เรื่องเด่น เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งแดน ล้านนา

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 5 มีนาคม 2017.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน รถมอร์เตอร์คาร์เจ็กโหงว
    17265133_10212449193774575_1661253416075008894_n.jpg
    สมัยนั้นรถยนต์ที่เชียงใหม่ และลำพูนแทบจะนับคันได้ หลังจากที่ทางรถไฟสายเหนือสร้างถึงเมืองลำพูนที่ตำบลวังตอง จึงมีการนำรถยนต์จากกรุงเทพฯ ขึ้นรถไฟไปใช้ที่เชียงใหม่

    ในบรรดาคหบดีที่มีรถยนต์ใช้เป็นสมัยแรกของนครเชียงใหม่นั้น เจ็กโหงว เถ้าแก่ห้างเตียวเมี่ยงไถ่ที่นครเชียงใหม่ นับเป็นคหบดีคนแรกคนหนึ่ง ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นคนร่ำรวย ที่มีรถมอร์เตอร์คาร์ใช้ในเมืองนี้ รถเจ็กโหงวนั้นเป็นรถฟอร์ดชั้นดีเป็นที่ ๑ สามารถวิ่งจากเชียงใหม่ไปลำพูนที่มีระยะทางเวลานั้นห่างกัน ๒๖ กิโลเมตร ในเวลานั้นใช้เวลาวิ่ง ๒ - ๓ ชั่วโมง

    เมื่อทางบ้านเมืองมีความจำเป็นที่จะต้องนำครูบาศรีวิชัยไปสู่เชียงใหม่โดยด่วน จึงได้ใช้บริการรถมอร์เตอร์คาร์ของเจ๊กโหงว ไปรับครูบาศรีวิชัยที่ลำพูนซึ่งเจ็กโหงวก็ยินดี แต่ทางราชการต้องเช่าในราคา๒๐ รูปี หรือเทียบเงินไทยเวลานั้นเท่ากับ ๑๖ บาท สมัยนั้นในนครเชียงใหม่ใช้เงินรูปีแพร่หลายมาจากพม่า ซึ่งความจริงแล้วเงินรูปีเป็นสกุลเงินของอินเดีย แต่ทว่าเมื่ออังกฤษได้ปกครองอินเดีย อังกฤษก็นำเงินรูปีของอินเดียมาใช้ในพม่าด้วย และเงินรูปีจึงได้แพร่มาสู่เชียงใหม่ของไทยเรา

    เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๒ นั้น เงิน ๑ แถบ หรือ ๑ รูปี มีค่า ๘๐ สตางค์ ฉะนั้น เจ็กโหงวจึงให้เช่ารถมอร์เตอร์คาร์ไปกลับเชียงใหม่ ลำพูนคิดเป็นเงิน ๑๖ บาท ซึ่งนับว่าเป็นค่าเช่าจำนวนไม่น้อยเลยสมัยนั้น ทางราชการยินดีจ่าย เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะนำครูบาศรีวิชัยมาให้พ้นจากเมืองลำพูนโดยเร็ว

    เจ็กโหงว เถ้าแก่ห้างเตียวเมี่ยงไถ่ผู้นี้ ต่อมากลายเป็นสานุศิษย์สำคัญของครูบาศรีวิชัยอีกผู้หนึ่ง ที่สละเงินสละกำลังกายช่วยครูบาศรีวิชัย ในการสร้างสาธารณประโยชน์ต่างๆ ร่วมกับครูบาศรีวิชัย เช่น การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพฯ เป็นต้น เจ็กโหงว ก็มีบทบาทไม่น้อย
     
  2. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน ชุลมุนในวันที่เทพเจ้าต๋นบุญจะไปเชียงใหม่
    17190358_10212449230255487_9097074635014650111_n.jpg
    สายวันนั้น

    ชาวเมืองลำพูนนับจำนวนพัน และภิกษุสามเณร ตลอดจนสานุศิษย์ของครูบาศรีวิชัย รวมทั้งชาวป่าชาวเขาจำนวนมากด้วยนั้น พากันตื่นเต้นที่ได้เห็นรถมอร์เตอร์คาร์มาถึงวัดพระธาตุหริภุญชัย เพราะเกือบทุกคน ตั้งแต่เกิดมาเพิ่งจะเคยเห็นรถยนต์เป็นครั้งแรก

    ทันทีที่สานุศิษย์ทั้งหลาย ได้ทราบข่าวว่า มอร์เตอร์คาร์คันนี้ อุปราชมณฑลพายัพส่งมารับครูบาศรีวิชัย เพื่อนำท่านไปสอบสวนที่นครเชียงใหม่นั้น ความอลเวงก็เกิดขึ้นที่วัดพระธาตุหริภุญชัยอีกครั้งหนึ่ง แรกทีเดียวสานุศิษย์ทุกคนต่างส่งเสียงคัดค้านกันอึ่งมี่ ไม่ยอมให้นำครูบาศรีวิชัยไปเชียงใหม่ เพราะไม่รู้ว่าท่านจะเป็นอย่างไรบ้าง เหตุชุลมุนนี้ ทำท่าจะลุกลามไปกันใหญ่โต ร่ำๆ จะเกิดใช้กำลังกันขึ้น แต่ครูบาศรีวิชัยได้ขอร้องให้สานุศิษย์ทุกคน ตั้งอยู่ในความสงบ ท่านเชื่อว่าตัวของท่านเองบริสุทธิ์ ฉะนั้นขออย่าให้ได้เป็นห่วงเลย

    ภิกษุสามเณร และสานุศิษย์ของครูบาศรีวิชัยทุกคน ต่างจะขอร่วมเดินทางไปด้วย ถึงแม้ว่าครูบาศรีวิชัยจะนั่งรถมอร์เตอร์คาร์ไปก็ตาม ภิกษุสามเณร และสานุศิษย์ทุกคนก็พร้อมที่จะเดินด้วยเท้าเข้าสู่นครเชียงใหม่ แต่แล้วก็ไม่สามารถจะทำได้เช่นนั้นได้ เพราะอุปราชมณฑลพายัพได้คาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องเป็นในรูปนี้ จึงมีคำสั่งกำกับว่า ห้ามมิให้ภิกษุสามเณร หรือศิษย์ยาสานุศิษย์ของครูบาศรีวิชัยติดตามไปสู่นครเชียงใหม่เป็นอันขาด ให้ทุกคนรอฟังผลการสอบสวนอยู่ที่ลำพูน ภิกษุสามเณร และสานุศิษย์ครูบาศรีวิชัยไม่ยอม

    ในที่สุด มีการรอมชอมกันขึ้น โดยคณะกรรมการที่มากับครูบาศรีวิชัยยินดีให้พระภิกษุ ๔ รูป ร่วมเดินทางไปกับครูบาศรีวิชัยด้วย โดยนั่งรถคันเดียวกันกับครูบาศรีวิชัย ทั้งนี้เพื่อเป็นตัวแทนของสานุศิษย์ทั้งปวง ในที่สุด ก็ตกลงกันได้ เหตุชุลมุนต่างๆ ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยก็สงบลง

    แล้วนาทีที่สำคัญก็มาถึง

    เมื่อครูบาศรีวิชัยกล่าวอำลาสามเณร และสานุศิษย์จำนวนนับพันที่ชุมนุมกันอยู่ ณ หน้าวัดพระธาตุหริภุญชัย ท่านขอร้องให้อยู่กันอย่างสงบ และแนะนำว่าควรจะกลับไปบ้านปาง หรือถิ่นฐานของแต่ละคน เพื่อทำมาหากินกันต่อไปเช่นเดิม ส่วนสานุศิษย์และสามเณรให้เลือกเอาเองว่า จะกลับไปจำวัดที่บ้านปาง หรือจะไปแสวงหาวัดที่จะพำนักแห่งใดก็ได้ แม้กระทั่ง ภิกษุสามเณรรูปใดจะละสมณเพศท่านก็ไม่ว่า

    ครูบาศรีวิชัย และภิกษุอีก ๔ รูป ก้าวขึ้นนั่งบนมอร์เตอร์คาร์ท่ามกลางสายตาของภิกษุสามเณร และผู้คนจำนวนนับพัน ซึ่งบัดนี้ ต่างยืนนิ่งเงียบด้วยบรรยากาศที่วังเวงไปทั่วพื้นที่นั้น ในขณะนั้นได้เพียงแต่เสียงระเบิดของเครื่องยนต์มอร์เตอร์คาร์ของเจ็กโหงวที่รออยู่นานแล้ว เครื่องยนต์เริ่มทำงาน และนาทีต่อมาเสียงอื้ออึงฟังไม่ได้ศัพท์ก็เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ที่มีทั้งคำอวยชัยให้พร และเสียงแห่งความอาลัย รวมแม้กระทั่งเสียงร้องไห้

    ครูบาศรีวิชัยมิได้หันกลับไปมองภาพนั้นอีกเลย จนกระทั่งรถมอร์เตอร์คาร์วิ่งไปไกลจนไม่ได้ยินเสียงเหล่านั้นอีก ท่านนั่งเงียบสงบเหมือนตกอยู่ในภวังค์ มุ่งหน้าสู่นครเชียงใหม่

    วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๒

    วันนี้เป็นวันแรก และครั้งแรกที่ครูบาศรีวิชัยได้ออกพ้นเขตเมืองลำพูนในชีวิตท่าน เหตุการณ์ข้างหน้านั้น ยังไม่มีใครสามารถจะล่วงรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวครูบาศรีวิชัย
    ครูบาศรีวิชัยก็ถึงนครเชียงใหม่ ชาวเมืองเวียงพิงค์ที่ทราบกิตติศัพท์ของท่าน พอรู้ว่าครูบาศรีวิชัยมาถึงแล้ว ต่างก็พากันออกมายืนสองฝากถนน ที่มอร์เตอร์คาร์ของเจ็กโหงวผ่านไป ต่างก้มกราบทำความเคารพเป็นแถวยาว บ้างก็เดินตามรถที่ครูบาศรีวิชัยนั่งมาทั้งนครเชียงใหม่ต่างก็ตื่นเต้นกับการมาถึงของนักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนรูปนี้ ที่เคยได้ยินแต่ชื่อเสียงล่ำลือมานาน เพิ่งจะเห็นตัวจริงของท่านวันนี้เอง ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องประหลาดอันใด ที่นครเชียงใหม่ในบ่ายวันนั้น จะจอแจคึกคักไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา ที่รวมตัวกันขึ้นเรื่อยๆ ติดตามรถของเจ็กโหงวที่ครูบาศรีวิชัยนั่งมาในที่สุดมอร์เตอร์คาร์ก็นำครูบาศรีวิชัยมาถึงวัดเชตวัน ถนนท่าแพ อันเป็นที่สถิตย์ของเจ้าคณะเมืองเชียงใหม่ ฝูงชนที่ติดตามมา ก็พากันออแน่นอยู่ที่วัดเชตวัน ซึ่งค่อนข้างแคบไปถนัดตา ดังนั้นเจ้าคณะเมืองเชียงใหม่ จึงได้ให้นำครูบาศรีวิชัยไปพำนักอยู่ที่วัดศรีดอนไชย หรือที่คนเชียงใหม่สมัยนั้นเรียกว่า วัดป่ากล้วย อันตั้งอยู่ที่ตำบลช้างคลาน (ริมถนนช้างคลานในตัวเมืองเชียงใหม่) ซึ่งรองเจ้าคณะเมืองเป็นเจ้าอาวาสอยู่ ณ วัดนี้
    สมัยนั้น พระครูสุคันธศีลเป็นรองเจ้าคณะเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเชื่อแน่ว่าท่านคงจะรู้เรื่องราวที่เล่าลือกันมา เกี่ยวกับครูบาศรีวิชัยในด้านที่ไม่เป็นมงคล หรือความจริง ท่านก็คงไม่เต็มใจที่จะรับครูบาศรีวิชัยไว้ที่วัดนี้ แต่เป็นคำสั่งของเจ้าคณะเมือง ซึ่งท่านไม่อาจจะขัดได้ ครูบาศรีวิชัยจึงถูกคุมตัวอยู่ ณ วัดศรีดอนไชยด้วยความลำบากอย่างยิ่งนั่นคือ ท่านถูกกักขังคุมตัวอยู่ที่ศาลาบาตร วัดศรีดอนไชย อันเป็นที่คับแคบ สกปรก และอับชื้น ท่านอยู่ที่ศาลาบาตรแต่เพียงลำพังรูปเดียว เพราะภิกษุที่ติดตามมาจากเมืองลำพูน ๔ รูปนั้น เมื่อมาถึงเชียงใหม่ ก็ถูกห้ามไม่ให้อยู่กับครูบาศรีวิชัยน่าสงสาร ครูบาศรีวิชัยยิ่งนัก เพราะศาลาบาตรที่ได้ถูกจัดให้เป็นที่จำวัด ระหว่างรอการสอบสวนพิจารณาโทษตามข้อกล่าวหานั้น ไม่มีเครื่องใช้ไม้สอยที่จำเป็นสำหรับพระภิกษุแม้แต่ชิ้นเดียว แม้แต่ เสื่อ, หมอน, คนโทน้ำ พื้นของศาลาบาตรก็เป็นดินเหนียวอัดแน่น ที่ท่านจำเป็นต้องนอนอยู่ในวันนี้ ก็ลองคิดดูเถิดขอย้อนกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ลำพูน หลังจากที่ครูบาศรีวิชัยถูกนำขึ้นมอร์เตอร์คาร์ไปสู่นครเชียงใหม่แล้วนั้น เจ้าคณะตำบลคือ พระครูญาณมงคล ร่วมด้วยพระปลัดซ้าย-ขวา และพระครูองค์ต่างๆ ในเมืองลำพูน พร้อมกับข้าหลวงประจำเมือง, นายอำเภอ ได้ร่วมกันประชุมภิกษุสามเณร และสานุศิษย์ของครูบาศรีวิชัย ชี้แจงให้พระภิกษุสามเณรอันเป็นสานุศิษย์ของครูบาศรีวิชัยทราบว่า จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ที่เพิ่งออกใช้ใหม่ให้ถูกต้อง โดยให้ภิกษุสามเณรรูปใดที่ยินยอมปฏิบัติตาม ลงชื่อเป็นหลักฐานไว้ ณ เจ้าคณะเมือง แต่ถ้าหากว่าภิกษุสามเณรรูปใด ไม่ยินยอมปฏิบัติตาม ก็จำเป็นต้องให้ลาสิกขาเสียนับเป็นคำขาด ที่สร้างความระส่ำระสาย ให้เกิดขึ้นแก่ภิกษุสามเณร ที่เคารพศรัทธาครูบาศรีวิชัย เพราะภิกษุสามเณรทุกรูปที่เคยอยู่ ณ วัดบ้านปาง ล้วนแต่เคารพเชื่อฟังครูบาศรีวิชัยเพียงรูปเดียวเท่านั้น แต่ บัดนี้เมื่อขาดครูบาศรีวิชัยเสียแล้ว ความคิดเห็นก็แตกแยกกันออกไปเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งยินดีจะลงชื่อปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอม ฝ่ายที่ยินดีลงนามนั้นอ้างว่า มิใช่เป็นการเลิกเคารพเชื่อมั่นในครูบาศรีวิชัยแต่อย่างไร แต่ที่ยอมก็เพื่อรักษาสมณเพศต่อไป และสามารถกลับสู่วัดบ้านปาง ประพฤติปฏิบัติธรรมสืบต่อไปเหมือนเช่นที่ครูบาศรีวิชัยอบรมสั่งสอนไว้ จะได้เป็นประโยชน์ ดีกว่าดื้อดึงต่อคำสั่งอันเสมือนหนึ่งไปขวางเรือเมื่อยามน้ำเชี่ยว รังแต่จะเกิดภัยเสียเปล่าๆ หาประโยชน์มิได้ส่วนภิกษุสามเณรฝ่ายที่ไม่ยินยอมก็อ้างว่า ถ้ายอมไปลงชื่อแล้ว ก็เท่ากับว่า ไม่ซื่อสัตย์ต่อบรมครูบาศรีวิชัย เสมือนหนึ่งเป็นการหนีเอาตัวรอดเมื่อภัยมาถึงอาจารย์ แทนที่จะร่วมกันต่อสู้แล้วในที่สุด ก็มีภิกษุสามเณรส่วนใหญ่ ยอมลงชื่อรับทราบในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ฉบับใหม่ แต่ก็มีภิกษุสามเณรอีกส่วนหนึ่ง จำนวนหลายสิบรูป ที่ไม่ยอมลงนาม เพราะยึดมั่นแต่ในครูบาศรีวิชัยเพียงองค์เดียว ซึ่งภิกษุสามเณรฝ่ายหลังนี้ต่างก็ค่อยๆ ทยอยหายไปจากวัดพระธาตุหริภุญชัยในคืนวันนั้นเองไม่มีใครทราบท่านหายไปไหน ส่วนฝ่ายที่ยอมรับ และลงนามก็พากันเดินกลับวัดบ้านปาง เพื่อรอครูบาศรีวิชัยต่อไปเหตุการณ์อันชุลมุนที่วัดพระธาตุหริภุญชัยเมืองลำพูนจึงสงบลงแต่วันนั้น
     
  3. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน ขันติของครูบาเจ้าศรีวิชัย และ หลวงอนุสารคหบดีผุ้ช่วยเหลืองานครูบาเจ้า
    [​IMG]
    รูปหลวงอนุสารคหบดีผู้ศรัทธาครูบาศรีวิชัย (ปัจจุบันชื่อท่านเป็นชื่อตลาดอนุสารแหล่งของกินเชียงใหม่)

    กลับมาเล่าถึงครูบาศรีวิชัยซึ่งถูกคุมตัวอยู่ ณ วัดศรีดอนไชย เชียงใหม่ต่อไป ทางคณะกรรมการเมืองได้จัดเจ้าหน้าที่ ๒ คนคือ ขุนประสาน และนายถนอม เป็นคนคอยดูแล และควบคุมครูบาศรีวิชัยให้อยู่ในวัดนี้ด้วยความสงบ และไม่ให้หนีหายไปไหน ปรากฏว่าทั้งขุนประสาน และนายถนอมนั้น มิได้เอาใจใส่ดูแลครูบาศรีวิชัยตามสมควรแก่การที่ท่านเป็นพระภิกษุห่มเหลืองเลย คงปล่อยให้ท่านอยู่ตามยถากรรมในศาลาบาตร ที่ไร้เครื่องจำเป็นทุกชิ้น จนกระทั่งชาวบ้านข้างวัดศรีดอนไชยคนหนึ่งทนดูต่อไปไม่ไหว ไปหาเสื่อ หมอน น้ำต้ม และกระโถนดินอันล้วนแต่เป็นของเก่าคร่ำคร่าไปถวายครูบาศรีวิชัย

    เจ้าสุริยวงศ์สิโรรส เขียนเล่าเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ ในหนังสือประวัติครูบาศรีวิชัย ซึ่งพิมพ์เผยแพร่เป็นอักษรพื้นเมืองเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ มีใจความตอนหนึ่งว่า

    " ท่านพระศรีวิชัยเจ้าภิกษุตนนั้น มีวิริยะขันติ กระทำเพียรเมตตาภาวนาบ่ได้หยุดหย่อน ยังทานศีลบารมี ในการนั้น ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่งเป็นชาวชนบทนิคมทั้งหลาย ทุกชาติทุกภาษา เป็นต้นว่า ก้อ ยาง ข่า ขมุ มูเซอร์ ที่บ่เคยเชื่อถือมิจฉาทิษฐิก็ดี คนโยยาสามาน เสพสุรายาเมา บ่เข้าวัด บ่รู้จักศีลจักธรรมสักเตื้อ ก็กลับมีใจศรัทธาหลั่งน้อม ยินดีนับถือเจ้าภิกษุตนนั้นพากันอุปัฏฐากไหว้นบครบย่ำ เป็นที่นับถือภิกษุตนนั้นทุกชาติทุกภาษาก็มีนี้นั่นแลฯ "

    ครูบาศรีวิชัยท่านไม่เคยโกรธ หรืออาฆาตแค้นผู้ใด แม้ว่าท่านจะต้องทนทุกข์ยากในการดำรงชีวิตอยู่ ณ ศาลาบาตรของวัดศรีดอนไชย หรือวัดป่ากล้วยแห่งนี้ก็ตาม ท่านคงประพฤติปฏิบัติธรรมของท่าน เป็นปกติธรรมดา

    ซึ่งแน่ล่ะ ท่านยิ่งถูกกักขังคุมตัวอยู่ที่วัดศรีดอนไชยนานเท่าไร กิติศัพท์ของท่านก็ยิ่งเป็นที่เล่าลือของชาวนครพิงค์ ลูกพ่อขุนเม็งราย ซึ่งปกติชาวนครเชียงใหม่ เป็นผู้ที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี ใจบุญสุนทานยิ่งนัก เมื่อได้ทราบข่าวว่า ครูบาศรีวิชัยถูกกักขังคุมตัวอยู่ที่วัดป่ากล้วย ด้วยความลำบากทรมาน สายธารแห่งน้ำใจของชาวเวียงพิงค์ ก็เริ่มหลั่งไหลมาสู่ครูบาศรีวิชัย จนกระทั่งเหตุการณ์เป็นดังที่ เจ้าสุริยวงศ์สิโรรสรจนาไว้ ดังนำมาอ้างข้างต้นจุดเริ่มต้นที่ชาวคนเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งชาวป่าชาวเขาจะมาสู่วัดศรีดอนไชย ที่ครูบาศรีวิชัยถูกกักขังคุมตัวอยู่นี้ เริ่มจากคหบดีชื่อดังของนครเชียงใหม่สองคน ที่ทนดูครูบาศรีวิชัยได้รับการปฏิบัติเยี่ยงนักโทษเช่นนี้มิได้
    คหบดีทั้งสองท่านนี้ก็คือ หลวงอนุสารสุนทร และ พญาคำ แห่งบ้านประตูท่าแพ ทั้งสองท่านนี้ได้จุดชนวนขึ้นในหัวใจของคนเมืองเชียงใหม่ ที่ต่อมาพากันหลั่งไหลไปหาครูบาศรีวิชัยที่วัดป่ากล้วย จนกระทั่งเจ้าอาวาสวัดศรีดอนไชย ต้องไปขอกำลังเจ้าหน้าที่มากันคลื่นประชาชนเมื่อกันคลื่นประชาชนผู้ศรัทธาครูบาศรีวิชัยไม่ไหว ก็ต้องถึงกับขู่ว่าจะจดชื่ออุบาสก อุบาสิกาทุกคนที่มาหาครูบาศรีวิชัย เพื่อนำไปฟ้องกล่าวโทษกับเจ้าคณะเมือง และอุปราชมณฑลพายัพ
    หลวงอนุสารสุนทร อันเป็นพ่อค้าผู้มีจิตใจดี โอบอ้อมอารี ทำบุญทำทานอยู่เป็นนิจมิได้ขาดนับตั้งแต่มาประกอบอาชีพในเมืองเชียงใหม่นานปี ตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งมีนามว่า นายซุ่นฮี้ ซังยงเส็ง จนกระทั่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอนุสารสุนทร ประกาศเกียรติแห่งวงศ์สกุลสมัยนั้นหลวงอนุสารฯ ได้ตั้งห้างชื่ออนุสาร อยู่ตรงใกล้ สี่แยกวิชยานนท์ เหนือวัดอุปคุตขึ้นไปนิดหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากวัดศรีดอนไชย หรือวัดป่ากล้วยที่ตำบลช้างคลานมากนัก หลวงอนุสารฯ นั้น แรกทีเดียวท่านเคยได้ยินแต่ชื่อเสียงเกียรติคุณของครูบาศรีวิชัย ซึ่งมีผู้เล่าลือไปกันต่างๆ นานา ทั้งดีและร้ายตามแต่ปากคนดังนั้น เมื่อครูบาศรีวิชัยถูกนำตัวมากักขังอยู่ที่วัดป่ากล้วยวันหนึ่งหลวงอนุสารฯ ได้ไปเยี่ยมครูบาศรีวิชัย ตามประสาของคนใจบุญ แล้วคุณหลวงก็ได้พบว่า ครูบาศรีวิชัยนั้นท่านเป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดต่อพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง สมถะถือสันโดษ และไม่มีจิตใจมุ่งร้ายหรืออาฆาตผู้ใด แม้ว่าจะได้รับการกระทำอันไม่สมควรก็ตามทีสิ่งนี้ก่อให้เกิดความศรัทธาขึ้นในหัวใจของคุณหลวง แล้วก็สุดที่จะทนดูพระภิกษุรูปหนึ่ง ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่เช่นนี้ต่อไปไม่ได้ หลวงอนุสารฯ ถือว่าการทำบุญเป็นเรื่องของจิตใจ ใครจะทำบุญกับพระภิกษุรูปใดก็ย่อมได้ ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ หรือข้อห้ามแต่ประการใด แม้ว่าครูบาศรีวิชัยจะถูกกักขังคุมตัวอยู่ในฐานะที่ถูกกล่าวโทษก็ตาม แต่ก็ย่อมห้ามอุบาสกอุบาสิกาที่ปรารถนาจะทำบุญกับท่านไม่ได้ เมื่อคิดเช่นนี้แล้ว หลวงอนุสารฯ ก็ไปปรึกษากับเพื่อนสนิทคือ พญาคำ อันตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ ประตูท่าแพ ในเวียงเชียงใหม่นั่นเองแล้วสองสหายสนิทก็เห็นพ้องกันว่า ควรจะช่วยเหลือครูบาศรีวิชัยตามสมควรแก่กรณี หลวงอนุสารสุนทร และพญาคำ จึงเป็นสองคนแรกที่ได้ช่วยครูบาศรีวิชัยอย่างออกหน้าออกตา
    แรกเลยทีเดียวได้นำช่างไม้ไปจัดการปรับปรุงศาลาบาตรที่จำวัดของครูบาศรีวิชัย ให้สามารถกันแดดกันฝนได้ ทำเสนาสนะต่างๆ ที่จำเป็น ตลอดจนอัฐบริขารอันสมควร ไปถวายครูบาศรีวิชัย พร้อมกับถวายภัตตาหารเป็นประจำทุกวัน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร เพราะครูบาศรีวิชัยนั้นท่านฉันแต่อาหารผักเพียงวันละมื้อ ไม่แตะต้องเนื้อสัตว์ทุกชนิด ไม่อมเมี่ยง หรือสูบบุหรี่เมื่อหลวงอนุสารสุนทร และพญาคำ ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทุกคนเชียงใหม่นับถือ เป็นผู้เริ่มต้นอุปัฏฐากครูบาศรีวิชัยเช่นนั้น จึงเป็นการเรียกร้องดึงดูดใจให้คนเมืองเชียงใหม่ทั่วไปมาร่วมทำบุญกับครูบาศรีวิชัยเพิ่มมากขึ้นทันตาเห็น จากวันละยี่สิบคน จำนวนผู้คนที่มาทำบุญ และพบปะกับครูบาศรีวิชัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าแปลก จนกระทั่งกลายเป็นวันละร้อยคน วัดศรีดอนไชย หรือวัดป่ากล้วยที่เคยเงียบสงบ ก็พลุกพล่านเต็มไปด้วยคนแน่นล้นศาลาบาตร ที่ครูบาศรีวิชัยพำนักอยู่ ล้นมาถึงบริเวณลานวัดแม้แต่คนที่ไม่เคยเข้าวัดก็สู้อุตส่าห์ไปหาครูบาศรีวิชัย ชาวป่าชาวเขาที่รู้ข่าว ต่างก็มุ่งหน้ามาหาครูบาศรีวิชัยไม่ว่า แม้ว มูเซอร์ ยาง ขมุ หรืออีก้อ ก็ตาม

