ทำไมพระไทยต้องไปเรียนที่อินเดีย

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย MBNY, 3 มีนาคม 2008.

  1. MBNY

    MBNY Administrator ทีมงาน Administrator

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กรกฎาคม 2003
    โพสต์:
    6,860
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +22,504
    ทำไมพระไทยต้องไปเรียนที่อินเดีย


    โดย นายเว็บ - โพสต์เมื่อ มีนาคม 2nd, 2008
    Tagged: อินเดีย
     
  2. MBNY

    MBNY Administrator ทีมงาน Administrator

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กรกฎาคม 2003
    โพสต์:
    6,860
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +22,504
    [​IMG]


    7. ได้พัฒนาภาษาอังกฤษ
    ประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งของพระสงฆ์ไทย แม้กระทั่งคนไทยทั่วไป ที่ต้องการมาศึกษาในต่างประเทศก็เพราะต้องการจะพัฒนาภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น การศึกษาในประเทศไทยก็สามารถจะพัฒนาภาษาอังกฤษได้เช่นกัน แต่ว่าจะพัฒนาได้ช้า ได้ผลไม่เต็มที่ และไม่ได้ประสบการณ์จริง ทั้งนี้ เพราะไม่ได้นำมาภาษามาใช้ในระบบหรือชีวิตประจำวัน

    คนไทยเชื่อกันว่า การไปศึกษาในต่างประเทศ จะสามารถพัฒนาภาษาอังกฤษได้เร็ว ได้ผลอย่างเต็มที่ และได้สัมผัสกับเจ้าของภาษาจริงๆ โดยเฉพาะด้านการเขียน อ่าน และพูด อาจเป็นจริงได้ในบางประเทศ แต่ว่าในประเทศอินเดีย อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น สิ่งที่คนไทยยอมรับในการใช้ภาษาอังกฤษของคนอินเดีย คือระบบการเรียนการสอนเป็นระบบอังกฤษ ได้เขียน ได้อ่านตำราภาษาอังกฤษ และได้พบปะพูดคุยเป็นภาษาอังกฤษกับเพื่อนต่างชาติ (เฉพาะบางมหาวิทยาลัยเท่านั้น)

    แต่สิ่งที่คนไทยไม่ยอมรับคือสำเนียงการพูดภาษาอังกฤษของคนอินเดีย บางคนก็พูดได้ดีแบบสไตล์อังกฤษ แต่ส่วนมากจะพูดกันแบบสไตล์อังกฤษบ่นภาษาแขก (ฮินดี) ซึ่งทำให้คนไทยงงได้ อย่างไรก็ตาม ตามเมืองใหญ่ๆ ของอินเดีย จะสื่อสารกันเป็นภาษาอังกฤษ เพราะได้เรียนมาตั้งแต่เล็กๆ ในระบบการศึกษาของอินเดีย ตั้งอนุบาลจนถึงปริญญาใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน ซึ่งระบบนี้ ได้รับการถ่ายทอดมาจากประเทศอังกฤษ สมัยยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ การที่คนไทยได้มาสัมผัส ได้มาเรียนรู้ในระบบการศึกษาของอินเดีย คือการได้เรียนรู้ระบบการศึกษาของประเทศอังกฤษไปด้วย โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยตามเมืองใหญ่ ๆ อย่างเช่น เดลี ปูเน่ แบงกะลอ เป็นต้น

    การเรียนรู้ภาษาอังกฤษในประเทศอินเดียทุกวันนี้ มีมาตรฐานที่ค่อนข้างดีและเป็นที่ยอมรับสำหรับคนไทย เป็นจุดเริ่มต้นบันไดที่เปิดโอกาสให้คนบางคนได้เรียนรู้ในระบบอังกฤษ มีความสามารถ และได้ประสบการณ์ที่จะเรียนรู้และนำไปใช้ในอนาคต เพื่อเป็นฐานไปสู่การเรียนรู้ที่ดีกว่านี้ได้เป็นอย่างดี

    ประการหนึ่ง การมาศึกษาต่อที่ประเทศอินเดีย บางสาขาวิชาไม่ต้องมีผลรับรองการทดสอบภาษาอังกฤษ อย่างเช่น TOEFL และ IELTS ฯลฯ คนไทยบางคนที่ภาษาไม่ค่อยดีที่ไม่สามารถสอบผ่านภาษาอังกฤษเพื่อมารับรองผลการเรียนต่อได้หรือต้องการมาพัฒนาภาษาให้ดี จึงนิยมมาเรียนที่นี่

