7 เดือนบรรลุธรรม

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 20 สิงหาคม 2007.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วันที่ ๒๒-๒๕: สัมมาวายามะ
    หลายเดือนที่ผ่านมาฉันสังเกตตัวเองอย่างหนึ่ง คือเมื่อใดความเพียรตก ความเหงา ความว้าเหว่จะแทรกตัวเข้ามาทันที เพราะทุกวันนี้ฉันไปไหนต่อไหนคนเดียว ไหว้พระคนเดียว ถวายสังฆทานคนเดียว ไม่มีใครเคียงข้างคอยร่วมบุญ
    นึกถึงเมื่อสมัยก่อนที่ยังตระเวนดูหนังฟังเพลงบ่อย โอกาสเกิดความเหงาและอยากคบหาใครสักคนยิ่งมากกว่านี้ มนุษย์มีธรรมดาแสวงหาคู่เคียง จินตนาการวาดฝันอยากได้คนรักแบบนั้นแบบนี้ หรืออย่างน้อยก็ต้องเพื่อนร่วมเฮฮาที่ต้องอัธยาศัยกัน
    การดำเนินความเพียรตามลำพังทั้งที่ใช้ชีวิตฆราวาส แถมอยู่ใจกลางเมืองอันเต็มไปด้วยเครื่องเร้าผัสสะให้เกิดจินตนาการทางกามนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย โดยเฉพาะช่วงแรกที่ยังอ่อนแอปวกเปียกเหมือนปุถุชนธรรมดาทั้งหลาย ยากนักที่จะเกิดความยินดีเต็มใจประกอบความเพียร มีอาการประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดได้บังเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อสร้างกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้บังเกิดขึ้น และเพื่อรักษากุศลธรรมนั้นไว้ให้ตั้งอยู่ไม่เลือนหายจนยิ่งเจริญงอกงามไพบูลย์ขึ้นเต็มเปี่ยม
    แต่ฉันก็ให้กำลังใจตัวเองมาตลอด คิดในใจว่า ‘นับหนึ่งใหม่’ มาไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยหน ทั้งที่เป็นการนับหนึ่งใหม่อย่างใหญ่ กับนับหนึ่งใหม่อย่างย่อย กระซิบกับตัวเองเสมอว่าบนเส้นทางนี้ แม้จะต้องล้มลงร้อยครั้งพันหนก็คุ้มที่จะกัดฟันลุกขึ้นยืนใหม่อีกและอีก เพราะในการยืนขึ้นได้เต็มสองขานั้น จะมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ไม่ต้องกลับล้มลงตลอดไป!
    มองย้อนกลับไปทบทวนดูเห็นความสำคัญของการเพียรพยายามอย่างถูกทางให้ต่อเนื่อง นับแต่สร้างราวเกาะของสติในเดือนแรก เบื้องแรกลมหายใจไม่ดีกันทุกคน แต่หากกำหนดสติรู้อย่างถูกต้องและต่อเนื่องนานพอ เอาแค่รู้ให้ได้ว่าเข้าหรือออก ลมหายใจก็จะค่อยๆมีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆไปเอง เพราะในที่สุดสติที่เข้มแข็งนั่นแหละ รู้ดีที่สุดว่าจะหายใจอย่างไรให้ถูกต้อง
    ถึงวันนี้ฉันไม่ต้องคะยั้นคะยอตัวเองมาก เพราะเริ่มอยู่ตัว คุ้นทางขึ้นทางลงเสียแล้ว บอกตัวเองเสมอว่า จิตตกไม่เป็นไร อย่าให้ความเพียรตกก็แล้วกัน เพราะถ้าความเพียรยังดี จิตตกอย่างไรเดี๋ยวก็กลับดีตามขึ้นมาเอง แต่ถ้าจิตดีแล้วไม่เพียร หรือเพียรไม่สม่ำเสมอ ตั้งอยู่ในความประมาท อย่างไรธรรมชาติของจิตก็ต้องเสื่อมลงให้เห็น แถมอาจจะตกนานแบบกู่ไม่กลับเพราะลืมทางเก่าที่เคยผ่านมาเสียแล้ว ตามหลักสัญญาไม่เที่ยง ถ้าสัญญาไม่เข้มข้นขึ้นด้วยการดำเนินซ้ำๆ ก็มีแต่จะเสื่อมถอยลงแบบเชื่อขนมกินได
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วันที่ ๒๖-๒๘: สัมมาสติ
    สัมมาสติโดยย่นย่อคือเห็นกาย เวทนา จิต และธรรม มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดความอยากได้อยากมีและความโทมนัสในโลกเสียได้
    ฉันไม่จำเป็นต้องสำรวจข้อนี้มาก เพราะครึ่งปีที่ผ่านมาจนกระทั่งบัดนี้ จิตเริ่มผุดเด่นเหนือสิ่งอื่นใด ทำให้แยกรู้ว่าส่วนใดกาย ส่วนใดจิตได้ง่ายดาย แม้มีอาการผลุบโผล่บ้างก็ยังยืนยันกับตนเองได้ทุกวันว่าไม่เคยเถลไถลไปนอกขอบเขตกายใจนาน คือนับหน่วยกันเป็นชั่วโมง ไม่ใช่เป็นวันๆเหมือนช่วงแรก นี่ย่อมเกิดจากความพากเพียรไม่ย่นย่อ กำหนดสติจนเป็นสัมปชัญญะอัตโนมัติบ่อยๆ ไม่มีความปรารถนาสิ่งใดนอกตัวแผ้วพานเข้ามาเกาะกุมได้เกินนาที เพราะแต่ละความอยากเป็นอันถูกรู้ ถูกเห็นด้วยความเคยชินทั้งหมดทั้งสิ้น

    วันที่ ๒๙-๓๐: สัมมาสมาธิ
    สัมมาสมาธิเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างยืดยาวทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เนื่องจากพุทธพจน์เกี่ยวกับสัมมาสมาธิในฐานะองค์สุดท้ายของมรรคนั้น มุ่งหมายถึงฌานสมาบัติโดยตรง
    ทางฝ่ายนักศึกษาภาคทฤษฎีมักมีความเห็นเป็นสุดโต่งสองขั้ว คือฝ่ายหนึ่งกล่าวว่าสัมมาสมาธิเป็นแค่ความตั้งมั่นชั่วขณะเดียวที่เห็นกายใจชัดก็เพียงพอแก่การจุดชนวนมรรคผลได้ ไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิให้นิ่งนานแต่อย่างใด ส่วนอีกฝ่ายก็กล่าวว่าสัมมาสมาธิต้องเป็นฌานสมาบัติตรงตามอักษรเท่าที่ปรากฏเท่านั้น
    ทางฝ่ายปฏิบัติที่พื้นความรู้ภาคทฤษฎีไม่แน่นหนานักก็มักสำคัญระดับสมาธิของตนเองคลาดเคลื่อน บางคนพบภาวะเหมือนหยุดหายใจก็สำคัญว่าคือฌาน ๔ มีแต่สติบริสุทธิ์ ประกอบพร้อมด้วยอุเบกขาเป็นหนึ่ง ทั้งที่จริงยังหายใจ แล้วก็เป็นภาวะจิตแช่แข็งชั่วขณะแบบครึ่งๆจะตกภวังค์ขาว ไม่รับรู้ลมหายใจที่แผ่วอ่อน หรือแม้บางคนตกภวังค์มืด คือเหมือนหลับยาวในความไม่รู้อะไรเลยก็ยังสำคัญว่านั่นเป็นฌาน ๔ ก็มี
    ผู้ภาวนาจนมีสติเห็นกายใจเป็นอัตโนมัติบ่อยๆย่อมเข้าใจดีว่าเรามีสมาธิหรือความตั้งมั่นของจิตไปเพื่อความสงบรำงับจากอาการตรึกนึกทางกาม ละความรู้สึกพยาบาทได้ง่าย รวมทั้งมีคุณภาพสติเห็นชัดเจนต่อเนื่องพอจะรู้ภาวะหนึ่งๆว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่และดับลงเมื่อใด โดยไม่ต้องออกแรงบังคับหรือประคองจิต หาใช่มีสมาธิไปเพื่อหวังเสพปีติสุขและความเย็นกายเย็นใจลึกซึ้ง หาใช่มีสมาธิไปเพื่อรู้สึกว่าข้าเหนือมนุษย์ หาใช่มีสมาธิไปเพื่อก่อฤทธิ์ก่อเดชประการใดๆ พูดให้ง่ายคือสมาธิจิตอันตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมทำงานควบคู่ไปกับสติ เป็นไปเพื่อความเพียรรู้เห็นกายใจไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน
    ระดับสมาธิอันพอดีกับระดับมรรคผลนั้น พระพุทธเจ้าทรงจำแนกไว้ชัดเจนในเสขสูตร กล่าวคือสำหรับเกณฑ์แห่งความเป็นโสดาบันบุคคลและสกทาคามีบุคคลนั้น เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำพอประมาณในสมาธิ เป็นผู้ทำพอประมาณในปัญญา ส่วนอนาคามีบุคคลนั้นต้องเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ เป็นผู้ทำพอประมาณในปัญญา และพระอรหันตบุคคลเท่านั้น ที่เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ และเป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในปัญญา และพระพุทธเจ้าได้ตรัสสรุปว่า ใครทำได้เพียงบางส่วน ก็ย่อมให้สำเร็จบางส่วน แต่ใครทำให้บริบูรณ์ ก็ย่อมให้สำเร็จได้บริบูรณ์
    ในแง่ของสัมมาสมาธิ หรือสมาธิในอุดมคติอย่างสมบูรณ์นั้น มีความสำคัญในแง่เอื้อให้พร้อม ‘ประจักษ์รู้เต็มดวง’ คือมีกำลังส่งให้ถึงมรรคถึงผลโดยไม่ลำบากต้องเสียเวลารวมกำลังนัก เนื่องจากขณะแห่งการบรรลุธรรม จิตจะเป็นฌาน เพียงแต่เป็นฌานที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ไม่เหมือนฌานธรรมดาที่อาจมีลมหายใจหรือวัตถุอารมณ์อื่นๆเป็นเป้าจับ
    แต่อย่างไรก็ตาม หากจิตของผู้ภาวนามีปกติตั้งมั่น มีความผ่องใสสบาย มีความโน้มเอียงที่จะตั้งมั่นระดับฌานเมื่อได้เหตุปัจจัยประชุมพร้อม ก็ควรจะนับเป็นน้องๆสัมมาสมาธิได้ เข้าข่ายเป็นผู้สามารถทำพอประมาณในสมาธิตามระดับภูมิของพระโสดาบัน
    ตรงข้าม หากฤาษีชีไพรที่ไหนทำสมาธิได้อุกฤษฏ์ อาจจะเกินฌาน ๔ ล่วงถึงอรูปฌานอันเป็นฌานไม่อาศัยรูปเป็นอารมณ์ ก็ไม่มีสิทธิ์บรรลุธรรมแม้ถึงชั้นแห่งความเป็นโสดาบันบุคคลเลย เพราะองค์มรรคเพื่อการบรรลุธรรมไม่ประกอบพร้อมเป็นคุณสมบัติของจิต คือขาดสัมมาทิฏฐิและสัมมาสติเป็นสำคัญ

