๙๖ ปี ศรีสงฆ์ธำรงศาสน์ : หลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 11 มกราคม 2012.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    ๙๖ ปี ศรีสงฆ์ธำรงศาสน์ คำนำ


    ๙๖ ปีศรีสงฆ์ธำรงศาสน์
    เป็นหนังสือ ที่บันทึกจารึกไว้ในระหว่างที่องค์หลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ เทศน์ธรรมอบรมแก่ศิษยานุศิษย์ นับแต่อายุย่างเข้า ๙๖ ปี แห่งองค์ท่าน ข้าพเจ้าพยายามเก็บไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อจักได้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาธรรมะในลำดับกาลและกาลต่อไปของตน

    อนึ่งโอวาทธรรมคำของครูจะยังประโยชน์แก่เราได้นั้น เราต้องประพฤติตนให้ดีตามถ้อยคำเหล่านั้น หากตนเป็นคนผู้หนักในทิฐิมานะก็จักพลาดจากประโยชน์ทั้งปวงไป เพราะคำพูดแต่ละคำล้วนแต่มุ่งเพื่อพร่ำสอนตัวเรา ทดสอบวาระน้ำใจของเรา และมุ่งให้เป็นเครื่องแก้ไข เป็นเครื่องชำระ เป็นเทศนาธรรม เป็นเครื่องดำเนินของผู้เป็นศิษยานุศิษย์ผู้ใส่ใจจริง

    เมื่อได้อ่านแล้วขอให้อ่านให้เป็น เลือกเฟ้นให้ได้ความ ให้ได้ศัพท์ ให้ได้ธรรมะ อ่านอย่างตรวจตรองพิจารณา วินิจฉัยด้วยปัญญาตาญาณ ก็อาจจักได้สุขประโยชน์นับมากทีเดียว

    แม้อายุวัยแห่งองค์ท่านจะนับได้ ๙๖ ปี แล้วก็เถิด .... แต่

    เมตตาธรรมการุณยาธรรมแห่งองค์ท่าน ก็ปรากฏอยู่โดยมิว่างเว้น ไม่มีการอ้างอายุวัย ไม่อ้างเหน็ดเหนื่อย ไม่มีเงื่อนไขใด ๆ

    ด้วยเหตุนี้แล ควรหรือที่เราท่านทั้งหลายผู้เป็นศิษยานุศิษย์ จะนิ่งเฉยอยู่


    พระธมฺมธโร ครูบาแจ๋ว
    ๒๕๔๙



    “ แม้จะตายไป
    ก็ไม่อาลัยมันดอกขันธ์อันนี้
    เพราะอันตนละก็รู้แล้ว
    รู้ว่าจะไม่ถือเอาอีก
    เพราะสิ่งที่มีโทษนั้นมิใช่สิ่งที่มีประโยชน์
    ใจของใจเป็นอย่างนี้
    ตัวเราท่านทั้งหลาย
    จงตั้งใจของตนให้ดี ”




    ...................................................................................................................
    ขอขอบคุณที่มาบทความ หนังสือ ๙๖ ปี ศรีสงฆ์ธำรงศาสน์ ( มหาปุญโญวาท เล่ม 3 ) พิมพ์เผยแพร่ โดยคณะศิษยานุศิษย์ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ( วัดหลวงปู่จาม ) บ้านห้วยทราย ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]๙๖ ปี ศรีสงฆ์ธำรงศาสน์ : บทที่ 1
    ๒๙ ตุลา ’ ๔๗

    องค์หลวงปู่ปรารภเรื่อง “ฤดูกาลกฐิน”
    “ จากนี้ไป ๓๐ วันรวมแล้ว ๓๐ วันเป็นฤดูกาลกฐิน ภายหลังออกพรรษาชาวบ้านเรียกว่า “ทอดกฐิน”

    แต่โบราณยุคสมัยพุทธกาลนั้น เป็นการนำเอาผ้ามาถวายแด่พระภิกษุสามเณรจะเป็นผ้าใหม่ ผ้าเก่าที่ฟอกสะอาดแล้ว หรือจะเป็นผ้าบังสุกุลก็ได้ เพื่อจะได้ทำเป็นผ้านุ่งผ้าห่มรวมเรียกว่า จีวรํ
    สงฺฆสฺส ก็คือ ให้สงฆ์ทำผ้านั้นให้เป็นผ้านุ่งผ้าห่ม เพื่อจะได้สงเคราะห์แก่ภิกษุสามเณรผู้ประพฤติตนชอบ แต่ขาดแคลนผ้านุ่งห่มจะได้ผลัดใช้ผ้าใหม่ เปลี่ยนผ้าชุดเก่าที่ขาดนั้นทิ้งไป

