เรื่องเล่าเช้าวันพระ สมาธิแบบหมูขึ้นเขียง & etc. เขียนโดย พระไพศาล วิสาโล

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 1 กุมภาพันธ์ 2018.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,479
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    LpPisalVisalo.jpg
    เรื่องเล่าเช้าวันพระ : บางเสี้ยวในวัยหนุ่ม

    หลวงพ่อชา สุภัทโท

    วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๙
    พระไพศาล วิสาโล
    lpCha5.jpg
    ครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งหลาย ชีวิตของท่านไม่ได้น่าศึกษาเรียนรู้เมื่อครองผ้ากาสาวพัสตร์แล้วเท่านั้น ประสบการณ์ในวัยหนุ่มของท่านขณะเป็นคฤหัสถ์ก็มักมีเรื่องน่าสนใจ เพราะบ่งบอกถึงอุปนิสัยบางอย่างของท่าน ที่ส่งผลให้ดำรงเพศพรหมจรรย์ได้อย่างมั่นคง หาไม่ก็สะท้อนถึงจุดหักเหที่นำไปสู่ชีวิตที่งดงาม

    หลวงพ่อชา สุภัทโทเคยบวชเณรเมื่ออายุ ๑๓ ปี หลังจากนั้น ๓ ปีก็ลาสิกขากลับมาอยู่บ้าน ใช้ชีวิตไม่ต่างจากคนหนุ่มทั้งหลาย คือเมื่อว่างจากการทำไร่ทำนาก็เที่ยวเตร่สนุกสนาน

    ช่วงนั้นหนุ่มชาได้ไปมาหาสู่กับรุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งนับถือกันเหมือนพี่น้อง รุ่นพี่คนนี้เคยบวชพระแต่ต่อมาได้สึกมาแต่งงาน มีลูกได้ไม่นานเขาก็ล้มป่วยและเสียชีวิต หนุ่มชาได้ไปอยู่ช่วยงานศพตลอดงาน ครั้นเผาศพแล้วก็ยังพักค้างคืนที่บ้านของผู้ตาย เพื่อเป็นเพื่อนภรรยาและลูก ๆ ของเขา

    ตกดึกคืนที่สอง แม่ม่ายซึ่งยังสาวได้ลุกจากห้องมานอนอยู่ข้างหนุ่มชาตรงชานบ้าน แล้วคว้ามือเด็กหนุ่มลูบไล้ไปตามร่างกายของเธอ เจตนาเพื่อปลุกเร้าความรู้สึกของเขา จะเป็นเพราะแรงปรารถนาชั่ววูบ หรือเพราะอยากได้เด็กหนุ่มมาเป็นคู่ชีวิตเพื่อช่วยทำมาหากิน ก็มิอาจทราบได้ แต่หนุ่มชาหาได้ตอบสนองไม่ กลับแกล้งหลับสนิทจนหญิงสาวต้องเลิกราและลุกกลับไปเอง

    ต่อมาหนุ่มชาได้พบรักกับหญิงสาวคนหนึ่ง เธอรับปากว่าจะรอชายหนุ่มบวชทดแทนคุณพ่อแม่สักหนึ่งพรรษา จากนั้นค่อยแต่งงานกัน ตอนนั้นหนุ่มชาตั้งใจมั่นจะที่ใช้ชีวิตร่วมกับเธอ “ผมฝันว่าจะมีเขามาอยู่เคียงข้างช่วยกันทำไร่ทำนา หากินกันไปตามประสาโลก” หลวงพ่อชาเล่าถึงความฝันของท่านในวัยหนุ่มให้แก่ลูกศิษย์หลายปีต่อมา

    แต่ยังไม่ทันที่หนุ่มชาจะได้บวช เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น “อยู่มาวันหนึ่งผมกลับจากนา สวนทางกับเพื่อนรัก เขาบอกผมว่า ชา อีนางเราเอาแล้วนะ ผมฟังแล้วตัวชาไปหมด ซึมไปหลายชั่วโมง”

    แม้จะเจ็บปวดกับความผิดหวัง แต่หนุ่มชาก็ไม่ลืมที่จะทำตามสัญญาที่ได้ให้ไว้กับพ่อแม่ นั่นคืออุปสมบทให้ท่านได้เกาะชายผ้าเหลือง แต่แทนที่จะบวชแค่หนึ่งพรรษา ท่านได้บวชตลอดชีวิต ไม่เพียงมรณภาพในผ้าเหลือง หากยังกลายเป็นพระสุปฏิปันโนที่นำความสว่างไสวสู่จิตใจของผู้คนมากมายทั้งในไทยและต่างประเทศ

    อีกท่านหนึ่งที่ชีวิตวัยหนุ่มค่อนข้างโลดโผน คือหลวงปู่ชอบ ฐานสโม

    ท่านเล่าว่าตอนเป็นหนุ่ม ชอบตามเพื่อน ๆ ไปจีบสาว สมัยนั้นโอกาสที่ชายหนุ่มจะสนทนากับหญิงสาวเป็นเรื่องยาก เพราะพ่อแม่ฝ่ายหญิงกีดกัน ผู้หญิงก็ต้องรักนวลสงวนนาง ดังนั้นหากหนุ่มชอบสาว ก็ต้องเป็นฝ่าย “รุก” เอาเอง วิธีหนึ่งก็คือ “แอบจกสาว” ในตอนกลางคืน นั่นคือ เจาะรูฝาบ้าน (ซึ่งเป็นใบตองกุง) แล้วเอามือล้วงเข้าไปจับตามตัวของผู้หญิง หากหญิงสาวรู้ตัว ร้องโวยวาย จนพ่อแม่ตื่นขึ้น ชายหนุ่มก็ต้องรีบวิ่งหนีให้เร็วที่สุด

    หนุ่มชอบเห็นเพื่อนทำอย่างนั้น ก็อยากจะทำบ้าง ตกกลางคืนก็ไปซุ่มใกล้บ้านหญิงสาวที่หมายปอง แต่คืนนั้นคนในบ้านของหญิงสาวนอนดึก หนุ่มชอบรอแล้วรอเล่า ไฟขี้ไต้ในบ้านของสาวก็ไม่ดับสักที ในที่สุดชายหนุ่มก็เผลอหลับ มารู้สึกตัวอีกทีก็เมื่อพ่อของสาวมาปลุกให้ตื่น เพราะเช้าแล้ว เป็นอันว่าแผนการจกสาวไม่สำเร็จ
    ต่อมาหนุ่มชอบได้ชอบพอกับสาวนางหนึ่งชื่อพา เธอก็มีใจให้เขา พ่อแม่ของเธอก็เห็นด้วย จึงปลงใจว่าจะแต่งงานกัน แต่แล้วมีวันหนึ่งขณะที่ได้อยู่ใกล้กัน หนุ่มชอบถือโอกาสถูกเนื้อต้องตัวหญิงสาว ด้วยการยื่นมือไปสัมผัสหน้าอกของเธอ บังเอิญเพื่อนของเธอเห็นเข้า จึงพูดทักท้วง สาวพาจึงร้องโวยวายและด่าทอชายหนุ่ม เพื่อเป็นการแก้เขิน

    หนุ่มชอบทั้งอายผู้คนและโกรธหญิงสาว แต่ต้องยอมทน เพราะตัวเองเป็นฝ่ายผิด ตอนนั้นเองที่หนุ่มชอบตัดสินใจว่าไม่ขอเอาเธอมาเป็นเมีย “ขนาดนี้ยังด่าเราได้ถึงปานนี้ ถ้าแต่งงานไปแล้วไม่ด่าเราเช้าเย็นเข้าไปหรือ?” นับแต่วันนั้นเขาก็ไม่มีใจให้เธออีกเลย

    ตามประเพณีอีสานเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ฝ่ายชายต้องชดใช้ค่าเสียหาย พ่อแม่ของฝ่ายหญิงยื่นข้อเสนอ ๓ ทาง คือ หนึ่ง แต่งงานกัน โดยเรียกค่าสินสอด ๕ บาท สอง ถ้าไม่แต่งงานกับลูกสาวของเขา ฝ่ายชายจะต้องถูกปรับ ๑๒ บาท สาม ถ้าไม่ยอมรับทั้งสองข้อ ก็จะต้องติดคุกติดตะราง

    แม่ของหนุ่มชอบอยากให้ลูกแต่งงานกับหญิงสาว จะได้เสียเงินแค่ ๕ บาท แต่หนุ่มชอบยังโกรธที่ถูกผู้สาวด่า จึงปฏิเสธที่จะแต่งงาน และยอมเสียค่าปรับ ๑๒ บาท

    สุดท้ายพ่อแม่ของหนุ่มชอบต้องขายควายไป ๕ ตัว ได้เงินมา ๑๒ บาท จ่ายเป็นค่าปรับ หากเทียบเป็นเงินสมัยนี้ก็เป็นจำนวนหลายหมื่นบาท

    แม้ต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก แต่ผลดีที่ตามมาคือ ทำให้หนุ่มชอบมีโอกาสบวชและบวชได้นานจนกลายเป็นครูบาอาจารย์ที่มีลูกศิษย์มากมาย

    “ถ้าบ่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาเป็นเรื่องเตือนใจให้คิด เรากะบ่ได้บวชง่าย ๆ เรื่องร้ายแต่กลายเป็นดีกับเจ้าของ” คือบทสรุปของหลวงปู่ชอบ ฐานสโม
    ............................ RoseUnderline.gif
    ขอบพระคุณที่มา :- https://www.visalo.org/monk/590301plCha.html
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 7 กุมภาพันธ์ 2018
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,479
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    เรื่องเล่าเช้าวันพระ : ไม่เป็นอะไรกับอะไร
    หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ
    lpKumKien03.jpg
    วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๙
    พระไพศาล วิสาโล
    หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ ป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองครั้งแรกเมื่ออายุ ๗๐ ปี ก้อนเนื้อไม่เพียงบีบหลอดลมและทำให้คอบวม หากยังลามแพร่กระจายไปถึงขั้วปอด ท่านต้องเข้ารับการรักษาตัวในห้องไอซียู และเมื่ออาการทุเลาแล้ว ก็ต้องรับการบำบัดด้วยเคมีและการฉายแสง ตลอดเวลาหลายเดือนที่รักษาตัวนั้นท่านได้รับทุกขเวทนามาก แต่ท่านแทบไม่แสดงอาการเจ็บปวดเลย แม้บางครั้งหายใจไม่สะดวก ท่านก็ไม่มีอาการกระสับกระส่าย

    ท่านเล่าให้ลูกศิษย์ฟังในเวลาต่อมาว่า “การปวดนี่มันก็ไม่ได้ลงโทษเรา ไม่เท่าไหร่หรอก แต่(ถ้า)เราเป็นผู้ปวด นี่มันลงโทษเรา ก็เห็นมันปวด ไปลงโทษอะไรมัน (ทำไม)”

    ท่านยังเล่าอีกว่าตอนนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลนั้น “มันแสนสบายหนอ เพราะมีคนทำให้ทุกอย่าง” ท่านกล่าวเสริมอีกว่า “ตอนนั้นไม่ต้องทำอะไรหรอก เห็นไตรลักษณ์อย่างเดียวพอแล้ว มันโชว์ให้เราเอง”

    แปดปีต่อมามะเร็งต่อมน้ำเหลืองกลับมาใหม่ ทีแรกก็อุดหลอดอาหาร ต่อมาก็อุดหลอดลม ท่านจึงต้องรับอาหารทางสายยางและหายใจทางท่อ ไม่สามารถพูดได้ ต้องสื่อสารกับผู้อื่นด้วยการเขียนหรือใช้มือ

    ความเจ็บป่วยครั้งนี้ก่อทุกขเวทนาให้แก่ท่านมาก อีกทั้งยังทำให้ท่านอ่อนเพลียอย่างยิ่ง ท่านตระหนักดีว่าคราวนี้เห็นจะไม่รอด แต่ท่านก็ไม่รู้สึกทุกข์ร้อนแต่อย่างใด เพราะ “เวลานี้มีแต่ปล่อยวาง ไม่เป็นอะไรกับอะไร”

    กายป่วย แต่ใจไม่ป่วยนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ เมื่อกายป่วย ก็ต้องรักษาหรือบรรเทาด้วยยา หลวงพ่อไม่อยู่ในวิสัยที่จะช่วยตัวเองได้ในเรื่องนี้ จึงต้องพึ่งหมอ พยาบาล และลูกศิษย์ ส่วนจิตใจนั้น ท่านดูแลด้วยตนเองอย่างดีจนไม่รู้สึกเจ็บป่วยไปกับกาย ท่านอธิบายว่า “ธาตุขันธ์ยังเป็นภาระต่อผู้อื่น ส่วนจิตใจ ไม่ต้องมีใครช่วย มีสติ มีจิตดูจิตเอง ไม่มีอะไรที่จะต้องไปเป็น เลยไม่ต้องเป็นอะไร”

    หลังจากอาพาธได้ ๗ เดือน วาระสุดท้ายของท่านก็มาถึง อาการบวมของต่อมน้ำเหลืองได้ลุกลามขยายตัว ดันหลอดลมตอนล่างจนเกือบปิด ทำให้ท่านหายใจลำบากมาก ไม่ว่าจะเยียวยาเพียงใด ก้อนเนื้อก็ไม่ยุบ ทำให้ท่านหายใจติดขัด แต่ท่านไม่มีอาการทุกข์ร้อน มีช่วงหนึ่งท่านขอเข้าห้องน้ำเพื่อถ่ายอุจจาระ จากนั้นก็ล้างมือล้างหน้า แล้วขึ้นมาบนเตียงด้วยตนเอง ทั้ง ๆ ที่อาการน่าวิตกมาก

    ไม่นานหลังจากนั้นการหายใจของท่านก็ติดขัดมากขึ้น ลูกศิษย์พยายามแก้ไขสถานการณ์แต่ไม่มีทีท่าว่าจะได้ผล ระหว่างนั้นหลวงพ่อซึ่งมีสติตลอด ได้ขอกระดาษและดินสอ เขียนข้อความว่า “พวกเรา ขอให้หลวงพ่อตาย” เมื่อยื่นแผ่นกระดาษให้เสร็จท่านก็ประนมมือไหว้ เพื่อขอบคุณลูกศิษย์ที่ดูแลท่าน และเป็นการอำลาไปพร้อม ๆ กัน จากนั้นท่านก็นอนนิ่ง สักพักก็หลับตา ครู่ใหญ่ลมหายใจของหลวงพ่อก็ขาดหายไป แล้วสัญญาณชีพทั้งหมดของหลวงพ่อก็หมดสิ้น

