตื่นเต้นเล็กน้อย เมื่อเจอกรณีที่ต้องวิ่งลงมาหาข้อมูลยาซึ่งต้องใช้ด่วน และหากช่วงไหนไม่ขี้เกียจนัก ก็จะเปิดหนังสือวิชาการหาความรู้ใหม่ๆเพิ่มเติมอยู่เสมอ งานอดิเรกที่ชอบทำยามว่างคืออ่านกับเขียนนิยายค่ะ

    คำถามแรก – ที่ผ่านมาถ้าเป็นช่วงกลางวันที่ต้องทำงานจะไม่ค่อยมีสติเท่าไร จะเกิดความรู้สึกตัวเล็กน้อยแบบเลือนรางก็ต่อเมื่อมีอะไรมากระทบแรงๆเท่านั้น เครื่องอยู่ของสติคือการบริกรรม ‘พุทโธ’ ในใจและสวดมนต์ตอนเช้า จะพอตามอาการกระเพื่อมไหวของจิตได้บ้างถ้าทำสมาธิได้นิ่งๆแล้วมาเจออะไรกระทบหูกระทบตา อยากถามว่าต้องปรับปรุงอย่างไรสติถึงจะเกิดขึ้นบ่อยกว่านี้คะ?

    งานพูดคุยไม่ว่าอาชีพไหนสาขาใด ถ้าขาดสติก็เบลอยาวแน่ๆครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทจำเป็นต้องคุยเกี่ยวกับเรื่องซ้ำซากน่าเบื่อ หรือไม่เร้าใจมากพอ บีบให้คุณอยากหนีไปคิดเรื่องอื่นแทน
    ถ้าต้องทำงานด้วยความจำใจ นานๆเข้าจิตจะปรุงแต่งวิธีทำงานขึ้นมาแบบหนึ่ง คือตั้งสติไว้แค่ครึ่งเดียวเพื่อจัดการงาน แต่อีกครึ่งหนึ่งของสติจะหายไปฝากไว้ที่อื่น เช่น อาจแวบไปคิดถึงคนที่ผูกใจอยู่ หรืออาจหลบหายไปในมิติมืด ไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย นี่เป็นไปตามธรรมชาติของจิตครับ ถ้างานไม่น่าสนใจพอจะดึงดูดจิตให้ติดทน จิตจะดิ้นรนแวบหนีงานหรือหลบงานในรูปของความเหม่อลอย สติขาดหาย
    เมื่องานส่วนใหญ่ต้องเกี่ยวข้องกับการพูดคุย โจทย์ก็ต้องเป็นว่าทำอย่างไรจะใช้การสนทนาให้เป็นโอกาสแห่งการเจริญสติ ไม่เปิดโอกาสให้จิตคอยแวบหนีไปสู่ภวังค์เหม่อ

    คำตอบจากหลักการเจริญสติของพระพุทธเจ้า คือคุณต้องพึ่งพา ‘อิริยาบถปัจจุบัน’ เป็นหลัก หมายความว่า ก่อนเริ่มเจรจาใดๆ ให้ปรับสติเข้ากับอิริยาบถปัจจุบัน เช่น รู้สึกถึงท่านั่งแล้วค่อยพูดออกมาจากความรู้สึกตัวนั้น ไม่ใช่เจอหน้าคู่สนทนาแล้วพูดเลยเหมือนอย่างที่เคยชิน จากนั้นพอถึงจังหวะหยุดพูด จึงค่อยสังเกตอีกทีว่าคุณยังระลึกถึงอิริยาบถปัจจุบันได้ไหม หากหยุดพูดแล้วกลับมารู้สึกถึงอิริยาบถได้เอง ไม่ต้องใช้ความพยายาม ให้นับว่าคุณเป็นผู้มีสติในการพูดตามหลักการเจริญสติของพระพุทธเจ้า เพราะท่านให้รู้อิริยาบถหลักเพื่อต่อยอดเป็นการทราบความเคลื่อนไหวรองๆลงมา แต่หากพูดจบแล้วเบลอๆ เนื้อตัวหายและใจลอย หรือไม่ก็จับจ้องตั้งใจรอฟังคู่สนทนามากเกินจำเป็น อย่างนี้แม้ ‘มีสติในเรื่องที่พูด’ แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้ ‘มีสติรู้สึกตัวในการพูด’