    สรุปสิ่งที่ได้จากเดือนที่ ๖
    ๑) แน่ใจว่าหกเดือนที่ผ่านมานี้ไม่ได้ปล่อยชีวิตให้ล่วงไปเพื่อความเปล่าประโยชน์ไร้แก่นสารเหมือนอย่างในอดีตตั้งแต่เกิดจนถึงปีกลาย
    ๒) มองย้อนกลับไปเห็นช่วงปีก่อนๆ ที่สำคัญว่าปฏิบัติแค่สมาธิกับสติก็บรรลุธรรมได้ ยังหมกมุ่นในกามเท่าเดิม ยังเห็นแก่ตัวเท่าเดิม ยังอยากได้อยากดีอยากมีอยากเป็นเหมือนเดิม กับทั้งหาอุบายลัดๆให้เกิดมรรคเกิดผล ล้วนแล้วแต่เป็นความเล็งโลภอย่างปราศจากเหตุผลสมควรเยี่ยงปุถุชนผู้ไม่รู้จริงทั้งสิ้น
    ๓) มีความอุ่นใจ บังเกิดความเชื่อมั่นในความพรักพร้อมบนเส้นทางเดียวที่มุ่งตรงสู่นิพพานสายนี้
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เดือนที่ ๗: บรรลุธรรมเป็นปกติของทุกต้นเดือนที่ฉันจะทบทวนและประเมินความก้าวหน้าในการปฏิบัติภาวนา ฉันกลับไปอ่านทวนตั้งแต่เดือนแรกจนเดือนสุดท้ายอย่างละเอียด อยากเปรียบเทียบดูว่าตนเองผิดแผกแตกต่างเป็นก้าวหน้าหรือก้าวหลังประการใดบ้าง เนื่องจากจิตบอกตัวเองว่าใกล้ความจริงเข้ามาทุกที
    เพราะอะไรถึงรู้สึกว่าใกล้ความจริง? แน่นอนไม่ใช่ด้วยอาการหลงทึกทักให้ครึ้มใจเล่น ไม่ใช่เพราะมีพุทธนิมิตมาปรากฏและชมว่าปฏิบัติได้ก้าวหน้าดี แต่เพราะฉันสำรวจตนเองอยู่ตลอดเวลาตามหลักเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าวางไว้คือ
    ๑) ในแง่ความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิต สอบจากอริยสัจจ์ ๔ คือเห็นความจริงว่ากายใจเป็นทุกข์ เห็นความจริงว่าที่ทุกข์เพราะมีเหตุคือความทะยานอยากใหญ่น้อย เห็นความจริงว่าความระงับจากตัณหาทะยานอยากคือความสงบจากทุกข์ และเห็นตามจริงว่าวิธีระงับความอยากคือมรรคมีองค์ ๘ ถ้าแค่ข้อแรกไม่ผ่าน ยังเห็นชีวิตเป็นสุข ยังเห็นชีวิตเป็นความน่าพิสมัย ไม่ต้องหาทางตัดวงจรอุบาทว์ ก็เป็นอันว่ายังอ่านอริยสัจจ์ข้อแรกไม่ออก
    ๒) ในแง่คุณสมบัติของจิต สอบจากมรรคมีองค์ ๘ คือมีความเห็นชอบ มีความดำริชอบ มีวาจาชอบ มีการกระทำชอบ มีการเลี้ยงชีพชอบ มีความพยายามชอบ มีสติชอบ และมีความตั้งมั่นชอบ
    ๓) ในแง่การเจริญสติเห็นภาวะเฉพาะหน้า สอบจากโพชฌงค์ ๗ คือมีสติรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งในกายใจ มีการพิจารณาเห็นสิ่งนั้นไม่เที่ยงและไม่ใช่ตัวตน มีวิริยะ มีปีติ มีปัสสัทธิ มีความตั้งมั่นของจิต และมีความวางเฉยในจิตที่ตั้งมั่นนั้น
    ถ้าแยกเป็นอย่างๆอาจดูคล้ายวุ่นวายฟั่นเฝือ แต่ถ้าดูที่ผลสุดท้ายคือสภาพจิตในปัจจุบัน เอาจากจิตขณะเดียวที่ว่างเปล่าจากความยึดมั่นถือมั่น ปลอดโปร่งจากความทะยานอยาก สะอาดปราศจากอกุศลธรรมครอบงำแม้ทางความคิดอย่างต่อเนื่อง ก็เทียบเคียงได้ครบทั้ง ๓ เกณฑ์ข้างต้นแล้ว เพราะลักษณะหรืออาการอันละเอียดอ่อนปลีกย่อยทั้งหลายย่อมปรากฏอยู่พร้อมในตัวเอง
    ว่ากันเฉพาะแง่ความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิต เพียงเมื่อเข้าถึงอริยสัจจ์ข้อแรก คือเห็นกายใจนี้เป็นทุกข์ ก็ไม่มีข้อแม้ใดๆหลงเหลืออยู่อีก ต้องตั้งหน้าตั้งตาฝ่าฟันเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์อย่างเดียว
    แต่ฉันต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะ ‘รู้ความจริง’ ชัดๆว่ากายใจนี้เป็นทุกข์ ต้องฝ่าด่านความมืดบอด ความหลงผิด ตลอดจนกระทั่งความหวง ความห่วง ความอ้อยอิ่งอาวรณ์ทั้งหลายจนอ่อนแรงไปหลายยก อริยสัจจ์ ๔ จึงปรากฏต่อจิตแจ่มแจ้งขึ้นเรื่อยๆ
    หลังจากผ่านวันผ่านคืนโดยไม่ปล่อยให้ตกล่วงไปอย่างเปล่าประโยชน์ ต้นเดือนที่ ๗ นี้ฉันเกิดความสดใสอย่างประหลาด รู้สึกสบายอย่างพรรณนาไม่ถูก การเข้าใจอริยสัจจ์แบบถึงจิตอันประกอบพร้อมอยู่ด้วยกระแสสบายนั้น ทำให้ตระหนักอยู่อย่างหนึ่ง คือการเห็นกายใจเป็นทุกข์นั้น ไม่ได้แปลว่าต้องมีทุกขเวทนา ไม่ได้แปลว่าต้องมีความอึดอัดระอากับการดำรงชีวิต ตรงข้าม กลับปลอดโปร่งเป็นสุขอย่าบอกใคร เหมือนคนตัดสินใจเด็ดขาดแล้วว่าจะปลดภาระจากบ่าทิ้งลงพื้น แม้ยังแบกหนักอยู่เดี๋ยวนี้ ก็รู้ว่าอย่างไรก็ต้องเบาตัวจนได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
    และในทางกลับกัน หากเข้าถึงความจริงอย่างถ่องแท้ว่า ‘ทุกข์’ คืออุปาทานขันธ์ ๕ หรือกายใจอันเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานนี้ทั้งแท่ง ก็จะตระหนักว่าแม้กำลังเสวยสุขอันประณีตทางใจ สุขนั้นก็เป็นเพียงเวทนาชนิดหนึ่ง เวทนาไม่เที่ยง ไม่มีใครรักษาสภาพของเวทนาให้คงทน จึงไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะเป็นทุกข์เหมือนกัน
    ถ้าวันนี้เอาคนหล่อระดับประเทศ คนรวยระดับข้ามชาติ หรือคนเก่งระดับโลกมาตั้งตรงหน้า แล้วถามล่อใจว่าให้หล่อ รวย เก่งแบบนี้จะเอาไหม? ฉันต้องดูดีๆก่อนว่าให้มีจิตแบบเขาน่าเอาด้วยหรือเปล่า จิตเขาเริ่มประพฤติเพื่อพ้นจากความทุรนทุรายหรือยัง ถ้ายัง ต่อให้มีดีขนาดไหนก็แค่ข้าทาสความไม่รู้อีกรายหนึ่ง ฉันขอปฏิเสธความมีความเป็นเช่นนั้นอย่างเด็ดขาด
    เมื่อเดินมาตามทางสู่นิพพานไกลขึ้น ทางแห่งทุกข์ก็สั้นลงเรื่อยๆ พิจารณาจากความรู้สึกนึกคิดในแต่ละขณะได้อย่างชัดเจน พอเห็นคนอื่นที่ยังไม่ทำทางไปนิพพานเสียที ตระหนักว่าพวกเขายังสะสมเหตุปัจจัยแห่งการเวียนว่ายตายเกิด เกิดก็เกิดอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ตายก็ตายอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ต้องลำบากลำบนใช้ชีวิตลองผิดลองถูกกันอย่างน่าเบื่อหน่าย ก็รู้สึกเอือมระอาจุกอกแทบพูดไม่ออก
    แต่ไปบอกใครเขาให้มาตามทางนี้ง่ายๆได้เมื่อไหร่ เขาหาว่าบ้าเท่านั้น มีอย่างหรือจะให้ทิ้งวิถีชีวิตอันแวดล้อมด้วยเครื่องเคราแห่งกามคุณอันเป็นยอดปรารถนา มานั่งเดินภาวนา มาใส่ใจลมหายใจกับอิริยาบถ แทนการคิดคำนวณหารายได้หรือคนรักเพิ่มให้มากๆ สรุปแล้วธรรมะเป็นเรื่องเฉพาะตน เลือกด้วยตัวเอง ตัดสินใจด้วยตัวเอง รับผลด้วยตัวเองตามลำพัง ไม่มีใครทำแทนใครได้ ต่อให้รักผูกพัน นึกสงสาร ปรารถนาให้ได้ดีตามเราเพียงใดก็เถอะ
    และเมื่อจิตของฉันสุขุมขึ้น มองเห็นอะไรรอบยิ่งขึ้น เวลานี้ฉันยังอ่านออกด้วยว่า แม้ความไม่อยากเป็นปุถุชน ไม่อยากท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิด ก็จัดเป็นความอยากชนิดหนึ่งเหมือนกัน คืออยากไม่มี อยากไม่เป็น ฉันเริ่มเห็นความจริงข้อนี้ก็ตอนที่ความอยากลดระดับลงมากแล้ว เหลือเพียงแผ่วให้รู้เพียงน้อยเท่าน้อย เพราะเมื่อใดเกิดความอยากพ้นภาวะปุถุชน ก็เกิดความทราบชัดว่ามีอาการอึดอัด มีอาการเร่งรัดเวลา และมีอาการไม่สมใจ พอเห็นอาการเหล่านี้แล้วทราบชัดว่ามันผุดจากความไม่มีอะไร แล้วหายไปในความไม่มีอะไร ใจก็เห็นว่าความอยากเป็นแค่ของปลอมชั่วคราว ความว่างไม่มีตัวตนผู้อยากต่างหากเป็นของจริง เมื่อหมดอยากและเห็นตามจริงย่อมรู้ว่าจิตขณะนี้ที่ยังเป็นปุถุชน กับจิตในภายภาคหน้าที่ก้าวล่วงสู่ความเป็นอริยชนแล้ว ต่างก็เป็นจิตเหมือนกัน ไม่มีใครได้มรรคผลเหมือนกัน แค่ตัณหากับอุปาทานไม่แรงเหมือนเก่า หรือตัณหากับอุปาทานดับสูญเท่านั้น แต่ถ้ายังอยากพ้นภาวะปุถุชุน ก็แปลว่ายังอนุญาตให้ความอยากครอบงำจิต เป็นเหตุแห่งอุปาทาน เป็นต้นตอแห่งทุกข์ ไม่สอดคล้องกับการบรรลุธรรมอย่างแท้จริงเลย
    สรุปคือต้นเดือนนี้ ฉันมีความกระตือรือร้นเต็มเปี่ยมที่จะรู้ ที่จะดู ที่จะพิจารณากายใจโดยความไม่เที่ยง ไม่ทน ไม่ใช่ตัวตน แต่ไม่เลี้ยงความอยากใดๆไว้เลย แม้กระทั่งความปรารถนามรรคผล อันเป็นแรงส่งให้ก้าวมาถึงขั้นนี้ก็ตาม
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วันที่ ๑-๖: การยอมรับความจริงแบบไม่แทรกแซง
    ย้อนกลับไปอ่านบันทึกในช่วงเดือนแรกๆ เห็นตัวเองใช้สติตามรู้ลมหายใจเข้าออกทั้งวันทั้งคืน ไม่ว่าจะเข้าหรือออก ไม่ว่าจะยาวหรือสั้น กระทั่งเกิดสภาพ ‘จิตผู้รู้ลมทั้งปวง’ ซึ่ง ณ จุดนั้นเมื่อถูกอารมณ์ภายนอกกระทบจนเกิดราคะหนักหรือเกิดโทสะแรง จิตจะล้มคว่ำคะมำหงายขึ้นมา ฉันก็อาศัยลมหายใจเป็นราวเกาะให้สติลุกขึ้นยืนหยัดใหม่ เรียกว่าเป็นการเอาสติรู้ลมหายใจอันอบรมฝึกซ้อมไว้ดีแล้วเป็นตัวแทรกแซง ไม่ปล่อยให้จิตหลงเตลิดออกข้างนอกเกินกู่
    จนกระทั่งบัดนี้ฉันก็ยังพบว่าลมหายใจยังคงเป็นหลัก เป็นราวเกาะให้กับสติได้ดีเสมอ ข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างช่วงแรกกับช่วงนี้คือฉันหายใจได้ลึกเป็นปกติมากขึ้น เมื่อลมหายใจส่วนใหญ่ยาว สติก็มีอายุยืน อีกประการหนึ่ง คือช่วงเวลาที่เกิดสติรู้เพียงว่านี่ลมหายใจออก นี่ลมหายใจเข้าเฉยๆนั้นน้อย แต่จิตอันสงบเงียบใสเบาจะเกิดความเคยชินรู้เห็นว่าลมหายใจเข้าจนสุดแล้วต้องคืนออกมาเป็นธรรมดา ฉันตระหนักว่าความเคยชินย่อมเกิดจากความสั่งสม การสั่งสมนิสัยในการเห็นลมหายใจโดยความไม่เที่ยงเป็น ‘กรรมไม่ดำไม่ขาว’ ที่ให้อานิสงส์ไพศาลประมาณไม่ถูกจริงๆ ลมหายใจที่ละเอียดแล้วย่อมปรุงแต่งกายให้แข็งแรง สติที่ตั้งมั่นรู้ลมได้หลายนาทีโดยปราศจากช่วงสะดุดย่อมปรุงแต่งจิตให้สงบระงับ อิ่มเต็มอยู่กับภาวะอันเป็นปัจจุบัน ซึ่งก็แปลว่าถ้าภาวะทางกายใจอย่างใดปรากฏเด่น ภาวะนั้นย่อมถูกรู้เท่าทันโดยความเป็นของไม่เที่ยงทันที ตามความเคยชินที่ได้เห็นอนิจจังของลมหายใจอยู่เสมอๆ
    นี่ทำให้ฉันได้ข้อสรุปว่าการใช้ลมหายใจเป็นที่พึ่ง รวมทั้งใช้แทรกแซงอารมณ์ลบต่างๆนั้น จัดว่าสำคัญและจำเป็นต่อจิตที่ยังดิ้นพล่านเป็นปลาช่อนถูกทุบหัว แต่เมื่อใยเหนียวของความอยากเบาบางลง ปฏิกิริยาทางจิตไม่ตอบสนองอารมณ์กระทบรุนแรงเกินความสามารถรู้เท่าทัน เวลานั้นควรรู้ทุกภาวะที่เกิดขึ้นตามจริงโดยไม่แทรกแซงใดๆ
    นี่คือข้อแตกต่างที่สำคัญซึ่งเมื่อเห็นแล้วทำให้ฉันเกิดความอิ่มใจ ครึ่งปีก่อนฉันเคยเป็นคนธรรมดาที่ ‘ไม่เคยรู้’ เลยว่าลมหายใจเข้าออกมีอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ช่วงแรกที่เริ่มปลงใจเจริญสติปัฏฐานจริงจังรู้ได้วันหนึ่งๆรวมแล้วสองสามนาที แต่เมื่อเพียรพยายามไม่ลดละ ภายในอาทิตย์เดียวกระโดดขึ้นมาเป็นวันหนึ่งๆรวมแล้วเกินชั่วโมง ถัดจากนั้นแม้มีช่วงล้มลุกคลุกคลานบ้างก็พัฒนาขึ้นตามลำดับ กระทั่งถึงเดี๋ยวนี้กล้าพูดว่าแต่ละนาทีรู้หลายครั้ง แม้จะทำกิจธุระทางโลก ต้องคิด ต้องเขียน ต้องเจรจา สติก็มักย้อนกลับมารู้ลมหายใจเสมอๆ ถ้าหากคิดเร่งรัดจะทำอย่างนี้ให้ได้ภายในวันสองวัน ย่อมเป็นความโลภเกินตัวที่สูญเปล่า แต่หากทำเรื่อยๆด้วยความใจเย็น ไม่ลังเล ไม่จับจด ไม่เหลาะแหละ ขอแค่ได้ชื่อว่าระลึกรู้เสมอๆด้วยความเพียร ไม่เล็งโลภอยากได้อะไร ไม่ทุกข์ใจกับความเป็นไปต่างๆ ตามแนวที่พระพุทธองค์ประทานไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร ทำเรื่อยๆผ่านวันผ่านเดือน พอสำรวจอีกทีก็จะพบว่าสติสมบูรณ์ขึ้นแล้ว
    เมื่อจิตมีปกตินิ่งรู้อยู่กับลมหายใจและอิริยาบถโดยมาก เห็นความว่างกว้างใหญ่ในภายในปรากฏเสมอๆ มีเพียงผัสสะอันละเอียดอ่อนเช่นความคิดผุดขึ้นกระทบใจ ก็เห็นคล้ายสายหมอกบางเบาลอยมาคลอเคลียผิวน้ำเรียบนิ่งครู่หนึ่งแล้วม้วนสลายหายหนไป เหลือแต่ความเงียบเชียบดุจแผ่นกระจกใส สว่างว่างเป็นเอกภาพ ปราศจากความอยากได้อะไรมากกว่านั้น พอเหลือแต่ภาวะดีๆ จิตก็เลยมีอาการยอมรับตามจริงได้ง่ายขึ้น รวมทั้งไหวทันอกุศลธรรมทั้งหลายที่จรมาเยือนจิตโดยไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ แค่เห็นความต่างระหว่างภาวะดีเดิมกับ ‘คลื่นแทรก’ ที่แหลมหน้าแปลกปลอมเข้ามาเท่านั้น
    ทบทวนแล้วเปรียบเทียบอาการในอดีตกับอาการในปัจจุบันอีกประการหนึ่ง คือช่วงแรกๆเมื่อเกิดภาวะใดขึ้น ก็ต้องกำหนดหมายเหมือนแปะป้ายให้มันไว้ก่อน เช่นดูลมหายใจบางทีคิดไปด้วยว่าออก เข้า หรือนับหนึ่ง สอง สามตามไปเรื่อย หรือเมื่อกำลังสุขก็บอกตัวเองว่าสุข เมื่อกำลังทุกข์ก็บอกตัวเองว่าทุกข์ จิตจะมีราคะ โทสะ โมหะตามแนวทางในสติปัฏฐาน ๔ ขั้นไหนๆก็กำหนดนึกตามไปด้วย การเรียกภาวะต่างๆเป็นชื่อนั้นชื่อนี้ ก็เพื่อยกระดับความรับรู้ให้แก่จิต ถ้าไม่แปะป้ายไว้ในเบื้องต้น จิตก็จะขาดตัวเชื่อมสติ แต่พอเห็นจนคุ้นแล้ว มีสติคมแล้ว ก็เหลือแต่ความรู้ว่าเห็นภาวะอะไรอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ไม่มีส่วนความคิดมาช่วยพากย์ต่ออีก
    ยกตัวอย่างเช่นในเช้าวันหนึ่ง ขณะขับรถออกจากบ้านได้ไม่กี่สิบเมตร มียายแก่คนหนึ่งเดินพรวดพราดข้ามถนนตัดหน้ารถฉันในระยะกระชั้นชิด ฉันตกอกตกใจกดเบรกอย่างแรง ปกติสมัยก่อนถ้าตกใจขนาดนี้จะนึกด่าในใจแบบไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหม หรือถ้าถนัดหน่อยก็อาจลดกระจกลงยื่นหน้าไปให้ศีลให้พรสักคำสองคำเป็นการระบายความอัดอั้น จากนั้นจึงค่อยกลับมาสงบสติ กำหนดรู้ว่าภาวะนี้โกรธนะ มีความร้อนกลางอกนะ มีความทึบแน่นในหัวนะ แต่เดี๋ยวนี้ฉันแค่รู้สึกถึงอาการไหววูบอย่างแรงของจิต เห็นความร้อนอันส่งมาจากก้นหลุมโทสะสายหนึ่งแผ่วๆ แล้วเลือนสลายลงอย่างรวดเร็วบนฐานสติที่มั่นคง แปรเป็นความสงบเย็น สติเบนมาเห็นภาวะนิ่งเย็นของจิตแทน สภาพเหล่านี้ถูกรู้โดยไม่มีเสียงพากย์ ไม่ต้องมีเจตนาแผ่เมตตาให้ยายแก่ ไม่แม้แต่จะกำหนดว่านี่ขณะแห่งความเกิด นี่ขณะแห่งความแปรไป นี่ขณะแห่งความกลับคืนเป็นสงบเย็นเต็มดวง ทุกอย่างถูกรู้เอง เหมือนสายหมอกไม่มีชื่อ สายน้ำไม่มีนามสกุล ร้อนก็ถูกรู้ว่าร้อน เย็นก็ถูกรู้ว่าเย็น เห็นภาวะเด่นปรากฏแล้วหายลับ ก็เป็นอันว่าจบกัน ไม่มีอะไรมากหรือน้อยกว่านั้น
    ความรู้อยู่ที่จิตย่อมเป็นอภัยทานในตนเอง ฉันไม่ถือโทษโกรธโลกอีกต่อไป ถ้าโทษก็โทษสติที่ทำงานไม่ทัน แต่ไม่มีคำด่าให้ใคร ไม่มีแม้คำติเตียนให้ตัวเอง สภาพสติรู้ตั้งมั่น เบิกบาน เห็นทุกอย่างเป็นอัตโนมัติโดยปราศจากความคิดบิดเบือนหรือหาอะไรมาแทรกแซงนั่นเอง จึงเหมือนวันทั้งวันลงสนามปฏิบัติอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่มีการบังคับควบคุม มีแต่การยอมรับตามจริงว่าเกิดภาวะดีร้ายใดๆขึ้นมา
    พอทำงานที่จำเป็นต้องใช้ความคิดเครียดหลายชั่วโมงติดกัน พอพักก็กลับมายึดราวเกาะรู้ลมหายใจเข้าออก รู้อิริยาบถนั่งไป พยายามยอมรับว่าอิริยาบถนั่งมีความเกร็งแขน เกร็งเนื้อตัว ในหัวยังอลหม่านด้วยความคิด พอยอมรับก็เกิดสติรู้ภาวะเกร็งนั้นๆ พอสติรู้เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นไปผนวกกับฐานสติเดิมซึ่งอบรมไว้มากแล้ว ความผ่อนคลายก็ตามมา สติว่องไวจนไม่หลงไปกับสุขอันเกิดจากความผ่อนคลายนั้นด้วย เพียงแค่เปรียบเทียบภาวะต่างระหว่างเครียดกับคลาย เห็นทั้งเครียดและคลายนั้นเป็นคนละอย่าง และต่างก็ไม่ใช่ตัวฉันด้วยกันทั้งคู่ เป็นเพียงสภาวะส่วนหนึ่งของกายที่มีให้อาศัยระลึกรู้ว่าไม่เที่ยงเท่านั้น
    บางวันความรู้สึกที่จิตเด่นกว่ากายหลายชั่วโมง พอเกิดความชื่นชมคุณภาพจิตของตัวเอง แทนที่จะหลงฟูหรือเกิดมานะว่าฉันคือนักภาวนาผู้เก่งกาจ ก็พิจารณาอย่างรู้ตามจริงว่าภาวะดีๆนี้หาได้มีอยู่ก่อน หาได้ตั้งอยู่ถาวรตลอดไป และคุณภาพก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้ลอยมาอย่างบังเอิญ แต่ได้มาจากวินัย ฉันตื่นเช้าตีสี่สม่ำเสมอเพื่อนั่งสมาธิและเดินจงกรม ก่อนนอนแม้เพลียจัดก็ต้องทำนิดทำหน่อยไม่ขาด ในที่สุดจิตจึงยอมศิโรราบให้กับความเพียร ความเพียรเป็นของที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำกันในปัจจุบันล้วนๆ ไม่อาศัยความเชื่อ ไม่ฟังเสียงลือเสียงเล่าอ้าง ไม่หวังน้ำบ่อหน้าใดๆทั้งสิ้น จะได้ไม่ละความพยายามทำดีให้ยิ่งๆขึ้นไปเพียงเพราะสำคัญว่าตัวเองดีแล้ว คุณภาพจิตเป็นเลิศแล้ว
    น่าบันทึกไว้อีกประการหนึ่ง สติอันเป็นอัตโนมัติเห็นสภาพจิตต่างๆทั้งวันทั้งคืนนั้น ทำให้รู้สึกเหมือนได้ตัวต่อจิ๊กซอว์ของ ‘อนัตตภาพ’ มามากขึ้นเรื่อยๆจนใกล้ครบ ตระหนักว่าแม้อกุศลจิตหรือทุกขเวทนา ก็เป็นสิ่งจำเป็นต้องเห็น ไม่อย่างนั้นจะขาดตัวเปรียบเทียบว่าจิตนี้เดี๋ยวก็มืด เดี๋ยวก็สว่าง เป็นอนัตตา มีเหตุให้เกิดสภาพเช่นนั้น แล้วต้องถึงเวลาแปรปรวนเป็นอื่น เกิดแล้วเปลี่ยน เกิดแล้วเปลี่ยน เกิดแล้วเปลี่ยน หาความจีรังยั่งยืนให้เห็นว่าเป็นตัวเป็นตนถาวรไม่ได้สักดวง