    หลวงพ่อคำเขียนจากไปอย่างสงบ ไม่แสดงความทุกข์ใด ๆ ให้เห็นในวาระสุดท้ายของท่าน ทั้ง ๆ ที่กายนั้นถูกทุกขเวทนาบีบคั้นอย่างแรง ท่านทำเช่นนี้ได้ไม่ใช่เพราะท่านเพิ่งเตรียมตัวเตรียมใจเมื่อรู้ว่าความตายจะมาถึง ที่จริงท่านไม่ได้เตรียมใจใด ๆ เลยก็ว่าได้ มีแต่เตรียมตัวด้วยการชำระกายให้สะอาดสำหรับวาระสุดท้ายเท่านั้น ทั้งนี้เพราะท่านได้ฝึกฝนบ่มเพาะจิตใจด้วยวิปัสสนากรรมฐานมานานแล้ว จนเห็นความจริงของรูปและนามหรือกายกับใจอย่างแจ่มแจ้งว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตน จึงรู้ว่าไม่มีอะไรที่ยึดติดถือมั่นได้เลย เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น ก็สักว่าเห็น สักว่ารู้เฉย ๆ ไม่สำคัญมั่นหมายในสิ่งนั้นว่าเป็น “ตัวกู ของกู” กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่ปรุงแต่ง “ตัวกู” ขึ้นมาเป็นนั่นเป็นนี่เมื่อมีอะไรมากระทบ

    เมื่อมีความปวดเกิดขึ้นกับท่าน ก็เพียงแค่เห็น แต่ไม่เข้าไปเป็นผู้ปวด จิตจึงเป็นปกติ อิสระ และสงบเย็น ด้วยเหตุนี้ตลอดเวลาที่ป่วย ท่านจึงเขียนเล่าอย่างมั่นใจว่า “เวลานี้อยู่กับความไม่เป็นอะไรกับอะไร”

    ตายอย่างสงบนั้นเป็นไปได้ แต่ไม่ใช่เพราะโชค ความบังเอิญ หรือเทคโนโลยี หากเกิดจากการฝึกฝนตน มิใช่ด้วยทานและศีล หรือการทำความดีเท่านั้น ที่สำคัญอันเป็นหลักประกันอย่างแท้จริง ก็คือการภาวนาหรืออบรมจิตจนเห็นความจริงของกายและใจอย่างแจ่มแจ้ง กระทั่งปล่อยวางทุกสิ่ง แม้กระทั่งความยึดถือในตัวตน ถึงตอนนั้นเมื่อความตายมาถึง ก็ไม่มีผู้ตายอีกต่อไป มีแต่สังขารที่เสื่อมสลายและคืนสู่ธรรมชาติ
    ......................... RoseUnderline.gif
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,479
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    เรื่องเล่าเช้าวันพระ : แม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรม
    หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล
    lpSao03.jpg
    วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
    พระไพศาล วิสาโล
    ประมาณปี ๒๔๓๕ มีพระธุดงค์หนุ่มวัย ๓๐ ชื่อพระอาจารย์เสาร์มาพักที่กุดเม็ก ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านคำบง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ไม่นานก็ได้รู้จักกับชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อมั่น ซึ่งเป็นหมอลำฝีปากดีแห่งบ้านคำบง หนุ่มมั่นมีความศรัทธาในพระอาจารย์เสาร์ มาดูแลอุปัฏฐากท่านเป็นประจำ บางวันก็ไม่กลับบ้าน ภายหลังก็ฝึกสมาธิภาวนากับท่านด้วย พระอาจารย์เสาร์เห็นชายหนุ่มมีใจใฝ่ธรรม จึงชวนชายหนุ่มบวช ท่านได้พาไปอุปสมบท ณ วัดศรีทอง อำเภอเมือง ชายหนุ่มได้รับสมณฉายาจากพระอุปัชฌาย์ว่า ภูริทตฺโต

    พระหนุ่มรูปนี้ภายหลังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในนามหลวงปู่มั่น ส่วนพระอาจารย์ที่พามาบวชก็คือ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ซึ่งได้ชื่อว่า ปรมาจารย์ใหญ่ฝ่ายพระกรรมฐาน ในช่วงร้อยปีที่ผ่านมากล่าวได้ว่าพระป่าในภาคอีสานซึ่งกระจายไปทั่วประเทศ ล้วนเป็นศิษย์และอนุศิษย์สืบเนื่องมาแต่พระมหาเถระทั้งสองแทบทั้งนั้น ท่านจึงเป็นเสมือนต้นกำเนิดของแม่น้ำสายใหญ่ที่ยังความชุ่มเย็นแก่ผู้คนทุก วันนี้

    ความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นระหว่างอาจารย์กับศิษย์ได้เกื้อกูลให้ทั้งสองท่าน เจริญก้าวหน้าในทางธรรมเป็นลำดับ คราวหนึ่งหลังจากบวชมาได้ ๔ พรรษา พระมั่นคิดจะลาสิกขา ถึงกับจัดหาเสื้อผ้าอย่างฆราวาสไว้พร้อม และเตรียมดอกไม้ธูปเทียนเพื่อขอลิกขาจากพระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์เสาร์ไม่ได้ทัดทาน แต่ขอร้องพระมั่นว่าก่อนจะสึกควรบำเพ็ญเพียรเต็มที่สัก ๗ วัน โดยถือธุดงควัตรอย่างเคร่งครัด เช่น ฉันเอกาและถือเนสัชชิก คือฉันมื้อเดียวและไม่นอนทอดกายตลอดวันตลอดคืน พระมั่นดีใจที่อาจารย์ไม่ทักท้วงห้ามปราม จึงรับคำครูบาอาจารย์ว่าจะทำความเพียรอย่างเต็มที่ ทุกวันหลังจากฉันภัตตาหารเสร็จ ท่านจะปลีกตัวไปบำเพ็ญเพียรที่โบสถ์วัดร้างจนถึงเวลาเย็นจึงกลับมาหาหมู่คณะ

    หลังจากทำความเพียรครบกำหนด ความสงบเย็นที่ได้รับกลับทำให้ท่านเปลี่ยนใจไม่สึก และตัดสินใจขออยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในเพศบรรพชิตจนตลอดชีวิต

    นับแต่นั้นท่านก็ตั้งใจปฏิบัติ มั่นคงในธุดงควัตร บำเพ็ญกรรมฐานไม่หยุดหย่อน จิตใจมุ่งตรงต่อพระนิพพาน จึงมีความเจริญงอกงามในทางธรรมเป็นลำดับ จนพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงในที่สุด

    มีเรื่องเล่าว่าในพรรษาที่ ๒๓ ขณะที่ท่านบำเพ็ญภาวนาที่ถ้ำสาริกา จังหวัดนครนายก ท่านได้ทราบด้วยญาณว่าอาจารย์ของท่าน ซึ่งบัดนี้ชาวบ้านเรียกว่าหลวงปู่เสาร์ ปรารถนาปัจเจกโพธิ คืออธิษฐานเป็นพระปัจเจกพุทธะ เป็นเหตุให้ไม่สามารถทำความเพียรจนพ้นทุกข์ได้ในชาตินี้ จึงเดินทางไปเตือนสติท่าน ขอให้ละความปรารถนาดังกล่าวเพื่อจะได้บรรลุอรหัตผลในชาตินี้

    ประมาณปี ๒๔๕๙ พระอาจารย์มั่นได้เดินทางไปที่ภูผากูด อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม เพื่อจำพรรษากับหลวงปู่เสาร์ มีการสนทนาธรรมแทบทุกวัน วันหนึ่งเมื่อได้โอกาสเหมาะพระอาจารย์มั่นก็สอบถามหลวงปู่เสาร์ถึงการ ปฏิบัติ หลวงปู่เสาร์ยอมรบว่าการปฏิบัติของท่านแม้ได้ผลแต่ไม่ชัดเจน พยายามพิจารณาธรรมเท่าไรก็ไม่แจ่มแจ้ง

    พระอาจารย์มั่นจึงถามต่อว่า “ถ้าเช่นนั้นท่านอาจารย์คงมีอะไรเป็นเครื่องห่วงหรือกระมัง” หลวงปู่เสาร์ตอบว่า “เราก็พยายามพิจารณาเหมือนกัน แต่ก็หาสิ่งขัดข้องไม่ได้”

    พระอาจารย์มั่นสบโอกาส จึงถามว่า “ท่านอาจารย์ห่วงเรื่องการปรารถนาพระปัจเจกโพธิกระมัง” หลวงปู่เสาร์ฟังแล้วก็เห็นด้วย พระอาจารย์มั่นจึงกล่าวต่อว่า

    “ขอให้ท่านอาจารย์อย่าเป็นห่วงเลย ขอให้พิจารณาอริยสัจจ์เพื่อความพ้นทุกข์เสียแต่ชาตินี้เถิด เพราะกระผมเองก็ปรารถนาพระโพธิญาณ และกระผมก็ได้ละความปรารถนานั้นแล้ว เนื่องด้วยว่าการท่องเที่ยวในสังสารวัฏฏ์นี้มันนานเหลือเกิน”

    นับแต่นั้นการปฏิบัติของหลวงปู่เสาร์ก็รุดหน้าจนกระทั่งวันหนึ่งขณะที่ท่าน นั่งอยู่ในที่สงัดได้พิจารณาอริยสัจจ์สี่จนเห็นแจ่มแจ้ง ไม่มีความสงสัยในธรรมอีกต่อไป เมื่อถึงวันออกพรรษาท่านก็บอกพระอาจารย์มั่นว่า “เราได้เลิกการปรารถนาพระปัจเจกโพธิแล้ว และเราก็ได้เห็นธรรมจริงแล้ว”

    ความแจ่มแจ้งในธรรมเป็นกำลังให้แก่อาจารย์และศิษย์ทั้งสองในการเผยแผ่ธรรมจน มีศิษยานุศิษย์มากมาย ส่วนใหญ่แล้วจะแยกย้ายจาริกสอนธรรม แม้จะได้รับการต้อนรับอย่างดีจากชาวบ้าน แต่หลายแห่งก็ถูกต่อต้านจากพระในท้องถิ่น ซึ่งสูญเสียผลประโยชน์จากการสอนของท่าน ใช่แต่เท่านั้นบางครั้งยังถูกขัดขวางจากพระที่เป็นผู้ปกครอง ซึ่งในเวลานั้นมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อพระป่า เพราะเห็นว่าเป็นพระเร่ร่อนจรจัด

    มีคราวหนึ่งเจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี คือ พระโพธิวงศาจารย์ ถึงกับประกาศต่อประชาชนว่า “ญาคูเสาร์ กับ ญาคูมั่น ห้ามไม่ให้ใส่บาตรให้กิน เพราะพวกนั้นคือพวกเทวทัต”

    หลวงปู่เสาร์ได้ยินก็เพียงแต่ยิ้ม ไม่ตอบโต้ ท่านยังคงจาริกเผยแผ่ธรรมต่อไปด้วยความสงบเยือกเย็น เมื่อถูกต่อต้านมากเข้า ท่านก็พูดเพียงว่า “ท่านว่าเราเป็นพวกเทวทัต เราไม่ได้เป็น ไม่เห็นเดือดร้อน ท่านสั่งคนไม่ให้ใส่บาตรให้เรากิน แต่ก็ยังมีคนใส่ให้อยู่ พอได้ฉัน ไม่เห็นเดือดร้อนอะไร ท่านไม่เหนื่อยก็เป็นเรื่องของท่าน” ขณะเดียวกันชาวบ้านก็หาได้สนใจคำประกาศของเจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานีไม่ ยังคงใส่บาตรให้แก่หลวงปู่เสาร์และคณะต่อไป ด้วยชื่นชมในปฏิปทาและคำสอนของท่าน

    ท่านเจ้าคุณองค์นี้ภายหลังได้เจริญในสมณศักดิ์ เป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) คราวหนึ่งได้ไปตรวจงานคณะสงฆ์ที่ภาคเหนือ ได้พบหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่ จึงตั้งคำถามเชิงตำหนิว่า

    “ญาคูมั่น เธอเที่ยวตามป่าเขาอยู่เพียงลำพังผู้เดียวอย่างนี้ เธอได้สหธรรมิก ได้ธรรมวินัยเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติที่ไหน เธอได้รับฟังธรรมจากสหธรรมิกอย่างไร ทำไมเธอจึงได้ปฏิบัติมางมไปอย่างนั้น เธอทำอย่างนั้นจะถูกหรือ”

    หลวงปู่มั่นตอบว่า “พระเดชพระคุณไม่ต้องเป็นห่วงกังวล กระผมอยู่ตามป่าตามเขานั้น ได้ฟังธรรมจากเพื่อนสหธรรมิกตลอดเวลา คือมีเพื่อนและฟังธรรมจากธรรมชาติ เสียงนกเสียงกา เสียงจิ้งหรีด จักจั่นเรไร เสียงเสือ เสียงช้าง มันเป็นธรรมชาติไปหมด มันทุกข์หรือสุขกระผมก็รู้ เขาคอยตักเตือนกระผมอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้ลืมสติว่า เจ้าเป็นใครมาจากไหน อยู่อย่างไรแล้วก็จะไปไหน

    "เวลาใบไม้ร่วงหล่นจากขั้วทับถมกันไปไม่มีสิ้นสุดก็เป็นธรรม บางต้นมันก็เขียวทำให้ครึ้ม บางต้นมันก็ตายซากแห้งเหี่ยว เหล่านั้นมันเป็นธรรมเครื่องเตือนสติสัมปชัญญะไปหมด ฉะนั้นพระเดชพระคุณท่าน โปรดวางใจได้ ไม่ต้องเป็นห่วงกระผม เพราะได้ฟังธรรมอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืน”

    สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นพระที่มีความรู้ในทางปริยัติ สอบได้เปรียญ ๕ ประโยค และใส่ใจในการส่งเสริมพระปริยัติธรรมจนได้รับการยกย่องจากพระผู้ใหญ่ และเจริญในสมณศักดิ์อย่างรวดเร็ว ท่านไม่สามารถเข้าใจได้ว่าพระธุดงค์หรือพระกรรมฐานจะเข้าใจธรรมได้อย่างไรใน เมื่อไม่เรียนหนังสือ ท่านเคยกล่าวว่า “ขนาดลืมตาเรียน และมีครูอาจารย์ที่เป็นนักปราชญ์มาสอน ยังไม่ค่อยรู้ แล้วมัวไปนั่งหลับตาจะไปรู้อะไร”

    แต่ภายหลังเมื่อท่านได้รู้จักกับศิษย์ของหลวงปู่มั่น โดยเฉพาะพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร และพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร ซึ่งช่วยให้ท่านหายเจ็บป่วยด้วยสมุนไพรและสมาธิภาวนา ท่านก็มีศรัทธาในการทำกรรมฐาน และหันมามีทัศนคติที่ดีต่อพระป่า โดยเฉพาะหลวงปู่มั่น

    เมื่อมีงานปลงศพหลวงปู่เสาร์ที่จังหวัดอุบลราชธานีในปี ๒๔๘๖ สมเด็จ ฯ ได้มีโอกาสพบหลวงปู่มั่น หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโนเล่าว่า “ท่านจึงเดินเข้าไปหา และพูดกับหลวงปู่มั่น ว่า...."เออ!! ท่านมั่น เราขอขมาโทษเธอ เราเห็นโทษแล้ว แต่ก่อนเราก็บ้ายศ"