     
  4. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน ส่งไปกรุงเทพกับ๘ข้อหา
    17361596_10212467131583009_5859202898622046012_n.jpg
    พระครูสุคันธศีล รองเจ้าคณะเชียงใหม่ เจ้าอาวาสวัดศรีดอนไชย เต็มไปด้วยความกลัดกลุ้มไม่รู้จะแก้ไขเหตุการณ์อย่างไร ท่านเกรงว่าบรรดา ผู้ที่มาหาสู่ครูบาศรีวิชัย จะแย่งชิงตัวท่านไปจากวัดศรีดอนไชย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงแล้ว ความผิดก็จะตกอยู่กับท่าน เมื่อท่านไม่สามารถห้ามปรามศรัทธาของอุบาสกอุบาสิกาที่พากันมาหาครูบาศรีวิชัยได้ จึงได้นำความไปปรึกษาเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ผลปรากฏว่า ทางอำเภอได้ส่งเสมียนมาคนหนึ่ง ให้ห้ามปรามชาวบ้านที่จะมาหาครูบาศรีวิชัย แต่ก็ไม่สามารถกันผู้คนที่ศรัทธาในครูบาศรีวิชัย

    จนกระทั่งในที่สุด แม้ว่าจะขู่ว่า ใครไปหาครูบาศรีวิชัยจะถูกจดชื่อกันทั้งหมด เพื่อหาทางลงโทษ ก็ไม่มีใครกลัว คนหลั่งไหลไปหาครูบาศรีวิชัยเพิ่มมากขึ้น ศรัทธาของคนนั้นเป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้ วัดศรีดอนไชยเนืองแน่นอยู่เช่นนั้นตลอดเวลา ครูบาศรีวิชัยนั้นท่านยังคงเป็นครูบาองค์เดิมที่ไม่เคยแสดงตัวเองเป็นผู้วิเศษ ใครไปมาหาสู่ท่าน ท่านก็ต้อนรับตามอัตตภาพอันสมควร ใครขอให้ท่านเทศนาแสดงธรรม ท่านก็เทศน์ให้ฟัง และตัวท่านเองยังคงยึดมั่นในการประพฤติปฏิบัติธรรม เหมือนอย่างเช่นสมัยที่อยู่วัดบ้านปางทุกประการ
    ครูบาศรีวิชัย ถูกกักตัวอยู่ที่วัดศรีดอนไชย จนกระทั่งเวลาล่วงเลยเป็นเดือนๆ ก็ยังไม่มีการสอบสวนพิจารณาโทษ ตามข้อกล่าวหา ท่านก็ไม่ทุกข์ร้อนอะไร คงอยู่ของท่านในศาลาบาตรเรื่อยมา


    เสียงประชาชนชาวเชียงใหม่ที่ศรัทธาในครูบาศรีวิชัยเริ่มพูดกันทั่วไปว่า ครูบาศรีวิชัยถูกกลั่นแกล้ง ทั้งที่ท่านไม่มีความผิดอันใด เพราะนำท่านมากักขังอยู่ที่เชียงใหม่เป็นเดือนแล้ว ก็ไม่มีการสอบให้คืบหน้าออกมา

    ในที่สุด เจ้าคณะเมืองเชียงใหม่ ซึ่งต้องพลอยฟ้าพลอยฝนไปกับเรื่องนี้ด้วย ก็เลยนำเรื่องไปปรึกษาเจ้าคณะมณฑลพายัพ ตลอดจนข้าราชการและอุปราชมณฑลพายัพว่า จะจัดการเรื่องครูบาศรีวิชัยอย่างไรดี เพราะถ้าปล่อยเรื่องไว้เรื่อยไปเช่นนี้ ก็มีแต่ทางเสื่อมแก่เจ้าคณะเมือง เจ้าคณะมณฑลเป็นแน่แท้

    ผลการประชุมปรึกษาหารือกันนั้น ที่ประชุมมีมติว่า สมควรจะส่งครูบาศรีวิชัยไปรับการไต่สวนพิจารณาความผิด จากสมเด็จพระสังฆราช ณ กรุงเทพมหานครโดยตรงจะดีกว่าที่จะพิจารณากันเองที่นครเชียงใหม่

    พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องการขับไล่ส่งครูบาศรีวิชัยให้พ้นจากการรับผิดชอบนั่นเอง

    เมื่อจะส่งครูบาศรีวิชัยไปรับการไต่สวนพิจารณาความผิดในกรุงเทพฯ ก็จะต้องมีการตั้งข้อหากันขึ้น เพื่อให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส องค์สมเด็จพระสังฆราชพิจารณาความผิดของครูบาศรีวิชัยต่อไป อธิกรณ์ต่างๆ ที่ครูบาศรีวิชัยถูกกล่าวหาว่ามีความผิดมีอยู่ด้วยกัน ๘ ข้อ ซึ่งล้วนแต่รวบรวมเรื่องเก่าๆ ที่ครูบาศรีวิชัยถูกสอบสวนมาแล้วจากเจ้าคณะเมืองลำพูนเป็นส่วนใหญ่ ข้อที่คณะสงฆ์ให้สอบสวนครูบาศรีวิชัย ในอธิกรณ์ต่างๆ คือ

    ๑. ครูบาศรีวิชัยตั้งตัวเป็นอุปัชฌาย์ ทำการบวช และอุปสมบทสามเณร และพระภิกษุเป็นจำนวนมากโดยไม่มีใบอนุญาต ถือว่าเป็นอุปัชฌาย์เถื่อน ไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑

    ๒. ครูบาศรีวิชัย ไม่ยอมอยู่ในบังคับบัญชาของเจ้าคณะแขวงลี้ อันเป็นท้องที่ที่วัดบ้านปางตั้งอยู่

    ๓. เจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองอำเภอลี้ ร่วมกับเจ้าคณะแขวงลี้เรียกประชุมเจ้าอธิการวัดต่างๆ เพื่อชี้แจงเรื่องพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ในท้องที่เขตอำเภอลี้ ปรากฏว่าเจ้าอธิการทุกวัดไปร่วมประชุมหมด ยกเว้นครูบาศรีวิชัย วัดบ้านปาง ไม่ยอมไปร่วมประชุม

    ๔. เมื่อครั้งมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าคณะแขวงลี้ ได้ประกาศให้ทุกวัดตามประทีปโคมไฟ ตีฆ้อง กลอง และจัดงานฉลองสมโภช แต่ครูบาศรีวิชัยไม่ยอมปฏิบัติตาม

    ๕. เจ้าคณะแขวงลี้คือ พระครูมหารัตนากร ไม่สามารถปกครองบังคับบัญชาวัดต่างๆ ในเขตอำเภอลี้ได้ทั้งหมด เพราะครูบาศรีวิชัยยกตัวเป็นผู้วิเศษ ชักชวนวัดต่างๆ ให้ขัดขืนต่อพระราชบัญญัติ ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ถึงแม้ว่าเจ้าคณะแขวงลี้จะร้องต่อพระครูบาศรีวิชัยแล้วก็ตาม แต่ปรากฏว่าพระศรีวิชัยไม่ยอมเชื่ออีก

    ๖. เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง ให้เจ้าคณะแขวงลี้สำรวจจำนวนพระภิกษุสามเณรในวัดต่างๆ ในเขตอำเภอลี้ ทุกวัดจัดทำบัญชีรายละเอียดส่งมาให้ เจ้าคณะแขวงลี้ทั้งหมด มีแต่วัดบ้านปางของครูบาศรีวิชัยเท่านั้นที่ไม่ยอมปฏิบัติตาม

    ๗. เจ้าคณะแขวงลี้องค์ใหม่นัดประชุมเจ้าอธิการ วัดต่างๆ ในเขตอำเภอลี้ มีเจ้าอธิการหลายวัดไม่ยอมมาประชุม โดยอ้างว่า เอาตามอย่างครูบาศรีวิชัย

    ๘. ครูบาศรีวิชัย อ้างตนเองว่าเป็นผู้วิเศษ เป็นเทวดามาเกิด มีดาบทองคำตกลงมาจากฟากฟ้า นำมาบูชาที่แท่นบูชา เดินไปกลางสายฝนโดยตัวไม่เปียก เดินสูงกว่าพื้นดินได้หนึ่งศอก และสามารถเดินบนผิวน้ำได้โดยไม่จม เป็นต้น เป็นเหตุให้ผู้คนหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก

    นี่คือ ข้ออธิกรณ์ต่างๆ ที่ครูบาศรีวิชัยถูกกล่าวหา ซึ่งถ้าหากจะพิจารณาดูแล้ว ก็พบว่าล้วนแต่เป็นข้ออธิกรณ์เก่าๆ ที่ครูบาศรีวิชัยเคยถูกสอบสวนมาแล้ว จากเจ้าคณะเมืองลำพูน เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งความจริง อธิกรณ์ต่างๆ ข้อที่ ๑ - ๕ นั้น ครูบาศรีวิชัยก็เคยได้รับการลงโทษ ว่ากล่าวตักเตือน ตลอดจนกักตัวครูบาศรีวิชัยไว้ที่เมืองลำพูนนานถึง ๑ ปี ก่อนจะเกิดอธิกรณ์ในคราวนี้แล้ว จึงนับว่าพ้นผิดไปเรียบร้อยแล้ว

    ส่วนอธิกรณ์ข้อที่ ๖ - ๘ นั้น ครูบาศรีวิชัยก็ได้ถูกลงโทษโดยคำสั่งของพระครูญาณมงคลที่ให้ขับพระศรีวิชัย ออกจากวัดบ้านปาง และเขตจังหวัดลำพูนภายใน ๑๕ วัน

    ดังนั้น การตั้งข้ออธิกรณ์ที่จะส่งครูบาศรีวิชัยไปรับการไต่สวนความผิด จากสมเด็จพระสังฆราขที่กรุงเทพฯ จึงล้วนแต่นำเรื่องเก่าขึ้นมาตั้งข้อกล่าวหาใหม่ทั้งสิ้น

    ๓ เดือน ๑๘ วัน

    ครูบาศรีวิชัยถูกกักตัวอยู่ ณ วัดป่ากล้วย หรือวัดศรีดอนไชย นับตั้งแต่วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๒ จนกระทั่งถึงวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ อันเป็นเวลาที่ถูกกักขังที่จะนำตัวไปสอบสวนที่กรุงเทพฯ

    เพื่อมิให้ไขว้เขว หรือเข้าใจผิด จึงใคร่ขออธิบายความตอนนี้อีกสักนิดว่า ถ้าหากดูตามปีพุทธศักราชแล้ว คล้ายกับว่า ครูบาศรีวิชัย ถูกกักตัวอยู่ที่วัดศรีดอนไชยเชียงใหม่นานถึง ๑ ปี เพราะเป็นคนละปีกัน ถ้าหากนับศักราชอย่างปัจจุบัน ที่ถือวันที่ ๑ มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ ความจริงนั้น เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๒ กับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ นั้นเป็นปีเดียวกัน เพราะ เมื่อสมัยปี พ.ศ. ๒๔๖๒ - ๒๔๖๓ ไทยเรายังนับวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ฉะนั้น เดือนกุมภาพันธ์ในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ กับเดือนพฤษภาคม ๒๔๖๓ สมัยนั้น จึงเป็นปีเดียวกัน ดังกล่าว

    ไทยเราเพิ่งมาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ ๑ เมษายน มาเป็นวันที่ ๑ มกราคม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ นี่เอง
     
  5. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน เข้าสู่การแก้อธิกรณ์ที่กรุงเทพ
    17361909_10212467174864091_3621002129852353914_n.jpg 17361909_10212467174864091_3621002129852353914_n.jpg
    ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๖๓ คือวันที่ครูบาศรีวิชัย ถูกส่งตัวไปรับการไต่สวนความผิดที่กรุงเทพฯ วันนั้น ทางฝ่ายบ้านเมืองจัดเตรียมกำลังกันอย่างหนาแน่น เพราะเกรงว่าจะมีผู้แย่งชิงตัวครูบาศรีวิชัย ในระหว่างการเดินทางไกลครั้งนี้ ทั้งนี้ พลโทหม่อมเจ้าบวรเดช อุปราชมณฑลพายัพ ได้มอบให้หลวงประสานคดีชน เป็นผู้นำครูบาศรีวิชัยไปกรุงเทพฯ โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งติดตามคุ้มกันไปด้วย

    การเดินทางจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ ในสมันนั้นค่อนข้างลำบาก เพราะทางรถไฟยังสร้างไม่ถึงเชียงใหม่ ไปถึงแค่ สถานีวังตอง หรือ สเตชั่นวังตอง ตามที่เรียกกันในสมัยนั้น ที่อยู่ใต้เมืองลำพูนลงไป ดังนั้นครูบาศรีวิชัยจะต้องเดินทางจากเชียงใหม่ไปขึ้นรถที่สถานีวังตอง ลำพูน

    วันที่ท่านออกจากวัดศรีดอนไชยนั้น ประชาชนจำนวนมากมาคอยส่งท่านสองฟากถนนท่าแพ ที่ท่านต้องเดินผ่านข้ามสะพานแม่น้ำแม่ปิง หรือสะพานนวรัฐในปัจจุบัน แต่ในสมัยรั้นยังเป็นเพียงสะพานไม้ สำหรับเดินข้ามไปมา รถยนต์แล่นข้ามไปไม่ได้ ครูบาศรีวิชัย มีอาการเป็นปกติ ท่านเดินของท่านไปเรื่อยๆ หลวงประสานคดีชน และตำรวจจำนวนหนึ่งเดินตามมาอย่างใกล้ชิด ราวกับว่าท่านเป็นผู้ร้ายคดีอุกฉกรรจ์ ทั้งๆ ที่ท่านเป็นพระภิกษุรูปหนึ่งเท่านั้น มันเป็นภาพที่ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวเชียงใหม่ ยังจดจำได้ติดตาถึงปัจจุบันนี้

    เมื่อครูบาศรีวิชัย ข้ามสะพานนวรัฐมาถึงอีกฝั่งหนึ่งของลำน้ำปิง ณ ที่นั้นเอง เจ็กโหงว นำรถยนต์คู่ชีพของแกมารออยู่ก่อนแล้ว คราวนี้ไม่มีใครเช่า เจ็กโหงวนำรถมารอรับอำนวยความสะดวกให้แก่ครูบาศรีวิชัย ด้วยหัวใจศรัทธา และเห็นอกเห็นใจ รับอาสาที่จะนำครูบาศรีวิชัยไปสู่ลำพูนอีกครั้งหนึ่ง

    บ่ายวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๖๓ ครูบาศรีวิชัยก็ถึงจังหวัดลำพูน ท่ามกลางการต้อนรับของผู้คนจำนวนนับพัน ที่แออัดยัดเยียดกันแน่นขนัดไปหมด สานุศิษย์จำนวนไม่น้อยของครูบาศรีวิชัยที่เมืองลำพูน ต่างล้อมหน้าล้อมหลังพร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรหลายรูป ที่ได้หายไปจากวัดพระธาตุหริภุญชัย ตั้งแต่เมื่อ ๓ เดือนก่อนโน้น ก็กลับมาพร้อมหน้าพร้อมตา ทุกคนมั่นใจว่าครูบาศรีวิชัยจะต้องกลับมาสู่เมืองลำพูนอีก หลังจากการไต่สวนพิจารณาข้อกล่าวหาในกรุงเทพฯ

    คืนวันนั้นครูบาศรีวิชัยจำวัตรอยู่ ณ เมืองลำพูนเพื่อรอเวลาไปขึ้นรถไฟในวันรุ่งขึ้น คนในขบวนรถไฟที่ขึ้น ณ สถานีวังตอง ในวันรุ่งขึ้น ต่างประหลาดใจที่พระภิกษุรูปหนึ่ง มีผู้คุ้มกันอย่างหนาแน่นพร้อมๆ กับมีผู้ไปส่งท่านที่สถานีมากมาย จนกระทั่งเวลาที่รถไฟที่ใช้ฝีจักรเข้ากรุงเทพฯ เคลื่อนออกจากสถานีวังตองแล้วก็ตาม ผู้คนจำนวนมากนั้นก็ยังยืนอยู่กับที่ราวกับจะส่งใจติดตามท่านไปด้วย

    ครั้งแรกในชีวิต ที่ครูบาศรีวิชัยเดินทางเข้ากรุงเทพฯ แต่อาการท่านเป็นปกติธรรมดา

    สมัยนั้น การเดินทางจากเชียงใหม่เข้ากรุงเทพฯ ต้องพักที่เมืองพิษณุโลก แล้ววันที่สามจึงจะถึงกรุงเทพฯ ในตอนเย็น๒๑ พฤษภาคม ๒๔๖๓ คืนวันที่ครูบาศรีวิชัยมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อท่านลงจากรถไฟที่สถานีหัวลำโพง ปรากฏว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้ามิได้ประทับอยู่กรุงเทพมหานคร แต่ทรงเสด็จไปจังหวัดอยุธยา เนื่องในพระราชพิธีทางศาสนา แต่พระองค์ก็ทรงมีพระเมตตา สั่งให้นำรถยนต์มารับครูบาศรีวิชัยที่สถานีรถไฟ นำไปพักที่วัดเบญจมบพิตร เพื่อรอเวลาให้คณะกรรมการสอบสวนตามข้อกล่าวหาต่อไป

    ในระหว่างที่ครูบาศรีวิชัยพำนักอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรหลายวันนี้เอง มีชาวเหนือที่อยู่ในกรุงเทพฯ มาหาท่านจำนวนไม่น้อย ส่วนมากมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตลำพูน และเชียงใหม่ ได้ยินกิตติศัพท์ของครูบาศรีวิชัยจากเพื่อนฝูงญาติมิตรมากมาย จึงเกิดศรัทธามาทำบุญถวายสิ่งของแด่ท่าน ครูบาศรีวิชัยได้ประพฤติปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมตามธรรมชาติ และวินัยทุกประการ เป็นที่พึ่งแก่ภิกษุที่จำวัดอยู่ ณ วัดเบญจมบพิตร อันเป็นพระอารามหลวงที่สำคัญยิ่งนัก เพราะครูบาศรีวิชัยนั้นท่านเป็นเพียง "พระบ้านนอก" รูปหนึ่งเท่านั้น


    ครั้นต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๓ สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีประกาศแต่งตั้ง พระสงฆ์ผู้มีสมณศักดิ์เป็นกรรมการไต่สวนครูบาศรีวิชัยรวม ๓ องค์ด้วยกันคือ

    ๑. พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จเจ้าคณะใหญ่หนกลาง

    ๒. พระญาณวราภรณ์

    ๓. พระธรรมไตรโลกาจารย์

    โดยพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จเจ้าคณะใหญ่หนกลางเป็นองค์ประธานคณะกรรมการไต่สวนข้อกล่าวหาทั้ง ๘ ข้อ ที่เจ้าคณะมณฑลพายัพ และเจ้าคณะเชียงใหม่ ลำพูน ส่งมากับหลวงประสานคดีชน

    การไต่สวนข้ออธิกรณ์ ของครูบาศรีวิชัย ตุ๊เจ้า แห่งสำนักวัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน บ้านป่าเมืองชนบท ที่แสนห่างไกลจากนครธรรมนี้ เป็นเรื่องที่เกรียวกราวฉาวโฉ่ในกรุงเทพฯ ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะแม้กระทั่ง หนังสือพิมพ์รายวันที่ขายดีที่สุดในสมัยนั้น คือหนังสือพิมพ์ บางกอกไทม์ ยังได้เสนอข่าวเดินบนผิวน้ำโดยไม่จม เป็นต้น

    เป็นเหตุให้มีผู้คนหลงเชื่อ เรื่องครูบาศรีวิชัยที่ลงไว้ในหน้าหนึ่งเป็นจำนวนมาก เรื่องลือลั่นไปทั่วทั้งบางกอกทีเดียว ข่าวการมากรุงเทพฯ ของครูบาศรีวิชัย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓ นั้น เป็นเรื่องที่ได้รับการเล่าลือกันหมู่ชาวกรุงเทพฯ ไม่น้อย
    จนกระทั่งหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ อันเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่มีอิทธิพลที่สุดในสมัยนั้นมีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ได้ส่งผู้สื่อข่าวออกหาข่าวนี้ แล้วก็มีรายงานข่าวเกี่ยวกับครูบาศรีวิชัยในบางกอกไทม์ ฉบับภาษาอังกฤษ เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๓ และต่อมาบากอกไทม์ ฉบับภาษาไทย ก็มีรายงานข่าวละเอียดเรื่องครูบาศรีวิชัย ในหนังสือพิมพ์ฉบับวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๓

    เพื่อให้การเขียนเรื่องราวของครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทยมีความสมบูรณ์ที่สุด จึงใคร่ขอคัดจากหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ฉบับดังกล่าวซึ่งมีเก็บรักษาอยู่ ณ หอสมุดแห่งชาติมาเสมอ

    “ข่าวจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยเดิมมีพระรูปหนึ่งชื่อว่าพระศรีวิชัย อายุได้ ๔๒ ปี เป็นอธิการอยู่ ณ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เคร่งในทางวิปัสสนา ฉันผลไม้และผักต้ม กับเกลือ พริกไทยวันละหน ของคาวถือว่าเป็นของมีวิญญาณ ท่านไม่ฉัน ถ้าเป็นวันพระแล้วไม่ฉันเลย

    พระองค์นี้มีหิริโอตะปะ ปราศจากโลภะ โมหะเป็นต้น เช่น มีผู้นำเงินทอง เครื่องบริโภคไปทำบุญกับท่านๆ ก็ทำต่อ มิได้เอาไว้ทำประโยชน์ส่วนตัวเลย และมีผู้นิยมนับถือไปทำบุญแก่ท่านมาก เมื่อประมาณ ๕ ปีมาแล้วนี้ พระองค์นี้บวชนาค ได้ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านไปขออนุญาตต่อนายอำเภอๆ บอกให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน ไปเตรียมการที่จะบวชนาคไว้ จะได้ทำใบอนุญาตให้ต่อเมื่อภายหลัง แล้วพระองค์นี้ก็จัดการเตรียมไว้เสร็จแล้ว

    พอจวนจะเข้าพรรษาถึงเวลาบวช ได้ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านไปขอรับใบอนุญาต แต่กรมการอำเภอหาได้ออกใบอนุญาตให้ไม่ พระองค์นี้เห็นว่าการบวชคงไม่ผิดอะไรนัก ทั้งเป็นเวลาจวนเข้าพรรษา จึงเข้าบวชนาคไปโดยลำพัง ทีนี้เจ้าคณะสงฆ์ และกรมการอำเภอหาว่า พระศรีวิชัยบวชนาคไม่ได้รับอนุญาต จึงได้รับเอาตัวพระศรีวิชัยไปกักขังไว้ที่วัดหลวง (วัดพระธาตุหริภุญชัย) ลำพูน ๑ ปี แล้วไม่ให้เป็นเจ้าอธิการวัดบ้านปาง เพียงแต่ให้อาศัยอยู่ที่วัดบ้านปางตามเดิมเท่านั้น

    ครั้นเมื่อต่อมา พ.ศ. ๒๔๖๒ กรมการได้ไปสำรวจที่วัดบ้านปาง ได้บอกกับพระศรีวิชัยๆ ตอบว่า อาตมาไม่ได้เป็นเจ้าอธิการ เมื่อจะสำรวจอย่างไรเอาเองตามชอบใจ พระและสามเณรในวัดบ้านปางมีความกลัว จึงพากันหลบหนีเข้าป่าไปบ้าง กรมการอำเภอสำรวจไม่ได้ ก็รายงานบอกว่าพระเณรหลบหนีไปด้วยเหตุอันใดไม่แจ้ง ไต่สวนไม่ได้ความ แล้วคณะสงฆ์ลำพูนมีคำสั่งให้พระศรีวิชัยนำเอาพระเณรที่อยู่ในวัดบ้านปาง ไปที่เจ้าคณะหมวดให้หมดวัด ถ้าไม่มีใครรักษาวัดให้ฝากไว้กับชาวบ้าน ถ้าไม่ไปตามคำสั่งจะลงโทษ

    ทีนี้พระศรีวิชัยไม่ได้เป็นเจ้าอธิการ และไม่มีอำนาจที่จะไปบังคับพระเณรให้ไปหาเจ้าคณะได้ และไม่ได้ชี้แจงเหตุผลให้เจ้าคณะทราบ โดยเหตุระยะทางที่จะไปหาเจ้าคณะต้องรอนแรมถึง ๓ คืน ทีนี้เจ้าคณะสงฆ์ลำพูนได้มีคำสั่งไม่ให้พระศรีวิชัยอยู่ในจังหวัดลำพูนต่อไป

    แล้วเจ้าผู้ครองนครลำพูน ได้นิมนต์เอาพระศรีวิชัยเข้าไปรับไทยทานในจังหวัดลำพูน พระศรีวิชัยมีโอกาสอันดีจึงจัดข้าวของสำหรับทำบุญ เพื่อที่จะได้เข้าไปทำบุญในวัดหลวงจังหวัดลำพูน และพระเณรอุบาสกอุบาสิกามีใจศรัทธา จึงได้จัดของไทยทาน ตามพระศรีวิชัยเข้าไปทำบุญประมาณ ๖๐๐ คน

