เรื่องเด่น เพราะเหตุไรจึงไม่เชื่อเรื่องกรรม

ในห้อง 'กฎแห่งกรรม - ภพภูมิ' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 27 กรกฎาคม 2017.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    สมเด็จพระญาณสังวร-กรรม.png

    ในจิตใจที่มีสามัญสำนึกของทุกๆ คน ย่อมมีความรู้สึกว่ามีความดีความชั่ว มีผลของความดีความชั่ว และผู้ทำนั้นเองเป็นผู้มีความดีความชั่วติดตัวอยู่ เพราะใครทำกรรมอันใด กรรมนั้นย่อมจารึกอยู่ในจิตใจ และผู้ทำนั้นเองต้องเป็นผู้รับผล คือ รับผิดชอบต่อการกระทำของตน ความพิสดารในเรื่องนี้ได้แสดงแล้ว แต่การที่คนไม่น้อยยังไม่มีความเชื่อตั้งมั่นลงไปในกรรมตามหลักที่กล่าว ซึ่งรวบรัดโดยย่อว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ก็เพราะเหตุ ๒ ประการ คือ

    ๑. ความลำเอียงเข้ากับตนเอง หรือถือเอาแต่ใจตน
    ๒. ไม่เห็นผลสนองที่สาสมทันตาทันใจ

    ความลำเอียงเข้ากับตนเองนั้น คือ มุ่งประโยชน์ตน หรือมุ่งจะได้เพื่อตนเท่านั้น ไม่คำนึงถึงความเสียหายทุกข์ยากของผู้อื่น ดังเช่นเมื่อโกรธขึ้นมาก็ทำร้ายเขา เมื่ออยากได้ขึ้นมา ก็ลักของเขา เมื่อทำได้สำเร็จดังนี้ ก็มีความยินดีและอาจเข้าใจว่าทำดี แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่อยากให้ใครมาทำร้ายตัวเรามาลักของเรา ถ้าใครมาทำเข้าเราก็ต้องว่าเขาไม่ดี ถึงเราจะไปยั่วให้เขาโกรธ เมื่อเขาโกรธขึ้นมาทำร้ายร่างกายเราเรา ก็ยังว่าเขาไม่ดีอยู่นั้นเอง การกระทำอย่างเดียวกันจะดีบ้างไม่ดีบ้าง
    อย่างไรได้ เหมือนอย่างการทำร้ายร่างกาย การลักทรัพย์ เมื่อเราทำแก่เขาได้ก็เป็นดี แต่ถ้าเขาทำแก่เราเป็นไม่ดี จะเป็นดังนี้ หาถูกต้องไม่ เพราะเป็นการที่เราพูดเอาเองอย่างไม่ยุติธรรม

    แต่การลำเอียงเข้ากับตนเอง ข้อนี้แหละเป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้คนเป็นอันมากยังประกอบกรรมชั่ว เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง หรือประโยชน์แก่ผู้อื่นที่เกี่ยวข้องกับตน

    ถึงจะมีกรรมศรัทธาอยู่อย่างผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนามีอยู่ทั่วๆไปก็ตาม เมื่อความมุ่งจะได้ (โลภะ) ความโกรธแค้นขัดเคือง (โทสะ) ความหลงผิด (โมหะ) มีกำลังแรงกล้ากว่ากำลังศรัทธาคนก็ประกอบกรรมที่ชั่วได้ สุดแต่ใจที่อยากได้ที่โกรธ ที่หลง จะฉุดชักนำไป ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะไม่มีความรู้สึกสำนึกในความดีชั่ว ก็มีความรู้สึกสำนึกรู้เหมือนกัน แต่ไม่มีกำลังใจในฝ่ายสูงที่จะห้ามกำลังใจในฝ่ายต่ำ จึงยับยั้งตนเองไว้ไม่ได้ มีคนเป็นอันมาก เมื่อทำไปแล้วเกิดเสียใจในภายหลัง ดังเช่นเมื่อทำอะไรลงไปในขณะที่อยากได้ หรือรักชอบอย่างจัด ในขณะที่โกรธจัด ในขณะที่หลงจัด อย่างที่เรียกว่าหลงอย่างไม่ลืมหูลืมตา หรือในขณะที่กำลังเมาสุราอันเรียกได้ว่าหลงเหมือนกันครั้นเมื่อสร่างรัก สร่างชัง สร่างหลง สร่างเมาแล้ว ก็กลับเสียใจในกรรมที่ตนได้ประกอบแล้ว

