"เราหยุดแล้วแต่ท่านยังไม่หยุด" พุทธวจนะในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย บ้องแบ้ว, 22 กุมภาพันธ์ 2017.

  1. บ้องแบ้ว

    บ้องแบ้ว นางฟ้าผู้น่ารัก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤษภาคม 2010
    โพสต์:
    3,294
    กระทู้เรื่องเด่น:
    105
    ค่าพลัง:
    +5,301
    FB_IMG_1487757170771.jpg

    "เราหยุดแล้วแต่ท่านยังไม่หยุด"
    พุทธวจนะในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้ เสด็จประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ในพระนครสาวัตถี แคว้นโกศล อันมีพระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นกษัตริย์ผู้ปกครอง
    ยังมีพราหมณ์ปุโรหิตผู้หนึ่งนามว่า ภควพราหมณ์ ผู้เป็นภรรยามีนามเรียกโดยทั่วไปว่า มันตนีพราหมณ์ ภควพราหมณ์เป็นผู้รอบรู้ไตรเพทและวิชาแห่งการทำนายนักษัตร คือ สามารถทำนายชะตาชีวิตจากดวงดาวบนท้องฟ้า
    ในวันที่นางมันตนีพราหมณ์ให้กำเนิดบุตรชายหัวปี ได้เกิดลางร้ายขึ้นภายในพระนครสาวัตถี ด้วยบรรดาศัสตราวุธปรากฏแสงประกายรุ่งเรืองราวแสงสะท้อนจากกองไฟ
    ภควพราหมณ์เห็นเหตุอาเพศรู้สึกแปลกใจ แหงนมองดาวบนท้องฟ้า ครั้นทราบว่าบุตรของตนเกิดใต้ฤกษ์ดาวโจร ภายภาคหน้าจะสร้างความเดือดร้อนแก่ปวงชน ด้วยเห็นแก่ประเทศชาติบ้านเมืองเหนืออื่นใด ภควพราหมณ์จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อให้นำบุตรของตนไปพิฆาตเสียตั้งแต่เยาว์วัย
    พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ทรงเห็นด้วย ดำริว่าเด็กทารกเป็นผู้บริสุทธิ์ แม้นให้การอบรมเลี้ยงดูส่งเสริมให้มีวิชาความรู้ศึกษาในสำนักของครูผู้มีคุณธรรม ย่อมสามารถอบรมบ่มนิสัยให้ร้ายกลับกลายเป็นดีได้ เหมือนดังผู้เป็นบิดาซึ่งมีความจงรักภักดีเห็นแก่ประโยชน์ชาติบ้านเมือง
    ภควพราหมณ์ก้มลงหมอบกราบแทบเบื้องพระบาทรับพระมหากรุณาด้วยน้ำตานองหน้า เมื่อกลับมายังบ้านของตนจึงปรึกษากับนางพราหมณีให้นามบุตรของตนว่า “อหิงสกะกุมาร” อันมีความหมายว่า “ผู้ไม่เบียดเบียน”
    ครั้นเมื่ออหิงสกะเจริญวัย ภควพราหมณ์ได้ส่งไปเรียนสรรพวิชา ณ สำนักทิศาปาโมกข์ เมืองตักกสิลา ด้วยความเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขแห่งปราชญ์ อหิงสกะมีความตั้งใจศึกษาและเล่าเรียนวิชาได้แตกฉานเหนือเพื่อนศิษย์ทั้งหลายทั้งยังเป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้เป็นผู้ที่ได้รับความรักใคร่จากอาจารย์แต่กลับเป็นที่อิจฉาริษยาของเพื่อนศิษย์ด้วยกัน จึงต่างพยายามยุยงด้วยอุบายต่างๆ บ่อยครั้ง