    ภายหลังเมื่อหลวงปู่มั่นได้เข้าไปกราบสมเด็จ ฯ ที่วัดบรมนิวาส สมเด็จ ฯ ซึ่งตอนนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆนายกตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ ได้สอบถามหลวงปู่มั่นเกี่ยวกับการปฏิบัติว่า “เราก็เป็นผู้ปกครอง บริหารงานการคณะสงฆ์ทั้งประเทศ ยุ่งแต่กิจการงาน พอนั่งภาวนาพุทโธครั้งใดทีไร ความคิดก็พุ่งไปคิดอยู่แต่ในงานการบริหารคณะสงฆ์ ไม่สามารถทำให้หยุดคิดได้เลย จะทำให้ไม่คิดนี้ยาก ท่านอาจารย์มีวิธีอื่นบ้างไหม ที่จะทำให้จิตเป็นสมาธิภาวนา”

    หลวงปู่มั่นตอบว่า “การนั่งสมาธิภาวนานั้น ท่านให้คิดได้ แต่ให้มีสติตามรู้ พิจารณาถึงสภาพความเป็นจริง อนิจลักษณะ อยู่ตลอดเวลา” เมื่อนำคำตอบของหลวงปู่มั่นไปปฏิบัติ การภาวนาของสมเด็จ ฯ ก็ราบรื่น ไม่ติดขัด ท่านจึงยิ่งมีศรัทธาปสาทะมากขึ้น

    จากประสบการณ์ส่วนตัวของสมเด็จ ฯ ที่ได้สัมผัสกับพระกรรมฐาน และจากประสบการณ์ที่ท่านได้พบเห็นว่าหมู่บ้านใดที่มีพระกรรมฐานมาเผยแผ่ธรรม ญาติโยมจะประพฤติตัวเรียบร้อย รู้จักสวดมนต์ไหว้พระ อยู่ในศีลในธรรม มีการทำสมาธิภาวนา ท่านจึงมีความประทับใจอย่างมากในพระกรรมฐาน จนถึงกับกล่าวในที่ประชุมสงฆ์ว่า “การเผยแผ่พระพุทธศาสนาต้องให้พระกรรมฐานเป็นแนวหน้า หรือเรียกว่า กองทัพธรรมแนวหน้า”

    ในปี ๒๔๙๒ หลวงปู่มั่นได้มรณภาพที่จังหวัดสกลนคร ทิ้งมรดกอันได้แก่คำสอนและกองทัพธรรมที่ท่านและหลวงปู่เสาร์ได้สร้างขึ้น เพื่อสถาปนาธรรมให้ตั้งมั่นในจิตใจของผู้คนจวบจนทุกวันนี้
    ......................... RoseUnderline.gif
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,479
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    เรื่องเล่าเช้าวันพระ : คำสอนของหลวงตา
    หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ
    lpKoon.jpg
    วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
    พระไพศาล วิสาโล
    เอ่ยชื่อ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ไม่มีชาวอีสานคนใดที่ไม่รู้จัก ส่วนใหญ่รู้จักกิตติศัพท์ของท่านในทางคาถาอาคม และเครื่องรางของขลัง ยิ่งมีข่าวลือว่าคนนั้นคนนี้รอดตายจากอุบัติเหตุ เช่น ตึกถล่ม รถคว่ำ เพราะมีพระเครื่องของท่านห้อยคอ ผู้คนก็ยิ่งศรัทธาและนับถือท่านมากขึ้น ต่างพากันมาหาท่านจากทุกสารทิศ เพื่อหวังบารมีของท่านคุ้มหัวหรืออำนวยโชคลาภ

    แม้มีหลายคนที่สมหวัง แต่ก็มีไม่น้อยที่ผิดหวัง วันหนึ่งมีหญิงผู้หนึ่งมาต่อว่าท่านว่า "ลูกชายได้เอาโฉนดที่ดินมาให้หลวงพ่อเหยียบแล้ว ทำไมยังขายที่ไม่ได้" ท่านตอบว่า "ก็มึงเอาแต่ใจมึงเอง มึงไม่เอาใจคนซื้อเขา ให้กูเหยียบจนตีนบวมมึงก็ขายไม่ได้ด๊อก ถ้ามึงเอาใจคนซื้อมึงก็ขายได้"

    อีกคราวหนึ่งมีคนมาต่อว่าท่านว่า "ลูกชายฉันก็ห้อยเหรียญของหลวงพ่อ แล้วทำไมมันขี่มอเตอร์ไซค์ไปชนกับรถสิบล้อตายได้" หลวงพ่อตอบว่า "ก็ลูกมึงมันขี่เร็วตั้ง ๑๒๐ กิโล ตอนมันขี่ถึง ๘๐ กูก็โดดลงแล้ว"

    เคยมีลูกศิษย์ทักท้วงท่านว่า หลวงพ่อมอบวัตถุมงคลให้แก่ทุกคน ไม่เว้นแม้กระทั่งโจรผู้ร้าย อย่างนี้ไม่บาปหรือ ท่านตอบว่า “ใครขอกูก็ให้ ไม่เลือกยากดีมีจน กูจะไปรู้หรือว่ามันเป็นใคร ถ้ามันเป็นโจร เมื่อมันได้รับประโยชน์จากของที่กูแจก มันคงคิดได้ว่าเป็นเพราะพระศาสนา มันจะได้เข้ามาสนใจปฏิบัติธรรม”

    หลวงพ่อคูณเป็นผู้ที่มีเมตตาสูง ท่านอยากช่วยเหลือชาวบ้าน โดยเฉพาะคนที่ตกทุกข์ได้ยาก ท่านจึงไม่ค่อยขัดศรัทธาญาติโยม ใครขออะไร หากไม่เกินเลยท่านก็มักให้ แต่ในเวลาเดียวกันท่านก็พยายามเตือนผู้คนว่าอย่ามัวแต่พึ่งท่านหรือเครื่องรางของขลังของท่าน จนประมาทหรือละเลยการทำกิจของตน วัตถุมงคลของท่านจะดีวิเศษแค่ไหน หากเจ้าของตั้งอยู่ในความประมาท หรือไม่มีความเพียรพยายาม ก็มิอาจประสบความสำเร็จ หรือมีโชคลาภได้

    สมัยที่ท่านยังไม่มีชื่อเสียงโด่งดัง ท่านเคยไปจำพรรษาที่วัดแห่งหนึ่ง พระที่วัดนั้นประหลาดใจที่ท่านรู้อนาคตได้แม่นยำ เป็นที่เลื่องลือจนมีญาติโยมมาหาท่านไม่ขาด พระรูปหนึ่งอดสงสัยไม่ได้จึงไปถามท่านว่าท่านทำได้อย่างไร หลวงพ่อชี้ไปที่นกตัวหนึ่ง แล้วบอกว่า “นกมันบอกกระมัง” ไม่ว่าพระรูปนั้นจะซักไซ้อย่างไร ท่านก็ไม่พูด หนักเข้าท่านก็บอกว่า “กูก็เดาส่งไปอย่างนั้นแหละ อย่าถือเป็นอารมณ์เลย”

    เคยมีคนถามหลวงพ่อว่า ถ้าเรียกหลวงพ่อว่าพระอริยเจ้าจะได้ไหม ท่านมองหน้าผู้พูดและกล่าวว่า “กูหรืออริยเจ้า ตัวกูเองยังเอาไม่รอดเลย จะเป็นอริยเจ้าได้อย่างไร อย่างดีก็เป็นได้แค่หลวงตาแก่ ๆ ขอชาวบ้านเขากินไปวัน ๆ เท่านั้น”

    นอกจากการสงเคราะห์ญาติโยมด้วยธรรมะและการเป็นที่พึ่งทางใจแล้ว การช่วยเหลือด้วยวัตถุท่านก็ใส่ใจอย่างมาก เงินที่ผู้คนนำมาถวายท่าน รวมทั้งเงินจากการเช่าวัตถุมงคลทั้งหลาย ท่านนำไปบริจาคเพื่อสาธารณะประโยชน์เป็นประจำ เช่น สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ถนนหนทาง รวมแล้วน่าจะเป็นจำนวนนับพันล้านบาท มีคราวหนึ่งหลวงพ่อถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา เป็นเงิน ๗๒ ล้านบาท มีคนมาทักว่าท่านควรถวาย ๗๓ ล้านบาท จึงจะถูก ท่านตอบว่า "ดีแล้ว ถูกแล้ว มึงเอามาล้านหนึ่ง รวมกับของกู จะได้เป็น ๗๓ ล้าน" ปรากฏว่าผู้ที่พูดทักนั้นถึงพูดไม่ออก

    แม้หลวงพ่อคูณจะปรารภด้วยความถ่อมตนเสมอว่า ท่านเป็นหลวงตาแก่ ๆ ความรู้น้อย แต่ท่านเป็นผู้ที่มีปฏิภาณ และฉลาดในการเปรียบเปรย สุทธิชัย หยุ่น นักหนังสือพิมพ์ชื่อดัง เคยถามท่านว่า "หลวงพ่อ วัตถุมงคลของวัดเป็นที่นิยมมากมาย หลวงพ่อไม่กลัวจะมีรั่วไหลบ้างหรือ หลวงพ่อทำอย่างไร" หลวงพ่อเอาไม้เคาะที่ศีรษะทีละคน แล้วตอบว่า "ไอ้หัวล้าน มึงจะให้กูสับหมูไม่มีเศษติดเขียงเลยหรือ"

    หลวงพ่อคูณได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเมื่ออายุ ๖๙ ปี หลังจากนั้น ๑๒ ปีก็ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ แต่ท่านก็ยังปฏิบัติตนเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมสมัยเป็นพระบ้านนอก หนึ่งในนั้นคือ การเรียกตนเองว่า ‘กู’ เรียกญาติโยมว่า ‘มึง’ รวมทั้งนั่งยอง ๆ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของท่าน เคยมีคนถามท่านเรื่องนี้ ท่านตอบว่า

    “เพราะสัญชาตญาณกูถนัดอย่างนี้ กูก็นั่งตามถนัดกู กูพูดกับใคร มันก็มีแต่กูกับมึง พวกข้าราชการทุกระดับ จะเป็นขั้นไหน กูก็ไม่ไปเจริญพรคุณท่านกับมัน....กูไม่เป็น มีแต่กูกับมึง ทุกตัวคนภายในแผ่นดินไทยนี้ จะเป็นผู้บัญชาการตำรวจ ผู้บังคับบัญชาการทหาร อะไรก็แล้วแต่ กูไม่เคยพูดคุณกับมัน”

    ปี ๒๕๓๕ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ ทรงยกช่อฟ้าอุโบสถ เททองหล่อพระประธานวัดบ้านไร่ ก่อนถึงวันเสด็จ ฯ ข้าราชการหลายคนได้กำชับหลวงพ่อให้ระมัดระวังสำนวนที่ใช้อยู่ประจำ รวมทั้งแนะนำการใช้คำราชาศัพท์ที่ถูกต้อง ว่ากันว่าเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ มาทำพิธีเสร็จแล้ว ตรัสถามอะไรก็มีแต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คอยถวายคำอธิบาย ส่วนหลวงพ่อคูณนิ่งเงียบ ซ้ำมีท่าทางอึดอัดจนผิดปกติ ในที่สุดจึงตรัสถามหลวงพ่อคูณว่า “ทำไมหลวงพ่อไม่พูดกับหนูล่ะคะ” หลวงพ่อคูณตอบว่า “ก็ไอ้นี่มันไม่ให้กูพูดกับมึง” ว่าแล้วก็ชี้นิ้วไปที่นายอำเภอด่านขุนทด

    สามปีต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จ ฯ มายังวัดบ้านไร่ เพื่อทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่บุษบกเหนือพระอุโบสถวัดบ้านไร่ หลังจากที่เสด็จ ฯ กลับ ลูกศิษย์ถามหลวงพ่อว่า “ในหลวงตรัสอะไรกับหลวงพ่อบ้าง” หลวงพ่อคูณตอบมาว่า “มึงรู้ไหม มือพระองค์เป็นมือคนทำงานอย่างก๊ะชาวไร่ชาวนา แข็งกระด้างมาก ๆ” เมื่อถูกถามว่า หลวงพ่อใช้คำเรียกพระองค์ว่าอะไร หลวงพ่อตอบว่า ประโยคแรกที่พระองค์รับสั่งก็คือ “หลวงพ่อครับ พูดตามปกตินะครับ ผมเป็นคนไทย”
    ........................................................................................................................
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,479
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    lpDul2.jpg
    เรื่องเล่าเช้าวันพระ : วันสุดท้ายของหลวงปู่ดูลย์

    หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

    วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
    พระไพศาล วิสาโล
    หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๔๓๑ ดังนั้นเมื่อถึงเดือนตุลาคม ๒๕๒๖ คณะศิษย์จึงจัดงานฉลองในโอกาสที่ท่านมีอายุครบ ๘ รอบ หรือ ๙๖ ปีบริบูรณ์ โดยกำหนดจัดงานวันที่ ๒๙ ตุลาคม

    หนึ่งวันก่อนเริ่มงานหลวงปู่มีอาการผิดปกติตั้งแต่เช้ามืด คือ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย กระสับกระส่าย ตัวร้อนคล้ายจะเป็นไข้ หลังจากหมอมาตรวจร่างกายแล้วถวายยาให้ฉัน ร่างกายของท่านก็ดูเป็นปกติแต่ยังเพลียอยู่

    ตลอดทั้งวันท่านได้สนทนาธรรมกับลูกศิษย์ น้ำเสียงชัดเจน สติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ตอบคำถามเกี่ยวกับปฏิบัติขั้นปรมัตถ์ได้เป็นอย่างดี คณะศิษย์จึงคิดว่าหลวงปู่คงไม่เป็นอะไร

    มีช่วงหนึ่งท่านปรารภว่า “ในทางโลกเขามีสิ่งที่มี แต่ในทางธรรมมีสิ่งที่ไม่มี” เมื่อมีผู้ถามถึงความหมาย ท่านก็ขยายความว่า “คนในโลกนี้ต้องมีสิ่งที่มี เพื่ออาศัยสิ่งนั้นเป็นอยู่ ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมต้องปฏิบัติจนถึงสิ่งที่ไม่มี และอยู่กับสิ่งที่ไม่มี”

    วันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันเริ่มงานฉลองอายุหลวงปู่ แต่เช้าท่านมีอาการกระสับกระส่ายเล็กน้อย และปวดเท้าซ้ายขึ้นมาถึงบั้นเอว อีกทั้งมีไข้ขึ้นเล็กน้อย ชีพจรมีอาการเต้นผิดปกติ อาการเปลี่ยนไปมาแบบทรง ๆ ทรุด ๆ เมื่อหมอมาตรวจอาการ พบว่าความดันอยู่ในระดับปกติ ครั้นหมอจะถวายน้ำเกลือเข้าเส้น หลวงปู่ปฏิเสธ สั่งให้เอาสายออก ท่านบอกว่าขออยู่เฉย ๆ ดีกว่า

    ครั้นพระครูนันทปัญญาภรณ์ผู้เป็นศิษย์กราบเรียนว่า จะพาหลวงปู่ไปรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพ ฯ ท่านรีบตอบปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า “ถึงไปก็ไม่หาย” ท่านพระครู ฯ เรียนว่า “ครั้งก่อนหลวงปู่หนักกว่านี้ยังหายได้ ครั้งนี้ไม่หนักเหมือนแต่ก่อน ต้องหายแน่ ๆ” ท่านตอบว่า “นั่นมันครั้งก่อน นี่ไม่ใช่ครั้งก่อน”

