“พระสิงห์สานชนะมาร” งามอลังการ...พระสานไม้ไผ่ใหญ่ที่สุดในโลก

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย navycom33, 28 กันยายน 2016.

  1. navycom33

    navycom33 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2010
    โพสต์:
    676
    ค่าพลัง:
    +6,732
    [​IMG]

    [​IMG]

    “ไม้ไผ่เหลา 1 ก้าน”

    ไม่เหลือบ่ากว่าแรงเกินกว่า 2 มือของเราจะหักสะบั้น(อย่างง่ายดาย)

    แต่ถ้าไม้ไผ่เหลานำมามัดรวมกันเป็นกำใหญ่ มนุษย์เรา(คนปกติ)ใช้ 2 มือ หักเท่าไรย่อมไม่สำเร็จ และเป็นที่มาของ(นิทาน)คติธรรมสอนใจในเรื่องการ“รู้รักสามัคคี”

    แต่สำหรับที่“วัดหิรัญญาวาส” อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่นี่ได้นำปรัชญาความรู้รักสามัคคีจากตอกไม้ไผ่ นับหลายร้อยมัด จำนวนนับหมื่นๆเส้น มาบรรจงสานสร้างสรรค์เป็น “พระสิงห์สานชนะมาร” พระพุทธรูปสานด้วยไม้ไผ่องค์ใหญ่ที่สุดในโลก ที่นอกจากจะมีพุทธลักษณะอันงดงามแล้ว เรื่องราวความเป็นมาของการสร้างพระพุทธรูปสานไม้ไผ่องค์นี้ฟังแล้วมันช่างวิจิตรเพริศแพร้ว

    และชวนทึ่งกระไรปานนั้น!?!

    กำเนิดพระสิงห์สาน

    วัดหิรัญญาวาส หรือชื่อเดิม วัดเหมืองแดงน้อย ตั้งอยู่ที่บ้านเหมืองแดงน้อย ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย จ.เชียงราย (ปัจจุบัน)มีท่าน“พระครูหิรัญอาวาสวัตร” เป็นท่านเจ้าอาวาส

    วัดหิรัญญาวาส แม้เดิมจะเป็นวัดเล็กๆในชนบท แต่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ประชาชนแบ่งฝักแบ่งฝ่ายจนเกิดสงครามสีเสื้อ วัดเล็กๆแห่งนี้ก็ย่อมหนีไม่พ้น

    ท่านพระครูหิรัญฯ เล่าให้ผมฟังว่า ในช่วงแรกๆของสงครามสีเสื้อที่เริ่มขัดแย้งรุนแรง(ประมาณ ปี 50-51) ท่านที่อยู่ตรงกลางอยู่ในโลกแห่งธรรม หากไปพบปะพูดคุย เทศนาแสดงหลักธรรมคำสอนกับฝั่งไหน ก็จะถูกอีกฝ่ายตำหนิกล่าวหา ว่าท่านเลือกข้างอยู่ฝั่งนั้น ขณะที่ชาวบ้านในชุมชนก็แตกความสามัคคีกันมากขึ้นเรื่อยๆ

    ท่านพระครูหิรัญฯกลัวว่านับวันยิ่งมา ชาวบ้านในชุมชนยิ่งความขัดแย้งรุนแรง ยิ่งแตกแยกร้าวลึก ท่านจึงมีกุศโลบายให้ชาวชุมชนสมานฉันท์กันด้วยการร่วมกันสร้าง “พระสิงห์สานชนะมาร”ขึ้น เป็นองค์พระที่สานด้วยไม้ไผ่ เพื่อแสดงออกถึงการสานสัมพันธ์ของชาวชุมชน พร้อมทั้งถวายเป็นพุทธบูชา และที่สำคัญก็คือสร้างถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย

    ตัดไม้มุง

    พระสิงห์สานชนะมาร หรือที่นิยมเรียกสั้นๆว่า “พระสิงห์สาน” ท่านพระครูหิรัญฯได้แนวคิดในการสร้างมาจาก “พระเจ้าอินทร์สาน” ที่เป็นพระพุทธรูปสานด้วยไม้ไผ่ของชาวไทเขินในเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์(พม่า)
    “ชาวไทเขิน เชื่อว่าการทำพระสานถวายเป็นพุทธบูชา ทั้งผู้สร้างพระและผู้ที่คนสร้างพระถวายจะเป็นการสานต่อชะตาอายุให้ยืนเรา พวกเราชาวชุมชนจึงพร้อมใจกันสร้างถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ” ท่านพระครูหิรัญฯกล่าว