    จนผู้เป็นอาจารย์เกิดความเขลาด้วยโมหะ เข้าใจว่าอหิงสะคิดลบหลู่หมายล้มล้างตน ครั้นจะฆ่าด้วยตนเองก็เกรงตกเป็นที่ครหานินทา ดังนั้นมีวิธีเดียวที่จะกำจัดอหิงสกะ คือ ยืมมือผู้อื่นฆ่า โดยบอกว่าจะสอนพระเวทวิชาเอกเรียกว่า วิษณุมนต์ ให้แก่ศิษย์ที่มีความสามารถเหนือผู้อื่นเช่นอหิงสกะ
    โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องหานิ้วมือมนุษย์จำนวนหนึ่งพันนิ้วจากหนึ่งพันคนมาจัดเป็นเครื่องบูชาครูและเทพเจ้าผู้ประสิทธิ์วิชานี้
    อหิงสกะแม้รู้สึกประหลาดใจในวิชาและข้อกำหนดที่อาจารย์จะถ่ายทอดให้ แต่ด้วยความเคารพจึงมิได้คิดโต้แย้ง น่าจะสันนิษฐานได้ว่าผู้ที่ถูกอหิงสกะสังหารส่วนใหญ่ในตอนแรก คงจะเป็นเหล่าเพื่อนศิษย์ที่ริษยาตนเอง
    เพราะเมื่อแผนการของพวกตนใกล้บรรลุผล ก็พากันไปลอบทำร้ายหมายประหารหรือจ้างพวกนักเลงพวกโจรไปรุมฆ่าฟัน อหิงสกะต่อสู้เพื่อป้องกันตัวและฆ่าทุกคนตายเรียบอย่างง่ายดายโดยที่ยังไม่ได้ตัดนิ้วมือเอาไว้
    ในภายหลังเมื่อเริ่มฆ่าคนไปไม่ได้นับจึงกล้วว่าจะจำไม่ได้ จึงตัดนิ้วคนที่ฆ่ามาร้อยเป็นพวงมาลัยเพื่อนำติดตัวไปได้สะดวก เลยได้นามใหม่ว่า “จอมโจรองคุลิมาล” หรือ “จอมโจรผู้มีนิ้วมือเป็นพวงมาลัย”นับแต่นั้นมา
    พระเจ้าปเสนทิโกศลได้รับการร้องเรียนจากมหาชนว่า บัดนี้เกิดโจรร้ายสร้างความเดือดร้อนทำให้วิตกหวาดกลัว แม้เหล่าราชบุรุษก็มิอาจต่อกร
    ไม่มีใครทราบว่าองคุลิมาลโจรเป็นใครมาจากไหน นอกจากภควพราหมณ์เท่านั้น ที่แน่ใจว่าคงจะเป็นบุตรชายของตนผู้เกิดภายใต้ฤกษ์ดาวโจร เพราะหลังจากที่ทราบข่าวลือว่าอหิงสกะถูกขับออกจากราชสำนักตักกสิลาด้วยประพฤติมิชอบแล้วก็ไม่มีวี่แววข่าวคราว จนเกิดเรื่องราวของมหาโจรผู้นี้
    ฝ่ายนางมันตนีพราหมณ์ ครั้นทราบข่าวว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลเตรียมกองทัพเพื่อปราบปรามองคุลิมาลโจร จึงรีบออกติดตามหาบุตรชายด้วยความเป็นห่วงเกรงว่าจะต้องราชภัย ซึ่งในเวลานั้นอหิงสกะผู้หลงผิดรวบรวมนิ้วมือมนุษย์ที่ถูกตนประหารเอาไว้ได้แล้ว 999 นิ้ว ขาดเพียงนิ้วเดียวก็จะครบหนึ่งพันตามคำสั่งของผู้เป็นอาจารย์
    ในครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระอนาถตังสญาณว่า อหิงสกะกำลังจะกระทำมาตุฆาต คือประหารมารดา อันเป็นอนันตริยกรรมอันหนัก ห้ามมรรคผลห้ามนิพพาน
    อีกทั้งจอมโจรผู้นี้มิได้เจตนาประหารผู้ใดด้วยความอาฆาตพยาบาท แต่กระทำไปเพราะความเขลา ทั้งเป็นผู้มีสติปัญญาสามารถเข้าสู่ธรรมอันประณีตได้ พระบรมศาสดาจึงเสด็จสู่ป่าอันเป็นสถานที่หลบซ่อนตัวของ องคุลิมาล