    ตอนบ่ายหลวงปู่หลับตาอยู่ในอาการสงบ หายใจเป็นปกติแต่แผ่วเบามาก เมื่อลืมตาขึ้นมา มีอาการผ่องใสสดชื่นมาก ท่านพระครู ฯ เรียนถามท่านว่า “หลวงปู่หลับหรือเข้าสมาธิขอรับ” หลวงปู่ตอบว่า “พิจารณาลำดับฌานอยู่”

    สี่โมงเย็นหลวงปู่ออกมานั่งรับแขกข้างนอก หลังจากนั้นได้กลับเข้าห้อง นอนนิ่งเฉย ศิษย์สังเกตว่า ผิวของท่านเปล่งปลั่งผิดธรรมดา ประมาณหนึ่งทุ่ม หลวงปู่ลืมตาขึ้น จากนั้นได้สั่งให้พระที่คอยดูแลรับใช้ท่านซึ่งมีประมาณ ๘-๙ รูปสวดมนต์ให้ท่านฟัง พระเหล่านั้นเริ่มฉงนสงสัย แต่ก็พร้อมใจกันสวดมนต์เจ็ดตำนานจนจบ

    จากนั้นหลวงปู่บอกให้สวดเฉพาะโพชฌงคสูตรรวม ๓ จบ แล้วสวดปฏิจจสมุปบาท อีก ๓ จบ คืนนั้นบทสุดท้ายที่ท่านให้สวดคือ มหาสติปัฏฐานสูตร เมื่อสวดจบหลวงปู่ยังอยู่ในอาการปกติ มีช่วงหนึ่งท่านให้พาออกไปนอกกุฏิเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ หลวงปู่เพ่งมองไปที่ศาลาหน้ากุฏิของท่าน ซึ่งมีพระเณรและฆราวาสจำนวนมาก ชุมนุมปฏิบัติธรรมอยู่ จากนั้นท่านได้กวาดสายตามองไปรอบ ๆ วัด ราวกับจะให้ศีลให้พรและอำลาลูกศิษย์ของท่าน

    ตีสองของวันที่ ๓๐ ตุลาคม หลวงปู่แสดงธรรมให้แก่ลูกศิษย์ในห้องเรื่อง “ลักษณาการแห่งพุทธปรินิพพาน” โดยอยู่ในอิริยาบถนอนหงาย น้ำเสียงปกติธรรมดา

    ท่านได้บรรยายอย่างเป็นขั้นตอน สุดท้ายได้กล่าวว่า

    “พระองค์ไม่ได้เข้าสู่พระนิพพานในฌานสมาบัติอะไรที่ไหนหรอก เมื่อพระองค์ออกจากจตตุตถฌานแล้ว จิตขันธ์หรือนามขันธ์ก็ดับพร้อมไม่มีอะไรเหลือ ไม่ถูกภาวะอื่นใดมาครอบงำอำพรางให้หลงใหลใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นภาวะแห่งตนเองอย่างบริบูรณ์ ภาวะอันนั้นจะเรียกว่า “มหาสุญญตา” หรือ “จักรวาลเดิม” หรือเรียกว่า “พระนิพพาน” อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้”

    แล้วท่านก็สรุปว่า “เราปฏิบัติมาก็เพื่อถึงภาวะอันนี้”

    หลังจากนั้นท่านก็ไม่พูดอะไรอีกเลย

    ประมาณตีสามหลวงปู่นอนสงบนิ่ง หายใจเบา ๆ คล้ายนอนหลับปกติ ศิษย์ทุกคนรู้ดีว่าท่านใกล้จะละสังขารแล้ว จึงไม่รบกวนท่าน เพื่อให้ท่านปล่อยวางสังขารตามสบาย

    ไม่มีใครทราบว่าหลวงปู่ละสังขารตอนไหน ผู้ที่พยาบาลด้านซ้ายเชื่อว่าหลวงปู่หยุดหายใจเวลา ๔.๑๓ น. ส่วนผู้ที่เฝ้าด้านขวา เข้าใจว่าลมหายใจของหลวงปู่สิ้นสุดเวลา ๔.๔๓ น. นับเป็นการละสังขารที่นุ่มนวลแผ่วเบามากราวกับใบไม้แห้งที่ค่อย ๆ ร่อนสู่พื้น

    “นับเป็นลักษณาการมรณภาพที่ไม่ปรากฏร่องรอย เป็นความงดงามบริสุทธิ์และสงบเย็นอย่างสิ้นเชิง” พระครูนันปัญญาภรณ์ตั้งข้อสังเกต

    หลายปีก่อนหน้านั้นหลวงปู่ได้เคยไปเยี่ยมศิษย์รูปหนึ่งซึ่งใกล้จะมรณภาพ ท่านได้กล่าวแนะนำสั้น ๆ ว่า “การปฏิบัติทั้งหลายที่เราพยายามปฏิบัติมา ก็เพื่อจะใช้ในเวลานี้เท่านั้น เมื่อถึงเวลาที่จะตาย ให้ทำจิตเป็นหนึ่ง แล้วหยุดเพ่ง ปล่อยวางทั้งหมด” เมื่อถึงวาระของหลวงปู่ ท่านได้ปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างอันงดงามแก่ลูกศิษย์ ที่ยากจะลืมเลือนได้
    ...................................................................
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,479
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    lpCha3.jpg
    เรื่องเล่าเช้าวันพระ : ทุกข์เพราะใจ

    หลวงพ่อชา สุภัทโท
    วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๙
    พระไพศาล วิสาโล

    พระอาจารย์พรหมวังโส เป็นพระชาวอังกฤษศิษย์หลวงพ่อชา สุภัทโท ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จะมาใช้ชีวิตอย่างพระป่าในภาคอีสาน ซึ่งมีวิถีชีวิตแตกต่างจากชาวตะวันตกมาก มีประสบการณ์หลายอย่างที่นั่นซึ่งท่านไม่เคยเจอะเจอมาก่อนในอังกฤษ

    ประสบการณ์อย่างหนึ่งที่ท่านจำได้ไม่ลืมเลยเกิดขึ้นขณะที่ท่านบวชได้เพียงปีเดียว มีงานฉลองในหมู่บ้าน ๓ วัน ๓ คืน เป็นธรรมดาของชาวบ้านที่เมื่อมีมหรสพ ก็จะเปิดเสียงดังเต็มที่ ราวกับจะเผื่อแผ่ให้คนทั้งหมู่บ้านได้ร่วมสนุกสนานด้วย ปรากฏว่าเสียงดนตรีดังกระหึ่มไปถึงวัด ซึ่งอยู่ห่างไป ๑ กิโลเมตร ไม่มีมุมไหนของวัดที่เสียงดนตรีนั้นจะทลวงไปไม่ถึง

    กลางค่ำกลางคืน เสียงมหรสพก็ยังดังไม่หยุด ยิ่งดึก เสียงก็ยิ่งดังจนถึงรุ่งเช้า พระทั้งวัดนอนแทบไม่ได้เอาเลย วันรุ่งขึ้นพระในวัดจึงขอร้องผู้ใหญ่บ้านว่าถ้ามหรสพยุติราวตี ๑ จะได้ไหม เพื่อให้พระมีเวลาหลับสัก ๒ ชั่วโมง ก่อนที่จะลุกขึ้นมาทำวัตรตอนตี ๓ แต่ผู้ใหญ่บ้านกลับปฏิเสธ

    พระในวัดไม่มีที่พึ่งอื่นใดนอกจากหลวงพ่อชา จึงพากันไปขอร้องท่านให้บอกชาวบ้านช่วยหรี่เสียงตอนตี ๑ เพราะเชื่อว่าผู้ใหญ่บ้านต้องเกรงใจหลวงพ่อแน่ ๆ อีกทั้งหลวงพ่อคงไม่เห็นดีด้วยกับความสนุกสนานที่ไม่รู้จักเวล่ำเวลาแถมส่งเสียงดังทำลายความสงบสงัดของวัดป่า

    แต่แทนที่หลวงพ่อจะเห็นด้วยกับพระในวัด ท่านกลับบอกว่า “เสียงไม่ได้รบกวนท่าน ท่านต่างหากที่รบกวนเสียง” นี้เป็นสิ่งที่พระพรหมวังโสและเพื่อนพระไม่คาดคิด แต่คำพูดของหลวงพ่อทำให้พระเหล่านั้นได้คิดว่า เสียงก็เป็นสักว่าเสียง จะดังแค่ไหนก็ไม่ทำให้เราทุกข์ใจได้เลยหากไม่ทะเลาะเบาะแว้งกับมัน หากวางใจเป็นกลางต่อเสียงนั้น ก็ไม่รู้สึกเป็นทุกข์แต่อย่างใด

    พระอาจารย์พรหมวังโสพูดถึงประสบการณ์ครั้งนั้นว่า แม้เสียงมหรสพยังดังอยู่ในหู แต่ไม่รบกวนจิตใจของพระในวัดอีกต่อไป เพราะต่างทำใจยอมรับได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น จะว่าไปมันก็แค่ ๓ วันเท่านั้น ไม่นานมันก็ผ่านไป

    ในยามทุกข์ใจ ผู้คนมักโทษสิ่งภายนอก แต่กลับไม่ตระหนักว่าแท้จริงแล้วสาเหตุของความทุกข์นั้นอยู่ที่ใจตนเองต่างหาก นั่นเป็นเพราะว่าเราชอบส่งจิตออกนอก จนลืมกลับมาดูใจของตน หลวงพ่อชาชี้ให้เห็นนิสัยของคนส่วนใหญ่อย่างชัดเจนเมื่อท่านกล่าวว่า “คนตั้งร้อยพันคนโทษว่ารูมันลึกเพราะล้วงไปไม่ถึง ที่จะว่าแขนของตนสั้นนั้นไม่ค่อยมี”
    ......................................................................
     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,479
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    somdej.jpg
    เรื่องเล่าเช้าวันพระ : อารมณ์ขันของสมเด็จ ฯ

    สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น สุจิตฺโต)

    วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๙
    พระไพศาล วิสาโล
    ในสมัยรัชกาลที่ ๗ มีสมเด็จพระราชาคณะ ๒ องค์ที่นอกจากเกิดปีเดียวกันแล้ว ยังได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะในปีเดียวกัน อีกทั้งได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคม บัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราชเจ้าในปีเดียวกันอีกด้วย แต่อุปนิสัยของทั้ง ๒ องค์กลับแตกต่างอย่างมาก จนมีคนตั้งฉายาคล้องจองกันว่า “พูดเล่นไม่มี พูดดีไม่เป็น”

    องค์แรกนั้นคือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) แห่งวัดเทพศิรินทร์ เป็นคนพูดจาเรียบร้อยและนุ่มนวล ไม่ชอบพูดเล่น อีกองค์นั้นคือ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น สุจิตฺโต) แห่งวัดบวรนิเวศ ซึ่งภายหลังได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงมีอุปนิสัยพูดจาโผงผาง ตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม และมีอารมณ์ขัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ เป็นผู้ใฝ่ธรรม มีเมตตา อยู่อย่างสมถะ และไม่ติดในยศฐาบรรดาศักดิ์

    ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้หนึ่งที่รู้จักสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ตั้งแต่เล็ก เล่าว่าคราวหนึ่งนำแกงที่บิดาชอบไปถวายสมเด็จ ฯ ท่านรับประเคนแล้วก็ยังเฉยอยู่ จึงทูลว่า

    “ต้องขอแรงเป็นพิเศษ ฉันแกงสักช้อนหนึ่งเถิด จะได้กรวดน้ำไปให้พ่อได้กิน เพราะพ่อชอบกินแกงอย่างนี้”

    “อ๋อ” สมเด็จ ฯ ตอบ “เอ็งเห็นพระเป็นตู้ไปรษณีย์หรือ?”
    “ใช่ ฉันให้หน่อยเถอะน่า จะได้สบายใจ”
    ได้ยินเช่นนั้น ท่านก็ยอมฉันให้

    อีกคราวหนึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ นำด้วงโสนไปถวายท่าน เนื่องจากเป็นอาหารโปรดของมารดาท่าน ด้วงโสนนั้นยาวขนาดนิ้วก้อย เกิดในต้นโสน มองเผิน ๆ เหมือนหนอนตัวโต ๆ
    เมื่อท่านรับประเคนแล้ว ก็มองดูด้วงในชาม ครั้นเห็นแล้วก็หดมือ ถามว่า
    “นั่นอะไร?”
    “ด้วงโสน”
    “ไม่กินว่ะ ใครจะไปกินหนอน”
    “เอาหน่อยน่า แม่ชอบกิน” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์รบเร้า
    “วันนี้ ไปรษณีย์ปิดโว้ย” สมเด็จ ฯ ว่า “กันกินไม่เป็น เห็นเข้าก็คลื่นไส้ ใครจะไปกินลง”
    “แล้วจะทำยังไงดีล่ะ”
    “เอ็งกินเข้าไปเองก็แล้วกัน”
    “มันก็ไม่ถึงแม่นะซี” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์แย้ง
    “นั่นแหละ ดีกว่าอะไรทั้งหมด" สมเด็จ ฯ ว่า “พ่อแม่นั้นรักลูกยิ่งกว่าอะไรทั้งนั้น พ่อแม่ยอมอดเพื่อให้ลูกได้กิน ถ้าแม่เอ็งรู้ว่าเอ็งได้กินสิ่งที่เขาชอบ เขาก็คงดีใจมาก ทำให้พ่อแม่ได้ยินดี มีความสุขใจนั้น เป็นบุญหนักหนาอยู่แล้ว”

    ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เล่าว่า “ผมเอาฝาชามปิดด้วงโสน แล้วถอนออกมาวางไว้ห่าง ก้มลงกราบสมเด็จ ฯ น้ำตากลบลูกตา
    ตั้งแต่เกิดมาเป็นตัว ไม่เคยได้กินด้วงโสนอะไรอร่อยเท่าวันนั้น”

    อีกคราวหนึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้ยินสมเด็จ ฯ คุยกับหม่อมเจ้าพระองค์หนึ่ง หม่อมเจ้านั้นรับสั่งว่า “งานวันเกิด....เอ๊ย ! วันประสูติสมเด็จ ฯ นั้นจะมีอะไรกันบ้าง?”
    “วันเกิดก็ดีแล้ว” สมเด็จ ฯ ว่า “ ประสูติแปลว่าไหลออกมา อะไร ๆ มันก็ไหลออกมาได้ แต่เกิดมันเป็นคนละเรื่อง เรียกว่าวันเกิดดีกว่า เกิดมาแล้วก็มีแต่ทุกข์ เขาฉลอง...วันเกิดกันทำไมก็ไม่รู้ ไปรับสั่งถามคนอื่นเขาดูเถิด อาตมาไม่รู้”

    นอกจากไม่ติดในพิธีรีตองแล้ว สมเด็จ ฯ ยังเป็นคนที่ไม่เสแสร้ง รู้สึกอย่างไรก็พูด โดยไม่สนใจเรื่องภาพลักษณ์ คราวหนึ่งท่านอาพาธ ถึงขั้นผ่าท้อง ตัดลำไส้ ระหว่างที่พักฟื้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้ไปเยี่ยมท่าน ทูลถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง ท่านตอบว่า “รู้อยู่แล้วว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์ รู้อยู่แล้วว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน และเป็นทุกข์ แต่ทั้งรู้อย่างนั้นมันก็ยังเจ็บจริงโว้ย”

