เรื่องเด่น ไหว้พระ 10 วัด สืบสิริสวัสดิ์ 10 รัชกาล

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 31 ธันวาคม 2017.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    ต้อนรับปีใหม่วิถีพุทธ ด้วยจิตใจสงบ บริสุทธิ์แจ่มใส เป็นมงคลกับชีวิต และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์


    ความหมายคำว่า มนต์ ตามสำนักงานราชบัณฑิตยสภา หมายถึง ‘คำศักดิ์สิทธิ์’ หรือคำสำหรับสวดเพื่อเป็นสิริมงคล เป็นภาษา ‘บาลี’ ใช้กับคำทางพระพุทธศาสนา หมายถึง คำสาธยายพระพุทธวจนะ เช่น สวดมนต์ น้ำพระพุทธมนต์

    มีการอธิบายไว้ด้วยว่า ก่อนพระพุทธศาสนาบังเกิด เดิมมีลัทธิไสยศาสตร์ ลัทธินี้มีคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ชื่อ ‘ไตรเพท’ ในศาสนาพราหมณ์ที่แนบแน่นมากกับเรื่องพิธีกรรม โดยเชื่อว่า ‘มนต์’ สามารถทำให้เกิดผลตามที่มุ่งหมายบางอย่างด้วยอานุภาพของมนต์นั้น เนื้อหาในคัมภีร์นี้แยกเป็น 3 ประเภท คือ ฤคเวท เป็นคำฉันท์ ใช้สำหรับสวดมนต์และสรรเสริญเทพเจ้า, ยชุรเวท เป็นคำร้อยแก้ว ใช้สำหรับท่องบ่นเวลาบวงสรวงเทพเจ้า, สามเวท เป็นคำฉันท์ ใช้สำหรับสวดมนต์ทำพิธีถวายน้ำโสม (เว็บไซต์ torthammarak.wordpress.com)

    ต่อมาได้เพิ่ม อาถรรพณเวท เข้ามาเป็นประเภทที่ 4 ประกอบด้วยเวทมนตร์คาถา เรียกผีสางเทวดาให้ช่วยป้องกันภัยอันตรายและให้มีการแก้อาถรรพ์ ทำพิธีสาปแช่งให้เป็นอันตรายได้ด้วย

    ในศาสนาพราหมณ์ ผู้นับถือพระวิษณุจะเรียกว่า วิษณุเวท ส่วนคำท่องบูชาพระวิษณุเรียก มนตรา, ผู้นับถือพระศิวะ เรียก ศิวเวท คำท่องบูชาพระศิวะ เรียก อาคม, ซึ่งแตกต่างกับคำว่า พุทธมนต์ อย่างสิ้นเชิง

    เพราะคำว่า ‘พุทธมนต์’ หมายถึง พระพุทธพจน์อันเป็น ‘พระธรรม’ คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า ที่มีปรากฏในพระไตรปิฎกบ้าง เป็นคำที่แต่งขึ้นมาภายหลังบ้าง โดยถือกันว่า ‘พระพุทธมนต์’ เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ สามารถปัดป้องอันตรายต่างๆ ได้ จึงเรียกอีกอย่างว่า พระปริตร

    บทสวดมนต์ในศาสนาพุทธ นิยมใช้ภาษาบาลี หากแปลความหมายออกมา ก็จะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นคำสวดบูชาเพื่อรำลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ แทบทั้งสิ้น จึงเป็นอุบายในการเจริญสติที่เรียก พุทธานุสติ ธรรมานุสติ และสังฆานุสติ

    การสวดมนต์ทุกครั้ง จึงเริ่มด้วยคำบูชาพระบรมศาสดาว่า นโม ตสฺสะ ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส แปลโดยรวมว่า“ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”

    การสวดมนต์หรือได้ยินคำสวดมนต์ภาษาบาลี แม้ฟังโดยไม่รู้ความหมายทั้งหมด แต่ก็มีประโยชน์

    อย่างน้อยก็รู้โดยรวมๆ ว่ากำลังสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย และการนิ่งสงบน้อมใจจดจ่อรับฟังเสียงสวดมนต์ ก็ถือเป็นการทำสมาธิลักษณะหนึ่ง