    นอกจากยามพูดคุยแล้ว ยังมีจุดอื่นๆของงานที่เป็นโอกาสฝึกสติได้อีก อย่างเช่นจังหวะที่คุณหาข้อมูลยาด่วนซึ่งดูเผินๆเหมือนตื่นตัวดี แต่สังเกตดูจะพบว่านั่นก็เป็นอีกช่องให้ขาดสติ เพราะเป็นการตื่นตัวแบบที่สติหายออกไปข้างนอกหมด ไม่ใช่ตื่นรู้แบบที่ยังอยู่กับเนื้อกับตัวแต่อย่างใด

    ที่คุณเล่าว่าต้องลงจากชั้นบนลงมา นั่นก็นับเป็นโอกาสเริ่มฝึกสติได้แล้วครับ เพราะอย่างไรก็ยังหาข้อมูลยาระหว่างเดินทางไม่ได้อยู่ดี แทนที่จะวิ่งหรือเดินเร็วแบบทิ้งเปล่า ให้สังเกตใจตัวเองว่าตอนรีบจะไปไหนนั้น เหมือนใจจะพุ่งล้ำหน้าไปถึงที่หมายก่อนกายแล้ว เพราะกายไม่เคยเร็วทันใจเอาเลย
    เมื่อใจพุ่งล้ำหน้ากายไปมากๆ กายย่อมถูกทิ้งไว้ข้างหลังเหมือนหายไปอยู่อีกมิติหนึ่ง คุณควรดึงใจกลับมาอยู่กับกาย โดยใส่ใจกายที่กำลังปรากฏอยู่ตามจริง และสิ่งที่เห็นได้ง่ายที่สุดของกายในขณะวิ่งหรือเดินเร็ว ก็คือฝ่าเท้ากระทบพื้น
    รู้ฝ่าเท้ากระทบอย่างเดียวนะครับ อย่าไปรู้อย่างอื่น อย่าไปคิดพิจารณาให้เป็นธรรมะใดๆทั้งสิ้น การทำความรู้สึกถึงสัมผัสระหว่างฝ่าเท้ากับพื้น ก็คือหลักการเดินจงกรมเบื้องต้นนั่นเอง เพียงแต่นี่ไม่ใช่การเดินจงกรมตามรูปแบบ ทว่าเป็นการเดินเหินตามปกติในชีวิตประจำวัน เพิ่มขึ้นมาหน่อยเดียวแค่ ‘รู้กระทบ’ เท่านั้น ในที่สุดคุณจะถึงที่หมายด้วยคุณภาพจิตที่ต่างจากเคย พร้อมจะหาข้อมูลต่ออย่างใจเย็น และสามารถเก็บรายละเอียดข้อมูลได้ดีกว่าตอนตื่นเต้นเยอะ

    หลังจากมีสติในการพูดคุยและการรีบหาข้อมูลได้สักระยะหนึ่ง คุณจะพบว่าไม่น่าอัศจรรย์ใจเลยที่สติดีขึ้นผิดหูผิดตา ราวกับหลุดออกมาจาก ‘เมืองในหมอก’ และตรงนี้คุณจะย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับการบริกรรมพุทโธกับสวดมนต์ได้ว่าแตกต่างกันอย่างไร การบริกรรมพุทโธช่วยกักจิตของคุณไว้กับคำๆหนึ่งตายตัว เพื่อไม่ให้จิตแส่ส่ายสุ่มคำขึ้นมาเอง และเมื่อจิตไม่แส่ส่าย ก็ย่อมสงบสุขขึ้นมาชั่วขณะสั้น แต่แค่คำบริกรรมพุทโธจะไม่ช่วยดึงคุณออกจากเมืองในหมอกได้เลย เพราะไม่ได้ช่วยกำจัดต้นเหตุของเมฆหมอกแต่อย่างใด

    อีกข้อสังเกตหนึ่ง งานอดิเรกเช่นการอ่านและเขียนนิยายนั้น อาจมีส่วนให้เหม่อลอย เพราะติดใจ ‘ภาวะหลุดจากโลกความจริง’ ไปสู่จินตนาการอันไร้ข้อจำกัด ไร้ภาระรับผิดชอบ จะเอาความสนุกแค่ไหนก็ได้
    คุณไม่จำเป็นต้องสละงานอดิเรกทิ้ง แต่ควรแทรก ‘เรื่องจริงที่ให้แง่คิด’ ไว้บ่อยๆด้วย เมื่อเขียนมากแล้วก็จะช่วยให้สังเกตโลก สังเกตผู้คน และสังเกตความจริงตรงหน้าละเอียดลออขึ้นกว่าเดิม ซึ่งผลพวงก็คือลดอาการเหม่อได้มากครับ

    ที่มา:http://dungtrin.com/mag/?42.byself
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 20 ตุลาคม 2008

แชร์หน้านี้

Loading...