เอตทัคคะ ผู้ประเสริฐสุดในทางใดทางหนึ่ง

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 3 กรกฎาคม 2013.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๔๑. พระโมฆราชเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง

    ๐ อชิตมาณพทูลถามปัญหาโดยถามในใจ

    อชิตมาณพได้เห็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระรัศมีเรื่อเรืองเหลืองอ่อน ถึงความบริบูรณ์ดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญ ลำดับนั้นอชิตมาณพได้เห็นพระมหาปุริสลักษณะทั้ง ๓๒ ประการในพระกายของพระผู้มีพระภาคนั้นแล้วก็มีความร่าเริง ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ทูลถามปัญหาในใจว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกอ้าง (ชาติ) อายุ โคตร พร้อมทั้งลักษณะ และขอได้ตรัสบอกการถึงความสำเร็จในมนต์ทั้งหลายแห่งอาจารย์ของข้าพระองค์เถิด พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของข้าพระองค์ย่อมบอกมนต์กะศิษย์มีประมาณเท่าไร พระเจ้าข้า ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ก็พราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ของท่านนั้น มีอายุร้อยยี่สิบปี ชื่อพาวรีโดยโคตรลักษณะในกายของพราหมณ์พาวรีนั้นมี ๓ ประการ พราหมณ์พาวรีนั้นเรียนจบไตรเพท ในตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ คือ คัมภีร์อิติหาสพร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุศาสตร์และเกฏุภศาสตร์ ถึงซึ่งความสำเร็จในธรรมแห่งพราหมณ์ของตน ย่อมบอกมนต์กะมาณพ ๕๐๐ ฯ

    อชิตมาณพทูลถามว่าข้าแต่พระองค์ผู้สูงสุดกว่านรชน ขอพระองค์จงบอกลักษณะทั้งหลายของพราหมณ์พาวรี ขอทรงบอกเพื่อมิให้ข้าพระองค์มีความสงสัยเถิด ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีนั้น ย่อมปกปิด หน้าผากของตนด้วยลิ้นได้ มีขนขึ้นเป็นรูปอุณณาโลมชาติในระหว่างคิ้ว มีคุยหฐานอยู่ในฝัก ท่านจงรู้อย่างนี้เถิด ฯ

    มหาชนทั้งหลาย ไม่ได้ยินเสียงใครที่ถามปัญหานั้นเลย เมื่อได้ฟังคำตอบที่พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์แล้ว เกิดความพิศวง มีความโสมนัสประนมอัญชลี แล้วสรรเสริญว่า พระผู้มีพระภาคเป็นอะไรหนอ เป็นเทวดาหรือเป็นพรหม หรือเป็นท้าวสุชัมบดีจอมเทพ จึงได้ทราบถึงปัญหาอันมีผู้ถามในใจ ฯ

    อชิตมาณพ ครั้นได้สดับการพยากรณ์ปัญหา ๕ ข้อแล้ว เมื่อจะทูลถาม ปัญหาสองข้อที่เหลือจึงกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ท่านพราหมณ์พาวรีถามถึงธรรมเป็นศีรษะ และธรรมเป็นเหตุให้ศีรษะตกไป ขอพระองค์ตรัสพยากรณ์ข้อนั้นกำจัดความสงสัยของพวกข้าพระองค์ผู้เป็นพราหมณ์เสียเถิด ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ท่านจงรู้เถิดว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ วิชชาประกอบด้วยศรัทธา สติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ ชื่อว่าเป็นธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป

    เพราะอวิชชาเป็นความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ เป็นศีรษะแห่งสังสารวัฏ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อวิชชาชื่อว่าธรรมเป็นศีรษะ

    อนึ่ง เพราะอรหัตมรรควิชชา (วิชชาในอรหัตมรรค) ประกอบ ด้วย ศรัทธาสติ สมาธิ ฉันทะ และวิริยะ อันเกิดร่วมกับตนยังศีรษะให้ตกไป เพราะเข้าถึงธรรมเป็นศีรษะด้วยความตั้งอยู่ในรสอันเดียวกันของอินทรีย์ทั้งหลาย

    ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า วิชชาเป็นธรรมเครื่องให้ศีรษะตกไป

    ลำดับนั้น อชิตมาณพมีความโสมนัสเป็นอันมาก เบิกบานใจ กระทำหนังเสือเหลืองเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลงแทบพระบาทยุคลด้วยเศียรเกล้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้นิรทุกข์ ผู้มีพระจักษุ พราหมณ์พาวรี พร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลายขอไหว้พระบาทยุคลของพระผู้มีพระภาค ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดูกรมาณพ พราหมณ์พาวรีพร้อมด้วยศิษย์ทั้งหลาย จงเป็นผู้ถึงความสุขเถิด ครั้นตรัสแล้วจึงทรงปวารณาว่า จงถามความสงสัยทุกๆ อย่างของพราหมณ์พาวรี หรือของท่านเถิด

    อชิตมาณพครั้นเห็นพระพุทธองค์ประทานพระวโรกาสให้ทูลถามปัญหาที่สงสัยเช่นนั้น ก็นั่งลงประนมอัญชลี ทูลถามปัญหาต่อพระตถาคต ณ ที่นั้น ตามที่ปรากฎในอชิตมาณวกปัญหานิทเทส

    ครั้นเมื่อจบพระคาถาที่พระพุทธองค์ตรัสตอบปัญหา อชิตมาณพ พร้อมด้วยเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ คนก็บรรลุพระอรหัตเป็นเอหิภิกขุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาค และโสดาปัตติมรรคก็บังเกิดขึ้นแก่เทวดาและมนุษย์หลายพัน

    ในบรรดาศิษย์ทั้ง ๑๖ คนนั้น โมฆราชมาณพถือตัวว่าเป็นผู้มีความรู้ยิ่งกว่าทุกคน ท่านคิดว่า อชิต มาณพนี้เป็นหัวหน้าของศิษย์ทุกคน เราไม่ควรถามปัญหาก่อน เพราะความเคารพในตำแหน่งผู้นำของอชิตมาณพนั้น ท่านจึงไม่ถามก่อน ครั้นเมื่ออชิตมาณพนั้นถามปัญหาแล้ว จึงถามปัญหาต่อพระศาสดาเป็นคนที่สอง

    พระศาสดาทรงดำริว่า โมฆราชมาณพเป็นคนถือตัว ทั้งญาณของเขาก็ยังไม่แก่กล้าเต็มที่ ควรจะต้องทำให้ความถือตัวของเขาค่อยๆ หมดไป จึงตรัสว่า โมฆราชเธอจงคอยก่อน ให้คนอื่น ๆ ถามปัญหาก่อน โมฆราชมาณพนั้น ครั้นถูกห้ามโดยพระศาสดาเช่นนั้น ก็คิดว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมานี้ เราเข้าใจว่า ไม่มีคนที่จะเป็นบัณฑิตเกินกว่าเรา ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ถ้าไม่ทรงทราบความในใจ ย่อมไม่ตรัส พระศาสดาคงจักทรงเห็นโทษในการถามของเราเป็นแน่ เมื่อคิดได้ดังนั้นจึงนิ่งเสีย

    จากนั้นติสสเมตเตยยพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๒

    จากนั้นปุณณกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๓

    จากนั้นเมตตคูพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๔

    จากนั้นโธตกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๕

    จากนั้นอุปสีวพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๖

    จากนั้นนันทพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๗

    จากนั้นเหมกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๘

    ครั้นเมื่อเหมกมาณพถามปัญหาไปเป็นคนที่ ๘ ตามลำดับแล้ว โมฆราชมาณพนั้นก็อดกลั้นไว้ไม่ได้ ลุกขึ้นอีกเป็นคนที่ ๙ พระศาสดาก็ทรงห้ามเขาอีก โมฆราชมาณพนั้นจึงต้องนิ่ง คิดว่า บัดนี้ เราไม่อาจจะเป็นนวกะผู้ใหม่ในสงฆ์ได้แล้ว จึงทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๑๕

    จากนั้นโตเทยยพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๙

    จากนั้นกัปปพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๐

    จากนั้นชตุกัณณิกพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๑

    จากนั้นภัทราวุธพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๒

    จากนั้นอุทยพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๓

    จากนั้นโปสาลพราหมณ์ก็ได้ทูลถามปัญหาของตนเป็นลำดับที่ ๑๔

    เมื่อจบพระคาถาที่พระพุทธองค์ตรัสตอบปัญหาแก่พราหมณ์แต่ละท่านนั้น พราหมณ์ท่านนั้นพร้อมด้วยเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ คนก็บรรลุพระอรหัตเป็นเอหิภิกขุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาคอยู่
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๔๑. พระโมฆราชเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง

    ๐ โมฆราชะทูลถามปัญหาของตน

    โมฆราชมาณพทูลถามปัญหาว่า

    ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหา จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้
    เห็นธรรมอันงามอย่างนี้ เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างไร
    มัจจุราชจึงไม่เห็น

    พระศาสดาทรงทราบว่า ญาณของท่านแก่กล้าเต็มที่แล้ว จึงทรงตอบปัญหาที่โมฆราชมาณพทูลถาม ดังนี้

    ดูกรโมฆราช
    ท่านจงเป็นผู้มีสติพิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของสูญ
    ถอนอัตตานุทิฏฐิเสียแล้ว
    พึงข้ามพ้นมัจจุราชได้ด้วยอุบายอย่างนี้
    เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้ มัจจุราชจึงไม่เห็น

    จบเทศนาท่านก็บรรลุพระอรหัตพร้อมกับชฎิล ๑๐๐๐ คน บริวารของตน หนังเสือ ชฎา ผ้าคากรอง ไม้เท้า ลักจั่นน้ำ ผม และหนวดของโมฆราชพราหมณ์และเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐ หายไปแล้ว พร้อมด้วยการบรรลุอรหัต. โมฆราชพราหมณ์และเหล่าศิษย์ทั้ง ๑,๐๐๐นั้น เป็นเอหิภิกขุครองผ้ากาสายะเป็นบริขาร ทรงสังฆาฏิ บาตรและจีวร อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ มีผม ๒ องคุลี นั่งประนมอัญชลีนมัสการพระผู้มีพระภาค


    ๐ ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่ง
    เป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้ทรงจีวรอันเศร้าหมอง


    เมื่อพระเถระบรรลุพระอรหัตแล้ว ท่านได้บังสุกุลนำเอาผ้ามาจากกองขยะ ป่าช้าและตามถนนหนทาง แล้วจึงทำเป็นผ้าสังฆาฏิด้วยผ้าเหล่านี้ แล้วนุ่งห่มด้วยจีวรที่เศร้าหมองเหล่านั้น อันประกอบด้วยความเศร้าหมอง ครบทั้ง ๓ อย่างคือ เศร้าหมองด้วยผ้า เศร้าหมองด้วยด้าย (และ) เศร้าหมองด้วยน้ำย้อม

    พระบรมศาสดาทรงพอพระทัยในคุณข้อนั้นของท่าน จึงทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายที่ทรงจีวรเศร้าหมอง


    ๐ พระเถระเป็นโรคร้าย

    ในเวลาต่อมา โรคทั้งหลายมีหิดเปื่อยและต่อมน้ำเหลืองเป็นต้น เกิดลุกลามไปตามร่างกายของพระเถระ เพราะกรรมเก่าเป็นปัจจัย (และ) เพราะไม่ทำความสะอาดร่างกาย

    ครั้นเมื่อท่านเป็นโรคร้ายเช่นนั้น ท่านก็ไม่ประสงค์จะทำให้วิหารเสียหายสกปรกเลอะเทอะ ท่านจึงไม่ได้อยู่ในวิหารของสงฆ์ จึงเอาเครื่องปูนอนที่ทำด้วยฟางจากนาของชาวมคธ มาปูลาดนอนแม้ในฤดูหนาว วันหนึ่ง พระศาสดาตรัสถามท่านพระเถระ โดยทำนองปฏิสันถาร ด้วยพระคาถาที่ ๑ ใจความว่า

    ดูก่อนโมฆราชภิกษุ ผู้มีผิวพรรณเศร้าหมอง แต่มีจิตผ่องใส
    ท่านเป็นผู้มีใจตั้งมั่นเป็นนิตย์
    จักทำอย่างไรตลอดราตรี แห่งเวลาหนาวเย็นเช่นนี้ ดังนี้

    พระเถระทูลตอบว่า

    ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า ประเทศมคธล้วนแต่สมบูรณ์ด้วยข้าวกล้า
    ข้าพระองค์พึงคลุมกายด้วยฟาง แล้วนอนให้เป็นสุข
    เหมือนคนเหล่าอื่น ที่มีการเป็นอยู่อย่างเป็นสุข ฉะนั้น ดังนี้



    .............................................................

    คัดลอกมาจาก ::
    Home Main Page
    Dhamma and Life - Manager Online
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    “ภิกษุณี” ที่ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะมี ๑๓ ท่าน

    ๑. พระปชาบดีโคตมีเถรี เอตทัคคะในทางผู้รู้ราตรีนาน


    [​IMG]


    พระปชาบดีโคตมีเถรีผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของภิกษุณีทั้งหลายผู้รู้ราตรีนาน ก็โดยเหตุ ๒ ประการ คือโดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ เพราะท่านแสดงให้ผู้อื่นเห็นเป็นอย่างชัดเจนในคุณข้อนี้ของท่าน และไม่เพียงเนื่องจากเหตุข้อนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นการแต่งตั้งโดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไป


    ๐ ตั้งความปรารถนาไว้ในอดีต

    ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ พระพิชิตมารพระนามว่าปทุมุตระได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว ครั้งนั้น ท่านพระปชาบดีโคตมีได้เกิดในสกุลอำมาตย์ ซึ่งสมบูรณ์ด้วยเครื่องอุปการะทุกสิ่ง เจริญรุ่งเรืองร่ำรวย ในพระนครหังสวดี บางครั้ง ท่านพร้อมด้วยบิดามีหมู่ทาสีห้อมล้อม เข้าไปเฝ้าพระนราสภพระองค์นั้น พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก ได้เห็นพระพิชิตมารทรงแสดงธรรมอยู่ แล้วเกิดจิตเลื่อมใส ได้เห็นพระผู้นำนรชนทรงตั้งพระภิกษุณีผู้เป็นพระมาตุจฉาไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายฝ่ายผู้รู้ราตรีนาน จึงถวายมหาทานและปัจจัยเป็นอันมาก แด่พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น พร้อมทั้งพระสงฆ์ ๗ วัน แล้วได้หมอบลงแทบพระบาท มุ่งปรารถนาตำแหน่งนั้น

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นได้ตรัสท่ามกลางบริษัทใหญ่ว่า สตรีใดได้นิมนต์พระผู้นำโลกพร้อมด้วยสงฆ์ให้ฉันตลอด ๗ วันเราจักพยากรณ์สตรีนั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว

    ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ พระศาสดาพระนามว่าโคดม ซึ่งทรงสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก สตรีผู้นี้จักได้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น จักเป็นโอรสอันธรรมนิรมิต จักได้เป็นพระสาวิกาของพระศาสดา มีนามว่าโคตมี จักได้เป็นพระมาตุจฉาบำรุงเลี้ยงชีวิตของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น จักได้ความเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายฝ่ายผู้รู้ราตรีนาน

    ครั้งนั้น ท่านได้สดับพระพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว มีใจปราโมทย์ บำรุงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นด้วยปัจจัยทั้งหลายตราบเท่าสิ้นชีวิต


    ๐ ในสมัยว่างพระพุทธเจ้าในระหว่าง
    สมัยพระกัสสปพุทธเจ้ากับพระพุทธเจ้าแห่งเราทั้งหลาย


    จุติจากเทวโลกในพุทธันดรหนึ่งอีก ไปบังเกิดเป็นภรรยาหัวหน้าทาส ผู้ปกครองทาส ๕๐๐ คน พระนางเป็นหัวหน้าทาสี ผู้ปกครองทาสี ๕๐๐ คน ในกรุงพาราณสี ทำงานด้วยกัน พักอยู่ในที่เดียวกัน (หัวหน้าทาสในเวลานั้น มาเกิดเป็นพระนันทกเถระในพุทธุปปาทกาลนี้)

    ครั้งนั้น สมัยเข้าพรรษา พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ลงจากเงื้อมเขานันทมูลกะ ไปที่ป่าอิสิปตนะ เที่ยวบิณฑบาตในกรุงแล้วกลับมาป่าอิสิปตนะ ท่านพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นทรงดำริว่า เราควรจักขอหัตถกรรมงานช่างฝีมือ เพื่อทำกุฎีสำหรับเข้าจำพรรษา เพราะผู้จะเข้าอยู่จำพรรษาในฤดูฝน ทั้งปฏิบัตินาลกปฏิปทา จำต้องเข้าอยู่ในเสนาสนะประจำ ที่มุงบังด้วยเครื่องมุงบัง ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง สมจริงดังพระพุทธดำรัสนี้ว่า

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่มีเสนาสนะไม่พึงเข้าอยู่จำพรรษา ภิกษุใดฝ่าฝืน ต้องอาบัติทุกกฏ ดังนี้ เพราะเหตุนั้น เมื่อ ใกล้ฤดูฝน จวนถึงกาลจะเข้าพรรษา ถ้าได้เสนาสนะนั่นก็บุญละ ถ้าไม่ได้ ก็จำต้องแสวงหาหัตถกรรมทำ เมื่อไม่ได้หัตถกรรม ก็พึงทำเสียเอง ภิกษุไม่มีเสนาสนะไม่ควรเข้าอยู่จำพรรษา นี้เป็นธรรมดาประเพณี เพราะเหตุนั้นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นคิดว่า เราจำจักต้องขอหัตถกรรม จึงห่มจีวรเข้าไปสู่พระนครเวลาเย็น ยืนอยู่ที่ประตูเรือนของเศรษฐี