    ครั้นไปถึงจังหวัดลำพูน พวกข้าราชกาลในจังหวัดลำพูนสงสัยว่าจะเป็นกบฏ และพวกเจ้าคณะสงฆ์หาว่าพระองค์นี้มีความผิด จึงจับตัวพระศรีวิชัยกักขังไว้ที่วัดหลวง จังหวัดลำพูน เมื่อนายพลโทหม่อมเจ้าบวรเดช อุปราชไปตรวจราชการที่จังหวัดลำพูน จึงเอาตัวไปกักขังไว้ที่วัดศรีดอนไชย จังหวัดเชียงใหม่ ประจวบกับพระมหานายกขึ้นไปสอบไล่พระธรรมวินัยจังหวัดเชียงใหม่ ได้เรียกเอาตัวพระศรีวิชัยไปไต่สวนเสร็จแล้ว เห็นว่าไม่มีความผิด แต่ความรู้ยังบกพร่องอยู่บ้าง จึงให้พระศรีวิชัยทำทัณฑ์บน ยอมเล่าเรียนอยู่ในสำนักใดแล้วแต่พระครู และเจ้าคณะจะเห็นสมควร
    เมื่อพระศรีวิชัยทำทัณฑ์บนไว้แล้ว พระครูและเจ้าคณะก็หาจัดการให้พระศรีวิชัยไปอยู่สำนักใดไม่ เลยเอาตัวไปกักขังไว้ที่วัดศรีดอนไชย และจัดให้คนคอยควบคุม คอยตรวจจับอาการของพระศรีวิชัย ว่าจะมีเวทย์มนต์หรืออภินิหารอย่างไรบ้าง จึงมีผู้คนนิยมนับถือมาก แต่ก็หามีอาการแปลกประหลาดอย่างไรไม่

    ในระหว่างที่พระศรีวิชัยถูกกักขัง และมีผู้ควบคุมอยู่ ๒ เดือนเศษนั้น มีพวกแขกชาวอินเดีย และพวกพม่า พวกตองซู่ พวกกระเหรี่ยงลำพูน เมืองตาก แม่ฮ่องสอน เมืองปาย เมืองพร้าว เชียงดาว พากันไปทำบุญแก่พระศรีวิชัยวันละหลายร้อยคนเสมอทุกวันเป็นเนืองนิจมิได้ขาด อยู่มาวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ นายพลโทหม่อมเจ้าบวรเดช อุปราช มีรับสั่งให้หลวงประสานคดีชนคุมเอาพระศรีวิชัยลงไปกรุงเทพฯ

    เมื่อมีผู้นิยมนับถือพระองค์นี้มากเช่นนี้ เชื่อว่าทางราชการคงมีความยินดีรับรองเอาพระองค์นี้ไว้แนะนำสั่งสอน ให้มีความรู้ทางพระพุทธศาสนาให้ช่ำชองดี แล้วจัดส่งให้ขึ้นไปสั่งสอนที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้สั่งสอนในทางพระพุทธศาสนาต่อไป ถ้าพระองค์นี้กลับขึ้นไปอยู่เชียงใหม่แล้วทางพระพุทธศาสนา คงจะมีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป โดยเหตุว่ามีผู้นิยมนับถือพระองค์นี้มาก ตัวอย่างเช่น ชาวต่างประเทศ เขาก็ต้องการเลือกหาคนดี ที่มีผู้นิยมนับถือมาตั้งหัวหน้า ไปเที่ยวสอนให้ราษฎรรู้จักบาปบุญคุณโทษ และกลับไปเป็นพลเมืองดีต่อไป

    อีกประการหนึ่ง เมื่อกรมการอำเภอจัดตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เรียกลูกบ้านราษฎรหมู่มากเห็นสมควรจึงตั้งผู้ใดเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านได้ กรรมการอำเภอก็จะจัดตั้งผู้นั้น เป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านตามความเห็นราษฎรหมู่มาก นี่พระศรีวิชัยนี้ มีผู้นิยมนับถือทั่วไปทั้งมณฑลพายัพ ถ้าจะนับเปอร์เซ็นต์ก็มีผู้นิยมท่านถึง ๘๐ เปอร์เซ้นต์เศษเช่นนี้ ควรทางราชการจะรับรองไว้ ถ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์นี้ขึ้นไปสั่งสอนอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว เชื่อว่าพลเมืองที่ประพฤติตนในทางทุจริต คือ ปล้นฆ่าฟันกันตายคงจะเบาบางลงแน่

    แต่ขอกระซิบ ไม่ควรเชื่อถือซึ่งถ้อยคำของพระภิกษุบางองค์ในมณฑลพายัพ ที่คอยยุแหย่ว่าพระศรีวิชัยคิดกบฏต่อพระศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือขัดขืนอะไรต่างๆ นั้นเป็นอันไม่จริงทั้งสิ้น บางทีเขาจะเกรงว่าทางราชการจะตั้งให้พระศรีวิชัยเป็นใหญ่ และเกรงว่าจะขาดลาภยศไป ขอให้นึกดู ผู้มีความรู้และความเฉลียวฉลาดอย่างนี้ ถ้าจะแต่งตั้งเอาไว้ให้เที่ยวสั่งสอนผู้คน ก็คงจะดีไม่น้อย

    และขอเข้าใจว่า ข้าราชการที่ประพฤติชั่ว ความชั่วนั้นราษฎรรู้เข้าก่อนทางราชการ ภรรยาที่มีชู้ก็พวกชาวบ้านเห็นก่อน ราษฎรทั้งมณฑลเห็นดี แล้วทางราชการจะไม่เห็นดีด้วยบ้างหรือ?

    หวังใจว่า ท่านบรรณาธิการ คงจะช่วยตะโกนผู้ใหญ่ให้รู้ด้วยเพื่อเป็นทางดำริต่อไป”

    นี่คือข่าวเกี่ยวกับครูบาศรีวิชัย ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ฉบับวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๔๖๓

    ข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ครั้งนี้ ทำให้ชาวกรุงเทพฯ รู้เรื่องครูบาศรีวิชัย แล้วก็เกิดความสนใจที่จะติดตามผลการสอบสวนว่า ครูบาศรีวิชัย พระภิกษุจากเมืองไกลองค์นี้จะมีความผิดจริงตามข้ออธิกรณ์ที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ?

    ข่าวนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิญาณวโรรส ได้ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อสอบสวนข้อกล่าวหาของครูบาศรีวิชัยแล้ว
     
  6. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน หัตถเลขา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
    17362655_10212505955033571_3433789925175008439_n.jpg
    เมื่อมีข่าวปรากฏขึ้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งได้ทอดพระเนตรข่าวครูบาศรีวิชัยในหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ขณะที่ประทับอยู่ ณ จังหวัดนนทบุรี

    สมเด็จพระสังฆราชจึงทรงมีหนังสือถึงพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบคณะกรรมการในการไต่สวนข้ออธิกรณ์ของครูบาศรีวิชัย มีรายละเอียดในหนังสือดังนี้คือ

    “ฉันได้อ่านหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ วันที่ ๗ เดือนนี้ตอนภาษาอังกฤษ กล่าวถึงข่าวเมืองเหนือมีใจความว่า มีพระรูปหนึ่งอยู่วัดบ้านปางหรือไร จังหวัดลำพูน ชื่อพระศรีวิชัย อายุราว ๔๐ ปี มีผู้คนนับถือมาก พระศรีวิชัยนั้นขออนุญาตอุปสมบทต่อกำนันและอำเภอ เขาว่าจักให้ ครั้นรอมาจวนถึงพรรษา บอกว่าไม่ได้ พระศรีวิชัยก็จัดการอุปสมบท แต่ไม่ได้กล่าวความชัดว่าเป็นอุปัชฌาย์เอง เจ้าคณะจังหวัดกับกรมการอำเภอยกขึ้นเป็นความ เอาตัวพระศรีวิชัยกักขังไว้ที่วัดหลวง ๑ ปี แล้วปล่อยกลับไปบ้านปาง แต่ถอดเสียจากตำแหน่งเจ้าอาวาส ตอนนั้นคณะกรรมการอำเภอไปตรวจวัดบ้านปาง พระหนีเข้าป่า สำรวจไม่สำเร็จ จะให้พระศรีวิชัยทำสำรวจ เธอเถียงว่าเธอไม่ใช่เจ้าอาวาส เจ้าคณะจังหวัดเรียกตัว เธอหาไปไม่ ส่วนเจ้าลำพูนนิมนต์ไปทำบุญ เธอไป มีคนติดตามไปมาก เจ้าคณะจังหวัดหาว่าเธอกบฏ จึงเอาตัวไปไว้ที่วัดหลวงอีก

    คราวนี้อุปราชมาพบเข้า พาตัวไปไว้ที่วัดศรีดอนไชย เชียงใหม่ พระมหานายกออกไปสอบธรรม ได้พิจารณาลงความเห็นว่าพระศรีวิชัยไม่ผิด เป็นแต่ไม่รู้การศาสนา ควรให้อยู่ศึกษาที่เชียงใหม่ ให้ทำทัณฑ์บนว่าจักไม่ขัดขืน เจ้าคณะแต่งคนคอยตรวจตราดูว่าพระศรีวิชัยจะใช้เล่ห์กระเท่อย่างไรบ้างในตอนนี้ให้คนติด แต่ก็จับไม่ได้ ภายหลังพระศรีวิชัยถูกส่งตัวลงไปกรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวกล่าวว่า พระศรีวิชัยมีคนติดตามเช่นนี้ สมควรที่รัฐบาลจะอุดหนุนส่งไปสั่งสอนจักได้ประโยชน์ คนทำชั่วคงน้อยลง แต่พระศรีวิชัยไม่รู้การศาสนา สมควรเอาไปไว้ศึกษาก่อนแล้วจึงส่งกลับขึ้นไป

    คำของบรรณาธิการว่า นี่เป็นคำของผู้ที่นับถือพระศรีวิชัย เขาปรารภว่า เขาปรารถนาจะฟังคำของอีกฝ่ายหนึ่ง เรื่องนี้พระมหานายกไม่ได้มีบอกเข้ามาให้รู้ บอกเป็นเบาเมื่อกลับมา แต่ไม่จัดแจ้งเหมือนข่าวในหนังสือพิมพ์ กล่าวว่า หม่อมเจ้าบวรเดชจักมีบอกสำนวนเรื่องนี้เข้ามา นอกจากนี้ไม่ได้รู้เห็นอีกเลย

    เทียบเรื่องพบมาในที่อื่น ฉันกริ่งใจว่า เจ้าหน้าที่เห็นอคติพระศรีวิชัยมาก ก็เกรงไปว่าจักเป็นผีบุญ แต่ไม่อาจจะยกเอาความผิดขึ้นฟ้องลงโทษทางอาญา จึงหาความผิดทางคณะสงฆ์ เรื่องนี้ปรากฏว่า ไปเอาตัวมาคราวใด พระศรีวิชัยมาทุกคราว ไม่ได้ต่อสู้ ในคราวที่ไม่มา ก็เป็นแต่ถูกเรียกไม่ใช่ถูกจับตัว ส่อว่ายังไม่เป็นผีบุญ

    ส่วนความผิดในทางคณะสงฆ์ ตามข่าวนี้มีเพียงทำการอุปสมบท ชะรอยจะเป็นอุปัชฌาย์เอาเองนอกจากนี้ยังไม่รู้ว่ามีความผิดอะไรอีก ถ้าเป็นอย่างฉันกริ่งใจแล้ว เราจักพลอยตามด้วยไม่ได้ดู ไม่ยุติธรรม นี่เป็นเรื่องอื้อฉาวแล้ว เธอจงสอบถามหม่อมเจ้าบวรดู เวลานี้อยู่กรุงเทพฯ ว่าพระศรีวิชัยได้ทำผิดอันอาจจะยกขึ้นเป็นอาญาแผ่นดิน อันเจ้าหน้าที่จะพึงฟ้องศาลได้หรือไม่ ถ้าเธอทำได้อย่างนั้น และเจ้าหน้าที่จักเอาความผิดแก่เธอ จงให้รับตัวไปฟ้องร้องยังศาลมณฑลพายัพ ถ้าพระศรีวิชัยไม่ได้ทำความผิดเช่นนั้น จงเรียกสำนวนฝ่ายคณะมาตรวจดูถึงความผิดทางคณะ ว่ามีอย่างไรบ้าง ความผิดเพราะทำการอุปสมบทเอาเอง น่าจะได้ลงโทษแล้ว ได้แก่ การเอามากักตัวไว้ครั้งแรกปีหนึ่ง และถอดออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส เป็นธรรมเนียมที่เคยกราบทูลฉัน ถ้าฉันเป็นผู้สั่งการ เรียกไม่มา เนื่องจากไม่รับทำสำรวจพระวัดบ้านปาง ถ้าจริงอย่างหนังสือพิมพ์กล่าวพระศรีวิชัยเถียงถูกเช่นนั้น ฉันไม่เคยลงโทษ เมื่อได้ความอย่างไรแล้ว จงนำปรึกษาในมหาเถรสมาคม จะหยั่งรู้ความผิดเองโดยถ่องแท้ และลงโทษแต่พอดี และโทษนั้นอาจจะลงโทษได้ในกรุงเทพฯ ให้สำเร็จแล้วปล่อยตัวกลับไป ถ้าจะต้องลงโทษโน่น ก็จงมีคำสั่งให้ชัดเจนถึงอุปราชา ถ้าจะพิจารณาความผิด ทางคณะของพระครูบาศรีวิชัยจงอย่าฟังคำของคณะแต่ฝ่ายเดียว จงฟังคำของพระศรีวิชัยด้วยเพื่อเธอมีช่องแก้ตัวบ้าง

    เรื่องนี้ควรพิจารณา และควรได้รับดำริของฉัน แต่ฉันอ่านสำนวนเรื่องนี้ แล้วทรงจำไว้ใคร่ครวญ แล้วจึงวินิจฉัยเป็นการหนักแน่นแก่ใจฉัน ในเวลานี้จึงได้ให้คำสั่งแก่เธอทำแทน ขออย่าได้ต้องย้อนมาถึงฉัน ที่จะต้องอ่านสำเนา แต่จงระวังอย่าให้ผิดพลาด เรื่องนี้มีลงข่าวในหนังสือพิมพ์ภาษาไทย ในวันต่อมาฉันได้ตัดส่งมาด้วย ข้อความที่เล่ามานั้นไม่ได้แปลก แต่เป็นเล่าที่จำได้

    อนึ่ง เมื่อจะส่งตัวพระศรีวิชัยกลับโดยไม่มีโทษแล้ว จงให้มีสังกัดวัดอยู่ อย่าปล่อยให้จรจลเพื่อกันเจ้าคณะแกล้ง จงถามพระศรีวิชัยดูสมัครอยู่วัดใดแล้วสั่งให้วัดนั้นรับ”

    จากพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ที่ ๑๐ นี้ เราจะพบว่าพระองค์ทรงมีพระราชหฤทัยเที่ยงแท้ยุติธรรมอย่างยิ่ง ทรงมีพระเมตตากรุณาถึงพร้อมทุกอย่าง

    จึงเป็นหน้าที่อันหนักยิ่งของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จเจ้าคณะใหญ่หนกลาง และคณะกรรมการอีกสององค์คือ พระญาณวราภรณ์ และพระธรรมไตรโลกาจารย์ที่จะต้องพิจาณาไต่สวนข้ออธิกรณ์ ของครูบาศรีวิชัยอย่างรอบคอบที่สุด
     
  7. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน ผลแห่งอธิกรณ์
    17308726_10212505996434606_779940211107269769_n.jpg
    ชีวิตที่น่าทึ่ง

    หากจะวิเคราะห์ ชีวประวัติครูบาศรีวิชัยช่วงนี้แล้วท่านที่ติดตามอ่านมาตั้งแต่แรกก็จะพบว่า เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ที่ครูบาศรีวิชัย ซึ่งถือกำเนิดในท้องถิ่นทุรกันดาร ห่างไกลจากความเจริญ ในครอบครัวที่ยากจน ซึ่งทั่วประเทศไทยนั้น มีผู้คนอย่างครูบาศรีวิชัยอยู่นับล้านคน ที่เกิดและตายไปในชนบท โดยไม่มีใครรู้จักชื่อเสียง แต่ ครูบาศรีวิชัยนั้น เมื่อท่านหันมาสู่เพศสมณะ และยึดมั่นปฏิบัติตนตามพระธรรมคำสั่งสอนอย่างเคร่งครัด จนกระทั่งสามารถผูกจิตใจคนจำนวนมาก นับว่าท่านประสบความสำเร็จในชีวิตเป็นขั้นแรก

    แต่ความสำเร็จหรือชื่อเสียงเกียรติคุณใดๆ ก็ตาม การจะมาถึงได้โดยง่ายนั้น อย่าหมายเลย เมื่อครั้งพระพุทธองค์ เสด็จออกทรงผนวช ละความสุข ในฐานะโอรสกษัตริย์ ผู้จะสืบสันตติวงศ์ต่อไป พระองค์ก็ทรงเพียรพยายามอยู่นานถึง ๖ ปี กว่าจะตรัสรู้บรรลุสัจธรรมอันบริสุทธิ์ได้

    ครูบาศรีวิชัยก็เช่นกัน การถูกกล่าวโทษหลายๆ ครั้ง จนกระทั่งในที่สุด ต้องถูกส่งตัวมารับการไต่สวนจากคณะสงฆ์ ชั้นสูงสุดของไทยในกรุงเทพฯ นี่ไม่ใช่สิ่งอัศจรรย์หรอกหรือ ในฐานะครูบาศรีวิชัยเป็นเพียง "พระบ้านนอก" รูปหนึ่ง เป็นพระภิกษุธรรมดาเหมือนภิกษุอีกหลายหมื่นรูปในเมืองไทย ไม่มีสมณศักดิ์ใดๆ แต่เรื่องของท่านก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่สมเด็จพระสังฆราชต้องทรงเอาพระทัยใส่อย่างใกล้ชิด ดังข้อความที่พระราชหัตถเลขาที่อัญเชิญมาข้างต้น

    ใครจะคิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของครูบาศรีวิชัยหรือไม่ก็ตาม จะรู้สึกทึ่งในชีวประวัติของครูบาศรีวิชัยอย่างยิ่ง

    แล้วการไต่สวนข้ออธิกรณ์ที่ครูบาศรีวิชัยถูกล่าวหาก็เริ่มขึ้น คณะกรรมการได้สอบสวนครูบาศรีวิชัย ที่วัดเบญจมบพิตรนั่นเอง ซึ่งตลอดระยะเวลานั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มิได้เคยพบปะกับครูบาศรีวิชัย นับตั้งแต่ท่านเดินทางจากลำพูนถึงกรุงเทพฯ คงปล่อยให้คณะกรรมการดำเนินการสอบสวนโดยมีอำนาจเต็มที่

    การสอบสวนข้ออธิกรณ์ของครูบาศรีวิชัย เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๓ นั่นเอง พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ทรงปฏิบัติงานนี้อย่างเหน็ดเหนื่อยยิ่ง เพราะต้องรวบรวมหลักฐานต่างๆ ทุกอย่าง ตลอดจนข้อสำนวนเก่าจากเจ้าคณะเมืองลำพูน และเชียงใหม่ เจ้าคณะมณฑลเชียงใหม่ ตลอดจนถึง พลโทหม่อมเจ้าบวรเดช อุปราชมณฑลพายัพ

    ในระหว่างที่ครูบาศรีวิชัยถูกนำตัวมาไต่สวนที่กรุงเทพฯ และวัดเบญจมบพิตรนั้น มีผู้ที่เคารพนับถือท่านแวะมาหาท่านอยู่เป็นประจำ ทำให้เกิดเรื่องอภินิหารมหัศจรรย์ที่ไม่น่าเชื่อ ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่เล่ากันแพร่หลายมากในหมู่ชาวเชียงใหม่

    ครูบาศรีวิชัย ถูกคณะกรรมการที่สมเด็จพระสังฆราชตั้งขึ้น สอบสวนทุกซอกทุกมุม เรื่องไหนที่ท่านผิด ท่านก็ยอมรับว่าผิด ที่ไม่ผิด ท่านก็ยืนยันว่า ท่านทำถูกแล้วนกระทั่งในที่สุด การไต่สวนข้ออธิกรณ์ต่างๆ ของครูบาศรีวิชัยก็เสร็จสิ้นลง พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ซึ่งเป็นองค์ประธานในการไต่สวนครูบาศรีวิชัย ซึ่งทรงมีรายงานถึงสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ดังสำเนาต่อไปนี้คือ

    “ด้วยมีคำสั่งให้เกล้ากระหม่อม กับพระญาณวราภรณ์ พระธรรมไตรโลกาจารย์ พิจารณาเรื่องพระศรีวิชัย วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ถูกกล่าวหาว่า มีพรรคพวกเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุระแวงของเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาณาจักรว่าเป็นผีบุญ และไม่ทำการอ่อนโอน และขัดขืนต่อคณะสงฆ์จังหวัดนั้น

    เกล้ากระหม่อมได้ถามหม่อมเจ้าบวรเดช อุปราชมณฑลพายัพว่า การที่พระศรีวิชัยมีคนติดมานั้น อาจยกความผิดเป็นทางอาญา ฟ้องร้องต่อศาลได้หรือไม่ ได้รับคำตอบว่า หามีความผิดถึงเช่นนั้นไม่ แล้วกระหม่อมทั้งหลายจึงได้พิจารณาถึงการที่พระศรีวิชัยไม่โอนอ่อน และขัดขืนต่อคณะสงฆ์ส่วนเดียว ได้ความดังต่อไปนี้

    ๑. ตั้งตัวเป็นอุปัชฌาย์ บวชกุลบุตรไม่มีใบอนุญาต

    ๒. ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของพระครูมหารัตนกร เจ้าคณะแขวงลี้

    ๓. เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาณาจักรเรียกประชุมสงฆ์ท้องที่อำเภอลี้ เพื่อตักเตือนให้รู้ระเบียบสงฆ์ และทางราชการ สงฆ์ไปประชุมทุกวัด เว้นแต่พระศรีวิชัยไม่ไป

    ๔. ทางราชการป่าวร้องให้วัดทั้งหลายตามประทีป ตีฆ้องกลองในการพิธีบรมราชาภิเษก วัดทั้งหลายทำตาม แต่พระศรีวิชัยไม่ทำ

    ๕. เจ้าคณะแขวงลี้เห็นว่า วัดทั้งหลายขัดขืนต่อความปกครองคณะสงฆ์ เพราะเอาอย่างพระศรีวิชัยจึงร้องต่อพระครูศีลวิลาส ผู้รับตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดลำพูนได้ว่ากล่าวตักเตือน

    เรื่องทัณฑ์บน พระศรีวิชัยยังขัดขืนประพฤติดังก่อนอีก ข้อ ๑ - ๕ เจ้าคณะแขวงกักตัวลงโทษพระศรีวิชัย ๒ ปี เต็ม โดยคำสั่งของผู้แทนเจ้าคณะหนเหนือ

    ๖. เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาณาจักร ขอสำรวจสำมะโนครัว พระศรีวิชัยไม่ยอมให้สำรวจ ให้เจ้าหน้าที่สำรวจเอาเอง เจ้าคณะแขวงสั่งไป ก็ไม่ยอมทำตาม

    ๗. เจ้าคณะแขวงนัดประชุม เจ้าอธิการวัดทั้งปวงในแขวงของตน อธิการหลายวัดหาไปประชุมไม่ เพราะพระศรีวิชัยผู้ทำตัวอย่าง

    ๘. ลือกันว่า พระศรีวิชัยมีบุญ เช่นมีดาบฝักทองคำ ๑ เล่ม ตกลงมาจากอากาศ อยู่ที่แท่นบูชา พระศรีวิชัยเก็บบูชาไว้

    พระศรีวิชัยเดินได้บนน้ำ พระศรีวิชัยไม่เปียกน้ำ การลือนั้นพระศรีวิชัยจะอวดเอง หรือคนอื่นลือไปเองก็ตาม ก็ชื่อว่า เกิดแต่พระศรีวิชัยเป็นเหตุ ทำให้มหาชนหลงนับถือ

    ข้อ ๖ - ๗ - ๘ นี้เจ้าคณะแขวง และเจ้าคณะจังหวัดลำพูน ลงโทษพระวิชัยขับจากจังหวัดลำพูน ตามคำสั่งของผู้แทนเจ้าคณะใหญ่หนเหนือภายใน ๑๕ วัน พระศรีวิชัยไม่ไป เจ้าคณะหาว่าขัดคำสั่ง เอามาลงโทษกักขังไว้ ต่อมาหม่อมเจ้าบวรเดช ขออนุญาตผู้แทนเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ส่งพระศรีวิชัยไปกรุงเทพฯ

    เกล้ากระหม่อมทั้งหลายไต่สวน พระศรีวิชัยเธอให้การดังต่อไปนี้

    ๑. ข้อ ๑ ถึงข้อ ๕ พระศรีวิชัยรับสารภาพ

    ๒. ข้อ ๖ พระศรีวิชัยแก้ว่า เธอไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส ไม่ใช่หน้าที่ของเธอ

    ๓. ข้อ ๘ พระศรีวิชัยปฏิเสธว่า ของเช่นนั้นเธอไม่ได้อวด เขาลือกันไปเอง

    ๔. ข้อ ๑ ถึงข้อ ๕ พระศรีวิชัยรับสารภาพ และได้รับโทษแล้วเป็นอันไม่ต้องพิจารณา

    ๕. ข้อ ๖ ตามคำแก้ของพระศรีวิชัยนั้นถูก เพราะเธอถูกถอด

    ๖. ข้อ ๗ เป็นความผิดของพระอธิการ ผู้เอาอย่างเองต่างหาก พระอธิการไปเอาอย่างผู้ไม่ใช่พระอธิการ พระศรีวิชัยไม่ผิด

    ๗. ข้อ ๘ ไม่มีพยานหลักฐานว่าพระศรีวิชัยอวด เมื่อมีคนเล่าลือกันไปเอง จะลงเอาว่าพระศรีวิชัยมีความผิดเพราะเกิดแต่เธอหาถูกไม่

    ตามที่พิจารณามาในข้อ ๖ - ๗ - ๘ ได้ความว่า พระศรีวิชัยไม่มีความผิด เจ้าคณะลงโทษเกินไป เพราะฉะนั้นควรปล่อยให้พระศรีวิชัยกลับภูมิลำเนาของตน"

