“๘๙/๗๐/๔๔๔๗+=๙→๑๐” รหัสตัวเลขแฝงความยิ่งใหญ่ในหลวงร.9

ในห้อง 'บันเทิงและศิลปวัฒนธรรม' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 30 ตุลาคม 2017.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    0b994e0b994e0b997e0b999e28692e0b991e0b990-e0b8a3e0b8abe0b8b1e0b8aae0b895e0b8b1e0b8a7e0b980e0b8a5.jpg

    กว่า 7 ทศวรรษที่ผ่านมา เราทุกคนต่างรู้ดีว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระเมตตาต่อชาวไทย ทรงตระหนักถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เสด็จพระราชดำเนินไปในถิ่นทุรกันดารเพื่อทอดพระเนตรและทรงรับฟังปัญหาจากราษฎรก่อนหาแนวทางบรรเทาทุกข์ และทรงศึกษาปัญหาเพื่อหาทางออกให้ ตลอดจนทรงใช้พระปรีชาสามารถของพระองค์เองเพื่อแก้ปัญหา สิ่งเหล่านี้เป็นภาพที่คนไทยเห็นชินตาและต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น และตระหนักทรงไม่เคยละทิ้งประชาชน เช่นเดียวกับผู้ที่มีโอกาสถวายงานอย่างใกล้ชิดอย่าง อ.ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เคยมีโอกาสถวายงานอยู่หลายครั้ง รวมถึงการวาดภาพประกอบในพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” ซึ่งการร่วมงานในแต่ละครั้ง อ.ปรีชาบอกว่าได้ซึมซับหลักปฏิบัติอันเกิดจากพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านอย่างมากมาย จนได้ลุกขึ้นมาสร้างสรรค์งานศิลป์หลายแบบที่มีพระองค์ทรงเป็นแรงบันดาลใจ

    ล่าสุด อ.ปรีชาได้รวบรวมงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระองค์กว่า 112 ชิ้น มาจัดแสดงเป็นครั้งแรก ภายใต้โครงการ “๘๙/๗๐/๔๔๔๗+=๙→๑๐” จัดแสดง ธรรมะ ธรรมชาติ ธรรมศิลป์ และ 23 วิธีทรงงาน” แสดงที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นนิทรรศการแบบ Crowdfunding ที่เปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน

    อ.ปรีชาเผยว่า พระองค์คือแรงบันดาลใจสำคัญทุกเรื่อง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความทุกข์ต่างๆ ของประชาชนและการพัฒนาประเทศชาติ ทั้งยังทรงค้นพบต้นเหตุของความทุกข์ของราษฎร นั่นคือความซ่อนเร้น ความยากไร้ และความไม่รู้ ซึ่งความหมายนั้นล้ำลึก คือ ความยากไร้ไม่ได้หมายถึงเพียงเงินทอง หากรวมไปถึงความยากไร้ซึ่งคุณธรรมจิตใจคับแคบ ก็จะถูกความซ่อนเร้น มาเอารัดเอาเปรียบ มาจูงไปในทางที่ไม่ควร และความไม่รู้นับเป็นประเด็นหลัก เพราะไม่ใช่เพียงการไม่รู้หนังสือ แต่รวมถึงการไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้สังคม ไม่รู้สึกถึงภูมิปัญญา มีของดีแต่ไม่เอามาให้ชาวโลกเห็น นี่คือเหตุผลที่พระองค์ได้พระราชทานโครงการหลายพันโครงการเพื่อแก้ปัญหาทุกด้าน

    994e0b994e0b997e0b999e28692e0b991e0b990-e0b8a3e0b8abe0b8b1e0b8aae0b895e0b8b1e0b8a7e0b980e0b8a5-1.jpg