    พระสงฆ์ไทยที่มาเรียนที่นี้ ก็เพื่อจะเรียนรู้และพัฒนาภาษาอังกฤษเช่นกัน เพราะในภาวะปัจจุบันนี้ ภาษาอังกฤษได้มีบทบาทต่อการทำงานในทุกตำแหน่ง แม้ในด้านพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ก็มีกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติร่วมกับต่างประเทศ อย่างเช่น การประชุมพุทธศาสนาโลก การเสนอผลงานทางวิชาการ เป็นต้น และด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาก็เช่นกัน ถ้าพระสงฆ์สามารถสื่อสารและตอบโต้ภาษาอังกฤษได้ จะทำให้เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปและทำให้พระพุทธศาสนาเผยแผ่ไปได้ทั่วโลก

    สถาบันและสาขาที่เรียน
    ในอินเดีย มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่พระสงฆ์ไทยมาศึกษาต่อ มีตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก เพราะมหาวิทยาลัยในอินเดียได้ให้การรับรองปริญญาบัตรของสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยและรัฐบาลไทยบางมหาวิทยาลัย

    มหาวิทยาลัยในอินเดียที่พระสงฆ์ไทยนิยมไปศึกษาต่อในปัจจุบัน จะเป็นมหาวิทยาลัยซึ่งเคยมีพระสงฆ์ไทยเรียนมาก่อนแล้ว และเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเมืองที่มีบรรยากาศทางศาสนาและมีวิชาการที่เหมาะแก่การศึกษาต่อของพระสงฆ์ รวมทั้งเป็นมหาวิทยาลัยที่ ก.พ. ไทยให้การยอมรับวิทยฐานะทางกฎหมายด้วย ซึ่งได้แก่มหาวิทยาลัยเหล่านี้
    1. มหาวิทยาลัยฮินดู พาราณสี เมืองพาราณสี รัฐอุตตรประเทศ
    2. มหาวิทยาลัยเดลี เมืองเดลี กรุงนิวเดลี
    3. มหาวิทยาลัยปูเน่ เมืองปูเน่ รัฐมหาราษฎร์
    4. มหาวิทยาลัยปัญจาบ เมืองจันดิการ์ รัฐปัญจาบ
    5. มหาวิทยาลัยมัทราส เมืองเชนไน รัฐทมิฬนาดู
    6. มหาวิทยาลัยไมซอร์ เมืองไมซอร์ รัฐการ์นาตะกะ
    7. มหาวิทยาลัยมคธ เมืองคยา รัฐพิหาร
    8. มหาวิทยาลัยออรังกบาด เมืองออรังกบาด รัฐมหาราษฏร์
    9. มหาวิทยาลัยนาคปูร์ เมืองนาคปูร์ รัฐมหารัชตะ
    10. มหาวิทยาลัยคุรุเกษตรา เมืองคุรุเกษตรา รัฐหรายนะ
    11. มหาวิทยาลัยอัครา เมืองอัคร่า รัฐอุตตรประเทศ
    12. มหาวิทยาลัยกัลกัตตา เมืองกัลกัตตา รัฐเบงกอลตะวันตก
    13. วิศวภารตี ศานตินิเกตัน เมืองกัลกัตตา รัฐเบงกอลตะวันตก
    14. สัมปูรณานัน สันสกฤต เมืองพาราณสี รัฐอุตตรประเทศ
    15. มหาวิทยาลัยออลาหาบาด เมืองออลาหบาด รัฐอุตตรประเทศ
    16. มหาวิทยาลัยไฮเดอราบาด เมืองไฮเดอราบาด รัฐอันตรประเทศ ฯลฯ
    มหาวิทยาลัยเหล่านี้ ไม่มีเฉพาะพระสงฆ์เท่านั้นที่ศึกษาอยู่ ยังมีคนไทยที่ศึกษาอยู่ร่วมกันอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยอื่นอีกที่พระสงฆ์ไทยศึกษาอยู่ แต่คงไม่มาก ในแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีบรรยากาศและความโดดเด่นทางวิชาการที่ไม่เหมือนกัน แต่โดยทั่วไปแล้วทุกมหาวิทยาลัยจะมีบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ มีความสงบร่มรื่น เป็นธรรมชาติ มีต้นไม้ และสิ่งแวดล้อมเหมาะแก่การเรียนรู้ แต่ความโดดเด่ดทางวิชาการนั้น ถ้ามองในแง่คนอินเดีย อาจจะไม่เหมือนคนไทยในแต่ละมหาวิทยาลัย สำหรับคนไทยก็อาจจะมองแตกต่างกันเช่นกัน เพราะมีองค์ประกอบหลายอย่างด้วยกัน

