เรื่องเด่น แนวปฏิบัติสติปัฏฐานภาวนามี ๒ นัย

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย สติจงมา, 16 พฤษภาคม 2017.

  1. สติจงมา

    สติจงมา สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 พฤษภาคม 2017
    โพสต์:
    47
    กระทู้เรื่องเด่น:
    20
    ค่าพลัง:
    +191
    [​IMG]


    แนวปฏิบัติสติปัฏฐานภาวนามีสองนัย


    พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์
    (พระอาจารย์ เทสก์ เทสรังสี)
    วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
    วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๗
    คัดจากหนังสือ ประมวลแนวปฏิบัติธรรม​

    ผู้จะลงมือเจริญสติปัฏฐานสี่แต่ละข้อ นอกจากเป็นผู้เห็นโทษทุกข์เบื่อหน่าย คลายความยินดีเพลิดเพลินติดอยู่ในกามคุณห้า แลทำความเลื่อมใสพอใจในการที่จะปฏิบัติตามสติปัฏฐาน เพราะเชื่อมั่นตามคำพยากรณ์ของพระพุทธเจ้าว่า เป็นทางที่จะให้พ้นจากกองทุกข์ได้อย่างแท้จริงแล้ว อย่าได้ลังเลสงสัยในสติปัฏฐานข้ออื่นอีก ที่เรายังมิได้เจริญ เพราะสติปัฏฐานทั้งสี่เมื่อเจริญข้อใดข้อหนึ่งให้เป็นไปแล้ว ข้ออื่นๆ ก็จะมาปรากฏชัดแจ้งให้หายสงสัยในข้อนั้นเอง แล้วก็อย่าไปหวังหรือปรารถนาอะไรๆ ไว้ล่วงหน้าให้มาเป็นอารมณ์ จะเป็นอุปสรรคแก่การเจริญสติปัฏฐาน

    อนึ่งความคิดปรุงแต่งว่า เราเจริญสติปัฏฐานแล้วจะได้จะเห็นจะเป็นอย่างนั้นๆ ก็อย่าให้มีอยู่ในจิตแม้แต่นิดเดียว แล้วพึงตั้งสติคุมจิตให้อยู่เป็นปัจจุบันอยู่เฉพาะสติปัฏฐานที่เรากำลังเจริญอยู่นั้น โดยวิธีใดวิธีหนึ่งซึ่งจะได้อธิบานต่อไปข้างหน้า

    นัย ๑ - ๑ เมื่อเอาสติไปตั้งลงที่กาย โดยแยกสติกับใจออกจากกายดังได้อธิบายมาแล้ว แล้วให้เพ่งดูเฉพาะกายเฉยๆ ไม่ต้องไปแยกแยะกายให้เป็นธาตุ-อสุภ อันใดทั้งหมด แม้แต่คำว่ากายหรือว่าคนก็ไม่ต้องไปคำนึงถึง ให้ตั้งสติเพ่งอยู่อย่างนั้น เมื่อจิตแน่วแน่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียวแล้ว อารมณ์อื่นนอกนั้นมันก็จะหายไปเอง ในขณะนั้นจิตจะไม่ส่งส่วยไปในอดีต-อนาคต แม้แต่จะสมมุติบัญญัติว่าอันนั้นเป็นนั่น อันนี้เป็นนี่ก็จะไม่มี

    กายที่จิตไปเพ่งดูอยู่นั้น ก็จะเห็นเป็นแต่สักว่าวัตถุธาตุอันหนึ่งเท่านั้น มิใช่เรามิใช่เขา หรือสัตว์ตัวตนบุคคลอะไรทั้งหมด นี่เรียกว่าจิตเข้าถึงเอกัคคตารมณ์ นั่นจึงจะถึงสติปัฏฐานภาวนาโดยแท้

    เมื่อจิตไปเพ่งวัตถุอันนั้นอยู่โดยไม่ถอนสักพักหนึ่งแล้ว วัตถุอันนั้นก็หายวับไป เมื่อสติไม่มีที่หมายสติก็หมดหน้าที่ สติก็จะหายไปพร้อมๆ กัน แล้วจิตกับวัตถุภาพนั้นก็จะรวมเข้าเป็นจิตอันเดียว ซึ่งลักษณะคล้ายๆ กับคนนอนหลับ แต่มิใช่หลับเพราะมันยังมีความรู้เฉพาะตัวมันอยู่ต่างหาก แต่จะเรียกว่าความรู้ก็ยังเรียกไม่ถูก เพราะมันนอกเหนือจากความรู้ทั่วไป นี่เรียกว่า เอกัคคตาจิต การเจริญสติปัฏฐานถึงที่สุดเพียงเท่านี้