    ประมาณปี ๒๔๙๐ ท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งตอนนั้นเป็นภิกษุหนุ่มวัย ๔๑ ได้แสดงปาฐกถาเรื่อง “ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม” ที่พุทธสมาคม กรุงเทพ ฯ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงตามมา จนท่านถูกกล่าวหาว่ารับแผนของคอมมิวนิสต์มาทำลายศาสนา เมื่อเรื่องราวทำท่าจะบานปลาย พระศาสนโสภณ วัดราชาธิวาส ได้ช่วยเหลือด้วยการนำท่านพุทธทาสมาเข้าเฝ้าสมเด็จ ฯ ซึ่งตอนนั้นได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าแล้ว หลังจากที่ท่านพุทธทาสอธิบายกราบทูลจนกระจ่างแล้ว ก็ทรงมีมติว่า ท่านพุทธทาสไม่มีความผิดแต่อย่างใด

    ก่อนที่ท่านพุทธทาสจะทูลลา สมเด็จ ฯ ได้รับสั่งว่า “กันอยากไปอยู่กับแกที่สวนโมกข์เสียแล้ว ที่นี่มันยุ่งจริง ๆ”
    .......................................................................
     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,479
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    lpkaw02.jpg
    เรื่องเล่าเช้าวันพระ : สัจธรรมจากเมล็ดข้าว

    หลวงปู่ขาว อนาลโย

    วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๙
    พระไพศาล วิสาโล
    บรรดาลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่มีชื่อเสียง เป็นที่เคารพสักการะของผู้คนทั้งประเทศ แทบทั้งหมดเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ตั้งแต่ยังหนุ่ม ไม่เคยผ่านชีวิตครอบครัว ยกเว้นก็แต่หลวงปู่ขาว อานาลโย แห่งวัดถ้ำกลองเพล จังหวัดอุดรธานี ท่านออกบวชเมื่ออายุ ๓๑ ปี หลังจากมีคู่ครองนาน ๑๑ ปี

    สาเหตุที่ท่านออกบวชก็เนื่องจากได้พบว่าภรรยามีชายอื่น เรื่องของเรื่องก็คือเดิมท่านมีอาชีพเป็นพ่อค้าขายวัวควาย คราวหนึ่งได้ต้อนวัวควายไปขายในที่ไกล แล้วหายไปนานไม่กลับบ้าน ภรรยานึกว่าท่านตายจากไปแล้ว จึงมีสามีใหม่ เมื่อท่านกลับมาและพบความจริงก็โกรธแค้นมาก ตั้งใจจะฆ่าทั้งสองคนให้ตายคามือ ถึงกับเงื้อมีดดาบเตรียมสังหารแล้ว แต่ห้ามใจไว้ได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ท่านสลดสังเวชใจ เบื่อหน่ายชีวิตทางโลก จึงสละเพศฆราวาสในที่สุด

    ช่วง ๖ พรรษาแรก ท่านตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยอย่างจริงจัง แต่ก็รู้สึกขัดใจที่ครูบาอาจารย์และเพื่อนภิกษุสามเณร ประพฤติย่อหย่อน อีกทั้งยังเพลิดเพลินในลาภสักการะ ท่านจึงตัดสินใจออกธุดงค์เพื่อบำเพ็ญกรรมฐาน แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านทั้งจากพระเณรและฆราวาส บ้างก็ว่าการบำเพ็ญภาวนาทำให้คนเป็นบ้า ถ้าอยากเป็นคนดีเหมือนชาวบ้านเขา ก็ไม่ควรออกไปบำเพ็ญภาวนา บ้างก็ว่าพระธุดงค์ที่ดำเนินตามคำสอนของพระพุทธองค์ทุกวันนี้ไม่มีแล้ว อย่าไปทำให้เสียเวลาและเหนื่อยเปล่าเลย สู้อยู่อย่างนี้ก็สบายดีอยู่แล้ว แม้กระนั้นท่านก็ยังยืนยันเจตนาเดิม

    ระหว่างที่ออกธุดงค์ ท่านได้ยินกิตติศัพท์ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต จึงได้ออกติดตามค้นหาจนได้พบพระอาจารย์ใหญ่ที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ และได้อยู่ปฏิบัติกับท่านสมความตั้งใจ ท่านได้ทำความเพียรอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันก็ถูกเคี่ยวกรำจากหลวงปู่มั่นอย่างหนัก จนการปฏิบัติเจริญก้าวหน้า คราวหนึ่งหลวงปู่มั่นได้ทักท่านว่า “ท่านขาวนี้ภาวนาอย่างไร คืนนี้จิตจึงสว่างไสวมาก ผิดกับที่เคยเป็นมาทุก ๆ คืน นับแต่มาอยู่กับผม ต้องอย่างนี้ซิจึงสมกับผู้มาแสวงธรรม”

    บางช่วงท่านได้แยกจากครูบาอาจารย์และหมู่คณะออกธุดงค์ บำเพ็ญเพียรในป่า ซึ่งสมัยนั้นยังรกทึบเต็มไปด้วยอันตราย หลายครั้งท่านต้องเผชิญสัตว์ป่าที่ดุร้าย รวมทั้งช้างป่าที่ไม่เป็นมิตรกับคน แต่ด้วยเมตตาและสติที่ตั้งมั่น ท่านจึงผ่านพ้นเหตุการณ์เหล่านี้ด้วยดี บางครั้งท่านถึงกับชวนช้างรับศีล ซึ่งช้างก็ดูเหมือนจะรับรู้คำสอนของท่านและเชื่อฟังท่านโดยดุษณี มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับประสบการณ์ของท่านในป่าลึกที่กล่าวขานในหมู่ศิษย์กระทั่งทุกวันนี้

    นอกจากสัตว์ร้ายแล้ว โรคภัยไข้เจ็บมักเกิดกับพระธุดงค์ในป่าลึกเสมอ แต่ทุกครั้งที่ป่วยไข้ หลวงปู่ขาวนิยมใช้ธรรมโอสถเป็นสำคัญ ท่านเคยระงับไข้ด้วยสมาธิภาวนาหลายครั้ง ใช่แต่เท่านั้นท่านยังอาศัยความเจ็บไข้เป็นประโยชน์ในการภาวนาด้วย คราวหนึ่งท่านเป็นไข้มาลาเรียเกือบตลอดพรรษา แต่ท่านไม่ยอมแพ้ต่อความเจ็บป่วยเลย กลับระดมความเพียรเต็มที่ ท่านเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า

    “ไข้ก็หนัก ความเพียรก็เอาการ ไม่มีใครย่อหย่อนอ่อนข้อต่อใคร การไข้ก็ไข้ตลอดพรรษา การพิจารณาทุกขเวทนากับกายอันเป็นเรือนรังของทุกข์ก็ไม่ลดละท้อถ้อย ไข้หนัก ทุกข์มากเท่าไร ยิ่งราวกับไสเชื้อเพลิงป้อนสติปัญญาให้แสดงลวดลายอย่างเต็มฝีมือ” พอออกพรรษาไข้ก็ค่อย ๆ หายไปเอง

    ประสบการณ์อันช่ำชองในการรับมือกับความเจ็บป่วย ทำให้ท่านได้ข้อสรุปว่า

    “อันความอยากหายจากทุกขเวทนานั้น อย่าอยาก ยิ่งอยากให้หายเท่าไรก็ยิ่งเพิ่มสมุทัยตัวผลิตทุกข์มากยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ให้อยากรู้อยากเห็นความจริงของทุกขเวทนาที่แสดงอยู่กับกายกับใจเท่านั้น นั่นคือความอยากอันเป็นมรรคทางเหยียบย่ำกิเลส ซึ่งจะทำให้เกิดผล คือการเห็นแจ้งตามความจริงของกาย เวทนา จิต ที่กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนั้น ความอยากรู้จริงเห็นจริงนี้มีมากเท่าไร ความเพียรพยายามทุกด้านยิ่งมีกำลังมากเท่านั้น”

    ประมาณปีพ.ศ. ๒๔๘๓ ตอนนั้นหลวงปู่ขาวมีอายุ ๕๒ ปีแล้ว ระหว่างพำนักที่บ้านโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เย็นวันหนึ่งท่านได้ออกไปสรงน้ำ เหลือบมองเห็นรวงข้าวในไร่ชาวเขากำลังสุกเหลืองอร่าม เกิดมีคำถามขึ้นมาในใจว่า “ข้าวมันงอกขึ้นมาเพราะมีอะไรเป็นเชื้อพาให้เกิด ใจที่พาให้เกิดตายอยู่ไม่หยุด ก็น่าจะมีอะไรเป็นเชื้ออยู่ภายในเช่นเดียวกันกับเมล็ดข้าว” ท่านคิดต่อว่า เชื้อนั้นถ้าไม่ถูกทำลายที่ใจให้สิ้นไป ก็จะต้องพาให้เกิดและตายไม่หยุด ท่านพิจารณาต่อก็พบว่า “อะไรเป็นเชื้อของใจเล่า ถ้าไม่ใช่กิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน”

    จากนั้นท่านก็พิจารณาทบทวนไปมาโดยมีจุดเน้นที่ตัวอวิชชา เป็นการพิจารณาทั้งอนุโลมและปฏิโลม จากเหตุสู่ผล และย้อนจากผลไปหาเหตุ ตั้งแต่หัวค่ำจนดึก ท่านก็ยังไม่ลดละการพิจารณา จนใกล้ฟ้าสางจึงเห็นแจ้งในธรรมชาติหรือความจริงแห่งอวิชชา วินาทีนั้นเองอวิชชาก็หลุดไปจากใจจนไม่เหลือ

    ข้าวสุกย่อมมิอาจงอกได้อีกต่อไปฉันใด เมื่อพิจารณาจิตจนอวิชชาดับ กลายเป็นจิตสุก การก่อเกิดในภพต่าง ๆ ก็จบสิ้นฉันนั้น หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เล่าถึงประสบการณ์ของหลวงปู่ขาวตอนนี้ว่า “ขณะที่จิตผ่านดงหนาป่ากิเลสวัฏฏ์ไปได้แล้ว เกิดความอัศจรรย์อยู่คนเดียว ตอนสว่างพระอาทิตย์ก็เริ่มสว่างบนฟ้า ใจก็เริ่มสว่างจากอวิชชา ขึ้นสู่ธรรมอัศจรรย์ ถึงวิมุตติหลุดพ้นในเวลาเดียวกันกับพระอาทิตย์อุทัย ช่างเป็นฤกษ์งามยามวิเศษจริง ๆ “

    “นั่งอยู่ก็สบาย แม้ตายก็มีความสุข ปราศจากเครื่องร้อยรัดโดยประการทั้งปวง” คือคำอุทานในใจของหลวงปู่ขณะนั้น

    เมื่อกิจส่วนตนจบสิ้นแล้ว หลวงปู่ก็เหลือแต่กิจส่วนรวม ท่านได้เทศนาสั่งสอนพระเณรและญาติโยมอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ขณะเดียวก็ยังคงใช้ชีวิตเยี่ยงพระธุดงคกรรมฐาน จนกระทั่งพบถ้ำกลองเพลในเทือกเขาภูพาน ท่านเห็นว่าเป็นสถานที่วิเวกถูกอัธยาศัย จึงได้ปักหลักที่นั่นเรื่อยมาจนวาระสุดท้ายของท่าน

    หลวงปู่ขาวละสังขารเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๖ หลังจากอัมพาตเป็นเวลา ๙ ปี และมีอาพาธต่อเนื่องในช่วง ๒ ปีหลัง คืนสุดท้ายของหลวงปู่ขาว ท่านจำวัดเป็นปกติ เช้ามืดเมื่อล้างหน้าเรียบร้อยแล้ว ท่านฉันอาหารเล็กน้อย จากนั้นพระเณรพยุงท่านเดินไปถึงเตียงเพื่อนอนพัก หลวงปู่ลงนั่งแล้วก็นอนลง แล้วก็หยุดหายใจ เป็นการทิ้งสังขารที่ “ง่าย สบาย” ดังคำของหมออวย เกตุสิงห์ แพทย์ประจำตัวของท่าน

    สิริรวมอายุของหลวงปู่ขาว อนาลโย ๙๕ ปี
    ..............................................................
     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,479
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    lpPanya.jpg
    เรื่องเล่าเช้าวันพระ : วัยเด็กของหลวงพ่อปัญญา

    พระพรหมมังคลาจารย์ (ปั่น ปัญญานันโท)

    วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๙
    พระไพศาล วิสาโล
    หลวงพ่อปัญญา หรือปัญญานันทภิกขุ เป็นสหายธรรมของท่านพุทธทาสภิกขุ ที่มีชื่อเสียงมากในด้านการเผยแผ่ธรรม คำเทศนาของท่านเข้าใจง่าย เป็นเหตุเป็นผล ระคนด้วยมุขชวนขัน มุ่งพาคนออกจากความงมงายหลงใหลในไสยศาสตร์ และการหมกมุ่นในอบายมุข ทุกหนแห่งที่ท่านแสดงธรรม จะมีญาติโยมติดตามไปฟังเป็นจำนวนมาก เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ก็ตามฟังจากรายการวิทยุ หรือไม่ก็จากตลับเทป

    หลวงพ่อปัญญาเกิดที่จังหวัดพัทลุง นามเดิมว่า ปั่น ในครอบครัวชาวนา บิดามารดาของท่านเป็นผู้ใฝ่ธรรมและมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หาอะไรมาได้ก็จะแบ่งปันให้เพื่อนบ้านอยู่เสมอ แม้ไม่ได้ร่ำรวย ท่านพูดถึงความรู้สึกในช่วงที่เป็นเด็กว่า

    “ครั้งเป็นเด็ก ๆ นี้เบื่อที่สุดในการที่จะเอาแกงไปแจกบ้านโน้น เอาขนมไปแจกบ้านนี้ เวลาโยมทำอะไรกิน เช่น ได้เนื้อมาก้อนหนึ่ง เอามาขึ้นแกงหม้อหนึ่ง ต้องตักไปแจกทุกบ้าน ได้ทุเรียนมาสองสามผล ทำน้ำกะทิอ่างใหญ่ ๆ ต้องเอาไปแจกทุกบ้าน ถ้าได้ปลามาเป็นเข่ง ต้องเอามาแบ่งเป็นกอง ๆ เด็กต้องเอาไปแจก เรือนนั้นกอง เรือนนี้กอง

    “ได้อะไรมาก็ไปแจกอยู่อย่างนั้น สมัยเด็ก ๆ นี่เบื่อเต็มที พอเห็นเขาแบ่งกองปลาก็คิดว่า แย่อีกแล้ววันนี้ วิ่งกันเต็มที่ละ น่าเบื่อจริง ๆ”