    ในการเลือกเรียนมหาวิทยาลัยในอินเดียของพระสงฆ์ไทย ก่อนอื่นจะพิจารณาค่าใช้จ่ายก่อน รองลงมาเรื่องวิชาการ ระยะเวลาที่ศึกษา และสิ่งแวดล้อมความเป็นอยู่ ในแต่ละมหาวิทยาลัยจะได้ความนิยมทั้งจากคนอินเดียและคนไทยที่แตกต่างกัน มหาวิทยาลัยในเมืองใหญ่ๆ จะได้รับความนิยมมากกว่ามหาวิทยาลัยในเมืองเล็ก เพราะความเพียบพร้อมหลายอย่างที่แตกต่างกัน เรื่องค่าใช้จ่าย เป็นเรื่องแรกที่ต้องพิจารณา เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยมีค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนและค่าครองชีพที่แตกต่างกัน เรื่องวิชาการ ก็สำคัญ บางมหาวิทยาลัย ต้องวัดระดับความรู้ภาษาอังกฤษและความรู้เฉพาะด้านก่อนเข้าเรียน ถ้าอยู่ในเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยต้องการก็สามารถเข้าเรียนได้
    สำหรับสาขาวิชาที่เป็นที่นิยมและยอมรับจากพระสงฆ์ไทยร่วมทั้งคนไทยที่มาเรียนในอินเดียในมหาวิทยาลัยต่างๆ จะแตกต่างกัน โดยทั่วไปแล้วพระสงฆ์จะมาศึกษาด้านพุทธศาสตร์ ปรัชญา สันสกฤต ภาษาศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และจิตวิทยา ทุกสาขาวิชาที่กล่าวมามีสอนทุกมหาวิทยาลัยที่บอกไว้ แต่ว่ามีความโดดเด่นและเป็นยอมรับจากคนไทยที่แตกต่างกัน ดังนี้
    • ด้านวรรณคดีอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยปูเณ่ ไฮเดอราบาด และไมซอร์
    • ด้านภาษาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเดลี มัทราส กัลกัตตา และไมซอร์
    • ด้านพุทธศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยฮินดู พาราณสี เดลี และมคธ
    • ด้านปรัชญา ที่มหาวิทยาลัยฮินดู พาราณสี อัครา ปูเน่ มัทราส และคุรุเกษตรา
    • ด้านการศึกษา ที่มหาวิทยาลัยปัญจาบและเดลี
    • ด้านรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยยวาหระลาล เนห์รู (JNU) ออรังคบาดและพาราณสี
    • ด้านจิตวิทยา ที่มหาวิทยาลัยออรังคบาด พาราณสี และนาคปูร์
    • ด้านสันสกฤต ที่สัมปูรณานัน สันสกตฤ วิศวภารตี ศานตินิเกตันและมัทราส
    อย่างไรก็ตาม ในแต่ละมหาวิทยาลัย สาขาวิชาที่เหมือนกัน แต่จะมีเนื้อหารายวิชาที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับนโยบายและการจัดการของแต่ละมหาวิทยาลัย