    เมื่อเห็นความเกิดดับของภาวะทั้งหลายอย่างแจ่มชัดเองโดยปราศจากความตรึกนึกมากเข้า บางครั้งจิตก็ตั้งมั่นเป็นหนึ่ง ให้ความรู้สึกว่างเปล่ากว้างใหญ่ครอบทั่วขอบเขตกายใจ ไม่เหมือนเป็นชายหรือหญิง ไม่เหมือนเป็นมนุษย์ ไม่เหมือนเป็นบุคคล แต่เป็นแค่สภาพรู้ว่ากายอยู่ในอิริยาบถใด หรือสภาพรู้ว่าเกิดอาการชนิดใดขึ้นกับจิตที่ปราศจากชื่อ ปราศจากความมั่นหมายว่าตนเป็นหรือไม่เป็นใคร พูดให้ง่ายคือ ‘ตัวฉัน’ ไม่มี มีแต่กายกับจิตปรากฏเป็นขณะๆ ความว่างยิ่งแจ่มชัดเท่าไหร่ก็ยิ่งเหมือนกว้างและว่างหายมากขึ้นเท่านั้น
    กระทั่งตีสี่ของวันหนึ่งขณะนั่งสมาธิตามปกติ เมื่อสติดำเนินเป็นอัตโนมัติเห็นลมหายใจเกิดดับ จิตคลายจากความยึดมั่น เข้าถึงความว่างจากอุปาทาน กระทั่งกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับความว่างชนิดนั้นเนิ่นนาน พอถอนออกมาก็บอกตัวเองว่านั่นเป็นรสล้ำลึกน่าพิศวง จึงทำเหตุเข้าสู่ความเป็นเช่นนั้นใหม่ คือพิจารณาลมหายใจเข้าออกอันละเอียดสุขุมโดยความไม่ยึดมั่น เพื่อให้ถึงความว่างจากอุปาทานคงที่ และกลืนเป็นหนึ่งเดียว ตั้งมั่นอยู่กับความว่างนั้นอีก
    ยิ่งทำก็ยิ่งชำนาญ แม้ระหว่างวันพอนึกขึ้นมา ทำเหตุที่ถูกทางเข้าสู่สภาพว่าง ความว่างก็มาเยือนอีกและอีก กระทั่งสองสามวันต่อมาฉันเริ่มฉุกใจเมื่อเห็นสติเริ่มไม่ค่อยทำงานกับภาวะที่เป็นปัจจุบัน คอยเฝ้ารอแต่ว่าเมื่อใดจะถึงจังหวะเหมาะ หลีกเร้นจากภาระหน้าที่ มีกำลังจิตพร้อมจะ ‘สร้างเหตุแห่งความว่าง’
    ไปๆมาๆฉันก็ไหวทันว่ากำลัง ‘ติดใจภาวะว่างเทียมๆ’ เข้าให้แล้ว ความว่างแบบนี้เริ่มเกิดขึ้นจากการเห็นความเกิดดับก็จริง แต่มีความจงใจกระทำจิตให้คล้อยเข้าสู่กระแสความว่างอันมั่นหมายไว้แล้ว และแช่ติดอยู่กับภาวะเช่นนั้นโดยไม่มีสติรู้ว่าเป็นเพียงอีกภาวะหนึ่งของจิตที่ต้องแปรปรวนไป
    ฉันระบายยิ้มอ่อนๆ กับดักมีมากเหลือเกิน บางทีมาในแบบของแถมระหว่างทางที่ถูกต้องนั่นเอง ฉันไม่ได้ทำอะไรผิดเลย แต่ไปติดใจในภาวะอันเป็นผลที่ถูก โดยขาดสติรู้ว่านั่นเป็นเพียงภาวะจิตอย่างหนึ่ง ไม่ควรยินดี ไม่ควรฝากจิตฝากใจไว้กับภาวะนั้น อันเป็นเหตุให้เกิดความอ้อยอิ่งอาวรณ์ เป็นตัณหาอันละเอียด เป็นต้นตอให้ต่ออุปาทานขันธ์ ๕ ยืดยาวไปอีก
    ยังดีที่แม่นหลักการขึ้นใจ และสำรวจสังเกตตามแนวอริยสัจจ์ ๔ อยู่เสมอ ฉันท่องไว้ว่าความอ้อยอิ่งอาวรณ์แม้สภาวะอันประณีตสุขุมก็คือตัณหา เป็นอริยสัจจ์ข้อ ๒ ที่ต้องละ ไม่ใช่ส่งเสริม
    ฉันยังกำหนดเข้าสู่ความว่างอันให้รสวิเวกลึกซึ้งนั้นเป็นครั้งเป็นคราว แต่เข้าอย่างรู้ว่าเป็นภาวะจิตหนึ่ง มีให้อาศัยระลึกว่าไม่เที่ยง มีให้อาศัยเปรียบเทียบกับภาวะจิตที่ไม่ว่าง คือรู้ว่าว่างหายเป็นอย่างไร กลับจากความว่างหายคืนสู่ความมีความเป็น มีความหนาทึบจับต้องได้ของกาย หลายครั้งเข้าก็เกิดความรู้ชัดว่าสภาวจิตทั้งว่างกับไม่ว่างนั้นมีลักษณะต่างกันแค่ไหน อย่างไร เท่านี้ก็ไม่มีอาการติดใจหรือ ‘จมไปกับความว่างหาย’ อีกแล้ว
    หลักการที่จะไม่หลงก็วนเวียนอยู่แค่นี้เอง เปรียบเทียบให้เห็นความต่างตามจริง ยอมรับทุกสภาพเท่าที่มันปรากฏ สำคัญคือเมื่อเกิดภาวะใหม่โดยเฉพาะที่ดีๆแล้วจะเกิดความติดใจโดยไม่รู้ตัวเท่านั้น ถ้าแม่นหลักการและคอยสำรวจตรวจสอบก็คงไม่มีปัญหาอะไร ก้าวหน้าแค่ไหนก็ไม่ต้องกลัวหลงติดกับดักไหนๆเลย
    วันอาทิตย์เมื่อมีโอกาสอยู่กับบ้านปิดห้องภาวนาทั้งวัน หลังจากเดินจงกรมได้เกือบชั่วโมง ก็รู้สึกว่าจิตมีมหากำลัง มหาสติ มหาปัญญายิ่งใหญ่ แต่ละก้าวแต่ละกระดิกแบ่งแยกกันเป็นขณะๆชัดกริบ เพราะสติรู้คงที่ต่อเนื่องแทบไม่มีภวังค์แทรกคั่น ความเคลื่อนไหวของกายจึงเหมือนช้าลง และถูกรู้ออกมาจากสุญญากาศอันปราศจากอัตตาของจิตผู้รู้
    ฉันเกิดความสงสัยขึ้นมาว่าภาวะรู้เห็นกายใจอย่างเต็มที่เกิดขึ้นแล้ว สมควรจะทำอะไรต่อ ก็ได้คำตอบจากโพชฌงค์ ๗ ทันทีว่า ความวางเฉยต่อสภาพรู้ตั้งมั่นยังไม่บริบูรณ์ เพราะถ้ามีความวางเฉยอย่างบริบูรณ์ ย่อมรู้เฉยๆเรื่อยไปโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจะต้องทำอะไรต่อ
    การวางเฉยในขั้นนี้ก็อาศัย ‘การยอมรับสภาพสงสัย’ เหมือนบันไดขั้นแรกๆนั่นเอง เพียงแต่คราวนี้พิเศษกว่าขั้นแรกๆตรงที่ผลทางอาการแห่งจิตนั้นต่างกันลิบลับ เพราะสภาพสงสัยผุดขึ้นน้อยเท่าน้อยยิ่งกว่าความบางของใยแมงมุมที่ลอยแผ่วลงตกกระทบผิวน้ำใสแจ๋ว ความรำคาญอันเกิดจากการเห็นเส้นใยนั้นก็แผ่วแสนแผ่วจนเรียกว่ามีเหมือนไม่มี แต่เมื่อสามารถยอมรับสภาพเล็กน้อยยิ่งที่เกิดขึ้นนั้นได้ เห็นสภาพเล็กน้อยยิ่งที่ถูกรู้นั้นสลายลงตามธรรมดา ผลคือความบริบูรณ์แห่งอุเบกขา วางเฉยโดยปราศจากความไหวติง แม้แต่เงาแห่งความคิดทาบลงมายังพื้นจิตก็รู้โดยไม่หลงสำคัญ ไม่หลงเต็มใจยินดีให้เงาดังกล่าวอาศัยอยู่เพื่อความเจริญขึ้นของอุปาทานว่าเป็น ‘ตัวฉัน’
    ความวางเฉยยอมรับตามจริงขนานแท้นั้น หาใช่เกิดขึ้นกับฌาน หาใช่เกิดขึ้นเฉพาะกับจิตดีๆ แต่เกิดขึ้นกับจิตธรรมดาๆทั่วไปที่มีสติประกอบอยู่ รู้ว่าจิตก็เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง อย่างที่โขดหิน ทะเล แสงแดด และระลอกลมทั้งหลายก็เป็นธรรมชาติต่างๆตามประเภทของตน ไม่มีความหวังให้จิตปฏิวัติเป็นอะไรที่นอกเหนือไปจากธรรมชาติที่มันกำลังเป็น เหมือนนั่งมองทะเลโดยไม่เคยปรารถนาให้ธาตุน้ำแปรเป็นธาตุอื่นที่วินาทีนั้นมันไม่ใช่
    ภาวะของจิตที่ ‘ไม่มองไปข้างหลัง ไม่หวังไปข้างหน้า’ นั้นสุขพอแล้ว ถึงแม้มรรคผลไม่มีจริง แต่ความสุขระดับนี้ก็ทำให้ฉันไม่ผิดหวังแล้ว เห็นว่าคุ้มแล้วกับการลงทุนลงแรงในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วันที่ ๗: เห็นนิพพาน
    เป็นวันจันทร์ที่ฉันตื่นขึ้นทำความเพียรตามปกติ ตาเปิดมองโลกด้วยความตื่นเต็ม ใจเปิดมองสภาพทั้งหลายด้วยความตื่นรู้
    หลับตาทำสมาธิ ตั้งต้นด้วยความปลอดโปร่งสบาย แค่กำหนดอิริยาบถนั่ง รู้สึกครบทั้งหัว ตัว แขน ขาคงที่ รู้ว่ามีลมออก มีลมเข้าอย่างเป็นสุขทั่ว ก็เห็นลักษณะเด่นของจิตกับกายโดยความเป็นต่างหากจากกัน ทำให้มีความรู้ชัดว่าอิริยาบถไม่ใช่ตัวตน จิตรวมเด่นเป็นแค่ภาวะผู้ดูความไม่ใช่ตัวตนของอิริยาบถ บังเกิดฉ่ำชื่นในรสวิเวกอันซ่านเย็นไปทุกขุมขน
    ขณะหนึ่งที่จิตคลายจากสภาพผนึกแน่นเป็นปึกแผ่น โรยราลงจากลักษณะแผดสว่างมาเป็นสว่างนวล ใจหนึ่งก็สั่งว่าให้ลุกขึ้นเดินจงกรม อีกใจก็อยากนั่งแช่อีกสักพัก เพราะสติยังรู้อยู่กับภาวะของจิต เห็นว่านั่งนิ่งๆก็ทราบชัดดีว่าสว่างน้อยลง ขอบรัศมีแคบลงด้วยใจยอมรับอนิจจังโดยดีไม่มีเงื่อนไข รู้ยิ่ง วางเฉยยิ่ง ปราศจากความคิดปรุงแต่งเสริมเติมยิ่ง
    เสียงจักจั่นเรไรตามสุมทุมพุ่มไม้ในละแวกใกล้ดังระงมกระทบโสต ฉันเห็นอาการไหวตัวของจิต คือมีอาการแปรจากลักษณะรู้ที่จิตเอง ไปรับรู้ส่ำเสียงน่าอภิรมย์ของสิ่งมีชีวิตตัวน้อย ข่ายคลื่นเสียงดุจมนต์กล่อมโลกนั้นก่อให้เกิดความสงบที่จิต และมีความพึงใจในรสแห่งความสงบนั้น แต่ก็เห็นอีกด้วยว่าความสงบดังกล่าวเป็นของปรุงแต่งขึ้นตามหลังเสียงกระทบหู โดยเดิมไม่มีความสงบอยู่ก่อน และอีกเดี๋ยวจะต้องแปรไปเป็นธรรมดา แม้สุขจริงก็ไม่น่าอาลัย เพราะไม่มีอะไรเลยที่เป็นตัวตนให้ร้องขอตามปรารถนาได้แม้กระทั่งตัวจิตผู้รู้เสียงเอง
    จิตตรองอยู่แต่ว่าเมื่ออุปาทานหายไป จะเหลืออะไรนอกจากความว่างจากตัวตน… ฉับพลันนั้นเองฐานที่ยืนของอัตตาก็หมุนควงสู่ความทลายลงดุจความพินาศของพื้นโลก กลายเป็นความว่างหายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ถัดมาจึงบังเกิดแสงสว่างพลุ่งโพลงจากความว่างพิสุทธิ์ ดุจเดียวกับสายฟ้าที่สว่างขึ้นรอบทิศ ยังความมืดมนอนธการให้หายไป แลเห็นแต่ความจริงคือมหาสมุทรแห่งความว่าง ไร้รูป ไร้นาม ไร้นิมิตแม้น้อยเท่าน้อย
    และจิตที่แผ่กว้างเบิกบานออกเป็นอนันต์ก็แค่เพียงธรรมชาติหนึ่งที่ต้องถดถอยกลับสู่ภาวะรับรู้ด้วยหูตาตามปกติ ริมฝีปากของฉันสยายแย้มจนสุดตามวิสัยแห่งจิตอันโสมนัสในธรรมาภิสมัย พุทโธ่เอ๋ย! นึกว่านิพพานซ่อนอยู่ที่ไหน ขณะแห่งการรู้แจ่มแจ้งตามจริง แทงทะลุกำแพงบดบังแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เสียได้ นิพพานก็ปรากฏแก่จิตตรงนั้นเอง เปิดเผยตัวเองและถูกรู้ได้จากทุกแห่งในจักรวาล สมดังพระพุทธวจนะที่ว่านิพพานเข้าถึงได้จากทุกทิศ เป็นธรรมชาติไร้ที่อยู่ เป็นสิ่งไร้ความเคลื่อนไหว เป็นมหาธาตุอันไร้การปะปนกับนานาธาตุ เป็นความว่างที่ไม่มีขนาด ไม่มีนิมิต และไม่มีที่ตั้ง ผู้รู้นิพพานจึงกลับมาเล่าขานตรงกันว่านิพพานเป็นเหมือนมหาสมุทร แต่บอกไม่ได้ว่ากว้าง ยาว ลึกเพียงใด
    และความที่ไม่ต้องมีขนาด ไม่ต้องมีความสัมพันธ์กับธาตุหยาบใดๆแม้กระทั่งวิญญาณธาตุ พระพุทธองค์จึงทรงตรัสไว้ในปหาราทสูตรความว่า แม่น้ำทุกสายในโลกย่อมไหลไปรวมยังมหาสมุทร หนำซ้ำสายฝนจากอากาศก็ตกลงสู่มหาสมุทรอีก แต่มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มเพราะกลุ่มน้ำเหล่านั้นเลย ฉันใดก็ฉันนั้น ถึงแม้ภิกษุเป็นอันมากจะดับขันธ์เข้าสู่นิพพาน นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่าพร่องหรือเต็มด้วยบรรดาภิกษุเหล่านั้น
    ความเป็นเช่นนั้นของนิพพานย่อมปรากฏแก่ผู้เจริญสติปัฏฐานจนสมควรจะได้เห็น ดังเช่นที่พระอรรถกถาจารย์บรรยายไว้ในอรรถกถาวชิรสูตรถึงประสบการณ์การเข้าถึงมรรคผลระดับต่างๆไว้อย่างน่าเลื่อมใส มีใจความโดยสรุปสำหรับขณะแห่งการเกิด ‘มรรคจิต’ ว่า
    ในยามราตรีคือเวลาที่มืดสนิท ที่ได้ชื่อว่ามืดสนิทเพราะห้ามไม่ให้การเห็นทางตาเกิดขึ้น เมื่อใดที่พระโสดาปัตติมรรคอุบัติขึ้นนั้น ก็จะเห็นเหมือนการแลบของสายฟ้านั่นเอง การเห็นนิพพานในขณะแห่งพระโสดาปัตติมรรค เหมือนการเห็นทัศนียภาพรอบด้านของคนมีตาดีขณะฟ้าแลบ
    นี่เป็นการบรรยายประสบการณ์ขณะบรรลุธรรมซึ่งฉันคิดว่าดีที่สุด มีคำแวดล้อมครบถ้วนที่สุด โน้มน้าวให้ผู้บรรลุธรรมระลึกขณะแห่งมรรคจิตได้ชัดที่สุดเท่าที่ฉันพบมา เพราะเป็นเช่นที่ท่านจาระไนไว้จริงๆ โลกถูกปกคลุมด้วยความมืดมนอนธการ แสงอาทิตย์ยังนับว่ามืดอยู่ เพราะเพียงกระทำตาให้เห็นรูปอย่างผิวเผิน หรือแม้แสงอันเป็นมหาโอภาสในสมาธิจิตก็ยังสลัวเลือนอยู่ เพราะมีม่านหมอกความลุ่มหลงในจิตตนเองเป็นเครื่องบดบังความจริงขั้นสูงสุด แต่แสงแห่งพระโสดาปัตติมรรคนั้นประดุจฟ้าแลบที่กระทำความมืดให้พินาศลงชั่วคราว ความว่างที่มีอยู่แล้ว เปิดเผยอยู่แล้ว เป็นความจริงอยู่แล้ว ย่อมปรากฏแสดงตนเองอย่างแจ่มชัด ไม่เหลือความสงสัยเคลือบแคลงอีกเลยว่า ‘ความจริงอันเป็นที่สุด’ มีลักษณะอย่างไร
    ธรรมาภิสมัยเป็นสิ่งน่าพิศวง ดุจมหาเพลิงที่ลุกพรึ่บขึ้นทำลายความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัยให้หมดสิ้นไป ทางแห่งความหลงไร้สติไปในบาปเวรร้ายแรงต่างๆถูกปิดตายด้วยความรวดเร็วเหมือนสายฟ้าแลบปลาบเดียวนั้นเอง คนธรรมดาอย่างมากเข้าถึงความคิดอันชาญฉลาด แล้วอาจหักเหวิถีชีวิตด้วยความคิด แต่คนที่เจริญสติปัฏฐานจนเข้าถึงมรรคจิตได้นั้น ย่อมทำเส้นทางในสังสารวัฏให้หดสั้นลง และเห็นจุดหมายปลายทางอันเป็นที่จบที่สิ้นของวังวนทุกข์อย่างแจ่มชัด สมดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสกะท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีในปัญจเวรภยสูตร ใจความโดยสรุปคือ
    ดูกรคฤหบดี เมื่อใดภัยเวร ๕ ประการ ของอริยสาวกสงบแล้ว เมื่อนั้นอริยสาวกย่อมประกอบด้วยธรรมเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่าง รวมทั้งข้อปฏิบัติอันประเสริฐ อริยสาวกเห็นดีแล้ว แทงตลอดด้วยปัญญา อริยสาวกนั้นควรพยากรณ์ตนเองได้ว่าเราเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรตวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นโสดาบันมีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงจะตรัสรู้ในภายหน้า
    ผู้ก่อภัยเวรย่อมประสบกับภัยเวร อาจจะในชาตินี้หรือในชาติหน้า ภัยเวร ๕ ประการได้แก่การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ และการดื่มน้ำเมาจนตั้งอยู่ในความประมาท ภัยเวรเหล่านี้ฉันละได้นานแล้วก่อนเห็นนิพพาน และเมื่อเห็นนิพพานแล้วก็สำรวจเห็นชัดว่าจิตตัดเด็ดขาดในภัยเวรเหล่านั้นแน่ๆ เพราะใจไม่ถึง ใจไม่ยินดี และใจไม่เอา ความเป็นโสดาบันคือผู้มีใจถึง ใจยินดี และใจเอาเพียงความไร้ภัยเวรเท่านั้น พูดง่ายๆคือโสดาบันเป็นผู้สะอาด มั่นคงในศีล ๕ โดยไม่ต้องรักษา เพราะไม่เอาภัยเวรออกมาจากจิต หาใช่ผู้ต้องข่มใจเอาชนะความอยากละเมิดศีล ๕ เยี่ยงปุถุชนไม่
    ธรรมอันเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่างได้แก่
    ๑) มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะเมื่อตนบรรลุธรรมได้ด้วยวิธีการของพระองค์ท่าน แล้วพระองค์ท่านจะเป็นผู้ไม่รู้จักทางนี้ ไม่เห็นทางนี้ ไม่สำเร็จธรรมเห็นนิพพานตามทางนี้ได้อย่างไร
    ๒) มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ไม่เชื่อตามๆกันอย่างไร้เหตุผลว่ามรรคผลเป็นของล้าสมัยไปได้ เพราะธรรมทั้งปวงเป็นสิ่งไม่จำกัดกาล ปฏิบัติตนให้พร้อมดูได้เมื่อไหร่ก็เห็นได้เมื่อนั้น
    ๓) มีความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ คือเห็นว่าอริยบุคคลมีจริง และเดิมทีก็เป็นคนธรรมดานี่แหละ แต่เมื่อปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธเจ้าย่อมกลายเป็นบุคคลผู้ประเสริฐ ผู้ควรแก่การรับไหว้ ผู้ควรแก่การรับทาน เป็นนาบุญอันประเสริฐที่ไม่มีอื่นยิ่งกว่า
    ๔) มีศีลที่พระอริยเจ้าปรารถนา ไม่อาจถูกครอบงำด้วยตัณหาและทิฐิให้ผิดศีลผิดธรรม ศีลนี้ย่อมเกื้อกูลให้เกิดสมาธิจิตได้ง่าย
    ส่วนข้อปฏิบัติอันประเสริฐคือการที่อริยสาวกเห็นดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา กระทำไว้ในใจโดยแยบคายว่าเมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี
    เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ โดยย่นย่อคือทุกข์เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ เมื่อรู้ชอบแล้วย่อมกระทำทุกข์ให้เบาบางลง จนกระทั่งถึงที่สุดทุกข์ได้
    ฉันเห็นแจ้งตามจริงด้วยจิตอันเป็นปัจจุบันตามนั้นทุกประการ ด้วยความสงบแห่งภัยเวร ๕ ประการ ด้วยธรรมอันเป็นองค์แห่งโสดาปัตติ ๔ อย่าง และด้วยข้อปฏิบัติอันประเสริฐเช่นการดำเนินจิตตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ฉันมีจิตอันปลอดโปร่ง สว่างโพลน เป็นผู้รู้จักนิพพาน ย่อมมั่นใจในตนเองว่าเป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรตวิสัยสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เป็นโสดาบันผู้จะไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ธรรมขั้นสูงสุดในภายภาคหน้า
    การจะมีภพชาติสิ้นสุดลงเมื่อใด อาจไม่เป็นที่ปรากฏชัด ผู้เป็นโสดาบันไม่อาจพยากรณ์ตัวเอง แต่พระพุทธองค์ตรัสรับรองไว้หลายแห่งว่าเกิดเป็นมนุษย์อีกอย่างมากที่สุดไม่เกิน ๗ ชาติก็จะต้องสำเร็จอรหัตตผล นั่นหมายความว่าถ้าใช้ชีวิตประสาฆราวาสทั่วไปไม่ออกบวชเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งในปัจจุบัน ก็ต้องเดินทางกันต่อ เพียงแต่ไม่ ‘ไกลมาก’ เหมือนปุถุชน อย่างเช่นในเสขสูตร พระพุทธองค์ตรัสบอกเขตจำกัดไว้ว่าใครทำสังโยชน์ ๓ ให้ขาดสิ้น จะท่องเที่ยวไปในความเป็นเทวดาและมนุษย์อย่างมาก ๗ ครั้ง แล้วจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ซึ่งมีไม่เท่ากันในอริยบุคคลแต่ละท่าน
    เพื่อความชัดเจนว่ามีกิเลสใดขาดสูญไป มักใช้หลักเทียบเคียงกับ ‘สังโยชน์’ สังโยชน์คือกิเลสเครื่องผูกใจ บางท่านเปรียบไว้กับโซ่ร้อยรัด ๑๐ เส้น ดังนี้
    ๑) สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นตัวของตน
    ๒) วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัยในพระศาสดาและพระธรรมที่พระองค์ตรัสรู้
    ๓) สีลัพพตปรามาส ความเข้าใจผิดว่าความบริสุทธิ์อาจเกิดขึ้นได้ด้วยศีลพรตนอกศาสนาที่ปราศจากมรรคมีองค์ ๘
    ๔) กามราคะ ความติดใจในกามคุณ
    ๕) ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ
    ๖) รูปราคะ ความติดใจในฌานอาศัยรูป
