“อารมณ์”

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย กลิ่นลำดวน, 21 กันยายน 2013.

  1. กลิ่นลำดวน

    กลิ่นลำดวน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 พฤษภาคม 2013
    โพสต์:
    366
    ค่าพลัง:
    +2,461
    เทศน์อบรมฆราวาส ณ กุฏิหลวงตา สวนแสงธรรม

    วันที่ ๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๕ [ค่ำ]

    “อารมณ์”​



    เหนื่อยแหละเราวันนี้ทั้งวัน ไม่ได้เทศน์มันก็เหนื่อย ไปที่นั่น ไปที่นี่ มาที่นั่น มาที่นี่ มันก็เหนื่อยได้ เทศน์ไม่เทศน์ก็เหนื่อย เดินมาตอนบ่ายโมง ๔ โมงกว่า ๆ ที่หน้าศาลา เห็นเขากำลังถอดอะไร ถามว่าถอดอะไร ถอดที่เทศน์เมื่อคืนนี้ว่างั้น เขาถอดอยู่ในห้อง หน่อยหรืออะไร เขากำลังถอด กัณฑ์เมื่อคืนนั้นก็ดี แต่วันนี้ โอ๋ ไม่ได้เรื่องเลย เพราะงั้นถึงหยุดทันที ไม่เทศน์ ไม่เกิดประโยชน์ เทศน์ไปไม่ได้ อย่างงั้นแหละกรรมฐานนะ ถ้ามีเสียงขึ้นมาแล้วไม่ได้ เทศน์กรรมฐาน ผิดกันกับเทศน์ปริยัตินะ คือปริยัตินี้เทศน์ไปตามตำรับตำรา มีทางเดินนะ เสียงไม่เสียงก็ไม่สนใจ ว่าไปตามตำรับตำรา ก็อย่างงั้นเทศน์ปริยัติ

    เราก็เคยเทศน์ ปริยัติก็เคยเทศน์ก่อน ว่าไปตามแถวตามแนวของปริยัติ เรื่องเสียงเรื่องอะไรก็ไม่สนใจ เทศน์ทางภาคปฏิบัติ มันไม่เหมือนกัน มันก็รู้อยู่กับตัวของเราเอง เทศน์ปริยัติเป็นยังไง ๆ ก็รู้อยู่กับตัวของเรา เทศน์ทางภาคปฏิบัติเป็นยังไงมันก็อยู่รู้กับตัวอีกแหละ ที่มันไม่เหมือนกันมันก็รู้ ภาคปริยัติเดินไปตามตำรับตำราที่ศึกษาเล่าเรียนจดจำมา อะไร ๆ ก็ว่าไปตามนั้นเรื่อย ผิด ถูก ดี ชั่วก็ยกให้ตำราไป ท่านว่ายังไง ก็ว่าไปตามนั้น หากว่าถูกหรือโดนเขาว่าบ้างว่า ทำไมเทศน์อย่างงั้น ก็ตำราว่าอย่างงั้นนี่น่ะ แน่ะ ไปนั้นเสีย ทิ้งในตำราส่วนเจ้าของเอาตัวรอดไปเลย

    เทศน์ทางภาคปฏิบัติมันไม่เหมือน ไม่เหมือนจริงๆ ไปคนละแบบเลย ในคน คนเดียวกันนั้น ไปแบบปฏิบัติล้วนๆ ไปเลย ขึ้นเรื่อย ๆ ๆ เพราะฉะนั้น อะไร ๆ จึงมากระทบกระเทือนไม่ได้นะ พอกระทบอันนี้จะหดเข้ามาทันที ถ้ามีซ้ำเข้ามาอีกหยุดกึ๊กเลย คิดนั้นคิดนี้ มันแย็บ ๆ ออกแล้ว หยุดเลยไม่เทศน์เพราะไม่เกิดประโยชน์ เมื่อเราจะเรียกชื่อแล้วก็เรียกว่า เทศน์ภาคความจำกับภาคความจริงไม่เหมือนกัน ภาคความจำ จำมายังไงก็เทศน์ไปตามนั้นไปเลย แต่ภาคความจริงนี้ ปฏิบัติจริง ๆ รู้จริงๆ เห็นจริงๆ ถอดออกมาจากความจริงเลย เรียกว่า ภาคความจริงคือภาคปฏิบัติ

    ผู้เทศน์ไม่มีหลักมีเกณฑ์ในหัวใจแล้ว ภาคความจริงล้วน ๆ แต่ไม่รู้หลักของการปฏิบัติ ไม่มีธรรมในใจ มันก็เลวกว่าปริยัติเสียอีก เทศน์ปฏิบัติไม่มีหลักมีเกณฑ์ภายในจิตใจที่เกิดขึ้นจากภาคปฏิบัติมันก็เลวกว่าปริยัติเสียอีก ปริยัติเขายังมีหลักมีเกณฑ์เดินตามปริยัติ เทศน์ปฏิบัติไม่มีหลักมีเกณฑ์ภายในจิตใจ โลเลไปเลย ยึดเอาหลักไม่ได้ มันต่างกัน คำว่าภาคความจริงต้องหมายถึงผู้เทศน์เป็นผู้ปฏิบัติได้รู้เห็นในธรรมทั้งหลายมาโดยลำดับลำดา จนกระทั่งถึงพูดถึงว่าสูงสุดยอดของธรรมเทศน์ออกได้หมด ไม่มีคำว่าผิดพลาด ถูกต้องไปโดยลำดับลำดา เป็นที่แน่ใจโดยลำดับ คือว่าแม่นยำ ๆ มันต่างกัน

    เทศน์ภาคปฏิบัติจะมีอะไรเข้ามายุ่งไม่ได้ จะมีตั้งแต่จิตกับธรรมที่สัมผัสกัน จิตกับธรรมอยู่ด้วยกันสัมผัสกัน ออกมาแย็บๆ ออกเรื่อย ๆ อดีต อนาคต ไม่ไปยุ่ง ยุ่งปัจจุบัน ๆ ก้าวเดินไปตามอันนี้เลย ไม่มีอะไรมายุ่งไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องการความสงัดมากทีเดียวภาคปฏิบัติ สงัดเท่าไรยิ่งดี แต่ก่อนที่ปฏิบัติกรรมฐานอยู่ ที่ยังไม่เข้าใจในอรรถในธรรมมากนัก มันก็อิงทั้งภาคปฏิบัติ อิงทั้งภาคปริยัติไปด้วยกัน ไม่มีภาคปฏิบัติในใจเลย ก็ต้องอาศัยปริยัติไปล้วน ๆ เลย ภาคปฏิบัติก็รู้แต่ยังไม่กว้างขวาง ภาคปฏิบัติรู้เห็นเต็มหัวใจ ๆ ทุกขั้นทุกภูมิของธรรมแล้ว ทีนี้ปริยัติไม่เกี่ยวเลย ไม่ออกเลย ประหนึ่งว่าไม่ได้ศึกษามา ขึ้นปัจจุบันล้วน ๆ นี่ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างงั้น