    ในขณะที่ใจวิปริตเช่นนั้น บางทีทำให้เป็นรอยแผลจารึกอยู่ในจิตใจ คอยสะกิดใจให้เจ็บช้ำเดือดร้อนอยู่ตลอดเวลานาน และทำให้เกิดความเกลียดตนเอง หรือรังเกียจตนเอง จนถึงต้องหลบหน้าเพื่อนฝูงมิตรสหายไปก็มี แต่ถึงจะหลบหน้าคนอื่นเป็นส่วนมากได้ แต่หลบตนเองไม่พ้น เมื่อเกิดความเกลียดหรือรังเกียจตนเองมากขึ้น จนไม่สามารถจะทนอยู่ในโลกได้ ต้องพยายามทำลายตนเองไปก็มี ฉะนั้น เมื่อเกิดแผลในใจขึ้นก็มักเป็นชนิดโลกเรื้อรังที่รักษาหายอยาก สู้ป้องกันไม่
    ให้มีขึ้นไว้ก่อนไม่ได้ ทั้งนี้ด้วยวิธีปลูกกรรมศรัทธา คือความเชื่อกรรมนี้แหละ ให้ตั้งมั่นขึ้นในใจ ให้มีเป็นกำลังใจจนพอที่จะเชื่อใจได้ว่าจะไม่ประกอบกรรมที่ชั่วที่ผิดอะไรๆ ถ้ายังคลางแคลงสงสัย ไม่เชื่อใจตนเองว่าจะยับยั้งใจไว้ได้ ก็ต้องเว้นจากสิ่งยั่วยุเย้าแหย่ต่างๆ ฉะนั้น ทางบิดามารดาหรือผู้ปกครอง และทางโรงเรียนจึงได้ค่อยแนะนำสั่งสอนห้ามปราม ไม่ให้อ่านหนังสือ
    บางชนิด ไม่ให้ดูภาพยนตร์บางชนิด ที่เป็นเครื่องยุแหย่ยั่วเย้าให้ประพฤติผิดศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดี คำแนะนำห้ามปรามนั้น ก็สมควรที่จะเชื่อฟังและปฏิบัติตาม เป็นการป้องกัน
    ตัวเราเองไว้ตั้งแต่เบื้องต้น

    ท่านผู้ใหญ่ที่กรุณาให้คำแนะนำตักเตือนก็ดี พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมสั่งสอนก็ดี ท่านก็ได้แต่เป็นเพียงผู้บอกกล่าวแนะนำ ส่วนความเชื่อฟังเป็นหน้าที่ของเราเอง เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่ในใจของเรา ถ้าใจของเราเกิดดื้อดึงขัดแย้งไม่เชื่อฟังเสียแล้ว คำแนะนำตักเตือนต่างๆ ก็ไม่มีประโยชน์ หรือมีประโยชน์น้อยมาก ฉะนั้น จึงควรที่จะคอยตรวจดูใจของเราเองว่า มีความเชื่อฟังต่อคำแนะนำสั่งสอนอยู่เพียงไร มีความดื้อดึงขัดแย้งอยู่เพียงไร และคิดต่อไปว่าเพราะเหตุไร เมื่อหมั่นคิดอยู่ดังนี้แล้ว จะเห็นผลเทียบเคียงได้เอง หรือถ้ายังไม่เห็นได้เองก็ต้องซักถาม และท่านผู้แนะนำอบรมก็มักจะชี้แจ้งให้รู้ให้เข้าใจ ถ้าคิดตั้งใจฟังคำชี้แจงของท่าน ไม่ตั้งป้อมดื้อดึงเสียก่อนแล้ว ก็คงจะได้ความกระจ่างในคำแนะนำของท่าน และจะได้ความซาบซึ้งในเมตตากรุณาของท่าน

