เทคนิคการสนทนาที่ดี (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย วิญญาณนิพพาน, 26 ตุลาคม 2016.

  1. วิญญาณนิพพาน

    วิญญาณนิพพาน ทีมงานอาสาฯ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 เมษายน 2008
    โพสต์:
    22,309
    กระทู้เรื่องเด่น:
    51
    ค่าพลัง:
    +21,002
    อันความทุกข์ความเดือดร้อนใจ
    ใคร ๆ ก็ไม่ค่อยชอบ ไม่ค่อยต้องการ
    แต่ว่าพอเผลอ ความทุกข์ก็เกิดขึ้นในตัวเราได้
    ที่ความทุกข์เกิดขึ้นได้ ก็เพราะความประมาท เผลอไป
    ไม่ได้ใช้ปัญญาคิดนึกตรึกตรองในเรื่องนั้น

    มองอะไรก็มองแต่เพียงแง่เดียว
    ไม่มองไปในแง่ที่ว่า มันเป็นความจริงอย่างไร
    คุณ โทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ ของสิ่งนั้นเป็นอย่างไร
    เรามองไม่ชัดเจนตามที่เป็นจริง
    เมื่อมองเห็นอะไร ๆ ไม่ชัดเจนตามที่มันเป็นจริง
    ก็เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนในใจได้

    เพราะฉะนั้น ในทางพระพุทธศาสนา จึงมีหลักคำสอนว่า
    จงมองทุกสิ่งทุกอย่างตามที่มันเป็นจริง
    ท่านใช้ศัพท์เทคนิคในทางธรรมะว่า “ยถาภูตญาณทัสสนะ”
    คำว่า “ยถาภูตญาณทัสสนะ” ถ้าแปลก็หมายความว่า
    “เห็นอะไร ๆ ทุกอย่างตามที่มันเป็นจริง ๆ”

    ความจริงของสิ่งนั้นมันเป็นอย่างไร เราก็มองให้เห็นชัดในสิ่งนั้น
    ในขณะใดที่เรามองเห็นสิ่งนั้นชัดแจ้งตาม ที่มันเป็นจริง
    ความหลงไม่มี ความยึดถือในสิ่งนั้นก็ไม่มี
    ใจเราก็ว่างจากความยึดถือ เมื่อใจว่างจากความยึดถือ
    เราก็มีความสงบใจ

    เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านจึงสอนเราให้หัดมองอะไรทุกอย่าง
    ที่ผ่านเข้ามาในวิถีชีวิตของเราให้รู้ชัดเห็นชัดตามที่เป็นจริงอยู่ตลอดเวลา
    อันการที่เราจะมองอะไรให้เห็นชัดนั้น ก็ต้องศึกษาให้รู้ธรรมะ
    เพื่อเอามาใช้เป็นแว่นประกอบการมอง ประกอบการพิจารณาในสิ่งนั้น ๆ
    จะได้รู้เข้าใจชัดเจนขึ้น เราจึงต้องมาวัดฟังธรรมบ้าง
    อ่านหนังสือทางศาสนาบ้าง สนทนาแลกเปลี่ยนความ
    คิดความเห็นในด้านธรรมะกับผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจบ้าง

    แต่ว่าในเรื่องการสนทนากันนั้น อยากจะแนะนำไว้อันหนึ่ง
    คืออย่าสนทนากันด้วยความยึดติดในทิฏฐิ ความคิดความเห็นของตน
    คนเราเวลาที่สนทนาอะไรกันมักจะโต้เถียงกันหน้าดำหน้าแดง
    การเถียงกันในรูปอย่างนั้นเป็นการพูดธรรมะที่ไม่เป็นธรรมะ
    แต่ว่าเอาตัวของตัวเข้าไปพูด
    ตัวของตัวก็เป็นตัวแห่งความยึดความติดในทิฏฐิอะไรบางสิ่งบางประการ
    สำคัญว่าเรื่องของตัวนั้นเป็นเรื่องถูก เรื่องของผู้อื่นเป็นความผิด
    ทีนี้เมื่อไปคุยกับใคร ถ้าเขาพูดอะไรไม่ตรงกับความคิดความเห็นของตัว
    ก็คัดค้านสิ่งนั้นไปหมด อย่างนี้ก็ไม่เกิดปัญญา

    พระพุทธเจ้าของเราท่านแนะนำในเรื่องนี้อย่างไร
    ท่านบอกว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอได้ฟังใครก็ตาม
    พูดอะไรๆ ที่เกี่ยวกับธรรมะ เกี่ยวกับข้อปฏิบัติ
    เธออย่าคัดค้าน อย่ายอมรับในเรื่องนั้น”