    คำว่า ธรรมเกิด ก็เกิดจากใจ ธรรมเกิด กิเลสเกิด พวกเรามีแต่พวกกิเลสเกิด เกิดวันยังค่ำคืนยังรุ่ง เกิดแต่ตื่นนอน ไปที่ไหน มีแต่กิเลสเกิด ทางตาเห็นปั๊บกิเลสเกิดแล้ว เห็นรูป รูปอะไร กิเลสเกิดแล้ว ได้ยินเสียง เสียงอะไร กิเลสเกิดแล้ว ได้กลิ่น รส เครื่องสัมผัส มีแต่กิเลสเกิด มันต่างกันนะ นี่เวลากิเลสเกิด เกิดตลอด จึงเรียกว่า กิเลสเป็นอัตโนมัติ ทำงานบนจิตใจของสัตว์โลก เป็นอย่างงั้นทั้งเขาทั้งเรา ไม่มีใครรู้สึกตัวเลยว่ากิเลสเกิดนะ ไม่รู้ จนกว่าได้เข้าภาคปฏิบัติ ภาคปฏิบัติเป็นภาคสั่งสมธรรมเพื่อจะให้ธรรมเกิด ประกอบความพากเพียร เช่นท่านไปอยู่ในป่าในเขาประกอบความเพียรก็เพื่อจะให้ธรรมเกิด

    ทีแรกก็ตั้งสติ สติธรรมเกิดเสียก่อน ล้มลุกคลุกคลานตั้งขึ้นมา สติตั้งทีแรกมีแต่ความพลั้งเผลอ กิเลสเตะเรื่อย พอตั้งสติขึ้นมากิเลสเตะ กิเลสเกิด กิเลสเดิน กิเลสเหยียบ เราตั้งขึ้นเรื่อย ๆ พยายามเรื่อย ๆ สติค่อยดีขึ้น สตินี้ประคองใจ ขาดสติเป็นไปไม่ได้นะ สติเป็นของสำคัญ เป็นพื้นฐานในธรรมทุกขั้น ตั้งแต่ขั้นพื้น ๆ ขั้นล้มลุกคลุกคลานก็ต้องขึ้นอยู่กับสติ สติยังไม่ดี ล้มลุกคลุกคลาน ล้มบ้างลุกบ้าง คลานบ้างเดินบ้าง สติดีขึ้นก็ค่อยมีหลักมีเกณฑ์ สติจึงสำคัญ การฝึกใจให้เชื่อง ให้มีธรรมเกิดบ้าง อย่าให้แต่กิเลสเกิดถ่ายเดียว ต้องฝึกสติเพื่อความสงบของใจ ธรรมคือความสงบจะเกิด

    เมื่อเวลาฝึกหัดเข้าไปเรื่อยๆ แล้ว จิตไม่เคยสงบก็สงบ ตามธรรมดาของจิตจะหาความสงบไม่ได้ มีแต่กิเลสลากถูอยู่ตลอดเวลา จึงเรียกว่า กิเลสทำงานบนหัวใจสัตว์โดยอัตโนมัติ มันเป็นเองของมัน ปั๊บนี้ออกก่อนแล้ว แม้จะไม่ได้เห็นได้ยินอะไรก็ตาม ความคิดปรุงก็เป็นเรื่องของกิเลส คิดเรื่องกิเลสทั้งนั้น ก็เรียกว่า กิเลสเกิดโดยอัตโนมัติ อยู่เฉย ๆ มันก็คิดของมัน คิดเรื่องอะไรมีแต่เรื่องกิเลส ๆ เมื่อยังไม่ได้อบรมในธรรม ธรรมไม่มีทางเกิด มีแต่กิเลสเกิด

    เพราะฉะนั้น โลกทั้งหลายจึงสั่งสมแต่เรื่องความทุกข์ ความกังวลวุ่นวาย ไม่เลือกชาติชั้นวรรณะ กิเลสอยู่บนหัวใจ มีสุขมีทุกข์ เจือปนกันไป ใครมีงานมีการมากเท่าไร เรียนสูงเท่าไร มีหน้าที่การงานมาก มียศถาบรรดาศักดิ์สูงเท่าไร สมบัติเงินทองข้าวของบริษัทบริวารมากเท่าไร กิเลสก็ยิ่งสร้างตัวขึ้นมามาก นี่หมายถึงว่าถ้าไม่มีธรรมแทรก กิเลสจะทำงานหนักมากกว่าคนธรรมดา คนธรรมดาตาสีตาสา คิดก็คิดไปตามประสีประสาแต่ไม่รุนแรงเหมือนคนที่มีความรู้สูง ๆ ฐานะสูง ๆ ได้รับความเสกสรรปั้นยอเป็นผู้ใหญ่ผู้โต เป็นคนมั่งคนมี ผู้นี้แหละผู้สั่งสมกิเลสโดยอัตโนมัติ หมุนติ้วแรงกว่าเพื่อน เพราะฉะนั้น ทุกข์ผู้นี้จึงทุกข์มากนะ

    เราอย่าเข้าใจว่า พวกเศรษฐีเขามีสมบัติเงินทองข้าวของมาก คนมียศถาบรรดาศักดิ์ หรือเรียนมาสูง ๆ จะมีความสุขมากนะ ตรงกันข้าม อันนี้ใครจะมาพูดได้วะ ต้องสำคัญเป็นแบบเดียวกันหมด เขาเหมือนเรา เราเหมือนเขา เพราะฉะนั้นจึงสรรเสริญเยินยอ อัศจรรย์กันล่ะซิ โอ๋ย อัศจรรย์เขา เขาเป็นอย่างงั้นอย่างงี้ ก็เป็นกิเลส มันก็ยอกัน คนนั้นก็ยิ่งกำเริบเสิบสาน คนนี้ก็บ้ายอกันไปเรื่อย ต่างคนต่างยอ คนหนึ่งทุกข์จนจะตายอยู่ในหัวใจนั่น หัวใจมันทุกข์จนจะตาย ไม่มีใครเหลือบมองมันนะ ก็มาสรรเสริญเยินยอลม ๆ แล้ง ๆ เงาๆ กันไปอย่างงั้น ธรรมท่านจับปุ๊บเห็นหมด เห็นแต่รากแก้วของมัน มันแสดงออกมายังไงถึงมาเป็นอย่างนี้ ๆ ท่านเห็นมาตั้งแต่นู้น เมื่อการแสดงออก ท่านจึงแสดงได้โดยถูกต้องล่ะซิ

