“อุเบกขา..ประตูผ่านสู่ความสงบ”

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 27 สิงหาคม 2009.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,487
    “อุเบกขา..ประตูผ่านสู่ความสงบ”

    พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์

    [​IMG]



    -------------------------------------------
    ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ ได้บัญญัติความหมายของ คำว่า “อุเบกขา” ไว้ว่า คือ “ความเที่ยงธรรม, ความวางตัวเป็นกลาง,ความวางใจเฉยอยู่” คำว่า "วางใจเฉย" นี้ มักจะมีความเข้าใจผิดกันโดยทั่วไปว่า ไม่ทำอะไรเลย ที่ถูกต้องแล้ว จะต้องพิจารณาตามหลักวิชาพุทธศาสตร์ ซึ่งได้อธิบายขยายความให้เห็นชัดเจนเพิ่มขึ้น ในพระอภิธรรมท่านได้จำแนกอุเบกขาออก และจัดไว้เป็น ๒ หมวด คือ หมวดเวทนา เรียกว่า "อุเบกขาเวทนา" ซึ่งเป็นสภาพของจิตที่ถูกกระตุ้น ถูกสัมผัสจากภายนอก ผ่านประตูทางกายทั้งห้า หรือ ปัญจมทวาร คือ ตา ลิ้น จมูก หู และ ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย กับ ประตูทางใจ หรือ มโนทวาร ซึ่งเกิดจากการทำงานของสมอง ให้เกิดความรู้สึก รับรู้ไว้เฉยๆ โดยมิได้เกาะยึดติดไว้เป็นอารมณ์ แล้วจึงคืนเข้าสู่ภาวะการเป็นอุเบกขา สงบนิ่ง กับอีกหมวดหนึ่ง คือ หมวดสังขาร ซึ่งเป็นสภาพของจิตที่ถูกสัมผัสแล้ว มิได้วางเฉยทันที กลับเกาะติด ปรุงแต่งจนบังเกิดเป็นอารมณ์ เมื่อกลับคืนเข้าสู่เป็นภาวะปกติ คือ อุเบกขา แล้ว ก็สงบนิ่ง มิได้มีอารมณ์นั้นคั่งค้าง หลงเหลืออยู่ หรือตกเป็นทาสของอารมณ์นั้น เป็นเหตุให้จิตมีความเป็นอิสระ เป็นกลาง อยู่เสมอ



    ในการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานเพื่อสร้าง และพัฒนาปัญญาของผมในระยะแรกๆ ผมยอมรับว่า ได้ให้ความสำคัญของ "อุเบกขา" ไว้ไม่มากนัก และรู้สึกแปลกใจอยู่ตลอดมาว่า เหตุใด ในพระอภิธรรมจึงได้ให้ความสำคัญของ "อุเบกขา" ไว้ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่า จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับฌาณสมาบัติ หรือ โพธิฌงค์ อยู่มาก จึงน่าจะหยิบยกหัวข้อธรรมเรื่องนี้มา ใคร่ครวญ ไตร่ตรองพิจารณาหาเหตุผลกัน

