เรื่องเด่น “สัตว์ที่เกิดมาแล้วจักไม่ตายไม่มี” แม้แต่หลวงปู่สรวงก็ไม่ปฏิเสธ

ในห้อง 'ภพภูมิ-สวรรค์ นรก' ตั้งกระทู้โดย ษิตา, 14 กรกฎาคม 2017.

  1. ษิตา

    ษิตา ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    10,174
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,230
    ค่าพลัง:
    +34,647
    หลวงปู่สรวง-เทวดาเดินดิน (1).jpg

    วันนี้จะพูดถึงเรื่องความตาย เพื่อให้ระลึกถึงความตาย ท่านทั้งหลายอย่าเพิ่งคิดว่าไม่เป็นมงคล เพราะแท้จริงแล้วนั้น ผู้ใดระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ถือว่าได้เจริญมรณานุสสติกรรมฐาน มีอานิสงส์มาก เป็นผู้ไม่ประมาทในธรรม ความไม่ประมาทในธรรมนี้ ชื่อว่าเป็นมงคลอย่างสูงสุดทีเดี่ยว เราทั้งหลายเคารพและบูชาหลวงปู่สรวง เทวดาเดินดิน ซึ่งเราทั้งหลายเชื่อว่าท่านอายุมากไม่น้อยกว่าร้อยปีหรือหลายร้อยปี แต่ก็ไม่มีใครทราบอายุที่แน่นอนของท่าน ในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ เล่าลือกันว่าท่านเป็นอมตะ ไม่รู้จักมรณะ (ตาย) แต่แท้ที่สุดแล้วหลวงปู่ท่านก็ไม่อาจจะหลีกหนีพ้นความตายไปได้ หลวงปู่ได้ละสังขารเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๓ บัดนี้ก็ล่วงแล้วก้าวเข้าสู่ปีที่ ๑๗ ดังนั้น วันนี้จึงจะกล่าวถึงความตาย เพื่อย้ำเตือนสติให้ทุกท่านอย่าได้หลงว่าเราอายุยืน จากคำสอนพระพุทธเจ้าอ้างอิงเอาพระสูตรเดียวก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่าชีวิตนี้ไม่ควรประมาทเลยแม้ตลอดทุกลมหายใจเข้าออก

    ซึ่งความตายที่ปรากฎใน อรกสูตร ว่าด้วยครูชื่ออรกะ ท่านอุปมาอุปมัยไว้หลายประการ เพื่อให้เราได้กำหนดพิจารณาว่า ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายมีประมาณน้อย เล็กน้อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ดังนี้

    ๑. น้ำค้างที่ยอดหญ้า เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ก็เหือดแห้งไปอย่าง รวดเร็ว อยู่ได้ไม่นาน

    ๒. เมื่อฝนเม็ดใหญ่ตก ฟองน้ำย่อมแตกหายไปอย่างรวดเร็ว คงอยู่ได้ ไม่นาน

    ๓. รอยขีดในน้ำย่อมขาดหายไปอย่างรวดเร็ว คงอยู่ได้ไม่นาน

    ๔. แม่น้ำที่ไหลมาจากภูเขา มาจากที่ไกล มีกระแสเชี่ยว พัดสิ่งที่ พาไปได้ ไม่มีขณะ เวลา หรือชั่วครู่ที่มันจะหยุด โดยที่แท้ แม่น้ำนั้นย่อมไหลบ่าเรื่อยไป

    ๕. บุรุษผู้มีกำลังอมก้อนเขฬะไว้ที่ปลายลิ้นแล้ว พึงถ่มทิ้งไปโดยไม่ ยากนัก

    ๖. แม่โคที่จะถูกฆ่า ถูกเขานำไปสู่ที่ฆ่า ยกเท้าขึ้นคราวใด ก็ยิ่งใกล้ ถูกฆ่า ใกล้ตายเข้าไปคราวนั้น

    ทั้ง ๖ ประการดังกล่าวมานี้ท่าน เปรียบไว้กับชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นของเล็กน้อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก บุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ เพราะแน่นอนไม่มีสัตว์เกิดมาแล้วจะไม่ตาย

    ครูอรกะได้แสดงธรรมนี้สมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายได้มีอายุประมาณ ๖๐,๐๐๐ ปี เด็กหญิงมีอายุ ๕๐๐ ปี จึงมีสามีได้ สมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอาพาธเพียง ๖ อย่างเท่านั้น คือ หนาว ร้อน หิว กระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ เมื่อมนุษย์ทั้งหลายมีอายุยืนอย่างนี้ ดำรงอยู่ได้นานอย่างนี้ และมีอาพาธน้อยอย่างนี้ ไฉนครูอรกะนั้นยังแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า “พราหมณ์ ชีวิตของมนุษย์ มีประมาณน้อย เล็กน้อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก บุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีหรอก สัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย”

    ดังนั้น ปัจจุบันนี้ เมื่อจะกล่าวถึงชีวิตนั้นให้ถูกต้อง พึงกล่าวว่า “ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายมีประมาณน้อย เล็กน้อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก บุคคลพึงรู้ด้วยปัญญา พึงทำกุศล พึงประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีหรอกสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย”