    นั่นละพระพุทธเจ้า เรียกว่าธรรมเกิด ท่านเกิดอย่างงั้น เมื่อธรรมเกิดแล้วไม่เหมือนกิเลสเกิด กิเลสเกิดทำให้มืดมนอนธการ ไม่รู้จักทิศจักทาง การไปการมา การอยู่การกิน การเป็นการตาย ไม่รู้จักทิศจักทาง ไขว่คว้าไปอย่างนั้นแหละ เรื่องของจิตที่กิเลสมันคุกคามอยู่ภายในใจ มันดิ้นมันดีดเหมือนเรา ครั้นเวลาส่งเสริมกันก็เอาแต่เรื่องกิเลสมาส่งเสริมกัน ตัวจริงที่เป็นไฟเผาอยู่ในหัวใจไม่ได้เห็นด้วยกัน ต่างคนก็ไม่ได้เห็น มันก็ไม่ได้เอามาพูดล่ะซิ เห็นกันชมกันลม ๆ แล้ง ๆ ไป นี่กิเลสชอบออกข้างนอก ธรรมเข้าข้างในและตีออกข้างนอก นั่น มันต่างกันนะ

    เพราะฉะนั้น ธรรมจึงรอบคอบกระจ่างแจ้ง ธรรมเกิดเมื่อไรๆ มากน้อย จะเริ่มเห็นเรื่องของกิเลสมากน้อยเป็นลำดับลำดาไป เรียกว่าธรรมเริ่มเกิด เช่นความสงบของใจเกิด คนที่มีความสงบใจย่อมมีความสุขมากกว่าคนที่วุ่นวี่วุ่นวาย ผิดกัน แม้นักปฏิบัติด้วยกัน ถ้าจิตของใครยังไม่ได้หลักได้เกณฑ์ในการปฏิบัติ คนนั้นก็ยังส่ายแส่เร่ร่อนอยู่ แม้จะเป็นนักปฏิบัติ ไม่ได้ส่ายแส่เร่ร่อนเหมือนโลกทั่ว ๆ ไป ก็เป็นอยู่ในวงของผู้ปฏิบัติที่ยังไม่ได้หลักได้เกณฑ์นั่นแล พอได้หลักได้เกณฑ์แล้วจิตค่อยตะล่อมตัวเข้ามา เป็นหลัก นี่เริ่มธรรมเกิด

    ทีแรกก็สติเกิดเสียก่อน ต้องฝึกสติให้ดี มันจะคิดเรื่องอะไร ๆ ค่อยตีเอาไว้ ๆ ไม่ให้ไปคิด เพราะคิดส่วนมาก ร้อยทั้งร้อยมันคิดไปเพื่อกิเลสทั้งนั้นแหละ ไม่ได้คิดเพื่อธรรม จึงเรียกว่ากิเลสเกิด เวลามีความพากเพียรก็ดัดแปลงตัวเองไปเรื่อย ๆ จิตใจก็ค่อยสงบเย็น ๆ เย็นขึ้นมา ความสงบไม่ใช่ขั้นหนึ่งขั้นเดียว มีหลายขั้นหลายภูมิ สงบละเอียดลออ จนกระทั่งเป็นความแปลกประหลาดอัศจรรย์ในความสงบของตน เพราะเราไม่เคยเห็น รสชาติแห่งความสงบมันเป็นความสุขที่อะไรพูดไม่ถูก ความสุขที่อัศจรรย์ เราก็ไม่เคย ตั้งแต่เกิดมาไม่เคย ว่าอย่างนี้ด้วยกัน

    ผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติธรรมจะไปเห็นความสุขภายในจิตใจนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงดีดจึงดิ้นอยู่ภายนอกละซิ เห็นเขามีความสุขอย่างงั้นก็ดิ้นกับเขา ดีดกับเขา ความสุขภายในไม่มีใครรู้ มันก็ไม่มีใครเสาะแสวง ทีนี้เวลาผู้ปฏิบัติมีความสุขภายในขึ้นมา มันไม่ต้องบอกละ เรื่องเทียบเคียงกันนะ มันรู้ทันทีเลย จิตมีความสงบมันเย็นสบาย อยู่ที่ไหนเย็นหมด แล้วกว้างขวางด้วยนะ พอจิตสบายนี้ โลกนี้รู้สึกว่ากว้างขวางออกไปเรื่อย ไม่ตีบตันอั้นตู้เหมือนแต่ก่อน แต่ก่อนมันตีบตันอั้นตู้ โลกกว้างแสนกว้างแต่มันตีบตันที่หัวใจ

    พอเราบำเพ็ญจิตดวงนี้ด้วยธรรม ค่อยชะล้างเข้าไป ๆ อันนี้จะค่อยส่งแสงสว่างขึ้นมา ความสงบร่มเย็น รู้เนื้อรู้ตัวบ้าง เวลาเผลอ หรือเวลามีสติก็รู้บ้าง แต่เวลาเผลอไปไม่ค่อยรู้แหละ แต่ต่อมาเผลอไปแพล็บนี้รู้ เผลอแพล็บรู้ มันเร็วเข้า นี่เรียกว่า ธรรมจะเริ่มเกิดแล้ว สมถธรรม คือความสงบใจก็เริ่มเกิด ๆ สติค่อยดี ความพากเพียร วิริยะธรรม ความอดความทนเริ่มเกิดไปตาม ๆ กัน อดทนเพื่อความดี เพื่อธรรมทั้งหลาย ก็ค่อยเจริญขึ้น ทีนี้จิตใจที่ถูกปิดบังอยู่ด้วยกิเลสทั้งหลายจนมืดมิดปิดตา หาทางออกทางเข้าไม่ได้นี้ จะค่อยเปิดตัวออกมา ๆ แล้วมองเห็นทิศทาง

    พอมองเห็นทิศทาง ก็เริ่มเห็นดีเห็นชั่ว เริ่มชัดในบุญ ในบาป คือความสุขความทุกข์ที่อยู่กับใจ สุขก็อยู่กับใจ ทุกข์อยู่กับใจ มีสาเหตุมาด้วยกัน ความทุกข์เป็นเพราะอะไรมันจึงทุกข์ ต้นเหตุมันก็สาวหาได้ ความสุขเพราะเหตุไร มันก็เห็นต้นเหตุ สาวหาได้ ทีนี้อันใดเป็นต้นเหตุแห่งความสุขความเจริญความดีมันก็เสริมผู้นั้น อันใดเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ มันก็ปัดออก ๆ ค่อยเจริญขึ้นเรื่อย ๆ นี่ละการปฏิบัติตัวเอง จิตใจของเราทุกคนเป็นอย่างนี้ด้วยกัน พูดคำเดียวกระเทือนทั่วโลกธาตุ มันเหมือนกันหมด ว่ากิเลสทำงานโดยอัตโนมัติบนหัวใจของสัตว์