    นางทาสีหัวหน้า ถือหม้อน้ำกำลังเดินไปท่าน้ำ เห็นเหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าเดินเข้าพระนคร

    เศรษฐีรู้เหตุที่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นมาแล้ว ก็กล่าวว่าข้าพเจ้าไม่มีเวลา โปรดไปเถิด

    ลำดับนั้น ทาสีหัวหน้าถือหม้อน้ำจะเข้าไป เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นกำลังเดินจากพระนคร จึงลดหม้อน้ำลง แล้วไหว้อย่างนอบน้อม เผยปากถามว่า ทำไมหนอ พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย พอเข้าไปแล้วก็ออกไป

    ท่านตอบว่า เราพากันมา ก็เพื่อขอหัตถกรรมงานสร้างกุฎีสำหรับอยู่จำพรรษา

    นางจึงถามว่า ได้ไหมล่ะเจ้าข้า

    ตอบว่า ไม่ได้ดอก อุบาสิกา

    นางถามว่า จำเป็นหรือที่คน ใหญ่ๆ เท่านั้นจึงจะทำกุฎีนั้นได้ หรือแม้คนยากจนก็ทำได้

    ท่านตอบว่า ใครๆ ก็ทำได้

    นางจึงกล่าวว่า ดีละเจ้าข้า พวกดิฉันจักช่วยกันทำ ขอโปรดรับอาหารของดิฉันในวันพรุ่งนี้

    นิมนต์แล้ว ก็ถือหม้อน้ำพักไว้ที่ทางท่าน้ำที่มาแล้ว กล่าวกับนางทาสีทั้งหลายว่า พวกเจ้าจงอยู่ตรงนี้กันนะ

    เวลาที่ทาสีเหล่านั้นมา ก็กล่าวว่า พวกเจ้าทั้งหลาย พวกเราจักทำงานเป็นทาสีสำหรับคนอื่นกันตลอดไปหรือ หรือว่า อยากจะพ้นจากการเป็นทาสีเขา

    เหล่าทาสีก็ตอบว่า พวกเราอยากพ้นเสียวันนี้นี่แหละ แม่เจ้า

    นางจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น เหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ที่ยังไม่ได้หัตถกรรม เราก็นิมนต์ให้ฉันในวันพรุ่งนี้แล้ว พวกเจ้าจงให้สามีของพวกเจ้า ให้งานหัตถกรรมเสียวันหนึ่ง

    เหล่าทาสีก็รับว่า ดีละ แล้ว บอกพวกสามี เวลาที่เขาออกมาจากดงเวลาเย็น สามีเหล่านั้นรับปากแล้วมาประชุมกันที่ประตูเรือนทาสีหัวหน้า

    ครั้งนั้น ทาสีหัวหน้าจึงกล่าวว่า พ่อทั้งหลาย พรุ่งนี้พวกเจ้าจงถวายหัตถกรรมแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายด้วย แล้วบอกอานิสงส์ พร้อมกับขู่คนที่ไม่อยากจะทำด้วยโอวาทอันหนักหน่วงให้ทุกคนยอมรับ

    รุ่งขึ้น นางถวายอาหารแก่เหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วให้การนัดหมายแก่ลูกทาสทุกคน ทันใดนั้นเอง ลูกทาสเหล่านั้นก็พากันเข้าป่า รวบรวมทัพพสัมภาระแล้ว สร้างกุฎีทีละหลังเป็นร้อย ๆ หลัง จัดบริเวณมีที่จงกรมเป็นต้น วางเตียง ตั่ง น้ำฉัน น้ำใช้เป็นต้นไว้

    แล้วจึงอาราธนาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายให้รับปฏิญญาที่จะอยู่จำพรรษา ณ ที่นั้นตลอดไตรมาส พร้อมทั้งให้จัดเวรถวายอาหาร ทาสีผู้ใดไม่อาจถวายในวันเวรของตนได้ ทาสีหัวหน้าก็นำอาหารจากเรือนตนถวายแทนทาสีผู้นั้น

    ทาสีหัวหน้าบำรุงมาตลอดไตรมาสอย่างนี้ ครั้นสิ้นกาลเข้าพรรษาแล้ว ก็ให้ทาสีคนหนึ่งๆ จัดผ้าสาฎกคนละผืน รวมเป็นผ้าสาฎกเนื้อหยาบ ๕๐๐ ผืน นางให้เปลี่ยนแปลงผ้าสาฎกเนื้อหยาบเหล่านั้น ทำเป็นไตรจีวรถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไปสู่เขาคันธมาทน์ทางอากาศทั้งที่ทาสีเหล่านั้นเห็นอยู่นั่นแล.

    ทาสีเหล่านั้นทุกคนทำกุศลจนตลอดชีวิต ก็บังเกิดในเทวโลก ส่วนนางทาสีผู้เป็นหัวหน้า เมื่อจุติจากภพนั้นแล้ว ก็มาบังเกิดในเรือนของหัวหน้าช่างทอหูก ไม่ไกลกรุงพาราณสี ต่อมาวันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ โอรสพระนางปทุมวดี (ต่อมาในพุทธุปปาทกาลนี้ พระนางปทุมวดีมาบังเกิดเป็น พระอุบลวรรณาเถรี) ที่พระเจ้ากรุงพาราณสีนิมนต์ไว้มาถึงประตูพระราชนิเวศน์ไม่พบคนใดๆ ที่จะดูแล จึงกลับออกไปทางประตูกรุง ไปยังหมู่บ้านช่างทอหูกนั้น หญิงผู้นั้นเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย นึกเอ็นดู ก็ไหว้หมดทุกองค์แล้วถวายอาหาร พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ฉันอาหารเสร็จแล้ว ก็ไปสู่เขาคันธมาทน์อย่างเดิม.

    ทาสทั้งพันคนนั้นที่ได้ทำกุศลมาด้วยกัน เมื่อตายแล้วก็เกิดในสวรรค์. นางทาสีทั้ง ๕๐๐ คนนั้น ในบางทีก็เกิดเป็นภรรยาของทาสทั้ง ๕๐๐ คนนั้น บางทีแม้ทั้งหมดก็เกิดเป็นภรรยาของทาสผู้เป็นหัวหน้าเท่านั้น

    ต่อมา ในกาลครั้งหนึ่งหัวหน้าทาสเคลื่อนจากเทวโลกมาบังเกิดในราชตระกูล. เทวกัญญาทั้ง ๕๐๐ นั้น ก็มาเกิดในตระกูลที่มีสมบัติมาก เมื่อเจ้าชายนั้นได้เสวยราชย์ก็นำหญิงเหล่านั้นไปสู่พระราชวังเป็นนางสนม

    พวกนางท่องเที่ยวเวียนว่ายอยู่ในวัฎสงสารอยู่โดยทำนองนี้ ครั้นในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเรา หัวหน้าทาสก็มาเกิดเป็นพระนันทกเถระ เอตทัคคมหาสาวกผู้ให้โอวาทสอนภิกษุณี พวกนางทาสทั้ง ๕๐๐ ก็มาเกิดในตระกูลกษัตริย์ในโกลิยนครบ้าง ในเทวทหนครบ้าง.ทั้งหมดต่างก็ได้เป็นชายาของเจ้าชายในพระราชวงศ์ทั้งหมด ซึ่งต่อมาเมื่อเกิดกรณีการวิวาทระหว่างสองนครเรื่องการแย่งชิงน้ำในแม่น้ำโรหิณี จนจะเกิดสงครามระหว่างสองพระนครขึ้น จนพระผู้มีพระภาคทรงต้องออกมาสงบศึก กษัตริย์ทั้งสองพระนครจึงได้ถวายเจ้าชายในราชตระกูล นครละ ๕๐๐ องค์ไห้ออกบวชตามเสด็จพระผู้มีพระภาค รายละเอียดในเรื่องนี้จะได้กล่าวต่อไป
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระปชาบดีโคตมีเถรี เอตทัคคะในทางผู้รู้ราตรีนาน

    ๐ มาเป็นราชธิดาในโกลิยวงศ์ในสมัยพระโคตมพุทธเจ้า

    ในพุทธุปปาทกาลนี้ นางผู้เป็นหัวหน้าทาสีในครั้งนั้นก็มาถือปฏิสนธิในพระราชวังของพระเจ้ามหาสุปปพุทธะ กรุงเทวทหะ ก่อนพระศาสดาของเราบังเกิด เป็นกนิษฐภคินีของพระนางมหามายา ผู้เป็นพระพุทธมารดา ในวันขนานพระนาม พราหมณ์ทั้งหลายได้รับสักการะแล้ว เห็นพระลักษณสมบัติของพระนางแล้ว ได้พยากรณ์ว่า ถ้าพระนางนี้จักได้พระธิดา พระธิดาจักเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าจักได้พระโอรส พระโอรสจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระปชาของพระนางจักเป็นผู้ยิ่งใหญ่ โดยประการแม้ทั้งสองนั้นเทียว ดังนี้ พระญาติทั้งหลายจึงได้ขนานพระนามของพระนางว่า ปชาบดี

    พระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงมงคลอภิเษกกับพระนางทั้งสองพระองค์ เวลาที่ทรงเจริญวัยแล้วทรงนำไปอยู่พระราชนิเวศน์ของพระองค์ ต่อมา พระโพธิสัตว์ของเราจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางมหามายาเทวี ในวันที่ ๗ ตั้งแต่วันที่พระโพธิสัตว์ประสูติแล้ว พระนางมหามายาเทวีก็สวรรคต บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต พระเจ้าสุทโธทนมหาราชก็ทรงสถาปนาพระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉาของพระมหาสัตว์ไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสี เวลานั้น นันทกุมารก็ประสูติ พระมหาปชาบดีนี้ ทรงมอบพระนันทกุมารแก่พระพี่เลี้ยงนางนมให้เป็นผู้ดูแลพระนันทกุมารผู้เป็นพระราชโอรสแท้ๆ ส่วนพระองค์เองทรงประคบประหงมบำรุงพระโพธิสัตว์ด้วยพระองค์เอง


    ๐ พระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระศาสนา

    ครั้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกจากวังในวันที่พระนางยโธราพิมพาประสูติพระโอรสคือ ราหุลราชกุมาร บำเพ็ญเพียรจนเมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ก็ได้เสด็จไปยังป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ได้ทรงแสดงพระธรรมจักรกับกัปปวัตนะสูตร โปรดภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ต่อมา ทรงแสดงอนุปทาพิกถาโปรดกุลบุตรชื่อ "ยสะ" ซึ่งเป็นบุตรเศรษฐี ชาวเมืองพาราณสีให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ต่อแต่นั้นมา ๒ - ๓ วัน ทรงแสดงธรรมโปรดสหายของท่านยสะทั้ง ๕๔ คน ให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

    จากนั้นก็ได้ส่งพระสาวกทั้งหลายออกไปประกาศพระศาสนา ส่วนพระองค์เองได้เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลา กรุงราชคฤห์ ระหว่างทางได้ทรงพบชายหนุ่มจำนวน ๓๐ คน เป็นสหายกันเรียกว่า ภัททวัคคีย์ ทรงแสดงธรรมโปรดให้บรรลุมรรคผล ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา แล้วทรงส่งไป ประกาศพระพุทธศาสนาทั้ง ๓๐ องค์

    ตอนบ่ายวันนั้นพระพุทธองค์ก็เสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ ตำบลนี้พระองค์ได้ทรงโปรดชฎิล ๓ พี่น้องและบริวารทั้ง ๑,๐๐๐ รูปให้ได้บรรลุมรรคผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด

    จากนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงพาพระอรหันต์ผู้เป็นชฎิลจำนวน ๑,๐๐๐ รูป นั้นเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ นครหลวงแห่งแคว้นมคธ เพื่อแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ตามที่ได้ทรงให้ปฏิญญาไว้เมื่อก่อนที่จะทรงตรัสรู้ พระเจ้าพิมพิสารทรงมีพระราชศรัทธาถวายพระเวฬุวัน นับเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา

    ต่อมาถึง วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนมาฆะ (เดือน ๓) พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรด ปริพาชกซึ่งเป็นสหายกัน ๒ คน คือ อุปติสสะ และ โกลิตะ พร้อมทั้งบริวารรวมทั้งตัวเองด้วยจำนวน ๒๕๐ คน ที่พระเวฬุวันวิหาร ประทานเอหิภิกขุสัมปทาถ้วนทุกคน ปริพาชกที่เป็นบริวารได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั่วทุกคน ส่วนอุปติสสะและโกลิตะผู้เป็นหัวหน้ายังมิได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น แต่ต่อมาไม่นานก็ได้บำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ภายหลังพระพุทธองค์ทรงยกย่องพระอุปติสสะ เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา คือ พระสารีบุตรอัครสาวก ยกย่องพระโกลิตะเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย คือ พระมหาโมคคัลลานะอัครสาวก

    หลังจากที่ได้ทรงเปิดประชุมจาตุรงคสันนิบาต ในตอนบ่ายแห่งวันเพ็ญเดือนมาฆะ และทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ต่อพระสงฆ์อรหันต์สาวกจำนวน ๑,๒๕๐ องค์ในที่ประชุมนั้นแล้ว ต่อจากนั้นมา พระพุทธองค์ได้ทรงส่งพระอริยสาวกจำนวน ๑,๒๕๐ องค์นั้นออกไปประกาศพระพุทธศาสนา
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระปชาบดีโคตมีเถรี เอตทัคคะในทางผู้รู้ราตรีนาน

    ๐ พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าว

    กิตติศัพท์ได้เลื่องลือไปถึงกรุงกบิลพัสดุ์ว่า พระพุทธองค์เมื่อได้ตรัสรู้แล้ว และได้เสด็จจารึกโปรดเวไนยชนให้เลื่อมใสออกบวชเป็นพระสงฆ์ และเป็นอุบาสกอุบาสิกาจนได้สำเร็จมรรคผลเป็นจำนวนมาก และขณะนี้กำลังประทับอยู่ที่พระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ

    พระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดาทรงทราบกิตติศัพท์นั้นแล้ว จึงทรงส่งทูตมาทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้เสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์ คณะทูตทั้งหมดเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เลื่อมใส ขอบวชเป็นพระภิกษุและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทุกองค์ พระเจ้าสุทโธทนะได้ส่งทูตมาอย่างนี้อีก ๘ ครั้ง ทุกครั้งก็เป็นเช่นเดิมคือคณะทูตทั้งหมดออกบวชและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด และไม่มีผู้ใดทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ พระพุทธองค์จึงยังมิได้เสด็จ ต่อมา ย่างเข้าปีที่ ๒ นับแต่ตรัสรู้ พระเจ้าสุทโธทนะ จึงทรงส่งทูตมาอาราธนาอีก โดยทรงมอบให้กาฬุทายีอำมาตย์เป็นหัวหน้าคณะทูตที่มาคราวนี้ก็ได้บวชเป็นพระสงฆ์ และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งคณะ

    ครั้นย่างเข้าฤดูร้อน พระกาฬุทายีจึงทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ตามคำอาราธนาของพระพุทธบิดา พระพุทธองค์พร้อมพระอริยสงฆ์จำนวน ๒ หมื่นรูป จึงได้เสด็จไปโดยมีพระกาฬุทายี เป็นผู้นำทางเสด็จดำเนินเป็นเวลา ๖๐ วันก็ถึงกรุงกบิลพัสดุ์ประทับอยู่ที่นิโครธรามใกล้ป่ามหาวันซึ่งพระญาติจัดไว้ถวาย ได้ทรงแสดงเวสสันดรชาดกโปรดพระประยูรญาติให้เลื่อมใส แล้วพระญาติพระวงศ์ต่างก็ลาเสด็จกลับโดยไม่มีแม้แต่พระองค์เดียวที่จะนิมนต์พระผู้มีพระภาคเพื่อรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น


    ๐ พระผู้มีพระภาคเสด็จออกบิณฑบาตภายในกรุงกบิลพัสดุ์

    วันรุ่งขึ้น พระศาสดาทรงแวดล้อมด้วยภิกษุสองหมื่นองค์ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงกบิลพัสดุ์ มหาชนก็เล่าลือกันว่า ได้ยินว่า สิทธัตถราชกุมาร เที่ยวเดินไปตามบ้านต่างๆ เพื่อขอข้าว พระนางภัททากัจจานาได้ยินข่าวดังนั้นก็ทรงพระดำริว่า แต่ก่อน พระลูกเจ้าเสด็จเที่ยวไปด้วยวอทองอย่างยิ่งใหญ่ในพระนครนี้แหละ บัดนี้ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ถือบาตรเที่ยวไปเพื่อขอข้าว จะงามหรือหนอ จึงทรงเปิดสีหสัญชรทอดพระเนตรดูอยู่ ก็ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเสด็จพระดำเนินไปตามถนน จึงเสด็จไปกราบทูลแด่พระเจ้าสุทโธทนะว่า พระโอรสของพระองค์เสด็จเที่ยวไปตามบ้านเรือนเพื่อขอข้าว

    พระราชาทรงสลดพระทัย ทรงเสด็จออกไปโดยเร็ว ประทับยืนเบื้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงกระทำหม่อมฉันให้ได้อาย เพื่ออะไร จึงเสด็จเที่ยวไปเพื่อก้อนข้าว ทำไมพระองค์จึงกระทำความสำคัญว่า ภิกษุทั้งหลายมีประมาณเท่านี้ไม่อาจได้ภัตตาหาร

    พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร อันนี้เป็นวงศ์ เป็นจารีตของอาตมภาพ

    พระราชาตรัสว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันทั้งหลายมีวงศ์เป็นกษัตริย์มหาสมมตราชมิใช่หรือ ก็ในวงศ์กษัตริย์มหาสมมตราชนั้น แม้กษัตริย์พระองค์หนึ่งชื่อว่าเที่ยวไปเพื่อภิกขาจาร ย่อมไม่มี

    พระศาสดาตรัสว่า มหาบพิตร ชื่อว่าวงศ์นี้เป็นวงศ์ของพระองค์ แต่ชื่อว่าพุทธวงศ์นี้ คือ พระทีปังกร พระโกณฑัญญะ พระกัสสปะ เป็นวงศ์ของอาตมภาพ และพระพุทธเจ้าอื่น ๆ นับได้หลายพันได้สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการภิกขาจารเท่านั้น

    ตรัสพระคาถาบทหนึ่งประทานแก่พระพุทธบิดา ในขณะที่ประทับยืนในระหว่างถนนนั้นแล เมื่อสิ้นพระคาถานั้น พระราชาดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วทรงรับบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงนิมนต์ให้เสด็จขึ้นสู่มหาปราสาท


    ๐ พระนางมหาปชาบดีโคตมีบรรลุพระโสดาบัน

    ในขณะนั้น พระนางมหาปชาบดีทรงเฝ้ารับเสด็จอยู่บนพระมหาปราสาทนั้น ณ ที่นั้นทรงตรัสพระคาถาอีกบทหนึ่งว่า ธมฺมญฺจเร พึงประพฤติธรรม เป็นต้น.ยังพระนางมหาปชาบดี ให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ยังพระราชาให้ดำรงอยู่ในสกทาคามิผล จากนั้นพระราชาทรงอังคาสด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระปชาบดีโคตมีเถรี เอตทัคคะในทางผู้รู้ราตรีนาน

    [​IMG]


    ๐ พระนางมหาปชาบดีถวายผ้าห่ม

    จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงเห็นพระรูปของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ทรงพระดำริว่า พระอัตภาพของบุตรเรางดงามหนอดังนี้ ลำดับนั้น พระนางก็เกิดพระโสมนัสเป็นกำลัง แต่นั้น ทรงพระดำริว่าเมื่อบุตรของเราอยู่ในวังตลอด ๒๙ ปี เราก็ไม่เคยถวายสิ่งใด แม้สักว่าผลกล้วยเพียงผลเดียวนั้นเทียว บัดนี้เราจักถวายผ้าจีวรแก่บุตรนั้น และยังทรงคิดต่อไปอีกว่า ก็ในกรุงราชคฤห์นี้มีผ้าราคาแพงมากมาย แต่การที่จะถวายผ้าที่ซื้อมาเหล่านั้นไม่ทำให้เราดีใจ สู้ผ้าที่เราทำเองนั้นไม่ได้ เราจำจะต้องทำผ้าเองถวาย ดังนี้.