    คำว่า “ทอดกฐิน” ก็คือทอดผ้าไว้, วางผ้าไว้, อุทิศผ้าไว้ในหมู่ท่ามกลางสงฆ์ จะกล่าวคำถวายหรือไม่ ก็ไม่เป็นปัญหา

    ปัญหาก็คือ ขอให้สงฆ์หมู่นั้นคณะนั้นเห็นชอบในที่ประชุมสงฆ์ว่าควรให้ผ้าแก่ภิกษุใดสามเณรใด ภิกษุณีใด สามเณรีใด

    หากมีน้อยก็อนุเคราะห์รูปเดียว หากมีมากก็อนุเคราะห์จนทั่วก็ได้
    แล้วคำว่า “ประพฤติตนชอบ” นั้นอย่างใด

    ๑. เป็นภิกษุผู้อยู่จำพรรษาอยู่ในวัดนั้นครบ ๓ เดือน
    ๒. มีสติมีปัญญา
    ๓. มีศีลทรงพระวินัยน้อยใหญ่ไว้ได้
    ๔. ประพฤติข้อวัตร กิจวัตร ธุดงควัตร ได้อย่างมีคุณ

    เรื่องเบื้องต้นนั้น เริ่มแต่ภิกษุชาวปาฐานคร ๓๐ รูปได้ประพฤติวัตร ถือ ธุดงควัตรอย่างเข้มงวด พากันเดินทางจะเข้าเฝ้าองค์พระพุทธเจ้าอยู่วัดเชตวัน กรุงสาวัตถี

    แต่เดินทางมาถึงแค่เมืองสาเกตก็ได้วันเข้าพรรษา จึงได้พากันอยู่จำพรรษาอยู่สำนักสงฆ์ภายในเมืองสาเกต

    ออกพรรษาวันนี้ ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑

    แรมค่ำ ๑ ก็พากันเดินทางต่อเพื่อจะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในวันนั้นทันที แต่ยังเป็นปลายฝนต้นหนาวอยู่

    เมื่อพระหมู่นั้น เดินทางด่วนไปก็ตากฟ้าตากฝน ลุยตมลุยโคลน บุกลุยไปจนถึงวัดเชตวัน

    ลำบากลำบนในการเดินทาง พระสงฆ์หมู่นั้นก็กราบทูลถึงว่าพวกตน ตั้งใจจดจ่อต่อแต่พระพุทธองค์ การเดินทางมาก็ลำบาก

    พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาต ให้อยู่รับทานผ้าที่เขาเอามาถวายได้ แล้วอยู่ ตัดเย็บ ซักฟอก ย้อมให้เป็นผ้านุ่งผ้าห่มได้ ไม่ต้องด่วนในการเดินทางและยังได้สละผ้าเก่าทิ้งไปใช้ผ้านุ่งห่มชุดใหม่

    ตัดเย็บฤดูกาลกฐินหรือจะยืดยาวต่อไปอีกจนหมดฤดูหนาว

    แต่ยุคสมัยนี้เป็นกฐินเงิน จะถามกันว่าได้เงินเท่าใดหากหลักแสน ก็พอจะฟังได้ ได้ ๗ หลักก็ถือว่ารวย พระยุคสมัยนี้ก็อวดอ้างกันอย่างนี้ แล้วก็ประกาศต่อญาติโยมผู้คนว่า “ เป็นมหาบุญ มหากุศล ได้บุญมากอย่างนั้นอย่างนี้ ” ชักชวนกัน เรี่ยไร แจกซอง เลยพระวินัยไปหมดแล้ว

    คำว่า “ สงฆ์ ” ก็สงฆ์ ๕ รูปจำพรรษาภายในวัดนั้นครบ ๓ เดือน ๔ รูป เป็นสงฆ์เป็นประชุมสงฆ์ อีกรูปหนึ่ง เป็นผู้รับผ้า