    จากหนังสือ สรุปผลการไต่สวนที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ที่กราบทูลสมเด็จพระสังฆราชฉบับนี้จะเห็นได้ว่า ครูบาศรีวิชัยหามีความผิดอันใดตามที่ถูกกล่าวหาไม่
     
  8. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน ชนะอธิกรณ์กลับบ้านเกิด
    17425914_10212525518402643_6097091574196769407_n.jpg 17425914_10212525518402643_6097091574196769407_n.jpg

    เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิญาณวโรรสทรงได้รับหนังสือนั้นแล้ว พระองค์มีพระดำรัสสั่งความวินิจฉัยเพื่อไปการตัดสินไต่สวนคดีของครูบาศรีวิชัย อันมีสำเนาพระดำรัสดังนี้คือพระดำรัสคำวินิจฉัย

    “ด้วยได้อ่านรายงานของกรมหมื่นชินวรสิริวิวัฒน์ กับพระญาณวราภรณ์ พระธรรมไตรโลกาจารย์ เข้ากันเป็นคณะกรรมการ พิจารณาเรื่องพระศรีวิชัย วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนแล้ว คณะกรรมการไม่ได้พิจารณาข้อหา ๕ ข้อเบื้องต้น ด้วยเห็นว่าพระศรีวิชัยรับสารภาพ และรับโทษแล้วนั้น เพ่งโดยฐานเป็นการล่วงหน้า ก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาจริง แต่เมื่อเพ่งถึงยุติธรรม และความเป็นแบบอย่างต่อไป แล้วควรจะวินิจฉัยด้วย

    ข้อ ๑. พระศรีวิชัยตั้งตัวเป็นพระอุปัชฌาย์เอาเองบวชกุลบุตร โดยไม่มีใบอนุญาตนั้นมีความผิดต่อ เจ้าคณะโดยแท้ โทษกักตัวพระศรีวิชัยไว้กำหนดถึง ๒ ปีนั้นแรงเกินควรไป ตามธรรมเนียมที่เป็นมา เราเป็นผู้สั่งลงโทษเอง คดีนี้เจ้าคณะหนเหนือสั่งตามลำพังตนเอง ก็ไม่ผิดดอก แต่ถ้าคำสั่งของเรา การลงโทษจักเป็นไปโดยพอดี

    ข้อ ๒. ตกไป

    ข้อ ๓. เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาณาจักรเรียกประชุมคณะสงฆ์ เพื่อตักเตือนให้รู้ระเบียบการคณะสงฆ์ และทางราชการ พระศรีวิชัยไม่ไปนั้น ถ้าเขาบอก ขอให้เจ้าคณะแขวงเป็นผู้บอกนัด พระศรีวิชัยเป็นเจ้าสำนัก ปกครองคณะสงฆ์หมู่หนึ่ง และมิได้แจ้งเหตุขัดข้องที่จะไปมิได้ มีความผิด ถ้าลำพังเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาณาจักรเรียกประชุมเอง พระศรีวิชัยไม่ไป จะยกเอาเป็นความผิดมิได้

    ข้อ ๔. ทางราชการป่าวร้องให้วัดทั้งหลายตามประทีป ตีฆ้อง กลอง ในพิธีราชาภิเษกสมโภช พระศรีวิชัยไม่ทำตามนั้น การตามประทีป ตีฆ้อง กลอง เป็นกิจอันพึงทำด้วยความมีแก่ใจทางราชการป่าวร้องก็เป็นเพียงแต่นัด ถ้าเป็นการบังคับแล้ว ผิดทางไม่เป็นพระเกียรติยศ พระศรีวิชัยไม่ทำตาม ไม่ควรยกขึ้นเป็นความผิด

    ข้อ ๕. ข้อนี้ดูเป็นในต่างคราวกัน เจ้าคณะจักเอาโทษ ควรจะยกขึ้นว่าในคราวที่ทำ ไม่ยกในคราวนั้นๆ มาประมวลยกชี้ขึ้นว่า และลงโทษในคราวเดียวอย่างนี้ ไม่เป็นหลักฐาน คนทั้งหลายจึงเห็นว่าข่มเหงพระศรีวิชัย อันที่จริงดูเหมือนว่า ระแวงตามหน้าที่ฝ่ายอาณาจักรว่าเป็นผีบุญ จะยกความผิดทางนั้นมาประมวลกันเป็นสาเหตุลงโทษ เพื่อจะได้เอาตัวมากักขังไว้เท่านั้น

    เพราะมีผู้คนติดตามมามากอย่างนี้ ยังไม่ได้ทำการจัดว่าเป็นความผิดทางอาญาแผ่นดิน หรือทางพระศาสนายังเอาโทษไม่ได้ เมื่อถูกลงโทษโดยมิบังควร นอกจากผิดยุติธรรม คนทั้งหลายผู้สงสารย่อมเห็นความดีของเธอ และนับถือมากขึ้น ครั้งโบราณกาล เช่นนี้ไปรุนแรงถึงเป็นสาเหตุตั้งศาลขึ้นใหม่ก็ได้เคยมีมาแล้ว

    ข้อ ๖-๗-๘ คณะกรรมการควรวินิจฉัยว่า พระศรีวิชัยไม่มีความผิด เจ้าคณะลงโทษเกินไป ควรปล่อยพระศรีวิชัยกลับไปภูมิลำเนาเดิมของตนนั้นชอบแล้ว แต่ปล่อยให้กลับไปตามลำพังเข้ากับเจ้าคณะไม่ได้จะเตร็ดเตร่อยู่ ควรจัดส่งขึ้นไป ถ้าควรเป็นเจ้าสำนัก ก็จงเห็นเป็นไปตามเดิม ถ้าไม่ควร ก็จงให้มีสังกัดอยู่ในวัดอื่น ที่พระศรีวิชัยจะพึงเลือกเอาตามใจขอบ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์จงสั่งตามนี้”

    พระราชดำรัสคำวินิจฉัยของ พระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชที่ทรงมีไปถึงพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ประธานคณะกรรมการไต่สวนครูบาศรีวิชัยนี้ เราจะเห็นได้ว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงมีความยุติธรรมอย่างล้ำลึก ทรงพิจารณาข้อไต่สวนด้วยพระปรีชาสามารถโดยถ่องแท้ และทรงเมตตาปราณีครูบาศรีวิชัยอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

    นับแต่ครูบาศรีวิชัยได้มาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ จนกระทั่งคณะกรรมการไต่สวนเสร็จเรียบร้อย และสมเด็จพระสังฆราชทรงมีดำรัสวินิจฉัยแล้ว ไม่ปรากฏว่า ครูบาศรีวิชัยมีโอกาสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชแต่ประการใด

    จนกระทั่งต่อมาในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ครูบาศรีวิชัยจึงได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช เจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีความรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับครูบาศรีวิชัย เราจะทราบได้อย่างแจ่มแจ้ง จากพระราชหัตถเลขาของพระองค์ ที่ทรงมีถึง พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ดังสำเนาต่อไปนี้คือ

    “วันนี้ฉันได้พบตัวพระศรีวิชัยแล้ว ได้ไต่สวนเห็นว่า เป็นพระที่อ่อนโยน ไม่ใช่ผู้ถือกระด้าง ไม่ใช่เจ้าเล่ห์ ไม่ค่อยรู้ธรรมวินัย แต่มีสมณสัญญาพอจะประพฤติให้เป็นพระอยู่ได้ อย่างพระที่ห่างเหินจากสมาคม การที่ตั้งตัวเป็นพระอุปัชฌาย์เองนั้น ด้วยไม่รู้ความหมาย ไม่รู้หมายประกาศ ทำตามธรรมเนียม คืออุปัชฌาย์เธอชื่อ สุมนา เมื่อจะถึงมรณภาพ ได้ตั้งเธอปกครองวัดและบริษัทแทนตน ถือว่า ได้ตั้งมาจากอุปัชฌาย์ของเธอ เพราะการที่ไม่รู้จักระเบียบแบบแผน ถูกเอาตัวมาลงโทษกักขังไว้ เกือบไม่รู้ว่า เพราะความผิดอะไร พระอย่างนี้ต้องการอธิบายให้รู้จักผิดชอบ ดีกว่าจะลงโทษ ความปรารถนาของครูบาศรีวิชัย ใคร่จะกลับไปอยู่วัดบ้านปางตามเดิม แต่พอใจจะเป็นเจ้าสำนัก แต่ถ้าวัดบ้านปางร้างเสีย จักหาที่อยู่ต่อไปได้

    ในคราวที่พระศรีวิชัยถูกเอาตัวมากักขังไว้ มีสามเณรสึกเสีย ๒ องค์ อีกองค์หนึ่งไปอยู่ที่อื่น ส่วนพระยังอยู่หรือหมดไปแล้ว พระศรีวิชัยหารู้ไม่ ถ้าพระศรีวิชัยจักอยู่วัดบ้านปาง น่าจะต้องให้เป็นเจ้าสำนัก แต่ไม่รู้ระเบียบแบบแผน น่าจะไม่พ้นความผิดอีก เว้นจะได้รับเมตตาของเจ้าคณะพระแนะนำให้เข้าใจระเบียบแบบแผน ครั้นจะยกรูปอื่นเป็นเจ้าสำนัก ก็จักว่าหุ่นอันพระศรีวิชัยจะพึงชักด้วยจะไม่ต้องรับผิดชอบ พระศรีวิชัยบอกว่า เจ้าคณะลำพูนปรารถนาจะให้พระศรีวิชัยอยู่ศึกษาให้ได้รับความรู้กลับไป แต่พระศรีวิชัยไม่สบาย เกรงจะทำไม่ไหว ปรารถนากลับไปลำพูนเพื่อจำพรรษา ฉันเห็นว่าพระศรีวิชัยอายุถึง ๔๓ ปีแล้ว ทั้งยังไม่ได้รับความขัดเกลามาด้วย เกรงว่าจักไม่สำเร็จเหมือนกัน เธอจงส่งพระศรีวิชัยกลับขึ้นไปก่อนพรรษา จงบอกให้ผู้ครองนครลำพูนช่วยเป็นธุระให้ได้กลับไปอยู่วัดบ้านปาง หรือวัดอื่นที่พระศรีวิชัยต้องการพอใจ แต่ต้องเป็นหัววัดเอง หรือมีพระอื่นเป็นหัววัดโดยจริงจัง อย่าปล่อยให้เที่ยวเตร่อยู่รูปเดียว แต่ขอให้รู้จักอ่อนน้อมต่อคณะสงฆ์จังหวัดนั้น ค่าส่งพระศรีวิชัยกลับไป จงแจ้งต่อพระญาณวราภรณ์ให้จ่ายเป็นส่วนตัวของฉัน”

    เป็นอันสรุปผลการไต่สวนครูบาศรีวิชัยได้อย่างเด็ดขาดว่า ครูบาศรีวิชัยพ้นความผิดจากข้อหาอธิกรณ์ทั้งปวง มีสิทธิ์ที่จะกลับไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดบ้านปางหรือวัดอื่นใดที่ครูบาศรีวิชัยปรารถนาได้ทั้งสิ้น แต่มีข้อแม้อยู่ว่า ถ้าหากครูบาศรีวิชัยจะกลับไปจำพรรษา ณ วัดบ้านปางแล้ว ครูบาศรีวิชัยจะต้องรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด เพื่อมิให้ท่านเชิดท่านผู้หนึ่งผู้ใดเป็นตัวแทนท่าน โดยท่านไม่ต้องรับผิดชอบ ดังพระราชวินิจฉัย ของสมเด็จพระสังฆราช

    เมื่อพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เจ้าคณะใหญ่หนกลางนำความนี้ไปบอกครูบาศรีวิชัย ปรากฏว่าท่านตื่นเต้นยินดีมาก ที่จะได้คืนกลับชนบท อันวิเวกสงบวังเวงของบ้านปางถิ่นเกิดอีกครั้ง จึงรีบตระเตรียมตัวเดินทางกลับสู่นครลำพูนทันที เพราะเวลานั้นเป็นเวลาเข้าพรรษาใกล้เข้ามามากแล้ว

    สมเด็จพระสังฆราชได้พระราชทานเงิน ๖๐ บาทเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับลำพูนของท่านอีกครั้ง ซึ่งเงินจำนวนนี้นับว่ามากอยู่ในสมัยนั้น พ.ศ. ๒๔๖๓ นับเป็นพระเมตตาอย่างยิ่งที่สมเด็จพระสังฆราชทรงมีต่อครูบาศรีวิชัย ภิกษุจากวัดบ้านปางแห่งนี้

    แล้วครูบาศรีวิชัยก็เดินทางกลับสู่ลำพูน วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ คืนวันที่ท่านอำลากรุงเทพฯ ไปสู่ชนบทบ้านเกิดของท่าน ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง มีชาวเหนือจำนวนมากมาส่งท่านที่สถานีรถไฟ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม และดีใจที่ครูบาศรีวิชัยพ้นจากความผิดทั้งปวงที่ถูกกล่าวหา อาจจะเป็นครั้งแรกที่ชาวบางกอกได้เห็นว่า ชาวเหนือมีความศรัทธาครูบาศรีวิชัยมากเพียงไหน ท่านไปพักค้างแรมที่เมืองพิษณุโลกหนึ่งคืน และลำปางอีกหนึ่งคืน พอวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านก็ได้ถึงลำพูนบ้านเกิด

    ในทันทีที่ย่างก้าวเหยียบลงจากรถไฟนั่นเอง ประชาชนสานุศิษย์ จำนวนมากที่มารับท่านอยู่พร้อมด้วยภิกษุสามเณรจากวัดบ้านปางที่รู้ข่าว เฝ้ารอการกลับมาของท่าน มานานถึง ๒ เดือน ๔ วันเต็ม นับแต่วันที่ครูบาศรีวิชัยจากลำพูนขึ้นรถไฟไปกรุงเทพฯ ต่างก็พากันโห่ร้องต้อนรับท่านอย่างเนืองแน่น

    ครูบาศรีวิชัย กลับสู่เมืองลำพูนครั้งนี้ เป็นการเริ่มต้นจังหวะชีวิตใหม่พิสดารเหลือล้ำ จนกระทั่งท่านได้รับฉายานามจากชาวเหนือทั้งปวงว่า “นักบุญแห่งลานนา”
     
  9. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน ชนะอธิกรณ์กลับบ้านเกิด
    17425914_10212525518402643_6097091574196769407_n.jpg 17425914_10212525518402643_6097091574196769407_n.jpg

    เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิญาณวโรรสทรงได้รับหนังสือนั้นแล้ว พระองค์มีพระดำรัสสั่งความวินิจฉัยเพื่อไปการตัดสินไต่สวนคดีของครูบาศรีวิชัย อันมีสำเนาพระดำรัสดังนี้คือพระดำรัสคำวินิจฉัย

    “ด้วยได้อ่านรายงานของกรมหมื่นชินวรสิริวิวัฒน์ กับพระญาณวราภรณ์ พระธรรมไตรโลกาจารย์ เข้ากันเป็นคณะกรรมการ พิจารณาเรื่องพระศรีวิชัย วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนแล้ว คณะกรรมการไม่ได้พิจารณาข้อหา ๕ ข้อเบื้องต้น ด้วยเห็นว่าพระศรีวิชัยรับสารภาพ และรับโทษแล้วนั้น เพ่งโดยฐานเป็นการล่วงหน้า ก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาจริง แต่เมื่อเพ่งถึงยุติธรรม และความเป็นแบบอย่างต่อไป แล้วควรจะวินิจฉัยด้วย

    ข้อ ๑. พระศรีวิชัยตั้งตัวเป็นพระอุปัชฌาย์เอาเองบวชกุลบุตร โดยไม่มีใบอนุญาตนั้นมีความผิดต่อ เจ้าคณะโดยแท้ โทษกักตัวพระศรีวิชัยไว้กำหนดถึง ๒ ปีนั้นแรงเกินควรไป ตามธรรมเนียมที่เป็นมา เราเป็นผู้สั่งลงโทษเอง คดีนี้เจ้าคณะหนเหนือสั่งตามลำพังตนเอง ก็ไม่ผิดดอก แต่ถ้าคำสั่งของเรา การลงโทษจักเป็นไปโดยพอดี

    ข้อ ๒. ตกไป

    ข้อ ๓. เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาณาจักรเรียกประชุมคณะสงฆ์ เพื่อตักเตือนให้รู้ระเบียบการคณะสงฆ์ และทางราชการ พระศรีวิชัยไม่ไปนั้น ถ้าเขาบอก ขอให้เจ้าคณะแขวงเป็นผู้บอกนัด พระศรีวิชัยเป็นเจ้าสำนัก ปกครองคณะสงฆ์หมู่หนึ่ง และมิได้แจ้งเหตุขัดข้องที่จะไปมิได้ มีความผิด ถ้าลำพังเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาณาจักรเรียกประชุมเอง พระศรีวิชัยไม่ไป จะยกเอาเป็นความผิดมิได้

    ข้อ ๔. ทางราชการป่าวร้องให้วัดทั้งหลายตามประทีป ตีฆ้อง กลอง ในพิธีราชาภิเษกสมโภช พระศรีวิชัยไม่ทำตามนั้น การตามประทีป ตีฆ้อง กลอง เป็นกิจอันพึงทำด้วยความมีแก่ใจทางราชการป่าวร้องก็เป็นเพียงแต่นัด ถ้าเป็นการบังคับแล้ว ผิดทางไม่เป็นพระเกียรติยศ พระศรีวิชัยไม่ทำตาม ไม่ควรยกขึ้นเป็นความผิด

    ข้อ ๕. ข้อนี้ดูเป็นในต่างคราวกัน เจ้าคณะจักเอาโทษ ควรจะยกขึ้นว่าในคราวที่ทำ ไม่ยกในคราวนั้นๆ มาประมวลยกชี้ขึ้นว่า และลงโทษในคราวเดียวอย่างนี้ ไม่เป็นหลักฐาน คนทั้งหลายจึงเห็นว่าข่มเหงพระศรีวิชัย อันที่จริงดูเหมือนว่า ระแวงตามหน้าที่ฝ่ายอาณาจักรว่าเป็นผีบุญ จะยกความผิดทางนั้นมาประมวลกันเป็นสาเหตุลงโทษ เพื่อจะได้เอาตัวมากักขังไว้เท่านั้น

    เพราะมีผู้คนติดตามมามากอย่างนี้ ยังไม่ได้ทำการจัดว่าเป็นความผิดทางอาญาแผ่นดิน หรือทางพระศาสนายังเอาโทษไม่ได้ เมื่อถูกลงโทษโดยมิบังควร นอกจากผิดยุติธรรม คนทั้งหลายผู้สงสารย่อมเห็นความดีของเธอ และนับถือมากขึ้น ครั้งโบราณกาล เช่นนี้ไปรุนแรงถึงเป็นสาเหตุตั้งศาลขึ้นใหม่ก็ได้เคยมีมาแล้ว

    ข้อ ๖-๗-๘ คณะกรรมการควรวินิจฉัยว่า พระศรีวิชัยไม่มีความผิด เจ้าคณะลงโทษเกินไป ควรปล่อยพระศรีวิชัยกลับไปภูมิลำเนาเดิมของตนนั้นชอบแล้ว แต่ปล่อยให้กลับไปตามลำพังเข้ากับเจ้าคณะไม่ได้จะเตร็ดเตร่อยู่ ควรจัดส่งขึ้นไป ถ้าควรเป็นเจ้าสำนัก ก็จงเห็นเป็นไปตามเดิม ถ้าไม่ควร ก็จงให้มีสังกัดอยู่ในวัดอื่น ที่พระศรีวิชัยจะพึงเลือกเอาตามใจขอบ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์จงสั่งตามนี้”

    พระราชดำรัสคำวินิจฉัยของ พระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชที่ทรงมีไปถึงพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ประธานคณะกรรมการไต่สวนครูบาศรีวิชัยนี้ เราจะเห็นได้ว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงมีความยุติธรรมอย่างล้ำลึก ทรงพิจารณาข้อไต่สวนด้วยพระปรีชาสามารถโดยถ่องแท้ และทรงเมตตาปราณีครูบาศรีวิชัยอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

    นับแต่ครูบาศรีวิชัยได้มาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ จนกระทั่งคณะกรรมการไต่สวนเสร็จเรียบร้อย และสมเด็จพระสังฆราชทรงมีดำรัสวินิจฉัยแล้ว ไม่ปรากฏว่า ครูบาศรีวิชัยมีโอกาสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชแต่ประการใด

    จนกระทั่งต่อมาในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ครูบาศรีวิชัยจึงได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช เจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีความรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับครูบาศรีวิชัย เราจะทราบได้อย่างแจ่มแจ้ง จากพระราชหัตถเลขาของพระองค์ ที่ทรงมีถึง พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ ดังสำเนาต่อไปนี้คือ

    “วันนี้ฉันได้พบตัวพระศรีวิชัยแล้ว ได้ไต่สวนเห็นว่า เป็นพระที่อ่อนโยน ไม่ใช่ผู้ถือกระด้าง ไม่ใช่เจ้าเล่ห์ ไม่ค่อยรู้ธรรมวินัย แต่มีสมณสัญญาพอจะประพฤติให้เป็นพระอยู่ได้ อย่างพระที่ห่างเหินจากสมาคม การที่ตั้งตัวเป็นพระอุปัชฌาย์เองนั้น ด้วยไม่รู้ความหมาย ไม่รู้หมายประกาศ ทำตามธรรมเนียม คืออุปัชฌาย์เธอชื่อ สุมนา เมื่อจะถึงมรณภาพ ได้ตั้งเธอปกครองวัดและบริษัทแทนตน ถือว่า ได้ตั้งมาจากอุปัชฌาย์ของเธอ เพราะการที่ไม่รู้จักระเบียบแบบแผน ถูกเอาตัวมาลงโทษกักขังไว้ เกือบไม่รู้ว่า เพราะความผิดอะไร พระอย่างนี้ต้องการอธิบายให้รู้จักผิดชอบ ดีกว่าจะลงโทษ ความปรารถนาของครูบาศรีวิชัย ใคร่จะกลับไปอยู่วัดบ้านปางตามเดิม แต่พอใจจะเป็นเจ้าสำนัก แต่ถ้าวัดบ้านปางร้างเสีย จักหาที่อยู่ต่อไปได้

    ในคราวที่พระศรีวิชัยถูกเอาตัวมากักขังไว้ มีสามเณรสึกเสีย ๒ องค์ อีกองค์หนึ่งไปอยู่ที่อื่น ส่วนพระยังอยู่หรือหมดไปแล้ว พระศรีวิชัยหารู้ไม่ ถ้าพระศรีวิชัยจักอยู่วัดบ้านปาง น่าจะต้องให้เป็นเจ้าสำนัก แต่ไม่รู้ระเบียบแบบแผน น่าจะไม่พ้นความผิดอีก เว้นจะได้รับเมตตาของเจ้าคณะพระแนะนำให้เข้าใจระเบียบแบบแผน ครั้นจะยกรูปอื่นเป็นเจ้าสำนัก ก็จักว่าหุ่นอันพระศรีวิชัยจะพึงชักด้วยจะไม่ต้องรับผิดชอบ พระศรีวิชัยบอกว่า เจ้าคณะลำพูนปรารถนาจะให้พระศรีวิชัยอยู่ศึกษาให้ได้รับความรู้กลับไป แต่พระศรีวิชัยไม่สบาย เกรงจะทำไม่ไหว ปรารถนากลับไปลำพูนเพื่อจำพรรษา ฉันเห็นว่าพระศรีวิชัยอายุถึง ๔๓ ปีแล้ว ทั้งยังไม่ได้รับความขัดเกลามาด้วย เกรงว่าจักไม่สำเร็จเหมือนกัน เธอจงส่งพระศรีวิชัยกลับขึ้นไปก่อนพรรษา จงบอกให้ผู้ครองนครลำพูนช่วยเป็นธุระให้ได้กลับไปอยู่วัดบ้านปาง หรือวัดอื่นที่พระศรีวิชัยต้องการพอใจ แต่ต้องเป็นหัววัดเอง หรือมีพระอื่นเป็นหัววัดโดยจริงจัง อย่าปล่อยให้เที่ยวเตร่อยู่รูปเดียว แต่ขอให้รู้จักอ่อนน้อมต่อคณะสงฆ์จังหวัดนั้น ค่าส่งพระศรีวิชัยกลับไป จงแจ้งต่อพระญาณวราภรณ์ให้จ่ายเป็นส่วนตัวของฉัน”

    เป็นอันสรุปผลการไต่สวนครูบาศรีวิชัยได้อย่างเด็ดขาดว่า ครูบาศรีวิชัยพ้นความผิดจากข้อหาอธิกรณ์ทั้งปวง มีสิทธิ์ที่จะกลับไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดบ้านปางหรือวัดอื่นใดที่ครูบาศรีวิชัยปรารถนาได้ทั้งสิ้น แต่มีข้อแม้อยู่ว่า ถ้าหากครูบาศรีวิชัยจะกลับไปจำพรรษา ณ วัดบ้านปางแล้ว ครูบาศรีวิชัยจะต้องรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด เพื่อมิให้ท่านเชิดท่านผู้หนึ่งผู้ใดเป็นตัวแทนท่าน โดยท่านไม่ต้องรับผิดชอบ ดังพระราชวินิจฉัย ของสมเด็จพระสังฆราช

    เมื่อพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ เจ้าคณะใหญ่หนกลางนำความนี้ไปบอกครูบาศรีวิชัย ปรากฏว่าท่านตื่นเต้นยินดีมาก ที่จะได้คืนกลับชนบท อันวิเวกสงบวังเวงของบ้านปางถิ่นเกิดอีกครั้ง จึงรีบตระเตรียมตัวเดินทางกลับสู่นครลำพูนทันที เพราะเวลานั้นเป็นเวลาเข้าพรรษาใกล้เข้ามามากแล้ว

    สมเด็จพระสังฆราชได้พระราชทานเงิน ๖๐ บาทเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับลำพูนของท่านอีกครั้ง ซึ่งเงินจำนวนนี้นับว่ามากอยู่ในสมัยนั้น พ.ศ. ๒๔๖๓ นับเป็นพระเมตตาอย่างยิ่งที่สมเด็จพระสังฆราชทรงมีต่อครูบาศรีวิชัย ภิกษุจากวัดบ้านปางแห่งนี้