    ดังนั้นพระนางจึงทรงให้สร้างโรงงานทอผ้าในภายในพระราชวังนั้นเทียว ทรงให้เรียกช่างศิลป์ทั้งหลาย พระราชทานเครื่องบริโภค ขาทนียะและโภชนียะของพระองค์นั้นแลให้แก่ช่างศิลป์ทั้งหลายแล้วทรงให้ทอผ้า พระนางพร้อมด้วยคณะพระพี่เลี้ยงนางนม เสด็จไปทอผ้าตามสมควรแก่กาลเวลา ก็ในวันนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมี เสด็จมาสู่โรงงานทอผ้าของศิลปินทั้งหลาย ทรงให้นำฝ้ายมาจากตลาด ทรงขยำ ทรงยีด้วยพระหัตถ์ กรอด้ายอย่างละเอียด แล้วทอเป็นผืนผ้า

    ในกาลที่ผ้านั้นทอเสร็จแล้ว ทรงทำการสักการะใหญ่แก่ช่างศิลป์ทั้งหลายแล้ว ทรงใส่ผ้าคู่หนึ่งในหีบอันมีกลิ่นหอม ทรงให้ถือผ้า ทูลแด่พระราชาว่า หม่อมฉันจักถือผ้าจีวรไปถวายแก่บุตรเรา พระราชาตรัสสั่งให้เตรียมทางเสด็จ ราชบริวารทั้งหลายปัดกวาดถนน ตั้งหม้อน้ำเต็ม ยกธงผ้าทั้งหลาย ตกแต่งทางตั้งแต่พระทวารพระราชวังจนถึงพระวิหารนิโครธาราม ให้เกลื่อนกล่นด้วยดอกไม้ ฝ่ายพระนางมหาปชาบดีทรงประดับเครื่องอลังการทุกอย่าง พร้อมด้วยคณะพระพี่เลี้ยงนางนมแวดล้อมแล้ว ทรงทูนหีบผ้า เสด็จไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าใหม่คู่นี้ เป็นของหม่อมฉัน หม่อมฉันกรอด้ายทอเอง ตั้งใจอุทิศพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ โปรดรับผ้าใหม่ทั้งคู่ของหม่อมฉันเถิด ฯ

    เมื่อพระนางกราบทูลแล้วอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรโคตมี พระนางจงถวายสงฆ์เถิด เมื่อถวายสงฆ์แล้ว จักเป็นอันพระนางได้บูชาทั้งอาตมภาพและสงฆ์

    พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้กราบทูลอ้อนวอนว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันสามารถนำผ้าจีวรทั้งหลายจากคลังผ้าถวายแก่ภิกษุร้อยรูปบ้าง พันรูปบ้าง แต่ผ้าใหม่คู่นี้หม่อมฉันกรอด้ายเอง ทอเอง ตั้งใจอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดรับผ้าใหม่คู่นั้นของหม่อมฉันเถิด

    พระนางกราบทูลอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสห้ามอย่างนั้นทั้งสามครั้ง

    ถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงให้ถวายผ้าใหม่คู่ที่พระนางจะถวายแด่พระองค์ แก่พระภิกษุสงฆ์เล่า

    ตอบว่า เพราะเพื่อทรงอนุเคราะห์พระมารดา ก็ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีพระดำริว่า เจตนา ๓ อย่างคือ บุพเจตนา มุญจนเจตนา อปราปรเจตนา ของพระนางมหาปชาบดีนี้ เกิดขึ้นปรารภเราแล้ว จงเกิดขึ้นปรารภพระภิกษุสงฆ์บ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ เจตนาทั้ง ๖ อย่างก็จะรวมเป็นอันเดียวกัน จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนานแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมีนั้น ดังนี้

    ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามถึง ๓ ครั้งแล้ว ทรงให้ถวายแก่สงฆ์ทรงมุ่งหมายอะไร

    ตรัสอย่างนั้น เพื่อชนรุ่นหลัง และเพื่อทรงให้เกิดความยำเกรงในสงฆ์ด้วย นัยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระดำริอย่างนี้ว่า ตัวเรานั้นดำรงอยู่ไม่นาน แต่ศาสนาของเราจักตั้งอยู่ในพระภิกษุสงฆ์ ชนรุ่นหลังจงทำความยำเกรงในสงฆ์ให้เกิดขึ้น ดังนี้ จึงทรงห้ามถึง ๓ ครั้งแล้ว ทรงให้ถวายสงฆ์.ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น พระศาสดาจึงทรงให้ถวายผ้าใหม่คู่หนึ่งที่พระนางจะถวายแด่พระองค์ให้แก่สงฆ์ ทักขิไณยบุคคลชื่อว่า สงฆ์ เพราะฉะนั้น ชนรุ่นหลังทำความยำเกรงให้เกิดขึ้นในสงฆ์ จักเห็นว่าปัจจัยสี่เป็นสิ่งพึงถวายสงฆ์ เมื่อไม่ลำบากด้วยปัจจัยสี่ สงฆ์ก็จักเรียนพระพุทธวจนะ ทำสมณธรรม เมื่อเป็นอย่างนั้น ศาสนาของเราจักตั้งอยู่ถึง ๕,๐๐๐ ปี ดังนี้
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระปชาบดีโคตมีเถรี เอตทัคคะในทางผู้รู้ราตรีนาน

    ๐ พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงบรรพชาเป็นพระภิกษุณี

    ต่อมา พระศาสดา ทรงอาศัยกรุงเวสาลีประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา สมัยนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราช ทรงทำให้แจ้งพระอรหัตแล้วปรินิพพาน ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร.

    ครั้งนั้น พระนางมหาปชาบดี เกิดว้าเหว่พระหฤทัยปรารถนาจะทรงผนวช ก็ประจวบเกิดเหตุที่ชาวพระนครทั้ง ๒ คือ เมืองกบิลพัสดุ์ กับเมืองโกลิยะ ทะเลาะกันในเรื่องการแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณีที่ไหลผ่านระหว่างนครทั้งสอง จนถึงขั้นจะรบกัน พระศาสดาจึงได้เสด็จไปเทศนาอัตตทัณทสูตรโปรดหมู่พระญาติในระหว่างเมืองทั้งสองให้เข้าใจกัน เจ้าทั้งหลายทรงเลื่อมใสแล้วจึงได้มอบถวายพระกุมารฝ่ายละ ๒๕๐ องค์ให้บวชตามเสด็จพระผู้มีพระภาค ครั้นเมื่อบวชแล้ว พระชายาของท่านเหล่านั้นก็ได้ส่งข่าวไปยังพระภิกษุหนุ่มเหล่านั้น ทำให้ท่านเหล่านั้นเกิดความไม่ยินดีในเพศสมณะ พระศาสดาทรงทราบว่า ภิกษุเหล่านั้นเกิดความเบื่อหน่ายในสมณวิสัย จึงทรงนำภิกษุหนุ่ม ๕๐๐ รูปเหล่านั้นไปสู่สระชื่อว่ากุณาละ ประทับนั่งบนแผ่นหินที่ทรงเคยประทับนั่งในครั้งที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นนกดุเหว่า. ทรงเทศนาด้วยเรื่องกุณาลชาดกเพื่อบรรเทาความไม่ยินดีของภิกษุเหล่านั้นลงจบเทศนาพระภิกษุหนุ่มทั้งหมดนั้นดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วทรงนำกลับมาสู่ป่ามหาวันอีกครั้งหนึ่ง ทรงกระทำพระภิกษุเหล่านั้นให้ดำรงอยู่ในพระอรหัตตผล

    ฝ่ายพระชายาของพระภิกษุเหล่านั้น เมื่อได้ส่งข่าวไปเพื่อจะดูใจพระภิกษุเหล่านั้นว่ายังปรารถนาในเพศคฤหัสถ์อยู่หรือไม่ ก็ได้รับคำตอบไปว่า พวกเราไม่ปรารถนาที่จะครองเรือน. พระนางเหล่านั้นทรงดำริว่า เมื่อเป็นอย่างนั้นก็ไม่มีประโยชน์อันใดที่พวกเราจะกลับไปยังเรือน เราจะไปเข้าเฝ้าพระนางมหาปชาบดีเพื่อขออนุญาตบรรพชา แล้วจักออกบวช. พระชายาทั้ง ๕๐๐ นางจึงเข้าไปเฝ้าพระนางมหาปชาบดีทูลว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า ขอพระแม่เจ้าโปรดอนุญาตให้หม่อมฉันทั้งหลายบวชเถิด

    พระนางมหาปชาบดีเองก็ทรงปรารถนาที่จะออกบวชอยู่แล้ว จึงได้พาสตรีเหล่านั้นไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า


    ๐ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้สตรีบวช

    โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์ ในสักกะชนบท ครั้งนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ขอประทานวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอสตรีพึงได้ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว

    พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า อย่าเลย โคตมี เธออย่าชอบใจ การที่สตรี ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วเลย

    แม้ครั้งที่สอง และครั้งที่สาม ที่พระนางทูลอ้อนวอนต่อพระผู้มีพระภาคเพื่อทรงอนุญาตให้สตรีบวชได้ แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงห้ามเสียทั้งสามครั้ง

    ครั้งนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงน้อยพระทัยว่า พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงอนุญาตให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว มีทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ทรงกันแสง พลางถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ เสด็จกลับไป ฯ

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในกรุงกบิลพัสดุ์ ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จหลีกจาริกทางพระนครเวสาลี เสด็จจาริกโดยลำดับ ถึงพระนครเวสาลี ข่าวว่า พระองค์ประทับอยู่ที่กูฏาคารสาลาป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลีนั้น
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระปชาบดีโคตมีเถรี เอตทัคคะในทางผู้รู้ราตรีนาน

    ๐ พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงถือเพศบรรพชาด้วยพระองค์เอง

    ครั้งนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมีให้ปลงพระเกสา ทรงพระภูษาย้อมฝาด พร้อมด้วยนางสากิยานีมากด้วยกัน เสด็จตามพระพุทธองค์ไปทางพระนครเวสาลี เสด็จถึงเมืองเวสาลี กูฏาคารสาลาป่ามหาวัน โดยลำดับ เวลานั้นพระนางมีพระบาททั้งสองพอง มีพระวรกายเกลือกกลั้วด้วยธุลี มีทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ได้ประทับยืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มพระทวารภายนอก

    ได้ยินว่าพระนางมหาปชาบดีได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เรานี้ ทั้งๆ ที่พระตถาคตไม่ทรงอนุญาตแล้ว ก็ถือเพศบรรพชาด้วยตนเองทีเดียว แล้วก็ความที่เราถือเพศบรรพชาอย่างนี้ เกิดปรากฏเป็นที่ทราบไปทั่วชมพูทวีปแล้ว ถ้าพระศาสดาทรงอนุญาตบรรพชาไซร้ ข้อนั้นเป็นการดี แต่ถ้าพระองค์จักไม่ทรงอนุญาตไซร้ จักมีความครหาอย่างใหญ่หลวง พระนางทรงปริวิตกอย่างนี้จึงไม่อาจจะเข้าไปยังวิหาร ได้ยืนทรงกรรแสงอยู่.

    ท่านพระอานนท์ได้เห็นพระนางมหาปชาบดีโคตมี มีพระบาททั้งสองพอง มีพระวรกายเกลือกกลั้วด้วยธุลี มีทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ประทับยืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มพระทวารภายนอก จึงได้ถามถึงสาเหตุกับพระนาง

    พระนางตอบว่า พระอานนท์เจ้าข้า เพราะพระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต ให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

    พระอานนท์กล่าวว่า ดูกรโคตมี ถ้าเช่นนั้น พระนางจงรออยู่ที่นี่แหละ สักครู่หนึ่ง จนกว่าอาตมาจะทูลขอพระผู้มีพระภาคให้ทรงอนุญาตให้สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้


    ๐ พระอานนทเถระทูลขออนุญาต
    ให้สตรีบวชได้ต่อพระศาสดาถึง ๓ ครั้ง


    ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระนางมหาปชาบดีโคตมีนั้น มีพระบาททั้ง ๒ พอง มีพระวรกายเกลือกกลั้วด้วยธุลี มีทุกข์ เสียพระทัย มีพระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตร ประทับยืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มพระทวารภายนอก ด้วยน้อยพระทัยว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้สตรีออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว ขอประทานวโรกาส ขอสตรีสามารถออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้เถิด พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า อย่าเลย อานนท์ เธออย่าชอบใจ การที่สตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วเลย

    แม้ครั้งที่สอง และครั้งที่สาม ที่ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลอ้อนวอนต่อพระผู้มีพระภาค แต่พระองค์ก็ยังทรงห้ามเสียทั้งสามครั้ง


    ๐ พระอานนท์ทูลขออนุญาต
    โดยอ้างเหตุผลแห่งความสามารถของสตรี


    ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้มีความคิดดังนี้ว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตให้มาตุคามออกบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว มิฉะนั้น เราพึงทูลขอพระผู้มีพระภาคให้มาตุคามออกบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้วโดยปริยายอื่น

    ท่านพระอานนท์จึงได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญมาตุคามออกบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศแล้ว สามารถจะทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรืออรหัตผลได้หรือไม่ พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ มาตุคามออกบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว สามารถทำให้แจ้งแม้โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผลได้ ฯ

    พระอานนทเถระทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ถ้าสตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว สามารถเพื่อทำให้แจ้งแม้ซึ่งโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผลได้ พระพุทธเจ้าข้า พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉาของพระผู้มีพระภาค ทรงมีอุปการะมาก ทรงประคับประคอง เลี้ยงดู ทรงถวายขีรธารา เมื่อพระชนนีสวรรคต ได้ให้พระผู้มีพระภาคเสวยขีรธารา ขอประทานวโรกาส ขอสตรีพึงได้การออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระปชาบดีโคตมีเถรี เอตทัคคะในทางผู้รู้ราตรีนาน

    ๐ ทรงกำหนดครุธรรม ๘ ประการเป็นเงื่อนไข

    พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอานนท์ ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงรับครุธรรม ๘ ประการ นั่นแหละเป็นอุปสมบทของพระนาง คือ :

    ๑. ภิกษุณีอุปสมบทแล้ว ๑๐๐ ปี ต้องกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่ภิกษุที่อุปสมบทในวันนั้น ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

    ๒. ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

    ๓. ภิกษุณีต้องหวังธรรม ๒ ประการ คือ ถามวันอุโบสถ ๑ เข้าไปฟังคำสั่งสอน ๑ จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

    ๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย โดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน หรือโดยรังเกียจ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

    ๕. ภิกษุณีต้องธรรมที่หนักแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

    ๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อสิกขมานาผู้มีสิกขา อันศึกษาแล้วในธรรม ๖ ประการครบ ๒ ปีแล้ว ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

    ๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษภิกษุ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง ธรรม แม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

    ๘. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุ เปิดทาง ให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณี ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต

    ดูกรอานนท์ ก็ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมี ยอมรับครุธรรม ๘ ประการนี้ ข้อนั้นแหละจงเป็นอุปสัมปทาของพระนาง ฯ


    ๐ พระอานนทเถระทูลเรื่องครุธรรม ๘ ประการ
    ต่อพระนางมหาปชาบดีโคตมี


    ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์รับทราบครุธรรม ๘ ประการที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ แล้วเข้าไปหาพระนางมหาปชาบดีโคตมี ชี้แจงว่า ถ้าพระนางยอมรับครุธรรม ๘ ประการ ข้อนั้นแหละจักเป็นอุปสัมปทาของพระนาง