    ๗) อรูปราคะ ความติดใจในฌานอาศัยอรูป
    ๘) มานะ ความถือว่าตัวเป็นนั่นเป็นนี่
    ๙) อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน
    ๑๐) อวิชชา ความไม่รู้ในสัจจะอันแท้จริง
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    สังโยชน์ ๓ ข้อแรกถูกล้างผลาญไปพร้อมกันในคราวเดียวด้วยมหาเพลิงคือพระโสดาปัตติมรรค แต่พระโสดาปัตติมรรคไม่อาจล้างผลาญสังโยชน์ข้อต่อๆมาได้ โสดาบันบุคคลจึงเป็นผู้ที่ยังต้องศึกษา ยังต้องทำกิจคือเจริญสติปัฏฐานต่อไปเพื่อให้เกิดไฟล้างครั้งต่อๆมาจนกว่าอวิชชาจะสิ้น
    สิ่งที่ผู้ศึกษาธรรมมักสงสัยและสับสนกันอย่างที่สุดคือถ้าเห็นกายใจไม่ใช่ตัวตน แล้วเหตุใดจึงยังมีราคะ โทสะ โมหะอยู่ ความเห็นอนัตตาของพระโสดาบันกับพระอรหันต์แตกต่างกันอย่างไร
    ตรงนี้ถ้าดูภิกษุนามว่าเขมกะกล่าวไว้ในเขมกสูตร ว่าด้วยความไม่มีตนในขันธ์ ๕ ก็อาจเข้าใจกระจ่างและหายสงสัย ท่านกล่าวกะเหล่าภิกษุร่วมสมัยว่าอย่างนี้…
    กระผมไม่กล่าวว่าตัวเรามีอยู่ในรูป ทั้งไม่กล่าวว่าตัวเรามีนอกเหนือจากรูป ไม่กล่าวว่าตัวเรามีอยู่ในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งไม่กล่าวว่าตัวเรามีอยู่นอกเหนือจากเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ผมเข้าใจว่าตัวเรามีในอุปาทานขันธ์ ๕ (ทั้งที่กระผมก็ไม่ได้พิจารณาเห็นว่าอุปาทานขันธ์ ๕ นี้เป็นเรา)
    แล้วท่านเขมกะก็กล่าวเปรียบกับกลิ่น จะเป็นกลิ่นดอกบัวก็ดี กลิ่นดอกบัวหลวงก็ดี กลิ่นดอกบัวขาวก็ดี กลิ่นดอกบัวเหล่านั้นไม่ควรกล่าวว่ากลิ่นเป็นของใบ กลิ่นเป็นของสี หรือว่ากลิ่นเป็นของเกสร โดยที่ถูกต้องกล่าวว่ากลิ่นเป็นของดอก ซึ่งฉันใดก็ฉันนั้น ท่านไม่กล่าวว่าตัวเรามีในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ รวมทั้งไม่กล่าวว่าตัวเรามีอยู่ในสิ่งอื่นนอกเหนือจากขันธ์ทั้ง ๕ ประการเหล่านี้ แต่ที่รู้สึกว่า ‘เรามี’ เป็นเพียงอุปาทานอันเกิดจากการประชุมขันธ์เท่านั้น รู้ทั้งรู้ว่าตัวเราเป็นเพียงอุปาทาน แต่ก็ยังถอนมานะไม่ได้ ยังมีความยินดีเต็มใจในการเกิดอุปาทาน รวมทั้งยังไม่อาจทำลาย ‘ความไม่รู้’ หรืออวิชชาอันเป็นที่สุดของกิเลสลงได้
    สรุปคืออุปาทานในขันธ์ ๕ ของอริยเจ้าชั้นต้นๆนั้นยังมีอยู่ เพียงแต่ถ้าว่าตามความเห็นแล้ว หรือหากให้พูดแล้ว ท่านจะไม่กล่าวเลยว่าในขันธ์ ๕ มีตัวตน หรือนอกขันธ์ ๕ แม้กระทั่งนิพพานเป็นตัวตน อริยเจ้าผู้รู้จักนิพพานย่อมไม่มีความเห็นผิด เพียงแต่ยังถอนรากแห่งราคะและโทสะไม่ได้ ยังถอนมานะว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ไม่ได้ เพราะยังเอาชนะความอยากไม่ได้ อวิชชาจึงบังจิตได้อยู่ ซึ่งสิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือดูขันธ์ ๕ เกิดดับไปเรื่อยๆจนกว่าจะถอนกิเลสได้หมดนั่นเอง
    แต่ถึงแม้พระโสดาบันยังถอดถอนกิเลสไม่ได้ พวกท่านก็รู้ว่าสิ่งใดดีที่สุด รสใดเลิศสุด เพราะมหาสุญญตาเป็นสัจจะที่ปรากฏให้รู้ได้ไม่จำกัดกาล จะสองพันปีก่อน จะเป็นปีนี้ หรือจะเป็นกี่ล้านปีข้างหน้า ก็ยังคงปรากฏความเป็นรสอันเหนือรสอยู่เช่นนั้น รสแห่งความว่างในนิพพานวิเศษกว่ารสหวานชื่นอื่นใดอย่างเทียบกันไม่ติด เพราะรสแห่งความกำหนัดในวัตถุกาม และแม้รสแห่งความหวานชื่นในฌาน ต่างเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ หวงแหนไว้ เหนี่ยวรั้งไว้ ซึ่งที่สุดก็ไม่อาจเป็นไปได้ดังใจ สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายย่อมแปรปรวนไปเป็นธรรมดา แต่รสแห่งความว่างจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์ ไม่ต้องรักษา ไม่ต้องหวงแหน ไม่ต้องเหนี่ยวรั้งแต่อย่างใด เพราะนิพพานไม่มีการมา ไม่มีการไป ไม่มีความเคลื่อนแม้น้อยเท่าน้อย เพราะธรรมชาติแห่งความเป็นนิพพานไม่มีกาลเวลา จึงปราศจากการตั้งต้นเกิดขึ้นเมื่อใด ไม่มีการแปรปรวน และไม่มีอะไรไปทำให้ดับลง
    นิพพานไม่มีการมาการไป หมายถึงไม่มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปครับ
    มีแต่ธรรมชาติแบบนิพพานที่ปราศจากกาล เป็นคนละระนาบกับสังสารวัฏที่เป็นของปรุงแต่ง
    พระโสดาบันรู้ว่านิพพานไม่หายไปไหน เพราะถ้าเมื่อใดท่านมีกำลังหนักแน่นเป็นหนึ่ง ย่อมมีสิทธิ์ดำเนินจิตดังเช่นที่พระสารีบุตรกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์คือ...
    ๑) ยินดีในความวางเฉยในกายใจ
    ๒) เห็นแจ้งในความวางเฉยนั้น
    ๓) พิจารณาแล้วเข้าผลสมาบัติ
    ผลสมาบัติหมายถึงอริยสมาธิ คือการยับยั้งอยู่ในจิตที่เป็นผลอันเกิดขึ้นหลังพระโสดาปัตติมรรค ขณะแห่งจิตนั้นมีสติบริสุทธิ์เห็นแจ้งว่าธรรมชาติทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ผัสสะที่กระทบจิตในขณะแห่งการเข้าอริยสมาธิคือความว่าง ความไม่มีนิมิต และความไม่มีที่ตั้ง อันเป็นลักษณะของนิพพาน หรือพูดง่ายๆว่านี่คือการเข้าสมาธิที่มีนิพพานเป็นเครื่องหน่วงจิตนั่นเอง
    หลังปรากฏการณ์บรรลุธรรม ฉันลองนั่งกำหนดรู้ลมหายใจอย่างที่เคยกำหนด เห็นอิริยาบถนั่งคงที่อย่างที่เคยเห็น รู้ชัดในสุขเวทนาอันเกิดพร้อมอยู่ในสายลมหายใจและอิริยาบถนั่งอันคงเส้นคงวานั้น แล้วเกิดความวางเฉย ไม่ติดใจ ไม่รู้สึกว่าเป็นตัวตน ไม่มีมโนภาพของบุคคล ตัวตน ชายหญิงใดๆหลงเหลืออยู่ สติเกิดขึ้นเต็มที่เห็นชัดในอาการวางเฉยนั้น ว่าปราศจากเยื่อใยอาลัยทั้งปวง จิตอยู่ในอาการตรองว่าไม่มีอะไรน่ายึดมั่นถือมั่น แล้วก็บังเกิดอาการรวมดวงใหญ่เป็นฌาน ปฏิรูปไปอยู่ในสภาพ ‘ยกขึ้นบก’ ทันที คือเห็นว่ากายใจหายไป ความว่างปราศจากนิมิตและที่ตั้งปรากฏแทน เพียงแต่ไม่มี ‘แสงประหารกิเลส’ ผุดโพลงขึ้นเหมือนขณะโสดาปัตติมรรคอุบัติเท่านั้น
    ฉันเห็นนิพพานโดยความเป็นบก เพราะเห็นโดยความเป็นที่ยุติ เป็นที่ปราศจากความเคลื่อน แล้วก็มาพบว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้โดยความเป็นเช่นนั้นด้วย คือท่านตรัสในอัตตทัณฑสุตตนิทเทสโดยเปรียบว่าความกำหนัดเหมือนห้วงน้ำใหญ่ เปือกตมคือกามเป็นสภาพล่วงได้โดยยาก ส่วนอมตนิพพานเรียกว่าบก เพราะเป็นสภาพที่สงบจากสังขารทั้งปวง (จึงไม่อาจมีรูปนามอันเจือด้วยกามใดๆมาแผ้วพานหรือตั้งอยู่ที่นี่ได้)
    ฉันเห็นนิพพานโดยความเป็นจริงแท้หนึ่งเดียว นอกเหนือจากนั้นเป็นเพียงมายาลวงใจ แล้วก็มาพบว่าพระพุทธองค์ตรัสไว้โดยความเป็นเช่นนั้นด้วย คือท่านตรัสในธาตุวิภังคสูตรว่าผู้หลุดพ้นย่อมตั้งอยู่ในความจริง สิ่งที่เปล่าประโยชน์ได้แก่ความปรุงแต่งอันแปรปรวนเป็นธรรมดานั้นเท็จ สิ่งที่ไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดาได้แก่นิพพานนั้นจริง
    เข้าผลสมาบัติหลายรอบจนรู้แล้วว่าที่สุดก็ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ไม่มีรางวัลใหญ่เกินกว่าสิ่งที่ปรากฏเปิดเผยอยู่แล้ว ที่ผ่านมาแค่เขลาไปและมองไม่เห็นเอง แม้บังเกิดปีติยิ่งใหญ่ในธรรมาภิสมัย ฉันก็ไม่รู้สึกแตกต่างมากนักระหว่างก่อนได้กับหลังได้มรรคผล เห็นว่านี่เป็นสิ่งที่ฉันสมควรจะได้เพราะทำเหตุไว้พอดีกับผลอยู่แล้ว
    มองย้อนกลับไป ฉันก็เห็นว่าผู้ภาวนาควรพอใจตั้งแต่สามารถเห็นได้ว่าขันธ์ ๕ เกิดแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา เพราะเริ่มสิ้นความอยากมีภัยเวรแล้ว ปลอดภัยจากนรกแล้ว ผู้มีองค์ทั้ง ๘ ของมรรคพร้อมแล้วย่อมไปสู่สุคติเป็นธรรมดา ไม่ว่าใจจะอยากไปหรือไม่อยากไปก็ตาม
    ฉันเป็นผู้หนึ่งที่ไม่รู้อนาคตของตนเอง จึงไม่เคยนับถอยหลังว่าวันที่เท่าไหร่ เดือนอะไรจะสำเร็จมรรคผล แต่เมื่อประกอบเหตุไว้พอดีกับผล ผลย่อมเกิดเองโดยไม่ต้องเรียกร้องปรารถนา ดังเช่นในนาวาสูตรพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า รอยนิ้วมือหรือรอยนิ้วหัวแม่มือย่อมปรากฏที่ด้ามมีดของนายช่างไม้ แต่นายช่างไม้นั้นหารู้ไม่ว่าวันนี้ด้ามมีดของเขาสึกไปประมาณเท่าใด เมื่อวานสึกไปประมาณเท่าใด วันก่อนๆ สึกไปประมาณเท่าใด นายช่างไม้มีความรู้แต่ว่าด้ามมีดสึกไปแล้ว ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อภิกษุเจริญภาวนาอยู่ ก็หารู้ไม่ว่าวันนี้อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นไปแล้วประมาณเท่าใด เมื่อวานสิ้นไปแล้วประมาณเท่าใด หรือวันก่อนๆ สิ้นไปแล้วประมาณเท่าใดก็จริง แต่ถึงอย่างนั้นเมื่ออาสวะสิ้นไปแล้ว เธอก็มีความรู้แต่ว่าสิ้นไปแล้ว
    พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าใครมีบารมีอย่างกลาง เจริญสติปัฏฐาน ๗ เดือนจะบรรลุอรหัตตผล แต่ฉันเจริญสติปัฏฐาน ๗ เดือนเพิ่งบรรลุโสดาปัตติผล แสดงว่าบารมีต้องอย่างอ่อนเป็นแน่แท้ การดูบารมีอ่อนบารมีแก่จึงไม่ใช่วัดกันจากที่สั่งสมมาแล้วในอดีตชาติ แต่ต้องดูความเพียรอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันด้วย เพศฆราวาสเป็นทางแคบ เป็นที่มาของฝุ่นละออง ไม่ได้มีหน้าที่ทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งเหมือนเพศบรรพชิต แต่สิ่งสำคัญคือฆราวาสก็เจริญสติปัฏฐานได้ถ้าสมัครใจ และสามารถบรรลุธรรมที่ถูกต้องได้ในเวลาไม่นานเกินรอ ขอเพียงมีเหตุปัจจัยที่สมน้ำสมเนื้อกันกับมรรคผลเท่านั้น อย่าต้องพูดถึงพระภิกษุสงฆ์ซึ่งมีเวลาเต็มที่เพื่อการนี้ จะยิ่งมิบรรลุธรรมเร็วขึ้นเพราะปราศจากอุปสรรคข้อติดขัดดังเช่นที่ฆราวาสต้องประสบหรอกหรือ?
    นี่เป็นแค่วันจันทร์ธรรมดาอีกวันหนึ่ง ตื่นขึ้นไม่ได้นึกว่าจะมีอะไรเป็นพิเศษ และเมื่อ ‘มีอะไรเป็นพิเศษ’ แล้วก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตต่างไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ฉันยังอาบน้ำแต่งตัวไปทำงานตามปกติ คิดเหมือนปกติ พูดคุยกับผู้คนเหมือนปกติ กลับบ้านนั่งสมาธิเดินจงกรมเหมือนปกติ รู้สึกสุขทุกข์เหมือนปกติ ที่รู้สึกเป็นปกติเพราะมีปกติเห็นกายใจโดยความเป็นของเกิดดับอย่างนี้มานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาพบอนิจจังของกายใจหลังเห็นนิพพานแต่อย่างใด
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วันที่ ๘-๑๒: สมถะและวิปัสสนา
    ทุกเช้าฉันยังตื่นตีสี่ตามเคยด้วยความเคยชิน แปลกไปบ้างคือมักลุกขึ้นมาเดินดูดาวเล่น หรือนั่งอ่านพระไตรปิฎก ไม่ได้นั่งสมาธิเดินจงกรมโดยเฉพาะ ด้วยความรู้สึกว่าแม้อาการเดินเล่นในบัดนี้ก็กลายเป็นเวลาของการภาวนาได้
    วันหนึ่งฉันเกิดความคิดขึ้นมา ว่าถ้าพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ ฉันคงจะไปกราบเพื่อขอใช้เศียรเกล้าแทนแผ่นรองบาทสักครั้งในชีวิต และจะได้ทูลถามเป็นการส่วนตัวว่าเมื่อถึงโสดาปัตติผลแล้ว สำหรับฉันควรทำเช่นใดต่อไปเป็นพิเศษ เพื่อถึงยอดแห่งความสวัสดีโดยไม่เนิ่นช้า
    กลับเข้าห้องนอนเปิดคอมพิวเตอร์ เกิดความอยากรู้ขึ้นมาว่าฆราวาสในสมัยพุทธกาลมีที่บรรลุธรรมกันมากน้อยเพียงใด โดยจำได้เลาๆว่าเคยอ่านผ่านตา เห็นมีอุบาสกอุบาสิกาที่ยังบริโภคกามแต่สามารถปฏิบัติภาวนาได้ถึงระดับอนาคามีมากมาย ฉันอยากอ่านสูตรนั้นอีก จึงค้นหาด้วยคำสำคัญคือ ‘อุบาสก’ และ ‘บริโภคกาม’ ก็พบกับมหาวัจฉโคตตสูตร ซึ่งเป็นสูตรเกี่ยวกับนักบวชนอกพุทธศาสนาคนหนึ่งที่มีโอกาสเข้าเฝ้าและกราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรม ซึ่งหลังจากที่พระศาสดาแสดงธรรมที่เป็นอกุศลและธรรมที่เป็นกุศลตามลำดับ ท่านวัจฉะก็เกิดความสงสัยและทูลถามว่าภิกษุกับภิกษุณีผู้เป็นสาวกแห่งพระองค์มีมากหรือไม่ที่สำเร็จคุณวิเศษต่างๆ พระองค์ตรัสตอบว่ามีมากไม่น้อยเลย
    ท่านวัจฉะก็สงสัยและทูลถามต่อว่านอกจากภิกษุและภิกษุณีแล้ว แม้อุบาสกกับอุบาสิกาผู้ไม่ถือบวช มีมากไหมที่บรรลุธรรมในระดับที่ไม่ต้องกลับมาเกิดในโลกนี้อีก พระพุทธองค์ก็ตรัสตอบว่ามีอยู่มากอีกเช่นเคย แล้วบัดนั้นท่านวัจฉะก็ทูลถามถึงผู้สำเร็จในระดับโสดาบัน ใจความคือ
    “ก็อุบาสกหรืออุบาสิกาแม้คนหนึ่งผู้เป็นสาวกของพระโคดมฝ่ายคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาว บริโภคกาม ทำตามโอวาทคำสอนของพระองค์แล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากความเคลือบแคลงแล้ว ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้าแล้ว ไม่เชื่อศาสดาอื่นแล้ว มีอยู่หรือไม่พระเจ้าข้า?”
    สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
    ดูกรวัจฉะ พวกอุบาสกและอุบาสิกาผู้เป็นสาวกของเรา ฝ่ายคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาว บริโภคกาม ทำตามโอวาทคำสอนของเรา ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากความเคลือบแคลงแล้ว ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้าแล้ว ไม่เชื่อศาสดาอื่นแล้ว มีอยู่ไม่ใช่เพียงร้อยเดียว ไม่ใช่สองร้อย ไม่ใช่สามร้อย ไม่ใช่สี่ร้อย ไม่ใช่ห้าร้อย ที่แท้มีอยู่มากทีเดียว!
    ฉันอ่านถึงตรงนี้แล้วยกมือไหว้อนุโมทนาท่วมศีรษะ ซาบซึ้งในพระมหากรุณาแห่งองค์ศาสดาเป็นล้นพ้น คนรุ่นเรารู้จักฆราวาสดังๆผู้บรรลุธรรมไม่กี่คน เช่นอุบาสกอย่างเช่นพระเจ้าสุทโธทนะ สมเด็จพระพุทธบิดาผู้บรรลุโสดาปัตติผล หรืออุบาสิกาอย่างเช่นนางวิสาขา มหาอุบาสิกา ซึ่งก็บรรลุโสดาปัตติผลเช่นกัน ความจริงในบันทึกและนอกบันทึกพระไตรปิฎกยังมีฆราวาสบรรลุธรรมอีกมาก อย่างเช่นสันตติมหาอำมาตย์ ก็บรรลุถึงพระอรหัตตผลโดยยังไม่ได้บวชทีเดียว
    ท่านวัจฉะฟังแล้วเกิดความเลื่อมใส มีกำลังใจแก่กล้า เพราะตระหนักว่าธรรมะของพระพุทธองค์ทำสำเร็จกันได้ทุกคน แม้แต่ฆราวาสบริโภคกามยังมีที่บรรลุธรรมกันมาก อย่ากระนั้นเลย ท่านเองสมควรบวช เนื่องจากคิดว่าท่านเองก็ต้องทำได้เช่นกัน และสมควรทำได้อย่างบริบูรณ์ด้วยเนื่องจากเป็นพระ
    สำหรับท่านวัจฉะนั้น เดิมทีเป็นนักบวชนอกพระศาสนา ซึ่งตามพระธรรมวินัยต้องอยู่ปริวาสก่อนอุปสมบท คือประพฤติข้อวัตรต่างๆเป็นพิเศษให้ภิกษุดูใจจนกว่าจะยอมรับ ซึ่งท่านวัจฉะก็ทูลพระพุทธองค์ว่าคนอื่นเขาอยู่ปริวาสกัน ๔ เดือน ข้าพระองค์ขออยู่ให้ครบ ๔ ปีทีเดียว ซึ่งเมื่อครบตามปณิธานของท่านวัจฉะ ท่านก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุรูปหนึ่งในพุทธศาสนาสมใจ เมื่อบวชเพียงครึ่งเดือนก็ได้พระโสดาปัตติผล สิริรวมเวลาได้ ๔ ปีกับ ๒ สัปดาห์ท่านก็ล้างคราบความเป็นอัญญเดียรถีย์ สำเร็จมรรคผลเป็นอริยบุคคลองค์หนึ่ง จากนั้นท่านก็เข้าไปกราบทูลขอคำแนะนำขั้นต่อไปจากพระพุทธองค์ ซึ่งพระองค์ท่านก็ตรัสตอบว่า
    ดูกรวัจฉะ ถ้าเช่นนั้นเธอจงเจริญธรรมทั้งสองคือสมถะและวิปัสสนาให้ยิ่งขึ้นไปเถิด ดูกรวัจฉะ ธรรมทั้งสองคือสมถะและวิปัสสนานี้ เธอเจริญให้ยิ่งขึ้นไปแล้ว จักเป็นไปเพื่อแทงตลอดในธาตุหลายประการ
    สรุปคือจะเป็นผู้เริ่มต้นภาวนาหรือผู้ภาวนากระทั่งถึงมรรคผลแล้ว ก็ยังต้องเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาให้ยิ่งๆขึ้นไป ใช่จะละเลยส่วนใดส่วนหนึ่งด้วยความประมาทว่าไม่สำคัญ ไม่จำเป็น ตกลงฉันได้คำตอบสองข้อจากพระสูตรเดียว คือทั้งได้รู้ว่าอุบาสกอุบาสิกาที่บรรลุธรรมมีอยู่มาก และได้ทราบว่าเมื่อถึงโสดาปัตติผลแล้วควรเจริญสมถะและวิปัสสนาให้ยิ่งๆขึ้นไปอีก
    ฉันกะพริบตาสองสามที ตั้งแต่เจริญสติปัฏฐานสร้างวาสนาให้ตนเองจนได้ร่วมขบวนเห็นนิพพานกับเหล่าสาวกนับไม่ถ้วน ฉันไม่เคยนึกเลยว่าตรงไหนคือสมถะ ตรงไหนคือวิปัสสนา มีแต่ทำตาม ‘คำสั่งของบรมครู’ ในมหาสติปัฏฐานสูตรโดยลำดับ แล้วก็ได้ผลมาตามลำดับ
    เคยทราบมาเหมือนกันว่ายุคเรามีการถกเถียงกันมาก ว่าตรงไหนคือสมถะ ตรงไหนคือวิปัสสนา ซึ่งดูที่เถียงๆกันแล้วฉันรู้สึกท้อแท้มากกว่าจะได้ความเข้าใจที่ชัดเจน เลยไม่ให้ความสนใจนัก
    แต่พอเห็นว่าพระพุทธองค์ก็ทรงแยกแยะสมถะและวิปัสสนาออกจากกัน กับทั้งแนะให้ทำควบคู่กันยิ่งๆขึ้นไปแม้สำเร็จโสดาปัตติผลแล้ว ฉันจึงตาตื่นและสนใจความต่างระหว่างการปฏิบัติทั้งสองส่วนนั้นจริงๆจังๆ
    ในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น พระพุทธเจ้ามิได้ทรงระบุจำแนกแยกแยะ ว่าตรงไหนคือสมถะ ตรงไหนคือวิปัสสนา แต่พระองค์ก็ทรงแยกหน้าที่ของสมถะและวิปัสสนาไว้ในปฐมปัณณาสก์คือ