    ทีนี้เวลาเราแก้ เราบุกเบิกเพิกถอนออกไป มันก็รู้อีกด้วยกัน สิ่งเหล่านี้ค่อยเบาบางจางไป ความมืดทั้งหลายนี้ค่อยสว่างไสวขึ้นมาภายในใจ เพราะธรรมชะล้างๆ จิตใจค่อยสว่างไสวขึ้นมา นี่ท่านเรียกว่าธรรม มันอยู่ด้วยกันกับจิต หากไม่รู้ว่าเป็นกิเลส เป็นธรรม สัตว์โลกไม่รู้ อารมณ์ของกิเลสมันผลักมันดันให้สัตว์โลกทั้งหลายเปลี่ยนแปลงดีดดิ้นตลอดเวลา คืออารมณ์ของกิเลส มันผลักดันภายในใจ กวนตลอด เราจะคิดในแง่อรรถและธรรม มันขวางไม่ยอมให้คิด มันขัดมันขวาง มันดีดมันดิ้น ไม่อยากให้คิด นี่คืออารมณ์ของกิเลส

    เวลาเราจะบำเพ็ญความดี ยิ่งจะทำให้จิตใจสงบ โหย อ่อนเปียกไปหมดเลยนะ ความขี้เกียจขี้คร้าน เอามาใส่รถไฟสัก ๓ ตู้ไม่พอ ความขี้เกียจมากกว่านั้น ยังเต็มตู้นี้ไปเอาตู้นั้นมาอีก มาบรรจุความขี้เกียจ อ้าว ตู้นั้นมาอีก ยังไม่หมด ๆ จากคนๆ เดียว เข้าใจไหม นี่เวลาเราจะทำความดี กิเลสตัณหาตัวขี้เกียจขี้คร้าน ตัวไม่เอาไหน ตัวกีดตัวขวาง มันบรรทุกรถไฟมาเป็นตู้ ๆ ทีนี้เราเพียงคนเดียวสู้มันไม่ได้ก็หงายหมาเลย เฮ้ย ไม่เป็นท่า วันนี้ไม่ได้แหละ เหนื่อยมากวันนี้พักผ่อน นั่น ล้มแล้ว นี่คืออารมณ์ของกิเลสให้พากันเข้าใจ

    ท่านบอกว่าธรรมว่ากิเลสให้ทราบในตัวของเรา ไม่มีใครมาบอก ให้ทราบเสียตั้งแต่บัดนี้ต่อไป อารมณ์ชนิดนี้ เรียกว่าอารมณ์ที่หมุนจิตใจของสัตว์โลกให้พาเกิดพาตายในทางความทุกข์ความลำบากลำบน มันหมุนไปทางต่ำเสมอ ทางสูงมันไม่ให้ไป กิเลสต้องหมุนลงทางต่ำ ธรรมะนี้หมุนขึ้นทางสูง นี่ละ ธรรมะคืออารมณ์ที่คิดอยากทำบุญให้ทาน คิดอยากทำความดีงามทั้งหลาย มันหากเป็นอยู่ในจิตนะ นี่เรียกว่าอารมณ์ของธรรม ธรรมอยู่ในใจนั้นแหละ แต่ถูกกิเลสปิดไว้ เพราะกิเลสมีอำนาจมาก กิเลสลากถูไปทางไหน มันก็ไปเสียโดยไม่รู้ว่าเรามีธรรมหรือไม่ ตัวที่พาลากถูก็ไม่รู้ว่ามันเป็นกิเลส เข้าใจไหมล่ะ ไม่รู้ว่านี้คือ อารมณ์ของกิเลสกำลังลากถูเราไปเวลานี้

    เราก็เหมือนกับฟุตบอล แต่ฟุตบอลมันไม่มีจิตวิญญาณ เตะไปไหนมันก็ไป แต่คนเป็นฟุตบอลเจ็บมันก็รู้ ทุกข์มันก็รู้ มันไม่ใช่ขอนซุง ขอนซุงไม่มีวิญญาณ คนเป็นขอนซุงมันมีวิญญาณ ทุกข์ลำบากลำบนมันก็รู้ ทนทุกข์ทรมานไปตามอำนาจของกิเลสที่ฉุดลากไป วิ่งไปนั้นแหละ นี่ท่านเรียกว่าอารมณ์ของกิเลส ความโลภ มันอยากได้นั้นได้นี้ นั่นละอารมณ์ของกิเลส ความโลภที่เป็นสิ่งขัดขวางที่เป็นภัยแก่ตัวเองก็เรียกว่า กิเลส โลกไม่รู้จักประมาณ โลกไม่มีความอิ่มความพอ มีแต่อยากได้ถ่ายเดียว

    นอกจากนั้นอยากจะเป็นเศรษฐีให้อยู่เหนือโลกเขาไปอีก อารมณ์เช่นนี้ท่านเรียกว่า กิเลส คือแสดงเป็นตัวอยากได้ เป็นตัวโกรธ ตัวเคียดตัวแค้น หงุดหงิด เหล่านี้เป็นอารมณ์ของกิเลส มันโกรธ มันเคียดมันแค้นอยู่ภายในจิตใจ นี่เป็นอารมณ์ของกิเลสชนิดหนึ่ง เรียกว่า กิเลสมีเป็นประเภท ๆ ราคะตัณหา ความดีดความดิ้น กำหนัดในหญิงในชาย ทั้งสัตว์ทั้งบุคคล เจอกันมีแต่อันนี้ออกหน้า ๆ ภายในใจทั้งเขาทั้งเรา ตำหนิใครไม่ได้นะ มันเป็นหลักธรรมชาติ นี่ก็เรียกว่า อารมณ์ของกิเลส ตัวราคะ ทำให้เกิดความกำหนัดยินดี

    จากนั้นแล้วมันก็พาให้ดิ้นให้ดีด ให้เสาะให้แสวงหา ภายในใจมันก็ดีดดิ้นอยู่ภายในมัน อยากเสาะอยากแสวงหา อยากพบอยากเห็น ผู้หญิงหรือชายที่ตนชอบตนรักนะ อยากพบอยากเห็น อยากพูดอยากคุย อยากกระซิบกระซาบ อยากใกล้ชิดติดพัน ทั้งหญิงทั้งชายมันเป็นด้วยกันอย่างนี้ นี่คืออารมณ์ของกิเลส แล้วสิ่งเหล่านี้ เมื่อรวมลงมาแล้วก็เรียกว่าตัวพาดีดพาดิ้น ให้เราเป็นความทุกข์ความทรมานโดยที่ความอยากอันนั้นน่ะ มันเหยียบเอาไว้ไม่ให้รู้ มันให้เพลินไป เราดิ้นไปกับมันนี้ เราเป็นทุกข์ขนาดไหน มันก็ไม่มองความทุกข์ มันมองไปข้างหน้านู่น นี่จึงเรียกว่า อารมณ์เหล่านี้เป็นกิเลสทั้งนั้น พากันจำเอานะ