    ผลผลิตและบทบาทของพระสงฆ์ไทยที่มาเรียนที่อินเดีย

    พระพุทธศาสนาในไทยได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดียหลายด้านด้วยกัน โดยเฉพาะด้านภาษา วรรณกรรม จารีต ประเพณี ซึ่งไทยได้นำมาประยุกต์ปรุงแต่งจนกลายเป็นรูปแบบเอกลักษณ์ของไทย เมื่อกล่าวไปแล้วผู้ที่ขับเคลื่อนหรือมีบทบาททำให้พระพุทธศาสนาเผยแผ่ขยายทำให้เป็นเคารพศรัทธาและรู้จักของไทยคือพระสงฆ์ โดยเฉพาะพระสงฆ์ผู้ที่มาศึกษาต่อที่อินเดีย พระสงฆ์กลุ่มนี้เมื่อขณะกำลังศึกษาอยู่หรือจบการศึกษาไปแล้ว ได้สร้างผลผลิตและแสดงบทบาทมากมายทั้งในอินเดียและไทย ซึ่งเห็นได้ ดังนี้

    1. เป็นพระสังฆาธิการ ในการปกครองคณะสงฆ์
    ไทยมีวัดทั่วประเทศประมาณ 30,000 กว่าวัด มีพระภิกษุสามเณร ประมาณ 300,000 รูป มีระบบการปกครองคณะสงฆ์ เช่นเดียวกับระบบปกครองของรัฐ เมื่อมีวัดและพระภิกษุสามเณรมากมาย จึงต้องมีผู้มาปกครองดูแลบริหารจัดการ ซึ่งพระผู้ทำหน้าที่ปกครองนี้ ภาษาพระเรียกว่า พระสังฆาธิการ หมายถึง ผู้ทำงานเพื่อส่วนร่วม พระกลุ่มนี้มีหน้าที่เปรียบเหมือนคณะรัฐมนตรี ผู้ว่า นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งภาษาพระเรียกว่า เจ้าคณะ เช่น ถ้าปกครองครองระดับจังหวัด เรียกว่าเจ้าคณะจังหวัด เป็นต้น จากข้อมูลตำแหน่งพระสังฆาธิการผู้ทำหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในระดับต่างๆ ส่วนมากได้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามาจากอินเดีย ทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอก บางรูปจบที่ไทยก็มี พระสงฆ์เหล่านี้ ได้ทุ่มเทตั้งใจต่อสู้ศึกษาเล่าเรียนจนได้วิทยฐานะ กลับไปทำงานเพื่อพระศาสนา ด้วยความรู้ความสามารถ ทำให้งานของคณะสงฆ์ดำเนินไปด้วยดี และสามารถที่ทำงานประสานงานกับรัฐได้อย่างดี

    2. เป็นพระผู้บริหาร พระนักวิชาการ และครูอาจารย์ ในมหาวิทยาลัยสงฆ์
    ไทยมีมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาหรือมหาวิทยาลัยสงฆ์อยู่ 2 แห่งด้วยกัน คือ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตั้งอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู กทม. และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตั้งอยู่ วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์ กทม. นอกจากนี้ทั้ง 2 มหาวิทยาลัย ยังมีวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ และศูนย์การศึกษาที่ขึ้นตรงต่อมหาวิทยาลัยสงฆ์อีก ประมาณ 80 แห่งทั่วประเทศ แต่ละแห่งมีนักศึกษาทั้งพระสงฆ์และฆราวาสที่เรียนอยู่ในระดับปริญญาตรี บางแห่งเปิดสอนในระดับปริญญาโทและเอกด้วย ในระบบการบริหารของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งผู้บริหารระดับสูง ต้องสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาและเป็นพระภิกษุเท่านั้น ส่วนนักวิชาการและครูอาจารย์ มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาส

    จากข้อมูลรายนามผู้บริหารระดับสูงในมหาวิทยาลัย วิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ และศูนย์การศึกษาแต่ละแห่งทั่วประเทศ ส่วนมากสำเร็จการศึกษามาจากอินเดียทั้งระดับปริญญาโทและเอก อย่างเช่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สำเร็จปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยเดลี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย สำเร็จปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยฮินดู พาราณสี ส่วนพระนักวิชาการ และครูอาจารย์ก็เช่นเดียวกัน ส่วนมากเป็นพระสงฆ์ที่จบการศึกษามาจากอินเดีย แต่ในปัจจุบันที่ประเทศไทยมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง เปิดการสอนระดับปริญญาโทและเอก และมหาวิทยาลัยของรัฐเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ได้ศึกษาได้ พระสงฆ์ที่จบการศึกษาจากอินเดียจะลงน้อยลง อย่างไรก็ตาม ทั้งพระสงฆ์ที่จบการศึกษาที่อินเดีย และที่ไทย ถ้าไม่ลาสิกขาไปประกอบอาชีพอย่างฆราวาส ส่วนมากแล้วจะทำงานเป็นครูอาจารย์ สอนในมหาวิทยาลัยสงฆ์และมหาวิทยาลัยของรัฐ บางรูปเป็นทั้งครูอาจารย์และมีตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ด้วย ดังนั้น พระสงฆ์ที่จบการศึกษาจากอินเดีย จึงมีบทบาทขับเคลื่อนสังคมไทยในฐานะเป็นผู้ทำงานเพื่อส่วนร่วม เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ เป็นผู้สั่งสอน อบรม ศีลธรรมจริยธรรม และนำหลักธรรมไปสู่สังคมอย่างแท้จริง