    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ อย่างเป็นไปในส่วนแห่งวิชชา ธรรม ๒ อย่างเป็นไฉน คือ สมถะหนึ่ง วิปัสสนาหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมถะที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมจิต จิตที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละราคะได้ วิปัสสนาที่อบรมแล้วย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมอบรมปัญญา ปัญญาที่อบรมแล้ว ย่อมเสวยประโยชน์อะไร ย่อมละอวิชชาได้
    ในจิตตุปปาทกัณฑ์ของพระอภิธรรมปิฎก นิยามของ ‘ลักษณะจิต’ อันเป็นสมถะและวิปัสสนามีอยู่ค่อนข้างชัดเจนคือ
    สมถะมีในสมัยนั้นเป็นไฉน? ความตั้งอยู่แห่งจิต ความดำรงอยู่แห่งจิต ความมั่นอยู่แห่งจิต ความไม่ส่ายไปแห่งจิต ความไม่ฟุ้งซ่านแห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ส่ายไป ความสงบ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ ในสมัยนั้นอันใด นี้ชื่อว่าสมถะมีในสมัยนั้น
    วิปัสสนามีในสมัยนั้นเป็นไฉน? ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาสตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่างคือปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิ ในสมัยนั้นอันใด นี้ชื่อว่าวิปัสสนามีในสมัยนั้น
    สรุปว่าอาการที่จิตสงบตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่าน มีกำลัง คือลักษณะของจิตที่เป็นสมถะ ส่วนอาการที่จิตมีปัญญารู้ชัด ไม่หลงผิด ทำลายกิเลสได้ คือลักษณะของจิตที่เป็นวิปัสสนา พอแยกอย่างนี้ก็มีประโยชน์เหมือนกัน จะได้ทราบว่าระหว่างสมถะและวิปัสสนานั้น ส่วนใดยังอ่อน ส่วนใดที่เข้มแข็งแล้ว
    และหากพิจารณาอย่างลึกซึ้งเข้ามาถึงจิตอย่างถ่องแท้ จะเห็นว่า แม้ศีล ๕ ก็เป็นส่วนหนึ่งของสมถะ เพราะพระพุทธเจ้าตรัสเสมอว่าความบริสุทธิ์ของศีลทำให้มีความสงบ จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิง่าย เนื่องจากไม่มีความเดือดเนื้อร้อนใจนั่นเอง หากเข้าใจว่างานทางสมถะเริ่มขึ้นที่การเพ่งดูลมหายใจหรือบริกรรมอะไรไปเรื่อยโดยปราศจากการรองรับของศีล ผลมักไม่เป็นความสำเร็จทางสมถะ อย่าว่าแต่หวังก้าวขึ้นสู่วิปัสสนา
    สำหรับส่วนประสบการณ์ที่ผ่านมาของฉัน พอถึงจุดนี้พอจะตัดสินเป็นส่วนตัวได้ว่าอะไรเป็นสมถะ อะไรเป็นวิปัสสนา เริ่มต้นขึ้นมานั้น เพื่อให้มีความรู้ชัดทางสมถะหมายถึงการกำหนดรู้เท่าที่จะสามารถรู้ และรู้ให้ต่อเนื่องในอารมณ์เดียวด้วยความจงใจ ถ้าฟุ้งซ่านบ้างก็ช่าง ไม่ใช่ไปคุมแจจนเครียด สำคัญคือไม่ลืมหวนกลับมาพยายามระลึกรู้อารมณ์เดิมหลังจากที่พลัดหลงไปบ้างก็แล้วกัน ส่วนวิปัสสนาเริ่มขึ้นเมื่อจิตสงบจากสภาพฟุ้งแล้ว เริ่มพิจารณาสภาวะที่กำลังปรากฏเด่นเฉพาะหน้าได้แล้วว่ามีลักษณะอย่างไร และลักษณะนั้นคงที่หรือแปรปรวนเป็นธรรมดา
    ทบทวนย้อนไปในอดีตเมื่อแรกที่เริ่มสนใจภาวนา พยายามระลึกรู้ให้เป็นวิปัสสนาในระหว่างวันอย่างที่ครูบาอาจารย์หลายๆท่านมักแนะนำ ฉันจะมีสติแบบเข้าข้างตัวเอง คือนึกว่ามีสติตลอดเวลา ปฏิบัติตลอดเวลา เห็นอะไรก็รู้ กระทบอะไรก็รู้ โดยไม่มีสภาพเปรียบเทียบว่าเมื่อไหร่จิตตกจิตขึ้น มีสติคมหรือสติทื่อ ช่วงเวลานั้นจุดบอดก็คือการขาดสมถะนั่นเอง หากปราศจากการทำสมาธิตามรูปแบบเสียบ้าง ก็ยากที่จะมีจิตสงบๆเป็นการตั้งหลักเทียบวัดคุณภาพ
    พอมาเจริญสติปัฏฐานจริงจัง ปักหลักตั้งใจรู้ลมหายใจเข้าออกทั้งวันทั้งคืนโดยไม่สนใจว่ากำลังหลับตาหรือลืมตา ความหมายของสมถะก็กระจ่างชัดขึ้น การทำจิตให้มีเครื่องผูก มีเวลาโดยมากนิ่งรู้ ไม่เร่ร่อนแส่ส่ายตามอำเภอใจนั้นแหละ สมถะที่พร้อมให้ต่อยอดขึ้นเป็นวิปัสสนา และลมหายใจก็คือเครื่องมือช่วยเจริญสติใกล้ตัวที่สุด ทำได้ทุกอิริยาบถ ไม่จำกัดเวลา พระพุทธเจ้าจึงสรรเสริญการอบรมสติรู้ลมหายใจบ่อยครั้งที่สุดในบรรดาข้อปฏิบัติอบรมสติทั้งหมดทุกชนิด ถ้าไม่มีหลัก ไม่มีราวเกาะอย่างลมหายใจให้เริ่มต้นก้าวแรก จิตจะออกอ่าวไปเรื่อยๆเพราะไม่รู้จะดูอะไรดี วันๆมีแต่อารมณ์เปะปะมั่วซั่วไปหมด
    ลมหายใจเดียวกันอาจเป็นสมถะหรือวิปัสสนาก็ได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะรู้ ถ้าแค่รู้ว่าออกหรือเข้าก็เป็นสมถะ แต่ถ้าเห็นว่าออก เห็นว่าเข้า เห็นว่ายาว เห็นว่าสั้น มีความไม่สม่ำเสมอ สติตั้งมั่นรู้อยู่เห็นอยู่ในลมหายใจทั้งปวงว่าแปรปรวนเป็นธรรมดา นั่นคือวิปัสสนาแล้ว จิตที่แยกเป็นผู้รู้ผู้ดูนั่นแหละ อาการติดตามไม่ลดละกระทั่งเกิดความหมายรู้ว่าไม่เที่ยงนั่นแหละ จุดเริ่มของความสามารถปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นเสียได้ ไม่ต้องไปให้ความสำคัญว่าลมเข้าเรียกว่าเกิด ลมออกเรียกว่าดับ หรือลมเข้ากับลมออกรวมกันเรียกว่าเกิด ลมหยุดเรียกว่าดับ ตรงไหนที่จิตยอมรับได้ว่ามีความต่างสภาวะกัน ตรงนั้นแหละคือจุดที่จิตเริ่มเห็นความดับของสภาพใดสภาพหนึ่ง และแปรเป็นความเกิดของอีกสภาพหนึ่งแล้ว
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วันที่ ๑๓: รางวัลที่ ๑
    วันอาทิตย์นี้ฉันทำตามความตั้งใจ คือขึ้นเครื่องบินไปภาคเหนือด้วยเจตนาจะไปกราบพระภิกษุผู้สอนคำเดียวถึงกับทำให้ฉันนับถือท่านเป็นครูบาอาจารย์ทันที ไม่มีอะไรมากกว่าการรับคำสั่งสอนเพิ่มเติม เพื่อความไม่มีมานะ เพื่อความไม่หลงในการยกระดับจิตวิญญาณพ้นผ่านสภาวะปุถุชน
    ระหว่างนั่งอยู่บนเครื่อง ฉันอ่านหนังสือพิมพ์ยอดขายดีตีตลาดระดับชาวบ้านทั่วไปฉบับหนึ่ง เห็นข่าวคนถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ ซึ่งลงข่าวใหญ่หน้าหนึ่งอยู่เป็นพักๆ อาจเพื่อเพิ่มความหวังให้กับนักเสี่ยงโชคทั่วประเทศที่มักมีความสดชื่นกับฝันลมๆแล้งๆทุกครึ่งเดือน ส่วนใหญ่คนที่ถูกจะปิดบังกันมิดเม้นเพื่อป้องกันการถูกตีหัวโดยไม่รู้ตัว มีเพียงบางส่วนเล็ดลอดเป็นข่าวออกมาได้ จะด้วยความจมูกไวของคนหนังสือพิมพ์หรือเหตุผลกลใดก็ตามที
    อะไรบางอย่างทำให้ฉันอ่านข่าวนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากสำนักงานกองสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้ประกาศรางวัลที่ ๑ ของงวดประจำวันที่ ๑ กรกฎาคม ปรากฏว่าชาวจังหวัดพิษณุโลกฮือฮากันใหญ่ เนื่องจากทราบว่าหมวดหมายเลขรางวัลประจำงวดถูกส่งให้ยี่ปั๊วมาขายในพื้นที่ของจังหวัดจำนวนมาก แต่ไม่มีใครทราบว่าผู้โชคดีสุดขีดที่ซื้อไปเป็นใครบ้าง กระทั่งเพิ่งเป็นที่เปิดเผยว่าช่างประปาในเขตจังหวัดนั่นเอง เป็นหนึ่งในผู้ซื้อไปถึง ๒ คู่ ร่ำรวยเป็นเงินแปดหลักทันที
    พออ่านข่าวแล้วใจหนึ่งก็รู้สึกยินดีกับช่างประปา เพราะทราบว่าการเป็นช่างประปานั้นเหนื่อยยาก เมื่อเป็นแล้วหลายคนมักทำไปทั้งชีวิต แม้ภายหลังมีเงินพอจะมีร้านของตนเอง ส่งลูกหลานเรียนหนังสือได้ แต่ก็ไม่มีใครเต็มใจอยากมาช่วย หากได้เงินสดมาแล้วใช้เป็น ก็ย่อมหลุดจากวงโคจรชีวิตอันยากลำบากทันที
    จิตของฉันมีความคมนิ่งในลักษณะหนึ่ง ที่บันดาลให้ปิดตาลงแล้วถามจิตเหมือนยิงกระสุนคำถามเข้าไปที่กลางจอขาวอันราบเรียบ ว่าพวกถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ ทำบุญอะไรมา และน่าสงสัยว่าถ้าเคยทำบุญขนาดได้ลาภลอยยิ่งใหญ่เห็นปานนี้ เหตุใดจึงมาเกิดในพื้นเพครอบครัวค่อนข้างอัตคัดกันได้
    ในความสว่างว่างอันปราศจากความคาดหมายใดๆ คล้ายแผ่นน้ำสงบถูกก้อนหินกระทบแล้วปรากฏความกระเพื่อมขึ้น เพียงแต่ในที่นี้ไม่ใช่การกระเพื่อมขึ้นเป็นวงลูกคลื่น ทว่ากระเพื่อมขึ้นเป็นนิมิตคล้ายเงาเลือนรางที่ทาบผิวน้ำ ฉันเห็นเค้าของชาวบ้านป่านั่งพนมมือกับพื้น และเค้าเงาของพระธุดงค์ยืนให้พรอยู่ แต่เหมือนมีตัวบอกออกมาจากทั้งนิมิตนั้น เป็นความเข้าใจถึงใจที่ยากจะอธิบายเป็นภาษา ฉันรู้แต่ว่าช่างประปาเคยเป็นคนบ้านป่าที่เดินมาพบพระธุดงค์โดยบังเอิญ และเกิดความเลื่อมใสในความสงบสำรวมสง่างามยิ่ง จึงถวายข้าวปลาที่เอาติดตัวมาใส่บาตรท่านจนสิ้น ไม่เหลือไว้สำหรับตัวเองเลย ไม่กลัวเลยว่าจะหิวโหยอย่างไร
    ความจริงข้าวปลานั้นมีปริมาณเพียงน้อย แต่ใจที่ไม่กลัวหิว ไม่กลัวอด กับทั้งเลื่อมใสในจริยาอันสงบสำรวมและราศีผ่องใสของพระธุดงค์ยิ่ง จึงบังเกิดปีติล้นพ้นอยู่เป็นนานนับวันชนิดร่างกายแทบไม่หิวโหยเลย เรียกว่าเป็นใจที่ยิ่งใหญ่เกินธรรมดา อีกทั้งเผอิญพระธุดงค์นั้นเป็นผู้มีจิตอันบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน จึงเกิดเป็นกรรมขาวติดตัวมาให้ผลหลายชาติแล้ว โดยยังไม่มีท่าทีว่าจะหมดลงง่ายๆเสียด้วย เวลากรรมจะให้ผลมักเป็นไปในทางลาภลอย บางครั้งได้มาเฉยๆ บางครั้งจากการเสี่ยงดวง กรรมขาวของเขามักชนะกรรมขาวประเภทเดียวกันของคนอื่นๆในช่วงเวลาที่ต้องแข่งวาสนากัน โดยช่วงเวลาเหมาะสุดในชาติหนึ่งๆของเขาจะเป็นต้นชีวิต เนื่องจากมีจิตหนักแน่นคิดทำทานทันทีที่เห็นพระธุดงค์โดยบังเอิญ
    อย่างไรก็ตาม อดีตคนบ้านป่านั้นโดยปกติมีจิตตระหนี่ ไม่ได้มีใจคิดให้ทานเป็นนิตย์ จะทำบุญต่อเมื่อมีความเลื่อมใสใหญ่ๆและมักจะเป็นไปในทำนองบังเอิญพบ เขาติดนิสัยทำบุญโดยไม่ตั้งใจไว้ก่อน จึงบังเอิญเจอบุคคลหรือเหตุให้ทำโดยบังเอิญบ่อยๆ แต่กรรมที่ตระหนี่เป็นประจำ เป็นอาจิณณกรรมนั้น ให้ผลหนักแน่นกว่า คือส่งให้ไปเกิดในตระกูลที่ไม่ร่ำรวย ต่อเมื่อเติบโตขึ้นแล้วจึงได้ลาภลอยก้อนโตอยู่เสมอๆ
    ฉันลืมตาขึ้น สิ่งที่ปรากฏในนิมิตจะเป็นเพียงมายาทางจิตประการใดก็ตามที อย่างน้อยก็ทำให้ฉันปลงโลก คำว่า ‘บังเอิญ’ ไม่มี มีแต่คำว่าเพราะทำเหตุอย่างนี้ จึงเกิดผลอย่างนั้น เพราะทำเหตุอย่างนั้น จึงเกิดผลอย่างนี้ ทำในสิ่งที่เป็นบุญคือกรรมขาว ทำในสิ่งที่เป็นบาปคือกรรมดำ ทำในสิ่งที่จะลอยทั้งบุญและบาปให้หมดคือกรรมไม่ดำไม่ขาว ได้แก่การเจริญสติปัฏฐาน ๔ อันมีพระพุทธเจ้าตรัสบอกทางไว้โดยชอบ
    ฉันน้อมจิตนึกถึงอดีตคนบ้านป่าซึ่งเป็นช่างประปาในชาติปัจจุบัน สัมผัสถึงกระแสความฟุ้งซ่านแน่นทึบ เมื่อเห็นซึ้งเข้าไปในจิตใจอันวุ่นวายของปุถุชนผู้เสวยบุญใหญ่ด้วยความไม่รู้ แทนที่จะเกิดใจริษยาอยากได้อยากดีอยากมีอยากเป็นแบบเขาบ้าง ก็กลายเป็นสลดสังเวชเสียแทน ฉันไม่พยายามดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขาต่อไป แต่แค่เห็นสภาพจิตอันเป็นปัจจุบันก็แทบอยากครวญครางออกมาแล้วว่าทุกข์หนอ วุ่นวายจริงหนอ
    เทียบจิตเขากับฉัน แล้วก็ตระหนักว่าตัวเองเพิ่งได้ของดีที่สุดในโลก คือจิตอันรู้จักความสงบเย็นเช่นนิพพาน แค่นึกถึงก็ปีติซ่านเย็นไปทั่วทุกตารางนิ้วในร่าง เมื่อน้อมสู่ความว่างก็หมดความอาลัยไยดีในโลกเสียได้ เหลือแต่ความสงบ ตื่นรู้ สว่างโพลง เท่าทันสัจจะความจริงทั้งฝ่ายทุกข์และฝ่ายดับทุกข์ว่าเป็นอนัตตา
    ถามคนในโลกว่าถ้ามีคนเสกให้ จะเลือกอะไรระหว่างล็อตเตอรี่รางวัลที่ ๑ กับความสงบ ร้อยทั้งร้อยต้องบอกว่าจะเลือกรางวัลที่ ๑ เพราะชั่วชีวิตของคนในโลกรู้จักแต่ความสุขที่ได้จากสิ่งกระทบภายนอก ไม่เคยลิ้มรสความสงบอย่างแท้จริงจากจิตใจเอาเลย ดังนั้นเมื่อพูดถึงความสงบ จึงไพล่ไปนึกถึงความแห้งแล้งของสถานที่ไกลชุมชน หรืออย่างมากก็ความสบายใจหลังยกภูเขาลูกใดลูกหนึ่งออกจากอกเสียได้ แท้ที่จริงแล้วความสงบทางจิต ความระงับอาการทะยานอยากของใจสำเร็จนั้น ให้รสอันลึกล้ำเกินจินตนาการ น่าเศร้าที่ให้ลองลิ้มกันง่ายๆไม่ได้ ต้องแลกด้วยแรงกาย แรงใจ รวมทั้งห้วงเวลาช่วงหนึ่งในชีวิต ที่ไม่ค่อยจะมีมนุษย์หน้าไหนอยากยอมสละให้ เพียงเพื่อทดลองลิ้มรสอันยังไม่เคยรู้นั้น
    สำหรับฉัน ถึงตายตอนนี้ก็ไม่เสียใจแล้ว แต่คนได้รางวัลที่ ๑ คงยังทำธุระไม่เสร็จ ยังต้องเสียดายชีวิตไปอีกนาน ที่ต่างประเทศเคยมีข่าวน่าสลดของชายคนหนึ่งซึ่งเพิ่งถูกรางวัลใหญ่ทำนองนี้ แต่เกิดโศกนาฏกรรม ต้องมาด่วนตายจากโลกไปเสียก่อนจะได้ใช้เงิน แค่คิดฉันก็ไม่รู้สึกเสน่หาในลาภลอยของใครแล้ว
    เมื่อเดินทางมาถึงเชียงราย ก็ได้กราบพระภิกษุซึ่งฉันนับถือเป็นครูบาอาจารย์ ท่านมารักษาวัดใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งครูบาอาจารย์ของท่านฝากดูแลชั่วคราว อย่างน้อยก็มาฝึกพระรุ่นใหม่ให้สามารถรับช่วงสืบทอดต่อไปได้
    ท่านต้อนรับฉันด้วยรอยยิ้มสงบเย็น ฉันกราบท่านด้วยใจเคารพลึกซึ้ง หลังจากมีปฏิสันถารตามธรรมเนียมอยู่ชั่วครู่ ท่านก็ทักขึ้นมาลอยๆว่าลาภใหญ่นั้นต่อให้เป็นลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ สิบครั้งก็แค่นั้นเอง ของมันต้องหมดไป เอาติดตัวไปไม่ได้ เอาไปซื้อสุคติภูมิไม่ได้ เอาไปประกันตัวออกมาจากนรกไม่ได้ แต่พระโสดาปัตติผลนั้นเมื่อได้เพียงครั้งเดียวจะไม่มีวันเสื่อม ปิดประตูอบายเด็ดขาด มีแต่จะเลื่อนชั้นขึ้นสูงในหนทางของสุคติภูมิ รู้แจ้งแทงธรรมยิ่งๆขึ้นไปจนถึงที่สุด
    ฉันน้อมหลังก้มกราบท่านหลายครั้งหลายครา ยิ้มปลาบปลื้มขนลุกเกรียวไปทั้งร่าง บันดาลธรรมปีติราวกับเพิ่งบรรลุธรรมใหม่ เกิดความคิดขึ้นมาว่า ทันทีที่มนุษย์ผู้มีปัญญา มีอวัยวะครบ ได้เกิดศรัทธาจะอุทิศตัวเจริญสติปัฏฐานเต็มกำลัง ในบัดนั้นเขากำลังสร้างโชคให้ตัวเองเหนือกว่าผู้ประสบลาภลอยระดับรางวัลที่ ๑ ทุกชนิดแล้ว
    ภพชาติเป็นสิ่งน่ากลัว หมู่ชนผู้ไม่ตระหนักในภัยใหญ่หลวงย่อมหลงใหลแสวงสุขกันอย่างหน้ามืดตามัว วันหนึ่งเมื่อมัจจุราชจะยื่นหัตถ์มาคร่าชีวิตไป พวกเขาย่อมคร่ำครวญด้วยความไม่รู้ และดิ้นรนขอต่อชีวิตด้วยความมาดหมายจะกลับมาเสพสุขอีก กรรมขาวก็ไม่ขยันทำ กรรมไม่ดำไม่ขาวยิ่งไม่ต้องพูดถึง
    พระอาจารย์ของฉันเทศน์เตือนด้วยน้ำเสียงสงบเจือเมตตา ว่าโสดาบันอาจเป็นนาบุญใหญ่หรือเป็นแหล่งกำเนิดบาปหนักของคนอื่นได้เท่าๆกัน เพราะมีความสูงส่งทางจิตวิญญาณ แต่ก็ยังมีราคะ โทสะ โมหะครบ โดยเฉพาะถ้าเป็นฆราวาสก็เหมือนคนเหยียบเรือสองแคม ก้ำกึ่งกันมากระหว่างปุถุชนกับพระ ฉะนั้นทางที่ดีควรระมัดระวัง อย่าไปก่อความเจ็บใจให้ใครเขา อย่าเผลอเอาราคะ โทสะ โมหะไปออกหน้าปัญญา จะมีคนเดือดร้อนสาหัสเมื่อเขาคิด พูด หรือทำตอบมาด้วยอกุศลจิตหนักๆ และเราเองถ้าเผลอก่อบาปก็จะให้ผลรวดเร็วรุนแรงเมื่อเทียบกับปุถุชนทำในระดับเดียวกัน
    ก่อนกราบลาในวันนั้น พระอาจารย์ได้กล่าวเตือนทิ้งท้ายด้วยการเปรยว่าผู้บรรลุธรรมขณะเป็นฆราวาสนั้นจะเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือมักทอดธุระ ไม่ขวนขวายเต็มที่เหมือนสมัยยังเป็นปุถุชนผู้มุ่งมั่นเอามรรคเอาผล เพราะหน้าที่และวิถีชีวิตฆราวาสไม่ใช่เพื่อทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งเหมือนอย่างพระภิกษุสงฆ์ ก็นับเป็นเรื่องน่าเสียดาย หลายต่อหลายคนเป็นโสดาบันประเภทสัตตักขัตตุปรมะ คือต้องเกิดตายอีก ๗ ครั้งกว่าจะจบสิ้นภพชาติ ก็เพราะบรรลุโสดาปัตติผลขณะเป็นฆราวาส เพลิดเพลินไปกับการเหยียบเรือสองแคมอยู่นี่เอง ต่างจากการบรรลุธรรมขณะเป็นพระ เส้นทางจะดึงดูดให้เจริญภาวนายิ่งๆขึ้นจนถึงที่สุดก่อนตาย แม้พักภาวนาบ้างก็เพื่อสงเคราะห์ญาติโยมมากกว่าจะเพื่อเพลิดเพลินไปในโลก
    ฉันก้มหน้าเงียบ แต่ใจอดนึกเถียงไม่ได้ เมื่อเช้าก็ยังตื่นตีสี่ตามปกติอยู่เลย ท่านมาเตือนเรื่องประมาททำไม แต่พอกราบลาพระอาจารย์ ขณะเดินออกจากวัดนั่นเอง ก็ฉุกคิดขึ้นได้ว่าหลังบรรลุธรรมแล้ว ฉันตื่นตีสี่ขึ้นมาเดินเล่นหรืออ่านพระไตรปิฎกเสริมความรู้ ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับพระโสดาบันด้วยความติดใจมากกว่าจะนั่งสมาธิเดินจงกรม อีกทั้งเมื่อสติอยู่ตัว เจริญทั้งสมาธิและปัญญาได้บ่อยๆในระหว่างวัน ก็ทำให้ ‘กิริยา’ อันเป็นนิมิตแห่งความเพียรลดลงมาก จะไปเพียรรู้เอาด้วยสติระหว่างวันเป็นหลัก นั่นเองเป็นเครื่องหมายบอกว่าความกระตือรือร้นขวนขวายเริ่มลดลงแล้ว
    ฉันถอนใจยาว สำรวจความรู้สึกและถามตัวเองว่ายังอยากรู้ภาวะหลุดพ้นแห่งใจชนิดไม่กลับกำเริบเหมือนวันที่ได้พบคุณพ่อน้องอ๊อดผู้เป็นครูธรรมะคนแรกในชาติปัจจุบันอยู่อีกหรือไม่ คำตอบคือไม่อยากเท่าเดิม แต่ก็ยังไม่มีเหตุปัจจัยแวดล้อมใดๆมาฟ้องเลยว่าเลิกอยากแล้ว ไม่เอาแล้ว
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระไตรปิฎกแสดงปาฏิหาริย์อีกครั้ง คืนนั้นฉันอ่านเจอพุทธพจน์ในอัญญสูตร ซึ่งพระมหากัสสปะนำมากล่าวเทศน์ภิกษุถึงธรรม ๑๐ ประการอันเป็นไปเพื่อความเสื่อม ซึ่งถ้าไม่ละธรรม ๑๐ ประการนี้แล้ว ก็เป็นอันหมดสิทธิ์เจริญต่อ ธรรม ๑๐ ประการเหล่านั้นได้แก่