    อารมณ์ ใครก็ว่ากิเลส ว่าธรรม ไม่ทราบว่าธรรมเป็นยังไง กิเลสเป็นยังไง อารมณ์ชนิดนี้ที่มันผลักมันดันเรา นี้เรียกว่ากิเลส แล้วเราคิดอยากจะทำคุณงามความดีนี้เป็นอารมณ์ของธรรมนะ แล้วกิเลสมันกีดมันขวาง ถ้าจะทำความดีงามทั้งหลายมันไม่อยากให้ทำ นี่ก็เป็นอารมณ์ของกิเลสมากีดขวางเอาไว้ แต่ธรรมมีอยู่ในใจ ไม่มากก็น้อยมีอยู่ในใจ มันมีเวลาที่จะอยากทำนั้นอยากทำนี้ในบรรดาความดีทั้งหลาย อยู่นั้นแล กิเลสมันก็กีดก็ขวางเวลามันมีอำนาจ ให้ทราบเสียว่า อารมณ์ที่มากีดขวางการทำดีของเรา นั้นคือกิเลส

    อารมณ์ที่เป็นความดีของเรา อยากทำบุญให้ทาน อยากเจริญเมตตาภาวนา อย่างนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นฝ่ายบุญฝ่ายกุศล อยากทำ ๆ อันนี้เรียกว่า อารมณ์แห่งธรรม ไม่มากก็เกิดขึ้นให้จับได้อยู่นั้นแหละ นี่เรียกว่า อารมณ์แห่งธรรมอยู่ในใจของเราคนเดียว ทีนี้เวลาเราสั่งสมทางธรรมขึ้นมาก ๆ อารมณ์ของธรรมจะมีมากขึ้น ๆ อารมณ์ของกิเลสจะค่อยลดน้อยลงไป ๆ ทางนี้หนาแน่นขึ้น ๆ ทีนี้ลบล้างกันไปเรื่อย ๆ นี่ที่ท่านว่า ท่านเจริญธรรม มีกำลังจิตกำลังธรรมนั้นแหละ ปราบปรามกิเลสซึ่งเป็นตัวข้าศึกอยู่ภายในใจที่มันรุนแรงอยู่แต่ก่อนให้ลดน้อยลง ๆ

    ทีนี้ต่อไปธรรมก็เกิด แต่ก่อนมีแต่กิเลสเกิด ต่อไปธรรมก็เกิด เกิดเรื่อย ๆ ความสงบร่มเย็นก็เกิด สติก็ติดแนบกันไปเรื่อย ความพากความเพียร ความอุตส่าห์พยายามเป็นธรรมทั้งนั้น แต่ก่อนมีแต่กิเลสเกิด ต่อไปธรรมก็เกิดเรื่อย ๆ สติก็ติดแนบกันไปเรื่อย เป็นธรรมทั้งนั้น เกิดด้วยกัน ๆ เรียกว่า ธรรมเกิด วิริยธรรม คือความเพียรก็เกิด ความอุตส่าห์พยายามก็เกิด ความอดความทน ขันติคือความอดความทนก็เกิด เพื่อต่อสู้กับกิเลส เกิดขึ้นเรื่อยๆ ทีนี้ธรรมก็มีทางขึ้น พอธรรมมีทางขึ้นแล้วจะค่อยเบิกกว้างออก ไม่เหมือนกิเลส กิเลสนี้มันทำให้ตีบตันอั้นตู้ แต่ธรรมนี้ทำให้กว้างขวางออกไป จนกลายเป็นเวิ้งว้าง ๆ ไปเรื่อยนะ นี่อารมณ์ของธรรม หนุนใจของเราให้เบาหวิว ๆ เลย

    ขั้นผู้พึ่งภาวนา จิตใจมีความสงบเย็นเท่าไร พื้นฐานของท่านยิ่งแน่นหนามั่นคง ใจยิ่งสว่างไสวขึ้น ทีนี้มีแต่อารมณ์ของธรรมมากขึ้น ๆ อารมณ์ของกิเลส ความโลภของกิเลส โลภหาอะไร เลยกลายเป็นเรื่องไม่สนใจไปแล้ว ความโกรธก็ไม่สนใจยิ่งกว่าพิจารณาจิตไม่ให้มันดีดมันดิ้น ไปไหนที่เป็นเรื่องกิเลสตีไว้ทั้งนั้น ๆ ความรักความกำหนัดยินดีในหญิงในชายมันก็จางไป ๆ เพราะเสาะแสวงหาแต่ธรรม ไม่เสาะแสวงหาสิ่งเหล่านี้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นกิเลส นั่น มันก็ชำระเรื่อย สิ่งเหล่านั้นก็จางไป ๆ ธรรมะก็หนาแน่นขึ้นมา

    พอพูดอย่างนี้เราก็ยังระลึกได้อยู่นะ นี่จะเป็นขายตัวก็ตาม เอาความจริงมาพูด ไปนั่งภาวนาอยู่ภูเขา ตั้งหน้าจะฟัดกับกิเลส เห็นหญิงสาวมาใส่บาตรไปรักหญิงสาว โธ่ เคียดแค้นให้เจ้าของ กูพามึงมาฆ่ากิเลส มึงจะมาสั่งสมกิเลสเหรอ พูดให้มันจัง ๆ มันเป็นในหัวใจก็บอกซิ เมื่อมันเป็นพูดไม่ได้มีหรือ ใช่ไหม นี่ยกตัวอย่าง เขาก็ไม่ได้ว่าเขาสวยเขางาม น่ารักน่าชอบ เราเป็นบ้าไปเห็น ทีนี้มันติดอยู่ในใจ มาเป็นอารมณ์ละซิทีนี้ เอ๊ะ ทำไม ยังไง ๆ ฟัดกัน นี่มันจับได้อย่างงี้ คือเราไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาจะเป็น แต่มันเป็นด้วยอำนาจกิเลส มันเหนือกว่าใช่ไหม มันก็เคียดแค้นให้เจ้าของ โอ๊ย กูก็ว่ากูมาฆ่ากิเลส อันนี้มันมาสั่งสมกิเลส นี่ฟัดเจ้าของ ยกตัวอย่างมาอย่างนี้นะ

    ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้สนใจ เวลาเจอกิเลสมันสนใจแล้ว กิเลสตัวรักชอบ สาวคนนี้สวย นี่กิเลสรักแล้วนะ ก็กูไม่พามึงมาหาอันนี้ ทางธรรมฟัดกันแล้วนะ มันก็ดึงไปจนได้ เอาไปเอามามันก็จาง มันสู้เราไม่ได้ แต่เป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่ยกมา มันมีอะไรมันต้องแสดงขึ้นมาภายในใจ เวลาปฏิบัติไปสิ่งเหล่านี้จะจางไป ๆ กำจัดปัดมันออกเรื่อย ๆ เลยโดยลำดับลำดา เรื่องความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากสิ่งเหล่านี้มันก็จางไปด้วยกัน ความโลภ ความโกรธ ราคะตัณหา จางลง ๆ ความทุกข์ทั้งหลายจางลง ๆ จิตใจก็มีความสงบสุขเย็นขึ้น ๆ จากนั้นพิจารณาทางด้านสติปัญญาแกล้วกล้าสามารถขึ้นไป สิ่งเหล่านี้ก็พังลง ๆ ทีนี้มีแต่ธรรมเกิดแล้วนะ กิเลสเกิดน้อยแหละทีนี้ ธรรมเกิดมากตลอด ๆ