    เราอาจอธิบายความหมายของคำว่า "อุเบกขา" ในเชิงอุปมาอุปมัยเพื่อให้เข้าใจง่ายได้ดังนี้
    ขอให้ผู้ที่ศึกษาพิจารณาที่คนโทแก้วใสที่บรรจุน้ำ และ มีสิ่งสกปรกเจือปนอยู่จำนวนหนึ่ง ในขณะที่น้ำยังสงบนิ่งให้ดี จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า น้ำในคนโทนั้นจะแบ่งแยกระหว่างส่วนที่เป็นน้ำสะอาดบริสุทธิ์ กับ ส่วนที่เป็นสิ่งสกปรกเจือปนอยู่ ออกจากกันตามธรรมชาติ เราสามารถมองผ่านน้ำในคนโทไปได้อย่างทะลุปรุโปร่ง น้ำเป็นของเหลว การกระเพื่อมของน้ำจะเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากภายนอกมากระทบ เช่น การขว้างก้อนหินลงในน้ำ เอาช้อนลงไปกวน ปล่อยน้ำจากก๊อกให้ไหลลงไปในคนโท การยกคนโทน้ำขึ้นมาเขย่า ฯลฯ น้ำที่อยู่ในคนโทจะเกิดการกระเพื่อมเป็นระลอกคลื่น และเป็นเหตุให้สิ่งสกปรกที่ตกตะกอนอยู่ใต้ท้องน้ำ หรือ ก้นคนโทถูกกระตุ้นไม่ให้สงบนิ่ง เกิดการฟุ้งกระจายลอยตัว เคลื่อนไหวไปมาขึ้นลงในระดับต่างๆ ของน้ำ ทำให้เราเห็นได้ทันทีว่า น้ำในคนโทนั้นมีลักษณะขุ่นมัว มากน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณของตะกอนที่เจือปนอยู่ ถ้าน้ำในคนโทขุ่นมัวมาก เราจะไม่สามารถมองผ่านไปได้เลย หากขุ่นมัวไม่มาก เรายังอาจมองผ่านไปได้ แต่ไม่ชัดเจน เมื่อใดก็ตามที่น้ำในคนโทกลับมาอยู่ในสภาพปกติ คือ นิ่งเฉย ไม่ถูกเขย่า ไม่ถูกรบกวน จากสิ่งภายนอก ตะกอนที่เจือปนอยู่จะแยกตัวออกจากน้ำบริสุทธิ์ตกลงไปรวมกันอยู่ที่ก้นคนโทโดยธรรมชาติ น้ำในคนโทจะเริ่มใสขึ้นตามลำดับ
    สภาพจิตวิญญาณของเราก็เปรียบได้กับน้ำที่บรรจุอยู่ในคนโทดังกล่าวข้างต้น หากไม่มีสิ่งใดผ่านประตูทางกายทั้งห้า หรือ ปัญจมทวาร คือ ตา ลิ้น จมูก หู และ ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย กับ ประตูทางใจ หรือ มโนทวาร ซึ่งเกิดจากการทำงานของสมอง เข้าไปกระทบ จิตจะอยู่ในสภาพเป็นอุเบกขา ต่อจากนั้น ก็จะสงบนิ่ง ไม่เกิดอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น หากเราสามารถประคองจิตให้อยู่ในสภาพนี้ตลอดไปอย่างต่อเนื่องจิตจะบังเกิดเป็นสมาธิขึ้น สภาวะของจิตในลักษณะนี้ เปรียบเสมือนกับคนโทน้ำที่ไม่ถูกยกขึ้นมาเขย่าให้สั่นสะเทือน น้ำในคนโทจึงอยู่ในสภาพสงบนิ่ง มีความใสสะอาดบริสุทธิ์หมดจด โปร่งใส จึงบังเกิดความสว่างเจิดจ้าอยู่ในใจ เป็นวิชชานำไปสู่การพัฒนาปัญญาได้ด้วยดี
    ข้อแตกต่างระหว่างอุเบกขาในหมวดเวทนา กับ อุเบกขาในหมวดสังขาร อาจอธิบายในเชิงอุปมาอุปมัยได้ดังนี้

    เมื่อเรายกคนโทน้ำดังกล่าวขึ้นจากที่ตั้งอยู่เดิม น้ำในคนโทนั้นย่อมจะเกิดการกระเพื่อม ไหวตัว เป็นเหตุให้สิ่งสกปรกที่ตกตะกอนอยู่ที่ก้นคนโทบางส่วนขยับตัวฟุ้งลอยขึ้นมา น้ำในคนโทนั้นจะขุ่นมัว มากน้อยขึ้นอยู่กับแรงสัมผัสจากมือของเรากับคนโทนั้น เมื่อเรายกคนโทนั้นขึ้นมาแล้ว ประคองไว้ หรือ ค่อยๆ วางลงไปไว้ที่เดิม สักครู่เดียว สิ่งสกปรกที่เจือปนในน้ำซึ่งฟุ้งขึ้นมาจะค่อยๆ ตกตะกอนกลับลงไปสู่ที่เดิม น้ำในคนโทจะเริ่มใสสะอาดขึ้นอีกครั้ง เปรียบได้กับ อุเบกขาในหมวดเวทนา แต่ถ้าเป็นกรณี อุเบกขาในหมวดสังขาร ก็เปรียบเสมือนกับ เมื่อเรายกคนโทนั้นขึ้นแล้ว แทนที่จะค่อยๆ วางลงไปไว้ที่เดิม กลับเขย่าไปมา ไม่หยุดนิ่ง สิ่งสกปรกที่เจือปนอยู่ในน้ำในคนโทจะยิ่งกระจายฟุ้งออกมามากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่วนที่ตกตะกอนจับเป็นตะไคร่อยู่ตามผิวในของคนโท สภาพของน้ำในคนโทจะขุ่นมัวมากกว่าข้ออุปมาอุปมัยครั้งแรกเกี่ยวกับอุเบกขาในหมวดเวทนา ถึงแม้ว่า เราจะวางคนโทลงไว้ที่เดิม ก็ต้องใช้เวลานานกว่าน้ำในคนโทจะสงบนิ่ง และ สิ่งสกปรกที่เจือปนอยู่จะตกตะกอนกลับไปสู่ภาวะเดิม
    น้ำในคนโทที่ฟุ้งกระจายจากการสั่นสะเทือนของคนโทจะโดยวิธีใดก็ตาม ย่อมทำให้เกิดความมืด ขุ่นมัว ปิดบังแสงสว่างมิให้ผ่านได้อย่างเต็มที่ จึงเป็นเหตุทำให้เราไม่สามารถเห็นความบริสุทธิ์ ใสสะอาดของน้ำในคนโทนั้นได้ฉันใด สภาพของจิตที่มิได้เป็นอุเบกขาย่อมถูกกิเลสราคะต่างๆ บดบังมิให้เกิดปัญญา สัมมาทิฏฐิขึ้นได้ก็ฉันนั้น