    ประวัติสวดมนต์ข้ามปี

    การสวดมนต์ข้ามปีนั้นมีมานานโดยสืบย้อนกลับไปได้ถึงสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเว็บไซต์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เผยแพร่บทความของ พระวิจิตรธรรมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ไว้ดังนี้

    “การสวดมนต์ข้ามปีนั้นเป็นประเพณีนิยมของชาวไทยมาแต่เดิม โดยก่อนสิ้นปี พระสงฆ์จะไปเจริญพระพุทธมนต์ บทนพเคราะห์ ที่กรมประชาสัมพันธ์ จากนั้นก็จะรอเวลาเที่ยงคืนเพื่อเจริญพระพุทธมนต์ บทชัยมงคลคาถา ออกอากาศไปทั่วประเทศ ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย..

    ต่อมา เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้นำคณะสงฆ์วัดสระเกศฯ ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ข้ามปีขึ้น ณ พระอุโบสถ วัดสระเกศฯ โดยอนุวัติตามโบราณพระราชประเพณีแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เคยประกอบพิธีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อันเป็นประเพณีปีใหม่ของไทยที่มีมาแต่เดิม..

    การสวดมนต์ข้ามปี จึงถือได้ว่าเริ่มจัดขึ้นที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เป็นครั้งแรก..

    และในปีพุทธศักราช 2549 กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ได้เห็นความสำคัญของการสวดมนต์ข้ามปี จึงได้ร่วมกับคณะสงฆ์วัดสระเกศฯ จัดสวดมนต์ข้ามปีขึ้นอย่างเป็นทางการ..

    ต่อมาคณะสงฆ์มีความเห็นร่วมกันว่า การสวดมนต์ข้ามปีเป็นที่นิยมของประชาชนอย่างแพร่หลาย และเป็นค่านิยมที่งดงาม ควรแก่การส่งเสริม ที่ประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อเดือนธันวาคม 2553 ณ ตำหนักสมเด็จฯ วัดสระเกศฯ จึงได้มีมติให้วัดทุกวัดจัดสวดมนต์ข้ามปี โดยมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นศูนย์กลางการอำนวยการและให้วัดเจ้าคณะจังหวัดเป็นศูนย์กลางการสวดมนต์ของจังหวัดนั้นๆ”

    ไหว้พระ 10 วัด สืบสิริสวัสดิ์ 10 รัชกาล

    ปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลมอบ ‘ของขวัญปีใหม่ คืนความสุขให้แก่ประชาชน’ ด้วยการจัดกิจกรรม สวดมนต์ข้ามปี ส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่วิถีพุทธ ด้วยจิตใจสงบ บริสุทธิ์แจ่มใส เป็นมงคลกับชีวิต และกิจกรรม ไหว้พระ 10 วัด สืบสิริสวัสดิ์ 10 รัชกาล สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์

    3e0b8b0-10-e0b8a7e0b8b1e0b894-e0b8aae0b8b7e0b89ae0b8aae0b8b4e0b8a3e0b8b4e0b8aae0b8a7e0b8b1e0b8aa.jpg

    เทวรูปท้าวจตุโลกบาล ประดิษฐาน ณ ซุ้มพระอัคฆีย์เจดีย์(พระเจดีย์ทรงปรางค์) ภายวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (ภาพ : รชานนท์ อินทรักษา)

    1.วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

    สถานที่ตั้ง : ด้านหลังพระบรมมหาราชวัง ถนนสนามไชย เขตพระนคร กรุงเทพฯ

    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม(วัดโพธิ์) ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดพระอารามหลวงประจำรัชกาล เมื่อพ.ศ.2331 ทรงมีพระราชประสงค์ให้วัดโพธิ์เป็น ‘มหาวิทยาลัยสำหรับประชาชน’ จึงโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมสรรพวิชาความรู้มาจารึกบนแผ่นศิลาติดไว้บริเวณพระอุโบสถ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาหาความรู้ ภายในพระอุโบสถประดิษฐาน พระพุทธเทวปฏิมากร เป็นพระประธาน และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระองค์ท่าน ภายในวัดยังมี พระพุทธไสยาสน์ ที่สวยงามที่สุด

    0b8b0-10-e0b8a7e0b8b1e0b894-e0b8aae0b8b7e0b89ae0b8aae0b8b4e0b8a3e0b8b4e0b8aae0b8a7e0b8b1e0b8aa-1.jpg

    วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (ภาพ : ประเสริฐ เทพศรี)

    2.วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

    สถานที่ตั้ง : ข้างกองทัพเรือ ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ

    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ พระองค์ทรงพระปรีชางานด้านพุทธศิลป์ ทรงปั้นพระพักตร์ พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในพระอุโบสถ ด้วยฝีมือพระหัตถ์ของพระองค์ และเมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว พระบรมอัฐิของพระองค์ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่พระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามฯ แห่งนี้ สิ่งสำคัญภายในวัดคือ พระปรางค์ องค์ใหญ่ที่สุดในโลก สูง 33 วาเศษ ประดับด้วยชิ้นกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ ยอดพระปรางค์เป็นนภศูล มีปรางค์ทิศทั้ง 4 ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติ ตรัสรู้ ปางแสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน

    0b8b0-10-e0b8a7e0b8b1e0b894-e0b8aae0b8b7e0b89ae0b8aae0b8b4e0b8a3e0b8b4e0b8aae0b8a7e0b8b1e0b8aa-2.jpg

    วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร (ภาพ : ประเสริฐ เทพศรี)

    3.วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร

    สถานที่ตั้ง : ถนนเอกชัย แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพฯ

    พ.ศ.2363 พม่าเตรียมยกทัพเข้าตีสยาม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงเป็นแม่ทัพคุมกองทัพไปรบกับพม่าทางด่านเจดีย์ 3 องค์ จังหวัดกาญจนบุรี พระองค์เสด็จฯ ประทับแรมที่หน้าวัดจอมทอง และทรงทำพิธีเบิกโขลนทวารตามลักษณะพิชัยสงคราม อธิษฐานให้ประสบความสำเร็จกลับมาโดยสวัสดิภาพ แต่เนื่องจากพม่าไม่ได้ยกทัพมาตามที่เล่าลือ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ จึงเสด็จฯ กลับพระนคร และโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดจอมทองใหม่ทั้งวัด และถวายเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามใหม่ว่า ‘วัดราชโอรสาราม’ งานศิลปกรรมต่างๆ ประดับตกแต่งเป็นแบบไทยผสมจีน เช่น บานประตูหน้าต่างประดับด้วย ‘เซี่ยวกาง(รูปทวารบาล)’ แทนลายเทพนม หน้าบันพระอุโบสถและพระวิหารประดับกระเบื้องเคลือบสี จึงนับเป็นครั้งแรกที่มีการประยุกต์ศิลปกรรมไทย-จีน อย่างประณีตเหมาะสม เป็นสัญลักษณ์แห่งศาสนสถานได้อย่างสง่าและงดงาม

    0b8b0-10-e0b8a7e0b8b1e0b894-e0b8aae0b8b7e0b89ae0b8aae0b8b4e0b8a3e0b8b4e0b8aae0b8a7e0b8b1e0b8aa-3.jpg

    วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร (ภาพ : ประเสริฐ เทพศรี)

    4.วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

    สถานที่ตั้ง : ถนนสราญรมย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ

    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามฯ เป็นวัดพระอารามหลวงประจำรัชกาล ตามโบราณพระราชประเพณี สิ่งสำคัญในพระอารามมีพระอุโบสถและพระวิหารหลวง ตั้งอยู่บนฐานสูง มีลักษณะสถาปัตยกรรมไทย ภายในพระวิหารมีบุษบก 3 ยอด เหนือฐานชุกชี บุษบกองค์กลางประดิษฐาน พระพุทธสิหังคปฏิมากร ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จำลองมาจากพระพุทธสิหิงค์ ในฐานพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานพระบรมอัฐิในรัชกาลที่ 4

    0b8b0-10-e0b8a7e0b8b1e0b894-e0b8aae0b8b7e0b89ae0b8aae0b8b4e0b8a3e0b8b4e0b8aae0b8a7e0b8b1e0b8aa-4.jpg

    วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร (ภาพ : ประเสริฐ เทพศรี)

    5.วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร

    สถานที่ตั้ง : ซอย 69 ถนนนครปฐม แขวงจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพฯ

    เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขยายพระนคร ซื้อที่ดินบริเวณคลองสามเสนและคลองผดุงกรุงเกษมตอนเหนือของวัดเบญจมบพิตรฯ ที่ทรุดโทรม ทรงทำผาติกรรมขึ้นเป็นวัดใหม่ให้งดงามสมกับเป็นพระอารามหลวง โปรดให้ก่อสร้างวัดใหม่ทั้งหมด และพระราชทานนามเติมอักษร ‘ม’ และเพิ่มสร้อยว่า ‘วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม’ หมายถึง ‘วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5’ อีกทั้งพระบรมราชสรีรางคารในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัว ได้บรรจุไว้ใต้รัตนบัลลังก์ พระพุทธชินราช พระประธานในพระอุโบสถ ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จำลองมาจากวัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก

    0b8b0-10-e0b8a7e0b8b1e0b894-e0b8aae0b8b7e0b89ae0b8aae0b8b4e0b8a3e0b8b4e0b8aae0b8a7e0b8b1e0b8aa-5.jpg

    พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร (ภาพ : วรวิทย์ พุ่มพวง)

    6.วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

    สถานที่ตั้ง : ถนนบวรนิเวศและถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า วัดรังสีสุทธาวาสอยู่ติดกับวัดบวรนิเวศฯ มีสภาพทรุดโทรมมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมเข้าเป็นวัดเดียวกัน เรียกว่า ‘คณะรังสี’ และหลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารมาบรรจุไว้ ณ ใต้บัลลังก์ พระพุทธชินสีห์ ในพระอุโบสถ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2468 สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่ พระอุโบสถ เป็นอาคารแบบตรีมุข หน้าบันประดับกระเบื้องเคลือบ ตรงกลางมีตรามหามงกุฎ พระไพรีพินาศ ตำหนักสมเด็จฯ วิหารพระศาสดา ฯลฯ

    วัดบวรนิเวศฯ เป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นวัดที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2481 พร้อมพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เมื่อครั้งเสด็จนิวัตประเทศไทย และเป็นวัดที่พระองค์ทรงออกผนวช เมื่อสิ้นรัชกาล พระบรมราชสรีรางคารได้รับการอัญเชิญมาประดิษฐานใต้บัลลังก์พระพุทธชินสีห์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2560

    0b8b0-10-e0b8a7e0b8b1e0b894-e0b8aae0b8b7e0b89ae0b8aae0b8b4e0b8a3e0b8b4e0b8aae0b8a7e0b8b1e0b8aa-6.jpg

    ลวดลายกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์รูปเทพประนมภายนอกพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร (ภาพ : ชาลินี ถิระศุภะ)

    7.วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

    สถานที่ตั้ง : ถนนเฟื่องนคร แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

    ได้รับการบูรณะหลายครั้งในรัชสมัยต่างๆ รัชกาลที่ 7 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ลบภาพพระพุทธประวัติที่ผนังช่วงบนของพระอุโบสถออกและทาสีฟ้าอ่อนเป็นพื้น ประดับด้วยลายดอกไม้ร่วงสีทอง เพิ่มเติมลวดลายที่ผนังระหว่างโคนช่วงเสาและด้านหลังพระประธาน ดูงดงามยิ่ง เมื่อสิ้นรัชกาลได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารมาประดิษฐานที่ฐานชุกชีของ พระพุทธอังคีรส พระประธานในพระอุโบสถซึ่งตกแต่งสวยงามตามแบบตะวันตก ร่วมกับพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

    0b8b0-10-e0b8a7e0b8b1e0b894-e0b8aae0b8b7e0b89ae0b8aae0b8b4e0b8a3e0b8b4e0b8aae0b8a7e0b8b1e0b8aa-7.jpg

    วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร (ภาพ : วันชัย ไกรศรขจิต)

    8.วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

    สถานที่ตั้ง : บริเวณเสาชิงช้า แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ

    ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เคยมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับวัดสุทัศนเทพวรารามฯ ไว้ว่า “ที่นี่สงบเงียบน่าอยู่จริง” ดังนั้น เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตจึงได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์มาประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2493 โดยพระวิหารของวัดสุทัศน์ฯ นี้มี พระศรีศากยมุนี เป็นพระประธาน อัญเชิญมาจากสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ถอดแบบมาจากพระมงคลบพิตร กรุงศรีอยุธยา รอบพระวิหารมี ‘ถะ’ หรือเจดีย์ศิลาแบบจีน ตั้งอยู่บนฐานทักษิณ เป็นถะ 6 ชั้น จำนวน 28 องค์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันเป็นฝีมือช่างชั้นครูในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่งดงามมาก