    ต่อไปกิเลสตัวไหนแย็บขึ้นมา มันรู้ทันทีว่าเป็นภัย ใส่กันเปรี้ยง ขาดสะบั้น ๆ มันต่างกัน ทีนี้ธรรมเกิด ท่านเรียกว่า อารมณ์ของธรรม อารมณ์ของกิเลส อารมณ์ของกิเลส มันมีของมันแย็บออกไปทำให้เกิด เกิดจากใจ แต่เราไม่รู้เวลามันแย็บออกไป จะแสดงเรื่องของกิเลส ทางนี้รู้ก็ตามแก้กัน ๆ สงบลง ๆ นี้เราพูดให้ฟังอย่างชัดเจนในภาคปฏิบัติ มันรู้มันเห็นเข้าไปโดยลำดับลำดา มันทำให้รู้ให้เห็นก็คือว่า แต่ก่อนกิเลสมันปิดไว้มันไม่ให้เห็น ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านั้นมันมีอยู่ดั้งเดิม แต่คนตาบอดไปไหน อันไหนจะมีอยู่ดั้งเดิม ไม่ดั้งเดิมมันก็ไม่เห็น มีอยู่มันโดนเอาเลย เวลามันมืดมันเป็นอย่างนั้น เวลาลืมตาขึ้นมาแล้ว ที่ไหนมันเห็นมันก็หลีกของมัน

    จิตพอสว่างขึ้นมาแล้ว อะไรที่เป็นภัย มันหลีกของมัน ตัดของมันออก ปัดของมันออกอยู่งั้นเรื่อยๆ เมื่อเราสั่งสมอยู่ไม่หยุดไม่ถอย ความพากเพียรทุกอย่างมันค่อยต่อเนื่องเป็นลำดับนะ เรื่องวิริยะ ความพากเพียร ความอดความทน ทุกอย่างนี้มันจะไปพร้อมกันกับความตั้งสติสตัง สตินี้พยายามตลอด ตั้ง แล้วก็มีแต่สั่งสมธรรมขึ้นมา อารมณ์ธรรมมีมากเท่าไร ยิ่งทำจิตใจของเราให้เบาหวิว ๆ ๆ นี่อารมณ์ของธรรมหนุนใจให้ขึ้น อารมณ์ของกิเลสให้กดใจลง ให้จำให้ดีนะ

    โลกทั้งหลายจึงหาความสุขไม่ได้ เพราะต่างคนต่างดีดต่างดิ้น ต่างพอใจกับกิเลสโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลย มีแต่ว่าอันนั้นจะดี อันนี้จะดี เราไม่รู้ว่าความเลวมันอยู่ที่ตรงไหน มันเหนือเราใช่ไหม เราไปเจอเข้าแล้วเป็นความทุกข์ ว่าหวังอย่างนั้นหวังอย่างนี้ ความผิดหวังมันก็แนบข้างกันมา เมื่อไม่สมหวังก็ผิดหวัง มันเป็นทุกข์ล่ะซิ นี่ละอารมณ์ของกิเลสเป็นอย่างนี้ ให้พากันจำทุกคน นี่ถอดออกมาจากภาคปฏิบัตินะ สาธุ พูดแล้วเราไม่ได้ประมาทปริยัติ เราก็เรียนมา จำได้มาๆ มันก็ไม่ได้ละกิเลส เรียนกันไปถึงนิพพานก็เป็นนิพพานแต่ความจำ กิเลสยังเต็มอยู่ในหัวใจ

    เวลาภาคเรียน เรียนไปถึงไหนมันก็เป็นการจำได้ไปถึงนั้น แต่กิเลสไม่เคยถลอกปอกเปิกนะ บทเวลาออกมาภาคปฏิบัตินี้ ปฏิบัติไปตรงไหนมีแต่ชำระกิเลส ไปเรื่อย ๆ ๆ เลย เวลาธรรมได้พยุงจิตใจแล้ว ใจทั้งดวงปรากฏว่ามีแต่ธรรม เบาหวิวตลอดเวลา การอยู่ การกิน การใช้ การสอย การหลับตื่นลืมตา ไปไหนมาไหน มันจะไม่ถืออะไรเป็นสำคัญ ยิ่งกว่าความเพียรประคับประคองจิตใจให้สง่างามไปด้วยสติตลอดเวลา มันจะมีอย่างงั้นตลอด จิตใจมันเพลิน อะไรก็เบิกกว้างออกหมด เห็นจุดหมายปลายทางเป็นลำดับลำดา ที่จะหลุดพ้นจากทุกข์

    กองทุกข์ทั้งหลายที่เคยเป็นมาแต่ก่อนไม่รู้นะ เวลาธรรมเปิดมันเห็นล่ะซิ กองทุกข์ คือกิเลสสร้างขึ้นมา กิเลสเกิดมากเท่าไรยิ่งมืดบอดไปโดยลำดับลำดา จนหาที่ไปที่มาไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงได้พูดว่า เรื่องของคนนั้น ไม่ว่าชาติชั้นวรรณะใด มันมีกิเลสเหมือนกันหมดนั้นแหละ แล้วยิ่งผู้ที่ได้รับความสมมุตินิยมสูงขึ้นไปเท่าไร มันยิ่งสั่งสมกิเลสภายในใจ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว เมื่อเป็นอย่างงั้น ความทุกข์จึงมีเหมือนกันหมด กิเลสมันบีบอยู่ภายในให้สร้างความกังวลมากมาย ความโลภ อยากได้มากเท่าไร มันก็ยิ่งดีดยิ่งดิ้น ยิ่งเป็นทุกข์มาก ได้มาแล้วกังวลในการรักษา หน้าที่การงานก็เกี่ยวข้องกับบริษัทบริวาร ต้องคิดไปหมด ยุ่งไปหมด ผู้นี้ยุ่งมากกว่าเพื่อน ทุกข์มากกว่าเพื่อน