    3. เป็นพระธรรมทูตเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ
    นอกจากพระสงฆ์ที่สำเร็จการศึกษาจากอินเดียจะทำงานด้านการปกครองคณะสงฆ์และงานวิชาการหรือการสอนในมหาวิทยาลัยแล้ว มีกิจกรรมอย่างหนึ่งที่พระสงฆ์กลุ่มนี้ ได้แสดงบทบาทและทำหน้าที่เพื่ออุทิศแก่สังคม ในการนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในนานาประเทศ จนสามารถทำให้ต่างประเทศได้รู้จักพระพุทธศาสนาดียิ่งขึ้น พระสงฆ์กลุ่มนี้ ภาษาพระเรียกว่า พระธรรมทูต หมายถึงพระผู้นำหลักธรรมคำสอนไปเผยแผ่แก่ผู้อื่นให้เข้าใจ พระสงฆ์บางกลุ่ม หลังจากสำเร็จการศึกษาจากอินเดียแล้ว ได้นำความรู้ ความสามารถ เผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในอินเดียและต่างประเทศอื่นๆ มีหลายรูปได้ไปสร้างวัดเป็นเจ้าอาวาส หรือไปทำงานเผยแผ่คำสอนในต่างประเทศ อย่างเช่น ที่อเมริกา อังกฤษ เยอรมัน นิวซีแลนด์ เป็นต้น พระสงฆ์เหล่านี้ ผ่านระบบการศึกษาในอินเดีย มีความคุ้นเคยกับชาวต่างชาติ เข้าใจวัฒนธรมและอัธยาศัยของชาวต่างชาติ และสามารถที่จะสื่อสารกับพวกเขาได้ สามารถที่จะนำพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีของไทยไปเผยแผ่ให้ชาวต่างชาติได้เข้าใจได้เป็นอย่างดี

    นอกจากนี้ พระสงฆ์บางกลุ่มทั้งที่สำเร็จการศึกษาและกำลังศึกษาอยู่ที่อินเดีย ได้ทำหน้าที่เสียสละเวลาในการทำหน้าที่เป็นพระธรรมวิทยากรให้ความรู้แก่บุคคลผู้เดินทางมากราบสังเวชนียสถานที่อินเดีย ซึ่งปัจจุบันมีหลายรูปได้ทำหน้าที่นี่ ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ประจำที่จะต้องปฏิบัติด้วย เพราะทุกครั้งที่มีคณะคนไทยหรือชาวต่างชาติมาแสวงบุญที่อินเดีย บริษัททัวร์หรือญาติโยมต้องนิมนต์พระสงฆ์กลุ่มนี้ เป็นผู้นำในการแสวงบุญ พระสงฆ์เหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี เพราะได้ศึกษาและเรียนรู้อยู่ที่นี่ มีประสบการณ์และความคุ้นเคยในแต่ละสถานที่จริง สามารถที่จะถ่ายทอดความรู้และเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและเหตุการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับอินเดียได้เป็นอย่างดี