    ๑) หลงสำคัญผิดเข้าใจว่าตนเป็นอรหันต์ เพียงเพราะเป็นผู้สดับฟังมากจนขึ้นใจ รู้รอบตอบได้หมด
    ๒) เป็นผู้มีความโลภอยากได้นั่นอยากได้นี่มาก
    ๓) เป็นผู้มีความพยาบาทกลุ้มรุม
    ๔) เป็นผู้มีความหดหู่ง่วงงุน
    ๕) เป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่านอย่างมาก
    ๖) เป็นผู้มีความสงสัยเคลือบแคลงไม่รู้จบ
    ๗) เป็นผู้ชอบการงาน ยินดีในการงาน ประกอบเนืองๆซึ่งความเป็นผู้ชอบการงาน (หมายถึงการงานอันจะดึงจิตให้ส่งออกนอกขอบเขตสติปัฏฐาน)
    ๘) เป็นผู้ชอบในการคุย ยินดีในการคุย ประกอบเนืองๆซึ่งความเป็นผู้ชอบพูดคุย
    ๙) เป็นผู้ชอบนอนหลับ ยินดีในการนอนหลับ ประกอบเนืองๆซึ่งความเป็นผู้ชอบนอนหลับ
    ๑๐) เป็นผู้มีสติหลงลืม ทอดธุระในคุณวิเศษเบื้องบนเพราะได้บรรลุคุณวิเศษเบื้องต่ำ
    ข้อสุดท้ายทำให้ฉันตะลึง ตระหนักในบัดนั้นว่า ‘ความจริง’ เกี่ยวกับมนุษย์ย่อมเหมือนกันมาทุกยุคทุกสมัยไม่มีเว้น เป็นโสดาบันอาจปลอดภัยจากนรก แต่ยังไม่ปลอดภัยจากความประมาททอดธุระได้ ซึ่งหมายความว่าอาจต้องอยู่โยงยาวในสังสารวัฏต่อไปอีกหลายชาติ แทนที่มีโอกาสแล้วจะเข้านิพพานเสีย โลกของฆราวาสเต็มไปด้วยเหยื่อล่อ ฉันคงต้องหมั่นถามตัวเองให้บ่อยขึ้นว่าต้องการ ‘สอบไล่ให้ผ่าน’ หรือจะยอมซ้ำชั้นเดิมรวมกับคลื่นลูกหลังอีกและอีก?
    ๗ เดือนที่ผ่านมาทำให้ฉันตระหนักอย่างหนึ่งว่าชีวิตของผู้เจริญภาวนาไม่เป็นไปตามตัวหนังสือสั้นๆในพระคัมภีร์ เช่น ‘เมื่อได้แนวปฏิบัติแล้วก็เจริญรุดหน้าในการภาวนาตามลำดับ ไม่ช้านานก็บรรลุอรหัตตผล’ ชีวิตมนุษย์จริงๆที่มีเลือดเนื้อ มีตัวตนนั้นเต็มไปด้วยรายละเอียด ทั้งเหยื่อล่อ ทั้งข้อขัดข้อง ทั้งความขึ้นลงต่างๆบรรดามีมากมาย หากจิตทำตัวเป็นลูกบอลที่วิ่งฉีกผิดองศานิดเดียวก็อาจพลาดเป้าไม่เข้าประตูไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่ประตูเปิดกว้างสว่างโร่ออกขนาดนั้น
    ภาวะโสดาบันที่แท้คือการไม่เห็นว่ามีตัวตน ไม่มีกระทั่งความเป็นโสดาบันในใคร แต่ตราบใดคนเรายังมีมานะ มีตัณหาอุปาทาน ตราบนั้นย่อมเผลอสติ หลงสำคัญตนเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อความประมาทยืนพื้นอยู่บนความจริงอันน่าชื่นชม เช่นเป็นผู้ไม่ตกต่ำแล้ว เป็นผู้ไม่มีเวรภัยแล้ว เป็นผู้มีแต่ขึ้นกับขึ้นแล้ว ก็รังแต่จะทำให้ลดละความเพียรลงตามลำดับได้วันละนิดวันละหน่อย พอรู้สึกตัวอีกทีก็ปล่อยเลยตามเลย กลายเป็นทำบ้างไม่ทำบ้างไปเสียแล้ว นั่นเองสาเหตุของความไม่สิ้นทุกข์ในชาติปัจจุบัน
    ฉันเริ่มคิดตั้งเป้าใหม่ ว่าจะทำอะไรด้วยชีวิตที่เหลือ พระพุทธองค์ตรัสตอบท่านวัจฉะเมื่อครั้งเป็นปริพาชกว่าสาวกผู้เป็นอุบาสกของท่านมากมายสำเร็จธรรมถึงระดับอนาคามี เพราะฉะนั้นฉันก็คิดเงียบๆว่าความเป็นอริยบุคคลระดับนั้นแหละ ที่ฉันจะทำให้ถึงก่อนบวช!
    จากเสขสูตร ฉันรู้ว่าการเป็นอริยบุคคลสองชั้นแรกคือพระโสดาบันกับพระสกทาคามีนั้น เพียงมีสมาธิพอประมาณก็ใช้ได้ แต่หากต้องการเป็นพระอนาคามี ก็ต้องทำสมาธิให้บริบูรณ์ถึงจะมีน้ำหนักสมภูมิ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้คงต้องเริ่มเน้นงานสมถะให้มาก เช่นทำความยินดีพอใจในฌาน กับทั้งทำอสุภกรรมฐานจนจิตไม่ข้องแวะกับกามอีกต่อไป
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    วันที่ ๑๔-๓๑: นิมิตประจำตัว
    ภูมิจิตของโสดาบันนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่ามีความสงบง่ายกว่าปุถุชนทั่วไป เหตุเพราะจิตไม่เอาเวรภัยและอกุศลธรรมหยาบอันเป็นเครื่องขวางสมาธิ ดังนั้นเมื่อโสดาบันมุ่งมั่นทำสมาธิ สมาธิจึงเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว
    การมีสมาธิจิตช่วยให้เห็นอะไรตามจริง ไม่บิดเบี้ยวไปตามอคติง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อสมาธินั้นประกอบอยู่ด้วยสัมมาทิฏฐิเป็นหัวขบวนนำ การรู้เห็นสภาวะนอกในทั้งหลายย่อมผิดแผกแตกต่างจากครั้งเมื่อยังถูกโมหะหนาๆบดบังอยู่มาก
    ฉันพบว่าคนธรรมดาจะไม่รู้ว่าชีวิตตนประกอบกรรมดีเลวอย่างใดไว้บ้าง เพราะความคิดนึกพูดทำทั้งหลายจะมาตามความเคยชิน ไม่ใช่มาด้วยอาการตั้งเข็มไว้ว่าจะตีกรอบพฤติกรรมด้วยศีล ๕ และเมื่อทำอะไรไปแล้วก็ไม่มีการสำรวจว่าสภาพจิตใสสว่างขึ้นหรือมืดมัวลง จึงกล่าวได้ว่าเพราะความไม่รู้ คนจึงทำบุญบาปตามแรงทะยานของตัณหาที่เกิดขึ้นเป็นครั้งๆไป
    คำแนะเช่น ‘จงทำดี’ นั้นฟังติดหูและเหมือนเข้าใจกันด้วยสามัญสำนึกทั่วไป แต่ความจริงมีรายละเอียดและข้อน่าสงสัยเป็นประเด็นจุดชนวนให้เกิดข้อถกเถียงซ้ำซากได้ไม่รู้จบรู้สิ้น แต่สำหรับผู้สำรวจจิตเป็น เห็นว่า ‘ความตั้งใจอันเป็นกุศล’ กับ ‘ผลลัพธ์อันเป็นกุศลจิต’ มีลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร ก็จะคลายความขัดข้องในทุกประเด็นลงได้
    บางครั้งเมื่ออยู่ในสมาธิตั้งมั่นสว่างระดับที่พอจะน้อมไปรู้อะไรๆตามปรารถนา ฉันลองกำหนดดูชีวิตของตัวเอง ชีวิตคนควรเริ่มดูจากอะไร? เอาสิ่งที่ฝักใฝ่และกระทำเป็นประจำนั่นแหละเหมาะสุด ด้วยสติที่คมชัด ฉันเห็นความใฝ่ใจในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาเป็นไปในทางเอาตัวเองให้รอดจากทุกข์ เป็นสาวกถาวรตลอดนิรันดร์กาลของพระพุทธเจ้าผู้พิสูจน์พระองค์เองแล้วว่า ‘รู้จริงทุกเรื่อง’ ดังนั้นการเป็นสาวกผู้เลื่อมใสในพระองค์ย่อมได้รับอานิสงส์เป็นการรู้ทางเดินที่ถูกที่ชอบเสมอ นี่คือคุณของการยอมตนเป็นผู้เชื่อถือและรับปฏิบัติตามกัลยาณมิตรที่ประเสริฐ
    ฉันเห็นกายในอิริยาบถนั่ง กายนี้บอกกรรมในอดีตโดยมาก ส่วนจิตนี้บอกกรรมในปัจจุบันอันเป็นรากแห่งอนาคตโดยรวม ขณะจิตเดียวนั่นเองแสดงเกือบทุกสิ่งในตัวเอง เมื่อกำลังสว่างใสเบาอยู่ ย่อมเป็นนิมิตเครื่องบ่งบอกว่ากำลังอยู่ในสุคติ และจะดำเนินไปสู่สุคติหากต้องขาดใจไปเดี๋ยวนั้น เนื่องจากกรรมอันก่อให้เกิดความสว่างใสเบาย่อมต้องเป็นกุศล และสภาพของจิตก็เป็นกุศลตามกรรม
    เมื่อกำหนดดูอยู่ในจิตอันเป็นปัจจุบันซึ่งเป็นผลจากกรรมที่คลี่คลายมาเป็นลำดับ จดจ่อเฉพาะ ‘ภาวะแห่งความเป็นสาวกพระพุทธเจ้า’ ทำตามพระองค์สอน เชื่อตามพระองค์ตรัส จิตที่รวมเป็นหนึ่งก็ฉายนิมิตของภาวะรุ่งเรืองขึ้นมา ทีแรกสัมผัสว่าเป็นสภาพสุกสกาวทางจิต แต่จิตที่ยังยึดมั่นและเกี่ยวข้องกับภพย่อมก่อรูปบางอย่างขึ้น และรูปที่ฉันเห็นในนิมิตก็คือชายผู้มีชีวิตอันเบาสบาย สะอาดกายใจ อุดมด้วยเครื่องแวดล้อมอันน่ารื่นรมย์
    ณ จุดนั้นทำให้เข้าใจวิธีรู้เห็นเรื่องลี้ลับมากขึ้น ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย จิตอยู่ในมิติไหน ก่อกรรมอันใดโดยมาก ก็สร้างภพอันมีความเป็นเช่นนั้นไว้ การที่คนเราเกิดมามีสภาพหนึ่งๆ อยู่ในสิ่งแวดล้อมหนึ่ง มิใช่เรื่องบังเอิญหรือผู้มีอำนาจท่านใดส่งมา แต่มาด้วยการจัดสรรของกรรม มาด้วยความมีจิตยึดมั่นในภพของความเป็นเช่นนั้น
    ฉันเริ่มมีความชำนาญมากขึ้น คือกระทำจิตให้ตั้งมั่นเป็นกลาง แล้วน้อมนึกถึงอะไรเหมือนยิงกระสุนคำถามเข้ากระทบแผ่นน้ำเรียบ จิตจะกระเพื่อมเป็นนิมิตให้รู้เห็นสิ่งต่างๆ และเงานิมิตที่เกิดกับจิตอันตั้งมั่นเป็นกลางก็มักสะท้อนภาพความจริงที่ปรารถนาจะรู้โดยปราศจากอคติ
    ปกติเมื่อคนธรรมดารู้จักใครสักระยะหนึ่ง ก็จะเกิดมโนภาพเกี่ยวกับคนๆนั้นขึ้นมาในใจ เมื่อนึกถึงใครจะรู้สึก ‘เป็นบวก’ หรือ ‘เป็นลบ’ ทันที นั่นก็เป็น ‘นิมิตเบื้องต้น’ ชนิดหนึ่งที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้วโดยไม่ต้องฝึก หากสำรวจให้ละเอียดจะพบว่าทุกคนมีนิมิตประจำตัวกันทั้งสิ้น วิธีพูดกับคนรอบตัว การกระทำต่อคนที่เข้ามาหาให้เขาเดินกลับออกไปด้วยน้ำตาหรือเสียงหัวเราะนั่นแหละคือรูปนิมิตกรรมอันเป็นเงาตามเจ้าของกรรมไปทุกหนทุกแห่ง
    คนธรรมดาต้องรู้เห็นความเป็นไปของผู้อื่นนานๆ จึงทราบว่านิมิตประจำตัวของเขาผู้นั้นเป็นอย่างไร และถ้าเขาผู้นั้นกระทำกรรมในที่ลับ ไม่เป็นที่ปรากฏต่อสายตาชาวโลก นิมิตหลายต่อหลายส่วนก็อาจแหว่งวิ่นไป แต่สำหรับผู้เจริญสติปัฏฐานแล้ว ไม่จำเป็นต้องรู้จักกันเสียก่อน ไม่จำเป็นต้องรอใครก่อกรรมให้เห็นในที่แจ้งเปิดเผยต่อสายตา เพียงน้อมจิต ‘นึกถึง’ ใครคนหนึ่งด้วยจิตที่ผ่องแผ้ว เป็นกลาง เต็มดวง ก็จะปรากฏนิมิตของคนๆนั้นขึ้นเอง บางทีอาจเป็นนิมิตนิ่ง บางทีก็เป็นนิมิตเคลื่อนไหว บางทีก็ได้ยินเสียงหรือกลิ่นหอมเหม็น สุดแท้แต่จังหวะที่ได้รับรู้ จิตจะคัดเลือกเอากรรมเด่น หรือที่แต่ละคนทำเป็นประจำขึ้นมาเอง
    ในภูมิจิตที่ยังเจือด้วยราคะ โทสะ โมหะ อาจถูกบดบังด้วยคลื่นแทรกได้ หรือกระทั่งมีอคติได้เพราะรักหรือชังได้ เพราะฉะนั้นฉันจะเลือกเชื่อเฉพาะขณะที่รู้แก่ใจว่าจิตสะอาดบริสุทธิ์จากคลื่นแทรกทั้งหลาย ฉันเห็นตามจริงว่ายิ่งจิตเป็นสมาธิมากก็จะมีความเที่ยงตรงมาก รวมทั้งคัดกรรมเด่นมาแสดงแบบไม่มีฝ้าหมอกอคติเคลือบคลุมด้วย
    ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าอานิสงส์ของการเจริญสติปัฏฐานคือฤทธิ์ทางใจประการต่างๆนั้น เป็นจริงแท้ ฉันไม่เคยฝึกฝนอภิญญาสาขาไหนเลย แต่การรู้อยู่ที่กายใจบ่อยๆนั่นแหละ เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าใจธรรมธาตุทั้งปวง เพราะจักรวาลทั้งจักรวาลนี้เป็นเพียงภาชนะรองรับภพภูมิ ภพภูมิเกิดจากอุปาทานถือมั่นของจิต ความหยาบและประณีตของภพภูมิจำแนกออกด้วยมโนกรรม วจีกรรม และกายกรรมของสังสารสัตว์ นี่เป็นเหตุผลว่าเหตุใดจึงมีกระแสบังคับต่างๆ เช่นภูมิประเทศร้อนหนาว การให้ผลดีร้ายของกระแสจากดวงดาว ความสั้นยาวของวัฏจักรแห่งความเสื่อมและความเจริญทางธรรมชาติ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นหรือถูกจัดตำแหน่งด้วยความบังเอิญ กระแสกรรมโดยมวลรวมล้วนเป็นตัวกำหนด และมีวิธีจัดฉาก ตั้งตำแหน่งให้เกิดความเป็นไปนานาสลับซับซ้อนเหนือจินตนาการ จิตที่ฝึกอบรมให้รู้จักธรรมชาติของตัวเองดีแล้ว เป็นกระจกเรียบใสที่ฝ้าละอองเกาะติดยากแล้ว ไม่บิดเบี้ยวจนสะท้อนภาพผิดเพี้ยนแล้ว ย่อมน้อมไปรู้สิ่งต่างๆที่ไม่เกินขอบเขตศักยภาพแห่งจิตตนได้ง่าย สมดังที่พระพุทธองค์ตรัสในมหาวัจฉโคตตสูตรว่าเมื่ออริยเจ้าเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาให้ยิ่งๆขึ้นไปแล้ว จะเป็นไปเพื่อแทงตลอดในธาตุหลายประการ
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    สำคัญคือถ้ายังไม่ทันฝึกสติปัฏฐาน ๔ แต่จะเล่นสนุกฝึกอภิญญาตามรูปแบบวิธีนอกสติปัฏฐาน ๔ เสียก่อน ผลได้มักไม่คุ้มเสีย ที่เห็นชัดๆคือจิตจะถูกดูดให้ติดกับความสนุกนอกตัวจนกลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นถอนยาก พอจิตเป็นสมาธิแล้วจะโลดโผนโจนทะยานออกข้างนอกเสมอ ไม่มีแก่ใจดึงกลับเข้ามาข้างใน และยิ่งถ้ารู้มากเห็นมาก ก็จะยิ่งเกิดอัตตามานะ จำแนกแยกแยะภพภูมิอันพิสดารด้วยความระทึก และอยากเข้าไปมีส่วนในสภาพอันยิ่งใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นการเพิ่มแรงผูกยึดในภพโดยแท้ ไม่เป็นไปเพื่อความสลัดคืนตัณหาเลย ต่างจากที่เริ่มฝึกสติปัฏฐาน ๔ จนคุ้นทางดำเนินจิตเข้ามาในขอบเขตกายใจก่อน ทำจิตให้ถึงความปลอดภัยก่อน อย่างนี้เมื่อจะเล่นสนุกอะไรก็ไม่ต้องพะวงเลยว่าจะพลัดหลงออกนอกลู่นอกทางสุคติ
    สายตาของฉันที่มองคนในโลกเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อเล็งแลไปยังใคร ฉันจะเห็นเป็นสองชั้น ชั้นแรกคือชั้นของกายอันเป็นเครื่องแสดงอดีตกรรม ว่ามีน้ำหนักในทางดีหรือทางร้าย ยิ่งสมส่วนมาก มีความผุดผ่องมาก ก็ยิ่งแสดงถึงความมีศีลสัตย์มาก แสดงถึงความมีฐานกรรมด้านดีมากกว่าด้านร้าย จึงได้อัตภาพที่เชิดหน้าชูตาน่าชื่นใจ คนมองแล้วรู้สึกนิยมหรือพิศวาสง่าย และถ้ารวยแต่กำเนิด เกิดมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็แสดงถึงผู้มีทานอันเลิศ ซึ่งมักทำบุญสุนทานขึ้น ยิ่งทำยิ่งได้และเห็นผลเร็ว เพราะเป็นบุญต่อบุญ ยิ่งฐานกรรมเกี่ยวกับทานถ่างกว้างขึ้นมากเพียงใดก็จะยิ่งมีความสุขความอุ่นใจมากขึ้นเพียงนั้น ต่างจากคนที่ฐานกรรมเกี่ยวกับทานแคบอยู่ ต้องทำนานและใช้กำลังใจมาก จึงค่อยเริ่มเห็นผลต่างอย่างชัดเจน
    ชั้นต่อมาคือชั้นของใจอันเป็นเครื่องแสดงปัจจุบันกรรม รัศมีจิตจะบอกเลยว่าออกไปทางมืดหรือสว่าง ฉันเห็นชัดยิ่งกว่าชัดว่าคนเราทำกรรมฝ่ายใดมากๆ ก็จะมีพลังฝ่ายนั้นก่อตัวชัดขึ้นๆ และปฏิรูปตัวเป็นแรงดึงดูดให้จิตโน้มน้อมเข้าหากรรมนั้นๆ สังเกตว่าอยากทำอะไรเพิ่มขึ้นอีกมากๆ นั่นแหละฟ้องว่าความคิดของเราตกอยู่ใต้อิทธิพลของพลังฝ่ายมืดหรือฝ่ายสว่าง
    คนเราก่อกรรมหลายๆอย่างจนจำกันไม่หวาดไม่ไหวว่าหนึ่งชาติทำอะไรไว้บ้าง ส่วนใหญ่ไม่ก่อกรรมแบบจะได้ไปรับรางวัลในภายภาคหน้า แต่จะก่อกรรมแบบที่เป็นหนี้ต้องชดใช้ภายหลัง และระบบกรรมก็ไม่มีการแจ้งยอดชำระพร้อมแสดงรายการ ต่างจากหนี้บัตรเครดิต ถึงรูดเยอะแค่ไหนก็มีรายการแจ้งกันลืม ลองคิดดูว่าตอนรูดบัตรเครดิตเพลินแล้วต้องมาร้องจ๊ากในภายหลังเมื่อเห็นยอดนั้นเป็นกันอย่างไร ก็จะเป็นยิ่งกว่านั้นตอนจิตสุดท้ายย้อนภาพมาฉายให้ทบทวนว่าหนึ่งชาติทำอะไรไปบ้าง
    เมื่อทำกรรมหนักไปทางด้านใดอย่างต่อเนื่องแล้วจิตเต็มดวงเป็นฝ่ายดำหรือฝ่ายขาว ก็ก่อเหตุการณ์หรือดึงดูดบุคคลแบบนั้นเข้ามาสู่ชีวิต การเริ่มต้นคิด พูด หรือทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับบุคคลชั้นเลิศเช่นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นมหาบุรุษ ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง ผู้ชี้ทางสว่าง ผู้เป็นต้นทางออกจากวังวนทุกข์ ผู้ไม่มีใครในสามโลกเสมอเหมือนนั้น จะก่อให้เกิดแรงดึงดูดเข้าหากรรมขาวหรือกรรมดำได้เข้มข้นกว่ากรรมชนิดอื่น การคิด พูด ทำกับพระพุทธเจ้าจะเบี่ยงเบนจากเส้นทางเดิมได้เร็วที่สุด เหมือนพระองค์ท่านเป็นกระจกขยายพลังกรรม ส่งแสงขาวเข้าไปกระทบก็สะท้อนแสงขาวกลับออกมา ส่งกระแสมืดเข้าไปกระทบก็สะท้อนกระแสมืดกลับออกมา ด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้นอย่างน่าตกใจ จิตที่เต็มดวงในทางคิดดีและเลื่อมใสพระพุทธเจ้าจะทำให้มีแต่เรื่องดีเกิดขึ้นไม่สิ้นสุด แต่จิตที่เต็มดวงในทางคิดร้ายและหมิ่นพระคุณพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทำให้มีแต่เรื่องร้ายมากมายเกินคำนวณ เพราะบุคคลเมื่อเลื่อมใสผู้ใด ย่อมยอมรับและซึมซับแนวคิดในการดำเนินชีวิตของผู้นั้นมามากเสมอ
    พระพุทธเจ้าให้บวชเพื่อทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง แต่ปัจจุบันมีคนบางพวกจะบวชเพื่อทำชื่อเสียงเงินทองให้โจ๋งครึ่ม คนยุคเราถูกพระปลอมหลอกกันเสียจนสมองชา ไม่มีใจเหลือพอสำหรับพระจริงอีกต่อไป อย่าว่าแต่อริยบุคคลซึ่งขาดแคลนจนเหมือนเป็นเพียงตำนานเล่าขานนานนมที่ไม่มีอยู่จริง เช่นนี้แล้วยุคเราย่อมขาดผู้สืบทอด ผู้เป็นภาพแทน ผู้ชักจูงให้คนในโลกหันกลับมาเลื่อมใสพระพุทธองค์ ตรงข้าม อาจกระเดียดไปในทางคิดไม่ดีกับพระพุทธองค์ผู้สถาปนาศาสนาพุทธขึ้นง่ายๆ
    มีการสำรวจว่าปัจจุบันคนทำกิจกรรมใดกันมากในวันหยุด ชายหญิงโดยรวมเพียงไม่ถึง ๕ คนใน ๑๐๐ คนตอบว่าใช้เวลาไปในการทำบุญใส่บาตร เข้าวัดฟังธรรม นอกนั้นจะใช้เวลาในชีวิตให้หมดไปกับการท่องเที่ยวและพักผ่อนอยู่กับบ้าน กรรมของคนส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อความเพลิดเพลิน รับใช้ราคะกันทั้งชีวิต ไม่ใช่เพื่อความพัฒนาสู่ความเจริญแต่อย่างใดเลย คนส่วนใหญ่เกิดแล้วตายไปเฉยๆ แม้รู้ว่าโลกนี้ ประเทศนี้มีพุทธศาสนา แต่ก็หารู้ไม่ว่าทางพ้นทุกข์ปรากฏแล้ว ทางรอดถูกชี้แล้ว เนื่องจากไม่มีคนพูดถึง ไม่มีคนขยายความ ไม่มีคนนำมาทำให้เป็นเรื่องง่าย
    ทุกคนมีนิมิตประจำตัว คุณเองก็มีเหมือนกัน! สำรวจดูเถิดว่านิมิตนั้นเป็นไปเพื่อเวรภัยหรือเป็นไปเพื่อความปลอดภัยต่อตนเองและผู้อื่น ทางดำเนินอันถูกต้องไม่ได้ถูกฉายสว่างขึ้นโดยง่าย เมื่อเห็นแล้วก็ควรรีบรุดไปไม่รอช้า แข่งกับกาลเวลาที่จะเอาเงามืดมาปกคลุมหนทางไปอีกนานนับกัปนับกัลป์ กว่าจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้และชี้ทางเช่นนี้อีก