    สติปัฏฐานข้ออื่นๆ ก็ทำนองเดียวกันนี้ ฉะนั้นข้ออื่นๆ ผู้สนใจพึงให้เข้าใจตามนี้ แล้วผู้เขียนก็จะไม่อธิบายซ้ำอีก ผู้ไม่เข้าใจหรือยังไม่เคยเจริญสติปัฏฐานอาจเข้าใจไปว่าตนนั่งหลับหรือเดินผิดทางไปเสียแล้ว บางท่านที่ปรารถนาจะเอาแต่ปัญญาอย่างเดียว ก็จะหาว่าโง่ไม่เกิดปัญญาอะไร พอจิตจะปล่อยวางอารมณ์คือวัตถุที่เพ่งอยู่นั้น ถ้าเกิดวิตกหรือลังเลอะไรขึ้นมาสักนิดเดียวในขณะนั้นแล้วจิตก็จะไม่รวมเป็นหนึ่งได้ เพราะมีอาการก็เลยเป็นสองขึ้นมา ต่อนั้นจิตก็จะถอนมาวุ่นส่งส่ายอะไรต่อมิอะไรอยู่ตามเดิม จิตที่เป็นเอกัคคตารมณ์จะหายไปตามกัน

    เอกัคคตาจิตที่ว่านี้จะตั้งอยู่ได้ก็ไม่นาน อย่างมากก็ราว ๒-๓ ชั่วโมง แล้วก็ถอนออกมา เมื่อถอนออกมาก็ไม่ได้มาตั้งอยู่ที่เอกัคคตารมณ์อันดับถอยออกมาจาเอกัคคตาจิตนั้น แต่มันจะถอนออกมาสู่ตามสภาพเดิม เหมือนเมื่อเรายังไม่ได้ฝึกอบรมสติปัฏฐาน แต่ที่ดีวิเศษกว่าเดิมก็คืออารมณ์ที่เกิดจากอายตนะทั้ง ๖ นั้นเราไม่ต้องรักษา แต่มันจะรู้เท่าเข้าใจเห็นตามสภาพความเป็นจริงแล้ว มีแต่จะปลงธรรมสังเวชสลดใจแล้วให้เกิดความเบื่อหน่ายในสิ่งนั้นๆ เป็นเครื่องอยู่

    พูดกันง่ายๆ เรียกว่า การเจริญสติปัฏฐานเบื้องต้น ก่อนจิตจะเข้าถึงเอกัคคตารมณ์ เอกัคคตาจิตนั้น เป็นอาการของจิตทำงาน จะเรียกว่าต่อสู้หรือผจญ หรือเพ่งพิจารณาอะไรก็แล้วแต่ เมื่อการงานของจิตสำเร็จแล้วจิตก็พักผ่อน (คือรวมเข้าเป็นเอกัคคตาจิต) เมื่อพักผ่อนพอควรแก่เวลาแล้ว จิตก็ออกตรวจ-จัดระเบียบ-ชมผลงานของตน พร้อมๆ กับเกิดความปราโมทย์ร่าเริงบันเทิงในผลของงานนั้นๆ

    ผลของการเจริญสติปัฏฐานทุกๆ ข้อ จะมีอาการคล้ายๆ กันนี้ทั้งนั้น อาจมีผิดกันบ้างบางคนซึ่งเป็นเพราะบุญบารมีนิสัยไม่เหมือนกัน หากได้อยู่ใกล้ผู้ที่ท่านฉลาดชำนาญในการนี้แล้ว ขอให้ท่านชี้ช่องทางให้ก็จะเจริญก้าวหน้าไปได้ด้วยดี ฉะนั้นเรื่องนี้ข้ออื่นๆ ผู้เขียนจะไม่นำมาอธิบายซ้ำอีก

    ความจริงการงานของกายกับงานของจิตก็คล้ายๆ กัน ผิดที่งานของกายทำด้วยวัตถุที่ยังไม่สำเร็จ ให้สำเร็จแล้วก็พัก งานของจิตทำด้วยนามธรรม (ปัญญา) ที่ยังหลงไปยึดไม่รู้เท่าเข้าใจตามเป็นจริง เมื่อชัดเจนแจ่มแจ้งด้วยปัญญาอันชอบ หมดหน้าที่แล้วก็ปล่อยว่างพักเอง

    อนึ่งภาพนิมิตและความรู้ต่างๆ อาจเกิดขึ้นในระหว่างที่กำลังเจริญอย่างนี้โดยมิได้ตั้งใจจะให้มันเกิด แต่มันหากเกิดขึ้นมาเองด้วยอำนาจของสมาธิก็ได้ ตามจังหวะๆ ที่กำลังเจริญอยู่นั้นเอง นี่มิได้หมายความว่าทุกคนเมื่อมาเจริญแล้วจะต้องเกิดภาพนิมิตอย่างนั้นทุกคนไปก็หาไม่ แต่ละบุคคลต่างหาก เรื่องเหล่านี้มันเป็นของพิเศษ ผู้เจริญสติปัฏฐานที่จะได้ประสบการณ์ด้วยตนเอง มิใช่แต่ภาพนิมิตเท่านั้น เรื่องอื่นๆ นอกนี้ยังมีอีกแยะ ฉะนั้นผู้สนใจเจริญสติปัฏฐานควรอยู่ใกล้กับอาจารย์ผู้ที่ท่านฉลาดแลชำนาญในการเจริญสติปัฏฐาน มีเรื่องแลขัดข้องตรงไหนท่านจะได้แนะแลชี้ช่องทางให้ อันจะเป็นทางเจริญก้าวหน้าไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างถูกต้องแลรวดเร็ว