    พระนางมหาปชาบดีโคตมีกล่าวว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ ดิฉันยอมรับ ครุธรรม ๘ ประการนี้ ไม่ละเมิดตลอดชีวิต เปรียบเหมือนหญิงสาว หรือชายหนุ่ม ที่ชอบการแต่งกาย เมื่ออาบน้ำสระเกล้าแล้ว ได้พวงอุบล พวงมะลิ หรือพวงลำดวนมาแล้ว ก็พึงประคองรับด้วยมือทั้งสอง ตั้งไว้เหนือเศียรเกล้าฉะนั้น ฯ
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระปชาบดีโคตมีเถรี เอตทัคคะในทางผู้รู้ราตรีนาน

    ๐ เหตุให้พรหมจรรย์ไม่ตั้งอยู่นาน

    ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระนางมหาปชาบดีโคตมี ยอมรับครุธรรม ๘ ประการแล้ว พระมาตุจฉาของพระผู้มีพระภาคอุปสมบทแล้ว

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ก็ถ้าสตรีจักไม่ได้ออกจากเรือนบวช เป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว พรหมจรรย์จักตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจะพึงตั้งอยู่ได้ตลอดพันปี ก็เพราะสตรีออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว บัดนี้ พรหมจรรย์จักไม่ตั้งอยู่ได้นาน สัทธรรมจักตั้งอยู่ได้เพียง ๕๐๐ ปีเท่านั้น

    ดูกรอานนท์ สตรีได้ออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิตในธรรมวินัยใด ธรรมวินัยนั้นเป็นพรหมจรรย์ไม่ตั้งอยู่ได้นาน เปรียบเหมือนตระกูลเหล่าใดเหล่าหนึ่งที่มีหญิงมาก มีชายน้อย ตระกูลเหล่านั้นถูกพวก โจรผู้ลักทรัพย์กำจัดได้ง่าย

    อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนหนอนขยอกที่ลงใน นาข้าวสาลีที่สมบูรณ์ นาข้าวสาลีนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน

    อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือน เพลี้ยที่ลงในไร่อ้อยที่สมบูรณ์ ไร่อ้อยนั้นไม่ตั้งอยู่ได้นาน

    ดูกรอานนท์ บุรุษกั้น ทำนบแห่งสระใหญ่ไว้ก่อน เพื่อไม่ให้น้ำไหลไป แม้ฉันใด เราบัญญัติครุธรรม ๘ ประการแก่ภิกษุณี เพื่อไม่ให้ภิกษุณีละเมิดตลอดชีวิต ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ


    ๐ พุทธานุญาตให้อุปสมบทภิกษุณี

    ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวาย บังคม ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ทีนั้นพระนางมหาปชาบดีโคตมี จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคทำประทักษิณกลับไป

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงนำเหตุที่เกิดนั้น มาบัญญัติเป็นพระพุทธานุญาต โดยทรงมีรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายอุปสมบทภิกษุณี ฯ


    ๐ เหล่าพระภิกษุณีเข้าใจการอุปสมบท
    ของพระมหาปชาบดีโคตมีคลาดเคลื่อน


    เมื่อได้ทรงมีพระพุทธบัญญัติอย่างนั้นแล้ว เหล่าสตรีอื่นก็ได้อุปสมบทโดยพระภิกษุเป็นพระภิกษุณี ตามที่มีพระพุทธานุญาต ต่อมาภิกษุณีเหล่านั้นได้กล่าวกะพระมหาปชาบดีโคตมีว่า พระแม่เจ้ายังไม่ได้อุปสมบท แต่พวกดิฉันอุปสมบทแล้ว เพราะพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้อย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลายพึงให้อุปสมบทภิกษุณี

    ครั้นกล่าวอย่างนั้นแล้ว ภิกษุณีทั้งหลายประพฤติรังเกียจอยู่ย่อมไม่ทำอุโบสถ ไม่ทำปวารณาร่วมกับพระนางเลย

    ลำดับนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีเข้าไปหาท่านพระอานนท์ อภิวาทแล้วได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้ว กล่าวว่า ท่านพระอานนท์ ภิกษุณีเหล่านั้นพูดกะดิฉันอย่างนี้ว่า พระแม่เจ้ายังไม่ได้อุปสมบท แต่พวกดิฉันอุปสมบทแล้ว เพราะพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้อย่าง นี้ว่า ภิกษุทั้งหลายพึงให้อุปสมบทภิกษุณี ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    พระศาสดาทรงสดับคำของท่านพระอานนท์แล้ว จึงตรัสว่า "ครุธรรม ๘ ประการ เราให้แล้วแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี เราเองเป็นอาจารย์ เราเองเป็นอุปัชฌายะของพระนาง

    ดูกรอานนท์ พระมหาปชาบดีโคตมี รับครุธรรม ๘ ประการ แล้วในกาลใด พระนางชื่อว่าอุปสมบทแล้วในกาลนั้นทีเดียว

    ชื่อว่าความรังเกียจในพระขีณาสพทั้งหลาย ผู้เว้นแล้วจากทุจริตทั้งหลายมีกายทุจริตเป็นต้น อันเธอทั้งหลายไม่ควรทำ"


    ๐ พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตพรที่พระเถรีทูลขอ

    ครั้งนั้น พระมหาปชาบดีโคตมี เข้าไปหาท่านพระอานนท์ อภิวาท ได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกล่าวว่า ท่านพระอานนท์ ดิฉันจะทูลขอ พรอย่างหนึ่งกะพระผู้มีพระภาคว่า ขอประทานพระวโรกาส พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุและภิกษุณี ตามลำดับผู้แก่

    ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วกราบทูลเรื่องดังกล่าวแด่พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ข้อที่ตถาคตจะอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ การทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่มาตุคามนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส เพราะพวกอัญญเดียรถีย์ที่มีธรรมอันกล่าวไม่ดีแล้วเหล่านี้ ยังไม่กระทำการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่มาตุคาม ก็ไฉนเล่า ตถาคตจักอนุญาตการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่มาตุคาม

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทำการกราบไหว้ การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่มาตุคาม รูปใดทำ ต้องอาบัติทุกกฎ ฯ



    .............................................................

    คัดลอกมาจาก ::
    Home Main Page
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระเขมาเถรี เอตทัคคะในทางผู้มีปัญญา

    [​IMG]


    พระเขมาภิกษุณีบังเกิดในราชสกุลตระกูลกษัตริย์ พระบิดาพระนามว่า พระเจ้ามัททราช กรุงสาคละ แคว้นมัททะ มีพระนามว่า พระนางเขมา ทรงมีพรรณะดั่งทอง มีพระฉวีเสมือนทอง

    พระนางเจริญวัยเป็นราชกุมารีแล้ว ก็ไปเป็นพระเทวีของพระเจ้าพิมพิสาร ครั้งเมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันก็ยังเป็นผู้มัวเมาในพระรูปพระโฉม ทรงเกรงว่าพระศาสดาจะทรงแสดงโทษในรูป จึงไม่เสด็จไปเฝ้าพระศาสดา

    พระราชาโปรดสั่งให้ผู้คนทั้งหลายเที่ยวประกาศพรรณนาพระเวฬุวัน ทำให้พระเทวีทรงเกิดความคิดที่จะไปชมพระวิหาร เมื่อพระเทวีทรงดำริว่า จำเราจักชมพระวิหาร ก็ทรงสอบถามพระราชา

    พระราชาตรัสว่า เธอไปพระวิหารไม่พบพระศาสดาก็อย่าได้กลับมา แล้วทรงให้สัญญาแก่พวกราชบุรุษว่า พวกท่านจงให้พระเทวีเฝ้าพระทศพลโดยพลการให้จงได้ พระเทวีเสด็จไปวิหาร เวลาล่วงไปครึ่งวัน ไม่ทรงพบพระศาสดาเริ่มเสด็จกลับ

    ลำดับนั้น ราชบุรุษทั้งหลาย นำพระเทวีแม้ไม่ทรงปรารถนา เข้าไปเฝ้าพระศาสดาจนได้ พระศาสดาทรงเห็นพระเทวีนั้นกำลังเสด็จมา ทรงเนรมิตหญิงคล้ายนางเทพอัปสรด้วยฤทธิ์ ทำให้ถือพัดใบตาลถวายงานพัดอยู่ พระนางเขมาเทวีทรงเห็นหญิงนั้น ทรงดำริว่า

    หญิงนี้มีส่วนเปรียบด้วยนางเทพอัปสร ยืนอยู่ไม่ห่างพระผู้มีพระภาคเจ้า เราไม่พอที่แม้แต่จะเป็นหญิงรับใช้ของหญิงเหล่านั้นได้เลย เราต้องเสียหายด้วยอำนาจจิตชั่ว เพราะเหตุเล็กๆ น้อยๆ ทรงถือเอานิมิตประทับยืนมองดูหญิงนั้นคนเดียว เมื่อพระนางกำลังทอดพระเนตรดูอยู่ หญิงนั่นก็ล่วงปฐมวัย มัชฌิมวัย ถึงปัจฉิมวัยแล้ว ฟันหัก ผมหงอก หนังเหี่ยว ล้มกลิ้งลงพร้อมกับพัดใบตาล ด้วยพระกำลังอธิษฐานของพระศาสดา

    จากนั้น เพราะเหตุที่ทรงบำเพ็ญบารมีไว้ พระนางเขมาทอดพระเนตรเห็นเหตุนั้นแล้วทรงพระดำริว่า สรีระแม้อย่างนี้ ยังถึงความวิบัติเช่นนี้ สรีระของเราก็จักมีคติอย่างนี้เหมือนกัน ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทราบวาระจิตของพระนางแล้ว ก็ตรัสพระคาถาว่า

    ชนเหล่าใด กำหนัดอยู่ด้วยราคะ ย่อมตกไปสู่
    กระแสตัณหา เหมือนแมลงมุมตกไปยังใยที่ตัวเองทำ
    ไว้ฉะนั้น ชนเหล่านั้นตัดกระแสตัณหานั้นเสียได้แล้ว
    เป็นผู้หมดอาลัยละกามสุขได้ ย่อมงดเว้นกิจคฤหัสถ์ [บวช] อยู่

    ในอรรถกถาว่า จบคาถาพระนางเขมานั้น บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา

    ส่วนในอปทานว่า ฟังคาถานี้แล้ว ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ทรงขอให้พระเจ้าพิมพิสารทรงอนุญาตแล้ว ทรงผนวชได้ ๗ เดือนแล้วบรรลุพระอรหัต เป็นผู้ชำนาญในฤทธิ์ในทิพโสตธาตุและเจโตปริยญาณ รู้ชัดปุพเพนิวาสญาณชำระทิพจักษุให้บริสุทธิ์ มีอาสวะทั้งปวงหมดสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีก ญาณอันบริสุทธิ์ของดิฉัน ในอรรถะธรรมะ นิรุติและปฏิภาณ เกิดขึ้นแล้วในพระพุทธศาสนา ดิฉันเป็นผู้ฉลาดในวิสุทธิทั้งหลาย คล่องแคล่วในกถาวัตถุ รู้จักนัยแห่งอภิธรรม ถึงความชำนาญในศาสนา

    ภายหลัง พระราชสวามีผู้ฉลาดตรัสถามปัญหาละเอียดในโตรณวัตถุ ดิฉันได้วิสัชนาโดยควรแก่กถา

    ครั้งนั้น พระราชาเสด็จเข้าเฝ้าพระสุคตเจ้าแล้ว ทูลสอบถามปัญหาเหล่านั้น (ในเขมาเถรีสูตร ในสังยุตตนิกาย) พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์เป็นอย่างเดียวกันกับที่ดิฉันวิสัชนาแล้ว พระพิชิตมารผู้อุดมกว่านรชน อยู่ด้วยผลสุข นิพพานสุข ก็ปรากฏว่าเป็นผู้มีปัญญามาก เพราะเมื่อพระขีณาสวเถรีรูปอื่นๆ เกิดปัญญาไพบูลย์ แต่ท่านก็บำเพ็ญบารมีมาแล้วในข้อนั้นจริงอย่างนั้น ทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น

    พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งท่ามกลางหมู่พระอริยะ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กำลังทรงสถาปนาภิกษุณีทั้งหลายไว้ในตำแหน่งตามลำดับ ก็ทรงสถาปนาพระเถรีนั้นไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเพราะเป็นผู้มีปัญญามากกว่า และเป็นอัครสาวกเบื้องขวา ดังความในพระสูตรว่า

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เขมาเป็นเลิศของภิกษุณีสาวิกาของเราผู้มีปัญญามาก

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม่ออกบวชก็ขอจงเป็นเช่นพระเขมาภิกษุณี และอุบลวรรณาภิกษุณีเถิด

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุณีผู้เป็นสาวิกาของเรา เขมาภิกษุณีและอุบลวรรณาภิกษุณี เป็นดุลเป็นประมาณเช่นนี้

    วันหนึ่ง พระเถรีนั้นนั่งพักกลางวันอยู่โคนไม้ต้นหนึ่ง มารผู้มีบาปแปลงกายเป็นชายหนุ่มเข้าไปหา เมื่อประเล้าประโลมด้วยกามทั้งหลาย ก็กล่าวคาถาว่า

    แม่นางเขมาเอย เจ้าก็สาวสคราญ เราก็หนุ่มแน่น
    มาสิ เรามาร่วมอภิรมย์กัน ด้วยดนตรีเครื่อง ๕ นะแม่นาง

    นางเขมาเถรีนั้น ฟังคำนั้นแล้ว เมื่อประกาศความที่ตนหมด ความกำหนัด ในกามทั้งปวง ๑ ความที่ผู้นั้นเป็นมาร ๑ ความไม่เลื่อมใสที่มีกำลังของตนในเหล่าสัตว์ผู้ยึดมั่นในอัตตา ๑ และความที่ตนทำกิจเสร็จแล้ว ๑ จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า

    เราอึดอัดเอือมระอาด้ายกายอ้นเปื่อยเน่า กระสับกระส่าย มีอันจะแตกพังไปนี้อยู่ เราถอนกามตัณหาได้แล้ว กามทั้งหลาย มีอุปมาด้วยหอกและหลาว มีขันธ์ทั้งหลายเป็นเขียงรองสับ บัดนี้ ความยินดีในกามที่ท่านพูดถึงไม่มีแก่เราแล้ว เรากำจัดความเพลิดเพลินในกามทั้งปวงแล้ว ทำลายกองแห่ง ความมืด [อวิชชา] เสียแล้ว

    ดูก่อนมารใจบาป ท่านจงรู้อย่างนี้ ตัวท่านถูกเรากำจัดแล้ว พวกคนเขลา ไม่รู้ตามความเป็นจริง พากันนอบน้อมดวงดาวทั้งหลาย บำเรอไฟอยู่ในป่าคือลัทธิ สำคัญว่าเป็นความบริสุทธิ์ ส่วนเราแลนอบน้อมเฉพาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นอุดมบุรุษจึงพ้นแล้วจากทุกข์ทั้งปวง ชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของพระศาสดา
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระเขมาเถรี เอตทัคคะในทางผู้มีปัญญา

    ๐ พระเขมาเถรีปรินิพพาน

    มีเรื่องที่น่าแปลกว่า ทำไมในประวัติของพระเขมาเถรีเอง ไม่มีการกล่าวถึงการนิพพานของท่านเลย และก็ไม่มีปรากฏในอรรถกถาส่วนอื่นๆ ด้วย มีแต่ความตอนหนึ่งมาจากขุททกนิกาย อปทาน อยู่ในประวัติของพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี (ขุ.อป ๓๓/๑๕๗)

    สมัยสุดท้าย พระเขมาเถรี เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน กรุงเวสาลี พระองค์เองก็ประทับอยู่ ณ สำนักภิกษุณีกรุงเวสาลี

    เมื่อพระเขมาเถรี ผู้เป็นบริวารของพระนางก็ได้มีความปริวิตกว่า พระมหาปชาบดีจะปรินิพพาน จึงได้เข้าไปหาพระมหาเถรี แล้วทูลว่า

    ข้าแต่พระแม่เจ้า ถ้าพระแม่เจ้าชอบใจ การนิพพานอันเกษมอย่างยิ่งไซร้ ถึงข้าพเจ้าทั้งหลายก็จักนิพพานกันหมด ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงพระอนุญาต พวกข้าพเจ้าได้ออกจากเรือนจากภพพร้อมด้วยพระแม่เจ้า ก็จักไปสู่นิพพานบุรี อันยอดเยี่ยมพร้อม ๆ กันกับพระแม่เจ้า ข้าพเจ้าทั้งหลายก็จักไปพร้อมกับพระแม่เจ้าเหมือนกัน พระมหาปชาบดีโคตมีได้ตรัสว่า

    เมื่อท่านทั้งหลายจะไปนิพพาน เราจักว่าอะไรเล่า

    หลังจากนั้นพระเขมาเถรีและภิกษุณีรวมได้ ๕๐๐ รูปได้ตามพระมหาปชาบดีโคตมีไปพระวิหาร ขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาต แล้วอำลาพระเถระทั้งหลาย และเพื่อนสพรหมจารีทุกรูป ซึ่งเป็นที่เจริญใจของตน พึงมาปรินิพพานเสียใน ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน กรุงเวสาลี


    ๐ บุพกรรมของพระเขมาเถรี

    ดังได้สดับมา ในอดีตกาลครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ นางเขมานี้ก็บังเกิดนับเนื่องกับคนอื่น ในกรุงหังสวดี

    ต่อมา วันหนึ่งนางพบพระสุชาตเถรี อัครสาวิกาของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น กำลังเที่ยวบิณฑบาต จึงถวายขนมต้ม ๓ ก้อน ในวันนั้นนั่นแล ก็จัดในเรือนของตนแล้วถวายทาน แต่พระเถรีทำความปรารถนาว่า ดิฉันพึงมีปัญญามากเหมือนท่าน ในพุทธุปบาทกาลในอนาคต เป็นผู้ไม่ประมาทในกุศลกรรมทั้งหลายจนตลอดชีวิต ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์แสนกัป

    ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ก็ถือปฏิสนธิในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้ากิงกิ เป็นพระราชธิดาองค์หนึ่ง ระหว่างพระพี่น้องนาง ๗ พระองค์ คือ นางสมณี นางสมณคุตตา นางภิกขุนี (ภิกขุณี) นางภิกขุทาสิกา นางธัมมา (ธรรมา) นางสุธัมมา (สุธรรมา) และนางสังฆทาสี ครบ ๗
    พระราชธิดาเหล่านั้น ในบัดนี้ [ครั้งพุทธกาลชาติปัจจุบัน] คือพระเขมาเถรี พระอุบลวรรณาเถรี พระปฏาจาราเถรี พระนางกุณฑลเกสีเถรี (พระภัททากุณฑลเกสาเถรี) พระกิสาโคตมีเถรี พระธรรมทินนาเถรี และนางวิสาขา ครบ ๗

    ทรงประพฤติกุมารีพรหมจรรย์ ในพระราชนิเวศน์ถึง ๒๐,๐๐๐ ปี ร่วมกับพระพี่น้องนางเหล่านั้น สร้างบริเวณที่ประทับอยู่ของพระทศพล เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์พุทธันดรหนึ่ง ในพุทธุปบาทกาลนี้ ก็ถือปฏิสนธิในราชสกุล กรุงสาคละ แคว้นมัททะ พระประยูรญาติเฉลิมพระนามของพระนางว่า เขมา ดังความข้างต้น


    (อ้างอิง :: องฺ.อ ๑/๒/๘-๑๑; เถรี.อ ๒/๔/๒๑๖-๒๓๐; อป.อ ๙/๑๕๘; ธ.อ ๑/๒/๔/๔๗๒; สํ.สฬ ๑๘/๗๕๑-๗๕)



    .............................................................