    พระสิงห์สาน เป็นพระพุทธรูปที่สานขึ้นจาก“ไม้มุง”ไม้ไผ่ชนิดพิเศษที่เป็นไม้(ไผ่)เลื้อยคล้ายกับหวาย และมีคุณสมบัติเหนียวทนทาน สามารถดัดขดงอให้คดโค้ง ขึ้นรูปง่าย

    สำหรับเรื่องราวและกระบวนการในการสร้างพระสิงห์สานองค์นี้ ที่ผมได้ฟังท่านพระครูหิรัญฯเล่าให้ฟังนั้น ถือว่าไม่ธรรมดาเอาเสียเลย

    โดยหลังจากที่ท่านพระครูหิรัญฯมีแนวคิดที่จะสร้างพระพุทธรูปสานไม้ไผ่ ท่านก็ได้ลงมือเสาะหาไม้มุง และพบว่าแหล่งไม้มุงแหล่งใหญ่นั้นอยู่บนภูเขาในเมืองโก รัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ ภายใต้พื้นที่การดูแลของชาว“ปะหล่อง”(ดาราอั้ง)ที่ศรัทธาแนบแน่นในพระพุทธศาสนา

    “ชาวปะหล่องที่นี่ พวกเขาช่วยกันดูแลรักษาแหล่งไม้มุงตามธรรมชาติไว้เป็นอย่างดี แต่ละปีจะเปิดโอกาสให้คนภายนอกขึ้นไปตัดได้เพียงวันเดียวคือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เท่านั้น"

    เรื่องนี้พระครูหิรัญฯบอกกับผมว่า ท่านมองในเชิงวิทยาศาสตร์ว่า เดือน 3 (ไทย) เป็นเดือนที่ชาวไทเขินถือว่าเหมาะต่อการตัดไม้ไผ่มากที่สุด เนื่องจากไม่มีมอดแมงมารบกวน ซึ่งพวกเขาได้สืบสานภูมิปัญญาการตัดไม้ไผ่ในเดือนนี้กันมาอย่างช้านาน (สอดรับกับที่ผมถามช่างทำเครื่องเขินชาวไทเขินที่เชียงตุง ได้ความอย่างเดียวกันว่า พวกเขานิยมตัดไม้ไผ่มาทำเครื่องเขินในช่วงเดือน 3 เหมือนกัน เพราะได้ไม้ไผ่ที่มีคุณภาพดี)

    “ส่วนที่ต้องตัดคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เนื่องจากในสมัยโบราณไม่มีไฟฟ้าใช้ ผู้ที่จะไปตัดไม้มุง ต้องออกเดินเท้าจากที่พักขึ้นเขากันแต่เช้ามืดประมาณ ตี 4 จึงต้องอาศัยแสงไฟจากคบเพลิงและแสงจันทร์ที่สว่างสุกใสเป็นตัวช่วยนำทางอีกแรง

    ในส่วนของกฎการตัดไม้มุงนั้น ชาวปะหล่องมีข้อกำหนดว่า แต่ละปีสามารถตัดไม้มุงได้เพียงเจ้าเดียวหรือคณะกลุ่มบุคคลเดียว หากปีไหนมีคนต้องการตัดไม้มุงมากกว่า 1 เจ้า ก็จะมีการจับสลากเสี่ยงทาย”

    พระครูหิรัญฯเล่าต่อว่า ในช่วงก่อนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ปี พ.ศ. 2552 ที่ท่านเดินทางไปขอตัดไม้มุงนั้น มีผู้มาแสดงเจตจำนงขอตัดไม้มุงอยู่ 3 เจ้าด้วยกัน เมื่อทำการจับสลากเสี่ยงทาย ซึ่งท่านโชคดีเสี่ยงทายได้รับสิทธิ์

    พอถึงวันขึ้น 15 ค่ำ ท่านกับคณะต้องตื่นตั้งแต่เช้ามืด เพื่อเดินเท้าหลายชั่วโมงจากหมู่บ้านขึ้นภูเขาไปตัดไม้มุง โดยมีผู้ร่วมเสี่ยงทายทั้งสองกับทีมงานได้ร่วมเดินทางไปช่วยตัดไม้มุงด้วย

    นอกจากนี้ระหว่างทางที่เดินผ่านชาวปะหล่องจะพากันตีเกราะเคาะไม้เป็นสัญญาณบอกให้ชาวบ้านรับรู้ว่าจะมีการตัดไม้มุง ให้ไปช่วยกันตัด ซึ่งพวกเขาถือว่านี่เป็นเรื่องดีมีมงคล เพราะได้ช่วยกันตัดไม้เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

