มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ โดย พระจุลนายก (สุชาติ อภิชาโต)

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 6 กรกฎาคม 2012.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,077
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,669
    มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน


    โดย พระจุลนายก (สุชาติ อภิชาโต)



    วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร ในพระบรมราชูปถัมภ์ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี


    ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๓


    ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษาที่พระพุทธองค์ทรงอุทิศตนประกาศพระธรรมสั่งสอนโลกนั้น พระพุทธองค์ทรงประกาศสั่งสอนอยู่ทุกๆวัน พระธรรมคำสอนจึงมีมากมาย ที่รวบรวมไว้ในพระไตรปิฏกก็มีถึง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่ถึงแม้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจะมีมากมายเท่าไรก็ตาม เนื้อหาสาระคำสอนของพระพุทธองค์นั้นสรุปรวมเป็นหัวข้อใหญ่ๆได้ ๓ หัวข้อด้วยกัน คือ ๑. ละการกระทำบาปทั้งปวง ๒. ทำความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อม ๓. ชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด คือชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้ออกไปจากจิตจากใจ นี่คีอเนื้อหาสาระของพระธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ได้แสดงไว้ตลอด ๔๕ พรรษา ไม่ว่าจะไปแสดงธรรมให้กับใครที่ไหนก็จะแสดงแต่เรื่องเหล่านี้


    ผู้ใดสามารถประพฤติปฏิบัติธรรม ตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนได้แล้ว ผลที่จะพึงหวังได้ คือความผาสุก ความเจริญรุ่งเรือง ความปราศจากทุกข์ในจิตใจ ความร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งจะปรากฏเป็นขั้นๆไป นำไปสู่การสิ้นสุดของการเวียนว่ายตายเกิด คือการตัดภพ ตัดชาติ ให้เหลือน้อยลงไปตามลำดับ จนกระทั่งภพชาติหมดสิ้นไป นี่คือผลที่ผู้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ จะสามารถบรรลุถึงได้ พระพุทธองค์ได้ทรงแยกผลเหล่านี้ไว้เป็น ๙ ขั้นด้วยกัน เรียกว่า มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ คือมีมรรคอยู่ ๔ ขั้น มีผลอยู่ ๔ ขั้น และพระนิพพานเป็นสุดยอดของการประพฤติปฏิบัติธรรม มรรคนี้หมายถึงการประพฤติปฏิบัติแต่ละขั้นนั่นเอง เปรียบเหมือนกับการเดินทาง เช่นเวลาญาติโยมมาจากบ้าน ขณะเดินทางนั่งรถเข้ามาสู่วัดนี้ เรียกว่ากำลังเจริญมรรค เมื่อเข้าถึงตัววัดแล้ว เรียกว่าได้บรรลุถึงผลคือจุดหมายปลายทาง การเดินทางนั้นเป็นมรรค เมื่อมาถึงจุดหมายปลายทางแล้ว เรียกว่าผล


    มรรคผลนี้ พระพุทธองค์ทรงจำแนกไว้อยู่ ๔ ขั้นด้วยกัน คือ มรรค ๔ ผล ๔ คือ ๑. โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล ๒. สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล ๓. อนาคามิมรรค อนาคามิผล ๔. อรหัตตมรรค อรหัตตผล แล้วจึงจะถึงพระนิพพาน ทั้งหมดนี้รวมเป็น ๙ ขั้นด้วยกัน คือมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ผู้ปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานต้องปฏิบัติตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ คือละความชั่ว ทำความดี และชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด ด้วยการทำบุญให้ทาน รักษาศีล และเจริญจิตตภาวนา เรียกสั้นๆว่า ทาน ศีล ภาวนา นี่คือวิธีดำเนินการเพื่อที่จะเข้าสู่มรรคผลนิพพาน เมื่อปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราอย่างท่าน เกิดมีศรัทธาในพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ได้น้อมเอาสิ่งต่างๆที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนมาประพฤติปฏิบัติ เริ่มด้วยการทำบุญให้ทาน รักษาศีล และเจริญจิตตภาวนา คือทำจิตให้สงบด้วยการไหว้พระสวดมนต์ หรือด้วยการนั่งสมาธิ กำหนดพุทโธ หรืออานาปานสติกำหนดดูลมหายใจเข้าออก ทำจิตใจให้สงบ จากนั้นก็เจริญวิปัสสนาปัญญา ให้เห็นว่าสภาพทั้งหลายในโลกนี้มีแต่ความทุกข์ มีแต่ความไม่เที่ยง มีแต่ความไม่มีตัวตน นี่คือการเจริญมรรคของปุถุชนเพื่อตัดสังโยชน์ เครื่องพันธนาการที่ผูกมัดสัตว์โลกทั้งหลายไว้ในวัฏสงสาร คือการเวียนว่ายตายเกิด