    ผมขอยกตัวอย่างให้ท่านผู้อ่านได้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นอีกสักหนึ่งเรื่อง คือ
    เมื่อเราเดินไปตามถนน เหลือบไปเห็นสุภาพสตรีท่านหนึ่งแต่งตัวดี มีรสนิยมสูง แต่ก็มิได้สนใจที่จะเฝ้าติดตามสังเกตดูต่อไป ปล่อยให้เธอเดินผ่านไป อารมณ์ หรือ ความรู้สึกที่มีต่อเธอ ก็จะปรากฏอยู่ในจิตใจของท่านเพียงแวบเดียว มิได้มีสิ่งใดหลงเหลือให้มาเฝ้าคิดอีกต่อไปกลับคืนเข้าสู่สภาพปกติ คือ เป็นอุเบกขา วางเฉยไม่ยึดไว้เป็นอารมณ์อีกต่อไป จะมีเหลือบ้างในส่วนของสมองที่เก็บความจำ หรือ ที่เป็นคำศัพท์บาลีว่า "สัญญา" ซึ่งจะเรียกกลับมาเมื่อพบเธอผู้นั้นอีกครั้งหนึ่งเป็นการทบทวนความจำว่า เคยพบกันครั้งหนึ่ง จะพบกันเมื่อใด ที่ไหนนั้น อาจจะจำไม่ได้ หากเพิ่งจะพบกันเมื่อสองสามวันนี้ ก็ยังพอจะจดจำได้ สภาพของจิตเป็นอุเบกขาในลักษณะนี้ จึงจัดอยู่ในหมวดเวทนา

    ในกรณีเดียวกัน เมื่อเราได้พบสุภาพสตรีท่านนั้นแล้ว จิตได้ให้ความสนใจ รับรู้ปรุงแต่งให้บังเกิดอารมณ์พอใจ หรือ อิฏฐารมณ์ ว่า เธอมีรูปร่าง ส่วนสัดสวยงาม มีกริยาท่าทางสุภาพเรียบร้อย มีลักษณะผู้ดี ใช้เครื่องแต่งกาย เครื่องอาภรณ์ประดับกาย ที่เหมาะสมกับกาลเทศะ แสดงรสนิยมของเธอได้ชัดเจน เมื่อผ่านเธอ ก็เฝ้าที่จะมองตามเธอไปด้วยอารมณ์ที่พอใจ จนกระทั่งลับตา กว่าจิตจะหยุดนิ่ง กลับเข้าสู่อารมณ์ปกติเป็นอุเบกขา ก็ต้องใช้เวลานานอยู่พอสมควร สภาพของจิตอุเบกขาในลักษณะนี้ จึงจัดอยู่ในหมวดสังขาร
    อุเบกขาจัดเป็นองค์หนึ่งในพรหมวิหารสี่ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นคุณลักษณะสำคัญที่จำเป็นต้องมีอยู่ประจำในจิตใจของบุคคลที่เป็นบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ หัวหน้าครอบครัว และนักปกครองทั้งปวง หรือที่เรียกรวมๆ กันว่า ผู้ใหญ่ และจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้แข็งแกร่งอยู่เสมอ ศัตรูสำคัญของจิตอุเบกขา ได้แก่ อคติ ซึ่งเป็นคำศัพท์บาลีแปลว่า "ความลำเอียง" มีอยู่ ๔ ลักษณะ ได้แก่ ฉันทาคติ คือ ลำเอียงเพราะความรัก ความโลภ โทสาคติ คือ ลำเอียงเพราะความโกรธ โมหาคติ คือ ลำเอียงเพราะความเขลาความหลง และ ภยาคติ คือ ลำเอียงเพราะความกลัว

    อุเบกขา จึงมิได้มีความหมายว่า การอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย แต่หมายถึงว่า เราจะทำอะไรก็ได้ แต่จะต้องกระทำด้วยความเป็นกลาง ปราศจากอคติทั้งปวง กระทำอย่างมีสติ มีปัญญา มีสัมมาทิฏฐิ คือ ความรู้ว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก และกฎของกรรมนั้นเป็นอย่างไร