    9.วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

    สถานที่ตั้ง : ถนนพระราม 9 ซอย 19 เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ

    วัดสร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ และพระราชทานพระราชดำริให้แก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย ด้วยวิธีเติมอากาศที่บึงพระราม 9 ซึ่งเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และปรับปรุงสภาพพื้นที่เพื่อพัฒนาชุมชนบริเวณบึงพระราม 9 จึงได้ดำเนินการจัดตั้งวัด เพื่อเป็นพุทธสถานประกอบกิจของสงฆ์ และเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของราษฎรในการที่จะประกอบกิจกรรมต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อชุมชน

    10.วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร(วัดทุ่งสาธิต)

    สถานที่ตั้ง : ซอย 101/1 สุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ

    วัดนี้เดิมทีคหบดีชาวลาวเป็นผู้สร้างเมื่อประมาณพ.ศ.2399 เล่าว่าเป็นวัดร้างก่อนชาวลาวผู้นี้อพยพมาสมัยเวียงจันทน์แตก และกลายเป็นวัดร้างอีกครั้งหลังคหบดีท่านนี้ถึงแก่กรรมและเจ้าอาวาสองค์สุดท้ายมรณภาพ สมัยนั้นวัดนี้อยู่ห่างไกลความเจริญ เป็นทุ่งนาส่วนใหญ่ ต่อมาในพ.ศ.2506 พระอาจารย์สาธิต ฐานวโร(หลวงพ่อศรีนวล) ได้รับการนิมนต์ จึงเข้าดำเนินการบูรณะ เริ่มมีพระภิกษุสงฆ์ สร้างอาราม กำแพง กุฎิ วิหาร เป็นศูนย์กลางจิตใจของชาวพระโขนง เรียกกันในนาม ‘วัดทุ่งสาธิต’

    ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ (พระอิสริยยศขณะนั้น) รับ ‘วัดทุ่งสาธิต’ ไว้ในพระอุปถัมภ์ เป็นอารามหลวง พระราชทานนามว่า วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2508

    สถานที่สวดมนต์ข้ามปีทั่วประเทศ

    สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่วมกับวัดในราชอาณาจักร และวัดไทยในต่างประเทศ สำนักปฏิบัติธรรมทั่วประเทศ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทุกภาคส่วน ร่วมจัดกิจกรรม สวดมนต์เจริญจิตตภาวนาข้ามปี เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 และให้มีพิธีทำบุญตักบาตร ในวันที่ 1 มกราคม 2561

    โดยส่วนกลางนั้น ให้ พุทธมณฑล (จ.นครปฐม) เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรม ร่วมกับวัดนำร่องจำนวน 11 วัด ในเขตกรุงเทพฯ ประกอบด้วย

    1. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

    2. วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร

    3. วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร

    4. วัดพิชยญาติการามวรวิหาร

    5. วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

    6. วัดสามพระยาวรวิหาร

    7. วัดยานนาวา

    8. วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

    9. วัดคลองเตยใน

    10. วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

    11. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

    นอกจาก 11 วัดข้างต้นนี้แล้ว วัดส่วนใหญ่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่มีความพร้อม ต่างร่วมจัดกิจกรรมกุศลสวดมนต์ข้ามปี ตรวจสอบรายนามวัดที่ได้ www.dra.go.th เป็นทางเลือกใหม่สำหรับร่วมกิจกรรมในค่ำคืนของวันที่ 31 ธันวาคม

    เพื่อเสริมสิริมงคล เสริมสร้างปัญญา ของตนเองและของครอบครัว

    ——————-

    ภาพ : ศูนย์ภาพเนชั่น

    ขอขอบคุณที่มา
    http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/786815
     
  2. Apinya Smabut

    Apinya Smabut นิพพานังสุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มิถุนายน 2014
    โพสต์:
    1,397
    กระทู้เรื่องเด่น:
    57
    ค่าพลัง:
    +2,628
  3. mrmos

    mrmos Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2016
    โพสต์:
    1,190
    ค่าพลัง:
    +1,095

แชร์หน้านี้

Loading...