เรื่องเด่น 100 ปี ธงชาติไทย: 4 เรื่องราวเกี่ยวกับธงไตรรงค์ที่คุณอาจไม่เคยรู้

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ เตือนภัย, 28 กันยายน 2017.

  1. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    _98034288_23744049006_8421c5b42a_o.jpg
    Image copyright Wasawat Lukhrang/BBC Thai
    คำบรรยายภาพ ธงชาติบนเสาธงหน้าศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย

    เมื่อเวลา 8:00 น. ของวันนี้ (28 ก.ย.) หน่วยงานราชการในประเทศไทยต่างพร้อมกันจัดกิจกรรมเคารพธงชาติ เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีของธงไตรรงค์

    แต่ธงชาติไทยนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร และเพราะอะไรจึงมีรูปร่างหน้าตาแบบที่ใช้กันทุกวันนี้ จุดเริ่มต้นของธงไตรรงค์นั้นต้องย้อนกลับไปเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ในช่วงปีที่เกิดเหตุน้ำท่วมหนักในประเทศสยาม

    _98039569_23402226609_2f47268b16_o.jpg


    Image copyright Wasawat Lukhrang/BBC Thai

    1.ก่อนหน้าธงไตรรงค์

    ธงชาติเป็นแนวคิดของตะวันตก ที่มีรากเหง้าจากความคิดเรื่องชาติที่มีลักษณะเป็น “รัฐ” คือมีขอบเขตที่แน่นอน มีประชาชนที่เชื่อว่าตัวเองสืบทอดมาจากรากเหง้าเดียวกัน และมีผู้ปกครองที่มีหน้าที่สืบสานเพื่อคงความเป็นรัฐนั้นไว้ และธงชาติเพื่อแสดงถึงความเป็นรัฐชาตินั้นๆ

    สมัยอยุธยายังไม่มีแนวคิดเรื่องความเป็นรัฐชาติอย่างในปัจจุบัน จึงไม่มีแนวคิดใช้ธงเพื่อเป็นตัวแทน อย่างไรก็ตามในหนังสือเรื่องธงไทยของ ฉวีงาม มาเจริญระบุไว้ว่าการค้าขายทางเรือในสมัยอยุธยาเฟื่องฟู และเรือสินค้าก็มักใช้ธงประจำชาติของตนเองเพื่อแสดงว่าเป็นเรือสินค้า เรือสินค้าของไทยนั้นใช้ธงของฮอลแลนด์เพราะเป็นที่รู้จักกันทั่วไป แต่เมื่อเกิดเรื่องกับฝรั่งเศสที่เป็นศัตรูกับฮอลแลนด์ขึ้นมา ไทยก็จึงหันมาใช้ธงพื้นสีแดงเป็นสัญญลักษณ์ของเรือไทย

    ต่อมาในยุครัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 จึงได้เพิ่มจักรสีขาวลงในผ้าพื้นแดงเพื่อให้เห็นว่าเรือของหลวง และในรัชกาลที่ 2 จึงโปรดเกล้าให้เพิ่มช้างเข้าไปในวงจักรของเรือหลวงเพราะทรงได้ช้างงามมาหลายเชือก แต่เรือพ่อค้าธรรมดายังคงใช้ธงแดงเหมือนเดิม

    หลังจากนั้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ช้างเผือกประดิษฐานลงกลางผืนธงสีแดง เรียกว่า ธงช้างเผือก เพื่อให้ใช้เป็นธงชาติไทย

    _98039948_23142005964_5589036ef0_h.jpg

    Image copyright BBC Thai

    2. แนวคิดกำเนิดธงไตรรงค์

    ในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จประพาสวัดสะแกกรังในจังหวัดอุทัยธานีซึ่งกำลังประสบอุทกภัย และได้ทอดพระเนตรเห็นว่ามีชาวบ้านจำนวนน้อยนักที่จะหาธงชาติมาประดับได้เพราะธงชาติแบบช้างเผือกทรงเครื่องอยู่นั้นมีราคาแพง และส่วนบ้านที่มีธงประดับก็ยังกลับหัวไม่น่าดู ตามบันทึกของ จมื่นอมรดรุณารักษ์ หรือ แจ่ม สุนทรเวช ในหนังสือ “วชิราวุธานุสสรณ์ ปี พ.ศ. ๒๔๙๖”

    หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริให้เปลี่ยนมาใช้ธงริ้วสลับสีขาวแดง 5 แถบ ซึ่งจะสามารถผลิตได้ง่ายขึ้นในประเทศและช่วยแก้ปัญหาธงกลับหัวให้หมดไปได้