    แล้วครูบาศรีวิชัยก็เดินทางกลับสู่ลำพูน วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ คืนวันที่ท่านอำลากรุงเทพฯ ไปสู่ชนบทบ้านเกิดของท่าน ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง มีชาวเหนือจำนวนมากมาส่งท่านที่สถานีรถไฟ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม และดีใจที่ครูบาศรีวิชัยพ้นจากความผิดทั้งปวงที่ถูกกล่าวหา อาจจะเป็นครั้งแรกที่ชาวบางกอกได้เห็นว่า ชาวเหนือมีความศรัทธาครูบาศรีวิชัยมากเพียงไหน ท่านไปพักค้างแรมที่เมืองพิษณุโลกหนึ่งคืน และลำปางอีกหนึ่งคืน พอวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านก็ได้ถึงลำพูนบ้านเกิด

    ในทันทีที่ย่างก้าวเหยียบลงจากรถไฟนั่นเอง ประชาชนสานุศิษย์ จำนวนมากที่มารับท่านอยู่พร้อมด้วยภิกษุสามเณรจากวัดบ้านปางที่รู้ข่าว เฝ้ารอการกลับมาของท่าน มานานถึง ๒ เดือน ๔ วันเต็ม นับแต่วันที่ครูบาศรีวิชัยจากลำพูนขึ้นรถไฟไปกรุงเทพฯ ต่างก็พากันโห่ร้องต้อนรับท่านอย่างเนืองแน่น

    ครูบาศรีวิชัย กลับสู่เมืองลำพูนครั้งนี้ เป็นการเริ่มต้นจังหวะชีวิตใหม่พิสดารเหลือล้ำ จนกระทั่งท่านได้รับฉายานามจากชาวเหนือทั้งปวงว่า “นักบุญแห่งลานนา”
     
  10. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน เริ่มเส้นทางแห่งตนบุญ
    ประทับใจ
    17458317_10212525538723151_2452270855826884928_n.jpg การคืนกลับมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน อีกครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ครูบาศรีวิชัยได้เปลี่ยนแนวชีวิตของท่านใหม่ คือแทนที่จะบำเพ็ญภาวนาวิปัสสนากรรมฐานเหมือนแต่เดิม ท่านกลับเดินธุดงค์ไปสู่ท้องถิ่นต่างๆ ในภาคเหนือเพื่องานบูรณปฏิสังขรณ์วัดเก่า ที่ชำรุดทรุดโทรมซึ่งท่านใช้เวลาตลอดชีวิตหลังจากนี้ ทุ่มเทกับสาธารณประโยชน์จนกระทั่งชาวเหนือให้สมญาท่านว่า นักบุญแห่งลานนา

    สิ่งแรกที่ครูบาศรีวิชัยสร้างความประทับใจให้แก่ทุกคนก็คือ เมื่อท่านกลับไปสู่วัดบ้านปางเพียงไม่กี่วันเท่านั้น หลังจากที่ได้เยี่ยมโยมพ่อและโยมแม่ ท่านก็ออกเดินทางจากวัดบ้านปางตรงไปอำเภอลี้ จัดเครื่องไทยทาน และเครื่องสักการะไปถวายเจ้าคณะแขวงลี้ เจ้าคณะแขวงลี้ประหลาดใจนัก แต่แล้วก็ดีใจที่เห็นครูบาศรีวิชัยกลับจากกรุงเทพฯ เที่ยวนี้ เปลี่ยนเป็นคนละคน แทนที่จะอาฆาตพยาบาท ที่เจ้าคณะแขวงลี้ก็มีส่วนทำให้ต้องถูกไต่สวน กลับมีสัมมาคารวะไม่หัวแข็งเหมือนเมื่อก่อน

    เมื่อได้ทำความเคารพเจ้าคณะแขวงลี้แล้ว ครูบาศรีวิชัยก็เดินทางเข้าลำพูนจัดเตรียมเครื่องไทยทานดอกไม้ธูปเทียนไปถวาย และคารวะเจ้าคณะ และรองเจ้าคณะเมืองลำพูน อันสร้างความปีติยินดีให้แก่ท่านพระครูทั้งสององค์เป็นอย่างยิ่ง

    พร้อมๆ กันนั้นการกระทำของครูบาศรีวิชัยนี้ ก็ยิ่งเป็นสิ่งเพิ่มพูนศรัทธาของประชาชนที่มีต่อครูบาศรีวิชัยมากยิ่งขึ้น เพราะต่างพากันพูดว่า ครูบาศรีวิชัยแม้จะถูกกลั่นแกล้งจากเจ้าคณะแขวงลี้ และเจ้าคณะเมืองลำพูนก็ตาม แต่ครูบาศรีวิชัยหามีจิตใจโกรธไม่ เมื่อกลับมาแล้วก็ยังไปทำความเคารพในฐานะภิกษุผู้มีอาวุโสทั้งสมณศักดิ์ และตำแหน่งในคณะสงฆ์

    พ้นจากเมืองลำพูนแล้ว ครูบาศรีวิชัยก็เดินทางขึ้นเชียงใหม่อีกครั้ง ท่านได้ทำเช่นเดียวกันคือ ไปทำความเคารพเจ้าคณะเมือง และรองเจ้าคณะเมือง คือ เจ้าอาวาสวัดศรีดอนไชยที่ท่านถูกกักอยู่ในโรงธรรมก่อนไปกรุงเทพฯ นั่นคือพระครูสุคันธศีลจะต้องประหลาดใจอย่างยิ่ง

    ไม่ว่าใครที่มีเรื่องเกี่ยวพันมาถึงตัวท่าน ครูบาศรีวิชัยจะเที่ยวไปทำความเคารพจนทั่วถึง ประชาชนชาวเมืองเชียงใหม่ ก็ทุ่มเทความศรัทธา ให้แก่ครูบาศรีวิชัยเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกันกับชาวลำพูน

    พิเคราะห์ดูประวัติของครูบาศรีวิชัยตอนนี้แล้ว ก็พอจะมองเห็นได้ว่า ครูบาศรีวิชัยนั้นท่านก็รู้ว่า การกระทำบางอย่างของท่านเป็นความผิด ที่ขัดต่อลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ที่ท่านได้ทำลงไป โดยมิได้มีเจตนาดื้อดัน แต่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์มากกว่า อีกอย่างหนึ่งนั้น ท่านเองก็ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นคือ เจ้าคณะแขวงเมือง และรองอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ดังนั้นจากที่ถูกไต่สวนจนพ้นความผิด และได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช ณ กรุงเทพมหานคร อันเป็นไปได้โดยยากสำหรับพระภิกษุต่างจังหวัดธรรมดาๆ อย่างท่านในการที่จะมีโอกาสอันดีงาม เช่นนี้

    โอวาทของสมเด็จพระสังฆราช และความเมตตาปราณีที่ได้รับจากพระองค์ คงจะช่วยย้อมจิตใจของครูบาศรีวิชัยให้คลายทิฐิที่เคยมี จนกระทั่งหมด บริสุทธิ์ผ่องใส ในที่สุดท่านจึงได้เที่ยวกราบแสดงความเคารพแด่ทุกท่าน เมื่อได้คืนกลับมาสู่ภาคเหนืออีกครั้งหนึ่งในคราวนี้

    ในระยะหลังที่ครูบาศรีวิชัยมาเชียงใหม่นั้น ท่านไปพำนักอยู่ที่วัดเกตการาม ที่ริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออก ตลอดพรรษาแรกที่ท่านกลับมาถึงลำพูนนั้น ท่านจำพรรษาอยู่ในบริเวณเดียวกันกับวัดพระธาตุหริภุญชัยในปัจจุบัน

    เมื่อออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ แล้ว ครูบาศรีวิชัยได้เดินทางไปกรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง และได้นำเครื่องไทยทานต่างๆ อันเป็นของพื้นเมืองเหนือติดตัวลงไปตามสมควร เพื่อนำไปทูลเกล้าถวายแด่ สมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส องค์สมเด็จพระสังฆราช และถวายพระผู้ทรงสมณศักดิ์องค์อื่นๆ เช่น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรวิริวัฒน์ เจ้าคณะใหญ่ หนกลาง พระธรรมวโรดม พระญาณวราภรณ์ และพระธรรมไตรโลกาจารย์ เป็นต้น

    สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระราชทานเหรียญมหาสมณุตมาภิเษก แก่ครูบาศรีวิชัยด้วย
     
  11. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน บูรณะพระธาตุม่อนไก่แจ้
    17362705_10212535642055728_2603139990877386481_n.jpg 17362705_10212535642055728_2603139990877386481_n.jpg
    ครูบาศรีวิชัย ได้เดินทางกลับสู่ลำพูนเมื่อเดือนยี่เหนือ (เดือนสิบสอง) ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ นั่น คราวนี้ท่านไม่ได้เดินทางกลับไปสู่วัดบ้านปาง แต่พักอยู่ ณ วัดเชียงยัน ใจกลางเมืองหริภุญชัยนั่นเอง
    วัดเชียงยัน ถึงแม้จะเป็นวัดที่อยู่กลางใจเมืองหริภุญชัย ติดต่อกับวัดพระธาตุหริภุญชัยก็ตามที แต่เป็นวัดที่ทรุดโทรม เกือบจะกลายเป็นวัดร้าง ด้วยสร้างมานานแต่สมัยโบราณ มีพระเจดีย์เหลี่ยมเก่าแก่อยู่องค์หนึ่ง เมื่อครูบาศรีวิชัยมาพำนักอยู่ที่นี่ ท่านจึงเกิดความคิดที่จะบูรณะวัดเชียงยันให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป
    ครูบาศรีวิชัย ได้นำความไปแจ้งแก่เจ้าคณะเมืองลำพูน ๆ ก็อนุญาตด้วยความยินดี ยินดีที่ว่าครูบาศรีวิชัย มิได้ทำอำเภอใจของตนเองอีก แต่ได้มาขออนุญาตจากท่านถูกต้องตามประเพณีไทย และตามการปกครองคณะสงฆ์ ที่มีระเบียบแบบแผน ครูบาศรีวิชัยจึงเริ่มลงมือบูรณะวัดเชียงยันนับเป็นวัดแห่งที่สองที่ท่านบูรณะ ถัดจากการวัดบ้านปางเป็นแห่งแรก
    เมื่อข่าวที่ครูบาศรีวิชัยจะบูรณะวัดเชียงยันอันรกร้างหญ้าขึ้นรก จนกระทั่งกลายเป็นทุ่งเลี้ยงวัว แพร่หลายเป็นที่ทราบกันทั่วไปนี้เอง ความเป็นผู้มหัศจรรย์ของครูบาศรีวิชัยก็เกิดขึ้น
    ชาวบ้านจำนวนมากทั้งชาวเมืองลำพูน และเชียงใหม่ที่ทราบข่าว ต่างพากันมาช่วยเหลือ โดยที่ครูบาศรีวิชัยมิได้ไปบังคับกะเกณฑ์แต่อย่างไร ซึ่งนอกจากคนเมืองแล้ว ก็ยังมีชาวป่าชาวเขาอีกหลายเผ่าหลายภาษา ออกจากถิ่นที่อยู่มาชุมนุมทำงานกันอย่างหนาแน่นที่วัดเชียงยัน งานบูรณะวัดนี้จึงเป็นไปอย่างรวดเร็วไม่น่าเชื่อ เพียงไม่ถึงสามเดือนต่อมา วัดเชียงยันที่แทบจะหมดสภาพเป็นวัดร้าง ก็กลับเป็นวัดที่มีเสนาสนะสะอาดมั่นคง มีลานวัดอันกว้างใหญ่ที่งาม ราบเรียบด้วยหญ้าเขียวขจี จนกระทั่งวัดพระธาตุหริภุญชัยเองที่อยู่ติดๆ กันหมองไปถนัดใจ
    ความสำเร็จจากการบูรณะวัดเชียงยันในเวลาอันรวดเร็วของครูบาศรีวิชัยนี้เอง ที่เป็นสาเหตุให้ท่านต้องเดินตระเวนไปสู่หัวบ้านหัวเมืองต่างๆ ที่ชาวบ้านพากันมาขอร้องให้ท่านไปเป็นประธานในการบูรณะวัด หรือปูชนียสถานสำคัญต่างๆ เริ่มด้วย ชาวอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ได้มาขอร้องให้ครูบาศรีวิชัยไปเป็นประธานนั่งหนักในวิหาร บูรณะ พระธาตุม่อนไก่แจ้ อันเป็นปูชนียสถานสำคัญของเมืองห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ที่มีตำนานปรัมปราว่า พระพุทธองค์เคยเสด็จมาถึงม่อนไก่แจ้แห่งนี้ แล้วมีพระพุทธองค์ทำนายว่า เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ส่วนหนึ่ง จะมาประดิษฐานอยู่ ณ ม่อนไก่แจ้แห่งนี้
    ชาวเมืองห้างฉัตรเล่ากันสืบมาว่า แต่โบราณมาก็เห็นพระธาตุม่อนไก่แจ้ประดิษฐานอยู่บนยอดดอย หรือ "ม่อน" แต่กาลเวลาที่ผ่านมา ทำให้พระธาตุม่อนไก่แจ้ปรักหักพังไปเป็นอันมาก ไม่มีใครมีแรงพอที่จะเรียกร้องศรัทธาของผู้คน ให้มาร่วมแรงร่วมใจกันบูรณะพระธาตุองค์นี้ได้ จึงมาขอเชิญครูบาศรีวิชัยไปเป็นประธานนั่งหนักในการบูรณะพระธาตุนี้ ครูบาศรีวิชัยท่านไม่เคยขัดผู้ใด ถ้าหากเป็นเรื่องงานบุญหนัก งานกุศล ท่านบอกชาวเมืองห้างฉัตรว่า ไปขออนุญาตเจ้าคณะเมืองลำปาง หรือเจ้าคณะแขวงห้างฉัตรให้เรียบร้อย เสียก่อน ส่วนท่านจะขออธิษฐานดูว่า จะมีทางบูรณะพระธาตุม่อนไก่แจ้ได้สำเร็จหรือไม่
    ทุกครั้งที่ครูบาศรีวิชัย จะไปทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัด หรือปูชนียสถานแห่งใดก็ตาม ท่านจะต้องขอ "อธิษฐาน" ก่อนทุกคราวไป โดยบอกกับชาวบ้านว่า ต้องมีเทวดามาช่วยถึงสำเร็จได้ นี่คือหลักจิตวิทยาอันยอดเยี่ยมของครูบาศรีวิชัย
    ครูบาศรีวิชัย ท่านต้องการผูกจิตผูกใจชาวบ้านให้มาช่วยกันทำงาน สร้างสรรค์ความเจริญให้แก่พระบวรพุทธศาสนา อันเป็นการกระทำความดี มิใช่การหลอกลวงผู้ใดผู้หนึ่ง ท่านจึงมักต้องอาศัยเทวดาช่วยอยู่เสมอ เมื่อชาวบ้าน บ้านห้างฉัตร ได้ไปขออนุญาตต่อเจ้าคณะแขวงห้างฉัตร และเจ้าคณะเมืองลำปางเรียบร้อยแล้ว ก็เดินทางกลับมาหาครูบาศรีวิชัยที่วัดเชียงยัน เมืองลำพูน อีกครั้ง คราวนี้เองครูบาศรีวิชัย ก็ได้เดินทางไปสู่อำเภอห้างฉัตร เมืองลำปาง พร้อมด้วยคณะศรัทธาติดตามท่านไปเป็นจำนวนมาก เพื่อช่วยกันบูรณะพระธาตุม่อนไก่แจ้
    ต้นปี พ.ศ. ๒๔๖๔ นั่นเอง การบูรณะพระธาตุม่อนไก่แจ้ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ก็เสร็จเรียบร้อย หลังจากที่ใช้เวลาเพียง ๓ เดือนเต็มๆ เท่านั้น องค์พระธาตุที่ปรักหักพัง ยอดหักกลิ้งลงมาอยู่กับพื้นนั้น ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่จนบริบูรณ์ทั้งองค์ ในรูปแบบเดิมที่เป็นของเก่า น่านิยมครูบาศรีวิชัยอยู่อีกประการหนึ่งก็คือ ไม่ว่าท่านไปบูรณะอะไรที่ไหนก็ตาม ท่านจะไม่สร้างขึ้นใหม่ แต่จะบูรณะให้คงสภาพเดิม นับได้ว่าท่านเป็นนักอนุรักษ์นิยมที่น่าสรรเสริญทีเดียว ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ปูชนียสถานสำคัญหลายแห่งของภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี ลำพูน หรือ พระเจ้าตนหลวง ที่พะเยา ฯลฯ ก็คงป่นปี้หาศิลปะชิ้นเดิมไม่พบ เพราะสถานที่เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นผลงานจากการบูรณปฏิสังขรณ์ของครูบาศรีวิชัยทั้งสิ้น
    ชาวเมืองห้างฉัตร ได้ร่วมใจกันจัดงานฉลองสมโภชพระธาตุม่อนไก่แจ้อย่างสนุกสนาน หลายคืนหลายวันติดต่อกัน มีผู้คนหลั่งไหลไปสักการะพระธาตุม่อนไก่แจ้อย่างมากมาย แล้วครูบาศรีวิชัยก็คืนกลับสู่วัดเชียงยัน เมืองลำพูน
     
  12. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน บูรณะพระธาตุหริภุญชัย
    17457441_10212535680896699_2135587597714278109_n.jpg
    คราวนี้เองที่ท่านได้ฝากผลงานอันยิ่งใหญ่อีกชิ้นหนึ่งไว้แก่นครหริภุญชัย นั่นคือ ท่านเป็นประธานนั่งหนักในการบูรณะวัดพระธาตุหริภุญชัยทั้งวัด รวมทั้งองค์พระธาตุอันเป็นปูชนียสถานสำคัญที่สุดของเมืองลำพูนด้วย วัดแห่งนี้คือที่กักขังท่านสมัยที่ถูกลงโทษจากเจ้าคณะเมืองลำพูน ท่านได้เห็นความชำรุดทรุดโทรมแต่สมัยนั้น บัดนี้เป็นโอกาสของครูบาศรีวิชัยแล้ว ท่านจะบูรณะวัดพระธาตุหริภุญชัยให้เจริญรุ่งเรือง งดงามสมกับเป็นปูชนียสถานสำคัญที่สุดของเมืองลำพูน
    ด้วยมือเปล่าๆ เพียงสองข้าง และกำลังใจอันเด็ดเดี่ยวนี่แหละ พระธาตุหริภุญชัย คือปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งของเมืองหริภุญชัย หรือลำพูนอันเก่าแก่ เป็นที่เคารพสักการะของชาวลานนาไทยมานานนับหลายศตวรรษ นับเป็นพระมหาเจดีย์สถานที่สำคัญสุดยอด ๑ ใน ๗ แห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งสัตตมหาสถานทั้ง ๗ แห่งนี้ เป็นปูชนียสถานอันเคยเป็นหลักของนครเก่าแก่โบราณกาลมา ซึ่งสมเด็จพระมหากษัตริย์ศึกในพระบรมราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ที่เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติจะต้องเสด็จไปทรงมนัสการ หรือมิฉะนั้นก็โปรดฯ ให้แต่งเครื่องราชสักการะนำไปบูชา ณ ปูชนียสถานแห่งนั้น
    พระมหาเจดีย์สถานอันสำคัญทั้ง ๗ แห่งนี้ มีแต่เก่าแก่โบราณมาเป็นที่เคารพเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ในสมัยก่อนนั้นถึงกับกล่าวว่า หากพุทธศาสนิกชนท่านใด สามารถเดินทางไปไหว้พระมหาเจดีย์ทั้ง ๗ แห่งนี้ได้ครบแล้ว ก็จะได้กุศลผลบุญอันยิ่งใหญ่ ที่จะช่วยเสริมสร้างบารมีในชาติต่อไป
    สาเหตุที่มีคำกล่าวเช่นนี้ ก็เห็นจะเป็นเพราะว่า ในสมัยครั้งก่อนนั้น การเดินทางไปนมัสการปูชนียสถานแต่ละแห่งดังกล่าวนี้ มิใช่เรื่องง่ายๆ ที่บุคคลธรรมดาสามัญจะสามารถกระทำได้ทั่วถึง ดูแต่พระปฐมเจดีย์ ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ใกล้กรุงเทพฯ เหลือเกินนั้น ย้อนหลังไปเพียงสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อครั้งท่านสุนทรภู่ กวีเอกของไทยไปนมัสการ ท่านยังต้องนั่งเรือไป และบุกป่าผ่าดงกว่าจะถึงองค์พระปฐมเจดีย์
    สำหรับพระธาตุหริภุญชัยแห่งนครลำพูนนี้ นับได้ว่าเป็นปูชนียสถานเก่าแก่ที่สุดของลานนาไทย เพราะเมืองหริภุญชัยอันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุสำคัญองค์นี้ ก็เป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดในลานนาไทยเมืองหนึ่ง เพราะตามประวัตินั้น หริภุญชัยได้สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๑๒๐๓ และพอถึงปี พ.ศ. ๑๒๐๖ ราชวงศ์กษัตริย์แห่งเมืองละโว้ก็ได้เสด็จมาครองเมืองหริภุญชัย คือ พระนางจามเทวี เมืองหริภุญชัย เพิ่งจะเสียเอกราชให้แก่อาณาจักรลานนาไทยของพ่อขุนเม็งรายมหาราชเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๔ ก่อนที่พ่อขุนเม็งรายมหาราชจะทรงสร้างนครเชียงใหม่ขึ้นเป็นราชธานีของอาณาจักรลานนาไทยเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ ถึง ๑๕ ปี
    หริภุญชัยจึงเป็นเมืองเก่าแก่กว่าเชียงใหม่มากนัก ครูบาศรีวิชัยคงจะได้แลเห็นความชำรุดทรุดโทรมของวัดพระธาตุฯ อยู่ไม่น้อย ในระหว่างท่านถูกนำมากักขังไว้ที่นี่ และในระหว่างที่มาบูรณะวัดเชียงยันซึ่งอยู่ติดกับวัดพระธาตุหริภุญชัยนั่นเอง
    นักบุญอย่างครูบาศรีวิชัยนั้น ท่านปรารถนาที่จะจรรโลงพระพุทธศาสนาให้วัดพระธาตุหริภุญชัยวัฒนาสืบไป ถ้าไม่มีพระอารามเสียแล้ว จะหาสถานที่แห่งใดเล่า ที่จะให้กุลบุตร กุลธิดาได้บวชเป็นศิษย์ของตถาคตสืบพระพุทธศาสนาต่อไป
    พระธาตุหริภุญชัย ปูชนียสถานเก่าแก่ของลานนาไทยแห่งนี้ มีประวัติปรากฏอยู่ในหนังสือเก่าหลายเล่ม เช่น พงศาวดารโยนก ชินกาลมาลีปกรณ์ จามเทวีวงศ์ ฯลฯ เป็นต้น
    สรุปได้ว่า สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอาทิตย์ราชเป็นกษัตริย์ครองเมืองหริภุญชัย แต่ทว่าปีศักราชที่ครองราชสมบัติ และปีที่สร้างพระธาตุนั้นไม่ตรงกันเลยสักฉบับเดียว พงศาวดารโยนกกล่าวว่าพระเจ้าอาทิตย์ราชสร้างพระธาตุหริภุญชัยเมื่อปี พ.ศ. ๑๕๘๖ ชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๑๖๐๖ ตำนานพระธาตุหริภุญชัยกล่าวว่า พระเจ้าอาทิตย์ราชสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๑๔๔๐ นอกจากนี้แล้วยังมีหนังสือเก่าต่างๆ ที่ออกศักราชที่สร้างพระธาตุฯ ไม่ตรงกันเลย แต่ ความตรงกันที่ว่าผู้ที่โปรดฯให้สร้างพระธาตุฯ ก็คือ พระเจ้าอาทิตย์ราช แน่นอน
    พระเจ้าอาทิตย์ราช เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งของนครหริภุญชัย ที่มีเรื่องกล่าวถึงไว้มากมายในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์
    สมัยนั้นนครหริภุญชัย อุดมสมบูรณ์พูนสุขอย่างยิ่งพระเจ้าอาทิตย์ราชทรงบำรุงพระพุทธศาสนา และทรงเลื่อมใสยิ่งนัก ชินกาลมาลีปกรณ์เล่าว่า พระองค์โปรดให้สร้างปราสาทใหญ่เป็นที่ถวายอาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ขึ้น ณ กลางเมืองหริภุญชัย แล้วทรงขายปราสาทแห่งนั้นให้แก่เศรษฐีในเมือง และนำเงินที่ได้มา ไปบริจาควัดวาอารามต่างๆ บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ทรุดโทรมให้คืนดีพระธาตุหริภุญชัยพระราชวังที่ประทับของกษัตริย์ลำพูนในสมัยนั้น อยู่ใกล้กับวัดพระธาตุหริภุญชัยในปัจจุบันนี้เอง ใกล้ตำหนักที่ประทับของเจ้าอาทิตย์ราช มีหอจัณฑาคาร เป็นที่สำหรับเสด็จไปทรงพระบังคน แต่หลังจากที่พระเจ้าอาทิตย์ราชขึ้นเสวยราชไม่นานนัก ก็ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น นั่นคือ ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จไปทรงพระบังคน ณ หอแห่งนั้น เมื่อเสด็จออกมาจะต้องมีอีกาตัวหนึ่งมาถ่ายมูลกลางอากาศ ตกลงมาถูกเศียรของพระองค์ทุกครั้ง
    พระเจ้าอาทิตย์ราช เต็มไปด้วยความแปลกพระทัย ในที่สุดจึงมีพระดำรัสสั่งให้พรานจับกาตัวนั้นมาให้ได้ และนำมาขังไว้ พระองค์อยากจะทรงทราบว่าเพราะเหตุใดกาจึงถ่ายรดพระเศียรทุกครั้งที่เสด็จไปทรงพระบังคน พระเจ้าอาทิตย์ราช โปรดฯให้นำทารกที่ยังไม่รู้ภาษาไปอยู่ร่วมกับกา เป็นเวลานานถึง ๗ ปี ความลับเรื่องนี้จึงได้เปิดเผยออกมาว่า สถานที่ตั้งหอจัณฑาคารแห่งนี้ ใต้ลงไปในพื้นดินมีพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่แต่โบราณ
    เมื่อทรงทราบดังนั้น พระเจ้าอาทิตย์ราชจึงโปรดให้รื้อหอจัณฑาคารออกทันที แล้วขุดดินที่ไม่บริสุทธิ์ออกไปทิ้งนอกนครหริภุญชัย และทำการปรับพื้นที่ตรงนั้นใหม่ ตั้งประรำพิธีล้อมรอบด้วยฉัตรทำพิธีบูชาพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อครบ ๗ วันแล้ว ก็โปรดให้ขุดหาพระบรมสาริกธาตุตามความบอกเล่าของกากับทารก ก็ได้พบพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ทองคำสูง ๓ ศอก ตรงใต้หอจัณฑาคารเดิมนั่นเอง
    หลังจากนั้นพระเจ้าอาทิตย์ราช ก็โปรดให้สร้างพระเจดีย์ขึ้น ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ใต้ดินดังเดิม พระธาตุหริภุญชัยที่สร้างขึ้นในครั้งแรกนี้เป็นสถูปทรงปราสาท ซึ่งตำนานชินกาลมาลีปกรณ์เล่าว่า สูง ๑๒ ศอก มีเสา ๔ เสา ประตู ๔ ด้าน นับแต่นั้นมาพระธาตุหริภุญชัยก็เป็นปูชนียสถานคู่เมืองลำพูนเรื่อยมา
    กษัตริย์ผู้ครองเมืองหริภุญชัยในสมัยต่อมา ได้บูชาพระธาตุหริภุญชัย โดยสร้างเสริมให้สูงใหญ่ขึ้น แต่ยังคงรักษาลักษณะเดิมไว้ อย่างเช่นสมัยพระเจ้าสรรพสิทธิ์ ได้บูรณะพระธาตุจนสูง ๒๘ ศอก ครั้นเมื่อพ่อขุนเม็งรายมหาราชตีนครหริภุญชัยได้เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๒๔ นั้น โปรดฯ ให้อ้ายฟ้าอำมาตย์ นายทหารคนสนิท เป็นแม่กองมาบูรณะพระธาตุหริภุญชัยขึ้นใหม่ทั้งองค์ โดยสร้างเป็นสถูปแบบลานนาไทย ครอบประสาทเดิมไว้ภายใน
    ภาพในอดีตที่เห็นนี้คือภาพของพระพุทธรูปในวิหารหลวงของวัดพระธาตุหริภุญชัย ที่พังทลายหลังจากเกิดพายุครั้งใหญ่
    คุณลุงบุญเสริม สาตราภัย เจ้าของภาพเล่าให้ฟังว่า วิหารเดิมนั้นสร้างด้วยไม้สักทั้งหลังสวยงามมาก
    หลังจากที่ถูกพายุพัดพังไปก็เหลือเพียงพระพุทธปฏิมาองค์ใหญ่ 1 องค์ พร้อมพระพุทธรูปองค์เล็กอีกหลายองค์ที่ยังคงสภาพเดิมไว้ได้อยู่ โดยไม่เสียหายไปตามแรงลมพายุ
    สมัยต่อมา เมื่ออาณาจักรลานนาไทยมีศูนย์กลางอยู่ที่นครเชียงใหม่นั้น กษัตริย์ราชวงศ์เม็งรายที่ขึ้นครองราชวงศ์เชียงใหม่อีกหลายพระองค์ ก็ได้ทรงบูรณะพระธาตุหริภุญชัยเรื่อยมา คือ พระเจ้าคำฟู พระเจ้ากือนา พระเจ้าติโลกราช พระเมืองแก้ว พระเมืองอ้าย พระไชยเชษฐาธิราช เป็นต้น
    ในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อนครเชียงใหม่เป็นประเทศราชของไทยนั้น เจ้าผู้ครองนครก็ได้บูรณะพระธาตุหริภุญชัยสืบมาเช่น พระเจ้ากาวิละ และพระเจ้ากาวิโรรส เป็นต้น
    ด้วยเหตุนี้เอง พระธาตุหริภุญชัยจึงกลายเป็นพระอารามใหญ่ มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นวรมหาวิหาร ในปัจจุบัน สำหรับพระธาตุหริภุญชัยนี้มีการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อรัฐบาลจัดงานฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ มีการบูรณะปูชนียสถาน อันเป็นพระมหาเจดีย์สำคัญทั้ง ๗ แห่งของไทย สำหรับพระธาตุหริภุญชัยได้รับงบประมาณบูรณะครั้งนี้เป็นเงิน ๑ ล้านบาท พระธาตุหริภุญชัยสูง ๒๓ วา หรือ ๔๖ เมตร มีฉัตร ๙ ชั้น อยู่บนยอดสูงสุด ฐานกว้างด้านละ ๑๒ วา ๒ ศอก หรือ ๒๕ เมตร
    นี่คือลำดับความเป็นมาของพระธาตุหริภุญชัย ปูชนียสถานสำหรับคู่เมืองหริภุญชัยแห่งนี้ ซึ่งเก่าแก่ยิ่งนัก
    ก่อนที่ครูบาศรีวิชัย จะมาบูรณะวัดพระธาตุหริภุญชัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ นี้เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้เกิดพายุใหญ่ขึ้นที่เมืองลำพูน พัดกระหน่ำทำความเสียหายแก่วัด และบ้านเรือนเป็นอันมาก โดยเฉพาะองค์พระธาตุหริภุญชัยถึงกับยอดฉัตรเอียง กุฏิวิหารในวัดได้รับความเสียหายเป็นอันมาก สถานที่ของวัดในสมัยก่อนที่ครูบาศรีวิชัยจะเป็นประธาน "นั่งหนัก" บูรณะขึ้นใหม่ จึงค่อนข้างชำรุดทรุดโทรมมากทีเดียว
     