    การหัดมีความเชื่อฟังอย่างมีเหตุผลนี้ เป็นวิธีแก้ความลำเอียงเข้ากับตนเอง ที่เป็นเหตุให้ทำอะไรตามใจตนเองโดยส่วนเดียว ผู้ใหญ่ที่ดีจึงไม่ต้องตามใจเด็กในทางที่ผิด คอยแนะนำห้ามปรามหรือแม้ต้องปราบเอาบ้างตามสมควร เป็นการหัดไม่ให้ลำเอียงเข้ากับตนเองหรือถือเอาแต่ใจตนเองมาตั้งแต่อ่อน เข้าในคำว่า ดัดไม้ตั้งแต่อ่อน เพราะดัดเมื่อแก่นั้น เป็นการดัดยาก เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นการสั่งสอนให้เป็นคนรู้ผิดรู้ถูก อย่างมีเหตุผลในเรื่องที่เกี่ยวข้องทุกๆ วัน ทำให้รู้จักเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ เชื่อว่ามีถูกมีผิด มีเหตุผล ซึ่งเมื่อเป็นความผิดแล้ว ตัวเราเองทำก็ผิด คนอื่นทำก็ผิด เมื่อเป็นความถูกแล้ว ตัวเราเองทำก็ถูก คนอื่นทำก็ถูก ข้อนี้แหละเป็นกรรมศรัทธาที่
    ผู้ใหญ่สมควรปลูกฝังให้แก่เด็กมาตั้งแต่ต้น และผู้ใหญ่ก็ควรเว้นจากการกระทำสิ่งที่ไม่เหมาะไม่งามให้เด็กเห็น และอ้างได้ว่า ทำไมผู้ใหญ่ทำได้ เช่น ห้ามไม่ให้เด็กเล่นการพนันเที่ยวเตร่ แต่
    ผู้ใหญ่เล่นการพนันเที่ยวเตร่ ห้ามไม่ให้เด็กทะเลาะวิวาทกันแต่ผู้ใหญ่เมาสุราทะเลาะวิวาทกัน เหล่านี้เป็นต้น เมื่อทำให้เห็นเป็นตัวอย่างไม่ดี ก็ทำให้เด็กอยากเอาอย่าง ทำให้น้ำหนักในคำ
    อบรมห้ามปรามน้อยลงไป จนเกือบจะไม่มีความหมายอะไรและจะเข้าทำนองที่ว่า จงทำตามคำที่ฉันพูด แต่อย่าประพฤติอย่างที่ฉันทำ

    ไม่เห็นผลสนองที่สาสมทันตาทันใจ
    โดยมากต้องการเห็นผลของกรรมเกิดสนองให้เห็นอย่างสาสมทันตาทันใจ เช่น เมื่อทำกรรมดี ก็อยากเห็นกรรมดีให้ผลเป็นรางวัลอย่างมากมายทันตาทันใจ เมื่อเห็นหรือทราบว่าใครทำกรรมชั่วและไม่เห็นว่าเขาเสื่อมเสียอย่างไร หรือกลับเจริญรุ่งเรือง ก็สงสัยว่าทำชั่วไม่ได้ชั่วจริงกระมัง