    พลังสำคัญที่จะคอยค้ำจุนจิตให้บังเกิดความเป็นอุเบกขา อยู่ในสภาพที่ไม่หวั่นไหว โยกสั่นคลอนคล้อยไปกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ผ่านทวารทั้งหก ทวารหนึ่งทวารใด หรือ หลายทวาร เข้ามากระทบจิต คือ พลังจากสติ ข้ออุปมาอุปมัยในวรรคนี้ คือ

    อุเบกขา เปรียบเสมือนเสาที่ปักอยู่บนดิน คือ สติ หากสภาพของดินเป็นดินเหนียว มิใช่ดินโคลนเลน และเสานั้นถูกปักไว้ในดินลึกเพียงพอ ถึงแม้ว่า จะมีมนุษย์ สัตว์ใด หรือ สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น แรงลม กระแสน้ำ มาโยกคลอน สัมผัสกระทบกระแทกด้วยความแรงมากเพียงใดก็ตาม เสานั้นก็จะไม่โอนเอียง โยกคลอนไปได้ หรือ คนโทน้ำ ที่ถูกวางไว้บนพื้นที่แข็งแกร่ง ถึงแม้ว่า จะมีการเคลื่อนไหวของคน สัตว์ ยวดยานพาหนะผ่านไปมาอย่างไรก็ตาม พื้นที่รองรับคนโทน้ำนั้นก็มิได้สั่นสะเทือน ทั้งคนโท และน้ำที่บรรจุอยู่ในคนโทนั้นก็จะอยู่ในสภาพสงบนิ่ง สิ่งสกปรกที่ตกเป็นตะกอนอยู่ก็จะไม่ฟุ้งกระจายขึ้นมา

    คำพังเพยโบราณที่ว่า "ทำตนเป็นไม้หลักปักขี้ควาย" เป็นข้อความเปรียบเปรยเมื่อหมายถึง ท่านผู้ใหญ่ที่มีความลำเอียง ไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะขาดพลังสติ หรือมีไม่เพียงพอที่จะคอยกำกับดูแล เฝ้าเตือนให้จิตระลึก ไตร่ตรอง รู้เท่าทันด้วยใจเป็นกลาง คือ เป็นอุเบกขาว่า เรื่องใดชอบ หรือไม่ชอบ ไม่ถูก หรือไม่ควร ด้วยเหตุผล

    ผู้ใดก็ตามที่หมั่นฝึกฝน และพัฒนาจิตให้เป็นอุเบกขาได้จนเป็นนิสัย จิตของผู้นั้นย่อมมีความบริสุทธิ์ สะอาด เป็นกุศลจิตที่สงบนิ่ง สามารถระงับยับยั้ง หรือดับกิเลสราคะทั้งปวง คือ ความโกรธพยาบาท ความโลภ และความหลงได้โดยมิต้องสงสัย บุคคลที่มีคุณลักษณะดังกล่าว เราจะสังเกตเห็นได้ง่ายว่า ท่านจะเป็นผู้ที่มีอารมณ์เย็น ไม่ปรากฏอารมณ์โกรธ และแสดงความโลภให้เห็นมีจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา และใฝ่แต่การบุญกุศล มีกายกิริยาและวาจาสำรวม ดวงตามีประกายสดใส มีผิวพรรณสะอาด และใบหน้าอิ่มเอิบอยู่เสมอ ดังเช่น ท่านพระปูชนียาจารย์ หลวงพ่อ พุธ ฐานิโย เป็นต้น

    ดังนั้น ในพระอภิธรรมจึงได้แสดงไว้เป็นเหตุผลที่สำคัญ และจำเป็นของอุเบกขาไว้เป็นสาระสำคัญว่า

    เมื่อใดก็ตามที่จิตได้เข้าสู่สภาวะการเป็นอุเบกขา สงบนิ่งเป็นอารมณ์เดียว มีองค์ธรรมอยู่เพียง ๒ ประการ คือ อุเบกขา และ เอกัคคตา แล้ว จิตจะเข้าสู่วิถีบังเกิดเป็นอัปปนา หรือ สมถสมาธิที่สร้างฌาณสมาบัติขึ้นได้ เริ่มตั้งแต่รูปฌาณสมาบัติชั้นที่ ๕ (ตามพระอภิธรรม) ขึ้นไปจนถึงอรูปฌาณสมาบัติ และนิโรธสมาบัติ ซึ่งเป็นทางผ่านสุดท้ายเข้าสู่นิพพานเป็นที่สุด

    ------------------------------------------------------

    ขอบคุณที่มา:
    http://web.schq.mi.th/~suriyon/suri_a8.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 27 สิงหาคม 2009

แชร์หน้านี้

Loading...