    สรุปสิ่งที่ได้จากเดือนที่ ๗
    ๑) บรรลุธรรม เป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว ไม่ว่าจะต้องเกิดอีก ๗ ชาติหรือสิ้นภพสิ้นชาติในปัจจุบันก็ไม่ต้องกลัวความตกต่ำอีกต่อไป
    ๒) เริ่มรู้เรื่องกรรมและเห็นโทษเห็นภัยตามจริงของการเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่ เชื่อสนิทที่พระพุทธองค์ตรัสว่าหากบุคคลหวังจะท่องเที่ยวไปในภพภูมิต่างๆของสังสารวัฏเรื่อยๆ ก็อย่าหวังเลยว่าจะพ้นนรกได้ เพราะจิตมีธรรมชาติไหลลงต่ำ ไม่มีใครเลยที่ขึ้นกับขึ้นอย่างเดียว วันหนึ่งต้องพลาดให้กับความไม่รู้ หลงก่อเหตุแห่งความเดือดร้อนให้กับตนเองจวบสิ้นกาลนานเข้าจนได
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    บทส่งท้าย
    บ่ายนั้นรบชนะมาติดต่องานที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อเสร็จจากธุระจึงเข้าวัดสุทัศน์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆกันนั้น

    เข้าวิหารใหญ่ก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อสายตาเห็นพระประธานโอฬาริกอันเป็นสัญลักษณ์แทนความชนะภัยแล้ว ถึงซึ่งศานติแล้ว เสวยวิมุตติสุขแล้ว ก็เกิดความเยือกเย็นลึกซึ้ง มหาวิหารกว้างใหญ่ดูสงบครึ้มดุจร่มโพธิ์ที่ให้ผู้เร่ร่อนกลางทางวิบากทั้งหลายอาศัยหลบเงาเสมอหน้ากัน
    รบชนะคุกเข่าเทพบุตร กราบเบญจางคประดิษฐ์ด้วยความนอบน้อมลงทั้งเศียรเกล้า ใจคิดว่ากำลังกราบพระศาสดา มิได้มองว่าตนเพียงกราบพระอิฐพระปูนองค์หนึ่ง กราบเสร็จก็นั่งพับเพียบทอดตาแลพระปฏิมานิ่ง ดุจเห็นองค์พระมีจิตวิญญาณ ประทานความเมตตาเล็งเนตรมายังอุบาสกสาวกอีกคนหนึ่งของพระองค์ด้วยพระทัยอาทร
    นานครู่หนึ่ง สัมผัสของเขาบอกตัวเองว่ามีกระแสจ้องมองมาจากเยื้องขวาด้านหลัง พอเหลียวหน้ามองไปก็สะดุ้งเล็กน้อยเมื่อพบว่าเป็นหญิงสาวผู้เคยมีอิทธิพลกับชีวิตเขายิ่ง อย่างน้อยก็ทำให้ไม่อยากเกิดมาด้วยความไม่รู้และต้องพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักอย่างชาตินี้อีก
    ใจนุชยกมือไหว้เขาตามปกติ รบชนะรับไหว้แล้วเป็นฝ่ายลุกไปหา หล่อนกำลังนั่งหลบมุมตามลำพัง สีหน้าเศร้าหมอง ผิวพรรณดูซีดเซียวไม่เปล่งปลั่งสดใสอย่างที่เคยคุ้นตา
    รบชนะมานั่งขัดสมาธิตรงหน้าและยิ้มให้เงียบๆพักหนึ่ง ใจนุชสบตาตอบเพียงครู่ก็ผินหน้าไปมององค์พระปฏิมา ติดงอนอยู่เล็กน้อย ต่างฝ่ายต่างสำเหนียกได้ว่ากำลังตกอยู่ภายใต้การดูแลของกรรม กรรมเป็นผู้จัดสรรว่าจะให้พบหรือพรากกันเมื่อใด วัฏจักรของการดูดเข้าหาและผลักออกปรากฏอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องราวระหว่างญาติมิตรและบุคคลที่เคยรักใคร่ชอบพอ
    กระแสในคนเราเหมือนขั้วแม่เหล็กมหัศจรรย์ อยู่ไกลแค่ไหนก็ดึงดูดให้โคจรมาเจอกันจนได้ถ้าถึงเวลา ถึงคราวมีเหตุปัจจัยที่เหมาะสมจะต้องเกื้อกูลหรือห้ำหั่นกัน ทุกคนตกอยู่ใต้กฎแรงดึงดูดของกระแสกรรมสัมพันธ์ เพียงแต่คนทั่วไปไม่มีจิตสัมผัสที่ละเอียดพอจะทราบได้ ต่อเมื่อฝึกสติจนมีกำลังพอสมควรแล้วจึงสามารถสำเหนียกรู้สึกและไม่เห็นเป็นเรื่องแปลกอีกต่อไป
    “สบายดีเหรอกวาง?”
    เขาทักเบาๆ แต่น้ำเสียงแจ่มใสมีกังวานอบอุ่นจนสามารถลดกิริยาแง่งอนเล็กๆของอีกฝ่ายได้อย่างรวดเร็ว ใจนุชเบนสายตากลับมาสบกับเขา
    “บังเอิญดีนะคะ มาเจอพี่นะที่นี่ได้”
    รบชนะคิดในใจว่าไม่มีเรื่องบังเอิญหรอก โดยเฉพาะถ้าเป็นเหตุการณ์อันจะส่งผลกระทบอย่างสำคัญกับชีวิตคน การพบเจอ การประสบเหตุ หรือการมาประชุมกันของเรื่องราวทั้งหลาย ล้วนแต่คลี่คลายมาตามเส้นทางกรรมทั้งสิ้น
    “พี่ดีใจที่เห็นกวางเข้าวัด”
    “กวางเป็นคนบาป เข้าวัดเผื่อจะล้างมลทินออกจากใจได้บ้าง”
    หล่อนตอบด้วยสุ้มเสียงแฝงความน้อยใจเต็มเปี่ยม ชายหนุ่มยิ้มให้กำลังใจ
    “ใครบอก กวางน่ะทำบุญมากกว่าบาปเยอะ ต้องเรียกว่าคนใจบุญ ไม่ใช่คนบาปที่ไหนหรอก”
    หญิงสาวอึ้งเงียบไปครู่ กะพริบตาทีหนึ่งก่อนเอ่ยพลางหันไปมองพระประธานทอง
    “ช่วงที่ผ่านมากวางคิดไม่ดีตลอดจนรู้สึกกลุ้มใจ เริ่มเชื่อแล้วล่ะค่ะว่าผลกรรมมีจริง และสงสัยว่าตัวเองคงไม่แคล้วนรก”
    รบชนะเลิกคิ้วฉงน
    “มีเรื่องอะไรหรือ?”
    “กวางคิดมาก ฟุ้งซ่าน จิตใจมืดไปหมด แล้วก็ถูกคนใส่ร้ายบ่อยจนเริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ พอหลับก็ฝันไม่ดี คิดถึงแต่คำพูดของตัวเองที่บอกว่าพระพุทธเจ้าสอนให้พี่นะเห็นแก่ตัว”
    สีหน้าชายหนุ่มเริ่มจริงจังขึ้นเพราะนึกได้ตามที่หล่อนกล่าว ในพยสนสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสโทษของการติเตียนอริยเจ้าไว้ คือความฉิบหาย ๑๐ ประการ แต่ ๔ ข้อสุดท้ายร้ายๆคือเป็นโรคอย่างหนักหนึ่ง ถึงความเป็นบ้ามีจิตฟุ้งซ่านหนึ่ง เป็นผู้ตายด้วยอาการหลงหนึ่ง และที่น่ากลัวกว่าอะไรคือเมื่อตายย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เรียกว่าทำกรรมเดียวให้ผลหลายประการครบสูตร
    และที่ใจนุชติเตียนอย่างไม่เป็นธรรมไว้นั้นก็ไม่ใช่แค่อริยะธรรมดา แต่เป็นถึงมหาอริยะ เป็นจอมอรหันต์ เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า! นี่ถ้าเป็นพวกบาปหนาก็จะไม่รู้สึกสะทกสะเทือนอะไรเลย โอกาสสำนึกจึงยาก และไม่เชื่อว่าที่กำลังประสบเคราะห์ทั้งภายนอกภายในจะมีเหตุจากการปรามาสพระพุทธเจ้า แต่ยังดีพื้นจิตพื้นใจของหล่อนนั้นเป็นกุศล ผู้มีพื้นจิตเป็นกุศลนั้น ขณะทำบาปหนักจะรู้สึกเคว้งงงโคลงเคลง หลังทำบาปแล้วจะไม่สบายใจ ครุ่นคิดกังวลปักติดค้างคาอยู่กับบาปนั้นๆไม่เลิก เสวยผลกรรมอันเป็นปัจจุบัน ซึ่งก็ดีอย่างหนึ่งคือเปิดโอกาสให้คิดแก้ตัวก่อนสาย
    อายุมนุษย์ปัจจุบันยาวพอจะกลับตัวกลับใจ มีเวลาพอจะเปลี่ยนเส้นทาง รบชนะเม้มปากเล็กน้อย คิดจะช่วยเหลืออดีตคนรักเต็มกำลัง เพราะว่าไปตนก็มีส่วนให้หล่อนเคราะห์ร้ายอยู่มาก
    “ทุกคนเห็นแก่ตัวกันอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าสอนให้เลิกเห็นแก่ตัวต่างหาก ถ้ากวางมองตามจริงอย่างนี้ได้ ก็เรียกว่าช่วยละลายกรรมให้เจือจางลงกว่าครึ่งแล้ว”
    ใจนุชก้มหน้าสลด
    “พอกวางสำนึกผิด กวางก็พยายามหาหนังสือธรรมะมาอ่านเหมือนกันแหละค่ะ อ่านตั้งแต่ประวัติความเป็นมาก่อนเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช แล้วได้กลับมาโปรดพระประยูรญาติรวมทั้งพระชายา ก็รู้สึกแล้วว่าพระองค์ท่านมีพระทัยเมตตามหาศาล”
    รบชนะพยักหน้า พูดแบบไม่ให้อีกฝ่ายเสียขวัญและมองเป็นเรื่องเล็กที่แก้ไขง่าย
    “ดีแล้ว แก้ด้วยความเข้าใจ ล้างด้วยความเห็นชอบ เห็นถูก เห็นตามจริง คือการเริ่มต้นใหม่ที่แข็งแรง มองกันตามจริงนะ โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยสิ่งลามก กระตุ้นให้คิดแต่เรื่องร้ายมากกว่าเรื่องดี ก็เป็นธรรมดาที่ใจเราจะหลงๆตกไปตามกระแสโลกบ้าง แต่ถ้าพื้นจิตเป็นกุศลอย่างกวางก็ไม่เป็นไรมากหรอก กลับลำทันถมเถ หมั่นคิดดีเหมือนเติมน้ำละลายเกลือก้อนเล็ก เดี๋ยวเดียวก็หมดความเค็มไปเอง พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้”
    “กวางพยายามคิดดี แต่ก็ไม่เลิกคิดชั่วร้ายเสียทีนี่คะ มันผุดขึ้นในหัวเป็นระยะๆ ทรมานเหลือเกิน”
    หญิงสาวเหลือบตาอันฉาบแววกังวลมาหา ชายหนุ่มยิ้มอบอุ่นตอบ
    “พี่ถามหน่อย ที่กวางคิดไม่ดีนั้น ตั้งใจคิดหรือเปล่า?”
    “เปล่าค่ะ มันผุดขึ้นมาเอง และยิ่งกังวลก็เหมือนยิ่งคิดบ่อยขึ้นทุกที”
    “งั้นถามอีกคำ ใจจริงกวางอยากกราบหรือคิดกับพระดีๆมากกว่าใช่ไหม?”
    “ค่ะ”
    “นี่แหละจิตของเรา ส่วนที่ควบคุมไม่ได้คือการแสดงตัวของอนัตตา มันไม่ใช่ตัวเรา ส่วนที่ควบคุมได้คืออุปาทานว่าเป็นเรา เราทำได้แค่กับส่วนที่เป็นเรา อย่างตอนนี้กวางลองทำตามที่พี่บอกนะ เอ้า! ยกมือไหว้พระ ไหว้สวยๆเลยนะ”
    ใจนุชปฏิบัติตาม ก้มหน้าพนมมือจดหน้าผากด้วยกิริยานอบน้อมยิ่ง
    “คราวนี้ตั้งจิตอธิษฐานว่านี่คือใจจริงของหนู เห็นเข้ามาให้ตรงตามจริงว่าใจของเราเป็นอย่างไร มีความสบายใช่ไหม?”
    หล่อนลดมือลง และหันมาตอบเขายิ้มๆ
    “ค่ะ”
    “นั่นแหละ ดีแล้ว ต่อไปนี้พอคิดไม่ดีขึ้นมาอีกก็ถือเป็นโอกาสเรียนรู้ความจริงว่าจิตไม่ใช่เรา ความคิดไม่ใช่เรา เราไม่ใช่เจ้าของที่จะไปบัญชามันได้ดังใจ แค่เรามี ‘ใจจริง’ เคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ดีพอแล้ว สบายใจได้แล้ว อนัตตาอยากส่งความคิดอะไรมารบกวนก็ช่างมัน ดูก็พอว่าลมหายใจนี้อยู่ในหัวเรา ลมหายใจต่อไปยังอยู่อีกหรือเปล่า ถ้าไม่อยู่ก็แปลว่ามันรั้งตัวเองไว้ทรมานใจเราไม่ได้นานเหมือนกัน มีความไม่เที่ยง มีอันต้องแตกดับไปเป็นธรรมดาเหมือนกัน”
    ใจนุชตรองตามแล้วเริ่มเห็นเค้าว่าตนจะสบายใจขึ้นได้อย่างไร
    “ค่ะ กวางจะทำตามนั้น” แล้วเธอก็มีสีหน้าสดชื่นขึ้น “กวางเจอหนังสือธรรมะเล่มหนึ่ง เขาบอกว่าถ้าไม่สบายใจอะไรให้ทำทานมากๆ ช่วยเหลือคนอื่นมากๆ แต่อย่าหวังผล แล้วจะมีความสุขมากขึ้นตามหลักเบื้องต้นของพุทธศาสนา กวางลองแล้ว แต่ไม่เป็นสุขขึ้นเลย พี่นะช่วยบอกหน่อยซิคะว่ากวางเข้าใจอะไรผิดพลาดไปหรือเปล่า?”
    เมื่อกำหนดวาระจิตคนได้ก็ง่ายต่อการยิงเข้าเป้า ตรงกับเงื่อนปมปัญหา รบชนะเห็นจิตใจที่แห้งแล้งขณะทำบุญของใจนุช เพราะเหตุที่เธอห้ามตัวเองไม่ให้คิดหวังจนเกินไป
    “ถ้าทำบุญด้วยความโลภ ก็เป็นสุดโต่งความผิดพลาดในการทำทานด้านหนึ่ง คือทำแบบนักลงทุน ไม่ได้ทำแบบผู้แสวงบุญ แต่ถ้าไปคิดผิดแบบใหม่คือทำบุญต้องไม่ได้อะไรเลย ห้ามหวังอะไรเลย อย่างนั้นก็เป็นสุดโต่งความผิดพลาดในการทำทานอีกด้านหนึ่ง คือมีแต่กรรมทางกาย กรรมทางใจหดหายเกือบหมด การให้ทานต้องให้ด้วยความเต็มใจ ปรารถนาจะให้อยู่ก่อน และขณะให้ทานต้องปลื้มใจในบุญ หลังให้ทานต้องคิดถึงความน่าชื่นใจในการสละความตระหนี่ ถ้าให้ดีก็คืออธิษฐานว่าขอบุญนี้จงเป็นตัวอย่าง เป็นพื้นฐานในการสละกิเลสยิ่งๆขึ้นไป”
    ใจนุชยิ้มด้วยสีหน้าบ่งบอกว่าเข้าใจกระจ่าง รบชนะพลอยปลาบปลื้มที่ช่วยให้หล่อนพ้นจากนรกทางใจเสียได้ในเวลาอันสั้น ถ้าวิธีคิดต่างไป ชีวิตทั้งชีวิตของเราก็จะต่างไป แนวคิดเกี่ยวกับจากชีวิตตั้งแต่เกิดมาของคนทุกผิดหมด นึกว่าทำเพื่อตัวเองแล้วจะยิ่งเป็นสุข แต่แท้ที่จริงเป็นที่มาของความตระหนี่ ความแล้งน้ำใจ อันเป็นฝ่ายทุกข์ทั้งสิ้น แต่เมื่อตั้งต้นคิดถูก นับแต่การรู้จักให้ รู้จักสละเป็น ความทุกข์ที่หวงไว้ กอดไว้กับอกก็จะเริ่มถอยห่างออกไปทีละน้อย
    หญิงสาวหยอดเงินใส่ตู้ทำบุญภายในวิหารจนครบทุกตู้ หย่อนธนบัตรแต่ละครั้งก็อธิษฐานตามคำแนะนำของรบชนะ จนกระทั่งถึงตู้สุดท้ายก็ใจว่างเบา เกิดปีติเป็นล้นพ้น เมื่อก้าวออกจากวิหารก็เอ่ยปากขอแนวทางปฏิบัติธรรมจากชายหนุ่มอีกครั้ง และครั้งนี้ด้วยความตั้งใจ ด้วยความเต็มใจของหล่อนเอง รบชนะจึงถือโอกาสมอบสมุดบันทึกหลายเล่มให้กับหล่อน บอกให้หล่อนอ่านอย่างละเอียดและลองทำตามนั้นดู เขาจะคอยเป็นพี่เลี้ยงให้
    เทียนต่อเทียนคือความสว่างไสวอบอุ่นยิ่งๆขึ้น กุศลต่อกุศลคือมหากุศลที่ยังให้โลกร่มเย็นเป็นสุข ใจนุชใช้เวลาเป็นสามเท่าของรบชนะ คือเกือบสองปี กำลังใจจึงแก่กล้าพอจะสละทิฏฐิว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน แต่นั่นก็คุ้มเหลือจะคุ้ม ต่อให้ต้องใช้เวลา ๗ ปีก็คุ้ม ในเมื่อเดินตามทางตรงแล้วสุดท้ายต้องได้ผลวันยังค่ำ