  13. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน บาตรใบเดียว
    17522932_10212573938173107_3470494480214565869_n.jpg
    ก่อนที่จะลงมือบูรณะวัดพระธาตุหริภุญชัย ครูบาศรีวิชัยได้ขออนุญาตเจ้าคณะเมืองลำพูน ซึ่งท่านได้พูดกับครูบาศรีวิชัยว่า วัดพระธาตุหริภุญชัยนั้นทรุดโทรมมากทั่วพระอาราม ครูบาศรีวิชัยจะนำเงินที่ไหนมาบูรณะได้ ครูบาศรีวิชัยตอบว่า ตัวท่านเองไม่มีเงินทองจะนำมาบูรณะพระธาตุหริภุญชัยหรอก ท่านมีแต่บาตรใบเดียวเท่านั้น แต่ท่านเชื่อว่าศรัทธาของชาวเมืองลำพูน และเมืองใกล้เคียง จะหลั่งไหลมาเต็มบาตรของท่าน

    เจ้าคณะเมืองลำพูนก็อนุญาตให้ครูบาศรีวิชัยบูรณะวัดพระธาตุหริภุญชัยได้ตามที่ปรารถนา ครูบาศรีวิชัยจึงประกาศข่าวนี้แก่สานุศิษย์ และชาวเมืองลำพูนทันที เชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมแรงร่วมใจกัน บูรณะพระธาตุหริภุญชัย และพระอารามตามแต่ศรัทธา

    ครั้งนั้นครูบาศรีวิชัยจำพรรษาอยู่ ณ วัดเชียงยัน อันอยู่ฟากทิศเหนือของวัดพระธาตุหริภุญชัย ใกล้ขนาดแนวเขตติดต่อกันเลยทีเดียว ท่านได้ประกาศข่าวนี้ให้สานุศิษย์ที่เคารพเลื่อมใสท่านทราบทั่วกัน เพียงชั่วเวลาไม่กี่วันต่อมาเท่านั้น วัดเชียงยันก็หนาแน่นไปด้วยผู้คนที่หลั่งไหล นำเงินทองข้าวของมาบริจาคให้แก่ ครูบาศรีวิชัย

    บาตรเพียงใบเดียวของครูบาศรีวิชัยเล็กเกินไปที่จะรองรับศรัทธา และน้ำใจของชาวเมืองเสียแล้ว นอกจากชาวเมืองที่นำเงิน ทอง มาบริจาคเพื่อบูรณะวัดพระธาตุหริภุญชัยแล้ว ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมาก อาสาตัวเองมาทำงาน โดยมิได้คิดค่าจ้าง นับจำนวนร้อยคน ครูบาศรีวิชัยต้องตั้งโรงครัวหุงหาอาหารเลี้ยงคนงาน โดยมีแม่ครัวชาวพื้นเมืองมาช่วยปรุงแต่งกับข้าวกับปลาเลี้ยงผู้ชายที่ใช้แรงงานบูรณะวัด กันอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย นี่คือสิ่งพิสูจน์บารมีของครูบาศรีวิชัยโดยแท้

    พระภิกษุจากบ้านปาง อำเภอลี้ ดินแดนกันดารที่ไม่มีใครรู้จักนั้น สามารถผูกจิตผูกใจชาวเมืองเหนือได้มากถึงเพียงนี้เชียวหรือ?

    งานบูรณะวัดพระธาตุหริภุญชัยนั้น เริ่มตั้งแต่ถากถางหญ้าบริเวณวัด ที่รกไปด้วยต้นไม้ใบหญ้า ปรับพื้นที่ให้เรียบเสมอ ตกแต่งสถานที่ต่างๆ ให้เรียบร้อยดูงาม ส่วนงานบูรณะใหญ่ได้แก่การบูรณะองค์พระธาตุ และบริเวณวิหารหลวง สิ่งที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งก็คือ คนชาวเมืองเหนือที่มีความรู้ในเรื่องวิชาแกะสลัก และช่างปูน ช่างปั้น ได้ร่วมใจกันบูรณะองค์พระธาตุ และพระวิหารหลวงอย่างพร้อมเพรียง เป็นการทำงานของผู้ที่มีความรู้วิชาช่างอย่างแท้จริง ผลงานที่สำเร็จออกมาจึงงดงามน่าชม เป็นงานศิลปะชั้นสูง ที่ช่วยส่งเสริมความสง่างามให้แก่วัดพระธาตุหริภุญชัย

    การบูรณะปูชนียสถานโบราณสถานนั้น เปรียบประดุจดาบสองคม ถ้าหากผู้บูรณะมีความรู้แท้จริง รักษารูปแบบศิลปกรรมดั้งเดิม งานใหม่ที่ออกมาก็เชิดชูปูชนียสถานนั้นๆ ให้สง่างามขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากผู้ไปบูรณะขาดความรู้ บูรณะไปตามใจชอบ ก็เป็นการทำลายปูชนียสถานอย่างน่าเสียดายยิ่ง

    งานบูรณะวัดหริภุญชัยเสร็จเรียบร้อยเมื่อเดือน ๖ ขึ้น ๖ ค่ำ ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ สิ้นเงินในการบูรณะไปทั้งหมด ๓๒๒,๕๐๐ รูปี เงินรูปีในสมัยนั้น ๑ รูปีประมาณ ๘๕ สตางค์ จึงเป็นเงินทั้งหมด ๒๗๔,๑๒๕.๐๐ บาท เงินเกือบสามแสนบาทในสมัยนั้น พ.ศ. ๒๔๖๓ คิดเป็นค่าของเงินสมัยนี้มากเพียงไหน? ทุกบาททุกสตางค์ ล้วนแต่เป็นเงินบริจาคที่ครูบาศรีวิชัยได้รับจากผู้มีศรัทธาทั้งสิ้น ยากนักที่จะหาพระภิกษุรูปใด ที่จะสามารถเรียกร้องศรัทธาผู้คนได้ถึงเพียงนี้ มิใช่หรือ?

    ครูบาศรีวิชัย ได้คืนกลับสู่บ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนอีกครั้ง เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เพราะโยมมารดา คือนางอุสาห์ได้ถึงแก่กรรม เวลานั้นอายุได้ ๗๐ ปี ชีวิตในบั้นปลายของโยมอุสาห์ มารดาของครูบาศรีวิชัยนั้น ปรากฏว่าได้เข้าวัดถือศีล ณ วัดบ้านปางนั่นเอง อิ่มเอิบในผลบุญกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

    ครูบาศรีวิชัยได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้โยมมารดาด้วยอาการปกติ ไม่เศร้าโศกอะไรมากนัก เพราะท่านทราบดีว่า การเกิดแก่เจ็บตายนั้นเป็นวัฏสงสารของมนุษย์ ตามกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อน ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้ จะช้าหรือเร็วเท่านั้น

    ในการกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านปางอีกครั้งนี้ ครูบาศรีวิชัยได้ก่อสร้างพระเจดีย์ใหญ่หลังโบสถ์ ที่สร้างค้างไว้แต่เมื่อหลายปีก่อน จนกระทั่งสำเร็จเรียบร้อย

    วัดศรีดอนชัยทรายมูล หรือ วัดบ้านปาง ที่โรยราไปในระยะที่ครูบาศรีวิชัยถูกข้ออธิกรณ์จนกระทั่งต้องลงไปรับการไต่สวนในกรุงเทพฯ นั้น กลับหันมาแน่นด้วยอุบาสกอุบาสิกาอีกครั้งหนึ่ง เพราะครูบาศรีวิชัย ต้นบุญที่พวกเขานับถือได้กลับมาสู่วัดบ้านปางแล้วนั่นเอง สานุศิษย์เก่าๆ ของครูบาศรีวิชัย มีทั้งคนเมือง และชาวป่าชาวเขาก็กลับมารวมกันที่วัดบ้านปางอีกเช่นกัน

    ตลอดพรรษา ครูบาศรีวิชัยจำพรรษาที่วัดบ้านปางอย่างสงบ ดูเหมือนเรื่องร้ายอันเป็นมรสุมชีวิตของท่านนั้นได้ผ่านพ้นไปหมดแล้ว เหมือนดวงจันทร์ที่โผล่พ้นจากหมู่เมฆ เปล่งแสงเรืองรองทั่วอากาศ ซึ่งถ้าครูบาศรีวิชัย จำพรรษาอยู่ ณ วัดบ้านปางเรื่อยไป เรื่องราวของท่านก็คงจะหมดสิ้นลงเพียงเท่านี้ และไม่เป็นที่กล่าวขวัญกันในฐานะนักบุญแห่งลานนาไทยเหมือนทุกวันนี้ แต่ทว่าหาเป็นเช่นนั้นไม่ พอออกพรรษาปีนั้นเอง ครูบาศรีวิชัยก็ออกจาริกไปบูรณะก่อสร้างปูชนียสถาน และวัดวาอารามทั่วลานนาไทยอีกครั้งหนึ่ง
     
  14. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน
    พระธาตุดอยเกิ้ง
    17554081_10212574091296935_7667154090087166033_n.jpg
    มีชาวบ้านอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่เดินบุกป่าฝ่าดง มานมัสการครูบาศรีวิชัยถึงวัดบ้านปาง ขอนิมนต์ท่านไปบูรณะพระธาตุดอยเกิ้ง อันเป็นปูชนียสถานเก่าแก่คู่เมืองฮอดมาแต่โบราณ ซึ่งบัดนี้ได้ปรักหักพังไปมาก เป็นที่น่าวิตกว่า หากขืนปล่อยทิ้งไว้เช่นนี้ พระธาตุดอยเกิ้ง ก็จะสูญสิ้นไปในที่สุด ครูบาศรีวิชัย รับนิมนต์ไปบูรณะพระธาตุดอยเกิ้ง เมืองฮอด ทันที

    อำเภอลี้ และอำเภอฮอดสองอำเภอนี้มีอาณาเขตติดกัน ถ้าหากมองดูในแผนที่แล้วจะเห็นว่าอยู่ใกล้ชิดกันมาก เดี๋ยวนี้มีถนนเชื่อมระหว่างลี้กับฮอด ผ่านกิ่งอำเภอดอยเต่าไปมาหาสู่กันสะดวกมาก

    คำว่าเกิ้ง เป็นภาษาพื้นเมืองเหนือเก่าแก่หมายถึง ฉัตร สาเหตุที่จะมีพระธาตุดอยเกิ้งแห่งนี้ ก็ด้วยตำนานพื้นเมืองเก่าแก่ที่เล่ากันมาว่าในครั้งพุทธกาลนั้น พระพุทธองค์ได้เสด็จโดยปาฏิหาริย์ มาสู่ดินแดนที่เป็นลานนาไทยเดี๋ยวนี้
    ครั้งกระนั้น บริเวณเชิงดอยแห่งนี้มีพญาผู้หนึ่งมีพระนามว่า พญาขุนแสนทอง ตั้งบ้านเรือนปกครองลูกบ้านอยู่ ครั้นเมื่อพญาขุนแสนทองทรงรู้ว่า พระพุทธองค์เสด็จมาประทับอยู่บนดอยก็ปลื้มปีติโสมนัสนัก รีบนำเกิ้งคำ หรือ ฉัตรทองคำ อันทำด้วยทองคำบริสุทธิ์ หนาเท่ากับหนึ่งแม่มือไปกั้นบังแสงแดดให้แก่พระพุทธเจ้า
    ก่อนพระพุทธองค์จะเสด็จจากยอดดอยแห่งนี้ไป ทรงมอบพระเกศาให้พญาขุนแสนทองทรงรักษาไว้เส้นหนึ่ง พร้อมกับทรงมีพุทธทำนายว่า ในกาลภายภาคหน้าเมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว พระบรมสารีริกธาตุองค์หนึ่ง จะมาประดิษฐานอยู่ ณ ยอดดอยแห่งนี้ อันจะมีนามว่า ดอยเกิ้ง สืบไป และพระธาตุนั้นก็จะมีนามว่า พระธาตุดอยเกิ้งด้วย

    อาศัยตำนานเก่านี้เอง พระธาตุดอยเกิ้งจึงมีมาแต่โบราณ เมื่อบริเวณนี้กลายเป็นที่ตั้งชุมชนใหญ่ของนักล่องแพ ในสมัยที่การคมนาคมระหว่างเชียงใหม่ และภาคกลางยังต้องอาศัยการเดินทางล่องแพในลำน้ำปิง ผ่านเกาะแก่งต่างๆ ลงมาสู่จังหวัดนครสวรรค์นั้น บ้านท่าเดื่อแห่งนี้มีนักล่องแพมือดีอยู่มากทีเดียว

    พระธาตุดอยเกิ้ง จึงเป็นที่เคารพสักการะของทุกคน ที่จะล่องแพผ่านไปสู่ภาคกลางเรื่อยมา แต่ต่อมาพระธาตุดอยเกิ้งได้ปรักหักพังทรุดโทรมลงเป็นอันมาก ชาวบ้านท่าเดื่อจึงพร้อมใจกันไปนิมนต์ครูบาศรีวิชัย มาเป็นประธานในการบูรณะพระธาตุนี้ ด้วยกิตติศัพท์ชื่อเสียงที่ทราบกันว่า ครูบาศรีวิชัยสามารถบูรณะ วัดพระธาตุหริภุญชัยอันใหญ่โตเป็นผลสำเร็จนั้นเอง

    ครูบาศรีวิชัยไปถึงไหนศรัทธาของผู้คนก็ไปรวมกันอยู่ที่นั้น ท่านไปถึงวัดพระธาตุดอยเกิ้ง ก็ตั้งกองบูรณะพระธาตุขึ้นที่นั้น ประชาชนในเขตอำเภอฮอดหลั่งไหลมาช่วยบูรณะพระธาตุกันมากมาย ผู้ที่มีฐานะดีก็บริจาคเงินช่วย คนจนที่ไม่มีเงิน แต่มีศรัทธาเปี่ยมล้นในหัวใจ ก็สละแรงกายเข้าช่วย เพียงสองเดือนให้หลัง พระธาตุดอยเกิ้งก็สง่างามดังเดิม

    การบูรณะพระธาตุดอยเกิ้ง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่นี้ ใช้เงินไปทั้งสิ้น ๑๖,๙๓๔ รูปี คิดเป็นเงิน ๑๓,๓๙๓.๙๐ บาท อันล้วนแต่ที่มีผู้ศรัทธาบริจาคทั้งสิ้น

    ชาวบ้านท่าเดื่อเมืองฮอดได้ร่วมใจกันจัดงานปอย ฉลองพระธาตุดอยเกิ้งที่บูรณะขึ้นใหม่ อย่างเอิกเกริก เป็นเวลาสามวันสามคืน แล้วจากนั้นครูบาศรีวิชัยก็เดินทางกลับสู่บ้านปาง หลังจากที่แวะพักที่ดอยเต่าหนึ่งราตรี ตามคำนิมนต์ของชาวบ้านดอยเต่า ที่ขอให้ครูบาศรีวิชัยไปแสดงธรรมที่นั่น

    ใคร่เล่าแทรกไว้ ณ ที่นี้สักเล็กน้อยว่า พระธาตุดอยเกิ้ง ปูชนีย์สถานสำคัญของชาวเมืองฮอดนั้น ปัจจุบันนี้ได้จมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนภูมิพลเสียแล้ว (หมายเหตุ: จริงๆ แล้ว องค์พระธาตุไม่ได้จมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำ แต่อ่างเก็บน้ำทำให้การขึ้นสู่องค์พระธาตุทำได้ลำบากมากขึ้น จนกระทั่งวัดกลายเป็นวัดร้างไประยะหนึ่ง และยังมีผู้ที่ไม่รู้การศาสนาทั้งหลายได้พากันมาขุดเจาะพระธาตุเจดีย์เอาของมีค่าต่าง ๆ ไปและได้ลอกเอาจังโก๋ที่ติดรอบ ๆ องค์พระธาตุไป ทางคณะสงฆ์ทั้งสองอำเภอคือ ฮอดและดอยเต่า โดยมี ดร.พระราชพรหมาจารย์ (พระอาจารย์ทอง สิริมํคโล) เจ้าคณะอำเภอฮอดเป็นประธานพร้อมด้วยคณะสมณะศรัทธา และมูลศรัทธาทั้งหลาย ได้พากันไถทางขึ้นสู่พระธาตุเจ้าดอยเกิ้งจากหมู่บ้านห้วยหินดำ ต.นาคอเรือ อ.ฮอด เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2512 รถไถทางเสร็จเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2513 เป็นระยะทางทั้งสิ้น 14 กิโลเมตร ปัจจุบัน ทางขึ้นวัดฯ ได้เทปูนไปบ้างแล้วบางส่วน โดยเฉพาะส่วนที่ลาดชัน ลำบากเวลาที่ฝนตก ยังคงมีระยะทางที่ยังไม่เทปูนอีกประมาณ 6 กิโลเมตร - Webmaster) ทำให้เพราะการสร้างเขื่อนภูมิพลนั้น อ่างเก็บน้ำได้ท่วมยาวไกลมาตามลำน้ำปิงเดิม จนกระทั่งถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ป่าเขาบริเวณต่างๆ กลายเป็นทะเลสาบยาวสุดสายตา และได้ท่วมดอยเกิ้ง อันเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุดอยเกิ้งแห่งนี้ด้วย ส่วนหมู่บ้านดอยเต่าเดิม ที่ครูบาศรีวิชัยแวะแสดงพระธรรมให้ชาวบ้านฟังนั้น ก็ถูกน้ำท่วมเช่นกัน และกรมประชาสงเคราะห์ได้จัดตั้งนิคมสงเคราะห์ชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม โดยอพยพมาตั้งบ้านเรือนใหม่ที่เหนือดอยเต่าปัจจุบัน ซึ่งเดี๋ยวนี้มีฐานะเป็นกิ่งอำเภอดอยเต่า และบริเวณดอยเต่าเดิมได้กลายเป็นทะเลสาบดอยเต่า อันเป็นที่ท่องเที่ยวใหญ่ ที่มีชื่อเสียงยิ่งของเชียงใหม่

     
  15. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน บูรณะวัดต่างๆ
    [​IMG]
    ในระหว่างนั้น ครูบาศรีวิชัย ได้รับนิมนต์ไปบูรณะปูชนียสถานโบราณในสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง ในเขตจังหวัดลำพูนเป็นส่วนใหญ่ เช่นบูรณะพระวิหารพระอัฏฐารส เป็นเงิน ๑๑,๔๖๐ รูปี วิหารพระละโว้ ๗๓๐ รูปี วิหารพระเจ้าทันใจ เป็นเงิน ๒,๓๓๖ รูปี วิหารพระมหากัจจายนะเป็นเงิน ๒,๗๗๕ รูปี โรงกุฏิครูบาคันธะเป็นเงิน ๑,๒๐๐ รูปีเป็นต้น

    ซึ่งยิ่งนานวันขึ้น ชื่อเสียงของครูบาศรีวิชัยในด้านการเป็นนักบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามเก่าแก่ ให้กลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาใหม่ ก็ระบือไปทั่ว เป็นที่รู้จักของชาวเมืองต่างๆ ในภาคเหนือ พร้อมๆ กันนี้ผู้ศรัทธาในครูบาศรีวิชัยมาร่วมงานกับท่านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

    ครูบาศรีวิชัย ได้เดินทางไปบูรณะวัด และปูชนียสถานในลานนาไทยหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นที่เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ เชียงรายเป็นต้น (สร้างวิหารวัดศรีโคมคำพระเจ้าตนหลวง จังหวัดพะเยา - พ.ศ. ๒๔๖๕, บูรณะพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย, บูรณะพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ - พ.ศ. ๒๔๖๖, วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ - พ.ศ. ๒๔๖๗, สร้างธาตุและบันไดนาค วัดบ้านปาง, พระธาตุแก่งสร้อย - พ.ศ. ๒๔๖๘ )

    ปีพุทธศักราชได้ ๒๔๗๑ ขณะที่ครูบาเจ้าศรีวิไชย สิริวิชฺโย อยู่ที่วัดพระสิงห์ ได้บูรณะวิหารวัดพระสิงห์ขึ้นและได้มาบูรณะวัดพระป้าน (พระนอนแม่ปูคา) สร้างวิหารหลวงครอบองค์พระนอนปางไสยาสน์ มีความยาว ๑๕ เมตรเป็นพระพุทธรูปที่งดงามและ ได้หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือซึ่งแปลกกว่าพระนอนที่อื่น เพราะปั้นไปตามแนวคันนาของชาวนาตามตำนานกล่าวไว้ (จึงได้ชื่อว่าพระป้าน) ครูบาเจ้าศรีวิไชย สิริวิชฺโย พร้อมด้วยท่านขุนเปาเปรมประชา และศรัทธาสาธุชนทั่วสารทิศ ได้ทำการสร้างวิหารหลวงรูปทรงตรีมุข หน้าบันติดทองคำเปลวปูนปั้นตามแบบช่างที่ติดตามครูบาเจ้า ใช้ระยะเวลาในการสร้าง ๓ ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ถึง ๒๔๗๓ ใช้งบประมาณ ๓๐,๐๐๐ รูเปีย