    ผู้เขียนไม่มีโอกาสแลไม่สามารถจะนำมาอธิบายให้หมดถี่ถ้วนได้ แล้วก็ไม่ประสงค์จะอธิบายในเรื่องนี้ด้วย เพราะแต่ละบุคคลเป็นไปย่อมไม่เหมือนกัน ผู้ขียนมีความประสงค์จะแนะแนวฝึกอบรม เฉพาะสติปัฏฐานสี่เท่านั้น ฉะนั้นเมื่อเจริญสติปัฏฐานข้ออื่นๆ เมื่อมันเกิดมีอาการดังกล่าวมาแล้วนี้ ให้พึงเข้าใจโดยนัยดังกล่าวมาข้างต้นก็แล้วกัน ผู้เขียนจะไม่นำมาอธิบายอีกเช่นเดียวกัน

    นัยที่ ๑ - ๒ เมื่อเอาสติมาตั้งลงที่เวทนา (โดยมากเป็นทุกขเวทนา) โดยแยกสติกับใจออกจากเวทนา ดังได้อธิบายมาแล้ว แล้วก็ให้เพ่งดูเฉพาะเวทนาเฉยๆ ไม่ต้องไปคิดค้นว่า เวทนาเกิดตรงนั้นจากนั้นแลอยู่ ณ ที่นั้นๆ อะไรทั้งหมด แม้คำที่เรียกว่าเวทนาๆ นั้นก็อย่าได้มีในที่นั้น เมื่อเพ่งพิจารณาอยู่อย่างนี้ จิตก็จะปล่อยวางความยึดหถือสมมุติบัญญัติเดิมเสีย แล้วจะมีความรู้สึกสักแต่ว่าเป็นอาการของความรู้สึกอันหนึ่ง ซึ่งมิใช่อยู่นอกกายแลในกายของเรา แล้วอารมณ์อื่นๆ ก็จะหายไปหมด

    เมื่อจิตตั้งมั่นแน่วแน่อยู่เฉพาะในลักษณะนั้นดีแล้ว บางทีทุกขเวทนาอย่างแรงกล่าที่เกิดอยู่ในขณะนั้น จะหายวับไปเลยหากยังไม่หายเด็ดขาดจะปรากฏอยู่บ้าง อันนั้นก็มิใช่เวทนาเสียแล้ว มันเป็นสักแต่ว่อาการอันหนึ่งเพียงเพื่อเป็นที่เพ่งหรือที่ตั้งของสติเท่านั้น เรียกว่าจิตเข้าถึงเอกัคคตารมณ์

    เมื่อจิตไม่ถอน ละเอียดลงโดยลำดับแล้ว อาการอันหนึ่งซึ่งสติไปตั้งมั่นอยู่นั้นก็จะหายไป เมื่อสติไม่มีที่หมายแล้ว สติก็จะหมดหน้าที่ แล้วก็หายไปตามกันคงยังเหลือแต่เอกัคคตาจิต จิตที่บริสุทธิ์ผ่องใสดวงเดียว เมื่ออยู่สักพักหนึ่งแล้วก็จะถอนออกมา ต่อจากนั้นก็จะเดินตามวิถีเดิม ดังได้อธิบายมาแล้วในสติปัฏฐานข้อแรก

    นัยที่ ๑ - ๓ เมื่อเอาสติมาตั้งลงที่จิต (จิตในที่นี้หมายเอาผู้รู้สึกนึกคิด) แล้วก็ให้เพ่งดูเฉพาะแต่จิตเฉยๆ ไม่ต้องไปคิดว่าจิตเป็นบุญจิตเป็นบาปอย่างนั้นๆ จิตดีจิตชั่วจิตหขยาบจิตละเอียดอย่างนั้นๆ แม้แต่ชื่อแลบัญญัติของจิตอื่นนอกนี้ก็อย่าให้มี ณ ที่นั้น ให้ยังเหลือแต่สติที่เข้าไปเพ่งอาการอันหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะให้วับๆ แวมๆ แต่มิได้ออกไปยึดแลไปปรุงแต่งอะไรๆ

    หากจะมีปัญหาถามว่า สติก็อาการของจิตดังกล่าวแล้ว จิตก็ผู้แสดงอาการออกมาในลักษณะรู้สึกนึกคิด หรือจะสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ก็ว่า สติกับจิตก็อันเดียวกัน แล้วจะไปฝึกอบรมกันได้อย่างไร หรือว่าใครเป็นผู้ฝึกอบรมใครกันแน่ จึงขอเฉลยไว้ ณ ที่นี้เสียเลยเพื่อผู้ต้องการจะเจริญสติปัฏฐานจะได้ปฏิบัติให้ถูก ผิดถูกอย่างไรหากไม่ตรงตามมติของท่านผู้อ่านก็ขอโปรดได้ยกไว้เสียก่อน แล้วมายอมทำตามแนวมติของผู้เขียนดูก่อนว่า จิตจะมีมากหรือจิตอะไรๆ ก็ช่าง เราไม่ต้องคำนึงถึงมันละไว้ ณ ที่แห่งเดียว แล้วมาเพ่งดูเฉพาะจิตผู้รู้สึกนั่นนี่ และคิดถึงนั่นนี่จนสติกับจิตก็จะรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายอีกทีก็ว่า สติกับจิตที่ยังไม่ได้ฝึกอบรมให้เป็นจิตที่ฝึกอบรมดีแล้ว แลสงบอยู่ในบังคับของสติ