    คัดลอกมาจาก ::
    Home Main Page
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระอุบลวรรณาเถรี เอตทัคคะในทางผู้มีฤทธิ์

    [​IMG]


    พระนางอุบลวรรณาเถรีก็ถือปฏิสนธิในสกุลเศรษฐี ณ กรุงสาวัตถี บิดามารดาก็ตั้งชื่อของนางว่า อุบลวรรณา เพราะมีผิวพรรณเสมอ ด้วยวรรณะของดอกอุบลขาบ

    สมัยนั้น เวลาที่นางเติบโตเป็นสาวแล้ว พระราชาทั้งหลายทั่วชมพูทวีป พากันส่งทูตไปยังสำนักเศรษฐีว่า ขอจงให้ธิดาแก่เราเถิด พระราชาผู้ชื่อว่าไม่ส่งทูตไปไม่มีเลย

    ดังนั้นเศรษฐีจึงคิดว่า เราไม่อาจจะยึดเหนี่ยวน้ำพระทัยของพระราชาได้ทั้งหมด แต่จำเราจักทำอุบายอย่างหนึ่งดังนี้แล้ว จึงเรียกธิดามาถามว่า ลูกเอ๋ย บวชเสียได้ไหมลูก คำของบิดาได้เป็นประหนึ่งน้ำมันที่เคี่ยวแล้วร้อยครั้ง รดลงที่ศีรษะ เพราะนางมีภพสุดท้ายแล้ว เพราะฉะนั้นนางจึงตอบบิดาว่า

    ลูกจักบวชจ้ะ พ่อจ๋า !


    ๐ พระอุบลวรรณาเถรีบรรลุพระอรหันต์

    เศรษฐีนั้นก็ทำสักการะแก่นาง นำไปสำนักภิกษุณีแล้วให้บวช เมื่อนางบวชได้ไม่ถึงครึ่งเดือน วาระตามกาล [เวร] ในโรงอุโบสถก็มาถึง นางจุดประทีปแล้วกวาดโรงอุโบสถยืนถือนิมิตแห่งเปลวประทีป ตรวจดูบ่อยๆ ก็ทำฌานที่มีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ให้บังเกิด กระทำฌานนั้นนั่นแลให้เป็นบาท ก็บรรลุพระอรหัต แม้อภิญญาและปฏิสัมภิทา ก็สำเร็จพร้อมกับพระอรหัตผลนั่นแล

    ก็พระเถรีรูปนี้ คราวใดพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปยังโคนต้นมะม่วงของนายคัณฑะ เพื่อทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ ใกล้ประตูกรุงสาวัตถี คราวนั้นก็เข้าเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วก็กราบทูลอย่างนี้ว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักกระทำปาฏิหาริย์ ผิว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตแล้วบันลือสีหนาท

    พระศาสดาทรงทำเหตุนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติ เหตุเกิดเรื่อง ประทับนั่งท่ามกลางบริษัทพระอริยะ ณ พระเชตวันวิหาร ทรงสถาปนาพระภิกษุณีทั้งหลายไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระเถรีรูปนี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศของเหล่าภิกษุณีผู้มีฤทธิ์ และเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย ดังความในพระสูตรว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม่ออกบวชก็ขอจงเป็นเช่นพระเขมาภิกษุณี และอุบลวรรณาภิกษุณีเถิด

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุณีผู้เป็นสาวิกาของเรา เขมาภิกษุณีและอุบลวรรณาภิกษุณี เป็นดุลเป็นประมาณเช่นนี้

    พระอุบลวรรณาเถรีนั้น ยับยั้งอยู่ด้วยสุขในฌาน สุขในผล และสุขในพระนิพพาน วันหนึ่ง พิจารณาถึงโทษ ความทราม และความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย เมื่อกล่าวย้ำคาถาที่เห็นโทษของกามพระเถรีเกิดความสลดใจ เฉพาะการอยู่ร่วมสามี ระหว่างมารดากับธิดา จึงได้กล่าวคาถา ๓ คาถานี้ว่า

    เราทั้งสองคือมารดาและธิดาเป็นหญิงร่วมสามี
    กัน เรานั้นมีความสลดใจ ขนลุก ที่ไม่เคยมี.
    น่าตำหนิจริงๆ กามทั้งหลาย ไม่สะอาด กลิ่น
    เหม็น มีหนามมาก ที่เราทั้งสองคือมารดากับธิดา
    เป็นภริยาร่วม (สามี) กัน
    เรานั้น เห็นโทษในกามทั้งหลาย เห็นเนกขัมมะ
    การบวชเป็นทางเกษมปลอดโปร่ง จึงออกจากเรือน
    บวชไม่มีเรือน

    เล่ากันว่า ในอดีตชาติได้เกิดเป็นภริยาของพ่อค้าคนหนึ่ง ในกรุงสาวัตถี ตั้งครรภ์ขึ้นมาในเวลาใกล้รุ่ง นางก็ไม่รู้เรื่องการตั้งครรภ์นั้น พอสว่าง พ่อค้าก็บรรทุกสินค้าลงในเกวียนเดินทางมุ่งไปกรุงราชคฤห์ เมื่อเวลาล่วงไป ครรภ์ของนางก็เติบโต จนแก่เต็มที่

    ครั้งนั้น แม่ผัวพูดกะนางว่า ลูกชายเราก็จากไปเสียนานและเจ้าก็มีครรภ์ เจ้าไปทำชั่วมาหรือ

    นางก็กล่าวว่า นอกจากลูกชายของแม่ ข้าพเจ้าก็ไม่รู้จักชายอื่น

    แม่ผัวฟังนางแล้วไม่เชื่อ จึงขับไล่นางออกไปจากเรือน นางก็ไปตามหาสามี ไปถึงกรุงราชคฤห์ตามลำดับ ขณะนั้น ลมกัมมัชวาตก็ปั่นป่วน นางก็เข้าไปยังศาลาหลังหนึ่งใกล้ๆ ทางแล้วก็คลอดลูก นางคลอดลูกชายคล้ายรูปทองให้นอนบนศาลาอนาถา แล้วออกไปหาน้ำข้างนอกศาลา

    ขณะนั้นนายกองเกวียนคนหนึ่ง เป็นคนไม่มีลูกเดินมาทางนั้น คิดว่าทารกของหญิงไม่มีสามี จักเป็นลูกของเรา จึงเอาทารกนั้นมอบไว้ในมือนางนม

    ต่อมา มารดาของทารกนั้น ทำกิจเรื่องน้ำแล้ว กลับมาไม่เห็นลูกก็เศร้าโศกคร่ำครวญ ไม่เข้าไปกรุงราชคฤห์แต่เดินทางต่อไป หัวหน้าโจรคนหนึ่ง พบนางในระหว่างทางเกิดจิตปฏิพัทธ์ จึงเอานางทำเป็นภริยาของตน นางอยู่ในเรือนโจรนั้น ก็คลอดลูกหญิงออกมาคนหนึ่ง วันหนึ่ง นางยืนอุ้มลูกหญิงอยู่ทะเลาะกับสามีก็โยนลูกลงบนเตียง ศีรษะของเด็กหญิงแตกหน่อยหนึ่ง

    ต่อนั้น นางกลัวสามีก็กลับไปกรุงราชคฤห์ท่องเที่ยวไปตามอำเภอใจ ลูกชายของนางโตเป็นหนุ่มไม่รู้ว่าเป็นมารดา ก็เอามารดาเป็นภริยาของตน

    ต่อมา เขาไม่รู้ว่าลูกสาวหัวหน้าโจรนั้นเป็นน้องสาวก็แต่งงานนำมาเรือน เขานำมารดาและน้องสาวมาเป็นภริยาของตนอยู่กันมาอย่างนี้ ด้วยเหตุนั้น คนแม้ทั้งสองนั้นจึงอยู่กันอย่างพร้อมเพรียง.

    ต่อมาวันหนึ่ง มารดาแก้มวยผมของลูกสาวหาเหาเห็นแผลเป็นที่ศีรษะ คิดว่าหญิงคนนี้คงเป็นลูกสาวเราแน่แล้วก็ถาม เกิดความสลดใจจึงไปสำนักภิกษุณีแล้วบวช ก็พระเถรีนี้ กล่าวย้ำคาถาที่หญิงนั้นกล่าวไว้แล้วเหล่านั้น โดยเห็นโทษในกามทั้งหลาย
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระอุบลวรรณาเถรี เอตทัคคะในทางผู้มีฤทธิ์

    ๐ นันทมาณพข่มขืนพระเถรี

    โดยสมัยอื่น พระเถรีนั้นเที่ยวจาริกไปในชนบท กลับมาแล้วเข้าไปสูป่าอันธวัน ในกาลนั้น พระศาสดายังไม่ทรงห้ามการอยู่ป่าของพวกนางภิกษุณี

    ครั้งเมื่อพวกมนุษย์ทำกระท่อม ตั้งเตียงกั้นม่านไว้ในป่านั้น แก่พระเถรีนั้น พระเถรีนั้น เขาบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีออกมาแล้ว

    ฝ่ายนันทมาณพ ผู้เป็นบุตรแห่งลุงของพระเถรีนั้น มีจิตปฏิพัทธ์ ตั้งแต่กาลแห่งพระเถรียังเป็นคฤหัสถ์ สดับความที่พระเถรีมา จึงไปสู่ป่าอันธวันก่อนแต่พระเถรีมาทีเดียว เข้าไปสู่กระท่อม ซ่อนอยู่ภายใต้เตียง พอเมื่อพระเถรีมาแล้ว เข้าไปสู่กระท่อม ปิดประตู นั่งลงบนเตียง เมื่อความมืดในคลองจักษุยังไม่ทันหาย เพราะมาจาก (กลาง) แดดในภายนอก นันทมาณพจึงออกมาจากภายใต้เตียง ขึ้นเตียงแล้ว แม้ว่าถูกพระเถรีห้ามอยู่ว่า “คนพาล เธออย่าฉิบหายเลย คนพาล เธออย่าฉิบหายเลย” แต่นันทมาณพก็ยังข่มขืน กระทำกรรมอันตนปรารถนาแล้วก็หนีไป

    ครั้งนั้น แผ่นดินใหญ่ประดุจว่า ไม่อาจจะทรงโทษของเขาไว้ได้ แยกออกเป็น ๒ ส่วนแล้ว เขาเข้าไปสู่แผ่นดิน ไปเกิดในอเวจีมหานรกแล้ว

    ฝ่ายพระเถรี บอกเนื้อความแก่ภิกษุณีทั้งหลายแล้ว
    พวกภิกษุณีแจ้งเนื้อความนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย
    พวกภิกษุ กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า


    ๐ คนพาลประสพทุกข์เพราะบาปกรรม

    พระศาสดาทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาผู้ใดผู้หนึ่งเป็นพาล เมื่อทำกรรมลามก เป็นผู้ยินดีร่าเริง เป็นประดุจฟูขึ้น ๆ ย่อมทำได้ ประดุจบุรุษเคี้ยวกินรสของหวาน มีจำพวกน้ำผึ้ง และน้ำตาลกรวดเป็นต้น บางชนิด” ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

    ๑๐. มธุวา มญญตี พาโลยาว ปาปํ น ปจจติ
    ยทา จ ปจจติ ปาปํอถ (พาโล) ทุกขํ นิคจฉติ.

    “คนพาลย่อมสำคัญบาปประดุจน้ำผึ้ง ตราบเท่า
    ที่บาปยังไม่ให้ผล ก็เมื่อใด บาปให้ผล เมื่อนั้น
    คนพาล ย่อมประสบทุกข์”


    ๐ พระขีณาสพไม่ยินดีกามสุข

    โดยสมัยอื่น มหาชนสนทนากันในธรรมสภาว่า “แม้พระขีณาสพทั้งหลาย ชะรอยจะยังยินดีกามสุข ยังเสพกาม ทำไมจักไม่ช่องเสพ เพราะพระขีณาสพเหล่านั้น ไม่ใช่ไม้ผุ ไม่ใช่จอมปลวก มีเนื้อและสรีระยังสดเหมือนกัน เพราะฉะนั้น แม้พระขีณาสพเหล่านั้น ยังยินดีกามสุข ยังเสพกาม”

    พระศาสดา เสด็จมา ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนาด้วยเรื่องอะไรกัน ? เมื่อพวกภิกษุกราบทูลว่า “ด้วยเรื่องชื่อนี้” จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พระขีณาสพทั้งหลาย ไม่ยินดีกามสุข ไม่เสพกาม เหมือนอย่างว่า หยาดน้ำ ตกลงบนใบบัว ย่อมไม่ติด ไม่ตั้งอยู่ ย่อมกลิ้งตกไปทีเดียว และเหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติด ไม่ตั้งอยู่ ที่ปลายเหล็กแหลม ย่อมกลิ้งตกไปแน่แท้ ฉันใด กามแม้ ๒ อย่าง ย่อมไม่ซึมซาบ ไม่ตั้งอยู่ในจิตของพระขีณาสพ ฉันนั้น” ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ ในพราหมณ์วรรคว่า : -

    “เรากล่าวบุคคล ผู้ไม่ติดอยู่ในกามทั้งหลาย
    เหมือนน้ำไม่ติดอยู่ในใบบัว เหมือนเมล็ดพันธุ์
    ผักกาดไม่ติดอยู่ที่ปลายเหล็กแหลม ว่าเป็นพราหมณ์”

    เนื้อความแห่งพระคาถานี้ จักแจ่มแจ้งในพราหมณวรรคนั่นแล
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระอุบลวรรณาเถรี เอตทัคคะในทางผู้มีฤทธิ์

    ๐ ภิกษุณีควรอยู่ในพระนคร

    จากเหตุที่เกิดกับพระนางอุบลวรรณาเถรี พระศาสดารับสั่งให้เชิญพระเจ้าปเสนทิโกศลมาแล้ว ตรัสว่า

    “มหาบพิตร แม้กุลธิดาทั้งหลาย ในพระศาสนานี้ ละหมู่ญาติอันใหญ่และกองแห่งโภคะมาก บวชแล้ว ย่อมอยู่ในป่า เหมือนอย่างกุลบุตรทั้งหลายเหมือนกัน

    คนลามก ถูกราคะยอมแล้ว ย่อมเบียดเบียนภิกษุณีเหล่านั้นผู้อยู่ในป่า ด้วยสามารถแห่งการดูถูกดูหมิ่นบ้าง ให้ถึงอันตรายแห่งพรหมจรรย์บ้าง เพราะฉะนั้น พระองค์ควรทำที่อยู่ภายในพระนครแก่ภิกษุสงฆ์”

    พระราชาทรงรับว่า “ดีละ” ดังนี้แล้ว รับสั่งให้สร้างที่อยู่เพื่อภิกษุสงฆ์ ที่ข้างหนึ่งแห่งพระนคร จำเดิมแต่นั้นมา พวกภิกษุณีย่อมอยูในละแวกบ้านเท่านั้น


    ๐ พระอุบลวรรณาเถรีปรินิพพาน

    ความยังไม่ปรากฏว่าท่านปรินิพพานที่ไหนและเมื่อไร
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระอุบลวรรณาเถรี เอตทัคคะในทางผู้มีฤทธิ์

    ๐ บุพกรรมของพระนางอุบลวรรณาเถรี

    พระเถรีแม้รูปนี้ ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ก็บังเกิดในเรือนสกุล กรุงหังสวดี รู้เดียงสาแล้วก็ไปเฝ้าพระศาสดา พร้อมกับมหาชนฟังธรรม เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศของเหล่าภิกษุณีผู้มีฤทธิ์ จึงถวายมหาทานแก่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ๗ วันปรารถนาตำแหน่งนั้น นางกระทำกุศลจนตลอดชีวิต ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์