    แต่บรรดาคนทั้งหลายที่เขาเห็น คนนี้เขาดีนะ เขาเป็นเจ้าเป็นนาย เขาเป็นคนมั่งคนมีดีเด่น มีความสุขความเจริญ มีอำนาจวาสนา อำนาจวาสนาขี้หมาอะไร คนกำลังจะตายอยู่ภายในหัวใจ เอาธรรมจับเห็นอยู่อย่างงั้น เพราะฉะนั้นธรรมจึงไม่ผิด สอนไปตรงไหน ใส่เข้ากลางหัวใจเลยเชียว เปรี้ยง ๆ พังเลยกิเลส ธรรมภาคปฏิบัติสอนตรงไหน ตรงเป๋งเลย เพราะท่านสอนท่านมาแล้ว ท่านปฏิบัติของท่านจนกระทั่งแน่นอน กิเลสพังจากหัวใจหมดแล้ว มันอยู่ในหัวใจดวงใด มันก็กิเลสประเภทเดียวกัน มันต้องพังด้วยกัน แล้วท่านจะไม่รู้ได้ยังไง แม้ท่านจะไม่ไปทำลายกิเลสเขาก็ตามแต่ท่านก็รู้ นี่ละธรรมของใจ อารมณ์ของธรรมเป็นอย่างนี้ ทำให้จิตใจเบาหวิวๆ ๆ

    เรื่องความเป็นมาของเรา ถึงจะมืดบอดมาแต่ก่อนก็ตาม ทีนี้เวลาธรรมครองใจแล้ว มันเบิกกว้างออกไปนะ มีตั้งแต่ทางที่จะให้มีความสุขความเจริญยิ่งกว่านี้ หรือต่อไปจะให้ถึงความพ้นทุกข์ สุดท้ายต้องพ้นทุกข์ ไม่พ้นทุกข์ตายก็ตาย นั่นเห็นไหม อำนาจของธรรม เร่งถึงขนาดนั้น ที่จะให้ถอยกิเลสถอยไม่ได้แล้ว คำว่าถอยกิเลสไม่มี ต้องให้ตายเลย นี่อำนาจของธรรมมีกำลังมากแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นทุกสิ่งทุกอย่างคล่องตัวไปหมด สติปัญญาที่อืดอาดเนือยนายแต่ก่อนนี้ โหย คล่องตัว กิเลสผ่านมาไม่ได้ ขาดสะบั้น ๆ ไปเลย สุดท้ายก็กิเลสขาดสะบั้นออกจากใจหมดโดยสิ้นเชิง สว่างจ้าขึ้นมา นี่เห็นไหม ใจดวงนี้ นี่ละธรรมครองใจ

    ทีนี้เลยกลายเป็นใจกับธรรมเป็นอันเดียวกันแล้ว ทีนี้จ้าหมด ไม่มีคำว่าอัดว่าอั้นในสามแดนโลกธาตุ อั้นกับอะไร อัดกับอะไร อะไรมาปิดมาบัง ก็มีกิเลสอย่างเดียวเท่านั้นมาปิดบังหัวใจ เมื่อกิเลสหมดสิ้นซากลงไปแล้วอะไรจะมาปิด เรียกว่าเวิ้งว้างไปหมด ไม่มีอะไรที่จะเวิ้งว้างกว้างขวางยิ่งกว่าใจที่สิ้นจากกิเลสแล้ว ครอบแดนโลกธาตุหมด ฟังซิน่ะ ทีนี้เวลาโลกที่มันแคบ มันมาแคบที่หัวใจ คือกิเลสบีบหัวใจ มันจะกว้างขนาดไหน มันก็มาแคบอยู่ที่หัวใจของเรา ความทุกข์อยู่ที่หัวใจ เมื่อใจเป็นธรรมขึ้นมาแล้ว ความสุขทั้งหมดมารวมที่หัวใจ

    นี่วันนี้ได้พูดถึงเรื่องอารมณ์ของกิเลส อารมณ์ของธรรม มันผลักดันจิตใจได้ด้วยกัน อันหนึ่งผลักดันไปทางดี อันหนึ่งผลักดันไปทางชั่ว ถ้ายังไม่รู้ว่ากิเลสว่าธรรมให้สังเกตเอาตามนี้นะ อารมณ์ที่มันทำให้คิด ให้ชอบสิ่งนั้นสิ่งนี้ นั่นละอารมณ์ เรียกว่า อารมณ์ อารมณ์อันนี้คืออะไร ถ้าเป็นอารมณ์ฝ่ายกิเลสมันก็ไปทางต่ำ ถ้าอารมณ์ฝ่ายสูง ก็ไปทางธรรม ส่วนมากทีแรกมันไม่อยากทำทางดีน่ะ ถึงอยากก็มีน้อย กิเลสตีนิดเดียวหลุดไม้หลุดมือไปเลย ครั้นต่อไป ๆ ก็เหนียวแน่นขึ้น จับมั่น กิเลสมาแตะไม่ได้ ฟาดกิเลสหัวแตกเลย มันเป็นอย่างงั้นนะ

    ทีนี้เวลามันได้รู้ได้เห็นตามความเป็นจริงที่ได้ปฏิบัติมา ทั้งดี ทั้งชั่ว ทั้งสุข ทั้งทุกข์ กิเลสตัณหา บาป บุญ นรก สวรรค์ อเวจี มันรู้ในหัวใจของมันหมดโดยไม่มีอะไรสงสัยแล้ว หมอบกราบราบเลย พระพุทธเจ้าที่สอนไว้ว่า บาปมี บุญมี นรกสวรรค์มี พรหมโลกมี พวกเปรตพวกผี สัตว์ต่าง ๆ ทั่วดินฟ้าอากาศ ท้องฟ้ามหาสมุทร ว่ามี เห็นหมด นั่นยอมรับผึง แล้วทุกสิ่งทุกอย่างเทศน์ออกมา สอนออกมา บอกออกมาคำใดก็ตาม จะเอาความจริงออกมาล้วน ๆ ๆ ความแง่งอนไม่มี เพราะมีแต่ความจริงที่เต็มในหัวใจ ถอดออกมาว่านี่น่ะ ตาบอดหรือ อยากว่าอย่างงั้น ถ้าเป็นหลวงตาบัวจะว่าอย่างงั้นนะ ตาบอดหรือถึงไม่ดู เราอยากว่าอย่างงั้นนะ

    กิเลสมันมืดจริง ๆ กิเลสมันมืดมันกล่อมเลยนะ ไม่อยากสว่างด้วยนะ กิเลสกล่อมคน มืดทั้งวันทั้งคืน มันยังกล่อมไปอีก อยากให้มืดไปอีก ตายแล้วก็สูญไปเลย ยิ่งสบายใหญ่ ตายสูญไปแล้วยิ่งสบายใหญ่ ตัวจริงไม่ได้สูญล่ะซิ กิเลสหลอกต่างหาก พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้เห็นจริงๆ แล้ว ถ้ามันสูญทำไมพระพุทธเจ้าจะไม่บอกก่อนเพื่อนล่ะ นี่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ว่าเกิดว่าตาย ออกจากนี้ ออกร่างนั้นร่างนี้ พระองค์ไหนก็สอนอย่างเดียวกัน พระพุทธเจ้าก็สอนอยู่นี้ตลอดมา ก็เพราะเรื่องเกิดตายคือเรื่องของจิต เข้าร่างนั้นร่างนี้ มันไม่เคยฉิบหาย แต่ไปอาศัยร่างใดเพราะอำนาจแห่งกรรมดีกรรมชั่ว มันก็เป็นร่างต่าง ๆ ขึ้นมา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเปรต เป็นผี เป็นเทวบุตรเทวดาตามอำนาจแห่งกรรมดีกรรมชั่วของตน จิตดวงนั้นแหละพาให้เป็น