    อันที่จริงทำดีต้องให้ผลดี กรรมชั่วต้องให้ผลชั่วตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อย่างไม่ผิดโดยแน่นอน และผลที่สนองนั้นจะเรียกว่าเป็นผลที่สาสมก็ได้
    ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นตัวอย่างในพระสูตรหนึ่งว่า กรรมย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลาย (หมายถึงทั้งคนทั้งดิรัจฉาน เป็นต้น ที่เกี่ยวข้องอยู่ในโลกทั้งหมด) ให้เลวและดีต่างๆ กัน คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทำให้มีอายุสั้น การเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทำให้มีอายุยืน การเบียดเบียนเขาให้ลำบาก ทำให้มีโรคมาก การไม่เบียดเบียนเขาให้ลำบาก ทำให้มีโรคน้อย ความมักโกรธหุนหันขึ้งเคียดคับแค้นขัดเคืองกระเง้ากระงอด ทำให้ผิวพรรณเศร้าหมองไม่งดงาม ความไม่มักโกรธเคียดแค้น ทำให้ผิวพรรณผ่องใสงดงาม ความมักริษยาผู้อื่น ทำให้มีศักดิ์ต่ำต้อยน้อยหน้า ความไม่ริษยาทำให้มีศักดิ์สูงใหญ่ ความไม่เผื่อแผ่เจือจาน ทำให้มีโภคสมบัติน้อย ความเผื่อแผ่เจือจาน ทำให้มีโภคสมบัติมาก ความแข็งกระด้างถือตัว ดูหมิ่นท่าน ทำให้เกิดในสกุลต่ำ ความไม่แข็งกระด้างถือตัวดูหมิ่นท่าน มีความอ่อนน้อมคารวะนับถือผู้ที่ควรอ่อนน้อมนับถือ ทำให้เกิดในสกุลสูง ความไม่เข้าหานักปราชญ์หรือผู้รู้ศึกษาไต่ถามทำให้มีปัญญาทราม การเข้าหานักปราชญ์
    หรือผู้รู้ศึกษาไต่ถาม ทำให้มีปัญญามาก

    ผลที่สาสมกันของกรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นตัวอย่างดังกล่าวมานี้ เป็นผลของกรรมเก่า คือกรรมที่ทำไว้แล้วในอดีตกาล ส่วนกรรมใหม่คือกรรมที่ทำในปัจจุบันนี้ท่านแสดงว่าจักให้ผลในชาติปัจจุบัน เหมือนอย่างในวันนี้ ในเดือนนี้ในปีนี้ก็มี จักให้ผลในชาติหน้า เหมือนอย่างในวันพรุ่งนี้ในเดือนหน้า ในปีหน้าก็มี จักให้ผลในชาติต่อๆ ไป เหมือนอย่างในวันมะรืนนี้ หรือในเดือนโน้น ในปีโน้น เป็นต้นก็มี ฉะนั้น การให้ผลของกรรมจึงเกี่ยวแก่กาลเวลาเป็นสำคัญ การกระทำทุกๆ
    อย่างที่ให้ผลนั้น ต้องเกี่ยวแก่กาลเวลาทั้งนั้น เช่น การปลูกต้นไม้มีผล ก็มิใช่ว่าต้นไม้นั้นจะให้ผลทันที ต้องรอจนต้นไม้เจริญเติบโตและถึงฤดูกาลให้ผล จึงจะให้ผลตามชนิด การเรียนหนังสือก็มิใช่ว่าจะเรียนให้สอบไล่ได้ภายในวันเดียว ต้องเรียนเรื่อยไป จนถึงกำหนดสอบไล่จึงเข้าสอบไล่ บางทีต้องเรียนซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เมื่อไม่ละความพยายามก็อาจจะสอบไล่ได้ การทำการค้าประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆ รับราชการหรือการประกอบอาชีพทุกอย่างก็เหมือนกัน จะได้รับผลก็อาศัยกาลเวลาทั้งนั้น และผลที่ได้รับนั้นจะดีหรือไม่ดีอย่างไร จะรวดเร็วหรือช้าอย่างไร ก็สุดแต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง


    -------------------
    คัดลอกมาจากหนังสือ ::
    ความเข้าใจเรื่องกรรม สมเด็จพระญาณสังวร ฯ
     

แชร์หน้านี้

Loading...