    ครั้งพระกัสสปพุทธเจ้า ก็ถือปฏิสนธิในพระราชมณเฑียรของพระเจ้ากาสี พระนามว่า กิงกิ กรุงพาราณสี เป็นพระราชธิดาองค์หนึ่ง ระหว่างพระพี่น้องนาง ๗ พระองค์ คือ นางสมณี นางสมณคุตตา นางภิกขุนี (ภิกขุณี) นางภิกขุทาสิกา นางธัมมา (ธรรมา) นางสุธัมมา (สุธรรมา) และนางสังฆทาสี ครบ ๗

    พระราชธิดาเหล่านั้น ในบัดนี้ [ครั้งพุทธกาลชาติปัจจุบัน] คือพระเขมาเถรี พระอุบลวรรณาเถรี พระปฏาจาราเถรี พระนางกุณฑลเกสีเถรี (พระภัททากุณฑลเกสาเถรี) พระกิสาโคตมีเถรี พระธรรมทินนาเถรี และนางวิสาขา ครบ ๗

    ทรงประพฤติพรหมจรรย์อยู่ถึง ๒๐,๐๐๐ ปี สร้างบริเวณถวายพระภิกษุสงฆ์แล้วบังเกิดในเทวโลก

    ครั้นจุติจากเทวโลกนั้นแล้ว ก็กลับมาสู่มนุษยโลกอีก บังเกิดในสถานที่ของคนทำงานด้วยมือตนเองเลี้ยงชีวิต ในหมู่บ้านตำบลหนึ่ง วันหนึ่งนางกำลังเดินไปกระท่อมกลางนา ระหว่างทางเห็นดอกปทุมบานแต่เช้าตรู่ในสระแห่งหนึ่ง จึงลงสู่สระนั้น เก็บดอกปทุมนั้นและใบปทุม สำหรับใส่ข้าวตอก ตัดรวงข้าวสาลีที่คันนา นั่งในกระท่อม คั่วข้าวตอก จัดวางข้าวตอกไว้ ๕๐๐ ดอก

    ขณะนั้น ที่ภูเขาคันธมาทน์ พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งออกจากนิโรธสมาบัติ มายืนไม่ไกลนาง นางเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ก็ถือเอาดอกปทุมพร้อมด้วยข้าวตอกลงจากกระท่อม ใส่ข้าวตอกลงในบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้า เอาดอกปทุมปิดบาตรถวาย

    ขณะนั้น เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าไปได้หน่อยหนึ่ง นางก็ปริวิตกว่า ธรรมดานักบวชไม่ต้องการดอกไม้จำเราจะไปถือดอกไม้มาประดับเสียเอง จึงไปถือดอกไม้มาจากมือของพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วก็คิดอีกว่า ถ้าพระผู้เป็นเจ้าไม่ต้องการดอกไม้ ก็จักไม่ให้วางไว้บนบาตร พระผู้เป็นเจ้าคงจักต้องการแน่แท้ จึงไปวางดอกไม้ไว้บนบาตรอีก ขอขมาพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว กระทำความปรารถนาว่า เจ้าพระคุณเจ้าข้า ด้วยผลของข้าวตอกเหล่านี้ของข้าพเจ้า ขอบุตรของข้าพเจ้าจงมีเท่าจำนวนข้าวตอก [๕๐๐] ด้วยผลของดอกปทุม ขอดอกปทุมจงผุดขึ้นทุกๆ ย่างก้าว ในสถานที่ข้าพเจ้าบังเกิดแล้วบังเกิดอีก พระปัจเจกพุทธเจ้าเหาะไปยังภูเขาคันธมาทน์ ทั้งที่นางเห็นอยู่นั่นแล แล้วก็วางดอกปทุมนั้นไว้เป็นเครื่องเช็ดเท้า ใกล้บันไดเหยียบของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ณ เงื้อมเขานันทมูลกะ

    ด้วยผลของกรรมนั้น แม้นางก็ถือปฏิสนธิในเทวโลก นับแต่นางบังเกิดแล้ว ปทุมดอกใหญ่ ก็ผุดทุกๆ ย่างก้าวของนาง นางจุติจากเทวโลกนั้นแล้ว ก็บังเกิดในดอกบัวในสระปทุมแห่งหนึ่งใกล้เชิงภูเขา ดาบสองค์หนึ่งอาศัยเชิงภูเขานั้นอยู่ ดาบสนั้นไปสระแต่เช้าตรู่ เพื่อล้างหน้า เห็นดอกปทุมนั้น ก็ครุ่นคิดว่า

    ปทุมดอกนี้ใหญ่กว่าดอกอื่นๆ แต่ดอกอื่นๆ บานแล้วดอกนี้ยังตูมอยู่ น่าที่จะมีเหตุในดอกปทุมนั้น จึงลงน้ำจับปทุมดอกนั้น ปทุมดอกนั้น พอดาบสนั้นจับเท่านั้นก็บาน ดาบสก็เห็นเด็กหญิงนอนอยู่ภายในห้องดอกปทุม และนับแต่เห็นแล้ว ก็ได้ความรักประดุจธิดา จึงนำไปบรรณศาลาพร้อมกับดอกปทุมให้นอนบนเตียง ลำดับนั้น น้ำนมก็เกิดที่หัวนิ้วแม่มือด้วยบุญญานุภาพของนาง เมื่อปทุมดอกนั้นเหี่ยว ดาบสก็นำปทุมดอกอื่นมาใหม่ให้นางนอน นับตั้งแต่นางสามารถวิ่งมาวิ่งไปได้ ดอกปทุมก็ผุดขึ้นทุกย่างก้าว ผิวพรรณแห่งเรือนร่างของนางก็เหมือนสีทองบัวบก ผิวนางไม่งามเสมอผิวพรรณเทวดา แต่ก็งามล้ำผิวพรรณมนุษย์ เมื่อบิดาไปแสวงหาผลาผล นางก็ถูกปล่อยทิ้งไว้ ณ บรรณศาลา

    ต่อมาวันหนึ่ง สมัยนางเจริญวัยแล้ว เมื่อบิดาไปแสวงหาผลาผล พรานป่าผู้หนึ่งพบนางแล้วคิดว่า ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ทั้งหลาย ที่จะมีรูปอย่างนี้ไม่น่ามี ดังนั้นจำเราจักดูว่านางเป็นมนุษย์หรือไม่ จึงนั่งคอยรอให้ดาบสกลับมา

    เมื่อบิดากลับมา นางก็เดินสวนทางไปรับหาบและคณโฑน้ำ และเมื่อบิดามานั่งแล้ว ก็ปฏิบัติหน้าที่ของตน

    ครั้งนั้น พรานป่านั้นก็รู้ว่านางเป็นมนุษย์ พรานป่านั้นจึงนั่งกราบดาบส

    ดาบสจึงเชื้อเชิญพรานป่านั้น ด้วยเผือกมันผลไม้กับน้ำดื่มแล้วถามว่า พ่อมหาจำเริญ ท่านจักพักอยู่ที่นี้หรือจักไป

    เขาตอบว่า จักไปเจ้าข้า ในที่นี้ จักทำอะไรได้

    ดาบสกล่าวว่า เหตุการณ์ที่ท่านเห็นแล้วนี้ ท่านจักไม่พูดในสถานที่ท่านไปแล้วได้ไหม

    เขาตอบว่า ถ้าพระคุณเจ้าไม่ประสงค์ เหตุไรข้าจึงจะพูดเล่า เจ้าข้า

    พรานป่าไหว้ดาบส แล้วลอบกระทำเครื่องหมายไว้ที่กิ่งไม้และต้นไม้ เพื่อให้เป็นเครื่องหมายให้จำหนทางได้เวลาจะมาอีก แล้วกลับไป.

    พรานป่านั้น ไปกรุงพาราณสีแล้วก็เฝ้าพระราชา พระราชาตรัสถามว่า เจ้ามาทำไม

    เขากราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระบาทเป็นพรานป่าของพระองค์ พบนางแก้วที่น่าอัศจรรย์ใกล้เชิงเขา จึงมาเฝ้าพระเจ้าข้า

    แล้วกราบทูลเรื่องถวายทุกประการ ท้าวเธอทรงสดับคำของพรานป่าแล้ว ก็รีบเสด็จไปยังเชิงเขาตั้งค่ายพักพลในที่ไม่ไกลนัก จึงพร้อมด้วยพรานป่ากับเหล่าทหารเสด็จไปที่บรรณศาลานั้น ในเวลาที่ดาบสฉันเสร็จแล้วนั่งพักอยู่ ทรงไหว้ ทรงทำปฏิสันถารแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง พระราชาทรงวางเครื่องบริขารสำหรับบรรพชิตไว้แทบเท้าของดาบสตรัสว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าทำอะไรบางอย่างในที่นี้แล้วก็จักไป

    ดาบสถวายพระพรว่า โปรดแสดงไปเถิดมหาบพิตร

    พระราชาตรัสว่า ข้าพเจ้าจักไปเจ้าข้า ได้ยินมาว่า บริษัทที่เป็นข้าศึกมีอยู่ใกล้พระคุณเจ้า บริษัทนั้นไม่สมควรแก่บรรพชิตจงไปเสียกับข้าพเจ้าเถิดนะ เจ้าข้า

    ดาบสทูลว่า ขึ้นชื่อว่าจิตใจของมนุษย์ ทำให้พอใจได้ยาก นางจะอยู่ท่ามกลางผู้คนจำนวนมากได้อย่างไร

    พระราชาตรัสว่า นับตั้งแต่ข้าพเจ้าชอบใจนาง ข้าพเจ้าก็อาจจะตั้งนางไว้ในตำแหน่งสูงสุดของผู้คนทั้งหลาย แล้วทำนุบำรุงนะเจ้าข้า

    ดาบสสดับพระราชดำรัส จึงเรียกธิดาตามนามที่ตั้งไว้ครั้งยังเล็กว่า ลูกปทุมวดี ด้วยการเรียกครั้งเดียวเท่านั้น นางก็ออกจากบรรณศาลามายืนไหว้บิดา ขณะนั้น บิดาจึงกล่าวกะนางว่า ลูกเอ๋ย เจ้าก็โตเป็นสาวแล้ว นับแต่พระราชาทรงพบแล้วเจ้าจะอยู่ในที่นี้ ก็จะไม่ผาสุกดอกนะ จงตามเสด็จไปกับพระราชาเสียเถิดนะลูกนะ

    นางรับคำบิดาว่า ดีละพ่อท่าน ไหว้แล้วก็ยืนร้องไห้อยู่

    พระราชาทรงดำริว่า จำเราจักยึดจิตใจบิดาของนางไว้ จึงทรงวางกองกหาปณะไว้ที่ตรงนั้นนั่นเอง แล้วทรงทำอภิเษก ท้าวเธอทรงนำนางไปยังพระนครของพระองค์ นับแต่เสด็จกลับมาแล้วก็มิได้ทรงสนพระทัยสตรีอื่นๆ ทรงอภิรมย์อยู่กับนาง

    เหล่าสตรีอื่นผู้แวดล้อมพระราชานั้นมีปกติริษยาอยู่แล้ว ประสงค์จะทำนางให้แตกกันระหว่างพระราชา จึงพากันเพ็ดทูลอย่างนี้ว่า

    ข้าแต่พระทูลกระหม่อม สตรีผู้นี้มิใช่มนุษย์ดอกเพคะ ทูลกระหม่อมเคยทอดพระเนตรเห็นดอกปทุมผุดขึ้น ในถิ่นที่มนุษย์สัญจรไปที่ไหนเล่าเพคะ นางผู้นี้ต้องเป็นยักษิณีแน่ขอทูลกระหม่อมโปรดเนรเทศมันไปเสียเถิดเพคะ

    พระราชาทรงสดับคำของสตรีเหล่านั้น ก็ได้แต่ทรงนิ่งอึ้ง

    ต่อมา เมืองชายแดนของพระราชาเกิดแข็งเมือง ท้าวเธอทรงพระดำริว่า พระนางปทุมวดีมีพระครรภ์แก่ จึงทรงพักพระนางไว้ในพระนคร แล้วเสด็จไปยังเมืองชายแดน

    ครั้งนั้น สตรีเหล่านั้นจึงให้สินบนแก่หญิงรับใช้ผู้ปรนนิบัติพระนาง สั่งว่า พอทารกของพระนางประสูติออกมา เจ้าจงนำออกไปแล้วเอาเลือดทาไม้ท่อนหนึ่งวางไว้ใกล้ๆ

    ไม่นานนัก พระนางปทุมวดีก็ประสูติ มีพระมหาปทุมกุมารพระองค์เดียวเท่านั้นที่ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ ส่วนพระกุมารอีก ๔๙๙ พระองค์ บังเกิดเป็นสังเสทชกำเนิด

    ในเวลาที่พระมหาปทุมกุมาร ประสูติออกจากพระครรภ์ของพระมารดา ขณะนั้น หญิงรับใช้ของพระนางรู้ว่า พระนางยังไม่ได้พระสติ ก็เอาเลือดทาไม้ท่อนหนึ่งแล้ววางไว้ใกล้ ๆ แล้วให้สัญญาณแก่สตรีเหล่านั้น สตรีทั้ง ๕๐๐ คน ก็รับพระกุมารไปคนละองค์ส่งไปสำนักช่างกลึง ให้นำกล่องตลับมาใส่พระกุมารที่แต่ละคนรับไว้ ให้บรรทมในกล่องตลับนั้น ตีตราข้างนอกกล่องวางไว้

    ฝ่ายพระนางปทุมวดี รู้สึกพระองค์แล้วรับสั่งถามหญิงรับใช้ว่า ข้าคลอดแล้วหรือไม่คุณ

    หญิงรับใช้พูดตะคอกเอากะพระนางว่า พระแม่เจ้าจะได้ทารกมาแต่ไหนเล่า

    แล้ววางท่อนไม้ทาเลือดไว้เบื้องพระพักตร์ทูลว่า นี้ทารกที่ประสูติออกจากพระครรภ์ของพระแม่เจ้าละ

    พระนางทอดพระเนตรเห็นท่อนไม้นั้นก็ทรงโทมนัส ให้ผ่าท่อนไม้นั้นโดยเร็วแล้วตรัสสั่งว่า เจ้าจงนำออกไป ถ้าใครเห็นก็จะอายเขา

    หญิงรับใช้นั้นรับพระราชเสาวนีย์แล้ว ทำเป็นเหมือนว่าหวังดี ก็ผ่าท่อนไม้ ใส่เข้าไปในเตาไฟ.

    ฝ่ายพระราชาเสด็จกลับจากเมืองชายแดน ทรงนับถือฤกษ์ยาม ตรัสสั่งให้จัดค่ายพักพลประทับอยู่ภายนอกพระนคร ขณะนั้น สตรีเหล่านั้นพากันออกไปรับเสด็จพระราชากราบทูลว่าข้าแต่พระทูลกระหม่อม พระองค์คงไม่ทรงเชื่อพวกข้าพระบาท คำที่พวกข้าพระบาทกราบทูล เป็นเหมือนมิใช่เหตุการณ์ ขอพระองค์โปรดเรียกหญิงรับใช้ของพระมเหสีมาสอบถามสิเพคะ พระเทวีของพระองค์ประสูติเป็นท่อนไม้

    พระราชาไม่ทันทรงสอบสวนเหตุการณ์นั้น เข้าพระทัยว่าผู้นี้เห็นจะไม่ใช่ชาติมนุษย์แน่ จึงทรงขับไล่พระนางออกไปจากพระราชมณเฑียร พร้อมกับพระนางเสด็จออกจากพระราชมณเฑียร ดอกปทุมก็หายไป แม้แต่พระฉวีวรรณแห่งพระสรีระก็เผือดลงไป พระนางลำพังพระองค์ เสด็จดำเนินไประหว่างถนน

    ขณะนั้นหญิงวัยแก่ผู้หนึ่งพบพระนางก็เกิดรักประดุจว่าลูกสาวตน จึงถามว่าลูกเอ๋ย เจ้าจะไปไหนเล่า

    พระนางตรัสตอบว่า ดิฉันเป็นคนจรมา กำลังเดินตรวจหาที่อยู่จ้ะ

    หญิงแก่กล่าวว่ามาที่นี้สิลูก แล้วพาพระนางไปที่อยู่ จัดแจงอาหารเลี้ยง

    เมื่อพระนางประทับอยู่ ณ ที่นั้น โดยทำนองนี้นั่นแลสตรี ๕๐๐ คนนั้น ก็ร่วมใจกันกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่พระทูลกระหม่อม เมื่อพระองค์เสด็จพักค่ายอยู่ ข้าพระบาทมีความปรารถนาว่า เมื่อพระทูลกระหม่อมของพวกข้าพระบาท ชนะสงครามเสด็จกลับมา พวกข้าพระบาทจักทำพลีกรรมบวงสรวงเล่นกีฬาทางน้ำถวายแก่เทวดาแม่พระคงคา ขอพระทูลกระหม่อมโปรดประกาศความข้อนี้ด้วยเพคะ

    พระราชาทรงยินดีตามคำของสตรีเหล่านั้น ได้เสด็จไปเพื่อทรงเล่นกีฬาทางน้ำ ณ แม่พระคงคา สตรีเหล่านั้นต่างถือกล่องตลับ ที่แต่ละคนรับไว้อย่างปกปิด พากันไปยังแม่น้ำ คลุมผ้าไว้เพื่อปกปิดกล่องตลับเหล่านั้น กระโดดลงน้ำปล่อยกล่องตลับไป กล่องตลับเหล่านั้นไปพร้อมกันติดอยู่ที่ตาข่ายซึ่งเขาคลี่ไว้ใต้กระแสน้ำทั้งหมด

    จากนั้น เวลาที่พระราชาทรงกีฬาทางน้ำเสร็จแล้วเสด็จขึ้นจากน้ำ พวกราชบุรุษ ก็ยกตาข่ายขึ้นเห็นกล่องตลับเหล่านั้นก็นำมาถวายพระราชา