    เวลามีใครเดือดร้อน บิดามารดาของท่านก็ยินดีช่วยเหลือเต็มกำลัง ครอบครัวของท่านมีควาย ๒๐ ตัว แต่ก็ให้เพื่อนบ้านยืมไปใช้ทำนาถึง ๑๘ ตัว เหลือไว้ใช้งานเพียง ๒ ตัว ยิ่งไปกว่านั้นหากมีคนมาขอที่เหลือไปอีก ก็พร้อมจะให้ด้วยความยินดี “คนที่มาขอยืม เขาลำบากกว่าเรามาก เราหาเอาใหม่ได้” คือเหตุผลที่บิดามารดาบบอกกับลูกชาย

    ไม่ใช่กับเพื่อนบ้านเท่านั้น กับคนแปลกหน้า บิดามารดาของท่านก็เอื้อเฟื้อด้วยความยินดี บางคราวมีชาวบ้านสัญจรผ่านมาและขอพักที่บ้านถึง ๑๕ คน ทั้งสองท่านก็กุลีกุจอจัดหาที่พักและทำอาหารต้อนรับอย่างดียิ่ง วันที่แข็กจะเดินทางกลับ มารดาของท่านก็จะตื่นแต่เช้ามืดเพื่อจัดอาหารเช้าให้ พร้อมทั้งห่ออาหารกลางวันไปกินกลางทางด้วย

    เด็กชายปั่นได้เห็นแต่เล็กว่า “การต้อนรับขับสู้เหล่านี้ให้ความสุขใจ ได้มิตรภาพเป็นกำไร คนเดินทางเหล่านี้มักนำอาหารหรือของแปลก ๆ มาฝากบ่อย ๆ เหมือนกัน มิใช่เป็นค่าจ้าง แต่เป็นเครื่องหมายแห่งความระลึกถึงกัน”

    สมัยนั้นพัทลุงขึ้นชื่อว่าเป็นถิ่นนักเลงและดงโจร มีการปล้นวัวควายเป็นประจำ แต่น่าแปลกที่วัวควายของครอบครัวท่าน ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือปล่อยไว้กลางทุ่ง ไม่เคยถูกโจรขโมย ตรงข้ามกับเพื่อนบ้าน วัวควายหายอยู่เนือง เมื่อเกิดเหตุดังกล่าว บิดาของท่านไม่เคยนิ่งเฉย รับเป็นธุระไปตามกลับมาให้ ซึ่งก็มักประสบความสำเร็จเสมอ ไม่ใช่เพราะบิดาของท่านเป็นผู้มีอิทธิพลที่โจรเกรงกลัว แต่เป็นเพราะความดีของท่าน

    ท่านเล่าว่าบิดาของท่าน “คบคนทุกเหล่า ให้ทุกอย่างที่เขาต้องการ วัวควายที่มีอยู่ไม่เคยหวง ใครขอไปกี่ตัว ใช้กี่วัน ได้ตามปรารถนา เป็นความเอื้อเฟื้อของบิดามารดาอาตมาที่ช่วยปกป้องควายไว้ได้”

    อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ “บางทีบรรดาโจรอาจจะเคยมาอาศัยบ้าน กินข้าวปลาอาหารครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง เลยสำนึกในบุญคุณ”

    เป็นเพราะมีบิดามารดาที่เปี่ยมด้วยน้ำใจไมตรี เอื้อเฟื้อเผือแผ่ ท่านจึงมีจิตใจใฝ่ธรรมตั้งแต่เยาว์วัย เป็นนิสัยปัจจัยให้ท่านน้อมใจในพระศาสนา หลังจากที่ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๘ ปี ท่านก็ไม่ได้หวนคืนสู่เพศคฤหัสถ์อีกเลย เจริญมั่นคงในสมณเพศโดยตลอด ยินดีในการบำเพ็ญทานไม่หยุดหย่อน เช่นเดียวกับโยมบิดามารดาของท่าน แต่แทนที่จะเป็นวัตถุทาน ก็มอบธรรมทาน ซึ่งเป็นทานอันประเสริฐสุด จวบจนท่านมรณภาพด้วยวัย ๙๔ ปี
    ...................................................................................
     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,479
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    lpCha02.jpg
    เรื่องเล่าเช้าวันพระ : บทเรียนจากหลวงพ่อชา

    หลวงพ่อชา สุภัทโท

    วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘
    พระไพศาล วิสาโล
    พูดถึงวุฒิการศึกษาทางโลก หลวงพ่อชา สุภัทโทจบแค่ชั้นป.๑ เท่านั้น แต่ท่านมีลูกศิษย์ที่จบปริญญามากมาย ที่เป็นดอกเตอร์ก็มิใช่น้อย ยิ่งกว่านั้นยังมีชาวต่างประเทศ ความรู้สูง มาบวชกับท่านเป็นจำนวนมาก

    เรื่องหนึ่งที่ผู้คนสอบถามท่านเสมอก็คือท่านสอนฝรั่งได้อย่างไรในเมื่อท่านไม่รู้ภาษาอังกฤษเลย คำตอบของท่านก็คือ “ที่บ้านโยมมีสัตว์เลี้ยงไหม อย่างหมาแมว หรือวัวควายอย่างนี้ เวลาพูดกับมัน โยมต้องรู้ภาษาของมันด้วยหรือเปล่า?”

    สำหรับหลวงพ่อชา การสอนที่สำคัญมิใช่การพูด แต่อยู่ที่การทำให้ดูและชวนให้ทำ ซึ่งใคร ๆ สามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องอาศัยภาษาใด ๆ

    “พาเขาทำเอาเลย ทำดีได้ดี ถ้าทำไม่ดีก็ได้ของไม่ดี พาเขาทำดู เมื่อทำจริง ๆ ก็เลยได้ดี เขาก็เลยเชื่อ ไม่ใช่มาอ่านหนังสือเท่านั้นนะ ทำจริง ๆ นี่แหละ สิ่งใดไม่ดีก็ละมัน อันไหนไม่ดีก็เลิกมันเสีย มันก็เป็นความดีขึ้นมา”

    การเรียนรู้จากการทำนั้นให้ผลที่ยั่งยืนกว่า เช่นเดียวกับการเรียนรู้จากประสบการณ์ ไม่ว่าประสบการณ์นั้นจะดีหรือไม่ดี ก็สามารถสอนใจเราได้ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะรู้จักมองหรือเก็บเกี่ยวบทเรียนหรือไม่

    พระอาจารย์สุเมโธ ซึ่งเป็นชาวอเมริกันและเป็นพระฝรั่งรูปแรกที่มาอยู่กับหลวงพ่อชาเล่าว่า มีคราวหนึ่งหลวงพ่อชาสั่งให้ท่านขึ้นเทศน์ ๓ ชั่วโมงโดยไม่ทันได้เตรียมตัว ทั้งกำชับว่าห้ามลงก่อนหมดเวลา ช่วงแรก ๆ ท่านก็เทศน์ได้เรื่อย ๆ เพราะมีเรื่องพูด แต่เมื่อเทศน์นานเข้า ก็ไม่รู้ว่าจะเทศน์อะไร ต้องพูดวนไปเวียนมา ตอนนั้นภาษาไทยก็ไม่คล่อง ผลก็คือคนฟังนั่งหลับเป็นส่วนใหญ่
    LpSumetho1.jpg
    ใครที่เจอประสบการณ์แบบนี้ ย่อมรู้สึกแย่ และอาจถึงกับสูญเสียความมั่นใจในการพูด ตามมาด้วยความหงุดหงิดขัดเคืองใจ แต่สำหรับพระอาจารย์สุเมโธ ประสบการณ์ครั้งนั้นมีประโยชน์มาก เพราะช่วย “แก้กิเลส” หรือลดอัตตาของท่านได้ดี “นิสัยของชาวอเมริกันเรามีอัตตาสูง ความเชื่อมั่นในตัวเองมีมาก เวลาขึ้นธรรมาสน์ก็อยากจะเทศน์ให้น่าฟัง อยากจะให้ทุกคนฟังด้วยความตั้งใจ แต่ถ้าเห็นใครง่วงนอนหรือไม่ตั้งใจฟังก็อยากจะหยุดพูดทันที เป็นเพราะจิตใจเรายังมีความหวั่นไหวกับโลกธรรมอยู่”

    ยิ่งมีอัตตา ก็ยิ่งจำเป็นต้องถูกถอนอัตตา ในทำนองเดียวกัน ยิ่งกลัวความล้มเหลว ไม่อยากได้คำตำหนิ ก็ยิ่งจำเป็นต้องเจอความล้มเหลวและคำตำหนิ จิตใจจะได้มั่นคงไม่หวั่นไหวกับสิ่งนั้น นี้เป็นหลักการสอนข้อหนึ่งของหลวงพ่อชาก็ว่าได้

    พระฝรั่งอีกรูปหนึ่งที่ได้บทเรียนดังกล่าวจากหลวงพ่อชา ก็คือพระอาจารย์ญาณธัมโม ชาวออสเตรเลีย
    yanthammo1(1).jpg
    วันหนึ่งท่านมีเรื่องขัดใจกับพระรูปหนึ่งที่วัด รู้สึกหงุดหงิดตลอดทั้งวัน วันรุ่งขึ้นระหว่างเดินบิณฑบาตก็ครุ่นคิดอยู่กับเรื่องนั้นตลอดทาง พอกลับเข้าวัดก็เห็นหลวงพ่อชาเดินสวนมา ท่านยิ้มให้และทักทายเป็นภาษาอังกฤษว่า กู๊ดมอร์นิ่ง เพียงเท่านั้นอารมณ์ของพระญาณธัมโมก็เปลี่ยนไปทันที ความหงุดหงิดขุ่นมัวหายไปเป็นปลิดทิ้ง มีความปลื้มปีติมาแทนที่

    ตกเย็นหลวงพ่อชาสั่งให้ท่านเข้าไปถวายการนวดที่กุฏิเป็นการส่วนตัว ท่านรู้สึกตื่นเต้นดีใจมากเพราะโอกาสที่จะได้อยู่ใกล้ชิดสองต่อสองเช่นนั้นหาได้ยากมาก เพราะท่านยังเป็นพระใหม่ ท่านถวายการนวดอย่างตั้งอกตั้งใจด้วยความปลื้มปีติ แต่จู่ ๆ โดยไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว “หลวงพ่อชาก็ถีบเปรี้ยงเข้าที่ยอดอก ซึ่งกำลังพองโตด้วยความรู้สึกภาคภูมิของอาตมา จนล้มก้นกระแทก”

    ความตกใจและมึนงงว่าเกิดอะไรขึ้นหายเป็นปลิดทิ้งเมื่อได้ยินคำตำหนิของหลวงพ่อชาว่า “จิตใจไม่มั่นคง พอไม่ได้ดังใจก็ขัดเคือง หงุดหงิด เมื่อได้ตามปรารถนาก็ฟูฟ่อง”

    เพียงเท่านั้นพระญาณธัมโมถึงกับร้องไห้ ไม่ใช่เสียใจเพราะถูกด่า แต่เพราะซาบซึ้งในบุญคุณของท่าน “หลวงพ่อเมตตามากที่ชี้กิเลสของเรา ไม่เช่นนั้นเราก็คงมืดบอดมองไม่เห็น คงเป็นคนหลงอารมณ์ไปอีกนาน”

    นี้เป็นบทเรียนสอนใจให้มั่นคงจากหลวงพ่อชาที่พระอาจารย์ญาณธัมโมไม่เคยลืมเลือน

    การเรียนรู้ที่ดีนั้นต้องเกิดจากการเจอ “ของจริง” แม้เป็นของจริงที่ไม่พึงปรารถนา แต่มันก็สามารถสอนใจและฝึกใจเราได้มาก จะว่าไปแล้วคนเราเรียนรู้จากสิ่งที่ขัดใจได้มากกว่าสิ่งที่ถูกใจด้วยซ้ำ
    ...........................................................................
     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,479
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    lpKaw.jpg
    เรื่องเล่าเช้าวันพระ : รอดได้เพราะธรรม

    หลวงปู่ขาว อนาลโย

    วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
    พระไพศาล วิสาโล
    พระกรรมฐานกับการออกธุดงค์เป็นของคู่กันก็ว่าได้ โดยเฉพาะสมัยก่อนซึ่งยังมีป่าเขามากมาย อันที่จริงคำว่า “ธุดงค์” หมายถึงข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเสล ส่งเสริมความมักน้อยและสันโดษ มีทั้งหมด ๑๓ ข้อ หนึ่งในนั้นคือ การอยู่ป่าเป็นวัตร แต่จะไม่ถือข้อนี้ก็ได้ เช่น บางท่านฉันวันละมื้อ ฉันในบาตร อยู่ป่าช้า ไม่นอน ข้อวัตรเหล่านั้นก็ถือเป็นธุดงค์เช่นกัน อย่างไรก็ตามหลายท่านเห็นความสำคัญของการจาริกไปอยู่ป่าเพื่อบำเพ็ญธุดงควัตรข้ออื่น ๆ ให้เข้มงวดขึ้น เมื่อทำจนกลายเป็นประเพณี คำว่า “ธุดงค์”จึงมีความหมายหดแคบลงจนกลายเป็นการเดินจาริกในป่า หรือจาริกไปในที่ต่าง ๆ ที่ลำบาก

    สมัยก่อนการธุดงค์ในป่าเต็มไปด้วยภยันตราย ทั้งจากสัตว์ป่า เช่น ช้าง เสือ งูพิษ และจากเชื้อโรคนานาชนิด โดยเฉพาะมาลาเรีย มีพระจำนวนไม่น้อยที่ทิ้งชีวิตไว้ในป่า ส่วนที่รอดมาได้ก็มักมีเรื่องเล่าที่น่ากลัวชวนครั่นคร้าม แต่ก็มิอาจสกัดกั้นพระกรรมฐานที่มุ่งบำเพ็ญเพียรโดยพร้อมเอาชีวิตเข้าแลก หลายท่านได้ประสบพบภัยต่าง ๆ อย่างไม่คาดคิด แต่ก็ได้อาศัยเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นเครื่องฝึกฝนจิต ช่วยเสริมสร้างบารมีธรรมของท่านให้กล้าแกร่งขึ้น

    หลวงปู่ขาว อนาลโย เป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ที่นิยมจาริกในป่าแต่ผู้เดียว คืนหนึ่งขณะที่ท่านเดินจงกรมในป่าจังหวัดลำปาง ได้ยินเสียงช้างร้องดังสนั่นและหักกิ่งไม้มาตลอดทาง ตรงมายังท่าน ท่านจึงรีบออกจากทางจงกรม และจุดเทียนปักรอบ ๆ ทางจงกรม เผื่อจะช่วยยับยั้งช้างไม่ให้มาทำร้ายท่าน จากนั้นท่านก็ตั้งจิตอธิษฐาน ขออำนาจพระรัตนตรัยคุ้มครองท่านให้ปลอดภัย

    เมื่อช้างป่ามาถึง ท่านเดินจงกรม จิตกำหนดอยู่กับพุทโธอย่างเดียว ไม่สนใจช้าง ตอนนั้นท่านเตือนใจตนเองว่า “ขอเพียงให้ใจเราอยู่กับพุทโธเป็นพอ เมื่อเวลาจิตจะดับด้วยถูกช้างกระทืบ จะได้ไปสู่สุคติ หรือไม่ก็บรรลุนิพพานไปเลย”