    สังโยชน์เครื่องพันธนาการนี้มีอยู่ ๑๐ ประการด้วยกัน แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ สังโยชน์เบื้องสูง ๕ ประการ สังโยชน์เบื้องต่ำ ๓ ตัวแรกที่ผู้เจริญโสดาปัตติมรรคจะต้องตัดให้ขาดนั้นคือ ๑. สักกายทิฐิ ความเห็นว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นของๆเรา ๒. วิจิกิจฉา ความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ๓. สีลัพพตปรามาส ความลูบคลำศีล


    เป็นปกติของปุถุชนคนธรรมดาที่จะเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นของๆเรา ที่จะสงสัยว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มีจริงหรือเปล่า ที่จะมีความไม่มั่นใจว่าการรักษาศีลนั้นจะได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า ตายไปแล้วสูญ หรือตายไปแล้วจะได้เกิดอีก ถ้าตายแล้วสูญการรักษาศีลก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร นี่คือเครื่องผูกมัดจิตใจของปุถุชนให้ติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด แต่ถ้าได้ศึกษาพระธรรมคำสอนและได้เจริญทาน ศีล ภาวนา ไปอย่างต่อเนื่องแล้ว ไม่ช้าก็เร็วแสงสว่างแห่งธรรมก็จะปรากฎขึ้นมาในดวงจิต คือมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมานั่นเอง คือเห็นว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ไม่มีตัวมีตน เห็นว่าร่างกายนี้เป็นมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป อาหารนั้นนี้ก็มาจาก ดิน น้ำ ลม ไฟ เช่นข้าวที่ปลูกไว้ในดิน ถ้าไม่มีน้ำ ไม่มีแดด ไม่มีอากาศ ข้าวก็ไม่เจริญงอกงาม ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน เมื่อธาตุทั้ง ๔ ได้เข้าไปในร่างกายในรูปของอาหาร ก็เปลี่ยนเป็นอาการ ๓๒มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น เมื่อตายไปก็กลับคืนสู่ธาตุเดิม


    การเจริญสมาธิและวิปัสสนาอย่างต่อ เนื่องจะทำให้เห็นว่าที่แท้จริงแล้วร่างกายนั้นเป็นการรวมตัวของธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลมไฟ เท่านั้นเอง ไม่มีตัวตนอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และเห็นว่ากรรมนั้นมีจริง คือทำดีย่อมได้รับความสุข ทำชั่วย่อมได้รับความทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะไม่ลูบคลำศีล แต่จะรักษาศีลอย่างเคร่งครัด นี่คือการเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรมย่อมเห็นพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้ที่เห็นพระตถาคตได้ต้องเป็นพระสุปฏิปันโน คือผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ คือพระโสดาบัน พระอริยสงฆ์นั่นเอง นี่คือเรื่องของโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล อริยมรรค อริยผลขั้นที่หนึ่ง ที่ผู้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจะบรรลุถึงได้


    พระโสดาบันจะมีภพชาติเหลือเพียง ๗ ภพชาติเท่านั้นเอง จะเกิดอยู่แต่ในสุคติภพ คือจะไม่ไปเกิดในอบายภูมิอีกต่อไป ไม่ต้องเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก เพราะมีธรรมะคอยป้องกันไม่ให้ตกลงไปสู่ที่ต่ำ พระโสดาบันนี้จะรักษาศีล ๕ ยิ่งกว่าชีวิต จะไม่ละเมิดศีล ๕ อย่างเด็ดขาดไม่ว่าในกรณีใดทั้งสิ้น พระโสดาบันเป็นบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่ เพราะยังไม่ได้ละสังโยชน์เครื่องพันธนาการอีก ๒ ตัว คือกามราคะและปฏิฆะ กามราคะหมายถึงความยินดีในกาม ปฏิฆะหมายถึงความหงุดหงิดใจ แสดงว่าพระโสดาบันยังยินดีกับการครองเรือน มีสามี มีภรรยา จนกว่าจะละกามราคะและปฏิฆะได้ คือต้องเจริญสกิทาคามิมรรคและอนาคามิมรรคจนบรรลุอนาคามิผล