    พระราชาทรงตรวจดูกล่องตลับ ตรัสถามว่า พ่อเอ๋ย อะไรอยู่ในกล่องตลับ

    ราชบุรุษกราบทูลว่า ไม่ทราบเกล้า พระเจ้าข้า

    ท้าวเธอโปรดให้เปิดกล่องเหล่านั้นตรวจดู ทรงให้เปิดกล่องตลับของพระมหาปทุมกุมารเป็นกล่องแรก

    ตั้งแต่วันที่เขาให้พระกุมารเหล่านั้นทุกพระองค์บรรทมในกล่องตลับ น้ำนมก็บังเกิดที่หัวพระองคุลีของพระกุมารทุกพระองค์อันเกิดจากบุญฤทธิ์ ท้าวสักกเทวราชโปรดให้จารึกพระอักษรไว้ภายในกล่องตลับ เพื่อให้พระราชานั้นหมดสงสัยว่า พระกุมารเหล่านั้นบังเกิดในพระครรภ์ของพระนางปทุมวดีเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพาราณสี ครั้งนั้นสตรี ๕๐๐ คน เป็นศัตรูของพระนางปทุมวดี ใส่พระกุมารเหล่านั้นลงในกล่องตลับแล้วโยนลงน้ำ ขอพระราชาโปรดทรงทราบเหตุการณ์นี้

    พระราชาครั้นพอเปิดกล่องตลับ พบพระกุมาร และทรงอ่านอักษร เมื่อทรงทราบความโดยตลอดแล้วก็ทรงยกพระมหาปทุมกุมารขึ้น รับสั่งให้รีบเร่งเทียมรถ ตรัสสั่งว่า พวกเจ้าจงจัดม้า วันนี้ เราจักเข้าไปภายในพระนคร จะกระทำให้สะใจสำหรับผู้หญิงบางจำพวก

    แล้วเสด็จขึ้นพระมหาปราสาทวางถุงทรัพย์พันกหาปณะบนคอช้าง โปรดให้ตีกลองร้องป่าวไปในพระนครว่า ผู้ใดพบพระนางปทุมวดี ผู้นั้นจงรับทรัพย์พันกหาปณะนี้ไป

    พระนางปทุมวดี สดับคำประกาศนั้นแล้วได้ให้สัญญาณแก่มารดาว่า แม่จ๋า จงรับถุงทรัพย์พันกหาปณะจากคอช้างสิจ๊ะ

    มารดากล่าวว่า แม่รับทรัพย์เช่นนั้นไม่ได้ดอกจ้ะ

    แม้มารดาเมื่อถูกพระนางบอกครั้งที่สอง ครั้งที่สาม จึงถามว่า ลูกเอ๋ย แม่จะพูดว่าอย่างไรเล่า จึงจะรับทรัพย์ได้

    พระนางจึงตรัสว่า ลูกสาวฉันเขาพบพระนางปทุมวดีจ้ะ แล้วรับเอา

    มารดาคิดว่า เรื่องนั้นจะจริงหรือไม่ก็ช่างเถิด แล้วก็ไปรับเอาถุงทรัพย์พันกหาปณะ

    ครั้งนั้น ผู้คนทั้งหลายถามนางว่า แม่พบพระนางปทุมวดีหรือจ้ะแม่

    นางกล่าวว่าฉันไม่พบดอกจ้ะ ลูกสาวฉันเขาว่า เขาพบจ้ะ

    ผู้คนเหล่านั้นก็ให้นางพาไปพบลูกสาว หญิงแก่นั้นก็พาชนเหล่านั้นไปยังที่อยู่ของนาง เมื่อผู้คนเหล่านั้นไปถึงเห็นพระนางปทุมวดีได้ ก็หมอบลงแทบเท้าทั้งสอง เวลานั้นหญิงแก่นั้นจึงรู้ว่า ผู้นี้คือพระนางปทุมวดีเทวี จึงกล่าวว่า ข้อที่พระมเหสีของพระราชา อยู่อย่างปราศจากการอารักขาเช่นนี้ เป็นกรรมที่ทำอย่างหนักสำหรับสตรีหนอ

    ราชบุรุษเหล่านั้น ให้ทำความสะอาดที่ประทับอยู่ของพระนางปทุมวดีแล้ว ล้อมไว้ด้วยม่าน ตั้งกองอารักขาไว้ที่ประตู แล้วกลับไปกราบทูลพระราชา พระราชาทรงส่งพระวอทองไป พระนางปทุมวดีรับสั่งว่า

    หม่อมฉันจักไม่ไปโดยวิธีอย่างนี้ ขอได้ทรงโปรดให้ลาดเครื่องอันวิจิตรด้วยผ้าเปลือกไม้อย่างดี ในระหว่างตั้งแต่ที่อยู่ของหม่อมฉันไปจนถึงกรุงราชคฤห์ ให้ติดเพดานผ้าอันวิจิตรด้วยดาวทองไว้ข้างบน เมื่อเครื่องอลังการทุกอย่างที่โปรดส่งมาเพื่อประดับ ประดับตกแต่แล้ว หม่อมฉันจักเดินไปด้วยเท้า ชาวพระนครจักเห็นสมบัติของหม่อมฉัน ด้วยวิธีอย่างนี้

    พระราชารับสั่งว่าพวกเจ้าจงทำให้ต้องพระทัยของพระนางปทุมวดีเถิด

    ลำดับนั้น พระนางปทุมวดีทรงประดับเครื่องประดับทุกอย่างแล้ว ทรงพระดำริจักเสด็จไปพระราชนิเวศน์ ก็เริ่มเดินทาง

    ครั้งนั้น ดอกปทุมทั้งหลายก็ผุดชำแรกเครื่องลาดอันวิจิตรด้วยผ้าเปลือกไม้อย่างดี ในที่ๆ พระนางย่างพระบาทเหยียบไปๆ พระนางครั้นทรงแสดงสมบัติของพระองค์แก่มหาชน แล้วก็เสด็จขึ้นพระราชนิเวศน์ ให้พระราชทานเครื่องลาดอันวิจิตรด้วยผ้าเหล่านั้นทั้งหมดแก่หญิงแก่นั้นเป็นค่าเลี้ยงดู

    ฝ่ายพระราชารับสั่งให้เรียกสตรี ๕๐๐ คนนั้นมาแล้วตรัสว่า ดูก่อนพระเทวี เราให้ผู้หญิงเหล่านี้เป็นทาสีของเจ้า

    พระนางทูลว่า ดีละเพคะทูลกระหม่อม ขอได้โปรดให้ประกาศไปทั่วพระนครว่า พระราชทานหญิงเหล่านี้ให้เป็นสิทธิ์แก่หม่อมฉันแล้ว

    พระราชาก็ให้ตีกลองป่าวประกาศว่า หญิง ๕๐๐ คน ที่เป็นศัตรูของพระนางปทุมวดี เราได้มอบให้เป็นทาสีของพระนางแล้ว

    พระนางทรงทราบว่า ทั่วพระนครต่างกำหนดรู้ว่า หญิงเหล่านั้นเป็นทาสีกันแล้ว จึงกราบทูลถามพระราชาว่า ทูลกระหม่อมเพคะ หม่อมฉันจะทำทาสีของหม่อมฉันให้เป็นไทแก่ตัวได้ไหมเพคะ

    พระราชารับสั่งว่า เทวี เจ้าปรารถนาก็ได้สิ

    พระนางจึงทูลว่า เมื่อเป็นดังนั้น ขอได้โปรดให้ตีกลองป่าวประกาศอีกว่า หญิง ๕๐๐ คน ที่ทรงให้ตีกลองป่าวประกาศพระราชทานให้เป็นทาสีของปทุมวดี ได้ทรงทำให้เป็นไทหมดทุกคนแล้ว

    เมื่อพระราชาทรงทำหญิงเหล่านั้นให้เป็นไทแล้ว พระนางก็ทรงมอบพระราชโอรส ๔๙๙ พระองค์ไว้ในมือสตรีเหล่านั้นเพื่อให้เลี้ยงดู พระมหาปทุมราชกุมารพระองค์เดียว ทรงรับเลี้ยงดูด้วยพระองค์เอง

    อยู่ต่อมา เมื่อพระราชกุมารเหล่านั้น ถึงวัยเล่น พระราชาก็โปรดให้สร้างสถานที่เล่นนานาชนิดไว้ในพระราชอุทยาน คราวมีพระชันษาได้ ๑๖ พรรษา พระราชกุมารเหล่านั้น ทุกพระองค์พร้อมพระทัยกัน ทรงเล่นในสระมงคลโบกขรณีที่ดาดาษด้วยดอกปทุม ในพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นดอกปทุมใหม่บานและดอกปทุมเก่าร่วงหล่นจากขั้ว ทรงดำริว่า

    ชรานี้ยังมาถึงอนุปาทินนกสังขารที่ไม่มีวิญญาณครองนี้หนอ จะป่วยกล่าวไปไยว่า ชราจะไม่มาถึงสรีระของพวกเราเล่า แม้สรีระนี้ก็คงจักมีคติอย่างนี้เหมือนกัน

    ทรงยึดถือให้เป็นอารมณ์แล้ว ก็บังเกิดพระปัจเจกโพธิญาณทุกพระองค์ เสด็จลุกขึ้นประทับนั่งขัดสมาธิ ณ กลีบดอกปทุมทั้งหลาย

    ลำดับนั้น พวกราชบุรุษที่ตามเสด็จไปกับพระราชกุมารเหล่านั้น รู้ว่าวันเวลาล่วงไปมากแล้วจึงทูลว่า พระลูกเจ้าพระเจ้าข้า ขอทรงโปรดทราบเวลาของพระองค์เถิด

    พระราชกุมารเหล่านั้นก็ทรงนิ่ง

    พวกราชบุรุษจึงไปกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระราชกุมารทั้งหลาย ประทับนั่งเหนือกลีบปทุมทั้งหลาย เมื่อพวกข้าพระบาททูลก็ไม่ยอมเปล่งพระวาจาเลยพระเจ้าข้า.

    พระราชารับสั่งว่า พวกเจ้าจงให้พระราชกุมารเหล่านั้นประทับนั่งตามความพอพระทัยเถิด

    พระราชกุมารเหล่านั้น ได้รับอารักขาตลอดคืนยังรุ่ง จนอรุณขึ้นก็ยังคงประทับนั่งเหนือกลีบดอกปทุมอยู่อย่างนั้น

    พวกราชบุรุษเข้าเฝ้าวันรุ่งขึ้นทูลว่า ข้าแต่เทวะ ขอโปรดทรงทราบเวลาเถิด พระเจ้าข้า

    พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายรับสั่งว่า พวกเราไม่ได้เป็นเทวะ พวกเราชื่อว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าต่างหากเล่า

    พวกราชบุรุษทูลว่า ข้าแต่พระลูกเจ้า พระองค์ตรัสคำหนัก ธรรมดาว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่เป็นอย่างที่พระองค์ดอก พระเจ้าข้า พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นต้องทรงผมและหนวด ๒ องคุลี ทรงบริขาร ๘ สวมอยู่ที่พระกายสิพระเจ้าข้า

    พระราชกุมารเหล่านั้นทรงลูบพระเศียรด้วยพระหัตถ์เบื้องขวาทันใดนั้นเอง เพศคฤหัสถ์ก็หายไป บริขาร ๘ ก็สวมที่พระกาย ต่อนั้นก็เหาะไปยังเงื้อมเขาชื่อนันทมูลกะทั้งที่มหาชนเห็นๆ อยู่นั่นเอง
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระอุบลวรรณาเถรี เอตทัคคะในทางผู้มีฤทธิ์

    ๐ พระนางปทุมวดีเทวีเสด็จทิวงคต

    ฝ่ายพระนางปทุมวดีเทวี ทรงโศกเศร้าพระทัยว่า เรามีบุตรมาก ก็กลายเป็นคนไร้บุตรไปเสียแล้ว ด้วยความเศร้าโศกนั้นเอง ก็เสด็จทิวงคตไปบังเกิดในสถานที่ของคนทำงานด้วยมือตนเองเลี้ยงชีพ ในหมู่บ้านใกล้ประตูกรุงราชคฤห์

    ต่อมามีสามี วันหนึ่งนำข้าวยาคูไปนาเพื่อให้สามี เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์ ในจำนวนบุตรของตนเหล่านั้นเอง กำลังเหาะมาเวลาภิกษาจาร จึงรีบรุดไปบอกสามีว่า นายเจ้าขา ดูพระปัจเจกพุทธเจ้าสิ เรานิมนต์ท่านมาฉันเถิด

    สามีกล่าวว่า ธรรมดานกสมณะเหล่านี้ ย่อมสัญจรไปอย่างนี้ แม้ในที่อื่น นกสมณะเหล่านั้น ไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้าดอกจ้ะ

    พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ก็ลงมาในที่ไม่ไกล จากที่คนทั้งสองกำลังพูดกัน

    หญิงคนนั้นก็ถวายโภชนะคือ ข้าวสวยและกับส่วนของตนในวันนั้นแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นแล้วนิมนต์ว่า

    พรุ่งนี้ขอท่านทั้ง ๘ องค์ โปรดรับภิกษาหารของข้าพเจ้านะเจ้าคะ

    พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า ดีละ ท่านอุบาสิกา สักการะของท่าน ก็จงมีเท่าวันนี้ อาสนะก็จงมีไว้ ๘ ที่ แต่ท่านเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าอื่นๆ มาก ก็พึงทำจิตใจของท่านให้เลื่อมใสไว้นะ

    วันรุ่งขึ้น หญิงคนนั้นก็ปูอาสนะไว้ ๘ ที่ จัดแจงเครื่องสักการสัมมานะไว้สำหรับพระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์แล้วก็นั่งคอย

    พระปัจเจกพุทธเจ้าที่ได้รับนิมนต์ ก็ให้สัญญาแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าอื่นๆ ว่า ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย วันนี้ ท่านทั้งหลายอย่าไปที่อื่น ทั้งหมดจงช่วยกันทำการสงเคราะห์มารดาของท่านเถิด

    พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นฟังคำของพระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์นั้นแล้วร่วมใจกันทุกองค์ เหาะไปปรากฏองค์อยู่ใกล้ประตูเรือนของมารดา แม้นางเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้ามากองค์ ก็ไม่หวั่นไหว เพราะได้สัญญามาก่อนแล้ว ก็นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นทุกองค์เข้าไปยังเรือนให้นั่งเหนืออาสนะ เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นนั่งตามลำดับ องค์ที่ ๙ ก็เนรมิตอีก ๘ อาสนะ ตนเองก็นั่งอาสนะใกล้ เรือนก็ขยายออกไปเท่ากับจำนวนอาสนะที่เพิ่มขึ้น

    เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหมดนั่งเรียบร้อยแล้วอย่างนี้ หญิงนั้นก็ถวายสักการะที่ตนจัดแจงสำหรับพระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์ จนเพียงพอแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ แล้วนำดอกอุบลขาบ ๘ กำ มาวางไว้แทบเท้าพระปัจเจกพุทธเจ้าที่ตนนิมนต์มาเท่านั้น กล่าวทำความปรารถนาว่า พระคุณเจ้าข้า ขอวรรณะแห่งสรีระของข้าพเจ้า จงเป็นเหมือนวรรณะข้างในของดอกอุบลขาบเหล่านี้ ในสถานที่ข้าพเจ้าเกิดแล้วเกิดเล่าด้วยนะเจ้าคะ

    พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย กระทำอนุโมทนาแก่มารดาแล้ว ก็พากันไปยังภูเขาคันธมาทน์.

    แม้นางก็กระทำกุศลจนตลอดชีวิต จุติจากมนุษยโลก แล้วก็บังเกิดในเทวโลก ในพุทธุปบาทกาลนี้ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น


    [อ้างอิง :: อง.อ. ๑/๒/๑๒-๒๓; เถรี.อ. ๓๑๗-๓๔๐; สํ.นิ. ๑๖/๕๗๒; ธ.อ. ๑/๒/๒/๒๑๓-๒๑๗; ขุ.อป. ๓๓/๑๕๙]



    .............................................................

    คัดลอกมาจาก ::
    Home Main Page
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระปฏาจาราเถรี เอตทัคคะในทางผู้ทรงพระวินัย

    [​IMG]


    พระนางปฏาจาราเถรีนั้น เป็นธิดาของเศรษฐีผู้มีสมบัติ ๔๐ โกฎิ ในกรุงสาวัตถี มีรูปร่างสวยงาม ในเวลานางมีอายุ ๑๖ ปี มารดาบิดาเพื่อจะรักษาไม่ให้เกิดข้อครหานินทา จึงให้นางอยู่บนชั้นบนปราสาท ๗ ชั้น

    ถึงแม้เป็นเช่นนั้น นางก็ยังลักลอบได้เสียกับคนรับใช้คนหนึ่งของตน

    กาลต่อมา มารดาบิดาของนางตกลงจะยกนางให้แก่ชายหนุ่มคนหนึ่ง ในสกุลที่มีชาติเสมอกันแล้ว กำหนดวันวิวาหะ (วิวาห์)

    เมื่อวันวิวาหะใกล้เข้ามา นางจึงพูดกะคนรับใช้ผู้นั้นว่า

    “ได้ยินว่า มารดาบิดาจักยกฉันให้แก่สกุลโน้น เมื่อเวลาที่ฉันไปสู่สกุลผัวแล้ว แม้ท่านจะถือบรรณาการมาเพื่อฉัน ก็เข้าไปในที่นั้นไม่ได้ ถ้าท่านมีความรักในฉัน ก็จงพาฉันหนีไปโดยทางใดทางหนึ่งในบัดนี้นี่แล.”