    “70 ปีพระองค์ไม่เคยว่างเว้น ขึ้นเหนือล่องใต้หาความทุกข์ยาก แล้วก็หาต้นเหตุของความทุกข์เหล่านั้น และก็วิเคราะห์ สังเคราะห์ หาทางแก้ ไม่ว่าจะแก้ปัญหาคน แก้ปัญหาธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สุขภาพประชาชนทุกคนทุกระดับ ไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ผมเลยได้แรงบันดาลใจจากพระองค์ ทำงานศิลปะขึ้นหลายชิ้น ทำมาตั้งแต่ปี 2525 เพื่อเผยแพร่ให้คนดูเข้าใจถึงพระราชจริยวัตร อุดมการณ์ วิสัยทัศน์ที่ต้องการช่วยคนไทย ออกมาเป็นงานสร้างสรรค์ในมุมมองของผมที่ตีความขึ้นมา เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระองค์ในบริบทต่างๆ” อ.ปรีชากล่าว

    ศิลปินแห่งชาติกล่าวต่ออีกว่า ในโครงการนี้ได้ใช้ตัวเลขและสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์มาเป็นตัวแทนของคุณค่าและความหมายแฝงซ่อนอันยิ่งใหญ่ ที่ปวงชนชาวไทยจะตระหนักคิดและตระหนักรู้ได้ จากการศึกษาหลักปรัชญาคำสอนจากพระองค์ท่าน ส่วนที่มาของการใช้ตัวเลขสื่อความหมายนั้นมาจากแรงบันดาลใจจากตลอด 89 พระชนมพรรษา 70 ปีของการปกครองแผ่นดินสยาม รวมทั้งยังเกิดจากการค้นหาต้นเหตุแห่งทุกข์ของประชาชนชาวสยาม และจากต้นเหตุแห่งทุกข์ของประชาชนก็นำไปสู่การค้นหาวิธีการแนวทางแก้ปัญหาจนบังเกิดเป็นโครงการ 4,447 โครงการ และได้รับการส่งต่อมายังประชาชนยุคปัจจุบัน

    “ชิ้นงานทั้งหมดที่มานำเสนอได้มาจาก 2 ยุค ยุคแรกเป็นผลงานสร้างสรรค์ก่อน 13 ตุลาคม 2559 ยุคสองจะเป็นผลงานหลัง 14 ตุลาคม 2559 ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม ผมทำงานทุกวัน ทำอย่างไม่รู้ว่าจะได้โอกาสแสดงหรือไม่ รู้แต่ว่าอยากทำและต้องทำ ทุกอย่างตกผลึกมาจากทั้งชีวิตของผมที่มีบุญอยู่ในช่วงแผ่นดินของรัชกาลที่ 9 ส่วนในงานที่มีอยู่ก่อนแล้ว ผมก็ไปขอความอนุเคราะห์จากเจ้าของผลงานนำมาร่วมแสดง” ศิลปินแห่งชาติกล่าว

    สำหรับนิทรรศการจัดแสดงบริเวณ 3 ชั้นของอาคารหอศิลป์ฯ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ช่วง บริเวณชั้น 3 จะเป็นช่วงที่ 1 คือการครองราชย์ และช่วงที่ 2 เป็นช่วงเสด็จพระราชดำเนินทั่วแผ่นดินไทยในการบำบัดทุกข์บำรุงสุข ส่วนบริเวณชั้น 2 จัดแสดงช่วงที่ 3 เป็นช่วงประมวลการแก้ไขปัญหาออกมาเป็นศาสตร์แห่งพระราชา และช่วงที่ 4 คือช่วงประจักษ์ถึงความทุ่มเทในการทรงงานเพื่อพสกนิกรออกมาเป็นโครงการต่างๆ
    994e0b994e0b997e0b999e28692e0b991e0b990-e0b8a3e0b8abe0b8b1e0b8aae0b895e0b8b1e0b8a7e0b980e0b8a5-2.jpg