    เมื่อจิตกับสติรวมเข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว สติตั้งมั่นแน่วแน่อยู่เฉพาะที่จิตนั้นอย่างเดียว เรียกว่า เอกัคคตารมณ์ เมื่อจิตไม่ถอน ละเอียดเข้าแล้ว จิตคืออารมณ์ของจิตนั้นก็จะหายไป สติก็จะหายไปตามกันดังได้อธิบายมาแล้วข้างต้น แล้วเปลี่ยนสภาพไปเป็นเอกัคคตาจิต นอกนี้มีอาการดังได้อธิบายมาในข้างต้นแล้วทุกประการ

    นัยที่ ๑ - ๔ เมื่อเอาสติมาตั้งลงที่ธรรม (คืออารมณ์ของใจที่เกิดจากอายตนะผัสสะทั้ง ๖ ) แล้วให้เพ่งดูก่อนอยู่เฉพาะธรรมนั้นเฉยๆ ไม่ต้องไปแยกแยะว่า ธรรมนั้นเป็นอย่างนั้นๆ แลเกิดดับอย่างนั้นๆ แม้แต่คำที่ว่าธรรมดาๆ ก็อย่าให้มี ณ ที่นั่นเลย ให้เพ่งดูแต่เฉพาะอาการอันหนึ่งซึ่งอายตนะภายนอกภายในกระทบกันแล้ว แสดงปฏิกิริยาอันหนึ่งเกิดขึ้นมาเท่านั้น

    หากจะมีคำถามขึ้นมาในที่นี้ว่า จิตกับธรรมแปลกต่างกันตรงไหนก็ขอเฉลยว่า ธรรมในที่นี้หมายถึงเอาอารมณ์ซึ่งเกิดจากอายตนะทั้ง๖ มีตาเป็นต้น เมื่อตาเห็นรูปที่สวยน่าชอบใจแล้วจิตก็เข้าไปแวะข้องเกี่ยว อยากได้ รักใคร่ ชอบใจ ยินดี ติดยึดมั่นเกาะเหนียวแน่นอยู่ในรูปนั้น ที่เรียกว่าธัมมารมณ์ ธัมมารมณ์อย่างนี้แหละที่เรียกว่า ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่ต้องการจะฝึกอบรมสติในธรรมอันยังไม่บริสุทธิ์ จะให้เกิดเป็นสภาพธรรมอันบริสุทธิ์ขึ้นมา ส่วนจิตนั้นหมายเอาเฉพาะผู้รู้สึกนึกคิดเฉยๆ ยังไม่ทันเป็นอารมณ์ให้เกิดเป็นกิเลสขึ้นมา

    เมื่อสติตั้งมั่นแน่วแน่อยู่เฉพาะในธัมมารมณ์อันนั้นมั่นคงไม่เสื่อม เรียกว่าเอกัคคตารมณ์ เมื่อจิตละเอียดเข้าไปจนที่ตั้งอารมณ์ของสตินั้นหายไป แล้วสติก็จะหายไปด้วยกัน จะคงยังเหลือแต่จิตอันหนึ่งซึ่งไม่มีอาการเป็นสอง เมื่อจิตพักอยู่ในลักษณะเช่นนั้นพอควรแก่ภาวะของตนแล้ว ก็จะถอยออกตาเดินตามวิธีเดิมดังได้อธิบายมาแล้วในสติปัฏฐานข้อต้นๆ

    หากจะตั้งปัญหาถามขึ้นมาอีกว่า การฝึกอบรมสติปัฏฐานสี่เบื้องต้นจิตก็ละเอียดลงไปโดยลำดับๆ จนเป็นเอกัคคตารมณ์แลเอกัคคตาจิต แต่แล้วทำไมจึงต้องถอนออกมาเดินอยู่ตามวิถีเดิม (คืออารมณ์ทั้งหก) จะไม่เรียกว่าจิตเสื่อมหรือ เฉลยว่า มนุษย์คนเราเกิดมาในกามภพใช้วัตถุกาม (คืออายตนะ) เป็นเครื่องอยู่ หลงแลมัวเมา คลุกกรุ่นเป็นทุกข์เดือดร้อนนานัปปการอยู่ด้วยกามกิเลสด้วยเหตุที่มิได้ฝึกอบรมสติของตนให้มั่นคงจนให้รู้แลเห็นจิตเห็นตัวกิเลสแลที่เกิดของกิเลสตามเป็นจริง จนจิตแยกตัวออกจากกิเลสได้