    ช้างป่าเห็นท่านเดินจงกรมอย่างสงบ ก็ยืนนิ่ง ไม่เข้ามาทำอะไรท่าน ครั้นแสงเทียนเริ่มดับไปทีละดวง ช้างป่าก็หันกลับไปทางเก่า แล้วไม่หวนกลับมาอีก ส่วนหลวงปู่ขาวก็ยังคงเดินจงกรม จิตเป็นหนึ่งเดียวกับพุทโธ พักใหญ่ท่านก็ออกจากสมาธิ

    หลวงปู่ขาวได้พูดถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “ได้เห็นความอัศจรรย์ของจิตและพุทโธ ประจักษ์ในคราวนั้นอย่างลึกซึ้งมาก นับจากนั้นมาแล้วทำให้เกิดความมั่นใจขึ้นว่า ถึงจะเป็นเรื่องอะไร เหตุการณ์ใดก็ตามที ถ้าจิตกับพุทโธได้เข้ากันสนิทสนมกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยหลักธรรมชาติแล้ว อะไรก็ไม่สามารถที่จะมาทำอันตรายเราได้อย่างแน่นอน”

    หลวงปู่บุดดา ถาวโร เป็นพระกรรมฐานรุ่นเดียวกับหลวงปู่ขาว และนิยมการธุดงค์ในป่าเช่นกัน เมื่อครั้งยังเป็นพระหนุ่ม วันหนึ่งขณะบำเพ็ญสมาธิภาวนาในถ้ำ ท่านได้กลิ่นสาบแปลก ๆ เกิดความกลัวขึ้นมา ไม่กล้าลืมตาดูว่าอะไรอยู่ข้างหน้า ตอนนั้น เหงื่อแตกจนชุ่มตัว ต้องตั้งสติอยู่นานจนจิตเริ่มสงบ แล้วบอกกับตัวเองว่า “สิ่งที่ไม่เคยเห็น ก็เมื่อจะได้เห็น ทำไมกลับจะกลัวอะไรเล่า เอาเถอะถ้าจะตาย ถึงไม่ลืมตาดูก็ต้องตายเหมือนกัน หนีไม่พ้นแน่ ถ้ำแคบ ๆ อย่างนี้ถึงหลับตาก็วุ่นวายใจ สู้ดูให้รู้แก่ตาเสียเถิด”

    แล้วหลวงปู่ก็ลืมตาดู สิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าคือ “งูใหญ่ตัวยาวหลายวา หัวขนาดเกือบเท่าลูกมะพร้าว นัยน์ตาแดงฉาน แลบลิ้นแปลบ ๆ ชูดคอจ้องอยู่เบื้องหน้าแค่วาเดียว”

    หลวงปู่ตกตะลึง นั่งตัวแข็ง เพราะคาดไม่ถึงว่าจะเจองูยักษ์ ขณะที่ท่านคิดหาทางออกอยู่นั้น ก็พลันระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย สติกลับคืนมา แล้วก็หลับตา ตั้งใจว่าพร้อมอุทิศร่างนี้ให้แก่งูยักษ์ จิตจึงปล่อยวาง ไม่มีความอาลัยในชีวิตนี้ต่อไป งูยักษ์นิ่งอยู่พักใหญ่ ไม่ทำอะไรท่าน เมื่อท่านลืมตา งูยักษ์ก็หายไปแล้ว

    ในยามที่อันตรายมาประชิดตัว หากตื่นตระหนก ลืมตัว คิดแต่จะต่อสู้ปกป้องชีวิต กลับเป็นผลร้ายแก่ตัวเอง ยามนี้ดีที่สุดคือ การตั้งสติ ทำกายและใจให้สงบนิ่ง แนบแน่นในพระรัตนตรัย พร้อมตาย ไม่หวงแหนชีวิต ปล่อยวางทุกสิ่ง

    บ่อยครั้ง ความกลัวตายกลับเร่งความตายให้มาถึงเร็วเข้า แต่ทันทีที่พร้อมตาย กลับรอดพ้นจากความตาย
    ..................................................................
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,479
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    lpKK01.jpg
    เรื่องเล่าเช้าวันพระ : เห็นทั้งข้างนอกและข้างใน

    หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ

    วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
    พระไพศาล วิสาโล
    หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ ออกบวชเมื่ออายุ ๓๐ ปี จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นหลังจากได้ไปปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ที่วัดป่าพุทธยาน จังหวัดเลย ก่อนหน้านั้นท่านชอบภาวนาแนวสมถะ คือมุ่งความสงบ อยากนั่งนิ่ง ๆ จนบ่อยครั้งรู้สึกเพลิดเพลินในนิมิตที่เกิดขึ้น

    ครั้นมาภาวนากับหลวงพ่อเทียน ท่านสอนให้หมั่นรู้สึกตัวอยู่เสมอ โดยกำหนดรู้อยู่กับการยกมือเป็นจังหวะ ไม่ให้เข้าไปอยู่ในความสงบ ซึ่งสวนทางกับวิธีการที่ท่านฝึกมา ทีแรกก็ไม่อยากทำ นึกคัดค้านในใจ แต่หลังจากได้รับการยืนยันจากหลวงพ่อเทียนว่า หากทำจริง ๆ จิตใจจะเปลี่ยนไปจากเดิม ท่านจึงปลงใจปฏิบัติตามคำสอนของหลวงพ่อเทียนอย่างจริงจัง

    วันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังปฏิบัติอยู่ในกุฏิ หลวงพ่อเทียนได้เดินมาที่หน้าประตูซึ่งปิดอยู่ แล้วถามว่า
    “อยู่นี่หรือ?”
    “อยู่ครับหลวงพ่อ”
    “ทำอะไร?”
    “สร้างจังหวะครับ”
    “เห็นทั้งข้างนอกทั้งข้างในไหม”
    “ไม่เห็นข้างนอกครับ เห็นแต่ข้างใน”
    “ถ้าอยากเห็นข้างนอกทำอย่างไร?”
    “เปิดประตูออกครับ”
    “เอ้า ลองเปิดประตูออกมาดู”

    พอโยมคำเขียนลุกไปเปิดประตู หลวงพ่อเทียนก็ถามว่า “เห็นข้างนอกไหม” ท่านตอบว่า “เห็นครับ”

    “เห็นข้างในไหม” ท่านตอบว่า “เห็นครับ” แล้วหลวงพ่อเทียนก็ย้ำว่า “ให้เห็นทั้งข้างนอกข้างในนะ อย่าให้เห็นแต่ข้างนอกและอย่าให้เห็นแต่ข้างในนะ ดูตรงกลาง ๆ นี้นะ”

    โยมคำเขียนคิดอยู่สักพัก ก็นึกไม่ออก ว่าหลวงพ่อเทียนต้องการบอกอะไรท่าน ครั้นลองปฏิบัติดูก็ได้คำตอบ หลวงพ่อเทียนแนะท่านว่า อย่าคิดออกไปข้างนอกและอย่าเพ่งเข้าข้างใน นี้เป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับโยมคำเขียน ทำให้ท่านคลายการเพ่งหรือบังคับจิตให้สงบ แต่ให้กลับมารู้สึกตัว รู้ทันความคิดที่เกิดขึ้นภายใน โดยไม่พลัดเข้าไปในความคิดนั้น ครั้นมีอะไรภายนอกมากระทบ ก็รู้แต่ไม่ปล่อยจิตออกไปหรือปรุงแต่งต่อ

    หลังจากปฏิบัติธรรมหนึ่งเดือนกับหลวงพ่อเทียน ท่านเกิดความเปลี่ยนแปลงทางจิต จึงตัดสินใจออกบวช และปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนอย่างต่อเนื่อง ภายหลังได้ท่านได้รับมอบหมายจากหลวงพ่อเทียนให้ไปสอนธรรมตามที่ต่าง ๆ ก่อนจะขึ้นมาอยู่ที่วัดป่าสุคะโตซึ่งหลวงพ่อบุญธรรม อุตฺตมธมฺโม ญาติผู้พี่ ได้มาบุกเบิกเอาไว้

    ระหว่างสอนธรรมตามที่ต่าง ๆ มีปัญหานานาชนิดเกิดกับผู้ปฏิบัติที่ต้องอาศัยท่านช่วยแก้ให้ คราวหนึ่งที่วัดโมกขวนาราม จังหวัดขอนแก่น ท่านสังเกตว่าผู้เฒ่าคนหนึ่งไม่มาทำวัตรเช้า ครั้นถึงเวลาอาหารก็ไม่ปรากฏตัว ท่านจึงไปหาที่กุฏิ พอถามเขาว่าเป็นอะไร เขาก็เรียกให้หลวงพ่อช่วยเขาด้วย เพราะมือเขาติดอยู่ตรงหน้าท้องตั้งแต่ตีสาม ยกมือเท่าไหร่ก็ยกไม่ออก

    หลวงพ่อคำเขียนได้ยินเช่นนั้นก็รู้เลยว่าเขายกมือสร้างจังหวะแต่วางใจไม่ถูก พยายามบังคับจิต และเพ่งมากไป จึงเกิดอาการดังกล่าว แต่แทนที่ท่านจะแนะนำให้เขาทำใจสบาย ๆ ท่านกลับชวนเขาคุยเรื่องครอบครัว ถามว่าโยมมีลูกกี่คน มีครอบครัวกันหมดแล้วยัง แล้วตอนนี้โยมอยู่กับใคร ทำอะไรบ้าง คิดถึงหลานบ้างไหม ระหว่างที่เขาพูดคุยกับหลวงพ่อ มือของเขาก็ตกลงมา แต่เขายังไม่รู้ตัว ท่านชวนคุยต่อสักพัก เขาถึงได้รู้ว่ามือกลับมาเป็นปกติแล้ว

    หลวงพ่อคำเขียนอธิบายว่า ปัญหาของชายผู้นี้เกิดจากการที่ “จิตมันเข้าข้างในจนติดอยู่ในนั้น” สิ่งที่ท่านทำก็คือ “ล่อจิตเขาให้ออกไปข้างนอก” การส่งจิตออกนอกไม่ใช่สิ่งที่นักปฏิบัติควรทำ แต่ถ้าจิตเพ่งเข้าในมากจนเกิดอาการวิปริตผิดเพี้ยน ทางเดียวที่จะช่วยได้คือ “ล่อ” จิตให้ออกไปสนใจสิ่งนอกตัวแทน

    วัดสนามในเป็นอีกแห่งหนึ่งที่หลวงพ่อคำเขียนเคยไปสอนธรรมเป็นประจำ มีนักปฏิบัติผู้หนึ่งตั้งใจภาวนามากเกินไป จนเกิดนิมิตอย่างแรง หลงตัวว่าบรรลุธรรมแล้ว เอาแต่เดินจงกรมอยู่บนสะพานลอยตลอดคืน ตำรวจไปพูดให้กลับลงมา เขาก็ไม่ยอม สอนตำรวจว่า พระอาทิตย์จะขึ้นจะลงห้ามไม่ได้ สุดท้ายตำรวจต้องพามาส่งที่วัดสนามใน หลวงพ่อพยายามแก้อารมณ์เท่าไรก็ไม่หาย จึงพากลับวัดป่าพุทธยาน แล้วชวนให้โยมผู้นั้นขุดหลุมสร้างส้วม พื้นดินบริเวณนั้นเป็นหินลูกรังขุดยากมาก พอเขาขุดไปได้หนึ่งเมตร ท่านก็บอกเขาว่าขุดไม่ถูกที่ ต้องย้ายไปขุดอีกที่หนึ่ง หลังจากขุดนานนับชั่วโมงจนเหงื่อไหลเต็มตัว นิมิตก็จางหาย ความรู้สึกตัวกลับมา จึงเป็นปกติ

    สมาธิภาวนาหรือการปฏิบัติธรรม แม้จะเป็นของดี แต่หากวางใจไม่เป็น ก็อาจเกิดโทษได้ นั่นคือทำให้หลงตัวลืมตนจนมีอาการผิดเพี้ยนได้ การสร้างความรู้สึกตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักปฏิบัติ หากละเลยการทำความรู้สึกตัวแล้ว อย่าว่าแต่จุดมุ่งหมายสูงส่งทางธรรมเลย แม้แต่การดำรงชีวิตสามัญอย่างชาวโลก ก็มิอาจทำได้
    ..................................................................................
     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,479
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    ltaBua.jpg
    เรื่องเล่าเช้าวันพระ : สมาธิแบบหมูขึ้นเขียง

    หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

    วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
    พระไพศาล วิสาโล
    ในยุคนี้ไม่มีศิษย์หลวงปู่มั่นท่านใดที่ผู้คนรู้จักและเคารพนับถืออย่างกว้างขวางเท่าหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน หรือ พระธรรมวิสุทธิมงคล ขณะเดียวกันท่านก็เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการทำให้สาธุชนทั้งประเทศรู้จักหลวงปู่มั่นและเลื่อมใสปฏิปทาของท่าน

    หลวงตามหาบัวได้ยินกิตติศัพท์ของหลวงปู่มั่นตั้งแต่ยังเด็ก เพราะหลวงปู่เคยมาจำพรรษาที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ไม่ไกลจากบ้านเกิดของท่าน ต่อมาเมื่อท่านอุปสมบทเพื่อทดแทนบุญคุณพ่อแม่ตามประเพณี ได้ศึกษาพุทธประวัติและประวัติพระอรหันต์แล้ว ก็เกิดความเลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ปรารถนาความพ้นทุกข์ แต่ท่านเห็นว่าควรศึกษาปริยัติธรรมก่อน จะได้เข้าใจวิธีการปฏิบัติ เจ็ดพรรษาแรกของท่านจึงเป็นช่วงแห่งการเล่าเรียนปริยัติธรรม เมื่อสำเร็จเปรียญธรรม ๓ ประโยค ท่านก็มุ่งหน้าสู่การปฏิบัติอย่างเต็มที่ โดยบุคคลแรกและบุคคลเดียวที่ท่านปรารถนาให้เป็นครูบาอาจารย์ก็คือ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

    ท่านได้จาริกข้ามจังหวัดจนได้พบหลวงปู่มั่นที่จังหวัดสกลนคร ซึ่งตอนนั้นอยู่ในช่วงปัจฉิมวัยแล้ว เมื่อได้ศึกษากับท่านก็รู้สึกประทับใจ และมั่นใจว่า “นี่แหละอาจารย์ของเรา” ท่านจึงตั้งสัจจะอธิษฐานว่าจะไม่หนีจากหลวงปู่มั่นจนกระทั่งวันที่ท่านล่วงลับ หลวงปู่มั่นแนะนำพระหนุ่มว่าให้ยกปริยัติไว้ก่อนแล้วการปฏิบัติจะประสานกลมกลืม นับแต่นั้นท่านก็ทำความเพียรอย่างจริงจัง หักโหมทั้งร่างกายและจิตใจ นั่งสมาธิจนถึงรุ่งเช้าติดต่อกันหลายวันอยู่เนือง ๆ เป็นเช่นนี้ตลอดสองพรรษาแรกที่ได้อยู่กับหลวงปู่มั่น เมื่อถึงพรรษาที่สิบแห่งการบวช จิตของท่านก็เป็นสมาธิอย่างมั่นคง

    ท่านได้พูดถึงภาวะตอนนั้นว่า “สมาธิมีความแน่นหนามั่นคง ถึงขนาดที่ว่าจะให้แน่วอยู่ในสมาธินั้นสักกี่ชั่วโมงก็อยู่ได้ และเป็นความสุขอย่างยิ่งจากการที่จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน รำคาญ ไม่อยากจะออกยุ่งกับอะไรเลย ตาก็ไม่อยากดู หูก็ไม่อยากฟัง เพราะมันเป็นการยุ่งรบกวนจิตใจให้กระเพื่อมเปล่า ๆ”

    ท่านเล่าว่า “เราติดสมาธิอยู่ถึง ๕ ปี จิตสงบแน่วแน่ ไม่หวั่นไหวดั่งภูผาหิน อยู่ที่ไหนสงบสบายหมด” ความสุขที่เกิดขึ้นจากสมาธิทำให้ท่านเข้าใจว่า “นี่ละจะเป็นนิพพาน” ท่านจึงหยุดนิ่ง ไม่ก้าวสู่การเจริญปัญญา เพื่อถอดถอนกิเลสให้สิ้นซาก ไม่ว่าจาริกไปไหน จิตของท่านก็แน่วแน่อยู่ในสมาธิ

    อาการดังกล่าวอยู่ในความรับรู้ของหลวงปู่มั่นโดยตลอด วันหนึ่งท่านจึงเรียกพระมหาบัวมาแล้วถามว่า “เป็นยังไงท่านมหา จิตสงบดีอยู่เหรอ?”
    “สงบดีอยู่ สงบดีอยู่ครับ”
    หลวงปู่มั่นนิ่งสักพัก ก็ถามอีกว่า “เป็นยังไงจิตสงบดีอยู่เหรอ?”
    “สงบดีอยู่ครับ”

    และแล้วหลวงปู่มั่นก็พูดเสียงแข็ง สีหน้าเอาจริง “ท่านจะนอนตายอยู่นั่นเหรอ?”