    ส่วนลำพูนอันเป็นบ้านเกิดของท่านนั้น ท่านได้ฝากผลงานไว้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบูรณะวัดสำคัญที่สุดอีกวัดหนึ่งของลำพูน คือ วัดพระพุทธบาทตากผ้า ที่ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง ลำพูน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ จากวัดร้าง ให้กลับมาเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองสืบมาจนถึงสมัยของ ครูบาพรหมา พรหมจักโก ซึ่งเป็นพระอรหันต์ที่มีชื่อเสียงมากในเวลาต่อมา พระพุทธบาทตากผ้าเป็นปูชนียสถานสำคัญยิ่งของเมืองลำพูนอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่เคารพของชาวเมืองเป็นอย่างยิ่ง เพราะพระพุทธบาทตากผ้าแห่งนี้มีรอยพระพุทธบาทสำคัญ ประดิษฐานบนศิลาแลง อันมีตำนานเก่าแก่ย้อนหลังไปถึงครั้งพุทธกาลเล่าว่า

    ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ และพระอานนท์พุทธอนุชา พร้อมด้วยพระอรหันต์จำนวนหนึ่ง ได้เสด็จโดยปาฏิหาริย์ มาสู่ดินแดนอันต่อเนื่องลานนาประเทศ ถึงยัง ดอยม่อนช้าง กับดอยเครือ อันเป็นที่ตั้งวัดพระพุทธบาทตากผ้าในปัจจุบัน ณ บริเวณผาลาด ดอยม่อนช้างนั้น พระพุทธองค์ทรงให้พระอานนท์นำจีวรที่ซักมาจากลำน้ำปิงไปตากให้แห้ง ผาลาด สถานที่ตากผ้าจีวรนั้นก็ปรากฏรอยหยัก เป็นกระทงจีวรมาจนถึงทุกวันนี้ พระพุทธองค์ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ผาลาดแห่งนี้พร้อมกับมีพุทธทำนายว่า กาลต่อไปเบื้องหน้า สถานที่แห่งนี้จะเป็นที่ตั้งพระอารามสำคัญ มีนามว่า พระพุทธบาทตากผ้า เป็นที่เคารพของคนทั่วไปสืบตลอดชั่วห้าพันวสา นอกจากรอยพระพุทธบาทแล้ว ยังมีรอยเท้าพระอรหันต์ ๗ ขวบอีกรอยหนึ่ง และรอยเท้าโยคีอีกรอยหนึ่งปรากฏอยู่ด้วย

    นี่คือตำนานความเป็นมาของรอยพระพุทธบาทตากผ้า ที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ท่านจะเห็นว่าบรรดาปูชนียสถานโบราณสถานต่างๆ ในลานนาไทยนั้นมักจะมีตำนานเก่าแก่ว่า พระพุทธองค์เคยเสด็จมาถึง ณ ที่นั้นๆ และทรงมีพุทธทำนายต่างๆ กัน ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ เพราะตามพุทธประวัตินั้น ก็ไม่ปรากฏพระพุทธองค์จะเคยเสด็จออกพ้นชมพูทวีปเลย แต่ทำไมจึงมีตำนานเช่นนี้อยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง ? เป็นเรื่องที่ยากแก่การวิจารณ์ได้ เพราะเรื่องของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์นั้น หากพูดมากไปแล้ว ผู้ที่ไม่เลื่อมใสเชื่อถือก็อาจจะเหยียดหยามเอาได้
    สำหรับวัดพระพุทธบาทตากผ้านี้ ปรากฏในประวัติศาสตร์ว่า เมื่อครั้งพระนางจามเทวี ราชธิดากษัตริย์แห่งเมืองละโว้ เสด็จมาครองเมืองหริภุญชัย ตามคำทูลเชิญของพระสุกกทันตฤๅษี และพระฤๅษีวาสุเทพนั้น พระนางทรงได้ทราบตำนานความเป็นมาของรอยพระพุทธบาทตากผ้าแห่งนี้ จึงโปรดให้สร้างอุโมงค์ครอบรอยพระพุทธบาทตากผ้า และรอยพระอรหันต์ ๗ ขวบไว้ ณ สถานที่แห่งนี้แล้วกระทำการบูชาสืบมา

    กษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญชัยทุกพระองค์ ก็ได้บูรณะก่อสร้างวัดพระพุทธบาทตากผ้ามาแทบจะทุกสมัย แต่เนื่องจากสมัยนั้น สถานที่ตั้งวัดพระพุทธบาทตากผ้า อยู่กลางป่ากลางดง ยากแก่การไปมาหาสู่กับเมืองลำพูน วัดแห่งนี้จึงร่วงโรยตามกาลสมัย จนถึงเมื่อครั้งพ่อขุนเม็งรายมหาราชสามารถตีเมืองหริภุญชัยได้สำเร็จในปี พ.ศ. ๑๘๒๔ แล้วนั้น

    พ่อขุนเม็งรายมหาราชโปรดฯ ให้บูรณะพระอารามวัดพระพุทธบาทตากผ้าเป็นการใหญ่ทั้งหมด วัดนี้ก็รุ่งเรืองต่อมา ล่วงมาจนถึงกาลเวลานั้น

    เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ท่านพระครูพุทธิวงศ์ธาดา เจ้าคณะอำเภอป่าซาง ซึ่งจำพรรษาอยู่ ณ วัดฉางข้าวน้อย ป่าซาง ร่วมกับหลวงวิโรจน์รัฐกิจ นายอำเภอป่าซางสมัยนั้น พิจารณาเห็นว่า วัดพระพุทธบาทตากผ้าอันเก่าแก่สำคัญมาแต่โบราณนั้น บัดนี้ได้ปรักหักพังกลายเป็นวัดร้างไม่มีชิ้นดีเหลืออยู่เลย น่าเสียดายที่ปูชนียสถานสำคัญในพระพุทธศาสนาแห่งนี้ ได้ร่วงโรยไปถึงเพียงนี้ จึงปรึกษากันว่า ควรจะหาทางบูรณะวัดนี้ให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นใหม่

    แต่ทว่าการที่จะบูรณะวัดพระพุทธบาทตากผ้านั้นเป็นงานใหญ่ ที่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ลำพังแต่ท่านพระครู และนายอำเภอป่าซาง ก็ยากที่จะหาทุนทรัพย์มาบูรณะได้ เมื่อปรึกษากันแล้วก็เห็นว่ามีอยู่ทางเดียว ที่จะบูรณะวัดพระพุทธบาทตากผ้าได้ นั่นคือ ไปนิมนต์ครูบาศรีวิชัยมาเป็นประธานนั่งหนัก ปีนั้นครูบาศรีวิชัยจำพรรษาอยู่ ณ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ เมื่อท่านได้ทราบความปรารถนาของเจ้าคณะแล้ว ก็รับปากที่จะช่วยเหลือบูรณะวัดพระพุทธบาทตากผ้าขึ้นมาใหม่ แต่ขอเวลาอธิษฐานเสียก่อน

    วัดพระพุทธบาทตากผ้า ซึ่งรุ่งเรืองจากวัดร้างมาเป็นอารามใหญ่ เพราะการบูรณะของครูบาศรีวิชัยนั้น ปัจจุบันนี้เป็นที่สถิตของ พระครูพรหมจักรสังวร หรือที่ชาวภาคเหนือรู้จักกันแพร่หลายว่า ครูบาพรหมา พรหมจักโก ซึ่งท่านได้มาจำพรรษาอยู่ที่พระพุทธบาทตากผ้าตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ และมรณภาพในที่สุด

    ครูบาพรหมานี้ ท่านเป็นชาวลำพูนเช่นเดียวกับครูบาศรีวิชัย เกิดที่บ้านป่าแพ่ง ตำบลแม่แรง อำเภอปากบ่อง (ป่าซาง ปัจจุบัน) เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ หลังครูบาศรีวิชัยเกิดได้ ๒๐ ปี ครูบาพรหมาได้บวชตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ และไม่เคยลาสิกขาบทเลยจนมรณภาพ เป็นที่เคารพนับถือกันมากในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่
     
  16. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน บูรณวัดสวนดอก
    [​IMG] [​IMG]
    เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ได้ส่งเจ้าราชวงศ์เดินเท้าไปนิมนต์ครูบาศรีวิชัยให้มาบูรณะเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖

    วัดบุบผาราม พระอารามเก่าแก่คู่นครพิงค์วัดหนึ่ง สร้างขึ้นโดยพระเจ้ากือนา กษัตริย์ราชวงศ์เม็งรายพระองค์ที่ ๖ ซึ่งเสวยราช ณ นพบุรีศรีนครพิงค์ เชียงใหม่

    วัดนี้ได้กลายเป็นวัดร้างมานานนับร้อยปี เล่าลือกันว่าเป็นพระวิหารที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของไทย พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชศรัทธาที่จะทรงบูรณะวัดสวนดอก พระองค์โปรดบริจาคทรัพย์จำนวน ๕๐๐ บาท เพื่อเป็นทุนเริ่มบูรณะ

    หลังจากบูรณะวัดสวนดอกแห่งนี้เสร็จเรียบร้อย ในปี ๒๔๗๔ ครูบาศรีวิชัยก็ได้สร้างผลงานชิ้นใหญ่ที่สุดในชีวิตของท่านชิ้นหนึ่งคือ การสร้างถนนผ่านป่าอันทุรกันดารขึ้นสู่วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ ปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดของนครเชียงใหม่
     
  17. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน จอบแรกแห่งพระธาตุดอยสุเทพ
    17492766_10212589322997718_4608894226662318752_o.jpg
    ครูบาศรีวิชัย ได้กำหนดฤกษ์ที่จะลงมือขุดจอบแรกสำหรับการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ เวลา ๑๐ นาฬิกาตรง
    ฝ่ายครูบาเถิ้ม ซึ่งเชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ได้นำดวงฤกษ์มาตรวจดูแล้วพบว่าฤกษ์ที่ครูบาศรีวิชัยกำหนดขึ้นนี้ จะสามารถสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพได้สำเร็จก็จริงอยู่ แต่จะมีเรื่องยุ่งยากเกิดขึ้นตลอดเวลา และจะเกี่ยวพันไปถึงตัวครูบาศรีวิชัยต้องเดือดร้อนภายหลังด้วย

    ครูบาศรีวิชัยท่านเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ ใช้เวลาสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพจนแล้วเสร็จรวมเวลาได้ ๕ เดือน กับอีก ๒๒ วัน ซึ่งเป็นระยะทาง ๑๑ กิโลเมตร กับอีก ๕๓๐ เมตร นี่คือบารมีครูบาศรีวิชัยโดยแท้ทีเดียว

    รถแห่งประวัติศาสตร์ ในวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์วันหนึ่งของนครเชียงใหม่ เพราะเป็นวันเปิดให้รถยนต์ขึ้นดอยสุเทพเป็นครั้งแรก โดยเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ มาเปิดถนนขึ้นดอยสุเทพ และประทับนั่งรถยนต์ขึ้นดอยสุเทพเป็นคันแรก

    ชื่อเสียงของครูบาศรีวิชัยเลื่องลือไปทั่วแผ่นดินลานนาไทยที่ท่านสามารถทำงานใหญ่ให้สำเร็จได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินเลย
     
  18. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน โดนอธิกรณ์อีกครั้ง
    โดนอีกแล้ว
    17554216_10212589351758437_2124486273856283212_n.jpg
    แต่การสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพนี้เอง เป็นปฐมเหตุให้ครูบาศรีวิชัยต้องถูกลงโทษ ถูกส่งตัวมารับการอบรม และไต่สวนที่กรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่ง กล่าวอมตะวาจาไว้ว่าท่านจะไม่เหยียบแผ่นดินเชียงใหม่อีกต่อไป ตราบใดที่แม่น้ำปิงไม่ไหลกลับขึ้นมา

    จึงขอนำมากล่าวไว้เพื่อให้ท่านพิจารณาด้วยวิจารณญาณของท่านเองว่า ทำไมครูบาศรีวิชัยถึงได้กล่าวเช่นนั้น ซึ่งนับว่าเป็นคำพูดที่รุนแรงที่สุดในชีวิตของท่านเลยทีเดียว เพราะปกติครูบาศรีวิชัยเป็นคนใจเย็น และใจดีมีเมตตากรุณาอันเป็นนิสัยติดตัวมาแต่เด็กๆ ท่านไม่เคยโกรธใคร ไม่เคยอาฆาตท่านผู้ใดทั้งสิ้น แต่สำหรับคราวนี้ ทำไมท่านถึงขันแตก

    เรื่องราวทั้งหมดนั้นมีอยู่ว่า ในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพระหว่างปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ถึงต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๘ นั้น ครูบาศรีวิชัยได้สร้างสำนักสงฆ์ขึ้นระหว่างทางที่ถนนผ่านไป ตามความตั้งใจเดิมของท่านเองจะสร้างทั้งหมด ๓ วัด แต่ทำได้สำเร็จเพียง ๒ แห่งเท่านั้นคือ วัดโสดา ตรงเชิงดอยสุเทพ ต้นทางที่จะตัดถนนขึ้นดอยสุเทพ ปัจจุบันนี้วัดโสดาตรงปากทางแยกเข้าสู่น้ำตกห้วยแก้วนั่นเอง วัดสกิทา เป็นสำนักสงฆ์แห่งที่ ๒ ซึ่งครูบาศรีวิชัยสร้างขึ้นที่ม่อนเถรจันทร์ หรือห้วยขุนผีบ้า ปัจจุบันนี้กลายเป็นวัดร้างไปแล้ว ส่วนสำนักสงฆ์แห่งที่ ๓ นั้น ครูบาศรีวิชัยตั้งใจที่จะสร้างขึ้น ณ ม่อนพญาหงษ์ แต่ยังไม่ทันได้สร้างก็เกิดเรื่องขึ้นเสียก่อน
    การที่ครูบาศรีวิชัยสร้างสำนักสงฆ์เรียงรายขึ้นไปตามถนนขึ้นดอยสุเทพนั้น น่าจะเป็นจิตวิทยาอันชาญฉลาดของครูบาศรีวิชัยอย่างหนึ่ง ที่ประสงค์จะบำรุงรักษาถนนขึ้นดอยสุเทพมิให้เป็นทางเปลี่ยว พร้อมกับมีผู้ดูแลรักษาสืบไป เพราะวัดไปถึงไหน ย่อมมีผู้คนไปที่นั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวลานนาไทยซึ่งเป็นที่ยึดมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เหตุผลอีกอย่างหนึ่งในการที่ครูบาศรีวิชัยสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นนั้น เล่ากันมาว่าครูบาศรีวิชัยเปรียบการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพเหมือนกับมรรค หรือ อริยะมรรคนั่นเอง ท่านจึงสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นจากเชิงเขาไปจนกระทั่งถึงวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ ซึ่งท่านสมมติว่าคือ วัดอรหันต์ เพราะสำนักสงฆ์ที่ครูบาศรีวิชัยสร้างขึ้นระหว่างทางนี้เอง เป็นสาเหตุให้ครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ครั้งสำคัญ จากคณะสงฆ์ของนครเชียงใหม่ จนถูกส่งตัวเข้ารับการอบรม และสอบสวนที่กรุงเทพฯ เป็นครั้งที่สอง

    สาเหตุนั้นเกิดขึ้นเพราะว่าในบรรดาที่มาช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ อันมีจำนวนมากมายนับพันๆ คนนั้นต่างก็มีลูกหลานที่อยู่ในวัยจะบวชเณร หรือบวชพระได้จำนวนมาก เมื่อครูบาศรีวิชัยสร้างสำนักสงฆ์แห่งแรกคือวัดโสดาขึ้น ชาวบ้านต่างก็เกิดศรัทธาขอให้ครูบาศรีวิชัยช่วยบวชลูกหลานให้เป็นพระภิกษุบ้าง เป็นสามเณรบ้าง ตามแต่อายุใครจะครบบวช ครูบาศรีวิชัยก็จัดการบวชให้ตามประสงค์ ทำให้มีสามเณร และนวกภิกษุขึ้นเป็นจำนวนนับร้อยรูป ซึ่งล้วนแต่เคารพเชื่อฟัง และยึดมั่นในครูบาศรีวิชัยแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่ยอมปฏิบัติตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์ จนดูคล้ายกับว่าครูบาศรีวิชัยตั้งนิกายสงฆ์คณะใหม่ขึ้น ซึ่งถือความวิเวกวังเวงของป่าเขา และความสันโดษไม่ยุ่งเกี่ยวกับคณะใดที่มีอยู่แล้ว

    ความผิดก็มาตกอยู่ที่ครูบาศรีวิชัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือครูบาศรีวิชัยทำพิธีบวชโดยพละการ เพราะครูบาศรีวิชัยไม่ได้รับตราตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์นั่นเอง

    แถมยังมีข่าวครูบาศรีวิชัยออกใบสุทธิของท่าน แจกจ่ายแก่พระสงฆ์ที่ท่านบวชให้ ทั้งๆ ที่ครูบาศรีวิชัยออกใบสุทธิของท่านให้นวกภิกษุไม่ได้ เพราะท่านไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดใดวัดหนึ่ง ซึ่งจะมีสิทธิออกใบสุทธิให้แก่นวกภิกษุได้

    นอกจากนี้แล้ว ในบรรดาภิกษุที่ครูบาศรีวิชัยบวชให้นั้นมีชีปะขาวปี ซึ่งเป็นสานุศิษย์คนสำคัญของครูบาศรีวิชัย ตั้งแต่ครั้งที่ท่านยังอยู่ที่วัดบ้านปาง และต่อมาเมื่อครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ครั้งแรก ถูกนำมาสอบสวนที่เมืองลำพูนนั้น ปะขาวปีถูกสึก และคณะสงฆ์มีมติห้ามมิให้ปะขาวปีบวชอีกต่อไป ไม่ว่าจะบวชเณรบวชพระก็ไม่ได้ทั้งสิ้น ซึ่งก็นับว่าเป็นมติของคณะสงฆ์เมืองลำพูนที่ชอบกลอยู่ เพราะการมิให้ผู้ใดผู้หนึ่งบวชตลอดชีวิตนั้น ดูจะเป็นโทษประหลาดอยู่

    นับแต่ปะขาวปีถูกสึกครั้งนั้นก็หายหน้าไปนานปี แต่พอครูบาศรีวิชัยมาสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ปะขาวปีก็กลับมาอีกครั้ง และครูบาศรีวิชัยก็บวชให้กลายเป็นสานุศิษย์ใกล้ชิดเหมือนเดิม

    ภิกษุสามเณรที่ครูบาศรีวิชัยบวชให้ ระหว่างสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะความศรัทธาของคนเมืองที่มีต่อครูบาศรีวิชัยนั่นเอง เมื่อบวชแล้วภิกษุสามเณรทั้งหมด ก็อยู่กับครูบาศรีวิชัย ปฏิบัติและทำตามที่ครูบาศรีวิชัยทำทุกอย่างในจังหวะนี้เองก็เกิดมีวัดต่างๆ ในเชียงใหม่ และเมืองใกล้เคียง เป็นจำนวนถึง ๖๐ วัด ขอลาออกจากการปกครองของคณะสงฆ์ในเมืองนั้นๆ แล้วมาขอขึ้นกับครูบาศรีวิชัย

    นี่คือเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่ที่ยากแก่การวินิจฉัยในวันนี้ได้ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุใด ที่แน่นอนคือ ครูบาศรีวิชัยนั้นท่านมิได้เป็นภิกษุที่ใฝ่หาความยิ่งใหญ่ หรือสมณศักดิ์ใดๆ ทั้งสิ้น
    ดังนั้น จึงเป็นการแน่นอนว่า ท่านคงมิได้ไปชักชวน หรือยุยงให้วัดต่างๆ เหล่านั้นกระด้างกระเดื่องต่อการปกครองตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ หรือ พูดง่ายๆ ก็คือ กฎหมายพระนั่นเอง ดังนั้นการที่เจ้าอาวาส และพระลูกวัดถึง ๖๐ กว่าวัดขอลาออกจากการปกครองของคณะสงฆ์แต่เดิม โดยขอมาขึ้นกับครูบาศรีวิชัยแทนนั้น ย่อมเป็นไปด้วยความเห็นดีเห็นงามของพระภิกษุเหล่านั้น ซึ่งครูบาศรีวิชัยอาจจะไม่รู้เรื่องเลยก็ได้ เรื่องความศรัทธานั้นเป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ ไม่ว่ายุคใดสมัยใดทั้งสิ้น ความศรัทธาย่อมเกิดขึ้นแก่หัวใจของแต่ละคน ผู้หนึ่งผู้ใดจะไปบังคับก็ไม่ได้เช่นกัน

    เมื่อเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้น และฝ่ายบ้านเมืองของเชียงใหม่ และคณะสงฆ์ก็ทนดูต่อไปอีกไม่ได้ ครูบาศรีวิชัยจึงถูกสอบสวนความผิดทันที นั่นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ซึ่งขณะนั้นครูบาศรีวิชัยจำพรรษาอยู่ที่วัดพระสิงห์ เชียงใหม่

    เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานในการไต่สวนความผิดครั้งยิ่งใหญ่ของครูบาศรีวิชัย โดยมี พระยาอนุบาลพายัพกิจ ข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมฟังการสอบสวนอยู่ด้วย ความผิดของครูบาศรีวิชัยครั้งนี้มีหลายข้อคือ

    ๑. ฝ่าฝืนการปกครองคณะสงฆ์ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์

    ๒. ตั้งตัวเป็นผู้ปกครองหัววัด (เจ้าอาวาสของวัดต่างๆ) เอง

    ๓. ก่อสร้างบูรณะสถานที่ต่างๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต

    นี่คือความผิดฉกรรจ์ ๓ ข้อ ที่คณะสงฆ์เชียงใหม่สอบสวนครูบาศรีวิชัยที่วัดสิงห์ แต่ครูบาศรีวิชัยปฏิเสธทุกข้อ ว่ามิได้ทำเช่นนั้นจริง เจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่า เกินกำลังที่จะสอบสวนครูบาศรีวิชัยที่วัดสิงห์โดยลำพังได้ จึงทำหนังสือถึงเจ้าคณะมณฑล แจ้งเรื่องราวข้ออธิกรณ์ของครูบาศรีวิชัยให้ทราบ พร้อมกับขอส่งครูบาศรีวิชัยลงไปให้มหาเถรสมาคมในกรุงเทพฯ สอบสวนเอาความผิดต่อไป

    เจ้าคณะมณฑลจึงส่งเรื่องทั้งหมดลงมายังมหาเถรสมาคม กรุงเทพฯ เพื่อวินิจฉัยสั่งการต่อไป ในระหว่างที่ครูบาศรีวิชัยถูกสอบสวนจากคณะสงฆ์เชียงใหม่คราวนี้ เป็นเรื่องอื้อฉาวมาก เพราะตอนนั้นครูบาศรีวิชัยกำลังมีชื่อเสียงเลื่องลือเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ในฐานะที่ท่านเองเพิ่งจะเป็นประธานในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพสำเร็จ มาไม่ทันจะครบขวบปี ชาวเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองใกล้เคียงจึงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันไปในแง่ที่ว่า เจ้าคณะเมืองเชียงใหม่อิจฉาครูบาศรีวิชัยที่มีชื่อเสียงมาก เป็นที่เคารพศรัทธาของคนเมืองยิ่งกว่าภิกษุรูปใดๆ ในเมืองเชียงใหม่ จึงหาเรื่องใส่ร้ายครูบาศรีวิชัยให้เสียชื่อเสียง เพราะท่านที่ทุกคนได้เห็นแก่ตานั้น ครูบาศรีวิชัยก็เป็นเพียงภิกษุธรรมดารูปหนึ่งที่ถือสันโดษ ไม่ฉันอาหารที่มีเนื้อสัตว์ ไม่สูบบุหรี่ หรืออมเมี่ยง แม้แต่อาหารก็ฉันเพียงวันละมื้อ พอประทังชีวิต และไม่สะสมทรัพย์สินอะไรไว้เป็นส่วนตัวเลย

    นับได้ว่าน่าเห็นใจเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น จะเท็จจริงประการใดก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่ท่านจะต้องเข้ามาจัดการให้รู้แน่ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อที่เจ้าอาวาส ๖๐ วัดขอลาออกจากการปกครอง หันมาขอเข้ากับคณะของครูบาศรีวิชัยนั้น ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยที่จะปล่อยปละละเลยได้ เพราะตามข่าวที่ปรากฏนั้น พูดกันถึงขั้นที่ว่า ครูบาศรีวิชัยได้ออกใบสุทธิให้แก่เจ้าอาวาสวัดต่างๆ เหล่านั้นต่างหากจากใบแต่งตั้งของเจ้าคณะจังหวัด โดยใบสุทธิที่ครูบาศรีวิชัยออกให้นั้นมีรูปหัวเสือเป็นสำคัญ เพราะครูบาศรีวิชัยเกิดปีขาล

    สิ่งเหล่านี้ถึงจะเป็นข่าวลือก็เป็นสิ่งที่เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ และทางฝ่ายบ้านเมืองจะต้องเข้ามาสอบสวนหาความจริง จึงนับเป็นเรื่องผู้สนใจศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทยควรจะกระทำใจเป็นกลาง พิจารณาเหตุผลด้วยความสุขุมรอบคอบอย่างยิ่ง เพราะบารมีครูบาศรีวิชัยนั้นไม่ต้องเสริมแต่งก็มีมากมายล้นฟ้าอยู่แล้ว

    ชาวเมืองเชียงใหม่ และสานุศิษย์จำนวนมากที่ทราบข่าวว่า ครูบาศรีวิชัยถูกสอบสวน และกำลังรอวินิจฉัยจากมหาเถรสมาคมในกรุงเทพฯ ว่าจะทำประการใดต่อไปนั้น ต่างก็มารอฟังข่าวอยู่ที่วัดสิงห์เป็นจำนวนมาก บ้างก็ห่วงใยอาจารย์ของตนว่าจะถูกกลั่นแกล้งทำร้าย จนถึงขั้นมีการอยู่เวรยามกันเลยทีเดียว ตลอดเวลานั้น ครูบาศรีวิชัยคงอยู่ของท่านอย่างปกติ


     
  19. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน ส่งเข้ากรุงเทพฯ
    17554146_10212599179524125_8441015705405083020_n.jpg
    แล้วปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ นั่นเอง