    ผู้มีปัญญามาเห็นโทษแลเบื่อหน่ายในความเป็นอยู่ของกิเลสเหล่านั้นแล้ว จึงมาตั้งใจฝึกอบรมในสติปัฏฐานสี่จนได้ผลดังได้อธิบายมาแล้ว ถึงกระนั้นก็ดี เมื่ออายตนะคือตัวของเรา มันเป็นวัตถุกามอยู่แล้ว ก็อยู่ในกามภพรับอารมณ์ที่เป็นของกามกิเลสอยู่เช่นนี้ เมื่อจิตถอนออกมาจากเอกัคคตาจิต ซึ่งในที่นั้นถือว่าจิตบริสุทธิ์ไม่มีอะไรแล้ว จิตก็จะมาจับเอาเครื่องมือเก่าใช้ต่อไปอีกจนกว่าจะดับแตก

    เมื่อจิตที่ได้ฝึกอบรมให้ชำนาญคล่องแคล่วไว้ดีแล้ว จิตนั้นจะประกอบด้วยปัญญาฉลาดสามารถใช้วัตถุกามโดยมิให้เกิดกามกิเลส พูดกันง่ายๆ ว่า รูปกายแลจิตเกิดในกามภูมิ จึงต้องหลงแลมัวเมาประมาทเดือดร้อนเป็นทุกข์อยู่ด้วยกามกิเลส ผู้มีปัญญาเห็นโทษแล้วมาฝึกอบรมสติสัมปัฏฐานจนพ้นจากเป็นทาสของกามกิเลสแล้ว ใช้วัตถุกามเพื่อความเป็นอยู่จนกว่าจะแตกดับ

    สติปัฏฐานสี่ตามแนวนัยที่ ๑ ดังได้อธิบายมาแล้วนี้ ท่านที่มีจิตฟุ้งซ่านมากเพราะธุระภารกิจมากก็ตาม หรือจะเพราะมีการศึกษาตำรามากไม่มีสนามลงก็ตาม ควรจะร่อนลงในสนามเล็กๆ นี้ดูบ้าง ต่างพักผ่อนเติมน้ำมัน หากจะบินต่อไปก็จะได้ทางไกลเพื่มขึ้นอีกก็ได้ ความจริงพุทธศาสนิกชนผู้เคารพแลเลื่อมใสเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว คำว่าเราจะทดลองหรือฝึกอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อทดสอบหาความจริงดู ไม่น่าจะมีในหมู่ชาวพุทธเลย เพราะสติปัฏฐานที่พระองค์ได้ทรงพยากรณ์ไว้อย่างเด็ดขาดแล้วว่า

    ผู้ใดมาเจริญซึ่งสติปัฏฐานสี่ ทำให้มาเจริญให้ยิ่งจนชำนาญแล้ว อย่างช้าเจ็ดปีอย่างเร็วเจ็ดวัน ต้องได้สำเร็จเป็นอรหันต์ ถ้าไม่ถึงอรหันต์ก็ต้องได้พระอนาคามี ฉะนั้นเมื่อถือว่าเราเชื่อต่อคำสอนของพระองค์แล้ว จะมาลังเลใจทำไมกันอยู่ จงได้ตัดสินใจลงมือเจริญกันเสียเถิด อนึ่งการเจริญสติมิใช่เป็นของเสียหายอะไร มีแต่จะทำผู้เจริญให้ดีขึ้น เพราะสติเป็นสิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนา เมื่อได้สติแล้วแต่ยังไม่ดีพอก็จะทำให้ดีขึ้น เมื่อสติดีอยู่แล้วก็จะทำให้ดียิ่งๆ ขึ้น “คนที่พลั้งๆ เผลอๆ จดจำอะไรไม่ค่อยจะได้ เขาเรียกว่าคนสติไม่ดี คนไม่มีสติเสียเลยเขาถือว่าบ้า”

    แนวฝึกอบรมสติปัฏฐานสี่โดยนัยที่ ๒ ซึ่งจะได้อธิบายต่อไปนี้ บุพพภาคเบื้องต้นก่อนจะลงมือฝึกอบรม พึงทำมนสิการไว้ในใจก่อน เช่นให้เห็นโทษทุกข์เบื่อหน่ายในกามคุณทั้งห้า แล้วมีความเชื่อมั่นในการเจริญสติปัฏฐานสี่ไม่มีลังเลสงสัย ยอมสละกังวลใดๆ ทั้งหมดแล้วตั้งสติลงในปัจจุบันธรรม เป็นต้น ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แล้วจึงเจริญเป็นข้อๆ ไป นัยที่ ๒ นี้ผิดแผกจากนัยที่ ๑ ตรงที่ เมื่อตั้งสติปักมั่นลงในสติปัฏฐานใดแล้ว แทนที่จะไปจ้องอยู่เฉยๆ ไม่ต้องพิจารณาอะไรๆ ทั้งนั้น เหมือนนัยที่ ๑ แต่ตรงกันข้าม นัยที่ ๒ นี้ ต้องเข้าไปตรวจค้นวิพากษ์วิจารณ์ว่าอะไรเป็นอะไร ในสติปัฏฐานนั้นๆ จนให้เห็นความจริง ละถอนสมมุติบัญญัติผิดๆ นั้นเสียแล้ว จิตก็จะเข้าถึงเอกัคคตาจิต แช่นเดียวกันกับนัยที่ ๑ ดังได้อธิบายมาแล้ว