    อย่างวัดนี้ผู้ข้าฯ ประกาศบอกแล้ว ไม่รับกฐินเด็ดขาด แต่โยมเขาก็เอามาถวาย กล่าวเป็นกฐินจึงยกให้เป็นส่วนของโยมมิใช่ของสงฆ์ให้เป็นวัตถุของโลกเสียเท่านั้น เป็นของชาวโลกเป็นของชาวบ้าน

    ยุคสมัยนี้โลกมาบิดเบือน ลำเลิกพระวินัยกันหมดแล้ว สงฆ์ไม่ครบจำนวนก็ไม่เป็นสงฆ์ เมื่อไม่เป็นสงฆ์แล้ว กฐินก็วิบัติ บุญผลานิสงส์ที่จะได้รับก็วิบัติ

    จะให้เป็นบุญสมบัติ กฐินสมบัติ เป็นกิริยาบุญสมบัตินั้นให้ถูกต้องตามพระวินัย ตามพุทธานุญาต มิให้ผิดเพี้ยน จึงจะเป็นบุญกุศลได้

    พระสงฆ์ผู้รับ ญาติโยมผู้เอามาถวายต้องบริสุทธ์โดยแท้ หากพระสงฆ์ประกาศ แล้วว่าไม่รับกฐิน ก็ควรฟังกันบ้าง เพราะพอจะเป็นบุญ ได้บุญอยู่บ้าง

    ๑. บุญการแสวงหา
    ๒. ศรัทธาปสาทะ
    ๓. สามัคคี

    ๓ อย่างนี้เป็นของญาติโยมหน้าที่ของเขา ส่วนหน้าที่ของพระสงฆ์นั้นต้องเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติถูกต้อง ปฏิบัติให้มีคุณ จึงควรจะรับได้ ขาดแคลนผ้าอย่างนี้เป็นต้น

    มิใช่ว่ามัวเมาอยากได้บุญ

    ไม่ดู ไม่ศึกษาในปฏิปทาของพระสงฆ์องค์เณร

    ดูแต่เพิ่นครูอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เพิ่นประกาศไม่รับกฐินของใครอีกเลย จากนั้นมาก็ไม่รับ ผู้คนจะมาถวายก็เป็นบังสุกุล แล้วก็แล้วกันไป เรื่องบุญก็ได้มากกว่ากฐิน ของผู้คนยุคสมัยนี้ด้วยซ้ำ

    ได้เงินมาแล้ว พระเณรในวัดผิดทะเลาะกันกับญาติโยมผู้มาเกาะกินกับวัดเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะมันวิบัติมาแต่ต้น เช่นว่า เรี่ยไรเลียบเคียงให้ได้มา ได้มาแล้ว ก็มิได้ทำเป็นผ้านุ่งห่มให้สำเร็จในวันนั้น หรือภิกขุอยู่ในวัดไม่ครบประชุมสงฆ์ในกฐินนั้น

    เป็นอย่างนี้ท่านว่า กฐินไม่มีอานิสงส์ กฐินเดาะ กฐินเสียหาย กฐินวิบัติผู้รับทานก็ไม่ได้ประโยชน์ ผู้ให้ทานก็ได้แต่การให้

    อย่างวัดเรานี้ โต๋ อย่าได้เอาอานิสงส์ของกฐินมาใช้เน้อ เดี๋ยวจะเป็นบาปเพราะไม่ใช่กฐินของเรา เป็นกฐินของโยมเขาต่างหาก ” (โต๋ = เธอ)
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๑ พฤศจิ ’ ๔๗

    ๑๘.๐๐ น. อบรมญาติโยมวัดป่าบ้านโคกสว่าง

    “ อย่าไปห่วงอะไรสักอย่าง
    เพราะบุญของสูเจ้านั้นมีแล้วให้ไปกับบุญ
    จิตหนีออกจากรูปสังขารนี้แล้วก็ให้ไปสู่สุคติสวรรค์ หรือหากเป็น ไปได้ก็ให้ไปสู่ภูมิวิมุตติหลุดพ้นไป

    ตั้งใจคิดอ่านในเรื่องของ ศีล ๕ ประจำวันทุกวัน
    ศีล ๘ ให้ได้ในวันพระ
    แล้วอย่างอื่นก็ให้ได้เป็นสมบัติของใจ