    คนรับใช้นั้นรับคำว่า “ดีละ นางผู้เจริญ” แล้วกล่าวว่า

    “ถ้าอย่างนั้นฉันจักยืนอยู่ที่ประตูเมืองแต่เวลาเช้าตรู่พรุ่งนี้ หล่อนพึงออกไปด้วยอุบายอย่างหนึ่งแล้ว มาในที่นั้น”

    ในวันที่ ๒ ก็ได้ยืนอยู่ในที่นัดหมายกันไว้


    ๐ นางปฏาจาราหนีไปกับคนใช้

    ฝ่ายธิดาเศรษฐีนั้นนุ่งผ้าปอนๆ สยายผม เอารำทาสรีระถือหม้อน้ำ ออกจากเรือนเหมือนเดินไปกับพวกทาสี ได้ไปยังที่นั้นแต่เช้าตรู่ ชายคนรับใช้นั้นพานางไปไกลแล้ว อาศัยอยู่บ้านแห่งหนึ่ง ไถนาในป่าแล้ว ได้นำฟืนและผักเป็นต้นมา

    ธิดาเศรษฐีเอาหม้อน้ำมาแล้ว ทำกิจมีการตำข้าวและหุงต้ม เป็นต้นด้วยมือตนเอง เสวยผลแห่งความชั่วของตน

    ครั้งนั้น นางได้ตั้งครรภ์ขึ้นแล้ว.ต่อมาเมื่อครรภ์แก่แล้วนางจึงอ้อนวอนสามีว่า

    “ใครๆ ผู้อุปการะของเราไม่มีในที่นี้ ธรรมดามารดาบิดา เป็นผู้มีใจอ่อนโยนในบุตรทั้งหลาย ท่านจงนำฉันไปยังสำนักของท่านเถิด ฉันจักคลอดบุตรในที่นั้น”

    สามีนั้นคัดค้านว่า “นางผู้เจริญ เจ้าพูดอะไร ? มารดาบิดาของเจ้าเห็นฉันแล้ว พึงลงทัณฑ์ด้วยประการต่างๆ ฉันไม่อาจไปในที่นั้นได้”

    นางแม้อ้อนวอนแล้วๆ เล่าๆ เมื่อไม่ได้ความยินยอม.

    นางรอเวลาที่สามีนั้นไปป่า จึงเรียกคนผู้คุ้นเคยมาสั่งว่า

    “ถ้าเขามาไม่เห็นฉัน จักถามว่า ‘ฉันไปไหน ?’

    พวกท่านพึงบอกความที่ฉันไปสู่เรือนแห่งตระกูลของตน” ดังนี้แล้วก็ปิดประตูเรือนหลีกไป

    ฝ่ายสามีนั้นมาแล้ว ไม่เห็นภรรยานั้นจึงถามคนคุ้นเคย ฟังเรื่องนั้นแล้ว ก็ติดตามไปด้วยคิดว่า “จักให้นางกลับ” เมื่อพบนางแล้วแม้เขาจะอ้อนวอนประการต่างๆ ก็มิอาจทำให้นางกลับได้

    ทีนั้น ลมกัมมัชวาตของนางปั่นป่วนแล้วในที่แห่งหนึ่ง.

    นางเข้าไปในระหว่างพุ่มไม้พุ่มหนึ่ง พูดว่า

    “นาย ลมกัมมัชวาตของฉันปั่นป่วนแล้ว”

    นอนเกลือกกลิ้งอยู่บนพื้นดิน คลอดเด็กโดยยากแล้ว คิดว่า

    “เราพึงไปสู่เรือนแห่งตระกูลเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นสำเร็จแล้ว” จึงกลับมาสู่เรือนกับสามี อยู่กันอีกเทียว

    สมัยต่อมา ครรภ์ของนางตั้งขึ้นอีก นางเป็นผู้มีครรภ์แก่แล้วจึงอ้อนวอนสามีโดยนัยก่อนนั่นแล เมื่อไม่ได้ความยินยอม จึงอุ้มบุตรด้วยสะเอวหลีกไปอย่างนั้นนั่นแล แม้ถูกสามีนั้นติดตามไปพบแล้ว ก็ไม่ปรารถนาจะกลับ

    ครั้งนั้น เมื่อชนเหล่านั้นเดินไปอยู่ มหาเมฆอันไม่ใช่ฤดูกาลเกิดขึ้น ท้องฟ้าได้มีท่อธารตกลงไม่มีระหว่าง (ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก) ดังสายฟ้าแผดเผาอยู่โดยรอบ ดังจะทำลายลงด้วยเสียงแผดแห่งเมฆ

    ในขณะนั้น ลมกัมมัชวาตของนางปั่นป่วนแล้ว นางเรียกสามีมากล่าวว่า

    “นาย ลมกัมมัชวาตของฉันปั่นป่วนแล้ว ฉันไม่อาจทนได้ ท่านจงรู้สถานที่ฝนไม่รดฉันเถิด”

    สามีนั้นมีมีดอยู่ในมือ ตรวจดูข้างโน้นข้างนี้ เห็นพุ่มไม้ซึ่งเกิดอยู่บนจอมปลวกแห่งหนึ่ง เริ่มจะตัด ลำดับนั้น อสรพิษมีพิษร้ายกาจเลื้อยออกจากจอมปลวก กัดเขาในที่นั้นนั่นแล สรีระของสามีสีเขียวดังถูกเปลวไฟอันตั้งขึ้นในภายในไหม้อยู่ ล้มลงในที่นั้นนั่นเอง

    ฝ่ายภรรยาก็ได้เสวยทุกข์อย่างมหันต์ เฝ้ามองดูการมาของสามีอยู่ โดยไม่ทราบว่าเขาได้ตายไปแล้ว ก็มิได้เห็นเขาเลย ในที่สุดก็คลอดบุตรคนที่ ๒ อีก

    ทารกทั้ง ๒ ทนกำลังแห่งฝนและลมไม่ได้ ก็ร้องไห้ลั่น

    นางเอาทารกทั้ง ๒ คนนั้นไว้ที่ระหว่างอุทร ยืนคร่อมเด็กทั้งสองด้วยเข่าและมือทั้ง ๒ เพื่อบังฝนให้จนตลอดราตรี ร่างกายทั้งสิ้นได้ซีดเป็นดังสีใบไม้เหลือง เหมือนไม่มีโลหิต

    ครั้นเมื่ออรุณขึ้นนางก็อุ้มบุตรคนที่เพิ่งคลอดซึ่งมีสีดังชื้นเนื้อสดด้วยเอว จูงบุตรคนโตด้วยนิ้วมือพลางกล่าวว่า “มาเถิด พ่อ บิดาเจ้าไปโดยทางนี้” แล้วก็เดินไปตามทางที่สามีไป ครั้นเมื่อเห็นสามีนั้นล้มตายบนจอมปลวกมีสีเขียวตัวกระด้าง ก็ร้องไห้รำพันว่า

    “เป็นเพราะเราที่เดียว สามีของเราจึงต้องตายที่หนทางเปลี่ยว” ดังนี้แล้วก็เดินไป

    นางเห็นแม่น้ำอจิรวดี เต็มเปี่ยมด้วยน้ำสูงประมาณเพียงหน้าอก เพราะฝนตกตลอดคืนยังรุ่ง นางไม่อาจลงน้ำพร้อมด้วยทารกทั้ง ๒ คนได้ เพราะตนมีความรู้อ่อน จึงให้บุตรคนใหญ่รออยู่ที่ฝั่งนี้ แล้วอุ้มบุตรคนเล็กข้ามแม่น้ำไปที่ฝั่งโน้น ปูลาดกิ่งไม้ไว้ให้บุตรนอนแล้วคิดว่าจะข้ามรับบุตรคนโต แต่ใจของก็ไม่อาจจะละความเป็นห่วงบุตรอ่อนได้ กลับแลดูแล้วๆ เล่าๆ เดินไป

    ครั้นในเวลาที่นางถึงกลางแม่น้ำ เหยี่ยวตัวหนึ่งก็เห็นลูกคนเล็กซึ่งมีผิวแดงดังชิ้นเนื้อนอนอยู่ จึงโฉบลงมาจากอากาศ ด้วยสำคัญว่าเป็นชิ้นเนื้อ

    นางเห็นมันโฉบลงเพื่อต้องการบุตร จึงยกมือทั้งสองขึ้น ร้องไล่ด้วยเสียงอันดัง ๓ ครั้งว่า “สู สู” เหยี่ยวไม่ได้ยินเสียงนั้นเลยเพราะไกลกัน จึงเฉี่ยวเด็กบินขึ้นสู่เวหาสไปแล้ว

    ส่วนบุตรผู้ยืนอยู่ที่ฝั่งนี้ เห็นมารดายกมือทั้งสองขึ้น ร้องเสียงดังท่ามกลางแม่น้ำ จึงกระโดดลงแม่น้ำโดยเร็วด้วยสำคัญว่ามารดาเรียกจึงถูกกระแสน้ำพัดหายไป เหยี่ยวเฉี่ยวเด็กอ่อนของนางไป บุตรคนโตก็ถูกน้ำพัดไป ด้วยประการฉะนี้
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระปฏาจาราเถรี เอตทัคคะในทางผู้ทรงพระวินัย

    ๐ นางทราบข่าวว่ามารดาบิดาตายอีก

    นางเดินร้องไห้รำพันว่า “บุตรของเราคนหนึ่งถูกเหยี่ยวเฉี่ยวไป คนหนึ่งถูกน้ำพัดไป สามีก็ตายเสียในที่เปลี่ยว” เมื่อพบบุรุษผู้หนึ่งเดินมาจากกรุงสาวัตถี จึงถามว่า “พ่อ ท่านอยู่ที่ไหน ?”

    บุรุษ : ฉันอยู่ในกรุงสาวัตถี แม่

    ธิดาเศรษฐี : ตระกูลชื่อโน้นเห็นปานนี้ใกล้ถนนโน้นในกรุงสาวัตถีมีอยู่ ทราบไหม ? พ่อ

    บุรุษ : ฉันทราบ แม่ แต่อย่าถามถึงตระกูลนั้นเลย ถ้าท่านรู้จักตระกูลอื่น จงถามเถิด

    ธิดาเศรษฐี : ฉันไม่มีธุระที่เกี่ยวกับตระกูลอื่น ฉันถามถึงตระกูลนั้นเท่านั้นแหละ พ่อ

    บุรุษ : แม่ ฉันบอกก็ไม่ควร

    ธิดาเศรษฐี : บอกฉันเถิด พ่อ

    บุรุษ : วันนี้ แม่เห็นฝนตกคืนยังรุ่งไหม ?

    ธิดาเศรษฐี : ฉันเห็น พ่อ ฝนนั้นคืนยังรุ่งเพื่อฉันเท่านั้นไม่ตกเพื่อคนอื่น แต่ฉันจักบอกเหตุที่ฝนตกเพื่อแก่ท่านภายหลัง โปรดบอกความเป็นไปในเรือนเศรษฐีนั้นแก่ฉันก่อน

    บุรุษ : แม่ วันนี้ในกลางคืน พายุได้พัดเอาเรือนล้มทับ คนที่อยู่ข้างในตายหมด วันนี้คนทั้งสามเหล่านั้นก็ถูกเผาบนเชิงตะกอนเดียวกัน แม่เอ๋ย ควันนั่นยังปรากฏอยู่

    นางได้ฟังดังนั้น ถึงความเป็นคนวิกลจริตยืนตะลึงอยู่ ร้องไห้รำพันบ่นเพ้อเซซวนไปว่า :-

    “บุตร ๒ คน ตายเสียแล้ว สามีของเรา
    ก็ตายเสียที่ทางเปลี่ยว มารดาบิดาและพี่ชายก็ถูกเผา
    บนเชิงตะกอนเดียวกัน”

    เที่ยวกระเซอะกระเซิงไป ไม่รู้สึกถึงผ้าที่นุ่งซึ่งได้หลุดลง คนทั้งหลายเห็นนางแล้ว เข้าใจว่หญิงบ้า จึงเอาหยากเยื่อ กอบฝุ่น โปรยลงบนศีรษะ ขว้างด้วยก้อนดิน

    พระศาสดาประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัท ๔ ในพระเชตวันมหาวิหาร ได้ทอดพระเนตรเห็นนางผู้บำเพ็ญบารมีมาแสนกัลป์ สมบูรณ์ด้วยอภินิหารเดินมาอยู่
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระปฏาจาราเถรี เอตทัคคะในทางผู้ทรงพระวินัย

    ๐ นางได้ตั้งความปรารถนาไว้ในชาติก่อน

    ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ นางปฏาจารานั้น เห็นพระเถรีผู้ทรงวินิจฉัยรูปหนึ่ง อันพระปทุมุตตรศาสดาทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ จึงทำคุณความดีแล้ว ตั้งความปรารถนาไว้ว่า “แม้หม่อมฉันพึงได้ตำแหน่งเอตทัคคะผู้เลิศกว่าพระเถรีผู้ทรงวินิจฉัยทั้งหลายในสำนักพระพุทธเจ้าเช่นกับด้วยพระองค์” พระปทุมุตตรพุทธเจ้าทรงเล็งอนาคตตั้งญาณไป ก็ทรงทราบความปรารถนาจะสำเร็จจึงทรงพยากรณ์ว่า

    “ในอนาคตกาลหญิงผู้นี้จักเป็นผู้เลิศกว่าพระเถรีผู้ทรงวินิจฉัยทั้งหลาย มีนามว่าปฏาจาราในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า”

    พระศาสดา ทรงเห็นนางผู้มีความปรารถนาตั้งไว้แล้วอย่างนั้น ผู้สมบูรณ์ด้วยอภินิหาร กำลังเดินมาแต่ที่ไหนเทียว ทรงดำริว่า

    “เว้นเราเสีย ผู้อื่นชื่อว่าสามารถจะเป็นที่พึ่งของหญิงผู้นี้ได้ ไม่มี”

    จึงได้ทรงบันดาลให้นางเดินบ่ายหน้ามาสู่วิหาร

    พวกพุทธบริษัทเห็นนางแล้วจึงกล่าวว่า “ท่านทั้งหลาย อย่าให้หญิงบ้านี้มาที่นี้เลย”

    พระศาสดาตรัสว่า “พวกท่านจงหลีกไป อย่าห้ามเธอ”

    ในเวลานางมาใกล้ จึงตรัสว่า “จงกลับได้สติเถิด น้องหญิง”

    นางกลับได้สติด้วยพุทธานุภาพในขณะนั้นเอง

    ในเวลานี้ นางกำหนดความที่ผ้านุ่งหลุดได้แล้ว ให้เกิดหิริโอตัปปะขึ้น จึงนั่งกระโหย่ง

    ลำดับนั้น บุรุษผู้หนึ่งจึงโยนผ้าห่มไปให้นาง

    นางนุ่งผ้านั้นแล้วเข้าเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แทบพระบาททั้งสองซึ่งมีพรรณะดังทองคำแล้วทูลว่า “ขอพระองค์จงทรงเป็นที่พึ่งแก่หม่อมฉันเถิด พระเจ้าข้า เพราะว่าเหยี่ยวเฉี่ยวบุตรคนหนึ่งของหม่อมฉันไป คนหนึ่งถูกน้ำพัดไป สามีตายที่ทางเปลี่ยว มารดาบิดาและพี่ชายถูกเรือนทับตายเขาเผาเชิงตะกอนเดียวกัน”

    พระศาสดาทรงสดับคำของนาง จึงตรัสว่า “อย่าคิดเลยปฏาจารา เธอมาอยู่สำนักของผู้สามารถจะเป็นที่พึ่งพำนักอาศัยของเธอได้แล้ว เหมือนอย่างว่า บัดนี้ บุตรคนหนึ่งของเธอถูกเหยี่ยวเฉี่ยวไป คนหนึ่งถูกน้ำพัดไป สามีตายแล้วที่ทางเปลี่ยว มารดาบิดาและพี่ชายถูกเรือนทับฉันใด น้ำตาที่ไหลออกของเธอผู้ร้องไห้อยู่ในสงสารนี้ ในเวลาที่ปิยชนมีบุตรเป็นต้นตาย ยังมากกว่าน้ำแห่งมหาสมุทรทั้ง ๔ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน”

    ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

    “น้ำในสมุทรทั้ง ๔ มีประมาณน้อย น้ำตาของ
    คนผู้อันทุกข์ถูกต้องแล้ว เศร้าโศก ไม่ใช่น้อย มาก
    กว่าน้ำในมหาสมุทรนั้น เหตุไร เธอจึงประมาทอยู่เล่า ? แม่น้อง”

    เมื่อพระศาสดาตรัสอนมตัคคปริยายสูตรอยู่อย่างนั้น ความโศกในสรีระของนาง ได้ถึงความเบาบางแล้ว ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทราบที่นางผู้มีความโศกเบาบางแล้ว ทรงเตือนอีกแล้วตรัสว่า “ปฏาจารา ขึ้นชื่อว่าปิยชนมีบุตรเป็นต้น ไม่อาจเพื่อเป็นที่ต้านทาน เป็นที่พึ่ง หรือเป็นที่ป้องกันของผู้ไปสู่ปรโลกได้ เพราะฉะนั้น บุตรเป็นต้นเหล่านั้นถึงมีอยู่ ก็ชื่อว่าย่อมไม่มีทีเดียว ส่วนบัณฑิตชำระศีลแล้ว ควรชำระทางที่ยังสัตว์ให้ถึงนิพพานของตนเท่านั้น”

    เมื่อจะทรงแสดงธรรม ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :-

    “บุตรทั้งหลาย ไม่มีเพื่อต้านทาน บิดาก็ไม่มี
    ถึงพวกพ้องก็ไม่มี เมื่อบุคคลถูกความตาย ครอบงำ
    แล้ว ความต้านทานในญาติทั้งหลาย ย่อมไม่มี
    บัณฑิตทราบอำนาจประโยชน์นั้นแล้ว สำรวมในศีล
    พึงชำระทางไปนิพพานโดยเร็วทีเดียว”

    ในกาลจบเทศนา นางปฏาจาราเผากิเลสมีประมาณเท่าฝุ่นในแผ่นดินใหญ่แล้ว ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ชนแม้เหล่าอื่นเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล
     

แชร์หน้านี้

Loading...