    นัยที่ ๒ - ๑ ให้เอาสติมาตั้งมั่นลงที่กาย แล้วให้เพ่งพิจารณาโดยจะแยกกายนี้ออกให้เป็นชิ้นๆ เช่นกำหนดแนก ผม-ขน-เล็บ-ฟัน-หนัง หรือจะถนัดส่วนใดก็ได้ เอาออกไว้เป็นกองๆ หรือจะเพ่งพิจารณาให้เห็นเป็นธาตุสี่หรืออสุภก็แล้วแต่จะชัดด้วยใจของตนเอง มิฉะนั้นจะเพ่งพิจารณาให้เห็นเป็นพระไตรลักษณญาณก็ได้ แต่เมื่อจะเพ่งพิจารณาอย่างใดแล้ว ขอให้ทำความเชื่อมั่นในกรรมฐานอุบายนั้นๆ โดยเฉพาะว่า กรรมฐานอุบายอันนี้เป็นของดีถูกต้องแล้ว อย่าได้ลังเลแลส่งส่ายไปหยิบเอากรรมฐานอุบายโน่นบ้างนี่บ้างมาพิจารณา แลการฝึกอบรมนั้นก็มิใช่ว่าทำประเดี๋ยวประด๋าว เมื่อไม่ได้ผลแล้วก็ทิ้งต้องยอมสละทอดธุระกันจริงๆ

    แม้แต่ชีวิตเลือดเนื้อของเราก็จะต้องยอมสละ เพื่อบูชาพระกรรมฐานอันเป็นของประเสริฐหาได้ยากนี้ เมื่อจิตไปเพ่งพิจารณารวมอยู่ในจุดเดียวอย่างนั้นแล้ว กรรมฐานที่เราเพ่งพิจารณาอยู่นั้นจะจะปรากฏชัดขึ้นมากกว่าที่เราเห็นด้วยตาธรรมดา บางทีอาจเป็นเหมือนกายกับจิตเป็นคนละคนกันไป จิตเป็นผู้มองดูกายแล้วก็เห็นชิ้นส่วนในกายชัดทุกอย่าง เห็นกายนี้เป็นอนัตตาอย่างไม่มีลังเลเลย แล้วก็จะเห็นสภาพของกายนี้เปลี่ยนแปลงยักย้ายอยู่เป็นนิตย์ อย่างน่าสงสารสลดสังเวชยิ่ง

    เมื่อมองดูความหลงมัวเมาของตนเองที่ไปหลงยึดเอาว่าของๆ กู ก็ยิ่งน่าละอายแก่ใจยิ่งนัก ร่างกายอันนี้เกิดมาเพื่อต่อสู้กับสิ่งแวดล้อมมีเย็นร้อนอ่อนแข็ง แลความตรากตรำต่อการงานหรือโรคภัยนานัปปการแท้ๆ แล้วจิตจะไปปักมั่นแน่วแน่อยู่ในความชัดที่ไปเห็นไปรู้อย่างมหัศจรรย์นั้น จนจิตเกิดเป็นเอกัคคตารมณ์ขึ้นมา เมื่อจิตนั้นไม่ถอนละเอียดลงไป ภาพที่เป็นอารมณ์ของจิตนั้นก็จะหายวับไปพร้อมกับสติ แล้วเข้ามารวมเป็นจิตอันหนึ่งดังได้อธิบายมาแล้วตามนัยที่ ๑ พออยู่ได้สักพักหนึ่งแล้วก็ถอนออกเดินตามวิธีเดิมดังได้อธิบายแล้วทุกประการ


    นัยที่ ๒ - ๒ ให้เอาสติมาตั้งมั่นลงที่เวทนา (โดยมากมักเป็นทุกขเวทนา เพราะเป็นเรื่องต่อสู้) เมื่อแยกจิตออกจากเวทนาแล้ว จงได้ตรวจดูเวทนาว่า เวทนามันเป็นอะไรกันแน่ แลคำว่าทุกขเวทนา นั้นมันเป็นตัวเป็นตนมีจริงหรือเปล่า แล้วเวทนามันเกิดจากอะไร ใครเป็นผู้ว่า แลใครเป็นผู้ไปยึดเอา เวทนานั้นมาไว้ที่จิต ถ้าเวทนากับจิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วไซร้ จิตนี้ก็จะพ้นทุกข์ไม่ได้เลย นี่หา เป็นเช่นนั้นไม่ บางทีจิตอยู่เฉย ๆ ก็หาได้มีเวทนาไม่