    การเจริญสกิทาคามิมรรคและอนาคามิมรรค คือการพิจารณาร่างกายให้เห็นว่าเป็นของไม่สวยไม่งาม เรียกว่าการเจริญอสุภกรรมฐาน พิจารณาอาการ ๓๒ ของร่างกายทั้งส่วนข้างนอกของผิวหนังและส่วนที่อยู่ใต้ผิวหนังอวัยวะต่างๆ เช่นเนื้อ หนัง เอ็น กระดูก หัวใจ ปอด ตับ ไต ไส้พุง เป็นต้น ทั้งขณะที่เป็นอยู่และขณะที่ตายไป เป็นซากศพในลักษณะต่างๆ ถ้าได้พิจารณาอยู่เรื่อยๆต่อไปกามราคะความยินดีในกามก็จะค่อยๆ คลายลงไปเรื่อยๆ จะค่อยๆเบาบางลงไป ปฏิฆะความหงุดหงิดใจ ก็จะค่อยๆเบาบางตามไปด้วย เมื่อได้ทำให้กามราคะและปฏิฆะเบาบางลงไป ก็จะบรรลุสกิทาคามีผล พระสกิทาคามีจะมีความรู้สึกเบื่อๆอยากๆกับเรื่องของร่างกาย ถ้าเป็นน้ำก็ไม่ใช่น้ำเย็น ไม่ใช่น้ำร้อน แต่เป็นน้ำอุ่นๆ ภพชาติของพระสกิทาคามีจะเหลือเพียงภพชาติเดียวเท่านั้นเอง ถ้าปฏิบัติต่อไป คือเจริญมรรคขั้นที่ ๓ คืออนาคามิมรรค พิจารณาเรื่องอสุภความไม่สวยงามของร่างกายให้มากยิ่งขึ้นไป พิจารณาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน จนเห็นอสุภความไม่สวยงามของร่างกายได้ตลอดเวลา ก็จะบรรลุอนาคามิผล เพราะตัดกามราคะความยินดีในกามและปฏิฆะความหงุดหงิดใจได้หมด


    พระอนาคามีเมื่อตายไปจะไม่กลับมาเกิดในกามโลกนี้อีก จะไปเกิดบนสวรรค์ชั้นพรหมโลก ชั้นใดชั้นหนึ่ง มี ๕ ชั้นด้วยกัน แล้วก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ในสวรรค์ชั้นพรหมโลกต่อไป อนาคามีแปลว่าผู้ที่ไม่กลับมาเกิดในกามภพอีก คือไม่มาเกิดเป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดรัจฉานเป็นต้น ถ้าปฏิบัติต่อไปได้ คือเจริญมรรคขั้นที่ ๔ คืออรหัตตมรรค จะต้องพยายามตัดสังโยชน์อีก ๕ ตัว คือรูปราคะความยินดีในรูปฌาน อรูปราคะความยินดีในอรูปฌาน มานะความถือตน อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน อวิชชาความไม่รู้จริง


    พระอนาคามีมีจิตที่ ละเอียดมาก สงบมาก และสุขมาก จนทำให้ท่านติดอยู่กับความสงบของจิตใจ ไม่เจริญปัญญาเพื่อตัดกิเลสละเอียดที่ยังซ่อนเร้นอยู่ในจิตใจ ต่อมาเมื่อเห็นว่ายังมีความทุกข์ที่เกิดจากมานะ จากอวิชชา จึงได้ออกจากการติดความสงบของรูปฌานและอรูปฌาน มาสู่การเจริญปัญญา แต่ทำเลยเถิดไปเกินความพอดี เลยกลายเป็นอุทธัจจะความฟุ้งซ่านไป ทางที่ถูกควรจะยึดทางสายกลางระหว่างการเจริญสมาธิและปัญญา สลับกันไป ปัญญาไว้ใช้ทำลายกิเลส สมาธิไว้สำหรับพักผ่อนเติมพลัง เมื่อทำได้ดังนี้ก็จะตัดอุทธัจจะความฟุ้งซ่านไปได้