    เพราะ ปัจจุบันนี้ ผู้มีอายุยืนจะอยู่ได้ ๑๐๐ ปี น้อยกว่านั้นก็มี มากกว่านั้นก็มี

    ส่วนคนที่อยู่ได้ถึง ๑๐๐ ปี จะอยู่ได้ ๓๐๐ ฤดูเท่านั้น คือ ฤดูหนาว ๑๐๐ ฤดูร้อน ๑๐๐ ฤดูฝน ๑๐๐

    คนที่อยู่ได้ถึง ๓๐๐ ฤดู จะอยู่ได้ถึง ๑,๒๐๐ เดือน คือ ฤดูหนาว ๔๐๐ ฤดูร้อน ๔๐๐ ฤดูฝน ๔๐๐

    คนที่อยู่ได้ถึง ๑,๒๐๐ เดือน จะอยู่ได้ถึง ๒,๔๐๐ กึ่งเดือน คือ ฤดูหนาว ๘๐๐ กึ่งเดือน ฤดูร้อน ๘๐๐ กึ่งเดือน ฤดูฝน ๘๐๐ กึ่งเดือน

    คนที่อยู่ได้ถึง ๒,๔๐๐ กึ่งเดือน จะอยู่ได้ถึง ๓๖,๐๐๐ ราตรี คือ ฤดูหนาว ๑๒,๐๐๐ ราตรี ฤดูร้อน ๑๒,๐๐๐ ราตรี ฤดูฝน ๑๒,๐๐๐ ราตรี

    คนที่อยู่ได้ถึง ๓๖,๐๐๐ ราตรี จะบริโภคอาหารได้ ๗๒,๐๐๐ มื้อ คือ ฤดูหนาว ๒๔,๐๐๐ มื้อ ฤดูร้อน ๒๔,๐๐๐ มื้อ ฤดูฝน ๒๔,๐๐๐ มื้อ นับรวมถึงการดื่มนมมารดาและเหตุที่ทำให้ไม่ได้บริโภคอาหาร

    เหตุที่ทำให้ไม่ได้บริโภคอาหารมีดังนี้

    ๑.คนโกรธก็ไม่บริโภคอาหาร

    ๒.คนมีทุกข์ก็ไม่บริโภคอาหาร

    ๓.คนเจ็บไข้ก็ไม่บริโภคอาหาร

    ๔.คนรักษาอุโบสถก็ไม่บริโภคอาหาร

    ๕.คนหาอาหารไม่ได้ก็ไม่บริโภคอาหาร

    เมื่อกล่าวโดยสรุป การกำหนดอายุ กำหนดประมาณอายุ กำหนดฤดู กำหนดปี กำหนดเดือน กำหนดกึ่งเดือน กำหนดราตรี กำหนดวัน กำหนดอาหาร และ กำหนดอันตรายแห่งการบริโภคอาหารของมนุษย์ผู้มีอายุ ๑๐๐ ปี ท่านกำหนดไว้อย่างแท้จริงชัดเจนเช่นนี้แล้วท่านทั้งหลาย พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเป็นอนุสาสนีเพื่อเราทั้งหลายไว้ว่า “กิจใด ที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์ อาศัย ความอนุเคราะห์พึงทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้น เราได้ทำแล้วแก่เธอทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่ง อย่าประมาท อย่าเป็นผู้มีวิปปฏิสาร (ความร้อนใจ) ในภายหลังเลย นี้เป็นอนุสาสนีของเราเพื่อเธอทั้งหลาย” (อ้างอิง : องฺ.สตฺตก. (ไทย) ๒๓/๗๔/๑๖๗-๑๗๐. )

    ดังนั้น เมื่อทราบแล้วในปัจจุบันว่าเราทั้งหลายมีอายุไม่มากเลย ไม่นานก็ตายจากกันแล้ว โกรธก็กินข้าวไม่ลง ใจเป็นทุกข์ก็กินข้าวไม่ลง เจ็บไข้ไม่สบายก็กินข้าวไม่ลง รักษาอุโบสถกินข้าวได้ไม่เกินเที่ยงกินไม่ได้ในเวลาวิกาล คือเที่ยงเป็นต้นไปจนถึงอรุณรุ่งวันใหม่ หรือแม้หาอาหารไม่ได้ก็ไม่ได้กินอาหารอีก นี่ก็คือความจริงแท้ ที่เราทั้งหลายกำลังประสพอยู่ขณะนี้ เป็นที่ประจักษ์แท้แก่เราทั้งหลายแล้ว ดังนั้น จึงไม่ควรประมาทจะได้ไม่เดือนร้อนเศร้าใจ เสียใจในภายหลัง ให้ตั้งใจรักษาศีล เจริญสมาธิ ภาวนา เพื่อความมั่นคงเข้มแข็งของจิตใจ

    เรียบเรียงโดย พระอาจารย์อดิศักดิ์ วชิรปญฺโญ


    ------------------------
    ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล :::
    http://watkhayung.com/2017/01/12/สัตว์ที่เกิดมาแล้วจักไ/
     

แชร์หน้านี้

Loading...