    ๑. ทำบุญให้ทาน
    ๒. เจริญเมตตา
    ๓. ไหว้พระเช้าเย็น
    ๔. เคารพบำรุงเลี้ยงบิดามารดา ปู่ย่าตายาย วัยวุฒิ คุณวุติ ธัมมวุฒิ
    ๕. ศึกษาอบรมตนสะสมนิสัยปัจจัยแห่งความดีงาม
    ๖. ตั้งใจเจริญภาวนา
    ๗. พิจารณา ความเกิด - เจ็บ - ตาย - เกิดดับ
    ๘. ให้ส่วนบุญแก่ผู้อื่น
    ๙. อย่าประมาทในตนของตน ในชีวิตของตน

    ตั้งใจให้ดีเน้อ พวกสูเจ้าทุกคนนี้ บุญมีแล้ว ความตั้งใจก็มีแล้ว ความใส่ใจควรมีให้มาก ”
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๓ พฤศจิ ’ ๔๗

    ๑๓.๓๐ น. ขณะผู้เขียนกำลังฉันน้ำชาอยู่ใต้ร่มประดู่ข้าง ๆ กุฏิ

    องค์หลวงปู่นอนพักอยู่บนกุฏิ

    ผู้เขียนได้ขบคิด พิจารณาในหลักปริยัติของวิปัสสนาญาณในลำดับญาณ จึงได้ขึ้นกราบองค์ท่านแล้วเขียนหนังสือว่า “ผมไม่เข้าใจในหลักของวิปัสสนาครับ” เมื่อองค์ท่านรับทราบแล้วจึงได้อธิบายว่า “วิปัสสนาญาณมีเหตุเกิดอยู่ ๒ เหตุต้น คือ ศีล

    เหตุกลาง คือ สมาธิ
    เหตุทั้งสองนี้ มีปัญญาเป็นผู้กำกับเหตุ
    เริ่มต้นแท้ ๆ นั้นต้องทำเหตุนี้ให้เป็น “วิสุทธิธรรม”
    ที่ตั้งของเหตุ ก็คือ กายกับใจนี้
    ขันธ์ ๕
    อายตนะ ๑๒
    ธาตุ ๑๘
    อินทรีย์ ๒๒
    อริยสัจจ์

    เหตุปัจจัยใด ๆ ของสัตว์ในโลก
    จะมาก หรือจะน้อยกว่านี้ก็ไม่ได้หนีไปจากกายกับใจ
    จิตมันยึดถืออยู่ใน อันใด
    อันนั้นก็ยังเป็นรูปเป็นนาม
    อันนั้นก็ยังเป็นโลก อันนั้นก็ได้แก่รูปร่างกายนี้
    ตัวนามพาเกิดตายนี้

    ฉะนั้นโลกนี้มีเหตุพาให้เกิด แต่ธรรมต้องดับเหตุเหล่านั้นให้ได้
    อย่าไปพิจารณาที่อื่นให้ตอกย้ำลงในขันธ์ ๕ นี้
    การตั้งใจใส่ใจในการปฏิบัติของพวกเราที่ ยังเป็นปุถุชนอยู่นี้ครูบาอาจารย์ท่านสอนให้ระวังสังวรให้มาก

    แม้ว่าตนของตนจะปฏิบัติถูกทางอยู่แล้วก็ตาม จะตั้งใจจดจ่ออยู่ก็ตามจะพากเพียร อย่างใดก็ตาม เมื่อใดที่เรายังไม่เป็นอริยเจ้า อย่าได้ประมาท อย่าได้หลง เป็นของละเอียดสุขุมยิ่งนัก มีเหตุมีเครื่องหลอกหลอนเราอยู่ตลอดสายทาง
    แต่ท่านผู้เป็นพระอริยเจ้านั้น

    ท่านปลดภาระได้เป็นอย่าง ๆ ไป ไม่มีอันติดขัด ไม่มีอันหลง
    เพราะอะไร ?