    เมื่อพิจารณาค้นคว้าหาข้อเท็จจริงไป พิจารณาไป จิตก็จะหยุดฟุ้งซ่านส่งส่าย แล้วเข้ามารวมอยู่ที่เวทนา แล้วคำว่าทุกขเวทนาก็จะหายไป คงยังเหลือแต่ สติ ความระลึกได้กับอาการของจิตอันหนึ่ง อันมีลักษณะให้เกิดขึ้นแล้วดับไป ๆ อยู่เท่านั้น เรียกว่า จิต มีอารมณ์อันเดียวเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เมื่อเพ่งพิจารณาอยู่อย่างนั้นจิตก็จะละเอียดเข้า ๆ แล้ว อารมณ์ของจิตนั้นก็จะหายวับไป เข้าไปรวมเป็นเอกัคคตาจิต พออยู่ได้สักพักหนึ่งแล้วก็จะถอนออก มาเดินตามวิถีเดิม ดังได้อธิบายมาแล้วในข้างต้น

    นัยที่ ๒ - ๓ ให้เอาสติมาตั้งมั่นลงที่จิต (จิตในที่นี้หมายเอาจิตที่ยังไม่ได้อบรมให้ถึงความสงบ ดังกล่าวแล้วข้างต้น) แล้วให้เพ่งพิจารณาจิตผู้ยังดิ้นรนกระสับกระส่ายอยู่ เป็นของไม่มีตัวตนส่งส่าย หาสาระไม่ได้ เป็นอนัตตา พาให้เป็นทุกข์ จิตของเราแต่เราก็บังคับมันไม่ได้ มีเหมือนไม่มี ทำให้ เบื่อหน่ายน่าสลดสังเวชตัวเอง จิตเป็นแต่เพียงอาการเกิดดับ ๆ มิใช่อะไรทั้งนั้น

    เมื่อพิจารณาจิต เห็นจิตเป็นอนัตตาแล้ว จิตกับสติก็รวมเข้ามาอยู่ ณ ที่เดียวกัน คราวนี้สติไม่ต้องตามไปจับจิต จะ กำหนดรู้อยู่ที่จิตแห่งเดียว เอาจิตผู้สักแต่ว่าคิดเกิดดับ ๆ อยู่นั้นเป็นอารมณ์จนเป็นเอกัคคตารมณ์ เมื่อเพ่งพิจารณากำหนดอยู่อย่างนั้นละเอียดเข้าโดยลำดับแล้ว จิตเกิดดับ ๆ ที่เป็นเป้าหมายของสติ นั้นก็ดับวูบหายไป พร้อมด้วยสติผู้ตามระลึกจิตอยู่นั้นด้วย แล้วจะมารวมเป็นสภาพอันหนึ่ง พออยู่ ได้สักพักหนึ่งแล้ว ก็จะถอนออกมาเดินตามวิถีเดิมของมัน ดังได้แสดงมาแล้วแต่ข้างต้น

    นัยที่ ๒ - ๔ ให้เอาสติมาตั้งมั่นลงที่ธรรม (หมายเอาธัมมารมณ์ อารมณ์ที่เกิดจากอายตนะ ทั้งหก แล้วจิตไปยึดถือเอามาเป็นตัวเป็นตน) แล้วให้เพ่งพิจารณาธัมมารมณ์นั้นว่า มันเกิดขึ้นจาก อายตนะภายในกับอายตนะภายนอกกระทบกัน หาได้มีสาระแก่นสารอะไรไม่ เป็นอนัตตา เกิดขึ้นมา แล้วก็ดับไป ๆ ติดต่อกันอยู่อย่างนั้น ไม่เพียงทำผู้เข้าไปยึดเป็นทุกข์เปล่า อุปมาเปรียบเหมือน เหล็กไฟกระทบกับหินแล้วก็เกิดแสงประกายขึ้นวูบหนึ่งแล้วดับไป ผู้ที่ไปชอบแลติดใจในอารมณ์นั้น ๆ อยากได้แลอยากเห็นประกายอันนั้น ก็เอาเหล็กมาตีกับหินอีก สัญญาความจำในอารมณ์นั้น ๆ ก็เป็นอนัตตาไม่เที่ยงเกิดดับเหมือนกัน สังขารความปรุงแต่งในอารมณ์นั้น ๆ ก็เป็นอนัตตาไม่เที่ยง เหมือนกัน

    เมื่อจิตรักใคร่ชอบใจปรารถนาอยากได้ แต่อารมณ์นั้น ๆ ไม่เที่ยงหายไป จึงใช้สัญญาเก่า นั้นไปยึดเอาอารมณ์นั้น ๆ มาให้สังขารปรุงแต่งใหม่อีก แล้วก็หลงว่าเป็นของใหม่ทำให้ติดอกติดใจยิ่ง ๆ ขึ้น เมื่อชอบใจรักใคร่มากขึ้นความปรารถนาก็มีมากขึ้น สัญญาความจำแลสังขารความปรุงแต่ง ก็ถี่ยิบขึ้น จนปรากฏเห็นว่าเป็นของเที่ยงตั้งอยู่ตลอดเวลา จิตจึงไปยึดเอามาเป็นอารมณ์ที่เรียกว่า ธัมมารมณ์

