“ภูฏาน” จับคู่ “เมืองเลย” อพท.เตรียม MOU ท่องเที่ยวชุมชน

ในห้อง 'วัดและศาสนสถาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 29 พฤศจิกายน 2017.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    b8b2e0b899-e0b888e0b8b1e0b89ae0b884e0b8b9e0b988-e0b980e0b8a1e0b8b7e0b8ade0b887e0b980e0b8a5e0b8a2.jpg

    น่าปลื้มใจไม่น้อยที่ประเทศภูฏานเลือกมาดูงานการท่องเที่ยวโดยชุมชนของจังหวัดเลย ซึ่งเป็นพื้นที่ 1 ใน 6 พื้นที่พิเศษขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ที่ผลักดันการท่องเที่ยวโดยชุมชนจนสำเร็จ

    ด้วยความโดดเด่นเรื่องอัตลักษณ์ของชุมชน ประเพณี วัฒนธรรม และธรรมชาติที่สมบูรณ์ ที่คล้ายคลึงกัน เป็นแม่เหล็กดูดให้ “เชวัง โชเพลดอร์จิ” เอกอัครราชทูตภูฏาน ประจำประเทศไทย และคณะ ได้เดินทางมาจังหวัดเลย เพื่อมาเยี่ยมชมพื้นที่จริง และรับฟังการบรรยายสรุปบทบาทภารกิจของ อพท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ในวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา

    สำหรับเส้นทางที่ อพท.ได้ออกแบบ และนำเอกอัครราชทูตภูฏาน ประจำประเทศไทย และคณะเดินทางท่องเที่ยวนั้น เริ่มจากการเดินทางสู่อำเภอนาแห้ว ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดประมาณ 115 กิโลเมตร เป็น 1 ในพื้นที่พิเศษของ อพท. ที่มีความคล้ายคลึงกับภูฏานมากที่สุด

    นาแห้วเป็นที่รู้จักในนามชุมชนพระพุทธศาสนา รวมถึงมีภูมิประเทศอุดมสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติ โดยเริ่มจากไปสักการะพระธาตุดินแทน มีอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี เป็นศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือของชาวตำบลแสงภา อำเภอนาแห้ว สำหรับชาวบ้านที่นี่การกราบนมัสการ รวมถึงการแก้บนที่พระธาตุดินแทน ชาวบ้านจะนำดินขึ้นไปเทบนพระธาตุตามกำลังของตนเอง รวมถึงถวายสิ่งของต่าง ๆ แด่องค์พระธาตุ ได้แก่ ต้นผึ้ง ร่ม และน้ำมัน เป็นต้น

    b2e0b899-e0b888e0b8b1e0b89ae0b884e0b8b9e0b988-e0b980e0b8a1e0b8b7e0b8ade0b887e0b980e0b8a5e0b8a2-1.jpg

    จากนั้นเดินทางต่อไปที่ วัดศรีโพธิ์ชัย ตำบลแสงภา อำเภอนาแห้ว ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่อายุมากกว่า 400 ปี เกิดขึ้นพร้อมกับการตั้งชุมชนแห่งนี้ ซึ่งลักษณะของอุโบสถจะคล้ายกับวัดเชียงของ เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว

    อีกทั้งวัดแห่งนี้มีงานประเพณีที่มีชื่อเสียง คือ ประเพณีงานแห่ต้นดอกไม้ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีช่วงสงกรานต์ ซึ่งมีความเชื่อว่าการนำดอกไม้มาบูชาพระรัตนตรัยนั้น จะทำให้อยู่ดีมีสุข ฝนตกตามฤดูกาล บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและชุมชน ที่สำคัญ งานประเพณีนี้เราจะได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน ตั้งแต่การประดิษฐ์ต้นดอกไม้ ไปจนถึงการแห่ ซึ่งจะต้องใช้คนหามตั้งแต่ 4 คน ไปจนถึง 10 คน ตามขนาดของต้น

    สถานที่ขึ้นชื่ออีกแห่ง “พระธาตุศรีสองรัก” อำเภอด่านซ้าย สร้างขึ้นเพื่อเป็นสักขีพยานในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ระหว่างกรุงศรีอยุธยา และกรุงศรีสัตนาคนหุต ที่จะไม่ล่วงล้ำดินแดนของกันและกัน จากนั้นเดินทางต่อไปที่วัดโพนชัย เพื่อเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ผีตาโขน และเดินทางไปพักผ่อน รับประทานอาหารที่ Cafe de Mena ซึ่งเป็นคาเฟ่ของคนรุ่นใหม่ชาวเลย ที่เข้าไปศึกษาต่อในเมืองหลวง แต่มีแนวคิดที่จะกลับมาพัฒนาบ้านเกิด รวมถึงยังนำเด็ก ๆ ในชุมชนโดยรอบมาเรียนรู้กิจกรรมต่าง ๆ ด้วย เช่น การทำน้ำหมักปุ๋ยตามธรรมชาติ เป็นต้น