    อย่างไรก็ดี พระครูหิรัญเล่าว่า ชาวปะหล่องที่นี่มีกฎอยู่ว่า ผู้ที่ตัดไม้มุงสามารถขนกลับไปได้คนละ 1 มัด มัดละ 100 เส้น ยาวประมาณ 1 วา

    “วันนั้นมีคนมาช่วยอาตมาตัดไม้กันเป็นจำนวนมาก เมื่อนำไม้มุงขนกลับมาถึงที่วัด นับรวมกันได้มากถึง 676 มัด นั้นหมายความว่ามีคนไปช่วยอาตมาตัดไม้มุงมากถึงกว่า 676 คน”(บางคนช่วยตัดแต่ไม่ได้ช่วยขนมา)ท่านพระครูเล่าให้ฟัง

    หลังได้ไม้มุงมา ขั้นตอนต่อไปก็คือการหาหัวหน้าช่างทำองค์พระสาน ซึ่งต้องควาญหาช่างผู้เชี่ยวชาญ ได้“สล่า”หรือช่างชาวไทเขิน จากพม่ามาเป็นหัวหน้าช่าง พร้อมกับมีชาวบ้านในชุมชนที่ได้สืบสานภูมิปัญญาด้านงานจักสานมาช้านานมาเป็นลูกมืออีกแรง โดยทางวัดได้อัญเชิญ พระพุทธรูปสานไม้ไผ่องค์เล็กจากพม่ามาเป็นต้นแบบ(ปัจจุบันประดิษฐานอยู่หน้าองค์พระสิงห์สาน)

    จากนั้นทางวัดได้ประกอบพิธีสร้างองค์พระ แล้วจึงลงมือสร้างฐานและโครงด้วยเหล็กเพื่อความมั่นคงแข็งแรง ก่อนที่จะให้สล่าดำเนินการลงมือสานองค์พระที่ทำจากตอกไม้มุงจำนวนหลายหมื่นเส้นที่ไปตัดมาด้วยความยากลำบาก

    ทั้งนี้ระหว่างที่สล่าชาวไทเขิน ทำการสานองค์พระนั้น พวกเขาต่างนุ่งขาวห่มขาว ถือศีล กินมังสวิรัติ ดำเนินการสานพระเรื่อยไปด้วยจิตมุ่งมั่นตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ค. 2552 จนกระทั่งแล้วเสร็จ ในวันที่ 7 พ.ย. 2552 ใช้เวลาก่อสร้างพระรวมทั้งหมด 99 วัน

    แม้พระสานจะสร้างแล้วเสร็จเป็นองค์พระพุทธรูปสานไม้ไผ่องค์ใหญ่อันสวยงามอลังการ แต่ในเรื่องของการประดับตกแต่งพระวรกายนั้นก็เป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่ถือว่ายากลำบากไม่น้อย โดยเฉพาะการลงรักปิดทอง ซึ่งท่านพระครูหิรัญฯ ต้องดั้นด้นไปซื้อที่เมืองพุกาม พม่า เพราะรักที่เมืองไทยเท่าที่ท่านเจอ ส่วนใหญ่เป็นรักผสมและมีคุณภาพสู้รักแท้จากพม่าไม่ได้

    ท่านพระครูพูดติดตลกกับผมว่า นี่เป็นการไปตามหารักแท้ที่พม่า

    “รักแท้จะมียางรักที่มีพิษ ใครแพ้รักเมื่อถูกจะมีอาการพุพอง ต้องหลีกลี้หนีห่าง ยางรักแท้จะมีสรรพคุณช่วยป้องกันมอดแมลงไม่ให้มากล้ำกราย พระสิงห์สานจึงไม่มีมอดแมงมารบกวน” ท่านพระครูกล่าว

    มาถึงในส่วนของพระพักตร์ ซึ่งเมื่อลงรักเสร็จแล้ว พร้อมทำการปิดทอง แต่ปรากฏว่าแผ่นทองคำที่บ้านเรา ไม่สามารถปิดทองให้ติดเป็นเนื้อเดียวกันได้ ท่านจึงต้องไปหาซื้อแผ่นทองคำจากพม่า ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ เมื่อลงรักแล้วปิดทอง แผ่นทองจะซึมเป็นเนื้อเดียวกับน้ำยางรัก ดูเนื้อเนียนกลมกลืน ทำให้พระพุทธรูปองค์นี้มีพระพักตร์ที่งดงาม สีเหลืองอร่ามมลังเมลือง ดูขลึมขลังเปี่ยมศรัทธา

    พระสิงห์สานชนะมาร มีหน้าตักกว้าง 9.9 ศอก สูง 19 ศอก หนักกว่า 2 ตัน ปัจจุบันถือเป็นพระพุทธรูปสานด้วยไม้ไผ่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