    4. เป็นผู้สร้างสายสัมพันธ์ไทย-อินเดียเป็นอย่างดี
    แม้ว่าในปัจจุบัน ไทย จะไม่มีความสัมพันธ์กับอินเดียอย่างแนบแน่น ทั้งนี้จะด้วยเหตุผลอันใดก็แล้วแต่ แต่ถ้ามองไปในด้านวัฒนธรรมทางศาสนาแล้ว ไทยมีความสัมพันธ์กับอินเดียเป็นอย่างดี ทั้งนี้ก็เพราะพระสงฆ์ผู้ที่มาศึกษาเล่าเรียนที่นี่ ได้ช่วยเป็นสายสัมพันธ์สร้างมิตรไมตรีกับคนอินเดียทั้งในด้านวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุและไม่ใช่วัตถุ พระสงฆ์ที่เรียนที่นี่แต่ละมหาวิทยาลัยมีการจัดกลุ่มหรือสมาคมของนักศึกษาไทยขึ้น มีการจัดกิจกรรมหลายอย่างภายในกลุ่มและนอกกลุ่ม ชาวต่างชาติจะรู้จักพระสงฆ์ไทยดี พระสงฆ์ที่นี่ ได้แสดงวัฒนธรรมด้านพุทธศาสนาของความเป็นไทยให้ปรากฏ บ่อยครั้งที่คนอินเดียเห็นพระสงฆ์จะเข้าใจว่าเป็นคนไทย ในบางแห่งแม้ว่าพวกเขาจะเป็นชาวฮินดู ยังได้นิมนต์พระสงฆ์ไปฉันและอบรมธรรมแก่พวกเขาที่บ้านด้วย

    สำหรับพระสงฆ์ที่สำเร็จการศึกษาจากที่นี่แล้ว ได้มีบทบาทอย่างมากยิ่งในการสร้างคุณูปการะแก่พระพุทธศาสนาในอินเดียโดยเฉพาะการอนุรักษ์พุทธสถานและวัฒนประเพณีชาวพุทธ และเป็นผู้นำในการชักนำคนไทยให้รู้จักพระพุทธศาสนาในอินเดียได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันในอินเดียมีวัดไทยอยู่ 10 กว่าวัด พระสงฆ์ที่เป็นประธานสงฆ์หรือเจ้าอาวาส ส่วนมากจะสำเร็จการศึกษาขั้นสูงสุดระดับปริญญาเอกที่อินเดีย ส่วนผู้ที่ร่วมงานบริหารภายในวัดก็สำเร็จการศึกษาที่อินเดียเช่นเดียวกัน พระสงฆ์กลุ่มนี้ถือว่าทำงานหนักทั้งการสร้างวัด การบริหารคน และการบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ วัดไทยในอินเดียมีบทบาทอย่างมากในการสร้างความสัมพันธ์ สืบสาน ประเพณี ศิลปะและวัฒนธรรมระหว่างไทยและอินเดีย โดยการนำของประธานสงฆ์หรือเจ้าอาวาส วัดไทยในอินเดีย ถือว่าเป็นพุทธสถานหรือวัฒนธรรมด้านวัตถุที่ทำให้พระพุทธศาสนายังคงอยู่ในอินเดีย เป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอินเดีย ประธานสงฆ์หรือเจ้าอาวาสแต่ละวัดได้สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาและประเทศชาติทั้งในไทยและอินเดียมากมาย บางวัดมีการจัดตั้งโรงพยาบาลเพื่อให้บริหารแก่คนอินเดียและคนไทยฟรีหรือในราคาที่ประหยัด เช่น วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ และวัดไทยสิริราชคฤห์ ฯลฯ มีการจัดอบรมให้ความรู้แก่เยาวชนอินเดีย หรือพระสงฆ์ภายในวัดออกไปสอนหนังสือตามชุมชน เป็นต้น วัดไทย ยังก่อประโยชน์แก่คนอินเดียบางกลุ่มได้มีรายได้ ในการทำงานในฐานะเป็นผู้ทำงานภายในวัดอีก บทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งของวัดไทยในอินเดีย คือการให้บริการที่พักอาศัยแก่คนไทย ผู้ที่เดินทางมากราบไหว้สังเวชนียสถาน วัดทุกวัดมีที่พักให้แก่คนไทยรวมทั้งชาวต่างชาติ ซึ่งทุกคนสามารถเข้าอาศัยอาศัยได้ กิจกรรมทั้งหมดนี้ ส่วนมากจะเป็นบทบาทและหน้าที่ของพระสงฆ์ที่มาศึกษาและสำเร็จการศึกษาที่อินเดีย ดังนั้น พระสงฆ์กลุ่มนี้ ถือว่าเป็นผู้ให้บริการทั้งความรู้ ความเอื้อเฟื้อ และบำเพ็ญสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สังคมทั้งคนไทยและอินเดีย