    ก็เพราะว่า ท่านเจริญญาณจนได้ มรรคญาณ เดินเข้าสู่ความเป็นอริยเจ้า แต่ละชั้นตามภูมิจิตภูมิปัญญาธรรมของตน เหมือนกับการเอื้อมมือปลิดลูกมะม่วงจากขั้ว พอปลิดขวั้นก็ละขาดจากต้น ตัวท่านก็ได้ลูกมะม่วงนั้นทันที

    ในบทอนุสสติ ๑๐ นั้น “อุปสมานุสสติ”
    นักปฏิบัติครูอาจารย์ เพิ่นก็เอามาใช้ตอนเดินวิปัสสนานี้หล่ะ
    เอาอุปสมาธรรม คือ พระนิพพานเป็นอารมณ์ เพื่อรักษามิให้ตนของตน หลงโลกหรือติดหนทาง

    “โลก” ก็คือความเป็นปุถุชน
    “หนทาง” ก็คือมรรค

    ปฏิบัติอริยมรรค แต่ไม่ติดมรรค เมื่อเดินมรรคแล้วไม่ให้ติดมรรค ท่านก็สอนให้เอานิพพานเป็นอารมณ์ เหมือนกับที่โต๋เดินเข้ามาในกุฏินี้ มีข้างนอกกุฏิกับข้างในกุฏิ แบ่งเขตตรงธรณีประตู

    อยู่ข้างนอก ก็ยังเป็นข้างนอก

    พอก้าวข้ามธรณีประตูพ้นเข้ามาได้ก็เป็นข้างใน พ้นจากของข้างนอก
    แต่ขณะที่จะพ้นนอกในนั่นเอง ก็นึกถึงแต่การจะเข้ามาข้างในกุฏิ อารมณ์ของจิตขณะนั้นเองท่านจึงให้เอาอุปสมานุสสติมารักษาใจไว้

    หากยังห่วงอาลัยข้างนอก ก็ยังเป็นโลก

    ภาษาของผู้ปฏิบัติให้ชื่อว่า วิปัสสนูศัตรูของวิปัสสนา ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนก็ตัวเรานี้เอง มิใช่ใครอื่น

    หากยังไม่พร้อม ทำอย่างไรก็มิอาจสำเร็จได้
    อย่าคิดให้หลง อย่าศึกษาให้หลง อย่าติดในตัวอักษร
    แต่ให้กำหนดพิจารณาในขันธ์ ๕ เท่านั้น

    ตัวรูปแก้ไขในรูป
    ตัวเวทนาแก้ไขในเวทนา
    ตัวสัญญาก็แก้ไข
    ตัวเจตนาก็แก้ไข
    ตัววิญญาณผ่านความรู้ก็แก้ไข
    น้อมใจหา ทุกฺขํ
    อนิจฺจํ

    อนตฺตา ให้มาก และให้เห็นชัดในอาการนี้อย่างใดอย่างหนึ่งเสียก่อน
    นี่หลักของการดำเนินวิปัสสนาเหตุผลมีอย่างนี้
    ตั้งใจไปเถ๊อะ”

    ๐๘.๑๐ น. องค์หลวงปู่ปรารภขณะฉันอาหารเสริมว่า
    “ ๔ คนหาม “ เช้า ๔ ขา
    ๓ คนแห่ สาย ๒ ขา
    ๑ คนนั่งแคร่ และ บ่าย ๓ ขา
    ๒ คนพาไป เย็น ๔ ขา
    มันคืออะไร ” นี้คือ อะไร ”
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๔ พฤศจิ ’ ๔๗

    “ การปฏิบัติภาวนา อย่าให้มีแต่ความอยาก
    ความตั้งใจให้มี
    ความตั้งใจไม่มี แล้วภาวนาก็ไม่เป็น
    เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ไม่เจริญ คือไม่เห็นธรรม
    หน้าที่ของตนทุกคน ต้องตั้งใจจริง ทำจริง เชื่อจริง”
    ..........................................................................