    พระสิงห์สานชนะมาร สร้างขึ้นตามแบบศิลปะสิงห์หนึ่งเชียงแสน ในปางชนะมารหรือปางมารวิชัย องค์พระมีโครงสร้างเป็นเหล็ก ส่วนพระวรกายและองค์ประกอบอื่นๆขององค์พระล้วนทำจากไม้ไผ่สาน ที่สร้างขึ้นอย่างประณีตสวยงาม โดยมีพระวรกายสีทอง จีวรเป็นสีแดงจากสีของชาด

    ใต้ฐานองค์พระ สร้างเป็นช่องเปิดอุโมงค์เล็กๆให้มุดลอดเข้าไปทำบุญสะเดาะเคราะห์ พร้อมดูงานโครงสร้างและรายละเอียดการเก็บงาน ซึ่งช่างสามารถซ่อนเก็บขมวดปมต่างๆไว้ด้านในโครงองค์พระได้เป็นอย่างดี

    นอกจากการสร้างพระสิงห์สานแล้ว ทางวัดหิรัญฯยังได้ก่อสร้างเจดีย์โครงสร้างเหล็กสานหุ้มด้วยไม้ไผ่(สามารถเข้าไปไหว้สิ่งศักดิ์ด้านใน)ไว้ที่ด้านหลังขององค์พระ(วันนี้ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์)

    ต่อจากนั้นได้สร้างพระวิหารขึ้นครอบองค์พระสานและเจดีย์ เป็นวิหารคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับตกแต่งองค์ประกอบต่างๆด้วยไม้ไผ่ ไม่ว่าจะเป็น เสา หลังคา ผนัง เพดาน เรียกได้ว่าแทบทุกอณูของวัดแห่งนี้ล้วนเต็มไปด้วยงานไม้ไผ่ฝีมือประณีตสวยงาม

    สำหรับไม้ไผ่ที่ใช้สร้างเจดีย์และตกแต่งพระวิหารนั้น ทางวัดใช้ไผ่ไร่ลอของบ้านเรา ซึ่งแม้จะมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับไม้มุง แต่ว่าคุณภาพยังสู้ไม้มุงไม่ได้ ซึ่งท่านพระครูหิรัญฯก็ได้เลือกวัดตัดไม้ไผ่ให้ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ด้วยเช่นกัน

    ขณะที่ในส่วนของทางเข้าด้านหน้าพระวิหาร ที่เป็นทางข้ามคลองเล็กๆทางวัดได้สร้างประติมากรรมพระอินทร์ทรงสร้างเอราวัณอันสวยงามตั้งโดดเด่นอยู่ด้านหน้า สื่อความหมายถึงองค์พระอินทร์สาน พร้อมทั้งตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า “อุทยานเวฬุวัน พระเจ้าสาน วัดหิรัญญาวาส” ซึ่งวันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งจุดน่าสนใจและสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ในจังหวัดเชียงรายที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

    ที่สำคัญคือท่านพระครูหิรัญฯ ได้บอกกับผมว่า การสร้างพระสิงห์สานชนะมารนั้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชุมชนแห่งนี้ โดยจากชุมชนที่แตกแยกจากสงครามสีเสื้อที่เกิดความต่างทางการเมือง เมื่อชาวบ้านได้หันหน้าเข้าหากัน มาร่วมมือกัน ชวยเหลือกัน ได้เห็นอกเห็นใจกัน โดยมีความมุ่งมั่นอยู่ที่การสร้างพระถวายพ่อหลวง ความเห็นต่างทางการเมืองของชาวบ้านส่วนใหญ่จึงค่อยๆมลายหายไป ความสมัครสมานสามัคคีในชุมชนจึงค่อยๆกลับคืนมาเหมือนเดิม

    นับเป็นเรื่องราวอันดีงามที่เกิดจากพลังแห่งศรัทธาที่น่าทึ่งไม่น้อยเลย

    วันที่ 31 ธ.ค. 59 ทางวัดหิรัญญาวาส จะทำพิธีบรรจุหัวใจพระพุทธรูป ทำจากเงินบริสุทธิ์ 7.5 กก. ซึ่งชาวล้านนาเชื่อว่าถ้าใครได้ร่วมบรรจุหัวใจพระพุทธรูปจะได้บุญสูงล้น โดยทางวัดได้ขอเชิญผู้สนใจร่วมพิธีบรรจุหัวใจพระพุทธรูปได้ตามแต่จิตศรัทธา

    ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงราย (ดูแลพื้นที่เชียงราย,พะเยา) 0-5371-7433

    ข่าวจากผู้จัดการ online
     

แชร์หน้านี้

Loading...