    คงเป็นที่เข้าใจบ้างแล้วว่า ทำไมพระไทยต้องมาเรียนที่อินเดีย นี่เป็นเพียงบางเหตุผลที่ได้นำเสนอเพื่อทำความเข้าใจแก่ผู้ที่ต้องการจะรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยากทำความเข้าใจกับชาวพุทธคนไทยทั้งพระสงฆ์และฆราวาสที่สงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ แน่นอนบางท่านอยากจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการมาเรียนของพระสงฆ์ที่นี่ เพราะความเข้าในเรื่องที่แตกต่างกัน ก่อนที่จะมาเรียนที่อินเดียก็เคยสงสัยเช่นกันว่าทำไมพระไทยต้องไปเรียนที่อินเดีย แต่เมื่อได้เรียนรู้ ได้มาเห็น ได้มาอยู่เองแล้ว จึงได้ความรู้กระจ่างขึ้น

    อย่างไรก็ตาม อยากให้ทุกคนได้เข้าใจว่าพระมีหน้าที่ต้องศึกษาทั้งทางธรรมและทางโลก เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติและการอบรมสั่งสอนผู้อื่น การศึกษาทางธรรม มีให้ศึกษาที่ประเทศไทย ส่วนการศึกษาทางโลกก็มีให้ศึกษาเช่นกัน แต่อาจจะมีเหตุผลหลายอย่างที่ท่านต้องเดินทางมาเรียนต่อนอกประเทศเช่นกันคนไทยที่นิยมส่งลูกหลานไปเรียนต่างประเทศ อยากให้สังคมได้เข้าใจในวิถีชีวิตของพระสงฆ์ว่าท่านต้องเรียนรู้เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าในเหตุการณ์ต่างๆ ของโลก ต้องศึกษาเพื่อพัฒนาชีวิต และเพื่อยกระดับฐานะให้ดีขึ้น ถ้าสังคมให้โอกาส ให้การสนับสนุนส่งเสริมเท่ากับว่าได้ผลิตบุคลากรเพื่อมาทำงานในการสร้างสรรค์สังคมและประเทศให้เจริญยิ่งขึ้น.



    ที่มา: เว็บกไซต์ลุ่มพระนักศึกษาไทย มหาวิทยาลัยเดลี http://www.phrathai.net/node/679
    ผู้เขียน:
    พระมหาวิเชียร ธมฺมวชิโร นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาพุทธศาสนา
     
  3. VickiesII

    VickiesII เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 กรกฎาคม 2006
    โพสต์:
    51
    ค่าพลัง:
    +491
    ผมก็คนนึงที่กำลังเดินเรื่องไปศึกษาต่อที่อินเดีย เพราะค่าใช้จ่ายถูกเท่าปริญญาโทในประเทศไทย ต่างเพียงแค่ว่า ค่าปริญญาโทในเมืองไทย เช่น 200000-250000 บาท นั้นแค่ค่าเรียน แต่ที่อินเดีย มันหมายถึงค่ากินค่าอยุ่รวมกันในนั้นเลย แถมได้ภาษาโดยไม่ต้องไปเรียนไกลถึง ต่างประเทศในแถบยุโรบ แล้วก็ไม่ต้องกลัวว่าคนไทยไปแล้วจะติดอังกฤษสำเนียงแขกมาเพราะ คนไทยไม่ว่าไปที่ไหน ก็พูดภาษาอังกฤษ สำเนียงเอเชียอยู่แล้ว นอกจากจะพัฒนาตัวเอง ให้สำเนียงถูกต้องตามเจ้าของภาษา อย่างที่ผมหาข้อมูลมา ปริญญาตรีในอินเดีย ปีละ 6000 บาทเอง
     
  4. MBNY

    MBNY Administrator ทีมงาน Administrator

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กรกฎาคม 2003
    โพสต์:
    6,860
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +22,504
    มุมมอง: ระบบหลักสูตรการศึกษาและการเรียนการสอนของเมืองแขก


    โดย นายเว็บ - โพสต์เมื่อ มีนาคม 2nd, 2008.
    Tagged: อินเดีย
     

แชร์หน้านี้

Loading...