    “สมาธิมันเหมือนหมูขึ้นเขียง มันถอดถอนกิเลสตัณหาที่ตรงไหน? สมาธิทั้งแท่งเป็นสมุทัยทั้งแท่ง ท่านรู้ไหม? สุขในสมาธิเท่ากับเนื้อติดฟัน เนื้อติดฟันเรามันเป็นสุขที่ไหน? ท่านรู้ไหม?”

    ฝ่ายพระหนุ่มก็แย้งว่า “ถ้าว่าสมาธิเป็นสมุทัยทั้งแท่ง แล้วสัมมาสมาธิจะให้เดินที่ไหนในมรรคแปด”
    หลวงปู่มั่นตอบว่า “มันก็ไม่ใช่สมาธิตายนอนตายอยู่อย่างนี้ซิ สมาธิของพระพุทธเจ้า ไม่ได้เป็นเหมือนสมาธิแบบหมูขึ้นเขียงอย่างท่านนี่นะ สมาธิของพระพุทธเจ้า สมาธิต้องรู้สมาธิ ปัญญาต้องรู้ปัญญา อันนี้มันเอาสมาธิเป็นนิพพานเลย มันบ้าสมาธินี่ สมาธินอนตายอยู่นี้เหรอ เป็นสัมมาสมาธิน่ะ เอ้า ๆ พูดออกมาซิ”

    การสนทนาแบบร้อนแรงอย่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยในสำนักของหลวงปู่มั่น หลวงตามหาบัวเล่าว่า ตอนนั้นพระทั้งวัดแตกฮือกันมายืนอออยู่ใต้ถุนกุฏิ เพื่อฟังการโต้เถียงระหว่างท่านกับหลวงปู่มั่น

    หลังจากที่โดนอาจารย์สั่งสอนอย่างแรง พระหนุ่มก็ได้คิด หลวงตามหาบัวพูดถึงความรู้สึกตอนนั้นว่า “พอท่านซัดเอา เราก็หมอบ พอลงมาจากกุฏิท่านแล้วก็มาตำหนิตัวเอง เราทำไมจึงไปซัดกับท่านอย่างนี้ เรามาหาท่านเพื่อหวังเป็นครูเป็นอาจารย์ มอบกายถวายตัวกับท่านแล้ว แล้วทำไมจึงต่อสู้กับท่านแบบนี้ล่ะ ถ้าเราเก่งมาหาท่านทำไม ถ้าไม่เก่งไปเถียงท่านทำไม”

    นับแต่นั้นท่านก็ออกจากสมาธิ หันมาพิจารณาธาตุขันธ์ ปัญญาก็เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะมีสมาธิเป็นฐานอยู่แล้ว ทำให้สามารถแก้กิเลสได้เป็นลำดับ ท่านได้เห็นด้วยตัวเองว่า กิเลสนั้นแก้ไม่ได้ด้วยสมาธิ แต่ต้องแก้ด้วยปัญญาต่างหาก ข้อสรุปดังกล่าวทำให้การทำกรรมฐานของท่านก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง จนสามารถรื้อถอนกิเลสได้ในที่สุด

    เมื่อย้อนระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น หลวงตามหาบัวกล่าวด้วยความซาบซึ้งในบุญคุณของหลวงปู่มั่นว่า “หากไม่มีท่านอาจารย์มั่นมาฉุดมาลากออกไป ก็จะติดสมาธิอยู่เช่นนี้กระทั่งวันตายเลยทีเดียว”
    ..............................................................................
     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,479
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    lpTow2.jpg
    เรื่องเล่าเช้าวันพระ : อุบายคลายโกรธ

    หลวงพ่อโต พรหมรํสี

    วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๘
    พระไพศาล วิสาโล

    หลวงพ่อโต พรหมรํสี เป็นพระที่มีบุคคลิกโดดเด่นที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๔ แม้ได้รับสมณศักดิ์เป็นถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์ แต่ท่านกลับใช้ชีวิตอย่างสมถะ ไม่มีพิธีรีตองราวกับเป็นพระธรรมดา ความรู้ทางพระธรรมวินัยของท่านจัดว่าแตกฉาน แต่ท่านกลับไม่เคร่งครัดในแบบแผน ขนบธรรมเนียมหลายอย่างที่ผู้คนยึดติดถือมั่น ท่านไม่สนใจเอาเลย ปฏิบัติตนอย่างผ่อนคลาย เป็นกันเอง และเปี่ยมด้วยเมตตา

    เป็นที่ร่ำลือกันว่า ใครมานิมนต์ท่าน ไม่ว่ายากดีมีจน ท่านไม่เคยปฏิเสธ แต่จะไปเทศน์เมื่อใด ท่านไม่เคยกำหนดเวลา บางคราวเจ้าของบ้านหลับแล้ว ท่านไปถึงก็นั่งเทศน์ที่ประตูบ้าน เทศน์ตรงหัวบันไดบ้านก็เคย คราวหนึ่งท่านไปเทศน์ต่างจังหวัด ถึงที่หมายตอนยามสาม (ประมาณตี ๓-๖ โมงเช้า) ผู้คนนอนหลับกันหมดแล้ว ท่านสั่งให้คนแจวเรือตีกลองดังตูม ๆ แล้วก็เทศน์ชูชกอยู่แต่ผู้เดียว ชาวบ้านต้องลุกมาฟังท่านจนสว่าง

    ท่านเคยนั่งเรือไปทอดกฐินที่อ่างทอง ระหว่างทางได้แวะจำวัดบนโบสถ์แห่งหนึ่ง กลางดึกขณะที่คนเรือนอนหลับ ขโมยได้ล้วงเอาเครื่องกฐินไปหมด เมื่อท่านรู้ แทนที่จะโมโห กลับดีใจ ขณะที่นั่งเรือกลับ ชาวบ้านถามท่านว่าทอดกฐินเสร็จ ท่านตอบว่า “ทอดแล้วจ้า แบ่งบุญให้ด้วย” กลางทางท่านซื้อหม้อบรรทุกเต็มลำ ใครถามท่านว่าซื้อไปทำไมมากมาย ท่านตอบว่า “ไปแจกชาวบางกอกจ้า” กว่าจะถึงวัดระฆัง ท่านก็แจกหม้อจนหมด ปรากฏว่าวันนั้นหวยออก ม หันหุนเชิด คนที่คอยดูหวยจากท่าน ถูกกันมากมาย

    คราวหนึ่งท่านกำลังจำวัดในกุฏิที่วัดระฆัง ขโมยได้เจาะพื้นกุฏิเพื่อล้วงเอาข้าวของที่วางเกลื่อน แต่ล้วงไม่ถึง ท่านเห็นแล้วก็สงสาร ช่วยเอาไม้เขี่ยของเหล่านั้นให้ใกล้มือขโมย ได้ของไปแล้วก็ยังไม่พอใจ ขโมยยังจะเอาเรือใต้ถุนกุฏิไปด้วย ระหว่างที่เข็นเรืออยู่ ท่านก็เปิดหน้าต่างแล้วบอกขโมยว่า “เข็นเบา ๆ หน่อยจ้า ถ้าดังไปพระท่านได้ยินเข้า ท่านจะตีเอาเจ็บเปล่าจ้า” ท่านยังแนะนำขโมยด้วยว่า “เข็นเรือบนที่แห้ง เขาต้องเอาหมอนรองข้างท้ายให้โด่งก่อนจ้า ถึงจะกลิ้งสะดวกดี เรือก็ไม่ช้ำไม่รั่วจ้า” ขโมยได้ยินเช่นนั้น ก็รู้สึกเกรงใจท่าน ไม่เข็นต่อ แล้วค่อย ๆ ย่องออกไปพร้อมกับของที่ล้วงมาได้

    หลวงพ่อโตมีวิธีสอนธรรมแปลก ๆ ท่านเคยไปเทศน์คู่กับพระพิมลธรรม (ถึก) แห่งวัดพระเชตุพน ขณะอยู่บนธรรมาสน์ เจ้าคุณพิมลธรรมได้ตั้งประเด็นขึ้นว่า “โทโสเป็นกิเลสสำคัญ พาเอาเจ้าของต้องเสียทรัพย์ เสียชื่อเสียงเงินทอง เสียน้องเสียพี่ เสียที่เสียทาง เสียเหลี่ยมเสียแต้ม ก็เพราะลุแก่อำนาจโทโส ให้โทษให้ทุกข์แก่เจ้าของมากนัก” จากนั้นก็ถามหลวงพ่อโต ซึ่งมีสมณศักดิ์สูงกว่าท่านว่า “โทโส(เมื่อ)จะเกิดขึ้น เกิดตรงที่ไหนก่อนนะขอรับ ขอให้แก้ให้ขาว”

    ระหว่างนั้นหลวงพ่อโตแกล้งทำเป็นหลับ ไม่ได้ยินคำถาม ซ้ำยังกรนเสียด้วย เจ้าคุณพิมลธรรมจึงถามซ้ำ ๒-๓ ครั้ง ท่านก็นั่งเฉย เจ้าคุณพิมลธรรมจึงโมโห ตวาดเสียงดังว่า “ถามแล้วไม่ฟังนั่งหลับใน” ว่าเช่นนี้ถึงสองครั้ง หลวงพ่อโตแกล้งตื่นแล้วด่าออกไปว่า “อ้ายเปรต อ้ายกาก อ้ายห่า อ้ายถึก กวนคนหลับ”

    ท่านเจ้าคุณพิมลธรรมได้ยินเช่นนี้ก็โกรธจัด คว้ากระโถนปามายังหลวงพ่อโต แต่พลาดไปโดนเสาศาลา แตกดังเปรี้ยง ผู้คนแตกตื่นตกใจ แต่หลวงพ่อโตนิ่งสงบ แล้วกล่าวกับญาติโยมว่า โทโสโอหังเกิดขึ้นเมื่ออนิฏฐารมณ์ คือ รูปที่ไม่น่าดู เสียงที่ไม่น่าฟัง กลิ่นที่ไม่น่าดม รสที่ไม่น่ากิน สัมผัสที่ไม่สบาย และความคิดที่ไม่ถูกใจ มากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

    “เมื่อสำรวมไม่ทันจึงดันออกข้างนอกให้คนอื่นรู้ว่าเขาโกรธ ดังเช่นเจ้าคุณพิมลธรรมเป็นตัวอย่าง ถ้าเขายอท่านว่าพระเดชพระคุณแล้วท่านยิ้ม พอเขาด่าก็โกรธ”

    อย่างไรก็ตามท่านได้ชี้ว่า แม้โทโสเกิดขึ้น “โทโสก็ไม่มีอำนาจกดขี่เจ้าของได้เลย เว้นแต่เจ้าของโง่เผลอสติ เช่น พระพิมลธรรมถึกนี้ โทโสจึงกดขี่ได้” หลวงพ่อโตสรุปด้วยการบอกญาติโยมให้ดูท่านเจ้าคุณพิมลธรรมเป็นตัวอย่าง “ตัวท่านเป็นเพศพระ ครั้นท่านขาดสังวร ท่านก็กลายเป็นโพระ กระโถนเลยแตกโพละ เพราะโทโสของท่าน....จงจำไว้ทุกคนเทอญ”

    นอกจากมีความสามารถในการชี้ให้คนเห็นถึงสาเหตุและโทษของความโกรธแล้ว หลวงพ่อโตยังมีอุบายในการเตือนสติให้คลายความโกรธด้วย ไม่เว้นแม้กระทั่งความโกรธของพระเจ้าแผ่นดิน

    ปลายสมัยรัชกาลที่ ๔ พระองค์ได้นิมนต์พระมาสวดอภิธรรมในงานบำเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว วังหน้า ซึ่งเพิ่งเสด็จสวรรคต เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงพระที่นั่งซึ่งจัดงาน พระทั้ง ๘ รูปก็ตกใจ ด้วยเกรงพระบรมราชานุภาพ พากันวิ่งหนีไปแอบในม่านที่กั้นพระโกศ พระองค์จึงกริ้วมาก ตรัสว่า “ดูซิ ดูซิ ดูถูกข้า มาเห็นข้าเป็นเสือ เป็นยักษ์ เอาไว้ไม่ได้ ต้องให้มันสึกให้หมด” ว่าแล้วก็ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปยังหลวงโต เพื่อให้ทำการสึกพระเหล่านั้น

    หลวงพ่อโตอ่านแล้ว ก็จุดธูป ๓ ดอก จี้ที่กระดาษบริเวณที่ว่างจากลายพระหัตถ์ แล้วส่งคืน โดยไม่พูดอะไร และไม่ได้ทำตามรับสั่ง ครั้นพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นรู ๓ รูในกระดาษ ก็ทรงทราบความหมาย รับสั่งว่า “อ้อ ท่านให้เราดับราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นไฟ ๓ กอง งดที งดที เอาเถอะ ๆ ถวายท่าน” จากนั้นทรงมีรับสั่งให้ไปนำตัวพระทั้ง ๘ มานั่งประจำที่ แล้วทรงแนะนำสั่งสอนให้ท่านรู้ระเบียบจรรยาในการรับเสด็จหน้าพระที่นั่ง

    เป็นอันว่าเรื่องนี้จบลงด้วยดีเพราะปรีชาญาณของหลวงพ่อโต
    .................................. RoseUnderline.gif
     

แชร์หน้านี้

Loading...