    พูดถึงเรื่องอารมณ์ของธรรม อารมณ์ของกิเลส แล้วพูดถึงเรื่องความจริงกับความจำ มันต่างกัน ความจำที่เรียนมานั่น ไม่ได้แน่ใจ คือท่านสอนมายังไง เราเรียนไปตามเราก็เชื่อไปตามนั้นลอย ๆ มันไม่ได้มั่นคงภายในใจเหมือนการปฏิบัติรู้ขึ้นมานะ เวลาเราปฏิบัติเรารู้ขึ้นมามันแม่นยำ จริงจัง แล้วไม่สงสัย ๆ ยิ่งเข้าไปละเอียดเท่าไร ยิ่งไม่สงสัย ยิ่งกระจ่างแจ้งขึ้นไป เมื่อเป็นเช่นนั้น พูดออกมาคำไหนจะสงสัยไปไหน ใครเชื่อไม่เชื่อ เราไม่ได้สนใจ เป็นเรื่องของเขาที่จะมารับประโยชน์จากเรา เขาไม่เชื่อก็เป็นกรรมของเขาเอง เขาเชื่อก็เป็นกรรมดีของเขาเอง ก็มีเท่านั้น ส่วนท่านที่จะให้มีรายได้รายเสียจากคนเชื่อหรือไม่เชื่อ ท่านรู้ของท่านจริงแล้ว จะมาหาท่านปลอมไปไหนอีกล่ะ ถ้าว่าพ้นท่านก็พ้นแล้ว จะให้ท่านตกนรกอเวจีลูกไหนอีก มันตกก็ตกพวกที่มันไม่เชื่อนั่นแหละ ให้พากันจำไว้นะ

    ความจริงเป็นอย่างนั้น รู้ออกมาจริงๆ เทศน์ออกมา สอนออกมาจริงจังทุกอย่างแม่นยำ แต่ความจำไม่ได้เรื่องนะ ถ้าถูกเขาว่า หรือโดนเขาโจมตีบ้าง ทำไมถึงเทศน์อย่างงั้นล่ะ มันถูกหรือนั่น ก็ตำราท่านว่าอย่างงี้ โยนใส่ตำรา เจ้าของก็ไป ตัวรอดก็เอา ก็ไม่ทราบรอดไปไหนก็ไม่รู้หัวมันละ เจ้าของเอาตัวรอดก็พอ แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างงั้นนะ มันผิดกัน นี่ละธรรมพระพุทธเจ้ามีเป็นพื้นเพอยู่อย่างงี้ตลอดมา ท่านถึงเรียกว่าอกาลิโก ไม่มีกาล สถานที่ เวล่ำเวลาที่จะมาตัดมาทอน มาลบมาล้างได้เลย ผู้ทำดีต้องได้ดีตลอด ผู้ทำชั่วต้องได้ชั่วตลอด ออกมาจากใจดวงเดียวกันนี้

    ทำไปทางกิเลส กิเลสพาให้ทำชั่ว เป็นกิเลสวันยังค่ำ หมุนไปทางธรรม ทางความดีงาม เรียกว่า ธรรม ซึ่งเกิดอยู่ในหัวใจดวงเดียวกัน เป็นความดีงามตลอดไป เพราะฉะนั้นจึงว่าเอื้อมไปทางไหนถูกทั้งนั้น เอื้อมไปทางกิเลสก็ถูกกิเลส เอื้อมไปทางธรรมเป็นความสุขก็สุขไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงหลุดพ้นไปได้เลย ไม่สูญหายไปไหน เรื่องกิเลสที่มีอยู่เต็มโลกเต็มสงสาร มันบอกว่า ทำบุญไม่ได้บุญ ทำบาปไม่ได้บาป ตายแล้วสูญ นี่กิเลสตัวนี้หนาแน่นมาก มันหนาแน่นอยู่กับผู้สำคัญ สำคัญตนและประกาศออกมาหลอกโลกเขานั่น พวกนี้พวกสร้างกรรมหนักมาก

    มันไม่ได้เป็นไปตามความเสกสรรปั้นยอ เป็นไปตามความจริง ความจริงก็คือว่า ใจนี้ไม่ฉิบหาย ไม่สูญ พระพุทธเจ้ารู้ความจริง ไม่สูญก็บอกไม่สูญ แม้ถึงนิพพานแล้วก็เป็นธรรมธาตุ จิตดวงนี้เป็นธรรมธาตุแล้ว แต่ก่อนมันตกนรกหมกไหม้ ไปที่ไหน ๆ เสวยทุกขเวทนามากน้อยเพียงไร มันก็ยอมรับว่าทุกข์มาก แต่ไม่ยอมฉิบหายคือใจดวงนี้ เวลาบาปกรรมมันพ้นไป ๆ ผ่านมาสร้างความดี ความดีส่งเสริมเข้าไป ฟาดจนกระทั่งถึงจิตนี้บริสุทธิ์เต็มที่แล้วเป็นธรรมธาตุพ้นทุกข์ไปเลย แล้วสูญที่ตรงไหน นี่แหละท่านเรียกว่า ธรรมมีอยู่ ๆ ครอบแดนโลกธาตุ คือธรรมธาตุ สูญไปไหนล่ะ

    ว่าจะจบแล้วขึ้นอีก เป็นยังไงฟังเทศน์วันนี้เป็นยังไง

    (โยม : ฟังที่หลวงตาบอกว่า อารมณ์กิเลสกับอารมณ์ธรรม พอฟังแล้วหนูก็แยกออกว่าเป็นอย่างงี้ ๆ) ก็อย่างงั้นแล้ว คือมันอยู่ในใจ กิเลสก็เกิดที่ใจ อยู่ที่ใจเหมือนกัน ธรรมก็เกิดอยู่ในใจ อยู่ที่ใจเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันจึงต่างอันต่างแสดงได้ ตามความมีอยู่ของตน เวลาคิดอยากไปทำบุญทำทาน นี่คือทางธรรม คิดอยากไปทำบาปทำกรรมมันก็คิด เวลามันคิดดื้อๆ เข้ามามาก ๆ มันก็ไปหาที่ลับ ๆ เสียก่อนแล้วดูว่าเมียอยู่ข้างหลังหรือเปล่า ถ้าเมียเขาอยู่ข้างหลังก็มองหาอีหนูละซิ มันเป็นของมัน เข้าใจไหมล่ะ

    แสงสว่างนี้นำมาจาก
    Luangta.Com - ��ǧ����Һ�� �ҳ����ѹ��
    โมทนาสาธุคะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...