    ท่านให้หลักไว้ ๒ ประการ คือ อย่าคัดค้าน แล้วก็อย่ายอมรับทันที
    ให้เธอฟังไว้แล้วเอาไปพิจารณาด้วยปัญญาของเธอ
    เปรียบเทียบกับสิ่งที่เราเคยรู้เคยเข้าใจถ้าสิ่งนั้นมันเข้ากันได้กับเรื่อง
    ที่เคยเรียนเคยศึกษา ก็ยอมรับสิ่งนั้นได้ แต่ถ้าหากว่าเอาไปคิดไปตรอง
    ด้วยอุบายที่แยบคายแล้ว แต่มันเข้ากันไม่ได้กับอะไร ๆ
    หลาย ๆ อย่างหลายประการ เราก็ไม่ไปยึดในความคิดความเห็นนั้น

    การสนทนากันในแง่อย่างนี้ ไม่มีเรื่องทะเลาะกับใคร
    ไม่มีการที่จะเถียงอะไร ๆ กันให้เป็นความวุ่นวาย
    เพราะเรารับฟัง ใครพูดอะไร ๆ เราก็ฟังด้วยใจเย็น
    ถ้าจะพูดคัดค้านหรือท้วงติง ก็พูดด้วยใจเย็น ๆ ไม่พูดด้วยอารมณ์ร้อน

    อันการพูดเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าเราพูดด้วยอารมณ์ร้อนมักจะเสียเปรียบ
    แต่ถ้าพูดด้วยอารมณ์เย็นๆ มักจะได้เปรียบ
    เพราะปัญญามันไม่เกิดเมื่อไฟกำลังลุกอยู่ในใจ
    แต่ปัญญาจะเกิดเมื่อใจสงบ
    เพราะฉะนั้น บุคคลใดที่ทำอะไร ด้วยใจที่ร้อน มักจะเสียหาย
    แต่ถ้าทำอะไร ๆ ด้วยใจที่เย็น ความทุกข์ความเดือดร้อนจะไม่เกิดขึ้น
    อันนี้มันก็ต้องฝึกฝนเหมือนกัน
    เมื่อจะไปพูดอะไรกับใคร หรือจะต้องสนทนาพาทีในเรื่องใด
    ก็ต้องเตือนตัวเองไว้ก่อนว่า เย็น ๆ อย่าร้อน
    อย่าพูดด้วยอารมณ์ แต่พูดด้วยเหตุผล

    สิ่งใดไม่ควร พูดก็อย่าไปพูด สิ่งใดที่ควรพูดจึงพูด
    แล้วเรื่องที่ควรพูดก็เหมือนกัน ต้องดูเวลา ต้องดูบุคคล ต้องดูสถานที่
    ต้องดูเหตุการณ์ ว่าถ้าเราพูดออกไปแล้ว มันจะขัดกับอะไรบ้าง
    เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังหรือไม่เป็นประโยชน์แก่เราผู้พูดหรือไม่
    ถ้าหากว่าเราพูดออกไปแล้วไม่ได้เรื่อง คือไม่ให้ประโยชน์แก่ผู้ฟัง
    เราเองผู้พูดก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เป็นการพูดออกไปเพื่อจะแสดงว่า
    เรารู้ในเรื่องนั้น เป็นการพูดเพื่ออวดตัว อวดกิเลส
    อันมีอยู่ในใจของตัวให้คนอื่นรู้ว่าตัวมีกิเลสเท่านั้น
    การพูดในรูปเช่นนั้นไม่ได้สาระอะไร

    แต่ถ้าหากว่าพูดด้วย ปัญญา เราก็พิจารณาเสียก่อนว่า
    เรื่องที่จะพูดออกไปนั้น เป็นเรื่องจริงเรื่องดีมีประโยชน์
    เหมาะแก่เวลา แก่บุคคล แก่เหตุการณ์ สถานที่ที่เราจะพูดหรือไม่
    ถ้าได้คิดทบทวนไตร่ตรองอย่างนี้แล้ว
    ผู้นั้นจะเป็นผู้พูดแต่เรื่องดีมีประโยชน์ ปากของคนนั้นจะไม่เสีย
    แล้วใครๆก็ไม่ติไม่ว่าบุคคลนั้นในเรื่องเกี่ยวกับการพูดเป็นอันขาด
    อันนี้เป็นเรื่องสำคัญอยู่

    เพราะว่าคนเราอยู่ในสังคมนี่มันตัองพบปะกัน มีการสนทนากัน
    ในเรื่องอะไรต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา
    จึงต้องใช้หลักธรรมะเข้าไปเป็นเครื่องประกอบ ให้การพูดจาวิสาสะ
    ได้เป็นไปในทางที่ถูกที่ชอบตามกฎเกณฑ์ และตามหลักพระพุทธศาสนา
    อันนี้เป็นเรื่องที่อยากจะขอฝากญาติโยมทั้งหลาย
    ได้นำไปใช้ในการปฏิบัติในกิจในชีวิตประจำวัน ประการหนึ่ง

    (เรียบเรียงจากส่วนหนึ่งของปาฐกถาธรรม วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕)

    (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 107 ตุลาคม 2552
    โดยพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี)

    http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9520000115924

    http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=27629
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 26 ตุลาคม 2016

แชร์หน้านี้

Loading...