    พระพุทธองค์เร่งฝีเท้าเพื่อไปให้ทันกับพระนางมัณตาณี เพราะพระนางก็กำลังจะไปหาบุตรชายเช่นกัน หากองคุลิมาลเห็นใครก็จะฆ่าเอาทั้งสิ้นไม่สนอะไร เพราะสติฟั่ีนเฟือนด้วยความหลงผิด เมื่อเห็นพระสมณะอยู่ตามลำพังผู้เดียวก็บังเกิดความยินดี คว้าดาบวิ่งไล่ตามอย่างสุดกำลัง แต่ไม่ว่าจะพยายามวิ่งด้วยความรวดเร็วสักเพียงใด ก็ไม่อาจติดตามทันพระสมณะที่เดินอยู่ข้างหน้าด้วยอากัปกิริยาปกติมิได้เร่งร้อน สร้างความประหลาดใจให้อหิงสกะเป็นอย่างมาก
    ครั้นหมดกำลังลงจึงตะโกนเรียกพระพุทธเจ้าว่า
    “สมณะ... หยุดก่อน หยุดก่อนสมณะ”
    พระพุทธองค์ยังคงเสด็จดำเนินต่อแต่ได้ตรัสตอบว่า
    “เราหยุดแล้ว แต่ท่านนั้นแหละยังไม่ยอมหยุด”
    "หมายความว่าอย่างไรขณะที่ท่านกำลังดำเนินอยู่แต่เอ่ยว่าหยุดแล้ว ขณะที่เราล้มกลิ้งอยู่นี่กลับบอกว่าไม่ยอมหยุด" องคุลมาลถาม
    พระบรมศาสดาทรงหยุดยืนหันมาเฉลยปริศนาธรรมว่า
    “ดูก่อนอหิงสกะ ที่ตถาคตกล่าวว่า เราหยุดแล้ว คือหยุดฆ่า หยุดเบียดเบียน หยุดแสวงหาในทางผิด หยุดดำเนินไปในทางทุจริตสิ้นทุกประการ
    ดูก่อนอหิงสกะ ที่ตถาคตกล่าวว่า ตัวท่านนั่นแหละที่ยังไม่ยอมหยุด เพราะยังไม่หยุดฆ่า ไม่หยุดเบียดเบียน ไม่หยุดแสวงหาในทางที่ผิด ไม่หยุดดำเนินไปในทางทุจริต ในมือของท่านยังถือดาบอยู่ ไฉนท่านจึงกล่าวว่าหยุดแล้ว”
    เมื่ออหิงสกะได้ฟังพระดำรัสพระบรมศาสดาตรัสประทานเพียงเท่านี้ ด้วยบุญกุศลแห่งแสงสว่างในปัญญา บุญบารมีที่ได้สร้างสมมาแต่ปางก่อน ส่งผลให้บังเกิดความสำนึก ทิ้งดาบลงสู่พื้นก้มลงกราบแทบพระบาททันที
    "ดูก่อนอหิงสกะ สัตว์โลกทั้งหลายรักชีวิต ถนอมชีวิต ไม่ปรารถนาการเบียดเบียน บาปแห่งการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตย่อมตกนรกอเวจีสถานเดียว ขอให้เธอจงหยุดเสียเถิด"
    หลังจากพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดอหิงสกะ ได้บังเกิดความศรัทธาเลื่อมใส ทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดาทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา แล้วทรงพาพระองคุลิมาลไปยังพระเชตวันมหาวิหาร ประหนึ่งว่าพระองค์เสด็จไปโปรดมหาโจรแต่กลับได้ทารกเกิดใหม่กลับมา
    ข่าวการบวชขององคุลิมาล เป็นข่าวที่มีชื่อเสียงโด่งดังขจรขจายไปทั่วแผ่นดิน รวมถึงแว่นแคว้นอื่นก็ด้วย ทุกคนต่างแซ่ซ้องสรรเสริญในพุทธคุณแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่ปลาบปลื้มที่สุดคือ ภควพราหมณ์และนางมันตานี บิดามารดา ถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความยินดีเพราะนี่คือข่าวที่น่ายินดีที่สุดของคนทั้งสอง พุทธจวนะนี้จึงสร้างคนผู้หลงผิดกลายเป็นพระอรหันต์ได้โดยแท้

    การหยุดก่อบาปกรรมเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสุขทั้งปวง

    ******"
    ธ.ธรรมรักษ์
     

แชร์หน้านี้

Loading...