    ในส่วนของผลงานนั้น ศิลปินบอกว่าส่วนหนึ่งได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นจากความบันดาลใจอันงดงามซึ่งศิลปินริเริ่มสร้างมาในอดีต อาทิ ภาพ ปางชนะมาร วิริยบารมี ซึ่งเป็นงานจิตรกรรมแบบไทยประเพณี ภาพพุทธประวัติอันละเอียดอ่อนด้วยเทคนิคไทยโบราณ หรืองานประติมากรรม ตู้แห่งความเพียร ตู้พระธรรมลายทองที่ละเอียดอ่อนด้วยงานจิตรกรรมลงรักปิดทองลวดลายริ้วคลื่น โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก นอกจากนั้นยังมีผลงาน “บ้านแห่งความพอ เพียร พึ่งตนเอง” ซึ่งถือเป็นงานศิลปะร่วมสมัยที่นำเอาบ้านพักส่วนตัวของศิลปินที่จังหวัดเชียงรายมาเป็นวัตถุพยานทางศิลปะ ซึ่งสามารถบอกเล่าทั้งเรื่องราวของชีวิต ความคิด ตลอดจนสุนทรียภาพในรายละเอียดต่างๆ ได้อย่างชัดเจน

    ขณะที่ผลงานอีกส่วนหนึ่งเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นภายหลังจากการเสด็จสู่สวรรคาลัย โดยน้อมนำเอาหลักการทรงงานของพระองค์ท่านมาเป็นหลักคิดสำคัญในผลงานแต่ละชิ้น เป็นผลงานศิลปะที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้นทุกวันด้วยความตั้งใจ ด้วยความเพียรที่จะถ่ายทอดคุณค่าและความหมายอันดีงามจากคำสอนของพระองค์ท่านให้ปรากฏขึ้นในผลงานศิลปะ อันเป็นสื่อแทนความรำลึกด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ อาทิ ภาพ “ความจริง ความดี ความงาม ธรรมะ ธรรมชาติ ธรรมศิลป์” ผลงานวาดเส้นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฉลองพระองค์ทรงผนวช ประทับนั่ง ภาพ “ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย” เป็นภาพพระเมรุมาศทั้งในรูปแบบของงานวาดเส้นและงานจิตรกรรมลายทอง ที่สำคัญคือผลงานประติมากรรมสรุปโครงการ “๘๙/๗๐/๔๔๔๗+=๙→๑๐” ผลงานประติมากรรมที่สร้างสัญญะอันหลากหลายที่ศิลปินตีความจากองค์ความรู้ในหลักการทรงงานและคำสอนของพระองค์ท่าน เป็นกลุ่มของทัศนธาตุทางศิลปะอันมีที่มาจากความตระหนักรู้ในแก่นสาระอันสูงส่งสง่างามที่ศิลปินมีต่อพระองค์ท่าน

    ผลงานที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้มีความหลากหลาย อ.ปรีชาบอกว่า มีความหลากหลายในเรื่องเทคนิคและกระบวนการ ไม่ซ้ำกัน ไม่มีข้อจำกัดเรื่องกระบวนแบบวิธีการนำเสนอใดๆ ไม่ว่าจะเป็นผลงานวาดเส้น จิตรกรรม ประติมากรรม สื่อผสม ที่สร้างขึ้นโดยไม่ยึดติดกับรูปแบบหรือเทคนิคกระบวนการ แต่ให้ความสำคัญกับสารที่ศิลปินคนหนึ่งปรารถนาจะส่งผ่านไปสู่ผู้ชมงานทุกคน เรื่องราวเนื้อหาในผลงานจำนวนมากสื่อแสดงอย่างชัดแจ้งถึงปรัชญาคำสอนอันทรงคุณค่าที่ในหลวง ร.9 พระราชทานสู่ปวงชนชาวไทย

    อย่างไรก็ตาม นิทรรศการจะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 19 ธ.ค.2560 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และทุกท่านสามารถติดตามศึกษารายละเอียดของผลงานแต่ละชิ้นได้จากหนังสือสูจิบัตรประกอบนิทรรศการ สั่งจองหนังสือได้ตลอดระยะเวลาแสดงนิทรรศการ (ผลิตตามการสั่งจอง) สำหรับผู้ที่อยากจะเป็นเจ้าภาพจัดงานดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.แปดสิบเก้าทับเจ็ดสิบ.com หรือเฟซบุ๊ก โครงการสร้างสรรค์ 89/70/4447+=9.

    ขอขอบคุณที่มา
    http://www.thaipost.net/?q=node/37392
     

แชร์หน้านี้

Loading...