    ๕ พฤศจิ ’ ๔๗

    นะโม ๓ จบ
    นิสสะยะปัจจะโย อุปนิสสะยะปัจจะโย ปุเรชาตะปัจจะโย ปัจฉาชาตะปัจจะโย อาเสวะนะปัจจะโย กัมมะปัจจะโย ตีติ
    ณ บัดนี้จะได้เตือนในการที่มีนิสสัยปัจจัย

    เราเกิดมาเป็นมนุษย์คบพบปะสร้องเสพได้เป็นนิสสัยปัจจัย
    คบปะบัณฑิตได้เป็นนิสสัยในความดี คบปะคนพาลได้เป็นนิสสัยในความชั่ว ด้วยเหตุอันนี้เดี๋ยวนี้ คิดนึกพิจารณาให้ดีเพราะเราเป็นมนุษย์

    ปุเรชาตะปัจจะโย ตั้งแต่ปุเรกชาติมาเรามีนิสสัยอย่างใดกันมา เช่น ผู้ตั้งใจฝักใฝ่เสาะแสวงความดี คือ บุญกุศลและธรรมะ อันนี้แปลว่าเราเคยพบปะบัณฑิตกันมาแต่ อเนกชาติเป็นนิสสัยปัจจัยติดตามนำตนตลอดจนเดี๋ยวนี้
    นิสสัยปัจจะโย ได้นิสสัยปัจจัยมาแต่อเนกชาติ

    เคยพบปะบุคคลเช่นใด เคยพบปะคนพาลใด ๆ ก็ฝักใฝ่ตั้งใจในความชั่ว ส่วนความดีก็ไม่ฝักใฝ่ ไม่ตั้งใจ ไม่พอใจ ไม่ยินดีในการทำความดีใด ๆ

    อุปนิสสะยะปัจจะโย ผู้ตั้งใจในศีล ๕ ไหว้พระสวดมนต์ เลี้ยงบิดามารดา การที่เราทำความดีประการใด ๆ ทั้งทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม วัตถุกรรม ให้ได้เป็นนิสสัยอุปนิสสัยความดีต่อไป

    ปุเรชาตะปัจจะโย เราได้เกิดมาแล้วคบคนพาล เมื่อตายไป เกิดมาก็หาความยินดีอะไรมิได้ ไม่ยินดีในธรรมะของพุทธะประการใด ๆ

    อาเสวะนะปัจจะโย การสร้องเสพคบปะบุคคลเช่นใด
    ตัวเราก็ไปจากเรื่องการคบพบปะนี้ เช่น คบปะกับคนพาล กินเหล้า เล่นการพนัน ลักฉกจกต่อย มุสาวาท หาฆ่าสัตว์ นี้เรียกว่าคบคนพาลสันดานหยาบ คบคนพาลมันพามืดมน ไม่รู้จักสมบัติความดีประการใด ๆ การสร้องเสพจึงเป็นนิสสัยปัจจัยแห่งความดีและความชั่ว

    คบพบปะบัณฑิตผู้มีเมตตาธรรมต่อโลก ตนของตนจึงเสาะหาปัจจัยอย่างใดจึงจะเป็นบุญเป็นกุศล ให้เป็นสมบัติของใจของตน

    อันนี้ให้เราทุกคนจงคิดนึกว่า ในการฝึกฝน
    ในการสั่งสมอบรม
    ให้ได้เป็นเงาติดตามนำไปทุกภพทุกชาติในโลกนี้ต่อไปประการใด ๆ
    เช่น พระเทวทัต ผู้ตั้งใจเบียดเบียนองค์พุทธะพระโพธิสัตว์
    เกิดยุคสมัยคนทุกข์ก็เบียดเบียน
    เกิดยุคสมัยคนรวยก็เบียดเบียน
    เกิดในภูมิใด ๆ ก็เบียดเบียน จนเป็นนิสัยของตนตกไปสู่อเวจี
    เพราะเป็นผู้ตั้งใจพอใจยินดีพอใจในการเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น

    สุปปพุทธะ เกิดมาชีวิตใด ๆ หาวิธีรายการทำร้ายเบียดเบียนคนอื่นมาตลอด จนที่สุดไปสู่อเวจี แผ่นดินสูบกิน
    นันทมานพ แผ่นดินสูบกิน
    นันทยักษ์ แผ่นดินสูบกิน
    นางจิญจามาณวิกา แผ่นดินสูบกิน

    ให้คิดอ่านพิจารณาให้ดีเถิด คบคนไม่ดี เช่น ลูกชายพระยาพิมพิสาร คบพบปะพระเทวทัตจนที่สุดฆ่าพ่อเจ้าของจนตาย