    มหาเถรสมาคม ก็มีหนังสือถึงคณะมณฑลพายัพว่า ขอให้ส่งตัวครูบาศรีวิชัยไปกรุงเทพฯ เพื่อรับการอบรมพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ฉบับใหม่ ให้รู้แจ่มแจ้งชัดอีกทีหนึ่ง พร้อมกับจะได้ทำการไต่สวนข้ออธิกรณ์ที่ครูบาศรีวิชัยถูกกล่าวหาด้วย ทั้งนี้มหาเถรสมาคมได้กำหนดวันเดินทางของครูบาศรีวิชัยมาด้วย นั่นคือให้ครูบาศรีวิชัยไปกรุงเทพฯในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๘

    ข่าวนี้เสมือนหนึ่งลูกระเบิดตกลงไปในกลางใจเมืองเชียงใหม่ คนเมืองจำนวนนับพันนับหมื่น ต่างพากันไปหาครูบาศรีวิชัย ที่วัดพระสิงห์ อย่างมืดฟ้ามัวดิน ราวกับมีเทศกาลงานปอยหลวงที่วัดนั้น ต่างพากันไปแสดงความเห็นอกเห็นใจครูบาศรีวิชัย

    สานุศิษย์ส่วนหนึ่งที่เป็นหนุ่มฉกรรจ์ ก็ฮึดฮัด แสดงอาการไม่พอใจที่คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่เป็นต้นเหตุให้ครูบาศรีวิชัยต้องไปรับการอบรมและสอบสวนที่กรุงเทพฯ กล่าวได้ว่านี่สร้างความวุ่นวายชุลมุนไปทั่วนครเชียงใหม่ทีเดียว

    ทางฝ่ายครูบาเถิ้ม เจ้าอาวาสวัดแสนฝาง ท่านก็บอกกับใครๆว่า นี่เป็นเพราะฤกษ์สร้างทางขึ้นดอยสุเทพที่ท่านทักท้วงไว้แท้ๆ ทีเดียว ครูบาศรีวิชัยไม่เชื่อถึงได้เกิดเหตุเช่นนี้ แต่สำหรับครูบาศรีวิชัยท่านไม่ได้ว่าอะไร พอถึงวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านก็ไปขึ้นรถไฟที่สถานีเชียงใหม่เข้ากรุงเทพฯ ตามคำสั่งของมหาเถรสมาคม โดยมีประชาชนนับหมื่นๆ คนไปส่งท่านที่สถานีรถไฟ และมีสานุศิษย์ติดตามมาด้วยไม่น้อย

    ครูบาศรีวิชัยไปกรุงเทพฯ แล้ว แทนที่เหตุการณ์ในเชียงใหม่จะดีขึ้น กลับเลวลงกว่าเดิม เพราะผู้คนส่วนใหญ่ไม่พอใจ ทำทีว่าจะเกิดเหตุร้าย จนกระทั่งทางราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยพระยาอนุบาลพายัพกิจ ข้าหลวงเมืองเชียงใหม่ต้องออกแถลงการณ์ชี้แจงกับประชาชน นับเป็นเรื่องที่น่าประหลาดอย่างยิ่ง ที่พระภิกษุธรรมดาๆ องค์เดียวทำให้จังหวัดถึงกับออกแถลงการณ์ชี้แจงให้ประชาชนทราบ เพื่อป้องกันมิให้เมืองเชียงใหม่ลุกเป็นไฟ เพราะบุคคลที่เคารพศรัทธาในครูบาศรีวิชัย

    ข้าหลวงจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกแถลงการณ์ให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ทราบว่า ครูบาศรีวิชัยเดินทางไปกรุงเทพฯ ตามคำสั่งของมหาเถรสมาคม โดยออกแถลงการณ์มีใจความสั้นๆ ในฉบับที่ ๑ หลังจากที่ครูบาศรีวิชัยไปแล้วได้ไม่กี่วัน แต่แถลงการณ์ฉบับที่ ๑ นั้นแทนที่จะทำให้ชาวจังหวัดเชียงใหม่สงบ กลับมีทีท่าว่าจะวิจารณ์ไปในทางเสื่อมเสียแก่คณะสงฆ์เชียงใหม่มากขึ้น เหตุการณ์ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น พระยาอนุบาลพายัพกิจจึงออกแถลงการณ์เป็นฉบับที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ อธิบายเหตุผลต่างๆ ที่ครูบาศรีวิชัยต้องไปรับการอบรมและสอบสวนที่กรุงเทพฯ
    แถลงการณ์ของพระยาอนุบาลพายัพกิจ ซึ่งออกมาอย่างราชการฉบับนี้ คือสิ่งที่บอกอย่างเด่นชัดว่า เมื่อครูบาศรีวิชัยถูกส่งตัวลงไปกรุงเทพฯ ครั้งนี้ ได้เกิดความแตกแยกขึ้น ระหว่างคนเมืองเชียงใหม่ที่ศรัทธาครูบาศรีวิชัย กับคณะสงฆ์เชียงใหม่อย่างรุนแรง จนถึงกับมีเรื่องเล่าว่า ชาวเมืองเชียงใหม่จำนวนไม่น้อยถึงกับเลิกทำบุญที่วัดซึ่งเจ้าคณะเชียงใหม่จำพรรษาอยู่ ทั้งๆ ที่ปกติคนเมืองเชียงใหม่จะเข้าวัดทำบุญฟังเทศน์กันทุกวันพระก็ตาม นี่เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรงมากทีเดียว
    หลังแถลงการณ์ฉบับที่ ๒ ของพระยาอนุบาลพายัพกิจออกมาแล้ว ดูเหมือนเรื่องร้ายๆ ค่อยหย่อนคลาย เหมือนชาวเชียงใหม่ได้คิด ว่าไม่ควรที่จะทำตัวเช่นนั้นอีกต่อไป เพราะถึงจะเคารพครูบาศรีวิชัยเพียงไหนก็ตาม ก็ไม่ควรประท้วงแก่คณะสงฆ์ของเชียงใหม่ถึงเพียงนี้ ซึ่งนับว่าเป็นบาปอย่างหนึ่งทางด้านครูบาศรีวิชัยเมื่อเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ก็มาพักอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรเหมือนเช่นครั้งแรกที่ท่านถูกส่งตัวมารับการสอบสวน แต่สำหรับการถูกข้ออธิการณ์ครั้งที่ ๒ นี้ ข้อหารู้สึกจะรุนแรงกว่าคราวแรกครั้งแรกนั้น ชื่อเสียงของครูบาศรีวิชัยยังไม่เป็นที่รู้จักนัก แต่สำหรับคราวนี้ชื่อเสียงของท่านเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาก เรื่องการสอบสวนครูบาศรีวิชัยจึงเป็นที่สนใจของคนกรุงเทพฯ ด้วย .ข่าวการสอบสวนครูบาศรีวิชัยหายเงียบไปนานกว่า ๓ เดือน เป็นเหตุให้ชาวเชียงใหม่ และลำพูนเล่าลือเรื่องนี้กันขึ้นมาอีก หลังจากที่สงบไปพักหนึ่งชาวเชียงใหม่ และลำพูนอยากรู้ข่าวคืบหน้าว่าสอบสวนกันไปถึงไหนแล้ว ทำไมครูบาศรีวิชัยจึงยังไม่กลับสู่เชียงใหม่ หรือลำพูนเสียทีเมื่อข่าวเกิดขึ้นก็ย่อมมีผู้ลือไปต่างๆ นาๆ จนกระทั่งในที่สุดเจ้าคณะอำเภอมณฑลพายัพคือ พระธรรมโกศาจารย์ ก็ต้องออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการสอบสวนครูบาศรีวิชัย ชี้แจงให้ประชาชนทราบ ซึ่งนับเป็นแถลงการณ์จากฝ่ายสงฆ์ ที่สืบเนื่องมาจากแถลงการณ์ของทางราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีใจความว่า พระศรีวิชัยยังมีความเข้าใจผิดอยู่ จะยอมให้กลับมาโดยที่ยังมีความเข้าใจผิดอย่างนี้ ท่าทีจะเกิดความไม่สงบดังที่เคยเป็นมาแล้ว เพราะฉะนั้นทางที่จะยอมให้พระศรีวิชัยกลับ จะต้องพร้อมด้วย ๓ ประการคือ

    ๑. พระศรีวิชัยจะต้องได้เซ็นต์คำปฏิญาณให้คณะสงฆ์ไว้เป็นหลักฐาน

    ๒. มีพฤติการณ์เป็นที่ไว้วางใจคณะสงฆ์

    ๓. พระสงฆ์ในจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูนสมัครอยู่ในความปกครองของคณะสงฆ์โดยเรียบร้อยหมดแล้ว

    ส่วนในจังหวัดอื่นๆ คณะสงฆ์จักได้ดำเนินการโดยระเบียบเดียวกันต่อไป เพื่อผ่อนผันยอมเพียงเรียบร้อยดีใน ๒ จังหวัดก่อน ก็โดยกรุณาแก่พระศรีวิชัยที่จะมีโอกาสกลับขึ้นมาได้เร็ว ขอพระสงฆ์สามเณร และพุทธมามกะทั้งหลายจงทราบตามพฤติการณ์ นี้อย่าหลงเชื่อไปตามทางอันหามูลความจริงมิได้ เมื่อประสงค์จะร่วมบำเพ็ญทานกุศลกับพระศรีวิชัย ก็ตั้งอยู่ในความสงบ เมื่อคณะสงค์เห็นเหตุ ๓ ประการเรียบร้อยแล้ว ก็จะให้พระศรีวิชัยกลับมาหาท่านทั้งหลายเอง โดยไม่ต้องร้องขออย่างใดเลย

    ในตอนท้ายของคำแถลงการณ์ของพระธรรมโกศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลพายัพ มีรายละเอียดคำปฏิญาณที่คณะสงฆ์ขอให้ครูบาศรีวิชัยลงนามรับทราบ และให้คำมั่นสัญญาว่าจะปฏิบัติตนตามนั้น มีรายละเอียดดังนี้

    " คำมั่นที่พระศรีวิชัย ต้องรับรองไว้ต่อคณะสงฆ์ ว่าจะปฏิบัติตาม คือ.

    ๑. จะปฏิบัติต่อพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองสงฆ์ และอาณัติของสงฆ์ทุกประการเช่น

    ก. จะยื่นบัญชีการสำรวจบัญชีกลางปีต่อคณะสงฆ์ตามลำดับชั้น

    ข. การบรรพชาอุปสมบทจะต้องได้รับอนุญาตของเจ้าคณะแขวง และให้ถืออุปัชฌาย์ที่คณะสงฆ์แต่งตั้งแล้วให้บรรพชาอุปสมบทได้ โดยวิธีที่คณะสงฆ์ปฏิบัติอยู่

    ค. เมื่ออุปสมบทแล้ว จะต้องมีหนังสือสุทธิ อันชอบด้วยระเบียบการคณะสงฆ์ จะออกหนังสือสุทธิอย่างอื่นไม่ได้

    ง. งานปฏิสังขรณ์ก่อสร้างสิ่งถาวรวัตถุต่างๆ จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์

    ๒. จะช่วยเหลือในการก่อสร้างสถานที่เล่าเรียนเพื่อให้กุลบุตรกุลธิดาได้เข้าศึกษาเล่าเรียน ตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา และช่วยสนับสนุนขอร้องประชาชนให้เห็นประโยชน์ของการศึกษา

    ๓. จะช่วยเหลือให้การศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณร และศิษย์วัด จัดการตามพระราชบัญญัติ และอาณัติสงฆ์

    ๔. จะช่วยเหลือว่ากล่าวตักเตือน เจ้าอาวาสพระภิกษุสามเณรในวัดต่างๆ ให้เชื่อคำแนะนำ และคำสั่งสอนของคณะสงฆ์ หรือทางราชการอันชอบด้วยราชการ"

    หากจะพิจารณา "คำมั่น" หรือ "คำปฏิญญา" ซึ่งคณะสงฆ์ต้องการให้ครูบาศรีวิชัยลงนาม และรับปฏิบัติแล้วจึงจะอนุญาตให้เดินทางกลับแดนมาตุภูมิได้นั้น จะพบว่ามีอยู่หลายตอนที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญ และบารมีของครูบาศรีวิชัยที่มีต่อประชาชนชาวภาคเหนือ และมีต่อพระภิกษุสามเณรอีกจำนวนมาก ซึ่งต่างเคารพเชื่อฟังแต่ครูบาศรีวิชัยเพียงองค์เดียว โดยไม่ยอมเชื่อฟังคณะสงฆ์ของเชียงใหม่ และลำพูนเลย

    ในคำมั่นข้อ ๒ และ ข้อ ๓ นั้นเป็นคำ "ขอร้อง" จากคณะสงฆ์เชียงใหม่โดยแท้ เพราะในระยะนั้นย่อมเป็นที่ประจักษ์กันแล้วว่า ครูบาศรีวิชัยนั้นชนะใจทั้งชาวบ้านทั้งพระ ถ้าครูบาศรีวิชัยช่วยก่อสร้างสถานศึกษาเล่าเรียนให้เด็กๆ ชาวภาคเหนือได้เข้าเรียนระดับประถมศึกษาแล้วก็ย่อมมีผู้ร่วมมือ และส่งบุตรหลานเข้าเรียนหนังสือเป็นจำนวนมาก ส่วนในข้อ ๓ นั้นหากครูบาศรีวิชัยให้ความร่วมมือโดยแนะนำภิกษุสามเณรทั้งหลาย ให้เล่าเรียนศึกษาพระปริยัติธรรมแล้ว ก็ย่อมมีภิกษุ และสามเณรเชื่อถือ หันมาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมกันมากขึ้น แทนที่จะถือสันโดษตามครูบาศรีวิชัย

    ในคำมั่นข้อที่ ๔ นี้เอง ที่แสดงถึงบารมีอันยิ่งใหญ่ของครูบาศรีวิชัยโดยแท้ เพราะในฐานะที่ครูบาศรีวิชัยเป็นเพียงพระลูกวัดธรรมดาๆ องค์หนึ่งซึ่งไม่มีสมณศักดิ์แต่อย่างใดๆ ทั้งสิ้น แต่คณะสงฆ์ของเชียงใหม่ ก็ให้ความสำคัญ ถึงขั้นให้ครูบาศรีวิชัยช่วยเหลือว่ากล่าวตักเตือนเจ้าอาวาส และภิกษุสามเณรในวัดต่างๆ เพื่อให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์

    คำมั่นข้อนี้ชี้ให้เห็นเด่นชัดอีกประการหนึ่งว่า ในสมัยนั้น คงจะเกิดความแตกแยกระหว่างสงฆ์ขึ้นไม่น้อยทีเดียว เพราะมีผู้หันมาขอขึ้นกับครูบาศรีวิชัย แทนที่จะขึ้นกับการปกครองตามลักษณะปกครองสงฆ์ที่ถูกต้อง และผู้เดียวที่จะสามารถประสานรอยร้าวนั้นได้ ก็คือ ครูบาศรีวิชัยนั่นเอง

     
  20. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    เล่าขานตำนานครูบาเจ้าศรีวิชัย อริยแห่งเมือง ล้านนา ตอน สึกพระ
    17553560_10212599195204517_6558425065145751814_n.jpg 17553560_10212599195204517_6558425065145751814_n.jpg
    ครูบาศรีวิชัยจะยอมรับคำมั่นนี้หรือไม่ แต่ระหว่างการสอบสวนครูบาศรีวิชัยที่กรุงเทพฯ นั้น คณะสงฆ์เชียงใหม่ก็เปิดการสอบสวนภิกษุเจ้าอาวาสต่างๆ ที่ขอลาออกจากคณะสงฆ์มาขึ้นกับครูบาศรีวิชัยถึงขั้นมีการ "สึก" เจ้าอาวาสหลายต่อหลายวัด การสอบสวนเจ้าอาวาสวัดต่างๆ กว่า ๖๐ วัด ในเชียงใหม่และลำพูนนี้ เป็นเหตุให้มีเจ้าอาวาสหลายวัดถูกจับสึก เพราะไม่ยอมรับที่จะเข้ามาอยู่ในความปกครองของคณะสงฆ์ ยืนยันจะขอขึ้นกับครูบาศรีวิชัยต่อไป

    เจ้าอาวาสบางวัดก็หนีไปจากวัดเฉยๆ ไม่ยอมให้การกับคณะสงฆ์เชียงใหม่ นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ระหว่างที่ครูบาศรีวิชัยอยู่ในกรุงเทพฯ อันนับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่คณะสงฆ์เกิดการแตกแยกกันขึ้นอย่างขนาดใหญ่ในหัวเมืองพายัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เชียงใหม่ และลำพูนกันมาอีกหลายเดือน ตลอดระยะเวลาที่ครูบาศรีวิชัยถูกส่งไปอบรมและสอบสวนที่กรุงเทพฯ

    ภาพก่อนมรณภาพ ท่าน

    มีร่างกายทรุดโทรมผ่ายผอมไปมาก

    ถ่าย ณ วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน อายุท่านได้ 60 ปี
    เมื่อครั้งนิมนต์มาจากวัดบ้านปางเพื่อรักษา อาพาธด้วยโรคริดสีดวงทวาร

    ต้องบันทึกด้วยความเป็นธรรมว่า พระเณรในวัดถูกสึกทั้งวัดก็มี เช่น วัดพระบาทยั้งหวีด และวัดทุงตูม หรือ ที่คนเมืองออกสำเนียงเป็น ทุ่งตุ๋ม ซึ่งพระเณรในวัดทั้งสองนี้ ล้วนเคารพนับถือ และศรัทธาในครูบาศรีวิชัยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะครูบาศรีวิชัยเป็นผู้บวชพระ และเณรทั้งสองวัดนี้ทั้งหมดอีกด้วย มาคิดพิจารณากันในวันนี้ว่า ถ้าในสมัยที่ครูบาศรีวิชัยยังมีชีวิตอยู่ ทางคณะสงฆ์ทั้งเมืองเชียงใหม่และลำพูน จะใช้ครูบาศรีวิชัยให้ถูกทางแล้ว ก็เชื่อว่าพระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกมากทีเดียว เช่น ออกตราตั้งให้ครูบาศรีวิชัยเป็นพระอุปัชฌาย์ เพื่อที่จะสามารถบวชพระเณรได้โดยไม่ผิดพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์อีกต่อไป ก็คงจะมีผู้ศรัทธาในครูบาศรีวิชัย พากันมาบวชกับครูบาศรีวิชัยอีกมากมายนัก

    ในด้านการสอบสวน และอบรมครูบาศรีวิชัยที่วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ นั้น ภายหลังจากที่ได้มีการอบรมสอบสวนกันนานหลายเดือน ครูบาศรีวิชัยก็ยอมลงนามในคำมั่น ๔ ข้อที่เจ้าคณะมณฑลพายัพได้กำหนดขึ้นและยอมรับที่จะปฏิบัติตามนั้นทุกอย่าง ไม่ขัดขืนอะไรให้เป็นความผิดพระราชบัญญัติ และการปกครองคณะสงฆ์อีกต่อไป

    เมื่อครูบาศรีวิชัยลงนามในคำมั่นแล้ว ก็อยู่รับการอบรมศึกษาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์อีกระยะหนึ่ง แล้วจึงได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับสู่มาตุภูมิ

    ครูบาศรีวิชัย ถูกนำมาอบรมสอบสวนในกรุงเทพฯ ครั้งที่สองนี้ เป็นระยะยาวนานถึง ๖ เดือน ๑๗ วันเต็มๆ ท่านจึงได้รับอนุญาตให้กลับภาคเหนือได้ วันนั้นตรงกับวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ คือ วันที่ครูบาศรีวิชัยกำหนดจะไปถึงลำพูนแผ่นดินเกิดของท่านก่อนหน้าที่ท่านจะเดินทางกลับสู่ลำพูนครั้งนี้ ได้มีผู้มาเยี่ยมเยือนถามข่าวคราวของท่านที่วัดเบญจมพิตรเป็นจำนวนมาก รวมทั้ง หลวงศรีประกาศ ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ด้วย การที่หลวงศรีประกาศมาหาครูบาศรีวิชัยอยู่เสมอ ก็เพราะอยากจะชวนท่านกลับไปจำพรรษาที่เชียงใหม่เพื่อช่วยงานสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ อันสำเร็จเรียบร้อยในขั้นแรกแล้วนั้น ให้ถาวรยิ่งขึ้น โดยเฉพาะทางขึ้นดอยสุเทพนี้ ยังขาดสะพานข้ามห้วยแก้วซึ่งไม่ทนทานถาวร เพราะที่ถูกแล้วจะต้องสร้างเป็นสะพานคอนกรีตถาวรอันจะต้องใช้เงินสำหรับสร้างสะพานนี้ถึง 6,000 บาท ซึ่งไม่ใช่เป็นจำนวนเงินเล็กน้อยเลยในเวลานั้น แต่ครูบาศรีวิชัย ยังคงยืนยันอย่างหนักแน่นกับหลวงศรีประกาศว่า "ตราบใดที่สายน้ำปิงไม่ไหลคืนท่านจะไม่เหยียบแผ่นดินเชียงใหม่อีก"

    สาเหตุของการกล่าวอมตวาจาของครูบาเจ้าศรีวิชัยนี้ พอจะสรุปสาเหตุได้อย่างสั้นๆ ตามที่ได้เขียนไว้ในประวัติครูบา อินตา ธนกฺขนฺโธ วัดวังทอง จ.ลำพูน ไว้ดังนี้

    เมื่อการก่อสร้างได้สำเร็จลุล่วงได้เพียงสิบวันครูบาศรีวิชัยก็ถูกคณะสงฆ์ฝ่ายปกครองของเชียงใหม่ นำโดยเจ้าคุณโพธิรังสี บารมีศานธิการ (พระศรีโหม) อดีตเจ้าคณะเชียงใหม่ ตั้งข้อกล่าวหาครูบาศรีวิชัยหลายข้อหา เช่นทำให้พระสังฆาธิการเมืองเชียงใหม่จำนวน ๖๐ วัดไม่ยอมขึ้นตรงกับการปกครองคณะสงฆ์จังหวัด และ เป็นพระอุปัชฌาย์เถื่อน โดยบวชให้พระอภิชัย (ครูบาอภิชัยขาวปี)

    เมื่อเกิดเรื่อง ครูบาศรีวิชัยได้ติดต่อให้ เหนือหัวมหาอำมาตย์โทเจ้าหลวงแก้วนวรัฐ และ หลวงศรีประกาศ ช่วยเข้าชี้แจงเหตุผลกับเจ้าคุณโพธิรังสี แต่ท่านทั้งสองไม่ยอมมาพบครูบา ทั้งที่ท่านสองเป็นผู้นิมนต์ให้ครูบามาช่วยแผ่บารมีในการบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่โดยแท้ ปล่อยให้ครูบาท่านถูกกล่าวหาแต่ข้างเดียว จนได้ถูกควบคุมตัวไปยังจังหวัดลำพูน
    หลังจากที่ครูบาศรีชัยต้องถูกสอบสวน และพบว่าครูบาศรีวิชัยพ้นข้อกล่าวหาทั้งหมด หลวงศรีประกาศท่านเดิม ได้มากราบเรียนขอนิมนต์ครูบาศรีวิชัยไปช่วยงานปฏิสังขรณ์สถานที่สำคัญในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งท่านให้เหตุผลว่า ชาวเชียงใหม่ต้องขอพึ่งบารมีครูบาอีกมากในการนั้นๆ แต่ครูบาศรีวิชัยได้บอกปฏิเสธ และเป็นต้นเหตุให้ท่านต้องกล่าวอมตะวาจาว่า “ตราบใดที่แม่น้ำปิงไม่ไหลย้อนขึ้นเหนือ จะไม่ขอเหยียบย่างเข้าแผ่นดินเมืองเชียงใหม่อีก”

    อันนับเป็นอมตวาจาของท่านประโยคหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งคำพูดนี้ส่งผลสะท้อนให้เห็นถึงความมหัศจรรย์อย่างยิ่งของครูบาศรีวิชัย (ภายหลังที่ท่านมรณภาพไปแล้ว) นั่นคือ เมื่อครูบาศรีวิชัยกลับไปสู่บ้านเกิดของท่านครั้งนี้แล้วนั้น ท่านไม่เคยเหยียบแผ่นดินเมืองเชียงใหม่อีกเลย จนถึงแก่มรณภาพในเวลา 2 ปีต่อมา เพราะแม่น้ำปิงย่อมไม่ไหลคืนกลับแน่ๆ
    แต่ทว่าเสมือนหนึ่งปาฏิหาริย์ เพราะต่อมาเมื่อมีการสร้างอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย นำไปประดิษฐาน ณ เชิงดอยสุเทพเชียงใหม่ทางต้นถนนที่จะขึ้นพระบรมธาตุดอยสุเทพนั้น ในวันที่ทำพิธีอัญเชิญรูปหล่อครูบาศรีวิชัยไปประดิษฐานที่เชิงดอยสุเทพนั้น แม่น้ำปิงได้ไหลคืนกลับไปเชียงใหม่จริงๆ วันนั้นเป็นวันแรกที่ครูบาศรีวิชัยกลับไปเหยียบแผ่นดินเชียงใหม่ แม้ว่าจะเป็นเพียงรูปหล่อที่ไร้วิญญาณก็ตาม

    สายน้ำปิงไหลคืนกลับไปสู่เชียงใหม่ได้อย่างไร? ท่านอาจจะสงสัย และเห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่สายน้ำจะไหลย้อนทวนกลับไปหาต้นน้ำ ขอยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง นั่นคือเมื่อมีการสร้างเขื่อนภูมิพลเก็บกักน้ำขึ้นที่จังหวัดตากนั้น อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนกว้างใหญ่ไพศาลนักส่วนหนึ่งก็คือบริเวณแม่น้ำปิงที่ไหลลงใต้ ก็กลับไหลเอ่อขึ้นท่วมท้นถึงเขตจังหวัดเชียงใหม่ที่อำเภอฮอด

    วันที่สายน้ำปิงเอ่อถึงอำเภอฮอดนั้น คือวันที่มีการอัญเชิญรูปหล่ออนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยไปประดิษฐาน

    เหตุที่เกิดขึ้นนี้อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญ แต่ถ้าหากว่านำมาคิดพิจารณาอย่างละเอียดแล้วจะพบว่าคำพูดของครูบาศรีวิชัยคือ อมตวาจาที่แสนศักดิ์สิทธิ์จริงๆ เพราะท่านได้กลับไปเหยียบแผ่นดินเชียงใหม่อีกครั้งในวันที่สายน้ำปิงไหลกลับขึ้นเชียงใหม่อย่างที่ท่านพูดไว้ไม่มีผิด


     

แชร์หน้านี้

Loading...