    ปิดท้ายที่ อำเภอภูเรือ เพื่อชมวัดสมเด็จภูเรือมิ่งเมือง ซึ่งเป็นพระอารามที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้พระราชทานเงินซื้อที่ดินสร้างวัด และวัดป่าห้วยลาด ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นเพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในมหามงคลสมัยที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ในปี 2550

    b2e0b899-e0b888e0b8b1e0b89ae0b884e0b8b9e0b988-e0b980e0b8a1e0b8b7e0b8ade0b887e0b980e0b8a5e0b8a2-2.jpg

    “เชวัง โชเพล ดอร์จิ” เอกอัครราชทูตภูฏาน ประจำประเทศไทย กล่าวหลังจากการเยี่ยมชมพื้นที่ว่า ได้เรียนรู้ว่าประชาชนที่เลยสามารถรักษาวัฒนธรรมและประเพณีได้เป็นอย่างดี ทำให้มีชีวิตขึ้นมา ไม่สูญหายไป และจากการนำเสนอข้อมูลของผู้ว่าราชการจังหวัด เห็นว่าเมืองเลยเป็นเมืองที่น่าเที่ยว ต้องเติมคำว่าน่ารักไปด้วย สำหรับตนจะนำประสบการณ์ที่ได้ไปแบ่งปันให้คนอื่น ๆ รวมถึงอยากให้นักเรียนภูฏานมาเรียนที่จังหวัดเลย เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

    “ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ” รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ที่เลือกพื้นที่พิเศษจังหวัดเลย เพราะว่ามีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นคล้ายคลึงกับราชอาณาจักรภูฏาน โดยเฉพาะอำเภอนาแห้ว ที่ชุมชนท้องถิ่นมีความเคร่งครัดในพุทธศาสนา มีการถือศีล ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ในช่วงวันโกนและวันพระ เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไปในราชอาณาจักรภูฏาน เหมือนเป็นคู่แฝด

    สำหรับการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (MOU) ระหว่างประเทศไทยกับราชอาณาจักรภูฏานนั้น วันที่ 6-9 ธันวาคม 2560 อพท.ประเทศไทยจะเดินทางไปพบผู้อำนวยการสภาการท่องเที่ยวแห่งราชอาณาจักรภูฏาน (Tourism Council of Bhutan : TCB) เพื่อพูดคุยข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ พิธีลงนามความร่วมมือจะไม่เกินปลายเดือนธันวาคม หรืออย่างช้าไม่เกินเดือนมกราคม 2561 นี้

    ด้าน “ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม” ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า จังหวัดเลยได้ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา ดังวิสัยทัศน์ของจังหวัดที่ว่า เมืองน่าอยู่ เมืองแห่งการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน ภายใต้การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทาง ไทยเลย 4.0 หรือ THAILOEI 4.0 ทั้งหมด 8 ด้าน ได้แก่ 1.เมืองแห่งการท่องเที่ยวและกีฬา 2.เมืองแห่งสุขภาวะ ส่งเสริมให้ประชาชนอยู่ดี กินดี มีความรู้ความเข้าใจและตระหนักในการดูแลสุขภาพอนามัย 3.เมืองแห่งการเกษตรแบบผสมผสาน 4.เมืองแห่งการลงทุนและการค้า 5.เมืองของทุกคน 6.เมืองแห่งศิลปะและวัฒนธรรม เทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และทำนุบำรุงศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ภาษาถิ่น ให้ยั่งยืน 7.เมืองแห่งการศึกษา และ 8.เมืองแห่งคุณธรรม

    ถือเป็นโอกาสดีที่ไทย-ภูฏานได้กระชับความสัมพันธ์ รวมถึงการร่วมมือด้านการท่องเที่ยวลงลึกถึงระดับชุมชนร่วมกันด้วย

    b2e0b899-e0b888e0b8b1e0b89ae0b884e0b8b9e0b988-e0b980e0b8a1e0b8b7e0b8ade0b887e0b980e0b8a5e0b8a2-3.jpg b2e0b899-e0b888e0b8b1e0b89ae0b884e0b8b9e0b988-e0b980e0b8a1e0b8b7e0b8ade0b887e0b980e0b8a5e0b8a2-4.jpg

    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.prachachat.net/local-economy/news-80167
     

แชร์หน้านี้

Loading...