    เมื่อเอาสติมาตั้งให้มั่นลงที่ธรรมดังได้อธิบายมาแล้วนั้น แล้วมาพิจารณาแยกแยะออก จนเห็นเนื้อแท้ของจริงดังได้อธิบายมาแล้วนั้น จิตก็จะคลายจากความหลงรักใคร่ชอบใจแลปรารถนา เห็นธัมมารมณ์แลสัญญา สังขาร เป็นแต่สักว่าสภาวธรรมอันหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป เพราะอายตนะ ผัสสะยังมีอยู่มันก็ต้องมีขึ้นตามธรรมดาของมัน สติก็จะตั้งแน่วแน่อยู่เฉพาะในธัมมารมณ์แต่อย่างเดียว จนเป็นเอกัคคตารมณ์

    เมื่อจิตตั้งมั่นอยู่อย่างนั้นความปล่อยวางในธรรมทั้งหลายก็ค่อย หมดไป ๆ อันทำให้จิตละเอียดลงโดยลำดับ ที่สุดธัมมารมณ์ของสตินั้นก็จะหายวูบไป แล้วไปรวมเป็นเอกัคคตาจิต มีจิตดวงเดียว เมื่อพักอยู่อย่างนั้นพอควรแก่กาลแล้วก็จะถอนออกมาเดินตามวิถีเดิม ดังได้อธิบายมาแล้วข้างต้นทุกประการ ถ้าผู้มาฝึกอบรมสติปัฏฐานสี่ดังได้อธิบายมาแล้วโดยนัยที่ ๑ นั้น เมื่อไม่สว่างแจ่มแจ้งมึนเซ่อ ไม่เอาการเอางานอะไรมีแต่จะสัปหงกร่ำไปแล้ว เชิญมาฝึกอบรมตาม แนวนัยที่ ๒ นี้ดูก็จะดี

    สติปัฏฐานภาวนาที่ได้อธิบายมาแล้วนี้ เป็นเพียงสังเขปย่นย่อเพื่อประโยชน์แก่ผู้ตั้งใจจะ ปฏิบัติเท่านั้น หากจะอธิบายให้กว้างขวางแลละเอียดมากนักอาจทำให้ผู้อ่านเบื่อเอือมระอา แล้วก็ไม่มี แก่ใจอยากจะปฏิบัติอีกด้วย เช่นตัวอย่างที่อธิบายเรื่องเจริญสติปัฏฐานแต่ละข้อ ก็ยกมาอธิบายเพียง เอกเทศส่วนหนึ่งของอุบายหลาย ๆ อย่างเท่านั้น

    ส่วนอารมณ์ที่เกิดจากอายตนะทั้งหก ก็ยกเอาเพียง เรื่องตาอย่างเดียวเท่านั้นมาเป็นตัวอย่าง แต่ก็ไม่เป็นไรเมื่อผู้มาตั้งใจจะปฏิบัติเป็นผู้ยอมเสียสละทุก ๆ อย่าง ดังได้อธิบายมาแล้วข้างต้น ลงมือปฏิบัติให้เป็นไปตามที่ได้อธิบายมาแล้วนั้น จนให้เข้าถึง สติปัฏฐานภาวนาอันแท้จริงแล้ว อุบายอื่นแลอารมณ์อื่นนอกจากที่ได้อธิบายมาแล้วนั้น จะมาปรากฏ ชัดแจ้งขึ้น ณ ที่นั้นเอง

    ตามตำราที่ท่านแสดงไว้ว่า ให้พิจารณาภายในกายหรือภายนอกภายในก็ดี กายหยาบกายละเอียดเป็นต้นก็ดี เมื่อเรามาฝึกอบรมให้เข้าถึงสติปัฏฐานอย่างแท้จริง ดังได้อธิบายมาแล้วนั้น เรื่องที่ท่านแสดงไว้ในตำราไม่เป็นของยากเลย เราสามารถพิจารณาให้เป็นไป ได้ทั้งนั้น ยิ่งปฏิบัติให้ละเอียดแลชำนาญเข้าเท่าไร ความรู้แลความฉลาดสามารถจะเกิดขึ้นได้เป็น เอนกอนันต์ ทั้งก่อนจิตจะเป็นเอกัคคตารมณ์ หรือหลังจากถอนจิตออกจากเอกัคคตาจิตแล้ว เป็นสิ่ง ที่น่าพึงใจแลน่าสนใจแก่ผู้ปฏิบัติยิ่งนัก ถึงแม้ผู้เขียนจะนำมาบรรยายก็ไม่สามารถจะให้สิ้นสุดได้ แล้วก็ไม่ถึงเนื้อแท้ของความเป็นจริงอันนั้นอีกด้วย เพราะความซาบซึ้งอันนั้นเป็นภาษาของใจรู้ได้ เฉพาะตนเท่านั้น ยากยิ่งนักที่จะพูดออกมาเป็นภาษาธรรมดาให้เข้าใจได้ง่าย

    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_thes/lp-thes_17_05.htm


    [​IMG]
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 16 พฤษภาคม 2017

แชร์หน้านี้

Loading...