    มานะคือความถือ ตัว ถือว่าสูงกว่าเขาบ้าง ต่ำกว่าเขาบ้าง เสมอเขาบ้าง อวิชชาคือยังไม่เห็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อริยสัจสี่ ที่ยังซ่อนเร้นอยู่ในจิต จึงต้องพิจารณาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และจิต ให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านี้เสีย เมื่อปล่อยวางได้ก็จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ก็เข้าสู่พระนิพพานไป


    นี่คือเรื่องของมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นิพพานนั้นมีอยู่ ๒ ลักษณะด้วยกัน คือสอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และอนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ไม่มีชีวิตอยู่แล้ว ดังที่พระพุทธองค์ขณะนั่งบำเพ็ญจิตใต้ต้นโพธิ์ในวันเพ็ญเดือน ๖ ได้ทรงตรัสรู้ธรรมขึ้นมาในขณะนั้น พระพุทธองค์ทรงบรรลุถึงพระนิพพานแล้ว แต่เป็นสอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ยังมีเบญจขันธ์อยู่ ยังมีชีวิตอยู่ หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ทรงใช้เวลาถึง ๔๕ พรรษา สั่งสอนสัตว์โลกจนกระทั่งครบอายุ ๘๐พรรษา จึงได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน เป็นอนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ไม่มีเบญจขันธ์ ไม่มีชีวิตเหลืออยู่แล้ว จิตนิพพานคือจิตที่มีความสะอาดหมดจด เป็นจิตที่ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นจิตที่เปี่ยมด้วยบรมสุข ที่เรียกว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง นี่คือผลที่ผู้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน ด้วยการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา จะพึงได้รับ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เป็นผลที่น่าพึงปรารถนาอย่างยิ่ง เพราะเป็นความสุขความเจริญอันสูงสุด


    พวกเรายังอยู่ในโลกที่มีแต่ความ ทุกข์ความวุ่นวายใจ ถ้าเราไม่เจริญรอยตามพระพุทธองค์ด้วยการบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนาแล้ว ชีวิตของเราก็จะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ ไม่มีที่สิ้นสุด ภพชาติของเรานี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่ามีมากมายจนกระทั่งไม่สามารถนับได้ พระองค์ทรงเปรียบเทียบให้ฟังว่า ในแต่ละภพละชาติที่พวกเราเกิดมานั้นต้องมีความเศร้าโศกเสียใจ ต้องมีการร้องห่มร้องไห้กัน ถ้าเราเก็บน้ำตาที่เราร้องห่มร้องไห้ในแต่ละภพแต่ละชาตินั้นมารวบรวมกันแล้ว จะมากกว่าน้ำในมหาสมุทรเสียอีก คิดดูซิว่าภพชาติจะมากมายแค่ไหน จึงขอให้ท่านทั้งหลายจงเห็นโทษของการเวียนว่ายตายเกิด ว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดี มีแต่ความทุกข์ จงเห็นคุณของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วน้อมเอามาประพฤติปฏิบัติเพื่อจะได้ตัดภพตัดชาติ ตัดความทุกข์ทั้งหลายให้ออกไปจากจิตจากใจ เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขต่อไป การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้


    คัดลอกจาก http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/misc/misc-52.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 6 กรกฎาคม 2012
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,449
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
  3. กำลังเดินทาง

    กำลังเดินทาง Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 กรกฎาคม 2018
    โพสต์:
    78
    ค่าพลัง:
    +103
    โดนใจหลาย
    ขอบคุณ จขกท มากที่หามาแบ่งปัน
    :)
    กำลังหาอ่านพอดี
     
  4. โอปะนะยิโก

    โอปะนะยิโก สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 สิงหาคม 2018
    โพสต์:
    7
    ค่าพลัง:
    +2
    เพียรละต่อไปครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...