    ธงริ้วขาวแดงได้ถูกนำมาทดลองติดที่สนามเสือป่าอยู่ช่วงหนึ่ง จนกระทั่ง พ.ศ. 2460 มีผู้ใช้นามแฝงว่า “อะแควเรียส” เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพฯ เดลิเมล์ แสดงความเห็นไม่เห็นด้วยกับรูปแบบของธงชาติ และเสนอให้เปลี่ยนแปลงโดยให้เพิ่มสีน้ำเงินซึ่งเป็นสีส่วนพระองค์ของรัชกาลที่6 เข้าไป และเมื่อไทยเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ได้เปลี่ยนมาใช้เป็นไตรรงค์

    ในพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2460 ในวันที่ 28 กันยายน ซึ่งมีข้อความว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ธงริ้วขาวแดงนั้น “ยังไม่เปนสง่างามพอสำหรับประเทศ สมควรจะเพิ่มสีน้ำเงินแก่เข้าอีกสีหนึ่ง เพื่อให้เปนสามสีตามลักษณะธงชาติของประเทศที่เปนสัมพันธมิตรกับกรุงสยามได้ใช้อยู่โดยมา เพื่อให้เป็นเครื่องหมายปรากฎว่า ประเทศสยามได้เข้าร่วมสุกทุกข์ แลเปนน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับสัมพันธมิตรหมู่ใหญ่”


    _98039571_0410a7da-e0b0-409f-9d5b-2680eb37a480.jpg
    Image copyright THE NATIONAL ARCHIVES
    คำบรรยายภาพ สยามประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี 22 ก.ค. 1917

    3.ผู้ออกแบบธงไตรรงค์

    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) เป็นผู้ออกแบบธงชาติไทย หลังจากพระยาประสิทธิ์ศุภการได้ออกแบบมา ก็เป็นที่พอพระทัยของพระองค์และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาท และก็ได้นำแบบนั้นมาเป็นรูปแบบธงตามที่ระบุในพระราชบัญญัติธง พ.ศ.2460 ให้กำหนดใช้ธงไตรรงค์มาจนถึงปัจจุบัน

    พระยาประสิทธิ์ศุภการภายหลังได้ยศเป็นเจ้าพระยารามราฆพ และนับเป็นเจ้าพระยาที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ด้วยวัยเพียง 31 ปี

    Image copyright BBC Thai
    คำบรรยายภาพ ภาพพระยาประสิทธิ์ศุภการ ถ่ายจากหนังสือหนังสือ “ภาพฝีพระหัตถ์ ชนิด ภาพล้อเส้นหมึก พ.ศ. 2461 62 63”


    _98034286_unnamed.jpg

    4.ร้านธงไตรรงค์สำเร็จรูปร้านแรกของเมืองไทย

    ร้านขายธงไตรรงค์สำเร็จรูปร้านแรกในเมืองไทยคือ ร้านคลังเสาธง หรือในปัจจุบันชื่อว่าร้านธงร่มโพธิ์

    ขวัญใจ ไอสันเทียะ ซึ่งเป็นเจ้าของร้านรุ่นที่สามเล่าให้บีบีซีไทยฟังว่า ร้านนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อเจ็ดสิบกว่าปีโดยหลวงสิทธิบรรณาการ ซึ่งรับราชการเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 6

    หลังเกษียณอายุราชการหลวงสิทธิบรรณาการก็คิดว่าเมื่อมีความต้องการธงไตรรงค์มาประดับสถานที่ก็ต้องไปสั่งร้านทำเครื่องสังฆทานเย็บเป็นคราว ๆ ไป จึงได้คิดตั้งร้านธงสำเร็จรูปเป็นร้านแรกชื่อว่า “คลังเสาธง” ขายทั้งผืนธงและเสาธงด้วย จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นร้านเสาธงชาติ

    พอถึงรุ่นลูกซึ่งเป็นสามีของคุณขวัญใจก็ร้าน “คลังเสาธง” ก็เปลี่ยนชื่อร้านมาเป็น “บรรณาการ” อันเป็นราชทินนามของพ่อ และเมื่อสามีเสียชีวิต คุณขวัญใจรับสืบทอดธุรกิจแทนก็จึงเปลี่ยนชื่อร้านเป็น “ธงร่มโพธิ์” เพราะร้านอยู่ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ข้างกำลังวัดบวรนิเวศวิหารบนถนนพระสุเมรุ

    หลังจากนั้นจึงมีร้านธงอื่น ๆ มาตั้งตามมาจนทำให้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าถนนพระสุเมรุหรือสะพานวันชาติเป็นแหล่งซื้อธงชาติทั่วไป

    ขอบคุณที่มา
    http://www.bbc.com/thai/thailand-41410161
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 28 กันยายน 2017

แชร์หน้านี้

Loading...