    หนึ่งหมื่นพุทธะ ๕,๐๐๐ พุทธเจ้ามาตรัสในโลก จึงจะได้ขึ้นมาจากนรก พ้นมาแล้วก็เป็นบ้าใบ้ วิกลวิการ เสียจริต จักอีกกี่ร้อยกี่พันกี่หมื่นกี่แสนชาติ จึงจะพ้นวิบากกรรมแล้วจะได้เป็นคนดีอีกต่อไป

    คบคนเช่นใด ก็เป็นคนเช่นนั้น
    จึงให้ใช้ปัญญาพิจารณาความดีของตน
    ตนของตนจะฝึกหัดอย่างใด
    จึงได้ว่า นิสสยะปัจจะโย อุปะนิสสยะปัจจะโย ปุเรชาตะปัจจะโย ปัจฉาชาตะปัจจะโย อาเสวะนะปัจจะโย กัมมะปัจจะโย

    ฝึกหัดนิสสัยอุปนิสสัยอย่างใดในตัวเรา
    นิสสัยอุปนิสสัยติดตามนำตัวเรา
    ชาติชีวิตใดอย่างใด
    ในชีวิตปัจจุบันอย่างใด เพิ่มความชั่วหรือเพิ่มความดี
    บุญกับบาป ที่เราเป็นปุถุชนบัดเดี๋ยวนี้ บาปมีอยู่ทุกคน
    บุญมีอยู่ทุกคน
    แต่อะไรมากกว่ากัน
    บุญมากกว่า ก็ไปสู่สวรรค์
    บาปมากกว่า ก็ไปสู่นรก
    ความสงบมากกว่า ก็ไปสู่สวรรค์เมืองพรหม
    ธรรมะมากกว่า ก็ไปสู่นิพพาน
    ในชีวิตของตน
    ในการเกิดมาในโลก ไม่ควรทำความชั่ว
    ไม่ควรทำความชั่วทาง - กายกรรม
    - วจีกรรม
    - มโนกรรม
    - วัตถุกรรม

    ทุกคนให้เป็นคนดีตลอดไปเป็นนิจ
    จึงจะเป็นผู้สะอาด กาย ก็สะอาด
    วาจา ก็สะอาด
    ใจ ก็สะอาด
    วัตถุใด ๆ ก็สะอาด
    ทางไป ก็สะอาดหมดจด
    ทุกคนจงฝึกฝนนิสสัยของตนในชีวิตนี้ เก็บเล็กสะสมน้อยขัดเกลากันไป
    จึงจะได้เป็นผลของความดีตลอดไป
    ที่อาตมาได้เตือนไว้แล้วในนิสสัยปัจจัยในวันนี้
    อายุวัฒโกฯ ...... อายุวัฒกาฯ ........

    ๑๔.๐๐ น.
    จิตเป็นสังขารของโลก
    จึงปรุงแต่งเป็นอารมณ์ มีดี มีร้าย มีสุข มีทุกข์
    ดีก็ชอบ สุขก็พอใจ
    ร้ายไม่ชอบใจ เพราะเป็นทุกข์ใจ
    การอบรมจิตให้รู้ในตัวเอง คือ ให้รู้ในจิต
    เมื่อรู้จิตรู้ตัวเองแล้วก็พอที่จะอยู่สบายได้
    คือ ดี ก็สบาย
    ชั่ว ก็สบาย

    ๐๘.๒๐ น. ภาคเช้าขณะฉันอาหารเสริม
    องค์หลวงปู่ว่า “ สัตว์โลกในโลกนี้เกิดมาแล้ว
    มันมัวเมารักผู้อื่นยิ่งกว่าตัวเอง
    ความปกติของโลกเป็นอย่างนี้
    แต่ธรรมไม่เป็นอย่างนี้ ”
    .............................................................
     
  6. datchanee

    datchanee เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 มกราคม 2009
    โพสต์:
    2,947
    ค่าพลัง:
    +1,276
    satu satu satu....he is my teacher too.
     
  7. deelek

    deelek เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    6,696
    ค่าพลัง:
    +16,254
    อนุโมทนา สาธุ
    บุญกุศลทุกอย่างกับหลวงปู่ด้วยครับ
    นิพพานัง ปัจจโย โหตุ
     

แชร์หน้านี้

Loading...