    http://dungtrin.com/7months

     
  13. radius

    radius เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    50
    ค่าพลัง:
    +194
    มีเป็นหนังสือมั้ยค่ะ 7 เดื่อนบรรลุธรรม อยากอ่านไว้นำไปปฏิบัติค่ะ เพิ่งเริ่มปฏิบัติได้ไม่นานยังมีอะไรไม่เข้าใจอีกเยอะเลยค่ะ แต่ว่าอ่านในคอมฯอย่างนี้ปวดตามาก อนุโมทนาด้วยนะค่ะ
     
  14. สมสร้างบุญ

    สมสร้างบุญ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กันยายน 2007
    โพสต์:
    327
    ค่าพลัง:
    +1,006
    อนุโมทนาครับ

    ขอขอบคุณมากครับดีมากเลยครับผมก็มือใหม่ครับ
     
  15. พระไตรภพ

    พระไตรภพ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    1,067
    ค่าพลัง:
    +7,521
    สาธุ ขออนุโมทนา เรื่องสภาวะต่างๆอันเกิดขึ้นมาตามที่โยม ได้โพสท์ไว้นี้ มีบางคนที่อาจผ่านสภาวะทั้งหมดนั้นได้เพียงชั่วข้ามคืนเดียว สาธุ ขออนุโมทนา
     
  16. 5th-Lotus

    5th-Lotus เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    354
    ค่าพลัง:
    +306
    อืม...เคยหลวมตัวไปอ่าน เจ็ดเดือน ทะลุธรรม เอ๊ย บรรลุธรรม เหมือนกันนะ
    ( พี่ที่ทำงานท่านเอามาประเคนให้อ่าน แหะ ๆ )


    อ่านแล้วก็ก็งั้น ๆ มั้ง
    ความรู้สึกเหมือน พ่อครัวในวงเหล้า
    ที่หยิบเอา ตำราทำอาหารของเชฟมือโปร มาอ่าน
    ก็ได้เทคนิคการปฏิบัติ บางอย่างมานิดหน่อยนะ
    แต่ศรัทธาจริตจ๋าไปหน่อย อ่านแล้วเลี่ยน

    นี่ยังนึกอยู่เลย ว่า หากครึ้ม ๆ จะเขียนกาทู้

    " อิฉันได้อะไรขึ้นมามั่ง หลังต้องมานั่งอ่าน เจ็ดเดือน ทะลุธรรม ? "

    เหมือนกันนะ แต่ตอนนี้ขี้เกียจ อิอิ

    อ่ะ เวบหนังสือดังตฤณ เขา

    อิฉันเอามาฝาก อิอิ

    dungtrin.com - ดังตฤณ
     
  17. kikinlala

    kikinlala เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    4,939
    ค่าพลัง:
    +8,842
    ดีค่ะ อ่านได้เพลินๆ ดีกว่าอ่านนิยาย อ่านไปไม่กี่พารากราฟก็ชวนติดตาม .. แต่ยังหาอ่านต่อไม่ได้ อาจจะได้อ่านจากที่นี่แหละ , มีไฟล์เสียงก็ยังฟังไม่จบ ชอบอ่านเองมากกว่าค่ะ
    อนุโมทนาบุญด้วย สาธุ
     
  18. kikinlala

    kikinlala เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    4,939
    ค่าพลัง:
    +8,842
    มีตามร้านหนังสือน่ะค่ะ หรือห้องสมุดบานาน่า ที่ใกล้ๆซอยสายลม ก็น่าจะมีนะคะ ลองหาดู
     
  19. Tawee gibb

    Tawee gibb เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2007
    โพสต์:
    1,175
    ค่าพลัง:
    +1,721
    ยังไงหรือครับ อยากรู้จังเลี่ยนยังไง(เค๊าก็เขียนสนุกดีนิครับ เลี่ยนตรงไหนบอกมั่งสิครับ) อยากรู้มั่ง เผื่อจะได้นำไปพิจารณามั่ง ยิ่งว่าศรัทธาจริตจ๋านี่ยิ่งอยากรู้ใหญ่เลย ยังไงแนะให้หน่อยนะครับ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 มิถุนายน 2010
  20. 5th-Lotus

    5th-Lotus เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    354
    ค่าพลัง:
    +306

    ไม่ต้องข้อฟามส่วนตัวหร็อกจ้า
    หน้าไมค์นี่แหล่ะ ไทยมุง เยอะดี อิอิ


    แท้งกิ้ว ที่ ตามไปช่วย ที่กาทู้ ใบแดง ของอิฉัน
    และ แท้งกิ้วที่ถาม กะลังอยากแกว่งปากหาเท้าอยู่พอดี อิอิ


    เลี่ยน ตรงไหน น่ะ หรือ ?
    เก๊าะเลี่ยนตรงที่ เจ้าจริตอิฉัน
    มันปรุงแต่งให้ เลี่ยนไง เจ้าคะ เหอ ๆ

    ศรัทธาจริตจ๋า มักจะทำให้ คนตาบอด เสมอแหล่ะ อิอิ

    ก็ จริต ของ คุณกับอิฉัน มันต่างกันนิ
    แล้วมันจะแปลกตรงไหนล่ะ
    ที่ ตัวคุณ กับตัวอิฉัน จะ ปรุง ต่างกัน




    อุปมา ดั่ง

    คุณ ชอบฟังเพลงของ สุนทราภรณ์
    แล้วซาบซึ้งบอกว่า โคตรโรแมนติก
    แต่ อิฉัน บอกว่า แหว่ะ มันเลี่ยนตายชัก
    อิฉันชอบฟัง Buddha Bless มากกว่า
    ใคร คิดผิด ใคร คิดถูก ล่ะ เจ้าค่ะ ?



    เฮ้อ มันก็แค่ปรุงแต่ง ก็แค่ฟามรู้สึก นึกแทนกันได้หรือไง
    หัวคุณ กับ หัวอิฉัน มันไม่ได้ติดกันซะหน่อยนิ อิอิ


    แต่โอเค้ วันนี้ อิฉัน อารมณ์ดี จะเม้าส์ให้ฟังก็ได้

    ตัวหนังสือของดังตฤณ ที่อิฉันอ่านแล้วเลี่ยน
    จนต้อง อ่านไป แหว่ะ ไป ก็คงเป็นตรงที่

    เขาบรรยายความใฝ่ฝันอันสูงสุด
    ว่า อยากได้พบพระพุทธเจ้า กระมัง

    แล้วยิ่งไอ้ประเภท คำพร่ำเพ้อ ละเมอหา อย่าง

    " เกิดเป็น มนุษย์ พบพุทธศาสนา มีค่า แค่ไหน ? "


    เนี่ยนะ อะโหยยยยย ทั้งขำทั้งเลี่ยน
    ฟังแล้ว น่าอิจฉา เหล่าพุทธมามกะจ๋าาา ซะจริ๊ง จริง
    ทำท่าเหมือน อยากจะกระเตง พุทธศาสนาไปเข้านิพพาน ยังไงยังงั้นนนน


    วันไหน หมั่นไส้มาก ๆ
    เวลาเจอคนพล่ามเรื่องนี้
    อิฉันก็เลย แกว่งปากหาเท้า ซะหน่อย
    พอเป็นกระสายไปงั้นเอง ไม่มีอะไรหร็อกจ้า อิอิ




    [​IMG]

    แต่อ่อนหัดทางการตลาดงี้ ก็สมควรแล้วล่ะ
    ที่ ศาสนาพุทธ จะ ต้อง ดับสูญ เมื่อครบ 5 พันปี

    เอ้า แถม ให้อ่าน อิอิ
    http://palungjit.org/threads/คุณคิดอย่างไง-กับการเผยแผ่พุทธศาสนา-ในยุค-กึ่งพุทธกาล.207781/
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 4 ตุลาคม 2009

แชร์หน้านี้

Loading...