เรื่องเด่น โลกต้องไม่ช้ำ ธรรมต้องไม่เสีย (พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.)

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 8 กันยายน 2017.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    LP-Lek007 พลังจิต.jpg


    โลกต้องไม่ช้ำ ธรรมต้องไม่เสีย

    การที่พวกเราทั้งหลายปฏิบัติธรรมนั้น บางทีเราก็เน้นหนักไปในด้านเดียว ก็คือว่า ถ้าจะเอาเรื่องทางธรรมก็ไปยาวเลย โดยไม่ได้สนใจ ไม่ใส่ใจความรู้สึกของคนอื่น ซึ่งความจริงแล้วถ้าหากว่าเราทำกันอย่างชนิดที่เรียกว่าสละชีวิตก็ได้ กำลังใจก็ควรที่จะไปในแนวนั้น

    แต่ว่าเรายังต้องอยู่ในสังคมก็ควรจะยึดหลักว่า โลกต้องไม่ช้ำ ธรรมต้องไม่เสีย เพราะว่าถ้าหากว่าเราไม่เอาทางโลกเสียเลยก็ไม่ได้ แม้ทางโลกจะเป็นเรื่องสมมติ แต่เมื่อเราอยู่กับโลกก็ต้องเคารพสมมติทางโลกเป็นปกติ

    ดังนั้น..ทางสายกลางสำหรับนักปฏิบัติจริง ๆ ที่ว่าโลกต้องไม่ช้ำธรรมต้องไม่เสียนั้น เราก็ควรจะดูความพอเหมาะ พอควร พอดี ไม่อย่างนั้นแล้วอาจมีการกระทบกระทั่งกับคนรอบข้าง คนในครอบครัว ทำให้เกิดการแตกแยกขึ้น ทำให้บุคคลจำนวนหนึ่งที่ปัญญาไม่ถึง เกิดการตราหน้าเราขึ้นมาว่า..นี่นะหรือนักปฏิบัติ ไหนว่าไปปฏิบัติธรรมมาแล้ว ทำได้เพียงแค่นี้เองหรือ ?…ซึ่งสิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นแน่ ๆ จะต้องได้พบแน่ ๆ สำหรับนักปฏิบัติทุกคน

    แต่ถ้าหากว่าเราไม่ระมัดระวัง การกล่าวหาหรือการตราหน้าในลักษณะอย่างนี้ก็จะมีมากและหนัก ซึ่งจะทำให้เราอยู่ในสังคมได้ยาก อยู่กับคนรอบข้างได้ยาก เพราะว่านักปฏิบัติธรรมนั้น ควรที่จะพัฒนา กาย วาจาและใจ ของเราให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ไม่ใช่ว่ากี่วัน ๆ ก็เหมือนเดิม ถ้าอย่างนั้นก็สมควรที่เขาจะตราหน้าเราอยู่

    แต่ถ้าเรารู้จักพัฒนา กาย วาจา ใจ ของเราให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ มีความละเอียดรอบคอบ หมั่นสังเกตดูว่าคนรอบข้างมีความคิดความเห็นกับเราอย่างไร แล้วก็พยายามปรับในลักษณะโอนอ่อนผ่อนตามมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ต้องไม่เกินกรอบของศีล ถ้าเขาจะพาเราไปผิดศีลผิดธรรม เราไปแค่สุดกรอบแล้วก็ย้อนกลับมา

    พูดง่าย ๆ ว่าตามใจโลกแต่ก็ไม่ใช่ตามใจเสียทั้งหมด ขณะเดียวกันทิ้งโลก..ก็ไม่ได้ทิ้งเสียทีเดียวทั้งหมด เพราะว่าธรรมและโลกอิงอาศัยกันอยู่ ร่างกายนี้เป็นสมบัติของโลก อย่างไรเสียเราก็ต้องอาศัยโลกอยู่ แต่ขณะเดียวกัน จิตใจของเราต้องให้พัฒนาไปตามสภาวธรรม ให้ศีล สมาธิ ปัญญาของเราเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป

    ถ้าหากว่าเราพัฒนาในเรื่องของปัญญาด้วยจริง ๆ ก็จะเห็นช่องทางว่าเราจะอยู่กับโลกอย่างไรให้มีความสุข แต่ถ้าหากว่าเรายังก้าวไม่ถึงในระดับพัฒนาปัญญาขึ้นมาก็จะต้องมีการกระทบกระทั่งกับโลกเป็นธรรมดา

    ดังนั้น..การที่วันนี้ญาติโยมบางท่านมาถามปัญหาก็ดี มีการแสดงออกต่าง ๆ ในระหว่างที่มาถวายสังฆทานก็ดี ทำให้อาตมาฉุกใจคิดขึ้นมาว่า บางท่านนั้นมาในทางธรรมจนโลกช้ำไปแล้ว ส่วนบางท่านก็เกาะทางโลกมากเกินไปจนธรรมนั้นเสีย

    ให้ทุกท่านพิจารณาดูตัวเราเองว่า ปัจจุบันนี้ตัวเรานั้นอยู่ในลักษณะของโลกช้ำธรรมเสียหรือไม่ ? ถ้าหนักไปในด้านไหนด้านหนึ่งก็ให้พยายามปรับ พยายามผ่อน เพื่อให้ออกมาให้ดีที่สุด ถ้าออกมาในลักษณะที่ดีที่สุด มีการพัฒนา กาย วาจาและใจ ของเรา ก้าวหน้าขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สมกับที่เป็นนักปฏิบัติแล้ว เราอาจจะสร้างความเชื่อถือให้แก่คนรอบข้าง ทำให้เขาสนใจอยากจะปฏิบัติตามบ้าง เพราะเห็นชัดว่าเราพัฒนาตัวเองดีขึ้นมาได้อย่างไร

    ถ้ามาถึงตรงจุดนี้ เราก็จะสร้างความเลื่อมใสให้แก่บุคคลที่ยังไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และสร้างความเลื่อมใสยิ่ง ๆ ขึ้นไปให้แก่บุคคลที่เลื่อมใสในพุทธศาสนาอยู่แล้ว

    ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การปฏิบัติธรรมของเรานั้น นอกจากเพื่อมรรคเพื่อผลของตนเองแล้ว ยังเป็นการเกื้อกูลพระศาสนา เป็นการสงเคราะห์เพื่อนร่วมโลกอีกด้วย สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จึงควรเป็นสิ่งที่ควรจะต้องสังวรระวังเอาไว้ว่า การก้าวเดินไปในเส้นทางธรรมนั้น เราจะไม่ใส่ใจทางโลกเลยก็เป็นสิ่งที่ถูก แต่เราต้องปลีกตัวออกจากสังคมไปเลย แต่ถ้าตราบใดที่เรายังต้องอยู่ในสังคมอยู่ ก็ต้องระมัดระวังอย่าให้โลกช้ำธรรมเสีย

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
    วันเสาร์ที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๕



    ที่มา วัดท่าขนุน
     

แชร์หน้านี้

Loading...